The Exorcist

The Exorcist (1973) hollywood : William Friedkin ♥♥♥♥

ปฐมบทการไล่ผีที่สร้างความหลอกหลอน สะพรึงกลัวไปถึงขั้วหัวใจ เรื่องราวเต็มไปด้วยความลึกลับ ซับซ้อน คลาสสิก เมื่อวิทยาศาสตร์แก้ไขปัญหาบางสิ่งไม่ได้ ศาสนาจึงกลายเป็นที่พึ่งทางออกสุดท้าย, กาลเวลาอาจทำให้หนังมีความน่าเบื่อไปบ้าง แต่เทคนิคยังคงตระการตา และความสยองขวัญสั่นประสาทตราตรึงประทับใจ อาจถึงขั้นนอนไม่หลับเลยทีเดียว

ผมไม่ใช่คนกลัวผีนะ เพราะรับรู้ว่าวิญญาณคืออะไร เจ้ากรรมนายเวร เปรต อสูรกาย เข้าใจเหตุผลการมีตัวตนของพวกเขา มันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปแสดงความหวาดหวั่นในวิถีวัฏจักรของชีิวิต แต่ผมกลับไม่ค่อยชื่นชอบหนังผีเสียเท่าไหร่ เพราะมันเต็มไปด้วยความ’ไร้สาระ’ พยายามสร้างบรรยากาศหลอนๆให้ผู้ชมเกิดความหวาดกลัว สะดุ้ง ตกใจ ขนลุกขนพอง เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกมากเกินไป และมักปลูกฝังค่านิยมความเชื่อผิดๆให้กับสังคม แต่ถ้าหนังเรื่องนั้นมีที่มาที่ไป สมเหตุสมผล แฝงข้อคิดสาระ นั่นผมก็ไม่ขัดขืนต่อต้านเสียเท่าไหร่

The Exorcist เป็นภาพยนตร์ที่ผมจดจำได้ว่าเคยรับชมจาก UBC ม้วนวีดีโอ แผ่นซีดี ดีวีดี น่าจะหลายรอบอยู่ คุ้นๆเป็นหนังที่ดูยาก ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่แต่หลอนชิบหาย, รับชมรอบนี้เข้าใจเลยว่าความยากเกิดจากอะไร และไฮไลท์ครึ่งชั่วโมงสุดท้าย ยังมีความทรงพลัง ขนลุกขนพอง อกสั่นขวัญหาย เป็นประสบการณ์ที่ทำเอาผมเกือบจะนอนไม่หลับ แล้วผู้ชมสมัยนั้นไม่ป่วย คลั่งตายกันหรอกหรือ

ลองรับชมตัวอย่างหนัง Teaser Trailer ต้นฉบับแท้ๆเมื่อปี 1973 ที่ถึงไม่มีการเปิดเผยอะไรเลย แต่หลายโรงภาพยนตร์ห้ามฉายเพราะมีความน่าสะพรึงกลัวเกินไป ‘too frightening’ ขอเตือนกับคนขวัญอ่อนเตรียมใจไว้ให้พร้อม

ใครอยากอ่านที่มาที่ไปของหนังโดยละเอียด ผมไปเจอกระทู้ใน pantip ที่ถ่ายรูปบทความจากนิตยสาร PULP สนใจคลิกอ่านเองเลย LINK: https://pantip.com/topic/30593971

William Peter Blatty (1928 – 2017) นักเขียนและผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ New York City ในครอบครัว Melkite Greek-Catholic ที่เข้มงวด จบการศึกษาสาขาวรรณกรรมภาษาอังกฤษ ปริญญาตรีจาก Georgetown University ปริญญาโทจาก George Washington University สมัครเข้ารับราชการทหารอากาศ ทำงานในแผนก Psychological Warfare Division หลังปลดประจำการได้ทำงานสำนักสารสนเทศ (Information Agency) ประจำที่เมือง Beirut, Lebanon

Blatty มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเขียนนิยายเรื่อง The Exorcist (1971) ที่ได้แรงบันดาลใจมาตั้งแต่ครั้นเป็นนักศึกษาอยู่ Georgetown University เมื่อปี 1949 อ่านพบบทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ Washington Post เด็กชายชาวเยอรมันวัย 14 ปี Roland Doe หรือ Robbie Mannheim อาศัยอยู่ที่ Cottage City, Maryland ประสบพบเจอเหตุการณ์ประหลาดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาทิ เตียงนอนสั่นเป็นเจ้าเข้า, เก้าอี้นวมเลื่อนไปมาเองได้, ตัวอักษรนูนขึ้นมาจากท้อง ฯ

ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์นี้ มาจากป้าคนหนึ่งที่เป็นคนทรง แนะนำให้ Roland รู้จักเล่นกับผีถ้วยแก้ว (Ouija) แล้ววันดีคืนดีป้าแกก็เสียชีวิตปัจจุบันทันด่วน ทำให้ Roland พยายามใช้กระดานผีถ้วยแก้วติดต่อสื่อสารพูดคุย จนเป็นเหตุให้ถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง ซึ่งดูแล้วก็มีแนวโน้มสูงมว๊ากๆ ว่าจะเป็นวิญญาณของป้าแกเองนั้นแหละที่เข้ามาสิงเด็กชาย

ครอบครัวตัดสินใจปรึกษาบาทหลวง Luther Miles Schulze ที่ได้อาศัยอยู่ในห้องของเด็กชายทั้งคืน เฝ้าสังเกตพบเห็นปรากฎการณ์ต่างๆอันน่าเหลือเชื่อ ทำให้ได้ข้อสรุปว่าเกิดจากผีเข้าสิงร่าง ยื่นเรื่องต่อ Catholic Church เพื่อทำพิธีไล่ผี (Exorcism) ซึ่งก็ทำอยู่หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งได้พบกับหลวงพ่อ Raymond J. Bishop อาจารย์สอนที่ St. Louis University ร่วมกับหลวงพ่ออีกคน William S. Bowdern สามารถขับไล่วิญญาณร้ายได้สำเร็จ

Blatty เขียนนิยายเรื่องนี้ด้วยการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดมากมาย อาทิ อายุ, เพศ (จากเด็กชายเป็นเด็กหญิง), พื้นหลังสถานที่, ลักษณะการถูกเข้าสิง ฯ เพิ่มเรื่องราวคู่ขนานที่ไม่ใช่เพียงแค่การขับไล่ผี แต่ยังรวมถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์/จิตเวท เพื่อค้นหาคำอธิบายสำหรับเหตุการณ์ลักษณะนี้นี้ และใส่ปีศาจที่เข้าสิงคือ Pazuzu ต้นกำเนิดจากประเทศ Iraq

เกร็ด: Pazuzu ปีศาจจากเทวนิยาย Assyrian และ Babylonian กษัตริย์แห่งลมทิศตะวันตกเฉียงใต้ นำมาซึ่งพายุ โรคระบาด ความแห้งแล้ง, รูปลักษณะร่างกายเป็นมนุษย์ หัวเป็นสิงโตหรือสุนัข ขาเหมือนเหยี่ยว ปีกสองข้าง และหางแมงป่อง มือขวายกขึ้น มือซ้ายปล่อยลง

เพราะหนังสือ The Exorcist เกิดฮิตถล่มทลาย มีหรือ Hollywood จะไม่สนใจซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลง Warner Bros. ขันอาสาเป็นนายทุนให้ แต่เนื่องจากกลัวผลงานจะถูกปู้ยี้ปู้ยำ Blatty จึงตั้งเงื่อนไขว่าต้องขอควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์ และดัดแปลงเขียนบทภาพยนตร์ด้วยตนเองเท่านั้น ซึ่งค่ายหนังก็ยินยอมตามโดยดี

การหาตัวผู้กำกับ ชื่อแรกๆที่ติดโผลอาทิ Stanley Kubrick [ต้องการเป็นโปรดิวเซอร์ด้วยเลยถูกค่ายหนังปฏิเสธ], Alfred Hitchcock [ปฏิเสธทั้งขึ้นทั้งร่อง], John Boorman [รู้สึกว่าเรื่องราวน่ากลัวเกินไปสำหรับเด็ก แต่เขาก็กลายมาเป็นผู้กำกับ Exorcist II: The Heretic (1977)], Arthur Penn [ติดสอนหนังสือที่ Yale], Peter Bogdanovich [กำลังสนใจโปรเจคอื่นอยู่], Mike Nichols [ไม่อยากถ่ายหนังที่เกี่ยวกับเด็ก], ขณะกำลังจะได้ Mark Rydell ตัวเลือกของสตูดิโอ Blatty ได้มีโอกาสรับชม The French Connection (1971) ของ William Friedkin ผลักดันให้เขากลายเป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้

William Friedkin (เกิดปี 1935) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Chicago, Illinois ในครอบครัวชาว Jewish อพยพมาจาก Ukrane ไม่ใช่เด็กหัวฉลาด มีความชื่นชอบ Basketball ตั้งใจโตขึ้นจะยึดเป็นอาชีพ แต่เพราะได้รับชม Citizen Kane (1941) จึงตัดสินใจกลายเป็นผู้กำกับ, หลังเรียนจบ High School ทำงานในห้อง Mail Room ที่ WGN-TV ไม่นานก็ได้รับโอกาสทำรายการโทรทัศน์ เคยกำกับตอนสุดท้ายของ The Alfred Hitchcock Hour (1962-1965) ชื่อตอน Off Season, สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก Good Times (1967) แม้ได้รับเสียงวิจารณ์ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่ Friedkin ให้สัมภาษณ์บอกว่า มีความสุขสนุกที่สุดตั้งแต่เคยกำกับหนังมา

ผลงานชิ้นเอกของ Friedkin คือ The French Connection (1971) คว้า Oscar 5 สาขา เป็นภาพยนตร์เรต R เรื่องแรกที่คว้า Best Picture และ Best Director,

เกร็ด: ภรรยาคนแรกของ Friedkin คือ Jeanne Moreau นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส แต่งงานเมื่อปี 1977 หย่าขาดปี 1979

สำหรับนักแสดงบทนำของหนัง ตัวละคร Chris MacNeil แม่เป็นนักแสดงมีชื่อ อาศัยอยู่กับลูกและคนใช้ (สามีแยกกันอยู่) วันดีคืนดีลูกสาวคนเล็กของเธอได้แสดงพฤติกรรมแปลกประหลาดมากมาย พาไปหาหมอ/จิตแพทย์ ไม่มีใครสามารถอธิบายอาการ รักษาหายได้ สุดท้ายเลยต้องหันพึ่งศาสนา ยินยอมประกอบพิธีกรรมไล่ผี

นักแสดงที่ได้รับการติดต่อพิจารณาบท ประกอบด้วย Jane Fonda [ไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์], Audrey Hepburn [จะรับเล่น ถ้ามาถ่ายทำที่โรม], Anne Bancroft, Geraldine Page, Blatty แนะนำเพื่อนของตนเอง Shirley MacLaine แต่ Friedkin เกิดความลังเลใจ จนกระทั่ง Ellen Burstyn โทรศัพท์หาผู้กำกับ ประกาศกร้าวว่าจะแสดงบทนี้

Ellen Burstyn (เกิดปี 1932) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา หนึ่งในผู้คว้า Triple Crown of Acting (Oscar, Emmy, Tony) เกิดที่ Detroit, Michigan สนใจเรียนออกแบบ Fashion แต่เพราะสอบตกเลยกลายมาเป็น Model เดินทางสู่ New York City เป็นนักแสดง Broadways จากนั้นแสดงละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Goodbye Charlie (1964), เข้าชิง Oscar ครั้งแรกกับ The Last Picture Show (1971) คว้ารางวัล Oscar: Best Actress จากเรื่อง Alice Doesn’t Live Here Anymore (1974), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Same Time, Next Year (1978) [สร้างจากบทละครเวทีที่เธอคว้า Tony Award: Best Actress], Resurrection (1980), Requiem for a Dream (2000) ฯ

การแสดงของ Burstyn สร้างความร้าวฉานให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก แรกๆดูก็เป็นผู้หญิงที่มีความสุขดี แต่เมื่อเห็นลูกสาวมีพฤติกรรมแปลกๆ ต้องทนทุกข์ทรมานเจ็บปวด ความรวดร้าวแสนสาหัสของแม่ได้รับการถ่ายทอดออกมา ทั้งคำพูด-น้ำเสียง สายตา-น้ำตา ท่าทาง-เรี่ยวแรง สมจริงจับต้องได้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสุดยอดการแสดงของ Burstyn เลยละ

สำหรับบทบาทสำคัญที่ต้องเลือกนักแสดงมีชื่อเสียงพอสมควร Father Lankester Merrin ตัวเลือกของสตูดิโอคือ Marlon Brando แต่ผู้กำกับโหวตค้านเพราะมันจะกลายเป็น ‘หนังของ Brando’ ไปโดยปริยาย ซึ่ง Friedkin ยื่นคำขาดที่ Max von Sydow ที่มีใบหน้าเหมือนบาทหลวงฝรั่งเศสคนหนึ่ง

Max von Sydow หรือ Carl Adolf von Sydow (เกิดปี 1929) นักแสดงในตำนานสัญชาติ Swedish หนึ่งในขาประจำของ Bergman ที่มีผลงานภาพยนตร์หลายชาติหลายภาษา, เกิดที่ Lund ครอบครัวมีฐานะร่ำรวย พ่อเป็นศาสตราจารย์ นักชาติพันธุ์วิทยา ประจำ University of Lund ส่วนแม่เป็นครูสอนหนังสือ สืบเชื้อสายมาจาก German, ตอนเด็กเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนา Lund Cathedral School โตขึ้นเลือกเรียนโรงเรียนสอนการแสดง Royal Dramatic Theatre ที่ Stockholm รุ่นเดียวกับ Lars Ekborg, Margaretha Krook, Ingrid Thulin ฯ มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ในหนังของ Alf Sjöberg เรื่อง Only a Mother (1949) และ Miss Julie (1951)

บาทหลวง Merrin เป็นนักสำรวจโบราณคดีสูงวัย ขณะกำลังขุดซากโบราณสถาน Hatra อยู่ที่เมือง Mosul, Iraq ค้นพบรูปปั้นที่มีลักษณะคล้าย Pazuzu ปีศาจที่เคยปราบสำเร็จเมื่อหลายปีก่อน ทำให้เขาระลึกได้ว่ามันกำลังจะหวนคืนเพื่อล้างแค้น, ช่วงท้ายปรากฎตัวขึ้นอีกครั้ง ได้รับมอบหมายจากทางคริสต์จักรเพราะมีประสบการณ์เคยไล่ผีมาก่อน แต่เพราะปัญหาโรคหัวใจรุมเร้า จะทำให้สามารถประกอบพิธีกรรมสำเร็จหรือไม่

von Sydow ที่ขณะนั้นอายุ 44 ปี ต้องถูกแต่งหน้าอย่างเนียนโดยนักออกแบบ Special Effect ในตำนาน Dick Smith ให้กลายเป็นชายสูงวัยอายุ 74 ปี ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน สร้างความทรมานให้กับนักแสดงอย่างยิ่ง (เห็นว่าการแต่งหน้าของ von Sydow หนากว่าของเด็กหญิง Linda Blair เสียอีก)

บาทหลวง/ด็อกเตอร์ Damien Karras สตูดิโอคาดหวังให้ Jack Nicholson [แต่ Friedkin มองว่า เขาดูไม่เหมือน Holy Man แม้แต่น้อย], Paul Newman, Al Pacino ฯ ขณะที่ Blatty ถือหาง Stacy Keach ผู้กำกับถือหาง Gene Hackman ทั้งสองมีปากเสียงรุนแรง สุดท้ายลงเอยด้วยการเลือกนักแสดงหน้าใหม่ Jason Miller ที่เพิ่งพบเจอจากละครเวที Broadways ด้วยมีการแสดงที่ผู้กำกับให้นิยามว่า ‘reeked of failed Catholicism’

Jason Miller (1939 – 2001) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Queens, New York ในครอบครัว Irish Catholic เรียนจบสาขาภาษาอังกฤษและปรัชญาที่ University of Scranton ตามด้วยสาขาการพูดและการแสดง Catholic University of America ที่ Washington, D.C. เลือกเป็นนักแสดงละครเวที มีผลงาน Off-Broadway เรื่องแรก That Championship Season (1972) คว้ารางวัล Pulitzer Prize for Drama, ได้รับการชักชวนให้มาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Exorcist (1973) และหวนมารับเชิญในภาคต่อ The Exorcist III (1990)

จากคนที่กำลังหมดศรัทธาในศาสนา เพราะการสูญเสียแม่ที่รักยิ่งจากความเห็นแก่ตัวของตนเอง การพบเจอเรื่องราวเหนือธรรมชาตินี้ทำให้เขาตระหนักถึงสัจธรรมของชีวิต เพราะปีศาจตนนี้ได้โจมตีจุดอ่อนเรื่องแม่ ซึ่งก็ไม่รู้เขาสามารถเอาชนะได้หรือเปล่า หนังไม่ทันได้ให้คำตอบตรงนี้ แค่ทำให้ชายหนุ่มได้เผชิญหน้ากับด้านมืดของตนเอง

ภาพลักษณ์ของ Miller มีความเข้ากับบทบาทนี้เป็นอย่างมาก ดูเป็นคนเคร่งเครียด อมทุกข์ จริงจัง การแสดงขณะเจ็บปวดทรมานมีความหนักแน่นทรงพลัง สมแล้วกับการได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor

สิ่งยากที่สุดของหนัง คือการค้นหาผู้รับบท Regan MacNeil ถึงจะมองหานักแสดงเด็กมีชื่อใน Hollywood ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อาทิ Denise Nickerson ที่รับบท Violet Beauregarde ใน Willy Wonka & the Chocolate Factory (1971) แต่ครอบครัวเมื่ออ่านบทหนังก็ไม่อนุญาตให้เล่น, Anissa Jones จากซิทคอม Family Affair มาออดิชั่น แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก, ประมาณ 600+ คนที่สรรหา เกือบที่จะยอมแพ้ จนกระทั่งแม่ของ Linda Blair จูงมือลูกสาวมาให้สัมภาษณ์ เพราะเจ้าตัวมีความชื่นชอบนิยายเป็นพิเศษ

Linda Denise Blair (เกิดปี 1959) เกิดที่ St. Louis, Missouri ตั้งแต่อายุ 4 ขวบก็กลายเป็น Child-Model (แม่เธอคงผลักดันมากๆ) มีบทบาทเล็กๆในละครโทรทัศน์ Hidden Faces (1968–69) ภาพยนตร์เรื่องแรก The Way We Live Now (1970), หลังจากหนังเรื่องนี้เธอกลับมารับบทเดิมในภาคต่อ Exorcist II: The Heretic (1977) แล้วค่อยๆจางหายไปจากวงการ กลายเป็นนักแสดงเกรด B ไม่มีผลงานอื่นใดให้พูดถึง

การแสดงของ Blair ว่ากันตามตรงไม่มีอะไรให้พูดถึงนัก นอกจากความทุ่มเทเสียสละทางกาย ที่ต้องเสียเวลาแต่งหน้าทำ Special Effect ให้หลอนๆ ส่งเสียงกรี๊ด สถบ ร้องลั่น แต่เสียงปีศาจที่ได้ยิน แท้จริงเป็นของ Mercedes McCambridge (นักแสดงที่ Orson Welles ยกย่องว่า ‘the world’s greatest living radio actress’) ในตอนแรกเธอพากย์เสียงโดยไม่ขอเครดิต ซึ่งหนังก็ไม่ได้ขึ้นเครดิตให้กับเธอ แต่พอ Blair ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress ทำให้เบื้องหลังนี้ได้ถูกเปิดเผย กลายเป็นเรื่องใหญ่โต แล้วอยู่ดีๆ McCambridge ก็ฟ้องสตูดิโอที่ไม่ให้เครดิตเธอ (เป็นผู้หญิงเอาใจยากเสียจริง)

เกร็ด: มีหลายช็อตหลอนๆทีเดียว ที่ใช้หุ่นแทนนักแสดงนะครับ (ก็แหงละ มนุษย์ที่ไหนจะหันหัว 180 องศาได้)

หลังจากหนังออกฉาย เด็กหญิง Linda Blair ได้รับจดหมายขู่ฆ่าจากกลุ่มศาสนาที่มีความเชื่อว่า เธอเป็นผู้ ‘glorified Satan’ นี่ทำให้ Warner Bros. ต้องว่าจ้าง bodyguards ดูแลปกป้องเธออย่างใกล้ชิด ตลอด 6 เดือนหลังหนังออกฉาย

สไตล์การกำกับของ Friedkin พยายามเลียนแบบ old-Hollywood คือสร้างสถานการณ์ เตรียมความพร้อมทุกอย่าง ให้นักแสดงมีปฏิกิริยาความรู้สึกออกมาอย่างแท้จริงและเป็นธรรมชาติ อาทิ ฉากไคลน์แม็กซ์ในห้องนอนของ Regan ติดตั้งเครื่องปรับอากาศถึง 4 ตัว เพื่อต้องการอุณหภูมิ -30 องศา ไอที่ออกจากปากนักแสดงคือความหนาวเหน็บจริงๆ, Jason Miller คือนักแสดงผู้โชคร้ายสุดในหนัง ฉากหนึ่งที่ต้องแสดงสีหน้าช็อคตกตะลึง ผู้กำกับอยู่ดีๆยกปืนขึ้นมายิงเฉียดผ่านหน้าเขาไปไม่กี่นิ้วเท่านั้น และตอนถูกอ๊วกพุ่งใส่ (มันคือซุปถั่ว Peas Soup ที่ทำให้เละๆ) เตี้ยมกันจะถูกแค่เสื้อผ้าหน้าอก แต่กลับพุ่งเข้าไปเต็มหน้า แสดงความรังเกียจขยะแขยงออกมาชัดเจน (เจ้าตัวไม่พอใจซีนนี้มากด้วยนะ เทคเดียวจบเลยไม่เล่นอีก)

ถ่ายภาพโดย Owen Roizman [ขาประจำของ Friedkin ที่ร่วมงานกันมาจาก The French Connection ผลงานอื่น อาทิ Network (1977), Tootsie (1983)] และ Billy Williams [ตากล้องสัญชาติอังกฤษ ที่มีผลงานดังอย่าง Women in Love (1969), Gandhi (1982), On Golden Pond (1981)] เรื่องราวเปลี่ยนพื้นหลังให้อยู่ที่ Washington D.C. แต่สถานที่ถ่ายทำส่วนใหญ่อยู่ New York City

งานภาพของหนังมีความพยายามทำให้ผู้ชมเกิดสัมผัสทางอารมณ์ และบรรยากาศที่ลึกลับ น่าพิศวง ใช้เทคนิคคลาสสิกอย่าง ค่อยๆซูมเข้าออก, กล้องสั่นไหว, เอียงกะเทเร่, แสงเงา/หมอกควัน ฯ ขณะที่นักแสดงแสดงปฏิกิริยาหวาดกลัว เครียด ร้องไห้ เสียสติ ก็จะ Close-Up ใบหน้าให้เห็นชัดๆเต็มๆ ตัดสลับแบบ Montage ให้รับรู้ว่าพวกเขามองเห็นอะไรเกิดขึ้น

ฉากที่บาทหลวง Merrin เดินทางถึงบ้านของครอบครัว MacNeil คือฉากแรกในคิวถ่ายทำของ von Sydow ยามค่ำคืน ท้องถนนเต็มไปด้วยหมอกควัน แสงสว่างส่องลอดออกมาจากหน้าต่างห้องนอน, นี่เป็นช็อตที่ได้รับการพูดถึงกล่าวขานมากที่สุดของหนัง ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดสีน้ำมันชื่อ L’Empire des lumières (Empire of Light) โดย René Magritte (1898 – 1967) จิตรกร Surrealist สัญชาติ Belgian เมื่อประมาณปี 1953 – 54

Genesis 1 verse 4:
“And God saw the light, that it was good: and God divided the light from the darkness.”

ตัดต่อโดย Evan A. Lottman และ Norman Gay นี่เป็นส่วนที่ทำให้หนังดูยากอย่างมาก เพราะมีการตัดสลับไปมาระหว่างเรื่องราวแบบไม่ทันให้ตั้งตัว ซึ่งกว่าทุกเส้นทางจะมาบรรจบ ก็ลากยาวไปช่วงท้ายของหนังแล้ว

เส้นทางของหนังแบ่งออกเป็น 3 สาย
1) เรื่องราวของบาทหลวง Lankester Merrin เริ่มต้นด้วยการอารัมภบท แนะนำปีศาจ Pazuzu
2) เรื่องราวของครอบครัว MacNeil แม่ที่รับรู้ว่าลูกสาวพบเจอปรากฎการณ์ประหลาดมากมาย
3) เรื่องราวของบาทหลวง Damien Karras ที่กำลังหมดสิ้นศรัทธาในคริสตศาสนา

โดยหนังจะเริ่มเล่าเรื่องจากทางสาย 1) ที่ประเทศ Iraq ซึ่งพอ Merrin เผชิญหน้ากับ Pazuzu ก็จะถือว่าจบสิ้นเรื่องราวสายนี้ จากนั้นหนังจะตัดกลับมาที่ Georgetown, Washington D.C. มีการตัดสลับเรื่องราวไปมาระหว่าง 2) กับ 3) ต้องใช้การสังเกตให้ออกเองว่า ขณะนี้เป็นเรื่องราวของ Karras หรือ Mac Neil ซึ่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง พวกเขาทั้งสองก็จะได้พบเจอกัน และ Merrin จะกลับมาร่วมแจมอีกครั้งในตอนท้าย

การตัดต่อมีขณะหนึ่ง ตอนที่ Merrin ยืนเผชิญหน้ากับรูปปั้น Pazuzu จะมีการซ้อนภาพพระอาทิตย์กำลังตกดิน ช็อตนี้คงมีนัยยะถึงการต่อสู้เผชิญหน้า ระหว่าง สวรรค์vsนรก, ความดีvsความชั่ว, วิทยาศาสตร์vsศาสนา ฯ หรือจะมองว่าคือการเดินทางปลิวลมของ Pazuzu ก็ได้นะครับ บินตรงจาก Iraq สู่ Washington D.C. (หนังภาคนี้จะไม่มีคำอธิบายว่าทำไม Reagan ถึงถูกปีศาจตนนี้เขาสิง แต่ในภาคต่อๆมาจะโม้ว่าล่องลอยบินมา)

นอกจากนี้ หนังยังมีการแทรกใส่ภาพหน้าปีศาจปรากฎแวบๆเพียงเสี้ยววินาที นี่ทำให้ผู้ชมสมัยนั้นตกใจกลัว คิดว่าตัวเองเห็นภาพหลอน ปีศาจ แต่นี่เป็นเทคนิคที่ผู้กำกับได้แรงบันดาลใจจากหนังสารคดี Night and Fog (1956) โดยภาพดังกล่าวเป็นการ Make-Up ทดลองแต่งหน้าของ Eileen Dietz ที่เป็นนักแสดงแทน Linda Blair

ส่วนช็อตนี้เป็นการซ้อนภาพปีศาจเข้าไปนะครับ (แต่ผู้ชมสมัยนั้นหลงคิดว่า ถ่ายติดผี)

ฉบับแรกสุดของหนังความยาว 132 นาที เมื่อนำไปฉายให้ผู้บริหารของ Warner Bros. ถูกสั่งให้ตัดออกหลายๆฉาก จนเหลือเพียง 122 นาที ก็นึกว่าฟุจเทจที่ทิ้งไปจะสูญหายไปแล้ว กระทั่งมี Extended Director’s Cut ออกเมื่อปี 2000 ใส่ฉากเหล่านี้กลับเข้ามา อาทิ
– บทสนทนาทางโทรศัพท์ของ Chris ที่ว่า I’ve been on this fucking line for 20 minutes!
– ฉากที่หมอสนทนากับ Chris บอกว่า Regan พูดกับเขาว่า keep your fingers away from her, goddamn cunt.
– ฉากงานเลี้ยงปาร์ตี้ที่ Regan หัวเราะและฉี่ราด
– ฉาก Spider-walk ลงจากบันได
– ตอนท้ายที่ Chris มอบเหรียญของหลวงพ่อ Damian ให้กับหลวงพ่อ Dyer แต่เขากลับส่งคืนพูดว่า I think you should keep it.
– ฉากตอนจบที่ Lt. Kinderman สนทนากับ Father Dyer เสียงเพลงนำมาจากทำนอง Casablanca (1942) ตัดจบก่อนที่เหมือนตัวละครจะพูดว่า I think this is the beginning of a beautiful friendship.
ฯลฯ

ผมเคยรับชมทั้งสองฉบับแล้ว ไม่ค่อยอยากแนะนำ Director’s Cut เลยนะครับ เพราะมันมีหลายฉากที่ก็ไม่รู้ใส่มาทำไม ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย กระนั้นบางฉากที่เพิ่มเข้ามามีความขนลุกขนพองใช้ได้, ถ้ากับคนที่กำลังจะรับชมครั้งแรก แนะนำให้หาฉบับปกติมาดูก่อนนะครับ ถ้าชื่นชอบมีโอกาสค่อยตามหา Version You’ve Never Seen Before

เพลงประกอบของหนังส่วนใหญ่ นำมาจากบทเพลงที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว อาทิ Cello Concerto No. 1 (1972) ของ Krzysztof Penderecki (เกิดปี 1933) คีตกวีสัญชาติ Polish ได้รับการยกย่องว่า ‘the greatest living Polish composer.’

ขอเตือนไว้ก่อนเลยว่า นี่เป็นบทเพลงที่หลอนแบบทรงพลังมากๆ เสียงเครื่องสายทั้งหลายกระแทกกระทั้นรุนแรง เหมือนจะมั่วแต่มีรูปแบบ แสดงถึงความบ้าคลั่ง สับสนอลม่านวุ่นวาย สร้างความสะพรึง สั่นสะท้าน ทรมานทั้งหูและจิตใจเป็นอย่างยิ่ง, ใครก็ตามที่สามารถแต่งเพลงลักษณะนี้ได้ ต้องนรกส่งมากเกิดเลยนะ

สำหรับ Main Theme ของหนัง แต่งโดย Mike Oldfield นักดนตรี/แต่งเพลง Progressive Rock สัญชาติอังกฤษ เน้นเสียง Tubular Bells (ระฆังราว) ที่สร้างความขนลุกขนพอง บางสิ่งอย่างกำลังค่อยๆคืบคลานใกล้เข้ามา

แต่หนังเรื่องนี้เพลงประกอบไม่ใช่พระเอกนะครับ เป็นเสียง Sound Effect สร้างโดย Gonzalo Gavira ที่มีผลงาน El Topo (1970) เราจะได้ยิน อาทิ หมาคราง, หมูขณะกำลังถูกเชือด, เสียงผึ้งบินหึ่งๆ ฯ ที่ได้รับการพูดถึงอย่างยิ่งคือการหันหัว 180 องศา เป็นเสียงบิดกระเป๋าสตางค์หนัง ที่ข้างในดันมีบัตรเครดิตไม่ได้หยิบออก

The Exorcist คือเรื่องราวความพิศวงของชีวิต กับสิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายหาคำตอบด้วยหลักเหตุผล แต่ศาสนากลับแก้ปัญหาได้ ก็อยู่ที่ศรัทธาความเชื่อของคุณเอง จะยินยอมรับสิ่งที่ปรากฎเห็นขึ้นต่อตา สิ่งเหนือธรรมชาตินี้อย่างไร

ปรากฎการณ์ผีสิง เป็นสิ่งพบเจอได้ทั่วโลกทั่วไปทุกศาสนาเลยนะครับ เพราะวิญญาณของคนตายบางทียังมีห่วงอยู่บนโลก จึงพยายามที่จะเข้าสิง หาทางกลับมาเกิด เพื่อทำในสิ่งยังไม่ได้ทำ เตือนภัยให้กับคนที่หลงระเริงในชีวิต, บางครั้งอาจมีจุดประสงค์ดี แต่ส่วนใหญ่มักจะมาร้ายทั้งนั้น กล่าวคือ เป็นคนที่ยังยึดติดกับการมีชีวิต ไม่สามารถปล่อยวาง ยินยอมรับความตายของตนเองได้

ในเมืองไทยก็สามารถพบเจอเยอะแยะไปไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยนะครับ กับคนเมืองผู้ยึดมั่นศรัทธาในวิทยาศาสตร์คงไม่ค่อยได้พบเจออะไรพวกนี้เท่าไหร่ แต่คนต่างจังหวัด ใกล้ชิดศาสนา เข้าวัดทำบุญบ่อยๆ ย่อมต้องเคยได้ยินเรื่องราวสุดประหลาดๆคล้ายแบบนี้มากมาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเสียเท่าไหร่ เพราะชาวเรารับรู้เข้าใจว่าวิญญาณ โลกหลังความตายมีจริง พ่อ-แม่ ญาติพี่น้องที่เสียชีวิต บางคนคงยังคงวนเวียนอยู่ข้างกาย ปกป้องปัดเป่าเสนียดจัญไร ราวกับเทวดาประจำตัว แต่โดยทั่วไปพวกท่านก็จะไม่มารบกวนอะไรเราหรอก เข้าฝันบ้างนานๆที เรียกว่าเป็นผีดีก็ยังได้

วิญญาณทั้งหลายก็เหมือนกับมนุษย์ (เพราะผีทุกตัว ล้วนต้องเคยเกิดเป็นมนุษย์ทั้งนั้น) มีโลภ โกรธ หลง ราคะ ไปทำอะไรให้เขาขัดแย้งผิดใจ ลำบากทุกข์ทรมาน ขับไล่ที่ หรือทำบัดสีบัดเถลิง ฯ ย่อมเกิดความแค้นโกรธเคือง ถ้าเป็นผีมีฤทธิ์ก็จะออกตามล่าอาฆาต ทำให้บุคคลนั้นมีอันต้องพบกับเหตุร้าย อันตราย รุนแรงก็ถึงตาย นี่เรียกว่า วิญญาณอาฆาต มีอยู่จริงๆนะครับไม่ได้พูดเล่น

ปฏิกิริยาของผู้ชมสมัยนั้น เพราะความที่หนังลักษณะนี้ยังไม่ได้แพร่หลายมีมากมายเต็มไปหมดเหมือนปัจจุบัน หลายคนถึงขั้นหน้ามืดเป็นลมหมดสติ ฉากไหนน่ากลัวมากๆก็จะกรี๊ดลั่นวิ่งออกจากโรงภาพยนตร์ บางคนอ๊วกแตกอ๊วกแตนขยะแขยงรับไม่ได้ ฯ พิลึกที่กระแสลักษณะนี้ ชักชวนผู้คนให้ต่อแถวยาวเหยียดหน้าโรงภาพยนตร์ ต้องการพบเห็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต

ด้วยทุนสร้าง $12 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ $66.3 ล้านเหรียญในการออกฉายครั้งแรก แต่เพราะมีการฉายซ้ำต่อเนื่องอยู่เรื่อยๆ ในอเมริกาจนถึงปัจจุบันมีรายรับที่ $232.9 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $441.3 ล้านเหรียญ ปรับค่าเงินเป็นสมัยปัจจุบัน อยู่ที่อันดับ 9 หนังทำเงินสูงสุดตลอดกาล

ด้วยเหตุนี้ Warner Bros. จึงเข็นภาคต่อออกมามากมาย แต่ไม่มีเรื่องไหนประสบความสำเร็จทั้งคำวิจารณ์และรายได้ เทียบเท่ากับต้นฉบับอีกแล้ว
– Exorcist II: The Heretic (1977)
– The Exorcist III (1990)
– Exorcist: The Beginning (2004)
– Dominion: Prequel to the Exorcist (2005)

ล่าสุดเห็นมีการทำเป็นซีรีย์ The Exorcist (2016) ฉายทางช่อง Fox ได้เสียงตอบรับปานกลาง ผู้ชมเฉลี่ย 1.8 ล้านคน

กระแสของ The Exorcist จุดประกายหนังแนว Evil Kid อันประกอบด้วย The Omen(s), Child’s Play/Chucky, Children of the Corn(s), Pet Sematary, Orphan ฯ

หนังเข้าชิง Oscar 10 สาขา คว้ามาเพียง 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actress (Ellen Burstyn)
– Best Actor in a Supporting Role (Jason Miller)
– Best Actress in a Supporting Role (Linda Blair)
– Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium ** ได้รางวัล
– Best Cinematography
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Film Editing
– Best Sound ** ได้รางวัล

ก่อนหน้างานประกาศรางวัล ผู้กำกับ George Cukor ออกมาขู่ว่าจะลาออกจาก Academy ถ้าหนังเรื่องนี้คว้า Oscar: Best Picture

สำหรับเรื่องที่คว้ารางวัลใหญ่ปีนี้คือ The Sting (1973) ตัวเต็งอื่นคือ American Graffiti (1973) และ Cries & Whispers (1972) ถือว่าเป็นปีที่สายแข็งมากๆ

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ในส่วนของเนื้อเรื่อง การแสดง และการสร้างบรรยากาศ ที่ไม่ได้สักแต่จะไล่ผีให้ตกใจกลัว แต่ใจความเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อ ศรัทธา ท้าพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ แม้ผมจะไม่ใช่ชาวคริสต์ยังรู้สึกคับข้องใจแทน จากความที่โลกสมัยนี้มีเทคโนโลยีก้าวล้ำหน้า แต่คุณค่าทางจิตใจของมนุษย์กลับลดต่ำลงมาก

นี่คือลักษณะของหนังแนว Horror ที่ดีในมุมมองของผมนะครับ  คือไม่ได้สักแค่จะทำให้ผู้ชมเกิดความหวาดกลัว สะดุ้ง ตกใจ ขนลุกขนพอง หรือเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกมากเกินไป แต่มีความสมเหตุสมผล ฟังดูเป็นไปได้น่าเชื่อถือ และเมื่อนี่อ้างอิงจากเหตุการณ์จริง ผีฝรั่งก็แบบนี้แหละ จะเอานิยามผีไทยไปเปรียบเทียบคงไม่ได้แน่ แต่เราก็ยังสามารถเข้าใจ ขนลุกขนพอง หวาดกลัว สยองขวัญ

แนะนำกับคอหนังแนว Horror-Classic เรื่องราวเหนือธรรมชาติ ศรัทธาศาสนาคริสต์, ชื่นชอบบรรยากาศ ระทึก สยองขวัญ หวาดกลัว คลาสสิก, แฟนๆหนังรางวัล และนักแสดงอย่าง Max von Sydow, Ellen Burstyn

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศ ความน่ากลัว สยดสยอง

TAGLINE | “The Exorcist ปฐมบทการไล่ผีที่สร้างความหวาดกลัว ขนลุกขนพองให้กับผู้ชมสมัยนั้นอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าสมจริงแบบคลาสสิก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: