The Eye

The Eye (2002) Hong Kong : Pang brothers ♥♥

คนเห็นผี เป็นภาพยนตร์ที่มีความหลอกหลอน สะพรึง น่ากลัวจับใจ แถมแนวคิดเริ่มต้นมาดีแบบสุดๆ แต่กลับเดินตกท่อตาย เพราะแนวทางกำกับของสองพี่น้องแปง ใส่ลีลาลูกเล่นเยอะเกินติสต์ไปหน่อย นักแสดงที่รับบทหมอก็เล่นได้แข็งทึ่มทื่อ ขมวดปมตอนจบไม่ค่อยดีนัก และมาถ่ายที่ไทยก็ … กุมขมับ

ค่านิยมของผู้ชมส่วนใหญ่ เมื่อพูดถึงหนังผี Horror เรื่องใดที่สามารถสร้างความหลอกหลอน สะพรึง น่ากลัวจับใจ แค่นี้ก็มักเพียงพอแล้วที่จะชื่นชอบ หลงใหล คลั่งไคล้ น่าจะประสบความสำเร็จแล้ว, The Eye เป็นหนังที่ … ก็มีแค่นั้นแหละครับ สามารถทำให้สยิวกาย ขนหัวลุกชูชัน สะดุ้งตกใจ แค่นี้ย่อมสามารถถูกรสนิยมของผู้ชมส่วนใหญ่ได้มาก

แต่กับคนที่รับชมภาพยนตร์มาเยอะ หลากหลายแนว หนังที่มีเพียงความหลอกหลอนน่ากลัว มันไม่เพียงพอที่จะเรียกว่าหนังดีได้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปก็จะไม่ค่อยหลงเหลืออะไรให้พูดถึงน่าจดจำนักนัก เรื่องราวลักษณะจะเริ่มพบเห็นทั่วไปเกลื่อนกลาด ความหวาดกลัวจะค่อยๆลดลง และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็อาจแปรสภาพเป็นเพียงตำนานความทรงจำ หนำซ้ำอาจดูตลกขบขัน ตกยุคสมัยเสียด้วยซ้ำ

Oxide Pang Chun กับ Danny Pang Phat (เกิดปี 1956) แฝดชายสัญชาติ Hong Kong คนพี่ (Oxide) เกิดก่อน 15 นาที ทั้งคู่ต่างมีความสนใจด้านภาพยนตร์ตัดแต่เด็ก

เรียนจบมา Oxide ได้งานเป็นนัก Telecine Colorist (ผู้เชี่ยวชาญล้างฟีล์มสี) ช่วงหนึ่งมาทำงานที่กรุงเทพ ให้กับประจำอยู่แลปของกันตนา มีโอกาสสร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ท้าฟ้าลิขิต (พ.ศ. ๒๕๔๐) เป็นตัวแทนประเทศไทยส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่เข้ารอบใดๆ

สำหรับ Danny เป็นนักตัดต่อ อาศัยอยู่ Hong Kong มีผลงานเด่นคือ The Storm Riders (1998), Infernal Affairs (2002) ฯ

ทั้งสองร่วมงานสร้างภาพยนตร์ครั้งแรก Bangkok Dangerous (1999) ชื่อไทย บางกอกแดนเจอรัส เพชฌฆาตเงียบ อันตราย เข้าฉายเทศกาลหนังนานาชาติ Toronto คว้ารางวัล FIPRESCI Award

การทำงานของสองพี่น้องแปง ถือว่าค่อนข้างแปลกประหลาดทีเดียว ช่วง Pre-Production จะร่วมงานกันตลอด แต่ตอนถ่ายทำจริงจะพบเจอแค่วันละแปง กล่าวคือถ้าวันนี้ Oxide เป็นผู้กำกับ Danny จะพักผ่อน วันถัดมา Danny จะทำงาน ส่วน Oxide หนีไปเที่ยว

“In a shooting location there is always only one Pang at a time; it helps us save our energy. One day I’ll be shooting, the other, Danny will. I know a lot of people are amazed, but we do have a strong connection, I guess, as twins. And we have a lot of meetings on the script, we sit down in front of a storyboard and we have the same visuals conception.”

สำหรับ The Eye (2002) สองพี่น้องแปงร่วมกับ Jojo Hui ได้แรงบันดาลใจจากข่าวหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อ 13 ปีก่อน เด็กหญิงอายุ 16 ปี ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตา (Corneal Transplant) ทำให้สามารถมองเห็นโลกได้เป็นครั้งแรก แต่ไม่นานหลังจากนั้นกลับฆ่าตัวตาย เพราะอะไรกัน? มีบางสิ่งอย่างที่เธอเห็นไม่เหมือนคนอื่นหรือเปล่า?

“We’d always wondered what the girl saw when she regained her eyesight finally and what actually made her want to end her life”.

นอกจากนี้ตอนจบของหนัง ยังได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงในกรุงเทพฯ เหตุการณ์รถบรรทุกแก๊สระเบิด ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓ มีผู้เสียชีวิต 90 คน บาดเจ็บ 121 คน รถ 43 คัน ประเมินความเสียหายกว่า 315 ล้านบาท

เรื่องราวของ Mun (รับบทโดย Angelica Lee) หญิงสาวตาบอดตั้งแต่ยังเล็ก ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตาใหม่ กำลังค่อยๆปรับตัวเข้ากับสิ่งต่างๆรอบตัว แต่มีบางสิ่งอย่างที่เธอมองเห็นแล้วคนอื่นมองไม่เห็น ค่อยๆเรียนรู้จนเข้าใจว่านั่นคือวิญญาณของคนตาย ยมทูต และอดีตเจ้าของดวงตาคู่นี้ ราวกับว่ามีบางสิ่งอย่าง ต้องการให้ Mun ช่วยแก้ไข จะได้ไปผุดไปเกิดเสียที

Angelica Lee หรือ Lee Sin-je (เกิดปี 1976) นักร้องนักแสดงหญิง เกิดที่ Kedah, Malaysia มีเชื้อสายจีน สมัยเรียนเข้าร่วมประกวดร้องเพลงได้รางวัลมากมาย และยังได้เป็นประธานชมรมการแสดง จบออกมาไป Audition เข้าตา Sylvia Chang แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Betelnut Beauty (2001) ของผู้กำกับ Lin Cheng-sheng ที่คว้ารางวัล Silver Bear: Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Berlin และ Lee คว้ารางวัล New Talent Award กลายเป็นนักแสดงที่ได้รับการจับตาอย่างสูง

รับบท Mun หญิงสาวผู้เคยตาบอด กำลังปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ แรกๆยังตื่นเต้นดีใจ แต่พอได้พบว่าสิ่งที่ตนเห็นใช่ว่าคนอื่นจะเห็นด้วย เกิดความหวาดหวั่นกลัว วิตกจริต ตัดสินใจกักขังตนเองอยู่ในห้องมืด กว่าที่จะทำความเข้าใจ หาทางออก ค้นพบด้วยปณิธานแน่วแน่เพื่อแก้ปัญหา ก็ต้องใช้ความพยายามโน้มน้าวจากคนรอบข้างอย่างยิ่งทีเดียว

Lee เป็นนักแสดงที่มีความสามารถใช้ได้เลยละ น่ารักมากด้วย (เธอแต่งงานกับ Oxide Pang เมื่อปี 2010) โดดเด่นในการแสดงปฏิกิริยา สีหน้า ที่เหมาะอย่างยิ่งกับหนัง Horror ผู้ชมจะรู้สึกเอ็นดู เห็นใจ ส่งแรงเชียร์ชให้เธอสามารถผ่านวิกฤตชีวิตช่วงนี้ไปได้ แต่จักผิดหวังเล็กๆกับตอนจบ เพราะเหมือนทุกอย่างวนกลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

สิ่งแรกที่เป็นปัญหาใหญ่ของหนัง คือตัวละคร Dr. Wah (รับบทโดย Lawrence Chou) จิตแพทย์หนุ่มผู้ให้คำปรึกษา สำหรับการปรับตัวมองเห็นโลกใหม่ของ Mun แต่หนังกลับตัดข้ามช่วงขณะสร้างความสัมพันธ์ของทั้งคู่ มีสภาพเป็นเพียงรักแรกพบ เจอครั้งเดียวก็ปิ๊งเลย พบกันอีกทีมีแต่ปัญหา แล้วหมอก็ไม่เชื่อเรื่องเธอเล่าด้วยนะ (วิทยาศาสตร์จะเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติได้อย่างไร) นอกจากการแสดงอันจืดชืด แข็งทึ่มทื่อ บทบาทยังขาดๆเกินๆ เขียนมาไม่ดีเท่าไหร่ ตัดออกไปเลยก็ได้มั้ง

มีนักแสดงไทยร่วมด้วยนะ ฌัชฌา รุจินานนท์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๒) ที่มีผลงานดังอย่าง ๑๘ ฝน คนอันตราย (พ.ศ. ๒๕๔๐), อั้งยี่ ลูกผู้ชายพันธุ์มังกร (พ.ศ. ๒๕๔๓), เพื่อน…กูรักมึงว่ะ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ฯ รับบท Chiu Wai-ling, หลินเจ้าของดวงตาคนเก่า มีความสามารถพิเศษเห็นวิญญาณติดตัวตั้งแต่เด็ก แต่สังคมกลับปฏิเสธไม่ยอมรับ (เมืองไทยไม่น่าเป็นไปได้เลยนะ เพราะถ้าคนทำนายอนาคตเก่งๆแบบนี้ มีแต่ยกย่องกราบไหว้บูชา กลายเป็นเจ้าแม่ขอหวยแน่ๆ)

บรรดาผีทั้งหลาย มีอยู่เพียง 2-3 ตนเท่านั้นได้ติดตามยมทูตไปผุดไปเกิดใหม่ ที่เหลือต่างไม่รู้ชะตากรรม โดยเฉพาะเด็กชายที่ตามหาสมุดพก พอไม่พบแล้วน้อยใจกระโดดตึกตาย สุดท้ายยังไงต่อก็ไม่รู้ ค้างคาไว้แบบน่าหงุดหงิดใจ (แต่เห็นมีคนเผาสมุดพกส่งไปให้ คงได้รับอยู่มั้ง), ผีในลิพท์ สองแม่ลูกเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวก็เช่นกัน โผล่มาสร้างความหลอกหลอนแล้วก็หายไปเลย (นางเอกยังจะกล้าขึ้นลิฟท์อยู่อีกรึเปล่านะ!)

ถ่ายภาพโดย เดชา ศรีมันตะ ผู้กำกับภาพชาวไทย ขาประจำของพี่น้องแปง และมีผลงานทั้งไทยและเทศ อาทิ Fake โกหก…ทั้งเพ (พ.ศ. ๒๕๔๖), โคตรรักเอ็งเลย (พ.ศ. ๒๕๔๙), โอปปาติก เกิดอมตะ (พ.ศ. ๒๕๕๐), ช็อคโกแลต (พ.ศ. ๒๕๕๑) ฯ

งานภาพถือว่าโดดเด่นเลยละ ช่วงแรกๆที่ Mun ยังมองอะไรไม่ชัด ผู้ชมก็จะเห็นภาพเบลอๆแบบเดียวกับตัวละคร, หลายครั้งกล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าไปอย่างช้าๆ เพื่อสร้างบรรยากาศความหลอกหลอนน่าสะพรึงกลัว, และฉากที่เมืองไทยต้องบอกว่าราวกับบ้านผีสีง เลือกโรงพยาบาลและบ้านไม้ มีสภาพเก่าๆ ทรุดโทรม มีความขลังมาก

เกร็ด: โรงพยาบาลสยามราษฎร์ เท่าที่ค้นดูเจอตั้งอยู่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ในหนังเหมือนจะเดินทางไปแค่ลำลูกกา นครนายก ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สักเท่าไหร่

ให้ข้อสังเกตนิดนึงว่า ช่วงแรกๆของหนังเวลาเห็นอะไรแปลกๆ ก็สามารถรับรู้ได้เลยว่านั่นคือผี แต่สำหรับ Mun จะยังไม่รู้ตัว เพราะนั่นสิ่งใหม่เพิ่งเคยพบเห็นครั้งแรก เลยไม่เกิดความชะล่าใจสงสัยเท่าไหร่ นั่นทำให้เราๆรู้สึกหวาดหวั่นวิตกกลัวแทนเธอ นี่ถือเป็นไดเรคชั่นที่เจ๋งมากเลยนะ แต่หลังจากนี้เมื่อหญิงสาวรู้ตัวแล้วว่านั่นอะไรขึ้น …

ตัดต่อโดย พี่น้องแปง ใช้มุมมองของ Mun เล่าเรื่องทั้งหมด แต่หนังมีความรวดเร็วฉับไว เร่งเร้าเรื่องราวจนเกินไป แทบจะไม่มีอารัมภบท หรือพัฒนาความสัมพันธ์ของตัวละคร มุ่งเน้นให้เห็นผีไวๆ หลอกหลอนๆ ผู้ชมจะได้พึงพอใจเร็วๆ

มี 2 ฉากที่ผมรู้สึกว่า ไดเรคชั่นการตัดต่อค่อนข้างแย่
– ตอนที่ Mun หวนกลัวไปเล่นไวโอลินแล้วล้มพับ ตัดสลับกับมีคนมาไล่ผีที่บ้าน … ฉากนี้คงต้องการสื่อถึงการแก้ปัญหาเบื้องต้น แต่การตัดต่อสลับไปมาของสองสิ่งนี้ มีความหมายทางภาษาภาพยนตร์คือ ใช้เสียงไวโอลินไล่ผี มันไม่ได้เข้ากันเลยนะ
– ฉากย้อนอดีตของหลิน (ที่เมืองไทย) สับสนวุ่นวายอลม่าน มีความมั่วซั่วมากๆ สัมผัสได้แค่อารมณ์ แทบจะดูไม่รู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร

เพลงประกอบ นำมาจาก Stock Music ของ Orange Music ร่วมด้วยช่วงสร้างบรรยากาศประกอบหนังได้เป็นอย่างดี ขณะที่ Violin Concerto น่าจะเป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นประกอบใช้ในหนังมากกว่า

ช่วงที่ตัวละครเดินทางมาถ่ายเมืองไทย นี่ผมไม่ใจเท่าไหร่ว่าเฉพาะคนไทยหรือเปล่าที่อาจรู้สึกแบบนี้ คือถึงทุกสิ่งที่เห็นจะเป็นผืนแผ่นดินไทย ภาษาไทย แท็กซี่ ตำรวจ ทางด่วน ฯ แต่กลับเหมือนเป็นอีกโลกใบหนึ่งที่ไม่ใช่เมืองไทย จับต้องไม่ได้เสียเลย ช่างมีความอันตราย น่ากลัว หลอกหลอน, แต่จะว่าไปพี่น้องแปงสร้าง Bangkok Dangerous คงเพราะมีทัศนคตินี้กับเมืองไทย รู้สึกเป็นประเทศอันตราย น่ากลัว เต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพล อำนาจบาดใหญ่ ของแบบนี้ชาวต่างชาติมักกล้าที่จะแสดงทัศนะออกมาตรงๆในมุมมองของเขา แต่จะเป็นสิ่งที่คนไทยอย่างเราๆ หลายคนมองไม่เห็นแน่นอน

ผมค่อนข้างเสียดายความสามารถนางเอกนะ ไม่น่าให้ตอนจบกลับกลายเป็นคนตาบอดเหมือนเดิมเลย น่าจะหาวิธีใช้ประโยชน์ที่ดีกว่านี้ นี่เท่ากับสื่อว่า ‘การเห็นสิ่งที่ไม่ควรเห็น เป็นสิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง!’ มันควรเป็นเรื่องของพรสวรรค์และโอกาส แต่กลับตอกย้ำการตายที่ไร้ค่าของหลิน คือโชคชะตาที่นางเอกต้องพบเจอ

โดยเฉพาะผีหลายตนที่เปิดประเด็นมาตอนต้นเรื่อง ทิ้งค้างคาใจไว้อย่างนั้นไม่มีบทสรุป แทนที่จะให้การช่วยเหลือก่อนมาเมืองไทย หรือตบท้ายด้วยการที่ Mun เลือกทางเดินช่วยเหลือพวกเขาให้ไปสู่สุขคติ กลับปิดประตูขังตายตัวเองเสียแบบนี้ ค่อนข้างน่าผิดหวังที่สุดเลย

ด้วยความสำเร็จของหนัง ทำให้มีภาคต่อ, Remake เกิดขึ้นมากมาย อาทิ
– The Eye 2 (2004) กำกับโดยพี่น้องแปง แต่เปลี่ยนนักแสดงนำ
– The Eye 10 (2005) หรือ The Eye Infinity มันก็คือภาคสามนะครับ กำกับโดยพี่น้องแปง
– Adhu (2004) ฉบับ Remake ภาษา Tamil
– Naina (2005) ฉบับ Remake ภาษา Hindi กำกับโดย Shripal Morakhia
– The Eye (2008) ฉบับ Hollywood Remake นำแสดงโดย Jessica Alba

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบครึ่งแรกของหนัง แนวคิดพล็อตเรื่องมีความน่าสนใจ ผีก็ค่อยๆโผล่มาหลอกหลอนจับจิต แต่พอตั้งแต่นางเอกเริ่มเสียสติ ผมก็เริ่มเบือนหน้าหนี เห็นการแสดงของหมอแข็งทื่อราวกับหิน พอมาเมืองไทยก็อะไรว่ะ มั่วๆซั่วๆขาดความสมเหตุสมผล ความคาดหวังที่มีมาพลังทลายสูญสิ้นสลายหายไปหมด ถึงตอนจบกลับไปย่ำอยู่กับที่ นี่ฉันกำลังรับชมอะไรอยู่เนี่ย!

แนะนำเฉพาะกับคอหนัง Horror พวกขวัญอ่อนแต่ชอบดูหนังผีหลอนๆ สะดุ้งตกใจ บรรยากาศขนลุกขนพอง, อยากเห็นภาาพเมืองไทยที่ถ่ายทำหนังโดยชาวต่างชาติ, แฟนๆสองพี่น้องแปง และนักแสดง Angelica Lee ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญาติของคนที่กำลังจะผ่าตัดเปลี่ยนตา แนะนำไม่ใช่เพื่อให้เกิดความหวาดกลัวจนปฏิเสธต่อต้าน แต่ให้ทำความเข้าใจแนวโน้มสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ และข้อปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากคนไข้มองเห็นแล้ว

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศความหลอกหลอน สะดุ้ง และความตาย

TAGLINE | “The Eye ภาคแรกของสองพี่น้องแปง ทำออกมาได้หลอกหลอนจับใจ แต่เพราะติสต์ไปหน่อยเลยเดินตกท่อตาย”
QUALITY | UNDERESTIMATE
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: