The Front Page (1931) hollywood : Lewis Milestone ♥♥♥

ดัดแปลงจากบทละครเวที Broadway กลายเป็นภาพยนตร์ Screwball Comedy ที่จะทำให้คุณโคตรเหนื่อย ราวกับไปปั่นแข่งจักรยาน Tour de France เพราะทั้ง Adolphe Menjou กับ Pat O’Brien ต่างกลั้นหายใจพูดเร็วๆรัวๆ ประโยคยาวหนึ่งนาทีจบได้ในไม่ถึงสิบวินาที ทั้งนี้ก็เพื่อให้ข่าวของพวกเขาขึ้นโดดเด่นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์

นับตั้งแต่หนังพูด Talkie ได้รับการเปิดตัวประสบความสำเร็จล้นหลามกับ The Jazz Singer (1927) ผู้สร้างภาพยนตร์ Hollywood ทั้งหลายต่างเข้าสู่ยุคปรับตัวเปลี่ยนผ่าน แต่เทคโนโลยีใหม่นี้ยังมีอะไรให้ต้องเรียนรู้อีกมาก หนึ่งในนั้นที่เกิดขึ้นกับ The Front Page คือการทดลอง Sound Effect เปิดเรื่องมาเป็นฉากปล่อยกระสอบทรายให้ตกพื้น ถ้ารับฟังอย่างตั้งใจจะรู้ว่านั่นไม่ใช่เสียงจริงๆ แต่คือการปรุงแต่งใส่เสียงอื่นเข้าไปที่มีความคล้ายคลึง หลงคิดเข้าใจผิดว่าคือของจริง

นอกจากนี้ หนังยังท้าทายการบันทึกเสียงพูด (Sound-on-Film) ไปอีกระดับขั้นหนึ่ง ด้วยการที่ตัวละครเดินเคลื่อนไหวไปรอบๆ กล้องก็จะเคลื่อนติดตามตาม ไมโครโฟนที่ยังคงเป็นสายไฟมันไปหลบซ่อนอยู่ตรงไหน (ก็ต้องมีคนถือเดินตามด้วยนะสิ)

The Front Page เป็นภาพยนตร์ที่ถ้าคุณรับรู้ข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น จะเกิดความอึ้งทึ่งประทับใจในไดเรคชั่น วิวัฒนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของโปรดักชั่น แต่เพราะการมี His Girl Friday (1940) และ The Front Page (1974) ที่เป็นการ Remake ให้เปรียบเทียบ หนังเรื่องนี้เลยค่อนข้างเฉิ่มเชย ตกยุค และดูล้าหลังไปโดยปริยาย

จุดเริ่มต้นของ The Front Page มาจากบทละครเวที Broadway เขียนโดย Ben Hecht กับ Charles MacArthur อดีตนักข่าว/นักหนังสือพิมพ์ของ Chicago Daily News ทั้งคู่ต่างเคยอยู่ประจำในห้องผู้สื่อข่าว (Newsroom) แผนกอาชญากรรมที่ Chicago’s Criminal Courts Building พบเห็นเรื่องราววุ่นวายไม่เว้นแต่ละวัน หลังจากลาออกมาผันตัวเป็นนักเขียน มีผลงานทั้งนวนิยาย, ละครเวที และบทภาพยนตร์

ตัวละครใน The Front Page ล้วนอ้างอิงมาจากบุคคลจริงๆ ที่ทั้ง Hecht และ MacArthur ได้รู้จักพบเจอ เปลี่ยนแปลงชื่อเล็กน้อยจะได้ไม่มีเรื่องวุ่นวายตามมา
– Hildy Johnson มาจากนักข่าวชื่อ Hildebrand Johnson
– Walter Burns มาจากบรรณาธิการชื่อ Walter Howey
– Mac McCue มาจากนักข่าวชื่อ Buddy McHugh
– ขณะที่นักโทษประหารชีวิต Earl Williams ได้แรงบันดาลใจจาก Thomas ‘Terrible Tommy’ O’Connor (1880–??) นักเลง Gangster ถูกจับกุมข้อหาฆาตกรรมได้รับคำตัดสินประหารชีวิต หลบหนีออกจากคุกที่ Cook County, Illinois เมื่อปี 1923 ก่อนหน้าถูกแขวนคอชีวิตเพียงสี่วัน แล้วก็หายตัวลึกลับไปเลยไม่มีใครพบเห็นอีก

ฉบับ Broadway กำกับการแสดงโดย George S. Kaufman เปิดการแสดงที่ Times Square Theater รอบปฐมทัศน์วันที่ 14 สิงหาคม 1929 ยืนถึงเมษายน 1930 จำนวน 276 รอบการแสดง

Howard Hughes เจ้าของกิจการเครื่องบินชื่อดัง (ที่ใครๆอาจคุ้นชื่อจาก The Aviator) มีความสนใจเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ตั้งแต่ Two Arabian Knights (1927) กำกับโดย Lewis Milestone หลังจากซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลง The Front Page กึ่งบังคับให้ Milestone มานั่นแท่นผู้กำกับ หลังจากหนีชิ่งไปคว้า Oscar: Best Director ตัวที่สองจากเรื่อง All Quiet on the Western Front (1930)

Lewis Milestone หรือ Leib Milstein (1895 – 1980) ผู้กำกับสัญชาติ Moldovan เกิดที่ Kishinev, Russian Empire มีเชื้อสาย Jews เดินทางมาแสวงโชคยังอเมริกาเมื่อปี 1912 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นอาสาสมัครของ U.S. Signal Corps (กองสื่อสาร) ฝึกกองกำลังทหารหน่วยสื่อสาร ทำให้ได้รับสัญชาติอเมริกาเมื่อปี 1919, หลังสงครามเดินทางสู่ Hollywood เริ่มต้นจากเป็นคนตัดฟีล์ม ผู้ช่วยผู้กำกับ นักเขียนบท จนได้กำกับภาพยนตร์ มีผลงานอาทิ The Kid Brother (1927) [ไม่ได้เครดิต], Two Arabian Knights (1927) [คว้ารางวัล Oscar: Best Director จากการประกาศรางวัลครั้งแรก], Hell’s Angels (1930) [กำกับส่วนของนักแสดง ไม่ได้เครดิต], The Front Page (1931), The General Died at Dawn (1936), Of Mice and Men (1939), Ocean’s 11 (1960), Mutiny on the Bounty (1962) ฯ

เกร็ด: ผู้กำกับ Milestone คือคนแรกที่คว้า Oscar: Best Director ได้ถึงสองครั้ง

This story is laid in a Mythical Kingdom.

นักข่าวหนุ่ม Hildebrand ‘Hildy’ Johnson (รับบทโดย Pat O’Brien) มีความต้องการหนีจากบรรณาธิการสุดเหี้ยบ Walter Burns (รับบทโดย Adolphe Menjou) ของหนังสือพิมพ์ Morning Post เพื่อแต่งงานกับแฟนสาว Peggy Grant (รับบทโดย Mary Brian) แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นักโทษประหารหลบหนีออกจากห้องคุมขัง สัญชาตญาณนักข่าวของ Hildy จึงเริ่มต้นทำงานโดยทันที

William Joseph Patrick “Pat” O’Brien (1899 – 1983) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Milwaukee, Wisconsin, ครอบครัวมีเชื้อสาย Irish รู้จักสนิทสนมกับ Spencer Tracy ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ สมัครเป็นทหารเรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (แต่สงครามจบก่อนพวกเขาจะได้ออกปฏิบัติการ) ปลดประจำการออกมามุ่งสู่ New York เข้าเรียน American Academy of Dramatic Arts กลายเป็นนักแสดง Broadways รับบท Walter Burns ในบทละคร The Front Page ได้รับการคัดเลือกให้มาแสดงภาพยนตร์แต่เป็นบทเป็น Hildy Johnson [จริงๆคือสตูดิโอเกิดความเข้าใจผิด คือว่า O’Brien รับบทนี้ในฉบับละครเวที เจ้าตัวเลยฉวยโอกาสคว้าไว้]

Hildebrand ‘Hildy’ Johnson ชายหนุ่มผู้เต็มเปี่ยมด้วย Passion จิตวิญญาณของนักข่าว ตกหลุมรักหญิงสาวต้องการแต่งงานย้ายไปอยู่ New York แต่กลับยังคงหูเบา ถูกโน้มน้าวนิดๆหน่อยๆก็มิอาจหักห้ามจิตใจตนเองได้ คงเพราะอาชีพนี้ทำให้เขารู้สึกเหมือนมีชีวิต ขาดไม่ได้ มิมีสิ่งอื่นใดสำคัญกว่านี้

ด้วยภาพลักษณ์อันหล่อเหลาของ O’Brien คงเรียกเสียงกรี๊ดจากสาวๆสมัยนั้นได้ไม่น้อย แต่นอกจากลีลาการพูดรวดเร็วไวติดจรวด หูดับตับแลบ ก็ไม่มีอะไรอื่นที่น่าสนใจให้พูดถึง

Adolphe Jean Menjou (1890 – 1963) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Pittsburgh, Pennsylvania, เรียนจบวิศวกรรมจาก Cornell University แต่กลับเลือกเป็นนักแสดงเร่ (Vaudeville) ตามด้วยภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ โด่งดังกับ The Sheik (1927), The Marriage Circle (1927), ยุคหนังพูด อาทิ Morocco (1930), The Front Page (1931), A Star is Born (1937), Paths of Glory (1957) ฯ

รับบท Walter Burns บรรณาธิการสุดเหี้ย กระล่อนปลิ้นปล้อน ชีวิตสนแค่การได้ทำข่าวใหญ่ มียอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์สูงๆ, หมายมั่นปั้นมือ Hildy Johnson มานมนาน เมื่อรับรู้ว่าเขาต้องการลาออกไปแต่งงาน พยายามโน้มน้าวทำทุกวิถีทางรูปแบบเพื่อยื้อเหนี่ยวรั้งไว้ อันเต็มไปด้วยความชั่วช้าสามานย์ผิดมนุษย์มนา

เดิมนั้น Louis Wolheim (1880–1931) ได้รับเลือกให้เล่นบทนี้ แต่เจ้าตัวพลันด่วนเสียชีวิตจากไป กลายเป็น Menjou ได้รับบทแทน

ภาพลักษณ์ของ Menjou สร้างมิติให้กับตัวละครนี้อย่างน่าทึ่ง ไม่ใช่แค่การพูดหูดับตับไหม้เพียงอย่างเดียว เพิ่มชั้นเชิงลีลา ให้เห็นว่าเป็นคนที่ภายในมีความคอรัปชั่นอย่างยิ่งยวด

Mary Brian ชื่อจริง Louise Byrdie Dantzler (1906 – 200) นักแสดงหญิงเจ้าของฉายา ‘The Sweetest Girl in Pictures’ เกิดที่ Corsicana, Texas, ตอนอายุ 16 เข้าประกวด Beauty Contest แม้ไม่ได้รางวัลแต่ถูกดึงตัวจับเซ็นสัญญากับ Paramount Pictures เล่นหนังเงียบเรื่องแรก Peter Pan (1924) โดดเด่นกับ Brown of Harvard (1926) สามารถปรับเอาตัวรอดในยุคสมัยหนังพูดได้ระยะหนึ่ง อาทิ The Front Page (1931), Hard to Handle (1933), The Amazing Adventure (1936) ฯ

รับบท Peggy Grant แฟนสาวผู้โชคร้ายของ Hildy Johnson มีความรักศรัทธาเชื่อมั่นมายาวนาน ตั้งใจขึ้นรถไฟไปแต่งงานที่ New York แต่กลับถูกขัดจังหวะ สูญเสียโอกาสและเวลา ดูแล้วชีวิตคงไม่มีวันได้พบความสุขสมหวังเป็นแน่

ภาพลักษณ์ของ Brian งดงามสมฉายา แม้มิได้มีบทบาทอะไรมากมาย แต่ก็ได้สร้างสีสันในโลกที่มีแต่ผู้ชาย ราวกับดอกฟ้า (รายล้อมด้วยหมาวัด) นี่น่าจะเป็นบทบาทในภาพยนตร์ที่ได้รับการจดจำสูงสุดของเธอ

ถ่ายภาพโดย Glen MacWilliams ตากล้องตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบ ผลงานเด่น King Solomon’s Mines (1937), Lifeboat (1944) ฯ

ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูด เพราะข้อจำกัดเกี่ยวกับการบันทึกเสียงที่เวลาขยับเคลื่อนย้ายนิดหน่อยก็มักส่งผลกระทบแล้ว ทำให้ภาพยนตร์ส่วนใหญ่เลือกถ่ายทำในลักษณะตั้งกล้องทิ้งไว้เฉยๆ (Static) แต่ผู้กำกับ Milestone มิได้เกิดความหวาดกลัวเช่นนั้น เพราะในยุคหนังเงียบตั้งแต่ Fritz Lang, F. W. Murnau ฯ ต่างประดิษฐ์ภาษาของการเคลื่อนกล้องไว้โดยละเอียด ถ้าไม่นำมาใช้เสียเลยก็เท่ากับการถดถอยหลังลงคลองเปล่าๆ

ไฮไลท์ของการถ่ายภาพจึงคือทุกช็อตที่มีการเคลื่อนไหวกล้อง แต่เจ๋งสุดคงคือตอน Whip Pan ที่สอดคล้องกับการโยกเก้าอี้ เลื่อนขึ้นด้านบนอย่างไวๆ กลับลงมาเห็นคนหนึ่ง ครั้งถัดไปอีกคน ครั้งสุดท้ายเห็นนายอำเภอ ตะโกนลั่น ‘Stop It!’ ถ้าหนังไม่หยุด ผู้ชมคงได้อ๊วกแตกก่อนแน่ (ว่าไปผมไม่ค่อยเห็น Whip Pan แนวดิ่งเสียเท่าไหร่นะ ปกติจะเห็นแต่ด้านข้างซ้ายขวา)

ตัดต่อโดย W. Duncan Mansfield สัญชาติอเมริกัน ทำงานมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบเช่นกัน ผลงานเด่น อาทิ

ฉบับละครเวที ทั้งเรื่องจะมีเพียงฉากเดียวคือในห้อง Newsroom ซึ่งหนังจะทำตามเช่นนั้นก็ได้ แต่เพื่อเก็บตกรายละเอียด และใช้แนะนำตัวละคร (โดยเฉพาะ Johnson กับ Burns) จึงมีการแทรกฉากอื่นๆเพิ่มเข้ามาด้วย

ว่าการถ่ายภาพมีความท้าทายแล้ว แต่ตัดต่อถือว่าคือไฮไลท์ของหนังเลย ทั้งๆที่มีตัวละครมากมายแนะนำผ่าน Opening Credit แต่ไม่น่าเชื่อเราสามารถจดจำพวกเขาได้แทบทั้งหมด เพราะต่างมีเอกลักษณ์โดดเด่นชัดเจน แถมเรื่องราวมีการเกลี่ยๆบทไปมาอย่างทั่วถึง ด้วยการตัดต่อที่มักจะให้เห็นภาพใบหน้าของพวกเขาซ้ำๆไปมาอยู่เรื่อยๆ หรือพอถึงขณะโทรศัพท์แจ้งข่าวคราวความคืบหน้าต่อหนังสือพิมพ์ ก็จะโฟกัสที่ใบหน้าของตัวละครนั้นอย่างเน้นๆ

ฉากตัดต่อที่ส่วนตัวรู้สึกว่าเจ๋งสุดของหนัง คือขณะที่ทั้ง Johnson กับ Burns ต่างโทรศัพท์ในห้อง Newsroom ทั้งๆที่ปลายทางคนละเบอร์ แต่พวกเขาเหมือนกำลังโต้ตอบกันเอง ใช้การตัดสลับไปมาระหว่างทั้งสอง คนหนึ่งยืนคุย อีกคนเดินวนไปมาอย่างระส่ำระส่าย

Burns: Hello, Butch. Where are you?
Johnson: Hello, Mission Hospital?
Burns: What are you doing there? Haven’t you even started?
Johnson: Was an old lady brought in from an auto smashup?
Burns: For H. Sebastian. Butch, listen, it’s a matter of life and death.
Johnson: Nobody?
Burns: I can’t hear. Who? Speak up!

หนังไม่มีเพลงประกอบ เพราะยังอยู่ในยุคสมัยก่อนหน้า King Kong (1933) ด้วยความชื่อที่ว่าหนังพูดก็คือการพูดคุยกันเท่านั้น เพลงประกอบจะดังจากการร้องเล่นดนตรี หรือเปิดจากวิทยุเท่านั้น

Screwball Comedy เป็นแนวหนึ่งของภาพยนตร์ (Genre) มีลักษณะของความขบขันที่เกิดจากความไม่รู้ คาดไม่ถึง ตลกไร้เดียงสา (Screwball ในพจนานุกรมไทยแปลว่า คนเซี้ยว) ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วง Great Depression (กลางยุค 30s – ต้นยุค 40s) อันเนื่องมาจากความต้องการของผู้คน ที่ต้องการหลีกหนี (Escapist) จากโลกความเป็นจริงอันทุกข์ยาก และเป็นการมาของ Hays Code ที่ทำให้ผู้สร้างหนัง ต้องหลีกเลี่ยงการกระทำบางอย่างที่มีความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรม, แม้นักวิจารณ์จะเริ่มให้คำนิยาม Screwball Comedy เริ่มต้นจาก It Happened One Night (1934) ของผู้กำกับ Frank Capra แต่ถ้าไล่ย้อนไปจริงๆ The Front Page (1931) คือเรื่องแรกที่มีความสอดคล้องเข้ากับนิยามนี้ แค่ว่าถือกำเนิดขึ้นก่อนยุค Pre-Code (ก่อนการมาถึงของ Hays Code)

ขอคัทลอกใจความจากหนังเรื่อง His Girl Friday มาเลยแล้วกัน มองเป็นการตีแผ่ความจริงบางอย่างที่เกิดขึ้นในโลกของผู้สื่อข่าว ที่ก้าวผ่านขอบเขตของจรรยาบรรณวิชาชีพ

ตัวละคร Hildy Johnson เป็นคนมีความต้องการ อยากก้าวออกมาจากโลกใบนั้นเต็มแก่ แต่ก็มีบางสิ่งอย่างที่ฉุดรั้งเหนี่ยวไว้ ถูกบีบบังคับยั่วยุ และจากสันชาตญาณผู้ล่าที่เคยถูกฝึกมา อันเป็นเหตุให้ต้องหวนวนกลับไป เวียนอยู่ในวัฏจักรโลกใบนั้นอย่างมิอาจยังยั้งตนเองได้

มองมุมหนึ่งพบเห็นการสะท้อนความคอรัปชั่นของคนทุกระดับในสังคม, แทบทุกตัวละครในหนัง จะมีความคอรัปชั่น เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ใส่ใจแคร์ความรู้สึกผู้อื่น
– มีคำพูดเปรียบนักข่าวเหมือนเหยี่ยว แร้ง อีกา ที่ชอบลงมารุมทึ้งจิกกินซากเนื้อแบบไม่สนใจใยดี อิ่มหนำแล้วก็โบยบินหนีไป ทิ้งเศษซากกระจัดกระจายเกลื่อนไปทั่ว
– หรือนายอำเภอ นายกเทศมนตรีที่สนแต่เอาหน้าตา โบ้ปายสีความผิดผู้อื่น เพื่อว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะ

เพราะนี่เป็นกึ่งๆเรื่องจริง ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรงของ Ben Hecht กับ Charles MacArthur อดีตสองนักข่าวอาชญากรรม Chicago Daily News เรื่องราวนี้ได้สะท้อนความต้องการ ตัวตนของพวกเขาต่อสิ่งที่ได้พบเห็น มันน่ารังเกียจขยะแขยงรับไม่ได้ แต่ก็มีความตื่นเต้นเร้าใจ พยายามดึงตัวเองออกมาแต่ไม่วายก็ต้องวนเวียนกลับไปพบเจออีก, แต่ทั้ง Hecht กับ MacArthur ไม่ได้หวนกลับไปเป็นนักข่าวอีกนะครับ ค้นพบงานสายใหม่นักเขียน ไม่ตื่นเต้นเท่าแต่เงินเร้าใจกว่าแน่นอน

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ทำเงินได้ประมาณ $700,000 เหรียญ ดูแล้วไม่น่าจะขาดทุน, เข้าชิง Oscar 3 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Picture
– Best Actor (Adolphe Menjou)
– Best Director

ส่วนตัวแค่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้ พบเห็นความสวยงามในข้อจำกัดของยุคสมัย (คือถ้าหยุดเวลาที่ปีนั้น ผมคงให้คะแนนเต็ม) แต่เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ His Girl Friday ที่กลายเป็นอมตะ The Front Page ฉบับนี้จึงมีสภาพได้เพียงคลาสสิก

แนะนำกับคอหนังคลาสิก ชื่นชอบ Screwball Comedy รุ่น Pre-Code, นักข่าว Journalist/Reporter นักหนังสือพิมพ์ ที่อยากเห็นการทำงานของคนรุ่นก่อน, รู้จักผู้กำกับ Lewis Milestone และนักแสดงนำ Adolphe Menjou, Pat O’Brien, Mary Brian ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความคอรัปชั่นของตัวละคร

TAGLINE | “The Front Page คือข่าวหน้าหนึ่ง Tour de France ของผู้กำกับ Lewis Milestone ที่เมื่อกาลเวลาผ่านไปผู้คนต่างหลงลืมเลือนว่าใครเป็นผู้ชนะ เหลือเพียงความคลาสสิก”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: