The Godfather 3

The Godfather Part III (1990) hollywood : Francis Ford Coppola 

บทสรุปชะตากรรมของ Don Michael ที่จริงๆไม่ต้องมีก็ได้, นำเสนอเรื่องราว 20 ปีให้หลัง (หนังสร้างห่างจากภาคก่อน 16 ปี) เมื่อ Michael เข้าสู่ช่วงสูงวัย นี่เป็นเหมือนการรวมญาติ ได้พบปะเพื่อนเก่า และลูกหลานที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว คงถึงเวลาที่ควรจะได้พักผ่อนเสียที

ถึงผมจะดู The Godfather ภาคแรกและภาคสองมานับครั้งไม่ถ้วน แต่จะบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่ได้ดูหนังภาคสามนะครับ ก็จากเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ที่ว่าภาคนี้ทำออกมาสู้ภาคอื่นไม่ได้ มันทำให้ทุกครั้งที่หยิบ The Godfather มาดู พอจบภาคสองแล้วก็ไม่เคยคิดหยิบภาคสามมาดูต่อเลย

ซึ่งการดูครั้งนี้ ผมก็ตระหนักเอาเสียงเล่าอ้างนี้ไว้ในใจ ‘อย่าไปคาดหวังอะไรกับหนังมาก’ พอได้รับชมจบแล้ว กลับผิดคาดเลย เพราะภาพรวมก็ถือว่าใช้ได้ ไม่ได้เลวร้ายอะไรขนาดนั้น แต่แค่มันไม่ได้ยอดเยี่ยมในระดับเดียวกับภาคหนึ่งและภาคสองเท่านั้น, กับคนที่ยังลังเลใจ ผมว่าให้โอกาสกับหนังสักหน่อยนะครับ อย่าไปสร้างอคติกับมัน ไม่แน่ว่า รสนิยมของคุณอาจชื่นชอบภาคนี้มากที่สุดก็เป็นได้

Francis Ford Coppola ไม่เคยคิดวาดฝันจะสร้าง The Godfather อีกภาค แต่เพราะช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เขาทำหนังระดับหายนะมาหลายเรื่อง โดยเฉพาะ One from the Heart (1982) ทุนสร้าง $26 ล้านเหรียญ ทำเงินได้เพียง $636,796 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับโดยสิ้นเชิง Paramount Picture เลยให้เขาแก้ตัวกึ่งบังคับ ในการกำกับ The Godfather ภาค 3

คงไม่มีคำพูดไหนบรรยายความรู้สึกของ Francis Ford Coppola ได้ดีที่สุดเท่า “Just when I thought I was out… they pull me back in.”

Coppola ขอเวลา 6 เดือนเพื่อพัฒนาบทร่วมกับ Mario Puzo แต่ Paramount กำหนดเวลาหนังฉายไว้เรียบร้อย ทำให้เหลือเวลาพัฒนาบทได้แค่ 6 สัปดาห์ นี่ถือว่าโหดร้ายมาก เพราะทั้งสองแทบไม่เหลือเวลาขัดเกลา พัฒนาบทให้ดีกว่านี้ได้เลย

เรื่องราวได้แรงบันดาลใจมาจาก 2 เหตุการณ์จริง
1) การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 1 ในปี 1978 หลังจากดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาได้เพียง 33 วัน พระคาร์ดินัลผู้ใกล้ชิดพบร่างของพระสันตะปาปาฟุบอยู่กับโต๊ะทรงงานในพระหัตถ์ยังทรงถือเอกสารค้างอยู่ ครั้นเมื่อเข้าไปถวายการปฐมพยาบาลก็ปรากฏว่าพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว มีข้อสันนิษฐานว่าอาจทรงถูกลอบปลงพระชนม์ หรือเกิดพระอาการเสวยยาเกินขนาด เนื่องด้วยมีโรคประจำพระองค์คือโรคพระหทัย แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการชันสูตรพระศพ เพราะถือเป็นเรื่องต้องห้ามของวาติกัน
2) เหตุการณ์การยักยอก โกงเงินครั้งใหญ่ ของธนาคาร Banco Ambrosiano เมื่อปี 1982 ที่ว่ากันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ Vatican Bank

เดิมนั้น Coppola และ Puzo ต้องการตั้งชื่อหนังว่า The Death of Michael Corleone แต่เป็น Paramount ที่ไม่ยอม บังคับให้ใช้ชื่อ The Godfather Part III

Al Pacino ได้รับข้อเสนอ $5 ล้านเหรียญเพื่อกลับมารับบท Michael Corleone, ในตอนแรก Pacino ต้องการ $7 ล้านเหรียญพร้อมเปอร์เซ็นต์หลังหนังฉาย แต่ Coppola ปฏิเสธ และขู่จะตัดบททิ้งให้เหลือแค่ งานศพของ Michael ตอนต้นเรื่อง Pacino จึงยอมตกลงรับข้อเสนอที่ $5 ล้านเหรียญ

16 ปีผ่านไป ทั้ง Pacino และ Michael ดูแก่และเปลี่ยนไปมาก จากนักแสดง/การแสดงที่สุขุม ลุ่มลึก กลายเป็นคนโมโหโทโสง่าย ขี้หงุดหงิด ชอบตะโกนขึ้นเสียง มันเหมือนเรากำลังเห็น Pacino เล่นบท Michael ไม่ใช่เป็น Michael, ในภาคนี้ เราจะเห็นอีกมุมหนึ่งของตัวละครนี้ด้วย คือช่วงเวลาโรแมนติกของ Michael ที่ขณะหวนระลึกความรักกับอดีตภรรยา Kay Adams-Corleone ไม่ได้หวังเพื่อที่จะขอคืนดี แต่ขอให้เธอ ‘ยกโทษ’ ให้กับเขา

แต่ 16 ปีมันก็ไม่ได้สูญเปล่า ประสบการณ์ได้สั่งสมให้ Michael เติบโตขึ้น เข้าใจโลกขึ้น, เขาสามารถมองคนออกได้โดยง่าย รู้ว่าบางคนมันก็แค่ตัวประกอบ จริงๆจะสั่งกำจัดไปเลยก็ได้ แต่ที่เขาไม่อยากทำ เพราะไม่ต้องการลงไปเอามือเปื้อนเลือดอีกแล้ว … แต่ท้ายที่สุดก็หนีไม่ได้ เป็นวงเวียน ชะตากรรมที่ ‘ได้มาด้วยเลือด ก็ต้องเสียไปด้วยเลือด’

Diane Keaton กลับบท Kay Adams-Corleone การกระทำของเธอในภาคสอง จริงอยู่มันโหดร้ายต่อ Michael อย่างมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี 20 ปี สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น หลงเหลือแค่เพียงความทรงจำ, ปัจจุบันในหนัง Kay ไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้าน Michael แบบสุดๆอีกแล้ว คงเพราะวัยวุฒิที่เพิ่มขึ้น และการค่อยๆเปลี่ยนไปทีละน้อยของ Michael (ที่ก็เพราะความแก่ตัวขึ้นเช่นกัน) เมื่อถึงจุดๆหนึ่งที่ทั้งสองเปลี่ยนไปจนแทบพอดีกัน มันเหมือน Kay พร้อมที่จะให้อภัย Michael (ถ้าเขาขอ) แต่ Michael ก็ยังไม่อาจยกโทษให้กับตัวเองในสิ่งที่ตนทำ … ระยะเวลาเปลี่ยนความคิดคนจริงๆนะเนี่ย ถ้าคุณเติบโตมาพร้อมกับหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ภาคแรก ก็อยากให้ขออภัยกับ Coppola บ้างแล้วกันที่สร้างภาคเรื่องนี้

การไม่กลับมาของ Robert Duvall ถือเป็นบาดแผลใหญ่ให้กับหนัง เพราะค่าตัวที่เขาได้นั้น น้อยกว่า Pacino ไม่ใช่แค่ครึ่งเดียว แต่หลายเท่าเลย, ได้รับข้อเสนอค่าตัว $1 ล้านเหรียญเพื่อให้กลับมารับบท Tom Hagen (น้อยกว่า Diane Keaton ที่ได้ $1.5 ล้านเสียอีก) ซึ่งเมื่อเขารู้ว่า Pacino ได้ค่าตัวถึง $5 ล้าน เขาก็ปฏิเสธเสียงแข็ง เพราะเป็นการดูถูกอย่างมาก ทั้งๆที่ตนก็เป็นดาราดังไม่แพ้ Pacino แต่ได้ค่าตัวน้อยกว่าหลายเท่าขนาดนี้, การเสีย Duvall ไป ทำให้ Coppola ต้องปรับบทขนานใหญ่ ทำให้ตัวละครเสียชีวิตไปก่อนเหตุการณ์ในหนังจะเริ่มขึ้น และให้ George Hamilton มารับบท Hagen-like เป็นทนายชื่อ B.J. Harrison กลายเป็นตัวประกอบที่ไม่แน่ใจมีบทพูดหรือเปล่า

ความรู้สึกที่หายไปคือ การขาดคนคอยถ่วงดุล สนับสนุน/ยับยั้ง ความคิด/การกระทำ หลายๆอย่างของ Michae, ผมเคยเรียก Hagen ว่าเป็นมือขวาฝ่ายบุ๋น แม้เขาจะไม่เคยได้รับความไว้วางใจเต็มร้อยจาก Michael แต่การมีตัวตนอยู่ข้างๆ ได้ช่วยให้ Godfather ไม่ต้องคอยพะวงหน้าห่วงหลัง ช่วยเก็บตกรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ให้เกิดความรอบคอบ สมบูรณ์แบบได้

กับตัวละครที่ขึ้นมามีบทบาทเด่นแทน Talia Shire ในบทน้องสาว Connie Corleone, โดยปกติแล้ว ผู้หญิงใน The Godfather ทั้งสองภาค จะแทบไม่มีบทบาทหรือตัวตนอะไรเลย แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีเริ่มมีมากขึ้น การให้ผู้หญิงก้าวเข้ามา เหมือนเป็นคนเบื้องหลังจัดฉาก ถือว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงให้หนังไม่น้อย, Connie ในภาคนี้ถือว่า ต้องการดันหลานของพี่ชาย ให้กลายมาเป็นผู้ช่วยของ Michael ไม่ได้มีบทบาทตรงๆ แต่ถือว่าคอยผลักดัน บงการชักใยอย่างลับๆ นี่ถือเป็นการสนับสนุน/ช่วยเหลือ Michael ทางหนึ่งนะครับ

Andy García ได้รับเลือกให้มาเล่นบท Vincent Corleone ลูกชายของ Sonny และ Lucy Mancini ที่มีชู้กันในภาคแรก แต่เป็นลูกนอกสมรส ยังไม่ได้การยอมรับให้กลายเป็นคนตระกูล Corleone, ในช่วงแรก Vincent มีลักษณะคล้ายพ่อของเขา มุทะลุ ใจร้อน เดือดดานง่าย แต่เมื่อได้อยู่ใกล้ชิด เรียนรู้ รับฟังคำแนะนำจาก Michael ก็ค่อยๆปรับตัว จนมีมาดที่สุขุมลุ่มลึกขึ้น … ว่าไปใบหน้าของ Garcia ก็คล้ายๆกับ Pacino นะครับ เห็นในฉากแรกๆ หลายคนคงคาดเดาเลยว่า ตัวละครนี้อาจกลายเป็นตัวตายตัวแทนของ Michael ในอนาคตต่อไป … ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

การแสดงของ García ถือว่าโดดเด่นมาก มีส่วนผสมระหว่าง Sonny และ Michael เห็นมาดในตอนแรกก็แทบรู้ได้เลยว่า อนาคตต้องไปไกลได้แน่ๆ, ซึ่ง García ก็ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Supporting Actor ในปีนั้นด้วย

มีคำพูดประโยคหนึ่งที่ Michael พูดกับ Vincent ว่า ‘อย่าให้คนอื่นรู้ว่า นายกำลังคิดอะไร’ (never let anyone know what you’re thinking.) ประโยคนี้เคยมีพูดขึ้นมาแล้วในภาคแรก Don Vito พูดกับ Sonny ถือเป็นการซ้ำรอย ในเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันไม่มีผิด (ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น)

Sofia Coppola ลูกสาวของผู้กำกับ Francis Ford Coppola รับบท Mary Corleone ลูกสาวของ Michael, เธอเป็นผู้หญิงที่มีรสนิยมแปลกๆ ก็ไม่รู้ไปตกหลุมเสน่ห์ของ Vincent เข้าได้ยังไง (สงสัย เพราะความหล่อ) นั่นทำให้เธอตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะถือว่าเป็นความรักที่ขัดต่อศีลธรรม

บท Mary เคยถูกยื่นข้อเสนอให้ Julia Roberts แต่เธอบอกปัดเพื่อไปเล่นหนังเรื่อง Pretty Woman (1990), Winona Ryder ที่ตอบตกลงแล้ว แต่ถอนตัววินาทีสุดท้าย เพราะอ้างว่าไม่สบาย, ด้วยความที่หาใครสะดวกไม่ได้ พ่อ Coppola เลยต้องการดันให้ลูกสาว Sofia แสดงเองเสียเลย ทั้งๆที่เธอก็ไม่เคยมีประสบการณ์ ด้านการแสดงมาก่อน (Sofia เคยปรากฎตัวใน The Godfather มาแล้วทั้งสองภาคนะครับ แต่ตอนนั้นเธอยังเด็กมาก เล่นเป็นทารกประกอบฉาก)

การแสดงของ Sofia Coppola ประมาณ 90% ของนักวิจารณ์จะด่ากันขรม เพราะเธอดูเหมือนเจ้าหญิงที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบเอาใจ มีความหลงตัวเอง เห็นแก่ตัว ดูผิดที่ผิดทาง เกินหน้าเกินตาแบบที่ไม่เข้ากับหนังแม้แต่น้อย, ผมรู้สึกเหมือน Sofia กำลังเล่นเป็นตัวเอง มากกว่ารับบท Mary ซึ่งนั่นสร้างปัญหาใหญ่คือ เคมีระหว่างเธอกับ García ไม่เคยเกิดขึ้นเลย (เพราะไม่สามารถทำให้ผู้ชมเชื่อได้ว่า ตัวละครของเธอ หลงใหล คลั่งไคล้ในตัว Vincent มากแค่ไหน) มีแค่ความต้องการ (Sexual) แต่ขาดเยื่อใย ความสัมพันธ์อันแนบแน่น นั่นทำให้ความรู้สึกผิดในความรักของทั้งสอง ไปไม่ถึงจุดที่จะรู้สึกเสี่ยงอันตราย แยกกันได้โดยไม่รู้สึกอะไร และตอนจบ มันเป็นอาการช็อคแบบคาดไม่ถึง มากกว่าที่จะรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าว ไปกับผลลัพท์ที่เกิดขึ้น

Sofia หลังจากหนังเรื่องนี้คงรู้ตัวเองว่า ถ้าแสดงหนังต่อคงไม่ได้เกิดแน่ (เธอได้รางวัล Golden Raspberry Award ถึง 2 รางวัล Worst Supporting Actress และ Worst New Star จากหนังเรื่องนี้) จึงผันตัวไปอยู่เบื้องหลัง กลายเป็นผู้กำกับ มีผลงานดังอย่าง Lost in Translation (2003)

อีกหนึ่งตัวประกอบสมทบชื่อดัง Eli Wallach รับบท Don Altobello เพื่อนของพ่อคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ แก่มากๆแล้วแต่ยังไม่ยอมเกษียนตัวเอง หลงใหลยึดติดในอำนาจ และเป็นคนวางแผน จอมบงการทั้งหมด

ถ่ายภาพโดย Gordon Willis, กลับมารับหน้าที่เดิมครั้งสุดท้าย โทนมืดของหนังยังคงเหมือนเดิม แต่เพราะไม่ใช่ฟีล์ม Technicolor แล้ว ทำให้บรรยากาศหลายๆอย่างเปลี่ยนไป

งานเลี้ยงต้นเรื่อง ภาคนี้ไม่ได้จัดข้างนอก แต่เป็นภายใน หลังจากพิธีมอบตำแหน่ง Commander of the Order of Saint Sebastian ของ St. Patrick’s Old Cathedral ให้กับ Michael (น่าจะเป็นตำแหน่งของผู้ที่ให้การสนับสนุน อุทิศตนต่อคริสตจักร), สังเกตการวางตำแหน่งของแต่ละคนที่อยู่ในรูปดีๆนะครับ เหมือนว่าจะมีนัยยะอะไรแฝงอยู่ (หรือเปล่า?)

ช็อตนี้ของ Garcia สวยมากๆ (สวมชุดคลุมสีแดง=เลือด, ความตาย) จะเห็นนักฆ่าอีกคน สะท้อนในกระจกเงา

และเมื่อยิงปืนสังหารนักฆ่าคนแรก เลือดสาดบดบังใบหน้าของเขาที่กระจก (ปกคลุมด้วยเลือด)

ประชุมมาเฟีย ภาคก่อนๆจะเป็นห้องไม้เก่าๆ โต๊ะยาว จุดเทียนไข แต่ภาคนี้ถือว่า Modern มาก เป็นโต๊ะกลม มีไฟฟ้าใช้ โทนสีเหลืองทองอร่าม (แต่เพราะเป็นโต๊ะกลม เราจึงไม่เห็นการเลื่อนกล้องแบบตรงๆแล้ว เป็นการโค้งเลื่อนแทน)

นี่เป็นอีกหนึ่งฉากขึ้นชื่อลือชาของหนัง เรียกว่า Helicopter Scene หรือ Atlantic City Massacre โทนสีจากเหลืองทองกลายเป็นชมพูอมแดง ภาพเต็มไปด้วยฝุ่นควัน และไม่เห็นเฮลิคอปเตอร์ (เราจะเห็นแค่แสงไฟ แล้วคิดว่านั่นคือเฮลิคอปเตอร์) [เปรียบเฮลิคอปเตอร์ว่ามาจากเบื้องบน=สวรรค์ลงทัณฑ์]

ช็อตสารภาพบาปของ Michael ถึงจะอยู่ในที่เปิดกว้าง แต่เหมือนอยู่ในห้องสารภาพบาป วางกรอบด้วยดอกกุหลาบหนามแหลมสีชมพู (กุหลาบ=ภายนอกสวยงาม แต่เต็มไปด้วยหนามแหลมอันตราย)

การตายของผู้ทรยศทั้ง 4
– Keinszig ถูกคนของ Vincent ลักพาตัว แล้วถูกแขวนคอบนสะพาน ให้ดูเหมือนฆ่าตัวตาย (คอหัก=หักหลัง, ทรยศ)
– Don Altobello ที่การแสดงโอเปร่า ถูกวางยาพิษ ตายด้วยความหวังดี
– Al Neri เดินทางไป Vatican ยิง Archbishop Gilday ที่กำลังเดินขึ้นบันไดโค้ง ตกลงมาเสียชีวิต (กำลังไต่เต้าขึ้นที่สูงอย่างคดเคี้ยวคอรัปชั่น แล้วตกลงมาตายแบบตรงๆ)
– Calò อดีตบอดี้การ์ดของ Tommasino ถูกขาแว่นตาปักคอเสียชีวิต (คนใส่แว่น=ฉลาด มีความรู้, ตายด้วยปัญญาของตนเอง)

และตอนจบ นั่งอยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย มีหมาเป็นเพื่อนตาย อย่างสงบ พร้อมผลส้มตก (ตอน Vito ตาย ยังมีเด็กที่วิ่งเล่น มีนัยยะถึงการส่งต่ออำนาจ แต่นี่หมา… แปลตรงๆก็ ตายแบบไร้ค่า)

ผ่านไปสองทศวรรษ ฝีมือการถ่ายภาพของ Gordon Willis ไม่ได้เปลี่ยนแปลงพัฒนาไปมากนัก ยังคงใช้ลักษณะเดิมในการควบคุมระดับแสง แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ทำให้บรรยากาศอารมณ์ของหนังเปลี่ยนไป พื้นหลัง/ฉาก/หน้าผม/เครื่องแต่งกาย และตัวละคร ล้วนเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่งานภาพสไตล์เดิม แบบนี้มันจะดูดีได้ยังไง (สมัยนั้นคงเรียกว่าตกยุคแล้วละ)

ตัดต่อโดย Barry Malkin, Lisa Fruchtman, Walter Murch นี่ถือเป็นส่วนด้อยที่สุดของหนัง ที่นักวิจารณ์จะพูดถึงมากที่สุด, เนื่องจากตัวละครหลักของหนังภาคนี้เหลือเพียง Michael เพียงคนเดียว แต่หนังพยายามผลักดันให้ Vincent ก้าวขึ้นมาเทียบเท่า ทดแทน (เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่) หลายครั้งที่ใช้มุมมองของตัวละครนี้แทรกใส่เข้ามา แต่พอเมื่อเปรียบเทียบกับภาคก่อนๆ ด้วยความน่าสนใจของตัวละครนี้ไม่เทียบเท่า มันเลยถือว่าไม่ได้ผลลัพท์ที่น่าพอใจ

การนำเอาฟุตเทจจาก ภาคหนึ่งและสอง แทรกเข้ามาในหนัง เพื่อเป็นการหวนระลึกถึงอดีตของ Michael นี่เป็นอีกจุดด้อยที่ไม่ควรใส่เข้ามาเลย เพราะมันทำลายวิถีที่เป็นมาของภาคก่อนๆ ย้ำซ้ำในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องบอก เพราะผู้ชมส่วนใหญ่ก็ยังจดจำได้ว่าเกิดอะไรขึ้น, มันจะดูมีลุ่มลึกกว่ามาก ถ้ากล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าไปที่ใบหน้าของตัวละคร ให้เขาแสดงสีหน้า ความรู้สึกเจ็บปวดออกมา แทนที่จะแสดงให้เห็นว่าเขากำลังนึกถึงภาพอะไร

สำหรับฉาก Cavalleria rusticana (ชื่อการแสดง Opera ใน Sicily) มีความพยายามตัดสลับ การแสดงโอเปร่า, การลอบสังหารผู้ทรยศ และคนที่กำลังเตรียมการลอบสังหาร Michael, นี่ถือเป็นอีกฉากที่การตัดต่อล้มเหลวโดยสิ้นเชิง มีความยาวที่เยิ่นเย้อยืดยาด ขาดความกระชับรัดกุม และเสียเวลาไปโดยไม่จำเป็น (เช่น Bodyguard ทั้ง 2-3 คน ของ Michael ที่ถูกฆ่าจะใส่มาเพื่อ!)

เพลงประกอบโดย Carmine Coppola พ่อของผู้กำกับ Francis Ford Coppola

เนื่องจาก Nino Rota เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1979 หน้าที่ทำเพลงประกอบจึงตกเป็นของ Carmine Coppola พ่อของผู้กำกับ Francis Ford Coppola ซึ่งเขาก็ยังธำรงไว้ ซึ่งสไตล์เพลงของ Rota ได้กลิ่นอายเดิม แล้วเขียนเพลงใหม่เพิ่มเข้าไป

จะมีเพลง Brucia La Terra เป็นภาษาอิตาเลี่ยน ใช้ทำนองของ Love Theme ที่คุ้นเคย ขับร้องโดย Giuseppe Rinaldi ถ้าคุณดูหนังเรื่องนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ภาคแรก ย่อมสามารถฮัมตามทำนองได้ทันที แม้ฟังไม่รู้ว่าร้องอะไร

สำหรับเพลงที่เข้าชิง Oscar ชื่อ Promise Me You’ll Remember แต่งทำนองโดย Carmine Coppola เขียนคำร้อง John Bettis ให้เสียงโดย Harry Connick Jr. คือเพลงนี้ฟังดูมันก็เพราะนะครับ แต่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ฟังแล้วจะหลับ แนวนี้ส่วนตัวไม่ค่อยชอบเท่าไหร่

ใจความของ The Godfather ภาคสุดท้ายนี้ คือ ผลของกรรม การสำนึกและการให้อภัย ทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง, ณ จุดที่ Michael เริ่มระลึกได้ถึงสิ่งนี้ คือเมื่อเขาไปถึงจุดสูงสุดของชีวิต ด้วยวัยวุฒิและความสำเร็จ ทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม แต่ที่แห่งนั้น มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับที่เจอมาทั้งชีวิต เต็มไปด้วยกลโกง คอรัปชั่น แม้แต่ในวาติกัน พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่แท้ๆ ก็หาได้มีความดีแท้น่ายกย่องสรรเสริญนับถือแม้แต่น้อย หรือว่ามันจะเป็นกฎแห่งกรรม วงเวียนวัฎจักรที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องเป็นแบบนี้เสมอไป เช่นนั้นแล้วมันมีประโยชน์อะไรที่เขามายืนถึง ณ จุดนี้

บาปที่ตามหลอกหลอน Michael มาตั้งแต่ภาคสอง ทำให้ภาคนี้เขามีตราบาปที่ฝังลึกในใจ ทำให้เจ็บปวดรวดร้าวภายใน (กลายเป็นโรคกระเพาะ) วิธีเดียวที่จะช่วยได้คือ การสารภาพ ยอมรับความผิดออกมา นี่เป็นการให้อภัยตัวเอง ชำระล้างบาป เพื่อกลับตัวเป็นคนดี เมื่อนั้นเขาจักสามารถเริ่มให้อภัยคนอื่นได้, นี่อาจเพราะวัยวุฒิที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้รู้/เห็น/เข้าใจ วิถีของโลกได้ชัดเจนขึ้น พอมองย้อนกลับไปทบทวนเห็นตัวเองในอดีต จะพบว่า ความดื้อด้านของตนเองสมัยนั้นไร้สาระมาก มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับชีวิตเลย

แต่บางสิ่งอย่างในโลก เมื่อคิด/ทำ/เกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมมีการตอบสนอง เป็นวัฏจักร เรียกว่ากฎแห่งกรรม, สิ่งที่ Michael ได้รับในตอนท้าย กับเสียงกรีดร้องอันเจ็บปวดที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ นั่นคือโชคชะตาของเขาที่ต้องพบกับความสูญเสียอันประเมินค่าไม่ได้ คือสิ่งที่สวรรค์ไถ่โทษให้เขา ได้พบกับความเจ็บปวดที่เลวร้ายยิ่งกว่าที่ตนเคยทำ …ถึงผู้ชมจะเกลียดการแสดงของ Sofia Coppola ในบท Mary สักเท่าไหร่… แต่สุดท้ายก็จะอดเวทนาสงสาร Michael ไม่ได้แม้แต่น้อย

นี่ถือเป็นการปิดฉากไตรภาค Michael Corleone โดยสมบูรณ์แบบแล้วนะครับ เพราะ ภาคแรก คือการไต่เต้าขึ้นเป็นใหญ่, ภาคสอง คือช่วงเวลาที่ค่อยๆตกต่ำลง และภาคสาม คือผลกรรมและการชดใช้

แต่เหมือนว่า Paramount ก็ยังไม่อยากที่จะจบ The Godfather ง่ายๆ เห็นว่า Coppola และ Mario Puzo ก็คุยๆกันเรื่องภาค 4 ไว้ด้วย ว่าจะทำแบบภาคสอง คือ Andy Garcia กลายเป็น Don เต็มตัว และมีปมเรื่องที่ Mary เสียชีวิต โดยเล่าย้อนอดีต ให้ Robert De Niro กลับมาเป็น Don Vito และ Sonny วัยหนุ่ม หมายมั่นปั้นให้ Leonardo DiCaprio รับบทแทน แต่โปรเจคนี้ก็เป็นหมันไปเสียก่อนเพราะ Puzo เสียชีวิตในปี 1999

ด้วยทุนสร้าง $54 ล้านเหรียญ หนังทำเงินทั่วโลก $136.8 ล้านเหรียญ น้อยกว่าภาคแรกอยู่มาก แต่ไม่ถือว่าขาดทุน, เข้าชิง Oscar 7 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Supporting Actor (Andy García)
– Best Art Direction
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Music, Original Song ‘Promise Me You’ll Remember’

ในมุมของนักวิจารณ์สมัยนั้น ต่างสาดเทสีใส่ไม่ยั้ง The New Yorker เรียกหนังว่า ‘public humiliation.’ ส่วน The Washington Post บอกว่า ‘isn’t just a disappointment, it’s a failure of heartbreaking proportions.’

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ คงเพราะผมรู้อยู่แก่ใจตามเสียงร่ำลือ ว่าหนังเทียบกับภาค 1 และ 2 ไม่ได้ เลยทำให้ไม่ได้คาดหวังว่าจะพบความยิ่งใหญ่อะไร พอดูจบกลับรู้สึกผิดคาดด้วยซ้ำ เพราะหนังดีกว่าที่คิดไว้มากพอสมควรเลยละ

ความชอบส่วนตัว: The Godfather > The Godfather Part II >>> The Godfather Part III
คุณภาพ: The Godfather Part II >= The Godfather >>> The Godfather Part III

แนะนำหนังกับคนที่อยากรู้ชะตากรรมสุดท้ายของ Don Michael ว่าจะได้รับผลอย่างไรหลังจากภาค 2 แม้คุณภาพจะไม่เทียบเท่า แต่กลิ่นอาย บรรยากาศเดิมๆของ The Godfather จะยังคงอยู่ ให้อารมณ์ Nostalgia และทำให้คุณรู้สึกแก่ขึ้นมาทันที

จัดเรต 15+ เรื่องความรุนแรงถือว่าต่ำสุดใน 3 ภาค แต่ภาคนี้มันมี Incest

TAGLINE | “The Godfather Part III บทสรุปชะตากรรมของ Don Michael ที่แม้จะมีเรื่องราวระดับโลก แต่คุณภาพแค่ระดับครอบครัว”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: