The Freshman (1925)
: Fred C. Newmeyer, Sam Taylor ♥♥♥
(mini Review) ผลงานที่ประสบความสำเร็จที่สุด ทำเงินมากที่สุดของ Harold Lloyd, The Freshman เรื่องราวความฝันของเด็กปี 1 ในรั้วมหาวิทยาลัย ต้องการมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก แต่ชีวิตจริงไม่ได้ง่ายดั่งฝัน หนุ่มแว่นเป็นเพียงตัวตลกในสายตาคนอื่น เขาจึงต้องการพิสูจน์ให้คนอื่นเห็น ขอโอกาสเพียงครั้งเดียวกับการลงแข่งขันในทีมอเมริกันฟุตบอล!
ในยุค 20s หนังเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างบ้าคลั่งขณะฉาย โดยเฉพาะกับนักศึกษามหาวิทยาลัย หลังจากได้ออกจากโรงภาพยนตร์ ต่างพากันแห่ลงสมัครทีมกีฬาอเมริกันฟุตบอลอย่างล้นหลาม เป็นเช่นนั้นอยู่จนสิ้นทศวรรษ
Harold Lloyd รับบทนักศึกษาชั้นปีที่ 1 (The Freshman) ที่มีความฝัน ทะเยอทะยาน อยากเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลทีมมหาวิทยาลัย (ได้อิทธิพลมาจากการดูหนังเรื่องหนึ่ง) เพื่อตนเองจะได้มีชื่อเสียง มีหน้ามีตาภาคภูมิ ได้รับการเคารพยกย่อง เป็นที่กล่าวถึงในสังคม, แต่ตัวจริงเขาเป็นแค่คนเปิ่นๆ อ่อนต่อโลก เก่งในเรื่องทำให้คนอื่นยิ้มแย้มหัวเราะ การที่บังเอิญได้อยู่ในทีมอเมริกันฟุตบอล เพราะโค้ชชื่นชอบในจิตวิญญาณความต้องการอันแรงกล้า จึงให้เป็นเด็กเก็บบอลอยู่ในทีม ไม่เคยคิดหวังให้เขาลงสนาม (เพราะร่างกายไม่ได้แข็งแกร่งอะไร ลงไปก็มีแต่จะถูกชนเละ)
อเมริกันฟุตบอล ถือเป็นกีฬายอดฮิตของประเทศอเมริกา มีชื่อเล่นที่คนไทยตั้งให้คือ เกมคนชนคน เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ แบบเอาหัวพุ่งชน เอาชนะผู้อื่นด้วยกำลัง, ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Concussion (2015) นำแสดงโดย Will Smith จะรู้ว่า กีฬาชนิดนี้อันตราย (พอๆกับมวย) มีโอกาสที่สมองจะได้รับการกระทบกระทั่ง กระเทือนจนอาจกลายเป็นพิการ อัมพาตได้ … ผมเรียก กีฬาชนิดนี้ว่า ‘กีฬาของคนไร้สมอง’ (คือถึงมันก็มีการวางแผนใช้สมองก็จริง แต่ขณะนักกีฬาแข่งขัน มันใช้กำลังกายมากกว่าความคิด) และคนที่ชื่นชอบกีฬาประเภทนี้ ผมก็ขอด่าหน้าด้านๆ ‘ป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม’ เหมือนดู Gladiator ฆ่ากันในหนังเรื่อง Spartacus (1960), Gladiator (2000) ฯ ใครเกิดความอภิรมย์ บันเทิงเริงรมณ์ขณะดูกีฬาประเภทนี้ แสดงว่าจิตใจคุณมันแฝงความรุนแรง บ้าเลือด นี่เป็นอีกหนึ่งประเภทกีฬาที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลยนะครับ
นี่ถือเป็นหนังสูตรสำเร็จ สไตล์หนังของ Harold Lloyd เกี่ยวกับคนที่กระหายในความสำเร็จ ทุ่มเทพยายาม รอคอยโอกาส เมื่อวันนั้นมาถึงก็ไขว่คว้าไว้ สุดท้ายก็สามารถทำประสบความสำเร็จได้ดั่งใจหวัง
ฉากไฮไลท์ของหนังคือตอนงานเลี้ยง เมื่อสูทของหนุ่มแว่นยังเย็บไม่เสร็จ คราวนี้ก็อลม่านกันทีเดียว เพราะช่างเย็บผ้าต้องแอบช่วยพระเอกอยู่เรื่อยๆ ทั้งทำแขนหลุด, กางเกงหลุด ฯ เสื้อผ้าแสดงถึงภาพลักษณ์ของคน กับการที่เสื้อยังเย็บไม่เสร็จ ตะเข็บหลุด ต้องซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา นี่แสดงถึงภาพลักษณ์ของพระเอกต่อสายตาคนในสังคม ที่ก็หาได้เนี้ยบ เท่ห์ เด่น ดัง เป็นแค่ส่วนเล็กๆน้อยๆ ไร้ความสำคัญในสายตาคนอื่นเท่านั้น, และตอนจบของฉากนี้ เป็นครั้งแรกที่หนุ่มแว่นถูกพูดตอกย้ำต่อหน้าให้ตระหนักได้ ว่าเขามันก็แค่ ตัวตลกกระจอกในสังคมเท่านั้น
ส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ถ้าดูเพื่อความบันเทิงก็ถือว่าสนุกใช้ได้, ที่ไม่ชอบเพราะหนังนำเสนอ ความน่าอับอายขายหน้าของตัวละคร ในแบบที่ไม่น่าอภิรมย์เสียเลย แล้วตอนจบทำให้สามารถเอาชนะประสบความสำเร็จ (แบบสูตรสำเร็จ) แต่ผมกลับรู้สึกหนังสามารถมองในมุมที่เหมือน ตบหัวแล้วลูบหลัง ขาดความจริงใจ ไร้ยางอายสิ้นดี
เมื่อนี่เป็นหนังทำเงินสูงสุดของ Harold Lloyd ในทศวรรษนั้น ย่อมแสดงว่า คนอเมริกาชื่นชอบเรื่องราวสไตล์ underdog กับคนที่ครั้งหนึ่งได้รับการประณามถูกคนอื่น แต่เมื่อพิสูจน์ตนแล้วแล้ว ตอนจบประสบความสำเร็จ ฉีกหน้าผู้อื่น ได้รับการยกย่อง, นี่แสดงถึงวิถีของคนอเมริกันเลยนะครับ ถ้าคุณเป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้ ความประทับใจแรกที่จะได้รับคือ การดูถูกเหยียดหยาม จนกว่าที่จะพิสูจน์ตัวเองให้ผู้อื่นเห็น คุณจะไม่มีวันโงหัวขึ้นในสังคมประเทศนี้เป็นอันขาด
แนะนำกับคอหนังเงียบ แฟนหนัง Slapstick Comedy ของ Harold Lloyd, โดยเฉพาะกับวัยรุ่น Freshy ปีหนึ่งที่กำลังก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย นี่เป็นหนังที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คุณอยากทำอะไรสักอย่างได้ดีเลย
จัดเรต PG กับความน่าอับอายขายหน้า และความรุนแรงในกีฬาอเมริกันฟุตบอล
Leave a Reply