The Great Escape

The Great Escape (1963) hollywood : John Sturges ♥♥♥♥

ดัดแปลงสร้างจากเรื่องจริง เหตุการณ์หลบหนีออกจากค่ายกักกัน Nazi ที่ Stalag Luff III ของทหารอังกฤษ (British Commonwealth) เมื่อเดือนเมษายน 1944 แต่จากทั้ง 76 คนที่หลบหนีออกมาสำเร็จ 50 ถูกยิงเสียชีวิต 23 จับกลับสู่ค่ายกักกัน และมีเพียง 3 คนเท่านั้นได้กลับบ้าน นี่หรือที่เรียกว่า The Great Escape

ในบรรดาคำของนักวิจารณ์ที่แสดงความเห็นต่อหนังเรื่องนี้ นิตยสาร TIME Magazine ยกย่องว่า

“The Great Escape is simply great escapism.”

The Great Escape น่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ใครๆสามารถคาดเดาได้อยู่แล้วว่ามีเรื่องราวลักษณะเช่นไร เพราะคำว่า ‘Escape’ มีความหมายตรงตัว ยิ่งพูดถึงร่วมกับ ‘สงครามโลก’ มันก็เหลือเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะเกิดขึ้นได้, ผมเคยรับชมหนังเรื่องนี้มาหลายครั้งเมื่อครั้นนานมาแล้ว ก็จดจำไม่เคยลืมเลือนถึงวิธีการคลาสสิกหนีเอาตัวรอด ขุดอุโมงค์ใต้ดิน แต่นี่ไม่ใช่หนังเรื่องแรกของแนว ‘หลบหนีออกจากค่ายกักกัน’ หรือ ‘ขุดอุโมงค์เอาตัวรอด’ คงเพราะความสำเร็จอันล้นหลามจนทำให้กลายเป็นคลาสสิก ทำให้ The Great Escape ยังคงได้รับการยกย่องพูดถึงในปัจจุบัน

มองย้อนกลับไปกับภาพยนตร์แนว ‘หลบหนีออกจากค่ายกักกัน’ พบว่ามีมาตั้งแต่หนังเงียบแล้ว โดยที่ถือเป็นเรื่องแรกของโลกคือ Shooting Captured Insurgents (1898) ความยาวประมาณ 25 วินาที เป็นหนึ่งในบันทึกภาพการทดลองของ Thomas Edison ทหารสเปนยิงปืนใส่นักโทษคิวบา (เหมือนว่าพวกเขาจะพยายามหลบหนีออกจากคุก) นี่ก็ไม่รู้ว่าตายจริงๆหรือจัดฉากนะครับ แต่ผู้ชมสมัยนั้นย่อม’เชื่อ’สนิทใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน

ตามมาด้วย อาทิ The Prison Ship (1912), The Captive (1915) [กำกับโดย Cecil B. DeMille], Two Arabian Knights (1927) [กำกับโดย Lewis Milestone] สำหรับภาพยนตร์เรื่องที่ได้รับการยกย่องระดับตำนานคือ La Grande Illusion (1937) ของผู้กำกับ Jean Renoir แต่นั่นเป็นช่วงก่อนหน้าและขณะสงครามโลกครั้งที่ 1

สำหรับ World Wars 2 เนื่องจากเป็นช่วงคาบเกี่ยวที่ค่อนข้างสับสน จึงบอกไม่ได้ว่าเริ่มต้นที่หนังเรื่องไหน แต่ความนิยมเกิดขึ้นตอนต้นทศวรรษ 50s เรื่อง Stalag 17 (1953) [กำกับโดย Billy Wilder], The Colditz Story (1955) [กำกับโดย Guy Hamilton], A Man Escaped (1956) [กำกับโดย Robert Bresson], และ Bridge on the River Kwai (1957) [กำกับโดย David Lean] คว้ารางวัล Oscar: Best Picture

หลังจาก The Great Escape ก็ยังมีหนังแนวนี้สร้างขึ้นอีกเยอะตามมาเป็นพรวน อาทิ King Rat (1965), The Round-up (1966), The Deer Hunter (1977), Empire of the Sun (1987), Life Is Beautiful (1997), The Pianist (2002), Rescue Dawn (2006), Son of Saul (2015) ฯ หนังไทยเราก็มีเหมือนกัน แหกค่ายนรกเดียนเบียนฟู (พ.ศ. ๒๕๒๐) ฯ

John Eliot Sturges (1910 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Oak Park, Illinois เข้าสู่ Hollywood จากการเป็นนักตัดต่อ ได้ทำกำกับสารคดีข่าวให้กับกองทัพอากาศช่วง WW2 จึงมีโอกาสกำกับหนังเกรด B เรื่องแรก The Man Who Dared (1946) เริ่มมีชื่อเสียงจาก Bad Day at Black Rock (1955) ที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Director ตามด้วย Gunfight at the O.K. Corral (1957), The Magnificent Seven (1960), A Great Escape (1963), The Hallelujah Trail (1965), Ice Station Zebra (1968) ฯ

Sturges มีความสนใจดัดแปลงหนังสือ The Great Escape (1950) ของนักเขียน Paul Brickhill สัญชาติ Australian ตั้งแต่ปีที่ตีพิมพ์วางขาย นำไปเสนอสตูดิโอต่างๆกลับไม่มีใครสนใจเพราะคิดว่าคงไม่ทำเงิน จนกระทั่งความสำเร็จของภาพยนตร์แนวเดียวกันนี้ Stalag 17 (1953) ตามด้วย Bridge on the River Kwai (1957) และหลังจากสร้างหนังทำกำไรมหาศาลกับ The Magnificent Seven (1960) ถึงค่อยมีสตูดิโอให้ความสนใจมอบทุนสร้างหนังเรื่องนี้

สำหรับนิยาย The Great Escape เขียนขึ้นจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน ขณะเป็นหนึ่งในนักโทษค่ายกักกันที่ Stalag Luft III (ปัจจุบันคือเมือง Żagań, Poland) แต่ตัวเขาไม่ได้ร่วมปฏิบัติการนี้เพราะป่วยเป็นโรคกลัวที่แคบ (Claustrophobia) ซึ่งหนังสือเล่มนี้อุทิศให้กับ The Fifty ที่ถูกฆ่าเสียชีวิต

หลายตัวละครในนิยายได้แรงบันดาลใจมาจากบุคคลที่มีอยู่จริง นำโดยนาวาอากาศตรี Roger Bushell (เจ้าของฉายา Big X) ได้รับอนุญาติจากพลอากาศจัตวา Herbert Massey เริ่มต้นขุดอุโมงค์เดือนมีนาคม 1943 ใช้เวลา 1 ปีเต็มถึงเสร็จสำเร็จวันที่ 23-24 มีนาคม 1944

สามอุโมงค์ที่ขุดมีชื่อว่า Tom, Dick, Harry
– อุโมงค์ Tom ถูกทหารเยอรมันค้นพบจึงทำการระเบิดปิดด้วยไดนาไมท์
– อุโมงค์ Dick หลังจากขุดไปได้สักพักใหญ่ตัดสินใจหยุด เพราะเหมือนว่าทิศทางบริเวณนั้นกำลังจะมีการขยายค่ายกักกันออกไป จึงเปลี่ยนเป็นสถานที่ใช้เก็บสิ่งของต่างๆ และระบายดินที่มาจาก Harry
– Harry เป็นอุโมงค์เดียวที่ขุดเสร็จ แต่น่าเสียดายขาดระยะไปนิดเดียวไปไม่ถึงในป่า

นี่เป็นภาพจากอนุสรณ์สถานที่จริง ณ Stalag Luft III จะเห็นว่าสุดทางออกพ้นถนนไปเพียงนิดเดียวแค่ชายป่า ยังไม่ใช่จุดปลอดภัยตามแผนที่วางไว้

นี่เป็นแผนภาพจำลองการขุดอุโมงค์ Harry และตำแหน่งต่างๆ

หลังจากเหตุการณ์นี้ มีความพยายามขุดอีกอุโมงค์ชื่อ George แต่ไม่ทันสำเร็จ เพราะมีการโยกย้ายเปลี่ยนค่ายนักโทษ (คงเป็นนโยบายใหม่ เพื่อไม่ให้นักโทษมีเวลาขุดอุโมงค์นานนัก) และสำหรับ Stalag Luft III ได้รับการปลดแอกจากกองทัพรัสเซีย เดือนมกราคม 1945

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย James Clavell, W. R. Burnett, Walter Newman ได้มีการเพิ่มบทบาทสำคัญให้กับตัวละครสัญชาติอเมริกา (ก็แน่ละนี่หนัง Hollywood) หลังออกจากค่ายกักกัน เพิ่มฉากการหนีไล่ล่าทางอากาศ, เรือ, รถ, รถไฟ ฯ และมีการตัดข้ามรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับที่มาที่ไปของความช่วยเหลือ ตามคำแนะนำของ Wally Floody เจ้าของฉายา ‘tunnel king’ ตัวจริงที่ปรึกษาให้กับหนัง (Technical Advisor) เพื่ออนาคตต่อไปของการหลบหนีจากค่ายกักกัน จะได้มีหนทางอื่นหลงเหลืออยู่บ้าง

ตัวละครหลักๆของหนังประกอบด้วย
– Squard Leader Roger Bartlett (รับบทโดย Richard Attenborough) ฉายา Big X หัวหน้าปฏิบัติการขุดอุโมงค์หลบหนี
– Captain Virgil Hilts (รับบทโดย Steve McQueen) ฉายา Cooler King ทหารอเมริกันที่ยินยอมให้การช่วย เสียสละตัวเองเพื่อการหนีเอาตัวรอดของคนหมู่มาก
– Flight Lieutenant Robert Hendley (รับบทโดย James Garner) ฉายา Scrounger หัวขโมยผู้จัดหาสิ่งของต่างๆ ได้ยังไงไม่มีใครรู้
– Group Captain Ramsey (รับบทโดย James Donald) The SBO เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้อนุญาตให้ขุดอุโมงค์หลบหนี
– Flight Lieutenant Colin Blythe (รับบทโดย Donald Pleasence) ฉายา Forger ออกแบบปลอมแปลงเอกสาร
– Flight Lieutenant Danny Velinski (รับบทโดย Charles Bronson) ฉายา Tunnel King เป็นคนขุดอุโมงค์แต่กลับกลัวสถานที่แคบเสียเอง
– Flight Officer Louis Sedgwick (รับบทโดย James Coburn) ฉายา Manufacturer มีความชื่นชอบเล่นดนตรีมาก
ฯลฯ

และ Oberst (Colonel) von Luger (รับบทโดย Hannes Messemer) ผู้เป็น Kommandant ควบคุมค่ายกักกันแห่งนี้

Terence Steven ‘Steve’ McQueen (1930 – 1980) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน ที่หลังจากเล่นหนังเรื่องนี้ได้รับฉายาว่า ‘The King of Cool’ เกิดที่ Beech Grove, Indiana พ่อเป็นนักขับเครื่องบิน Stunt Pilot ทิ้งแม่ที่เป็น Alcocholic ปล่อยให้อาศัยอยู่กับลุงทำงานในฟาร์ม เพราะความที่ตอนเด็กเป็น Dyselxic ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเข้าคนรอบข้าง รวมถึงสามีใหม่ทั้งสองของแม่ กลายเป็นอันธพาลเกเร ชื่นชอบขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ หนีออกจากบ้านสมัครเป็นทหารเรือ เคยได้ยศถึง Private First Class แต่เพราะความหัวขบถชอบขัดคำสั่งหัวหน้า ทำให้ถูกลดตำแหน่งเหลือแค่พลทหารถึง 7 ครา หลังจากปลดประจำการเข้าเรียนการแสดงที่ Neighborhood Playhouse, New York กลายเป็นนักแสดงละครเวที ขณะเดียวกันก็เป็นนักแข่งมอเตอร์ไซด์ไปด้วย สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก Somebody Up There Likes Me (1956) กำกับโดย Robert Wise นำแสดงโดย Paul Newman

ผลงานเด่นๆ อาทิ The Magnificent Seven (1960), Love with the Proper Stranger (1963), The Sand Pebbles (1966), Papillon (1973), The Towering Inferno (1974) ฯ

รับบท Captain Virgil Hilts ทหารอเมริกันที่ได้รับฉายา Cooler King จากการเดินเข้าออกห้องขังเดี่ยวเป็นว่าเล่น ครั้งแรกๆเพราะทำตัวเอง แต่ครั้งหนึ่งเพราะการเสียสละเพื่อส่วนรวม สามารถหลบหนีออกนอกค่ายกักกันเพื่อสำรวจลู่ทางภายนอก นำกลับมาบอกต่อกับ Big X เพื่อใช้เตรียมการแผนใหญ่ ‘Great Escape’

McQueen เป็นคนหนุ่มหัวขบถที่เกเร นิสัยแย่มากๆ ไม่ชอบฟังใคร เอาแต่ใจตัวเอง เห็นว่าในกองถ่ายแสดงความอิจฉา James Garner ที่ได้เสื้อใหม่ ผู้กำกับสั่งให้พูดบทแต่ยืนกรานไม่ทำ ไร้สาระทั้งนั้น ฯ ทั้งๆตัวเองขณะนั้นไม่ได้มีความโด่งดังอะไรมาก ทำให้กลายเป็นที่จงเกลียดจงชังของหลายๆคนในกองถ่าย แต่ใครจะไปเชื่อพฤติกรรมแบบนี้กลับเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ชมสมัยนั้น ความโด่งดังจากหนังเรื่องนี้ การันตีตำแหน่ง Superstar ดาวค้างฟ้าโดยทันที

ผมไม่ได้มีความชื่นชอบ McQueen สักเท่าไหร่ ยิ่งรับรู้พฤติกรรมแย่ๆทำให้เริ่มรู้สึกเกลียดขี้หน้า จริงอยู่บทบาท anti-hero โดดเด่นกับคนหัวขบถรถนแรงแบบนี้ แต่อย่าง Humphrey Bogart ยังเป็นผู้ใหญ่มีระดับ ขณะที่ McQueen เป็นเพียงไอ้เด็กเมื่อวานซืน อาจเลวร้ายยิ่งกว่า Marlon Brando เสียอีก (ฝีมือการแสดงก็เทียบชั้นไม่ได้ด้วยนะ)

แต่สำหรับบทบาทนี้ต้องยอมรับว่า McQueen สามารถแย่งซีน โดดเด่นเกินหน้าเกินตาคนอื่นจริงๆ และมีความฮีโร่ในแบบอเมริกัน เหตุนี้กระมังใครๆเลยตกหลุมรักในความกวนประสาท เท่ห์ระเบิด (ตรงไหน!) โดยเฉพาะช็อตนี้ สวมเสื้อแขนสั้นขับบนรถ Triumph TR6 Trophy ได้กลายเป็นตำนาน

ความที่ McQueen เป็นนักบิดมอเตอร์ไซด์ ขนรถส่วนตัวไปถึงยุโรป 99% ของหนังจะเป็นตัวเขาจริงๆที่ขับ รวมถึงปลอมตัวเป็นตำรวจ Germany ที่ขับตามไล่ล่ามาติดๆ เว้นเพียงฉากกระโดดข้ามรั้วลวดหนาม ยินยอมให้เพื่อนสนิท Bud Ekins แสดงสตั๊นแทนเพื่อป้องกันความผิดพลาด แต่เห็นว่าหลังทีมงานเก็บกล้องยกกองกลับกันหมดแล้ว พี่แกก็ขับรถโชว์เท่ห์ กระโดดข้ามได้อย่างชิวๆไม่ต้องใช้สตั๊นที่ไหน

James Garner ชื่อเดิม James Scott Bumgarner (1928 – 2014) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Norman, Oklahoma ในครอบครัว Methodist เข้าเรียนที่ Hollywood High School ได้รับการโหวตเป็น ‘most popular student’ สมัครเป็นทหารบกบาดเจ็บสองครั้ง ช่วยเหลือเพื่อนจนรับเหรียญ Purple Heart Medal ในสงครามเกาหลีได้ฉายา ‘Scrounger’ ปลดประจำการออกมาเริ่มต้นจากเป็นนักแสดง Broadway ตามด้วยโฆษณาโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Toward the Unknown (1956), Sayonara (1957) ฯ โด่งดังมีชื่อเสียงจากซีรีย์ Maverick (1957-1962) เข้าชิง Oscar: Best Actor เรื่อง Murphy’s Romance (1985)

รับบท Flight Lieutenant Robert Hendley มีความสุขุม เยือกเย็น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เข้ากับคนอื่นง่าย ได้ฉายา Scrounger จากความสามารถในการสรรหาสิ่งของต่างๆ (ที่ไม่น่าเป็นไปได้) ช่วงท้ายเสียสละตัวเองเพื่อพา Colin Blythe ที่สายตาสั้นจนมองอะไรไม่เห็นหนีไปด้วยกัน

ความเห็นส่วนตัวประทับใจการแสดงของ Garner กว่า McQueen เสียอีกนะ เพราะความที่ไม่รู้ของพวกนั้นสรรหามาจากไหน มันเลยมีความพิศวงสงสัย เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวละครนี้มีเสน่ห์อย่างลึกลับ และพฤติกรรมการเสียสละมีความน่ายกย่อง เพราะเจ้าตัวไม่โออหังกา (แน่นอนยิ่งกว่าตัวละครของ McQueen ที่ความเท่ห์มากับความกร่าง)

Richard Samuel Attenborough (1923 – 2014) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Cambridge ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รับใช้ชาติเป็นทหารอากาศในหน่วย R.A.F. Film ทำงานที่ Pinewood Studios สร้างหนังชวนเชื่อทำให้กลายเป็นนักแสดง มักได้รับบท Spiv (พ่อค้าตลาดมืด) จนกลายเป็น Type-Cast ไปช่วงหนึ่ง ค่อยมาโด่งดังในอังกฤษกับ Private’s Progress (1956), I’m All Right Jack (1959) และ The Great Escape ทำให้เป็นที่รู้จักใน Hollywood

รับบท Squard Leader Roger Bartlett ผู้พยายามหลบหนีมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็มักถูกจับกลับมาได้ตลอด สืบทอดฉายา Big X ต่อจาก Group Captain Ramsey ที่ขาเดินปกติไม่ได้แล้ว ซึ่งในการหลบหนีครั้งนี้ตั้งใจให้มีความยิ่งใหญ่ที่สุด แบบที่ทหาร Germany ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น

น่าเสียดายที่ Attenborough ไม่ใช่ศูนย์กลางของหนัง แม้จะเป็นถึงผู้บังคับบัญชาวางแผน ออกคำสั่ง แต่ตัวละครไม่ได้กระทำการเสียสละอะไรให้เป็นที่กล่าวขวัญพูดถึง กระนั้นรูปลักษณ์ของเขาถือว่ามี Charisma น่าเกรงขาม ทุกคนให้ความเชื่อมั่น สมฉายา Big X มากทีเดียว

หนังรวมนักแสดง (Ensemble Cast) มีชื่อเสียงไว้มากทีเดียว แต่ละคนก็มักจะมีฉากโดดเด่นของตัวเอง ใครเป็นแฟนพันธุ์แท้หนังย่อมคงจดจำฉายาของพวกเขาได้ทั้งหมดแน่ ล้วนมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ง่ายต่อการจดจำยิ่ง

ถ่ายภาพโดย Daniel L. Fapp [เจ้าของรางวัล Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง West Side Story (1961)] กับ Walter Riml [ผลงานดังคือ On Her Majesty’s Secret Service (1969)] ใช้กล้อง Panavision (anamorphic) ขนาด 35mm แลปสี DeLuxe ภาพออกโทนสีน้ำเงินเข้มตัดกับสีน้ำตาล (ใช้โทนสีเดียวตลอดทั้งเรื่อง จะเรียกว่า monochrome ก็ยังได้)

ส่วนใหญ่ของหนัง กล้องมักจะตั้งอยู่เฉยๆช็อตเดียวครอบคลุมทุกอย่าง หรือไม่ก็หมุนตามตัวละคร Panning, Tilting นานๆจะมี Tracking Shot สักครั้ง แต่ก็มักจะไม่หลุดภาพจากตัวละครที่เดินนำอยู่กึ่งกลาง นี่ให้สัมผัสของความคลาสสิกอย่างมาก

ตอนแรกผู้กำกับต้องการถ่ายทำหนังที่ Hollywood แต่เพราะไม่สามารถหาสถานที่/ป่า อันน่าพึงพอใจ เลยเดินทางมายุโรปพบเจอ Perlacher Forest ตั้งอยู่ในใกล้ๆ Bavaria Film Studio ที่เมือง Munich, Germany เพราะมีความ ‘Germany looks like Germany.’ ขณะที่นอกค่ายกักกัน ถ่ายทำบริเวณ Füssen, Pfronten, St. Nikolaus Church แถวๆ Bavaria นะแหละ

เกร็ด: หนังจำเป็นต้องตัดไม้จริงๆเพื่อสร้างทั้งค่ายกักกันขึ้นมา แน่ละอุทยานแห่งชาติที่ไหนจะยินยอม แต่ด้วยข้อตกลงที่ว่า ‘ต้นไม้ที่ตัดลง 1 ต้นจะปลูกทดแทน 2 ต้น’ เลยได้รับอนุญาตให้ตัด

ตัดต่อโดย Ferris Webster สัญชาติอเมริกา ผลงานเด่นๆ อาทิ The Picture of Dorian Gray (1945), Lili (1953), Blackboard Jungle (1955), Forbidden Planet (1956), Cat on a Hot Tin Roof (1958), The Magnificent Seven (1960), The Manchurian Candidate (1962) ฯ

หนังไม่ได้ใช้มุมมองของตัวละครใดเป็นพิเศษ แต่มีลีลาการดำเนินเรื่องที่ไล่เรียงต่อเนื่อง แบ่งสรรปันส่วน แจกจ่ายบทให้กับทุกตัวละครสำคัญอย่างเพียงพอ เรียกว่าแทบจะไม่ทอดทิ้งใครทั้งนั้น และพวกเขามักมีฉากเด่นไฮไลท์ของตนเองอยู่ด้วยเสมอ นี่ทำให้การ Ensemble Cast ของหนังเรื่องนี้มีความสมบูรณ์แบบมากๆ

– ช่วงของการแนะนำตัวละคร จะเริ่มจากพลทหารระดับล่างก่อน จากนั้นค่อยถึงเจ้าหน้าที่อาวุโส และ Big X หัวหน้าปฏิบัติการณ์นี้มาปิดท้ายหลังสุด
– ช่วงท้ายเมื่อ 76 คนหลบหนีจากค่ายกักกันสำเร็จ หนังแบ่งการหลบหนีออกเป็นส่วนๆ ทางอากาศ, ทางรถยนต์/รถมอเตอร์ไซด์, ทางรถไฟ, และทางเรือ เรียกว่าครบทุกความเป็นไปได้ในการหนี ใครไปทางไหน รอดไม่รอดไปลุ้นเอาเองก็แล้วกัน

ตอนครั้งแรกที่ผมรับชมหนัง รู้สึกทันทีเลยว่าหลังหนีออกจากค่ายกักกันสำเร็จ ชั่วโมงสุดท้ายเป็นส่วนเกินที่เหน็ดเหนื่อยใจมากๆไม่ยอมจบสักที แต่พอเมื่อถึงฉากที่ส่วนใหญ่ถูกจับได้ หลายคนถูกฆ่า บางคนหวนกลับสู่ค่าย ส่วนน้อยสุดๆถึงกลับบ้านปลอดภัย โอ้! การแหกคุกได้ใช่หมายความว่าปลอดภัยหนีสำเร็จแล้ว มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอิสรภาพเท่านั้น

เพลงประกอบโดย Elmer Bernstein นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกา ผลงานเด่น อาทื The Man with the Golden Arm (1955), The Ten Commandments (1956), The Magnificent Seven (1960), To Kill a Mockingbird (1962), Thoroughly Modern Millie (1967) [คว้า Oscar: Best Original Score], Airplane! (1980), The Age of Innocence (1993), Far from Heaven (2002) ฯ

บทเพลง Main Theme เน้นเสียงรัวกลองกับเครื่องเป่า (ไม่มีเครื่องสาย) มีทำนองติดหู สร้างความคึกครื้น เกิดพลังหึกเหิม ชวนให้อยากผิวปากตาม (กลิ่นอายให้สัมผัสคล้ายๆกับ The Bridge on the River Kwai แต่ไม่ใช่เพลงเดียวกันนะครับ)

มันจะมีท่อนหนึ่งของบทเพลงนี้ มักได้ยินซ้ำๆเวลาที่ Cooler King ได้รับการขังเดี่ยวอีกครั้ง ดังขึ้นทีไรเรียกเสียงหัวเราะหึๆจากผมได้ทุกที

แต่ใช่ว่าจะไม่มีบทเพลงที่บรรเลงโดยเครื่องสายเลยนะครับ Home Again ทำนองเดียวกันอีก Variation จะเริ่มได้ยินเมื่อหนีออกจากค่ายกักกันสำเร็จแล้ว แต่ครึ่งหลังของบทเพลงก็จะวนกลับมาเน้นกลองและเครื่องเป่าใหม่ (สะท้อนว่าพวกเขาหนีไปไม่ได้ไกล สุดท้ายก็หวนกลับคืนมาตายรัง)

หน้าที่ของทหารผู้ถูกจับเป็นเชลยศึกสงคราม -ว่าไปผมก็เพิ่งรู้จากหนังเรื่องนี้- มีหน้าที่ต้องทำให้ศัตรูอับอายขายขี้หน้า สูญเสียเวลาจากการปั่นป่วน สร้างความร้าวฉาวขัดแย้งให้เกิดขึ้น, ถ้าโชคดีพบเจอผู้ดูแลค่ายที่ยึดถือปฏิบัติตามสนธิสัญญาเจนีวา ไม่ว่าอย่างไรถ้ายินยอมจำนน ก็คงไม่ได้รับโทษประหารชีวิต แต่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคน/ทุกประเทศชาติ จะมีคุณธรรม มโนธรรมประจำใจ หรือความอดทนอดกลั้นมากมายขนาดนั้น

The Great Escape ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของเหล่านักโทษเชลยสงคราม ที่ได้วางแผน-เตรียมการ-ปฏิบัติ เรียกว่าเป็นความพยายามของผู้พ่ายแพ้ ในการพลิกหมากกระดาน คิดหาดิ้นรนหนทางเอาตัวรอด รอคอยเวลาช่วงชิงการกลับมาได้เปรียบ แต่ผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้นต้องอาศัยประสบการณ์และโชคชะตา ใช่ว่าทุกคนจะสามารถชิงชัยเป็นผู้ชนะการศึกครานี้

มองกลับในมุมของ Kommandant ผู้ดูแลค่ายกักกันแห่งนี้ ต้องการรักษาความสงบสันติ หน้าที่ของนักโทษ/ผู้แพ้คือก้มหน้ายอมรับชะตากรรม ได้รับโอกาสให้มีชีวิตอยู่ก็ถือว่าเป็นพระคุณอเนกอนันต์ แต่กลับไม่มีใครสำนึกตน พยายามอย่างยิ่งจะขัดขืนต่อต้าน ดังสำนวนที่เรียกว่า “ขี้แพ้ชวนตี”

การหนีออกจากค่ายกักกัน จริงอยู่ ณ จุดๆหนึ่งของหนังมันคือ The Great Escape แต่เชื่อว่าต่อจากนั้นจนกระทั่งตอนจบ คงไม่มีใครรู้สึกอีกแล้วว่ามันคือความยิ่งใหญ่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา เกินกว่าครึ่งพบกับความสูญเสีย มีเพียงส่วนน้อยมากๆที่จะได้กลับบ้านสำเร็จ, แต่นั่นก็ขึ้นกับมุมมองของผู้ชมเอง จะคิดเห็นว่าความยิ่งใหญ่ของการหลบหนี เกิดขึ้นขณะวางแผน/ความสำเร็จของการหลบหนี หรือผลลัพท์ที่เกิดขึ้นตามต่อมา

ในกรณีนี้ถ้าทั้ง 76 คน ขณะกำลังหลบหนีถูกจับกุมตัวได้หมด ใครๆคงมองว่ามันคือความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อมี 3 คนที่ได้กลับบ้าน แปลว่าการหนีครั้งนี้มันยังมีความสำคัญบ้างอยู่
– ฉบับนิยาย/เรื่องจริง 3 คนที่รอดชีวิต คือชาว Norwegian 2 คน และ Dutch อีกหนึ่ง
– ขณะที่ฉบับหนัง 3 ผู้รอดชีวิตประกอบด้วยชาว British, Polish และ Australian

เหมือนจงใจแฝงนัยยะบางอย่างเดาว่า Australian แทนด้วยสัญชาติของผู้แต่งนิยาย, British คือประชากรหลักของค่ายกักกัน, ส่วน Polish คือประเทศที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันของ Stalag Luff III

ลักษณะของหนังเรื่องนี้ออกไปในทาง Heist Film เพียงแต่ไม่ใช่การปล้นสิ่งของมีค่า แต่คือหลบหนีเพื่อเอาตัวรอด ความตื่นเต้นลุ้นระทึกอยู่ที่ช่วงขณะเตรียมการและปฏิบัติการณ์ จะพบเจอความสำเร็จมากน้อยเพียงไหนก่อนถูกค้นพบ ถูกไล่ล่าติดตามไกลถึงสุดขอบชายแดนประเทศ มีทั้งไปไม่ถึง, ถึงแล้วแต่ข้ามไม่สำเร็จ (ติดรั้วลวดหนาม), และคนที่สามารถข้ามฝั่งฝันได้สำเร็จ

ในโลกเรานี้ มีการหนีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ถือว่ามีความยิ่งใหญ่ นั่นคือ ‘การหนีพ้นจากความทุกข์’ แต่ใช่ว่าวิธีการปฏิบัติคือวิ่งหนี ขับขี่รถ ขึ้นเครื่องบิน นั่นไม่มีวันและไม่มีทางหลบพ้นอย่างแน่นอน, ความตั้งใจของผู้เขียนนิยาย/ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้สื่อถึงการหนีนี้แน่นอน แต่ไม่น่าเชื่อนะครับ เราสามารถมองเปรียบเทียบได้ใกล้เคียงพอสมควร แต่ผมคงไม่ขอพูดถึงประเด็นนี้ เพราะไม่ได้มีสาระประโยชน์เกี่ยวเนื่องอะไรกับหนังแม้แต่น้อย เผื่อใครชื่นชอบการคิดวิเคราะห์จะนำไปครุ่นต่อก็ตามสะดวก

ด้วยทุนสร้าง $3.8 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ $11.7 ล้านเหรียญ
– เข้าฉายเทศกาลหนัง Moscow International Film Festival ทำให้ Steve McQueen คว้ารางวัล Silver Prize for Best Actor,
– Golden Globe เข้าชิง Best Motion Picture – Drama
– และ Oscar เข้าชิงสาขา Best Film Editing

สิ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบหนังเรื่องนี้คือ direction ของผู้กำกับ John Sturges มีความเฉลียวฉลาด กวนประสาทได้ใจ, ไม่ค่อยชอบความพยายามเป็นฮีโร่เกินไปของ Steve McQueen แต่ตราตรึงกับการแสดงของ James Garner ลึกลับน่าค้นหา, อีกทั้งการตัดต่อและเพลงประกอบ มีความเป็นคลาสสิกที่ลงตัวอย่างยิ่ง

ในบรรดาหนังแนว ‘เชลยศึกสงคราม’ เท่าที่ผมรับชมมา ในด้านเทคนิคไม่มีเรื่องไหนเทียบชั้น La Grande Illusion (1937) ได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าเฉพาะความบันเทิงต้องบอกว่า The Great Escape สามารถพาคุณหนีจากความทุกข์ไปได้ไกลทีเดียว (แต่ไม่ถึงขั้นปลดทุกข์สำเร็จนะ)

แนะนำกับคอหนังประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2 ค่ายกักกันนาซีและการหลบหนี, แฟนๆนักแสดงดังอย่าง Steve McQueen, James Garner, Richard Attenborough และผู้กำกับ John Sturges ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความรุนแรงของสงครามที่เป็นพื้นหลัง

TAGLINE | “The Great Escape เป็นความบันเทิงคลาสสิก ที่จะพาคุณหนีจากความทุกข์ไปได้ไกลทีเดียว”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
10 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

น่ารีวิว Cool Hand Luke (1967) ด้วย ดูเหมือนจะยังไม่เคยรีวิว
หนังแหกคุกอายุหนังรุ่นเดียวกัน โทนภาพใกล้เคียงกัน
Paul Newman นำแสดง

%d bloggers like this: