The Gospel According to St. Matthew (1964) : Pier Paolo Pasolini ♠♠♠♠♠
ผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini เป็นคนไม่เชื่อในศรัทธาพระเจ้า แต่เมื่อมีโอกาสสนทนากับสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติพระเยซูคริสต์ในมุมคนนอกศาสนา มองคัมภีร์ไบเบิลคือนิยายเล่มหนึ่ง ผลลัพท์ออกมางดงามสมบูรณ์แบบระดับ Masterpiece, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เขวี้ยงขว้าง King Of Kings (1961), The Greatest Story Ever Told (1965), Jesus Of Nazareth (1977), The Last Temptation Of Christ (1988) หรือแม้แต่ The Passion Of The Christ (2004) ทิ้งลงถังขยะไปได้เลย เหล่านั้นสร้างขึ้นในมุมมองของบุคคลผู้คลั่งไคล้ในพระศาสนาอย่างแรงกล้า ล้วนแล้วแต่ใส่ทัศนคติมุมมองความสนใจส่วนตนลงไป เพื่อพิสูจน์ศรัทธาเชื่อมั่น ประกาศกร้าวว่าตนเองคือมหาสาวกผู้จงรักภักดี
ในมุมของคนไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์หรือเชื่อในพระเจ้า รับชมภาพยนตร์เหล่านี้ก็มักจะเหนื่อยหน่ายทอดถอนหายใจ สนแค่โปรดักชั่น Special Effect/Visual Effect อลังการงานสร้างสักหน่อยก็พอเพลิดเพลินผ่อนคลายเกิดความบันเทิงขึ้นบ้าง
แต่สำหรับ The Gospel According to St. Matthew (1964) คือความงดงามอันทรงคุณเลอค่าทางศิลปะอย่างล้นพ้น ด้วยมุมมองของผู้กำกับที่ไม่ได้มีความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้วางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้าง ไม่สนับสนุน ไม่เห็นด้วย ถ่ายทอดตรงๆจากพระวรสารนักบุญมัทธิว ไม่มีบทภาพยนตร์ สนทนา เปิดคัมภีร์ไบเบิลอ้างขึ้นตามนั้นเลย ก็ขนาดสำนักวาติกันยังยกย่องว่า
“The best film on Christ ever made”.
คนที่ติดตามบล็อคนี้มาโดยตลอด คงจะรู้ว่าผมไม่ค่อยชื่นชอบแนว Biblical สักเท่าไหร่ มองเป็นภาพยนตร์’ชวนเชื่อ’ในเรื่องศรัทธา แต่คงต้องยกไว้กรณีพิเศษสำหรับเรื่องนี้ หลงใหลคลั่งไคล้ในไดเรคชั่นของ Pier Paolo Pasolini ขนลุกขนพองกับหลายๆวิธีการถ่ายทอดชีวประวัติพระเยซูคริสต์ ออกมาได้งดงามสมบูรณ์แบบจนเกิดความอิจฉาริษยา ทำไมไม่มีใครสามารถทำเช่นนี้ได้บ้างกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
Pier Paolo Pasolini (1922 – 1975) ผู้กำกับ กวี นักคิด นักเขียน สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Bologna, Kingdom of Italy เมืองแห่งนักการเมืองซ้ายจัด พ่อเป็นทหารเล่นพนันจนติดหนี้ติดคุกกลายเป็น Fascist ตัวเขาเริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ชื่นชอบวรรณกรรมของ Dostoyevsky, Tolstoy, Shakespeare, Coleridge, Novalis เลยไม่ค่อยสนใจศาสนาสักเท่าไหร่ โตขึ้นเข้าเรียน Literature College หลงใหลในปรัชญา สุนทรียศาสตร์ และศิลปะที่เป็นรูปเป็นร่าง, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จับได้ใบแดงกลายเป็นทหาร ไม่ทันไรถูกคุมขังในค่ายกักกัน German Wehrmacht โชคดีสามารถปลอมตัวหลบหนีออกมาได้สำเร็จ แอบทำงานเป็นครูสอนหนังสือแล้วตกหลุมรักลูกศิษย์ชายคนหนึ่ง นั่นทำให้เขารู้ตัวเองครั้งแรกว่าเป็นเกย์
หลังสงครามโลกสิ้นสุดเข้าร่วมพรรค Italian Communist Party เพราะคาดหวังจะสามารถนำพาสิ่งใหม่ๆเข้ามาบริหารประเทศ แต่ช่วงฤดูร้อนปี 1949 ถูก Blackmail ให้ต้องถอนคำพูดไม่เช่นนั้นจะถูกขับออกจากงานสอนหนังสือ ถึงกระนั้นเขาก็ถูกไล่ออกอยู่ดีเพราะให้เด็กวัยรุ่นสามคนดื่มเหล้าเมามาย (ก่อนถึงวัย) ทั้งยังขอให้ช่วยตนเองให้ เมื่อเรื่องราวใหญ่โตเจ้าตัวก็ยืดอกยอมรับอย่างพึ่งพาย แล้วไถลสุนทรพจน์ไปว่าแสดงออกเช่นนั้นเกิดจาก ‘literary and erotic drive’
เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่กรุงโรม ทำงานเป็นครูสอนหนังสือ เขียนนิยายเรื่องแรก Ragazzi di vita (1955) ประสบความสำเร็จแต่ได้รับเสียงวิจารณ์ย่ำแย่เพราะเต็มไปด้วยเรื่องราวอนาจาร, ต่อมาตีพิมพ์บทกวีลงนิตยสาร Officina, ร่วมเขียนบทพูด Nights of Cabiria (1957), La Dolce Vita (1960) ของ Federico Fellini จนได้กำกับหนังเรื่องแรก Accattone (1961) ออกฉายไม่ทันไรถูกกลุ่ม neo-Facist ก่อการจราจล จนถูกถอดถอนออกจากโรงภาพยนตร์, ตามด้วย Mamma Roma (1962) ย้อนรอย Rome, Open City (1945) นำเสนอสภาพกรุงโรม 15-16 ปี หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
ผลงานต่อมาร่วมงานอีกสามผู้กำกับ สร้างภาพยนตร์ Ro.Go.Pa.G. (1963) แบ่งออกเป็นเรื่องสั้นสี่ตอนประกอบด้วย
– Roberto Rossellini ตอน Illibatezza
– Jean-Luc Godard ตอน Il Nuovo mondo
– Pier Paolo Pasolini ตอน La Ricotta
– Ugo Gregoretti ตอน Il Pollo ruspante
Pasolini กำกับตอน La ricotta (แปลว่า Curd Cheese) เรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายหนังชีวประวัติพระเยซูคริสต์ โดยมี Orson Welles แสดงเป็นผู้กำกับที่ไม่เคยลุกขึ้นจากเก้าอี้ มีสองเหตุการณ์ที่ได้รับการกล่าวขวัญต่อต้านอย่างรุนแรง
– นักแสดงหญิงที่รับบท Mary Magdalene ระหว่างพักการถ่ายทำลุกขึ้นมาเต้นระบำเปลื้องผ้าต่อหน้าทีมงาน และนักแสดง (ทั้งพระเยซูคริสต์ และอีกหลายคนที่ถูกตรึงกางเขนอยู่)
– หนึ่งในนักแสดงตัวประกอบมีฐานะยากจน หิวโหยเพราะไม่ได้กินข้าวมาหลายวัน รับบทตัวละครที่ถูกตรึงกางเขนร่วมกับพระเยซูคริสต์ แต่ถูกทีมงานกลั่นแกล้งพักกลางวันไม่ได้รับการปลดปล่อยลงมา ถูกโยนอาหารไปให้เขางับกินแต่พลาดตลอด และเมื่อการถ่ายทำตอบบ่ายเริ่มขึ้น ปรากฎว่าชายคนนั้นเสียชีวิตบนกางเขนเสียแล้ว
ด้วยเหตุนี้ Pasolini เลยโดนโจมตีอย่างหนัก และถูกฟ้องร้องขึ้นศาลในข้อหา ‘ลบหลู่ศาสนาประจำชาติ’ ร่วมชะตากรรมเดียวกับ Luis Buñuel ที่ก็โดนจากหนังรางวัล Palme d’Or เรื่อง Viridiana (1961)
ย้อนไปก่อนหน้านี้เมื่อปี 1962, สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 (1904-1953, ดำรงตำแหน่งพระสันตปาปา 1958-1963) ทรงมีพระประสงค์ต้องการสนทนาแลกเปลี่ยนกับศิลปินที่เป็น non-Catholic หนึ่งในนั้น Pasolini ได้รับคำเชิญจึงมีโอกาสเข้าร่วมพูดคุยระหว่างทรงเสด็จมายังเมือง Assisi ภายหลังเสร็จสิ้น เพราะความที่มีผู้มารอรับ-ส่งเสด็จเป็นปริมาณมาก การจราจรติดขัดจนไม่สามารถขยับไปไหน เป็นเหตุให้เขาต้องพักค้างแรมอยู่ในโรงแรม และมีโอกาสได้อ่านหนังสือพันธสัญญาใหม่ พระวรสารทั้ง 4 เล่มจบในคราเดียว
“The story of Jesus is the most exalting thing one can read”.
ความสนใจสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติของพระเยซูคริสต์ ก็ไม่รู้เกิดขึ้นหลังจากอ่านพระวรสารทั้งสี่ฉบับ หรือตอนถูกฟ้องร้องขึ้นศาล (มันดูเหมือนว่า การสร้างหนังเรื่องนี้เพื่อแก้ต่างข้อกล่าวหา) แต่ที่แน่ๆกับข้อความอุทิศต้นเครดิต มอบให้กับสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ผู้ล่วงลับ สวรรคตก่อนหน้าโปรเจคหนังเรื่องนี้จะเริ่มต้นตั้งไข่เสียอีก
dedicato alla cara, lieta, familiare memoria di Giovanni XXIII
(dedicated to the dear, joyous, familiar memory of Pope John XXIII)
ประวัติพระเยซูคริสต์ และพระธรรมเทศนา รวบรวมในคัมภีร์ไบเบิล พันธสัญญาใหม่ (New Testament) หมวดพระวรสาร (Gospels) มีทั้งหมด 4 ฉบับ ประกอบด้วย
– พระวรสารนักบุญมัทธิว (Gospel of Matthew)
– พระวรสารนักบุญมาระโก (Gospel of Mark)
– พระวรสารนักบุญลูกา (Gospel of Luke)
– พระวรสารนักบุญยอห์น (Gospel of John)
หลังจากอ่านพิจารณาทั้งหมด Pasolini ตัดสินใจเลือกพระวรสารนักบุญมัทธิว เป็นต้นฉบับในการสร้างภาพยนตร์ เพราะถือว่ามีความเป็นกลางที่สุดแล้ว
“John was too mystical, Mark too vulgar, and Luke too sentimental”.
มีนักข่าวสัมภาษณ์ถาม Pasolini ทั้งๆที่เขาเป็นคนไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า แต่ทำไมถึงสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับศาสนา
“If you know that I am an unbeliever, then you know me better than I do myself. I may be an unbeliever, but I am an unbeliever who has a nostalgia for a belief”.
ความตั้งใจของ Pasolini ไม่ได้ต้องการนำเสนอชีวประวัติพระเยซูคริสต์ในรูปแบบปกติทั่วไปของยุคสมัยนั้น แต่ด้วยลักษณะเรื่องเล่าตำนาน (Mythology) คลุกเคล้าเข้ากับยุคสมัยที่ดำเนินผ่านมาเกือบๆสองพันปี (กล่าวคือ นำผลงานศิลปะจากหลายๆยุคสมัยในรอบสองพันปี ผสมผสานใส่เข้าไปให้กลายเป็นเนื้อหนึ่งเดียว)
“I did not want to reconstruct the life of Christ as it really was, I wanted to make the history of Christ two thousands years of Christian version on, since it is the two thousands years of Christian history that have mythologized this biography, one that as such would have been virtually insignificant otherwise. My film is the life of Christ after two thousands years of stories on the life of Christ”.
ช่วงทศวรรษนั้น Hollywood มีกระแสนิยมของ Biblical Epic เริ่มจากความสำเร็จอันล้นหลามของ Samson and Delilah (1949) ตามมาด้วย Quo Vadis (1951), David and Bathsheba (1951), The Robe (1953) [เรื่องแรกที่ถ่ายด้วย CinemaScope], The Ten Commandments (1956), Ben-Hur (1959) [คว้า Oscar: Best Picture], King of Kings (1961) ก่อนสิ้นสุดลงที่ The Greatest Story Ever Told (1965)
ในความ Epic ของหนังแนว Biblical นิยามโดย Pasolini ไม่ใช่ความอลังการในแง่โปรดักชั่นงานสร้าง แต่คือเทคนิคอันแสนธรรมดาเรียบง่ายของ Neo-realism แค่ว่านำเสนอเรื่องราวอันยิ่งใหญ่โต ประวัติศาสตร์ของพระเยซูคริสต์เมื่อเกือบสองพันปีก่อน เลือกถ่ายทำยังตอนใต้ของอิตาลี ด้วยสภาพของสังคมเมืองในยุคสมัยปัจจุบัน(นั้น)
นักแสดงทั้งหมดคือมือสมัครเล่น ไม่เคยผ่านการแสดงใดๆมาก่อนแทบทั้งนั้น, Enrique Irazoqui ชายหนุ่มผู้รับบทพระเยซูคริสต์ คือนักศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จากประเทศสเปน เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และกำลังเขียนวิจัยเกี่ยวกับภาพยนตร์ของ Pasolini ติดต่อขอพบพูดคุย เจอหน้ากันครั้งแรกผู้กำกับเอ่ยถามก่อนเลยว่า
“Excuse me, but would you act in one of my films”?
ภาพลักษณ์ของ Irazoqui ให้คำนิยามโดย Barth David Schwartz ในหนังสือ Pasolini Requiem (1992)
“…son of a Basque father and a Jewish mother … thin, stoop-shouldered, heavy-browed, anything but the muscular Christ of Michelangelo.”
ผมมองความคล้ายคลึงใบหน้าของ Irazoqui หลุดออกมาจากภาพวาดยุคสมัย Byzantine Art (ค.ศ. 497 – 1453) ที่ถือเป็นศิลปะคริสเตียนยุคแรกของโลก เว้นเสียแต่ส่วนของคิ้วที่ชวนให้พิศวงเหลือเกินว่า มันลากยาวติดกันหรืออย่างไร?
เกร็ด: ภาพด้านขวาคืองานศิลปะของยุคสมัย Byzantine Art โด่งดังสุดที่หลงเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน เป็นภาพโมเสกชื่อ Jesus Christ Pantocrator ประดับผนังอยู่ที่ Hagia Sophia, Istanbul
เรื่องการแสดงดูแล้วก็ไม่ได้ต้องใช้ความสามารถอะไรมาก บทพูดก็แค่ขยับปากอ่านจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ล (พากย์เสียงโดย Enrico Maria Salerno คนเดียวกับที่ให้เสียงตัวละครของ Clint Eastwood ใน Dollars Trilogy ฉบับภาษาอิตาเลี่ยน) ส่วนใหญ่ทำหน้านิ่งๆไม่ค่อยแสดงอารมณ์ใดๆ มีบทเกรี้ยวกราดโกรธนิดหน่อย นอกนั้นขยับเคลื่อนไหวให้ดูมีสง่างามราศีทรงภูมิตามคำแนะนำของผู้กำกับก็เพียงพอแล้ว
ขณะที่พระแม่มารีย์วัยชรา Pasolini ขอให้แม่ของตนเอง Susanna Pasolini มาปรากฎตัวแค่นั้น ไม่ได้ต้องมีบทพูดใดๆ
ถ่ายภาพโดย Tonino Delli Colli, ตัดต่อโดย Nino Baragli, ต่างเป็นขาประจำของผู้กำกับ Pasolini ร่วมงานกันมาตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก Accattone (1961)
สถานที่ถ่ายทำหลักๆคือตอนใต้ของอิตาลี อาทิ Barile, Matera, Massafra เห็นว่าผู้กำกับ Mel Gibson ก็เลือกใช้บริเวณดังกล่าวในการถ่ายทำ The Passion Of The Christ (2004)
ตั้งแต่สมัยเรียน ผู้กำกับ Pasolini มีโอกาสศึกษาร่ำเรียนงานศิลปะยุคสมัย Italian Renaissance เกิดความคลั่งไคล้หลงใหล ซึ่งก็สามารถพบเห็นอิทธิพลได้ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก Accattone (1961) ลักษณะการจัดวางองค์ประกอบ ถ่ายภาพออกมาให้มีสัมผัสของศิลปินเอกอย่าง Piero Della Francesca, Masacio, Paolo Uccello หรือแม้แต่ Leonardo da Vinci, Michelangelo ก็ยังพอมีร่องรอยอยู่บ้าง
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตัวละครก็เช่นกัน ออกแบบโดย Danilo Donati รับอิทธิพลจากภาพวาดยุคสมัย Italian Renaissance (ดูไม่ค่อยเหมือนเสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย จากยุคสมัยโรมันแท้ๆเท่าไหร่) สังเกตจากภาพ The Tribute Money (1425) ของศิลปิน Masaccio (1401 – 1428) จักพบเห็นความคล้ายคลึงในหลายๆองค์ประกอบ
หมวกทรงประหลาดๆ ดูแล้วรับอิทธิพลจาก The History of the True Cross (ประมาณการ ค.ศ. 1447 – 1466) จิตรกรรมฝาผนังวาดโดย Piero della Francesca ให้กับ Basilica of San Francesco, Arezzo
ภาพแรกของหนังเล่าเรื่องด้วยภาษาภาพยนตร์ ไร้เสียงพูด เริ่มจาก Close-Up ใบหน้าของมารีย์ ตัดไปโจเซฟ กลับมาเป็นช็อตเต็มตัวของมารีย์กำลังอุ้มครรภ์ท้องโต โจเซฟหันหลังเดินจากไป เพราะรับไม่ได้/ไม่พึงพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตนหาใช่พ่อแท้ๆของลูกในครรภ์อย่างแน่นอน แต่หลังจากเดินล่องลอยไปถึงเมือง Jerusalem ทรุดลงนอนหลับริมทาง เกิดนิิมิตจากพระผู้เป็นเจ้า รีบวิ่งกลับบ้านด้วยความยินดีปรีดา ภาพใบหน้าของมารีย์เต็มเปี่ยมด้วยรอยยิ้มแย้ม
การไล่ล่าเข่นฆ่าเด็กทารกบริสุทธิ์ไร้เดียงสา, เริ่มต้นจากภาพ Close-Up ใบหน้าของทหาร ตัดสลับไปมาสักพักหนึ่งจนได้รับคำสั่งให้บุกเข้าทำร้ายจัดการฝูงชนที่ Jerusalem บทเพลงของ Sergei Prokofiev จากหนังเรื่อง Alexander Nevsky (1938) สร้างโดยปรมาจารย์ผู้กำกับ Sergei Eisenstein ด้วยไดเรคชั่นคล้ายๆกันด้วยนะ ทั้งหมดเป็นเพียงภาพกราฟฟิก นำเสนอความสับสนวุ่นวาย แต่ไม่พบเห็นขณะกำลังถูกเข่นฆ่าตาย สร้างความสั่นสะเทือนใจให้เกิดขึ้นกับผู้ชม และฉากถัดมากษัตริย์ผู้ออกคำสั่งก็ถูกกรรมตามสนอง ดิ้นรนหมดสิ้นลมอย่างทุกข์ทรมาน
Sequence ของการ Baptist เริ่มต้นจากภาพทิวทัศน์ระยะไกล Tilt Up แล้วทำการ Zoom-In เรื่องราวดำเนินไปจนเมื่อพระเยซูเข้ามารับการจุ่มศีลจาก John the Baptist ทุกคนเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ภาพถ่ายจากระยะไกลค่อยๆ Zoom-Out แล้ว Fade-into-Black
การเผยแพร่หลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ ใช้การ Close-Up ใบหน้าของ Irazoqui ปากขยับไปเรื่อยจนจบพระวจนะหนึ่ง จากนั้น Cross-Cutting บางครั้งยืนตำแหน่งเดิม แต่ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนพื้นหลัง/มุมมองกล้อง ระยะภาพขยับเคลื่อนไหวบ้างบางที, นี่ถือเป็นเทคนิครวบรัดต่อเนื่อง คัดสรรเลือกมาเฉพาะแนวคิด/หลักคำสอนที่ค่อนข้างน่าสนใจ ประมวลอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 5 นาที
หนังไม่ได้มีการใช้ Special Effect/Visual Effect ตื่นตระการตาใดๆ อย่างฉากที่พระเยซูเดินอยู่บนผิวน้ำ ก็ใช้ท่อนไม้/ทุ่นขนาดใหญ่ มีคนจับอยู่ใต้น้ำ ถ่ายภาพจากระยะไกลก็แทบมองไม่เห็นแล้วว่ามีอะไรอยู่ภายใต้, หรือฉากรักษาคนพิการ/ใบหน้ามีความผิดปกติ ใช้แค่คำพูด(ของพระเยซู)และตัดต่อสลับไปมา ง่ายๆแค่นั้นเอง
ส่วนใหญ่คงรู้จัก The Last Supper แต่กับภาพวาดของ Leonardo da Vinci จริงๆแล้วมีจิตรกรนับไม่ถ้วนที่สรรสร้างวาดภาพลักษณะคล้ายๆกันนี้ เนื่องจาก Pasolini เคยใช้ไดเรคชั่นดังกล่าวไปแล้วกับ Mamma Roma (1962) มาเรื่องนี้เลยเปลี่ยนใหม่ แต่เท่าที่ผมลองค้นหาดูไม่พบความใกล้เคียงเท่าไหร่ (เพราะส่วนใหญ่นั่งบนเก้าอี้และไม่ล้อมวง) คาดว่าคงเป็นผู้กำกับที่ครุ่นคิดนำเสนอออกมาในรูปแบบของตนเองเลยละ
เมื่อตอนพระเยซูถูกจับกุมกำลังได้รับการพิพากษา ถ้าเป็นหนังเรื่องอื่นคงนำเสนอการปะทะคารม โต้เถียง ขัดแย้งทางอารมณ์ ในระยะใกล้ประชิดตัว แต่เรื่องนี้กลับใช้มุมมองของ St. Matthew บันทึกภาพระยะไกล Long Shot จากท่ามกลางฝูงชนที่มารับชมการตัดสิน ตัดสลับกับสายตาของเขาที่จับจ้องเฝ้ามองดูอยู่ห่างๆ, นี่เป็นเทคนิคไม่ก่อให้เกิดอคติกับฝักฝ่ายใดๆ เพราะผู้ชมจะไม่รับรู้รายละเอียดวงในที่เกิดขึ้น หรือมองเห็นสีหน้าอารมณ์แสดงออกของตัวละคร ไปๆมาๆก็ประกาศผลลัพท์การตัดสินลงโทษเลย
ฉากแบกลากตรึงกางเขน เพราะเป็นยุคสมัยก่อนการมาถึงของ The Last Temptation Of Christ (1988) จึงมิได้มุ่งเน้นนำเสนอความเจ็บปวดรุนแรงอะไร (แถมให้คนอื่นแบกแทนด้วยนะ) นี่ก็เช่นกันไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมบีบขยี้หัวใจกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสของพระเยซูคริสต์ แค่นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และตอนฟื้นคืนชีพในสามวัน ก็มิได้ให้แสดงอภินิหารอะไร ปรากฎภาพของเด็กคนหนึ่งพูดบอกป่าวประกาศ พร้อมบทเพลง Gloria ขับร้องสรรเสริญโดย Missa Luba
สำหรับเพลงประกอบ ถือว่ามีความหลากหลายอย่างยิ่ง รวบรวมเรียบเรียงโดย Luis Enrique Bacalov ประกอบด้วย
– Johann Sebastian Bach: St Matthew Passion, BWV 244 ท่อน Wir setzen uns mit Tränen nieder กับ Erbarme Dich
– Johann Sebastian Bach: Mass in B minor, BWV 232 ท่อน Agnus Dei
– Johann Sebastian Bach: Concerto for Oboe and Violin, BWV 1060 ท่อน Adagio
– Johann Sebastian Bach: Concerto for Violin E Major, BWV 1042 ท่อน Adagio
– Wolfgang Amadeus Mozart: Masonic Funeral Music (Maurerische Trauermusik), K. 477
– Wolfgang Amadeus Mozart: String Quartet No.19 in C major K.465 (Dissonance)
– Sergei Prokofiev: Alexander Nevsky, Op.78
– บทเพลง Gloria, Kol Nidre ขับร้องโดย Missa Luba
– บทเพลง Sometimes I Feel Like a Motherless Child ขับร้องโดย Odetta
– บทเพลง Dark Was the Night, Cold Was the Ground ขับร้องโดย Blind Willie Johnson
ความหลากหลายของบทเพลง ไม่ได้เพื่อสร้างบรรยากาศ หรือถ่ายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร/เรื่องราวออกมา แต่เพื่อให้เกิดความประทับใจทางจิตวิญญาณ สัมผัสของสิ่งศักดิ์สิทธิ์/พระเจ้าที่มีตัวตนอยู่ทุกแห่งหน ทุกยุคทุกสมัยเหนือกาลเวลา
หนังถ่ายทำทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี บันทึกสภาพบ้านเมืองยุคสมัยปัจจุบัน(นั้น), พระเยซูคริสต์มีใบหน้าเหมือนศิลปะ Byzantine Art, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จัดองค์ประกอบฉากรับอิทธิพลจาก Italian Renaissance, บทเพลงของ Bach (ยุค Baroque), Mozart (ยุค Classical), Sergei Prokofiev (ร่วมสมัย), Missa Luba, Odetta (เพลงแนว Latin Mass), Blind Willie Johnson (เพลงแนว Gospel Blues)
นี่คือสิ่งที่ผู้กำกับ Pasolini นำเสนอถ่ายทอดออกมาเป็นชีวประวัติพระเยซูคริสต์ในลักษณะเรื่องเล่าตำนาน (Mythology) คลุกเคล้าเข้ากับยุคสมัยที่ดำเนินผ่านมาเกือบๆสองพันปี มาแยกแยะนำเสนอให้เห็นลักษณะเช่นนี้ หลายคนอาจรู้สึกแปลกประหลาดพิลึกกึกกือ แต่เชื่อเถอะว่าส่วนใหญ่คงไม่มีใครทันสังเกตรู้ระหว่างรับชมแน่ๆ นี่ความเลิศหรูหราของศิลปะภาพยนตร์ ผสมผสานความแตกต่างให้กลมกลืนเข้ากันเป็นเนื้อหนึ่งเดียวกันได้อย่างลงตัว งดงามระดับนี้ ไม่ให้เรียกว่า Masterpiece ก็กระไรอยู่
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ามา 2 รางวัล
– OCIC Award [รางวัลจากสำนักงานภาพยนตร์คาธอลิคนานาชาติ]
– Special Jury Prize ร่วมกับ Hamlet (1964)
เข้าชิง Oscar สามสาขา แต่ก็ไม่ได้ลุ้นรางวัลอะไร
– Best Art Direction-Set Decoration, Black-and-White
– Best Costume Design, Black-and-White
– Best Music, Scoring of Music, Adaptation or Treatment
ความงดงามของภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบได้กับสัมผัสของบทกวี ทิวทัศน์สวยๆตัดสลับกับ Close-Up ใบหน้าตัวละคร เล่าเรื่องด้วยภาษาภาพมากกว่าบทพูดคุยสนทนา และเพลงประกอบร่วมเสริมสร้างพลังแห่งจิตวิญญาณ
ถึงคุณจะไม่ใช่ชาวคริสเตียน หรือใคร่สนใจชีวประวัติพระเยซูคริสต์ แต่จะขอแนะนำ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ดื่มด่ำกับความงดงามของภาพยนตร์เรื่องนี้ อันเอ่อล้นทรงคุณเลอค่าทางศิลปะ สวยล้ำเหนือกาลเวลา และตรึงตราประทับฝังลึกในจิตใจไม่รู้ลืมเลือน
จัดเรต 13+ กับความเชื่อ ศรัทธา ศาสนา
Leave a Reply