The Grapes of Wrath (1940) : John Ford ♥♥♥♥
‘ผลพวงแห่งความคับแค้น’ ดัดแปลงจากนิยายรางวัล Pulitzer Prize ของนักเขียนสัญชาติอเมริกัน John Steinbeck นำแสดงโดย Henry Fonda พาครอบครัวออกเดินทางจาก Oklahoma สู่ California อันเนื่องจากผลกระทบของยุคสมัย Great Depression สูญเสียบ้านฟาร์มและที่ดิน เริ่มต้นด้วยความหวัง แต่กลับพบเจอแต่ความชั่วร้ายคอรัปชั่น, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ผมไม่เคยอ่านนิยาย The Grapes of Wrath แต่เห็นว่าได้รับการยกย่อง ‘1 ใน 100 หนังสือต้องอ่านแห่งศตวรรษ 20’ แถมคือผลงานชิ้นโบว์แดงที่ทำให้ John Steinbeck คว้ารางวัล Nobel Prize in Literature เมื่อปี 1962, ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ ‘ผลพวงแห่งความคับแค้น’ แปลโดยณรงค์ จันทร์เพ็ญ ตีพิมพ์ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ใครสนใจยังพอมีขายมือสองในอินเตอร์เน็ต
รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ผมพอมองเห็นความยิ่งใหญ่ของนิยายขึ้นมาทันทีเลยละ เพราะผู้กำกับ John Ford สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนยุคสมัยนั้นออกมาได้อย่างทรงพลัง ทั้งๆที่ตัวเขาเป็นพวกขวาจัด (right-wing) แต่กลับสามารถดัดแปลงสร้างเรื่องราวออกไปทางซ้ายจัด (left-wing) มีเข้าใจถึงระดับจิตวิญญาณ
เว้นเพียงตอนจบอย่างเดียวกระมังที่ต่างออกไป แต่ไม่ใช่เพราะทัศนะทางการเมืองของผู้กำกับนะครับ ในฉบับนิยายว่ากันว่าเป็นอะไรที่สุดช็อคโลก สร้างความตกตะลึงงันให้ผู้อ่าน ใครกันจะไปคาดคิดถึง! แฝงนัยยะความหมายส่งเสริมสนับสนุนโลกยุคใหม่อย่างเด่นชัดเจน
John Ernst Steinbeck, Jr. (1902 – 1968) นักเขียนนวนิยายสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Salinas, California, อาศัยอยู่บ้านหลังเล็กๆที่ชนบท ปิดเทอมฤดูร้อนช่วยครอบครัวหาเงินด้วยการทำงานฟาร์ม Sugar Beet ที่แสนเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก โตขึ้นเข้าเรียนวรรณกรรมภาษาอังกฤษที่ Stanford University แต่ไม่ทันจบออกมาดิ้นรนหางานทำ เริ่มเขียนหนังสือแต่ยังขายไม่ออก, ช่วง Great Depression หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีชีวิตอย่างยากลำบาก จนกระทั่งนิยายเล่มแรก Cup of Gold (1929) ได้รับการตีพิมพ์ชีวิตถึงค่อยๆดีขึ้น, ประสบความสำเร็จครั้งแรกกับ Tortilla Flat (1935) ตามด้วย In Dubious Battle (1936), บทละคร Of Mice and Men (1937), The Grapes of Wrath (1939), East of Eden (1952) ฯ และปี 1962 ขึ้นรับรางวัล Nobel Prize in Literature
“realistic and imaginative writing, combining as it does sympathetic humor and keen social perception.”
จุดเริ่มต้นของ The Grapes of Wrath มาจากการที่ Steinbeck เคยเขียนบทความเชิงสารคดี The Harvest Gypsies ยาว 7 ตอนประกอบรูปภาพ ลงในหนังสือพิมพ์ The San Francisco News ช่วงเดือนตุลาคม 1963 เรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางของแรงงานผู้อพยพในช่วง Great Depression ออกจากบ้านฟาร์มที่ดินถูกยึด มุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่เพื่อหางานใหม่ทำ แต่ชีวิตกลับไม่ง่ายดั่งฝัน
คงเพราะชีวิตของ Steinbeck ตั้งแต่เด็ก เคยพบเห็นรับรู้เรื่องราวลักษณะนี้ ทำให้มีความเข้าใจหัวอกของเหล่าชาวนาชนบททั้งหลาย ที่ต้องทอดทิ้งพลัดพรากผืนดินถิ่นบ้านเกิดของตนเอง เขาจึงตัดสินใจนำแนวคิดนี้มาพัฒนาต่อเป็นนิยายเรื่องใหม่
ครอบครัว Joad อาศัยอยู่ Sallisaw, Oklahoma มาเป็นเวลาแสนนาน แต่ช่วงทศวรรษ 30s ยุคสมัย Great Depression กลับถูกธนาคารขับไล่ที่ นำรถแทร็กเตอร์พังบ้านพังย่อยยับเยิน พวกเขาตัดสินใจอพยพมุ่งสู่ California ด้วยความหวังได้ทำงานเป็นคนเก็บองุ่น ออกเดินทางบนถนนสาย Route 66 พอถึงปลายทางได้พบเจอผู้คนอีกมากที่ต่างมาแสวงโชค ทำให้ต้องหาทางดิ้นรนเอาตัวรอดไปเรื่อยๆ บางที่กดค่าแรงแสนถูกจนแทบไม่เพียงพอกิน อะไรมันคือสาเหตุจุดเริ่มต้นของปัญหาพวกนี้กัน?
มีการวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวางถึงแนวทางการเขียนนิยายเรื่องนี้ของ Steinbeck ว่ามีลักษณะคล้ายกับคัมภีร์ไบเบิ้ล
– เรื่องราวการอพยพของครอบครัว Joad เริ่มจากถูกขับไล่ ออกเดินทาง พบเจอบ้านใหม่ นี่มีลักษณะคล้ายเรื่องราว Exodus ทาสชาว Hebrews (Jews) นำโดย Moses อพยพหนีทหารอิยิปต์ข้ามทะเลแดง เป้าหมายคือดินแดนแห่งพันธสัญญา Canaan แต่ใช่ว่าไปถึงแล้วพวกเขาจะพบเจอความสงบสุขดั่งใจหวัง
– ตัวละคร Jim Casy ตีความได้เป็นตัวแทนของ Jesus Christ ออกเดินทางเพื่อค้นหาความเข้าใจชีวิต เมื่อค้นพบแล้วก็พร้อมยอมเสียสละตัวเอง ถึงตัวจะถูกฆ่าแต่จิตวิญญาณและแนวคิดยังคงอยู่
– Tom Joad ไม่เชิงเป็น Moses แต่คืออัครสาวกสักคนหนึ่งของ Jesus Christ ที่ตอนแรกอาจยังไม่รู้เข้าใจอะไร แต่เมื่อพบเห็นการตายของ Casy จึงค่อยๆเรียนรู้เข้าใจวิถีของโลก และตัดสินใจออกเดินทางตามรอยเหมือนผู้เผยแพร่ศาสนา
– ความหมายในเชิงสัญลักษณ์ขององุ่น ‘Grapes’ ที่มาของชื่อนิยายได้แรงบันดาลใจจากบทเพลง The Battle Hymn of the Republic (1861) แต่งโดย Julia Ward Howe อ้างอิงถึงคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ (Revelation 14:19–20)
Mine eyes have seen the glory of the coming of the Lord:
He is trampling out the vintage where the grapes of wrath are stored;
He hath loosed the fateful lightning of His terrible swift sword:
His truth is marching on.
ความสำเร็จของนิยาย The Grapes of Wrath กลายเป็น Best-Selling แห่งปี 1939 ยอดขายประมาณ 430,000 เล่ม เข้าตาโปรดิวเซอร์ Darryl F. Zanuck แห่งสตูดิโอ Fox ที่มีความชื่นชอบหนังสือเล่มนี้มากๆ ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เป็นมูลค่าสูงถึง $100,000 เหรียญ (บางที่ว่า $70,000 เหรียญ) ค่อนข้างมหาศาลทีเดียวในทศวรรษนั้น
นี่เป็นโปรเจคที่ Zanuck เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก แม้ในตอนแรกจะไม่แน่ใจว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า จึงส่งสายสืบเข้าไปที่ค่ายผู้อพยพ เมื่อรายงานรูปถ่ายปรากฎตรงหน้าถึงกับช็อค เพราะมันเป็นความจริงทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เขาจึงทุ่มเทตั้งใจสร้างหนังเรื่องนี้ให้เป็น ‘personal project’ เลือกหลายสิ่งอย่างด้วยตนเอง ตั้งแต่ผู้กำกับ John Ford, นักแสดงนำ Henry Fonda, กำกับฉากสุดท้าย, และตรวจทาน Post-Production การตัดต่ออย่างละเอียด
John Ford ชื่อเดิม John Martin ‘Jack’ Feeney (1894 – 1973) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Cape Elizabeth, Maine มีความสนใจด้านภาพยนตร์ตามรอบพี่ชาย Francis Ford สู่ Hollywood เริ่มต้นจากเป็น Stuntman, นักแสดงสมทบ แล้ว Universal จับเซ็นสัญญาให้กลายเป็นผู้กำกับ ผลงานหนังสั้นเรื่องแรก The Tornado (1917) [สูญหายไปแล้ว] ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงกับ The Iron Horse (1924), Three Bad Men (1926) มีผลงานหนังพูดเรื่องแรก Mother Machree (1928), ถือสถิติคว้า Oscar: Best Director ถึง 4 จาก 5 ครั้งที่ได้เข้าชิง ประกอบด้วย The Informer (1935), Stagecoach (1939) ** เรื่องเดียวที่ไม่ได้รางวัล, The Grapes of Wrath (1940), How Green Was My Valley (1941), The Quiet Man (1952)
Ford เป็นคนที่มีทัศนะทางการเมืองเข้มข้นรุนแรงตรงไปตรงมา แต่ไม่ชอบนำประเด็นความขัดแย้งใส่ลงในภาพยนตร์ของตนเอง เคยให้สัมภาษณ์บอกชื่นชอบปธน. Franklin D. Roosevelt, John F. Kennedy ของ Democrats และ Abraham Lincoln ของ Republican แต่ตัวเขาถูกมองว่าเข้าพวกขวาจัดอนุรักษ์นิยม (ฝั่ง Republican) เพราะความสนิทสนมกับ John Wayne, James Stewart, Maureen O’Hara ฯ และภาพยนตร์หลายๆเรื่อง มักมีใจความโหยหา หวนระลึก (Nostalgia) ถึงอดีต
เมื่อ Ford ได้รับมอบหมายจาก Zanuck ให้ดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ซ้ายจัด (Left-Wing) เรื่องนี้ ตัวเขาจึงเลือกความสนใจ โฟกัสอยู่ที่ความน่าสงสารเห็นใจครอบครัวของ Joad เป็นหลัก
“I was sympathetic to people like the Joads, and contributed a lot of money to them, but I was not interested in Grapes as a social study.”
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Nunnally Johnson (1897 – 1977) สัญชาติอเมริกัน จากนักข่าวหนังสือพิมพ์กลายเป็นนักวิจารณ์ สู่นักเขียนของสตูดิโอ United Artists ทำให้รู้จัก กลายเป็นขาประจำของ Darryl F. Zanuck กับสตูดิโอ Fox ผลงานเด่นอาทิ The Grapes of Wrath (1940), Holy Matrimony (1943), The Man in the Gray Flannel Suit (1956), Phone Call from a Stranger (1952), The Dirty Dozen (1967) ฯ
นำแสดงโดย Henry Jaynes Fonda (1905 – 1982) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Grand Island, Nebraska ในครอบครัว Christian Scientist วัยเด็กเป็นคนขี้อาย หวาดกลัวสาวๆ ชอบว่ายน้ำ เล่นสเก็ต และออกวิ่ง โตขึ้นวาดฝันเป็นนักข่าว เข้าเรียน University of Minnesota แต่ไม่จบ กลายมาเป็นนักแสดงที่ Omaha Community Playhouse ครั้งหนึ่งได้ร่วมงานกลายเป็นเพื่อนสนิทกับ James Stewart อาศัยอยู่ห้องพักเดียวเดียวกัน, หลังประสบความสำเร็จจากการแสดง Broadway เรื่อง The Farmer Takes a Wife (1934) กลับมารับบทเดิมในฉบับภาพยนตร์ปี 1935 ตามด้วย You Only Live Once (1937), Jezebel (1938), Young Mr. Lincoln (1939) ร่วมงานครั้งแรกกับผู้กำกับ Ford เรื่อง Jesse James (1939), ผลงานที่กลายเป็นตำนานเริ่มตั้งแต่ The Grapes of Wrath (1940), The Lady Eve (1941), The Ox-Bow Incident (1943), My Darling Clementine (1946), War and Peace (1956), 12 Angry Men (1957), How the West Was Won (1965) ฯ
รับบท Tom Joad ชายหนุ่มนิสัยดีแต่หัวรุนแรง ‘ใครดีมาดีตอบ ชั่วมาร้ายกลับ’ ถูกจับติดคุกข้อหาเมาแล้วฆ่าผู้อื่น ได้รับทัณฑ์บนปล่อยตัวก่อนกำหนดเพราะพฤติกรรมดี เดินทางกลับบ้านฟาร์มที่ Oklahoma แต่ไม่มีใครอาศัยอยู่ ออกตามหาจนพบ รับรู้สาเหตุว่าถูกขับไล่ที่ มาทันพอดีก่อนเริ่มออกเดินทางสู่ California กลายเป็นเสาหลักพึ่งพิงของครอบครัวโดยพลัน
แต่ระหว่างการเดินทาง Tom ก็ได้เรียนรู้พบเจออะไรมากมาย ชีวิตเข้าไปพัวพันกับความรุนแรงที่ยินยอมรับไม่ได้ จนกระทั่งการเสียชีวิตของ Jim Casy (รับบทโดย John Carradine) ทำให้เขาเริ่มคิดเองได้ ต้องการกระทำอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเองหรือครอบครัว แต่ยังทุกๆคนโลกจะไม่ต้องมีชีวิตกลายเป็นอย่างที่พวกเขาประสบอยู่นี้อีก
“Wherever there’s a fight so hungry people can eat, I’ll be there.”
โปรดิวเซอร์ Zanuck รับรู้ว่า Fonda ต้องการบทนี้มาก ซึ่งเขาก็ตั้งใจมอบให้อยู่แล้ว แต่เพราะเจ้าตัวไม่เคยเซ็นสัญญาผูกมัดกลับสตูดิโอไหนมาก่อน ซึ่งเมื่อติดต่อมาก็เล่นจิตวิทยาพูดยั่วว่า ‘จะมอบบทนี้ให้กับ Tyrone Power ถ้านายอยากได้ก็ต้องเซ็นสัญญาระยะยาวกับ Fox’ สาเหตุที่ยินยอมตกลงเพราะรับรู้ตัวว่า นี่จะคือบทบาทดีที่สุดแห่งชีวิตการแสดง (role of a lifetime)
ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆสำหรับ Fonda แม้จะเป็นการแสดงแห่งยุคคลาสสิก แต่น้ำเสียง คำพูด สายตาของเขา สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวละคร ออกมาจากความรู้สึกภายในจิตใจโดยแท้ นี่ขนาดว่าผู้เขียน Steinbeck เอ่ยปากชื่นชม ประทับใจการแสดงอย่างยิ่งยวดว่า
“Henry Fonda as Tom Joad made me ‘believe my own words’.”
นี่ทำให้ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิทไปมาหาสู่กันเลย และตอนที่ Steinbeck เสียชีวิตเมื่อปี 1968 หนึ่งในผู้พูดสดุดีต่อหน้าหลุมฝังศพก็คือ Fonda นี้แหละ
น่าเสียดายที่ Oscar: Best Actor ครั้งนี้ พ่ายแพ้ให้กับเพื่อนสนิท James Stewart จากเรื่อง The Philadelphia Story (1940) ซึ่งกว่าที่ Fonda จะได้เข้าชิงอีกครั้งและคว้ารางวัลได้สำเร็จก็ On Golden Pond (1981) ระยะเวลา 41 ปีให้หลัง ถือเป็นสถิติระยะห่างกว้างที่สุดของการเข้าชิง 2 ครั้ง
John Carradine ชื่อเดิม Richmond Reed Carradine (1906–1988) นักแสดงสมทบในตำนาน สัญชาติอเมริกัน ในชีวิตมีผลงานกว่า 300+ เรื่อง เกิดที่ New York เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที รู้จักกับ John Barrymore พามาแนะนำ Cecil B. DeMille มีชื่อขึ้นเครดิตเรื่องแรก Tol’able David (1930) แต่เจ้าตัวอ้างว่า ก่อนหน้านั่นเล่นหนังมา 70 เรื่องแล้ว ผลงานที่ถ้าสังเกตดีๆอาจคุ้นหน้า อาทิ The Hurricane (1937), Stagecoach (1939) รับบท Hatfield, The Grapes of Wrath (1940), The Ten Commandments (1956), The Man Who Shot Liberty Valance (1962) ฯ
รับบท Jim Casy อดีตนักเทศน์ เคยเป็นผู้ Baptized ให้กับ Tom Joan แต่วันหนึ่งเกิดสูญเสียสิ้นศรัทธา ‘lost the spirit’ เร่ร่อนล่องลอยไปเรื่อยๆไร้หลักแหล่ง บังเอิญพบเจอกับ Tom ขณะเขากำลังกลับบ้าน ได้ติดตามออกเดินทางมาด้วยสู่ California ครั้งหนึ่งเสียสละตนเองยอมให้ถูกจับ ตั้งใจคงจะเข้าคุกแต่กลับถูกพาไปปล่อยตัวออกนอกเมือง ทำให้ได้พบเจอเข้าใจสัจธรรมบางอย่างของชีวิต แนะนำให้กับ Tom ที่โคตรบังเอิญกลับมาพบเจออีกครั้ง ก่อนถูกทุบหัวฆ่าปิดปาก
การแสดงของ Carradine ดูไม่ค่อยจะเป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ มีความล่องลอยโบยบิน ความคิดอ่าน คำพูดสายตา ราวกับไม่ได้จับจ้องมองอยู่บนโลกมนุษย์ ถ้าคุณเปรียบตัวละครนี้กับ Jesus Christ จะรู้สึกว่าใกล้เคียง มีความคล้ายคลึงอยู่นะ (ทำให้ผมนึกถึง Jesus Christ เรื่อง The Greatest Show on Earth มีลักษณะคล้ายกันมากๆอยู่)
Jane Darwell ชื่อเดิม Patti Woodard (1879 – 1967) นักแสดง/นักพากย์หญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Palmyra, Marion County Missouri ตอนเด็กตั้งใจเป็นนักแสดงคณะละครสัตว์ ไม่ก็นักร้องโอเปร่า แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อ เลยหนีไปเป็นนักแสดงละเปลี่ยนชื่อเพื่อไม่ให้เสียชื่อวงศ์ตระกูล เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวทีที่ Chocago ได้เล่นหนังตั้งแต่ปี 1913 เริ่มเป็นที่คุ้นหน้ากับ Tom Sawyer (1930), ได้รับบทสมทบมากมายอาทิ, Jesse James (1939), Gone With the Wind (1939), The Ox-Bow Incident (1943), My Darling Clementine (1946) ฯ ไฮไลท์ในอาชีพคือ คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actress จาก The Grapes of Wrath (1940)
รับบท Ma Joad แม่ของ Tom เป็นผู้แบกรับภาระดูแลปากท้องของครอบครัว เข้าใจหัวอกของลูกชาย มองเห็นเนื้อแท้ว่าเป็นคนดี ภายนอกเป็นคนเข้มแข็ง แต่ภายในอ่อนไหว อ่อนโยน มีความอดกลั้นและสามารถให้กำลังใจกับผู้อื่นให้สามารถต่อสู้ดิ้นรนมีชีวิตต่อไป
ประโยคคำพูดตอนจบของตัวละครนี้ กินใจผู้ชมมากๆ เป็นฉากที่ต่างจากนิยาย และ Zanuck เป็นคนกำกับ
“Rich fellas come up an’ they die, an’ their kids ain’t no good an’ they die out. But we keep a’comin’. We’re the people that live. They can’t wipe us out; they can’t lick us. We’ll go on forever, Pa, ’cause we’re the people.”
การแสดงของ Darwell มีความซาบซึ้งกินใจอย่างยิ่ง คือแม่ที่ได้แค่จับจ้องเฝ้ามองดู มากสุดคือพูดแสดงความรู้สึกเป็นห่วงใย แต่ก็มิเคยบังคับขู่เข็นใจผู้อื่น มันจึงเป็นความเศร้าสลดอันเหลือล้น กับการมองเห็นลูกสุดที่รักเดินจากไป อยากที่จะเหนี่ยวรั้งไว้แต่ก็มิอาจกระทำได้ หัวใจสลายแหลกละเอียดเป็นผุยผง
ผู้กำกับ Ford ไม่นิยมการถ่ายซ้ำๆหลายเทค หรือแม้แต่ซักซ้อมเตรียมตัวชี้แนะนักแสดง ชอบที่จะเทคเดียวผ่าน ซึ่งกับฉากไคลน์แม็กซ์ระหว่าง Tom กับ Ma ขณะกำลังเริ่มถ่ายทำ ผู้กำกับสั่งให้นักแสดงทั้งสองอยู่ในอาการสงบนิ่งพักใหญ่ๆ พอเห็นขณะที่พวกเขาพร้อมแล้วก็ส่งสัญญาณให้เริ่มการแสดง ปรากฎว่าราบรื่นเทคเดียวผ่านจริงๆ Fonda ถึงกับเอ่ยปากชมว่า ‘brilliant’
ถ่ายภาพโดย Gregg Toland (1904 – 1948) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคนิคการจัดแสง และ Deep Focus กลายเป็นตำนานกับ Wuthering Heights (1939), The Long Voyage Home (1940), Citizen Kane (1941), The Best Years of Our Lives (1946) ฯ
ส่วนใหญ่ของหนัง สร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอของ Fox ที่ Los Angeles เว้นเพียงขณะเดินทางบนถนน ตั้งแต่ Oklahoma จนถึง California กองถ่าย Second Unit ถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด
สิ่งโดดเด่นมากๆของงานภาพ คือการจัดแสงตอนกลางคืน มีความมืดมิดสนิท Low Key มองอะไรแทบไม่เห็น, ฉากในบ้านหลังเก่าของ Tom ที่ถูกทิ้งร้าง ใช้แสงเทียนเพียงแท่งเดียวเท่านั้นให้ความสว่าง
ฉากที่ Jim Casy ถูกฆ่าตาย หลายคนอาจกระพริบตาปริบๆ พยายามสังเกตจับจ้องมอง ก็ไม่พบเห็นใบหน้าของตำรวจสักนาย สังเกตว่าเป็นการถ่ายย้อนแสง ไม่มีความสว่างส่องไปถึงเจ้าหน้าที่คอรัปชั่นพวกนี้เลยสักคน
นี่มีนัยยะถึง ‘ใครก็ได้’ เป็นการเหมารวมถึงคนชั่ว ไม่จำเป็นต้องแสดงให้เห็นรูปลักษณ์หน้าตาว่าเป็นเช่นไง แค่รับรู้ว่านี่คือด้านมืดของสังคมก็เพียงพอแล้ว
สำหรับช็อตที่ได้รับการพูดถึงเยอะสุดถึงความสร้างสรรค์ของ Toland กับการเล่นกับแสง คือเทียนในอุ้มมือของ Tom สาดส่องลงบนใบหน้าของแม่ Ma ก่อนเขาจะเริ่มเก็บเสื้อผ้าข้าวของ เพื่อหลบหนีออกจากการถูกตำรวจไล่ล่าจับกุม
สำหรับช็อตที่เป็นลายเซ็นต์ของผู้กำกับ John Ford นี่ผมก็เพิ่งสังเกตเห็นนะ หนังของเขาหลายๆเรื่องมักต้องมีช็อตที่ถ่ายติดท้องฟ้า ก้อนเมฆ มีนัยยะความหมายลักษณะคล้ายๆกันนี้
นี่เป็นช็อตขณะที่ Tom Joad ออกเดินทางจากลาครอบครัว มุ่งสู่หนทางเป้าหมายใหม่ของตนเอง แต่เราจะมองเห็นเขาเป็นเพียงเงาดำเล็กๆที่เคลื่อนไปในผืนแผ่นดินและท้องฟ้า, นัยยะช็อตนี้เป็นการเปรียบเทียบ ‘มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ในโลกอันกว้างใหญ่’
การร่วมงานกันครั้งแรกนี้ของ Toland กับ Ford เป็น Prologue ก่อนเริ่มต้นการทดลองเทคนิคถ่ายภาพ Deep Focus ที่จะถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง The Long Voyage Home (1940) และส่งไม้ต่อให้กับ Citizen Kane (1941)
ตัดต่อโดย Robert L. Simpson สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นอาทิ The Grapes of Wrath (1940), Miracle on 34th Street (1947), The King and I (1956), South Pacific (1958) ฯ
ถือได้ว่าหนังเล่าเรื่องในมุมมองของตัวละคร Tom Joad ยกเว้นเพียงฉากย้อนอดีต Flashback ของ Muley Graves (รับบทโดย John Qualen) อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเขา และฉากสุดท้าย Epilogue ส่งไม้ต่อให้กับแม่ Ma Joad เพื่อพูดวลีเด็ด
เราสามารถแบ่งหนังออกได้เป็น 3 องก์
– องก์ 1 Oklahoma: ความพิบัติล่มจมของตระกูล Joad
– องก์ 2 Highway 66: การเดินทางสู่ดินแดนแห่งความหวังใหม่
– องก์ 3 California: ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดในดินแดนแห่งความฝัน
เกร็ด: หนังมีชื่อปลอมสำหรับใช้ตอนถ่ายทำคือ Highway 66
เพลงประกอบโดย Alfred Newman ได้นำทำนองบทเพลงพื้นบ้าน Folk Song/Cowboy Music ที่ชื่อ Red River Valley มาเรียบเรียงทำนองขึ้นใหม่เป็น Main Theme ประกอบหนัง และช่วงประมาณกลางเรื่องจะมีช่วงที่ Henry Fonda ขับร้องเพลงนี้ด้วยตนเองด้วย
เนื่องจากหาบทเพลงที่ใช้ประกอบหนังไม่ได้ เลยนำเอาฉบับ Harmonica มาให้รับฟังแก้ขัด
มีอีกหนึ่งบทเพลงพื้นบ้านอเมริกัน Going Down the Road Feeling Bad หรือ Lonesome Road Blues ในหนังขับร้องโดย Eddie Quillan แต่ผมก็หาฉบับนี้ให้ฟังไม่ได้เช่นกัน เลยนำของ Woody Guthrie บันทึกเสียงปี 1944 มาให้รับฟังกัน
The Grapes of Wrath มีเรื่องราวที่นำเสนอความทุกข์ยากหายนะของมวลมนุษย์ คนชั้นล่างของสังคม ที่พยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อมีชีวิตเอาตัวรอดในโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแนวคิดทัศนคติใหม่ให้กับผู้คนในสังคม บอกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณเพียงครอบครัวเดียว แต่มีเพื่อนร่วมชะตากรรมได้รับผลกระทบเหมือนกันนับร้อยพันหมื่นแสน ถ้าพวกเราสามารถรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่น ย่อมสามารถอดทนต่อสู้ เอาชนะความอยุติธรรมทั้งหลายที่เกิดได้
ตอนจบของนิยาย เป็นสิ่งที่สร้างความตกตะลึงให้ผู้อ่านเป็นอย่างมาก เมื่อหญิงสาว Rose/Rosasharn หลังจากคลอดบุตรกำลังให้นมในโรงนา มีชายชราผู้หิวโหยใกล้ตายผ่านมา เธอตัดสินใจให้เขาดูดน้ำนมของตนเองเพื่อประทังชีพ, การกระทำนี้มีนัยยะถึง ‘สายธาร’ ของชีวิตที่ยังคงหลั่งไหลต่อเนื่องไปอย่างไม่แห้งเหือด ไม่จำกัดเพศวัยฐานะ ต่างมีสิทธิ์ที่จะดื่มด่ำและแหวกว่ายได้อย่างทัดเทียมกัน
นี่คือเหตุผลที่ทำให้นิยายเรื่องนี้จัดเป็นกลุ่มซ้ายจัด (left-wing) เพราะส่งเสริมชี้แนะนำให้ผู้คนยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคสมัยใหม่ คนแก่รุ่นเก่าที่มิอาจปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างปู่ย่าก็ให้รีบๆเสียชีวิตจากไป (ปู่ตายตอนยังอยู่ในดินแดนของ Oklahoma, ย่าเสียหลังจากเข้าสู่แผ่นดิน California) แม้พบเจอความทุกข์ยากลำบาก ชั่วร้ายคอรัปชั่นมากมาย ก็ให้รวมตัวจับกลุ่มกันเป็นปึกแผ่น เท่านี้ก็ไม่มีภัยอะไรจากภายนอกสามารถทำลายพวกเราลงได้ เมื่อถึงจุดนั้นก็จะไม่ใช่แค่ตัวเองหรือครอบครัว Tom Joad ได้ค้นพบจิตวิญญาณความต้องการของตนเอง คือการต่อสู้เพื่อผู้อื่น
ผู้กำกับ Ford ไม่ได้มองนิยายเรื่องนี้ในประเด็นการเมือง แต่ด้วยความน่าสงสารเห็นใจของครอบครัว Joad เป็นหลัก ใช้การเล่าเหตุการณ์แบบคร่าวๆแค่ให้เห็นภาพดำเนินไป ไม่ได้เจาะจงนำเสนอความทุกข์ยาก เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาดของตัวละครขณะดิ้นรนต่อสู้ ทำงานหนัก ขุดดินปลูกพืชผัก หรือแม้แต่เก็บเกี่ยวผลองุ่น ฯ (จะไม่เห็นองุ่นสักเม็ดในหนัง)
ใจความของหนังในทิศทางของผู้กำกับ จะมีเพียงอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากการต่อสู้ดิ้นรนปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่ของครอบครัว Joad มันอาจไม่เหมือนเดิมแต่เก่าก่อน ก็ใช่ว่าสูญสิ้นหวังหมดหนทางออก เพราะชีวิตยังต้องดำเนินไป ถ้าไม่ยินยอมแพ้เสียก่อน สักวันย่อมต้องค้นพบเส้นทางที่สมประสงค์ดั่งใจหมาย
ส่วนตัวมองว่า The Grapes of Wrath เป็นเรื่องราวที่ทิ้งปัญหารูปธรรมไว้มากมาย แต่กลับนำเสนอทางออกในเชิงแนวคิดนามธรรม ด้วยการยกตัวอย่าง ‘รวมกันเราอยู่’ ใช้แก้ปัญหาในงานเลี้ยงเต้นรำผ่านไปได้อย่างลุล่วง สันดานของคนมันไม่เปลี่ยนกันง่ายแน่ๆ ตำรวจชั่วคอรัปชั่นทำยังไงก็ไม่หมดสิ้นไป นายทุนนักธุรกิจเจ้าของฟาร์ม ยังคงหาวิธีทำยังไงก็ได้ให้จ่ายค่าแรงต่ำๆแล้วได้ผลผลิตสูงสุด
ไม่ใช่ว่าการจะแก้ปัญหาเรื่องราวลักษณะนี้ มันต้องเริ่มที่การปลูกฝังจิตสำนึกที่ ‘ตัวบุคคล’ กันก่อนหรือ? กับการรวมกันเราอยู่มันคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือเปล่า?
ด้วยทุนสร้างประมาณ $800,000 เหรียญ ทำเงินได้ $2.5 ล้านเหรียญ นี่น่าจะเพราะออกฉายในช่วงเวลาเข้าใกล้สงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากผู้ชื่นชอบเคยอ่านนิยาย ก็คงจากคนที่สามารถเอาตัวรอดผ่านช่วงชีวิตยุคสมัย Great Depression มาได้ หนังเลยประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงทีเดียว
เข้าชิง Oscar 7 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Actor (Henry Fonda)
– Best Supporting Actress (Jane Darwell) ** ได้รางวัล
– Best Writing Adapted Screenplay
– Best Film Editing
– Best Sound Recording
ในปีนี้ยังมีหนังของผู้กำกับ John Ford อีกเรื่องที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Picture คือ The Long Voyage Home (1940) เลยไม่แปลกที่จะไปแย่งคะแนนโหวตกันเอง ซึ่งเรื่องที่ได้รางวัลใหญ่ปีนั้นคือ Rebecca (1940) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock ซึ่งก็มีหนังอีกเรื่องที่ได้เข้าชิงเหมือนกันคือ Foreign Correspondent (1940)
ส่วนตัวไม่ค่อยชอบแนวเครียดๆ Socialist แบบนี้สักเท่าไหร่ แต่กับหนังเรื่องนี้ทำให้ผมเกิดอารมณ์สงสารทุกข์ทรมานเห็นใจมากๆ กับแม่ที่ต้องเข้มแข็งอดกลั้นต่อการสูญเสียจากไปของลูกและคนในครอบครัว ถ้าพบเจอเข้ากับตัวเองเมื่อไหร่คงได้น้ำตาพรากๆ ใครกันจะไปกลั้นไหว
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” หนังเรื่องนี้คือหน้าหนึ่งของประวัติศาตร์โลก นำเสนอความจริงในยุคสมัย Great Depression ถึงคนรุ่นใหม่อย่างเราๆคงไม่ได้สัมผัสรับรู้อีกต่อไปแล้ว แต่สมควรอย่างยิ่งเรียนรู้จดจำทำความเข้าใจ ตระหนักซาบซึ้งมองเห็นคุณค่าของชีวิต กว่าจะถึงยุคสมัยแห่งความสบายนี้ บรรพบุรุษในอดีตคงต้องเหน็ดเหนื่อยยากทุกข์ทรมานแสนสาหัส
แนะนำกับคอหนัง Socialist ดราม่าการต่อสู้ดิ้นรนมีชีวิตของชาวอเมริกัน ในช่วงยุคสมัย Great Depression, รู้จัก/เคยอ่านนิยาย ‘ผลพวงแห่งความคับแค้น’ ของ John Steinbeck , แฟนๆผู้กำกับ John Ford และนักแสดง Henry Fonda ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความทุกข์ยากลำบากของชีวิต สังคม และความคอรัปชั่นของมนุษย์
Leave a Reply