The Friends of Eddie Coyle (1973) : Peter Yates ♥♥♥
Robert Mitchum รับบท Eddie Coyle ชายวัยทองที่หลังจากถูกจับติดคุกได้รับทัณฑ์บน ก็ไม่ต้องการหวนกลับเข้าไปอีก เคยมีอาชีพนายหน้าค้าปืนให้กับกลุ่มโจรปล้นธนาคาร ตัดสินใจกลายเป็นสายให้ตำรวจ แต่ก็ถูกตลบหลังอีกทีเข้าให้
ถึงการแสดงของ Robert Mitchum ในบทชายวัยทองผู้มีความเหนื่อยหน่ายต่อโลก จะได้รับคำชมอย่างสูง (อาจเป็นบทบาทยอดเยี่ยมสุดของพี่แกเลย) แต่หนังทั้งเรื่องก็ดูเชื่องช้าน่าเบื่อเกินไปนิด ฉากปล้นธนาคารที่พอจะมีชีวิตชีวาไปๆมาๆกลับหักมุมตัดทิ้งเสียดื้อๆ โดน Anti-Climax เข้าไปอย่างจัง
จริงๆฉากการปล้นธนาคารถือว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของหนังเลยนะ ฝูงโจรเตรียมการวางแผนมาเป็นอย่างดี เล่นกับจิตวิทยาของลูกจ้างพนักงานธนาคารได้อยู่หมัด ประเด็นคือ Eddie Coyle ไม่ได้เกี่ยวเนื่องอะไรกับการปล้นครั้งนี้เลย เว้นเสียจากปืนที่เขาขายให้ … หรือว่าหนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของปืนกันแน่??
Peter James Yates (1929 – 2011) ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Aldershot, Hampshire โตขึ้นเข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art กลายเป็นนักแสดง ผู้กำกับ ผู้จัดการ ต้นทศวรรษ 50s มุ่งสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มจากเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Tony Richardson และ J. Lee Thompson ฉายเดี่ยวเรื่องแรก Summer Holiday (1963), โด่งดังกับ Robbert (1967) ไปเข้าตา Steve McQueen ชักชวนมา Hollywood สร้าง Bullitt (1968), ผลงานเด่นอื่นๆ The Friends od Eddie Coye (1973), For Pete’s Sake (1974), เข้าชิง Oscar: Best Director สองครั้งจาก Breaking Away (1979), The Dresser (1983)
The Friends of Eddie Coyle (1972) คือนิยายขายดี (Best Selling) เรื่องแรกแจ้งเกิดของ George V. Higgins (1939 – 1999) จากทนายความ สู่นักเขียน คอลัมนิสต์ สัญชาติอเมริกัน ได้รับการยกย่องเทียบเคียง The Godfather (1969) ของ Mario Puzo แต่มีความตรงกันข้ามในแง่ของการนำเสนอ
กล่าวคือ The Godfather นำเสนอความยิ่งใหญ่ของเจ้าพ่อมาเฟีย มากล้นด้วยคนนับหน้าถือตา ยึดมั่นในเกียรติ อุดมการณ์ ศักดิ์ศรี ขณะที่ The Friends of Eddie Coyle เรื่องของชายผู้ต้องการเป็นอิสระหลุดพ้นจากวงอาชญากรรม ยินยอมสูญเสียเกียรติ อุดมการณ์ ศักดิ์ศรี หักหลังเพื่อนพวกพ้องเป็นสายให้ตำรวจ จนชีวิตตกต่ำแทบไม่หลงเหลืออะไร
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Paul Monash (1917 – 2003) ที่ก็ยังเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับหนัง ให้ความเคารพคารวะซื่อตรงต่อต้นฉบับอย่างมาก (ตรงกันข้ามกับ Francis Ford Coppola ดัดแปลง The Godfather เป็นภาพยนตร์ เปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่นจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม) กระทั่งว่าบทพูดสนทนายังนำจากนิยายแทบจะเปะๆ เพราะมีความเฉียบคมคายยอดเยี่ยมอยู่แล้ว
เรื่องราวของ Eddie Coyle (รับบทโดย Robert Mitchum) ระหว่างได้รับทัณฑ์บน ทำงานเป็นคนขับรถบรรทุกและส่งเบเกอรี่ ขณะเดียวกันก็ยังแอบเป็นนายหน้าค้าปืน ซื้อถูกๆจาก Jackie Brown (รับบทโดย Steven Keats) นำไปขายให้ Jimmy Scalise (รับบทโดย Alex Rocco) เพื่อนำไปใช้ในการปล้นธนาคาร, เพราะความที่อยากพ้นโทษเร็วๆ Coyle ตัดสินใจขาย Brown ให้กับตำรวจ Dave Foley (รับบทโดย Richard Jordan) แต่นั่นยังไม่เพียงพอ เลยคิดวางแผนส่งตัว Scalise ให้อีกคน แต่กลับถูกตำรวจชิงดักหน้า เรื่องไปเข้าหูเจ้าพ่อมาเฟียไร้นาม The Man โทรสั่ง Dillon (รับบทโดย Peter Boyle) ทำยังไงก็ได้ให้เด็ดหัวคนทรยศให้พ้นทาง
Robert Charles Durman Mitchum (1917 – 1997) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Bridgeport, Connecticut พ่อเสียไปตั้งแต่ยังเด็ก โตขึ้นเลยมีนิสัยเกเรชอบใช้ความรุนแรง ถูกไล่ออกจากโรงเรียนหลายแห่ง เลยตัดสินใจเป็นนักมวย เข้าร่วมแก๊งค์อันธพาลจนถูกจับแต่สามารถหนีเอาตัรอดมาได้ มุ่งสู่ Hollywood อาศัยอยู่กับพี่สาวที่กำลังไต่เต้าเป็นนักแสดง ชักชวนน้องให้หันมาสายนี้ เริ่มต้นจากเป็น Ghostwriter ตามด้วยตัวประกอบ จนได้โอกาสแสดงบทเล็กๆ มักเป็นตัวร้าย เริ่มมีชื่อเสียงกับ Nevada (1944) และ The Story of G.I. Joe (1945) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor หลังจากนั้นก็เริ่มได้รับบทนำในหนังนัวร์ อาทิ Out of the Past (1947), The Night of the Hunter (1955), Heaven Knows, Mr. Allison (1957), The Enemy Below (1957), Cape Fear (1962) ฯ
รับบท Eddie ‘Fingers’ Coyle ได้รับฉายา ‘The Fingers’ เพราะนายหน้าที่เขาเคยรับซื้อปืนถูกจับกุม ทำให้ไม่สามารถหาของส่งให้พรรคพวกได้ทันกำหนด เลยถูกลงทัณฑ์ด้วยการกระแทกลิ้นชักใส่จนนิ้วหัก เหตุนี้เลยรับรู้กฎการทำงานร่วมกับอาชญากรเป็นอย่างดี ชี้แนะนำหนุ่มหน้าใหม่ในวงการ Jackie Brown อย่าเดินตามซ้ำรอยตนเอง แต่ครั้งหนึ่งเมื่อเห็นปืนกลเก็บซ่อนอยู่หลังรถ เลยครุ่นคิดแผนการณ์ต่อรองพ้นโทษ หักหลังเพื่อนพ้องเพื่อสนองความปลอดภัยของตนเอง (แต่มีหรือจะได้รับ)
ด้วยความเจ็บแค้นที่ถูกสายตำรวจย้อนรอยหักหลัง ตอนไปส่งของให้กับหัวหน้ากลุ่มโจรปล้นธนาคารก็เริ่มครุ่นคิดแผนการณ์ใหม่ แต่ตำรวจกลับจงใจปล่อยข่าวลือที่ว่า Coyle ขายพรรคพวกพ้องให้ Scalise และผองเพื่อนรับทราบ เลยแอบขึ้นบ้านหวังฆ่าปิดปากแต่ถูกล้อมจับกุม, เช้าวันถัดมา Coyle นำแผนการณ์ที่ครุ่นคิดได้ไปคุยกับสายตำรวจ เพิ่งได้รับทราบว่า Scalise ถูกจับกุมตัวเรียบร้อยแล้ว เช่นนี้ก็จบกัน! ไม่หลงเหลืออะไรให้พ้นทัณฑ์บนได้อีกแล้ว
ในตอนแรก Mitchum ได้รับข้อเสนอให้รับบทบาร์เทนเดอร์ Dillon แต่หลังจากได้อ่านนิยาย ต่อรองขอผู้กำกับเปลี่ยนเป็น Eddie Coyle รู้สึกว่าตรงกับตนเองมากกว่า
“I think that work like this is necessary for people to understand something about the humors of the criminal mentality,”
จากที่เคยรับบทนักเลงมาดเก๋าเกม คลุกเคล้าอยู่ในวงการหนังนัวร์มาแสนนาน เมื่อสูงวัยขึ้น Mitchum คงเริ่มเหน็ดเหนื่อยหน่าย อ่อนล้ากายใจ ทำตาลอยๆเบื่อโลก พยายามผลักภาระความรับผิดชอบของตนเอง แรกๆก็ดูน่าสงสารเห็นใจ แต่หลังๆช่างสมเพศเวทนา ชะตากรรมตอนจบของตัวละครเป็นอะไรที่ดีเกินไปเสียด้วยซ้ำ
Mitchum เตรียมตัวรับบทบาทนี้ด้วยการพบเจออาชญากรตัวจริง Howie Winter หัวหน้ากลุ่ม Winter Hill Gang ประจำอยู่ Boston, Massachusetts เพิ่มน้ำหนักตัวเองขึ้นหลายปอนด์ และพยายามพูดคุยสนทนากับตำรวจในท้องที่ เพื่อเลียนสำเนียง Boston ให้ได้ใกล้เคียงที่สุด
ถ่ายภาพโดย Victor J. Kemper สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่น อาทิ Dog Day Afternoon (1975), …and justice for all. (1979), National Lampoon’s Vacation (1983), Clue (1985) ฯ
หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมดในเขต Boston อาทิ Dedham, Cambridge, Milton, Quincy, Sharon, Somerville, Malden, และ Weymouth, Massachusetts
ช็อตเครดิตชื่อหนัง สิ่งที่เกิดขึ้นในภาพนี้แฝงนัยยะบางอย่างซึ่งสะท้อนกับใจความของหนัง
– รถคันหนึ่งเคลื่อนออกไป ตีความได้ถึงการลาจาก หรือสูญเสีย(เพื่อนของ Eddie Coyle)
– เริ่มต้นของหนังคือฤดูใบไม้ร่วง (Falls) ต้นไม้ไร้ใบ สื่อถึงความร่วงโรยรา (ของ Eddie Coyle เช่นกัน)
การพบเจอครั้งแรกของ Eddie Coyle กับ Jacky Brown ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง พวกเขานั่งเผชิญหน้าฝั่งตรงข้าม ราวกับกระจกที่สะท้อนกันและกัน นั่นเพราะทั้ง Coyle และ Brown ต่างมีอาชีพเป็นนายหน้าค้าปืน หนึ่งคือผู้มีประสบการณ์ผ่านอะไรๆมามาก อีกหนึ่งหน้าใหม่ในวงการยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมากนัก
นี่รวมถึงไดเรคชั่นการตัดต่อด้วยนะ ที่จะตัดสลับไปมาระหว่างด้านนี้เห็นหน้า Coyle อีกด้านหนึ่งเห็นหน้า Brown และยัง Close-Up ใบหน้าของทั้งสอง รวมๆแล้วมี 4 มุมกล้อง แต่จะไม่มีช็อตเห็นใบหน้าพวกเขาโดยพร้อมเพียง
ฉากการโจรกรรม ถือว่าเล่นกับจิตวิทยาของพนักงานธนาคารได้อย่างอยู่หมัด ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงถ้าไม่มีใครเห็นแก่ตัว เดินเข้าประตูหลังแบบเงียบๆง่ายๆ เปิดเซฟขนเงิน แล้วล่องหนหายตัวไปเลย ไม่มีใครล่วงรับรู้จับได้
หนังใช้การอารัมภบทตั้งแต่ Prologue ด้วยการให้สมาชิกของกลุ่มหัวขโมย แอบเฝ้าติดตามสังเกตการณ์พนักงานธนาคารคนหนึ่ง (น่าจะระดับผู้จัดการเลยนะ เพราะเป็นผู้ถือกุญแจเปิดตู้เซฟ) มุมกล้องลับๆล่อๆแอบถ่าย จากนั้นเมื่อถึงเวลาปฏิบัติการจริง ก็จะใช้ให้พนักงานคนนั้นเป็นจุดหมุน พูดอธิบายทุกสิ่งอย่างถ้าการปล้นครั้งนี้เกิดความผิดพลาด อะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง ครั้งแรกก็สำเร็จไปด้วยดี แต่ครั้งถัดๆมานี่สิ!
ช็อตนี้ให้สัมผัสของหนังนัวร์เล็กๆ โจรปล้นธนาคารนั่งอยู่ในรถมีความมืดมิดสนิท (สะท้อนถึงการกระทำอันชั่วร้ายของพวกเขา) ขณะที่ภายนอกมีความสว่างจ้า เจ้าพนักงานธนาคารถูกสั่งให้นับก้าวเดินมุ่งตรงสู่ท้องทะเล (ทะเลอันกว้างไกล สื่อได้ถึงอิสรภาพ)
ทำไมถึงต้องมาปล่อยตรงนี้? นอกจากความห่างไกล ใกล้ถนนโบกรถกลับเองได้ คงจะสื่อถึง
การพบเจอระหว่าง Eddie Coyle กับ Dave Foley (ที่เป็นสายตำรวจ) พื้นหลังคือทะเลสาบขนาดใหญ่ ใบไม้ร่วงหล่นเต็มพื้น นอกจากช็อตที่เดินไปตำแหน่งนี้ด้วยกัน ต่างยืนสนทนาในลักษณะตั้งฉาก นี่สะท้อนถึงความตรงกันข้าม ตำรวจ-อาชญากร มีอะไรๆไม่ค่อยตรงกันเสียเท่าไหร่
หารถของ Jacky Brown พบเจอรึเปล่าเอ่ย? สาเหตุที่ผู้กำกับเลือกสีเหลือง เพราะจะได้เป็นจุดสังเกตเห็นง่ายๆเวลาอยู่ท่ามกลางลานจอดรถจำนวนมาก
การซื้อขาย-แลกเปลี่ยนอาวุธปืน (ระหว่าง Brown กับ Coyle) กระทำในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า/ขายเฟอร์นิเจอร์บ้าน (ราวกับปืนคือของแต่งบ้านซะงั้น!) ซึ่ง Coyle ก็ได้ช็อปปิ้งอาหารการกินใส่ถุงกระดาษมา แล้วเอาปืนซ่อนไว้ภายใต้ (นี่ก็ราวกับ ปืนคือปัจจัยบริโภคของมนุษย์)
ผมว่าฉากนี้มันสะท้อนอะไรๆมากเลยนะ เพราะสถานที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนคือลานจอดรถ แบบไม่กลัวเกรงใครเห็น เพราะไม่มีใครใคร่สนใจอยู่แล้ว มาช็อปปิ้งก็แต่ของบริโภคใช้สอยส่วนตัว เช่นนั้นแล้วนี่มันสาธารณะตรงไหน?
การพบกันครั้งสุดท้ายของ Coyle กับสายตำรวจ แม้จะเป็นตอนเช้าแต่ในร้านอาหารที่รอบข้างมีความมืดมิดสนิท ตำแหน่งมุมกล้องสังเกตว่าใบหน้าของเขาเกือบจะถูกบดบัง (ผิดกับตอนต้นๆ ฉากที่พบกับ Brown มีระยะห่างอย่างชัดเจน) ถ้าเรียกว่าความคอรัปชั่นของตำรวจคงไม่ถูกเท่าไหร่นะ เพราะพวกเขาต่างทำตามหน้าที่ เป็น Coyle เองต่างหากที่กลายเป็นคนน่าสมเพศขยะแขยงทำตัวเอง ดูใบหน้าตอนรับรู้ว่า Jimmy Scalise ถูกอุ้มจับไปเรียบร้อยแล้ว หมดสิ้นหวังอาลัยตายอยาก
ผมมีความใคร่พิศวงในช็อตนี้เป็นพิเศษ เลือกสถานที่ได้มีความ German Expressionist อย่างยิ่ง นี่ถือเป็นความแนบเนียนในภาพยนตร์ยุค Modern ที่ผสมผสานแนวคิดของยุคคลาสสิก รวมกันได้อย่างกลมกลืนสวยงาม จนบางครั้งอาจแยกจากกันไม่ออก ก็อยู่ที่ว่าผู้ชมจะมีประสบการณ์มากน้อยเพียงไหน เห็นปุ๊ปสามารถอัตโนมัติได้เลยรึเปล่าว่าต้องการสื่อความหมายอะไร
ผมมองลักษณะของตึกช็อตนี้ มีลักษณะเหมือนหัวลูกศร <- ซึ่งเป็นการแสดงถึงทิศทางของ Dillon ซึ่งกำลังจะได้รับมอบหมายภารกิจบางอย่าง อันคือจุดสิ้นสุดของหนัง
การแสดงของ Peter Boyle อาจทำให้หลายคนหงุดหงิดใจ เหมือนจะไม่ค่อยสมจริง พูดลอยๆ พยายามบ่ายเบี่ยงหลบสายตา แต่นั่นสะท้อนถึงบทบาทของเขา เป็นตัวละครที่สวมหน้ากากหลายชั้น คือทั้งสายให้ตำรวจ บาร์เทนเดอร์ รับงานสกปรกฆ่าคน ฯ คงเพราะต้องการรักษาภาพพจน์ของตนเอง ทำตัวป่ำๆเป๋อๆ เอ๋อเหรอ แบบนี้แหละปลอดภัยสุด
สังเกตพื้นหลังของช็อตนี้ เห็นทุกอย่างดูลึกเข้าไป สะท้อนถึงตัวตนของ Dillon มีอะไรบางอย่างมากกว่าแค่ตาเห็น, มันจะมีช็อตกลับกันด้วยตอน Dillon เดินไปรับโทรศัพท์ จะเห็น Coyle ที่นั่งไกลๆ มีความเบลอๆ สื่อถึงหมอนี่กลายเป็นคนไร้ซึ่งคุณค่าใดๆ กลายเป็นเป้าหมายลำดับต่อไปของตน
ฉาก Ice Hockey ใช้เวลาถ่ายทำสองวัน สังเกตว่าจะไม่มีช็อตที่เห็น Coyle กับ Dillon พร้อมๆไปกับการแข่งขัน คือจะเป็นมุมกล้องทิศทางนี้ และตัดไปในสนามเลย
ผู้ชมจะมีความตระหนักอยู่ในใจ รับรู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับ Eddie Coyle บางคนคงลุ้นเชียร์ให้เขารับเอารู้ตัว บ้างคงแช่งให้เกิดขึ้นเร็วๆหนังจะได้จบ มันอาจดูยืดเยื้อสักนิดกับฉากนี้ที่เป็นเหมือนงานเลี้ยงอำลา แต่สิ่งที่ตัวละครพูดบอกว่า
“Can you imagine being a kid like that. What is he, 24 or something. Greatest hockey player in the world. No four – Bobby Orr. Geeze, what a future he’s got, uh?”
ขณะที่ตัวเองกำลังจะหมดอนาคต พบเห็นใครสักคนมีแนวโน้มประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ มันช่างสวนทางกันดีแท้
ตัดต่อโดย Patricia Lewis Jaffe สัญชาติอเมริกัน ก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Killer’s Kiss (1955) ส่วนใหญ่จะอยู่วงการโทรทัศน์ และยังเป็นโปรดิวเซอร์ให้ซีรีย์หลายๆเรื่องอีกด้วย
หนังไม่ได้เล่าเรื่องในมุมมองของใครคนใด ตัวละครไหนเป็นพิเศษ แต่ใช้จุดหมุนคือ Eddie Coyle ที่มีความสัมพันธ์กับผองเพื่อน ประกอบด้วย
– Jacky Brown นายหน้าค้าปืน จะมีเรื่องราวตอนไปรับมา เอาตัวรอดจากถูกดักปล้น และหนีไม่พ้นตำรวจ
– ขายปืนให้ Jimmy Scalise ใช้ในการปล้นธนาคาร และถูกจับ
– บาร์เทนเดอร์ Dillon ที่ก็เหมือนว่าเป็นสายให้ตำรวจ (พบกับ Dave Foley อยู่หลายครั้ง) และปฏิบัติตามคำสั่งเบื้องบนช่วงท้าย
เพลงประกอบโดย Dave Grusin สัญชาติอเมริกัน เจ้าของรางวัล Oscar: Best Original Score เรื่อง The Milagro Beanfield War (1988) และยังได้เข้าชิงอีก 5 ครั้ง Heaven Can Wait (1978), The Champ (1979), On Golden Pond (1981), The Fabulous Baker Boys (1989), Havana (1990), The Firm (1993)
ลีลาการใช้เพลงประกอบของ Dave Grusin ได้สร้างบรรยากาศเฉพาะตัวให้กับหนัง ด้วยสไตล์ดนตรี Fusion โดดเด่นกับเสียงฉาบกลอง บางครั้งลีดเบสด้วยลีลาจัดจ้าน หรือแซกโซโฟนใส่สัมผัส Jazz เข้ามา เต็มไปด้วยความหลากหลายแต่ในโทนทำนองเดียวกัน ราวกับจุดสิ้นสุดโลกาวินาศของชีวิต ดื่มด่ำเมามันไปกับวิถีอาชญากรรม เต็มไปด้วยอันตรายทุกฝีย่างก้าว เข้าไปพัวพันแล้วกลับออกมาไม่ได้ ปลายทางมีวิถีเดียวเท่านั้น
เสียงอะไรก็ไม่รู้ (เหมือนสิงสาราสัตว์) ของ Main Theme มอบสัมผัสลึกลับอันตรายในโลกอาชญากรรม ลีดเบสคือจิตวิญญาณที่กำลังเหนื่อยหน่ายล่องลอยออกจากร่าง ขณะที่กลองเคาะฉาบด้วยจังหวะเหมือนนาฬิกาติกๆ ติก-ต๊อก ราวกับว่าเวลาของทุกสิ่งอย่างกำลังใกล้หมดลงไป
“Look, one of the first things I learned is never to ask a man why he’s in a hurry,”
ในโลกอาชญากรมีกฎเหล็กอยู่ข้อหนึ่งคือ ‘ความรับผิดชอบเชื่อใจ’ รับปากอะไรต้องทำให้ได้ สัญญาต้องเป็นสัญญา ใช้อะไรเร่งรีบไม่จำเป็นต้องถามเหตุผล ภาระหน้าที่ตนเองรับผิดชอบให้สำเร็จ พลาดพลั้งครั้งแรกจักถูกลงโทษทัณฑ์ แต่ถ้ายังมีรอบสอง ย่อมไม่มีสามเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
The Friends of Eddie Coyle นำเสนอจุดตกต่ำสิ้นสุดสถานภาพของอาชญากร ผ่านตัวละครสูงวัยทอง ที่พยายามดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยการผลักไสความผิดของตนเองแปะป้ายขี้ให้กับผู้อื่น ทำลายกฎเหล็กความเชื่อมั่นที่เคยสร้างมา เพราะต้องการล้างลาออกจากวงการนี้ ไม่คิดหวนคืนกลับมาอีก
“Another thing I’ve learned: if anybody’s gonna have a problem, you’re gonna be the one.”
ในชีวิตจริงไม่ต้องถึงโลกอาชญากรรม บุคคลที่สนแต่ตนเอง ชอบผลักไสปัญหาภาระป้ายสีป้ายขี้ใส่ผู้อื่น หาได้มีความน่าคบหาสมาคมด้วยเลยแม้แต่น้อย พบเจอแนะนำให้ตักเตือนแนะนำ ยังไม่แก้ไขปรับปรุงตัวก็ควรหลบเลี่ยงหนี แต่ถ้าเลิกราไม่ได้ก็พาเข้าวัดวานั่งสมาธิทำบุญทำทานเสียบ้างก็ดี อาจเกิดสำนึกรู้ตัวเอง
กลับมาที่โลกอาชญากรรม บุคคลที่แหกกฎเหล็กย่อมมีผลลัพท์โชคชะตากรรมเดียวเท่านั้นจะคืนสนอง ยากนักจะหลบหนีเอาตัวรอด หรือถ้าใช้เส้นสายกับตำรวจ แน่ใจหรือว่าจะไม่ถูกย้อนรอยหักหลัง
ตำรวจที่เก่ง เอาจริงๆก็ชั่วร้ายปลิ้นปล้อนไม่ต่างจากโจร เพราะมันต้องระดับ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ต่างแค่พวกเขามีตราเหน็บไว้ข้างเอวให้เป็นสิ่งหนุนหลังถูกต้องตามหลักกฎหมาย
Eddie Coyle หักหลังพวกพ้อง เลยถูกสายตำรวจที่ตนติดต่อไปตลบเอาคืนอีกที นี่มันกรรมสนองกรรมโดยแท้ และสุดท้ายถูกสั่งเก็บโดยใครบางคนที่อยู่สูงกว่า ในสภาพล่อแร่เมามาย หลับใหลสิ้นสติสมประดี ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำกำลังพบเจอกับอะไร นี่แหละผลลัพท์ของการเข้าไปยุ่งเกี่ยวในโลกอาชญากรรม
คงเป็นเรื่องรสนิยมที่ทำให้โดยส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ผิดหวังอย่างรุนแรงคือบทสรุปของแต่ละตัวละคร มันเวิ้งว้างว่างเปล่าจนทำให้หลายๆส่วนที่สร้างมาไร้คุณค่าความหมายโดยพลัน จะเรียกว่า Anti-Climax คงไม่ผิดอะไร กระนั้นการแสดงของ Robert Mitchum ถือว่าตราตรึงอย่างมาก คุณอาจไม่ชอบตัวละครนี้ แต่อดไม่ได้ต้องชมว่ายอดเยี่ยมสุดฝีมือจริงๆ
อาจเพราะกาลเวลาด้วยกระมังทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เสื่อมคลายมนต์ขลังลงไปมาก เพราะตอนปี 1973 บรรยากาศของประเทศอเมริกา ผู้คนเต็มไปด้วยความเหนื่อยหน่ายจากสงครามเวียดนาม และคับข้องแค้นการเปิดโปงความชั่วร้ายของปธน. Richard Nixon ซึ่งหลายๆอย่างในหนังมีความสอดคล้องกลมกลืน เทรนด์แฟชั่นแห่งทศวรรษได้เลย
ขณะที่ผู้ชมสมัยปัจจุบัน ไม่ได้รับล่วงรู้สึกหรือมีบรรยากาศการใช้ชีวิตอะไรแบบนั้นแล้ว ประกอบกับภาพยนตร์สมัยใหม่มีอะไรๆน่าตื่นเต้นหวือหวากว่ามาก หนังเรื่องนี้เลยตกกระป๋องแป๋งไปตามกาลเวลาโดยปริยาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นน่าจะถือได้ว่ามีความโมเดิร์นคลาสสิก ตรงข้าม The Godfather ก็ The Friends of Eddie Coyle เรื่องนี้แหละ
แนะนำคอหนังอาชญากรรม ปล้นธนาคาร ตำรวจหักเหลี่ยมโจร, ชื่นชอบนิยายของ George V. Higgins, แฟนๆผู้กำกับ Peter Yates และ Robert Mitchum ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับการโจรกรรม ทรยศหักหลัง และฆาตกรรม
Leave a Reply