The Good, the Bad and the Ugly (1966)
: Sergio Leone ♥♥♥♥♥
(5/1/2018) ในทัศนะของผู้กำกับ Sergio Leone มนุษย์แบ่งออกเป็นสองพวกตรงกันข้าม The Good กับ The Bad แต่ก็มีคนอีกกลุ่มที่ชอบอยู่กึ่งกลางระหว่าง นิสัยกลับกลอกกะล่อนปลิ้นปล้อน เห็นอะไรตอบสนองดีกว่าก็เปลี่ยนขั้วสลับข้าง ช่างมีความอัปลักษณ์ The Ugly ในสันดานโดยแท้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ Dollars Trilogy หลังจากความสำเร็จล้นหลามของ A Fistful of Dollars (1964) กับ For a Few Dollars More (1965) แม้จะยังไม่ได้ออกฉายต่างประเทศและอเมริกา [ยังคงตกลงกันไม่ได้เรื่องลิขสิทธิ์ต่อสตูดิโอ Toho และผู้กำกับ Akira Kurosawa] แต่แค่ในอิตาลีก็ทุบสถิติทำเงินสูงสุดตลอดกาลสองครั้งติดๆภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือน คืนทุนสร้างน้อยนิดกลับมามากมายมหาศาล มีหรือโปรดิวเซอร์ผู้สร้างจะไม่ฉกฉวยโอกาสต่อยอดความสำเร็จนี้ ทุ่มทุนสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าสองเท่า หลอกล่อ Clint Eastwood ด้วยค่าตัวสูงถึง $250,000 เหรียญ + รถ Ferrari + 10% กำไรเมื่อฉายในอเมริกา แต่น่าเสียดายที่คือครั้งสุดท้ายจริงๆ ปิดฉากไตรภาค ‘Man with No Name’ ลงอย่างสวยงาม อลังตระการตา Masterpiece
The Good, the Bad and the Ugly เมื่อตอนออกฉายอเมริกา ถูกตีตราหน้าว่าคือ Spaghetti Western ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ไร้คุณค่าใดๆทางศิลปะ แม้แต่นักวิจารณ์ชื่อดังแห่งยุค Roger Ebert แม้จะชื่นชอบหนังแต่ก็ให้แค่สามจากสี่ดาว ทิ้งท้ายด้วยคำกล่าว ‘ถ้าหนังไม่ใช่ Spaghetti Western คงให้สี่ดาวเต็มไปแล้ว’ ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์คุณค่าของไตรภาคนี้ แปรสภาพกลายเป็นโคตรผลงานสุดคลาสสิก ทรงอิทธิพลต่อวงการ และได้รับการยกย่องว่าคือหนึ่งในภาพยนตร์ชุดอันยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (Ebert เปลี่ยนมาให้คะแนน 4 ดาวเต็มเมื่อหวนกลับมารับชมอีกรอบเมื่อผ่านไปกว่า 30 ปี)
ผมรับชม Il buono, il brutto, il cattivo ไม่น่าจะต่ำกว่า 10 รอบ เพราะคือหนังเรื่องโปรดที่ ‘ฟิน’ ทุกครั้งเมื่อบทเพลง The Ecstacy of Gold ในฉากไคลน์แม็กซ์ดังขึ้นมา คราก่อนพยายามครุ่นคิดทำความเข้าใจว่า ‘เงินในหลุมศพ’ มีนัยยะสื่อถึงอะไร แต่คำตอบที่ได้ก็ยังไม่ค่อยน่าพึงพอใจนัก ตั้งใจว่าเมื่อประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ของตนเองเพิ่มขึ้นเมื่อไหร่ จะหวนกลับมาครุ่นคิดอีกครั้ง ในที่สุดวันนี้ก็เกิดความเข้าใจแล้วละครับ
ก่อนจะเริ่มต้น ขอนำ Trailer โปรโมทหนังตอนเข้าฉายอเมริกามาให้รับชมกันก่อน ซึ่งในตัวอย่างนี้จะมีจุดผิดพลาดที่ชวนให้เกิดความสับสนเล็กน้อย ขอไม่เฉลยแล้วกันว่าคืออะไร เชื่อว่าหลายคนน่าจะดูออกแน่นอน
Sergio Leone (1929 – 1989) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอิตาเลียน เจ้าของคำนิยาม ‘Spaghetti Western’ เกิดที่ Rome, Lazio เป็นลูกของผู้กำกับ/นักแสดงชื่อดัง Vincenzo Leone กับ Edvige Valcarenghi สมัยเรียนเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับ Ennio Morricone ครั้งหนึ่งเห็นพ่อในกองถ่าย ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนกฎหมายเพื่อเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มต้นจากเป็นตากล้อง ผู้ช่วยผู้กำกับ Vittorio de Sica ถ่ายทำ Bicycle Thieves (1948) เคยร่วมงานเป็นผู้ช่วยหนัง Hollywood ที่มาถ่ายหนังในอิตาลีเรื่อง Quo Vadis (1951), Ben-Hur (1959), เมื่อผู้กำกับ Mario Bonnard ล้มป่วยระหว่างการถ่ายทำ The Last Days of Pompeii (1959) เป็น Leone รับหน้าที่กำกับแทนทั้งหมดแต่ไม่ขอรับเครดิต, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Colossus of Rhodes (1961) ด้วยทุนสร้างต่ำแต่สามารถทำให้มีความอลังการระดับ Hollywood Epic
ช่วงทศวรรษ 60s ในประเทศอิตาลี Leone สังเกตพบว่าหนังแนว Western ยังคงได้รับความนิยมสูงมากๆอยู่ ขณะที่อเมริกาเริ่มถดถอยไม่ค่อยได้รับความสนใจสักเท่าไหร่ จึงเกิดแนวคิดปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ รูปแบบการนำเสนอ ให้สอดคล้องเข้ากับสไตล์ภาษาภาพยนตร์ของประเทศตัวเอง เกิดเป็น Sub-Genre ใหม่ที่เรียกว่า ‘Spaghetti Western’
เกร็ด: Spaghetti Western ถือเป็นคำเรียกเหมารวมภาพยนตร์แนว Cowboy Western ที่สร้างขึ้นโดยผู้กำกับสัญชาติอิตาเลียนโดยเฉพาะ
โดยภาพยนตร์เรื่องแรกของถัดมาของ Leone ก็คือ A Fistful of Dollars (1964) ได้แรงบันดาลใจจาก Yojimbo (1961) ของปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่น Akira Kurosawa โดยเปลี่ยนซามูไรไร้นามให้เป็นคาวบอยโนเนม และพื้นหลังจากญี่ปุ่นเป็น Western, อเมริกา/เม็กซิโก (แต่ถ่ายทำในยุโรป) เห็นว่าเคยพยายามติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงอยู่ แต่สตูดิโอ Toho ไม่ยินยอมขายให้ Leone เลยตัดสินใจช่างหัวมันไม่แคร์สื่อ พาลให้เกิดเรื่องฟ้องร้องขึ้นศาลยาวนานถึง 3 ปี กระทั่ง 1967 เจรจานอกรอบสำเร็จ จึงได้ส่งออกฉายยังต่างประเทศ
For a Few Dollars More (1965) คือเรื่องถัดมาที่ต่อยอดความสำเร็จของ A Fistful of Dollars ได้โปรดิวเซอร์ผู้สร้างสัญชาติอิตาเลี่ยน แต่เพราะขณะนั้นมีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ ผู้กำกับ Leone จึงยำพล็อตคลาสสิกของหนัง Western กลายเป็นเรื่องราวของนักล่าค่าหัว (Bounty Hunter) สองคนที่ไม่ได้อยากร่วมงาน แต่เพื่อเงินก้อนโตจากมหาโจรผู้ยิ่งใหญ่ ยิงหมวกท้าดวลกลายเป็นพันธมิตรชั่วคราวที่ตอนจบได้ทั้งมิตรภาพและกำไรชั้นงาม
ขณะที่โปรดิวเซอร์และผู้กำกับ Sergio Leone อิ่มเอมกับความสำเร็จของภาคสอง ยังไม่มีแผนสำหรับภาคต่อ United Artists ได้รีบตัดหน้าจรดปากกาเซ็นสัญญาทาบทามนักเขียนบท Luciano Vincenzoni ให้พัฒนาภาคต่อโดยทันที ซึ่งแนวคิดที่นำไปเสนอสตูดิโอคือ ‘เรื่องราวของสามหัวขโมยออกตามหาสมบัติในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกัน’
“A film about three rogues who are looking for some treasure at the time of the American Civil War”.
Alberto Grimaldi โปรดิวเซอร์ของ For a Few Dollars More (1965) เมื่อได้ยินเรื่องราวของ Vincenzoni มีความต้องการดึงโปรเจคกลับมาหาตัวเอง แต่คุยต่อรองไปมากลายเป็นสัญญาร่วมทุนแบ่งออกคนละครึ่ง UA จ่ายเงินล่วงหน้าให้ก่อน $500,000 เหรียญ และ Grimaldi ควักส่วนที่เหลือ รวมคร่าวๆกลายเป็นภาพยนตร์ Spaghetti Western สัญชาติอิตาเลี่ยนเรื่องแรก ที่ใช้ทุนสร้างเกิน $1 ล้านเหรียญ (ปกติหนังแนว Spaghetti Western มักใช้ทุนสร้างต่ำๆ ไม่ค่อยเกิน $500,000 เหรียญ)
ด้วยเงินเยอะขนาดนี้มีหรือ Leone จะไม่กลับมา ร่วมกับ Vincenzoni พัฒนาแนวคิดต่อ มีความต้องการนำเสนอทัศนะ ความไร้สาระ ‘absurdity’ ของสงคราม หวนนึกถึงครั้งหนึ่งเคยอ่านพบว่า ‘มีผู้คนเสียชีวิตกว่า 120,000 คนในค่ายกักกันของฝ่ายใต้ นี่เป็นการกระทำที่น่าละอายขายหน้ามวลมนุษยชาติ’
“I had read somewhere that 120,000 people died in Southern camps such as Andersonville. I was not ignorant of the fact that there were camps in the North. You always get to hear about the shameful behavior of the losers, never the winners.”
สำหรับชื่อหนัง ตอนแรกมี Working Title ตั้งว่า I due magnifici straccioni (แปลว่า The Two Magnificent Tramps) ก่อนเปลี่ยนเป็น Il buono, il brutto, il cattivo ตามคำแนะนำของ Vincenzoni ขณะที่ฉบับฉายต่างประเทศ UA พิจารณาใช้ชื่ออื่น อาทิ River of Dollars, The Man With No Name สุดท้ายก็เลือกคำแปลชื่อภาษาอิตาเลี่ยน The Good, the Bad and the Ugly ส่วนชื่อไทย มือปืนเพชรตัดเพชร
พื้นหลังดำเนินเรื่องในช่วงเวลาของสงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil Wars, 1861–1865) สงครามเหนือ-ใต้ จุดเริ่มต้นตั้งแต่การได้รับชัยชนะเลือกตั้ง กลายเป็นประธานาธิบดีของ Abraham Lincoln มีความประสงค์จะ ‘เลิกทาส’ แต่เพราะเหล่าสมาพันธรัฐอเมริกา นำโดย Jefferson Finis Davis พร้อม 23 มลรัฐทางใต้ ไม่ยินยอมรับการประกาศนี้ จึงลุกฮือขึ้นเพื่อโค่นล้มยึดอำนาจ
เรื่องราวชายสามคน ประกอบด้วย
– Blondie, The Good (รับบทโดย Clint Eastwood) นักแม่นปืน หาเลี้ยงชีพด้วยการล่าค่าหัวแล้วช่วยเหลือตัวประกัน
– Angel Eyes, The Bad (รับบทโดย Lee Van Cleef) รับจ้างฆ่าคน (Hitman) ช่วงหนึ่งปลอมตัวเป็นทหารยศจ่าของสหภาพ (ฝ่ายเหนือ)
– Tuco, The Ugly (รับบทโดย Eli Wallach) หัวขโมย นักเลงนอกกฎหมาย ในตอนแรกมีค่าหัว $2,000 เหรียญ แล้วเพิ่มเป็น $3,000 เหรียญ
ทั้งสามจับพลัดจับพลูรับรู้เรื่องราวของ Confederate Gold เงินของสมาพันธรัฐอเมริกา (ฝ่ายใต้) ที่สูญหายไปในช่วงสงครามกลางเมือง จำนวนกว่า $200,000 เหรียญ โดยสามหัวขโมย Steven, Baker, Jackson ที่ต่อมาต่างหักหลังกันเอก และ Jackson (เปลี่ยนชื่อเป็น Bill Carson) เป็นผู้นำเงินไปซ่อนฝังไว้ที่สุสานแห่งหนึ่ง
เกร็ด: แต่ถ้าไล่เรียงตาม Timeline ต้องถือว่า American Civil Wars เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนหน้าเรื่องราวสองภาคแรกหลายปีทีเดียว Prequel เสียด้วยซ้ำ กระนั้นก็ไม่ต้องไปสนใจมันหรอกนะ หามีสาระสำคัญเสียที่ไหน
Clinton Eastwood Jr. (เกิดปี 1930) นักแสดง ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Francisco, California, ครอบครัวฐานะค่อนข้างดีทีเดียว สมัยเด็กไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือ โดดออกมาทำงานหลากหลายอาทิ Lifeguard, เด็กส่งเอกสาร, แคดดี้, เสมียน ฯ สมัครเป็นทหารในช่วง Korean War แต่ก็ไม่ได้ถูกส่งไป ปลดประจำการออกมา มีแมวมองของ Universal ชักชวนให้มาเป็นนักแสดง ด้วยความที่หล่ออย่างเดียวแต่ไร้ฝีมือใดๆ ใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะมีโอกาสได้รับบทเล็กๆครั้งแรกเรื่อง Revenge of the Creature (1955), โด่งดังกับแสดงซีรีย์ Rawhide (1959 – 1965) จากค่าตัวซีซันแรก $750 เหรียญต่อตอน จนซีซันที่ 8 สุดท้าย $119,000 เหรียญต่อตอน
เพื่อต้องการลบภาพลักษณ์หล่อดีประเสริฐศรีที่ติดมาจากซีรีย์ Rawhide ตัดสินใจรับบทตัวละคร Anti-Hero ในหนังเรื่อง A Fistful of Dollars (1964) แม้จะไม่ประทับใจการทำงานกับทีมงานสร้างภาพยนตร์อิตาเลี่ยนนัก แต่เมื่อได้เสียงตอบรับอย่างดีจากการฉายให้เพื่อนๆรับชม ตัดสินใจหวนกลับมาร่วมงานครั้งที่สอง For a Few Dollars More (1965) และสาม The Good, the Bad and the Ugly (1966)
รับบท Blondie, The Good นักล่าค่าหัวที่จับผู้ร้ายในประกาศมาขึ้นเงินกับทางการ แล้วหาทางช่วยเหลือให้หนีพ้นจากนั้นเปลี่ยนเมืองไปเรื่อยๆ ครั้งหนึ่งร่วมงานกับ Tuco ด้วยความคิดว่าหมอนี่ค่าตัวคงไม่ขึ้นอีกเลยตัดหางปล่อยวัดทิ้งไว้ท่ามกลางทะเลทราย ทำให้ถูกตามล่าล้างแค้น บังเอิญกุมความลับสำคัญชื่อหลุมศพที่ฝังเงิน $200,000 เหรียญไว้ แม้จะไม่รู้ว่าสุสานไหนแต่ก็ทำให้อยู่รอดปลอดภัยไปจนถึงเป้าหมาย
ถึงตัวละครนี้จะได้รับคำเรียกว่า The Good แต่การกระทำของเขากลับเต็มไปด้วยความเลือดเย็น เห็นแก่ตัว สนแค่เรื่องเงินๆทองๆ กระนั้นมีอยู่ครั้งหนึ่ง มองตารู้ใจกับ Tuco ร่วมกันทำตามคำขอสุดท้ายของ Captain Clinton (รับบทโดย Aldo Giuffrè) ในการระเบิดสะพาน กลายเป็นวีรบุรุษของชาติที่ไม่มีใครจดจำ นี่น่าจะถือว่ามีจิตใจอัน’ดี’งามอยู่บ้าง
คำพูดประโยคเด็ดที่กลายเป็นตำนานของตัวละครนี้คือ (จริงๆ Tuco พูดประโยค ‘โลกเรานี้มีคนอยู่สองจำพวก’ คล้ายๆกันนี้มาแล้ว 3 ครั้งแล้วในหนังจนเริ่มรำคาญ นี่เป็นประโยคที่ Blondie พูดย้อนสวนกลับตอนท้าย คมคายกว่าเป็นไหนๆ)
“You see in this world there’s two kinds of people my friend. Those with loaded guns, and those who dig. You dig”
Eastwood แม้จะร่วมงานกับ Leone มาแล้วถึงสองครั้ง แต่มิได้ชื่นชอบวิธีการทำงานของผู้กำกับนัก ซึ่งพอได้พิจารณาอ่านบทของภาคนี้ก็แสดงความไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ พูดแซวประมาณว่า ‘ภาคแรกเล่นคนเดียว ภาคสองมีคู่หู มาภาคสามกลายเป็น Trio นี่ถ้ามีภาคต่อไปสงสัยคงทั้งกองทัพ’ (จริงๆคือกลัวว่าตัวละครของ Wallach ที่มีบทมากกว่าจะโดดเด่นกว่าตน)
“In the first film I was alone. In the second, we were two. Here we are three. If it goes on this way, in the next one I will be starring with the American cavalry”.
แต่ขณะที่กำลังครุ่นคิดพิจารณาตัดสินใจ ผู้จัดการส่วนตัวขณะนั้น Ruth Marsh กลับประกาศต่อสาธารณะออกไปก่อนแล้วว่า Eastwood จะหวนกลับมารับบทอีกครั้ง นี่สร้างความไม่พอใจให้อย่างมาก แม้ค่าตอบแทนจะมากมายเหลือเฟือ แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ค่อยน่าประทับใจสักเท่าไหร่
จนกระทั่งฉากไคลน์แม็กซ์ของหนัง Eastwood ก็ถึงขีดสุดกับความบ้า Perfectionist ของ Leone ในไดเรคชั่นที่ชอบถ่ายทำเก็บรายละเอียดทุกระยะ รายละเอียด มุมกล้อง สร้างความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าให้กับนักแสดงอย่างยิ่งยวด ตัดสินใจว่าจากนี้จะไม่ขอร่วมงานกันอีก แม้จะได้รับยื่นข้อเสนอให้รับบทใน Once Upon a Time in the West (1968) ก็บอกปัดปฏิเสธไป
เกร็ด: วิธีผ่อนคลายความเครียดในกองถ่ายของ Eastwood คือหวดวงสวิงไม้กอล์ฟแรงๆ (มันคงปลดปล่อยอะไรได้เยอะ), มีการตั้งฉายาให้ผู้กำกับว่า Yosemite Sam (ตัวการ์ตูนใน Looney Tunes)
การแสดงของ Eastwood แทบไม่มีอะไรให้พูดถึงนัก แต่ภาพลักษณ์ของเขายังคงตราติดตรึงฝังใจผู้ชมไม่รู้ลืม โดยเฉพาะ Poncho ที่ก็ไม่รู้ได้ซักหรือยังตั้งแต่ภาคแรก ซึ่งหลังถ่ายทำหนังเสร็จ Eastwood ยกผ้าผืนนี้ให้กับร้านอาหารเม็กซิกันแห่งหนึ่งใน Carmel, California
เกร็ด: Eastwood เป็นคนไม่สูบบุหรี่ เขาเกลียดรสชาติของซิการ์นี้อย่างมากตั้งแต่ภาคแรก ยินยอมดูดเคี้ยวเพื่อเป็นการลบภาพลักษณ์เก่าของตนเอง แต่พอถึงภาคนี้เพราะความเอือมละอาถึงขีดสุดแล้ว พูดกับผู้กำกับที่สนแต่ความ Perfectionist ถ่ายทำแบบไม่สนใจนักแสดง
“You’d better get it this time, because I’m going to throw up.”
Clarence Leroy Van Cleef Jr. (1925 – 1989) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Somerville, New Jersey โตขึ้นสมัครเป็นทหารเรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประจำเรือดำน้ำ USS Incredible ตำแหน่ง Sonarman ปลดประจำการออกมาทำงานเป็นนักแสดงละครเวทีอยู่ที่ Little Theater Group, New Jersey ได้โอกาสแสดงภาพยนตร์ รับบทตัวร้ายสมทบใน High Noon (1952) แม้ไม่มีบทพูดแต่ภาพลักษณ์โดยเฉพาะจมูกกับดวงตาสองสีได้รับความสนใจมากๆ กระนั้นช่วงทศวรรษ 50s กลายเป็น Typecast ในบทตัวร้ายลูกกระจ๊อก จนกระทั่งได้ร่วมงาน Dollars Trilogy สองภาคหลัง กลายเป็น Superstar เคียงข้าง Clint Eastwood โดยทันที
รับบท Angel Eyes, The Bad ทำงานด้วยการรับจ้างฆ่าคน (Hitman) จับพลัดจับพลูจากงานหนึ่ง ล่วงรู้ว่ามีการซ่อนเงินจำนวนมหาศาลจึงออกเดินทางตามหาชายผู้นั้น ปลอมตัวเป็นทหารยศจ่าของสหภาพ (ฝ่ายเหนือ) ประจำการอยู่ค่ายกักกันที่ Batterville โดยบังเอิญอีกเช่นกันพบเจอกับสองสหายเก่า Tuco และ Blondie ปลอมตัวมาในชื่อของชายคนที่ตามหาอยู่พอดี ทำให้เข้าใจได้โดยทันทีว่าสองคนนี้ต้องล่วงรู้ความลับสถานที่ซ่อนสมบัติอย่างแน่นอน
หลังจากเป็นคู่หูเพื่อนพระเอกใน For a Few Dollars More (1965) เลยได้รับการติดต่อให้หวนกลับมาอีกครั้ง พูดแซวด้วยว่า
“The only reason they brought me back was because they forgot to kill me off in For a Few Dollars More (1965).”
แต่การกลับมาครั้งนี้กลายเป็นตัวร้าย The Bad ที่มีความเหี้ยมโหดเลือดเย็น ใช้ความรุนแรงไม่เว้นแม้ผู้หญิงและเด็ก แต่เป็นคนยึดถือมั่นในหลักการความตั้งใจของตนเอง เมื่อตบปากรับเงินใครมา ไม่ว่ายังไงต้องทำงานให้สำเร็จ ซึ่งเมื่อถูกเกทับ Buff ยัดเงินมาจากอีกคน ก็รับเงินสองต่อเหมือนนกสองหัว เพื่อผลประโยชน์ความร่ำรวยของตนเอง ชั่วร้ายเลวทรามไปถึงสันดาน
กระนั้นเราจะไม่เห็นภาพขณะตัวละครนี้ลงไม้ลงมือใช้ความรุนแรงกับใครเลยนะครับ แม้แต่ฉากที่ต้องตบหน้าหญิงโสเภณี สังเกตดีๆจะพบว่ามีหลบมุมใช้การตัดต่อช่วย นั่นเพราะตัวของ Van Cleef เป็นคนยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนเองมาก
“There are very few principles I have in life . . . one of them is I don’t kick dogs, and the other one is I don’t slap women in movies”.
– Lee Van Cleef
นี่น่าจะเป็นบทบาทของ Van Cleef ที่ได้รับการจดจำสูงสุด ถึงขนาดหลุมฝังศพมีข้อความเขียนว่า ‘BEST OF THE BAD’
Eli Herschel Wallach (1915 – 2014) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Red Hook, Brooklyn ในครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพมาจาก Poland โตขึ้นเรียนจบสาขาประวัติศาสตร์จาก University of Texas at Austin แต่ขณะเรียนปริญญาโท มีโอกาสเป็นนักแสดงละครเวทีจึงเกิดความหลงใหลด้านนี้ กลายเป็นลูกศิษย์ของ Sandord Meisner ตามด้วยสมาชิกรุ่นก่อตั้ง Actors Studio ภายใต้ Lee Strasberg มีผลงานละครเวทีคว้ารางวัล Tony Award: Best Actress เรื่อง The Rose Tattoo (1951), ภาพยนตร์เรื่องแรก Baby Doll (1956) ได้เข้าชิง Golden Globe: Best Supporting Actor ตามด้วย The Magnificent Seven (1960), The Misfits (1961), The Good, the Bad and the Ugly (1966), How the West Was Won (1962), The Godfather Part III (1990) ฯ
แม้ในชีวิตแม้จะไม่เคยได้เข้าชิง Oscar สาขาใดๆ แต่ก็ได้รับมอบ Honorary Award เมื่อปี 2011 สำหรับ ‘For a lifetime’s worth of indelible screen characters’.
รับบท Tuco Benedicto Pacífico Juan María Ramírez ฉายา The Rat, The Ugly หัวขโมยสัญชาติเม็กซิกัน กระทำความผิดชั่วร้ายไว้มากเลยถูกตั้งค่าหัว จับพลัดจับพลูร่วมงานกับ Blondie แต่ถูกทรยศหักหลัง จึงออกตามล่าแค้นทวงคืน ขณะกำลังจะสิ้นเคราะห์วาสนากลับถูกโชคชะตากลั่นแกล้ง ทำให้ต้องประคบประหงมดูแลช่วยเหลือชายคนนี้ที่เขาเกลียดขี้หน้า เพื่อนำพาไปยังแหล่งที่ซ่อนขุมสมบัติ
ว่ากันว่าเหตุผลที่ Wallach ได้รับบทนี้ เพราะการแสดงใน The Magnificent Seven (1960) แต่เจ้าตัวเขียนบอกไว้ในหนังสือชีวประวัติของตนเอง The Good, the Bad and Me จริงๆแล้วจากเรื่อง How the West Was Won (1962) ที่แม้จะรับบทเล็กๆ แต่มีภาพลักษณ์คล้ายกับ Tuco อย่างยิ่ง
นี่เป็นบทบาทไฮไลท์ในชีวิตของ Wallach ก็ว่าได้ ‘ไม่หล่อแต่เร้าใจ’ มีภาพลักษณ์(จมูก)ที่กลายเป็นตำนาน คำพูดวลีเด็ดๆคมๆหลายประโยค และพฤติกรรมอันกลับกลอกกะล่อนปลิ้นปล้อน ทำให้โดนชักจูงจมูก กลั่นแกล้ง ลวงล่อหลอกสารพัดจากทั้ง The Good และ The Bad
สำหรับประโยคที่กลายเป็นตำนานของตัวละครนี้ เห็นว่าแต่เดิมฉากนี้ไม่มีบทพูดอะไร Wallach ทำการ Improvised ขึ้นมาด้วยตนเอง
“When you have to shoot, shoot, don’t talk!”
Wallach ถือเป็นนักแสดงที่พกความซวยตลอดการถ่ายทำ เฉียดตายอยู่หลายครั้ง
– หยิบขวดน้ำผิดคิดว่าเป็นโซดาแต่กลับเป็นน้ำกรด,
– ฉากถูกแขวนคอ แม้สตั๊นแมนจะยิงเชือกขาด แต่เสียงปืนทำให้ม้าตกใจวิ่งหนีเป็นไมล์ ขณะที่ตัวเขายังถูกมัดมือควบคุมอะไรไม่ได้,
– ฉากกระโดดลงจากบนรถไฟ ทั้งๆที่สวมกุญแจมือ แต่กระแทกลงพื้นรุนแรงมากๆ,
– ตัดกุญแจมือด้วยการให้รถไฟวิ่งผ่านในระยะประชิด ถ้าเผลอเงยหน้าลุกขึ้นมาผิดจังหวะละก็…
“Leone was a brilliant director, [but] he was very lax about ensuring the safety of his actors during dangerous scenes.”
ลักษณะการถ่ายทำยังคงเป็น MOS (Mit-Out Sound) ไม่มีการบันทึกเสียงใดขณะถ่ายทำ นักแสดงพูดภาษาปากของตัวเอง ใช้การพากย์ทับและใส่เสียง Sound Effect/Soundtrack ภายหลังการถ่ายทำ อันจะทำให้หลายครั้งปากลิปซิงค์ไม่ตรงกับเสียงพูด
เกร็ด: ถึงสามนักแสดงนำจะใช้ภาษาอังกฤษสื่อสาร แต่มีเพียง Wallach ที่คุยกับผู้กำกับ Leone รู้เรื่องด้วยภาษาฝรั่งเศส
เมื่อตากล้องที่เคยร่วมงานในสองภาคก่อนหน้า Massimo Dallamano ผันตัวไปกำกับภาพยนตร์ มาเรื่องนี้จึงได้ผู้กำกับภาพคนใหม่ Tonino Delli Colli ผลงานดังอาทิ Once Upon a Time in the West (1968) และ Once Upon a Time in America (1984),Death and the Maiden (1990), Bitter Moon (1991), Life Is Beautiful (1997) ฯ
ถึงเรื่องราวจะมีพื้นหนัง American Civil Wars แต่สถานที่ถ่ายทำคือ
– Burgos กับ Almería, ประเทศสเปน ก็แถวๆที่ถ่ายทำสองภาคแรกนะแหละ,
– ค่ายกักกัน Batterville สร้างขึ้นในบริเวณ Tabernas Desert,
– ส่วนฉากภายในกลับไปใช้สตูดิโอที่อิตาลี Cinecittà Studios, Rome
เกร็ด: ตัวประกอบทั้งหมดมีประมาณ 1,500 คน ว่าจ้างจากกองกำลังทหารสเปนที่ประจำการอยู่ใกล้ๆ
เปิดมาภาพแรกของหนังก็โคตรเท่ห์แล้ว เป็นการนำเสนอสไตล์ลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Leone ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพระยะโคตรไกล (Extreme Long Shot) กับโคตรใกล้ (Extreme Close-Up) จับยัดรวมเข้ามาในช็อตเดียวเสียเลย
เครดิตชื่อของหนัง The Good, The Bad and the Ugly สังเกตลวดลายตัวอักษร Font ทั้งสามแบบ มีลักษณะสะท้อน
– The Good มีความหรูหรา ไฮโซ ดูดี
– The Bad แข็งๆทื่อๆ ดูเลวร้าย
– The Ugly เป็นตัวอักษรที่ดูอัปลักษณ์ พิลึกกึกกือดีแท้
นี่เป็นช็อตที่น่าสนใจเดียว Tuco เงยหน้าขึ้น พื้นหลังกำแพงด้านข้างเป็นรูปการตรึงกางเขนของพระเยซูคริสต์ ขณะไถ่บาปให้กับมนุษย์ ซึ่งฉากต่อจากนี้ผู้ชมจะได้ล่วงรู้อดีตพื้นหลังของ Tuco ว่ามีน้องชายเป็นบาทหลวง Father Pablo Ramírez (รับบทโดย Luigi Pistilli) ทั้งสองต่างเลือกทางเดินตรงกันข้าม
ก็ไม่น่าเชื่อว่าชายโฉดชั่วผู้มีฉายา The Ugly จะมีมุมอ่อนไหวของตนเอง สังเกตว่าทุกครั้งเวลาฆ่าคนหรือเจอโครงกระดูก จะยกทำมือรูปกางเขน (Signum Crucis) นี่เป็นการสื่อถึงศรัทธาความเชื่อตัวละครนี้ เป็นผู้มีจิตสำนึกเวลากระทำชั่ว คาดหวังว่าสักวันพระเจ้าคงสามารถไถ่บาปกรรมของตนเองให้ได้
สะพานในฉากนี้มีการสร้างขึ้นถึงสองครั้ง เพราะเกิดความผิดพลาดในเทคแรกเพราะสื่อสารกันคลาดเคลื่อน ทีมงานกดระเบิดก่อนเริ่มการถ่ายทำ โชคดีไม่มีใครอยู่ใกล้ได้รับบาดเจ็บ
สำหรับช็อตนี้ทั้ง Eastwood และ Wallach ถือว่าเฉียดตายเหมือนกัน เพราะถึงจะเห็นเหมือนว่าระยะไกล แต่รัศมีของสะเก็ดระเบิดก็กระเด็นกระดอนตกมาถึง ถ้าสังเกตดีๆฉากนี้ในหนัง จะมีก้อนหินหรืออะไรสักอย่างลอยเฉียดผ่าน Eastwood ห่างไปไม่กี่เซนติเมตรเท่านั้น
ผมละไม่เข้าใจ Tuco เสียจริงๆ ต้องคนเพี้ยนๆแบบนี้เท่านั้นกระมังถึงกระโดดหลบระเบิดตูดโด่งแบบนี้, จริงๆมันก็มีนัยยะชัดเจนอยู่นะ สังเกตความตรงกันข้ามของสองตัวละคร คนหนึ่งเงยหน้าจ้องมอง อีกคนซุกหัว ต่างกันสุดขั้ว(อีกแล้ว)
เกร็ด: การระเบิดสะพานนรกนี้ Leone บอกว่าได้แรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง The General (1926) ของ Buster Keaton แต่ผมว่ามีความคล้ายคลึงกับฉากระเบิดของ The Bridge on the River Kwai (1957) มากกว่านะ
ชายสองคน ถึงออกเดินทางมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน แต่พวกเขาต่างก็มีหน้าต่าง/มุมมอง ชีวิตที่แตกต่างออกไป ในกรอบของตนเอง, นี่เป็นช็อตที่เหมือนจะไม่มีอะไร แต่โดดเด่นเรื่องการจัดองค์ประกอบคล้ายกรอบรูปภาพ ถือเป็นซีน Prelude เล็กๆก่อนเข้าไคลน์แม็กซ์
– The Good จะเดินเข้ามาด้านใน พยเจอนายทหารคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ยื่นซิการ์ให้ดูดแค่เพียงสองฮึดก็สิ้นลม
– The Ugly กรูไม่สนอะไรแล้ว จับม้าได้ตัวหนึ่งก็ตะบึงควบตรงไปสุสานเป้าหมาย
Sad Hill Cemetery มันไม่ใช่แค่สุสาน ความตั้งใจของผู้กำกับสร้างฉากนี้ให้เหมือนกับ Roman Circus คณะละครสัตว์ มีวงกลมตรงกลางเสมือนเวทีการแสดง ขณะที่ไม้กางเขนสุสานทั้งหลายก็ราวกับผู้ชมทั้งหลาย
มันเป็นความน่าทึ่งอย่างสุดมหัศจรรย์ในไดเรคชั่นของฉากนี้ วงกลมกึ่งกลางทำให้พวกเขาทั้งสามสามารถยืนประจันหน้าคนละมุมอย่างเท่าเทียม มองดูเหมือนรูปสามเหลี่ยม จากนั้นการตัดต่อก็จะทำให้การประลองครั้งนี้มีความลุ้นระทึกอย่างยิ่งยวด
หวนกลับมาพินิจครุ่นคิดถึงดู
– บุคคลคนที่เสียเปรียบในการดวลครั้งนี้ที่สุดคือ Angel Eyes เพราะเขาไม่รู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Tuco ทำให้ต้องพะวงหวาดระแวงศัตรูถึงสองด้าน
– Tuco ตัดออกจากสารบบไปเลย ยังไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำ วางมาดอย่างเท่ห์จะจัดการใครดี
– ขณะที่ Blondie เป็นคนชิงความได้เปรียบสูงสุด เป้าหมายหลักคือ Angel Eyes เท่านั้น
ถ้าไม่เพราะ Tuco (และผู้ชม) ถูกดักควายไปแล้ว ส่วนตัวมองความเป็นไปได้ของผลลัพท์ มีแนวโน้มสูงที่จะออกมางูกินหาง
– Blondie ยิง Angel Eyes เพราะเป็นศัตรูอันตรายที่สุด
– Angel Eyes ยิง Tuco เพราะกลัวจะถูกแก้ล้างแค้นคืนที่เคยกระทำไว้
– Tuco ยิง Blondie เพราะความแค้นส่วนตัวที่คำนวณแล้ว สะสมมามากกว่า Angel Eyes
ตัดต่อโดย Eugenio Alabiso กับ Nino Baragli หนังใช้มุมมองของสามตัวละครหลัก The Good, The Bad, The Ugly เล่าเรื่องสลับกันไปมา
– เริ่มจาก Prologue ค่อยๆแนะนำทีละตัวละครเริ่มจาก The Ugly, The Bad (ยาวหน่อย) และ The Good
– ส่วนใหญ่พวกเขาจะอยู่ด้วยเป็นคู่ The Good + The Ugly จนกระทั่งเมื่อทั้งสองถูกจับเข้าค่ายกักกัน จะมีช่วงเวลาของ The Bad + The Ugly ตามด้วย The Good + The Bad และวนกลับไปคู่พระนาง The Good + The Ugly
– ถึงทั้งสามจะมีฉากร่วมกันก่อนหน้าถึง 2 ครั้ง (ในเมืองที่ Tuco เกือบถูกแขวนคอเพราะ Blondie ยิงพลาดเป้า และฉากในค่ายกักกัน) แต่จะมีช็อตร่วมกันพร้อมหน้า เฉพาะช่วงไคลน์แม็กซ์เท่านั้น
เกร็ด: ถ้านับระยะเวลาปรากฎตัว (On Screen) จะพบว่า The Ugly > The Good > The Bad
ไฮไลท์ของการตัดต่อคือฉากไคลน์แม็กซ์ ที่มีการนำภาพของทั้งสามตัวละครมาเรียงร้อยต่อเนื่อง ค่อยๆเคลื่อนขยับเข้าใกล้จาก Extreme Long Shot -> Long Shot -> Medium Shot -> Close-Up -> Extreme Close-Up นี่เป็นภาษาภาพยนตร์ของการสร้างอารมณ์เข้มข้น (Intense) กดดัน ลุ้นระทึก ให้เกิดกับผู้ชมจนนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้
ภาพ 3 ระยะของ Tuco ประกอบด้วย Medium Shot -> Close-Up -> Extreme Close-Up
ขณะเดียวกันก็ (ลูกตาของตัวละคร มักจะบ่งบอกทิศทางลำดับต่อไปของการตัดต่อ)
เพลงประกอบโดย Ennio Morricone ใช้วิธีการเดียวกับ A Fistful of Dollars และ For a Few Dollars More คือแต่งขึ้นก่อนแล้วนำไปใช้เปิดในกองถ่าย และมีการตัดต่อในลักษณะที่เรียกว่า ‘หนังประกอบเพลง’ ยืดความยาวฉากให้สอดคล้องรับกับบทเพลง
สำหรับ Main Theme ใน Title Sequence จะมีการใช้สามเสียงแทนตัวละคร
– ฟลุต สำหรับ Blondie (สีน้ำตาล)
– Ocarina สำหรับ Angel Eyes (สีเขียว)
– เสียงของมนุษย์ สำหรับ Tuco (สีแดง)
แต่ลำดับการได้ยินจะเริ่มจากฟลุต -> เสียงมนุษย์ -> Ocarina ซึ่งลำดับภาพที่ปรากฎในฉากแรก จะซ้ายสุด (The Good) -> ขวาสุด (The Ugly) -> ตรงกลาง (The Bad)
ไม่ใช่แค่เสียงเครื่องดนตรีเท่านั้นที่เราจะได้ยินในบทเพลงนี้ ยังมี Sound Effect ของปืน, ผิวปาก, โห่ร้อง (Yodeling), และเสียงหอนของ Coyote
นี่คือบทเพลงที่กลายเป็น ‘สัญลักษณ์’ ตำนานของหนังแนว Western ทั้งๆที่โน๊ตหลักมีสองตัวเท่านั้น (two-note) เล่นสลับไปมารัวๆ หลากหลาย Variation ซึ่งสะท้อนถึง The Good กับ The Bad และด้วยจังหวะดนตรีบรรเลงประกอบมีความรุกเร้า ฮึกเหิม ให้สัมผัสของการต่อสู้ ผจญภัย เผชิญหน้าประจันบาน ไร้ซึ่งความหวาดกลัวเกรง
The Ecstacy of Gold หรือ L’Estasi Dell’Oro นี่คือบทเพลงได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ ว่ามีความยิ่งใหญ่ ทรงพลัง ไพเราะที่สุดของหนังแนว Western
Ecstacy แปลว่า ความปลื้มปีติยินดี นี่คืออาการของตัวละคร(และผู้ชม) เกิดขึ้นเมื่อขณะเรื่องราวดำเนินเดินทางอันแสนยาวไกลมาจนถึงเป้าหมาย Sad Hill Cemetery แต่สถานที่แห่งนี้มันช่างกว้างใหญ่ไพศาลอลังการเสียเหลือเกิน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา Tuco จึงเริ่มออกวิ่งวนวน กวาดตามองหาหลุมฝังศพที่ของ … กล้องหมุนติดตาม 360 องศา ทำนองเพลงค่อยๆเร่งเร้าขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นกล้องมาหยุดพอดีวินาทีที่เพลงจบ รอยยิ้มอันแช่มชื่นบาน ตัดไปภาพซูมเข้าอย่างรวดเร็วที่ป้ายชื่อนั้น
นี่เป็นบทเพลงที่เต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ เริ่มต้นต้นความฉงนสงสัย โหยหวนล่องลอย ก่อนค่อยๆเร่งเร้าความรู้สึกให้ค่อยๆไต่ทะยานระดับขึ้นเรื่อยๆ เสียงร้องคอรัส ทรัมเป็ตของ Michele Lacerenza ประสานให้ขนหัวลุกซู่ชูชัน และเสียงเคาะระฆัง พอถึงจุดสูงสุด ราวกับจะมีความปลื้มปีติยินดีแห่งการได้ค้นพบเจออะไรบางอย่าง
คำว่า Gold ไม่ได้จำเป็นต้องแปลว่า ทอง เสมอไปนะครับ ในบริบทนี้อาจแปลได้ว่า สิ่งล้ำค่า รวมๆแล้ว The Ecstacy of Gold หมายถึง ความปลื้มปีติยินดีกับการได้ค้นพบเจอสิ่งล้ำค่าที่สุด (มันก็คือทองนะแหละ!)
ในทัศนะของผู้กำกับ Sergio Leone มองสงครามเป็นสิ่งอัปลักษณ์ ความชั่วร้ายกาจ ไร้สาระที่สุดของมวลมนุษยชาติ แต่การจะนำเสนอเรื่องราวนี้ในช่วงประวัติศาสตร์สงครามโลก ก็มิใช่แนวถนัดของตนเอง แล้วถ้าจับใส่ในแนว Western ละ? นี่น่าจะเป็นสิ่งไม่เคยเกิดขึ้นมีมามาก่อนแน่
ความ Spaghetti ของหนังเรื่องนี้ คือการจับไฉ่ใส่สองสิ่งที่ไม่น่ามีความจะเกี่ยวข้องกันได้ คือ Cowboy Western กับ American Civil Wars มาคลุกเคล้าผสมผสานจนกลายเป็นเนื้อหนึ่งเดียวกัน ซึ่งถ้าโดยปกติกับหนังที่มีสองอย่างนี้ มักเป็นหนัง Drama สุดเข้มข้น เครียดจริงจังหัวแทบแตก แต่กับ The Good, the Bad and the Ugly กลับใส่ความเผ็ดร้อนในเชิง Satire เพื่อต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) แถมด้วยรสเปรี้ยวๆเค็มๆของ Comedy ทำให้รสชาติจี๊ดจ๊าดจัดใจ
เรื่องราวของหนังเป็นการออกเดินทางค้นหาขุมทรัพย์สมบัติ ของคนสามเหล่า อันประกอบด้วย
– The Good ถึงการกระทำภายนอก เต็มไปด้วยความสารเลวชั่วช้า แต่เบื้องลึกในจิตใจยังพอมีความดีหลงเหลืออยู่บ้าง
– The Bad มีความชั่วร้ายทั้งกายจิต เลวโดยสันดาน สนแต่ผลประโยชน์ของตนเอง
– The Ugly ดีบ้างชั่วบ้าง ไม่ใช่เพราะสันดาน แต่ชีวิตกึ่งๆถูกบังคับให้ต้องเลือกวิถีคนเลว
พื้นหลังของหนังดำเนินในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil Wars) ความขัดแย้งของคนสองกลุ่ม เหนือ-ใต้ สหภาพ-สมาพันธรัฐ น้ำเงิน-เทา เป้าหมายเพื่อแก่งแย่งชิงอำนาจการปกครองบริหารประเทศ
เราสามารถเปรียบเทียบได้ตรงๆกับตัวละคร The Good <–> The Bad ที่ต่างถือว่าอยู่ขั้วตรงข้ามความขัดแย้ง เป้าหมายของพวกเขาเพื่อเป็นครอบครองขุมทรัพย์สมบัติมูลค่ามหาศาล
แล้ว The Ugly จะอยู่ตรงไหนในสงครามความขัดแย้งนี้?, คำตอบก็คือ เป็นตัวแทนด้วยประชาชนตาดำๆที่อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างสองฝั่งฝ่าย
– บางครั้งสามารถเลือกข้างเปลี่ยนไปเข้าฝ่ายไหนก็ได้ ที่ให้ผลตอบแทนประโยชน์สูงสุดกับตนเอง
– แต่บางครั้งก็ใช่ว่าจะมีสิทธิ์เลือก ได้ฝ่ายไหนมาก็ต้องยินยอมรับ ให้ถูกจูงจมูกชี้ชักนำทางไปไหนก็ไป
นี่เป็นการประชดประชันของผู้กำกับ Leone มนุษย์ตาดำๆอย่างพวกเราส่วนใหญ่นี่แหละ โคตรแห่งความอัปลักษณ์ กะล่อนปลิ้นปล้อนกลับกลอก เห็นฝ่ายไหนดีกว่าก็เฮโลแห่กันไปเข้าข้างฝ่ายนั้น ดีชั่ว ตัดสินด้วยตัวเองมักไม่ค่อยได้ กระทำผิดซ้ำซาก ใช้ชีวิตอยู่บนเส้นเชือกห้อยแขวนคอต่อแต่ง รอให้ใครสักคนมาช่วยเหลือ (พระเจ้ามาไถ่บาป)
การเดินทางของตัวละคร นำพาผู้ชมไปพบเจอกับความเลวร้าวบัดซบ สุดอัปลักษณ์ของสงคราม อาทิ
– ค่ายกักกันทหาร (Prison of Wars) เนื่องจากเชลยศึกมีจำนวนมาก ผู้คุมดูแลไม่ได้ทั่วถึง เสบียงกรังขาดแคลน จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง คอรัปชั่นในการบริหารจัดการ
– จุดยุทธศาสตร์สงคราม คือสะพานข้ามแม่น้ำ จากฟากหนึ่งไปยังอีกฝั่ง ทั้งสองฝ่ายต่างทุ่มกำลังเพื่อปกป้องยึดครอบครองสะพานแห่งนี้ นำพาความสูญเสียหายระดับมหาวิปโยค
สองข้อคิดสำคัญที่ Leone แฝงซ่อนเอาไว้ในสองประเด็นนี้ ถือเป็นสาสน์ของการต่อต้านสงคราม
1) ชุดของทหาร ฉากที่ Blondie กับ Tuco ควบรถม้าหลงคิดว่าฝ่ายตรงข้ามสวมชุดสีเทาแบบเดียวกับตน แต่แท้จริงแล้วกลับคลุกฝุ่นเนื้อในเป็นสีน้ำเงินเสียอย่างนั้น นัยยะของฉากนี้คือ ภาพลักษณ์ภายนอกสีเสื้อเป็นสิ่งหลอกลวงตาทั้งเพ เพราะเนื้อในแล้วต่างเป็น ‘มนุษย์’ เหมือนกันทุกคน
2) สะพานในบริบทนี้เปรียบได้กับ ‘ปัญหา’ สิ่งที่ไม่ว่าฝ่ายไหนต่างพยายามหาทางที่จะก้าวข้ามเอาชนะ ไม่มีใครยินยอมกันและกัน วิธีการแก้ปัญหานี้ง่ายนิดเดียว ก็ให้มันถูกระเบิดทำลายลงสิ้นซากเสียสิ! ใครก็จักสนใจเห็นคุณค่าอีกทันที แต่นี่เป็นสิ่งต้องให้ ‘คนกลาง’ ที่ไม่ได้เข้าข้างฝักใฝ่ฝ่ายใดไกล่เกลี่ยเป็นผู้ช่วยเหลือ
(ฉากการสู้รบที่สะพาน ถือเป็นไคลน์แม็กซ์ของพื้นหลังสงครามกลางเมืองของหนังเลยนะครับ เพราะฉากอื่นๆ เทา-น้ำเงิน จะไม่เผชิญหน้ากันตรงๆ ราวกับว่าตำแหน่งนี้คือแนวรบด้านหน้าระหว่างสองฝั่งฝ่าย)
สำหรับฉากไคลน์แม็กซ์ของหนัง บทเพลง The Ecstacy of Gold ผู้กำกับ Leone มอบโจทย์ให้กับ Morricone ด้วยคอนเซ็ปที่ว่า
“the corpses were laughing from inside their tombs”
ในมุมหนึ่งเราอาจมองว่าเป็นความโลภละโมบของตัวละครทั้งสามที่น่าหัวเราะเยาะสิ้นดี โดยคนที่แสดงความกระหายออกมาเด่นชัดสุดคือ Tuco เมื่อมาถึงเป้าหมายแล้ว วิ่งออกค้นหาหลุมฝังศพด้วยตนคนเดียว (ทั้ง Angel Eyes และ Blondie ไม่รู้ไปหลบซ่อนตัวอยู่ตรงไหน) แต่พอพบแล้วต่างค่อยๆทะยอยโผล่หน้าสลอนมาทีละคน แถมโยนเสียมเอาปืนจ่อหัว เรื่องอะไรฉันจะต้องเสียเวลามาขุด
อย่างที่ผมเปรียบเทียบไปด้านบน Tuco คือตัวแทนของประชาชนตาดำๆ หรือคนที่ถูกเกณฑ์มาเป็นทหารร่วมรบ พวกเขาเป็นผู้ใช้หยาดเหงื่อแรงกายชีวิตเข้าแลก แต่กลุ่มที่ได้ผลประโยชน์กลับคือ The Good – The Bad, ฝ่ายเหนือ-ใต้, สหภาพ-สมาพันธ์
ขุมสมบัติฝังซ่อนอยู่ในหลุมฝังศพ นี่คือการสะท้อนเสียดสีผลลัพท์ของสงคราม ชัยชนะอันแสนมีค่าแลกมากับการสูญเสียสิ้น ‘ชีวิต’ ของผู้คนก็ไม่รู้มากน้อยแค่ไหน, ป้าย Unknown ไม่ได้สื่อถึงใครก็ไม่รู้ แต่คือจะเป็นใครก็ได้ หรือทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อของสงคราม
สำหรับผู้ที่จะมีสิทธิ์ได้ครอบครองเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติอันล้ำค่านี้ ก่อนอื่นเลยจำเป็นต้องมีการตัดสินแพ้ชนะ ฝ่ายหนึ่งถูกกำจัดเข่นฆ่าให้หมดสูญสิ้นเสียชีวิตไป
ชัยชนะของ Blondie มาด้วยแผนกลโกง ตลบหลัง Tuco … ในประวัติศาสตร์ของสงครามกลางเมืองอเมริกา นี่ผมก็ไม่รู้นะ ว่าฝ่ายเหนือมีกลโกงอะไรหรือเปล่าที่ทำให้ได้รับชัยชนะ ซึ่งนัยยะนี้อาจไม่จำเป็นต้องสะท้อนถึงเหตุการณ์จริง มันคือความเป็นไปได้ ประมาณว่าประชาชนก็ยังถูกพวกเดียวกันเองหลอกลวงให้เข้าใจผิดได้
สำหรับตอนจบ จะบอกว่าตอนผมคิดได้นี่ตบโต๊ะฉาดใหญ่ คือประมาณว่าเมื่อมีผู้แพ้ชนะในสงคราม ผู้ได้ประโยชน์จะมีสองกลุ่ม
1) คือผู้ชนะ จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายธรรมะ The Good โดยทันที
2) ประชาชนตาดำๆ จะถูกกลั่นแกล้งบังคับให้แขวนคอตัวเอง
จริงๆคือ Blondie ตั้งใจไว้ชีวิตอยู่แล้ว แต่เพื่อให้ตัวเองออกห่างเอาตัวรอดมาได้ก่อนถึงค่อยปลดปล่อยให้เป็นอิสระ นี่ทำให้ Tuco สถบออกมาฉาดใหญ่ นี่เปรียบได้กับการด่ากราดความเxยบัดซบของผู้ชนะ (ที่ได้ครองครอบบริหารปกครองประเทศ)
สรุปแล้วใจความของหนังเรื่องนี้ เป็นการสะท้อนเสียดสี เปรียบเทียบเรื่องราวการออกเดินทางค้นหาขุมสมบัติ กับการเกิดขึ้นของสงครามและจุดสิ้นสุด นัยยะเพื่อปฏิเสธ ต่อต้าน ไม่ยอมรับการเกิดขึ้นของสงคราม
ต้นฉบับแรกสุดภาษาอิตาเลี่ยน หนังมีความยาว 177 นาที แต่จำเป็นต้องตัดออกเหลือ 161 นาทีเพื่อฉายในอเมริกา (ฉบับฉายอังกฤษยิ่งแล้วใหญ่ เหลือเพียง 148 นาทีเท่านั้น) โชคดีที่ภายหลังมีการค้นพบฟุตเทจเพิ่มเติม 14 นาที ทำให้ปัจจุบันฉบับ EXTENDED ได้ความยาว 179 นาที ถือเป็นฉบับเต็มสมบูรณ์ ครบอรรถรสที่สุดของหนังเรื่องนี้ ปัจจุบันได้รับการ Remaster คุณภาพ 4K โดย Kino ลงแผ่น Blu-Ray เรียบร้อยแล้วนะครับ
ด้วยทุนสร้างรวมแล้ว $1.2 ล้านเหรียญ เฉพาะในอิตาลีทำเงินได้ $6.3 ล้านเหรียญ ทุบสถิติ For a Few Dollars More ได้อีกครั้ง ถือว่าเป็นไตรภาคน่าจะประสบความสำเร็จที่สุดในอิตาลีเลยก็ว่าได้, ปีถัดมาเข้าฉายในอเมริกา แม้คำวิจารณ์จะย่อยยับเยิบ แต่ทำเงินได้สูงถึง $25.1 ล้านเหรียญ ถ้าเป็นเลขนี้จริง Eastwood ได้โบนัสหลักล้านเหรียญเลยนะ
ในบรรดาผู้กำกับที่ได้รับอิทธิพล ชื่นชอบคลั่งไคล้ The Good, the Bad and the Ugly มากสุด คงหนีไม่พ้น Quentin Tarantino ซึ่งจะเห็นได้จากทุกผลงานของพี่แก นับตั้งแต่ Reservoir Dogs (1992) ต้องมีบางสิ่งอย่างเพื่อเคารพคารวะ Homage หนังเรื่องนี้ซ่อนอยู่
“The Good, the Bad and the Ugly – my absolute favorite movie and the greatest achievement in the history of cinema.”
– Quentin Tarantino
ความชื่นชอบหลงใหลคลั่งไคล้ของผมใน The Good, the Bad and the Ugly คิดว่าคงไม่ถึงระดับของ Tarantino เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นข้างใน แต่คือสัมผัสของสุนทรียะที่รับได้ทางกายและความรู้สึก เพลิดเพลินเบิกบาน เต็มอิ่มอกอิ่มใจ
ไม่ใช่แค่บทเพลง The Ecstacy of Gold ที่ทำให้ผมเคลิบเคลิ้มหลงใหล แต่คือทั้งไดเรคชั่นของ Sequence ไคลน์แม็กซ์ที่มีความสวยงาม ลงตัว สมบูรณ์แบบ แม้มีข้อเสียเล็กๆคือความยาวเยิ่นเย้อไปสักหน่อย แต่ก็เติมเต็มด้วยความเข้มข้นลุ้นระทึก แทบทำให้หยุดกลั้นลมหายใจ
The Good, The Bad and the Ugly มีสามสิ่งที่กลายเป็นตำนาน คือสามนักแสดงนำ (Eastwood, Van Cleef, Wallach), ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Sergio Leone และเพลงประกอบของ Ennio Morricone
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แค่เพียงพฤติกรรมของ Tuco ผู้มีความกลับกลอกกะล่อนปลิ้นปล้อน วินาทีที่สันดานเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เคยต้องการปล่อยให้ตายกลายเป็นทะนุถนอมปลอบประโลม นี่น่าจะแทงใจดำผู้ชมได้อย่างย่อยยับเยิน เรียนรู้จดจำคนลักษณะไว้ให้ฝังใจ อย่าไปคาดหวังไว้เนื้อเชื่อใจอะไรเป็นอันขาด
โดยเฉพาะคอหนัง Cowboy Western สอดไส้ใจความต่อต้านสงคราม American Civil Wars, ชื่นชอบแนวผจญภัย ค้นหาขุมทรัพย์ เรื่องราวสะท้อนจิตวิทยาสันดานมนุษย์, ทิวทัศน์ภาพถ่ายสวยๆ ตัดต่อเฟี้ยวๆ เพลงประกอบเพราะๆของ Ennio Morricone, แฟนๆผู้กำกับ Sergio Leone และนักแสดงนำ Clint Eastwood, Lee Van Cleef, Eli Wallach ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับความรุนแรงบ้าคลั่งของสงคราม และนิสัยสันดานเลวๆของตัวละคร
TAGLINE | “The Good, The Bad and the Ugly คือสามประสานที่สวยงาม อลังการ บ้าคลั่งสุดในวงการภาพยนตร์ ประกอบด้วยสามนักแสดงนำ ผู้กำกับ Sergio Leone และเพลงประกอบของ Ennio Morricone”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORITE
The Good, The Bad and the Ugly (1966)
(14/2/2016) หนัง Cowboy สไตล์ Spaghetti Western ที่ได้ชื่อว่ายอดเยี่ยมที่สุดในโลก สัญชาติ Italian พูดภาษาอังกฤษ ถ่ายทำที่สเปน โดยผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยน Sergio Leone นำแสดงโดย Clint Eastwood เป็น The Good, Lee Van Cleef เป็น The Bad และ Eli Wallach เป็น The Ugly อะไรที่ทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับการกล่าวขานขนาดนั้น ตอนหนังฉายก็ใช่ว่าจะได้รับการตอบรับดี วันนี้จะมาหาคำตอบกัน
Spaghetti Western คืออะไรกัน บ้างก็เรียกว่า Italian Western เริ่มต้นในช่วง mid-1960 ถือเป็น subgenre ของหนังแนว Western ที่จริงมันก็ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษนัก เพราะมันก็คือหนังแนว Western ทั่วๆไปนี่แหละ เพียงแค่มันสร้างโดยสตูดิโอสัญชาติอิตาลี เลยมักเรียกเหมารวมว่าเป็น Spagehetti Western จุดที่พอจะสังเกตได้กับหนังแนวนี้คือ ใช้ทุนต่ำ มีฉากที่รุนแรง นักแสดงพูดผสมกันหลายภาษา (หลักๆคือมีพูดภาษาอิตาเลี่ยน) ส่วนใหญ่จะหาความสวยงามทางศิลปะไม่ได้ ผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จกับหนังแนวนี้มากที่สุด ก็คือ Sergio Leone นี่เอง
สตูดิโอ United Artists ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ในอเมริกา หลังจาก Leone ประสบความสำเร็จกับหนังเรื่อง For a Few Dollars More จึงได้เซ็นสัญญาให้ทำหนังเรื่องต่อไปแทบจะทันที แต่ตอนนั้นก็ไม่มีใครมีแผนว่าจะทำอะไร Luciano Vincenzoni หนึ่งในนักเขียนบทหนังได้เสนอไอเดีย เกี่ยวกับหัวโขมย 3 คนที่ตามหาสมบัติในช่วงสงครามกลางเมืองของอเมริกา “a film about three rogues who are looking for some treasure at the time of the American Civil War.” ไอเดียนี้ก็ผ่านการอนุมัติ ให้งบ 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วงร่างบทหนัง Leone ได้ไปอ่านเจอข่าวเกี่ยวกับคน 120,000 ที่เสียชีวิตในแคมป์ของทหารฝ่ายใต้ นั่นเป็นอะไรที่ไร้สาระมาก เขาเลยต้องการนำเสนอภาพนี้ออกมา “show the absurdity of war” ดังที่เราจะได้เห็นหนังอย่างชัดเจนมากๆ
หนังสอดแทรกแนวคิดต่อต้านสงคราม โดยนำเสนอผลกระทบของคนทั่วไปที่มีต่อสงคราม เราจะเห็นตัวละครทั้ง 3 ตัว จับผลัดจับพลู เดี๋ยวไปโผล่ฝ่ายเหนือ เดี๋ยวไปโผล่ฝ่ายใต้ มีฉากหนึ่งที่ผมชอบมากๆ ที่ The Good ถามว่าเสื้อของทหารสีอะไร แล้ว The Ugly ตอบว่าสีน้ำตาลสีเดียวกับเสื้อที่พวกเขาใส่อยู่ แต่กลายเป็นว่าสีน้ำตาลกลับเป็นสีฝุ่น ปัดออกแล้วกลายเป็นสีน้ำเงิน ในหนังเห็นแล้วมันตลกก็จริง แต่นี่เป็นนัยยะที่ผู้กำกับพยายามบอกว่า ไม่ว่าคุณจะฝ่ายไหน ก็อเมริกาเหมือนกัน เป็นมนุษย์เหมือนกัน (เสื้อสีนี่คุ้นๆกับเหตุการณ์ในเมืองไทยแหะ) ส่วนฉากแย่งชิงสะพานนี่ก็สุดๆเลย ผมขอยกความยิ่งใหญ่ของฉากนี้เทียบเท่ากับฉาก Napalm in the morning ของหนังเรื่อง Apocalypse Now เลยนะครับ
และที่จี๊ดที่สุดของหนังเรื่องนี้ คือฉากการต่อสู้สุดท้าย หลายคนอาจจะสัมผัสได้ว่าการดวลปืน 3 เซ้าของทั้ง 3 เป็นการจัดฉากที่เท่ห์มากๆ แต่ผมอยากให้มองลึกกว่านั้น ฉากหลังที่เป็นสถานที่ดวลปืน มันคือสุสานของทหารที่เสียชีวิตจากสงคราม และสถานที่ฝังเงิน คือหนึ่งในหลุมฝังศพของคนตาย เห้ย! ถ้าใครบอกว่าหนังแนว Spagehetti Western ไม่มีความเป็นศิลปะนี่ ผมละอยากให้มาดูหนังเรื่องนี้มากๆ มันอาจจะมีหนังแนวนี้ไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่สามารถสร้างเรื่องราย และฉากที่สื่อความหมายได้ลึกซึ้งขนาดนี้ มันมีความยิ่งใหญ่มากกว่าการดวลปืนเท่ห์ๆของคน 3 คนอีก
Clint Eastwood ที่เคยเล่นหนังของ Leone มาแล้วหลายเรื่อง ซึ่งใน Dollars Trilogy หนังสองเรื่องก่อนหน้า A Fistful of Dollars และ For a Few Dollars More หนังที่ Leone ถือว่าได้แนวคิดแรงบันดาลใจมาก็คือ Yojimbo ของ Akira Kurosawa เราจะเห็นตัวละครที่ Clint Eastwood เล่นจากทั้ง 3 เรื่องไม่มีชื่อ (หนังเลี่ยงที่จะพูดชื่อตัวละครออกมา) เป็นคนหัวนอกคอก ฉลาด และมีฝีมือ คล้ายกับตัวละครของ Toshiro Mifune มาก จริงๆแล้ว Clint ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะกลับมาเล่นเรื่องนี้ แต่เพราะ Leone ลืมฆ่าตัวละครนี้ใน For a Few Dollars More เขาเลยจำต้องกลับมา หนังทั้ง 3 เรื่องใน Dollars Trilogy เราสามารถที่จะดูเรื่องไหนก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องดูต่อกัน เรื่องราวไม่เชิงต่อเนื่องกัน แต่จะมีพูดถึงบ้างนิดหน่อย รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร
ตัวละคร The Good ของ Eastwood ผมก็สงสัยนะครับว่าเขา Good ยังไง แต่เมื่อเทียบกับ The Bad และ The Ugly แล้ว จริง! หมอนี่ดีที่สุดใน 3 ตัวนี้แล้ว ตัวละครมีหลักการ ไม่ทิ้งเพื่อน (ในลักษณะที่ถ้าไม่ร้ายมาก็ไม่ร้ายตอบ) บุคลิกอันนุ่มลึก ทำให้คนสมัยนั้นคลั่ง Eastwood มาก ใครๆก็อยากเท่ห์แบบเขา ไม่จำเป็นต้องพูดมาก แต่การกระทำบอกถึงตัวตน
Lee Van Cleef ใน For a Few Dollars More เขาเล่นเป็น Colonel Douglas Mortimer แต่กับ The Good, the Bad and the Ugly เล่นเป็น Angel Eyes ซึ่งเป็นอีกตัวละครเลย (ก็อย่างที่ผมบอกว่า ถึงเรียกว่า Trilogy แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องมันต่อเนื่องกัน) นี่เป็นตัวละครที่มีความพิศวงมาก เขาเป็นใครกันแน่ เป็น Bounty Hunter หรือ Sergeant ที่คุมเชลยในค่ายกักกัน นี่เป็นตัวละครที่แทนด้วย The Bad และเขาก็นำเสนออกมาได้ Very Bad มากๆ ผมไม่เคยเห็น Lee Van Cleef เล่นหนังแนวอื่นนอกจาก Western เลยนะครับ ผมจำเขาได้จาก High Noon และ The Man Who Shot Liberty Valance
Eli Wallach เล่นเป็นตัวขโมยซีนที่ผมชอบที่สุดเลย ตัวแทนของตัวละครนี้คือ The Ugly ถึงหน้าเขาจะดูไม่ถึงกับ Ugly มาก ออกจะดูเป็นเหมือน The Fools เสียมากกว่า แทบจะทุกขณะที่ตัวละครนี้ออกมา เราจะได้เห็นเขาทำอะไรโง่ๆมากมาย และหนังก็เล่าให้เราเข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น ผมไม่คิดว่าตัวละครนี้จะโง่นะ ดูแล้วออกจะซื่อตรงต่อตัวเองมากๆ แต่เขามักถูกเอาเปรียบจากคนอื่นๆ โดยเฉพาะจาก The Good และ The Bad ผมหัวเราะไม่หยุดตอนที่ The Good รู้ชื่อหลุมฝังศพที่ฝังเงินอยู่ พฤติกรรมของ The Ugly นี่เปลี่ยนไปแบบ ไม่หัวเราะจนท้องแข็งก็ให้รู้ไปสิ ระหว่างการถ่ายทำ Wallach ถือว่าโชคร้ายมากๆ เกือบตายหลายครั้ง ครั้งหนึ่งดื่มน้ำกรดเพราะคิดว่าเป็นน้ำโซดาขณะเข้าฉาก, ฉากที่โดนแขวนคอ มีครั้งหนึ่งที่ม้าตกใจและเกือบวิ่งไป ยังดีที่คอไม่หัก (เป็นคนที่ดวงซวยที่สุดในกองถ่าย) Wallach พูดถึง Leone ว่า เป็นผู้กำกับที่ยอดเยี่ยมมากๆ แต่เขามักจะละเลยความปลอดภัยของนักแสดงระหว่างฉาก “Leone was a brilliant director, he was very lax about ensuring the safety of his actors during dangerous scenes”
เห็นว่าในกองถ่าย Leone กับ Wallach คุยกันภาษาฝรั่งเศส ถ้าดู sountrack ภาษาอังกฤษ จะเห็นว่ามีบ้างที่เสียงไม่ตรงกับปาก เพราะหนังใช้การ ใครพูดภาษาอะไรได้ก็พูดไป แล้วไป dub เอาทีหลัง … Spaghetti จริงๆ!
ถ่ายภาพโดยตากล้องระดับปรมาจารย์ของอิตาลี Tonino Delli Colli สวยงามมากๆ ผลงานเด่นๆของเขาก็อย่าง Once Upon a Time in the West, Life is Beautiful (1997-Roberto Benigni) หนังมีการถ่ายภาพ 3 ระดับ 1ภาพวิว 2ภาพกว้างๆ 3โคลสอัพ สวยงามทุกระดับเลย หนังถ่ายทำในอิตาลีและสเปนเป็นส่วนใหญ่ (ทีแรกผมคิดว่าหนังถ่ายที่อเมริกานะครับ เพราะดำเนินเรื่องด้วยสงครามกลางเมืองอเมริกา แต่ดันถ่ายที่อิตาลีซะงั้น) Eastwood พูดไว้ประมาณว่า “They would care if you were doing a story about Spaniards and about Spain Then they’d scrutinize you very tough, but the fact that you’re doing a western that’s supposed to be laid in southwest America or Mexico, they couldn’t care less what your story or subject is.”
ตัดต่อโดย Eugenio Alabiso และ Nino Baragli หนังความยาวเกือบ 3 ชั่วโมงนี้ ต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควรกว่าจะรู้สึกโอเคกับหนังที่ยืดยาดขนาดนี้ กว่าที่ตัวละครจะพูดคำแรก ผมจำไม่ได้ว่ากินไปกี่นาทีนะ หนังใช้ภาพเล่าเรื่อง กับการตัดต่อที่สลับไปมา ถ้าตัดฉากจ้องตากันระหว่างตัวละครทิ้งไป หนังคงสั้นลงเป็นชั่วโมงแน่ๆ แต่นั่นคือเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ครับ มันคล้ายๆกับซามูไรที่จ้องตากันก่อนเริ่มสู้กัน หนัง Western ก็ประมาณนี้แหละ เหมือนคลื่นลมสงบก่อนพายุใหญ่ แต่มันก็มีข้อเสีย ที่ผมบอกไปคือมันทำให้หนังยาวเกินกว่าเหตุไปหน่อย
เพลงประกอบโดย Ennio Morricone ปู่แกยังมีชีวิตอยู่นะครับ ล่าสุดเลย Quentin Tarantino ไปอ้อนปู่แกมาทำเพลงให้ The Hateful Eight ทั้งๆที่ปู่แกก็เกษียณไปนานมาก และไม่ได้ทำเพลงให้หนังแนว Western มาหลายสิบปีแล้ว ปู่แกได้ Honorary Academy Award ไปเมื่อปี 2007 นะครับ ไม่แน่ว่า The Hateful Eight ที่ได้เข้าชิง Best Original Score ด้วย อาจจะเป็น Oscar ตัวแรกและตัวสุดท้ายของปู่แก (ก่อนหน้านั้นเข้าชิงมา 5 ครั้งแล้ว) 3 รางวัล Grammy Award, 3 รางวัล Golden Globe, 5 รางวัล BAFTA ใครไม่รู้จักปู่แกต้องรีบจดจำชื่อนี้ไว้นะครับ เพราะคือ “เจ้าพ่อแห่งเพลง Western”
เชื่อว่าใครก็ตามที่ดูหนัง Cowboy น่าจะเคยได้ยินเพลงนี้ ในปี 1968 นี่คือโคตรเพลงฮิตที่ใครๆก็จำจังหวะได้ เพลงนี้มีส่วนผสมมากมาย ทั้งเสียงปืน เสียงผิวปาก หรือแม้แต่เสียงหอนของ coyote (เอาเสียง coyote จริงมาปรับใช้เอา) Theme นี้เขียนขึ้นเพื่อทั้ง 3 ตัวละครเลย แต่จะแตกต่างกันเล็กน้อย เช่น ใช้ flute นำสำหรับ The Good, ocaina สำหรับ The Bad และเสียงคนร้อง สำหรับ The Ugly
หนังใช้ครึ่งแรกในการแนะนำตัวละคร กว่าจะไปถึงจุดที่รู้ว่าเป้าหมายสุดท้ายของหนังเรื่องนี้คืออะไรก็กินไปเกือบครึ่งเรื่องแล้ว และแทนที่ครึ่งหลังหนังจะพาเราไปหาสมบัติกันตรงๆ กลับเดินทางซิกแซกอ้อมโลกสุดๆเลย กว่าจะไปถึงสถานที่ที่ฝังเงินไว้ ไม่มีหนังเรื่องไหนในโลกที่กล้าจะพาเราอ้อมไกลขนาดนี้ ประเด็นอ้อมโลกทั้งหลายที่ Leone อย่าที่ผมเปรียบไว้ หนังนำเสนอผลกระทบของสงครามต่อผู้คน ในหนังคือ สงครามกลางเมืองที่ส่งผลกระทบต่อมหาโจรทั้ง 3 จุดนี้เชื่อว่าหลายคนคงแอบเหนื่อยเวลาดู เพราะหนังยาวมาก และประเด็นพวกนี้เอาจริงดูมันก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับหนังเท่าไหร่ แต่ผมกลับชื่นชอบความบ้าระห่ำที่หนังใส่มานะครับ ถ้าไม่มีพวกนี้ หนังเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นหนัง Western ดาดๆทั่วไป พอใส่เข้ามามันทำให้เราหยุดคิด ลุ้นว่าตัวละครจะเอาตัวรอดผ่านไปได้ยังไง และพอมันไปถึงสถานที่สุดท้ายจริงๆ อารมณ์ทุกอย่างที่อัดอั้นมา มันเตรียมพร้อมจะปลดปล่อยทันที
โมเม้นต์ที่ผมชอบในหนังที่สุดแล้ว คือจังหวะที่ The Ugly ไปถึงสุสาน และเขากำลังวิ่งหาป้ายชื่อของหลุมฝังศพ ที่ผมชอบสุดๆคือการหมุนกล้องวนไปรอบๆ พร้อมกับเพลงประกอบ เสียงร้องที่ทำให้ขนลุก ผมลุ้นว่า “จะเจอไหม” จังหวะที่เจอนี่ บร่ะ! แม้งหาเจอได้ไงว่ะ! อารมณ์ที่อัดอั้นมาทั้งเรื่องถูกปลดปล่อยออกมาทันที ผมไปเจอคลิปหนึ่งเข้า เป็นการเล่นสด Orchrestra ฟังแล้วขนลุกมากๆ โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงร้องขึ้นมา เพลงชื่อ The Ecstasy of Gold นี่เป็นหนึ่งใน soundtrack สุดโปรดของผมและฉากนี้ในหนังเป็นเหตุให้หนังเรื่องนี้ได้ FAVORI เลยนะครับ
ตอนหนังฉาย ถือเป็นช่วงขาลงของหนังแนว Western แล้ว แต่ก็ทำรายได้ไปถึง 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กำไร) หนังได้คำวิจารณ์ที่แตก เนื่องจากความรุนแรงของหนัง ไม่ใช่เพราะหนังมีการยิงกันเลือดสาด แต่เนื้อหาที่มีการพูดถึงสงคราม เป็นนำเสนอความรุนแรงด้วยเนื้อเรื่องทำให้ความรู้สึกต่อความรุนแรงสูงกว่าปกติ Los Angeles Times ตอนนั้นให้คำนิยามหนังเรื่องนี้ว่า “The Bad, The Dull, and the Interminable”
มีนักวิจารณ์ที่พบจุดสังเกตของหนังเรื่องนี้ ประมาณว่า Sergio Leone จะมีหลักการหนึ่งในหนัง ภาพที่ปรากฏบนแผ่นฟีล์ม จะมีข้อจำกัดอย่างหนึ่ง คือเราไม่สามารถเห็นทุกตัวละครในทุกเวลา มันจะมีจังหวะที่ตัวละครหนึ่งไม่อยู่ภาพหรือฉากนั้น คนดูจะไม่สามารถคาดเดาหรือเห็นเรื่องราวข้างหลังภาพได้ ว่าตัวละครนั้นกำลังทำอะไร Sergio Leone ได้ทำให้เราเซอร์ไพรส์หลายครั้งเมื่อตัวละครที่หายไปนั้นปรากฏตัวขึ้น เช่น จังหวะที่สุสานในฉากสุดท้าย หลังจากที่หนังโฟกัสที่ตัวละคร The Ugly จากนั้น The Good ก็โผล่มาข้างหลัง จังหวะนี้ยังพอคาดเดาได้เพราะเขาอยู่ไม่ไกล แต่ The Bad โผล่มาจากไหน? หนังไม่ได้เล่าเรื่องราวอะไรตรงนั้นเลยว่าเกิดอะไรขึ้นตั้งแต่เขาหายไป มันมีลักษณะนี้ในหนังหลายครั้ง เป็นเหมือนกฎที่ Leone สร้างขึ้น ทำให้หนังดูน่าตื่นเต้น และมีความประหลาดมากมาย
ความยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้ คือการผสมผสาน Western เข้ากับ Civil War ยำกันอย่างลงตัวในระดับที่ไม่มีหนังเรื่องไหนทำสำเร็จมาก่อน อารมณ์ขันที่ทำให้หนังไม่เครียดจนเกินไป ตัวละครที่มีนิสัยเด่นเป็นเอกลักษณ์ 3 ตัวละครไม่มีใครด้อยกว่าใคร เพลงประกอบที่ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ ภาพถ่ายที่สวย การตัดต่อที่โดดเด่น ไม่มีอะไรในหนังเรื่องนี้ที่ด้อยไปกว่าหนังยอดเยี่ยมเรื่องไหนๆเลย คงเพราะมันเป็น Spaghetti Western จึงถูกมองข้ามตอนที่หนังฉายนัก ขนาดนักวิจารณ์ Roger Ebert เคยพูด “นี่คือหนังที่คู่ควรกับตำแหน่งสี่ดาว แต่ผมคงจะให้แค่สามดาวเท่านั้นแหละ อาจจะเพราะว่ามันเป็น Spaghetti Western และ ไม่มีความเป็นศิลปะเท่าไหร่นัก” (ภายหลัง เมื่อเวลาผ่านไป Ebert เปลี่ยนมาให้ 4 ดาวกับหนังนะครับ) กาลเวลาพิสูจน์แล้ว เมื่อหนังแนวนี้เริ่มสูญหายไป ความยิ่งใหญ่ของหนังจึงเริ่มถูกค้นพบ
ผมมองว่านี่เป็นหนังที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เรื่องหนึ่งเลย เพราะมันคือที่สุดของ Genre นี้จริงๆ ผมดูหนัง Western มาก็หลายเรื่อง เจอที่เยี่ยมๆมาก็เยอะ แต่หนังที่มีภาพสวยๆ เพลงเพราะๆ เนื้อเรื่องที่ผสมผสานกับอะไรหลายๆอย่าง หนังเรื่องนี้กินขาด ดูจบแล้วก็จะเข้าใจว่าทำไมคนสมัยก่อน คลั่ง Clint Eastwood กันมาก เขาคือตัวตายตัวแทนของ John Wayne ถ้าพูดถึงหนัง Western ไม่ John Wayne ก็ Clint Eastwood เท่านั้น ผมจัดเรต 13+ นะครับ หนังอาจจะดูรุนแรงสักหน่อย แต่เชื่อว่าเด็กโตสักหน่อยก็ดูได้
คำโปรย : “The Good, The Bad and The Ugly นี่คือ masterpiece ของ Sergio Leone นำแสดงโดย Clint Eastwood และเพลงประกอบสุดไพเราะจาก Ennio Morricone หนัง Spaghetti Western เรื่องนี้ ไม่ได้ดูก่อนตายพลาดแน่นอน”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : FAVORI
Leave a Reply