The Fate of Lee Khan

The Fate of Lee Khan (1973) Hong Kong : King Hu ♥♥♥♡

ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในไตรภาคโรงเตี๊ยม ต่อจาก Come Drink with Me (1966) และ Dragon Inn (1967) ของผู้กำกับ หูจินเฉวียน (King Hu) กำกับคิวบู๊โดย หงจินเป่า (Sammo Hung), โชคชะตาของแผ่นดินจีน กำลังจะถูกตัดสินในโรงเตี๊ยมเล็กๆแห่งหนึ่ง

คนส่วนใหญ่คงรู้จักหนังของปรมาจารย์ผู้กำกับ King Hu เพียง Come Drink with Me (1966), Dragon Inn (167) และ A Touch of Zen (1971) แต่ผมขออ้างคำของ François Truffaut ‘ผลงานห่วยสุดของสุดยอดผู้กำกับ ยังดีกว่าผลงานเยี่ยมที่สุดของผู้กำกับห่วยๆ’ แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีความแย่หรือห่วยเลยนะครับ อาจดูสนุกกว่า 3 เรื่องที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันเสียอีก เพียงแค่ไม่ได้มีอิทธิพลสะเทือนเลือนลั่นโลกา หรือเป็นจุดเปลี่ยนยุคสมัยอะไรหลายๆอย่างก็เท่านั้น ปัจจุบันยังคงได้รับการพูดถึงชื่นชมอยู่บ้าง ไม่ถึงขั้นลืมเลือนหายไปตามกาลเวลา

ความอัศจรรย์ของที่ผมได้ค้นพบ คือการที่หนังมี 2 บรรยากาศเกิดขึ้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง, ครึ่งแรกจะมีเรื่องราวสบายๆชิวๆ ผ่อนคลายไม่เครียดมาก แนะนำตัวละครและความวุ่นวายอลม่านในโรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง ส่วนครึ่งหลังเมื่อ Lee Khan ปรากฎตัวเข้ามา ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนเข้าสู่ความซีเรียสจริงจัง เพราะชายคนนี้ได้กุมโชคชะตากรรมของแผ่นดินจีนไว้ในกำมือ มันเลยไม่ใช่เรื่องเล่นๆสนุกสนานอีกต่อไป, ต้องบอกว่า วินาทีที่อารมณ์ของหนังเปลี่ยนเป็นขั้วตรงข้าม ผมเกิดความหลงใหลประทับใจหนังเรื่องนี้ขึ้นมาทันทีเลยละ

หลังความล้มเหลวในรายรับของ A Touch of Zen ในฮ่องกงและไต้หวัน (นี่ก่อนจะได้ไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 1975) ทำให้ King Hu จำใจต้องหวนกลับคืนสู่ Hong Kong เซ็นสัญญากับ Golden Harvest ขอทุนสร้างหนัง 2 เรื่องติด (back-to-back) ถ่ายทำไปพร้อมๆด้วยทีมงานชุดเดียวกัน ประกอบด้วย The Fate of Lee Khan และ The Valiant Ones ทีแรกตั้งใจให้ออกฉายควบพร้อมกันด้วย แต่ Golden Harvest มองว่า The Fate of Lee Khan ดูเข้าถึงง่ายกว่า เลยเร่งให้ออกฉายก่อนปี 1973 ปล่อยให้ The Valiant Ones ล่าช้าไปถึงสองปี ออกฉาย 1975

เกร็ด: นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของโลกที่ผู้กำกับคนเดียวถ่ายหนังควบพร้อมกัน 2 เรื่อง เท่าที่ผมรู้ก่อนหน้านี้ Jean-Luc Godard ก็เคยถ่ายเช้าเรื่อง Two or Three Things I Know About Her (1967) ถ่ายบ่ายเรื่อง Made in U.S.A. (1966)

ทั้งสองเรื่องมีพล็อต โครงสร้างคล้ายๆกัน แถมเป็นแนว Wuxia และรวมดาราดังแห่งยุคหลายคน, ใจความจะเกี่ยวกับชาตินิยมชาวจีนต่อสู้กับผู้รุกรานต่างประเทศ
– The Fate of Lee Khan ในยุคสมัยปลายราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1271-1368) ของจักรพรรดิหยวนฮุ่ยจง ผู้สืบเชื้อสายจากเจงกีส ข่านและกุบไล ข่าน (ผู้สถาปนาราชวงศ์หยวน) ชาวมองโกล กำลังถูกชาวฮั่นนำโดยจูหยวนจาง ขับไล่ออกจากแผ่นดิน เพื่อให้ชาวจีนแท้ๆจริงได้กลับมาครองแผ่นดินตนเองอีกครั้ง (หลังจากกระทำการสำเร็จ จูหยวนจาง ก็ได้ปราบดาตัวเองขึ้นเป็น จักรพรรดิหงอู่ แห่งราชวงศ์หมิง)
– The Valiant Ones ในยุคสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368–1644) รัชสมัยของจักรพรรดิเจียจิ้ง ที่เต็มไปด้วยปัญหาคอรัปชั่นและกำลังมีปัญหากับพวกญี่ปุ่นและโจรสลัดทางตะวันออกของประเทศ นายพลหยูต้าหยู (Yu Dayou) ได้รับภารกิจเพื่อต่อสู้ทำลายญี่ปุนและโจรสลัด เพื่อความสงบสุขกลับคืนมาสู่ประเทศจีน

เรื่องราวของ The Fate of Lee Khan เป็นช่วงที่จูหยวนจางใกล้ได้รับชัยชนะกับพวกมองโกล แต่มีนายทหารผู้หนึ่งคิดคดทรยศต่อแผ่นดิน วาดแผนที่ตั้งแสดงค่ายทหารภายในกองทัพ นำมามอบให้ลีข่าน (Lee Khan) เชื้อพระวงศ์คนสนิทและลีหวั่นเอ๋อ (Lee Wan-erh) องค์หญิงแห่งมองโกล ณ โรงเตี้ยมหยิงชุน (Spring Inn) ที่อยู่ท่ามกลางดินแดนรกร้างว่างเปล่า มณฑลส่านซี ตอนเหนือของแผ่นดินจีน, บรรดาผู้รักชาติทั้งหลาย เจ้าของโรงเตี๊ยม และเหล่าจอมยุทธผู้กล้าต่างต้องร่วมมือกันเพื่อหยุดยั้งแผนการดังกล่าว

นำแสดงโดย Li Li-Hua, ลี้ลิฮัว (1927 – 2017) นักแสดงสัญชาติจีน ได้รับฉายาว่า ‘The Evergreen Tree’ (ต้นไม้ที่ไม่เคยเฉา) เกิดที่เซี่ยงไฮ้ เป็นลูกสาวของนักแสดงงิ้วปักกิ่งชื่อดัง Li Guifang ตอนอายุ 12 ย้ายไปอยู่ปักกิ่งเข้าเรียนงิ้ว โตขึ้นเซ็นสัญญากับ Yihua Film Company มีผลงานการแสดงเรื่องแรก 3 Smiles (1940) เป็นที่รู้จักโด่งดังจาก Xiao feng xian (1953) ย้ายมาอยู่ฮ่องกงเซ็นสัญญาใหม่กับ Shaw Brothers มีผลงานดังอย่าง The Magnificent Concubine (1962), Empress Wu (1963), Boxer Rebellion (1976) เคยคว้ารางวัล Golden Horse: Best Actress จากหนังเรื่อง Storm over the Yangtze River (1969)

ลี้ลิฮัว มีผลงานเรื่องสุดท้าย New Dream of the Red Chamber (1978) แล้วรีไทร์ย้ายไปอยู่อเมริกาจนเสียชีวิต

รับบทว่านเหยินเหม่ย์, Wan Jen-mi หรือ Wendy [สีเหลือง] เจ้าของโรงเตี๊ยมหยิงชุน เป็นหญิงกลางคนที่มีความเฉลียวฉลาด มากประสบการณ์ ยึดมั่นในอุดมการณ์ และรักชาติยิ่งชีพ, ภาพลักษณ์ของลี้ลิฮัว กับหนังเรื่องนี้ ต้องถือว่าได้สร้างอุดมคติของเถ้าแก่เนี้ย หญิงสาวเจ้าของโรงเตี๊ยม/กิจการ (ที่ปกติสมัยนั้นจะมีแต่เถ้าแก่ คือเจ้าของกิจการที่เป็นผู้ชาย) สามารถควบคุมสาวๆในสังกัดได้อยู่หมัด หนักแน่นมั่นคงไม่มีวอกแวก แม้จะมีหวั่นใจบ้างแต่ก็เข้มเข็งแกร่ง บทบู๊รู้สึกว่าเธอจะยิงธนูแม่นทีเดียว (ไม่ใช่นักสู้แนวหน้า แต่อยู่เบื้องหลัง ควบคุมบงการผู้อื่นได้)

สำหรับสาวๆทั้ง 4 ประกอบด้วย
– แองเจล่า มาโอะ (Angela Mao) รับบท Hai Mu-tan (Peony) [สีดำ] นักล้วงกระเป๋าที่อดใจไม่ได้เมื่อเห็นของมีค่า และเป็นคนขโมยแผนที่จากตัวของลีข่าน
– เฮเลน มา (Helen Ma) รับบท Yeh Li-Hsiang (Lilac) [สีเขียว] แมวขโมย คือคนที่แอบย่องขึ้นไปคืนจดหมายบนห้องพักของลีข่าน แต่ถูกจับได้
– หูจิ่น (Hu Jin) รับบท Shui Mi-tao (Chili) [สีแดง] นักแสดงข้างถนน สวมบทบาทเก่ง ตัวเล็กพริกขี้หนู เป็นคนหลอกล่อยามเพื่อให้ Hai Mu-tan ขึ้นไปขโมยแผนที่บนห้องของลีข่าน
– Shangguan Yan’er รับบท … (Peach) [สีม่วง] นักต้มตุ๋น คือคนที่สามารถต่อสู้จับลีหวั่นเอ๋อ เป็นตัวประกันได้ [ตัวละครนี้บทน้อยสุดเลย]

ยังมีนักแสดงหญิงชื่อดังอีกคนหนึ่ง แต่รับบทเจ้าหญิงฝั่งมองโกล Hsu Feng, สีว์เฟิง (เกิดปี 1950) นักแสดง/โปรดิวเซอร์ สัญชาติ Taiwanese เกิดที่กรุงไทเป ได้รับบทเล็กๆในหนังของ King Hu เรื่อง Dragon Inn (1976) จนได้รับบทนำในหนังเรื่องถัดมา A Touch of Zen ตามมาด้วย In The Fate of Lee Khan (1973), The Valiant Ones (1975), Raining in the Mountain (1979) ผลงานการแสดงอื่นที่โดดเด่น ถึงขนาดคว้ารางวัล Golden Horse Award: Best Actress มีถึง 2 เรื่อง Assassin (1976) และ The Pioneers (1980)

เจ้าหญิงมองโกว ลีหวั่นเอ๋อ (Lee Wan-erh) หน้านิ่วคิ้วขมวดไม่เคยยิ้ม มีความเฉลียวฉลาด สุขุมเยือกเย็น วิทยายุทธยอดเยี่ยม และหูไว(มากๆ), แค่ภาพลักษณ์ความจริงจังของ สีว์เฟิง ก็ทำให้ตัวละครนี้มีมิติน่าหลงใหลอย่างยิ่ง ทั้งๆที่ก็แทบไม่มีบทบาทอะไร แต่แค่การมองเห็นเธอก็รับรู้สึกว่า ตัวละครนี้ต้องมีลับลมคมใน ฝีมือไม่ธรรมดาแน่ๆ

สำหรับลีข่าน นำแสดงโดย Tien Feng, เทียนเฟิง (1928 – 2015) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติจีน เกิดที่มณฑลหูหนาน มีผลงานทั้งหนังฮ่องกงและไต้หวัน ผลงานการแสดงอาทิ Fist of Fury (1972), Little Tiger of Canton (1971), The Young Master (1980), A Better Tomorrow (1986), Miracles (1989) ฯ

ภาพลักษณ์ของลีข่านมีความน่าเกรงขาม เช่นกันกับความโฉดชั่วสุดขีด แต่ด้วยความที่เป็นเชื้อสายกษัตริย์จึงมีความรักชาติมองโกลยิ่งชีพ พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชาติตนในดินแดนแผ่นดินจีน, ต้องถือว่า Charisma ของเทียนเฟิง สูงส่งยิ่งนัก มาดนิ่งลึกคมคาย เฉลียวฉลาดรอบรู้ คงเพราะหนวดเคราที่มีเสน่ห์ ทำให้ลีข่านเป็นศัตรูที่น่ากลัวอันตรายยิ่งของชาวฮั่น

นอกจากนี้ยังมีนักแสดงฝั่งชาวฮั่นอีก 3 คนที่ต่างก็ฝีมือการแสดงไร้เทียมทานเช่นกัน

Roy Chiao รับบท Tsao Yu-kun นายพลคู่ใจของลีข่าน แต่แท้จริงแล้วจิตใจกลับเป็นชาวฮั่นแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยินยอมก้มหัวเข้าข้างเพื่อค้นหาผู้ทรยศ และวางแผนกำจัดศัตรูของแผ่นดิน, ภาพลักษณ์ของ Chiao เมื่อไม่ได้รับบทหลวงจีน (ใน A Touch of Zen) ต้องบอกว่า Charisma พี่แกซื่อสัตย์ ซื่อตรง มั่นคง เฉลียวฉลาด เป็นนักแสดงยอดฝีมือจริงๆ

Ying Bai, หยิงบาย รับบท Wang Shih Cheng อ้างว่าเป็นหลานของว่านเหยินเหม่ย์ แต่ตัวจริงเป็นยอดฝีมือที่มีความต้องการช่วยเหลือต่อสู้กับชาวมองโกล, ภาพลักษณ์ของ Chia-hsiang เป็นคนเฉลียวฉลาด ดูภูมิฐาน และหล่อ(มั้ง)

Han Ying-chieh รับบท Sha Yuan Shan นักดนตรี ที่ต้องถือว่าตัวละครนี้แย่งซีนที่สุดในหนังแล้ว โดยเฉพาะตอนเปิดตัวเรียกเสียงหัวเราะได้เป็นที่สุด และผมคาดไม่ถึงทีเดียวว่าพี่ Ying-chieh จะสามารถร้องเล่นดนตรีได้ไพเราะขนาดนี้ (ปกติจะเห็นแต่รับบทตัวร้าย ไม่คิดว่าจะมารับบทฝั่งพระเอกได้เท่ห์ชะมัด)

เรียกได้ว่าเป็นหนังรวมโคตรดาราแห่งยุคหลายคนเข้าไปมากด้วยทีเดียว ซึ่งแทบทั้งนั้นล้วนเป็นขาประจำของ King Hu และยังแสดงควบในหนังเรื่อง The Valiant Ones อีกด้วย

หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ลีข่าน มีวิทยายุทธสูงส่งไร้ผู้เทียมทาน เพราะสาวๆทั้งหลายก็ไม่ใช่ระดับปรมาจารย์ยอดฝีมือ มีฝีมือเพียงพอไปวัดไปวา รวมกันต่อสู้ก็สามารถเอาชนะได้เท่านั้น ซึ่งหนังจะใช้ช่วงเวลาที่จิตใจของลีข่านอ่อนไหวที่สุด ในการตัดสินโชคชะตาชีวิตของประเทศชาติ

ถ่ายภาพโดย Chun Tsing-Can, ประมาณ 80% ของหนังจะถ่ายภายในโรงเตี๊ยมหยิงชุน ซึ่งมีการจัดกรอบ (Frame) องค์ประกอบของหนังได้อย่างสวยงามมากๆ ราวกับภาพถ่าย … แต่น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการ remaster คุณภาพจึงแค่ปานกลางเท่านั้น

รวมผู้เล่น(เกือบ)ทั้งหมดของหนังในช็อตเดียว

ฝั่งผู้ร้าย ถ่ายมุมเงยขึ้นเล็กน้อย (มุมที่ Lillian Gish เรียกว่า Devil Eye)

Mr. Griffith always said, ‘Shoot from above for an angel; shoot from below for a devil.’

– Lillian Gish

อีก 20% ที่เหลือของหนังจะเป็นการถ่ายภายนอก โดยเฉพาะไคลน์แม็กซ์ ต่อสู้กันท่ามกลางทะเลทราย เนินเขา แก่งโขดหิน, ต้องชมเลยว่าเลือกสถานที่ได้อย่างมีนัยยะสำคัญมากๆ และจัดทุกสิ่งอย่างภายในกรอบ Frame อย่างสวยงามจริงๆ

ตัวร้ายลีข่านอยู่ซ้ายมือ จับตัวประกันอยู่ (แผ่นดินจีนที่มองโกลยึดครองอยู่),
ด้านบนองค์หญิงมองโกว ลีหวั่นเอ๋อ ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ (การต่อสู้เอาคืนของชาวฮั่น),
ด้านขวาคือ Tsao Yu-kun (ฝั่งของกบฎชาวฮั่นต่อมองโกล)

ออกแบบการต่อสู้โดย หงจินเป่า (Summo Hung) ที่ควบการออกแบบใน The Valiant Ones ซึ่งในเครดิตจะใช้นามปากกาว่า Zhu Yuanlong, ในยุคสมัยนั้น ความนิยมของหนังจีนประกอบด้วยฟันดาบ (Sword-Fighting) กังฟู (Kung Fu) และการมาของ Bruce Lee เป็นจุดเริ่มต้นของการผสมผสาน Martial Arts เข้ามาในภาพยนตร์, หนังเรื่องนี้เฉพาะฉากต่อสู้ จะไม่มีอีกแล้วแบบงิ้วปักกิ่ง ที่ King Hu ใช้มากับหนังสามเรื่องก่อนหน้า ซึ่งถ้าจะยังคงยึดหลักการเดิมต่อคงไม่ดีแน่ เขาจึงทำการวิวัฒนาการตัวเองขึ้น โดยขอความร่วมมือจากหงจินเป่า หนึ่งในไม่กี่คนของยุคสมัยนั้นที่สามารถผสมผสานการต่อสู้ทั้งฟันดาบและกังฟู เข้าด้วยกันได้, ในทางทฤษฎีก็คือ Classic กับ Modern รวมเรียกว่าร่วมสมัย กับจอมยุทธ์ผู้บรรลุวิชาขั้นสูง แนวคิดของ King Hu ก็คือว่า บุคคลผู้นั้นจะไม่ยึดติดซึ่งดาบหรือหมัด จะใช้อะไรก็สามารถดัดแปลง ผสมผสาน เอาชนะศัตรูคู่ต่อสู้ได้ (นี่คือแนวคิดของบรูซ ลีด้วยนะครับ เชื่อว่าคงเป็น King Hu ที่ได้ยินและรับแรงบันดาลใจนี้มา)

กับหนังเรื่องนี้ฉากต่อสู้ถือว่ายังเป็นการลองผิดลองถูกอยู่บ้าง แต่ของจริงที่ผมขอแนะนำไว้ตรงนี้เลยคือ The Valiant Ones กับฉากไคลน์แม็กซ์ การต่อสู้ครั้งสุดท้ายเป็นอะไรที่ตื่นเต้นตราตะลึงมาก อาจถือได้ว่าเป็น Direction ของออกแบบการต่อสู้ที่สนุกเข้มข้นเร้าใจที่สุด ฉากหนึ่งในหนัง Wuxia เลยละ

ตัดต่อโดย Leung Wing-Chan, ต้องชื่นชมการแบ่งองก์ของหนัง ที่ทำออกมาได้น่าสนใจมากๆ
– องก์ 1 แนะนำตัวละคร ส่วนใหญ่จะเป็นฝั่งชาวฮั่นในโรงเตี๊ยมหยิงชุน บรรยากาศจะสนุกสนานขบขันเพลิดเพลิน เรียกว่า Sitcom ยังได้
– องก์ 2 เมื่อลีข่านปรากฎตัว บรรยากาศหนังจะตึงเครียดขึ้นมาทันที และหนังจะมีทั้งในและนอกโรงเตี๋ยมคละเคล้ากัน
– จะมีนักวิจารณ์บางคนเพิ่มองก์ 3 เมื่อหน้ากากของทุกคนหลุดกระเด็นออกไป (เริ่มจากตอนที่ทุกคนเริ่มต่อสู้กัน) หลังจากรั้งรีรอมาแสนนาน ก็ถึงเวลาปะทะประจันหน้า องก์นี้ส่วนใหญ่จะเป็นการต่อสู้ภายนอก เห็นวิวทิวทัศน์ที่ก็ไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ ดูแห้งแล้งเหมือนทะเลทราย เต็มไปด้วยหินแกร่ง และภูเขาสูงอยู่ไกลๆ

เพลงประกอบโดย Joseph Koo ที่มีผลงานดังอย่าง Fist of Fury (1972), The Way of the Dragon (1972), A Better Tomorrow (1986) ฯ กับหนังเรื่องนี้ถือว่ามีส่วนผสมของดนตรีงิ้ว (ส่วนใหญ่จะในโรงเตี๊ยม) และพอออกมาข้างนอก เหมือนจะมีเสียงดนตรีคลาสสิกของชาติตะวันตกผสมเข้ามาด้วย, นี่มีนัยยะคล้ายๆกับการเข้ายึดครองของชาวมองโกล คือเป็นตัวแทนการรุกรานของชาวต่างชาติ นี่ไม่ทำให้กลิ่นอายบรรยากาศของหนังเปลี่ยนนะครับ เพราะมีทำนองที่ไม่ต่างจากบทเพลงของจีนมากนัก แทบไม่รับรู้สึกถึงความแตกต่าง ต้องสังเกตสักหน่อยก็จะรู้ได้ เพราะมันไม่ใช่เสียงงิ้ว แล้วมันเสียงอะไรละ!

ผมไม่พยายามสปอยตอนจบของหนัง แต่หลายคนคงคาดเดาได้ตั้งแต่ชื่อ The Fate of Lee Khan ว่าหนังต้องจบแบบไหน (เพราะหนังจีนยุคนั้นมักเป็นอะไรที่คาดเดาได้ง่ายอยู่แล้ว) แต่ความสำคัญของหนังอยู่ที่เนื้อหา สิ่งที่แอบซ่อนแฝงเร้นอยู่มากกว่า

King Hu สร้างหนังเรื่องนี้ด้วยปรัชญา ‘ชาตินิยม’ อุดมการณ์เสียสละเพื่อแผ่นดินบ้านเกิด แม้ตัวตายก็จักกลายเป็นวีรบุรุษ, ผมคิดว่าหนังยังมีนัยยะพูดถึงเหมาเจ๋อตุง กับเจียงไคเชก อยู่นะครับ เพราะเมื่อปี 1971 เกิดเหตุการณ์ที่ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นประเทศร่วมก่อตั้งองค์การสหประชาชาติได้สูญเสียสมาชิกภาพในฐานะประเทศตัวแทนชาวจีนให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นความพ่ายแพ้หมดรูปของเจียงไคเชก ไม่สามารถกอบกู้ประเทศจีนกลับสู่ความรุ่งเรืองเดิมได้อีกแล้ว นี่ถือเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้อุดมการณ์ ความต้องการทางการเมืองของ King Hu ได้จบสูญสิ้นลงไป เรียกได้ว่าพ่ายแพ้หมดรูป, กับหนังเรื่องนี้คงสะท้อนความต้องการของตัวเองออกมา ย่อมเปรียบลีข่าน คือเหมาเจ๋อตุง และชาวฮั่นทั้งหลายที่ต่อสู้เพื่อชาติ ก็คือฝ่ายของเจียง ไคเชก ทั้งหมด

ถ้าคุณไม่เคยรับชมหนังของ King Hu เรื่องก่อนหน้า หรือเคยอ่านบทความที่ผมเขียนถึงหนังของผู้กำกับดัง คงรู้สึกขัดข้องใจเป็นแน่ แต่การจะวิเคราะห์นัยยะใจความแฝงของหนังให้ได้ใกล้เคียงถูกต้องกับความต้องการของผู้สร้างมากที่สุด คือเราจะต้องเข้าไปในจิตใจ รสนิยม หัวสมองของผู้กำกับคนนั้นๆนะครับ, ซึ่งในกรณีของ King Hu มันเคยมีเรื่องราวที่สะท้อนแสดงถึงค่านิยม อุดมการณ์ทางการเมือง ที่ยึดแน่นมั่นในเจียงไคเช็ก มาตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าอยู่ดีๆเขาเปลี่ยนไปมาเข้าฝั่งของคอมมิวนิสต์จีนได้ง่ายๆแน่ และถ้ามีเป็นเช่นนั้น มันย่อมจะถูกนำเสนอแสดงออกในหนังของเขามาแน่ๆ (ซึ่งถึงเรื่องนี้ ผมก็ยังไม่เคยเห็นสิ่งนั้น อันแสดงว่าเขายังจงรักภักดีต่อ เจียงไคเช็ก ไม่เสื่อมคลาย)

สำหรับประเด็น Feminist นั้นก็น่าสนใจทีเดียว เพราะกลุ่มตัวละครหลักในหนังส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งความน่ารักจิ้มลิ้มของสาวๆจากหนังเรื่องนี้ ได้เปิดประตูบานเล็กๆของหนังแนว Wuxia ที่นักแสดงสามารถนำโดยหญิงสาว ก็มีโอกาสเกิดขึ้นประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

ผมคิดว่าอาจเพราะความชื่นชอบในงิ้ว และปรัชญาของพุทธ ที่ทำให้ King Hu มีการเปิดกว้างเรื่องเพศ และให้โอกาสผู้หญิงได้แสดงนำในหนังหลายๆเรื่องของเขา, งิ้วปักกิ่ง ถ้าคุณเคยชมมักจะเป็นนักแสดงชายล้วน (ผมจดจำจาก Farewell, My Concubine) ซึ่งถ้าตัวละครเป็นผู้หญิง ก็จะให้นักแสดงชายหน้าตาจิ้มลิ้มแต่งกายสวมบทเป็นหญิง, สำหรับพุทธศาสนา สำหรับคนที่เคยศึกษาจะรู้ว่า จิตวิญญาณเป็นสิ่งไม่มีเพศสภาพ คือเป็นได้ทั้งชาย/หญิง ชายและหญิง และไม่ใช่ทั้งชายและหญิง มีเพียงมนุษย์กับสัตว์ ที่มีอวัยวะบ่งบอกเพศ เราจึงแบ่งแยกชายหญิงจากอวัยวะเพศ ฯ สองอย่างนี้อาจทำให้ King Hu มองว่า จะชายก็ดีหรือหญิงก็ได้ บางทีหญิงแต่งเป็นชาย (แต่ไม่ยักมีชายแต่งเป็นหญิง) ล้วนสามารถรับบทนำได้ทั้งนั้น

โรงเตี๊ยม เป็นสถานที่ที่ตั้งแต่ฮ่องเต้ ขุนนาง ยังกระยาจก สามารถพบผ่านเจอ เข้าไปใช้บริการ รับประทานอาหาร เล่นพนันขันต่อ นอนหลับพักผ่อน ฯ ผมเคยพูดเปรียบไปตั้งแต่ Come Drink with Me และ Dragon Inn ว่าเราสามารถเปรียบเรื่องราวจุลภาคเล็กๆเหล่านี้ ได้กับสังคมขนาดใหญ่มหภาค แต่กับเรื่องนี้ผมคงไม่วิเคราะห์ลงไปลึกขนาดนั้น เพราะความน่าสนใจอยู่ที่ตัวบุคคล ลีข่าน, องค์หญิง ลีหวั่นเอ๋อ ที่ต้องพยายามหาทางต่อกร เอาตัวรอดกับภัยรอบข้าง

ไตรภาคโรงเตี๊ยม นี่เป็นชื่อที่นักวิจารณ์และคอหนังนิยมเรียกกันนะครับ ไม่ใช่ผู้กำกับ King Hu เป็นผู้บัญญัติขึ้น นั่นเพราะทั้ง Come Drink with Me (1966) และ Dragon Inn (1967) ต่างก็มีเรื่องราวส่วนใหญ่ เกิดขึ้นวุ่นวายในโรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง และ The Fate of Lee Khan (1973) คือเรื่องสุดท้ายที่มีการจำกัดกรอบของเรื่องราวให้เกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้ มันเลยถูกเหมาเรียกรวมว่า ไตรภาคโรงเตี๊ยม ของผู้กำกับหูจินเฉวียน

แนะนำให้ลองมองหนังในมุมกลับกันบ้างนะครับ, คนส่วนใหญ่คงเอาใจช่วยว่านเหยินเหม่ย์ และสาวๆทั้ง 5 ให้สามารถเอาชนะลีข่าน แต่จะบอกว่าผมเชียร์ลีข่าน และลีหวั่นเอ๋อ ตั้งแต่แรก (เพราะตอนนั้นดูไม่รู้ว่าฝ่ายไหนพระเอก ฝ่ายไหนตัวร้าย ก็เลยเชียร์นักแสดงที่ชื่นชอบรู้จักมากกว่า) แล้วคุณจะรู้สึกแบบ … คือหนังทำให้คุณสามารถให้กำลังใจเชียร์ได้ทั้งสองฝ่ายนะแหละ แต่ใครชนะคงรู้ๆกันอยู่

นี่เป็นหนังที่มีความน่าประทับใจอย่างบอกไม่ถูก แม้มีเหตุให้ผู้ชมมักเกิดการเปรียบเทียบกับผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ King Hu ที่โดยรวมไม่สามารถเทียบความยิ่งใหญ่ แต่หนังก็ยังมีดี สวยงาม และอะไรหลายๆอย่างให้น่าพูดถึงจดจำ, ผมชอบหนังเรื่องนี้มากๆ และคิดว่าอาจเป็นความบันเทิง เพลิดเพลินที่ย่อยง่าย เรียบง่าย ธรรมดา แต่แฝงความยิ่งใหญ่ไว้ลึกซึ้ง

แนะนำกับคอหนังจีน ต่อสู้ฟันดาบ ชื่นชอบแนวกำลังภายใน Wuxia, นักประวัติศาสตร์ชาติจีน ยุคสมัยราชวงศ์หยวน, ชื่นชอบหนังแนว Room Drama รวมดาราดังแห่งยุค อาทิ ลี้ลิฮัว, แองเจล่า มาโอะ, เทียนเฟิง, Roy Chiao, สีว์เฟิง, หยิงบาย ฯ และแฟนๆ King Hu และหงจินเป่าไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความรุนแรงของการต่อสู้ และความตาย

TAGLINE | “The Fate of Lee Khan แม้โชคชะตาของ King Hu กำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่หนังก็มีดีมีความน่าสนใจ และสาวๆในเรื่องน่ารักน่าชังทุกคน”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: