The Godfather (1972) : Francis Ford Coppola ♥♥♥♥♡
ในโลกของมาเฟีย มีกฎเหล็กคือ ต้องมีความจงรักภักดีและไม่ทรยศต่อครอบครัว, ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคำยกย่องว่าเป็น ‘universal acclaim’ จักรวาลแซ่ซ้อง สมบูรณ์แบบที่สุด เท่าที่มนุษย์จะสร้างได้ เคยทำเงินสูงสุดตลอดกาล และกวาด 3 รางวัลออสการ์ รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ขอบอกว่า The Godfather เป็นหนังเรื่องที่ผมไม่อยากเขียนวิจารณ์ที่สุดแล้ว มีความกดดัน หวั่นวิตก ไม่รู้จะเขียนยังไงให้ออกมาดี, แต่ถือว่าก็ถึงเวลาแล้วนะครับ รู้ตัวว่ายังไงสักวันก็ต้องเขียน ได้เท่าไหนเท่านั้น หวังได้แค่คงจะดีที่สุดเท่าที่จะเขียนได้
ผมเคยดู The Godfather มานับครั้งไม่ถ้วน รู้สึกได้ตั้งแต่ครั้งแรกเลยว่า นี่เป็นหนังที่ยอดเยี่ยม แม้ตอนนั้นจะดูไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะหนังยาว ซับซ้อน และมีความเครียดค่อนข้างสูง แต่หลายๆอย่างในหนังตราตรึง อึ้งทึ่ง จดจำได้จนถึงทุกวันนี้, กับใครก็ตามที่ไม่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ยอดเยี่ยม คงต้องบอกว่าคุณดูหนังไม่เป็นนะครับ เพราะนี่เป็นหนังที่สากลยอมรับยกย่อง แต่ถ้าไม่ชอบ นั่นมันคนละเรื่องกันเลย, มันอาจเป็นที่รสนิยมความชื่นชอบ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เข้าใจภาพยนตร์ ฯ ที่ทำให้คุณดูหนังไม่จบ ไม่เข้าใจ หรือไม่รู้เรื่อง แต่การที่พูดว่าไม่ชอบ แล้วบอกว่าหนังห่วย มันถือว่าเป็นการดูถูกคนที่ดูหนังเป็น และแสดงความโง่เขลาของตัวเองออกมา, ถ้าคุณไม่ชอบหนังเรื่องนี้ ลองอ่านบทความให้จบนะครับ ไม่ต้องฝืนทำเป็นชอบ แค่เวลาจะไปโม้มอยกับคนอื่น จะได้คุยกันรู้เรื่องและอาจข่มพวกอวดรู้ได้
นิยาย The Godfather ของ Mario Puzo ตีพิมพ์เมื่อปี 1969 ติดอันดับหนังสือขายดีของ The New York Times อยู่ถึง 67 สัปดาห์ ยอดขายสูงกว่า 9 ล้านเล่มใน 2 ปี มีหรือสตูดิโอใน Hollywood จะไม่สนใจดัดแปลง, เป็นเรื่องแต่ง (fictional) ของครอบครัว Mafia อาศัยอยู่ที่ New York City เล่าเรื่องของ Vito Corleone หัวหน้าครอบครัวในยุค 1945-1955 ตั้งแต่วัยเด็กจนโต
แรงบันดาลใจของ Puzo มาจากเรื่องจริง/เหตุการณ์จริงแทบทั้งหมด, Vito Corleone ได้อิทธิพลมาจาก Frank Costello หัวหน้ากลุ่มมาเฟียที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา (มีชื่อเล่นว่า The Prime Minister of the Underworld) เป็นหัวหน้าครอบครัว Luciano หนึ่งใน 5 ตระกูลมาเฟีย (Five Family) มีฐานบัญชาการอยู่ที่ New York City, Costello เคยถูกลอบยิงสังหารในเดือนพฤษภาคมปี 1957 ปาฏิหารย์รอดชีวิตมาได้, ต่อมาได้จัดประชุมมาเฟียครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ (Apalachin meeting) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1957, หลังจากนั้นไม่นานก็เกษียนตัวเอง (Retire) และเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว (Heart Attack)
Paramount Pictures ล่วงรู้จักนิยายของ Mario Puzo ตั้งแต่ปี 1967 รองประธานบริษัท Peter Bart ได้อ่านฉบับที่ยังเขียนไม่เสร็จ 60 แผ่น แล้วมีความเชื่อว่าผลงานนี้ ต้องออกมายิ่งใหญ่แน่ (much beyond a Mafia story) ยื่นข้อเสนอเป็นเงินให้เปล่า $12,500 เหรียญ สำหรับเขียนนิยายให้เสร็จ และอีก $80,000 เหรียญ เป็นค่าลิขสิทธิ์ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์, เมื่อนิยายออกขาย Paramount ก็ประกาศกำหนดวันฉายของหนังไว้เลย ที่คริสต์มาสปี 1971 มอบหมายให้ Albert S. Ruddy รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์หนัง
สำหรับผู้กำกับ Paramount ต้องการให้เป็นคนสัญชาติ Italian American เพื่อให้เข้าถึงแก่นวิถีที่แท้จริงของคนอิตาเลียน ตัวเลือกแรกคือ Sergio Leone แต่เขาบอกปัดเพราะอยากไปทำหนัง Gangster ของตนเองเรื่อง Once Upon a Time in American (1984) คนต่อมาคือ Peter Bogdanovich ปฏิเสธเพราะไม่สนใจทำหนังมาเฟีย ตัวเลือกอื่นๆอาทิ Peter Yates, Richard Brooks, Arthur Penn, Costa-Gavras, Otto Preminger และ Francis Ford Coppola (ที่ติดต่อเพราะโปรดิวเซอร์คิดว่า เขาสามารถลดค่าตัวและทำหนังทุนสร้างต่ำได้) ตอนแรกบอกปฏิเสธ เพราะเขายังอ่านนิยายของ Puzo ไม่จบ แต่ไปๆมาๆก็ตัดสินใจยอมรับงานนี้
ก่อนหน้าที่จะเริ่มโปรดักชั่นหนังเรื่องนี้ Paramount อยู่ในช่วงเวลาที่ค่อนข้างย่ำแย่ มีหนังขาดทุนย่อยยับหลายเรื่อง อาทิ The Brotherhood (1968), Waterloo (1970) ฯ มีความตั้งใจให้ทุนสร้างหนังเรื่องนี้เพียง $2.5 ล้านเหรียญ แต่เพราะความสำเร็จของนิยาย ทำให้หนังได้ทุนสร้างสมทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
และในตอนแรก Paramount ต้องการเปลี่ยนพื้นหลังจากหนังสือ New York City ให้กลายเป็น Kansas City ดำเนินเรื่องในปัจจุบัน (ยุค 70s) เพื่อเป็นการลดต้นทุน แต่ Coppola ยืนยันว่าต้องให้พื้นหลังของหนัง เป็นไปตามนิยายต้นฉบับ คือช่วงยุค 40s-50s ข้อตกลงนี้สำเร็จเพราะความสำเร็จของนิยายเช่นกัน (นี่ถ้าหนังสือไม่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ก็ไม่รู้ว่าหนังจะเปลี่ยนไปจากนี้มากน้อยเพียงใด)
สำหรับการดัดแปลงบท Paramount ตัดสินใจจ้าง Mario Puzo เพิ่มอีก $100,000 เหรียญ ให้พัฒนาบทภาพยนตร์, พอ Coppola ได้รับมอบหมายให้กำกับ เขาก็พัฒนาดัดแปลงบทภาพยนตร์ขึ้นเองเช่นกัน (เห็นว่าเอานิยายของ Puzo มาฉีก ตัดแปะลงในสมุดที่เขียนบทหนัง) ทั้ง Puzo และ Coppola ต่างก็แยกกันพัฒนาบทภาพยนตร์ ตามความสนใจของตนเอง
– Puzo ดัดแปลงโดยใช้มุมมองเดิมจากนิยายของตน
– Coppola มีสนใจเกี่ยวกับตัวละคร พื้นหลังวัฒนธรรม การได้มาซึ่งอำนาจ และความรักต่อครอบครัว
เมื่อนำบทหนังของทั้งสองมารวมกัน ก็สามารถเติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างพอดิบพอดี และมี Robert Towne (เป็น Ghost Writer แต่ไม่ได้รับเครดิต) เข้ามาช่วยขัดเกลาบท เพิ่มฉากการสนทนาในสวนของ Pacino-Brando ที่เติมเต็มหนังได้อย่างลงตัว
ขณะนั้นองค์กรสิทธิมนุษยชน ของอิตาเลี่ยน-อเมริกา (Italian-American Civil Rights League) ต้องการให้หนังตัดคำว่า Mafia และ Cosa Nostra (เป็นคำเรียกมาเฟียใน Sicily แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Our thing) ออกจากบทหนัง เพราะมันเจาะจงเกินไปว่าเป็น Italian-American, ซึ่งในหนังที่ฉาย จะมีคำว่า Mafia พูดขึ้น 2 ครั้ง และคำว่า Cosa Nostra ไม่มีพูดออกมาเลย
บท Don Vito เห็นว่า Mario Puzo มีความต้องการให้ Marlon Brando เป็นผู้รับบทเท่านั้น ถึงขนาดเขียนจดหมายส่งถึง บอกว่า มีนายคนเดียวเท่านั้นที่จะรับบท Godfather ได้ (You are the only actor who can play the Godfather.) แต่ Paramount มีความลังเลที่จะจ้าง Brando เพราะช่วงทศวรรษที่ผ่านมาถือว่าเป็นทั้งตัวปัญหา และทำเงินไม่ได้ด้วย, ส่วน Coppola มี 2 ตัวเลือกที่สนใจคือ Brando และ Laurence Olivier แต่รายลังบอกปัด (ไปเล่นหนังเรื่อง Sleuth), นักแสดงคนอื่นๆที่สตูดิโอหมายใจไว้ อาทิ Ernest Borgnine, George C. Scott, Richard Conte, Anthony Quinn, Carlo Ponti ฯ
Vito Corleone เป็น Don (ผู้นำ) ตระกูล Corleone พื้นฐานเป็นชาว Sicilian ย้ายมาอยู่อเมริกาเพราะ … (นี่อยู่ภาค 2 นะครับ) แต่งงานกับ … (ชื่อเธอปรากฎในภาค 2 เช่นกัน) มีบุตรทั้งหมด 4 คน และลูกบุญธรรมอีก 1 คน,
Godfather หรือพ่อทูนหัว ตามธรรมเนียมในศาสนาคริสต์ เมื่อใครจะรับศีลล้างบาป หรือเข้าพิธีแบ๊บติสต์ (Baptists) [พิธีล้างบาปด้วยการจุ่มน้ำ] ต้องมีพ่อ/แม่ ทูนหัว หรือพ่อแม่อุปถัมภ์ (Sponsors หรือ God parents) พ่อแม่ทูนหัว จะคอยช่วยเหลือให้เป็นคริสตชนที่ดี และสามารถปฏิบัติตามพระบัญญัติได้อย่างซื่อสัตย์
ในหนัง พ่อทูนหัว จะมีหน้าที่มากกว่านั้นอีกนิด เป็นคำเรียกของคนที่เป็นที่พึ่งทางจิตใจ อาจเป็นผู้มีอุปการคุณ เคยให้การช่วยเหลือจุนเจือ เปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน
Don Vito เป็นชายสูงวัย มากประสบการณ์ สุขุมเยือกเย็น ใจกว้าง และได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนมากมาย แต่อาชีพของเขาถือว่าเป็นการกระทำที่นอกเหนือกฎหมาย ประกอบมิจฉาชีพ (หรือที่เรียกว่าองค์กรใต้ดิน) มีเครือข่าย เป็นองค์กรลับๆ เป็นพันธมิตรกัน ที่เรียกว่า มาเฟีย
เกร็ด: มาเฟีย เป็นชื่อเรียกของกลุ่มสังคมที่กระทำผิดกฎหมายอย่างลับๆ เชื่อกันว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงกลางของศตวรรษที่ 18 ใน Sicily ประเทศอิตาลี จากนั้นจึงเริ่มแผ่กระจายไปยังอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย
Marlon Brando กับบทที่ทำให้กลับมาโด่งดังเป็นพลุแตกอีกครั้ง เขาเตรียมตัวโดยการฟังเทปของ Frank Costello (หัวหน้ามาเฟียที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละครนี้) รู้สึกว่าเสียงจะดุๆเหมือนหมาบูลด็อก (Bulldog) เขาจึงสั่งทำฟันปลอม ใช้สวมขณะเข้าฉาก เราจึงเห็นคางของตัวละครนี้ ป่องนูนออกมาดูผิดรูปปกติ (เหมือนหมาบูลด็อก) และเสียงที่ออกมา เข้มๆดุๆ ราวกับจะกัดคนฟังให้จงได้, แน่นอนว่า Method Acting สร้างความสมจริงให้กับตัวละครนี้อย่างถึงที่สุด และนี่คือภาพลักษณ์ของ Brando ที่ใครๆจดจำได้ เป็นตัวละครที่ได้รับการยกย่องว่ามีความโดดเด่นที่สุดในโลกภาพยนตร์
เกร็ด: กับแมวที่อยู่บนตัก Brando ต้นเรื่องนั้น ไม่ได้มีในบทหนัง เป็นแมวจรจัดที่เดินเพ่นพ่านแถวนั้น Coppola เลยจับวางตัก Brando แล้วมันก็ไม่ยอมไปไหน นั่งอยู่ วนเวียนแถวนั้นตลอดวัน (สงสัยมันคงรู้ตัวเองว่าจะได้เป็นดาราใหญ่)
บทที่หานักแสดงยากที่สุดคือ Michael Corleone จนหนังใกล้ถ่ายทำแล้วก็ยังหาไม่ได้, Paramount สนใจ Warren Beatty, Robert Redford โปรดิวเซอร์สนใจ Ryan O’Neal นักแสดงคนอื่นๆที่มาทดสอบหน้ากล้องอาทิ Dustin Hoffman, Martin Sheen, James Caan (คนนี้ได้บท Sonny ไป) ส่วน Coppola สนใจ Al Pacino เพราะความที่ยังไม่ใช่นักแสดงดังมาก และหน้าตาดูเหมือนคน Italian-American แม้ Paramount มีความกังวลเพราะ Pacino ตัวเตี้ยไปสักนิด แต่สุดท้ายก็ยอมตกลงเซ็นต์สัญญามอบบทนี้ให้
Michael ชายหนุ่มหล่อนิสัยดี ลูกชายคนเล็กของ Don Vito (คาดว่า) คงเรียนสูง มีความเฉลียวฉลาด สุขุมลุ่มลึก ชอบคิดนอกกรอบ, ในตอนแรกเขาไม่ได้สนใจสืบทอดกิจการของครอบครัว แต่เมื่อพ่อของตนตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เขาจึงกล้าเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องครอบครัวที่ตนรัก, การแสดงของ Al Pacino ต้องถือว่า ยอดเยี่ยมที่สุดเลยละ จบจากสำนักเดียวกับ Brando ใช้เทคนิค Method Acting เหมือนกัน (ในฉากที่ Michael โดนชกหน้าบวม นั่นเขาก็ใส่ฟันปลอมในปากเหมือนกันนะครับ) แต่ Oscar ถือว่าใจร้ายกับ Pacino มาก เพราะให้เขาเข้าชิงแค่ Best Supporting Actor ทั้งจากภาค 1 และภาค 2 (แถมไม่ได้สักรางวัล) ซึ่ง Pacino ประท้วงโดยการไม่เข้าร่วมงานสักครั้ง เพราะคิดว่าอย่างน้อยตนเองควรมีชื่อได้เข้าชิง Best Actor (ถึงจะแพ้ Brando ก็ไม่เป็นไร)
เกร็ด: กว่า Pacino จะได้ Oscar: Best Actor ก็ตอน Scent of a Woman (1992) เป็นการเข้าชิงครั้งที่ 7 [ปีนั้นได้เข้าชิงสาขาสมทบจาก Glengarry Glen Ross (1992) ด้วย]
ตัวละคร Michael ถือว่ามีพัฒนาการมากที่สุดของหนังเรื่องนี้ เริ่มต้นจากที่ไม่ได้คิดเป็นมาเฟีย แสดงความเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ แล้วตอนจบกลายเป็น Godfather คนใหม่ นี่ถือว่าไม่ธรรมดาเลยนะครับ จะว่าหนังเรื่องนี้คือ การไต่เต้าจากผืนดินสู่แผ่นฟ้า ของ Michael Corleone ก็ยังได้
ตรงกันข้ามกับ Don Vito ที่เริ่มต้นมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ นับหน้าถือตา ระดับ Godfather แต่จักค่อยๆเสื่อมคลายมนต์อิทธิพล มนต์ขลังลงเรื่อยๆ ถูกลอบสังหาร (แต่ก็ยังมีอิทธิพลเหนือคนอื่นอยู่นะ) ช่วงโอนถ่ายอำนาจ ส่งมอบกิจการให้กับ Michael แล้วตนเองก็เริ่มรีไทร์พักผ่อนเล่นกับหลายอยู่ในบ้าน (ผมชอบฉากที่ Vito เอาเปลือกส้มทำเป็นฟันปลอมเสียเหลือเกิน มันเป็นมุมอ่อนไหวของผู้ยิ่งใหญ่ เทียบเท่ากับตอนลูบหัวแมวตอนต้นเรื่องเดะๆเลย) การตายของ Vito คือจุดเปลี่ยนของยุคสมัย หัวใจวายล้มลงตายในสวนขณะเล่นกับหลาน แต่เขาได้หมายมั้นปั้นทายาทไว้แล้ว มันจึงไม่เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ แต่เป็นการเปลี่ยนผู้นำอำนาจเท่านั้น
James Caan รับบท Sonny Corleone ลูกคนโตของ Don Vito มีนิสัยมุทะลุ ดุดัน เดือดดาน เป็นคนใจร้อนคุมไม่อยู่ (นี่สงสัยได้พันธุกรรมมาจากพี่ชายของ Don Vito พบเจอได้ในภาค 2 ที่มีความเลือดร้อนไม่แพ้กัน) การตายของ Sonny เป็นสิ่งที่ใครๆหลายคนคงคาดเดาได้ เพราะคนนิสัยแบบนี้ เมื่อเทียบกับ Don Vito แล้ว ไม่น่าจะทำให้ครอบครัวไปรอดได้แน่, มีฉากหนึ่งที่ Sonny ไปกระทืบทำร้าย Carlo Rizzi แฟนหนุ่มของ Connie น้องสาวคนสุดท้อง นี่เป็นการพยากรณ์จุดจบของตระกูล Corleone ถ้าไม่ได้ Michael ช่วยไว้ มีหลังครอบครัวนี้ได้ล่มสลายแน่, การแสดงของ Caan มีความชัดเจนมาก สามารถนำเสนอความเลือดร้อนของตัวละครออกมาทางสีหน้า คำพูด การกระทำ มีความสมจริงสุดๆ และผู้ชมเชื่อสนิทใจ ว่าต้องเป็นแบบนี้
บท Tom Hagen ทนายความส่วนตัวและเป็นลูกบุญธรรมของ Don Vito เห็นว่า Coppola เล็ง Robert Duvall ไว้ตั้งแต่แรก แต่ก็ขอให้เขาเข้ามาทดสอบหน้ากล้อง จนโปรดิวเซอร์ยอมเห็นด้วย, Hagen ถือว่าเป็นคนที่รักและซื่อสัตย์ต่อครอบครัวที่สุด (แม้จะไม่ใช่พ่อลูกกับ Vito จริงๆก็เถอะ) จะว่าคือมือขวาฝ่ายบุ๋นของ Vito เลยก็ได้ คงมีแต่ Michael ที่กับหนังภาคนี้ ยังไม่เชื่อสนิทใจร้อยเปอร์เซ็นต์ (แต่คงเพราะพ่อสอนไว้ด้วย ว่าอย่าเชื่อใครสนิทใจ) ไม่บอกเขาในทุกๆเรื่อง, การแสดงของ Duvall ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่หน้าพี่แกใช่เลยละ (เห็นจากหนังเรื่องอื่น พี่แกก็ชอบวางมาดนี้) หน้านิ่ง หัวเถิกนิดๆ ดูเฉลียวฉลาด ทรงภูมิ มีความรู้ ถือว่าเป็นพระรองอันดับ 3 ที่มีความสำคัญยิ่ง
Diane Keaton รับบท Kay Adams เพราะเธอขึ้นชื่อในเรื่องความแหกคอก (eccentric), บทนี้คือแฟนสาวของ Michael ตัวเชื่อมเดียวระหว่างโลกมาเฟียกับโลกมนุษย์ของเขา แต่จะว่าไปผู้หญิงในหนังเรื่องนี้แทบจะไม่มีบทบาทอะไร เป็นแค่ส่วนเติมเต็มชีวิตของผู้ชาย และครอบครัวเท่านั้น เพราะพวกเธอจะไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องการงานของสามี, กระนั้นก็มีครั้งหนึ่งตอนจบ ที่ Michael อนุญาติให้เธอถามได้ แต่คำตอบของเขา … โกหกเธอ นั่นไม่ได้แปลว่าเขาไม่เชื่อใจหรือยังไงนะครับ แต่คือ ชีวิตกับเรื่องงาน ในมุมของมาเฟีย มันคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง
สำหรับตัวประกอบชั้นยอดคนอื่นๆ อาทิ
– John Cazale รับบท Frederico Corleone ลูกชายคนกลางของครอบครัว Corleone, เป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง ขี้ขลาดเขลา ลุกลี้ลุกรน โง่งม (ฉลาดน้อยที่สุดในครอบครัว), รูปลักษณ์ของ Cazale ต้องถือว่าเข้ากับบทนี้มากๆ คงด้วยโครงหน้า และคิ้วที่กวนๆ ไม่แน่ใจตอนนั้นเขารู้ตัวเองหรือยังว่าป่วยเป็นมะเร็ง คิดเรื่องนี้ทีไรก็เสียดาย ไม่น่าด่วนจากโลกไปเร็วเลย
– Talia Shire น้องสาวของผู้กำกับ Coppola รับบท Constanzia Corleone ลูกสาวคนเล็กของครอบครัว Corleone ต้นเรื่องคืองานแต่งงานของเธอ … ตอนจบจะตรงกันข้าม
– Al Martino รับบท Johnny Fontane นักร้องนักแสดงที่มีชื่อเสียงที่สุด (ในหนัง) เป็นหลานบุญธรรมของ Vito, เห็นว่าตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก Frank Sinatra ที่เป็นนักร้อง/นักแสดงชื่อดัง แต่ตัวจริงของเขา ว่ากันว่ามีส่วนพัวพัน เกี่ยวข้องกับมาเฟีย อิทธิพลใต้ดินที่มีเครือข่ายใหญ่มากในอเมริกา
ถ่ายภาพโดย Gordon Willis ตากล้องชาวอเมริกัน ที่ตอนแรกบอกปัด เพราะรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ สับสนยุ่งเหยิง (Chaos) เกินไป แต่ภายหลังเมื่อได้คุยกับ Coppola ก็ยอมตกลง โดยทำข้อตกลง ว่าจะไม่มีการใช้เทคนิคถ่ายทำสมัยใหม่ในหนังเลย อาทิ ถ่ายภาพมุมสูงจากเฮลิคอปเตอร์, มีภาพซูมเข้าออกได้ ฯ ความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้คือ การจัดแสงและความมืด, Willis ได้รับฉายาว่า ‘The Prince of Darkness’ เป็นตากล้องที่ได้รับการยกย่องเรื่องการควบคุมทิศทาง ปริมาณแสง และสร้างความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘visual relativity’ เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ‘คุณสามารถสร้างหนังโทนมืดได้ทั้งเรื่องก็จริง แต่ไม่ใช่ในหนังยาว 2 ชั่วโมงจะไม่มีความสว่างเลย นั่นออกมาไม่ดีแน่ๆ, กับ The Godfather มันมีความจำเป็น อย่างฉากงานแต่งงาน มีการตัดสลับระหว่างภายนอก/ภายใน ความมืด/สว่าง แต่ถ้าทำแบบนั้นเฉยๆก็ไม่ได้อีกเช่นกัน มันต้องมีความสัมพันธ์อะไรบางอย่าง ที่เชื่อมโยงกันระหว่างภาพภายนอก/ภายใน และ ความมืด/สว่าง’
“You can decide this movie has got a dark palette. But you can’t spend two hours on a dark palette. . . So you’ve got this high-key, Kodachrome wedding going on. Now you go back inside and it’s dark again. You can’t, in my mind, put both feet into a bucket of cement and leave them there for the whole movie. It doesn’t work. You must have this relativity.”
Coppola พูดชื่นชม Willis ‘เขามีสัมผัสธรรมชาติ เกี่ยวกับโครงสร้างและความสวยงาม ที่ไม่เหมือนศิลปิน Renaissance’ (He has a natural sense of structure and beauty, not unlike a Renaissance artist) ขณะที่ Willis กล่าวชม Coppola กลับว่า มีความสามารถในการใช้ painterliness เพื่อที่จะสร้างความหมายให้กับภาพยนตร์ ‘ไม่ใช่แค่ให้ดูดี แต่มีสัมผัสและความหมาย นั่นคือภาพยนตร์ที่ดี’ (not just the look but the very meaning and feel of a film.)
กับฉากที่มีชื่อเสียงกระบือลือลั่น ไม่ต้องรอไกล กับฉากเปิดเรื่องที่ภาพค่อยๆสว่างขึ้น ชายคนหนึ่งกำลังพูดเล่าความเจ็บปวด ทุกข์ร้อนของตนเองให้ชายอีกคนหนึ่งฟัง กล้องค่อยๆเคลื่อนออกแล้วหยุดนิ่งเห็นด้านหลังของชายคนที่รับฟัง, ผมเปรียบวินาทีนี้เหมือนการจุดเทียนไขในห้องที่มืดสนิท สายตาเราจะค่อยๆปรับความสว่าง จากที่มองอะไรไม่เห็น ก็สามารถเห็นทุกสิ่งอย่างที่อยู่ในห้องได้โดยรอบ
ฉากงานเลี้ยงแต่งงานต้นเรื่อง เนื่องจาก Coppola มีเวลาถ่ายทำเพียง 2 วันเท่านั้น เขาจึงปล่อยให้งานเลี้ยงดำเนินไป แล้วใช้การถ่ายแบบ Guerrilla Style แทรกตัวเข้าไปถ่ายเก็บบรรยากาศงาน, ซึ่งบางครั้งก็มีการนำเหตุการณ์จริงของนักแสดง เช่น Lenny Montana ผู้รับ Luca Brasi ที่มีความเกร็งมากๆ เราจะเห็นฉากที่เขาซ้อมพูดก่อนเข้าพบ Don Vito
สำหรับฉากเชือดม้าให้คนดู มีความน่าสนเท่ห์มาก มันเป็นความโง่ของชายคนนั้น ที่อยู่ดีๆก็พาทนาย (Tom Hagen) เดินชมรอบบ้าน แนะนำให้รู้จักม้าสุดที่รัก แล้วพอออกปากปฏิเสธ ก็เลยถูกชำระคดีความ ด้วยการสังเวยสิ่งที่เป็นของรักของหวงที่สุด, ความน่าสนเท่ห์อยู่ที่การเคลื่อนกล้องถ่ายภาพ ในช็อตนั้นเป็น long-take กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าอย่างช้าๆไปที่เตียง ชายคนหนึ่งตื่นขึ้นตอนเช้า รู้สึกมันแฉะๆ ดึงมือออกจากผ้าห่มเห็นเลือด ตกใจเลือดมาจากไหน ตัวฉันก็ไม่ได้เจ็บอะไร กระชากผ้าห่มออก ช็อค กรี๊ดลั่น นั่นมันหัวม้าสุดที่รักของฉัน!
ปล. หัวม้าที่เห็น เป็นม้าจริงๆ เชือดกันสดๆ ก็ไม่รู้ทำไม Coppola ถึงไม่สร้างหัวม้าปลอมขึ้นมา ต้องการความสมจริงขนาดนั้นเลยหรือยังไง (Coppola ยังฆ่าวัวจริงๆในหนังเรื่อง Apocalypse Now ด้วยนะครับ) นี่ทำให้องค์กรเกี่ยวกับรักษ์สัตว์ออกมาเรียกร้อง ประท้วงขอให้แบนหนัง แต่มันจะไปสำเร็จได้ยังไง!
การตายของ Sonny รู้สึกจะที่ด่านบนทางหลวง ระหว่างทางที่กำลังบึ่งรถไปหาน้องสาว แล้วถูกกลุ่มมาเฟียอีกกลุ่มซุ่มสาดกระสุนยิงกระหน่ำจนเสียชีวิต, ลองสังเกตตำแห่งที่เขานอนตายสิครับ คาบเกี่ยวอยู่ตรงถนนสองฝั่ง ทั้งๆที่ Sonny ควรเป็นตัวตายตัวแทนของ Don Vito แต่เพราะความบ้าเลือดของตัวเอง เลยเป็นได้แค่ครึ่งผีครึ่งคน ไม่มีมาเฟียฝ่ายไหนอยากคบด้วย การตายก็เลยครึ่งๆกลางๆ (อยู่ระหว่างทางไปหาน้องสาวพอดีด้วยอีก)
ฉากที่ Sicily ของ Michael จะมีความสว่างค่อนข้างมาก ถือว่าเป็นช่วงเวลาผ่อนคลายของหนัง และมีความนุ่มนวลโรแมนติก (แม้ตอนจบจะ แทรจิก/Tragedy ก็เถอะ) จะเห็นว่าแทบไม่มีช็อตถ่ายภายในเลยนะ
กับฉากการประชุม 5 ครอบครัวมาเฟียใหญ่ และแก๊งค์เล็กๆน้อยๆ หนังมีการเลื่อนภาพ (rolling shot) ระดับสายตาคนนั่ง จากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง แล้วตัดไปอีกฝั่ง เคลื่อนไปเคลื่อนกลับ จนเห็นผู้ร่วมประชุมรอบโต๊ะ เป็นการแนะนำตัวละครทั้งหมด, ช็อตสุดท้ายขณะลุกขึ้นเดินไปจับมือกัน มีการจัดองค์ประกอบภาพได้สวยงามมากๆ เห็นผู้ประชุมทุกคนในโต๊ะ ภาพพื้นหลังเป็นรถไฟ (การเดินทาง) รูปด้านขวาน่าจะเป็น Abraham Lincoln แสดงถึง ความเท่าเทียมและสันติภาพ
ผมชอบ Brando ช็อตนี้มาก มีเทียนอยู่ด้านหลัง เหมือน Enlightenment เข้าใจสัจธรรมชีวิตบางอย่าง
Michael คุยกับ Don Vito นี่น่าจะเป็นฉากเดียวที่พ่อลูกคู่นี้ คุยกันแบบตัวต่อตัว (ปกติจะไม่คุย เต็มที่คือมองหน้า กระซิบกระซาบ) จะเห็นว่ามีจักรยานจอดอยู่ข้างหลัง นี่แสดงถึงการเดินทาง มีสองนัยยะ
– Vito กำลังจะเดินทางไปสู่โลกใหม่ (หลังความตาย)
– Michael เดินทางสู่โลกใหม่เช่นกัน (โลกที่ไม่มี Vito แล้ว)
การตายของ Don Vito ผลส้ม เห็นว่า Coppola จะใส่ไว้ทุกฉากที่มีความตาย เป็นสัญลักษณะของความตาย (ปกติ ส้มมีรสหวาน การตายปกติคือความขื่นขม แต่คนที่ตายไปจากโลกมาเฟีย ถือเป็นไปจากโลกที่เป็นทุกข์ เหมือนของกวาน)
ช็อตนี้ รูปปั้น (ทางฝั่งขวา) ชี้ธนูขึ้นสวรรค์ ส่วนเด็กชายวิ่งไปทางซ้าย (สวนกัน) … แบบนี้ Vito ที่นอนอยู่ในสวนส้ม ขึ้นสวรรค์หรือลงนรกหว่า?
ฉากพิธีแบ๊บติสต์ (Baptists) มี 2 ช็อตที่ผมชอบมาก สะท้อนกับรูปด้านบนที่ผมบอก Brando เหมือน Enlightenment ภาพนี้ Michel จุดเทียนเป็นแสงนำทาง
และช็อตนี้ พระเจ้ามองอยู่ห่างๆ (ฝั่งซ้ายสุด)
การตายของคนทั้ง 5 ในตอนจบ สังเกตว่าไม่มีซ้ำแบบเลย มีนัยยะบางอย่างด้วย
– Clemenza ยิง Mafioso ตายในลิฟท์ชั้นบน (ขณะกำลังไต่เต้าขึ้นเป็นใหญ่)
– Moe Greene ถูกยิงที่ตาขณะกำลังนวดผ่อนคลาย (ตา=วิสัยทัศน์)
– Willi Cicci ขัง Cuneo ไว้ในประตูหมุน เหมือนกรงขังสัตว์ แล้วยิงให้ตาย
– มือปืนสองคนบุกเข้าไปในห้องนอนของ Tattaglia (The Pimp) ตายคาอ้อมอกสาว
– และ Barzini และบอดี้การ์ด ถูกคนของ Michael แต่งตัวเป็นตำรวจ ยิงเข้าข้างหลัง (เหมือนแทงข้างหลัง, หักหลัง)
เช่นกับการตายของคนทรยศ ถูกฆ่ารัดคอให้ขาดอากาศหายใจ แล้วขากระแทกกระจกแตก (รอยบาดหมางที่ไม่สามารถประสานได้)
และฉากปิดท้าย หลังจากที่ Kay Adams เดินออกจากห้อง เธอหันมองกลับไปเห็น Michael กำลังต้อนรับแขกคนใหม่, ผมเปรียบห้องทำงานของ Don คือโลกใบหนึ่ง หญิงสาวได้แต่มอง ไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้ เพราะนั่นไม่ใช่โลกของเธอ และตอนจบ มีคนเดินมาปิดประตู นี่เสมือนห้อง/โลกแห่งความลับ ใช่ว่าทุกคนจะเห็นและเข้าไปได้, นี่ถือเป็นฉากจบที่ผมชื่นชอบอย่างมาก เป็นหนึ่งในการจบหนังที่ลึกซึ้ง สวยงามที่สุดในโลก
The Godfather เป็นหนังที่ทุกช็อตจะมีความหมาย นัยยะ มุมมอง การเคลื่อนไหว แพนกล้อง ทุกสิ่งทุกอย่างต้องแฝงเหตุผลประกอบ ไม่ต่างกับ Citizen Kane แต่เรื่องนั่นเป็นหนังขาวดำ มันจะขาดมิติของสีและอารมณ์ ซึ่งสิ่งที่ผมคิดว่า The Godfather เหนือกว่าคือเรื่องการจัดแสงและความเข้มข้น ที่สะท้อนอารมณ์ของตัวละคร ทำให้บรรยากาศ โทนสีของภาพเปลี่ยนไปตามระดับความรู้สึก นี่เป็นสิ่งที่หนังภาพขาวดำทำมิติตรงนี้ไม่ได้
ตัดต่อโดย William Reynolds และ Peter Zinner, เพราะบรรยากาศของหนังเป็นโทนมืดหม่น การตัดต่อจึงมักสลับกับภาพที่ดูสดใส
ตอนต้นเรื่อง ในงานเลี้ยงแต่งงาน มีการตัดสลับระหว่างภายนอกที่เป็นงานเลี้ยง (โทนสว่าง) กับภายในห้องของ Don Vito ที่จะมีแขกเหรื่อมาคุยงานธุรกิจ (โทนมืด) ต้องถือว่าทั้ง Sequence นี้ เป็นการแนะนำตัวละครแทบทั้งหมดของหนัง ให้รู้จักตัวตน นิสัยของพวกเขา ที่จะมีบทบาทต่อไปในเนื้อเรื่อง, ใช่ว่าการตัดต่อสลับภายนอกภายในจะเกิดขึ้นทันทีนะครับ มันจะมีการค่อยๆปรับโทนสีขึ้นลง ไม่ใช่อยู่ดีๆ สว่าง/มืด โดยทันที เช่นว่า ก่อนที่ Johnny Fontane จะได้เข้าไปคุยกับ Don Vito หนังเปิดตัวเขาโดยเป็นคนรู้จักเจ้าสาว ขึ้นไปร้องเพลงบทเวที จากนั้นตัดมาที่ Michael เล่าพื้นหลังของ Fontane ให้แฟนสาวฟัง จากนั้นถึงค่อยตัดไปที่ Fontane คุยปรึกษากับ Godfather, นี่เรียกว่ามีลูกเล่น ลีลาการนำเสนอที่มีชั้นเชิง ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้า พุ่งทะยานเข้าไปเลย แต่ใช้การค่อยๆแนะนำให้รู้จัก ซึมซับ เข้าใจ ก่อนธุรกิจแท้จริงจะเริ่มต้นขึ้น
โดยภาพรวมแล้ว หนังถือว่ามี 2 ตัวละครที่เล่าเรื่องคู่ขนานกันไปคือ Don Vito และ Michael ดังที่ผมบอกไปตอนต้น คนหนึ่งขาลง คนหนึ่งขาขึ้น ซึ่งการตัดต่อก็จะสลับไปมาระหว่างทั้งสองตัวละคร, มีเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้นที่สองตัวละครนี้จะพบเจอ แต่ถ้าพูดคุยกัน (แบบตัวต่อตัว) รู้สึกจะมีครั้งเดียวเท่านั้น ในสวนที่ Don Vito พูดสอนงาน ย้ำเตือน Michael ครั้งสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิต, ณ จุดนี้เป็นเหมือนการส่งไม้ต่อ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง การย้ำพูดซ้ำๆของ Vito แสดงถึงว่า ไม่ต้องการให้ Michael ประสบพบเจอแบบเดียวกับที่ตนเจอ … เวลาผู้ใหญ่ย้ำอะไรบ่อยๆ จดจำไว้สักหน่อยก็ดีนะครับ เพราะมันเป็นจุดที่ต้องเป็นปัญหาจริงๆ สิ่งที่เขาอยากแก้ไขแต่ทำไม่ได้ เราก็ไม่ควรทำให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเป็นอันขาด
กับไฮไลท์ของการตัดต่อ มีชื่อว่า Baptism Massacre ช่วงใกล้ๆจบ เมื่อ Michael ตัดสินใจเป็น Godfather ให้กับลูกของน้องสาว (Connie ที่แต่งงานกับ Carol) นี่ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ การชำระล้างบาป เหมือนคนเกิดใหม่ แต่หนังได้นำภาพ ตัดสลับกับการฆ่าสังหารโหดหัวหน้า 5 ครอบครัวมาเฟีย, ต้องถือเป็นฉากที่อุกอาจและแฝงความรุนแรงอย่างยิ่ง มีนัยยะถึง ก่อนที่จะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ได้ จำเป็นต้องทำลายสิ่งที่เคยมีอยู่ (ผมสังเกตวิธีการตายของทั้ง 5 ที่ล้วนแตกต่างออกไป คงเปรียบได้กับ 5 สิ่ง/ความเชื่อ ที่ควรถูกทำลายก่อนที่จะเริ่มต้น มีชีวิตใหม่ ทำอะไรใหม่ๆได้) นี่ถือเป็นวันพิพากษา/ล้างบางของเหล่ามาเฟีย ที่จะมีแต่คนจงรักภักดีเท่านั้น ถึงจะอยู่รอดได้ (ถ้าเป็นวันพิพากษาตามความเชื่อของคริสต์ คือ คนดีเท่านั้นถึงจะอยู่รอดได้)
เพลงประกอบโดย Nino Rota ชาวอิตาเลี่ยน, เหตุที่ Coppola ต้องไปอ้อนวอนของ Rota มาให้ทำเพลง เพราะต้องการกลิ่นอายความเป็นอิตาเลี่ยนในหนัง ซึ่ง Rota เหมือนเขาจะไม่ค่อยเต็มใจอยากทำให้เท่าไหร่ เลยมีการ reuse เพลงจากหนังเรื่องเก่าๆที่เคยทำ มาใช้ประกอบหนังเรื่องนี้, กระนั้นก็ยังถือว่า มีการเรียบเรียงใหม่ได้ให้ความรู้สึกทรงพลัง ยิ่งใหญ่ มีความเศร้า เคล้าน้ำตา กับเสียงเครื่องดนตรี Mandolin ที่คล้ายๆกับ Balalaika ใน Doctor Zhivago มันทำให้หัวใจสั่นระริกรัว กับหลายฉากมันเข้ากันมากๆ สร้างบรรยากาศและอารมณ์ให้กับหนังอย่างถึงที่สุด
เกร็ด: Mandolin เป็นเครื่องดนตรีที่มีลักษณะเหมือนกีตาร์ แต่เป็นสายคู่ เวลาเล่นจะเกิดเสียงสั่นระริกรัว, ที่ Nino Rota ใช้ในหนังคือ 1924 Gibson A-2Z ‘snakehead’ mandolin คงเป็นคอลเลคชั่นส่วนตัวของเขานะครับ
กับเพลงเปิดเรื่อง The Godfather Waltz ถึงชื่อจะมีคำว่า Waltz แต่ฟังเพลงนี้แล้วเต้นไม่ออกแน่ (ชื่อ Waltz มีความหมายถึงจังหวะ 3 ไม่ได้จำเป็นว่าชื่อเพลง Waltz ต้องเอาไปใช้เต้นได้ทุกครั้ง) เริ่มต้นด้วยเสียงเครื่องเป่าทรัมเป็ต ช้าๆ แต่ลุ่มลึก เหมือนการค่อยๆหายใจเข้า ตามด้วยเชลโล่ คาริเน็ตค่อยๆเร็วขึ้นทีละนิดแล้วเริ่มประสานกัน, โทนเพลงมีความมืดหม่น จริงจัง ซีเรียส ตอนผมได้ยินครั้งแรกจำความประทับใจได้เลยว่า หนังต้องเครียดแน่ๆ และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
กับเพลงที่ Johnny Fontane ขับร้องในงานแต่งต้นเรื่อง นั่นไม่ใช่เพลงที่แต่งเพื่อหนังนะครับ แต่เป็นเพลงที่มีโด่งดังอยู่แล้วชื่อ I have but one Heart ทำนองเขียนโดย Johnny Farrow คำร้องแต่งโดย Marty Symes ผู้ขับร้องฉบับแรกคือ Vic Damone ในปี 1945 สำหรับฉบับที่ใช้ในหนัง Al Martino (ที่รับบท Johnny Fontane) ร้องเองเลยนะครับ คงเพราะเป็นเพลงยุค 40s มันเลยดูเข้ากับบรรยากาศหนังมาก, ผมเอาต้นฉบับมาให้ฟัง เพราะรู้สึกมีความไพเราะกว่ามาก
สำหรับเพลงที่ดังที่สุด เป็นที่รู้จักที่สุดคือ Love Theme เริ่มขึ้นด้วยด้วย Mandolin (ดีดแบบสายเดียว) ตามด้วยเสียงเครื่องเป่า ใช้เสียงเหมือนเป็นคำร้อง, มีความโหยหวน ล่องลอย ทั้งๆที่เป็น Love Theme แต่ให้ความโศกเศร้า มากกว่าเป็นสุข นัยยะของเพลงนี้ ฟังจากความรู้สึกเหมือนต้องการเปรียบเปรยชีวิตของมาเฟีย ว่าถึงมีความรักแต่ก็หามีความสุขไม่
กับเพลงตอนจบ The Godfather Finale ถือว่ามีความอลังการที่สุด (ในหนัง) เริ่มต้นก็กระหึ่มสองหูด้วยเสียงเครื่องเป่า แม้จะทำนอง โน๊ตจะชุดเดิม แต่เพิ่มความยิ่งใหญ่ให้กับเพลง, Mandolin ใช้เป็นเสียงคำร้อง และมี Chorus ร้องคลอประกอบ นี่เปรียบได้กับความสำเร็จของ Michael ที่ได้กลายเป็น Godfather ผู้ยิ่งใหญ่เต็มตัว
เพลงประกอบ The Godfather นี้ ในการจัด AFI’s 100 Years of Film Scores เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดนิยมในปี 2006 ติดอันดับ 5 เป็นรอง Star Wars (1977), Gone with the Wind (1939), Lawrence of Arabia (1962) และ Psycho (1960)
หนังทั้งเรื่อง เราจะได้ยินทำนองนี้ไปตลอด แต่จะมีการเปลี่ยน/เพิ่ม เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง นี่ไม่เรียกว่า Variation นะครับแต่คือ Adaptation/Remix จะได้ยินจนคุณจดจำทำนอง ฮัมตามได้เลยตั้งแต่ครั้งแรกที่ดู ฟังเพลงอื่นๆที่ประกอบในหนัง ก็จักสัมผัสถึงกลิ่นอายนี้ได้เสมอ และรู้ทันทีว่าเป็น Theme ของหนังเรื่อง The Godfather
ระหว่างหาข้อมูล ผมได้ไปเจอบทความวิเคราะห์เกี่ยวกับเพลงประกอบ The Godfather ใครอยากอ่านแบบละเอียดๆ (ภาษาอังกฤษ) กดตามลิ้งค์ไปนะครับ
LINK: https://dtsft.wordpress.com/2013/05/18/whats-the-score-the-godfather/
The Godfather ถือเป็นเรื่องราววงในขององค์กรมาเฟีย ที่เล่าเฉพาะในโลกของพวกเขา, เราจะไม่เห็นประชาชนคนธรรมดา ถูกฆ่า/ถูกทำร้าย (มีแค่ยืนมองด้วยความฉงนสงสัย) ไม่เห็นโสเภณี ไม่มีการพนันขันต่อ หรือขโมยของผิดกฎหมาย คนที่ถูกฆ่า/ถูกซ้อม ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่อยู่ภายใน มีส่วนพัวพันเกี่ยวข้องกัน และตำรวจเพียงคนเดียวที่มีบทก็เป็นคอรัปชั่น, จะว่าหนังเรื่องนี้เป็นโลกใต้ดิน ของคนที่อาศัยอยู่ในด้านมืดของโลกมนุษย์ก็ยังได้
ซึ่งหนังมีมนต์เสน่ห์บางอย่าง เพราะรู้ทั้งรู้ว่าคนพวกนี้ไม่ใช่คนดีอะไร แต่ผู้ชมกลับรู้สึกเห็นใจ สงสาร ในชะตากรรมของตัวละครบางตัว, คำพูดแบบ I’m going to make him an offer he can’t refuse. ที่ฟังดูก็รู้ว่าหวังร้าย แต่ไฉนกลับรู้สึกเท่ห์ระเบิด, ฉันไม่อยากขายยาให้เด็กๆ หรือใกล้โรงเรียน แต่ถ้าพวกคนผิวสีก็ขายให้มันไปเถอะ ตายๆไปบ้างเสียก็ดี, มนต์ที่ว่านี้ ทำให้ผู้ชมเห็นผิดเป็นชอบ ด้วยหลักการที่ฟังดูสูงส่ง แต่เมื่อมันมีพื้นฐานอยู่ในโลกที่ไม่สมประกอบ นี่ผมเรียกว่า ‘ตรรกะเพี้ยน’ แต่เราก็ยอมรับความคิดพวกนี้ได้โดยไม่รู้ตัว
เมื่อดึงเอาเปลือกนอกโครงสร้างของหนังออก จะพบว่าแก่นสาระของหนัง คือเรื่องของครอบครัว ความจงรักภักดี และการทรยศหักหลัง, คนที่เสียชีวิต/ถูกฆ่า แทบทั้งหมด ไม่เป็นผู้ร้ายก็คนทรยศ เป็นศัตรูที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง บาดหมาง หรือมีแนวโน้มสร้างอันตรายต่อครอบครัว, ฟังดูเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ ครอบครัวของมาเฟียในหนัง รักกัน ใกล้ชิดกันอย่างเหนียวแน่น มากกว่าครอบครัวทั่วไปที่พบเจอได้ในโลกความจริงเสียอีก ฤาเพราะพวกเขารู้ดี ว่าชีวิตนี้มันสั้น ความเป็นความตายมันใกล้นิดเดียว พลาดพลั่งเผลอนิดหน่อยก็อาจไม่มีชีวิตอยู่บนโลกแล้ว พวกเขาจึงจำต้องแสวงหา มอบและรับความรักจากคนใกล้ตัวที่สุด แปรเปลี่ยนเป็นพลังความกล้าในการมีชีวิตอยู่
ผมลองเอาจิตใจตัวเองใส่เข้าไป สมมติเป็นตัวละครหนึ่งในหนัง ถ้าฉันต้องอาศัยอยู่ในโลกใบนี้ ที่มีความเป็นความตายเป็นวิถีปกติ แค่คิดก็น่ากลัวแล้วนะครับ เพราะเราแทบจะเชื่อใจอะไรใครไม่ได้เลย คนใกล้ตัวแค่ไหน ไม่มีอะไรเป็นหลักการันตีความจงรักภักดีได้เลย วันดีคืนดีเกิดไม่พอใจอะไรเรา ก็อาจเอามีดปักหลัง/ลอบวางยา สังหารลอบฆ่าได้โดยทันที, นี่คงเป็นเหตุผล ที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางสายเลือดของชาวมาเฟียมีสูงมาก เพราะอย่างน้อย พ่อแม่/พี่น้อง คงไม่คิดการ ทำอะไรหักหลังกันง่ายๆแน่
แต่เมื่อเราอาศัยอยู่ในโลกใบนี้ไปนานๆ มันจะมีลักษณะของคนอยู่ 3 ประเภท
– Sonney ผู้เอาความต้องการตนเองเป็นที่ตั้ง มีชีวิตอยู่แบบไม่แคร์อะไร รับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่แบ่งให้ใคร
– Fredo ตุปัดตุเป๋ เอางานเอาการ เอาอะไรไม่ได้ (มีเมียยังถูกครอบงำ) เหมือนคนที่ถูกสูบจิตวิญญาณไปหมดสิ้นทุกสิ่งอย่าง
– Michael ซึมซับ เรียนรู้ เข้าใจ และสุดท้ายกลายเป็นผู้ครอบครองโลกใบนี้
จริงๆก็มีประเภทอื่นอีก เช่น Tom Hagen วางตัวเป็นกลาง เพิกเฉย, Connie ผู้บริสุทธิ์ที่เกิดในโลกอันโหดร้าย ,Kay Adams ผู้โชคร้ายที่เดินมาติดกับ ฯ
มีคนปกติไหมในโลกใบนี้ … ดูแล้วไม่น่ามีนะครับ แต่คำ ‘ปกติ’ ที่ว่านี้มันลักษณะยังไงกัน? เป็นคนดี ไม่ฆ่าคน ไม่ลักทรัพย์ ไม่เล่นการพนัน ไม่ติดหญิง ไม่กินเหล้า … โอ้ มีคนแบบนี้ในโลกจริงๆด้วยเหรอ (ถ้ามีคงไปบวชพระกันหมดแล้ว!)
ผู้ชมชื่นชอบหนังเรื่องนี้ เพราะตำหนิที่ทุกตัวละครมี ความไม่สมบูรณ์แบบของโลก แต่ยังพบเห็นความสวยงาม มันก็เสมือนกับโลกความจริง ที่มนุษย์มีตำหนิ โลกก็ไม่สมบูรณ์แบบ แต่มีความสวยงามน่าหลงใหล
The Godfather อาจมีเรื่องราวไกลตัว มาเฟีย อเมริกัน/อิตาเลียน แต่มีความใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิดไว้ เพราะใจความของหนังคือเรื่องของครอบครัว ความรัก จงรักภักดี, ข้อคิดที่ผมได้จากหนัง มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องราวของหนังเลย แต่คือคำพูดประโยคหนึ่ง ‘But don’t ever take sides with anyone against the Family again.’
คำพูดติดปาก (Quote) ที่ดังสุดของหนังคือ “I’m going to make him an offer he can’t refuse.” มีพูดเปะๆแบบนี้เพียงครั้งเดียวตอน Don Vito พูดกับ Johnny Fontane แต่มีอีก 2 ครั้งที่ Michael พูดในลักษณะนี้
– Michael อธิบายให้แฟนสาวฟัง My father made him an offer he couldn’t refuse.
– Michael พูดกับ Fredo ว่า I’ll make him an offer he can’t refuse.
ลิสของ AFI’s 100 Years…100 Movie Quote ประโยคนี้ติดอันดับ 2 เป็นรองเพียง “Frankly, my dear, I don’t give a damn.” ของ Gone With The Wind (1939) เท่านั้น
มีอีกหลายประโยคเลยนะครับที่ถือว่า เป็นฮิตติดปากได้ อาทิ
– Leave the gun. Take the cannoli.
– YOU CAN ACT LIKE A MAN!
– Because a man who doesn’t spend time with his family can never be a real man.
– In Sicily, women are more dangerous than shotguns.
– Look how they massacred my boy!
– Well, there wasn’t enough time, Michael. There just wasn’t enough time.
– But don’t ever take sides with anyone against the Family again.
– Only don’t tell me you’re innocent. Because it insults my intelligence and makes me very angry.
ด้วยทุนสร้างประมาณ $6–7 ล้านเหรียญ หนังทำเงินในอเมริกาประมาณ $127 – $142 ล้านเหรียญ สามารถทำลายสถิติภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอเมริกาขณะนั้นอย่าง The Sound of Music (1965) ที่ $114.6 ล้านเหรียญ ลงไปได้, แต่บางสำนักอาจบอกว่า Gone With The Wind ฉบับ re-release ในปี 1971 ทำให้รายรับรวมของหนังเพิ่มเป็น $116 ล้านเหรียญ มากกว่า The Sound of Music แต่ด้วยตัวเลขนี้ ยังถือว่า The Godfather ก็สามารถโค่นบัลลังก์เป็นหนังทำเงินสูงสุดในอเมริกาขณะนั้นได้อยู่ดี, ขณะที่รายรับทั่วโลก ประมาณ $245.1 ล้านเหรียญ ถือว่าเป็นหนังทำเงินสูงสุดในโลกขณะนั้นเช่นกัน
สถิติทำเงินสูงสุดนี้ อยู่ได้เพียงไม่กี่ปีก็ถูก Jaws (1975) ล้มบัลลังก์ได้สำเร็จที่ $193 ล้านเหรียญในอเมริกา และทั่วโลก $470.7 ล้านเหรียญ
หนังเข้าชิง Oscar ทั้งหมด 9 สาขา 11 รางวัลที่เข้าชิง (ถูกถอนสิทธิ์ไป 1) ได้มา 3 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture ** ได้รางวัล
– Best Director
– Best Actor (Marlon Brando) ** ได้รางวัลแต่ปฏิเสธที่จะรับ
– Best Supporting Actor (James Caan)
– Best Supporting Actor (Robert Duvall)
– Best Supporting Actor (Al Pacino)
– Best Adapted Screenplay ** ได้รางวัล
– Best Costume Design
– Best Film Editing
– Best Sound
– Best Original Score ถูกถอนสิทธิ์
Marlon Brando ได้เข้าร่วมกับ American Indian Movement (AIM) ช่วงต้นยุค 70s เพราะเขามีความรู้สึกว่า การปฏิบัติของ Hollywood ต่อชาวพื้นเมืองอเมริกัน (Native Americans) พวกเขาไม่ได้ถูกมองข้ามหรือแทนที่ แต่เป็นการดูถูก ไม่ให้เกียรติ (Disrespected) ตระหนักได้เช่นนี้ทำให้ Brando รู้สึกอึดอัดกับภาพลักษณ์ของวงการ ณ ขณะนั้น
“The motion picture community has been as responsible as any for degrading the Indian and making a mockery of his character, describing him as savage, hostile and evil. It’s hard enough for children to grow up in this world. When Indian children … see their race depicted as they are in films, their minds become injured in ways we can never know.”
ในช่วงเทศกาลประกาศรางวัล เขาตัดสินใจบอยคอตไม่ขึ้นรับรางวัลใดๆ และในงานประกาศรางวัล Oscar ได้ส่ง Sacheen Littlefeather ประธานกลุ่ม National Native American Affirmative Image Committee ให้มารับรางวัลแทน, Brando ได้เตรียมบทพูดให้เธอถึง 15 แผ่น แต่หลังเวที โปรดิวเซอร์จัดงานพูดจาข่มขู่ บอกให้เธอพูดได้ไม่เกิน 60 วินาทีเท่านั้น นี่คือประโยคขณะขึ้นรับรางวัลแทน
“Hello. My name is Sacheen Littlefeather. I’m Apache and I am president of the National Native American Affirmative Image Committee. I’m representing Marlon Brando this evening and he has asked me to tell you in a very long speech, which I cannot share with you presently because of time but I will be glad to share with the press afterwards, that he very regretfully cannot accept this very generous award. And the reasons for this being are the treatment of American Indians today by the film industry – excuse me – and on television in movie reruns, and also with recent happenings at Wounded Knee. I beg at this time that I have not intruded upon this evening and that we will in the future, our hearts and our understandings will meet with love and generosity. Thank you on behalf of Marlon Brando.”
ตอนเธอพูดว่า excuse me จะมีเสียงโห่จากผู้ชม ตามด้วยเสียงปรบมือ
Roger Moore ที่เป็นผู้ประกาศรางวัลสาขานี้ เล่าให้ฟังว่า เขาจำเป็นต้องนำ Oscar ตัวนี้กลับบ้าน แล้วเก็บรักษาไว้ รอจนกว่าพนักงานรักษาความปลอดภัย (พร้อมกับ รปภ.) จาก Academy จะมาเก็บกลับไป
ถ้าใครอยากอ่านบทพูดฉบับเต็มๆที่เขียนโดย Brando คลิกตามลิ้งค์ไปเลยนะครับ
LINK: http://www.nytimes.com/packages/html/movies/bestpictures/godfather-ar3.html
สำหรับสาขา Best Original Score สาเหตุที่ถูกถอนสิทธิ์ เพราะเพลงประกอบมีความคล้ายกับ Fortunella (1958) หนังอิตาเลียนของผู้กำกับ Eduardo De Filippo ที่ Nino Rota ทำเพลงประกอบให้ ปีนั้นจึงมีการนำอันดับ 6 ที่ได้รับการโหวต ขึ้นมาแทน ส่วนเรื่องที่ได้รับรางวัลสาขานี้คือ Limelight (1972) ของ Charlie Chaplin
เผื่อใครอยากรู้ว่าเพลงประกอบคล้ายกันยังไงถึงโดนตัดสิทธิ์ ลองกดฟังดูนะครับ, โน๊ตเพลงถือว่าเปะๆเลย แค่จังหวะ ทำนอง การเรียบเรียงต่างกันเท่านั้น (จริงๆจะให้เข้าชิงสาขา Best Adaptation Score แทนก็ยังได้) แต่ไม่เป็นไร ถึง Nino Rota จะพลาดครั้งนี้ไป สองปีถัดมาเขาก็ได้ Oscar ตัวแรกจาก The Godfather 2
อิทธิพลของ The Godfather เป็นการเปิดประตูสู่โลกยุคหนัง Gangster ครองเมือง ใน Hollywood โดยเฉพาะ Italian-American ได้รับความนิยมสูงมาก ผู้กำกับที่ได้รับอิทธิพลสูงสุดคงเป็น Martin Scorsese กับหนังเรื่อง Goodfellas (1990), ฝั่งเอเชียก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของหนังแนว Gangster เช่นกัน ผู้กำกับดังอาทิ John Woo, Johnnie To, Andrew Lau ฯ ว่ากันว่า นับจากความสำเร็จของ The Godfather จะมีหนังแนวนี้เกิดขึ้นเฉลี่ย 9 เรื่องต่อปี
ส่วนตัวถึงจะหลงรัก ชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากแค่ไหน แต่ก็ไม่เคยกลายเป็นหนังโปรดของผมเลย เหตุเพราะไม่ชอบบรรยากาศของหนังที่เข้มข้น ตึงเครียด ดูแล้วหนักหัวขนาดนี้ (อาจเว้นไว้กับ The Dark Knight) ถึงการรับชมครั้งนี้ จะไม่ปวดหัวแล้ว แต่ก็ได้แค่หลงรักมิอาจหลงใหล
ส่วนที่เด่นสุดของหนัง คงเป็นทีมนักแสดง ที่ประชันฝีมือกันอย่างไม่มีใครยอมน้อยหน้าใคร โดยเฉพาะ Marlon Brando และ Al Pacino ทั้งคู่เป็น Method Acting เหมือนกัน และมีความเข้าขากันได้อย่างทรงพลัง เหลือเชื่อ, นี่ขนาด Stanley Kubrick ถึงกับพูดชมว่า นี่น่าจะเป็นหนังที่มีทีมนักแสดงยอดเยี่ยมที่สุดในโลก
“He watched The Godfather again… and was reluctantly suggesting for the 10th time that it was possibly the greatest movie ever made and certainly the best cast.”
– Michael Herr, Vanity Fair, 1999
สิ่งหนึ่งที่ผมหวังว่าชาตินี้คงไม่เกิดขึ้น คือ Paramount จะไม่คิด Remake สร้างใหม่หนังเรื่องนี้ มันคงเป็นความบรมโง่ของผู้สร้าง/ผู้กำกับ และนักแสดง ที่คิดว่าจะทำ The Godfather เรื่องใหม่ให้ออกมายอดเยี่ยมยิ่งใหญ่กว่านี้ นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางทำได้ และไม่ควรที่จะเกิดขึ้น
ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะบอกว่า ชาตินี้คุณไม่ควรดูหนังเรื่องนี้ นอกเสียจาก ถ้าคุณอายุยังไม่เกิน 15 ปี ก็ไม่ต้องรีบหามาดูนะครับ จะปวดหัวเสียเปล่าๆ
ชอบเรื่องนี้มากเหมือนกัน ตัวเราเองไม่มีเวลาศึกษา นั่งแปล หาข้อมูลของหนังเลย
ขอบคุณค่ะที่เขียนวิจารณ์ดีๆรวบรวมข้อมูลรายละเอียดมาให้อ่านครบถ้วนเลย
เราจับความหมายแฝงที่ซ่อนไว้ในเรื่องได้จุดนึง อยากแชร์แนวคิดด้วย
ช่วงต้นเรื่อง ที่สัปเหร่อมาขอความช่วยเหลือดอน บทสทนาจะพูดประมาณว่า
สัปเหร่อไม่เคยอ่อนน้อมต่อดอนเลย สัปเหร่อเป็นตัวตายความตาย
ตรงนี้จึงมีความหมายว่า ความตายไม่เคยอ่อนน้อมต่อใคร
และตอนท้ายดอนยังพูดแนวสบประมาทว่า ถ้าวันไหนมีเรื่องให้สัปเหร่อช่วยจะบอก แต่คงไม่มีวันนั้น
แต่สุดท้าย วันที่ซันนี่ตายดอนก็ต้องให้สัปเหร่อช่วยทำศพอยู่ดี
ตรงนี้หมายความว่า ไม่มีใครหนีความตายพ้น จุดจบของชีวิตต้องมาถึงสักวัน
ไม่ว่าจะเป็นใคร ยิ่งใหญ่ ต่ำต้อย แค่ไหน ก็หนีความตายไม่ได้
มาคิดต่อ สัปปะเหร่อขอให้ดอนฆ่าคนให้ เพราะความตายไม่สามารถฆ่าใครได้ ต้องมนุษย์ด้วยกันเท่านั้นถึงจะฆ่ากันตาย (หรือตายตามธรรมชาติ)
แต่ดอนไม่ฆ่า เพราะไม่ใช่หน้าที่ เขาแค่ทำให้เด็กคนนั้นรับกรรมตามที่ตนทำ ตามสนองกรรม