The Firemen's Ball

The Firemen’s Ball (1967)  Czech : Miloš Forman ♥♥♥♥♡

ผลงานเรื่องสุดท้ายในประเทศบ้านเกิด Czechoslovakia ของผู้กำกับ Miloš Forman ก่อนโดนแบนตลอดชีวิต ลี้ภัยมาอยู่อเมริกาเจ้าตัวยังยืนกรานเรื่องนี้ ‘ไม่มีอะไรในกอไผ่’ แต่ใครไม่เห็นงูเขียวซ่อนอยู่เต็มไปหมดก็สมควรถูกกัดแล้วละ, โคตรหนัง Comedy Satire ในงานเลี้ยงประจำปีของเจ้าหน้าที่แผนกดับเพลิง พอบ้านหลังหนึ่งเกิดไฟไหม้ รถดับเพลิงติดหล่ม สิ่งที่พวกเขาช่วยกันทำคือตักหิมะโยนใส่กองไฟ ชิบหายมันจะดับสำเร็จไหมเนี่ย!

เป็นเหตุผลเข้าใจไม่ยากนักกับการปฏิเสธเสียงแข็ง ‘ไม่มีอะไรในกอไผ่’ ของผู้กำกับ Miloš Forman ยืนกรานความบริสุทธิ์ใจของตนเองหลังหนังถูกแบน แต่มันเป็นสิ่งฟังไม่ขึ้นสักนิด เพราะผู้ชมส่วนใหญ่ต่างดูออกว่าต้องการท้าทายระบอบการปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ และผลงานภาพยนตร์ตลอดทั้งชีวิตพี่แกก็เวียนวนอยู่แต่ประเด็นนี้ ทำตัวเองล้วนๆแล้วยังแสร้งตีมึนหาข้ออ้างอื่นอีก

“I didn’t want to give any special message or allegory. I wanted just to make a comedy knowing that if I’ll be real, if I’ll be true, the film will automatically reveal an allegorical sense. That’s a problem of all governments, of all committees, including firemen’s committees. That they try and they pretend and they announce that they are preparing a happy, gay, amusing evening or life for the people. And everybody has the best intentions… But suddenly things turn out in such a catastrophic way that, for me, this is a vision of what’s going on today in the world.”

– Miloš Forman

แต่ผมก็มองว่าหนังเรื่องนี้มันเกินเลยกว่าแค่จะล้อเลียนเสียดสีระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์นะครับ เทียบกับประชาธิปไตยบ้านเรา หน่วยงานรัฐบาลแทนด้วยคณะกรรมการจัดงานเลี้ยงประจำปี ก็จะพบเห็นความเลวร้ายคอรัปชั่นไร้ประสิทธิภาพไม่ต่างกัน คือต้องถือว่าสะท้อนความสากลในวงกว้างระดับโลกมากกว่าจริงๆ

The Firemen’s Ball เป็นภาพยนตร์ที่โคตรจะ Underrated ผมไม่เคยเห็นติดชาร์ทหนังแนว Comedy ยอดเยี่ยมตลอดกาลแห่งไหนด้วยซ้ำ ไม่รู้เพราะความที่เป็นภาษาต่างประเทศ (ไม่ใช่อังกฤษ) หรือหาได้ดูยาก (ก็เห็นมีใน Criterion Collection) แต่ชื่อของ Miloš Forman ผู้คว้า Oscar: Best Director ถึงสองครั้งจาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) และ Amadeus (1984) การันตีคุณภาพและความลึกล้ำที่แอบแฝงซ่อนเร้น (มีแน่นอนนะครับ) ไม่ถึงขั้นต้องดูให้ได้ก่อนตาย แต่ถ้ามีโอกาสก็ขอแนะนำอย่างยิ่งเลย

แนะนำประวัติศาสตร์ประเทศ Czechoslovakia กันสักนิด: หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ฝ่ายพันธมิตรที่ชนะสงครามแตกจักรวรรดิ Austria-Hungary ออกเป็นส่วนๆ จับรวมชาว Czech กับ Slovak กลายเป็นประเทศ Czechoslovakia เมืองหลวงคือกรุง Prague, พอถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพนาซีเข้ามายึดครองประเทศ ถูกขับไล่เปลี่ยนมือมาเป็นสหภาพโซเวียต หลังสงครามจบกลายเป็นรัฐบริวาร เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากเดิมประชาธิปไตยกลายเป็นคอมมิวนิสต์

การเกิดขึ้นของกติการสัญญาวอร์ซอร์ (Warsaw Pact) เมื่อปี 1955 เพื่อสร้างความมั่นคงร่วมระหว่างสหภาพโซเวียตกับรัฐบริวาร และคานอำนาจต่อกรกับองค์การนาโต (NATO) ในช่วงสงครามเย็น แต่กลับสร้างความขัดแย้งบนพื้นฐานของการต่อสู้ทางแนวคิดและอุดมการณ์ ทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านหลายครั้ง ร้ายแรงสุดก็คือ ‘การบุกครอง Czechoslovakia ของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอ’ หรือ Prague Spring เมื่อเดือนสิงหาคม 1968 เป็นความพ่ายแพ้ย่อยยับเยินของกลุ่มประเทศที่ต้องการแยกตัวจากระบอบคอมมิวนิสต์

ถึงภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างขึ้นก่อน ‘การบุกครอง Czechoslovakia ของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอ’ แต่ต้องถือว่าสามารถพยากรณ์หายนะ ‘บ้านเมืองลุกเป็นไฟ’ ความสูญเสียที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องแม่นยำทีเดียว

Jan Tomáš ‘Miloš’ Forman (1932 – 2018) ผู้กำกับ นักแสดงภาพยนตร์สัญชาติ Czech เกิดที่ Čáslav, Czechoslovakia (ปัจจุบันคือ Czech Republic) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อเป็นสมาชิกของกลุ่มต่อต้านนาซี พอโดนจับเลยถูกยิงเสียชีวิต เด็กชาย Forman เลยต้องไปอาศัยอยู่กับลุงป้าที่ Nachod ต่อมาได้ครอบครัวบุญธรรมรับเลี้ยง ส่งเข้าโรงเรียนที่รวมรวมเด็กกำพร้าครอบครัวจากสงคราม (War Orphans) ที่นั่นทำให้มีโอกาสรู้จัก Ivan Passer (ผู้กำกับภาพยนตร์) และ Vaclav Havel (ต่อมาเป็น ปธน. ของสาธารณรัฐ Czech)

ด้วยความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก ได้รับคัดเลือกเป็นตัวประกอบภาพยนตร์โทรทัศน์ เก็บเงินจนซื้อกล้องถ่ายภาพได้เอง จากนั้นเริ่มสนใจงานเบื้องหลัง กำกับถ่ายทำสารคดี จนมีชื่อเสียงโด่งดังกับ Loves of a Blonde (1965) เป็นตัวแทนของประเทศติด 5 เรื่องสุดท้ายเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film ได้รับการยกย่องเป็นผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ Czechoslovak New Wave

ระหว่างกำลังครุ่นคิดมองหาโปรเจคถัดไป Forman กับทีมนักเขียนบท Ivan Passer และ Jaroslav Papoušek ตัดสินใจออกเดินทางหนีจากเมืองหลวง Prague เรื่อยเปื่อยไปถึงเมืองเล็กๆ Vrchlabí ทางตอนเหนือของจังหวัด Bohemian จับพลัดจับพลูได้เข้าร่วมงานเลี้ยงประจำปีของแผนกดับเพลิง พบเห็นความเละเทะไม่เป็นท่า กลับมาหยุดพูดคุยคิดถึงมันไม่ได้ กลายมาเป็นแรงบันดาลใจขึ้นมาทันที

“One evening, to amuse ourselves, we went to a real firemen’s ball. What we saw was such a nightmare that we couldn’t stop talking about it. So we abandoned what we were writing on to start this script.”

คณะกรรมการจัดงานเลี้ยงประจำปีของแผนกดับเพลิง กำลังพูดคุยสนทนาถึงกิจกรรมภายในงาน เริ่มจากของขวัญมอบให้กับอดีตหัวหน้าเก่าอายุ 86 ปี ป่วยเป็นมะเร็ง (แต่เหมือนเจ้าตัวจะยังไม่รู้), คนที่จะมอบให้ต้องเป็นหญิงสาวสวย เลยคิดจัดประกวดนางงาม Miss Fireman ฯ เรื่องวุ่นๆเริ่มต้นจากของรางวัลจับฉลากได้สูญหายทีละชิ้นอย่างไร้ร่องรอย หญิงสาวผู้มาคัดเลือกประกวด Miss Fireman ไม่มีใครงามดั่งใจคณะกรรมการสักคน ระหว่างงานเกิดไฟไหม้ขึ้นที่บ้านหลังหนึ่ง ทุกคนแห่กรูกันออกไปโดยไม่จ่ายค่าเครื่องดื่มอะไรทั้งนั้น สุดท้ายแล้วการจัดงานครั้งนี้จะสามารถพ่านพ้นสำเร็จลุล่วงได้ตามวัตถุประสงค์ความตั้งใจหรือไม่

เพราะเมืองที่เป็นแรงบันดาลใจของหนังคือ Vrchlabí เลยเลือกใช้เป็นสถานที่ปักหลักถ่ายทำเสียเลย สำหรับนักแสดงก็คัดเลือกจากชาวเมืองที่ต่างมีความกระตือรือล้นสนใจอย่างมาก เพราะไม่ค่อยมีกองถ่ายภาพยนตร์เดินทางมาบ่อยๆ นักแสดงสมัครเล่นแถวนั้นมารอคิวกันยาวเหยียด ครั้งหนึ่งในชีวิตเลยกระมัง

ถ่ายภาพโดย Miroslav Ondříček ตากล้องสัญชาติ Czech ขาประจำของ Forman ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก ผลงานเด่น อาทิ If…. (1968), Ragtime (1980), Silkwood (1983), Amadeus (1984), Awakenings (1990) ฯ

ครั้งแรกของ Forman ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อยนัก พบเจอปัญหาใหญ่คือชุดสีน้ำเงินที่พอล้างฟีล์มออกมาแล้วไม่กลมกลืนกับเฉดของหนัง เลยถูกสั่งห้ามไม่ให้นักแสดงสวมใส่ (สังเกตหากันดูเองนะครับ จะไม่พบสีน้ำเงินแรงๆปรากฎอยู่ในหนัง)

ไดเรคชั่นของการถ่ายภาพ เน้นจับจ้องที่การเคลื่อนไหว ราวกับกล้องคือตัวละครหนึ่งที่แทรกตัวเข้าไปอยู่ในงานเลี้ยง มีมุมมองเป็นของตนเอง เวลานักแสดงชี้นี้วเราก็จะพบเห็นสิ่งๆนั้น ส่วนใหญ่ในระยะ Medium-Shot และ Close-Up ค่อนข้างใกล้ชิดทีเดียว

คงเนื่องจากใช้บริการของนักแสดงสมัครเล่น หลายครั้งของการสนทนาจะถ่ายหน้าตรง เพื่อลดความประม่าเวลาจ้องหน้า หลายเทคได้โดยไม่ต้องพึ่งคู่สนทนา และให้ความรู้สึกเสมือนพวกเขากำลังพูดคุยกับผู้ชม (เข้ากับเหตุผลที่ผมบอกไปย่อหน้าที่แล้ว กล้องทำตัวราวกับเป็นตัวละครหนึ่งของหนัง)

ความยากของการถ่ายทำคือบันทึกเสียง เพราะแทบทุกฉากเต็มไปด้วยนักแสดงตัวประกอบปริมาณมาก ซึ่งวิธีการก็คือให้ทุกคนเงียบสนิท ขยับปากได้แต่ไร้เสียงพูด เดินเต้มรำโยกตัวให้เบาที่สุด (ห้ามใส่รองเท้าแตะ) แม้แต่วงดนตรีก็ทำท่าทางบรรเลงอย่างเมามัน แล้วไมค์บันทึกเสียงเฉพาะกับนักแสดงที่ีมีบทพูดเท่านั้น

ค้อนเคียว เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ (ปรากฎในธงของสหภาพโซเวียต และประเทศบริวาร) แทนด้วยบุคคลชนชั้นกรรมาชีพและชาวนา ความหมายถึงเอกภาพเท่าเทียมของแรงงานในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม, แต่ในบริบทนี้สามารถวิเคราะห์ความหมายอื่นได้อีก อาทิ การมีอำนาจของผู้ถือครอง(ผู้นำคอมมิวนิสต์), สิ่งใช้ต่อสู้ฟันฝ่าเอาชนะอุปสรรค (เช่น เอาชนะโรคมะเร็ง) ฯ

การหายไปของมันตอนจบ สะท้อนถึงความล้มเหลวในการใช้อำนาจ ต่อให้มีมากล้นคับฟ้าแค่ไหน สักวันหนึ่งจักถูกลักลอบขโมย หมดสิ้นสูญไม่หลงเหลืออะไร

ผมชื่นชอบภาพวาดนักดับเพลิงนี้มากเลย นำเสนอการทำงานที่น่ายกย่องสรรเสริญสดุดีเป็นอย่างยิ่ง แต่งานเลี้ยงยังไม่ทันเริ่มต้น ภาพ(ลักษณ์)นี้ก็ถูกแผดเผามอดไหม้วอดวายกลายเป็นจุน ไม่หลงเหลืออะไรทั้งนั้น (แถมถังดังเพลิงฉีดไม่ออก … นักดับเพลิงภาษาอะไรเนี่ย!)

การงานทุกสิ่งอย่างจะมีบุคคลผู้อยู่เบื้องหน้า-เบื้องหลัง หรือด้านบน-ด้านล่าง หนังใช้บันไดเป็นสิ่งเปรียบเทียบคนชนชั้นสูง-ต่ำ ที่ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน จะทำงานเป็นหน้าเป็นตาอยู่ข้างบนได้ต้องมีผู้ให้การสนับสนุนเป็นรากฐานมั่นคงอยู่ข้างล่าง เมื่อใดเกิดความขัดแย้งทะเลาะขัดขากันเอง แค่เพียงเดินออกห่างจากบันไดเล็กน้อย ความผิดพลาดร้ายแรงย่อมบังเกิดขึ้น แต่ที่ตลกคือผู้อยู่เบื้องล่างมักไม่สนใจใครเบื้องบนหรอก ภาพวาดผลงานเท่านั้นแหละคือทุกสิ่งอย่างสำคัญกว่าเป็นไหนๆ

การสูญหายไปของรางวัลจับฉลาก สะท้อนสันดานความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ออกมา ไม่มีใครคิดที่จะเล่นตามเกมกฎเกณฑ์ แทบทั้งนั้นเมื่อพบเห็นโอกาสและผลประโยชน์ส่วนตน ก็จะรีบไขว่คว้าให้ได้มาครอบครองไว้ก่อนโดยทันที

ความน่าสนใจของเกมนี้ ทั้งๆถูกร้องขอให้นำของกลับมาคืน แต่พอปิดเปิดไฟกลับกลายเป็นว่าของหายเพิ่มมากกว่าเดิมเสียอีก (ราวกับการ ชี้โพรงให้กระรอก) ทดลองอีกครั้งครานี้พบเห็นหัวขโมย ปรากฎว่าคือหนึ่งในคณะกรรมการจัดงาน พวกเดียวกันเองแท้ๆที่คดโกงกินคอรัปชั่น!

ประกวด Miss Fireman (แค่ชื่อก็ขัดแย้งกันแล้วนะ มันควรเป็น Miss Firewoman ไม่ใช่รึ) แทนที่จะได้พบหญิงสาวสวย กลับกลายเป็น … แถมหลายคนดูแล้วไม่น่าใช่ Miss ด้วยสิ

ความงามถือเป็นหน้าตา ภาพลักษณ์ขององค์กร/ชุมชน/ประเทศชาติ แต่หญิงสาวทั้ง 7 หน้าตาก็บ้านๆ หุ่นก็งั้นๆ พอเรียกตัวขึ้นเวทีกลับทำเนียมอาบ หลบซ่อนตัว วิ่งหนีเข้าห้องน้ำหญิง สะท้อนถึงลักษณะนิสัยของคนรุ่นใหม่ แทบไม่มีีใครอยากเป็นผู้เสียสละตัวแทนให้กับคนรุ่นเก่า … แต่ก็มีคุณป้ารายหนึ่ง ไม่มีอะไรให้ต้องเสียแล้ว ขึ้นเวทสวมมงกุฎนางงามยิ้มแย้มหัวเราะร่า เด็ดกว่าคนรุ่นใหม่เป็นไหนๆ

ช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ เริ่มที่จะแตกต่างออกห่างกันเรื่อยๆ วัยรุ่นในหนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยความขลาดเขลา มัวเมา กล้าทำในสิ่งไร้สาระผิดศีลธรรม (ถอดเสื้อผ้าตรงนี้เลยเนี่ยนะ) สงสัยว่านี่จะเป็นอิทธิพลจากคนรุ่นก่อน การกระทำแสดงออกทุกความเห็นแก่ตัวคอรัปชั่น อยู่ในสายตาของคนรุ่นหนุ่มสาวทั้งหมดทั้งสิ้น จดจำแปรสภาพกลายเป็นความชั่วร้ายรูปแบบใหม่ในวิถีของตนเอง เช่นนี้แล้วโลกอนาคตคงจะไปคาดหวังอะไรๆจะแตกต่างดีขึ้น ย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน มีแต่สาละวันเตี้ยลงก็เท่านั้น

บ้านหลังหนึ่งไฟไหม้ รถดับเพลิงติดหล่มมาไม่ถึง บรรดาอาสาสมัครทั้งหลาย แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการช่วยเหลือขนย้ายข้าวของจากภายในออกมา แล้วใช้พลั่วตักหิมะโยนเข้าไปในกองไฟอย่างไร้ประโยชน์,

ไฮไลท์ของฉากนี้ ผู้หญิงคนหนึ่งถามชายที่บ้านถูกเพลิงไหม้

“Old man, aren’t you cold?”

อีกคนตอบแทนว่า

“So take him closer to the flames.”

นี่มันไม่ใช่เรื่องหนาวไม่หนาวนะครับ แต่คือความเย็นชาเห็นแก่ตัวของมนุษย์/ผู้นำ ที่มัวแต่
– แก้ปัญหาเฉพาะตรงข้างหน้า ไม่ได้แยแสสนใจถึงภาพรวมทั้งหมด
– แค่ได้กระทำบางสิ่งอย่าง (ที่อาจไร้ประโยชน์) ก็รู้สึกว่าตนเองได้กระทำสิ่งยิ่งใหญ่เลอคุณค่า
– อีกทั้งยังแสวงหาผลประโยชน์จากผู้เคราะห์ร้าย นำเครื่องดื่มมาจัดจำหน่ายราวกับกิจกรรมการแสดง แถมนำพาขึ้นเวทีให้จับรางวัลนำโชคอีก

ทั้ง Sequence นี้ สะท้อนความไร้ศักยภาพของแผนกดับเพลิง ทั้งๆที่ทุกคนสำคัญมีตำแหน่งใหญ่โตรวมพลอยู่พร้อมหน้าถ้วนทั่ว แต่กลับมิสามารถแก้ปัญหาดับไฟครั้งนี้ลงได้ มันช่างน่าอับอายขายหน้าสิ้นดี แบบนี้ใครที่ไหนจะให้การยึดถือเชื่อมั่น บ้านฉันไฟไหม้คงไม่ต้องคิดคาดหวังอะไร ดับเพลิงไม่สำเร็จอย่างแน่นอน

และนี่คือสภาพของสิ่งที่หลงเหลืออยู่เมื่อหายนะความมอดไหม้เข้ามาเยี่ยมเยือน กระจัดกระจายเรียงรายท่ามกลางหิมะความหนาวเหน็บ โต๊ะ เก้าอี้ จักรเย็บผ้า เตียงนอน ตะกร้า และกางเขนพระเยซูคริสต์ ช่วยฉันด้วย!

ความวอดวายของบ้านหลังนี้ สามารถตีความได้ถึงการพยากรณ์ความล่มสลายของคอมมิวนิสต์/สหภาพโซเวียต ที่สักวันเมื่อถูกทำลายมอดไหม้ไม่เหลือชิ้นดี ทุกสิ่งอย่างจะกระจัดกระจาย เหมือนประเทศบริวารแตกออกเป็นเสี่ยงๆ

ตัดต่อโดย Miroslav Hájek ขาประจำของ Forman เมื่อครั้นอยู่ Czechoslovakian

หนังไม่ได้ใช้การเล่าเรื่องผ่านมุมมองใครเป็นพิเศษ แต่คือทั้งคณะกรรมการจัดงานเลี้ยงประจำปีของแผนกดับเพลิง ซึ่งจะมี 2 เรื่องราวที่เล่าคู่ขนานกันในช่วงแรกๆ คือ
– การค้นหาผู้เข้าประกวด Miss Fireman
– ของรางวัลที่เตรียมไว้สำหรับจับฉลาก ค่อยๆสูญหายไปทีละชิ้นสองชิ้น

ไดเรคชั่นการตัดต่อจะค่อนข้างเรียบง่ายตรงไปตรงมา อย่าง ฉากสนทนาพูดคุยก็มักตัดสลับระหว่างผู้พูด-ผู้ฟัง เห็นปฏิกิริยาของทั้งสองฝ่าย แค่นั้นเองไม่ได้มีลีลาอะไรมากไปกว่านี้ นี่ถึงจะดูธรรมดาแต่สมบูรณ์แบบอย่างยิ่งเลยละ

เพลงประกอบโดย Karel Mares ส่วนใหญ่ดังจากวงดนตรี/ดุริยางค์ ในงานเลี้ยง ที่บรรเลงคลอประกอบสร้างบรรยากาศไปเรื่อยๆ เว้นเสียแต่สองครั้งที่ถ่ายทำด้านนอกหอประชุม พบเห็นขณะบ้านไฟไหม้และช็อตสุดท้าย เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองอันกวนประสาท ก่อนค่อยๆแปรสภาพเป็นความเศร้าสลดสิ้นหวัง และโหยหวนด้วยเสียงคลอรัสอันรวดร้าวระทม

มนุษย์ในหนังเรื่องนี้ เต็มไปด้วยความซื่อบื้อ โง่งม ขลาดเขลา เย่อหยิ่งผยอง และที่สำคัญคือขาดจิตสำนึกมโนธรรม ความรับผิดชอบต่อสิ่งต่างๆภาระหน้าที่ของตนเอง นี่คงเป็นภาพลักษณ์ของผู้คนในสังคมที่ Forman พบเจอมองเห็น ในมุมหนึ่งช่างดูตลกขบขันยิ่งนัก แต่ให้ตายเถอะ ครุ่นคิดอย่างมีสติใครกันจะขำออก

ใจความของ The Firemen’s Ball พูดถึงหายนะที่เกิดขึ้นจากเงื้อมมือมนุษย์ ที่มีความเลวร้ายอันตรายยิ่งกว่าภัยธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้เสียอีก, เพราะภัยพิบัติจากผู้คน ทุกครั้งมันสามารถควบคุม ป้องกัน แก้ไขได้ทั้งนั้น แต่กลับถูกละเลย เพิกเฉย มองข้าม ด้วยความคอรัปชั่น เห็นแก่ตัว สนแต่ผลประโยชน์ของตนเอง นี่สร้างความเสียหายล่มจมให้ทุกสิ่งอย่างที่สัมผัสแตะต้องเลยนะ

นอกจากค้อนเคียวที่เป็นสัญลักษณ์ของคอมมิวนิสต์ สิ่งต่างๆในภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบเทียบได้กับผู้นำทุกระบอบการปกครอง มักสร้างภาพลักษณ์ของตนเองให้หรูหราดูดีน่ายกย่อง แต่ภายในส่วนใหญ่ฟ่อนเฟะเน่าเละ ปากพูดอย่างหนึ่ง-ในใจคิดอีกเรื่อง-แสดงออกอะไรก็ไม่รู้ นี่มันอะไรกัน หายนะชัดๆ

สิ่งโคตรคลาสสิกที่ทำให้หนังเรื่องนี้จัดกว่าเป็นอมตะ ‘เหนือกาลเวลา’ คือการจำลองสถานการณ์ในสถานที่ปิด และเรื่องราวที่ยุคสมัยปัจจุบันนี้ ครุ่นคิดทำความเข้าใจ ยังคงพบเห็นเป็นจริงอยู่เลย นั่นแปลว่า ‘ประวัติศาสตร์ไม่สอนอะไรเราเลย’ ความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อกว่า 40-50 ปีก่อน ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น นี่มันช่างน่าเศร้าละเหี่ยใจ ถอนหายใจปล่อยวางตัวเป็นกลางได้อย่างเดียวสินะ

แม้ทุนสร้างจะเพียง $65,000 เหรียญ สร้างเสร็จตั้งแต่กลางปี 1967 แต่กว่าจะได้ฉายลากยาวมากลางปี 1968 ยืนโรงอยู่ได้เพียงเพียงสามสัปดาห์ ก็ถูกแบนตลอดกาลหลังความพ่ายแพ้ของ Prague Spring ทั้งยังเป็นเหตุให้โปรดิวเซอร์สัญชาติอิตาเลี่ยน Carlo Ponti ถอนตัวออกจากโปรเจคแถมขอเงินลงทุนคืนด้วยนะ ทำเอา Forman ติดหนี้มหาศาลจนถูกทางการตราหน้าว่าเป็นผู้ทำเศรษฐกิจเสียหาย ‘economic damages to the state’ โชคดีได้โปรดิวเซอร์สัญชาติฝรั่งเศส Claude Berri เข้ามาร่วมโอบอุ้มโปรเจคคืนทุนสร้างให้ แลกกับสิทธิ์จัดจำหน่ายต่างประเทศ

เคราะห์กรรมหนักยังซ้ำเติม เมื่อได้เข้าร่วมสายการประกวดหลักเทศกาลหนังเมือง Cannes ถือเป็นหนึ่งในตัวเต็งปีนั้น แต่เพราะเกิดเหตุการณ์ May 68 การปฏิวัติทางอุดมคติครั้งสำคัญของฝรั่งเศส ทำให้ต้องการงานต้องยกเลิกกลางคันอย่างน่าเสียดาย

กระนั้นหนังกลับได้เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film เหตุเพราะได้ฉายปิดเทศกาลหนัง New York Film Festival (กติกาของการเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film ในสมัยแรกๆ ภาพยนตร์ต้องเคยเข้าฉายในอเมริกา หรือจากชาตินั้นๆส่งชื่อเข้าชิง อย่างใดอย่างหนึ่ง) แต่สุดท้ายก็พลาดรางวัลให้กับ War and Peace (1966) ของสหภาพโซเวียต

สิ่งที่โดยส่วนตัวหลงใหลคลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือไดเรคชั่นของผู้กำกับ Miloš Forman ในการควบคุมฝูงชนจำนวนมาก ความสับสนอลม่านชวนให้ระลึกถึงหนังเรื่องโปรด Playtime (1967) ของผู้กำกับ Jacques Tati ฉากไคลน์แม็กซ์ในร้านอาหาร บ้าคลั่งวุ่นวายพอๆกันเลย (ออกฉายปีเดียวกันด้วยนะ บังเอิญอะไรขนาดนั้น)

แนะนำคอหนัง Comedy, ชื่นชอบ Satire ล้อเลียนสะท้อนเสียดสี, ออแกไนซ์เซอร์ นักจัดงานเลี้ยง อีเว้นท์ นางงาม ฯ ศึกษาไว้เป็นบทเรียนความผิดพลาด, แฟนๆผู้กำกับ Miloš Forman ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความวุ่นวายสับสนอลม่าน สายตาอันหื่นกระหาย และพฤติกรรมไร้สาระของหลายๆตัวละคร

TAGLINE | “The Firemen’s Ball ของผู้กำกับ Miloš Forman เป็นงานเลี้ยงประจำปีที่ทุกสิ่งอย่างจะลุกเป็นไฟ มอดไหม้ดับไม่ลงด้วย”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: