The Fly

The Fly (1986) hollywood : David Cronenberg ♥♥♥♥

(28/11/2022) ยุง, แมลงวัน ต่างเป็นสัตว์พาหนะที่นำเชื้อโรคแพร่เข้าสู่มนุษย์ ทำให้ร่างกายชำรุดทรุดโทรม อวัยวะต่างๆทำงานล้มเหลว เลวร้ายอาจถึงขั้นสูญเสียชีวิต แนวคิดง่ายๆเมื่อผ่านมือผู้กำกับ David Cronenberg สร้างความน่ารังเกียจ ขยะแขยง คลื่นไส้วิงเวียน อัปลักษณ์พิศดารอย่างที่สุด

ในบรรดาภาพยนตร์แนว ‘body horror’ ของผู้กำกับ Cronenberg แทบทุกสำนักต่างยกให้ The Fly (1986) คือผลงานชิ้นเอก Masterpiece มีความน่ารังเกียจ ขยะแขยง ‘grotesque’ เหนือจินตนาการ และเหนือกาลเวลา

เมื่อแรกรับชม The Fly (1986) ทำเอาผมขนหัวลุกผอง นอนแทบไม่หลับ จดจำภาพติดตราฝังใจ ไม่ใคร่อยากหวนกลับมาสัมผัสประสบการณ์เช่นนี้อีก แต่กาลเวลาทำให้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ทรงคุณค่า ยังไม่มีภาพยนตร์แนว ‘body horror’ เรื่องอื่นใดสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์สยดสยองยิ่งกว่า

รับชมครั้งนี้ยังรู้สึกอึ้งทึ่งในลายเซนต์สไตล์ ‘Cronenburgundian’ โดยเฉพาะลีลาการตัดต่อ ลำดับเรื่องราว สามารถสร้างแรงดึงดูดอันน่าหลงใหล ทำให้ผู้ชมใคร่อยากติดตามตั้งแต่ต้นจบจน แถมแฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ชักชวนให้ขบครุ่นคิดตาม เจ้าแมลงวันนี้คือตัวแทนของอะไร?

มุมมองของผู้สร้าง Cronenberg ให้สัมภาษณ์บอกว่าไม่เคยเห็นหนังเป็นแค่แนว Horror ที่มีความสยดสยอง น่าเกลียดน่ากลัว แต่เรื่องราวมีส่วนผสมของรัก(ครั้งแรก)โรแมนติก เอ่อล้นด้วยอารมณ์ ความต้องการ โหยหาการยินยอมรับ และค้นพบอัตลักษณ์ตัวตน … ถือเป็นหนึ่งในผลงานที่มีความเป็นส่วนตัวมากๆเรื่องหนึ่ง

It is a horror film … it is also a romance, it’s a love story. It’s very emotional, it’s very passionate. It’s not a gore-fest, it’s not a slasher movie. It’s also very funny, not in a sense of parody or camp, but it’s an ironic and darkly humorous film, I think. Gore is perhaps the most spectacular aspect of it, but it’s certainly not all that there is in the movie.

David Cronenberg

ก่อนอื่นต้องกล่าวถึง George Langelaan (1908-72) จากเคยเป็นสายลับฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อพยพหลบหนีสู่ประเทศอังกฤษ ทำงานเป็นนักข่าว/นักเขียน ทั้งจดบันทึก (Memoirs) เรื่องสั้น นวนิยาย ผลงานโด่งดังที่สุดคือ The Fly (1957) เรื่องสั้นตีพิมพ์ลงนิตยสาร Playboy ฉบับเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1957

เรื่องสั้นดังกล่าวถูกขายลิขสิทธิ์ให้สตูดิโอ 20th Century Fox สรรค์สร้างภาพยนตร์ The Fly (1958) กำกับโดย Kurt Neumann ประสบความสำเร็จล้นหลาม จนทำให้มีอีกสองภาคต่อติดตามมา Return of the Fly (1959), Curse of the Fly (1965)

ช่วงต้นทศวรรษ 80s, โปรดิวเซอร์ Kip Ohman เข้าหานักเขียน Charles Edward Pogue ให้ช่วยพัฒนาบทหนังฉบับสร้างใหม่ (Remake) จากเรื่องสั้น The Fly แต่ฉบับร่างแรกไม่สามารถสร้างความประทับใจใดๆต่อผู้บริหารสตูดิโอ จึงล้มเลิกแผนการดังกล่าว

Stuart Cornfeld โปรดิวเซอร์อีกคนของสตูดิโอ Fox แม้ไม่ค่อยประทับใจบทของ Edward Pogue แต่ก็นำแนวคิดดังกล่าวไปพูดคุยผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ Mel Brooks ที่ก่อนหน้านี้เคยร่วมสร้าง The Elephant Man (1980) ว่าจ้างนักเขียนคนใหม่ Walon Green เข้ามาปรับปรุงขัดเกลา … ก็ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ

ระหว่างกำลังพัฒนาบทหนังอยู่นั้น Brooks ก็เริ่มติดต่อมองหาผู้กำกับ ตัวเลือกแรกคือ David Cronenberg แต่ขณะนั้นกำลังติดพันโปรเจค Total Recall เลยได้รับคำตอบปฏิเสธ, ต่อมาพูดคุยกับ Robert Bierman ยินยอมตอบตกลงเซ็นสัญญา แล้วจู่ๆบุตรสาวประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ยังไม่สามารถทำใจเลยขอถอนตัวออกไป

พอดิบพอดี ผกก. Cronenberg เพิ่งถอนตัวจากโปรเจค Total Recall (เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์ไม่ตรงกัน) เลยทำการติดต่อกลับไปอีกครั้ง ครานี้ยินยอมตอบตกลง พร้อมสิทธิ์ในการปรับปรุงแก้ไขบทหนังตามวิสัยทัศน์ของตนเอง

ปล. Mel Brooks แม้เป็นโปรดิวเซอร์คนสำคัญของหนัง แต่ปฏิเสธไม่ขอขึ้นเครดิต เพราะกลัวจะสูญเสีย ‘ภาพจำ’ ที่เคยทำภาพยนตร์ขายความบันเทิง ตลก เสียดสี กลุ่มเป้าหมายครอบครัว


David Paul Cronenberg (เกิดปี 1943) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario บิดาเป็นนักเขียน/นักตัดต่อ พยายามเสี้ยมสอนบุตรชายให้หลงใหลในสื่อภาพยนตร์ แต่เขากลับชื่นชอบอ่านนวนิยาย Science-Fiction ในตอนแรกเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ University of Toronto ก่อนเปลี่ยนมาคณะวรรณกรรมภาษาอังกฤษ จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสรับชม Winter Kept Us Warm (1966) ถึงเริ่มค้นพบความสนใจในภาพยนตร์ กำกับหนังสั้น 16mm ร่วมก่อตั้ง Toronto Film Co-op กับเพื่อนสนิท Ivan Reitman, ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Stereo (1969), Crimes of the Future (1970), พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ ‘body horror’ เริ่มตั้งแต่ Shivers (1975), Rabid (1977)

ผกก. Cronenberg ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกภาพยนตร์แนว ‘body horror’ ด้วยความพยายามทำให้เรือนร่างกายมนุษย์มีความผิดปกติ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพ (Transformation) มักจากเทคโนโลยีล้ำยุคสมัย ไม่ก็ติดเชื้อโรคบางอย่าง ซึ่งสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ จิตวิเคราะห์ ผลงานส่วนใหญ่จึงมีลักษณะ Sci-Fi Horror แต่บางครั้งก็สรรค์สร้างแนว Psychological Thriller, Gangster Film ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง คลุ้มบ้าคลั่ง

ผลงานเด่นๆ อาทิ The Brood (1979), Videodrome (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), A History of Violence (2005), Eastern Promises (2007) ฯลฯ

บทหนังพัฒนาขึ้นใหม่ Cronenberg ทำการปรับแก้ไขจาก Edward Pogue อยู่พอสมควร แต่เขายังคงขึ้นเครดิตให้เพราะถือว่าบทดังกล่าวคือพื้นฐาน/โครงสร้าง ‘foundation’ ของฉบับแก้ไข

  • บทหนังดั้งเดิมนำเสนอเรื่องราวของสองสามีภรรยา และลูกน้องที่ไม่รับรู้ว่ากำลังทำโปรเจคอะไร
    • ฉบับของ Cronenberg เปลี่ยนมาเป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องตกหลุมรักแรกพบนักข่าวสาว (ที่มีอดีตคนรักคือบรรณาธิการข่าว) … ซึ่งสะท้อนเข้ากับประสบการณ์ ‘sexual awakening’ ของตนเอง
  • ร่างสุดท้ายกลายเป็นแมลงวันตัวใหญ่ (Giant Fly) บินได้ ฆาตกรรมลูกน้องที่แอบเชิดเงินหลบหนี แล้วตัดสินใจฆ่าตัวตายในเครื่องขนย้าย (Teleportation)
    • หนังตัดฉากแมลงวันตัวใหญ่ออกไป เพราะไม่รู้จะสรรค์สร้างออกมายังไงให้สมจริง และร่างสุดท้ายคือการผสมผสานระหว่างมนุษย์-แมลงวัน-โครงเหล็ก(ของเครื่องขนย้าย)
    • เปลี่ยนจากฆ่าตัวตาย ให้เป็นถูกเข่นฆาตกรรมโดยแฟนสาว … นี่ก็ล้อประสบการณ์ที่ผกก. Cronenberg ถูกอดีตภรรยาทรยศหักหลัง เลิกราหย่าร้างได้เช่นเดียวกัน
  • ตอนจบภรรยาฝันร้ายว่าคลอดบุตรเป็นตัวหนอน แต่พอตื่นขึ้นมาทารกน้อยมีร่างกายสมประกอบเหมือนมนุษย์ทุกประการ

นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Seth Brundle (รับบทโดย Jeff Goldblum) ครุ่นคิดประดิษฐ์เครื่องขนย้ายมวลสาร (Teleportation) สามารถทำการขนส่งวัตถุไม่มีชีวิต จากเครื่องส่งหนึ่ง (Telepods) ไปสู่อีกเครื่องส่งหนึ่งได้สำเร็จ แต่ยังคงประสบปัญหาเกี่ยวกับการขนย้ายสิ่งมีชีวิต เจ้าลิงบาบูนกลายสภาพเป็นก้อนเนื้อแหลกละเอียด

เมื่อแรกพบเจอ ตกหลุมรักนักข่าวสาว Veronica ‘Ronnie’ Quaife (รับบทโดย Geena Davis) เลยชักชวนเธอมาให้พบเห็นเครื่องขนย้ายมวลสาร หลังจากเปิดบริสุทธิ์ มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก (ของ Brundle) ทำให้เขาเกิดความตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง ปรับแก้ไขโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้เรียนรู้จักความหมายของสิ่งมีชีวิต จึงสามารถทำการเคลื่อนย้ายลิงบาบูนอีกตัวได้สำเร็จ!

เรื่องวุ่นๆบังเกิดขึ้นเมื่อ Brundle ระหว่างมึนเมา งอนตุ๊บป่อง เพราะครุ่นคิดว่าแฟนสาว Ronnie ยังคงมีความสัมพันธ์แฟนเก่า Stathis Borans (รับบทโดย John Getz) เลยตัดสินใจใช้ตนเองเป็นหนูทดลอง นับถอยหลังเข้าเคลื่อนขนย้ายมวลสาร พร้อมๆกับแมลงวันตัวหนึ่งบังเอิญหลงเข้าไปในนั้น แม้การเคลื่อนย้ายจะสำเร็จลุล่วงโดยดี แต่ผลลัพท์ทำให้เกิดการผสมผสาน ‘fusion’ ระหว่างมนุษย์กับแมลงวัน ทำให้เขาค่อยๆเกิดการปรับเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ทีละเล็ก-ทีละน้อย จนกลายสภาพสู่ … มนุษย์แมลงวัน


Jeffrey Lynn Goldblum (เกิดปี 1952) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ West Homestead, Pennsylvania ในครอบครัวชาว Jews อพยพจาก Russia, ตั้งแต่เด็กมีความสนใจเปียโน ดนตรี Jazz, พออายุ 17 ย้ายมา New York เข้าเรียนการแสดง Neighborhood Playhouse ตามด้วย Sanford Meisner จากนั้นมีผลงาน Broadways เรื่องแรก Two Gentlemen of Verona (1971)**คว้ารางวัล Tony Award: Best Musical, สำหรับภาพยนตร์เริ่มต้นด้วย Death Wish (1974) ตามด้วยตัวประกอบในงานเลี้ยง Annie Hall (1977), รับบทเด่นใน Invasion of the Body Snatchers (1978), The Big Chill (1983), Into the Night (1985), The Fly (1986), Jurassic Park (1993), The Lost World (1997), Independence Day (1996) ฯ

รับบทหนุ่มเนิร์ด Seth Brundle นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ แม้สามารถประดิษฐ์เครื่องขนย้ายมวลสาร แต่อ่อนด้อยประสบการณ์เรื่องความรัก พยายามเกี้ยวพาราสี Ronnie แต่เธอกลับไม่สนใจใยดี จนกระทั่งนำพามาพบเห็นผลลัพท์อันน่าทึ่ง กระตุ้นต่อมทางเพศให้พลุกพล่าน หลังจากเสพสำราญ เสียความบริสุทธิ์ครั้งแรก ทำให้เขาเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ ‘sexual awakening’ เข้าใจความหมายของชีวิต จึงครุ่นคิดเขียนโปรแกรมให้เคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตได้สำเร็จ

Brundle เป็นคนคิดเล็กคิดน้อย บ่อยครั้งทำตัวเหมือนเด็กๆ เกิดความอิจฉาริษยาเมื่อ Ronnie แวะเวียนกลับไปหาอดีตคนรัก เลยสูญเสียความรอบคอบ ระแวดระวังภัย เป็นเหตุให้ถูกผสมผสานเข้ากับแมลงวัน ในช่วงแรกๆยังรู้สึกกระปรี้กระเปร่า จึงพยายามบีบบังคับให้แฟนสาวเข้าเครื่องขนย้ายมวลสารแบบเดียวกัน แต่พอเธอปฏิเสธจึงพูดคำดูถูกถากถาง จนกระทั่งเมื่อตระหนักถึงความผิดปกติ จึงเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นใจ ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ๆถึงสามารถยินยอมรับสภาพความจริง ถึงอย่างนั้นกลับครุ่นคิดผสมผสานตนเองและภรรยาให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวกัน!

เกร็ด: ผู้กำกับ Cronenberg ตั้งชื่อตัวละคร Seth Brundle จากนักแข่งรถ Martin Brundle

มีนักแสดงมากมายที่ได้รับการติดต่อ อยู่ในความสนใจของผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ อาทิ James Woods, John Lithgow, John Travolta, Mel Gibson, Willem Dafoe, Michael Keaton, Richard Dreyfuss ฯลฯ ส่วนใหญ่ปฏิเสธเพราะไม่คิดเห็นว่าเรื่องราวน่าขยะแขยงเกินไป ผิดกับ Jeff Goldblum ที่ยินยอมพร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ

แซว: ก่อนหน้านี้ Jeff Goldblum ก็เคยกลายร่างเป็น … Invasion of the Body Snatchers (1978)

รับชมรอบนี้ทำให้ผมตระหนักว่าตัวละครเนิร์ดๆของ Goldblum เต็มไปด้วยวิวัฒนาการแสดงที่น่าทึ่ง ทั้งทางร่างกาย-จิตใจ เริ่มตั้งแต่ทำตาโตๆหน้าใสๆเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสา เมื่อเปิดบริสุทธิ์ร่วมรักแฟนสาว ‘sexual awakening’ ก็ราวกับสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เรียนรู้จักความหมายของชีวิต ตกหลุมรักพร้อมกับอิจฉาริษยา และเมื่อเข้าเครื่องขนย้ายมวลสาร ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเพิ่มเติมเข้ามา

ผมจะยังไม่ขอกล่าวถึงวิวัฒนาการมนุษย์แมลงวันทั้ง 7 ระยะ แต่ขอพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพจิตใจของตัวละคร ภายหลังเข้าเครื่องขนย้ายมวลสาร ซึ่งสะท้อนความผิดหวัง/อกหักจากแฟนสาว สอดคล้องเข้ากับทฤษฎีการปรับตัวเข้ากับความเศร้าโศก (5 Stages of Grief) ประกอบด้วย

  1. ปฏิเสธต่อต้าน (Denial)
  2. โกรธเกรี้ยวกราด (Anger)
  3. พยายามต่อรองร้องขอ (Bargaining)
  4. ภาวะซึมเศร้า (Depression)
  5. ยินยอมรับความจริง (Acceptance)

เพียงเท่านี้ก็น่าจะรับรู้ได้แล้วว่าการแสดงของ Goldblum เต็มไปด้วยความหลากหลาย แม้บางครั้งอาจดูปั้นแต่ง ไม่สมจริงอยู่บ้าง แต่ภาพรวมถือว่ามหัศจรรย์ และผมรู้สึกเหมือนเป็นความจงใจ (ที่จะแสดงออกอย่างเนิร์ดๆ เว่อๆวังๆ) เพื่อให้ผู้ชมสามารถแบ่งแยกแยะวิวัฒนาการตัวละครออกเป็นลำดับขั้นได้อย่างชัดเจน


Virginia Elizabeth ‘Geena’ Davis (เกิดปี 1956) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Wareham, Massachusetts วัยเด็กมีความสนใจด้านดนตรี เรียนเปียโน ฟลุต ออร์แกน โตขึ้นเข้าเรียนการแสดง Boston University, เริ่มต้นจากเป็นโมเดลลิ่ง สมทบภาพยนตร์เรื่องแรก Tootsie (1982) มีชื่อเสียงจาก The Fly (1986), Beetlejuice (1988), The Accidental Tourist (1988) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actress, Thelma & Louise (1991), A League of Their Own (1992), The Long Kiss Goodnight (1996), Stuart Little (1999)

รับบท Veronica ‘Ronnie’ Quaife นักข่าวสาวได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการ/อดีตสามีขี้หึง ให้ทำข่าวที่จะสร้างความตกตะลึง ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Particle Magazine ยินยอมรับคำชักชวนของ Seth Brundle ในตอนแรกไม่ได้ครุ่นคิดคาดหวังอะไร พอพบเห็นเครื่องขนย้ายมวลสารก็ยังไม่สามารถปรับตัวทำความเข้าใจ จนกระทั่งหวนกลับมาพูดคุยต่อรอง ยินยอมให้ความช่วยเหลือบันทึกภาพการทดลอง แล้วจู่ๆแสดงความต้องการครอบครอง ร่วมรักหลับนอน พร้อมพลีกายถวายทุกสิ่งอย่าง

ก็ไม่รู้จุดประสงค์แท้จริงของ Ronnie ยินยอมร่วมรักหลับนอนกับ Brundle เพราะรักหรือหลง หรือด้วยเหตุผลประโยชน์ แม้เธอพยายามแสดงความจริงใจ แต่หลังจากร่างกาย(และจิตใจ)ของเขาปรับเปลี่ยนแปลงไป (จากการผสมผสานกับแมลงวัน) ก็เริ่มแสดงอาการรังเกียจขยะแขยง หวนกลับหาอดีตสามีให้ช่วยเหลือพาไปทำแท้ง ไม่สามารถยินยอมรับสภาพความจริงได้อีกต่อไป

มีนักแสดงหลายคนได้รับการพูดคุยติดต่อ อาทิ Jennifer Jason Leigh, Laura Dern (ติดคิว Blue Velvet (1986)), ก่อนมาลงเอย Geena Davis จากคำแนะนำของแฟนหนุ่มขณะนั้น Jeff Goldblum แม้ตอนแรกผกก. Cronenberg ไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ชีวิตจริงเชื่อมโยงกับหนัง แต่เมื่อมีโอกาสพบเจอ พูดคุย ก็ยินยอมตอบรับ เคมีระหว่างคนรักเข้าหากันจริงๆ

เกร็ด: Jeff Goldblum แต่งงานกับ Geena Davis เมื่อปี 1987 แล้วหย่าขาด ค.ศ. 1990 มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ร่วมกันสามเรื่อง Transylvania 6-5000 (1985), The Fly (1986), Earth Girls Are Easy (1988)

บทบาท Ronnie คือหญิงสาวมากประสบการณ์ มายาร้อยเล่มเกวียน (ตรงกันข้ามกับ Brundle ไร้เดียงสาเหมือนเด็กน้อย) ทั้งเรื่องความรักและเพศสัมพันธ์ (สังเกตจากอดีตสามีที่สนแต่ขอมีอะไรด้วย) เป็นคนยั่วเย้ายวน สร้างความรันจวน เปิดบริสุทธิ์ให้ Brundle แต่ทั้งหมดเหมือนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ชื่อเสียง เงินทอง ความสุขสบายในอนาคต จนกระทั่งเมื่อเขามีสภาพร่างกายอัปลักษณ์ ก็แสดงสีหน้ารังเกียจขยะแขยง ต่อต้านรับไม่ได้อีกต่อไป

การแสดงของ Davis อาจไม่ได้หลากหลายเท่า Goldblum แต่มีความเข้มข้นทางอารมณ์รุนแรงกว่ามากๆ ตั้งแต่ร่านพิศวาส ห่วงโหยหา โดยเฉพาะอาการรังเกียจขยะแขยง เจ้าตัวเล่าว่าจริงๆไม่ได้รู้สึกอะไรกับความอัปลักษณ์ของมนุษย์แมลงวัน แต่จะมีฉากตาหลุดที่สร้างความตกอกตกใจ คลื่นไส้อย่างรุนแรง แล้วกล้องจับภาพปฏิกิริยาวินาทีนั้นไว้ได้ทัน มันเลยมีความสมจริงโคตรๆอย่างคาดไม่ถึง

เกร็ด: ตลอดเวลาที่ Jeff Goldblum ต้องแต่งหน้าแต่งตัว สวมใส่ชุดมนุษย์แมลงวัน Geena Davis มักคอยอ่านหนังสือให้ฟังอยู่เคียงชิดใกล้ ให้พานผ่านช่วงเวลา 4-5 ชั่วโมงอันน่าเบื่อหน่ายนั้นไปด้วยกัน


ถ่ายภาพโดย Mark Irwin (1950-) สัญชาติแคนาดา สำเร็จการศึกษาด้านภาพยนตร์จาก York University ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ David Cronenberg ตั้งแต่ Fast Company (1979) จนถึง The Fly (1986)

งานภาพ ‘สไตล์ Cronenberg’ มักมีระยะประชิดใกล้ Close-Up, Medium Shot เพื่อให้ผู้ชมพบเห็นรายละเอียดของสัตว์ประหลาดได้อย่างเต็มตาเต็มใจ ส่วนใหญ่เป็นฉากภายใน ถ่ายทำตอนกลางคืน โดดเด่นกับการจัดแสง ความมืดมิด และสีสันจะผันแปรเปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการทางกายภาพของตัวละคร

ส่วนใหญ่ที่พบเห็นในหนังล้วนเป็น Special Effect งานสร้างทำด้วยมือ แต่งหน้าสวมชุดสัตว์ประหลาด สร้างกลไกให้สามารถขยับเคลื่อนไหว หรือแม้แต่ฉากปีนป่ายบนผนังเพดาน ก็สร้างห้องบนฐานที่สามารถหมุน 360 องศา แทบจะไม่พบเห็น Visual Effect แบบที่เคยทำกับ Videodrome (1982) นั่นเพราะผู้กำกับ Cronenberg ต้องการความสมจริงจับต้องได้ และข้อจำกัดของ CGI ยุคสมัยนั้นยังยุ่งยาก ติดขัด ไม่สามารถทำอะไรๆหลายๆอย่าง

หนังใช้เวลาโปรดักชั่นสามเดือนเต็ม ตั้งแต่ธันวาคม 1985 ถึงสิ้นกุมภาพันธ์ 1986 โดยปักหลักถ่ายทำยังสตูดิโอ Cinespace Film Studios ตั้งอยู่ที่ Toronto, Ontari ประเทศ Canada


การเปลี่ยนแปลงสภาพของมนุษย์แมลงวัน ‘Brundlefly’ สรรค์สร้างโดย Chris Walas (เกิดปี 1955) นักออกแบบ Special Effects, Make-Up Artist สัญชาติอเมริกัน มีชื่อเสียงจาก Gremlins (1984), The Fly (1986), Naked Lunch (1991), และยังเป็นผู้กำกับภาคต่อ The Fly II (1989)

แรกเริ่มนั้นร่างสุดท้าย (จากต้นฉบับเรื่องสั้นและภาพยนตร์) จะคือแมลงวันยักษ์ (Giant Fly) แถมบินได้อีกต่างหาก แต่ผกก. Cronenberg ต้องการนำเสนอวิวัฒนาการทางกายภาพ ผสมผสานระหว่างมนุษย์กับแมลงวัน ร่างสุดท้ายจึงได้ข้อสรุปใหม่ ทำออกมาให้มีลักษณะครึ่งมนุษย์-ครึ่งแมลง และบินไม่ได้ (แต่ยังต้องสร้างกลไกสำหรับขยับเคลื่อนไหว)

สำหรับการออกแบบเห็นว่าเริ่มจากร่างสุดท้าย แล้วค่อยๆวิวัฒนาการถดถอยหลังเพื่อให้สอดคล้องแนวคิดความแก่ชรา (aging process) มีทั้งหมด 7 ระยะ/ลำดับขั้น ประกอบด้วย

  • ระยะที่ 1 และ 2 มีเพียงริ้วรอย จุดด่างดำขึ้นตามผิวหนัง เส้นขนยาวแข็งเหมือนลวดเหล็ก และมีพละกำลังเหนือมนุษย์
  • ระยะที่ 3 และ 4 เริ่มมีการนำเอาชิ้นเนื้อมาปะติดบนใบหน้า แขนขา สวมใส่ฟันปลอม วิกผมร่วง และสามารถปืนป่าย ไต่กำแพง (เหมือนมนุษย์แมงมุมเสียมากกว่า)
  • ระยะที่ 5 ทำการสวมชุดยางเต็มตัว (เลิกสวมเสื้อผ้า) พบเห็นอวัยวะหลุดร่วง น้ำหนองไหล เหลือดวงตามองเห็นเพียงข้างเดียว
    • นี่คือร่างสุดท้ายที่ใช้นักแสดงสวมใส่ชุดมนุษย์แมลงวัน
  • ระยะที่ 6 (ชื่อเล่น Brundlefly/Space Bug) อวัยวะภายนอกหลุดลอกออกจนหมด หลงเหลือเพียงเค้าโครงภายใน และไม่สามารถพูดคุยสนทนาได้อีกต่อไป
    • ระยะนี้ขยับเคลื่อนไหวด้วยกลไก โครงสร้างแกนเหล็กภายใน ควบคุมชักใยด้วยสายเคเบิลด้านหลัง
  • ระยะสุดท้ายที่ 7 (ชื่อเล่น Brundlebooth หรือ Brundlething) ผสมผสานระหว่างมนุษย์-แมลงวัน-เหล็กกล้า ไม่สามารถพูดคุยสนทนา แสดงอาการเจ็บปวดทุรนทุราย เรียกร้องขอความตาย ยินยอมรับโชคชะตากรรม

ทีแรกผมไม่ทันสังเกตหรอกว่าพื้นหลังในช่วง Opening Credit ที่ดูขมุกขมัว พบเห็นเพียงแสงบางสี (ดูคล้ายๆภาพอินฟราเรด) ขยับเคลื่อนไหวไปมา แท้จริงแล้วคือพยายามเลียนแบบการมองเห็นของแมลงวัน ซึ่งหลังจากขึ้นชื่อผู้กำกับ ก็จะค่อยๆปรับกลับสู่สภาวะปกติ (ที่มนุษย์สามารถมองเห็นภาพเหตุการณ์ งานเลี้ยงสังสรรค์ของบรรดานักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง)

การที่หนังเริ่มต้นด้วย Seth Brundle ชักชวน Ronnie มารับชมการทดลองวิทยาศาสตร์ของตนเองนั้น สามารถเปรียบได้ตรงๆกับผู้ชม(ครั้งแรก)ที่ยังไม่ล่วงรับรู้อะไรมาก่อน หลากหลายปฏิกิริยาก็อาจเหมือนหญิงสาว เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย โล้เล้ลังเลใจ สถานที่เปลี่ยวๆแห่งนี้ ฉันกำลังถูกลวงหลอกมาทำบัดสีบัดเถลิงหรืออย่างไร? ซึ่งพอพบเห็นการทดลองเคลื่อนย้ายมวลสาร ย่อมเกิดอาการอ้ำๆอึ้งๆ พูดเป็นเล่น เอากันอย่างนี้เลยเหรอ

I’m working on something that’ll change the world and human life as we know it.

Seth Brundle

แซว: ระหว่างทางที่ Ronnie ขับรถพา Brundle มายังโกดังแห่งนี้ เขาแสดงอาการเมารถ นี่แอบล้อสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นเมื่อเขาเข้าไปในเครื่องขนย้ายมวลสาร แล้วแสดงอาการผิดปกติจากการเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้น

เกร็ด: แม้ผมฟังไม่ออกว่า Jeff Goldblum เล่นบทเพลงอะไร แต่เจ้าตัวชื่นชอบเปียโนมากๆ ต้องการเลียนแบบ Cary Grant เรื่อง The Philadelphia Story (1940) และยังเคยก่อตั้งวงแจ๊ส Mildred Snitzer Orchestra

มีสิ่งข้าวของมากมายที่ Ronnie สามารถให้ Brundle หยิบยืมมาทดลองใช้ในเครื่องขนย้ายมวลสาร แต่เธอกลับถอดถุงน่องซึ่งไม่ได้มีมูลค่าอะไร แต่ถือเป็นสัญลักษณ์ของการหยอกเย้า ยั่วยวน หรือจะมองว่าแสดงถึงความไม่ยี่หร่าต่อสิ่งที่เขากำลังจะทำการทดลองให้รับชม

แต่การตีความที่ว่ามาเหมือนจะไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่ จนกระทั่งเมื่อพบเห็นอีกช็อตหลังการเคลื่อนย้ายมวลสาร การจัดวางของมันแลดูเหมือน ‘ถุงยางอนามัย’ ใช้แล้วทิ้ง สัญลักษณ์ของการป้องกันตนเองระหว่างมีเพศสัมพันธ์ (หรือจะมองว่านี่คือการป้องกันตัวของ Ronnie จากชายแปลกหน้าคนนี้)

Your stocking was disintegrated there and reintegrated here, sort of.

Seth Brundle

คำอธิบายดังกล่าวของ Brundle เพื่อเป็นการล้อกับชื่อ ‘disintegrator-reintegrator machine’ ที่ใช้ในต้นฉบับเรื่องสั้น The Fly (1956) … สมัยนั้นน่าจะยังไม่มีคำเรียก Teleportation กระมัง

คนสมัยนี้อาจรู้จักจาก Mark Zuckerberg ที่ชอบใส่เสื้อยืดคอกลมสีน้ำเงินแทบไม่เคยเปลี่ยน แต่คนสมัยก่อนจะรับรู้ว่า Albert Einstein ก็เป็นคนไม่แต่งตัวสักเท่าไหร่ ชอบสวมใส่ชุดซ้ำๆ เอาเวลา(เลือกเสื้อผ้า)ไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์เสียดีกว่า … ผู้กำกับ David Cronenberg ก็เฉกเช่นเดียวกัน

เพศสัมพันธ์ครั้งแรกสังเกตว่าเป็น Ronnie ที่รุกเข้าหา แถมยัง ‘Woman on Top’ ผู้หญิงอยู่เบื้องบน แม้ไม่ฉากร่วมรักหลับนอน แต่หนังใช้การ Cross-Cutting ให้เห็นท้องฟ้าเบื้องบนหลังคา จากจุดสูงสุด(ไคลน์แม็กซ์)ค่อยๆเลื่อนต่ำลงมายังเตียงนอน … แต่ครั้งหลังจะเปลี่ยนเป็นท่าตะแคง (Spooning) ช้อนด้านหลังด้วยท่านอน เพื่อให้ฝ่ายชายสามารถสัมผัสลูบไล้ เชยชมฝ่ายหญิงจากด้านหลัง

This is my version of the sexual awakening of a nerd.

David Cronenberg

ลิงบาบูนชื่อ Typhoon ตามสัญชาตญาณคือสัตว์ที่ดุร้าย ไม่เป็นมิตรกับใครนอกจากเจ้าของ Hoyt Teatman (ผู้ดูแลในส่วน Visual Effect ของหนัง) แถมมันเกลียดขี้หน้าผกก. Cronenberg โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ยกเว้นสำหรับ Jeff Goldblum น่าจะเพราะรูปร่างสูงใหญ่ 6 ฟุต 4 นิ้ว (193 เซนติเมตร) จึงสามารถสยบและควบคุมให้มันทำสิ่งๆต่าง

They’re very volatile, and there’s no such thing as a tame baboon. Jeff, because he was much bigger and stronger than the baboon, was able to dominate him, and the baboon’s wrangler said it was a good thing that the baboon formed that relationship … Otherwise there could have been big trouble on the set with some of the female members of the crew.

David Cronenberg

มันมีฉากที่ต้องขังเจ้าลิงบาบูนไว้ในเครื่อง Telepod แล้วต้องใช้ Special Effect แสงสีขาวกระพริบสว่างจร้า นั่นสร้างความตื่นตกใจให้ Typhoon จนพยายามพังประตูออกมา โชคดีได้ Goldblum สยบไว้ได้ทัน ไม่งั้นอาจมีความวุ่นวายบังเกิดขึ้นแน่ๆ … นี่อาจคือเหตุผลที่ทำให้มันเกลียดขี้หน้า ผกก. Cronenberg กระมัง!

รูปลักษณะของเครื่องขนย้ายมวลสาร มองผ่านๆผมรู้สึกเหมือนมันพยายามลอกเลียนแบบส่วนท้องของแมลงวัน (ที่จะเป็นข้อๆปล้องๆ) แต่อ่านพบเจอเบื้องหลังว่าผกก. Cronenberg ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องยนต์รถมอเตอร์ไซด์ Ducati 450 Desmo

แซว: ท่านั่งของ Jeff Goldblum แถมยังเปลือยกายล่อนจ้อน ชัดเจนเลยว่าได้แรงบันดาลใจจากคนเหล็ก The Terminator (1984)

ความน่ารำคาญของเจ้าแมลงวันตัวนี้ ทำให้ผมนึกถึงตอนจบภาพยนตร์ Call Me by Your Name (2017) ขึ้นมาซะงั้น –” แต่นี่คือความจงใจของหนัง ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันทีมงานสามารถควบคุมแมลงวันตัวนี้ได้อย่างไร (ไม่ใช่ CGI อย่างแน่นอนนะครับ)

คือแมลงวันตัวนี้แรกเริ่มมันสร้างความรำคาญให้เจ้าลิงบาบูน จากนั้นกล้องก็พยายามจับจ้อง ติดตาม และท้ายสุดคือปรากฎตัวในเครื่องขนย้ายมวลสาร ตำแหน่งนี้ พอดิบดี ได้ยังไงกัน!

ทีแรกผมครุ่นคิดอย่างจริงจังว่า Jeff Goldblum น่าจะสามารถแสดงกายกรรมลีลาเหล่านี้ด้วยตนเอง แต่แท้จริงแล้วก็ใช้นักแสดงแทนนะแหละ นักยิมนาสติกลีลาซักซ้อมเตรียมตัวมาอย่างดี แต่ … เมื่อต้องถ่ายทำหลายๆสิบเทค สลับสับเปลี่ยนมุมกล้อง นั่นสร้างความเหน็ดเหนื่อยลากไส้ สาบตัวแทบขาด หมดสิ้นพละกำลังกว่าจะได้ผลลัพท์ตามต้องการของผู้กำกับ

ความผิดปกติแรกของ Brundle นอกจากเต็มไปด้วยพละกำลังเหนือมนุษย์ สภาพจิตใจ มุมมองโลกทัศน์ของเขาก็ปรับเปลี่ยนแปลงไป จากเคยสงบเสงี่ยม พูดน้อย ทำตัวเหมือนเด็กไร้เดียงสา จู่ๆเอ่ยพร่ำสนทนาไม่ยอมหยุด (เกินครึ่งดั้นสดโดย Goldblum) นั่นแสดงว่าประสบการณ์หลังพานผ่านเครื่องขนยายมวลสาร เทียบเท่ากับ …

From the moment I walked out, I felt like a million bucks.

Seth Brundle

เกร็ด: แมลงวันไม่ใช่ผึ้งที่ต้องการน้ำหวาน พวกมันชอบรับประทานเนื้อสัตว์ ซากเศษอาหาร เศษอุจาระ ขยะมูลฝอย นั่นคือต้นเหตุของเชื้อโรคมากมายที่ติดตัวมันมาแพร่ให้กับมนุษย์

ความผิดปกติทางกายภาพของ Brundle ที่ผู้ชมสามารถพบเห็นได้ครั้งแรก คือริ้วรอยด่างดำปรากฎบนใบหน้า ระหว่างกำลังร่วมรักไม่รู้นานเท่าไหร่กับ Ronnie และเธอยังสัมผัสขนแข็งๆงอกเงยบริเวณบาดแผลด้านหลัง ต้องการเอากรรไกรมาตัดเล็ม แต่เขากลับรู้สึกเจ็บ (เพราะขนของแมลงวันเต็มไปด้วยเส้นประสาท เพื่อสำหรับสัมผัสรับรู้สิ่งต่างๆได้อย่างละเอียดอ่อนไหว)

สำหรับ Seth Brundle เพิ่งเริ่มตระหนักรับรู้ความผิดปกติของตนเอง หลังจากขับไล่แฟนสาว Ronnie และพบเห็นสภาพใบหน้าผ่านกระจกในห้องน้ำ มีเส้นขนงอกเงยออกมา พยายามจะใช้เครื่องโกนหนวดแต่มันกลับสร้างความเจ็บปวดรวดอย่างรุนแรง ระหว่างกำลังกัดเล็บ/ขบครุ่นคิด ปรากฎว่ามันลอกออกมาโดยไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ (เพราะแมลงวันไม่มีเล็บ)

คู่ต่อสู้งัดข้อคนนี้ก็คือ George Chuvalo อดีตนักมวยรุ่น Heavyweight ชาวแคนาดา ทั้งชีวิตไม่เคยถูกน็อคลงพื้นสักครั้งเดียว! เคยชกชิงแชมป์โลก WBC กับ Muhammad Ali แต่พ่ายแพ้คะแนน

ฉากมนุษย์แมงมุม (ไม่รู้เป็นแรงบันดาลใจ Spider-Man (2002) ภาคแรกด้วยรึเปล่านะ) ล่อหลอกผู้ชมด้วยการสร้างฉากแห่งนี้ บนเครนที่สามารถขยับเคลื่อนหมุนรอบ ไม่ได้ต้องใช้สลิงหรือ Special/Visual Effect เพราะนักแสดงเดินคลานอยู่บนพื้นเท่านั้นเอง

บางแหล่งข่าวบอกว่า Martin Scorsese เมื่อมีโอกาสพบเจอ David Cronenberg บอกว่าเขาหน้าตาเหมือนหมอศัลยกรรม เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เขาปรากฎตัว ‘Cameo’ ฉากนี้ในบทบาทสูตินรีแพทย์ (gynecologist), แต่อีกแหล่งข่าวบอกว่า Geena Davis ร้องขอให้ผกก. Cronenberg เล่นบทดังกล่าวด้วยตนเอง (เพราะมันต้องเปลือยท่อนล่างระหว่างเข้าฉาก มีความเชื่อใจเขามากกว่าใครอื่น)

แซว: ไม่รู้เพราะฉากนี้หรือเปล่า ผลงานถัดไปของผกก. Cronenberg เรื่อง Dead Ringers (1988) เลยมีเรื่องราวเกี่ยวกับสูตินรีแพทย์

ความฝันคือสิ่งสะท้อนจิตใต้สำนึกของตัวละคร ในกรณีของ Ronnie เพราะเคยมีเพศสัมพันธ์กับ Brundle จึงบังเกิดอาการขลาดหวาดกลัว ถ้าพบว่าตนเองตั้งครรภ์บุตรของเขา แล้วทารกคลอดออกมาจะมีรูปร่างหน้าตาเช่นไร?

เมื่อตื่นขึ้นจากฝันร้าย อาการหวาดกลัวของ Ronnie ก็ยังคงไม่หมดไป เธอนอนคุดคู้ท่วงท่าเดียวกับทารกน้อยในครรภ์ ราวกับโหยหาใครสักคนที่จะคอยปลอมประโลม มอบความอบอุ่น เป็นที่พึ่งพักพิง … นั่นคือเหตุผลที่แม้โคตรรังเกียจ Stathis Borans แต่ก็ต้องหวนกลับไป เพราะคือบุคคลเดียวพึ่งพาได้ขณะนี้!

ในฉากที่ Ronnie พยายามพูดบอกร่ำลา ต้องการพบเจอหน้า Brundle ครั้งสุดท้าย แม้เห็นเพียงลางๆแต่ก็พอมองออกว่าเธอยืนอยู่ในตำแหน่งสปอตไลท์สาดส่อง และมีเงามืดคั่นแบ่ง คล้ายๆซี่กรงขัง เพื่อสะท้อนสภาพจิตใจของเธอขณะนี้ ไม่สามารถยินยอมรับ หวนกลับหา ชิดใกล้เขาได้อีกต่อไป

I’m saying, I’m an insect who dreamt he was a man and loved it, but now that dream is over, and the insect is awake.

คำพูดของ Seth Brundle อ้างอิงจากนวนิยาย Die Verwandlung (1915) ชื่ออังกฤษ Metamorphosis แต่งโดย Franz Kafka

หลายคนอาจเตลิดไปไกลว่าน้ำหนองไหลของมนุษย์แมลงวัน คือส่วนผสมของกรดกัดกร่อนอะไรสักอย่าง แต่แท้จริงแล้วก็แค่น้ำผึ้ง ไข่ขาว และน้ำนม เอาจริงๆก็สามารถดื่มกินได้กระมัง ส่วนการกัดกร่อนแขน-ขาของ Stathis Borans มันเกิดจาก Special Effect บางอย่างเท่านั้น!

ทำไมต้องละลายแขน-ขา? ผมมองว่าทั้งแขนและขาต่างเป็นอวัยวะที่มีสองข้าง การถูกละลายลงข้างหนึ่ง สามารถสื่อถึงการสูญเสียครึ่งซีก/ด้านหนึ่งของตัวตน … ในบริบทนี้อาจสื่อถึงคู่ชีวิต สิ่งที่ Stathis Borans ต้องแลกมาเพื่อให้ได้หวนกลับคืนดีกับอดีตภรรยา Ronnie

สองร่างสุดท้ายของมนุษย์แมลงวัน Brundlefly และ Brundlebooth (หรือ Brundlething) ล้วนเป็นงานของทีม Special Effect ไม่สามารถใช้นักแสดงสวมชุดเข้าฉากได้อีกต่อไป สังเกตว่าหนังพยายามใช้มุมกล้องบดบังเส้นสายเคเบิลสำหรับเชิดชัก ซึ่งภายในตัวสัตว์ประหลาดยังมีข้อต่อ กลไก สำหรับการขยับเคลื่อนไหวให้ออกมาดูเป็นธรรมชาติที่สุด

ตัดต่อโดย Ronald Sanders สัญชาติแคนาดา ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ David Cronenberg ตั้งแต่ผลงาน Fast Company (1979)

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Veronica ‘Ronnie’ Quaife ตั้งแต่แรกพบเจอ Seth Brundle ถูกชักชวนมารับชมผลงาน จากนั้นสานสัมพันธ์ ร่วมรักหลับนอน พยายามให้ความช่วยเหลือ จนพบเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเขา ยินยอมรับไม่ได้อย่างรุนแรง ต้องการตีตนออกให้ห่างไกล

บางคนอาจมองว่าหนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Brundle ก็ได้เช่นกัน (ก็มีหลายๆส่วนคาบเกี่ยวกันอยู่) ตั้งแต่แรกพบเจอ Ronnie พยายามเกี้ยวพาราสี จนมีโอกาสร่วมหลับนอน ตกหลุมรัก จากนั้นบังเกิดความอิจฉาริษยา อาฆาตมาดร้าย ปฏิเสธต่อต้าน ต้องการเลิกรา แต่หลังจากค้นพบความผิดปกติของตนเอง ช่วงแรกๆพยายามปลีกวิเวก ผ่านไปหลายสัปดาห์ถึงยินยอมร้องขอความช่วยเหลือ และพอรับรู้ว่าเธอตั้งครรภ์ ก็ตัดสินใจทำบางสิ่งอย่างที่คลุ้มบ้าคลั่ง

  • แรกพบเจอ ‘first impression’
    • Brundle พยายามเกี้ยวพาราสี Ronnie พามารับชมการทดลองเครื่องขนย้ายมวลสาร
  • การเปลี่ยนแปลงหลังมีเพศสัมพันธ์ ‘sexual awaking’
    • Brundle ค้นพบความหมายของชีวิต จึงสามารถเขียนโปรแกรมให้สิ่งมีชีวิตสามารถใช้งานเครื่องขนย้ายมวลสาร
  • ความอิจฉาริษยา ‘jealousy’ ครุ่นคิดไปว่าเธอยังมีความสัมพันธ์กับเขา
    • Ronnie กลับไปสะสางปัญหาค้างคาใจกับ Stathis Borans
    • Brundle ดื่มเหล้าเมามาย เลยตัดสินใจใช้ตนเองเข้าเครื่องขนย้ายมวลสาร แม้ผลลัพท์จะสำเร็จลุล่วง แต่กลับทำให้เขาผสมผสานกับแมลงวัน
  • การเรียกร้องความสนใจของ Brundle
    • หลังจากใช้เครื่องขนย้ายมวลสาร เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นโดยไม่รู้ตัว Brundle จึงพยายามโน้มน้าว Ronnie ให้ทดลองใช้เครื่องขนย้ายมวลสาร แต่เธอปฏิเสธเสียงขันแข็ง สร้างความโกรธรังเกียจ เกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง
    • เขาเลยไปมองหาหญิงสาวคนอื่น/โสเภณี พามาร่วมรักหลับนอน และโน้มน้าวให้เธอทดลองใช้เครื่องขนย้ายมวลสาร แต่ก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน
  • ร้องขอความช่วยเหลือจาก Ronnie
    • หลังจากขับไล่ Ronnie ทำให้ Brundle ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของตนเอง
    • ช่วงการปลีกวิเวก ไม่ยินยอมรับสภาพความจริง ปฏิเสธพบเจอหน้าใคร
    • หลายสัปดาห์ต่อมา Brundle ติดต่อหา Ronnie พยายามร้องขอความช่วยเหลือ แม้เธอยินยอมมาหา แต่กลับบอกว่านี่คือครั้งสุดท้ายจะพบหน้า
  • อาการเสียสติแตก ไม่ยินยอมรับความจริงของ Brundle
    • Brundle พอรับรู้ว่า Ronnie ตั้งครรภ์ลูกของตนเอง จึงบุกเข้าไปยังโรงพยาบาลลักพาตัวออกมา พยายามโน้มน้าวไม่ให้เธอทำแท้ง
    • Stathis Borans เดินทางมาช่วยเหลือ Ronnie แต่กลับต้องสูญเสียแขนและขา
    • Brundle กลายร่างเป็นมนุษย์แมลงวัน และผสมสานกับวัสดุที่ใช้ทำเครื่องขนย้ายมวลสาร

ความโดดเด่นใน ‘สไตล์ Cronenberg’ คือการลำดับเหตุการณ์ เน้นสร้างความลึกลับ ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็กละน้อย เป็นขั้นเป็นตอน สอดคล้องวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงของตัวละคร

  • ทางกายภาพจาก Seth Brundle สู่มนุษย์แมลงวัน Brundlefly
  • และทางจิตภาพทฤษฎีการปรับตัวเข้ากับความเศร้าโศก (5 Stages of Grief)

ต้องถือว่า The Fly (1986) เป็นภาพยนตร์ที่ผู้ชมสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง (Transformation) เด่นชัดเจนที่สุดแล้วในบรรดาผลงานของผกก. Cronenberg


หนังเต็มไปด้วย Delete Scene ทั้งจากกองเซนเซอร์ และที่ผกก. Cronenberg ตัดออกหลังจากรอบทดลองฉาย โดยมีไฮไลท์สามซีเควนซ์ใหญ่ๆ

  • monkey-cat sequence: การผสมผสาน (Fusion) ระหว่างลิงบาบูนกับเจ้าแมวเหมียว สาเหตุเพราะความรุนแรงที่ตัวละครต้องเข่นฆาตกรรมสิ่งมีชีวิตตนนี้ ทำให้ผู้ชมสูญเสียความรู้สึกสงสารเห็นใจ Seth Brundle ไปโดยสิ้นเชิง
  • Brundle เมื่อปีนป่ายอยู่ด้านนอกอาคาร พลัดตกลงมาเบื้องล่าง แล้วจู่ๆก็มีอวัยวะของแมลงงอกออกมาจากลำดัว
  • ปัจฉิมบท butterfly baby: หลังเหตุการณ์ทั้งหมดสิ้นสุด Ronnie กำลังหลับฝัน พบเห็นทารกน้อยคลอดออกมามีปีกผีเสื้อ โบยบินสู่เสรีภาพ

เพลงประกอบโดย Howard Leslie Shore (เกิดปี 1946) นักแต่งเพลงชาว Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario ค้นพบความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ มีความสามารถเล่นดนตรีได้หลากหลาย เลยเข้าเรียนต่อ Berklee College of Music จากนั้นเป็นสมาชิกวงดนตรี Lighthouse แนว Jazz Fusion, ต่อด้วย Music Director ให้รายการโทรทัศน์อย่าง Saturday Night Live, สำหรับภาพยนตร์ได้รับคำชักชวนจาก David Cronenberg เริ่มต้นครั้งแรก The Brood (1979), The Dead Zone (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Silence of the Lambs (1991), Ed Wood (1994), Se7en (1995), The Game (1997), The Lord of the Rings trilogy (2001-03) ** คว้ารางวัล Oscar ทั้งหมด 3 ครั้ง, Gangs of New York (2002), The Aviator (2004), Hugo (2011) ฯลฯ

งานเพลงของ The Fly (1986) บรรเลงด้วยออร์เคสตราวงใหญ่ เริ่มต้นด้วยความอลังการ เพื่อสื่อถึงความมหัศจรรย์ของชีวิต วิวัฒนาการทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความลึกลับ หลายสิ่งอย่างซุกซ่อนในความมืดมิด มนุษย์ยังไม่สามารถครุ่นคิดค้นหาคำตอบ นั่นสร้างความหวาดสะพรึง หลอกหลอน ขนลุกขนพอง สั่นสะท้านทรวงใน

เกร็ด: ว่ากันว่า Peter Jackson เลือก Howard Shore ทำเพลงประกอบ The Lord of the Rings (2001-03) เพราะความประทับใจจากภาพยนตร์ โดยเฉพาะไคลน์แม็กซ์ช่วงถือกำเนิด Brundlefly กลายเป็นต้นแบบบทเพลงพระเอกปรากฎตัวออกมาใน Middle Earth

ตอนแรกผมก็สงสัยว่าทำไมเพลงประกอบถึงต้องทำให้อลังการงานสร้างเพียงนี้? มาครุ่นคิดให้ดีๆก็พบว่าเรื่องราวของหนังมีความโคตรๆมหากาพย์เลยนะ นำเสนอวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ถือกำเนิดจนตัวตาย ทั้งลักษณะทางกายภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางจิตใจ อีกทั้งเต็มไปด้วยฉากที่มีความน่า(ขยะแขยง)ตื่นตาตื่นใจ ดนตรีที่ยิ่งใหญ่จะช่วยเสริมพลังในการรับชม สร้างความเกรี้ยวกราด ทำลายล้าง และหมดสิ้นหวังในบัดดล

มีสองบทเพลงเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายลิงบาบูน ต่างมอบสัมผัสแห่งความมหัศจรรย์ การทดลองสำหรับเติมเต็มความเพ้อฝัน ขบไขปริศนาของจักรวาล

  • Baboon Teleportation จะลงท้ายด้วยเสียงไวโอลิน เพื่อสื่อถึงการยังไม่อาจเอื้อม ขบครุ่นคิด ความสำเร็จยังอยู่ห่างไกลอออกไป … เพราะครั้งนี้ยังเคลื่อนย้ายลิงบาบูนไม่สำเร็จ
  • Success with Baboon อีกบทเพลงที่มีท่วงทำนองเริ่มต้นคล้ายๆกัน แต่ลงท้ายด้วยเสียงเครื่องเป่า คลอประกอบเบาๆ เพื่อสื่อถึงความสำเร็จที่อาจเอื้อม … เพราะสามารถขนย้ายลิงบาบูนได้สำเร็จลุล่วง

Seth Goes Through ดังขึ้นระหว่างที่ Seth Brundle ตัดสินใจใช้ตนเองเป็นหนูทดลอง ก้าวเข้าไปในเครื่องขนย้ายมวลสาร ช่วงแรกๆของบทเพลงเต็มไปด้วยสัมผัสทะมึน สร้างความหลอกหลอน เพียงเพราะเจ้าแมลงวันทำให้การทดลองครั้งนี้กำลังจะมีสิ่งผิดปกติบังเกิดขึ้น … แม้การ Teleport จะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ผู้ชมกลับรู้สึกอึดอัด กระวนกระวาย เหมือนบางสิ่งอย่างตะเกียกตะกายอยู่ภายในร่างกาย เจ้าแมลงวันตัวนั้นมันหายหัวไปไหน?

เริ่มต้นด้วยเสียงเครื่องเป่าให้มีเสียงแหลมตัดกัน เพื่อสร้างสัมผัสของสิ่งชั่วร้าย ดูอันตราย ไม่ใช่มนุษย์มนา หรือก็คือ The Creature สัตว์ประหลาดที่ผสมผสานระหว่างมนุษย์กับแมลงวัน มันช่างอัปลักษณ์ น่าขยะแขยง สร้างความหวาดกลัวเกรง สั่นสะท้านทรวงใน

ไฮไลท์ของเพลงประกอบต้องยกให้ The Finale ดังขึ้นระหว่างการปรากฎตัวมนุษย์แมลงวันร่างสุดท้าย ค่อยๆก้าวออกมาจากเครื่องขนย้ายมวลสาร ด้วยสภาพผสมผสาน มนุษย์+แมลงวัน+เหล็กกล้า ก็ไม่รู้จะเรียกสิ่งมีชีวิตนี้ว่าอะไร แต่ดูจากสายตาเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน พยายามเรียกร้องขอให้ Ronnie เข่นฆาตกรรมตนเอง ทุกสิ่งอย่างจักได้หมดทุกข์หมดโศก จบสิ้นลงเสียที

นอกจากบทเพลง Soundtrack ของ Howard Shore โปรดิวเซอร์ว่าจ้าง Bryan Ferry ให้แต่ง/ขับร้องเพลง Help Me สำหรับประกอบตัวอย่างหนัง (Trailer) และมีการทำ Music Video ซึ่งผกก. Cronenberg ก็ชื่นชอบบทเพลงนี้ เคยตั้งใจจะใช้เป็น Closing Credit แต่สุดท้ายตัดออกเพราะรู้สึกว่าไม่เข้ากัน … แต่เราจะได้ยินเพลงนี้เบาๆดังขึ้นในบาร์ (ที่ Brundle ไปงัดข้อง้อสาว)

เกร็ด: “Help Me” คือคำติดปาก (Quote) โด่งดังมากๆจากต้นฉบับภาพยนตร์ The Fly (1958) ซึ่งหนังฉบับนี้ก็มีการเคารพคารวะด้วยคำพูดดังกล่าวเหมือนกัน แต่จะไม่ตราตรึงเท่าอีกประโยค “Be afraid. Be very afraid”. ซึ่งปรากฎอยู่บนใบปิด

The Flu (1986) มองผิวเผินคือภาพยนตร์ไซไฟ การทดลองของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ครุ่นคิดประดิษฐ์เครื่องขนย้ายมวลสาร นำเสนอพัฒนาการเริ่มต้นจากขนส่งเพียงวัตถุสิ่งของ ต่อด้วยสิ่งมีชีวิต และที่สุดสามารถเคลื่อนย้ายร่างกายมนุษย์ แต่เขากลับพลั้งเพลอ ปล่อยปละละเลย ทำผิดพลาดโดยไม่รู้ตัว จนบังเกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรม ผสมผสานกับแมลงวัน กลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ น่ารังเกียจขยะแขยง นอนไม่หลับละคืนนี้

แมลงวัน คือสัตว์พาหนะที่สามารถแพร่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ล้มป่วย ชำรุดทรุดโทรม อวัยวะทำงานล้มเหลว เลวร้ายอาจถึงขั้นสูญเสียชีวิต … นี่คือนัยยะโดยทั่วไปของการผสมผสาน ‘fusion’ ระหว่างมนุษย์+แมลงวัน อันทำให้ตัวละครค่อยๆเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ จนท้ายสุดก็มิอาจสามารถอดรนทนรับสภาพตนเองได้อีกต่อไป

เท่าที่ผมค้นหาข้อมูลต้นฉบับเรื่องสั้น The Fly (1957) ของผู้แต่ง George Langelaan มีการแสดงความคิดเห็นว่า แมลงวันคือสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย (A fly is a devilish insect.) เมื่อเกิดการผสมผสานเข้ากับร่างกายมนุษย์ ทำให้เกิดความหมกมุ่นครุ่นคิด กระทำสิ่งขัดต่อศีลธรรมจรรยา ปล้น-ฆ่า ก่ออาชญากรรม ไม่รู้สำนึกผิดชอบชั่วดีอีกต่อไป

In general, flies represent involuntary fantasies and thoughts that annoy one and buzz around in one’s head and that one cannot chase away. Here, this scientist gets caught and victimized by an idea that involves murder and madness.

Marie-Louise von Franz นักจิตวิทยาชาว Swiss

สำหรับผู้กำกับ Cronenberg มองนัยยะมนุษย์แมลงวัน คือตัวแทนโรคภัยไข้เจ็บ (disease) อาการป่วยรุนแรงจำพวกมะเร็ง รวมถึงความแก่ชรา (aging process) ที่สามารถพบเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ แต่ผู้ชมยุคสมัยนั้นต่างเห็นพ้องต้องกันถึงโรค AIDS (ทศวรรษ 80s คือช่วงเวลาที่โรคนี้กำลังแพร่ระบาด เพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง)

If you, or your lover, has AIDS, you watch that film and of course you’ll see AIDS in it, but you don’t have to have that experience to respond emotionally to the movie and I think that’s really its power. This is not to say that AIDS didn’t have an incredible impact on everyone and, of course, after a certain point, people were seeing AIDS stories everywhere, so I don’t take any offense that people see that in my movie. For me though, there was something about The Fly story that was much more universal: aging and death—something all of us have to deal with.

David Cronenberg

แต่ถ้าเรามองหนังลึกลงไปกว่านั้นอีก เหตุการณ์ต่างๆล้วนมีที่มาที่ไป ทำให้ตัวละครเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพร่างกาย-จิตใจ ซึ่งสามารถเหมารวมถึงวิวัฒนาการเติบโตของชีวิต เรียนรู้จัก-สูญเสียความรัก ในเชิงรูปธรรมและนามธรรม

  • Brundle หลังจากถูกเปิดบริสุทธิ์/มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกกับ Ronnie สามารถครุ่นคิดเขียนโปรแกรมให้เครื่องขนย้ายมวลสาร สามารถขนส่งสิ่งมีชีวิตได้สำเร็จ
    • สื่อถึงการตื่นรู้ทางเพศ ‘sexual awakening’ จากเคยมีพฤติกรรมแบบเด็กๆทำให้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ เริ่มเข้าใจความหมายของชีวิต
  • เกิดความอิจฉาริษยาเมื่อ Ronnie หวนกลับไปเคลียร์ปัญหาอดีตสามี Brundle เลยตัดสินใจเข้าเครื่องขนย้ายมวลสาร ผสมผสานเข้ากับแมลงวัน
    • ความอิจฉาริษยา คือจุดเริ่มต้นหายนะที่ทำให้ชีวิตของ Brundle ค่อยๆตกต่ำ
  • ขุ่นเคือง Ronnie ที่ไม่ยินยอมเข้าเครื่องขนย้ายมวลสาร จึงพยายามพูดขับไล่ แสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ จนกระทั่งเมื่อเธอจากไปถึงค่อยตระหนักรับรู้ความผิดปกติของตนเอง
    • ช่วงเวลาการปฏิเสธต่อต้าน (Denial) และแสดงอาการโกรธเกรี้ยวกราด (Anger)
  • หลังจากปลีกวิเวกไม่พบเจอใครมาสักพัก ก็โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจาก Ronnie
    • ตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า (Depression) จากนั้นพยายามต่อรองร้องขอ (Bargaining) แต่เธอก็ไม่สามารถยินยอมรับสภาพของเขาได้อีกต่อไป
  • Brundle ลักพาตัว Ronnie เพื่อนำมาผสมผสานให้กลายเป็น ‘The Ultimate Family’
    • ไม่ยินยอมรับความจริง (Un-Acceptance) จนแสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมา
  • เมื่อตกอยู่ในสภาพมนุษย์-แมลงวัน-เหล็กกล้า แม้ไม่สามารถพูดคุยสนทนา แต่ก็แสดงออกภาษากาย ยินยอมรับความตาย
    • Brundle สามารถยินยอมรับความจริง (Acceptance) ว่านี่คือจุดสิ้นสุดวงจรชีวิต/ความรัก

แง่มุมดังกล่าว เราสามารถเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวของหนังและชีวิตจริงผกก. Cronenberg ตั้งแต่การตกหลุมรัก เสียความบริสุทธิ์ครั้งแรก (ทำให้เข้าใจความหมายของชีวิต) แต่หลังจากถูกภรรยาทรยศหักหลัง เลิกราหย่าร้าง ทำให้เขามีสภาพไม่แตกต่างจากมนุษย์แมลงวัน พานผ่านช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศก (5 Stages of Grief) ทั้งร่างกาย-จิตใจ มีสภาพตกตาย(ทั้งเป็น)ถึงได้เริ่มต้นชีวิตใหม่

ผมเห็นนักวิจารณ์กล่าวถึงนิยามของ ‘flyness’ สภาวะการตื่นรู้ (wide-awake) ซึ่งสามารถสื่อถึง Seth Brundle หลังการผสมผสานเข้ากับแมลงวัน ทำให้เขาราวกับได้เปิดมุมมอง โลกทัศน์ใหม่ มีความเข้าใจอะไรๆปรับเปลี่ยนแปลงไป หรือก็คือผู้กำกับ Cronenberg ได้รับบทเรียนเกี่ยวกับความรัก การใช้ชีวิตคู่ พบเห็นสันดานธาตุแท้ของมนุษย์(อดีตภรรยา) ขยาดหวาดกลัวการแต่งงานเลยกระมัง

human closeness, romantic attachment, sexual intimacy, are all seen as leading inexorably to visceral horror—a combination of sexual alienation, fear of the sexual other (which is both woman and the feelings woman arouses in the male self), sexual guilt resulting from these feelings, fear of loss of control and loss of self, terror of the spirit’s subjugation to and foundation in the body, and its inevitable dissolution in bodily decay, disease, and death. This is the state of ‘flyness.’

Prof. William Beard ผู้เขียนหนังสือ The Artist as Monster: The Cinema of David Cronenberg

ร่างสุดท้ายที่ทำการผสมผสานระหว่างมนุษย์-แมลงวัน-เหล็กกล้า รูปธรรม-นามธรรม สสารทุกสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน ผมรู้สึกว่าแนวคิดเดียวกับตอนจบ(ที่ไม่ได้ถ่ายทำ)ของ Videodrome (1983) เพื่อสื่อถึงชีวิตจริง-จินตนาการเพ้อฝัน หรือเรื่องราวในภาพยนตร์ สำหรับผกก. Cronenberg ล้วนคือสิ่งหนึ่งเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุด อุดมคติของศิลปะขั้นสูง “ฉันคือภาพยนตร์/ภาพยนตร์คือฉัน”


ด้วยทุนสร้าง $9-15 ล้านเหรียญ น่าจะด้วยกระแสปากต่อปากถึงความอัปลักษณ์ น่ารังเกียจขยะแขยง เลยสามารถติดอันดับหนึ่ง Boxoffice สหรัฐอเมริกานานถึง 2 สัปดาห์ ทำรายรับ $40.4 ล้านเหรียญ (สูงสุดในบรรดาผลงานของผกก. Cronenberg) รวมทั่งโลก $60.6 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จอย่างไม่มีใครคาดคิดถึง

ช่วงปลายปีหนังได้เข้าชิงและคว้ารางวัล Oscar: Best Makeup อย่างเอกฉันท์! ก็แน่ละ โปรโมทกันตั้งแต่เครดิตตอนท้ายปรากฎขึ้นชื่อแรกแรกสุด เพื่อแสดงถึงความสำคัญ เน้นย้ำต่อผู้ชมว่าสัตว์ประหลาดพบเห็น คือผลงานของช่างแต่งหน้า (Special Make-Up Artist) Chris Walas … แต่หนังถูก SNUB สาขาอื่นโดยสิ้นเชิงนะครับ

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้สตูดิโอ Fox เข็นภาคต่อ The Fly II (1989) กำกับโดย Chris Walas (โดยที่ผกก. Cronenberg ไม่มีส่วนร่วมใดๆ) เสียงตอบรับแม้ย่อยยับ แต่เหมือนจะไม่ขาดทุนสักเท่าไหร่ ทำให้ยังมีความพยายามสร้างภาคสาม (แต่ไม่สำเร็จ) แม้แต่ผกก. Cronenberg เคยแอบซุ่มพัฒนาฉบับสร้างใหม่ (Remake) เมื่อปี 2009 ติดเรื่องทุนสร้างสูงเกินไป (ช่วงทศวรรษ 90s หนังงบประมาณ $10 ล้านเหรียญ เทียบกับปัจจุบันนี้ ค.ศ. 2022 น่าจะเพิ่มถึง $40-50 ล้านแล้วนะครับ)

ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆของผกก. Cronenberg ทะยอยได้รับการบูรณะมาแล้วหลายเรื่อง The Fly (1986) กลับไม่เคยมีวี่แววข่าวคราวเลยสักนิด! แถมตอนนี้สตูดิโอ Fox ก็ตกเป็นของ Walt Disney โอกาสน่าจะค่อนข้างยาก แต่ผมยังเชื่อว่าต้องมีสักวัน ต้องมีสักวัน

การหวนกลับมารับชม The Fly (1986) ทำเอาผมรู้สึกผิดคาดหมายอย่างมากๆ จากเคยมีภาพจำแหยะๆ น่ารังเกียจขยะแขยง สัตว์ประหลาดตนนี้มีนัยยะเชิงสัญลักษณ์อะไร หนังยังแทรกใส่ความเป็นส่วนตัว และ ‘sexual awakening’ ของผกก. Cronenberg ลุ่มลึกล้ำ เหนือจินตนาการ และเหนือกาลเวลา

หนังอาจไม่เหมาะกับคนโลกสวย หรือแม้แต่คนคลั่งไคล้แนว ‘body horror’ แนะนำให้รับชมตอนท้องว่างๆ หรือเตรียมถุงพลาสติกเผื่อไว้ ทนไม่ไหวก็เบื่อหน้าหนี หายใจเข้าลึกๆแล้วผ่อนออกช้าๆ มันจะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้วิงเวียนได้ระดับหนึ่ง

แนะนำสำหรับคนทำงานสายออกแบบ โมเดลสัตว์ประหลาด กลไกเคลื่อนไหว รวมถึงช่างแต่งหน้า Special Effect (Make-Up Artist) ผู้ชื่นชอบศิลปะแนว grotesque และจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ศึกษาทฤษฎีการปรับตัวเข้ากับความเศร้าโศก (5 Stages of Grief)

จัดเรต 18+ กับความน่ารังเกียจ ขยะแขยง คลื่นไส้

คำโปรย | The Fly คือผลงานน่าขยะแยงที่สุดของ David Cronenberg
คุณภาพ | ค์ (grotesque)
ส่วนตัว | ขยะแขยง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: