The French Connection

The French Connection (1971) hollywood : William Friedkin ♥♥♥♥

สัญชาติญาณล้วนๆของคู่หูนักสืบ Gene Hackman และ Roy Scheider ทำให้การไล่ล่าเครือข่ายลักลอบขนส่งเฮโรอีนข้ามชาติ (French Connection) มีความรุนแรง ดิบเถื่อน ฉากไล่ล่าสุดมันส์ คว้ารางวัล Oscar จำนวน 5 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

เกร็ด: French Connection คือคำเรียกเครือข่ายลักลอบขนส่งเฮโลอีนข้ามชาติ เริ่มต้นโดยเจ้าพ่อมาเฟียชาวฝรั่งเศส Paul Carbone ก่อตั้งองค์กร Corsican Gang ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 30s (จนถึงต้นทศวรรษ 70s) เพื่อนำเฮโลอีนผลิตจากอินโดจีน (แถวๆประเทศไทยนี่แหละ) ขนส่งผ่านตุรกี, ฝรั่งเศส ปลายทางคือแคนาดา และสหรัฐอเมริกา

หลังการล่มสลายของ Hays Code เมื่อปี ค.ศ. 1967 เปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยจัดเรตติ้ง มีภาพยนตร์มากมายที่พยายามท้าทายกฎกรอบทางศีลธรรม อาทิ Bonnie and Clyde (1967), Midnight Cowboy (1969), Easy Rider (1969) ฯลฯ หนึ่งในนั้นก็คือ The French Connection (1971) เป็นภาพยนตร์ที่มีความรุนแรง ดิบเถื่อน นำเสนอการทำงานคู่หูตำรวจ ที่ไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น เพียงเพื่อจับกุมอาชญากร ยินยอมพร้อมแลกมาด้วยทุกสิ่งอย่าง

เมื่อสมัยวัยรุ่น ผมรับรู้จักมือปราบเพชรตัดเพชร, The French Connection (1971) จากคนแนะนำว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีฉากไล่ล่าน่าตื่นเต้นเร้าใจ ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก! แต่พอมีโอกาสรับชมก็มึนๆตึงๆ ดูไม่ค่อยรู้เรื่องก็อย่างหนึ่ง เสียงเล่าอ้างดังกล่าวเหมือนไม่ค่อยมีมูลสักเท่าไหร่ (เมื่อเทียบกับหนังสมัยใหม่)

การรับชมครานี้ พบเห็นลูกเล่นลีลาของผกก. William Friedkin ทำให้ผมพอเข้าใจเหตุผลคำสรรเสริญเยินยอของ The French Connection (1971) เพราะวิธีการนำเสนอ(รับอิทธิพลจาก The Battle of Algiers (1966) และ Z (1969))พยายามทำออกมาให้มีความสมจริง ตรงไปตรงมา นั่นทำให้ฉากไล่ล่าทั้งหลาย ดูรุนแรงกว่าปกติหลายเท่าตัว … ภาพยนตร์สมัยใหม่ที่แพรวพราวความฉวัดเฉวียน กล้องสั่นๆ ตัดต่อสลับไปมาอย่างรวดเร็ว กลายเป็นนกกระจอกไม่ทันกินน้ำโดยทันที!


ต้นฉบับของ The French Connection (1969) คือหนังสือ Non-Ficition แนวอาชญากรรม (True Crime) เขียนโดย Robin Moore (1925-2008) เรียบเรียงจากเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นที่ New York City เมื่อปี ค.ศ. 1961 คู่หูนักสืบ Eddie Egan และ Sonny Grosso ร่วมกันเปิดโปงเครือข่ายลักลอบขนส่งเฮโรอีนข้ามชาติ (French Connection) เริ่มต้นจากสังเกตการณ์อาชญากร Pasquale ‘Patsy’ Fuca ที่ไนท์คลับแห่งหนึ่ง แล้วค้นพบความเชื่อมโยงผู้ค้ารายใหญ่ชาวฝรั่งเศส Jean Jehan และนักแสดงโทรทัศน์ Jacques Angelvin ซุกซ่อนเฮโรอีนในรถยนต์ Citroën DS ลักลอบนำเข้าประเทศผ่านเรือโดยสาร SS France จำนวน 246 ปอนด์ = 111.6 กิโลกรัม (ถือเป็นสถิติการจับกุมสูงสุดขณะนั้น!)

เกร็ด: ชื่อเต็มของหนังสือเล่มนี้คือ The French Connection: The World’s Most Crucial Narcotics Investigation ในบางฉบับตีพิมพ์ยังใช้ชื่อ The French Connection: A True Account of Cops, Narcotics, and International Conspiracy

ในตอนแรกลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ The French Connection ตกเป็นของโปรดิวเซอร์ Philip D’Antoni จาก National General Pictures ว่าจ้างนักเขียน Robert E. Thompson และเลือกตัวผู้กำกับ William Friedkin แต่บทของ Thompson ทำออกมาไม่ค่อยถูกใจสักเท่าไหร่ เลยส่งไม้ต่อให้อีกนักเขียน Ernest Tidyman ได้รับค่าจ้าง $5,000 เหรียญ

William David Friedkin (เกิดปี 1935) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Chicago, Illinois ในครอบครัวชาว Jewish อพยพมาจาก Ukrane, วัยเด็กชื่นชอบเล่นกีฬา Basketball แต่หลังจากได้รับชม Citizen Kane (1941) จึงมุ่งมั่นอยากเป็นผู้กำกับ, หลังเรียนจบมัธยมทำงานในห้องจดหมาย (Mail Room) ณ WGN-TV ไม่นานก็ได้รับโอกาสทำรายการโทรทัศน์ เคยกำกับตอนสุดท้าย Off Season ของซีรีย์ The Alfred Hitchcock Hour (1962-1965), สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก Good Times (1967) แม้ได้รับเสียงวิจารณ์ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน Friedkin กลับบอกว่านั่นคือช่วงเวลามีความสุขที่สุดในชีวิต, ผลงานเด่นๆ อาทิ The French Connection (1971), The Exorcist (1973), Sorcerer (1977), To Live and Die in L.A. (1985) ฯ

D’Antoni ประเมินงบประมาณของหนังไว้ที่ $4.5 ล้านเหรียญ แต่ถูกตีกลับจากผู้บริหาร National General Pictures เลยจำใจต้องขายต่อให้ Richard Zanuck, Jr. และ David Brown แห่งสตูดิโอ Twentieth Century-Fox บอกกับ Friedkin ถ้าสามารถทำหนังในราคาต่ำกว่า $2 ล้านเหรียญ ก็จะยินยอมอนุมัติทุนสร้าง

แม้งบประมาณจะลดลงมากว่าครึ่ง แต่ผกก. Friedkin ก็ไม่ปฏิเสธโอกาสดังกล่าว ค้นพบแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Z (1969) ของ Costa-Gavras ทุกช็อตฉากใช้สถานที่จริงทั้งหมด ถ่ายทำในลักษณะคล้ายสารคดี (documentary-like) มอบสัมผัสดิบเถื่อน และดูสมจริงอย่างมากๆ

After I saw Z, I realized how I could shoot The French Connection. Because he (Costa-Gavras) shot Z like a documentary. It was a fiction film but it was made like it was actually happening. Like the camera didn’t know what was gonna happen next. And that is an induced technique. It looks like he happened upon the scene and captured what was going on as you do in a documentary. My first films were documentaries too. So I understood what he was doing but I never thought you could do that in a feature at that time until I saw Z.

William Friedkin

ด้วยความที่ Friedkin สนใจกำกับหนังในสไตล์สารคดี บทพูดทั้งหมดจึงอนุญาตให้นักแสดงทำการดั้นสด (Improvised) จนไม่มีข้อความสนทนาใดๆหลงเหลือจากบทของ Tidyman เพียงแผนงาน โครงสร้าง และรายละเอียดฉากไล่ล่า แอ๊คชั่นทั้งหลาย มีการวาดภาพ Storyboard เตรียมงานละเอียดถี่ยิบ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดใดๆระหว่างถ่ายทำ

แซว: ผกก. Friedkin ขณะนั้นออกเดทอยู่กับ Kitty Hawks บุตรสาวของผู้กำกับดัง Howard Hawks มีโอกาสเลยสอบถามความคิดเห็นต่อบทหนัง ได้รับคำตอบ ‘lousy’ แต่ยังให้คำแนะนำว่า “Make a good chase. Make one better than anyone’s done.”


เรื่องราวเริ่มต้นที่ Marseille, เจ้าพ่อมาเฟีย Alain Charnier (รับบทโดย Fernando Rey) กำลังตระเตรียมการลักลอบขนเฮโรอีนเข้าสู่สหรัฐอเมริกา โดยซุกซ่อนไว้ในรถหรูของนักแสดง Henri Devereaux (รับบทโดย Frédéric de Pasquale) เดินทางขึ้นเรือมาถึงยัง New York City

คู่หูนักสืบ Jimmy ‘Popeye’ Doyle (รับบทโดย Gene Hackman) และ Buddy ‘Cloudy’ Russo (รับบทโดย Roy Scheider) ระหว่างนั่งดื่มยังไนท์คลับแห่งหนึ่ง ชักชวนกันเล่นๆแอบติดตามพ่อค้ายา Salvatore ‘Sal’ Boca (รับบทโดย Tony Lo Bianco) พบเห็นพฤติกรรมลับๆล่อๆ นัดพบเจอ Alain Charnier และ Henri Devereaux จนเกิดความเอะใจว่าอาจกำลังมีเหตุการณ์ค้าขายยาเสพติดครั้งใหญ่


Eugene Allen Hackman (เกิดปี 1930) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Bernardino, California ครอบครัวหย่าร้างเมื่ออายุ 13 ปี สามปีให้หลังจึงหนีออกจากบ้าน โกงอายุสมัครเข้าทหารเรือ ทำงานหน่วยสื่อสาร ประจำการอยู่ประเทศจีนในช่วง Communist Revolution ต่อด้วย Hawaii และญี่ปุ่น จนปลดประจำการเมื่อปี ค.ศ. 1951 แล้วลงหลักปักฐาน New York ดิ้นรนหางานทำไปเรื่อยๆ จนเกิดความสนใจด้านการแสดง กลายเป็นเพื่อนร่วมห้อง Dustin Hoffman และ Robert Duvall รับบทเล็กๆในซีรีย์โทรทัศน์ แสดงละครเวที Off-Broadway โด่งดังทันทีจากบทสมทบ Bonnie and Clyde (1967)**เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor, ผลงานเด่นๆ อาทิ The French Connection (1971)**คว้ารางวัล Oscar: Best Actor, The Poseidon Adventure (1972); The Conversation (1974), Superman: The Movie (1978), Mississippi Burning (1988), Unforgiven (1992)**คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor, The Royal Tenenbaums (2001) ฯ

รับบท Jimmy ‘Popeye’ Doyle เป็นนักสืบที่มีความดิบเถื่อน เจ้าอารมณ์ ชอบใช้สันชาติญาณแก้ปัญหา อีกทั้งยังขี้เมา เจ้าชู้ ชอบพูดจาดูถูกเหยียดหยาม (Racist) แม้อุปนิสัยเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง เย่อยิ่งจองหอง แต่ยึดถือมั่นในหลักยุติธรรมอย่างแรงกล้า ร่วมงานคู่หู Cloudy พร้อมเผชิญหน้า เสี่ยงอันตราย ท้าความตาย ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไล่ล่าจับกุมอาชญากรข้ามชาติ

เกร็ด: ตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจจากนักสืบ Eddie Egan ที่ก็ได้รับฉายา ‘Popeye’ เพราะความบ้าพลัง ชอบทำสิ่งรุนแรงคลุ้มคลั่ง

นักแสดงที่เป็นตัวเลือกของผกก. Friedkin อาทิ Paul Newman (ค่าตัวไกลเกินเอื้อม), Jackie Gleason, Peter Boyle, Jimmy Breslin, Steve McQueen (บอกปัดเพราะเพิ่งแสดงหนังตำรวจ Bullitt (1968)), Charles Bronson, Lee Marvin, James Caan, Robert Mitchum, Rod Tayler ฯ ในตอนแรกก็ไม่อยากตอบรับ Gene Hackman แต่ถูกสตูดิโอบีบบังคับเลยต้องยอมตกลง

Hackman และ Scheider ได้มีโอกาสติดตามคู่หูนักสืบ Eddie Egan และ Sonny Grosso นานเกือบเดือน! พบเห็นวิธีการที่พวกเขาตรวจค้น ควบคุมผู้ต้องหา จับกุมพ่อค้ายา เต็มไปด้วยความรุนแรง ถ้อยคำหยาบคาย จนเกิดอาการสะอิดสะเอียน แต่จำต้องอดทนเพื่อนำมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละคร

การแสดงของ Hackman เต็มไปด้วยพลัง ความรุนแรง ไม่รู้เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราดมาจากไหน แทบไม่เคยพบเห็นรอยยิ้ม หน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่ตลอดเวลา พร้อมกระทำสิ่งบ้าๆบอๆ แสดงออกไม่ต่างจากตัวร้าย (Villain) แต่ด้วยข้ออ้างยึดถือมั่นในหลักยุติธรรม ทำให้กลับกลายเป็นวีรบุรุษ (Hero) ได้รับการยกย่องสรรเสริญ

ตัวของ Hackman ไม่ใช่คนคลั่งความรุนแรง แถมผกก. Friedkin ยังให้อิสระกับนักแสดงในการดั้นสด (Improvised) เลยมีปัญหาบ่อยครั้งกับการพูดคำดูถูกเหยียดหยาม (Racisim) แต่พวกเขาก็รับรู้ว่าสิ่งที่นักสืบ Eddie Egan พูดออกมานั้นเป็นการแสดงเสียมากกว่า เพื่อให้พวกพ่อค้ายายินยอมปฏิบัติตามคำสั่งแต่โดยดี

[Eddie Egan is] a great cop, and a lot of this was an act. A lot of what Egan did was bravado in order to seize control and make sure that all of these suspects, most of them dealers and often users of heavy drugs, would do what he told them to do.

William Friedkin กล่าวถึงพฤติกรรมรุนแรง การพูดคำดูถูกเหยียดหยามของนักสืบ Eddie Egan

หลายคนอาจมองว่านี่คือบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Hackman แต่ผมกลับไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่ ตัวละครไม่ได้มีมิติซับซ้อน หรือนำเสนอมุมมองอื่นให้เห็นมากนัก เวลาส่วนใหญ่ก็ไล่ล่า ติดตามผู้ร้าย แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด กระทำสิ่งคลุ้มบ้าคลั่ง … แต่เหตุผลที่คว้ารางวัล Oscar: Best Actor และได้รับการจดจำเหนือกาลเวลา ผมมองว่าเกิดจากอิทธิพลยุคสมัยนั้น ยังอยู่ในช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่าน Hays Code ภาพยนตร์/การแสดงท้าทายขีดจำกัด ขนบกฎกรอบทางสังคม ‘Anti-Hero’ จึงได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าแปลกใหม่ ไม่เคยพบเห็นตำรวจที่ควรเป็นแบบอย่างคนดีมีศีลธรรม กระทำสิ่งสุดโต่งต่ำทรามขนาดนี้!

เกร็ด: ตัวละคร Jimmy ‘Popeye’ Doyle ของ Gene Hackman ได้รับการโหวตติดอันดับ 44 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Heroes and Villains ฟากฝั่ง (American) Hero


Roy Richard Scheider (1932-2008) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Orange, New Jersey ตั้งเแต่เด็กชื่นชอบการเล่นกีฬา เบสบอล ชกมวย เคยขึ้นชกเวทีสมัครเล่น 12 ไฟต์ ชนะ 11 แพ้ 1, พอเรียนจบมัธยมเข้าศึกษาด้านการแสดง Rutgers Universiy และ Franklin and Marshall College, จากนั้นอาสาสมัครทหารอากาศ, พอปลดประจำการก็เข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มมีชื่อเสียงจาก Klute (1971), The French Connection (1971), The Seven-Ups (1973), Jaws (1975), Marathon Man (1976), Sorcerer (1977), All That Jazz (1979), Naked Lunch (1991) ฯลฯ

รับบท Buddy ‘Cloudy’ Russo คู่หูนักสืบ Popeye ร่วมงานกันมาหลายสิบปีจนมองตารู้ใจ แต่อุปนิสัยกลับแตกต่างตรงข้าม เป็นคนใจเย็น พูดจาสุภาพ ชอบใช้เหตุผลแก้ปัญหา หลายครั้งจึงสามารถหยุดยับยั้งเพื่อนสนิท ไม่ปล่อยให้อีกฝ่ายใช้อารมณ์รุนแรงเกินไป

เกร็ด: ตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจจากนักสืบ Sonny Grosso เจ้าของฉายา ‘Cloudy’ เพราะชอบทำหน้านิ่วคิ้วขมวด ครุ่นคิดมาก เอาจริงเอาจังกับชีวิตเกินไป

สำหรับบทบาทนี้เห็นว่าใช้การ Audition หนึ่งในนั้นคือ Roy Scheider ที่ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก แต่เมื่อมาทดสอบหน้ากล้องเกิดความไม่พึงพอใจอะไรบางอย่าง แสดงอารมณ์หงุดหงิด ส่งเสียงดัง ก้าวเดินออกจากห้องออดิชั่น … นั่นกลับเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาได้รับบทบาทนี้

แม้คำอธิบายบทบาทนี้จะเขียนว่า Cloudy คือคู่หูที่คอยเติมเต็ม แสดงความคิดเห็น ด้านสติปัญญา (SuperEgo) ของ Popeye แต่ในหนังผมกลับไม่รู้สึกเช่นนั้นสักเท่าไหร่ Scheider ถูกรัศมีของ Hackman กลบเกลือบจนแทบไร้ตัวตน ก็แอบงงๆว่าเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor ได้อย่างไร

ผมรู้สึกว่า Scheider ไม่ถนัดเรื่องการดั้นสด (Improvised) จึงไม่สามารถต่อล้อต่อเถียง โต้ตอบ Hackman ด้วยบทพูดที่แสดงถึงความเฉลียวฉลาด (ผิดกับตอนแสดง Jaws (1975) ที่บทพูดคมๆทำให้ตัวละครมี ‘charisma’ โดดเด่นเพิ่มขึ้นเยอะมากๆ) มันเลยรู้สึกว่า Popeye มีความโดดเด่น น่าจดจำ เป็นผู้นำ ไม่ใช่คู่หูที่สามารถเติมเต็มกันและกัน


Fernando Rey ชื่อจริง Fernando Casado Arambillet (1917-94) นักแสดงสัญชาติ Spanish เกิดที่ A Coruña, Galicia โตขี้นร่ำเรียนสถาปนิก แต่การมาถีงของ Spanish Civil War (1936-39) ทำให้ต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดด้วยการเป็นนักแสดง เริ่มจากตัวประกอบ สมทบภาพยนตร์ เริ่มมีชื่อเสียงจาก Locura de amor (1948), โด่งดังระดับนานาชาติกับ The Last Days of Pompeii (1959), The Savage Guns (1961), จากนั้นมีร่วมงาน Orson Welles และ Luis Buñuel อาทิ Viridiana (1961), Chimes at Midnight (1966), Tristana (1970), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972), That Obscure Object of Desire, 1977) ฯ

รับบท Alain ‘Frog One’ Charnier พ่อค้าเฮโรอีนชาวฝรั่งเศส เป็นคนรอบคอบ เฉลียวฉลาด รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง ครุ่นคิดแผนการลักลอบขนส่งเฮโรอีนเข้าสู่สหรัฐอเมริกา แต่โชคไม่ดีถูกติดตามตื้อโดยคู่หูนักสืบ Popeye & Cloudy แม้ถูกห้อมล้อมกลับสามารถหลบหนีเอาตัวรอด

ผกก. Friedkin มีความสนใจนักแสดงคนหนึ่งจาก Belle de Jour (1967) รับรู้เพียงว่าเป็นชาว Spanish แต่ไม่รู้จักชื่อของอีกฝ่าย ทีมคัดเลือกนักแสดงเข้าใจผิดครุ่นคิดว่า Fernando Rey (ที่เป็นนักแสดงขาประจำผกก. Luis Buñuel) พอเดินทางมาถึงสนามบินถึงค้นพบว่าไม่ใช่! แท้จริงแล้วนักแสดงคนนั้นคือ Francisco Rabal, ทีแรกว่าจะล้มเลิกสัญญา Rey แต่พอรับรู้ว่า Rebal พูดอังกฤษไม่ได้ก็เลยช่างแม้ง

แซว: Fernando Rey เป็นชาว Spanish เลยพูดฝรั่งเศสไม่ค่อยชัด (แต่พูดอังกฤษได้คมชัด) สุดท้ายถูกพากย์ทับ

เอาจริงๆผมว่า Rey มีภาพลักษณ์ที่เหมาะสมกับตัวละครนี้กว่า Rabal เพราะความลึกลับ มาดภูมิฐาน ทำให้ดูเฉลียวฉลาด พานผ่านประสบการณ์อย่างโชกโชน คู่ปรับที่สามารถเผชิญหน้า Hackman ได้อย่างไม่กลัวเกรง (ตรงข้ามกันด้วยในด้านการใช้อารมณ์-สติปัญญา)

ผมชื่นชอบความยียวนกวนประสาทของ Rey คือขณะเข้าๆออกๆขบวนรถไฟใต้ดิน ล่อหลอกตัวละครของ Hackman ให้หลงติดกับดัก แล้วตอนโบกมือบ้ายบาย รอยยิ้มกริ่มแห่งชัยชนะ ทำเอาผมอยากให้กำลังใจเชียร์พี่แก เอาตัวรอดจากการถูกไล่ล่าครั้งนี้เลยละ!

ถ่ายภาพโดย Owen Roizman (1936-2023) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City, บิดาทำงานเป็นตากล้องให้กับ Movietone News, วัยเด็กเพ้อฝันอยากเป็นนักกีฬา แต่ล้มป่วยโปลิโอเลยเปลี่ยนมาเป็นตากล้อง เริ่มจากถ่ายทำโฆษณา ภาพยนตร์เรื่องแรก Stop (1970), โด่งดังกับ The French Connection (1971), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Exorcist (1973), Network (1976), Tootsie (1982), Wyatt Earp (1994) ฯ

งานภาพของหนังรับอิทธิพลอย่างมากๆจากภาพยนตร์ Z (1969) ที่แม้เป็นเรื่องแต่ง (fiction story) กลับถ่ายทำออกมาในสไตล์สารคดี (documentary-like) กล้องสั่นๆ แสงธรรมชาติ ถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด ซึ่งการทำงานใช้รูปแบบกองโจร (Guerrilla Unit) เพราะหลายๆสถานที่ไม่ได้รับอนุญาตถ่ายทำ จึงต้องลักลอบ แอบถ่าย ได้รับความช่วยเหลือจากคู่หูตำรวจ Eddie Egan & Sonny Grosso เป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิค (Technical Advisers) รับรู้ทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี

I used about 100 cops on the shoot, and Billy was great, letting me use whomever I wanted as extras. We’d shoot a scene with some cops playing bad guys in the day. Then I’d go back on night duty with the same cops, except we were now busting people for real at the same bar. As Popeye would say, ‘Alright, let’s hit ‘em!’

Sonny Grosso

ผมเห็นรายการสถานที่ถ่ายทำแล้วก็แอบอึ้งทึ่ง ใน Wikipedia ลงไว้ถึง 36 สถานที่! ก็สมกับการถ่ายทำรูปแบบกองโจร (Guerrilla Unit) พาผู้ชมท่องเที่ยว Brooklyn, Queen, East River, Manhattan, New York City, รวมถึง Marseille (ฝรั่งเศส) เก็บบรรยากาศช่วงทศวรรษ 70s ฝังไว้ใน ‘Time Capsule’ … แค่สิ่งนี้ก็ทำให้หนังมีความทรงคุณค่าระดับหนึ่งแล้วนะครับ (อาจจะมากกว่าหนัง ‘city symphony’ บางเรื่องเสียด้วยซ้ำ!)

หนึ่งในสถานที่ที่ถือเป็นไฮไลท์ก็คือตึก World Trade Center ที่กำลังก่อสร้างอยู่เบื้องหลังช็อตนี้ ขณะนั้นยังไม่ทันเสร็จดี (เพิ่งขึ้นแค่ตึกเดียว) แต่ระดับความสูงก็เหนือกว่าตึกอื่นใดรอบๆข้าง … ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถ่ายติดว่าที่ตึกสูงสุดในโลก (ขณะนั้น)

ไฮไลท์ของหนังคือซีเควนซ์ขับรถไล่ล่า เคยได้รับการยกย่องว่าน่าตื่นเต้นเร้าใจที่สุด! แต่ซีเควนซ์ดังกล่าวไม่ใช่รถไล่รถ (Car Chase) แต่คือนักสืบ Popeye ปล้นรถเก๋งประชาชน (1971 Pontiac LeMans) แล้วขับติดตามขบวนรถไฟ BMT West End Line (Bensonhurst, Brooklyn) พุ่งชนโน่นนี่นั่นโดยไม่สนห่าเหวอะไร

แตกต่างจากภาพยนตร์หลังสหัสวรรษใหม่ ที่นิยมทำให้กล้องสั่นๆ โฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียน และตัดต่อรวดเร็วฉับไวภายในเสี้ยววินาที ความคลาสสิกของภาพยนตร์ยุคก่อนคือการนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ใช้ลูกเล่นลีลา แต่สามารถสร้างความน่าตื่นเต้นเร้าใจ และดูเป็นงานศิลปะ! … The French Connection (1971) ผมยังรู้สึกว่าทำออกมาได้ยอดเยี่ยม คอหนังอาร์ทน่าจะชื่นชอบมากๆ แต่คงไม่ทันใจวัยรุ่นสมัยใหม่แล้วกระมัง

เพื่อเพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจ ตากล้อง Roizman ให้สัมภาษณ์ว่าบันทึกภาพด้วยอัตราเร็ว 18 fps (frame per seconds) เพื่อเวลานำมาฉาย 25 fps จะออกมาเหมือนรถเคลื่อนด้วยความเร็วมากกว่าปกติ! นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งกล้องหน้ารถ ระดับเกือบจะติดพื้นถนน ซึ่งมุมต่ำขนาดนั้นจะเพิ่มความฉวัดเฉวียด วิงเวียน สัมผัสอันตราย เฉียดตาย พุ่งผ่านสี่แยกได้น่าหวาดเสียวชิบหาย!

เนื่องจากบางสถานที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำ เพราะการจราจรค่อนข้างคับคั่ง แต่เพราะมีที่ปรึกษา Eddie Egan & Sonny Grosso ต่างรับรู้จักตำรวจจราจรแถวนั้น จึงใช้เส้นสายช่วยให้การถ่ายทำค่อนข้างราบรื่นตาม Storyboard แต่ก็ความผิดพลาดจากสตั๊นแมน ถูกรถพุ่งชนเข้าอย่างจัง (จริงๆต้องแค่เฉี่ยวๆ แต่ผลลัพท์ออกมาดีเกินคาด และไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ)

ปล. ฉากคุณยายข้ามถนนมีอยู่ใน Storyboard ตระเตรียมการไว้อย่างปลอดภัย ไม่มีใครเป็นอันตราย

ตัดต่อโดย Gerald B. Greenberg (1936-2017) สัญชาติอเมริกัน สมัยเด็กอยากเป็นนักดนตรี ชื่นชอบตัดต่อเพลง บันทึกเสียง (Sound Edited) ไปๆมาๆได้งานเป็นผู้ช่วย Dede Allen ตัดต่อภาพยนตร์ American American (1963), แล้วแจ้งเกิดกับ Bonnie and Clyde (1967), ผลงานเด่นๆ อาทิ The French Connection (1971)**คว้ารางวัล Oscar: Best Edited, Apocalypse Now (1979), Kramer vs. Kramer (1979), Heaven’s Gate (1980), Dressed to Kill (1980), Scarface (1983), The Untouchables (1987), American History X (1998) ฯ

การดำเนินเรื่องและโครงสร้างของหนังใช้แนวคิด ‘การไล่ล่า’ ตัดสลับมุมมองไปมาระหว่างตำรวจ-อาชญากร หรือคู่หูนักสืบ Popeye & Cloudy และกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ The French Connection นำโดย Alain Charnier

  • อารัมบท แนะนำตัวละคร
    • เริ่มจาก Marseille นักสืบฝรั่งเศสถูกฆ่าปิดปาก
    • คู่หูนักสืบ Popeye & Cloudy วิ่งไล่ล่าจับกุมพ่อค้ายา (ในชุดซานต้าครอส)
  • ความอยากรู้อยากเห็นเป็นเหตุ
    • Alain Charnier พูดคุย วางแผนลักลอบขนส่งเฮโรอีนข้ามชาติ
    • Popeye ชักชวน Cloudy ไปดื่มกินยังไนท์คลับแห่งหนึ่ง จากนั้นร่วมกันแอบติดตามพ่อค้ายา Boca
    • ด้วยสันชาติญาณของ Popeye เกิดความเอ๊ะใจอะไรบางอย่าง จึงขออนุญาตผู้กำกับการทำคดีดังกล่าว
  • ช่วงระหว่างมองหาหลักฐาน
    • Henri Devereaux เดินทางมาถึงฝรั่งเศส
    • Popeye & Cloudy ดักฟังการจนสนทนา จนค้นพบความน่าสงสัยบางอย่าง
    • Popeye และคณะเริ่มออกติดตาม Boca, Devereaux และ Alain Charnier
    • Popeye หักเหลี่ยมเฉือนคมกับ Frog One แต่ก็ไม่สามารถติดตามทัน ถึงอย่างนั้นลูกน้องก็พบเห็นปฏิสัมพันธ์กับ Devereaux
  • การเผชิญหน้าระหว่าง Popeye และนักฆ่า Pierre Nicoli
    • Frog Two วางแผนลอบฆ่า Popeye แต่ทำไม่สำเร็จ
    • Frog Two วิ่งหลบหนีขึ้นขบวนรถไฟ ใช้ปืนจี้คนขับรถไม่ให้จอด
    • Popeye ลักขโมยรถของประชาชน ขับติดตามขบวนรถไฟ ชนแหลกโดยไม่สนหัวใจ
    • ก่อนสุดท้าย Popeye เผชิญหน้า Frog Two
  • Citroën DS เจ้าปัญหา
    • Popeye & Cloudy สังเกตความผิดปกติของรถ Citroën DS จึงให้ตำรวจตรวจยึด ก่อนค้นพบว่าซุกซ่อนเฮโรอีนขนาดใหญ่
    • Devereaux ตัดสินใจล้มเลิกการแลกเปลี่ยน ทำให้ Alain Charnier ต้องขับรถไปที่ Wards Island เพื่อพบเจอกับพ่อค้ายาด้วยตนเอง
    • แต่แล้ว Wards Island ถูกห้อมล้อมโดยตำรวจ ไร้หนทางหลบหนี

แม้ลีลาตัดต่อจะไม่ได้มีความโฉบเฉี่ยวฉวัดเวียน (เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ยุค Millennium) แต่ยุคสมัยนั้นถือว่าค่อนข้างจะรวดเร็ว สามารถสร้างความลุ้นระทึก ตื่นเต้นเร้าใจ และดูมีความเป็นศิลปะ ระหว่างการแอบติดตาม-พยายามหลบหนี หักเหลี่ยมเฉือนคมระหว่างตำรวจ-อาชญากร สมควรแก่รางวัล Oscar: Best Film Edited


เพลงประกอบโดย Donald Johnson Ellis (1934-78) นักดนตรีแจ๊ส สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles วัยเด็กหลงใหลคลั่งไคล้ Louis Armstrong และ Dizzy Gillespie โตขึ้นเข้าศึกษาด้านการแต่งเพลง Boston University, เริ่มทำงานวงดนตรี Glenn Miller ตามด้วยกองทัพ Seventh Army Symphony Orchestra หลังปลดประจำการเข้าร่วม The New York Avant-Garde ต่อมาหลงใหล Indian Music ออกอัลบัมกับ Columbia Records และทำเพลงประกอบภาพยนตร์ The French Connection (1971)

ศิลปิน Don Ellis เลื่องชื่อในบทเพลงแนวทดลอง (Experimental) ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยการผสมผสานสไตล์ Jazz, Classical, Electronic เพื่อสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ไม่ได้เน้นสร้างบรรยากาศกลมกลืน แต่พยายามทำออกมาให้มีความโด่ดเด่น เร่งรีบ สัมผัสอันตรายได้โดยทันที ซึ่งหลายๆครั้งจะดังเป็นห้วงๆ ช่วงๆ ก่อนเลือนหายไปกับ Sound Effect

Main Title เริ่มต้นมาก็อาจสร้างความตื่นตระหนก ตกอกตกใจ ทั้งๆมีแค่เครดิตเคลื่อนไปมา กลับเลือกใช้บทเพลงปลุกตื่น สร้างความกระตือรือล้น สัมผัสอันตราย มันต้องกำลังมีอะไรสักอย่างเลวร้ายบังเกิดขึ้น

บทเพลงได้ยินจากไนท์คลับชื่อว่า Everybody Gets to Go to the Moon (1969) แต่งโดย Jimmy Webb เพื่อเฉลิมฉลองการลงจอดดวงจันทร์ของยาน Apollo 11 ต้นฉบับขับร้องโดย Thelma Houston ติดอันดับ 88 ชาร์ท Billboard Hot 100, ฉบับที่ใช้ในหนังขับร้องโดยสามสาว The Three Degrees

Staking Out Sal ใช้เสียงดนตรี Electronic กีตาร์ไฟฟ้า สร้างสัมผัสลึกลับ เต็มไปด้วยความพิศวง ฟังแล้วรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้น ภยันตราย สิ่งเลวร้ายในการแอบติดตามพ่อค้ายา Salvatore ‘Sal’ Boca ทำตัวลับๆล่อๆ ต้องมีอะไรสักอย่างแน่แท้

บทเพลง Hotel Chase ดังขึ้นระหว่าง Popeye แอบติดตาม Frog One ค่อยๆสร้างบรรยากาศลุ้นระทึก น่าตื่นเต้น ขณะเดียวกันก็มีการหักเหลี่ยมเฉือนคม ใครไหนจะสามารถหลบหนี-ติดตาม ไม่ให้อีกฝ่ายรับรู้ตัว(ว่ากำลังถูกล่อหลอก)

นี่ถือเป็นอีกบทเพลงแนวทดลอง (Experimental) ด้วยการผสมเสียงที่ไม่ค่อยคุ้นหู บางครั้งเหมือนบรรเลงผิดๆถูกๆ จงใจเป่าให้เสียงบิดๆเบี้ยวๆ แต่ใช้การค่อยๆเร่งจังหวะ ความเร็ว (Tempo) ไต่ไล่บันไดเสียง เพื่อสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก มันส์เร้าใจ ผลลัพท์ออกมาแปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบใคร

End Title ฟังแล้วรู้สึกห่อเหี่ยว เปล่าเปลี่ยว หลงเหลือเพียงความเวิ้งว่างเปล่าภายใน ตรงกันข้ามกับ Main Title ที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น รุกเร้าใจ เพราะตอนจบไม่เพียง Popeye จะพลั้งพลาดวิสามัญเพื่อนตำรวจ แต่ยังไม่สามารถติดตามตัว Frog One มารับโทษทัณฑ์ (ใครเคยรับชมภาคสองที่ไม่ควรจะสร้าง คงรับรู้ว่าหมอนี่แค่หายตัวไปอย่างลึกลับ)

เสียงปืนนัดที่สองแม้เต็มไปด้วยความคลุมเคลือ แต่ไม่จำเป็นต้องสื่อถึงความตาย สามารถหมายถึงหายนะและความสิ้นหวัง ความผิดพลาดของ Popeye จักกลายเป็นตราบาปฝังใจ ไม่มีวันลบเลือนหาย … ชักชวนผู้ชมให้เกิดความตระหนักด้วยว่า ตำรวจก็คือมนุษย์ หาใช่คนดีแท้สมบูรณ์แบบ ย่อมมีความผิดพลาดพลั้งบังเกิดขึ้น

People have asked me through the years what (that gunshot) meant. It doesn’t mean anything…although it might. It might mean that this guy is so over the top at that point that he’s shooting at shadows.

William Friedkin

เรื่องราวของ The French Connection (1971) ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าตำรวจไล่ล่าจับกุมผู้ร้าย แต่ความน่าสนใจที่ถึงขนาดทำให้คว้ารางวัล Oscar: Best Picture นั่นเพราะความสดใหม่ในวิธีการนำเสนอที่มีความดิบเถื่อน สมจริง ด้วยสไตล์เหมือนสารคดี (documentary-like) เต็มไปด้วยความรุนแรงจับต้องได้

เกร็ด: ช่วงปีที่หนังออกฉาย การลักลอบนำเข้าเฮโรอีนกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดปธน. Richard Nixon ประกาศกร้าวเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1971 เรียกปัญหาคนติดยาว่าเป็น “Publich Enemy Number One”

อีกทั้งตัวละครตำรวจที่ควรผดุงความยุติธรรม ทำตัวเป็นต้นแบบอย่างที่ดีในสังคม นักสืบ Popeye กลับแสดงออกในสิ่งตรงกันข้ามทุกสิ่งอย่าง ขี้เมา เจ้าชู้ ชอบพูดจาดูถูกเหยียดหยาม (Racist) ถึงอย่างนั้นตัวตนแท้จริง กลับยึดถือมั่นในหลักยุติธรรมอย่างแรงกล้า ไม่มีอะไรสามารถสั่นคลอนความเป็นชายชาติตำรวจ

อาจมีหลายคนถกเถียงกันว่า ‘morally ambiguous’ อย่างนักสืบ Popeye สมควรเป็นตำรวจหรือไม่? ในบางประเทศ/สถานที่ที่ห่วงหน้าห่วงตา สนเพียงภาพลักษณ์องค์กร คงตอบไม่เห็นด้วยเสียงขันแข็ง! แต่การเป็นตำรวจที่ดี จำเป็นต้องมีนิสัยดีงามจริงๆนะหรือ? ตำรวจเลวๆสมัยนี้ ล้วนแอบอ้างว่าเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น!

ภายหลังการล่มสลายของ Hays Code ค.ศ. 1967 มาจนถึง The French Connection (1971) ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์คลื่นลูกใหม่ (New Hollywood) นำเสนอความรุนแรงสุดโต่งที่ผู้ชมสมัยก่อน (เมื่อตอนยังมีระบบ Hays Code) ไม่สามารถยินยอมรับได้อย่างแน่นอน แต่ระบบเรตติ้ง R-Rated ให้คำแนะนำสำหรับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป นั่นถือเป็นกลุ่มเป้าหมายของหนัง ไม่จำเป็นต้องยื้อยั้งความเหมาะสม นำเสนอสิ่งท้าทายขีดจำกัด ศีลธรรมทางสังคม

การรับชมหนังในปัจจุบัน ทำให้สิ่งที่เคยสุดโต่งของ The French Connection (1971) ดูบรรเทาลงอย่างมากๆ แต่วิธีการนำเสนอสไตล์เหมือนสารคดี (documentary-like) ยังคงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูสมจริง รุนแรงแบบจับต้องได้ แม้แต่ฉากขับรถไล่ล่าก็ยังสมควรค่าแก่การยกย่องว่ามีความน่าตื่นเต้นเร้าใจ ไม่ง่ายที่คอหนังสมัยใหม่จะอดรนทน พบเห็นความงดงามของศิลปะภาพยนตร์

หลายๆผลงานของผกก. Friedkin มักเน้นความตื่นเต้น ลุ้นระทึก เสี่ยงเป็น ท้าความตาย ทั้งๆพี่แกไม่น่าจะเคยพานผ่านอะไรเลวร้ายขนาดนั้น แต่อาจเพราะตระหนักถึงรากเหง้าเชื้อสาย Jews ครอบครัวอพยพมาจาก Ukrane อดีตยังคงติดตามมาไล่ล่า หลอกหลอน ต้องการชำระล้าง แต่ก็ไม่สามารถลบเลือนอะไรได้ทั้งนั้น


ด้วยทุนสร้างเพียง $1.8 ล้านเหรียญ (บางสำนักว่า $2.2 ล้านเหรียญ) ด้วยเสียงตอบรับดีเยี่ยม สามารถทำเงินถล่มทลาย มีรายรับในสหรัฐอเมริกาอยู่ $26.3 ล้านเหรียญ (อีกแหล่งข่าวว่าทำเงิน $41.15 ล้านเหรียญ) รวมทั่วโลกอาจสูงถึง $75 ล้านเหรียญ!

ค.ศ. 1971 เป็นปีที่มีภาพยนตร์ยอดเยี่ยมหลายเรื่อง อาทิ A Clockwork Orange, Fiddler on the Roof, The Last Picture Show แต่กลับเป็น The French Connection ที่กวาดรางวัลมากกว่าใครเพื่อน

  • Academy Award
    • Best Picture **คว้ารางวัล
    • Best Director **คว้ารางวัล
    • Best Actor (Gene Hackman) **คว้ารางวัล
    • Best Supporting Actor (Roy Scheider)
    • Best Adapted Screenplay **คว้ารางวัล
    • Best Cinematography
    • Best Film Editing **คว้ารางวัล
    • Best Sound
  • Golden Globe Award **คว้ารางวัล
    • Best Motion Picture – Drama **คว้ารางวัล
    • Best Actor in a Motion Picture – Drama (Gene Hackman) **คว้ารางวัล
    • Best Director
    • Best Screenplay

เกร็ด: William Friedkin เกือบจะไม่ได้เข้าร่วมงานประกาศรางวัล Oscar เพราะรถเสียกลางทาง โชคดีโบกรถแล้วมีคนจอดรับ จริงๆคนขับรถคันนั้นก็ไม่ได้อยากรับสักเท่าไหร่ แต่เพราะผกก. Friedkin บอกว่าจะจ่ายเงิน $200 เหรียญ เลยจำยินยอมพามาส่งหน้างาน

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 2K ภายใต้การดูแลของผกก. William Friedkin และตากล้อง Owen Roizman เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2012 จัดจำหน่ายโดย 20th Century Fox Home Entertainment

เกร็ด: The French Connection (1971) เป็นภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Akira Kurosawa, David Fincher, Brad Pitt, Safdie Brothers ฯ

แม้ว่า The French Connection (1971) จะเต็มไปด้วยสารพัดความรุนแรง ถ้อยคำหยาบคาย ถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม (Racism) แถมเรื่องราวก็ไม่ได้มีเนื้อหาสาระอะไรสักเท่าไหร่ แต่ผู้กำกับ William Friedkin นำเสนอความรุนแรงเหล่านี้ออกมาในเชิงศิลปะได้อย่างน่าประทับใจ และมาถึงจุดๆนี้ผมเห็นด้วยว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์มีฉากไล่ล่ายอดเยี่ยมที่สุด!

แนะนำอย่างยิ่งสำหรับตำรวจ สายตรวจ นักสืบทั้งหลาย หนังอาจสร้างแรงบันดาลใจ แต่ขณะเดียวกันแนะนำให้มองหาระดับความเหมาะสมในการทำงาน ไม่จำเป็นต้องรุนแรงบ้าระห่ำขนาดนั้น และใครชื่นชอบภาพยนตร์แนว ‘Time Capsule’ บันทึกบรรยากาศ New York ช่วงทศวรรษ 70s ไม่ควรพลาดเลยละ!

จัดเรต 18+ กับดิบ เถื่อน ความรุนแรง ถ้อยคำหยาบคาย อาชญากรรมข้ามชาติ

คำโปรย | The French Connection ภาพยนตร์ที่มีความดิบ เถื่อน ตรงไปตรงมา ไล่ล่าสุดมันส์ ระห่ำปรอทแตก
คุณภาพ | ห่ำดื
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: