The Grand Budapest Hotel (2014) , : Wes Anderson ♥♥♥♥♡
โรงแรมสุดหรูที่ Wes Anderson เพ้อรำพัน ฝันจินตนาการ ช่วงเวลาที่เขาเองไม่เคยมีชีวิตพานผ่าน แต่ครุ่นคิดอยากเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์, คว้ารางวัล Silver Berlin Bear: Grand Jury Prize (ที่สอง) และอีก 4 รางวัล Oscar
ผมเคยเขียนถึงภาพยนตร์ Grand Hotel (1932) เปรียบเทียบโรงแรมหรูแห่งนั้นคือโลกกลมๆ จุลภาคของสังคม (microcosm of society) แขกเหรื่อพักอาศัยเป็นตัวแทนกลุ่มบุคคลชนชั้นวรรณะต่างๆ พานผ่านมาแล้วก็พานผ่านไป ราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น
The Grand Budapest Hotel (2014) คือโลกแห่งความเพ้อฝันของผกก. Anderson ตั้งอยู่บนจุดสูงสุดยอดเขา เคยมีชื่อเสียงโด่งดัง สถาปัตยกรรมหรูหรา แขกเหรื่อมากหน้าหลายตา แต่กาลเวลากลับทำให้สถานที่แห่งนี้เสื่อมความนิยม สภาพชำรุดทรุดโทรม แทบไม่เหลือใครอยากเดินทางมาพักอาศัย
ทศวรรษ 30s คงคือช่วงเวลาโปรดปรานของ Anderson ยุคสมัยนั้นมีผู้กำกับเลื่องชื่ออย่าง Ernst Lubitsch, René Clair, Jean Renoir, Jean Vigo, Max Ophüls ฯ นี่ยังไม่รวมถึงศิลปิน จิตรกร นักเขียนอีกมากมายที่ถูกนำมาผสมผสานคลุกเคล้า เพื่อสร้างโลกที่แม้เจ้าตัวเกิดไม่ทัน แต่สามารถจินตนาการเพ้อฝัน โหยหาอยากอยู่อาศัย ด้วยการใช้สัมผัส ‘nostalgia’
ผมครุ่นคิดว่า The Grand Budapest Hotel (2014) คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบที่สุดของผกก. Anderson (จนถึงปัจจุบัน ค.ศ. 2023) มีความลงตัวในสไตล์ เรื่องราวไม่ได้สลับซับซ้อนเกินไป (แต่ก็มีการซ้อนซับซ้อน ‘story within story’ มากชั้นที่สุด) ผู้ชมทั่วไปสามารถเข้าถึง ประสบความสำเร็จทำเงิน และเข้าชิง Oscar 9 สาขา คว้ามา 4 รางวัล
รับชม The Grand Budapest Hotel (2014) หลายคนอาจเพลิดเพลินกับการออกแบบฉาก เสื้อผ้า-หน้าผม ลวดลายสีสัน มุมกล้องสมมาตร ทุกรายละเอียดจัดวางอย่างเป็นระเบียบ ตัวละครโผล่เข้ามา พูดวกไปวนมา ทำหน้าตาเอ๋อเหรอ (Deadpan Comedy) เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของบุคคลโน้นนี่นั้น ซ้อนซับซ้อน ไม่รู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้น ฯ
แต่สิ่งที่ผมรู้สึกสนใจมากที่สุดใน ‘สไตล์ Anderson’ คือลักษณะครอบครัวบกพร่อง (dysfunctional family) ซึ่งสะท้อนเข้ากับเบื้องหลังการทำงานของผกก. Anderson เปรียบดั่งหัวหน้าครอบครัว นักแสดงทุกคนไม่ว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดังระดับไหน ล้วนได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ทั้งค่าแรง มื้ออาหาร (รับประทานร่วมกันทุกมื้อไม่มีแบ่งแยก) ห้องพักยังต้องแบ่งปันร่วมกับผู้อื่น (ไม่มีรถ Trailer ที่แสดงความอภิสิทธิ์ชน)
Wesley Wales Anderson (เกิดปี 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Houston, Texas บิดา-มารดาหย่าร้างตอนเขาอายุ 8 ขวบ, วัยเด็กชื่นชอบการเล่นกล้อง Super 8 เพ้อฝันอยากเป็นนักเขียน ระหว่างเรียนทำงานเป็นคนฉายภาพยนตร์ สำเร็จการศึกษาสาขาปรัชญา University of Texas at Austin ร่วมรุ่นเดียวกับ Owen Wilson กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Bottle Rocket (1996) ดัดแปลงจากหนังสั้นของสองพี่น้อง Wilson (Luke กับ Owen) แม้ไม่ทำเงินนักแต่ได้รับคำวิจารณ์ดีล้นหลาม
เรื่องราวที่สนใจมักเกี่ยวกับเด็ก วัยรุ่น ครอบครัวมีปัญหาไม่สมประกอบ (Dysfunctional Family) ผู้ใหญ่ทำตัวเหมือนเด็ก-เด็กทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ ชื่นชอบการผจญภัย ต้องการหลีกหนีไปให้ไกล (Escapist) ถ้าไปไหนไม่ได้ก็มักก่ออาชญากรรม โจรกรรม (Caper Film) ทะลักความรุนแรงออกมาอย่างคาดไม่ถึง
ความโดดเด่นในผลงานของ Anderson เน้นที่การออกแบบศิลป์ (Visual Style) เรียกว่า ‘style over substance’ เอกลักษณ์เกิดจากการผสมผสานหลายเทคนิคน่าสนใจเข้าด้วยกัน อาทิ การสร้างเส้นสายตา, กำหนดจุดสังเกตกึ่งกลาง, สร้างความสมมาตรซ้าย-ขวา, เน้นโทนสีสว่างสดใส (ดั่งจินตนาการของเด็กน้อย) และมักด้วยศิลปะแบบ Art Noveau
Usually when I’m making a movie, what I have in mind first, for the visuals, is how we can stage the scenes to bring them more to life in the most interesting way, and then how we can make a world for the story that the audience hasn’t quite been in before.
Wes Anderson
สำหรับโปรเจค The Grand Budapest Hotel มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 เมื่อครั้น Anderson พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนศิลปิน/จิตรกร Hugo Guinness เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ The Royal Tenebaums (2001) และ The Life Aquatic with Steve Zissou (2004) พัฒนาเรื่องราวที่ได้แรงบันดาลใจจากผองเพื่อนของพวกเขา เกี่ยวกับชายคนหนึ่ง (Gustave H.) ทำการโจรกรรมภาพวาดงานศิลปะ เขียนออกมาได้ 15-18 หน้ากระดาษ ไม่มีรายละเอียดใดๆมากกว่านั้น
The story started out as something thought up by me and a friend of mine, Hugo [Guinness]. He’s a painter, but he’s also very funny. He and I had this idea to do a story about our other friend, and we wrote about 15 or 18 pages of this story that was set in the present, in England and France. And it was a movie up until the point when [Gustave] steals a painting, without all the setup [that’s now in the film]. And then we didn’t know what we wanted to happen next, and we just never did anything.
ระหว่างที่ Anderson สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดๆมา มีโอกาสอ่านนวนิยายของ Stefan Zweig เกิดความชื่นชอบประทับใจตั้งแต่บรรทัดแรกพบ เลยครุ่นคิดอยากทำอะไรสักอย่างในสไตล์ Zweig-esque
Stefan Zweig (1881-1942) นักเขียนชาว Austria เชื้อสาย Jews เจ้าของนวนิยายดัง Letter from an Unknown Woman (1922), Fear (1925), Twenty-Four Hours in the Life of a Woman (1927), จนกระทั่งการเรืองอำนาจของพรรค Nazi ค.ศ. 1934 เลยตัดสินใจอพยพหลบหนีสู่ประเทศอังกฤษ ผลงานเด่นๆช่วงนี้ อาทิ Beware of Pity (1939), The World of Yesterday (1942), The Post Office Girl (1982) ฯ
I read Beware of Pity a few years ago, and I was immediately struck by its beauty and its sadness. It’s a story about the power of compassion, and the dangers of pity. I was also drawn to the novel’s setting, which is a world that is rapidly disappearing. I think Beware of Pity is a very important novel, and I’m glad that it’s being rediscovered.
จากนั้น Anderson ก็เกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับพนักงานโรงแรม (Hotel Concierge), Hollywood Comedy, ประวัติศาสตร์ยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง นำมาผสมผสานคลุกเคล้า ใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์ในการพัฒนาบทหนัง ก่อนส่งให้ศิลปิน Jay Clarke ทำสิ่งที่เรียกว่า Animatic Storyboard (มันก็คือภาพร่าง Storyboard ที่เพิ่มเติมแอนิเมชั่น) สำหรับใช้เป็นไกด์ไลน์ระหว่างถ่ายทำ
เรื่องราวเริ่มต้นปัจจุบัน ณ สุสานแห่งหนึ่ง หญิงสาวเดินทางมาเยี่ยมเยียนรูปปั้นนักเขียนไร้นามผู้หนึ่ง จากนั้นอ่านหนังสือ The Grand Budapest Hotel
ค.ศ. 1985 กล่าวถึงนักเขียนนวนิยายสูงวัย The Grand Budapest Hotel กำลังบอกเล่าเรื่องราวสมัยยังเป็นหนุ่มเคยเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนยังโรงแรม The Grand Budapest Hotel
ค.ศ. 1968 นักเขียนหนุ่มระหว่างเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนยังโรงแรม The Grand Budapest Hotel ได้พบเจอกับเจ้าของ Zero Moustafa รับฟังเรื่องเล่าความหลัง
ค.ศ. 1932 ชายหนุ่ม Zero เมื่อครั้นเป็นเด็กฝึกงาน (Lobby Boy) ในโรงแรม The Grand Budapest Hotel ได้รับความอุปถัมภ์จากหัวหน้าพนักงาน (Hotel Concierge) Monsieur Gustave H. จึงมีโอกาสติดตามเรียนรู้งาน พบเห็นเรื่องราวชีวิตอันน่าอึ่งทึ่ง ความสัมพันธ์กับหญิงหม้าย Madame D. สมรู้ร่วมคิดลักขโมยภาพวาด Boy with Apple วางแผนหลบหนีออกจากเรือนจำ รวมถึงเอาชนะคดีความได้ครอบครองเป็นเจ้าของโรงแรมหรูแห่งนี้ และใส่ชื่อ Zero คือทายาทสืบทอดมรดก
Ralph Nathaniel Twisleton-Wykeham-Fiennes (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Ipswich, Suffolk, สืบเชื้อสาย English, Irish, Scottish ตอนแรกมีความสนใจด้านการวาดรูป เข้าศึกษาคณะศิลปะ Chelsea College of Art แต่ไปๆมาๆย้ายสู่ Royal Academy of Dramatic Art กลายเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วย Royal Shakespeare Company, ภาพยนตร์เรื่องแรก Emily Brontë’s Wuthering Heights (1992), แจ้งเกิดโด่งดัง Schindler’s List (1993), ผลงานเด่นๆ อาทิ The English Patient (1996), The End of the Affair (1999), The Constant Gardener (2005), The Reader (2008), The Hurt Locker (2009), The Grand Budapest Hotel (2014), โด่งดังสุดคือ Lord Voldemort แฟนไชร์ Harry Potter (2005–2011) และเจ้าหน้าที่ M แฟนไชร์ James Bond (2012-)
รับบท Monsieur Gustave H. หัวหน้าพนักงานโรงแรม (Hotel Concierge) เป็นคนเจ้าเสน่ห์ เลิศรสนิยม คารมคมคาย จิตใจอ่อนไหว ใส่ใจทุกรายละเอียด ทำให้เป็นที่รักของบรรดาหญิงหม้ายสูงวัย (Dowager) โดยไม่รู้ตัวกำลังจะได้รับมรดกก้อนใหญ่!
Monsieur Gustave H. รับอุปถัมถ์เด็กฝึกงาน (Lobby Boy) Zero เสี้ยมสอนให้ทำโน่นนี่นั่น คาดหวังให้เป็นทายาทสืบต่อ (protégé) ครั้งหนึ่งพาเดินทางไปร่วมงานศพ Madame D. โดยไม่รู้ตัวต่างกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดลักขโมยภาพวาด Boy with Apple ร่วมหัวจมท้าย พานผ่านเหตุการณ์เฉียดเป็นเฉียดตาย จึงใส่ชื่อให้ Zero คือทายาทสืบทอดมรดกเมื่อตนเองตายจากไป
บทบาท Gustave H. ผกก. Anderson มีภาพของนักแสดงชาวอังกฤษ (เพราะความเป็น’ผู้ดี’) กระตือรือล้นอยากร่วมงาน Fiennes เมื่อติดต่อหาก็ได้รับคำตอบตกลงโดยทันที เพราะกำลังพยายามมองหาบทบาทอื่นที่ไม่ใช่ตัวร้าย (Fiennes เกือบจะเป็น ‘stereotypes’ หลังจากรับบท Lord Voldemort)
I’d wanted to work with Ralph for a number of years. He’s amazing in In Bruges, as well as the film Bernard and Doris, and The Constant Gardener. And I’d seen him in a play, God of Carnage, and he was great and just so funny in it.
Wes Anderson
He sent me a script and was a bit vague about what part he wanted me to consider. Said, “Tell what part you’d like to play.” “Oh well, I suppose the big one.” I’m joking, it was a funny approach because it was slightly circular and then he said, “No, I’d like you to play Gustave.” Of course I said, “I’d love to.”
Ralph Fiennes
เกร็ด: ก่อนเริ่มต้นโปรดักชั่น ผกก. Anderson มอบหมายให้ Fiennes หารับชมภาพยนตร์ดังต่อไปนี้ … (เผื่อใครสนใจจะลองหารับชมนะครับ)
Wes asked me to see a movie called Trouble in Paradise, which is a very early Ernst Lubitsch film, and I also watched The Grand Hotel, and a weird film with a young Maurice Chevalier in it, which I couldn’t get on with. It’s a musical; he wakes up in Paris as the street comes alive in this musical thing [Laughs]. What else? A Shop Around the Corner, another Lubitsch, I also had to view To Be or Not to Be, so I had to look at that again. Also, Wes asked me to look at an Austrian actor that I love called Anton Walbrook, who is famously in The Red Shoes. I think a bit of that—his middle-European fastidiousness or something that—Wes wanted me to think about for Gustave.
การแสดงในหนังของผกก. Anderson จะมุ่งเน้นขายคาแรคเตอร์ตัวละคร ราวกับตุ๊กตาสวมใส่เสื้อผ้า แต่งหน้าทำผม แสดงออกบุคลิกภาพ ถ้อยคำพูด ปฏิกิริยาท่าทาง ไม่เน้นขายการแสดง หรือถ่ายทอดอารมณ์อันทรงพลัง
ในตอนแรกๆ Fiennes ก็มีความหวาดหวั่นเล็กๆ เพราะหนังของผกก. Anderson แทบจะไม่หลงเหลือพื้นที่ว่างในการ ‘improvised’ แต่หลังจากพูดคุยแนวทางการทำงาน เริ่มถ่ายทำได้ไม่นาน ก็ค้นพบว่ามีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆมากมายที่สามารถปรับปรุง แก้ไข ภายใต้กรอบข้อจำกัดเหล่านั้น (ซึ่ง Anderson ก็เปิดรับฟังความคิดเห็นของนักแสดงอย่างเต็มที่เช่นกัน)
The environment is set up very precisely, but [Anderson] wants the actors to invent. He creates this ordered world in which the actors can play.
I’m not naturally a funny person. It’s essentially a comedic film and that has to do with timing and rhythm and phrasing. I certainly wanted someone who could guide me, so working with Wes was what you might call the fun part.
ผมครุ่นคิดว่า Gustave H. น่าจะคือบทบาทอันทรงเสน่ห์ บุคลิกภาพโดดเด่น มีความน่าจดจำที่สุดของ Fiennes (ถ้าไม่นับ Lord Voldemort หรือเจ้าหน้าที่ M) ภายนอกแม้เข้มงวด เรื่องมาก จอมบงการ พูดสำบัดสำนวนอะไรก็ไม่รู้ แต่ภายในที่อ่อนไหว รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น กล่าวขอโทษ Zero ทันทีที่รับรู้ว่าอีกฝ่ายคือเด็กกำพร้า ลุกขึ้นปกป้องลูกน้องด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ไม่หวาดหวั่นกลัวเกรงอันตราย ใครกันจะไม่ยกย่องชื่นชม คนแบบนี้หาได้ยากมากๆในสังคมปัจจุบัน
Ralph Fiennes is magnificent as the dapper, debonair concierge, bringing a sly twinkle to his eye and a glint of danger to his smile. He’s a man of impeccable manners and a heart of gold, but he’s also a bit of a rogue. Fiennes has never been better.
นักวิจารณ์ Peter Travers จาก The Rolling Stone
Anthony Revolori (เกิดปี 1996) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Anaheim, California ครอบครัวอพยพมาจาก Guatemala บิดาเคยเป็นนักแสดง พยายามผลักดันบุตรชายสู่วงการบันเทิง มีผลงานโฆษณาอาหารเด็กตั้งอายุ 2 ขวบ! โตขึ้นมีโอกาสเข้ามาทดสอบหน้ากล้องพร้อมกับน้องชาย แล้วได้รับบทบาทแจ้งเกิด The Grand Budapest Hotel (2014), ผลงานอื่นๆ อาทิ Dope (2015), Spider-Man: Homecoming (2017) ฯ
รับบท Zero Moustafa ผู้อพยพหลบหนีสงครามจากตะวันออกกลาง ได้กลายเป็นเด็กฝึกงาน (Lobby Boy) ภายใต้การควบคุมดูแลของ Monsieur Gustave H. ด้วยความที่ยังละอ่อนเยาว์วัย จึงมีความใสซื่อ ทึ่มทื่อ โง่ในเรื่องโง่ๆ แต่ก็เฉลียวฉลาดในเหตุการณ์ไม่มีใครคาดคิดถึง อีกทั้งความทุ่มเททำงานหนัก และซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยคิดทรยศหักหลังใคร จึงได้รับความไว้วางใจ ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมเป็นร่วมตาย … แต่กาลเวลาก็ทำให้เขาสูญเสียทุกสิ่งอย่าง หลงเหลือเพียงโรงแรม The Grand Budapest Hotel ในสภาพเสื่อมโทรม ตกยุคสมัย แทบไม่มีใครอยากเดินทางมาพักอาศัย
แซว: ในขณะที่ใบหน้าของ Agatha มีรอยแผลเป็นรูปแผนที่ประเทศ Mexico, Zero ชอบที่ใช้ดินสอเขียนคิ้ว เพื่อให้ตนเองดูเป็นผู้ใหญ่สูงวัย “a kid at heart but with an old man’s soul”
ดั้งเดิมนั้นทีมคัดเลือกนักแสดง (Casing Director) มองหาวัยรุ่นหนุ่มเชื้อสาย Arabic เดินทางไปออดิชั่นยังอิยิปต์ เลบานอน อิสราเอล และอีกหลายๆประเทศแต่ไม่พบเจอบุคคลถูกใจ เลยจำต้องล้มเลิกข้อจำกัดดังกล่าว แล้วจึงได้พบเจอสองพี่น้อง Anthony & Mario Revolori ก่อนผกก. Anderson ตัดสินใจเลือกคนพี่ พามาซักซ้อม เสี้ยมสอน ทดสอบหน้ากล้อง อยู่ไม่ห่างกายนานเป็นเดือนๆ (คล้ายๆแบบ Gustave H. ให้การดูแล Zero)
นอกจากภาพลักษณ์ที่ดูใสซื่อ ไร้พิษภัยของ Revolori ทุกครั้งที่ตัวละครกระทำเรื่องชั่วร้าย มักทำหน้านิ่งๆ ไม่ได้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนงำ แค่ทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักเพิกเฉย คาดคิดไม่ถึง และด้วยวิธีการสุดแสนเรียบง่าย ธรรมดาสามัญ ยกเก้าอี้มาวางหน้ารูปภาพ Boy with Apple นั่นคือสิ่งที่ทำให้ Zero กลายเป็นที่รักของทั้ง Gustave H. แฟนสาว Agatha รวมถึงผู้ชมด้วยกระมัง
แซว: ในกองถ่าย Revolori มักถูกกลั่นแกล้งเล่นอยู่เป็นประจำ ในฉากที่ถูกตบหน้าโดย Harvey Keitel เล่นจริง เจ็บจริง ผกก. Anderson ก็แสร้งทำเป็นไม่พอใจอยู่ถึง 42 เทค!
We had to do that scene 42 times, and Harvey Keitel is an ex-marine. He’s tough, even for his age. And I didn’t know I was going to get slapped. Take one, wa-tish! Wes kept on saying, ‘Let’s do one more, just for the pleasure of it.’ And every time Harvey would do 10 push-ups to pump himself up. I was ready to die.
Anthony Revolori
แม้ว่า Zero คือตัวตายตัวแทนของ Gustave H. แต่เขากลับไม่สามารถธำรงรักษาความยิ่งใหญ่ของ The Grand Budapest Hotel นั่นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆรอบข้าง สังคม การเมือง ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สถานที่แห่งนี้ตกยุคล้าสมัย ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป … หรือจะมองว่า Zero หมกมุ่นยึดติดกับอดีตมากเกินไป (เพราะเขาได้สูญเสียทุกสิ่งอย่างระหว่างสงคราม) จึงไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกยุคสมัยใหม่
สำหรับนักแสดงรับบทผู้สูงวัย Zero คือ F. Murray Abraham (เกิดปี 1939) เจ้าของรางวัล Oscar: Best Actor จากภาพยนตร์ Amadeus (1984) ใช้เวลาในกองถ่ายเพียงแค่หนึ่งสัปดาห์ร่วมกับ Jude Law (รับบทนักเขียนนิรนาม) น่าจะไม่ได้มีโอกาสพบเจอ Revolori เสียด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้มีความจำเป็นสักเท่าไหร่ นั่นเพราะ Zero ตอนหนุ่ม-สูงวัย มีความแตกต่างแทบจะคนละคน
ถ่ายภาพโดย Robert David Yeoman (เกิดปี 1951) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Erie, Pennsylvania แล้วมาเติบโตยัง Chicago สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตร์จาก Duke University และศิลปมหาบัณฑิต University of Southern California School of Cinematic Arts, เริ่มทำงานตากล้องกองสอง To Live and Die in LA (1986), ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Wes Anderson ตั้งแต่เรื่องแรก Bottle Rocket (1996)
งานภาพในสไตล์ ‘Anderson Look’ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใครก็ตามรับชมแล้วย่อมสามารถจดจำได้โดยทันที อาทิ การสร้างเส้นสายตา, กำหนดจุดสังเกตกึ่งกลาง, ความสมมาตรซ้าย-ขวา, คมชัดใกล้-ไกล (Deep-Focus), มักไม่ค่อยมีการขยับเคลื่อนไหว นอกเสียจาก Whip Pan, เน้นโทนสีสว่างสดใส (Pastel Colors), ให้นักแสดงเดินเข้า-ออก กระทำสิ่งต่างๆภายในขอบเขต สีหน้านิ่งๆ กล่าวคำสำบัดสำนวน ชักแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบายอะไรก็ไม่รู้ ฯ
สำหรับ The Grand Budapest Hotel (2014) ยังมีการแบ่งแยกอัตราส่วนภาพ ออกตามยุคสมัยพื้นหลังเรื่องราว ประกอบด้วย
- ฉากในปัจจุบัน (ค.ศ. 2014) และ ค.ศ. 1985 ใช้อัตราส่วนมาตรฐาน Widescreen (1.85:1)
- ค.ศ. 1968 เลือกใช้อัตราส่วน Anamorphic Widescreen (2.40:1) พร้อมกับเลนส์ Wide ที่ได้รับความนิยมช่วงทศวรรษนั้น
- ค.ศ. 1932 เลือกใช้อัตราส่วน Academy Ratio (1.31:1) มักพบเห็นจากผลงานยุคแรกๆของผกก. Ernst Lubitsch
หลายคนอาจครุ่นคิดเข้าใจผิดว่า The Grand Budapest Hotel นั้นมีอยู่จริง! แท้จริงแล้วภายนอกคือโมเดลจำลอง (Miniature) ขนาด 1/18 สร้างขึ้นที่สตูดิโอ Babelsberg Studio, Berlin ส่วนฉากภายในทำการปรับปรุงห้างสรรพสินค้าใกล้ถูกทุบทิ้ง Görlitz Department Store ตั้งอยู่ Görlitz, Saxony
เกร็ด: หนังได้รับทุนสร้างปลอดภาษีจากรัฐบาลเยอรมัน Federal Film Fund และ Medienboard Berlin-Brandenburg และถ่ายทำในประเทศเยอรมันทั้งหมด นั่นทำให้ผมก้ำๆกึ่งๆว่าจะให้หนังสัญชาติอเมริกันหรือเยอรมันดี?
ไม่ใช่แค่โรงแรม The Grand Budapest Hotel ที่สร้างด้วยโมเดลจำลอง ยังมีหอดูดาว (Observatory) ขนาด 1/12 รวมถึงผืนป่าสำหรับซีเควนซ์เล่นสกี 1/8 ออกแบบสร้างโดย Carl Sprague
Boy with Apple ผลงานชิ้นเอกของจิตรกร Johannes Van Hoytl the Younger (1613-69) ในสไตล์ Renaissance แต่ความเป็นจริงแล้วมีคำเรียก ‘faux-painting’ ภาพวาดปลอมๆ จากศิลปินนามสมมติ ผลงานของจิตรกรชาวอังกฤษ Michael Taylor วาดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2012 นำแรงบันดาลใจจาก Hans Holbein the Elder & Younger, Bronzino, Lucas Cranach the Elder, และอีกหลายๆศิลปินชาว Flemish & Dutch
แซว: ชื่อจิตรกร Johannes Van Hoytl the Younger ผมครุ่นคิดว่าอาจเป็นส่วนผสมของ Johannes Vermeer (1632-75), Nikolaus van Hoy (1931-79) และ Hans Holbein the Younger (1497-1543) [จริงๆ thy Younger ก็มีหลายคน แต่ที่คิดว่า Hans Holbein เพราะเห็นว่าเป็นแรงบันดาลใจภาพวาดนี้]
LINK: เผื่อใครอยากอ่านเบื้องหลังภาพวาดแบบเต็มๆ ฉบับภาษาไทย https://xspace.gallery/blogview?i_uid=ddtkqwloa85s
ทำไมถึงใช้ภาพวาดปลอมๆ จากศิลปินนามสมมติ? สำหรับผู้ชมที่รับรู้ว่าภาพวาด/จิตรกรคนนี้ไม่มีอยู่จริง เมื่อพบเห็นปฏิกิริยาสีหน้าเคลิบเคลิ้ม ท่าทางเลียนแบบ(ช็อตนี้ทำมือคล้ายๆกัน)ของ Monsieur Gustave H. ก็อาจขบขำกลิ้งตกเก้าอี้! และยังสะท้อนถึงทุกสรรพสิ่งอย่างในหนังเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นจากความเพ้อฝันจินตนาการผกก. Anderson เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้อดีตพานผ่าน แต่โลกใบนั้นอาจไม่มีอยู่จริงด้วยซ้ำ
แซว: การใช้ภาพวาดปลอมๆ จากศิลปินนามสมมติ ยังชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Monsieur Klein (1976) ที่ก็มีการใช้ผลงานปลอมๆของจิตรกร Adriaen van Ostade ล่อหลอกผู้ชมได้อย่างแนบเนียน
Republic of Zubrowka ก็แบบเดียวกับภาพวาด Boy with Apple คือประเทศสมมติ ไม่มีอยู่จริง เหตุการณ์ทั้งหมดจึงเป็นเพียงเรื่องเล่าปรับปรา หญิงสาวคนนี้ที่กำลังจะอ่านหนังสือ The Grand Budapest Hotel แล้วเกิดความชื่นชอบหลงใหล เพ้อรำพัน ฝันจินตนาการ ครุ่นคิดอยากย้อนเวลากลับไป
ทำไมต้องกุญแจ? จริงๆในหนังมันก็มีหลากหลายกุญแจนะครับ สำหรับไขตู้เซฟ ประตูห้องพัก ฯ ผมครุ่นคิดว่าน่าจะสื่อถึงการไขประตูแห่งความทรงจำ เมื่อเปิดออก(อ่านหนังสือ)จักได้พบเห็นเรื่องราว หวนรำลึกความหลัง ล่องลอยไปกับความเพ้อฝันจินตนาการ
นำมาเปรียบเทียบให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของ The Grand Budapest Hotel ระหว่าง ค.ศ. 1932 vs. ค.ศ. 1968 ในอดีตเคยรุ่งเรือง สีสันชมพูสดใส เหมือนปราสาทขนมหวาน สถานที่แห่งความเพ้อฝันของคนหนุ่มสาว/สูงวัย แต่ภายหลังการมาถึงของ Fascist ถูกบังคับให้เปลี่ยนเป็นสีหม่นๆ ฤดูใบไม้ร่วง ราวกับฐานกองทัพ ดูจืดชืดไร้ชีวิตชีวา … สังเกตว่าอัตราส่วนภาพก็มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน
เกร็ด: รูปร่างหน้าตาภายนอกของ The Grand Budapest Hotel ได้แรงบันดาลใจมาจากปราสาทสีชมพู The Grandhotel Pupp (Karlovy Vary) ซึ่งมีรูปปั้นกวางจับจ้องมองอยู่ไม่ห่าง Jelení-skok (Deer Leap Lookout) นอกจากนี้ยังมี Palace Bristol Hotel (Karlovy Vary), Hotel Adlon (Berlin), Savoy Hotel (London)
We looked through loads of books—anything we could find on hotel history or luxury travel,
นักออกแบบ Adam Stockhausen
โถงรับรอง ประชาสัมพันธ์ เคาน์เตอร์เช็คอิน ก็มีความแตกต่างออกไปเช่นกัน จากเดิมที่ตรงกึ่งกลางตั้งโต๊ะกลม เปลี่ยนมาเป็นโต๊ะสี่เหลี่ยม พรมแดงหรูหรากลายมาเป็นพื้นเหลืองซีดเซียว และโดยเฉพาะเพดานที่เพิ่มเติมเข้ามา ทำให้โถงรับรองแห่งนี้ดูไม่โอ่โถง รโหฐาน ขาดมนต์เสน่ห์ไปโดยสิ้นเชิง … นี่ยังไม่รวมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อาทิ ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ ป้ายโน่นนี่นั่น (เข้ามาแทนที่พนักงานโรงแรม) ฯ
อดีตเคยเป็นห้องโถงจัดเลี้ยง แม้ขนาดภาพจะแค่ Academy Ratio (1.31:1) แต่การถ่ายภาพจากเบื้องบน ทำให้สถานที่แห่งนี้ดูโอ่งโถง รโหฐาน พบเห็นรายละเอียดทุกสิ่งอย่างในช็อตเดียว!
แต่ระหว่างที่นักเขียนนิรนามรับฟังเรื่องเล่าจากเจ้าของสูงวัย Zero แม้อัตราส่วนภาพจะคือ Anamorphic Widesceen (2.40:1) รายละเอียดภาพเหมือนจะขาดๆหายๆ ไร้ซึ่งขอบบน-ขอบล่าง ทำให้ต้องมีการเลื่อนกล้องลงมา (Tile Down) … ภาพอาจจะดูกว้างขึ้น แต่กลับขาดมนต์เสน่ห์ที่น่าหลงใหล
โดยปกติแล้วมักไม่ค่อยมีใครอยากปฏิเสธร่วมงานผกก. Anderson นักแสดงแทบทุกคนล้วนเต็มไปความกระตือรือล้น ยกเว้นเพียง Angela Lansbury ในตอนแรกเห็นว่าเธอก็ตอบตกลง แต่ภายหลังขอถอนตัวเพราะต้องการทุ่มเวลาให้กับละครเวที Driving Miss Daisy เลยจำต้องติดต่ออีกขาประจำ Tilda Swinton ขณะนั้นยังสวยสะพรั่ง กลับต้องแต่งหน้าห้าชั่วโมงให้ดูเหมือนหญิงหม้าย (dowager) อายุ 84 ปี
We’re not usually working with a vast, Bruckheimer-type budget on my films, so often we’re trying a work-around. But for the old-age make-up, I just said, ‘let’s get the most expensive people we can’.
Wes Anderson
การให้ Swinton รับบทหญิงหม้ายสูงวัย นี่ไม่ใช่การหมิ่นแคลนนักแสดงสูงอายุนะครับ -ยุคสมัยนี้แม้งก็เรียกร้องกันเกิ้น บทบาทเกย์ต้องให้เกย์รับบท, เชื้อชาติสีผิวอะไรก็ต้องให้ตรงตามนั้น, ทั้งๆที่นักแสดงคือบุคคลผู้มีความสามารถสวมบทบาทเป็นใครก็ได้- จุดประสงค์ของผกก. Anderson เชื่องว่าต้องการสื่อถึงภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูแก่ชรา แต่ตัวตนภายใน จิตวิญญาณของเธอยังสวยสาว (เพราะผู้ชมตระหนักรับรู้ว่า Swinton ยังเป็นสาวสวย ตอนนั้นอายุ 50 ยังแทบไม่มีริ้วรอยเหี่ยวย่น)
เกร็ด: ในตอนแรกมีคำเรียกตัวละคร Madame D. คงจะนำแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ The Earrings of Madame De… (1953) ของ Max Ophüls แต่พอเข้าองก์สองกลับมีการเปิดเผยชื่อจริงซะงั้น Madame C.V.D.u.T. ย่อมาจาก Madame Céline Villeneuve Desgoffe-und-Taxis
คฤหาสถ์ของ Madame C.V.D.u.T. ถ่ายทำยัง Schloss Waldenburg ตั้งอยู่ Saxony สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1165-72 มีความเก่าแก่ ต้องมนต์ขลัง แสดงถึงความเป็นผู้ดีมีสกุล สืบเชื้อสายชนชั้นสูง บรรพบุรุษตั้งแต่โบราณกาล แต่ตลอดทั้งซีเควนซ์ถ่ายทำตอนกลางคืน สร้างบรรยากาศทะมึน อึมครึม ราวกับปราสาทแวมไพร์ สถานที่แห่งความชั่วร้าย
และเมื่อ Gustave H. กับ Zero เข้ามายังห้องโถงประชุม ระหว่างทนายความเตรียมอ่านพินัยกรรมของ Madame D สถานที่แห่งนี้ตกแต่งด้วยสัตว์สต๊าฟ เขากวาง งาช้าง หนังหมี ภาพวาดหมูป่า ฯ เพื่อสื่อถึงบรรดาญาติพี่น้อง สมาชิกวงศ์ตระกูลนี้ แทบทุกคนล้วนคือ ‘นักล่า’ ผู้แสวงหาผลประโยชน์ ต้องการครอบครองมรดกตกทอด
แซว: พบเห็นของที่ระลึกนักล่าเหล่านี้ ชวนให้นึกถึงโคตรภาพยนตร์ The Rules of the Game (1939) อยู่เล็กๆ ซึ่งทำการเปรียบเทียบชนชั้นสูง ผู้ดีมีสกุล คือบุคคลออกกฏระเบียบเพื่อทำการละเล่นไล่ล่ากระต่าย (สามัญชน)
ภาพวาดหมูป่าด้านหลังทนายความ/ผู้จัดการมรดก Vilmos Kovacs (รับบทโดย Jeff Goldblum) สามารถเทียบแทนกองมรดกของ Madame D. คือสิ่งที่บรรดาญาติพี่น้อง สมาชิกวงศ์ตระกูลทั้งหลาย จับจ้องหมายปอง ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ ไม่ต่างจากหมาล่าเนื้อที่ต้องการฉีกกระชาก กัดกินเนื้อหมูป่าอวบอ้วนโอชา
เกร็ด: ชื่อตัวละคร Vilmos Kovacs เป็นการเคารพคารวะสองตากล้องชาว Hungarian ประกอบด้วย Vilmos Zsigmond และ László Kovács
ภาพวาดที่ถูกนำมาแทนที่ Boy with Apple คือหญิงชราเหี่ยวๆสองคน กำลังกอดจูบลูบไล้ ช่วยเหลือกันและกัน ผมก็ไม่รู้แฝงนัยยะอะไร คงต้องการเสียดสีประชดประชันพวกชนชั้นสูง ตระกูล C.V.D.u.T. ว่าเอาแต่หมกมุ่นมักมาก สนแต่เรื่องเงินๆทองๆ ผลประโยชน์ ความสุขส่วนตน มรดกของวงศ์ตระกูล (พวกพ้อง/เพศเดียวกัน)
ซึ่งหลังจาก Dmitri (บุตรชายของ Madame D.) พบเห็นภาพดังกล่าวหลายวันถัดมา ก็เกิดอาการหงุดหงิด หัวเสีย ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง หยิบมันลงมาฟาดใส่รูปหล่อทหาร ศีรษะทิ่มแทง … มันคงชวนขบขันอยู่เล็กๆกระมัง
พบเห็นอยู่สองสามครั้งที่หนังทำการปรับระดับแสงสว่าง-มืดมิด เพื่อสะท้อนช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของตัวละครนั้นๆ อย่างช็อตนี้ระหว่างรถไฟขากลับจาก Lutz กล้องจับจ้องใบหน้า Gustave H. (บนเตียงนอนชั้นล่าง) หลังเขียนพินัยกรรมมอบสมบัติให้กับ Zero จู่ๆแสงไฟค่อยๆมืดลง ผมครุ่นคิดว่าแทนความรู้สึกผ่อนคลายที่ได้ปลดเปลื้องภาระบางอย่าง (รวมถึงความตั้งใจจะขายภาพวาด Boy with Apple) ขณะเดียวกันก็ดูราวกับเป็นการพยากรณ์ความตาย Death Flag!
เรือนจำ Checkpoint Nineteen prison ถ่ายทำภายนอกยังปราสาท Burg Kriebstein ตั้งอยู่ Kriebstein, Saxony ติดกับแม่น้ำ Zachopau ก่อสร้างขึ้นประมาณ ค.ศ. 1384
ส่วนฉากภายในถ่ายทำยัง Schloss Osterstein (แปลว่า Eastern Rock) เคยเป็นปราสาทประจำเมือง Zwickau, Saxony ก่อสร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1587-90 ด้วยสถาปัตยกรรม Renaissance, ช่วงศตวรรษที่ 18th ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นเรือนจำ Zuchthaus Zwickau, ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองกลายเป็นค่ายกักกัน (Concentration Camp), ยกเลิกรับนักโทษคุมขังตั้งแต่สิ้นปี ค.ศ. 1962, เปลี่ยนมาเป็นที่พักอาศัยคนงานเหมือง และตั้งแต่ ค.ศ. 2007 กลายเป็นบ้านพักผู้สูงวัย
หัวหน้าแก๊งค์หลบหนี Ludwig (รับบทโดย Harvey Keitel) มีรูปวาด/แกะสลักอยู่เต็มตัว เห็นว่าผกก. Anderson ต้องการเคารพคารวะตัวละครกะลาสีเรือของ Michel Simon จากโคตรภาพยนตร์ L’Atlante (1934) ของ Jean Vigo
นี่เป็นอีกครั้งที่จู่ๆมีการปรับระดับแสงสว่าง-มืดมิด แต่อาจจะไม่เด่นชัดเจนเหมือนตอนอยู่บนขบวนรถไฟ เพื่อสื่อถึงช่วงเวลาที่ Zero (สูงวัย) จมอยู่ในความเศร้าโศก หลั่งน้ำตา เพราะไม่อยากกล่าวถึงอดีตภรรยาผู้ล่วงลับ Agatha แต่มาถึงจุดนี้แล้วคงเป็นไปไม่ได้ เลยต้องใช้เวลาสงบสติอารมณ์อยู่สักพักหนึ่ง เมื่อแสงสว่างหวนกลับมา เขาจึงเริ่มต้นเล่าเรื่องต่ออีกครั้ง
ชื่อตัวละคร Agatha (รับบทโดย Saoirse Ronan) เป็นอ้างอิงถึงนักแต่งนวนิยายชื่อดัง Agatha Christie, ส่วนรอยแผลเป็น (birthmark) รูปแผนที่ประเทศ Mexico เท่าที่ผมหาอ่านบทสัมภาษณ์ของ Ronan เธอบอกว่าก็ไม่รู้เหมือนกัน เคยสอบถามผกก. Anderson ไม่ยอมอธิบายว่าคืออะไร
บางคนตีความว่า ‘birthmark’ ย่อมสื่อถึงต้นกำเนิด บรรพบุรุษจาก Mexico แต่สำเนียงเสียง Irish ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้สักเท่าไหร่, ส่วนตัวมองอย่างโรแมนติก รอยแผลเป็นคือสิ่งที่ใครๆมองว่าอัปลักษณ์ แต่มันกลับทำให้เธอเข้มแข็งแกร่งจากภายใน กล้าคิด กล้าทำ แสดงถึงจิตวิญญาณที่มีความงดงามยิ่งนัก … ก็เหมือนกับช็อตนี้ที่ดูระยิบระยับ เจิดจรัส
เกร็ด: ก่อนเริ่มต้นถ่ายทำ ผกก. Anderson ทดลองให้ Ronan พูดภาษาอังกฤษสำเนียงต่างๆ ก่อนตัดสินใจเลือกเสียงไอริช (Irish) เพราะรู้สึกว่ามีความไพเราะเพราะพริ้งที่สุด(ในสำเนียงภาษาอังกฤษ)
ผกก. Anderson บอกให้ Ronan ฝึกฝนเข้าคอร์สเรียนทำขนม Courtesan au Chocolat เพื่อสามารถทำด้วยตัวเองระหว่างเข้าฉาก ใครสนใจสูตรรับชมจากคลิปได้เลยนะครับ มีวิธีการพร้อมคำอธิบาย (ภาษาอังกฤษ) จากช่องทางการของ Fox Searchlight … ไม่แน่ใจว่า Special Feature ของหนังจะมีคลิปนี้หรือเปล่านะ?
แซว: การซ้อนขนม 3-4 ชั้น ผมมั่วๆว่าสื่อถึงโครงสร้างเรื่องราวของหนังที่มีการ ‘ซ้อนซับซ้อน’ เต็มไปด้วยความซ่อนเงื่อนงำ (สอดคล้องกับชื่อตัวละคร Agatha มาจากผู้แต่งนวนิยายลึกลับชื่อดัง)
สถานที่แห่งความตายของทนายความ Vilmos Kovacs คือ Kunstmuseum ฉากภายนอกถ่ายทำยัง Dresdner Zwinger, Dresden ดั้งเดิมคือปราสาท Rococo Palace สร้างขึ้นช่วงศตวรรษที่ 18th บางส่วนถูกทำลายช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ภายหลังเลยปรับเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์
ทำไมต้องเดินทางหลบหนี/ไล่ล่ามายังสถานที่แห่งนี้ นั่นเพราะพิพิธภัณฑ์คือสถานที่รวบรวมเรื่องราว ประวัติศาสตร์ งานศิลปะอันทรงคุณค่า (ที่มีทั้งด้านมืด-สว่าง) เหมือนเป็นการย้อนเวลา หวนระลึกความทรงจำ … สอดคล้องเข้ากับใจความของหนังที่ผกก. Anderson เพ้อรำพัน ฝันจินตนาการ ถึงช่วงเวลาพานผ่าน
เกร็ด: ใครเคยรับชม Torn Curtain (1966) ของ Alfred Hitchcock น่าจะมักคุ้นกับการไล่ล่าพานผ่านพิพิธภัณฑ์ ตัวละคร J. G. Jopling (รับบทโดย Willem Dafoe) ชัดเจนว่าได้แรงบันดาลใจจาก Gromek (รับบทโดย Wolfgang Kieling)
ทำไม Vilmos Kovacs ถึงถูกประตูหนีบ 4 นิ้ว? นั่นเป็นตัวเลขเดียวกับจำนวนชั้น Courtesan au Chocolat (มีขนมสามก้อนพร้อมกับท็อปปิ้งด้านบน) และเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าจำนวน 4 ชั้น? … แต่แท้จริงแล้วนิ้วทั้งสี่คือ ‘trophy’ ถ้วยรางวัลของนักฆ่า J. G. Jopling น่าจะแค่นั้นแหละครับ สังเกตจากภาพขวามือบนโต๊ะทำงาน จะมีโถใส่นิ้วเก็บไว้เป็นของที่ระลึก (แบบเดียวกับที่นักล่าสัตว์ ชอบสะสมของสตั๊ฟ)
เกร็ด: ตัวอักษรยึกๆเหนือรูปภาพถ่าย Agatha แลดูเหมือน ZZ ซ้อนสองครั้งคือสัญลักษณ์ SS Bolts ของพวก White Supremacist และ Neo-Nazi ที่ได้แรงบันดาลใจจาก Schutzstaffel (SS)
ฉากแหกคุก ผกก. Anderson เล่าว่านำแรงบันดาลใจจาก The Great Escape (1963) และ The Shawshank Redemption (1994) โดยระหว่างการหลบหนียังพยายามออกแบบสถานที่ต่างๆ ให้มีความละม้ายคล้ายผลงานศิลปะของ M.C. Escher (1898-1972) ศิลปินเลขนศิลป์ (ใช้คณิตศาสตร์ร่วมกับการออกแบบ) ขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบโลกที่ดูไม่น่าเป็นไปได้ ‘impossible worlds’
Society of the Crossed Keys อาจคือองค์กรสมมติของหัวหน้าพนักงานโรงแรม (Hotel Concierge) สำหรับติดต่อขอความช่วยเหลือในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน (แต่ผมว่าจุดประสงค์จริงๆ คือจะได้เพิ่มเติมนักแสดงรับเชิญ) แต่เหมือนว่ามันจะมีองค์กรคล้ายๆกันนี้อยู่จริง European Concierge Association (ECA) และ International Concierge Association (ICA) แค่ว่าไม่ลึกลับเหมือนกับหนัง … ด้วยความที่เป็นองค์กร ‘Secret Society’ จึงมีการใช้เทคนิค ‘Iris Shot’ ห้อมล้อมวงกลมเพื่อสื่อถึงความลึกลับ ระหว่างติดต่อสื่อสารกับสมาชิกคนอื่น
เกร็ด: ชื่อตัวละครของ Bill Murray คือ M. Ivan สามารถอ่านภาษาฮังกาเรียน Mi van? หมายถึง What’s going on?
เกร็ด 2: Wes Anderson รวบรวมเรื่องสั้น/นวนิยายของ Stefan Zweig ที่เป็นแรงบันดาลใจ The Grand Budapest Hotel มาตีพิมพ์หนังสือ “The Society of the Crossed Keys: Selections from the Writings of Stefan Zweig, Inspirations for The Grand Budapest Hotel”
ตอนต้นเรื่องระหว่าง Gustave H. และ Zero ขึ้นรถไฟนอนกลับจากงานศพ Madame D. พวกเขาจองห้องส่วนตัวชั้นหนึ่ง (VIP) ตำแหน่งการนอนบน-ล่าง แสดงถึงสถานะของทั้งคู่ (แม้ว่า Zero นอนด้านบน แต่ถือว่ามีสถานะต่ำกว่า Gustave H. ที่นอนชั้นล่าง)
แต่หลังจาก Gustave H. หลบหนีออกจากเรือนจำ ต้องปลอมตัวเป็นคนธรรมดาๆ ขึ้นรถไฟนอนชั้นสาม บนเตียงชั้นบนเดียวกัน แม้ไม่เชิงว่าขณะนี้ทั้งสองมีสถานะเท่าเทียมกัน แต่ต่างตกระกำลำบาก สภาพไม่แตกต่างกัน
หอดูดาว (Observatory) อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าสร้างขึ้นโดยโมเดลจำลอง แต่มีต้นแบบจาก Sphinx Observatory, Switzerland หนึ่งในหอดูดาวสูงที่สุดในยุโรป 11,700 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล รายล้อมรอบด้วยยอดเขา Jungfrau, Monch และ Eiger เปิดให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1937
ระหว่างที่ Gustave H. และ Zero ขึ้นกระเช้าลอยฟ้าเพื่อติดตามหาพ่อบ้าน Serge X พอมาถึงตำแหน่งกึ่งกลาง จุดตัดระหว่างขาขึ้น-ขาลง ถูกร้องขอให้สลับสับเปลี่ยนกระเช้า สามารถสื่อถึงจุดเปลี่ยน/จุดหมุน สูงสุดกลับสู่สามัญ … จะว่าไปเคเบิ้ลมีลักษณะคล้ายชื่อตัวละคร Serge X
อ่านจากบทสัมภาษณ์ผกก. Anderson บอกว่าต้องการทำฉากไล่ล่า สกี vs. บ็อบสเลด (Bobsled) ในสไตล์ James Bond ให้มีความน่าตื่นเต้น ตลกขบขัน จากจุดสูงสุด(บนยอดเขา)หวนกลับสู่สามัญ(พื้นดิน) ผลลัพท์ออกมาดูเหนือจริง พิลึกพิลั่น ใครจะไปคาดคิดว่าสไตล์ Anderson สามารถทำบ้าๆบอๆออกมาได้อย่างน่าสนใจ
I wanted the scene to have a ‘snowglobe version’ of a James Bond chase. I was inspired by the ski chase scene in On Her Majesty’s Secret Service. I wanted it to be exciting and suspenseful, but also funny and charming.
The scene was the result of some last-minute experimentation. We were originally going to shoot it with live actors, but we decided to try something different. We built a miniature set and used stop-motion animation. I’m glad we did, because I think it turned out even better than we expected.
It’s one of my favorite parts of the movie.
Wes Anderson
ความตายของ J. G. Jopling แบบเดียวกับเจ้าแมวเหมียวที่เคยถูกโยนทิ้งลงหน้าต่าง ตกจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง ดูแล้วไม่น่าหลงเหลือลมหายใจ ซึ่งคำรำพันของ Gustave H. เป็นการล่อหลอกผู้ชมให้เข้าใจผิด เพราะเจ้าตัวนั้นรอดตาย คนโดนถีบตกเหวกลับคือ J. G. Jopling
If this do be me end, farewell! cried the wounded piper-boy, whilst the muskets cracked and the yeomen roared ‘Hurrah!’. And the ramparts fell. ‘Methinks me breathes me last, me fears!’ said he …
บทกวีที่ไม่เคยท่องจบของ Gustave H.Holy shit! You got him!
การมาถึงของ Dmitri (รับบทโดย Adrien Brody) สังเกตว่ากล้องถ่ายมุมเงยเห็นเพดาล แสดงถึงพลังอำนาจ ความเย่อหยิ่งทะนงตน ขณะนั้นถือว่าเป็นเจ้าของโรงแรม The Grand Budapest Hotel แต่การเข้าพักห้อง Ferdinand Suite อ้างอิงถึง Archduke Franz Ferdinand of Austria (1863-1914) รัชทายาทอันดับหนึ่งของ Austria-Hungary บุคคลที่หลังจากถูกลอบสังหาร คือชนวนเหตุให้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง!
แซว: แม้ว่า Dmitri จะไม่ได้ถูกลอบสังหาร แต่หลังจากโดนจับติดคุก ก็สามารถจินตนาการเรื่องราวต่อได้ว่า อาจคือชนวนเหตุให้เกิดสงครามโลก(ครั้งที่สอง)
ล้อกับซีเควนซ์ก่อนหน้าที่ Gustave H. เคยห้อยโหยเกือบตกหน้าผา มาคราวนี้ถึงคิวของ Zero และ Agatha แต่พวกเขาก็พลัดตกลงมา โชคดีหล่นใส่หลังรถบรรทุกที่เต็มไปด้วยกล่องขนมเค้ก ก็ไม่รู้รอดชีวิตมาได้อย่างไร??
สิ่งน่าสนใจของช็อตนี้คือ ‘ข้างหลังภาพ’ โดยไม่รู้ตัว Serge X แอบถ่ายเอกสารพินัยกรรมฉบับล่าสุดของ Madame D. เก็บซ่อนไว้หลังรูปภาพ Boy with Apple แต่แม้งโคตรไม่สมเหตุสมผลเพราะก่อนหน้านี้ Gustave H. เคยหยิบภาพวาดออกจากห่อกระดาษมาเชยชมบนขบวนรถไฟ จะไม่พบเห็นเอกสารดังกล่าวได้อย่างไร???
แต่ก็เอาเถอะเพื่อตอนจบจะได้ลงเอยอย่าง Half-Happy Ending คนชั่วเข้าซังเต คนดีได้ครอบครองสิ่งเพ้อฝันปรารถนา แม้อาจไม่ยืนยาวนาน นั่นจักคือช่วงเวลาแห่งความทรงจำฝังใจไม่รู้ลืมเลือน
ทิวทัศน์สวยๆในงานแต่งงานระหว่าง Zero กับ Agatha ถ่ายทำยังจุดชมวิวบนสะพาน Basteibrücke Bridge ในจังหวัด Sächsische Schweiz ประเทศ Germany รายล้อมรอบด้วยทิวเขา Elbsandsteingebirge (Elbe Sandstone Mountains) พานผ่านแม่น้ำ Elbe
ดั้งเดิมเมื่อปี ค.ศ. 1826 สร้างเป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำ Elbe แต่ไม่นานก็ชำรุดทรุดโทรมลง ค.ศ. 1851 จึงปรับเปลี่ยนเป็นสะพานหิน ซึ่งดูกลมกลืนเข้ากับสถานที่ และเสริมความงดงามยิ่งๆขึ้นกว่าเก่า
โดยปกติแล้วจะไม่มีคำอ่านบทกวีครั้งไหนของ Gustave H. ที่สามารถเอ่ยกล่าวจนจบสิ้น ยกเว้น Agatha หลังจากแต่งงานกับ Zero กำลังขึ้นรถไฟเดินทางกลับ The Grand Budapest Hotel
Whence came these two radiant, celestial brothers, united, for an instant, as they crossed the stratosphere of our starry window? One from the East and one from the West.
Agatha
แต่นั่นราวกับเป็น ‘Death Flag’ และโดยเฉพาะการถ่ายภาพขาว-ดำ ราวกับเป็นไว้ทุกข์ ไว้อาลัย เพราะจู่ๆรถไฟก็หยุดจอดตำแหน่งเดิม แล้วมีทหาร Fascist ขึ้นมาขอตรวจบัตรประชาชน … คงไม่ต้องอธิบายต่อว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
หลังจาก Gustave H. ได้รับมรดกก้อนโตจาก Madame D. เลยไม่ได้ขายภาพวาด Boy with Apple แต่นำมาแขวนไว้ตรงล็อบบี้ของพนักงานโรงแรม และ Zero เมื่อได้รับมรดกตกทอด ก็ยังคงเก็บรักษาภาพนี้ไว้ เป็นที่ระลึกความทรงจำ เพราะมันคือตัวตายตัวแทนของ Gustave H.
หนึ่งในลายเซ็นต์สไตล์ Anderson จงใจทำให้ภาพวาดเอียงๆแล้วตัวละครเดินเข้าไปหมุนปรับแก้ไข ไม่ได้แฝงนัยยะซ่อนเร้นอะไร แค่ให้ผู้ชมตระหนักรับรู้ว่าปัจจุบัน(ขณะนั้น) Boy with Apple ลงเอยอยู่แห่งหนไหน
หลายคนอาจไม่ทันครุ่นคิดว่า นักเขียนนิรนามหนุ่ม (รับบทโดย Jude Law) และนักเขียนสูงวัย (รับบทโดย Tom Wilkinson) แท้จริงแล้วมีแรงบันดาลใจจาก Stefan Zweig ผู้เขียนนวนิยาย Beware of Pity (1939) ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผกก. Anderson สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
ทั้งสามช็อตนี้ที่ผมนำมาคือการไล่ย้อนกลับ เริ่มต้นจาก ค.ศ. 1968 นักเขียนหนุ่มนั่งอยู่บริเวณล็อบบี้(ฝั่งซ้าย)โรงแรม The Grand Budapest Hotel → ค.ศ. 1985 นักเขียนสูงวัย(นั่งอยู่ฝั่งขวา)เริ่มต้นเขียนนวนิยาย The Grand Budapest Hotel ในอพาร์ทเมนท์หลังใหม่ (ห้องพักกำลังทาสี ปรับปรุงใหม่ = นวนิยายที่กำลังเริ่มต้นเขียน) → ปีปัจจุบัน (ค.ศ. 2014) หลงเหลือเพียงรูปปั้นนักเขียนนิรนาม และหญิงสาวกำลังนั่งอ่านนวนิยาย The Grand Budapest Hotel (อยู่ตรงกึ่งกลางภาพ)
ตัดต่อโดย Barney Pilling สัญชาติอังกฤษ เริ่มต้นจากมีผลงานซีรีย์โทรทัศน์ ตามด้วยภาพยนตร์ An Education (2009), The Grand Budapest Hotel (2014), Asteroid City (2013) ฯ
การดำเนินเรื่องของหนังมีลักษณะ ‘story within story’ โดยเริ่มจากปัจจุบัน (นับเอา ค.ศ. 2014 ก็ได้กระมัง) เด็กหญิงเปิดอ่านนวนิยาย The Grand Budapest Hotel → เล่าเรื่องราวนักเขียนนิรนาม ค.ศ. 1985 หวนระลึกความหลัง → เมื่อครั้นตนเองยังเป็นคนหนุ่ม ค.ศ. 1968 เคยออกเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนยังโรงแรม The Grand Budapest Hotel พบเจอกับเจ้าของ Zero Moustafa → เล่าให้ฟังถึงความหลัง ค.ศ. 1932 เมื่อครั้นยังเป็นเด็กฝึกงาน (Lobby Boy) ภายใต้หัวหน้าพนักงานโรงแรม (Hotel Concierge) Monsieur Gustave H.
แซว: หลายคนอาจครุ่นคิดว่า The Grand Budapest Hotel (2014) มีการซ้อนเรื่องเล่า ‘story within story’ มากชั้นที่สุด แต่แท้จริงแล้วยังห่างไกลโขกับ The Saragossa Manuscript (1965) ลงลึกถึง 6 ชั้น!
เมื่อเรื่องราวเล่าย้อนไปจนถึง ค.ศ. 1932 จะมีการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 บท (Chapter) พร้อมคำบรรยายของ Zero Moustafa (ให้เสียงโดย F. Murray Abraham) และจะปรากฎข้อความชื่อตอน ประกอบด้วย
- Part 1: M. Gustave เล่าเรื่องราวของ Monsieur Gustave H. ให้บริการหญิงหม้าย (Dowager) Madame D. หลังส่งเธอกลับบ้าน ถึงรับรู้การมีตัวตนของเด็กฝึกงาน (Lobby Boy) Zero จึงเริ่มสัมภาษณ์ ให้คำแนะนำการทำงาน รวมถึงนำเสนอกิจวัตรประจำวันของพนักงานโรงแรม
- Part 2: Madame C.V.D.u.T. เช้าวันหนึ่งระหว่าง Zero เดินทางไปรับหนังสือพิมพ์ พบเห็นข่าวการเสียชีวิตของ Madame D. รีบวิ่งหา Gustave H. แล้วทั้งสองขึ้นรถไฟออกเดินทางเพื่อเข้าร่วมพิธีศพ พอดิบพอดีกำลังมีการอ่านพินัยกรรม ระบุต้องการมอบภาพวาด Boy with Apple ให้กับ Gustave H. นั่นสร้างความไม่พึงพอใจให้บรรดาเครือญาติ ก่อนกลับพวกเขาจึงตัดสินใจลักขโมยภาพวาดดังกล่าว
- Part 3: Check-Point 19 Criminal Internment Camp หลังจากที่ Gustave H. ถูกจับกุมในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรม Madame D. ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ Check Point 19 ตีสนิทกับเพื่อนร่วมห้องขัง Ludwig ร่วมกันครุ่นคิดแผนการหลบหนี โดยได้รับความช่วยเหลือจาก Agatha ส่งอุปกรณ์ขุดดินผ่านเบเกอรี่ร้าน MENDL’s, ทางฟากฝั่งครอบครัว Madame D. บุตรชาย Dmitri มอบหมายให้นักฆ่า J. G. Jopling จัดเก็บทนายความ Deputy Vilmos Kovacs แล้วออกไล่ล่าฆ่าปิดปากพ่อบ้าน Serge X
- Part 4: The Society of the Crossed Keys เมื่อสามารถหลบหนีออกจากเรือนจำ Gustave H. ขอความช่วยเหลือจากผองเพื่อนพนักงานโรงแรม จนสามารถติดตามพบเจอพ่อบ้าน Serge X แต่ก็ถูก J. G. Jopling ไล่ล่า ฆ่าปิดปาก โชคดีทั้งสองเอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิด
- Part 5: The Second Copy of the Second Will หวนกลับมาโรงแรม The Grand Budapest Hotel ในช่วงที่ทหาร(Fascist)เข้ายึดครอง มอบหมายให้ Agatha ลักลอบนำเอาภาพวาด Boy with Apple กลับออกมา แต่บังเอิญพบเจอโดย Dimitri จึงเกิดการไล่ล่า วิ่งหลบหนี ก่อนค้นพบเจอพินัยกรรมแท้จริงของ Madame D.
ลีลาการตัดต่อในหนังของผกก. Anderson จะไม่ได้มีความซับซ้อนเหมือนโครงสร้างดำเนินเรื่อง เน้นความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา เพียงสลับมุมมอง ทิศทาง ระยะภาพใกล้-กลาง-ไกล และอาจเร่งความเร็วขึ้นนิดในฉากไล่ล่า แต่จะไม่ฉาบฉวย ฉับไว เพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซัมรายละเอียดในทุกๆช็อตอย่างเต็มอิ่มหนำ
Alexandre Michel Gérard Desplat (เกิดปี ค.ศ. 1961) นักแต่งเพลงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่กรุง Paris ค้นพบความสนใจทรัมเป็ตตั้งแต่อายุห้าขวบ ก่อนเปลี่ยนมาเล่นฟลุตตอนเก้าขวบ จากนั้นเข้าศึกษา Conservatoire de Paris จบออกมาร่วมคณะทัวร์การแสดง (Theatrical Troupe) เล่นเอง-แต่งเอง จนได้รับชักชวนมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Queen (2006), Lust, Caution (2007), The Curious Case of Benjamin Button (2008), Fantastic Mr. Fox (2010), The King’s Speech (2010), The Tree of Life (2011), Harry Potter and the Deathly Hallows (2010-11), คว้ารางวัล Oscar: Best Original Score จากภาพยนตร์ The Grand Budapest Hotel (2015) และ The Shape of Water (2018)
นี่คือครั้งที่สามที่ผกก. Anderson ร่วมงานกับ Despalt มาตั้งแต่ Fantastic Mr. Fox (2010), Moonrise Kingdom (2012), ก่อนหน้านี้มักทำการเลือกบทเพลงฮิต (Contemporary Pop) ผสมผสาน Soundtrack ที่มีท่วงทำนองสอดคล้องกัน แต่สำหรับ The Grand Budapest Hotel (2015) ต้องการดนตรีที่มีความเฉพาะตัว มอบสัมผัสสถานที่ และกาลเวลาล่วงเวลาผ่าน
หลังอ่านบทหนังกล่าวถึงประเทศสมมติ Republic of Zubrowka ทำให้ Desplat ครุ่นคิดถึงบทเพลงสไตล์ Mitteleuropa (Middle Europe) เปรียบเทียบการเดินทางจาก Switzerland ไปถึง Turkey ใช้เครื่องดนตรีอย่าง Zither, Balalaika, Cimbaloms, Alpenhorn ผสมผสานออกมาจนได้กลิ่นอาย Russian Folk Music
I wanted the music to feel like it was from another time and place, and I think the music of Eastern Europe perfectly captures that feeling.
Alexandre Desplat
หนังไม่มีท่วงทำนองหลัก (Main Theme) แต่บทเพลงที่ Desplat แต่งขึ้นมีลักษณะเหมือน ‘fragment’ องค์ประกอบเล็กๆ ความยาวเฉลี่ยแค่ 1-2 นาที (อัลบัม Soundtrack มีจำนวน 32 บทเพลง!) สำหรับสร้างบรรยากาศ ชี้นำความรู้สึก อารัมบทเหตุการณ์กำลังจะบังเกิดขึ้น
เสียงเครื่องดนตรี Alpenhorn ในบทเพลง The Alphine Sudetenwaltz ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Black Narcissus (1947) ที่มีการใช้ Tibetan horn สำหรับอารัมบทสถานที่ ด้วยลักษณะเหมือนงวงช้าง (Alpenhorn มีขนาดเล็กกว่า Tibetan horn) ส่งเสียงทุ้มยาว นำพาผู้ฟังล่องลอยขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุด สรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน (จะว่าไปโรงแรม The Grand Budapest Hotel ก็ตั้งอยู่บนยอดเขา ไม่แตกต่างอารามชี Black Narcissus)
ถึงหนังจะไม่มี Main Theme แต่ท่วงทำนองได้ยินบ่อยครั้งที่สุดคือ Mr. Moustafa นั่นก็เพราะเป็น ‘charactor song’ ประจำตัวละคร พบเห็นผจญภัยพานผ่านเหตุการณ์มากมาย ซึ่งหลายๆบทเพลงได้ทำการผสมผสาน ไล่ลำดับตัวโน๊ต ไต่เต้าจาก ‘rags-to-riches’ แทนความมหัศจรรย์แห่งชีวิต
บทเพลงในหนังของผกก. Anderson คือองค์ประกอบที่มีความกลมกลืน เป็นส่วนหนึ่ง สอดคล้องเข้ากับรายละเอียดในช็อตฉากนั้นๆ นั่นทำให้ผมแทบไม่มีโอกาสตั้งใจรับฟัง เพราะมันมีสิ่งอื่นๆดึงดูดความสนใจมากมาย
Overtune: M Gustave H เป็นบทเพลงที่พอผมมานั่งรับฟังใน Youtube เกิดอาการขนลุกขนพอง แม้ท่วงทำนองสั้นๆ 30 วินาที แต่สามารถพรรณาความสูงส่ง เลิศรสนิยม จิตวิญญาณอ่อนไหวของ Gustave H. ได้อย่างระยิบระยับ รัวเสียง Balalaika สั่นสะท้านทรวงใน
บทเพลงนี้ยังดังขึ้นขณะที่ Gustave H. ก้าวขึ้นบนเก้าอี้ ลักขโมยภาพวาด Boy with Apple แต่นี่ไม่ใช่การโจรกรรม เพราะคือสิทธิ์อันชอบธรรม (หลังรับฟังคำอ่านพินัยกรรม) กำลังจะครอบครองสิ่งทรงคุณค่าทางจิตใจมากที่สุด … จะมองว่าเป็นบทเพลงประจำภาพวาดนี้ก็ได้เช่นกัน
บทเพลงที่ผมถือเป็น Masterpiece ในอัลบัมนี้ก็คือ The New Lobby Boy มีการผสมผสานหลากหลายเครื่องดนตรีพื้นบ้าน กลิ่นอาย Russian Folk Song ร่วมสมัยใหม่ ด้วยจังหวะสนุกสนาน ต้อนรับการมาถึงของเด็กฝึกงานใหม่ ยังไม่รับรู้ประสีประสาอะไร ต้องคอยติดตาม เรียนรู้งานจากหัวหน้าพนักงานโรงแรม Monsieur Gustave H.
ความโคตรๆน่าสนใจของบทเพลงนี้ คือการนำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ผสมเข้ากับกลองชุด เพื่อสร้างจังหวะให้ผู้ชมรู้สึกสนุกสนาน โยกศีรษะตาม เพลิดเพลินไปกับเหตุการณ์บังเกิดขึ้นกับเด็กฝึกงานหน้าใหม่ Zero
อีกบทเพลงที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษ Daylight Express To Lutz เหมือนว่าจะส่วนผสมของสองบทเพลง
- Last Will And Testament เริ่มต้นด้วย ‘เสียงแห่งความตาย’ สิ่งชั่วร้ายกำลังคืบคลานเข้าหา
- Night Train To Nebelsbad จะมีการสร้างจังหวะด้วยแทมบูรีนและมาราคัส ราวกับเสียงรถไฟกระฉึกกระฉัก
Canto At Gablemeister’s Peak และ Canto At Gablemeister’s Peak คือสองไคลน์แม็กซ์ของหนัง เน้นความยิ่งใหญ่ เว่อวังอลังการ จัดเต็มเครื่องออร์เคสตรา ดนตรีพื้นบ้าน รวมถึงประสานเสียงร้องคอรัส เมื่อถึงจุดๆหนึ่งมันช่างดูเหนือจริง เกินจับต้องได้ อาร์ทชิปหาย ก่อนจบลงอย่าง … เอาตีนก่ายหน้าผาก (face palm)
ทิ้งท้ายด้วยบทเพลง s’Rothe-Zäuerli เป็นคำภาษา Rhawto-Romance (สำเนียง Swiss German) แปลว่า ‘the red sour one’ สำหรับขับร้องในงานเลี้ยงแต่งงาน รวมถึงงานสังสรรค์ ดื่มด่ำ ‘drinking song’ แต่งคำร้องโดย Ruedi Roth & Werner Roth, ขับร้องโดย Öse Schuppel
นี่เป็นบทเพลงได้ยินตอนต้น-ท้ายเรื่อง ช่วงระหว่างอารัมบท-ปัจฉิมบท นำเข้า-ออกจากเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า (story within story) ด้วยคำร้องโหยหวน มอบสัมผัสคร่ำครวญ รำพันถึงเรื่องราว ช่วงเวลา เหตุการณ์ที่หนังนำเสนอมา เป็นสิ่งที่ไม่ต่างจากความเพ้อฝัน หลงเหลือเพียงในความทรงจำ งดงาม ซาบซึ้งกินใจ น่าเสียดายทุกสิ่งอย่างล้วนผ่านพ้น จบสิ้นสูญลงไป
The Grand Budapest Hotel นำเสนอเรื่องราวของ Zero Moustafa จากเคยเป็นเด็กฝึกงาน (Lobby Boy) พานผ่านเรื่องวุ่นๆวายๆ จับพลัดจับพลู เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ‘rags-to-riches’ กลายเป็นเจ้าของโรงแรมหรู แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ทุกสิ่งอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไป ทำให้หลงเหลือเพียงความทรงจำ เรื่องเล่าปรับปรา นวนิยายธรรมดาๆเล่มหนึ่ง
การที่หนังพยายามซ้อนเรื่องเล่า ‘story within story’ เพื่อให้ผู้ชมเกิดสัมผัสกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน เริ่มต้นจากปัจจุบันนั้น (ค.ศ. 2014) กว่าจะไล่ย้อนไปถึง ค.ศ. 1930 มันช่างเยิ่นยาวนาน หลายรุ่น หลายทศวรรษ ทำให้เหตุการณ์เคยบังเกิดขึ้น แปรสภาพสู่เรื่องเล่าขาน และกลายเป็นจินตนาการเพ้อฝันของผู้สร้าง
ใจความแรกของหนังคือสัมผัส ‘nostalgia’ เพ้อรำพัน ฝันจินตนาการถึงอดีต แม้ผกก. Anderson เกิดไม่ทันทศวรรษ 30s แต่สามารถเรียนรู้จัก รับอิทธิพลจากสื่อต่างๆรอบข้าง ทำให้เกิดความชื่นชอบโปรดปราน กลายเป็นช่วงเวลาแห่งอุดมคติ ครุ่นคิดอยากหวนย้อนกลับไปใช้ชีวิต
ทำไมผกก. Anderson ถึงครุ่นคิดอยากมีชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าว? นั่นนำเข้าสู่เรื่องราวของ Monsieur Gustave H. ชายผู้มากด้วยเสน่ห์ เลิศรสนิยม คารมคมคาย จิตใจอ่อนไหว ใส่ใจทุกรายละเอียด (ไม่เชิงว่าเป็นตัวตายตัวแทนผกก. Anderson แต่สามารถมองว่าคืออุดมคติเพ้อใฝ่ฝัน พฤติกรรมหลายสิ่งอย่างก็มีความละม้ายคล้ายคลึงกัน) โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ จงรักภักดี รักพวกพ้อง และมิตรภาพผองเพื่อนที่มอบให้ Zero นั่นคือสิ่งที่ยังพบเจอได้ในอดีต (แบบเดียวกับตอนขึ้นรถไฟรอบแรกแล้วยังสามารถเอาตัวรอด) แต่ปัจจุบัน/ยุคหลังจากนั้น แทบไม่หลงเหลือความมีมนุษยธรรมอีกต่อไป (ขึ้นรถไฟรอบหลังจึงนำพาสู่หายนะ)
To be frank, I think his world had vanished long before he ever entered it. But, I will say, he certainly sustained the illusion with a marvelous grace.
Zero Moustafa
สงคราม (War) เผด็จการ (Fascist) คือสิ่งที่ผกก. Anderson แสดงความคิดเห็นต่อต้าน ไม่เห็นด้วย เพราะมันทำลายช่วงเวลาดีๆ ความทรงจำงดงาม พลัดพรากจากคนรัก และการมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ (ภายหลังสงคราม) ทำให้วิถีชีวิต สภาพสังคม ทุกสิ่งอย่างผันแปรเปลี่ยนไป … ไม่มีทางที่อดีตจะหวนย้อนกลับคืนมา
บางคนอาจสงสัยว่าทำไมโรงแรมไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย? สำหรับใครที่ช่างสังเกตย่อมพบว่า The Grand Budapest Hotel ก็มีการปรับตัวไปตามยุคสมัย แต่ใช่ว่ากระแสนิยมจะยั่งยืนยงคงอยู่ตลอดไป ทุกสิ่งอย่างเมื่อถึงจุดสูงสุดย่อมต้องตกต่ำลงถึงขีดสุด นั่นคือสัจธรรม/วัฎจักรชีวิตที่ไม่มีใครสามารถต่อต้านทาน
ความสมมาตรในสไตล์ Anderson ยังรวมถึงสาสน์สาระ เนื้อเรื่องราวทั้งหมดล้วนมีการนำเสนอในลักษณะหยิน-หยาง สองฟากฝั่งขั้วตรงข้าม สามารถเติมเต็มกันและกัน, อย่างมิตรภาพระหว่าง Gustave H. กับ Zero (ซื่อสัตย์ จงรักภักดี) ตรงกันข้าม Dmitri กับ J. G. Jopling (โฉดชั่วร้าย ทรยศหักหลังผู้อื่น) ฯลฯ
การกำกับภาพยนตร์สำหรับ Anderson เปรียบดั่งครอบครัว (dysfunctional family) ที่ตัวเขาเสมือนเป็นหัวหน้า(ครอบครัว) พยายามสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี รวมถึงสานสัมพันธ์กับสมาชิก ไม่ว่านักแสดง ทีมงาน ราวกับเครือญาติ เพื่อนพี่น้อง แสดงออกด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ จงรักภักดี นั่นคือเหตุผลที่เมื่อใครต่อใครเข้ามาใน ‘แวดวง Anderson’ ก็มักได้ร่วมงานอยู่บ่อยๆครั้ง ติดต่อหากัน ไม่เคยทอดทิ้งใครอยู่เบื้องหลัง
จะว่าไปเจ้าของแท้จริง The Grand Budapest Hotel รวมถึงภาพวาด Boy with Apple (เด็กชายกินผลไม้จากสวนอีเดน ทำให้มีความเฉลียวฉลาด จินตนาการสร้างโลกใบนี้ขึ้นมา) ก็คือผกก. Anderson เพราะสิ่งต่างๆในภาพยนตร์เรื่องนี้ล้วนไม่มีอยู่จริง เพียงในโลกแห่งความเพ้อฝันของผู้สร้างเท่านั้นเอง!
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์วันเปิดงานเทศกาลหนังเมือง Berlin เสียงตอบรับถือว่าดีล้นหลาม สามารถคว้า Silver Bear: Grand Jury Prize (ที่สอง) พ่ายรางวัล Golden Bear ให้กับ Black Coal, Thin Ice (2014) ของผกก. Diao Yinan
ด้วยทุนสร้าง $25 ล้านเหรียญ รายรับในสหรัฐอเมริกา $59.3 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $173 ล้านเหรียญ จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 2023) ยังคงเป็นผลงานประสบความสำเร็จทำเงินสูงสุดของผู้กำกับ Anderson
โดยปกติแล้วเป็นไปได้ยากที่หนังเข้าฉายต้นปี จะมีลุ้นรางวัล Oscar แต่เพราะ ค.ศ. 2014 มีข้อยกเว้นถึงสองเรื่อง The Grand Budapest Hotel (2014) และ Boyhood (2014) [ต่างเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin] เซอร์ไพรส์แรกคือ Golden Globe สามารถคว้ารางวัล Best Film – Musical or Comedy แม้ไม่ใช่ตัวเต็งแต่การันตีเข้าชิงหลายสาขาอย่างแน่นอน (เป็นปีสายแข็ง ลุ้นกันจนวินาทีสุดท้ายระหว่าง Birdman vs. Boyhood)
- Academy Award
- Best Picture
- Best Director
- Best Original Screenplay
- Best Cinematography
- Best Film Editing
- Best Production Design **คว้ารางวัล
- Best Costume Design **คว้ารางวัล
- Best Makeup and Hairstyling **คว้ารางวัล
- Best Original Score **คว้ารางวัล
- Golden Globe Award
- Best Film – Musical or Comedy ** คว้ารางวัล
- Best Director
- Best Actor – Musical or Comedy (Ralph Fiennes)
- Best Screenplay
ฉบับดีที่สุดหารับชมได้ในปัจจุบันคือ DVD/Blu-Ray ของ Criterion Collection ได้ทำการสแกนภาพ 2K กำกับดูแลโดย Anderson และจัดเต็ม Special Feature อาทิ Commentary, บทสัมภาษณ์ทีมงาน/นักแสดง, สารคดีเบื้องหลัง, รวมถึงบางซีนของ Animatics Storyboard ให้พอรับรู้ว่าคืออะไร
ไม่รู้เพราะผมเพิ่งรับชมผลงานผกก. René Clair เลยเกิดความชื่นชอบประทับใจ The Grand Budapest Hotel (2014) สัมผัสได้ถึงสิ่งที่ผกก. Anderson คร่ำครวญถวิลหา บรรยากาศ ‘nostalgia’ หวนระลึกถึงทศวรรษ 30s ช่วงเวลาที่แม้ไม่เคยมีชีวิตพานผ่าน แต่ครุ่นคิดอยากเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์
ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผมหลงใหลคลั่งไคล้หนังอย่างมากๆ คือสัมผัสของผู้กำกับดังๆ Ernst Lubitsch, René Clair, Jean Renoir, Jean Vigo, Max Ophüls ฯ ใครเคยรับชมผลงานของปรมาจารย์เหล่านี้ ย่อมพบเห็นอิทธิพล แรงบันดาลใจ เป็นการเคารพคารวะประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แห่งวงการภาพยนตร์
ผมเพิ่งมาตระหนักว่ายังแทบไม่เคยเขียนถึงผลงานของผกก. Anderson (นอกจาก Fantastic Mr. Fox (2009)) แต่ยังไม่มีแผนจะเขียนนะครับ เพราะแค่เรื่องนี้ก็ใช้เวลาหลายวันเกิ้น ปล่อยให้ลุ้นว่าผมจะหาโอกาสอื่นได้อีกหรือเปล่า
จัดเรต 13+ กับภาพความรุนแรง อาชญากร กระทำสิ่งผิดกฎหมาย และความตายของเจ้าเหมียว
มีซีนนึงที่ Zero บอกรัก Agatha ว่า “I Love Agatha” ก็คิดเลยว่าหนังเรื่องนี้เป็นเสมือนจดหมายบอกรักของผู้กำกับถึง Agatha Christie ไปในตัว เพราะสไตล์พล็อตเนื้อเรื่องและพื้นหลังของเรื่องนี่มันนิยายสืบสวนของ Agatha ชัดๆ ทั้งคดีอาชญากรรม ตัวละครเป็นกลุ่มผู้ดีชั้นสูง/ชั้นกลางค่อนสูง การรวมตัวของตัวละครเยอะแยะมากมายในสถานที่หรูหราแต่กึ่งปิดตาย (นิยายอกาธาเอื้อต่อการทำเป็นแนวหนังรวมดาวอยู่แล้ว) ฉากหลังที่มีบรรยากาศรอยต่อระหว่างหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กับก่อนเกิดครั้งที่ 2
ส่วนสไตล์ทางภาพยนตร์นี่ พอดูหนังของ Ernst Lubitsch กับพวกหนังฝรั่งเศสยุค 30-40 นี่เห็นอิทธิพลค่อนข้างเยอะเลยเหมือนกัน
กับ Ernst คือแนวชวนหัวแต่หน้าตายหรือจริงจัง แต่ละฉากละซีนเล่นกับสถานที่/พื้นที่ๆนึงไปมา พูดคำคมเล่นคำสำนวนโต้ตอบรับส่งมุขกันยาวๆ
ส่วนพวกหนังฝรั่งเศส ก็เหมือนตรงดำเนินเรื่องราวอลวนอลหม่านในวงผู้ดีชนชั้นกลางถึงสูง โดยเฉพาะฉากหลังถ้าเป็นฉากภายในสิ่งก่อสร้างจะมีความเป็นศิลปะสูง แต่ถ้าข้างนอกจะแสดงทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงามแบบพวก french impressionist แทน
แต่ว่าไป ฉากกระเช้านี่แอบนึกถึงหนัง Night Train to Munich (1940) ของ Carol Reed เหมือนกันนะ สไตล์บรรยากาศหลายๆอย่างก็พอจะคล้ายๆ โดยเฉพาะนาซีบนรถไฟ บรรยากาศช่วงเริ่มต้นสงครามโลกที่ 2 เน้นการพูดสนทนา จบท้ายด้วยการไล่ล่าแถวภูเขาอีก น่าให้เขียนถึงเรื่องนี้บ้าง