The Graduate

The Graduate (1967) hollywood : Mike Nichols ♥♥♥♥♥

หลังจากเรียนจบ เป้าหมายต่อไปในชีวิตคืออะไร? หนังแนวตลกเสียดสีของผู้กำกับ Mike Nichols ที่แจ้งเกิดให้กับ Dustin Hoffman ได้เข้าชิง Oscar 7 สาขา น่าเสียดายได้มาเพียงรางวัลเดียว, นี่เป็นหนังที่ เด็ก/วัยรุ่น คิดเห็นอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่/สูงวัย มองอีกแบบหนึ่ง ควรค่าอย่างยิ่งที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

หลังจากเขียน Midnight Cowboy ไปเมื่อวันก่อน ผมเกิดความรู้สึกอดไม่ได้ที่ต้องหยิบหนังเรื่องนี้ขึ้นมาดู มันเหมือนมีแรงดึงดูดบางอย่างจากการแสดงของ Dustin Hoffman ที่ทำให้ผมอยากเห็นเขาอีก ทั้งๆที่เจ้าตัวก็ไม่ได้หล่อเหลา ดูเหมือนคนธรรมดาทั่วไป แต่กลับมีเสน่ห์ที่น่าหลงใหล ในความติ๋มๆกวนๆ, The Graduate คือหนังแจ้งเกิดให้กับ Hoffman ที่ต้องบอกว่าผู้กำกับ Mike Nichols กล้าเสี่ยง นำใครก็ไม่รู้ให้มารับบทนำแบกหนังทั้งเรื่อง ขนาดตัว Hoffman เองยังไม่มั่นใจว่าตนเองทำได้ แต่ผลลัพท์เกินความขาดหมาย หนังเรื่อง The Graduate จะเป็นยังไงถ้าไม่ใช่ Dustin Hoffman ผมไม่สามารถจินตนาการได้เลย

Mike Nichols หลังประสบความสำเร็จจาก Who’s Afraid of Virginia Woolf? (1966) ก็เริ่มติดใจในการสร้างภาพยนตร์ แต่เขาก็ไม่ทิ้ง Broadways นะครับ ทำควบคู่กันไปด้วย, เห็นว่าหลังจาก Who’s Afraid of Virginia Woolf? (1966) ก็ไปกำกับละครเวทีเรื่อง The Apple Tree (1966) ที่ทำให้เขาได้เข้าชิง Tony Award สาขา Best Direction of a Musical (ไม่ได้รางวัล) แล้วถึงมาสร้าง The Graduate ในปีถัดมา

ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ Charles Webb ตีพิมพ์เมื่อปี 1963 เห็นว่าเขาเขียนขึ้นหลังเรียนจบจาก Williams College คงเป็นความรู้สึกจริงของตนเองล้วนๆ, ขายสิทธิ์ในการดัดแปลง $20,000 เหรียญ มี Calder Willingham และ Buck Henry ร่วมกันเขียนบทภาพยนตร์ โดยให้ความเคารพต้นฉบับอย่างมาก, ภายหลังเมื่อหนังประสบความสำเร็จล้นหลาม Webb ได้โบนัสเพิ่มอีก $10,000 เหรียญ แต่เขาก็ไม่อภิรมย์ในชื่อเสียงนี้เท่าไหร่ เพราะคนอื่นมักคิดว่าเขาเป็นคนตลก แต่ตัวจริงเป็นคนค่อนข้างซีเรียส (The Graduate เป็นหนังตลกร้ายนะครับ แต่เชื่อว่าบางคนอาจขำไม่ออก)

Benjamin Braddock (รับบทโดย Dustin Hoffman) ชายหนุ่มวัย 20 ปลายๆ เปิ่นๆ ที่เพิ่งเรียนจบเดินทางกลับบ้าน เขายังไม่มีเป้าหมายต่อไปในชีวิต ในวันหนึ่งได้ถูก Mrs. Robinson (รับบทโดย Anne Bancroft) หญิงวัยกลางคน แต่งงานมีลูกสาวโตแล้ว ใช้การโอ้โล้ม ชักชวนให้กระทำการชู้สาวกับเธอ แม้ทีแรก Benjamin จะไม่ยินยอม แต่ภายหลังก็เสร็จสมอารมณ์หมาย, ต่อมา Benjamin ได้พบกับ Elaine Robinson (รับบทโดย Katharine Ross) ลูกสาวของ Mrs. Robinson และได้ตกหลุมรักหัวปลักหัวปลำจนต้องการขอเธอแต่งงาน เรื่องราววุ่นๆเลยเกิดขึ้น

Dustin Hoffman ตอนเด็กๆ ไม่มีใครคิดว่าเขาจะกลายเป็นนักแสดงได้ เพราะใบหน้า… ไม่มีความหล่อเหลาเลยสักนิด ‘You can’t be an actor. You are not good-looking enough.’ แต่ Hoffman ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่จำเป็นต้องหน้าตาดี ก็สามารถเป็นนักแสดงดังได้, นักเขียนบทเรื่องนี้ Buck Henry ได้ให้ความเห็นกับหน้าตา Hoffman เปรียบเทียบกับ Humphrey Bogart ซึ่งก่อนที่เขาจะกลายเป็นดาราดัง ใครๆเคยเรียกเขาว่าอัปลักษณ์ (Ugly) แต่พอดังแล้ว ใครจะกล้าเรียกแบบนั้น

ก่อนเริ่มต้นเป็นนักแสดงภาพยนตร์ Hoffman เป็นนักแสดงละครเวทีที่ถือว่า มากฝีมือคนหนึ่ง ต่อมาได้เล่นละครโทรทัศน์ มีผลงานภาพยนตร์ Debut เป็นตัวประกอบเรื่อง The Tiger Makes Out (1967) ของผู้กำกับ Arthur Hiller, Hoffman ขณะนั้นได้ตบปากรับคำ Mel Brooks ที่จะเล่น The Producers (1967) ไปแล้ว แต่เมื่อเขาได้ยินว่ามีการคัดเลือกนักแสดงของ The Graduate จึงขออนุญาติผู้กำกับไป Audition, แม้ไม่ได้คาดหวังว่าตนเองจะได้บท แต่ผู้กำกับ Nichols ได้ทำสิ่งที่กล้าหาญมากและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะมีผู้กำกับดังๆระดับยอดฝีมือสักกี่คน ที่จะกล้าไว้วางใจให้นักแสดงไร้ชื่อ มารับบทที่ต้องแบกหนังไว้ทั้งเรื่อง

Robert Redford ก็เคยมาคัดตัวเพื่อจะรับบท Benjamin แต่เมื่อเขาเจอคำถามของผู้กำกับ ‘นายเคยมีปัญหากับการออกเดทสาวไหว’ นี่ทำเอา Redford ตอบไม่ถูก เหตุผลที่เขาไม่ได้บท เพราะตัวละครนี้ควรจะเป็นคนที่ขาดความสามารถในการเข้าสังคม แต่หน้าตาของ Redford ที่หล่อกระชากใจสาวๆ คงเป็นไปไม่ได้แน่ถ้าจะรับบทคนที่ถูกล่อลวงโดยหญิงวัยกลางคน, นี่น่าจะคือเหตุผลที่ Hoffman ได้บทแน่ๆ เห็นว่าขณะ Audition ผู้กำกับขอให้ Hoffman แสดงฉาก love scene กับ Katharine Ross แต่เขาปฏิเสธ บอกว่า ‘ผู้หญิงอย่าง Ross ไม่มีทางที่จะมาเหลียวคนอย่างเขาไม่ว่าชาติไหนๆ’ (a girl like [Ross] would never go for a guy like me in a million years.)

Benjamin จริงอยู่ที่ตัวละครไม่มีเป้าหมายชีวิต แต่เขาก็มีสิ่งที่อยากได้อยากทำ ผู้ใหญ่ทุกคนในชีวิตเขาล้วนเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ จอมบงการ ชอบสั่งนิ้วชี้ให้ทำตาม โดยไม่สนว่าเขาก็มีตัวตน มีความคิดความอ่านของตนเอง แล้วพอเวลาพวกเขาถาม ‘นายจะทำอะไรต่อไป’ แบบนี้จะให้ Benjamin ตอบอะไรกัน (แล้วยังมีหน้ามาทำท่าทางผิดหวังอีก เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ตัวเองเสียจริง!) นี่ทำให้การบุคคลิกของตัวละครนี้เป็นแบบเก้ๆกังๆ วางตัวไม่ถูก ทำอะไรไม่เป็น… อยากให้ผมทำอะไรสั่งมาเลยดีกว่า, สิ่งที่น่าทึ่งของ Hoffman คือใบหน้าที่ดูไร้เดียงสาขา ทรงผมปัดอย่างเนี้ยบ เหมือนเด็กที่ถูกตามใจจนเสียคน ผมขอเรียกเขาว่า ‘ผู้ร้ายหน้านิ่ง’ เห็นนิ่งๆแบบนี้ แต่โหดลึกเลยละ

สำหรับบท Mrs. Robinson ในความตั้งใจของผู้กำกับ ต้องการให้นักแสดงฝรั่งเศส Jeanne Moreau มารับบท เพราะมีพื้นฐานความเชื่อว่า ในวัฒนธรรมฝรั่งเศส ผู้หญิงสูงวัยมักชอบที่จะล่อลวงหนุ่มๆในเรื่อง Sex ( the ‘older’ women tended to ‘train’ the younger men in sexual matters.) แต่แนวคิดนี้ก็ถูกคัดค้านโดยสิ้นเชิงจากโปรดิวเซอร์หนัง, มีนักแสดงมากมายที่แสดงความสนใจอาทิ Joan Crawford, Lauren Bacal, Audrey Hepburn, Ava Gardner ฯ ก่อนสุดท้ายจะมาจบที่ Anne Bancroft วัย 36 ปี

ในหนัง Mrs. Robinson ต้องแก่กว่า Benjamin พอสมควร แต่ Bancroft แก่กว่า Hoffman เพียง 6 ปีเท่านั้น (หนังเลยต้องแต่งหน้าให้เธอดูแก่เกินจริง) ส่วน Katharine Ross ที่รับบทลูกสาว ตัวจริงอายุน้อยกว่า Bancroft เพียง 8 ปี [นี่เป็นหนังเกี่ยวกับวัยรุ่น ที่มีแต่ผู้ใหญ่วัยกลางคนนำแสดง]

ตัวละคร Mrs. Robinson ในมุมของผมเห็นเธอเป็น ผู้หญิงที่น่ารำคาญคนหนึ่ง (ในมุมของผู้ใหญ่บางคนคงเห็นใจ แต่กับเด็กวัยรุ่นจะเรียกเธอว่า ‘เจ้าแม่กินเด็ก’) เป็นตัวแทนของผู้ใหญ่ที่ล้มเหลวในการมีชีวิต ท้องก่อนแต่ง จึงต้องแต่งกับชายคนที่อาจจะไม่ได้หลงรัก เบื่อชีวิต หันพึ่งสุราและชายหนุ่ม (คำคล้องจองทั่วไปคือ สุรานารี แต่ถ้าเป็นผู้ชายละ ใครรู้บอกผมด้วยนะครับ?) สนองกามารมณ์ ตัณหาของตนเอง ภายหลังจะมีความอิจฉาริษยา เห็นแก่ตัวและหน้าไม่อาย, กับตรรกะที่ว่า ถ้าผู้ชายที่ตกเป็นของตน จะไม่มีวันให้เขาได้ครอบครองลูกสาวของตน นี่ก็เหมือนจะถูกอยู่หรอก … แต่เดี๋ยวก่อน ไม่ใช่ว่าตรรกะเพี้ยนตั้งแต่ ผู้ชายของตนแล้วหรอกหรือ?

การแสดงของ Bancroft ถือว่าโดดเด่นมากๆ (ถึงผมจะไม่ชอบ Mrs. Robinson แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ชอบการแสดงของนักแสดงนะครับ) จริงๆแล้วเธอยังดูสาวอยู่เลย ไม่ได้สูงวัยเท่าไหร่ แต่ต้องแต่งหน้าให้ดูมีอายุ เห็นริ้วรอยตีนกา, ถ้าผมเป็นเด็กอายุสัก 14-15 แล้วถูกผู้หญิงรุ่นแม่แบบเธอเข้ามายั่วยวนแบบนี้ละก็ คงได้ตกเป็นทาสของเธอแน่ Bancroft สร้างความยั่วยวนด้วย การมองหน้า จิกสายตา แค่นี้ก็ทำให้เด็กหนุ่มหลงใหลคลั่งไคล้แล้ว

เกร็ด: หลังหนังฉาย ก็มีจดหมายจากแฟนๆมากมายส่งให้ Bancroft หนึ่งในนั้นเป็นชายคนหนึ่ง บอกว่าเธอคือ Sexual Fantasy คนแรกของเขา

ไฮไลท์ฉากที่ผมชอบสุดในหนัง ขณะที่ Benjamin และ Mrs.Robinson พบกันในห้องโรงแรมครั้งแรก, เห็นว่า Bancroft ไม่รู้ตัวว่า Hoffman จะอยู่ดีๆจับหน้าอกเธอ เหตุที่เขาตัดสินใจทำนอกบทนี้ เพราะนึกถึงตอนสมัยหนุ่มๆ ที่ผู้ชายมักจะชอบพยายามหาเรื่องจับหน้าอกผู้หญิง, ตอนถ่ายฉากนี้ ผู้กำกับ Nichols ก็ไม่ทันตั้งตัวเช่นกัน เห็นแล้วหัวเราะดังลั่น ทำให้ Hoffman เริ่มหัวเราะด้วย แต่เขาตัดสินใจหันหน้าหนีกล้อง แล้วเดินเอาหัวไปโขกกำแพง เพื่อให้ตนเองหยุดหัวเราะ, นี่เป็นฉากที่ผมหัวเราะดังมากๆ และพอได้รู้ว่าแท้จริงเป็นแบบนี้ก็ทึ่งเลยละครับ Hoffman ต้องถือว่าเป็นนักแสดงที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เยี่ยมจริงๆ (กับ Midnight Cowboy ก็ทีนึงแล้ว เขาสามารถ improvise ฉากเกือบโดน Taxi ชนจนได้ Quote อมตะหนึ่งเลยละ)

เกร็ด: ภาพขาอันลือลั่นของหนัง (ภาพในโปสเตอร์) จริงๆแล้วไม่ใช่ขาของ Anne Bancroft นะครับ เป็นของโมเดลลิ่ง Linda Gray ที่เรียวสวยกว่าของ Bancroft เป็นไหนๆ มี 2 ช็อต ถ่ายลอดขาแสดงถึงการยั่วยวน

Katharine Ross กับบท Elaine Robinson หลายคงคงจำฉากกรี๊ดสลบของเธอได้ นี่แสดงถึงตัวละครที่มีความสับสนลังเล ในจิตใจ ตรงข้ามกับ Benjamin โดยสิ้นเชิง (Benjamin อ้างว้าง ว่างเปล่า ส่วน Elaine สับสน วุ่นวาย) แต่ทั้งคู่เติมเต็มกันโดยไม่รู้ตัว, Elaine โผล่มาแย่งซีนในครึ่งหลัง เธอทำให้หนังดูสดชื่นมีชีวิตชีวาขึ้น เพราะได้กลายเป็นเป้าหมายของพระเอก แต่ก็ถูกกีดขวางโดยครอบครัว ผู้ใหญ่ ที่พยายามบงการชีวิตของเธอ

การแสดงของ Ross นอกจากความสวยที่โดดเด่นแล้ว เธอยังสามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความสับสนว้าวุ่นที่อยู่ข้างในจิตใจ และรับส่งเคมีเข้าขากับ Hoffman ได้เยี่ยมมากๆ คือรู้สึกเลยว่าเกิดมาเพื่อเติมเต็มกันและกัน, ไฮไลท์ของเธอนอกจากฉากกรี๊ดสลบสุดแรงเกิด ที่เแสดงถึงความสับสนในจิตใจ ก็มีรอยยิ้มตอนท้ายขณะที่ Elaine กับ Benjamin หนีขึ้นรถบัส เหมือนพวกเขาได้รับชัยชนะอะไรบางอย่าง ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด หลุดพ้นจากอำนาจอิทธิพล ค้นพบเป้าหมายของตนเอง นี่เป็นรอยยิ้มที่สวยมากๆ ออกมาจากใจ ถ้าเพียงมี Kiss กันหน่อยตอนจบนะ จะถือว่าสมบูรณ์แบบเลยละ

ถ่ายภาพโดย Robert L. Surtees ที่มีผลงานดังอย่าง Ben-Hur (1959), Mutiny on the Bounty (1962), The Sting (1973) ฯ นี่การันตีว่างานภาพต้องออกมาไม่ธรรมดาแน่ๆ, Nichols ได้ให้อิสระแก่ Surtees ได้ทดลองอะไรต่างๆมากมายในหนัง อาทิโทนสี บรรยากาศของหนัง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน 1) ครึ่งแรกก่อนที่ Benjamin จะได้พบกับ Elaine งานภาพจะมีความเยือกเย็น หดหู่ เหมือนแก้ว พลาสติก 2) กับฉากโรแมนติกจะใช้ long lens และ diffused shot ให้โทนสีบรรยากาศที่สว่าง อบอุ่น สดใส

มี 2 เทคนิคของการถ่ายภาพที่น่าสนใจมากๆ
1) ในฉากเปิดเรื่อง Benjamin จะเดินจากขวาไปซ้าย ในขณะที่ตัวละครอื่นเดินจากซ้ายไปขวา, วัฒนธรรมของชาวตะวันตก การทำอะไรจากซ้ายไปขวาถือเป็นเรื่องปกติ (นึกถึงเวลาอ่านหนังสือ ก็อ่านจากซ้ายไปขวา) การเดินสวนจากขวาไปซ้าย แสดงถึงผิดทิศทาง ทำอะไรที่ตรงข้าม

2) ขณะ Benjamin ออกวิ่ง (ช่วงท้าย) เราจะเห็นเขาจากระยะที่ค่อนข้างไกล วิ่งตรงเข้าหากล้อง แต่ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนเขาไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน, เทคนิคนี้มีการใช้เลนส์ Telephoto Lens ที่ขนาดยาวมากๆ เพื่อสร้างภาพให้เกิดความรู้สึกระยะห่างไกลมากๆ

สองเทคนิคนี้ สะท้อนถึงใจความของหนังที่ว่า Benjamin ทำอะไรผิดไปหมด และเหมือนชีวิตไม่ได้เคลื่อนที่ไปได้

หนังมีการถ่ายภาพเชิงสัญลักษณ์มากมาย ที่เลื่องชื่อเลยคือ ‘underwater’ ที่เกี่ยวกับ น้ำ/สระว่ายน้ำ/ใต้น้ำ อาทิ ตู้ปลาต้นเรื่อง หัวของ Benjamin อย่ระดับเดียวกับตู้ปลา แสดงถึงเขากำลังจมอยู่ใน… , นอนลอยคอบนผิวน้ำ (แสดงถึงชีวิตที่ไร้เป้าหมาย), ชุดดำน้ำ ใช้มุมมองบุคคลที่ 1 แล้วเงียบเสียงทุกอย่าง (เหมือนอยู่ในชุดดำน้ำ) เหลือแค่เสียงหายใจ แสดงถึง การดำดิ่ง จมดิ่งสู่มุมมืด ตัดขาดจากโลกภายนอก ฯ

หนังใช้ภาพ Close-Up ใบหน้าของตัวละครเป็นหลัก (ภาพด้านบนก็มี 2 ภาพที่เป็น Close-Up) เรียกว่าเห็นเหงื่อเห็นสิวเป็นเม็ดๆกันเลยทีเดียว, มีการซูมเข้าซูมออก เพื่อเป็นการโฟกัสอารมณ์ของตัวละคร และนำเสนอจุดความสนใจให้กับหนัง, ผมสังเกตหนังยุค 60s มันจะมีลีลาการถ่ายภาพ ที่เล่นกับการเคลื่อนกล้อง ซูมเข้าออก ที่แฝงความหมายและลีลาอันโดดเด่น ถือเป็นสมัยนิยมของการเล่นกล้องเลยละ

ตัดต่อโดย Sam O’Steen ที่เคยร่วมงานกับ Nichols มาแล้วกับ Who’s Afraid of Virginia Woolf, การเล่าเรื่องจะใช้มุมมองของ Benjamin ทั้งหมด โดยครึ่งแรกจะเป็นช่วงเวลาระหว่างเขากับครอบครัว ญาติมิตรสหาย และ Mrs. Robinson ที่แม้จะอยู่ด้วยกันแค่ในห้องโรงแรม แต่เป็นที่โจษจัน เล่าลือ รู้จักกันทั่วโรงแรม, ครึ่งหลังเมื่อ Elaine ปรากฎตัวออกมา เธอทำให้เรื่องราวดูสดชื่นมีชีวิตชีวาขึ้น และเรื่องราวก็ขยายออกไปสู่โลกกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะในบ้านหรือห้องโรงแรมอีกต่อไป ผจญภัยบนท้องถนน สู่มหาวิทยาลัย Berkeley, San Francisco รัฐ California (แต่จริงๆถ่ายกันที่ UCLA-University of California, Los Angeles และ USC-University of Southern California) และตอนจบไปถึงโบสถ์ United Methodist Church ตั้งอยู่ที่ La Verne, California

ลีลาการตัดต่อ อาจไม่โดดเด่นเท่าไหร่ แต่สามารถดึงอารมณ์ของผู้ชมให้ร่วมตาม Benjamin ได้ โดยเฉพาะช่วงท้าย ความลุกลี้ลุกลนของตัวละคร ได้ลุกลามมาถึงคนดู, นับตั้งแต่ฉากที่ Benjamin บอกความจริงกับ Elaine หนังได้เพิ่มความเร็วในการเล่าเรื่องขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งพอรู้ว่าเธอกำลังจะแต่งงาน ก็เร่งแบบสุดๆเลย ใจของผู้ชมนำหน้าไปไกลแล้ว แต่ตัวละครมันกลับไม่ไปไหน, กับฉากในโบสถ์ช่วงท้าย ตอนที่ Benjamin ตะโกนเรียก Elaine เธอหันมา ในใจเธอคงสับสนและคาดไม่ถึง หันไปมองตัดไปเห็นปากของพ่อ, แม่, แฟนหนุ่ม พูดอะไรก็ไม่รู้ นั่นสินะ… เธอคิดได้ โลกนี้มีแต่คนที่ชอบบงการโน่นนี่นั้น จะมีสักครั้งไหมที่ฉันทำตามใจตนเอง

มีช็อตตัดต่อที่ยอดเยี่ยมมากๆ 2 ฉาก ตอน Mrs. Robinson กำลังแก้ผ้า แล้ว Benjamin จินตนาการเห็นภาพบรา ชั้นใน นี่เห็นแบบแวปๆ เป็นแวปของจินตนาการ ที่เขาไม่พยายามคิด แต่ก็อดเห็นไม่ได้, และขณะ Benjamin ทะยานขึ้นไปบนแพลอยน้ำ หนังตัดไปที่ Mrs. Robinson นี่แสดงถึง ความหมายแบบเดียวกัน คือ น่าเบื่อ ไร้เป้าหมาย

สำหรับเพลงประกอบ Nichols ต้องการใช้เพลงที่ได้รับความนิยมขณะนั้นเพื่อสร้างอารมณ์ประกอบฉาก แทนการใช้ Theme ประกอบหนัง และได้ติดต่อได้ Simon & Garfunkel ได้เพลง The Sound of Silence เขียนโดย Paul Simon เผยแพร่เมื่อปี 1964 เป็นสไตล์ Folk rock, Soft rock เพลงนี้เป็นตัวแทนของ Benjamin เลยนะครับ

นอกจากเพลงนี้ Simon & Garfunkel จึงถือโอกาสทำเพลงหนึ่งเพื่อประกอบหนังโดยเฉพาะ ชื่อเพลง Mrs. Robinson (มีข่าวลือว่า เดิมนั้นเพลงนี้ชื่อ Mrs. Roosevelt แต่เปลี่ยนเป็น Mrs. Robinson เพราะตรงกับชื่อตัวละครสำคัญในหนัง) แต่งเนื้อร้องโดย Paul Simon เพลงนี้ไต่ขึ้นถึงอันดับ 1 ใน Billboard Hot 100 ของอเมริกาและอีกหลายประเทศ อาทิ United Kingdom, Ireland, Spain ฯ ได้รับมอบ Gold Record (ยอดขายเกิน 1 ล้านแผ่น) และสามารถคว้ารางวัล Grammy Award for Record of the Year (เป็นเพลง Rock แรกที่ได้รางวัลนี้) แต่น่าเสียดายไม่ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Song (ไม่ทราบสาเหตุ)

ความยิ่งใหญ่ของเพลงนี้ ติดอันดับ 6 กับการจัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Songs ร้อยเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดนิยม

The Graduate เป็นหนังที่นำเสนอผลลัพท์ของการเลี้ยงดู ในครอบครัวคนชั้นกลาง ในยุคสมัยที่พ่อแม่ทำงานหนักเพื่อหวังให้ลูกได้ดี แต่เลี้ยงดูแบบตามใจฉัน โตขึ้นต้องเป็นแบบนี้นั้น พยายามมีอิทธิพลเหนือกว่า ชี้นิ้วบงการ ไม่เคยเปิดโอกาสให้ลูกได้คิดทำอะไรด้วยตนเอง, เรื่องราวของหนังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน จากเด็กชายกลายเป็นชายหนุ่ม ต้องออกจากอ้อมอกพ่อแม่ เตรียมพร้อมก้าวเดินออกไปสู่โลกอันกว้างใหญ่ แต่เมื่อถึงขณะต้องก้าวเดิน ชายหนุ่มย่างเท้าไม่ออก เขายืนอยู่เฉยๆ ซื่อบื้ออยู่ตรงนั้น ไม่ไปข้างหน้า ไม่ย้อนถอยหลัง เหตุผลเพราะว่า เขาเดินเองไม่เป็น!

การตั้งความหวัง ผมคิดว่าคงเป็นหนึ่งในสันดานของมนุษย์ กับสิ่งที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของ ได้ใช้แรงกายแรงใจแรงเงินเลี้ยงดู ทะนุบำรุงฟูมฟักจากเล็กจนเติบใหญ่, ผมไม่ขอตัดสินนะครับว่า พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกเป็นโน่นนี่ตามใจเขา เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ กับคนที่มีปัญญาเชื่อว่าน่าจะตระหนักเข้าใจเองได้ แต่ถ้าไม่และเป็นพวกไม่สนใจความรู้สึกคนอื่น ผลลัพท์ก็แบบหนังเรื่องนี้แหละ จะไปโทษเด็กอย่างเดียวคงไม่ได้ เขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ไม่ให้เป็นแบบนี้ก็แปลกแล้ว!, ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเวลา แต่พ่อแม่มักชอบที่จะโปรยนำทางให้ลูกได้เดินตามติดๆไม่หลง โดยมักไม่คิดว่า เมื่อถึงเวลาพวกเขาตายจากไป เด็กๆจะสามารถเดินต่อเองได้ยังไง นี่ฟังดูอาจเป็นเรื่องน้ำเน่าของยุคสมัยนี้ แต่ไม่เลยนะครับ ผมรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องราวสุดคลาสสิก ที่ยังพบเห็นได้อยู่บ่อยครั้งในชีวิตจริง

ในมุมกลับกันของ Benjamin บ้าง เราต้องเข้าใจวิถีที่เขาเติบโตขึ้นมาก่อน จากสองย่อหน้าบน พ่อแม่เลี้ยงดูแบบชี้นิ้ว บงการ ตามสั่ง Benjamin ก็เป็นเด็กดีเสียเหลือเกินที่ยอมทำตามทุกสิ่งอย่าง นี่คือโลกของเขาที่มีคนคอยจูงจมูก จะให้อยู่ดีๆ ให้เริ่มต้นอะไรที่เป็นของตนเอง คิดเอง ทำเอง มันคงไม่ได้แน่, การมีชู้กับ Mrs. Robinson นี่คือการตัดสินใจเองครั้งแรกของ Benjamin จากการถูกยั่วเย้า โอ้โล้ม อ่อยเหยี่อ จนร่ายกายทนไม่ได้ รู้ทั้งรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่สามารถครุ่นคิด รับผิดชอบอะไรเองได้ (เพราะเติบโตมาในโลกที่ทุกสิ่งอย่างถูกปกป้องโดยผู้ใหญ่ ก็เลยคิดว่านี่คงไม่ผิดอะไร เพราะผู้ใหญ่ชี้นิ้วบงการ)

นี่ลามไปถึงการที่ออกเดทครั้งแรกกับ Elaine ก็เพราะผู้ใหญ่ชี้ชักนำทำตัวเป็นพ่อสื่อแม่สื่อให้ นี่ทำให้ Benjamin เริ่มแสดงอาการไม่พอใจกับการถูกจูงจมูก แสดงออกกับ Elaine อย่างโหดร้ายจนเธอร้องไห้ นี่เป็นอีกสิ่งที่เขาทนไม่ได้ จึงสารภาพความต้องการตนเองออกมา นี่เองทำให้ Elaine ก็ตระหนักได้ ว่าชีวิตเธอก็ไม่ต่างจาก Benjamin แม้แต่น้อย มีพ่อแม่ชี้นิ้วคอยบงการโน่นนี่นั่นให้ตลอดเวลา เธอจึงตกหลุมรักเขา

แต่เมื่อ Mrs. Robinson รู้เขา เธอแสดงอาการอิจฉาริษยาพยาบาท ยื้อยัก Benjamin ให้เป็นเฉพาะของตนเอง แต่เมื่อชายหนุ่มรู้ตัวว่ามีพวกแล้ว (ก็คือ Elaine) เขาจึงแสดงความขัดขืนออกมา กล้าสารภาพความจริงต่อหน้า Elaine แม้มันจะแรงจนเธอรับไม่ได้ แต่นี่คือชัยชนะครั้งแรกๆของเขา ต่อผู้ใหญ่ที่พยายามบางการชีวิตเขาเสมอมา ‘ฉันก็มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง ทำไมต้องตามคนอื่นชี้นิ้วสั่งตลอดเวลา’

ขณะที่ Benjamin ตัดสินใจ ‘ฉันหลงรัก Elaine และต้องการแต่งงานอยู่กินกับเธอ’ นี่เป็นครั้งแรกโดยสมบูรณ์ที่เขาคิดและตั้งใจทำบางสิ่งอย่างด้วยตนเอง (ตอนสารภาพนั้น ยังเพราะมีเหตุการณ์เป็นชนวนบางอย่างพาไป เพราะถ้าไม่พูดออกมา Mrs.Robinson บอกความจริงกับ Elaine มันจะเลวร้ายกว่านี้ เขาจึงอยู่ในสถานะ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก) แน่นอนผู้ใหญ่ที่ไหนจะยอมให้ Benjamin ดิ้นออกไปจากรังหยากไย่ที่อุตสาห์ชักนำมาขนาดนี้ พวกเขายื้อยักไม่เห็นด้วย ขัดขวางทุกวิถีทาง ทุกรูปแบบ (ณ จุดนี้เราสามารถมองว่า ผู้ใหญ่คือผู้ร้ายของหนัง)

ใครๆคงขัดใจ ข้องใจกับตอนจบแบบนี้, ตอนต้นเรื่องเหมือนหนังตั้งคำถาม ‘เรียนจบแล้วจะทำอะไรต่อ?’ ทุกคนเหมือนต้องการคำตอบรูปธรรมที่ว่า ทำงานอะไร? ก้าวหน้าไหม? เงินเดือนเท่าไหร่? ย้อนกลับไปอ่านคำถามให้ดีก่อนนะครับ สมองของพวกคุณมโนกันขึ้นมาเอง หนังถามแค่ว่า ‘จะทำอะไรต่อไป’ ไม่ใช่ ‘จบแล้วทำงานอะไร? ก้าวหน้า เงินเดือนเท่าไหร่?’ คำตอบของ Benjamin กับคำถามนี้คือ ‘ฉันจะแต่งงานกับ Elaine’, การที่ Benjamin ตัดสินใจแต่งงาน ไม่ได้มีความหมายถึงการแต่งงานจริงๆ แต่คือ การเอาชนะตนเอง ความกล้าที่จะคิดอ่านทำตามใจ โดยไม่มีใครชี้ชักนำหรือบงการ เหตุที่ Elaine ยอมตกลง ก็เพราะเธอเช่นกันที่ต้องการเอาชนะตนเองให้ได้แบบนี้ และเป็นแบบเขา ทิ้งพ่อแม่ผู้ใหญ่ขังไว้ในโบสถ์แห่งนั้นแหละ แล้วพวกฉันจะออกไปผจญโลกกว้างที่แท้จริง นี่คือการเรียนจบชั้นเรียนที่เรียกว่าบ้าน เป็นย่างเท้าแรกสู่การก้าวเดินบนโลกอันกว้างใหญ่

ใจความแฝงหนึ่งของหนัง ที่ค่อนข้างเด่นชัด สะท้อนการเมืองของสหรัฐได้ชัดเจน เมื่อเปรียบ Benjamin เสมือนประชาชนทั่วไป ที่ต้องก้มหัวทำตามผู้นำที่มีอำนาจใหญ่กว่า พ่อแม่ ผู้ใหญ่ ญาติมิตร Mrs. Robinson อาจแทนได้ด้วย Communist/Left-Right Wings ฯ อะไรที่มีความยั่วยวน ท้าทายความถูกผิดของศีลธรรม หรือ ยาเสพติด/Sex/กิเลส/ยั่วเย้า ฯ ก็ยังได้ ส่วน Elaine คือตัวแทนของประชาธิปไตย/ด้านถูกต้องเหมาะสม/ความสนใจส่วนตน ซึ่งคำตอบของหนังตอนท้าย Benjamin เลือก Elaine และหนีไปกับเธอ คือการแสดงทัศนะของความเป็นอิสระ ต่อการเมืองที่ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงของตนเอง ไม่ต้องก้มหัวทำตามใคร เสรีภาพสู่โลกใบใหม่

หนังมี 2 Quote ที่โด่งดัง ถึงขนาดติดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes
– ‘Plastics.’ ติดอันดับ 42
– ‘Mrs. Robinson, you’re trying to seduce me. Aren’t you?’ ติดอันดับ 63

สองประโยคนี้ผมจำได้แม่นตั้งแต่ครั้งแรกที่ดูเลยละ, กับคำว่า Plastic มันจำง่ายดี ตอนนั้นเข้าใจประมาณว่า พลาสติกเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถทำเป็นอะไรก็ได้ นี่เป็นคำแนะนำที่ให้ Benjamin เป็นคนปรับตัวได้ง่าย เข้ากับทุกสิ่งอย่าง อนาคตจะได้รุ่งโรจน์ (จริงๆไม่ใช่เหตุผลนี้นะครับ), ส่วนประโยคหลัง ได้ยินทีไรหัวเราะลั่นทุกที นี่เอ็งไม่รู้ตัวจริงๆนะเหรอว่ากำลังถูกอ่อยเหยื่อ

ในยุค 60s พลาสติกถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้น ก่อนหน้านั้นวัสดุต่างๆ อาทิ ขวด, แก้ว, กล่อง ฯ ล้วนทำมาจากแก้ว กระดาษ ไม้ วัสดุธรรมชาติ ฯ ซึ่งวัตถุดิบมีจำนวนจำกัด ราคาสูง และควบคุมรูปแบบ ลักษณะ คุณภาพไม่ได้เลย การมาของพลาสติกถือว่าใช้ทดแทนได้ทุกสิ่งอย่าง อาทิ ขวดพลาสติก, แก้วพลาสติก, กล่องพลาสติก, ถุงพลาสติก ฯ วัตถุดิบมีไม่จำกัด ราคาถูกลง และสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ยังไงก็ได้ กำหนดมาตรฐานได้เลย, กับบริบทของหนังตอนนั้น นี่เป็นการแนะนำให้ Benjamin เลือกอาชีพการงานที่มีอนาคตไกล เติบโตร่ำรวยเร็ว เหมือนดังพลาสติก ที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ (ไม่ใช่แนะนำให้ทำธุรกิจพลาสติกนะครับ)

เกร็ดมึนๆ: 1 ปีหลังหนังฉาย ธุรกิจเกี่ยวกับพลาสติก ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างล้นหลาม ทุกสิ่งอย่างค่อยๆแปรสภาพกลายเป็นพลาสติก นี่เพราะคำพูดอันโด่งดังของหนังเรื่องนี้แหละ สร้างกระแสได้แบบ…มึนๆ

ปัจจุบันคงไม่มีใครมองพลาสติกคืออนาคตอีกแล้วนะครับ มีแต่จะต่อต้าน รณรงค์ให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติ (บางธุรกิจของพลาสติกมีประโยชน์ต่อโลกนะ เช่น Plastic Surgery แต่ใช่ทุกพลาสติกจะเป็นประโยชน์) ผมขอเรียกมันว่า ‘ของปลอม’ นะครับ, เมื่อทุกสิ่งอย่างกลายเป็นพลาสติก มีมากมายเต็มไปหมด ราคาถูก ใช้ทดแทนทุกสิ่งอย่าง แต่เมื่อมันหมดคุณค่ากลายเป็นขยะ ย่อยสลายยากมาก และเป็นมลพิษต่อโลกอีก, ถ้ามองในบริบทนี้ พลาสติกก็สามารถแทนได้ถึงอนาคตที่ไร้ค่า เป็นสิ่งจอมปลอม ความเกลื่อนกลาดที่เป็นมลพิษและขยะสังคม นี่คือคำแนะนำจอมปลอม ที่บอกให้ Benjamin กอบโกยทุกสิ่งอย่างที่อยู่หน้า ไม่ต้องสนใจว่าอนาคตไกลๆจะเป็นยังไง

ใครจะไปคิดว่า บทเรียนประวัติศาสตร์เรื่อง ‘พลาสติก’ จากหนังเรื่องนี้ จะมี 2 ความหมายที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป

ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ไม่ใช่กับประเด็นคำถามของหนังนะครับ (เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงคิดว่าต้องจากโจทย์ ‘เรียนจบแล้วทำอะไรต่อไป’ แน่เลย) แต่ผมเห็นสิ่งที่สำคัญกว่า คือเป้าหมายและคำตอบของหนัง ที่เป็นการก้าวเดินด้วยลำแข้งของตนเอง, นี่เป็นนามธรรมของหนังที่อาจต้องใช้การวิเคราะห์ถึงจะสามารถทำความเข้าใจได้ แต่กับคนทั่วไป ผมอยากให้สัมผัสกับการตัดสินใจของ Benjamin ที่เมื่อตกลงใจว่า ‘ฉันต้องแต่งงานกับหญิงสาวให้ได้’ นี่แสดงว่าเขาค้นพบเป้าหมายของตนเอง ตั้งมั่นต้องการทำให้มันเกิดขึ้นจงได้ (มองข้ามความไม่สมเหตุสมผลต่างๆไปนะครับ) ถ้าคุณรู้สึกเอาใจช่วยพระเอกให้ทำสำเร็จ จดจำความรู้สึกนี้ไว้นะครับ ถ้าเราสามารถเริ่มต้นก้าวเดินเองได้ ความรู้สึกมันจะยอดเยี่ยมยิ่งกว่าคนเชียร์เสียอีก

ด้วยทุนสร้าง $3 ล้านเหรียญ ทำเงินทั่วโลก $104.9 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 7 สาขา ได้มาเพียง 1 รางวัล
– Best Picture แพ้ให้กับ In the Heat of the Night
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Actor in a Leading Role (Dustin Hoffman)
– Best Actress in a Leading Role (Anne Bancroft)
– Best Actress in a Supporting Role (Katharine Ross)
– Best Writing, Adapt Screenplay
– Best Cinematography

นี่เป็นหนังเรื่องโปรดที่ผมลืมไปแล้ว(ว่าเป็นหนังโปรด) ทั้งๆที่ก็พูดถึงบ่อยมาก แต่ต้องหยิบมาดูแล้วถึงระลึกความหลังได้ ดูรอบนี้ก็ยังคงเกิดความประทับใจอันตราตรึงไม่เปลี่ยนแปลง, สาเหตุที่ลืม มาทบทวนดูก็พบว่า ผมหาโอกาสดูหนังเรื่องนี้ไม่ได้เลย (รอบนี้เพิ่งจะได้ดูครั้งที่ 2 เองนะครับ) เหมือนว่า นี่เป็นหนังที่เหมาะกับการรับชมครั้งเดียวในชีวิต ถ้าชอบคือชอบมาก ไม่ชอบคือไม่ชอบเลย กลับมาดูรอบสองสามอาจจะไม่สนุกเท่าเดิมอีกแล้ว เพราะวัยวุฒิที่โตขึ้น ทำให้ทัศนคติ ความเข้าใจต่อหนังเปลี่ยนไปเรื่อยๆ, Roger Ebert นักวิจารณ์ชื่อดังของอเมริกา ให้คะแนนหนังตอนที่ฉาย 4 ดาวเต็ม แต่พอกลับมาดูใหม่ปี 1997 เขาลดเหลือ 3 ดาว บอกว่า กาลเวลาทำให้หนังตกยุค (It is a good topical movie whose time has passed, leaving it stranded in an earlier age.)

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ อาจเพราะวัยวุฒิของผมที่กับเรื่องราวของ The Graduate ยังใกล้ตัวอยู่มาก (ปัจจุบันอายุ 29 เรียนจบมายังไม่ถึง 10 ปี) ทำให้ยังเข้าใจสาสน์และความรู้สึกของพระเอก ต่อความเวิ้งว้างหลังเรียนจบได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าคุณอายุ 40-50 ขึ้นไปเมื่อไหร่ กลับมาดูหนังเรื่องนี้ ทัศนคติบางอย่างอาจเปลี่ยนไป เพราะคุณจะมองหนังในมุมของผู้ใหญ่มากขึ้น นั่นคือ อาจเห็นพระเอกมันก็แค่ไอ้เด็กเมื่อวานซืน ที่เอาแต่ใจ เห็นแก่ตัว เข้าไม่ถึงแล้วกับเหตุผลที่ทำไมเขากลายเป็นแบบนี้, นี่เรียกว่า ‘ช่องว่างทางอายุ’ ที่ทำให้มุมมอง ทัศนคติของคนเปลี่ยนไปตามวัยวุฒิที่เพิ่มขึ้น, แต่ผมไม่มองว่าหนังเรื่องนี้ ล้าสมัย ตกยุคแน่ๆ เพราะเมื่อได้เข้าใจจุดนี้ กลับรู้สึกทึ่งกับหนังยิ่งขึ้นไปอีก เพราะแสดงว่าเมื่อเวลาผ่านไป เราอายุมากขึ้น ได้กลับมาดูหนังเรื่องนี้จะเห็นทัศนคติบางอย่างที่เปลี่ยนไป เด็ก/วัยรุ่น คิดเห็นอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่/สูงวัย มองอีกแบบหนึ่ง กับเรื่องที่ทำได้แบบนี้ ไม่ให้เรียกว่าสุดยอด จะเรียกว่าอะไร!

แนะนำกับกับวัยรุ่น หนุ่มสาว ที่กำลังเรียนหรือเพิ่งเรียนจบไม่นาน หนังเรื่องนี้อาจไม่ได้ช่วยให้คุณค้นพบเจอเป้าหมายชีวิต แต่จะทำให้คุณตระหนักได้ว่า ชีวิตฉันเป็นแบบนั้นหรือเปล่า?, แนะนำกับคนที่เป็นพ่อ-แม่ ด้วยนะครับ ดูแล้วพิจาณาตัวเอง ว่าเป็นคนประเภทเดียวกับในหนังหรือเปล่า ถ้าใช่คุณกำลังฆ่าพวกเขาทางอ้อมอยู่นะ

แนะนำอย่างยิ่งกับนักปรัชญา นักจิตวิทยา และคนทำงานสายภาพยนตร์ หนังมีสัญลักษณ์ แนวคิด ทัศนคติ และเทคนิคทางภาพยนตร์มากมายที่สอดแทรกอยู่ ดูแล้วคิดตามจะได้ประโยชน์เยอะเลยละ

จัดเรต PG กับคำพูดโอ้โล้มเย้ายวน และการกระทำที่เห็นแก่ตัว

TAGLINES | “The Graduate ดูหนังจบ เรียนจบ แต่ไม่มีอะไรในชีวิตที่จบ ผลงาน Masterpiece ของ Mike Nichols ที่แจ้งเกิดให้กับ Dustin Hoffman ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORITE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: