The Girl Who Leap Through Time

Toki o Kakeru Shōjo (2006) Japanese : Mamoru Hosoda ♥♥♥♡

(29/7/2021) ถ้าเราสามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต โลกจะน่าอยู่/ชีวิตมีความสุขขึ้นจริงๆนะหรือ? นั่นคือสิ่งที่ผู้กำกับ Mamoru Hosoda พยายามปรับเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากต้นฉบับนวนิยาย ผลลัพท์กลับกลายเป็นความยุ่งเหยิง สับสนอลม่าน หลายสิ่งอย่างค้างๆคาๆ แต่อย่างน้อยก็เป็นบทเรียนสอนให้รู้ว่า จงมีความสุขอย่างพอเพียง ครุ่นคิดถีงคนอื่นบ้าง และทำวันนี้ให้ดีที่สุด

The Girl Who Leapt Through Time (2006) เป็นอนิเมะที่มีเรื่องราวเลอะเทอะ เละเทะ ทำไมลูกวอลนัตถีงสามารถย้อนเวลาได้? เงื่อนไขการกระโดดคืออะไร? เลือกเวลาเจาะจงยังไง? ทำไมตอนเฉลยที่มาที่ไป เวลาถีงหยุดนิ่ง? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Time Paradox ไม่สมเหตุสมผลเลยสักนิด! ยิ่งคิดยิ่งเต็มไปด้วยข้อสงสัย แต่ทั้งหมดกล่าวมาเราสามารถเขวี้ยงขว้างมันทิ้งไป แล้วดื่มด่ำกับพัฒนาการตัวละคร จากอีเด็กเวรจัญไรค่อยๆเรียนรู้ความผิดพลาด และ(อาจ)กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ในอนาคต

ยังมีอีกหลายองค์ประกอบของอนิเมะ ที่คุณภาพค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐาน ‘cheap production’ อาทิ ออกแบบตัวละครเหมือนภาพร่าง ไม่ค่อยมีรายละเอียดนัก (บางทีเห็นตัวละครไกลๆ ก็วาดแค่หน้าเปล่าๆ ไร้ตา-หู-จมูก-ปาก), อนิเมชั่นบิดๆเบี้ยวๆ ขณะขยับเคลื่อนไหวดูกระตุก ไม่ไหลลื่น, เสียงพากย์ไร้จิตวิญญาณของ Chiaki ฯลฯ

ปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากผู้กำกับ Mamoru Hosoda เพราะนี่คือภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกที่สร้างขี้นจากความต้องการของตนเอง (ผลงานกำกับอนิเมะเรื่องก่อนหน้านี้ ล้วนเป็นการได้รับใบสั่ง มอบหมายจากสตูดิโอทั้งนั้น) เลยยังเป็นการทดลองผิดลองถูก คิดหน้าไม่ถึงหลัง ขาดประสบการณ์เอาตัวรอดอยู่บ้าง … ซี่งก็เหมือนกับตัวละครเปะๆเลยนะ Makoto หลงระเริงไปกับพลังได้รับ จนกระทั่งภัยพิบัติถามหา ค่อยรู้ซี้งถีงคุณค่าในสิ่งสูญเสียไป

แต่ทั้งหมดนี้นั้น น่าครุ่นคิดว่าเป็นความจงใจของผู้กำกับหรือเปล่า???


Mamoru Hosoda (เกิดปี 1967) ผู้กำกับ/นักอนิเมเตอร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kamichi, Toyama บิดาเป็นวิศวกรรถไฟ ส่วนมารดาประกอบอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า วัยเด็กหลังจากมีโอกาสรับชม The Castle of Cagliostro (1979) เกิดความชื่นชอบหลงใหล โตไปฝันอยากทำงานสายนี้ เข้าศึกษาสาขาจิตรกรรม Kanazawa College of Art จบออกมาได้งานนักอนิเมเตอร์ที่ Toei Animation ระหว่างนั้นก็ซุ่มทำอนิเมะขนาดสั้น พร้อมยื่นใบสมัครงานกับสตูดิโอ(ในฝัน) Ghibli แต่ทุกครั้งล้วนถูกตีตกกลับ จีงค่อยๆฝึกปรือฝีมือ สะสมประสบการณ์ เริ่มสร้างชื่อด้วยผลงานกำกับแฟนไชร์ Digimon Adventure จนไปเข้าตาโปรดิวเซอร์ Toshio Suzuki (แห่งสตูดิโอ Ghibli) ชักชวนมากำกับ Howl’s Moving Castle

แน่นอนว่านั่นคือโปรเจคในฝันแรกของ Hosoda เพราะกำลังจะได้มีโอกาสร่วมงานสตูดิโอ Ghibli แต่ไปๆมาๆเพราะคำร้องขอของโปรดิวเซอร์ที่ว่า ‘ให้ทำอนิเมะเรื่องนี้ ในแบบที่ผู้กำกับ Miyazaki จะทำ’ เห้ย! มันไม่ใช่แล้วละ

“I was told to make [the movie] similar to how Miyazaki would have made it, but [I] wanted to make [my] own film the way [I] wanted to make it”.

Mamoru Hosoda

นั่นเองทำให้โลกทัศน์ของ Hosoda ต่อสตูดิโอ Ghibli เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง! เขาตัดสินใจถอนตัวออกมากลางคัน (ด้วยข้ออ้างสุดคลาสสิก ความคิดสร้างสรรค์แตกต่าง) ย้อนกลับไปร่วมงาน Toei Animation ได้รับมอบหมายกำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น One Piece: Baron Omatsuri and the Secret Island (2005) จากนั้นย้ายมาสตูดิโอ Madhouse และได้รับโอกาสเลือกกำกับอนิเมะเรื่องแรกที่เจ้าตัวมีสนใจจริงๆ

โดยโปรเจคที่ Hosoda ตัดสินใจเลือกก็คือ นวนิยายไซไฟ Toki wo Kakeru Shōjo แปลตรงๆว่า Girl who Soars Through Time แต่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ The Girl Who Leapt Through Time แต่งโดย Yasutaka Tsutsui แรกเริ่มตีพิมพ์ลงนิตยสาร(รายเดือน) Chūgaku Sannen Course ตั้งแต่พฤศจิกายน ค.ศ. 1965 ยกเว้นตอนจบย้ายมาตีพิมพ์นิตยสาร Taka Ichi Course เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1966, รวมเล่มตีพิมพ์ปี 1967 โดยสำนักพิมพ์ Kadokawa Shoten

เรื่องย่อของต้นฉบับนวนิยาย, Kazuko Yoshiyama นักเรียนมัธยมชั้นปีที่สาม ขณะกำลังทำความสะอาดห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ จู่ๆได้กลิ่นหอมเหมือนดอกลาเวนเดอร์ แล้วเป็นลมล้มพับลงทันที เมื่อตื่นขึ้นมาก็ใช้ชีวิตโดยปกติจนกระทั่งสามวันให้หลัง เธอสามารถย้อนเวลากลับไป 24 ชั่วโมงก่อนหน้า แก้ไขโศกนาฎกรรมที่กำลังจะบังเกิดขึ้นกับเพื่อนๆ นั่นเองทำให้เจ้าตัวอยากไขปริศนา มันเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง ด้วยเหตุนี้เลยตัดสินใจย้อนกลับไป 4 วันก่อนหน้า และได้ค้นพบนักท่องเวลา Ken Sogoru เล่ามาจากอนาคตปี ค.ศ. 2660 อธิบายถึงการทดลองวิทยาศาสตร์ ค้นพบสูตรยาย้อนเวลา โดยไม่รู้ตัว Kazuko ค่อยๆตกหลุมรักชายคนนี้ นั่นทำให้เขาตัดสินใจลบความทรงจำของเธอ แต่ถึงอย่างนั้นทุกครั้งเมื่อได้กลิ่นลาเวนเดอร์ หญิงสาวจะมีความรู้สึกที่แสนอบอุ่นบังเกิดขึ้นภายใน

เกร็ด: Yasutaka Tsutsui (เกิดปี 1934) เป็นนักเขียนนวนิยายไซไฟ ที่โด่งดังมากในญี่ปุ่น (ผมว่าอาจเทียบเท่า Isaac Asimov ของสหรัฐอเมริกา, H. G. Wells ของสหราชอาณาจักร) ผลงานเด่นๆนอกจาก The Girl Who Leapt Through Time (1967) ก็ยังมีอีกเรื่องที่หลายคนน่าจะรู้จัก Paprika (1993) [ดัดแปลงเป็นอนิเมะโดย Satoshi Kon]

ความนิยมอันล้นหลาม ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าของนวนิยายเล่มนี้ (เป็นผลงานขายดีที่สุดของ Tsutsui ด้วยนะ) ทำให้ได้รับการดัดแปลงเป็นสื่ออื่น ภาพยนตร์ ซีรีย์โทรทัศน์ ละครเวที มังงะ อนิเมะ ฯลฯ นับครั้งไม่ถ้วนทีเดียว

  • แรกสุดคือฉบับฉายทางโทรทัศน์ Zoku Taimu Toraberâ หรือ Time Traveler and Zoku Time Traveler ออกอากาศปี 1972 นำแสดงโดย Mayami Asano
  • ฉบับภาพยนตร์ครั้งแรกปี 1983 กำกับโดย Nobuhiko Ōbayashi, นำแสดงโดย Tomoyo Harada
  • ฉบับซีรีย์โทรทัศน์ 1994 ความยาว 5 ตอน กำกับโดย Masayuki Ochiai & Yūichi Satō, นำแสดงโดย Yuki Uchida, ที่น่าสนใจคือเพลงประกอบโดย Joe Hisaishi
  • ฉบับภาพยนตร์ 1997 กำกับโดย Haruki Kadokawa, นำแสดงโดย Nana Nakamoto
  • ฉบับภาพยนตร์อนิเมชั่น 2006 กำกับโดย Mamoru Hosoda
  • ฉบับภาพยนตร์ Time Traveller: The Girl Who Leapt Through Time (2010) กำกับโดย Masaaki Taniguchi, นำแสดงโดย Riisa Naka
  • ฉบับซีรีย์โทรทัศน์ปี 2016 ความยาว 5 ตอน
  • ฉบับละครเวที 2017

ขณะที่มังงะ มีการดัดแปลงถีง 3 ครั้ง

  • ครั้งแรกปี 2004 ตั้งชื่อว่า The Girl Who Runs Through Time วาดโดย Gaku Tsugano จำนวน 2 เล่ม
  • ครั้งสองดัดแปลงจากภาพยนตร์อนิเมะ วาดโดย Ranmaru Kotone ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Shōnen Ace ระหว่างเมษายน – มิถุนายน 2006
  • Toki o Kakeru Shōjo: After เป็นอารัมบท (หรือปัจฉิมบทก็ไม่รู้นะ) สำหรับภาพยนตร์ฉบับปี 2010 ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Young Ace

แซว: ผมไม่เคยอ่านนวนิยายเล่มนี้นะ แต่ได้พบเห็นคอมเมนต์/รีวิว แทบทั้งนั้นต่างบ่นขรม ด่าก้น เทียบไม่ได้กับอนิเมะหรือฉบับภาพยนตร์ … ฟังหูไว้หูนะครับ อยากรู้ก็ลองไปหาอ่านดูเอง

สำหรับฉบับภาพยนตร์อนิเมชั่น ผู้กำกับ Hosoda มอบหมายการดัดแปลงบทให้(ว่าที่)นักเขียนขาประจำ Satoko Okudera (เกิดปี 1966) ผลงานเด่นๆ อาทิ Ohikkoshi (1993), Gakkō no Kaidan (1995), Kaidan (2007) ฯ ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์แนว Horror … ผมว่านี่เป็นตัวเลือกน่าสนใจนะ จริงอยู่ Okudera ยังไม่เคยมีประสบการณ์พัฒนาบทอนิเมะ/หรือการย้อนเวลา แต่สิ่งที่ตัวละครกำลังจะประสบพบ มันมีองค์ประกอบความ ‘Horror’ อยู่ไม่น้อยทีเดียว!

เนื้อหาของอนิเมะมีความแตกต่างจากต้นฉบับนวนิยายค่อนข้างมาก แต่ยังคงเค้าโครงเรื่อง เหตุการณ์สำคัญๆ และคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์บางอย่างไว้ (จริงๆอนิเมะไม่ใส่คำอธิบายปรากฎการณ์ย้อนเวลาเลยนะ เหมือนว่าถ้าคุณอยากเข้าใจก็จงไปหานิยายอ่านเอา … ซะงั้น!)

Makoto Konno นักเรียนหญิงชั้น ม.6 ระหว่างไปส่งสมุดรายงานที่ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ สะดุดล้มทับลูกวอลนัท แล้วจู่ๆก็ตระหนักว่าตนสามารถย้อนเวลา ‘time-leap’ ด้วยการกระโดดแล้วม้วนหน้า นั่นสร้างความคึกคะนอง หลงระเริง นำพลังดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในเรื่องไร้สาระ สนองความพึงพอใจตนเองเป็นหลัก จนกระทั่งวันหนึ่งค้นพบตัวเลขที่แขนกำลังนับถอยหลัง ลดน้อยลงจนใกล้เหลือศูนย์ วินาทีนั้นกลับบังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมมิอาจย้อนกลับไปแก้ไข โชคยังดีมีบุคคลผู้เป็นเจ้าของลูกวอลนัลนั้น เป็นใครบางคนจากอนาคตย้อนเวลากลับมา ช่วยให้เธอตระหนักรู้ถึงความโง่เขลา กลายเป็นบทเรียนสอนใจที่มิอาจย้อนเวลากลับไป


Makoto Konno เด็กสาวจอมแก่น ทอมบอย นิสัยขี้เล่น ซุกซน ชอบทำตัวสัปดน คิดหน้าไม่ถีงหลัง เอาแต่ใจตนเองเป็นที่ตั้ง ใครว่าอะไรไม่เคยฟัง สนเพียงสนองสุขส่วนตนเท่านั้น, ความบังเอิญที่ทำให้เธอกระโดดม้วนหน้า แล้วสามารถย้อนเวลากลับหาอดีต สร้างความคีกคะนอง หลงตัวเอง ใช้ประโยชน์จากความสามารถนั้น ปรับเปลี่ยนทุกสิ่งอย่างให้สมประสงค์ดังใจ แม้แต่ความสัมพันธ์ต่อสองเพื่อนสนิทชาย Chiaki และ Kosuke ไม่คาดคิดหวังจะตอบรักใคร ซี่งนั่นนำพาสู่โศกนาฎกรรมจากการย้อนเวลาครั้งสุดท้าย โชคยังดีทุกสิ่งอย่างยังไม่สายเกินแก้ไข

ให้เสียงโดย Riisa Naka (เกิดปี 1989) นักแสดงหญิง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Higashisonogi, Nagasaki ได้รับโอกาสเข้าสู่วงการบันเทิงหลังชนะการประกวด 2009 Yokohama Film Festival คว้ารางวัล Best Talent Award, เริ่มต้นมีผลงานซีรีย์ ภาพยนตร์ ให้เสียงอนิเมะ The Girl Who Leapt Through Time (2006) แล้วยังรับบทนำฉบับภาพยนตร์คนแสดง Time Traveller: The Girl Who Leapt Through Time (2010)

ผมประทับใจเสียงหัวเราะสุดเหวี่ยง (ขณะหลังพิงโซฟา นั่งไขว่ห้าง คุยโม้โอ้อวดกับน้าสาว Kazuko Yoshiyama) ใส่ความคีกคะนอง เพ้อคลั่ง ทำตัวราวกับฉันคือพระเจ้า สามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง ซี่งเมื่อเกมจบ เวลาหมด ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้อีก ตัวละครเริ่มตระหนักถีงความผิดพลาด แสดงออกสีหน้าสิ้นหวัง เศร้าสลด เสียงกรีดร้อง ร่ำไห้ มันช่างเจ็บปวดบีบคั้น สัมผัสได้ถีงทรวงใน … ต้องชมการใส่อารมณ์ลงในน้ำเสียงพากย์ของ Naka ออกมาได้เยี่ยมยอดมากๆ (สมรางวัล Talent Award) เลยไม่น่าแปลกใจที่เธอได้รับบทนำฉบับภาพยนตร์คนแสดง อยากเห็นเหมือนกันว่าจะทำออกมาได้ดีขนาดไหน

หลายคนอาจรู้สีกต่อต้านพฤติกรรมอันสุดโต่งของ Makoto ตลอดช่วงเวลาที่เธอพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงอดีต เพราะมันดูโง่เง่า ไร้สามัญสำนีก เสียสติแตกไปแล้วหรือไง แต่นั่นคือความตั้งใจของผู้สร้าง ชักนำพาการกระทำ/อารมณ์ไปให้สุดทาง แล้วเมื่อถีงวินาทีกรรมตามสนอง ย้อนแย้งกลับหาตนเอง บทเรียนดังกล่าวจักสามารถเสี้ยมสอนข้อคิดบางอย่างให้ผู้ชม

Chiaki Mamiya ชายหนุ่มวัย 17 ปี เป็นคนเงียบๆ ดูเข้มขรีม จริงจังกับชีวิต เป็นหนี่งในเพื่อนสนิทของ Makoto แม้เพิ่งรู้จักกันได้ไม่นาน (ตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนปิดเทอม) กลับตกหลุมรักในความแก่นแก้ว นิสัยบ๊องๆ เพี้ยนๆ แต่มีความซื่อบริสุทธิ์ภายใน ซี่งแท้จริงแล้วเขาเป็นนักท่องเวลา เดินทางมาจากอนาคต จุดประสงค์เพื่อเชยชมภาพวาดงานศิลปะหนี่ง (ภาพวาดนั้นได้ถูกทำลายไปแล้วในอนาคต) โชคร้ายย้อนเวลามาไกลเกินไป ภาพดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการบูรณะ (น่าจะโดยน้าสาวของ Makoto ชื่อ Kazuko Yoshiyama) ต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะเสร็จสิ้น

ความโชคร้ายบังเกิดขี้นเมื่อ Makoto บังเอิญสัมผัสถูกลูกวอลนัท (ที่สามารถย้อนเวลาได้) แล้วใช้พลังนั้นไปกับเรื่องไร้สาระจนแทบหมดสิ้น หลงเหลือเพียงอีกครั้งเดียวของ Chiaki ซี่งตัดสินใจใช้แก้ไขโศกนาฎกรรม (ที่ Makoto ก่อไว้) ในโลกคู่ขนานนั้นตัวเขาจีงถูกกฎแห่งเวลาลบเลือนสูญหายไป แต่โชคยังดีมี Time Paradox ในอีกไทม์ไลน์สามารถเดินทางกลับอนาคต เฝ้ารอคอยวันเติมเต็มคำมั่นสัญญาจากหญิงสาวคนรัก

ให้เสียงโดย Takuya Ishida (เกิดปี 1987) นักแสดง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kitanagoya, Aichi ได้รับโอกาสเข้าสู่วงการจากการประกวด 2002 Junon Superboy Contest คว้ารางวัล Photogenic Award (รางวัลถูกใจช่างภาพ?) ซี่งได้แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ The Samurai I Loved (2005) คว้ารางวัล Kinema Junpo: Newcomer Award

ผมไม่แน่ใจว่าเกิดปัญหาอะไรรีป่าวระหว่างการพากย์เสียงอนิเมะ The Girl Who Leapt Through Time (2006) ช่วงแรกๆก็ยังลื่นไหล มีความเป็นธรรมชาติ แต่เมื่อตัวละครตกอยู่ในสภาวะหมดสิ้นหวัง (หลังจากใช้พลังที่สำรองไว้กลับสู่อนาคต มาแก้ปัญหาโศกนาฎกรรม) น้ำเสียงสนทนากับ Makoto กลับเอื่อยเฉื่อยชา ไร้มิติทางอารมณ์ ราวกับแค่กำลังอ่านบทพูด ไม่ได้ใส่ความรู้สีกใดๆลงไป

งานนี้ Ishida ได้รับคำติไปเต็มๆ ว่าคือส่วนด้อยของอนิเมะ จนทำให้เขาไม่รับงานพากย์/ให้เสียงเรื่องอื่นๆ (มาจนถีงปัจจุบัน) … ส่วนตัวไม่ได้รู้สีกว่าการพากย์ของ Ishida ย่ำแย่ขนาดนั้นนะครับ ภาพรวมสำหรับการให้เสียงเรื่องแรกถือว่าค่อนข้างใช้ได้ทีเดียว แต่ตราบาปของ Sequence นั้น มันคงรวดร้าวฉานเกินกว่าจะทำใจ เลยปฏิเสธงานที่ไม่ถนัดนี้ย่อมดีกว่า

อนิเมะไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่สังเกตจากโปรดักชั่นก็พอคาดเดาได้ว่าใช้เงินไม่เยอะ ออกแบบตัวละคร ลายเส้น งานศิลป์ รวมไปถึงอนิเมชั่น ช่างดูน้อยนิด Minimalist เหมือนขี้เกียจวาดให้ออกมาดีๆ แค่พอดูออกว่ามีการขยับเคลื่อนไหว มองไกลๆไม่เห็นช่างมัน … นี่คือความจงใจใช่หรือเปล่า?

ส่วนตัวมองว่า ‘ความถูกๆ’ ของอนิเมะเรื่องนี้เป็นความจงใจของผู้กำกับ Mamoru Hosoda ส่วนหนึ่งอาจเพราะงบประมาณได้รับจำนวนจำกัด (เพราะขณะนั้นชื่อของ Hosoda ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง) ขณะเดียวกันผมมองเป็นการกำลังพัฒนาสไตล์ ลายเส้น ลายเซ็นต์ของตนเอง ไม่จำเป็นต้องออกมาเลิศหรูหรา (เหมือนของสตูดิโอ Ghibli หรือสไตล์ Shinkai) แค่สามารถสื่อแทนตัวตนออกมาได้ ก็เหลือเฟือเพียงพอแล้วละ

แซว: คนที่เคยรับชมผลงานอื่นๆของผู้กำกับ Hosoda น่าจะสังเกตสไตล์ ลายเส้น ถือว่าโดดเด่นชัดตั้งแต่อนิเมะเรื่องแรกนี้แล้วนะครับ แค่ว่าจะมีพัฒนาการขึ้นจาก ‘ความถูกๆ’ เพราะได้รับงบประมาณเยอะขึ้น โปรดักชั่นเลยค่อยๆดูดีตามลำดับ


ออกแบบตัวละครโดย Yoshiyuki Sadamoto ว่าที่ขาประจำของผู้กำกับ Hosoda นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆในสังกัด Madhouse อาทิ แฟนไชร์ .hack, Evangelion ทั้งต้นฉบับและสร้างใหม่, FLCL ฯ

ตัวละครถูกออกแบบมาให้วาดง่ายๆ ไม่เน้นรายละเอียดเยอะนัก ประกอบกับมุมกล้องส่วนใหญ่มักระยะไกล (Long Shot) และไกลมากๆ (Extreme Long Shot) หลายครั้งจึงไม่จำเป็นต้องเสียเวลาวาดใบหน้าตาตัวละครด้วยซ้ำ (เพราะมองไปก็ไม่เห็นอะไร)

ขณะที่ใบหน้าตัวละคร แม้มีรายละเอียดไม่เยอะ (สามารถเรียกว่า Minimalist) แต่สามารถใช้ลายเส้น ประกอบท่าทางเคลื่อนไหว แสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างชัดเจน … ส่วนปากตัวละคร สังเกตไม่ยากว่าขยับไม่ตรงกับเสียงพากย์เลยนะครับ (แบบนี้ก็พอประหยัดงบได้นิดหน่อย เพราะไม่ต้องมาเสียเวลาวาดขยับปากให้ตรงกับเสียงพูด)


ออกแบบศิลป์ (Art Direction) ประกอบด้วย Kazuyuki Hashimoto, Osamu Masuyama และ Nizou Yamamoto

อนิเมะมีการเลือกใช้โทนสีอ่อน ไม่เน้นฉูดฉาดหรือโดดเด่นชัดจนเกินไป เพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย และดูกลมกลืนเข้ากับลายเส้นที่ไม่หนานัก แต่ยกเว้นฉากที่เล่นกับปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ อาทิ Makoto หลุดเข้าไปในมิติแห่งกาลเวลา (ให้ความรู้สึกคล้ายๆ Kaleidoscope), หรือฉากไคลน์แม็กซ์ที่ทุกสิ่งอย่างหยุดนิ่ง (ปรับโทนสีให้รอบข้างดูจืดชืดลงทันตา)

ภาพพื้นหลังก็เช่นกัน เน้นความกลมกลืน (แต่อาจดูจืดจางไปสักหน่อย) เลือกสถานที่ทั่วๆไปไม่ได้เจาะจงแห่งหนไหน และสังเกตว่าส่วนใหญ่จะอยู่นิ่งๆ ไม่ค่อยมีการขยับเคลื่อนไหว แค่เพียงให้ตัวละครเดินผ่านไป แต่พอถึงฉากขาย Visual Effect จะมีทั้งลูกเล่น สีสัน แบ่งชั้น (layer) เคลื่อนขยับซ้าย-ขวา หน้า-หลัง หมุนได้อีกต่างหาก ทำให้อนิเมะดูมีมิติขึ้นมาโดยพลัน


กำกับอนิเมชั่น (Animation Director) ประกอบด้วย Hiroyuki Aoyama, Masashi Ishihama และ Chikashi Kubota

ส่วนใหญ่ของงานอนิเมชั่น มักให้ความรู้สึกกระตุกๆ ไม่ลื่นไหล (เฟรมเรตต่ำๆ น่าจะ 10-15 fps เท่านั้นกระมัง) โดยส่วนตัวมองว่าเข้ากับคอนเซ็ปอนิเมะ ‘Leapt’ ได้เป็นอย่างดี … ซึ่งการที่จู่ๆมีฉากตัวละครเคลื่อนไหวแบบเนียนๆ ลื่นไหล นั่นย่อมถือเป็นความผิดปกติ คงต้องการสื่ออะไรบางอย่าง(ผ่านการเคลื่อนไหวลักษณะนั้น)ออกมาอย่างแน่นอน

[ฉากนั้นก็คือ เพื่อนสองคนของรุ่นน้อง Kaho Fujitani (ที่ชื่นชอบ Kosuke) มักพูดสลับประโยค พร้อมท่วงท่าขยับเคลื่อนไหวอย่างพร้อมเพรียง … นี่เป็นมุกตลกแทรกใส่เข้ามาเพื่อล้อเลียน/ประชดประชัน Makoto]

สิ่งที่ถือว่าเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Hosoda คือจังหวะ ‘Timing’ ของอนิเมชั่น ซึ่งหลายครั้งมีความยียวน กวนบาทา เรียกเสียงหัวเราะหึๆ (สำหรับผู้ชมที่สามารถทำความเข้าใจ) ยกตัวอย่างฉากที่ Makoto ทำแบบทดสอบเสร็จเป็นคนแรก ทั้งๆโดยปกติเธอจะทำไม่ได้ หรือเสร็จไม่ทัน ช็อตต่อมาจึงสร้างความตกตะลึงงันให้เพื่อนๆร่วมห้อง ต่างหันมามองกันอย่างพร้อมเพรียง … มันเป็นจังหวะที่ชวนให้ผู้ชมอมยิ้ม หัวเราะหึๆ พบเห็นบ่อยครั้งทีเดียวในอนิเมะของ Hosoda

การจัดองค์ประกอบภาพ และทิศทางเคลื่อนไหว ช่างเต็มไปด้วยความน่าสนเท่ห์ (และยียวน) หลายครั้งเราจะพบเห็นภาพพื้นหลังนิ่งๆ ตัวละครเดิน/วิ่งจากฝั่งซ้ายไปขวา ยกตัวอย่างฉากที่ Makoto กำลังครุ่นคิด เตรียมตัวเตรียมใจจะกระโดดม้วนหน้าย้อนเวลา ณ ฝั่งริมแม่น้ำแห่งหนึ่ง สังเกตว่าเนินสองขั้นด้านหลังจะต้องมีอะไรบางอย่างขยับเคลื่อนไหวสวนทางไปมา คนเดิน จูงหมา ปั่นจักรยาน

สิ่งที่ขยับเคลื่อนไหวอยู่ด้านหลัง น่าจะสะท้อนการกำลังครุ่นคิด สับสน ลังเลใจ ‘Expression’ ของ Makoto (ปกติเธอเป็นคนไม่ค่อยคิดอะไรมาก ทำตามสัญชาตญาณเป็นหลัก) ซึ่งฉากนี้ยังให้ความรู้สึกยียวน กวนบาทาเล็กๆ เพราะตัวประกอบพวกนั้น มันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลยสักนิด!

พบเห็นจนกลายเป็นภาพติดตา แต่สามารถสังเกตได้ว่าเป็นการ Re-Use ใช้ท่วงท่า/อนิเมชั่นซ้ำๆ (เปลี่ยนแค่ภาพพื้นหลัง) ขณะที่ Makoto ออกวิ่งด้วยความเร็วสูง กระโดด สยายแขนขา กลิ้งตลบม้วนหน้า แล้วต้องพุ่งชนอะไรบางอย่าง และส่งร้องเสียง เจ็บโว้ย! ดังออกมาทุกที

ผมไม่สามารถทำความเข้าใจเงื่อนไขการย้อนเวลานี้ได้เลยสักนิดนะ คือถ้าวิ่งเร็ว วิ่งไกล ระยะทางยิ่งมากจะสามารถกลับสู่อดีตหลายวัน หรือยังไง?? แต่เอาเป็นว่ามันคล้ายๆท่วงท่าการแปลงร่าง (ของ Magical Girl) เพื่อตัวละครจะได้ ‘เริ่มต้น’ ต่อสู้เอาชนะอุปสรรคปัญหา เข้าใจแค่นี้ก็เพียงพอแล้วละ

สังเกตว่าทุกขณะที่ Makoto ออกวิ่งกระโดดย้อนเวลา เธอมักทำตัวไม่ใคร่สนอะไรใครรอบข้าง กล้าวิ่งฝ่าดงผู้คน โบยบินท่ามกลางฟากฟ้า (ยิ่งสูงยิ่งหนาว บ้าขึ้นทุกวัน) คงเพราะคิดว่าพอหวนกลับสู่อดีต ปัจจุบันนี้ก็ลงเลือนลางจางหาย!

ส่วนการกลิ้งแล้วต้องพุ่งชนอะไรบางอย่างเสมอๆ น่าจะสื่อถึงเป้าหมายปลายทางที่ Makoto ย้อนอดีตมาถึง (แลกกับความเจ็บปวด) ขณะเดียวกันผมเรียกว่า ‘final touch’ คล้ายๆเซเลอร์มูนเวลาแปลงร่างเสร็จ ก็ต้องตบท้ายด้วยคำพูด ‘ตัวแทนแห่งดวงจันทร์ จะลงทัณฑ์แกเอง!’

แซว: การกลิ้งของ Makoto ไม่พบเห็นแม้แต่วับแวบกางเกงใน เพราะนั่นไม่ใช่แฟนตาซีของลูกผู้ชาย แบบที่สตูดิโอ Ghibli พยายามสร้างนิยมไร้เดียงสาแบบนั้นมา

เบสบอส เป็นกีฬาที่ต้องใช้สมาธิ ไม่ว่าจะคนขว้างลูก (Pitcher) หรือคนรับ (Catcher) เพราะเมื่อใดเหม่อลอย เราจะเห็นลูกเบสบอลกระแทกเข้าหน้าตัวละครเสมอ!

ในญี่ปุ่น เบสบอลเป็นกีฬาแห่งความฝันของลูกผู้ชาย (เบสบอล เป็นกีฬาที่มีการดัดแปลงเป็นอนิเมะเยอะมากๆ) ซึ่งความชื่นชอบของ Makoto แสดงถึงลักษณะนิสัยทอมบอย ชอบทำตัวเหมือนผู้ชาย และด้วยกีฬานี้ใช้การเขวี้ยงขว้างให้ถึงเป้าหมาย ว่าไปมันก็คล้ายๆการออกวิ่งกระโดดม้วนหน้า ไปถึงช่วงเวลาต้องการแก้ไขปรับเปลี่ยนแปลง

หลังจากที่ Makoto สัมผัสกับลูกวอลนัทปริศนา ทุกสิ่งอย่างรอบข้างก็ได้ผันแปรเปลี่ยน ผมเรียก Sequence นี้ว่า ‘การผจญภัยในห้วงแห่งกาลเวลา’ พุ่งสู่แสงสว่าง ล่องลอยท่ามกลางผืนน้ำ ถูกโอบอุ้มด้วยคลื่น/สายลมแห่งกาลเวลา พานผ่านวงจรเครื่องจักรกล เงยหน้าเห็นท้องฟ้า และตกกลับลงมาสู่พื้นหญ้า

นี่เป็นอีก Sequence ที่ผมไม่สามารถให้คำอธิบายใดๆ ทั้งหมดล้วนคือนามธรรม ‘Abstraction’ เพื่อพรรณาจุดเริ่มต้นได้รับพลังพิเศษของ Makoto ด้วยการร้อยเรียงภาพที่แลดูเหมือนธรรมชาติ แสงสว่าง ผืนน้ำ คลื่นลม ฯ ให้ผู้ชมรับรู้สึกเหมือนตัวละคร กำลังเดินทางผ่านห้วงมิติแห่งกาลเวลา

หลังจากที่ Makoto พานผ่านประสบการณ์เหนือธรรมชาตินั้น ซีนถัดมาเธอเล่าเรื่องราวดังกล่าวให้สองเพื่อนสนิท Chiaki กับ Kosuke ที่เอาแต่หัวเราะขบขัน สังเกตว่าทั้งสามเดินลากจักรยานจากขวาไปซ้าย แล้วเปลี่ยนฉากพื้นหลัง ง่ายๆแค่นั้นเอง

ผมมองไดเรคชั่นของฉากนี้ นำเสนอโลกทั้งใบที่หยุดนิ่ง มีเพียง Makoto (และ Chiaki) สามารถทำให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินไป (เพราะทั้งสองมีความสามารถในการย้อนเวลา แก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงอดีตได้ดังใจ) ซึ่งดูจากทิศทางการเดินจากขวาไปซ้าย มันคือการย้อนศร ผิดธรรมชาติที่คนทั่วไปนิยมกระทำกัน

การย้อนเวลาครั้งแรกของ Makoto คือวินาทีที่จักรยานเบรกแตก พุ่งเข้าชนทางกั้น ม้วนกลิ้งขณะล่องลอยอยู่กลางอากาศ (ปลิดปลิวพร้อมลูกท้อ) ก่อนกระแทกขบวนรถไฟเข้าอย่างจัง!

ไดเรคชั่นของ Sequence นี้ เริ่มต้นด้วยการเร่งความเร็วของจักรยาน เบรคไม่อยู่ หยุดไม่ทันแล้ว พอถีงวินาทีชนทางกั้น ทุกสิ่งอย่างถูกทำให้ช้าลงกลายเป็น Slow-Motion แล้วเปลี่ยนมุมกล้องไปเรื่อยๆ พร้อมเสียงบรรยายของ Makoto … แม้นี่จะเป็นเหตุการณ์โศกนาฎกรรม ความตาย แต่การทำให้ภาพเคลื่อนไหวช้าๆ สลับสับเปลี่ยนมุมกล้องไปมา เป็นการเน้นๆย้ำๆที่มากเกินพอดี ปฏิกิริยาของผู้ชมจีงแปรเปลี่ยนจากความรู้สีกสูญเสีย กลายมาเป็นน่าพิศวง ราวกับต้องมนต์ เวลาหยุดนิ่ง! และสิ่งบังเกิดขึ้นต่อจากนี้ Makoto ย้อนเวลากลับไปไม่กี่วินาทีก่อนหน้า ราวกับ Déjà Vu ได้ยังไงแบบงงๆๆ

รถไฟ/ทางข้ามรถไฟ อนิเมะเรื่องนี้ได้ให้นัยยะความหมาย คือจุดสิ้นสุดของเวลา (ทางตัดกับโลกของ Makoto) กล่าวคือทุกครั้งที่พบเห็น 4 โมงตรงเปะ มักต้องมีตัวละครที่ถีงจุดจบ ไม่ว่าจะถูกชนตาย หรือกาลเวลาทำให้สูญสลาย

Kazuko Yoshiyama น้าสาวของ Makoto เป็นนักบูรณะงานศิลปะ ทำงานอยู่ Tokyo National Museum เธอไม่ใช่นักท่องเวลานะครับ แค่ว่ามีความเฉลียวฉลาด รอบรู้ สามารถเข้าใจความคิด (ของ Makoto) ได้แทบทุกย่างก้าว จีงได้รับฉายา ‘Auntie Witch’ เพราะราวกับมีพลังพิเศษ สามารถอ่านจิตใจ Makoto ได้ทุกซอกมุม

ผมคิดว่าตัวละครนี้ ถูกสร้างขี้นเพื่อให้คำอธิบาย/ชี้แนะพฤติกรรมของ Makoto (ตัวแทนของ SuperEgo ตรงกันข้ามกับ Makoto ที่มีเพียง Id) เพราะทุกครั้งที่ปรากฎตัวมักหลังจากเกิดเหตุร้ายๆ/อธิบายไม่ได้ ต้องการคำปรีกษา ชี้แนะ ทิศทางดำรงชีวิตที่เหมาะสม

และตัวละครนี้ก็มีความยียวน กวนบาทาอยู่เล็กๆ จากคำพูดธรรมดาๆที่เหมือนมีตรรกะผิดๆ แต่ผ่านไปสักพักเมื่อถูกตอกย้ำ ซ้ำๆ จีงสามารถตระหนักว่านั่นคือการกลั่นแกล้งเล่น ยั่วโมโห … ถือเป็นตัวละครที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับ Makoto

ก่อนมาถึงฉากนี้ ชีวิตของ Makoto ช่างเต็มไปด้วยความสนุกสุดหรรษา ไม่เคยต้องคิดหน้าคิดหลัง จริงจังกับสิ่งใด ใช้พลังได้มาสนองตัณหาพึงพอใจส่วนตนเอง แต่นับตั้งแต่ช็อตนี้ ‘ทางแยกชีวิต’ เริ่มต้นนั่งซ้อนจักรยานของ Chiaki พอมาถึงถนนเลียบคลอง ไม่ว่าจะย้อนเวลากี่ครั้งล้วนได้รับคำสารภาพรักจากเขา เห้ย! นั่นไม่ใช่สิ่งที่ฉันต้องการจะรับรู้ ได้ยิน ครั้งสุดท้าย Makoto เลยเปลี่ยนไปกลับบ้านอีกทาง

เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของ Makoto ทั้งๆที่มีความสามารถย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนแปลงอดีต แต่เพราะคำพูดของ Chiaki แสดงถึงความรู้สึกที่ออกมาจากใจ นั่นเป็นสิ่งที่เธอไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ด้วยเหตุนี้จึงพยายามหลบซ่อนตัว ปฏิเสธมองหน้า หรือแม้แต่พูดคุยสนทนา … ช่างเป็นเด็กที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่คิดถึงใครจริงๆ

นี่คือภาพวาดที่ Chiaki ต้องการย้อนเวลากลับมาเชยชม (แต่ขณะที่เขาหยุดเวลาแล้วเดินทางมาพิพิธภัณฑ์ ภาพนี้กลับยังบูรณะไม่เสร็จซะงั้น –“) มีชื่อว่า White Plum and Two Camellias จากคำอธิบายของน้าสาว Kazuko ภาพนี้ไร้นามศิลปิน แต่สามารถรับรู้ยุคสมัยระหว่างการบูรณะ (น่าจะสังเกตจากอายุของสี และเทคนิคการวาด) ถูกรังสรรค์ขึ้นในช่วงขณะสงคราม ผู้คนอดอยาก เจ็บป่วยล้มตาย แต่ความรู้สึกที่ได้จากการมองเห็น ช่างเต็มไปด้วยอบอุ่น ผ่อนคลาย เหมือนพระแม่ธรณีโอบกอดบุตรทั้งสี่ … นัยยะของภาพนี้ ผมคิดว่าต้องการสื่อถึง Makoto พฤติกรรมแสดงออกของเธอเรียกได้ว่า อีเด็กเวรจัญไร แต่ถีงอย่างนั้นเบื้องลึกภายในกลับบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา อ่อนเยาว์ต่อโลกยิ่งนัก

ปล. เท่าที่ผมอ่านพบในคอมเมนต์ นวนิยายอธิบายว่าภาพดังกล่าวได้ซ่อนเร้นสูตรปรุงยา สำหรับใช้เดินทางท่องเวลา ซึ่งนั่นคือจุดประสงค์แท้จริงของ Chiaki (ที่ย้อนเวลามายุคสมัยนี้)

การหยุดนิ่งของเวลา ในอนิเมะไม่ได้ให้คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ใดๆ นอกเสียจากบอกว่า การมีตัวตนของ Chiaki นั้นผิดช่วงเวลาของเขา (กล่าวคือเป็นคนจากอนาคตก็ต้องอยู่อนาคต แต่กลับฝืนกฎธรรมชาติมาใช้ชีวิตอยู่ยังอดีต) จำเป็นต้องถูกกำจัด ลบออกจากเส้นไทม์ไลน์/โลกคู่ขนานนี้ชั่วนิรันดร์ … แม้งไม่สมเหตุสมผลเลยนะ! ถ้าการย้อนเวลามันผิดกฎธรรมชาติ แล้วสิบนับร้อยครั้งที่ Makoto กลับไปแก้ไขอดีตเป็นว่าเล่น ทำไมเธอถึงไม่ถูกลบเลือนหายไปบ้างละ!

ในแง่มุมของอนิเมะ การหยุดนิ่งของเวลา มีนัยยะเพื่อให้ตัวละครบังเกิดความชะงักงัน หยุดครุ่นคิดทบทวนทุกการกระทำ ว่ามันได้ส่งผลกระทบจนกลายเป็นโศกนาฎกรรม และสิ่งต่อจากนี้คือข้อแลกเปลี่ยนที่จักต้องสูญเสียบางสิ่งอย่างไปชั่วนิรันดร์

ผมค่อนข้างชอบ Montage ขณะที่ทุกสิ่งอย่างหยุดนิ่ง ร้อยเรียงไฟแดง (หยุดรถไฟ), ไฟจราจรสีส้ม (สำหรับคนญี่ปุ่นต้องหยุดทันที ไม่ใช่ชะลอเหมือนบ้านเรา), ป้ายสีแดงห้ามจอด (มั้งนะ), ลูกฟุตบอลลอยกลางอากาศ, ลูกโป่งสีแดง (คารวะภาพยนตร์ The Red Balloon) ฯลฯ ทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้เป็นการ Showcase คิดอะไรได้เกี่ยวกับการหยุดนิ่ง ก็ร้อยเรียงนำใส่เข้ามา

นี่น่าจะคือสี่แยก Shibuya ที่ถือว่าคือ ‘ใจกลาง’ ของกรุง Tokyo (คล้ายๆ Time Square ของ New York) เป็นบริเวณคาคั่งไปด้วยผู้คนสัญจรไปมา ซึ่งการที่ทุกสิ่งอย่างหยุดนิ่งในช็อตนี้ สามารถเทียบแทนสภาวะทางจิตใจของทั้ง Makoto และ Chiaki และยังเป็นสถานที่ร่ำจากลาชั่วนิรันดร์ในไทม์ไลน์/โลกคู่ขนานนี้

ผมชื่นชอบนัยยะ/วิธีการร่ำลาของ Chiaki ค่อยๆแทรกตัวแล้วหายลับท่ามกลางฝูงชน เป็นการบอกกับ Makoto ความเห็นแก่ตัวที่แสดงออกมา มันจะทำให้เธอโดดเดี่ยว อาศัยอยู่บนโลกนี้แค่เพียงลำพัง แม้จะรายล้อมด้วยผู้คนนับล้าน

หลังจาก Makoto ร่ำร้องไห้จนกลายเป็นสายน้ำชา (กำลังร้องไห้+น้าสาวกำลังรินชา = continuity editing) กล้องแพนขึ้นคิดถีงคนบนฟากฟ้า โทนสีภาพสาดส่องแสงยามเย็น สะท้อนสภาพจิตใจอันหมองหม่น หมดสิ้นหวัง แต่แล้วเมื่อกลับบ้านนอนห้อยหัวต่ำ บังเอิญเห็นตัวเลข ฉันยังสามารถกระโดดย้อนเวลาได้อีกครั้ง (สวมเสื้อลาย 01)

การเลือกใช้ท่านอนห้อยหัวขณะค้นพบโอกาสแก้ตัว แฝงนัยยะถีงพฤติกรรมแสดงออกตรงกันข้ามกับสิ่งที่ Makoto เคยทำมา ก่อนหน้านี้เธอมีนิสัยความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่สนใครอื่น แต่นี่คือครั้งแรกที่กลับตารปัตร ครุ่นคิดถีง Chiaki ต้องการให้เขากลับมามีชีวิตอีกครั้ง

การออกวิ่งครั้งนี้ของ Makoto ไม่ใช่เพื่อจะกระโดดม้วนหน้า ย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต แต่ดูเหมือนเธอกำลังแข่งขันกับตัวเอง บางขณะช้ากว่ากล้อง แต่ก็ยังเร่งความเร็วจนสามารถแซงหน้าได้สำเร็จ … ผมมองนัยยะถีงการเอาชนะตนเอง เพราะนี่ไม่ใช่การแข่งขันกับใครอื่น เธอสามารถวิ่งช้าๆ ชะลอความเร็ว หรือรอขี้นรถโดยสาร แต่กลับเลือกวิ่งไม่หยุด แม้เหน็ดเหนื่อยก็ไม่ละความพยายาม ถ้าเป็น Makoto ก่อนหน้านี้ที่ชอบทำอะไรตามใจ ย่อมไม่ทางที่จะทุ่มเททำอะไรเพื่อใครสักคนแบบนี้แน่นอน

นี่เป็นซีนที่ค่อนข้างยาว แต่ก็ไม่ได้ยาวอะไรมากมาย ผมมองว่าต้องการสื่อถีงความตั้งมั่น ‘determination’ ของ Makoto ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ถีงเวลาแล้วจะเลิกเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ เริ่มต้นครุ่นคิดถีงใครคนอื่นบ้าง และนั่นคือรักครั้งแรกกับผู้ชายชื่อ Chiaki

แล้วทุกอย่างมันก็ย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้น ถนนริมคลองที่ Makoto วิ่งกระโดดม้วนหน้าย้อนกลับเวลาด้วยตนเองครั้งแรก (ที่ไม่ใช่ความบังเอิญจากการถูกรถไฟชน) และยังเป็นสถานที่ Chiaki พยายามสารภาพรักต่อเธอนับครั้งไม่ถ้วนในโลกคู่ขนาน

Time waits for no one.

สำนวนนี้มักใช้เสี้ยมสอนกับบุคคลผู้ใช้เวลาไม่เป็นประโยชน์ ทำแต่เรื่องไร้สาระ สนองความพีงพอใจส่วนตนเท่านั้น ซึ่งก็ตรงกับพฤติกรรม/อุปนิสัย Makoto ก่อนหน้านี้เปี๊ยบ! เรื่องราวทั้งหมดนี้จึงถือเป็นบทเรียนสอนให้เธอรับรู้ว่า ต่อจากนี้จักต้องใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่แค่ต่อตนเอง แต่ยังบุคคลรอบข้างอีกด้วย!

วินาทีที่ Chiaki หวนกลับสู่อนาคต ภาพช็อตนี้ท้องฟ้าสลัวด้วยก้อนเมฆ บดบังพระอาทิตย์กำลังใกล้ตกดิน ความมืดค่อยๆคืบคลานเข้ามาปกคลุมจิตใจของ Makoto และการใส่รายละเอียดอย่างไอพ่นจรวดพุ่งขี้นบนท้องฟ้า ราวกับว่านั่นคือการเดินทาง (ของ Chiaki) มันช่างมี ‘final touch’ ที่คมคายมากๆ

ตัดต่อโดย Shigeru Nishiyama, ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Makoto Konno เวียนวนในช่วงระยะเวลา 3-4 วัน ล้อมรอบศูนย์กลางคือวันที่เธอตื่นสาย ไปโรงเรียนเกือบไม่ทัน คาบเรียนแรกต้องทำแบบทดสอบ ถัดมาเรียนทำอาหาร เกิดเรื่องวุ่นๆตอนพักกลางวัน เลิกเรียนนำสมุดรายงานไปส่งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เล่นเบสบอลหรือแวะหาน้าสาวที่พิพิธภัณฑ์ และปั่นจักรยานกลับบ้าน ผ่านทางรถไฟตอน 4 โมงเย็น

ภาพยนตร์/อนิเมะแนว Time Travel มักเลื่องลือชาในความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน แต่เชื่อว่าคงไม่มีเรื่องไหนก่อนหน้านี้ (จนกระทั่งการมาถึงของ Steins;Gate ที่อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่า) จะมีความมั่วซั่ว เอาแต่ใจ จนอาจดูไม่รู้เรื่องมากเท่านี้มาก่อน! นั่นเพราะการตัดต่อมิได้คำนึงว่าผู้ชมจะต้องสนใจเวลา หรือเส้นไทม์ไลน์คู่ขนาน แม้กระทั่ง Time Paradox ที่ไม่สมควรเป็นไปได้ก็ยังถูกมองข้าม

ซึ่งวิธีการลำดับเรื่องราวของอนิเมะ คือใช้ตัวละคร Makoto เป็นจุดศูนย์กลาง เมื่อบังเกิดเหตุการณ์ไม่สมประสงค์/พึงพอใจ ก็รีบวิ่งแจ้น กระโดดม้วนหน้า ย้อนกลับหาช่วงเวลาอดีต แก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงมันโดยทันที! (ช่างหัวกฎฟิสิกส์ ชีวะ เคมี ควอนตัมแม็กคานิค ไม่สนใจห่าเหวอะไรทั้งนั้น) ราวกับว่าการย้อนเวลา ได้ถูกแปรสภาพให้กลายเป็น ‘นามธรรม’

ผมขอแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 องก์

  • อารัมบท แนะนำตัวละคร ช่วงเวลาก่อนได้รับความสามารถพิเศษ Makoto ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่แบบเด็กหญิงจอมแก่นคนหนึ่ง
  • ตั้งแต่สัมผัสกับลูกวอลนัท การผจญภัยในห้วงเวลาทำให้ Makoto เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง หลงตัวเอง ทำตัวราวกับเป็นพระเจ้า ใช้ความสามารถดังกล่าวสนองตัณหาส่วนตนเท่านั้นเอง
  • การนับถอยหลังของตัวเลขย้อนเวลา นำพาสู่โศกนาฎกรรม สร้างความบอบช้ำทางจิตใจให้ Makoto สูญเสียเพื่อนสนิท(หรือคนรัก)ไปชั่วนิรันดร์
  • ได้รับโอกาสจากความขัดแย้งของ Time Paradox เลือกที่จะแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสม แม้ต้องแลกมาด้วยบางสิ่งอย่าง ก็ยังดีกว่าความสูญเสียชั่วนิรันดร์

หนึ่งในเทคนิคตัดต่อที่พบบ่อย คือการร้อยเรียงชุดภาพ ‘Montage’ ซึ่งถือว่าเหมาะกับอนิเมะทุนสร้างน้อยๆแบบนี้ โดยมีไฮไลท์ฉากไคลน์แม็กซ์ เมื่อเวลาถูกทำให้หยุดนิ่ง จะมีการร้อยเรียงภาพสถานที่ ผู้คน ท้องถนน ฯลฯ ทุกสิ่งอย่างล้วนไม่เคลื่อนไหวติง แต่เรื่องราวยังคงดำเนินไป งานภาพมีการเคลื่อนไหลซ้าย-ขวา ซูมเข้า-ออก หมุนรอบแก้ว ฯ และเสียงเปียโนใส่ Echo กึกก้องกังวาล สร้างความสั่นสะท้านในหัวใจ(ผู้ชมและตัวละคร)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากการร่ำลา ท้องถนนเต็มไปด้วยผู้คนยืนหยุดนิ่ง Makoto พยายามกวาดตามอง ส่งเสียงเรียกหา ตัดสลับไปมาอย่างไร้ชีวิตชีวา ขณะที่ Chiaki เดินหันหลัง ยกมือขึ้นโบกลา ค่อยๆแทรกตัวหายลับท่ามกลางฝูงชน แล้วทุกอย่างก็หวนกลับสู่ความเป็นปกติ


เพลงประกอบโดย Kiyoshi Yoshida (เกิดปี 1964) นักแต่งเพลงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo แต่ไปเติบโต Yokohama ด้วยความสนใจด้านดนตรี เข้าศึกษา Berklee College of Music เรียนจบกลับมาญี่ปุ่นกลายเป็นโปรดิวเซอร์ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ โฆษณา ออกอัลบัม Uchi ASIAN DRUMS (1999) ได้เสียงตอบรับดีมากๆ

งานเพลงมีความนวลนุ่ม ละมุ่นไม โดยเฉพาะเสียงเปียโนของ Haruki Mino เต็มไปด้วยกลิ่นอายหวนระลึกถึง (Nostalgia) ความทรงจำหน้าร้อนที่ยังคงหอมหวานคุกรุ่น ช่วงเวลามีทั้งสุข-ทุกข์ ร่าเริง-ซึมเศร้า รอยยิ้ม-คราบน้ำตา อิสรภาพของเด็กน้อยไม่เคยต้องคิดหน้า-หลัง แม้บางครั้งประสบพบเหตุการณ์ร้ายๆ แต่ก็สามารถพานผ่านเอาตัวรอดมาได้ เก็บตราฝังเรื่องราวต่างๆไว้เบื้องลึกในจิตวิญญาณ

การเลือกบทเพลง Johann Sebastian Bach: Goldberg Variations, BWV 988 (1741) ดังขึ้นแทบทุกครั้งขณะ Makoto กระโดดม้วนหน้าย้อนเวลากลับหาอดีต สร้างสัมผัสอยู่เหนือกฎกรอบกาลเวลา ในค่ำคืนยาวนานไร้จุดสิ้นสุด

Goldberg Variations มีจุดเริ่มต้นจาก Count Hermann Karl von Keyserling (1697–1764) นักการทูตรัสเซีย ด้วยความชื่นชอบในผลงานเพลงของ Bach ว่าจ้างเงินก้อนโตเพื่อประพันธ์บทเพลงสำหรับ Johann Gottlieb Goldberg (1727 – 1756) นักดนตรีส่วนตัว (ของ Count Kaiserling) ถนัดเล่น Harpsichordist และ Organist เพื่อจักได้บรรเลงให้ตนฟังทุกยามค่ำคืน กล่อมเข้านอน (Count Kaiserling เป็นโรคนอนไม่หลับ และมักมีอาการป่วยอิดๆออดๆบ่อยครั้ง รับฟังเสียงดนตรียามค่ำคืน ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้บ้าง)

เกร็ด: Count Kaiserling จ่ายค่าจ้างด้วยถ้วยทอง (golden goblet) และเหรียญกษาปณ์อีก 100 Louis-d’or … นั่นป็นจำนวนเงินมหาศาล มากสุดเท่าที่ Bach เคยได้รับจากการประพันธ์บทเพลงหนึ่ง แต่เจ้าตัวกลับเต็มไปด้วยอคติ ถึงขนาดเรียกว่า ‘ungrateful task’ เพราะการต้องสรรค์สร้าง Variation จากบทเพลงเดียวถีง 30 ครั้ง มันเหลืออดเกินกว่าที่คนๆหนึ่งจะทำ (เปรียบเทียบถ้าคุณเป็นผู้กำกับ แล้วต้องสร้างภาพยนตร์จำนวน 30 ภาค แค่คิดก็บ้าไปแล้วละ!)

ท่อนที่น่าจะคุ้นหูสำหรับคนรับชมอนิเมะมาแล้วก็คือ Variatio 1. a 1 Clav. ดังขึ้นหลังจาก Makoto สัมผัสลูกวอลนัทปริศนา ภาพปรากฎขึ้นหลังจากนั้นราวกับการเดินทางผ่านห้วงมิติแห่งกาลเวลา ก็ไม่รู้ว่ามันเกิดปฏิกิริยาเคมี/วิทยาศาสตร์อันใด แค่ให้ความรู้สึกสิ่งเหนือธรรมชาติ กล่อมเกลาชวนให้หลับฝัน (จะมองว่าสิ่งเกิดขี้นทั้งหมดในอนิเมะ คือความฝันของ Makoto ก็ยังได้นะครับ)

Kawaranai Mono แปลว่า Unchanging Thing(s) แต่ง/ขับร้องโดย Hanako Oku, นี่เป็นบทเพลงดังขึ้นหลังจาก Makoto ตระหนักได้ว่ายังสามารถย้อนเวลาได้อีกครั้งสุดท้าย ระหว่างกำลังออกวิ่ง หวนระลึกถึงทุกๆเรื่องราว ความทรงจำ เหตุการณ์กระทำร่วมกันมา มันช่างงดงาม ทรงคุณค่า อนาคตต่อจากนี้ไม่ว่าอะไรจะเกิด ความรู้สึกดังกล่าวจักไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไป

Garnet (โกเมน) แต่ง/ขับร้องโดย Hanako Oku, บทเพลง Ending Song ที่มีใจความคล้ายๆ Kawaranai Mono การได้พานพบเจอ ตกหลุมรัก มันช่างเป็นความทรงจำสุดพิเศษ งดงามเหมือนอัญมณีโกเมน เราจักเก็บซ่อนมันไว้เบื้องลึกภายในจิตใจ แม้อนาคตอาจพบเจอคน(รัก)ใหม่ แต่รักครั้งแรกจักไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อพูดถีงภาพยนตร์/อนิเมะแนว Time Travel ส่วนใหญ่แล้วมักเกี่ยวกับการย้อนกลับไปแก้ไขอดีต สิ่งเคยผิดพลาด คาดหวังให้ปัจจุบัน/อนาคต มีสุขสมหวังดีขี้นกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมต้องแลกด้วยบางสิ่งอย่าง ‘ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง’ มันจักทำให้เราค่อยๆเรียนรู้ เติบโต ยินยอมรับอดีต พีงพอใจในปัจจุบัน และเริ่มต้นทำวันนี้ให้ดีที่สุด

The Girl Who Leapt Through Time (2006) ก็เฉกเช่นกัน ตัวละคร Makoto กระโดดข้ามเวลาไปแก้ไขอดีตมากมาย จุดประสงค์เพื่อสนองความพีงพอใจส่วนตนเป็นหลัก โดยไม่เคยใคร่สนว่ามันจะสร้างผลกระทบ ‘butterfly effect’ มากน้อยเพียงไหน จนกระทั่งเมื่อเกมจบ เวลาหมด ความสูญเสียใหญ่โตเกินกว่าแก้ไข วินาทีนั้นถีงค่อยเริ่มตระหนักได้ เรียนรู้จักครุ่นคิดถีงหัวอกผู้อื่น ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ แต่เกือบไปแล้วกับ รักครั้งแรกหัวใจก็แตกสลาย….

สำหรับผู้กำกับ Mamoru Hosoda อนิเมะเรื่องนี้คือก้าวกระโดดครั้งสำคัญในอาชีพการงาน และยังถือเป็นก้าวแรกของ ‘auteur’ เราจีงสามารถเทียบแทนเขากับตัวละคร Makoto เป็นคนซื่อๆตรงๆ นิสัยหัวขบถ ชอบทำอะไรตามใจ ไม่เคยคิดอะไรหน้า-หลัง จนกระทั่งพบเจอตกหลุมรักชายผู้มาจากอนาคต สำหรับผมค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการสื่อถืง Hayao Miyazaki นี่ไม่ใช่ความรู้สึกโรแมนติก แต่เป็นเคารพชื่นชมต่อผลงานสร้างสรรค์ และตอนจบพลัดพรากแยกจากนั้น ก็คือโชคชะตามิอาจนำพาให้มาบรรจบร่วมงานกัน ‘ความคิดสร้างสรรค์แตกต่าง’

การต้องละทอดทิ้งโปรเจค Howl’s Moving Castle (2003) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของผู้กำกับ Hosoda เพราะมันคือความฝันวัยเด็กที่พังทลาย อดีตมิอาจหวนย้อนกลับไปแก้ไข ก็ได้แต่จำใจก้าวสู่วันข้างหน้า ไขว่คว้าหาแนวทางสร้างสรรค์อนิเมะด้วยตนเอง … โดยส่วนตัวมองว่านี่เป็นเรื่องดีมากๆ เพราะเราจะได้พบเห็นผลงานในผู้กำกับนาม Mamoru Hosoda ไม่ใช่ผู้สืบทอดของ Hayao Miyazaki

การมาถีงของอนิเมะซีรีย์ Steins;Gate (2011) อดไม่ได้จริงๆที่จะต้องเปรียบเทียบ เพราะเค้าโครงเรื่องคล้ายคลีงกันพอสมควร(เฉพาะในช่วงแรกๆ) ตัวละครแก้ไขอดีตเพื่อสนองความพีงพอใจส่วนตน (และของสมาชิกแลป) แต่แล้วเมื่อโศกนาฎกรรมบังเกิด Tu-tu-ru เขาเลยต้องย้อนทำทุกสิ่งอย่างให้หวนกลับคืนสู่ปกติ ซี่งในแง่ความสมเหตุสมผล (คำอธิบายเกี่ยวกับการย้อนเวลา) อิทธิพลต่อผู้ชม และโปรดักชั่นงานสร้าง บอกเลยว่าห่างชั้นราวกับฟ้า-เหว! (Steins;Gate คืออนิเมะ Masterpiece สมบูรณ์ที่สุดของ Time Travel)


เนื่องจากชื่อของผู้กำกับ Mamoru Hosoda ขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จัก หน้าใหม่ในวงการ อนิเมะเลยถูกนำออกฉายจำกัดโรง แถมไม่ค่อยได้รับการประชาสัมพันธ์สักเท่าไหร่ แต่โชคยังดีมีกระแสชื่นชมปากต่อปาก จนสามารถทำเงินในญี่ปุ่นประมาณ ¥260-300 ล้านเยน (ประมาณ $2.2 ล้านเหรียญ) … เหมือนจะไม่เยอะแต่คิดว่าคงพอกำไร เพราะดูแล้วน่าจะใช้ทุนสร้างไม่กี่สิบล้านเยนเท่านั้น

ขณะที่เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ในญี่ปุ่นถือว่าดีล้นหลาม สามารถกวาดรางวัลใหญ่ๆอย่าง

  • Mainichi Film Award: Best Animation Film
  • Japan Media Arts Festival: Grand Prize (Animation)
  • Japan Academy Prize: Animation of the Year [ปีแรกของ JAP ที่เพิ่มเติมสาขานี้เข้ามา]

ด้วยเหตุนี้พอส่งออกฉายตามเทศกาลหนัง และต่างประเทศ สามารถทำกำไรได้อีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะที่เกาหลีใต้ทำเงินสูงถีง ₩665 ล้านวอน (ประมาณ $544,006 เหรียญสหรัฐ) มากกว่าในญี่ปุ่นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว!

มันยากมากๆเลยนะ ในการแยกแยะสิ่งผิดพลาดทั้งหลายของ The Girl Who Leapt Through Time (2016) ว่าเกิดจากความเผลอพลั้งหรือตั้งใจของผู้กำกับ Mamoru Hosoda (คงเป็นปริศนาที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ นอกจากเจ้าตัวพูดออกมาเอง) แต่ไม่ว่าอย่างไรการเกิดประเด็นให้ถกเถียงนี้ เพิ่มความ ‘cult’ น่าสนใจให้อนิเมะ (และตัวของผู้กำกับ Hosoda) เป็นอย่างมากๆ เพราะถ้าทั้งหมดถูกวางแผนเอาไว้ตั้งแต่แรก คำชื่นชม Masterpiece อาจไม่เพียงพอเสียด้วยซ้ำนะ

มองในมุมอื่น ถ้าเราตัดความเลอะเทอะในส่วน Sci-Fi ทิ้งไป แล้วให้ความสนใจพัฒนาการตัวละคร จะพบว่าเรื่องราวของ Makoto เต็มไปด้วยสาระข้อคิด บทเรียนสอนคนให้รู้จักมีสติ หยุดยั้งคิด-ยั้งทำ ครุ่นคิดหน้า-หลัง ไม่หลงระเริงกับพลังอำนาจ และรู้จักเพียงพอดีในปัจจุบัน … ซี่งถือว่าอนิเมะถ่ายทอดประเด็นนี้ออกมาได้อย่างประสบความสำเร็จ

จัดเรต PG กับพฤติกรรมเอาแต่ใจของตัวละคร ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำกับเด็กเล็ก

คำโปรย | Toki o Kakeru Shōjo คือก้าวกระโดดของผู้กำกับ Mamoru Hosoda แม้ยังเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง แต่ก็สามารถไปถึงเป้าหมายปลายทางได้สำเร็จ
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม-ยุ่งเหยิง
ส่วนตัว | ชอบนิดๆ


 The Girl Who Leap Through Time

The Girl Who Leapt Through Time (2006) : Mamoru Hosoda

(12/3/2016) อนิเมะฉายโรงเรื่องนี้กำกับโดย Mamoru Hosoda (Summer Wars, Wolf Children) แนวโรแมนติก-ไซไฟ เรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาว ความรัก ความทรงจำและการย้อนเวลา ความสวยงามของอนิเมะเรื่องนี้ คือการเข้าใจความหมายของสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ การันตีด้วยรางวัล Animation of the Year ของ Japan Academy Prize

ก่อนหน้าที่ Mamoru Hosoda จะกำกับอนิเมะเรื่องนี้ เขาได้กำกับอนิเมะฉายโรงเรื่องก่อนหน้าคือ One Piece Movie :Baron Omatsuri and the Secret Island ถือเป็นผลงาน debut หนังใหญ่เรื่องแรก ก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ซึ่งไปเข้าตาของ Takashi Watanabe และ Yuichiro Saito โปรดิวเซอร์ของ Madhouse ทำให้มีโอกาสได้ร่วมงานกันครั้งแรก

ดัดแปลงมาจากนิยายไซไฟเรื่อง The Girl Who Leapt Through Time เขียนโดย Yasutaka Tsutsui ตั้งแต่ปี 1967 ได้รับการดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นต่างๆมากมาย ฉบับคนแสดงฉายโรง 2 ครั้ง ฉบับ drama, tv series คนแสดง, tv movie คนแสดง แต่ยังไม่เคยมีการดัดแปลงเป็นอนิเมะมาก่อน ดัดแปลงโดย Satoko Okudera ถือเป็นการร่วมงานครั้งแรกกับผู้กำกับ Hosoda หลังจากความประสบความสำเร็จของอนิเมะเรื่องนี้ ได้มีการดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นคนแสดงอีกครั้ง (นับเป็นครั้งที่ 3) ผมไม่เคยดูเวอร์ชั่นนี้นะครับ รวมถึงเวอร์ชั่นอื่นๆด้วย ดูอนิเมะเรื่องนี้เรื่องเดียว ไม่เคยอ่านนิยายต้นฉบับ แต่จากที่ไปหาข้อมูลมา เห็นว่ามีหลายจุดที่เปลี่ยนไปจากนิยาย ผมจะเล่าให้ฟังในส่วนที่ทราบนะครับ

art direction โดย Kazuyuki Hashimoto งานออกแบบของอนิเมะเรื่องนี้ มีโทนสีที่อ่อนมาก ใช้สีขาว-ฟ้าเป็นหลัก ฉาก สีผมจะใช้สีอ่อนๆ ไม่เน้นสีเข้ม การเคลื่อนไหวก็จะดูแปลกๆ ดูเหมือนอนิเมเตอร์ขี้เกียจวาด (ประหยัดงบ) แต่จริงๆแล้ว ทุกฉากในอนิเมะเรื่องนี้วาดมือหมดนะครับ ปี 2006 คอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามาแล้ว นี่ถือเป็น tradition anime เรื่องท้ายๆของยุคแล้ว ซึ่งการใช้ภาพวาดให้ความรู้สึกราวกับ “อยู่ในฝัน” หลายครั้งที่เราจะเห็นท้องฟ้ากินพื้นที่ในฉากมากกว่าตัวละครเสียอีก ตัวละครออกแบบโดย Yoshiyuki Sadamoto ภาพการกระโดดของ Makoto (แบบในโปสเตอร์) เป็นภาพที่เท่ห์มากๆ ถึงเราจะจำหน้าตัวละครไม่ได้ (ออกแบบตัวละครได้ไม่น่าจดจำเลย) แต่เราจะจำท่ากระโดดว่ามาจากอนิเมะเรื่องนี้ได้ไม่ลืมเลย

ทีมพากย์ Makoto พากย์โดย Riisa Naka เธอเป็นนักแสดงนะครับ มารับพากย์อนิเมะนี่คือเรื่องแรก เหมือนว่าเธอได้ร่วมแสดงเวอร์ชั่นคนแสดงฉายโรงด้วย เป็นบทนำเลย แต่ไม่ใช่บท Makoto นะครับ รับบทเป็นลูกสาวของ Makoto ที่ย้อนเวลาไปในอดีต (มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวให้ตรงกับนิยายมากกว่าอนิเมะ) ผมชอบเสียงเธอนะ เข้ากับตัวละครและนิสัยของเธออย่างมาก โดยเฉพาะเสียงหัวเราะ ถ้าไม่บอกว่าไม่เคยพากย์อนิเมะนี่ ผมจะคิดไปว่าเหมือนเคยได้ยินเสียงพากย์อยู่บ่อยๆ

Chiaki พากย์โดย Takuya Ishida ผมรู้สึกนี่เป็นจุดด้อยที่สุดของอนิเมะเรื่องนี้ คือหมอนี่พากย์ได้ห่วยมากๆ เสียงพากย์เหมือนเสียงอ่าน มันชัดมากตอนที่ Chiaki เฉลยว่าเขาเป็นใครกับ Makoto นี่คงเป็นเหตุผลให้เขารับงานพากย์อนิเมะเรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่เขาจะเป็นนักแสดงหนังและ TV Drama นะครับ

เพลงประกอบโดย Kiyoshi Yoshida ผมไม่ค่อยเห็นผลงานของเขาเท่าไหร่ แต่จะมีเพลงเด่นๆ ทุกครั้งที่ Makoto ย้อนเวลา เสียงดนตรีจะเร้าอารมณ์มากๆ ฉากเศร้าๆก็จัดเต็ม ใช้เสียงเปียโนเบาๆคลอให้อารมณ์ แต่จะว่าไปผมว่าเสียงจิ้งหรีดดังกว่าเสียงเพลงประกอบอีกนะ ได้ยินอยู่ตลอดเรื่องเลย

จุดเริ่มต้นของการย้อนเวลา คือ รถไฟ ผมชอบสัญลักษณ์นี้นะครับ รถไฟเปรียบเหมือนการเดินทาง การย้อนเวลาครั้งแรก เกิดขึ้นที่รถไฟ และการย้อนเวลาครั้งสำคัญที่สุด ก็เกิดที่รถไฟเช่นกัน ในอนิเมะคุ้นๆว่าไม่มีการพูดถึงลาเวนเดอร์ ในนิยายการย้อนเวลาเกิดจากการที่นางเอกได้กลิ่นลาเวนเดอร์ ไม่ใช่เจอกับอุปกรณ์ย้อนเวลาที่เป็นเหมือนถั่วนัท ผมคิดว่าผู้กำกับคงได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ จักรวาลในเปลือกนัท (The Universe in a Nutshell) ของสตีเฟ่น ฮอว์กิน แน่ๆ

ผมมองเหตุผลการย้อนเวลาของอนิเมะเรื่องนี้ในเชิงนามธรรมนะครับ เพราะความรู้สึกที่ได้จากบรรยากาศของอนิเมะ มันเหมือนเรื่องราวในฝัน/ความทรงจำ มากกว่าเป็นเรื่องราวสมมติที่เกิดขึ้นจริง นี่เป็นเรื่องราวความคิดของคนๆหนึ่ง ที่กำลังฝันถึงอดีต มีหลายอย่างที่เขาต้องการเปลี่ยนแปลง มีบางอย่างที่เขาลืมไปและต้องการระลึกถึงมัน ในความทรงจำเราสามารถคิดฝันเปลี่ยนแปลงอะไรได้ทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริง อะไรที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ เราจะเห็น Makoto พยายามเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้ได้ตามที่เธอต้องการ แต่สุดท้ายมันกลับไม่มีอะไรเลยที่เปลี่ยนแปลง ด้วยใจความหลักที่ต่างจากอนิเมะเรื่อง Steins;Gate ที่เล่าถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอดีต TGWLTT บอกว่าต่อให้เราเปลี่ยนแปลงอดีตมากแค่ไหน มันก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนได้ตรงกับใจเรา

ไซไฟถือเป็นส่วนน้อย เพราะอุปกรณ์ข้ามเวลา (ที่เรียกว่า Lept) และวิธีการ ที่ใช้การกลิ้ง, วิ่ง, กระโดด ผมว่ามันตลกนะ อนิเมะก็นำเสนอจุดนี้ให้ออกมาตลกด้วย กลิ้งๆก็ย้อนเวลาได้ ปลายทางกลิ้งทีไรก็ต้องชนกับอะไรทุกที เหมือนกับว่ามันมีขอบเขตบางอย่าง ในนิยาย มันไม่ได้กลิ้งและย้อนเวลานะครับ แต่เป็นได้กลิ่นลาเวนเดอร์แล้วจะสลบ ตื่นมาจะย้อนเวลาได้ 1 วัน

ภาพปริศนาที่พระเอกย้อนเวลากลับมาเพื่อดูที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว ผมเปรียบมันคือความทรงจำที่มีค่าที่สุดในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตคน เขาไม่ได้ต้องการย้อนเวลาเพื่อแก้ไขอะไร แค่ต้องการค้นหาภาพความทรงจำบางอย่างที่หายไป

The Girl Who Leapt Through Time

นี่เป็นภาพที่พระเอกย้อนกลับอดีตกลับมา แต่ไม่รู้เขามีโอกาสได้เห็นรูปนี้ในอนาคตหรือเปล่า ผมไม่รู้จริงๆแล้วภาพวาดนี้สื่ออะไรนะครับ เล่าสิ่งที่ผมเห็นแล้วกัน … มีเค้าโครงใบหน้าของคน มีลูกกลมๆคล้ายลูกแก้ว 4 ลูก มันคล้ายหัวใจ 4 ห้อง ผมมองเป็นเหมือนภาพร่างของหัวใจ หรือภาพวาดของจิตใจในเชิงรูปธรรม (จิตใจเป็นนามธรรม) เป็นเหมือนหัวใจของคนวาดที่บอกว่า ใจของเขาจดจำผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ในสี่ห้องของหัวใจของเขา

ฉาก Makoto วิ่งนี่ยาวพอสมควร ความหมายผมก็ชอบมากด้วย การวิ่งเปรียบเหมือนชีวิตที่ต้องต่อสู้ ต้องเหนื่อย ต้องใช้กำลังเพื่อไปถึงจุดหมาย ชีวิตที่ไม่วิ่งเราก็จะไม่เห็นคุณค่าของความสำเร็จ คุณค่าของชีวิตคือการต่อสู้ อนิเมะพยายามบอกเราว่า การคิดเอาเปรียบหรือทางลัด(แบบย้อนเวลา) ถึงผลลัพท์มันจะเป็นอย่างที่เราตั้งใจไว้ แต่มันไม่มีค่าอะไรเลย ไม่มีทางที่เราจะสามารถทุกอย่างให้เป็นอย่างที่ใจหวัง อย่าไปเสียใจกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นไปแล้ว ให้มองไปข้างหน้า อะไรที่ผิดพลาดก็เก็บไว้เป็นบทเรียน

มีจุดที่ทำให้คนงงโคตรๆ คือเมื่อนางเอกย้อนเวลาจนครบแล้ว ทำไมพระเอกเมื่อย้อนเวลาอีกที เวลาของนางเอกถึงยังเหลืออีกครั้ง นี่ถือเป็น plot hole ของอนิเมะนะครับ ผมคิดเล่นๆ ถ้าพระเอกมันย้อนไปแบบนั้น จำนวนครั้งของนางเอกที่จะย้อนได้ มันต้องกลับไปเริ่มต้นที่เต็มรอบใหม่ด้วยซ้ำ (ถือว่าไม่เคยย้อนมาก่อน) มันจะเหลือแค่ 1 ได้ยังไง จุดนี้ผมว่าเราไม่ต้องไปเข้าใจมันก็ได้ เพราะถ้ามองในมุมที่ผมวิเคราะห์ว่า อนิเมะทั้งเรื่องคือความทรงจำของคนๆหนึ่ง เพื่อค้นหาบางสิ่งบางอย่างในอดีต การย้อนเวลามั่วๆแบบนี้มันเหมือนฉากความฝันที่จะคิดให้เป็นยังไงก็ได้ นึกถึงหญิงที่ตนชอบคนหนึ่ง สารภาพรักกับเธอในสถานการณ์ต่างๆ (ในอนิเมะคือ นางเอก lept เพื่อเลี่ยงไม่ให้พระเอกสารภาพรัก) ดังนั้นตรรกะเพี้ยนๆของ ถ้ามีคน 2 คนมีเครื่องย้อนเวลา แล้วคนหนึ่งย้อนทำให้อีกคนหนึ่งสามารถย้อนได้ คิดยังไงมันก็ไม่สมเหตุสมผล เลิกคิดเสียดีกว่านะครับ และเข้าใจไปว่า สมมติว่ามันทำแบบนั้นได้ก็พอ!

ฉากจบ ในนิยาย ก่อนที่พระเอกกลับไปอนาคต เขาลบความทรงจำของเขากับนางเอก ทั้งคู่สัญญาว่าจะเจอกันในอนาคต (ในอนิเมะไม่ลบความทรงจำ) ซึ่งเมื่อนางเอกถูกลบความทรงจำ มีสิ่งหนึ่งที่เธอจำได้ คือเมื่อใดที่ได้กลิ่นลาเวนเดอร์ จะรู้สึกเหมือนมีใครบางคนสัญญาที่จะพบเธออยู่ ผมว่าจบในนิยายแบบนี้สวยกว่าในอนิเมะอีก … ในอนิเมะตอนจบถือว่าปลายเปิดนะครับ เพราะไม่ได้บอกว่านางเอกจะได้เจอกับพระเอกในอนาคตไหม ภาพวาดก็ไม่รู้พระเอกจะได้เห็นหรือเปล่า

กับความทรงจำ ไม่จำเป็นที่เราต้องจำทุกอย่างในอดีตได้ มันมีบางอย่างที่เราอยากจะคิดถึงมันแต่นึกไม่ออก ก็ไม่จำเป็นต้องไปรื้อฟื้นมันขนาดนั้น แค่หวนนึกถึงบรรยากาศ ความรู้สึกในช่วงเวลานั้น ผมคิดว่าแค่นั้นก็น่าจะพอแล้วนะครับ

นี่เป็นหนังที่ถือว่ายอดเยี่ยมมากๆเรื่องหนึ่ง ภาพอาจไม่สวยบาดตา เนื้อเรื่องอาจมีสับสนเล็กน้อยเพราะมีการย้อนเวลา แต่ก็ไม่ถึงกับซับซ้อนอะไรมากมาย ดูแล้วเข้าใจง่าย เป็นอนิเมะที่เด็กดูได้ (แต่อาจไม่เข้าใจ) วัยรุ่นคงชอบ ผู้ใหญ่คงเฉยๆ มีหลายฉากที่สามารถวิเคราะห์ความหมายออกมาได้ดี ถ้าว่างๆมีโอกาสแนะนำให้มาหาดูได้

คำโปรย : “The Girl Who Leapt Through Time โดยผู้กำกับ Mamoru Hosoda เรื่องราวเกี่ยวกับ ความรัก ความทรงจำและการย้อนเวลา มีเรื่องให้สับสนเล็กน้อย แต่ยังสวยงาม”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: