The Game

The Game (1997) hollywood : David Fincher ♥♥♥♡

ของขวัญวันเกิดจากน้องชาย ทำให้ Michael Douglas ได้เล่นเกมที่ต้องเอาชีวิตท้าเสี่ยง เป็นประสบการณ์ชีวิตไม่รู้ลืมเลือน เหมือนการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกก็สนุกอยู่หรอก หักมุมตอนจบแบบที่ไม่มีใครคาดคิดถึง แต่มันอาจสร้างความระทมขมขื่นในรอบถัดๆไป

เมื่อเทียบกับ Se7en (1995) ที่ก็มีตอนจบหักมุม (plot twist) แต่การรับชมรอบสอง-สาม กลับยิ่งสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ พบเห็นความลึกล้ำที่ชวนให้ลุ่มหลงใหล ผิดกับ The Game (1997) นัยยะในแต่ละกิจกรรมที่ตัวละครของ Michael Douglas ประสบพบเจอนั้น ไม่สามารถกระตุ้นความรู้สึกใดๆให้บังเกิดขึ้น

ก็แหงละ! Se7en นำเสนอผ่านคดีฆาตกรรมที่เต็มไปด้วยความคลุ้มบ้าคลั่ง แค่พบเห็นร่างของผู้เสียชีวิต ก็สร้างความปั่นป่วนท้องไส้ ขณะที่ The Game ก็แค่หนัง Thriller ตื่นเต้นลุ้นระทึก มีความตกตะลึง อึ้งทึ่งในการรับชมครั้งแรก แค่นั้นแหละ ไม่สามารถก้าวสู่ความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ไปกว่านี้

แต่ก็ต้องยอมรับในโปรดักชั่นงานสร้างของ ‘สไตล์ Fincher’ ที่ทำให้การรับชมรอบสอง-สาม ยังคงมีความน่าตื่นตาตื่นใจ ในความโคตรประณีต โคตรละเมียด โคตรละเอียด ทุกช็อตฉากล้วนเต็มไปด้วยความงดงามระดับวิจิตรศิลป์ และต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้ Michael Douglas เล่นบทมหาเศรษฐีได้น่าเชื่อถือที่สุดแล้วละ!

ผมเป็นคนหนึ่งที่เมื่อตอนแรกรับชม The Game (1997) สามารถปลดปล่อยอารมณ์ไปถึงจุดสูงสุด และเกิดความโคตรๆประทับใจ คาดหวังอย่างมากกับการหวนกลับมารอบนี้ แต่กลับพลันตกสวรรค์เลยละ แถมพอเกิดการเปรียบเทียบ Se7en (1995) ก็เกมโอเวอร์โดยทันที รู้สึกว่าไคลน์แม็กซ์แม้งไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ … รับชมครั้งแรกปล่อยตามอารมณ์ แต่เมื่อเริ่มครุ่นคิดด้วยเหตุผล ก็ตระหนักว่านี่อาจเป็นการเลือกโปรเจคผิดพลาดอย่างรุนแรงของผู้กำกับ Fincher

ถ้าคุณยังไม่เคยรับชม The Game (1997) แนะนำให้หยุดไว้ตรงนี้เลยนะครับ สำหรับภาพยนตร์ที่มีการ’หักมุม’ตอนจบ ถ้าเผลออ่านสปอยก็อาจทำให้ชีวิตบัดซบโดยทันที สูญเสียโอกาสจะได้รับประสบการณ์ดีๆ ครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ชอบหรือไม่ชอบค่อยว่ากันหลังหนังจบ … เตือนแล้วนะ!


David Andrew Leo Fincher (เกิดปี 1962) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Denver, Colorado บิดาทำงานนักข่าวนิตยสาร Life, มารดาเป็นนางพยาบาลดูแลผู้ป่วยติดยา, เมื่อตอนอายุ 2 ขวบ ครอบครัวอพยพย้ายสู่ San Anselmo, California สนิทสนมกับเพื่อนข้างบ้าน George Lucas เลยเกิดความชื่นชอบหลงใหลภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก โตขึ้นได้เข้าทำงานในสตูดิโอของ John Korty เริ่มจากอยู่แผนก Visual Effect ทำอนิเมชั่น Twice Upon a Time (1983), ต่อมาเข้าร่วมบริษัท Industrial Light & Magic (ของ Lucas) ในฐานะผู้ช่วยตากล้อง ช่างภาพถ่ายทำ Matte Photography, พอออกจาก ILM ได้รับว่าจ้างทำโฆษณาให้ American Cancer Society จึงเริ่มเข้าตาโปรดิวเซอร์จาก Hollywood, ต่อด้วยสรรค์สร้างสารคดี The Beat of the Live Drem (1985), แล้วร่วมก่อตั้ง Propaganda Films สำหรับสรรค์สร้างหนังสั้น-โฆษณา-Music Video สะสมประสบการณ์ก่อนกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก ALIEN³ (1992)

ประสบการณ์อันเลวร้าย รวมถึงความล้มเหลวในเสียงตอบรับของ ALIEN³ (1992) ทำให้ Fincher เกือบจะถอดใจจากอาชีพผู้กำกับภาพยนตร์ แต่หลังจากหวนกลับมากำกับ Music Video บทเพลง Love Is Strong (1994) ของ The Rolling Stones คว้ารางวัล Grammy Award: Best Music Video จึงเริ่มมีความเชื่อมั่นหวนกลับระดับหนึ่ง

สำหรับ The Game (1997) เป็นหนึ่งในบทหนัง ‘spec screenplay’ ของสองนักเขียน John Brancato และ Michael Ferris ขายให้กับสตูดิโอ M-G-M ตั้งแต่เมื่อปี 1991 ตอนแรกมีผู้กำกับ Jonathan Mostow คาดหวังนักแสดง Kyle MacLachlan ประกบ Bridget Fonda แต่พอโปรเจคถูกส่งต่อมายัง Propaganda Films เลยถูกขึ้นหิ้งเอาไว้ไม่ได้รับการสานต่อ

เกร็ด: spec script หรือ speculative screenplay คือคำเรียกบทหนังของนักเขียนที่ครุ่นคิดพัฒนาขึ้นเอง ส่วนใหญ่จะนำจากประสบการณ์ส่วนตัว โดยคาดหวังนำไปขายให้สตูดิโอใหญ่ๆ เผื่อโอกาสในการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์

จริงๆตั้งเสร็จจาก MV บทเพลง Love Is Strong (1994) ผู้กำกับ Fincher มีความครุ่นคิดอยากกำกับ The Game ต่อโดยทันที แต่พอมีโอกาสอ่านบทหนัง Se7en ของ Andrew Kevin Walker เลยหันเหความสนใจ กอปรกับคิวว่างของ Brad Pitt จึงจำต้องขึ้นหิ้งโปรเจคนี้ไปก่อน

หลังเสร็จจาก Se7en (1995) ผู้กำกับ Fincher ก็ลงมือปรับปรุงบทหนัง The Game ต่อโดยทันที ด้วยการดึงตัว Andrew Kevin Walker มาช่วยขัดเกลารายละเอียด (แต่ไม่ได้รับเครดิต) ต้องการให้เพิ่มเติมสามอิทธิพลหลักๆ เริ่มจากตัวละคร Nicholas Van Orton มีลักษณะคล้ายๆ Ebenezer Scrooge (จากวรรณกรรม A Christmas Carol (1843) ของ Charles Dickens), เผชิญกับเหตุการณ์เป็นไปไม่ได้แบบ Mission: Impossible และลงเอยตอนจบเหมือน The Sting (1973)

[Michael Douglas’ character was a] fashionable, good-looking Scrooge, lured into a Mission: Impossible situation with a steroid shot in the thigh from The Sting.

David Fincher

เรื่องราวของ Nicholas Van Orton (รับบทโดย Nicholas Van Orton) มหาเศรษฐี วาณิชธนกิจแห่ง San Francisco เป็นคนนิสัยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่ค่อยสนอะไรใครอื่น แม้แต่(อดีต)ภรรยาก็มิอาจอดรนทน จนกระทั่งวันเกิดครบรอบ 48 ปี ได้รับการ์ดของขวัญจากน้องชาย Conrad (รับบทโดย Sean Penn) ก็ไม่รู้คิดยังไงถึงตอบตกลงเล่นเกม เข้าทดสอบร่างกาย เซ็นสัญญาไม่เอาความใดๆกับ Consumer Recreation Services (CRS)

แม้จะมีโทรศัพท์แจ้งว่าคำขออนุมัติเล่นเกมจาก CRS ได้รับการตอบปฏิเสธ แต่จู่ๆกลับมีเหตุการณ์คาดไม่ฝันเกิดขึ้นมากมาย ต้องคอยขบครุ่นคิด ไขปริศนาต่างๆเพื่อหาหนทางเอาตัวรอด จนเกิดความหวาดระแวง ต้องการแก้แค้นเอาคืน แต่กลับพลั้งพลาดครั้งใหญ่ด้วยการยิงปืนใส่น้องชาย นั่นทำให้เข้ารู้สึกผิดอย่างรุนแรงจนตัดสินใจ…


Michael Kirk Douglas (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New Brunswick, New Jersey, บุตรชายคนโตของ Kirk Douglas และ Diana Dill โตขี้นเข้าศีกษาสาขาการแสดง University of California, Santa Barbara แจ้งเกิดจากละครโทรทัศน์ The Experiment (1969), มีโอกาสเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975), The China Syndrome (1979), ส่วนการแสดงเริ่มประสบความสำเร็จเรื่อง Romancing the Stone (1984), Fatal Attraction (1987), Wall Street (1987) ** คว้า Oscar: Best Actor, The American President (1995), The Game (1997), Traffic (2000), Behind the Candelabra (2013), Ant-Man (2015) ฯ

รับบท Nicholas Van Orton มหาเศรษฐีวัยกลางคน มีนิสัยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่ค่อยสนอะไรใครอื่นนอกจากตนเอง แต่เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อครั้นยังเด็กสูญเสียบิดา กระโดดตึกฆ่าตัวตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ ในฐานะพี่ชายคนโตจึงต้องยินยอมเสียสละทุกสิ่งอย่าง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของครอบครัว

แม้น้องชาย Conrad เป็นบุคคลที่เขาครุ่นคิดว่าพึ่งพาไม่ได้ แต่ก็ยังยินยอมรับฟัง ตอบตกลงเข้าร่วมเล่น The Game ช่วงแรกๆเต็มไปด้วยความฉงนสงสัย ฉันกำลังจะพบเจอกับอะไร จากนั้นค่อยๆพัฒนาสู่ความหวาดระแวง วิตกจริต อาฆาตมาดร้าย ถึงขนาดต้องการเข่นฆ่าล้างแค้น ทำลายล้างบริษัท CRS นั่นทำให้เขาได้ทำบางสิ่งอย่าง เป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด

ด้วยความที่ Douglas เป็นนักแสดงแนวหน้าของวงการในช่วงทศวรรษนั้น ค่าตัวเลยค่อนข้างสูง ถ้าไม่เพราะความสำเร็จของ Se7en (1995) ทำให้สตูดิโอยินยอมพร้อมจ่าย ซึ่งการได้ดารามีชื่อเสียงโด่งดัง ย่อมสร้างความน่าสนใจ กลายเป็นจุดขายของหนัง

Douglas เป็นนักแสดงที่ไม่สามารถลบภาพจำ Gordon Gekko จากเรื่อง Wall Street (1987) แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นบุคคลเล่นบทมหาเศรษฐีอย่างมีสง่าราศี น่าเชื่อถือเอามากๆ (ตัวจริงก็ไม่ต่างจากภาพลักษณ์สักเท่าไหร่) เฉลียวฉลาด กร้านโลก เยือกเย็นชา รวมถึงแสดงอาการหวาดระแวง คลุ้มบ้าคลั่ง แสดงออกมาอย่างเพียงพอดี ไม่มีขาดไม่มีเกิน ได้รับคำชื่นชมจากแทบทุกสำนักวิจารณ์

[Douglas]’s the right actor for the role. He can play smart, he can play cold, and he can play angry. He is also subtle enough that he never arrives at an emotional plateau before the film does, and never overplays the process of his inner change.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Chicago Sun-Times

ในบรรดาผลงานการแสดงของตนเอง Douglas มีความภาคภูมิใจต่อ The Game (1997) อย่างมากๆ โดยเฉพาะตอนจบที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ การทำงานกับผกก. Fincher ก็เต็มไปด้วยความท้าทาย มากมายด้วยรายละเอียด รู้สึกดีทุกครั้งเมื่อมีใครพูดบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา

I think what I’m most proud about is that it’s one of the very few movies that you could not guess the ending. That’s why I’m such a big sports fan, with sports you can never guess what’s gonna happen. Most movies you get halfway through and you can kind of guess the ending. The Game you could never figure out what the ending was gonna be. David Fincher is a very talented filmmaker. It was an extremely tough shoot, it was very long, a lot of nights. I thought it was a really well-made picture, very unpredictable and I do hear that picture when I talk about movies that I’ve made that people liked a lot.

Michael Douglas

Sean Justin Penn (เกิดปี 1960) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Santa Monica, California บุตรชายของผู้กำกับ Leo Penn กับนักแสดง Eileen Ryan ตั้งแต่เด็กมีความสนใจสร้างภาพยนตร์ พี่ชายเป็นนักดนตรี ส่วนน้องกลายเป็นนักแสดงเหมือนกัน และเพื่อนข้างบ้าน Emilio Estevez และ Charlie Sheen, โตขึ้นเริ่มจากตัวประกอบซีรีย์โทรทัศน์ (ที่พ่อกำกับ), ภาพยนตร์เรื่องแรก Taps (1981), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Bad Boys (1983), Dead Man Walking (1995), I am Sam (2001), 21 Grams (2003), คว้า Oscar: Best Actor สองครั้งจาก Mystic River (2003) และ Milk (2008)

รับบท Conrad Van Orton น้องชายผู้(แสร้งว่า)ไม่เอาอ่าวของ Nicholas ในวันเกิดของพี่ชาย แนะนำให้รับรู้จัก The Game ซึ่งตนเองเคยเข้าร่วม พานผ่านประสบการณ์ดังกล่าวมาก่อน พูดบอกว่านั่นคือสิ่งมหัศจรรย์ที่ทำให้ชีวิตปรับเปลี่ยนไป แต่แท้จริงแล้ว …

นี่เป็นตัวละครที่ผมยังไม่อยากสปอยตรงนี้มากนัก ขอเล่าแค่ที่มาที่ไป ดั้งเดิมบทบาทนี้คือนักแสดงหญิง/น้องสาวของ Nicholas ในตอนแรกสตูดิโอทำการติดต่อ Jodie Foster แต่ทั้งผู้กำกับ Fincher และ Douglas ต่างไม่เห็นพ้องต้องกัน เพราะครุ่นคิดว่าอายุห่างกันค่อนข้างมาก (ขณะนั้น Douglas อายุย่างเข้า 50 ปี, ขณะที่ Foster เพิ่งอายุ 34 ปี) ซึ่งพอเธอติดคิวถ่ายทำ Contract (1994) เลยตัดสินใจมองหานักแสดงคนใหม่ ทีแรกเล็ง Jeff Bridges ก่อนมาลงเอย Sean Penn

ตอนนั้น Penn เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงค่อนข้างโด่งดัง (จากการแต่งงาน-เลิกรา Madonna) ฝีไม้ลายมือด้านแสดงก็ถือว่าโดดเด่น แม้เป็นบทบาทเล็กๆปรากฎตัวแค่ไม่กี่นาที แต่ภาพลักษณ์หนุ่มหล่อ พ่อรวย ดูเหมือนเพลย์บอย พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้ ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย สำมะเลเทเมา จะว่าไปสะท้อนเข้ากับชีวิตจริงของเขาไม่น้อยเลยละ

แต่ทั้งหมดเป็นเพียงการสร้างภาพเท่านั้น! เพราะตัวละครนี้ได้เคยพานผ่านประสบการณ์ ‘เล่นเกม’ มาแล้วก่อนหน้า ซึ่งย่อมทำให้ชีวิตของเขาปรับเปลี่ยนแปลงไป เลยต้องการให้ความช่วยเหลือพี่ชาย มอบของขวัญวันเกิดอันทรงคุณค่าที่สุด และน่าจะเป็นผู้ออกแบบ/วางแผนกิจกรรมทั้งหลาย เพราะความสนิทสนิม รับรู้จักทุกสิ่งอย่างของ Nicholas (อ่านใจพี่ชายได้อย่างแม่นยำมากๆ)


ถ่ายภาพโดย Harris Savides (1957-2012) สัญชาติอเมริกัน จากตากล้องโฆษณา, Music Video เป็นผู้ถ่ายทำ Title Sequence เรื่อง Se7en (1995) ก้าวขึ้นมาถ่ายทำภาพยนตร์ The Game (1997), ผลงานเด่นๆ อาทิ Elephant (2003), American Gangster (2007), Zodiac (2007), Milk (2008), Greenberg (2010), The Bling Ring (2013) ฯลฯ

แม้สตูดิโอจะพยายามโน้มน้าวผู้กำกับ Fincher ให้เลือกสถานที่ถ่ายทำยัง Los Angeles แทน San Francisco เพราะสามารถลดทอนค่าใช้จ่ายได้มาก แต่เมืองแห่งนี้มีกลิ่นอาย ‘Wall Street-vibe’ ทั้งตึกระฟ้าสูงใหญ่ หรูหราทันสมัย เรียกได้ว่าถนนของมหาเศรษฐี ซึ่งเหมาะกับฐานะอันมั่งมีของ Nicholas Van Orton ได้เป็นอย่างเหมาะเจาะ

ซึ่งนั้นก็ความตั้งใจที่ผู้กำกับ Fincher บอกกับตากล้อง Savides ต้องการงานภาพมอบสัมผัส ‘rich and supple’ อ้างอิงจากคฤหาสถ์ภาพยนตร์ The Godfather (1972) มีความโอ่โถง หรูหรา มั่งคั่ง ด้วยเหตุนี้จึงใช้กล้อง Panavision Super 35 อัตราส่วน 2.39:1 ซึ่งสามารถมอบประสบการณ์กว้างยาวสุดลูกหูลูกตา (ขณะเดียวกันก็สามารถยัดเยียด ใส่รายละเอียดเข้าไปได้อีกมากมาย)

สถานที่ถ่ายทำหลักๆประกอบด้วย

  • คฤหาสถ์ Filoli หรือ Bourn-Roth Estate ตั้งอยู่ยัง Woodside, California ห่างไปเพียง 25 ไมล์จาก San Francisco
  • Van Orton Building ถ่ายทำยัง Merchant Exchange Building ตั้งอยู่ Leidesdorff Street, San Francisco
  • สำนึกงาน CRS คือ City Club ตั้งอยู่ย่าน Sansome Street, San Francisco
  • Nicholas ถูกลักพาตัวไปปล่อยยัง Mexicali, Baja California Norte ประเทศ Mexico
  • สถานที่ี่ Nicholas ตกลงมาจากดาดฟ้าคือโรงแรม Palace Hotel ตั้งอยู่ New Montgomery Street, San Francisco

อารัมบทฟีล์ม 16mm ร้อยเรียงภาพความทรงจำเมื่อครั้นยังเป็นเด็กของ Nicholas ในงานเลี้ยงวันเกิดที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม สนุกสนานหรรษา แต่ทั้งหมดนั้นล้วนสอดแทรกจิ๊กซอว์สำหรับบอกใบ้อะไรๆหลายๆสิ่งอย่าง

  • ภาพถ่ายคู่กับบิดา (รับบทโดย Charles Martinet) สังเกตว่าสีของฟีล์มมีความซีดเซียว (เมื่อเทียบกับช็อตอื่นๆที่ยังดูสดใส) และช่วงท้ายเขาก็เดินหันหลัง สูญหายไปกับความมืดมิด
  • คฤหาสถ์ที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ปัจจุบันหลงเหลือเพียง Nicholas และแม่บ้าน เท่านั้นเอง
  • ในงานเลี้ยงจะมีการแสดงหุ่นเชิด และตัวตลก … บอกใบ้เกมแรก
  • ไฮไลท์คือเพื่อนๆผลัก Nicholas ตกลงสระน้ำ … บอกใบ้ตอนจบ
  • บิดาส่งมอบเรือลำเล็กแก่ Nicholas เหมือนเพื่อให้เขากลายเป็นกัปตันคนใหม่ นำพาตระกูล Van Orton ออกเดินทางไปสู่เป้าหมาย

หนังเริ่มต้นแทบไม่แตกต่างจาก Se7en (1995) ตื่นเช้าขึ้นมา แต่งตัว สวมใส่เสื้อผ้า ดื่มกาแฟ แล้วออกเดินทางไปทำงาน ซึ่งตัวละครจะมีความเนี๊ยบ เจ้าระเบียบ ทุกสิ่งอย่างมีการจัดวาง เตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า และการขับรถก็วิ่งเป็นเส้นตรง ไม่เคยออกนอกลู่นอกทาง

กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนเข้ามาตรงๆจากภายนอก เข้าสู่ห้องทำงานของ Nicholas ให้ความรู้สึกเหมือนพระราชา เจ้าป่าผู้ยิ่งใหญ่ (ภาพวาดด้านหลังโต๊ะทำงาน แลดูเหมือนต้นไม้ ผืนป่า) สามารถชี้นิ้วออกคำสั่ง บงการชีวิตผู้คน อยากทำอะไร-ไม่ทำอะไร ก็พูดบอกเลขานุการ จัดตารางชีวิตโดยไม่ต้องสนอะไรใคร

อีกสิ่งน่าสนใจก็คือเงาสะท้อนในภาพวาด สังเกตว่ามันจะสองแสงไฟจากเบื้องบนเพดาน และโคมไฟบนโต๊ะทำงาน นี่เป็นความจงใจของผู้กำกับ Fincher อย่างแน่นอนนะครับ ผมคาดคิดว่าน่าจะสื่อถึงจุดสูงสุด=ตกต่ำสุด (แม้ว่า Nicholas จะประสบความสำเร็จอยู่ในจุดสูงสุดในอาชีพการงาน แต่ตัวเขากลับโดดเดี่ยวอ้างว้าง แทบไม่หลงเหลือใครข้างกาย เรียกว่าจุดตกต่ำสุดของชีวิตก็ว่าได้)

การออกแบบโปสการ์ด Happy Birthday ของ CRS ที่น้องชาย Conrade มอบให้พี่ชาย Nicholas ถือว่าน่าสนใจเดียวทีเดียว

  • ตัวอักษร Happy Birthday เป็นสีเงิน (Silver) คงสื่อถึงเงินๆทองๆกระมัง
  • พื้นหลังสีน้ำเงิน คงสื่อถึงท้องฟ้า สีแห่งอิสรภาพ
  • แก้วแชมเปญ สัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลอง ดื่มด่ำ และเมามาย (ไปกับสิ่งที่กำลังบังเกิดขึ้น)
  • แต่แทนที่จะใส่ไวน์หรือแชมเปญ กลับเป็นภาพดวงดาวระยิบระยับ ราวกับความเพ้อฝัน สิ่งเหนือจินตนาการ (Mission: Impossible)
  • และสังเกตว่าดวงดาวเหล่านั้นกระจัดกระจายออกมานอกแก้วแชมเปญ สื่อถึงแนวคิด ‘นอกรอบ’ หรือคือความเพ้อฝันที่จับต้องได้ สามารถบังเกิดขึ้นในชีวิตจริง

สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่า Christine (รับบทโดย Deborah Kara Unger) ปรากฎตัวครั้งแรกตอนไหน เธอทำงานเป็นสาวเสิร์ฟตั้งแต่วันเกิดของ Nicholas สังเกตว่ายืนอยู่ด้านหลัง Conrade บอกใบ้เล็กๆว่าพวกเขาอยู่ฝากฝั่ง/องค์กรเดียวกัน

ก่อนสามารถเซ็นสัญญา’เล่นเกม’กับ CRS จะมีการให้ทำแบบสอบถาม ตอบคำถาม ทดสอบสภาพร่างกาย ฟังดูเหมือนเป็นกระบวนการตรวจสอบสมรรถภาพลูกค้าก่อนเริ่มเล่นเกม แต่ผมครุ่นคิดว่าตั้งแต่ที่ Conrade มอบใบปลิวให้กับ Nicholas ในภัตตาคารแห่งนั้น นั่นคือจุดเริ่มต้นของเกมแล้วละ! ทั้งซีเควนซ์ที่สำนักงานแห่งนี้ มันคือจิตวิทยา ลวงล่อหลอกให้ตายใจ สังเกตจากคำถามแต่ละข้อที่หนังนำเสนอมา ล้วนจี้แทงใจดำตัวละครทั้งนั้น

  • I sometimes hurt small animals, true or false?
  • I feel guilty when I masturbate?
  • If I were to withness and accident,
    • คำถามข้อดีบอกใบ้เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยนะ

แต่สิ่งที่ผมสนใจคือตอบคำถามว่าพบเห็นภาพอะไร คนส่วนใหญ่น่าจะตอบในเชิงรูปธรรม เขาวงกต หญิงสาวนอนอาบแดดอยู่ริมชายหาด ขับรถตกเหว ผิดกับคำตอบของ Nicholas ล้วนเป็นความรู้สึกในเชิงนามธรรม (นี่ชวนให้ผมนึกถึงคำตอบของ Pierrot จากภาพยนตร์ Pierrot le Fou (1965))

  • เขาวงกต … confuse
    • สื่อถึงความซับซ้อนของ The Game ที่แลดูเหมือนเขาวงกต
  • หญิงสาวนอนอยู่ริมชายหาดที่มีสัตว์ร้าย … risky
    • นี่อ้างอิงถึงตัวละคร Christine แน่ๆเลย
  • ขับรถพุ่งตกเหว … whoops
    • มันมีฉากที่รถแท็กซี่ขับพา Nicholas พุ่งลงอ่าาว San Francisco Bay

อีกหนึ่งการทดสอบที่น่าสนใจคือให้รับชมฟุตเทจ แล้วแสดงความคิดเห็นอะไรสักอย่าง ไม่รู้ทำไมผมแอบนึกถึงการทดสอบจากภาพยนตร์ A Clockwork Orange (1971) ที่ท้ายสุดสามารถเปลี่ยนแปลง Alex DeLarge ให้กลายเป็นคนใหม่ … Nicholas เมื่อพานผ่าน The Game ก็ราวกับได้ถือกำเนิดใหม่เช่นกัน!

หลังเสร็จจากบททดสอบทั้งหมด จะมีฉากที่ Nicholas กำลังเล่น Squash (คล้ายๆเทนนิสแต่เล่นในห้อง ตีกับผนังกำแพง/Knockboard) เป็นกีฬาที่สามารถตีโต้คนเดียว (เล่นหลายคนก็ได้นะครับ สลับกันตีจนกว่าจะมีคนผิดพลาด) แต่หนังใช้การซ้อนภาพ ทำให้แลดูเหมือนหลายคนกำลังเล่นร่วมกับเขา … นี่เป็นฉากที่สะท้อนความโดดเดี่ยว จมปลักอยู่ตัวคนเดียวของ Nicholas ไม่ต้องการจะพึ่งพาผู้อื่นใด “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

สำหรับคนที่เพิ่งดูหนังครั้งแรก ย่อมไม่สามารถตระหนักถึงความสำคัญ แค่เพียงมองผ่านๆฉากนี้เท่านั้น แต่คนรับชมรอบสอง-สามขึ้นไป จักบังเกิดรอยยิ้มกริ่ม หัวเราะหึๆ จริงอย่างที่ทั้งสองว่าไว้ทุกประการ

You know, I envy you. I wish I could go back and do it for the first time all over again.

รับชมหนังในปัจจุบัน เห็นเจ้าหุ่นตัวนี้อาจจะสร้างความหลอกหลอนยิ่งกว่าเก่าๆ ก็เพราะพวกแฟนไชร์ Saw, It และโดยเฉพาะ Joker ได้สร้างภาพจำของสิ่งชั่วร้าย อันตราย แค่พบเห็นก็ทำให้ขนหัวลุกพอง … แทบจะเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติของผู้ชม(สมัยนี้)เลยก็ว่าได้

เจ้าหุ่นตัวตลกนี้ เคยพบเห็นในภาพความทรงจำสมัยเด็กของ Nicholas แต่การปรากฎตัวครั้งนี้ในตำแหน่งที่บิดากระโดดคฤหาสถ์ลงมาเสียชีวิต! ผมตีความว่าคือตัวแทนของบิดา (ผู้ล่วงลับ) ที่น้องชาย Conrade (ผู้ออกแบบเกมนี้) ต้องการให้พี่ชายตระหนัก กุญแจสำคัญ(คาบอยู่ในปาก)ที่สามารถไขปริศนาคั่งค้างคาอยู่ภายในจิตใจของเขา … การฆ่าตัวตายของบิดาเมื่อครั้งนั้น คือจุดที่หนังใช้เป็นต้นสาเหตุ จุดเริ่มต้นทุกสิ่งอย่างของ Nicholas

A recent poll suggests a staggering 57% of American workers believe there is a very real chance they will be unemployed within the next 5 to 7 years. But what does that matter to a bloated millionaire fat cat like you?

ผู้ประกาศข่าว Daniel Schorr

สำหรับผู้ชมสมัยนี้อาจไม่รู้สึกถึงเหตุการณ์เหนือจริงอะไร เข้าใจว่ามันคือการแทรกแซง/แฮคสัญญาณสื่อสาร คนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี เชี่ยวชาญระบบรักษาความปลอดภัยย่อมสามารถทำได้ มั้งนะ! แต่ความน่าสนใจของฉากนี้คือคำพูดในเชิงเสียดสีล้อเลียน ตลกร้าย กล่าวถึงความแตกต่างทางชนชั้น ฐานะ ประชาชนกว่า 57% กำลังจะตกงาน แต่มหาเศรษฐีแมวอ้วน (นึกถึงเจ้าเหมียว Garfield) จะไปยี่หร่าอะไร

Nicholas เริ่มต้นด้วยอคติต่อ CRS เลยครุ่นคิดว่าทุกสิ่งอย่างคือการจัดฉาก เลยปฏิเสธให้ความช่วยเหลือชายที่ขอทิชชู่ในห้องน้ำ จนกระทั่งสาวเสิร์ฟ Christine จู่ๆถูกไล่ออกจากงานเพราะความผิดพลาดของตนเอง เริ่มเกิดความลังเลสงสัย การแสดงออกของเธอดูไม่น่าจะใช่การเสแสร้งกระมัง เลยพยายามเข้ามาพูดคำขอโทษ ต้องการให้ความช่วยเหลืออะไรบางอย่าง

คนที่รับชมหนังจนจบย่อมตระหนักว่า Christine/Claire คือตัวละครสำคัญของ The Game เป็นบุคคลผู้มากประสบการณ์ สามารถโน้มน้าว ลวงล่อหลอก สรรหาสรรพข้ออ้างเหตุผลให้ Nicholas ยังคงดำเนินตามแผนการวางไว้ ได้อย่างแนบเนียน ระดับมืออาชีพ, ยกตัวอย่างฉากนี้ที่มีคน(แสร้งว่า)เจ็บป่วยล้มลงกลางถนน เธอเรียกร้องให้เขาเรียกรถพยาบาล แม้เจ้าตัวตระหนักว่านั่นคือแผนการของ CRS แต่จำต้องปล่อยไหลตามน้ำ แล้วถูกผลักไสขึ้นรถพยาบาล ติดกัปดักอยู่กลางตึก ต้องหาหนทางหลบหนีเอาตัวรอด

ถ้าคุณติดอยู่ในตึกที่ไฟดับ สามัญสำนึกก็น่าจะบอกว่าควรเดินลงบันไดสิว่ะ เห็นไฟลิฟท์ติดก็รีบตรงดิ่งเข้าไปเลย แม้งโคตรสิ้นคิด! แต่เอาเถอะว่าหนังต้องการสะท้อนพฤติกรรม ‘ติดสบาย’ ของคนมีพร้อมทุกสิ่งอย่าง อีกทั้งป้ายข้อความเขียนไว้ห้ามเปิดออก เราก็ควรทำตามคำแนะนำ … แต่แล้ว Nicholas ก็ถูกหญิงสาวชี้นำทาง ฉุดกระชากลาก ไถสีข้างถลอกไม่ใส่กางเกงใน (เป็นข้ออ้างที่ไร้สาระมากๆ)

หลังจากการปีนป่ายขึ้นลิฟท์ หาหนทางหลบหนีเอาตัวรอด ทั้งสองก็มาถึงจุดกระโดดลงถังขยะวัดใจ (อย่าไปเลียนแบบตามนะครับ ขาหักกันง่ายๆ) ผมรู้สึกว่าสองซีนนี้มันล้อกันอยู่ (ปีนป่ายขึ้นลิฟท์ <> กระโดดลงถังขยะ) แต่ที่ฮากลิ้งคือพนักงานร้านอาหารพูดภาษาไทย! ไปตั้งใจฟังกันให้ดีๆนะครับ

เมื่อตอน Se7en (1995) มีโคตรคำถามตอนไคลน์แม็กซ์ว่า “What in the Box?” นี่เป็นอีกครั้งที่ผู้กำกับ Fincher พยายามสร้างความฉงนสงสัยในลักษณะคล้ายๆกัน แม้กระเป๋าใส่เอกสารจะถูกเปิดออก พบเห็นภาพถ่ายโป๊เปลือยของ Christine (สำหรับจะแบล็กเมล์ Nicholas) แต่ก็ชวนให้ขบครุ่นคิดว่ามันแฝงนัยยะอะไรหรือเปล่า?

ผมมองกระเป๋าใส่เอกสาร (และสภาพห้องพักแห่งนี้) สะท้อนสิ่งที่คั่งค้างคาภายในจิตใจของ Nicholas เมื่อไขกุญแจเปิดออก พบเห็นห้องที่ไม่เคยเข้าพัก ภาพโป๊เปลือยหญิงสาวที่ไม่ใช่คนถ่าย สิ่งข้าวของวางเรียงราย กระจัดกระจาย เปรียบเทียบถึงการฆ่าตัวตายของบิดา ก็หาใช่ความผิด ความรับผิดของที่เขาจะต้องมาเสียสละ แบกรับภาระ ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อครอบครัว(แทนบิดา)มาจนถึงทุกวันนี้!

การละเลงกราฟฟิตี้ภายในคฤหาสถ์ Filoli แล้วพอเปิดไฟ Backlight/Neonlight ทำให้พบเห็นภาพสะท้อนแสงสว่างเปร่งประกายยามค่ำคืน นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงมุมกลับตารปัตร/ด้านมืดของพวกเศรษฐี บุคคลมั่งมี ชื่อเสียง-ประสบความสำเร็จ มักต้องแลกมาด้วยบางสิ่งชั่วร้าย ซุกซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ

บางคนอาจตีความจากบทเพลง White Rabbit ว่าคฤหาสถ์หลังนี้ได้กลายสภาพเป็น Wonderland สถานที่ในจินตนาการเพ้อฝัน เหนือจริงจนจับต้องไม่ได้ ซึ่งโลกใบนั้นแม้ดูสวยหรู น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ก็ซุกซ่อนเร้นภยันตราย เต็มไปด้วยสิ่งโฉดชั่วร้ายเช่นเดียวกัน

ตอนประมาณกึ่งกลางเรื่อง Conrade (แสร้งว่า)กลายเป็นคนหวาดระแวง สูญเสียสติแตก แถมยังพูดใส่ร้ายพี่ชายว่าเป็นสมาชิกของ CRS เลยพยายามวิ่งหลบหนี ตีตนให้ห่างไกล แต่จะมีช็อตหนึ่งตรงบันไดที่กำลังโต้ถกเถียงกันอย่างเสียงดัง ตำแหน่งระหว่างพวกเขาสะท้อนถึงสถานะทางครอบครัว Nicholas ยืนอยู่เบื้องบน (=หัวหน้าครอบครัว) โดยไม่คิดจะติดตามน้องชาย หรือมองเขาในระดับเสมอภาคเท่าเทียม

นี่เป็นอีกฉากที่ใช้ภาษาภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงปัญหาของ Nicholas ในเรื่องการวางตัวเอง แสดงตนว่าคือหัวหน้าครอบครัว ยังคงไม่สามารถยินยอมรับ เปิดอกให้ความสนใจผู้อื่น แม้แต่น้องชายแท้ๆก็ยังปลดปล่อยให้ไปตามทาง ส่วนตนเองหวนกลับหารถยนต์ที่ถูกยิงยางแตก (=ยึดติดกับคฤหาสถ์หลังเก่า ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ความมั่งมี/ยั่งยืนของครอบครัว)

ทิศทางชีวิตของ Nicholas ถ้ายังคงหมกมุ่นยึดติดกับทุกสิ่งอย่างจากอดีต ก็จะทำให้เขามีสภาพไม่ต่างจากขับรถ(แท็กซี่พา)พุ่งลงอ่าว San Francisco Bay หรือคือการฆ่าตัวตาย จมดิ่งลงสู่ความมืดมิด แต่ถ้ายังอยากมีชีวิต ก็ต้องใช้บานลูกบิดหมุนกระจก ตะเกียกตะกายออกก่อนถึงก้นเบื้องมหาสมุทร

สะพานที่พบเห็นคือ San Francisco–Oakland Bay Bridge (ไม่ใช่ Golden Gate Bridge) ถ่ายในย่าน Embarcadero ส่วนฉากใต้น้ำใช้แทงค์ขนาดใหญ่ของสตูดิโอ Sony Pictures Studios มีทีมสตั๊นแมน นักประดาน้ำมืออาชีพ ปลอดภัยกว่าสถานที่จริงเป็นไหนๆ

จากความหวาดระแวงพัฒนามาเป็นวิตกจริต Nicholas เริ่มเกิดความไม่พึงพอใจต่อ CRS เรียกทนายความ เจ้าหน้าตำรวจ ขึ้นไปตรวจสอบสำนักงาน แต่กลับไม่พบเจออะไรสักสิ่งอย่าง ค่ำคืนนั้นเดินทางไปหา Christine เผื่อว่าเธอจะมีข้อมูลอะไรใดๆ แต่บ้านพักกลับเต็มไปด้วยสิ่งน่าพิศวงสงสัย

  • ป้ายลดราคายังคงติดอยู่ในโคมไฟ
  • ตู้เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ หรือแม้แต่ภาพในกรอบยังเป็นของใครก็ไม่รู้
  • แต่สิ่งที่จี๊ดสุดๆ ก็คือศีรษะพระแม่มารีย์หล่นลงพื้น นี่สะท้อนถึงการเป็นคนไม่นับถือศาสนาของผู้กำกับ Fincher

เฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของอำนวยความสะดวก ทุกสิ่งอย่างในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ล้วนเป็น ‘ของปลอม’ ใครที่เคยรับชม Fight Club (1999) น่าจะตระหนักถึงนัยยะของ ‘วัตถุ’ ที่ไม่ได้มีมูลค่าทางจิตใจใดๆ เพียงสิ่งตอบสนองตัณหา ความพึงพอใจทางกาย ชีวิตสุขสบาย มนุษย์กลายเป็นทาส ขายตัวให้ระบอบทุนนิยม (และความเชื่อศรัทธาศาสนา)

แซว: อพาร์ทเม้นท์หลังนี้ลงเอยคล้ายๆแบบ Fight Club (1999) [ห้องพักของ Edward Norton โดนลอบวางเพลิง] คือถูกทำลายล้าง สูญเสียหายย่อยยับเยิน

ปลาหมอตายเพราะปาก คนพยายามวางตัวเฉลียวฉลาดอย่าง Nicholas กลับทำผิดพลาดในเรื่องง่ายๆ ตระหนักได้เมื่อสายเกินไป นั่นคือ Christine เป็นสมาชิกของ CRS ถูกส่งมาตีสนิท เพื่อล้วงข้อมูลทุกสิ่งอย่าง เป็นเขาเองพลั้งเผลอพูดบอกรหัสพร้อมบัญชีธนาคาร ทุกสิ่งอย่างเลยพังทลาย ล่มสลาย สูญหาย ล้มลงเหมือนคนตกตาย ชีวิตไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง!

ไม่รู้กี่วันเดือนปีพานผ่าน Nicholas ตื่นขึ้นมาจากสุสาน (ล้อกับพระเยซูฟื้นคืนชีพในเจ็ดวัน) ทำให้เขาเรียนรู้จักจุดตกต่ำสุดของชีวิต หลังสูญเสียทุกสรรพสิ่งอย่าง ต่อจากนี้เมื่อได้เดินทางกลับถึงบ้าน ก็เหมือนการถือกำเนิด เริ่มต้นใหม่ เต็มไปด้วยความโกรธเกลียด จะแก้แค้นเอาคืน CRS ให้สาสมกับที่ทำเอาไว้ … จากวิตกจริตกลายเป็นอาฆาตมาดร้าย

เกร็ด: เห็นว่าการถ่ายทำฉากนี้ที่ Mexico เพื่ออ้างอิงถึงภาพยนตร์เรื่อง Bring Me the Head of Alfredo Garcia (1974) กำกับโดย Sam Peckinpah

ระหว่างหาหนทางกลับบ้าน Nicholas ได้เรียนรู้จักการร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น และได้รับการอุปถัมภ์โดยคนขับรถบรรทุก (Baskin Robbins เป็นการแอบโปรโมทที่แนบเนียน และแฝงนัยยะถึงสภาพจิตใจที่เย็นลง(หรือเย็นชา)เหมือนไอศกรีม) นั่นเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อน ในอดีตสนแต่เพียง “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ช่วงเวลานี้ทำให้เรียนรู้เหตุผลของมนุษย์คือสัตว์สังคม ทำไมคนเราถึงต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน

แม้แต่อดีตภรรยายังยินดีให้ความช่วยเหลือ Nicholas เพราะเธอรับรู้ว่าโดยปกติแล้วเขาไม่เคยเอ่ยปากขออะไรใดๆ นี่ย่อมต้องมีเหตุการณ์บางสิ่งอย่างเกิดขึ้น … ตู้ปลาทองที่อยู่ด้านหลังดูเตะตาอย่างมากๆ อาจจะสื่อถึง

  • ปลาทองเป็นสัตว์สวยงาม (เหมือนเงินเหมือนทอง) สามารถเทียบแทนถึง Nicholas กำลังแหวกว่าย ตะเกียกตะกาย ดิ้นรนหาหนทางเพื่อต่อสู้กับ CRS
  • สะท้อนมุมมองของ Nicholas ต่ออดีตภรรยา เคยมีความสวยสาว เคยแต่งงาน/เลี้ยงไว้เหมือนปลาทองในตู้ ทำให้ชีวิตเธอสูญสิ้นอิสรภาพ จนกระทั่งเลิกราหย่าร้างกับเขา

การพบเจอเจ้าหน้าที่ CRS เคยเซ็นสัญญา ตอบแบบสอบถาม ยังสวนสัตว์แห่งหนึ่ง หน้ากรงสิงโต สามารถตีความถึงอารมณ์อันเกรี้ยวกราดของ Nicholas พร้อมจะขย้ำ กระโจนเข้าหา แอบซุกซ่อนปืนในกระเป๋าเสื้อผ้า พร้อมเผชิญหน้าศัตรูผู้อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง

เมื่อมาถึงสำนักงาน CRS ยังห้องอาหาร (น่าจะสื่อถึงความกล้ำกลืนของ Nicholas) พบเห็น Christine/Claire จับเป็นตัวประกันก่อนลากพามายังชั้นบนดาดฟ้า นั่นคือจุดสูงสุดของความอาฆาตพยาบาท เกรี้ยวกราดโกรธเกลียด เรียกร้องให้เธออธิบายทุกสิ่งอย่าง คำพูดของหญิงสาวนั้นตรงไปตรงมา แต่เขากลับปฏิเสธที่รับฟัง สูญเสียความสามารถในการแยกแยะถูก-ผิด จนกระทั่งเมื่อน้องชาย Conrade เปิดประตูออกมาเพื่อจะฉลองแชมเปญ

นั่นเองคือความหมดสิ้นหวังของ Nicholas แม้อยู่บนจุดสูงสุดชั้นดาดฟ้า แต่สภาวะทางอารมณ์ตกต่ำถึงขีดสุด ร่างกายจึงค่อยๆก้าวเดินโดยอัตโนมัติ (ตามรอยบิดา) ‘สูญเสียสติไปชั่วขณะ’ เพื่อให้สอดคล้องระดับเดียวกับสภาพจิตใจของตนเอง … เอาจริงๆผมว่าการกระทำของ Nicholas มันไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ (เป็นคนเห็นแก่ตัวมาทั้งชีวิต เพิ่งจะเริ่มครุ่นคิดถึงหัวอกผู้อื่น ก็แสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนั้นออกมาเลยรึ?) แต่ก็เอาเถอะถ้าสามารถนำพาอารมณ์ผู้ชม(ครั้งแรก)ไปถึงจุดนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วละ

Spike Jonze ขณะนั้นยังเป็นผู้กำกับ Music Video ในสังกัด Propaganda Films ค่อนข้างจะมีชื่อเสียงพอสมควร ก่อนสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Being John Malkovich (1999)

หลังจากพานผ่านประสบการณ์ดังกล่าว Nicholas สามารถปรับเปลี่ยนตนเองได้ไหม?? นี่เป็นคำถามโลกแตกที่คงไม่มีใครสามารถให้คำตอบ หรือตัวละครจะยินยอมขึ้นรถไปกับ Christine/Claire หรือไม่? แต่ผู้ชมจักบังเกิด ‘ความเชื่อ’ ว่ามันต้องมีบางสิ่งอย่างภายในผันแปรเปลี่ยนไป เพราะเขาสามารถเอาชนะ ‘ความกลัว’ ที่จักเปลี่ยนแปลงตนเองได้สำเร็จ

บุคคลที่เอาชนะ ‘ความกลัว’ จะตระหนักว่าตนเองสามารถครุ่นคิดทำอะไรได้ทุกสิ่งอย่าง!

ตัดต่อโดย James Haygood ร่วมงานผู้กำกับ David Fincher ตั้งทำโฆษณา Music Video มีผลงานภาพยนตร์ อาทิ The Game (1997), Fight Club (1999), Panic Room (2002), Where the Wild Things Are (2009), Tron: Legacy (2010) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตา Nicholas Van Orton ตั้งแต่วันเกิดครบรอบอายุ 48 ปี ฝันถึงความทรงจำวัยเด็กที่เป็นปมอยู่ในใจ เมื่อรับประทานอาหารกลางวันกับน้องชาย Conrad ยินยอมเข้าร่วม/เซ็นสัญญากับ Consumer Recreation Services (CRS) หลังจากนั้นจักได้พบเจอประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตไปโดยสิ้นเชิง

  • อารัมบท ก่อนเริ่มต้น The Game
    • ฝันถึงความทรงจำวัยเด็ก ที่เป็นปมอยู่ในใจของ Nicholas
    • กิจวัตรเช้าวันทำงาน
    • รับประทานอาหารกลางวันกับน้องชาย Conrad
    • ยินยอมเข้าร่วม ทดสอบร่างกาย และเซ็นสัญญากับ CRS
  • เริ่มต้น The Game
    • ช่วงเวลาแห่งความฉงนสงสัย
      • พบเจอกับบุคคลที่เคยพานผ่าน The Game สอบถามประสบการณ์ แต่ได้กับการอำนวยอวยพรขอให้โชคดีมีชัย
      • การมาถึงของตุ๊กตาปริศนา เกิดอะไรขึ้นกับรายการโทรทัศน์
      • เรื่องวุ่นๆกับสาวเสิร์ฟ Christine พบเจอเหตุการณ์สุดแปลกประหลาด
    • เริ่มรู้สึกว่าหลายสิ่งอย่างเลยเถิดไปไกล เกิดความหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดกระทำสิ่งร้ายๆ
      • Nicholas เริ่มเกิดความรำคาญใจต่อกิจกรรมของ CRS ถูกไล่ล่า วางยา ลักพาตัว โจรกรรมทรัพย์สิน ตื่นขึ้นมายังสถานที่ไหนก็ไม่รู้
    • จนเมื่อมิอาจอดรนทนได้อีกต่อไป ต้องการล้างแค้น เอาคืน โต้ตอบกลับ
      • เมื่อหวนกลับมายังคฤหาสถ์ของตนเอง หาหนทางที่จะเผชิญหน้าบุคคลผู้เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง
  • ปัจฉิมบท หลังสิ้นสุด The Game

ผู้กำกับที่มาจากสายโฆษณา/Music Video มักมีลวดลีลาในการตัดต่อที่เต็มไปด้วยลูกเล่น ลวดลีลา เทคนิคจัดจ้าน แต่สิ่งน่าทึ่งใน ‘สไตล์ Fincher’ คือความแนบเนียน ต่อเนื่อง ลื่นไหล และมีลักษณะของ ‘formalism’ ผ่านการครุ่นคิดด้วยเหตุผลในทุกๆเสี้ยววินาทีตัดต่อ


เพลงประกอบโดย Howard Leslie Shore (เกิดปี 1946) นักแต่งเพลงชาว Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario ค้นพบความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ มีความสามารถเล่นดนตรีได้หลากหลาย เลยเข้าเรียนต่อ Berklee College of Music จากนั้นเป็นสมาชิกวงดนตรี Lighthouse แนว Jazz Fusion, ต่อด้วย Music Director ให้รายการโทรทัศน์อย่าง Saturday Night Live, สำหรับภาพยนตร์เริ่มต้นจากเป็นขาประจำ David Cronenberg อาทิ The Brood (1979), The Dead Zone (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Silence of the Lambs (1991), Ed Wood (1994), Se7en (1995), The Game (1997), The Lord of the Rings trilogy (2001-03) ** คว้ารางวัล Oscar ทั้งหมด 3 ครั้ง, Gangs of New York (2002), The Aviator (2004), Hugo (2011) ฯลฯ

งานเพลงของ Shore พยายามทำตัวให้กลมกลืนไปกับพื้นหลัง ไม่ให้โดดเด่นเกินหน้าเกินตา แต่เต็มไปด้วยความนุ่มลึก สร้างบรรยากาศอึมครึม ชวนให้พิศวงสงสัย นี่ฉันกำลังจะเผชิญหน้าอะไร ค่อยๆทวีความแปลกพิศดาร ไม่น่าเป็นไปได้ กลายเป็นหวาดระแวง วิตกจริต สิ้นหวังกับชีวิต

โดยปกติแล้วบทเพลง Happy Birthday มักเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง แต่ท่วงทำนองของ The Game (1997) กลับมีบรรยากาศเงียบๆ เหงาๆ เวิ้งว้างว่างเปล่า เพราะเป็นวันที่ทำให้ Nicholas เต็มไปด้วยความโศกเศร้าเสียใจ จากการฆ่าตัวตายของบิดา ทำให้เขาต้องแบกรับภาระ หน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัว สูญเสียความเป็นเด็ก ไม่สามารถเพลินเพลินกับความบันเทิงเริงรมย์ใดๆได้อีก

ผมข้ามมาบทเพลงไคลน์แม็กซ์ของหนัง Pulling Back the Curtain หลังจากที่ Nicholas พลั้งเผลอเหนี่ยวไกใส่น้องชาย Conrad บังเกิดความสับสน งุนงง ปั่นป่วนทรวงใน นี่มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น ไม่สามารถครุ่นคิด ควบคุมสติอารมณ์ รู้สึกผิดหวังในตนเองอย่างรุนแรง และตำแหน่งที่ยืนอยู่มันก็ยั่วยวนเหลือเกินให้ต้องทำการกระโดดลงมา

บทเพลงนี้มอบสัมผัสอันวูบวาบ สั่นสะท้านทรวงใน ปั่นป่วนหัวใจ นี่ฉันพลั้งเผลอทำบ้าอะไร เข่นฆ่าน้องชายแท้ๆของตัวเอง เกิดความตระหนักถึงทั้งหมดทั้งมวล ที่ทำมาทั้งหมดมีประโยชน์อันใด ชีวิตฉันเกิดมาเพื่ออะไร

อีกบทเพลงแถมท้ายคือ White Rabbit แต่งโดย Grace Slick, บันทึกเสียงโดยวงร็อค Jefferson Airplane ประกอบอัลบัม Surrealistic Pillow (1967) เคยไต่สูงสุดอันดับ 8 ชาร์ท Billboard Hot 100 และติดอันดับ 500 Greatest Songs of All Time ของนิตยสาร The Rolling Stones

เกร็ด: นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้ หนังใช้เคยใช้ประกอบภาพยนตร์ Platoon (1986), Fear and Loathing in Las Vegas (1998), ล่าสุดในตัวอย่างภาพยนตร์ The Matrix Resurrections (2021)

บทเพลงนี้ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรม Alice’s Adventures in Wonderland ของ Lewis Carroll เกี่ยวกับเด็กสาว Alice หลงเข้าไปใน Wonderland ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวละคร Nicholas กำลังพบเจอเหตุการณ์ต่างๆที่ไม่สามารถครุ่นคิดจินตนาการ อธิบายได้ด้วยเหตุผลหรือตรรกะใดๆ ต้องใช้ความรู้สึก สันชาติญาณ เพื่อให้ตนเองสามารถดิ้นรนเอาตัวรอดกลับออกมาจากเรื่องร้ายๆเหล่านั้น

One pill makes you larger
And one pill makes you small
And the ones that mother gives you
Don’t do anything at all
Go ask Alice
When she’s ten feet tall

And if you go chasing rabbits
And you know you’re going to fall
Tell ’em a hookah-smoking caterpillar
Has given you the call
Call Alice
When she was just small

When the men on the chessboard
Get up and tell you where to go
And you’ve just had some kind of mushroom
And your mind is moving low
Go ask Alice
I think she’ll know

When logic and proportion
Have fallen sloppy dead
And the White Knight is talking backwards
And the Red Queen’s off with her head
Remember what the dormouse said
Feed your head
Feed your head

The Game (1997) นำเสนอเรื่องราวของบุคคลที่อยู่บนจุดสูงสุด ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง ได้รับนับหน้าถือตาจากผู้คนมากมาย แต่กลับใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียด เจ้าระเบียบ ไร้ความประณีประณอม เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่เคยสนอะไรใครอื่นนอกจากตนเองคือจุดศูนย์กลางจักรวาล

บุคคลนั้นกำลังได้รับของขวัญวันเกิดที่สามารถปรับเปลี่ยนมุมมอง ความครุ่นคิด จากเคยหมกมุ่นยึดติดอยู่แต่ตัวตนเอง ให้สามารถเปิดออก ยินยอมรับความสัมพันธ์ ก้าวข้ามผ่านปมอันเลวร้ายจากอดีต ราวกับได้ถือกำเนิด เริ่มต้นใหม่ เรียนรู้จักการใช้ชีวิต เพลิดเพลินกับลมหายใจที่ยังหลงเหลืออยู่

ฟังดูตัวละคร Nicholas ก็คืออวตารของผู้กำกับ Fincher ที่เคยมีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตนเอง ครุ่นคิดว่าฉันเก่ง จนกระทั่งพบเจอประสบการณ์เลวร้ายอย่างรุนแรงจากการสรรค์สร้าง ALIEN³ (1992) ถึงขนาดไม่สามารถยินยอมรับความจริง ตกอยู่ในความหมดสิ้นหวัง กลายเป็นคนหวาดระแวง วิตกจริต มองโลกในแง่ร้ายโดยพลัน

I thought I’d rather die of colon cancer than do another movie.

David Fincher กล่าวถึงตราบาปต่อ ALIEN³ (1992)

แต่หลังจากพานผ่านช่วงเวลาดังกล่าว มันก็ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง เพราะนั่นคือประสบการณ์ชีวิต สิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้าเข้ากับตนเองถึงเริ่มเข้าใจอะไรๆ บทเรียนสำหรับปรับตัวแก้ไข ก้าวข้ามผ่านความกลัว สิ่งเลวร้ายหลอกหลอนทรวงใน ให้สามารถเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

The purpose of The Game is to take your greatest fear, put it this close to your face and say ‘There, you’re still alive. It’s all right.’

จริงๆแล้วผู้กำกับ Fincher สามารถก้าวข้ามผ่านความกลัว เรียกความเชื่อมั่นในตนเองกลับคืนมาเมื่อตอนกำกับ Music Video บทเพลง Love Is Strong (1994) เลยครุ่นคิดจะสรรค์สร้าง The Game ตั้งแต่ตอนนั้น บังเอิญโชคชะตานำพาให้บังเกิด Se7en (1995) … ซึ่งสามารถตีความว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือก้าวกระโดด(จากตึก)ของผู้กำกับ Fincher ได้เช่นกัน

ความกลัวเป็นสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของตัวเรา อาจเพราะมันคือครั้งแรก ไม่รับรู้ว่าต้องทำยังไง ไม่เคยมีประสบการณ์ใดๆมาก่อน แต่หากมีการซักซ้อม เตรียมพร้อม จักสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นใจ และเมื่อพานผ่านการเปิดบริสุทธิ์ครั้งนั้น อาการขลาดหวาดกลัวก็พลันสูญสิ้น หลังจากนี้คือก้าวสู่โลกใบใหม่ ดำเนินชีวิตตามเส้นทางเพ้อฝันไว้

Whether he is a sinner I do not know. One thing I do know, that though I was blind, now I see.

John 9:25

สื่อภาพยนตร์ก็ไม่ต่าง ‘The Game’ นำเสนอสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ (Mission: Impossible) โรงงานผลิตความฝัน ให้พบเห็นเป็นรูปธรรม ผู้รับชมภาพยนตร์ย่อมบังเกิดประสบการณ์อันน่าทึ่ง ตราตรึง จดจำฝังใจ บางครั้งอาจถึงขั้นปรับเปลี่ยนมุมมองชีวิต เข้าใจวิถีของโลกที่แตกต่างออกไป

แซว: Fight Club (1999) ถือได้ว่าเป็นภาคต่อของ The Game (1997) [จะนับรวม Se7en (1995) ให้เป็นไตรภาคเลยยังได้] จากเคยมีเพียงไคลน์แม็กซ์ตอนจบหนึ่งเดียว เรื่องนั้นพยายามนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘ประสบการณ์ชีวิต’ นับครั้งไม่ถ้วนเลยละ!


ความสำเร็จล้นหลามของ Se7en (1995) ส่งผลให้ The Game (1997) ได้งบประมาณสูงถึง $50 ล้านเหรียญ (บางแหล่งข่าวรายงานว่าอาจถึง $70 ล้านเหรียญ) แต่กลับสามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกาได้เพียง $48.3 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $109.4 ล้านเหรียญ ดูแล้วน่าจะขาดทุนพอสมควร แต่ก็ได้รับกระแสคัลท์จากยอดจำหน่าย Home Video เลยน่าจะพอคืนทุนกระมัง

สำหรับคำวิจารณ์ของหนัง เต็มไปด้วยเสียงชื่นชมการแสดงของ Michael Douglas แต่เรื่องราวและองค์ประกอบอื่นๆกลับค่อนข้างผสมๆ (Mixed Review) เต็มไปด้วยช่องโหว่ที่พยายามแถไถจนสีข้างถลอก โดยเฉพาะไคลน์แม็กซ์ที่แม้สร้างความประหลาดใจ แต่มันก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่

Fincher’s effort to cover up the plot holes is all the more noticeable for being strained … The Game has a sunny, redemptive side that ill suits Fincher and ill serves audiences that share his former affinity for loose ends hauntingly left untied.

Peter Travers นักวิจารณ์จากนิตยสาร The Rolling Stone

ผู้กำกับ Fincher ภายหลังเคยให้สัมภาษณ์บอกว่า คิดผิดจริงๆที่สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งๆได้รับคำเตือนจากภรรยา/โปรดิวเซอร์ Ceán Chaffin

She was extremely vociferous, for instance, when she said, “Don’t make The Game” and in hindsight, my wife was right. We didn’t figure out the third act, and it was my fault, because I thought if you could just keep your foot on the throttle it would be liberating and funny.

David Fincher

ปัจจุบันหนังไดัรับการสแกนดิจิตอล ‘digital transfer’ ด้วยการควบคุมดูแลของตากล้อง Harris Savides คุณภาพโดย Criterion Collection น่าจะดีที่สุดแล้วกระมัง

ส่วนตัวค่อนข้างผิดหวังจากการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้รอบที่สอง แต่ก็อยากแนะนำสำหรับคนที่ยังไม่เคยพานผ่านประสบการณ์ครั้งแรก ไม่แน่ว่าอาจชื่นชอบหลงใหล เก็บเอาความประทับใจนั้นฝังลึกทรวงใน … ก็อย่างช่วงต้นเรื่องที่มีตัวประกอบพูดแสดงความอิจฉาริษยาต่อคนยังไม่เคยพานผ่าน ‘The Game’ ผมเองก็คนหนึ่งละ!

You know, I envy you. I wish I could go back and do it for the first time all over again.

แนะนำคอหนัง Thriller ชื่นชอบความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ไม่สามารถคาดเดาตอนจบ (plot twist), เหมาะสำหรับคนนิสัยเย่อหยิ่ง ทะนงตน ชอบวางตัวหัวสูงส่ง หัวหน้างาน พ่อบ้านจอมเผด็จการ อาจสร้างแรงบันดาลใจได้ระดับหนึ่ง, แฟนๆนักแสดง Michael Douglas ห้ามพลาดเลยละ!

ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะสำหรับมอบเป็น “ของขวัญ” วันเกิด วันขึ้นปีใหม่ หรือวันสำคัญใดๆ ให้กับบุคคลที่คุณรู้สึกว่ามีความเคร่งเครียด เอาจริงเอาจังกับการใช้ชีวิตมากเกินไป พยายามบีบบังคับให้เขาดูจนจบนะครับ เชื่อว่าน่าจะสร้างแรงบันดาลใจ เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆได้อย่างแน่นอน

จัดเรต 13+ กับอาการหวาดระแวง ความรุนแรง เหตุการณ์คาดไม่ถึงมากมาย

คำโปรย | The Game ของผู้กำกับ David Fincher คือ”ของขวัญ”ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชม แต่อาจสร้างความขืนขมในรอบถัดๆไป
คุณภาพ | ของขวัญแห่งความประทับใจ
ส่วนตัว | แรกชื่นชอบ ไม่รู้ลืม

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: