The Great King (1942) : Veit Harlan ♥♥♥♥
หนึ่งในภาพยนตร์ชวนเชื่อ (Propaganda) ของนาซีอันเลื่องชื่อ Der große König นำเสนอภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาสงครามของ พระเจ้าฟรีดริชมหาราช (Frederick the Great) กษัตริย์ปรัสเซีย (Prussia) เพื่อขยายดินแดนและรวบรวมแผ่นดิน Germany ในศตวรรษที่ 18 ให้เป็นปึกแผ่น, การันตีด้วยรางวัล Mussolini Cup: Best Foreign Film (เป็นชื่อเดิมของ Golden Lion) จากเทศกาลหนังเมือง Venice
เทศกาลหนังเมือง Venice (Venice International Film Festival) ถือเป็นหนึ่งใน 3 (Big Three) ของเทศกาลภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก (เคียงคู่กับ Cannes และ Berlin) และเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เริ่มจัดตั้งแต่ปี 1932 ช่วงประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี, ในช่วงปีแรกๆของการจัดงาน รางวัลใหญ่สุดของเทศกาลใช้ชื่อว่า Coppa Mussolini (Mussolini Cups) มี 2 รางวัลคือ Best Italian Film และ Best Foreign Film เป็นชื่อที่ตั้งตามผู้นำเผด็จการอิตาลีสมัยนั้น Benito Mussolini แต่เมื่อสูญเสียอำนาจปี 1943 ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อรางวัล โดยปี 1946 เมื่อเทศกาลได้กลับมาจัดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ชื่อรางวัล Grand International Prize of Venice และปี 1949 เป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่อ Golden Lion หรือรางวัลสิงโตทองคำ
ผมรู้จักหนังเรื่องนี้โดยบังเอิญ เพราะเมื่อค้นคำว่า ‘Great King’ ในอินเตอร์เน็ต ก็จะติดหนังเรื่องนี้ขึ้นมาทันที พอค้นหาข้อมูลได้พบว่าเป็นหนังรางวัล ยิ่งทำให้ความสนใจเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว, กระนั้นหลายคนคงไม่รู้จัก ทั้งหนังเรื่องนี้ และพระเจ้าฟรีดริชมหาราช รวมถึงถ้าบอกว่านี่เป็นหนังชวนเชื่อของ Nazi แล้วละก็คงไม่เกิดความสนใจเป็นแน่, แต่อยากบอกว่า นี่เป็นหนังที่สร้างความประหลาดใจให้ผมอย่างยิ่ง คือคุณภาพอยู่ในระดับเยี่ยมยอดเลยละ และยิ่งได้ความบ้าพลังของ Nazi เข้าไป ทำให้หนังมีความยิ่งใหญ่อลังการ สมจริง ถือเป็นช้างเผือกในป่าลึก ที่น้อยคนจะมีโอกาสได้เห็น ผมแนบลิ้งค์หนังมาด้วย อยู่ในเว็บ archive ซับอังกฤษ สามารถดูออนไลน์หรือดาวน์โหลดมารับชมได้เป็น ไม่ติดลิขสิทธิ์ใดๆ
ลิ้งค์ดูหนัง: https://archive.org/details/DerGrosseKonig1942X265HEVCENSub
พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 (Friedrich II) หรือพระเจ้าฟรีดริชมหาราช (1712 – 1786) มีพระนามเล่นว่า ‘เจ้าฟริทซ์แก่’ (der alte Fritz) เป็นพระมหากษัตริย์ปรัสเซีย (Prussia) ในราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern) ครองราชย์ระหว่างปี 1740 ถึงปี 1786, พระเจ้าฟรีดริชทรงมีความสนพระทัยทางศิลปะตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นนักขลุ่ยที่มีพรสวรรค์ ทรงเขียนดนตรี Sonata ทั้งหมดราวร้อยชิ้นสำหรับฟลุตและ Symphony อีกสี่ชิ้น (ในหนังจะได้ยินเพลงที่พระองค์ทรงประพันธ์เองด้วยนะครับ)
ทรงได้รับสมญานามว่า ‘กษัตริย์ทหาร’ เมื่อขึ้นครองราชย์ในปีแรกโจมตีราชอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีและยึดครองบริเวณไซลีเซีย (Silesia) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศโปแลนด์ปัจจุบันซึ่งเป็นดินแดนยึดครองที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานในการขยายดินแดนและเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ราชอาณาจักรปรัสเซีย,บั้นปลายของชีวิตพระเจ้าฟรีดริชทรงรวมอาณาจักรต่าง ๆ ที่เคยเป็นราชรัฐเล็กของปรัสเซียเข้าด้วยกันรวมทั้งดินแดนที่ทรงได้มาจากการแบ่งแยกโปแลนด์
พระเจ้าฟรีดริชทรงเป็นผู้สนับสนุนการปกครองระบบที่มีพื้นฐานมาจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรม พระราชกรณียกิจที่สำคัญๆ คือการปรับปรุงระบบการบริหารราชการและข้าราชการ, สนับสนุนเสรีภาพของการนับถือศาสนา, ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปินและนักปรัชญาทั้งหลาย, เมื่อสิ้นพระชนม์ บัลลังก์ตกไปเป็นของพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 2 (Frederick William II) พระราชนัดดาเพราะพระองค์ไม่มีพระราชโอรส
Kingdom of Prussia ล่มสลายลงเมื่อปี 1918 จากการเข้ามาแทรกซึมของ German Reich นับตั้งแต่ปี 1871 เมื่อ German Empire ล่มสลาย คงเหลือแต่ Berlin และประเทศเยอรมัน German Reich จึงได้เปลี่ยนปรัสเซียให้กลายเป็น Federal Republic of Germany หรือ Weimar Republic และเปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์ให้กลายเป็นสาธารณรัฐ (Republic)
ในยุคสมัยที่ Nazi ปกครองเยอรมัน มีสไตล์หนังประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมสร้างกันมาก ชื่อว่า Prussian film เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วง Kingdom of Prussia ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ ได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นภาพยนตร์แนวชวนเชื่อ เพราะมีเรื่องราวส่งเสริมการต่อสู้ การทำสงคราม และเป็นหนังชาตินิยมที่ทำให้ประชาชนเกิดความฮึกเหิม ห้าวหาญ
เกร็ด: Prussian film หลังจากสิ้นสุดยุคสมัยของ Nazi ก็ไม่ได้รับความนิยมอีก แต่ก็ยังมีหนังที่ใช้พื้นหลังยุค Prussia เกิดขึ้นอยู่ร่ำไป
ซึ่งเรื่องราวของกษัตริย์ของ Kingdom of Prussia ที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็คือ พระเจ้าฟรีดริชมหาราช
Otto Gebühr ในบทพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 นี่ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่เขารับบทนี้ แต่ได้แสดงต่อเนื่องมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ Die Tänzerin Barbarina (1920) สมัยหนังเงียบ จนมาถึง The Great King ไม่มีใครนับได้ว่าทั้งหมดกี่เรื่อง แต่นี่คือครั้งสุดท้าย เพราะ Gebühr รู้ตัวว่าตนแก่เกินที่จะรับเล่นบทนี้แล้ว, ทีแรกผู้กำกับ Veit Harlan ตั้งใจให้นักแสดงอีกคน Werner Krauss รับบทนี้ แต่ Nazi กลัวว่าคนจะเข้าใจผิด เพราะเคยเห็นแต่ Gebühr ในบทพระเจ้าฟรีดริช จึงขอให้เขากลับมาเล่นอีกครั้ง คราวนี้ได้เป็น der alte Fritz (The Old Fritz) สมใจ
พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 ในหนังเป็นตาแก่เอาแต่ใจ เห็นแก่ตัว ชอบคิดต่างไม่เหมือนคนอื่น นั่นทำให้พระองค์มีความโดดเด่น และด้วยความปรีชาสามารถที่หลากหลาย ชื่นชอบในดนตรี งานศิลปะ ปรัชญา ถือว่าเป็นกษัตริย์ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมากที่สุดคนหนึ่ง, ดูหนังเรื่องนี้จบ แม้ไม่เคยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์มาก่อน ก็จะรู้สึกได้ว่า พระองค์สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘มหาราช’ จริงๆ
ผมไม่เคยเห็นการแสดงของ Gebühr ในบทพระเจ้าฟรีดริชมาก่อน เลยบอกไม่ได้ว่าดีขึ้นแย่ลงยังไง แต่ต้องบอกว่า หน้าตาใช่ การแสดงเยี่ยม ในระดับที่ ถ้าได้ฉายอเมริกามีลุ้นเข้าชิง Oscar: Best Actor แน่ๆ, โดยเฉพาะฉากจบ ที่ The Old Fritz นั่งทบทวน หวนระลึกบางสิ่งอย่างในโบสถ์แห่งหนึ่ง นี่เป็นอีกด้านของกษัตริย์ที่ไม่ค่อยมีหนังเรื่องไหนกล้านำเสนอให้เห็น คือด้านที่อ่อนแอ เจ็บปวด ทนทุกข์ทรมาน ณ ตอนนั้นอาจไม่มีใครเข้าใจพระองค์ แต่ทุกสิ่งอย่างที่ทำมานี้ ก็เพื่อประโยชน์สุขของปวงประชาในอนาคตและลูกหลานสืบต่อไป คือความเหน็ดเหนื่อยที่เหมือนจะเสียใจแต่แฝงด้วยความอิ่มเอิบและเป็นสุข
ถ่ายภาพโดย Bruno Mondi นอกจากความอลังงานในการเกณฑ์นักแสดงและม้าศึกกว่า 5,000 ตัวเข้าฉาก, หนังยังใช้เทคนิคหลายๆอย่างที่น่าสนใจ อาทิ การซ้อนภาพ เช่น ดวงตาของพระเจ้าฟรีดริชซ้อนกับภาพบ้านเมือง ไร่นา ประชาชน นี่แสดงถึงพระมหากษัตริย์ทรงทอดพระเนตรวิถีชีวิตของประชาชน, ภาพท้องฟ้า ซ้อนกับธงของพระเจ้าฟรีดริช หมายถึง ดินแดนแห่งนี้คือประเทศของพระองค์, ภาพชายคนหนึ่งนอนอยู่กับพื้นซ้อนกับเท้าของทหารที่เดินขบวน แสดงถึงการเหยียบย่ำ ทับถม ความตาย ฯ
ไฮไลท์ที่ผมชอบสุดคือการถ่ายภาพเงา ขณะที่พระเจ้าฟรีดริชหลับฝัน แล้วเงาของพระองค์เคลื่อนไหว นำพาเราเข้าไปสู่พระสุบิน (ความฝัน) เข้าไปในห้องสมุด และถ่ายให้เห็นพระองค์ขณะทรงบรรเลงฟลุต (ผมยังหาชื่อเพลงที่พระเจ้าฟรีดริชทรงเล่นไม่ได้นะครับ แต่คิดว่าน่าจะเป็นหนึ่งในพระราชนิพนธ์ที่พระเจ้าฟรีดริชประพันธ์ขึ้นเอง), ฉากขณะทรงดนตรี ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพ The Flute Concert of Sanssouci ของจิตรกร Adolph Menzel วาดขึ้นเมื่อปี 1852 ช็อตนี้สวยงามมากๆ
ตัดต่อโดย Friedrich Karl von Puttkamer, หนังใช้มุมมองของพระเจ้าฟรีดริช และมุมมองของหญิงสาย/นายทหาร นำเสนอควบคู่ขนานกันไป ในระหว่างสงคราม 7 ปีที่เกิดขึ้น (มุมของกษัตริย์ และ มุมของประชาชน) ทีแรกหญิงสาวไม่รู้ว่าชายแก่คนนั้นคือกษัตริย์ จึงพูดจาเสียดสีเสียๆหายๆ ซึ่งพระองค์ไม่ทรงถือตัว กลับยอมรับความจริง แต่นั่นก็หาได้หยุดความตั้งใจของพระองค์ในการสงครามไม่, เรื่องราวทำให้กษัตริย์และหญิงสาวได้จับพลัดจับผลู เกี่ยวเนื่องกันอยู่เรื่อยๆ ในระหว่างสงคราม และหลังสงครามจบ พระองค์ตัดสินใจเสด็จมาหาหญิงสาวด้วยตัวพระองค์เอง เพื่อ…
เพลงประกอบโดย Hans-Otto Borgmann, ผมค่อนข้างมั่นใจว่า เพลงประกอบส่วนใหญ่ของหนังจะมาจากพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าฟรีดริชโดยเฉพาะ เพราะพระองค์เป็นคีตกวีที่มีผลงานเลื่องชื่อมากมาย, อย่างฉากเปิดเรื่อง ‘การเดินสวนสนามของโฮเฮ็นฟรีดเบิร์ก’ (Hohenfriedberger Marsch) นี่เป็นบทเพลงที่พระเจ้าฟรีดริช์ทรงประพันธ์ขึ้นตอน Battle of Hohenfriedberg ในหนังใส่มาเป็น Opening Credit ไม่มีคำร้อง คนส่วนใหญ่คงไม่รู้จัก แต่ชาวเยอรมันน่าจะคุ้นหูเป็นอย่างดี หนึ่งในเพลงมาร์ชประจำกองทัพ ต้องเคยได้ยินแน่ (ผมบังเอิญเจอ แล้วจับทำนองได้ว่า มันเพลงเดียวกันนี่หว่า!) ลองฟังแล้วเปรียบเทียบในหนังดูนะครับ (ใครเล่น Total Wars น่าจะเคยได้ยินเพลงนี้)
แม้ความตั้งใจของผู้กำกับ จะคือการสร้างหนังเพื่อปลุกใจคนในชาติ ให้ฮึกเหิม กล้าหาญ สู้กับศัตรู แต่ใจความของหนังที่ได้จากการรับชมสมัยปัจจุบัน คือ เรื่องของพระราชาและราษฎรที่ถึงฐานะ/ความคิดอ่านห่างไกลลิบลับ แต่กลับมีความใกล้ชิดกันอย่างเหลือเชื่อ, กษัตริย์ที่ต่อให้สูงศักดิ์มาจากไหน ก็คือมนุษย์เดินดิน มีความรักโลภโกรธ พึงพอใจ เศร้าเสียใจ เหมือนกับประชาชนทั่วไป แต่สิ่งที่แบ่งระหว่างสามัญชนกับกษัตริย์ คือ อำนาจบุญบารมีวาสนา, เป็นเรื่องง่ายที่กษัตริย์จะทำตามใจตัวเอง อยู่อย่างสุขสบายไม่สนความเดือดร้อนของประชาชน แต่กษัตริย์ที่ดีจักต้องคอยรับฟัง ช่วยเหลือ และตอบสนองความต้องการของประชาชน แม้มันอาจไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่เพื่อความผาสุขสงบของคนทั้งชาติ กษัตริย์จักต้องชี้ชักนำแนวทาง นำประเทศสู่ความเจริญรุ่งโรจน์หรือภัยพิบัติ
ด้วยทุนสร้าง 4.779 ล้าน Reichsmarks ถือว่า The Great King คือภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดในสมัยของ Nazi, หนังฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 3 มีนาคมปี 1942 ซึ่งหลังจาก Adolf Hitler ได้ชม ก็ส่งหนังเรื่องนี้ไปฉายในสายประกวดเทศกาลหนังเมือง Venice และคว้ารางวัล Mussolini Cup: Best Foreign Film มาได้สำเร็จ
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในปี 1945 น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นหนังชวนเชื่อของ Nazi จึงถูกแบนในทุกประเทศพันธมิตร ซึ่งฟีล์มหนังได้ถูกเก็บรักษาโดยมูลนิธิ Friedrich Wilhelm Murnau Foundation และได้โอกาสนำออกมาฉายอีกครั้งใน 12 ปีถัดมา
ส่วนตัวชอบหนังเรื่องนี้มากๆ เพราะความยิ่งใหญ่อลังการของฉากการสู้รบ ทหารและม้าจำนวนมากมายมหาศาล การต่อสู้ ความวุ่นวาย ระเบิด ฯ คิดว่านี่อาจเป็นหนังเกี่ยวกับสงครามที่ยิ่งใหญ่ อลังการ สมจริงที่สุดในยุคนั้น (ที่น้อยคนจะรู้จัก), ไม่ใช่สงครามอย่างเดียวเท่านั้นที่น่าประทับใจ ตอนที่พระเจ้าฟรีดริชทรงเล่นฟลุต นั่นเป็นสิ่งที่ผมคาดไม่ถึงเลย ไม่เคยรู้มาก่อน (ก่อนหน้านั้นมีซูมหนังสือปรัชญาของ Plato แสดงถึงความสนใจในปรัชญา การศึกษา) นี่แสดงถึงพระปรีชาสามารถในศาสตร์ทุกๆแขนง มีกษัตริย์น้อยพระองค์เท่านั้นที่มีความสามารถระดับนี้
นี่แสดงว่าพระองค์ไม่ได้เป็น ‘มหาราช’ แค่จากการสงครามเท่านั้น สืบเนื่องมาจากบุญญาธิการ และความปรีชาสามารถในทุกๆด้าน ทำให้ทรงมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล เป้าหมายที่ชัดเจน และรู้จักพัฒนาประเทศในทางที่ถูกต้องเหมาะสม และมีความหลากหลาย
กับประเด็นชวนเชื่อของหนัง ความตั้งใจอาจจะใช่อยู่ แต่เรื่องราวเมื่อมองจากปัจจุบันย้อนไป มันคนละความรู้สึกกับ Triumph of the Will (1935) มากนะครับ, ผมขอเปรียบกับตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นี่ถือเป็นหนังชวนเชื่อลักษณะหนึ่งเช่นกัน แต่แค่ทำให้เรารู้สึกภูมิใจในชาติ ศาสตร์ กษัตริย์ ไม่ได้รู้สึกอยากไปต่อสู้รบกับพม่าหรือใคร, เช่นกันกับหนังเรื่องนี้ ถ้าคุณเป็นคน German ดูจบแล้ว (อาจจะ) รักชาติมากขึ้น สร้างในสมัยสงครามย่อมทำให้ฮึกเหิม แต่มาดูสมัยนี้การันตีว่า จะไม่ทำให้คุณกลายเป็น Nazi แน่นอน
แนะนำกับคอหนังแนวสงคราม มีฉากต่อสู้ที่อลังการมาก, นักประวัติศาสตร์ยุโรป เยอรมันที่กำลังศึกษาสงคราม 7 ปี ประเทศปรัสเซีย และพระเจ้าฟรีดริชมหาราช, แนะนำอย่างยิ่งกับผู้นำทั้งหลาย ผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร ผู้นำทุกสถาบัน นี่เป็นหนังที่ดีน่ายกย่อง ถึงคุณจะไม่รู้จักพระเจ้าฟรีดริชมหาราชมาก่อน ดูหนังเรื่องนี้ได้รู้จักเข้าใจพระองค์แน่นอน
จัดเรต 13+ กับสงครามและความรุนแรง
Leave a Reply