The Great Race

The Great Race (1965) hollywood : Blake Edwards ♥♥♡

Jack Lemmon รับบทโคตรผู้ร้าย ที่เอาแต่ตะโกนแหกปากพร้อมขว้างพายใส่ Tony Curtis แต่พระเอกกลับหลบพ้นทุกฉาก กลายเป็นนางเอก Natalie Wood ที่พยายามเรียกร้องสิทธิสตรีความเสมอภาค กลับโดนพายโป๊ะหน้าครบทุกถาด, ภาพยนตร์ Comedy Slapstick ขำบ้างไม่ขำบ้างเรื่องนี้ จะพาคุณเดินทางจาก New York สู่กรุง Paris ในการแข่งขันรถแข่งครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

หนังเรื่องนี้ได้รับยกย่องว่า ‘The Greatest Pie Fight Ever.’ นี่ฟังดูตลกไร้สาระมากๆ แต่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆเลยนะครับ เพราะในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มีหลายเรื่องทีเดียวที่เป็นตำนาน
– Behind the Screen (1916) หนังสั้น 23 นาที กำกับ/นำแสดงโดย Charlie Chaplin

– The Battle of the Century (1927) หนังสั้น 19 นาที (สูญหายไป 2 นาที) สร้างโดยโปรดิวเซอร์ Hal Roach นำแสดงโดย Stan Laurel กับ Oliver Hardy

– In the Sweet Pie and Pie (1941) หนังสั้น 17 นาที นำแสดงโดย Three Stooges

ทั้งสามเรื่องสั้นนี้คือตำนานของ Pie Fight ที่เคยได้รับการกล่าวขาน แต่เทียบไม่ได้เลยกับ The Great Race (1965) คงเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ด้วยภาพสีสันสดใส ความสมจริง และทุ่มทุนสร้างไม่อั้น พายจำนวน 4,000 ชิ้น สูญงบไปเฉพาะค่าทำพาย $18,000 เหรียญ (มันมีท็อปปิ้ง Raspberry, Strawberry, Blueberry, Lemon ด้วยนะครับ ไม่ใช่แค่พายเปล่าๆ) รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด $200,000 เหรียญ ใช้เวลาถ่ายทำ 5 วัน ไม่แปลกที่อะไรๆเลยดูดีผิดหูผิดตา เป็นฉากที่ผมหัวเราะหนักสุดของหนังแล้ว

เกร็ด: หนังเรื่อง Dr. Strangelove (1964) ก็มีฉาก Pie Fight เช่นกัน ถ่ายทำไว้แล้วแต่ไม่ได้หลงเหลือในฉบับฉาย

เกร็ด2: Jack Lemmon เล่าให้ฟังว่า ระหว่างถูกขว้างมีหลายครั้งทีเดียวที่เขาถูกน็อคสลบไสล เพราะน้ำหนักของพายมันไม่ใช่น้อยๆเลย

William Blake Crump (1922 – 2010) ผู้กำกับ/นักเขียนบท สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Tulsa, Oklahoma พ่อเลี้ยง Jack McEdwards เป็นลูกของ J. Gordon Edwards ผู้กำกับหนังเงียบ ทำให้ต่อมาย้ายมาอาศัยอยู่ Los Angeles ต้วมๆเตี้ยมๆวิ่งเล่นอยู่ในกองถ่ายภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก สมัครเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประจำอยู่ Coast Guard ได้รับบาดเจ็บหลังทนทุกข์ทรมานอยู่เป็นปี จำต้องปลดประจำการ กลับมา Hollywood ตั้งใจเป็นนักแสดง แต่กลายเป็นนักเขียน กำกับรายการโทรทัศน์ Four Star Playhouse (1952) ละครซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Bring Your Smile Along (1955), Operation Petticoat (1959) นำแสดงโดย Tony Curtis กับ Cary Grant เป็นหนังทำเงินสูงสุดของ Universal Studio ทศวรรษนั้น, ตามด้วย Breakfast at Tiffany’s (1961) นำแสดงโดย Audrey Hepburn, Days of Wine and Roses (1962) นำแสดงโดย Jack Lemmon กับ Lee Remick, และซีรีย์ Pink Panther ตั้งแต่นำแสดงโดย Peter Sellers, Roger Moore และ Roberto Benigni

เพราะความที่เติบโตขึ้นในยุคหนังเงียบ (ตั้งแต่ยังไม่รู้ประสีประสา) ทำให้รู้จัก ชื่นชอบนักแสดงตลกชื่อดังแห่งยุค อาทิ Charlie Chaplin, Buster Keaton, Harold Lloyd, Laurel and Hardy นำเอาความประทับใจเก่าๆ พยายามสร้างภาพยนตร์ที่มีลักษณะ Slapstick Comedy นำองค์ประกอบของหนังเงียบแทรกใส่เข้าไปในภาพยนตร์ยุคสมัยใหม่ ซึ่งถือว่าโดดเด่นระดับตำนานกับแฟนไชร์ The Pink Panther (1963)

จริงอยู่ว่า Edwards คือผู้กำกับสายบันเทิง/Commercial มากกว่าเน้นความสวยงามของศิลปะ แต่ก็ถือเป็นยอดฝีมือที่มิอาจมองข้าม แม้เคยได้เข้าชิง Oscar เพียงครั้งเดียวจากสาขา Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium เรื่อง Victor Victoria (1982) กระนั้นก็ไม่ได้ถูก Academy ทอดทิ้งมองข้าม รับมอบรางวัล Honorary Award เมื่อปี 2004

จากความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆของ ทำให้ Edwards มีโอกาสสร้างภาพยนตร์ทุนสูง หนังเรื่องใหม่นี้วางงบประมาณเริ่มต้นที่ $6 ล้านเหรียญ ตอนแรกได้ United Artists เป็นผู้จัดจำหน่าย แต่ภายหลังถอนตัวออกไป และได้สตูดิโอใหม่ Warner Bros. แลกกับข้อเสนอให้ Tony Curtis กับ Natalie Wood นำแสดง

พัฒนาบทภาพยนตร์โดย Arthur A. Ross นำแรงบันดาลใจจากการแข่งขันรถแข่งข้ามทวีป (1908 New York to Paris Race) เริ่มต้นจาก Times Square, New York ถึงเส้นชัยกรุง Paris เมื่อปี 1908 ประกอบด้วยรถ 6 คันจาก 4 สัญชาติ (Germany, France, United States และ Italy 3 คัน) แต่ด้วยหนทางสุดยากลำบาก จึงหลงเหลือเพียง 3 คันเท่านั้นที่เข้าเส้นชัย, ผู้ชนะการคือ Thomas Flyer ทีมอเมริกา ขับรถรุ่น Thomas Flyer ใช้เวลา 169 วัน รวมระยะทางประมาณ 16,700 กิโลเมตร

การแข่งขันนี้ถูกเรียกว่า ‘Greatest Auto Race’ (โดยหนังสือพิมพ์ The New York Times เจ้าเดียวที่เกาะติดรายงานข่าวนี้) และถือเป็นครั้งแรกของโลกกับการเดินทางรอบโลก (around-the-world) ด้วยรถยนต์

Ross พัฒนาบทหนังด้วยการนำเอาแค่เหตุการณ์นี้มาอ้างถึงเฉยๆ แล้วสร้างเรื่องราวขึ้นใหม่หมด ปรุงแต่งให้คล้ายกับ Around the World in 80 Days (1956) ระหว่างการเดินทางพบเจอความวุ่นวายมากมาย ที่ต้องหาทางดิ้นรนหนีเอาตัวรอด ไปให้ถึงเส้นชัยสำเร็จ

เรื่องราวของ The Great Leslie (รับบทโดย Tony Curtis) กับคู่ปรับตลอดกาล Professor Fate (รับบทโดย Jack Lemmon) พวกเขามีเรื่องให้แข่งขันกันตลอดเวลา เพื่อพิสูจน์ว่าใครเจ๋งกว่า ยิ่งใหญ่กว่า แล้ววันหนึ่ง Leslie ได้ครุ่นคิดถึง The Great Race แข่งรถขับข้ามทวีป มีหรือศาสตราจารย์ Fate จะไม่สนใจ แต่พวกเขาได้ถูกนักข่าวสาวสวย Maggie DuBois (รับบทโดย Natalie Wood) ตามเกาะติดราวกับปลิง เพื่อส่งนกพิราบรายงานทุกสถานการณ์การแข่งขันให้กับหนังสือพิมพ์ New York Sentinel

Tony Curtis ชื่อเดิม Bernard Schwartz (1925 – 2010) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Manhattan ครอบครัวเป็นชาว Jews อพยพจาก Czechoslovakia และ Hungary โตขึ้นสมัครเข้าเป็นทหารเรือหลังจากเหตุการณ์ Pearl Harbor ประจำการในเรือดำน้ำ USS Proteus เห็นญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ที่ Tokyo Bay ปลดประจำการออกมาเข้าเรียนการแสดงยัง The New School ที่ Greenwich Village ได้รับการค้นพบโดย Joyce Selznick เซ็นสัญญากับ Universal Picture รับบทนำเรื่องแรก The Prince Who Was a Thief (1951) ประสบความสำเร็จพอสมควร โด่งดังสูงสุดกับ Some Like It Hot (1959) และ Operation Petticoat (1959) และได้เข้าชิง Oscar: Best Actor เรื่อง The Defiant Ones (1958)

รับบท Leslie Gallant III หนุ่มหล่อเก่งที่ค่อนข้างหลงตัวเอง ไม่ชอบฟังคำใคร ถึงปากอ้างว่าจะเป็นแค่ Leslie ธรรมดา แต่เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งมองตัวเองคือ The Great Leslie เอาจริงๆแทบไม่เคยเห็น Prof. Fate อยู่ในสายตาแม้แต่น้อย และเพราะไม่เคยพบเจอผู้หญิงแบบ Maggie DuBois โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรักและยินยอมรับในความเสมอภาคเท่าเทียมของชาย-หญิง

เดิมนั้นผู้กำกับต้องการ Robert Wagner ให้มารับบทนี้ แต่เพราะเขาเพิ่งเลิกกับ Natalie Wood ที่ Warner Bros. ต้องการให้มาเป็นนางเอก เลยเสนอชื่อของ Curtis แทน, ถือเป็นภาพลักษณ์ที่เข้ากับความเย่อหยิ่งของตัวละครโดยแท้ (แต่อย่าไปยึดติดภาพการปลอมตัวเป็นหญิงใน Some Like It Hot นะครับ) หล่อเริดเชิด สาวติดตรึมแต่ไม่สนใจสักคน

John Uhler ‘Jack’ Lemmon III (1925 – 2001) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Newton, Massachusetts ว่ากันว่าขณะอยู่ในลิฟท์ที่โรงพยาบาล Newton-Wellesley นี่กระมังทำให้ตั้งแต่อายุ 8 ขวบต้องการเป็นนักแสดง เข้าร่วมชมรมการแสดงทุกสถาบันที่เข้าเรียน รวมถึง Delphic Club ที่ Harvard University ระหว่างนั้นรับใช้ชาติเป็นทหารเรือ จบออกมาทำงานวิทยุและละครเวที Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก It Should Happen to You (1954) ของผู้กำกับ George Cukor เสียงตอบรับใช้ได้ทีเดียว

Lemmon ถือเป็นโคตรนักแสดงรางวัลคนหนึ่ง คว้ารางวัลแบบดับเบิ้ลแล้วเบิ้ลอีก
– คว้า Oscar 2 ครั้ง, Best Actor เรื่อง Save the Tiger (1973) และ Best Supporting Actor เรื่อง Mister Roberts (1955)
– คว้า 2 รางวัล Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes เรื่อง The China Syndrome (1979), Missing (1982)
– 2 รางวัลจากเทศกาลหนังเมือง Venice ประกอบด้วย Volpi Cup: Best Actor จากเรื่อง Glengarry Glen Ross (1992) และ Volpi Cup: Best Ensemble Cast เรื่อง Short Cuts (1993)
– แต่ครั้งเดียวกับเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ารางวัล Silver Bear: Best Actor เรื่อง Tribute (1980)

(ไม่แน่ใจว่า Lemmon เป็นนักแสดงคนเดียวของโลกเลยหรือเปล่าที่คว้าครบทุกรางวัลการแสดงภาพยนตร์ของอเมริกา รวมถึงโทรทัศน์ Emmy Award และจากสามเทศกาลหนังใหญ่ Big 3 ครบถ้วน)

รับบท Professor Fate (และ Prince Friedrich Hapnick) หนุ่มอัจฉริยะขี้อิจฉาที่ก็เฉลียวฉลาดเก่งกาจพอๆกับ Leslie Gallant III แต่เพราะโชคไม่เคยช่วย ทำให้มองโลกแง่ร้ายตลอดเวลา ตะโกนโหวกแหวกเรียกร้องความสนใจ พูดจาหยาบคาย บ้าบอคอแตก

ส่วนตัวมองว่านี่เป็นตัวละครที่ไร้สาระอย่างมาก และการนำ Lemmon มารับบทได้ไม่คุ้มเสีย เพราะปกติแล้วเขามักเป็นตลกสุภาพชน หยาบคายบ้างแต่ไม่แหกปากโหวกเหวก แต่เพราะเรื่องนี้ตัวละครคาบหมาอยู่เต็มปาก ตะโกนสุดเสียงจนผมเจ็บคอแทน นี่มันไม่ขำเลยสักนิดนะ

กระนั้นเห็นว่าผู้ชมจำนวนมากกลับชื่นชอบบทบาทเว่อๆนี้ของ Lemmon อย่างที่สุด (แม้แต่ลูกชาย Chris Lemmon ยังบอกว่า ‘finest’ ของพ่อ) ขนาดว่า จดหมายจากแฟนๆที่ส่งถึงเขา มักพูดถึงตัวละคร Fate มากกว่าเรื่องไหนๆที่เคยแสดงมาในชีวิต

Natalie Wood ชื่อเดิม Natalia Nikolaevna Zakharenko (1938 – 1981) นักแสดงสาวสวยสัญชาติรัสเซีย-อเมริกัน ที่มีผลงานการแสดงตั้งแต่เด็ก อาทิ Miracle on 34th Street (1947), The Searchers (1956), Splendor in the Grass (1961), West Side Story (1961), Love with the Proper Stranger (1963) ฯ ก่อนอายุ 25 ได้เข้าชิง Oscar ถึง 3 ครั้ง (แต่ทั้งชีวิตไม่เคยได้สักรางวัล)

ครอบครัวของ Wood มีลักษณะคล้ายพวก Gypsy ที่ชอบเดินทางอพยพไปเรื่อยๆ สามีคนแรกของแม่ถูกยิงตายที่รัสเซีย เธออพยพไปอยู่ประเทศจีนแต่งงานใหม่ จากนั้นข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยู่อเมริกา คลอด Wood ที่ San Francisco และย้ายไปอยู่ Los Angeles เพื่อสนับสนุนให้เธอเป็นดารานักแสดง, ช่วงวัยเด็กแม่เป็นผู้เสี้ยมสอนเธอขณะนอนหนุนตัก ว่าอนาคตจะต้องกลายเป็นดาราดัง และเด็กหญิงก็เชื่อคำแม่ทุกอย่าง

“My mother used to tell me that the cameraman who pointed his lens out at the audience at the end of the Paramount newsreel was taking my picture. I’d pose and smile like he was going to make me famous or something. I believed everything my mother told me.”

รับบท Maggie DuBois หญิงสาวหัวก้าวหน้า ดื้อรั้นทะนงตน มีความต้องการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง นี่ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ในทศวรรษนั้น จึงมักไม่ได้รับการยอมรับ เธอจึงขอท้าพิสูจน์ด้วยการใช้เล่ห์มารยาสาว พาตัวเองแทรกตัวเข้าไปอยู่ระหว่าง The Great Leslie กับ Professor Fate วนๆเวียนๆ ไปๆมาๆ สลับรถอยู่นั่น จนสุดท้ายได้ลงเอยกับพระเอกแบบไม่ได้ตั้งใจนัก

นักวิจารณ์สมัยนั้นต่างว่า Wood เป็นนักแสดงที่ miscast ต่อบทนี้ แต่ผมกลับมองตรงกันข้าม เป็นการแสดงเต็มไปด้วยเสน่ห์น่าหลงใหล เริดเชิดหญิง ก้าวร้าวแข็งแกร่งภายนอกแต่อ่อนนุ่มภายใน, ในหนังเธอสวมใส่เสื้อผ้า 19 ชุด ต้องเรียนฟันดาบ, ขี่ม้า, สูบบุหรี่ และยากสุดในความเห็นของเธอคือหัดขับรถ Stanley Steamer กระนั้นระหว่างถ่ายทำเธอค่อนข้างมีอคติกับสองนักแสดงนำ Curtis และ Lemmon กล่าวหาว่าพวกเขา ‘sexually harassed’

ถ่ายภาพโดย Russell Harlan จากนักแสดง/สตั๊นแมน กลายเป็นตากล้อง เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถึง 6 ครั้ง ไม่เคยได้สักรางวัล ผลงานเด่น อาทิ Red River (1948), Lust for Life (1956), Rio Bravo (1959), Hatari! (1962), To Kill a Mockingbird (1962) ฯ

โดดเด่นเรื่องสีสันสวยสดใส และการใช้ Rear Projection ค่อนข้างเยอะทีเดียว แต่ว่าไปกลับไม่ค่อยเนียนสักเท่าไหร่ คงเพราะมีหลายฉากที่เว่อเกินจริงมากมาย จรวดพุ่งขึ้นท้องฟ้า, ปั่นจักรยานบอลลูน, รถติดเกาะน้ำแข็ง (แต่นั่นพื้นหลังใช้ภาพวาดเอานะครับ), ไฮไลท์คือตอนหอไอเฟลถล่ม นั่นคงใช้โมเดลจำลอง เห็นระยะไกลๆแต่ก็บอกได้ว่าไม่สมจริงสักนิด!

ตัดต่อโดย Ralph E. Winters ขาประจำของ Edwards เจ้าของ 2 รางวัล Oscar: Best Edited เรื่อง King Solomon’s Mines (1950) กับ Ben-Hur (1959), หนังไม่ได้ใช้มุมมองของใครเป็นพิเศษ เล่าเรื่องคู่ขนานผ่านทั้ง 3 ตัวละครหลักไปพร้อมๆกัน ที่มักต้องมีความเกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์ แข่งขัน อยู่เรื่อยไป

ไฮไลท์การตัดต่ออยู่ขณะ Pie Fight ลองสังเกตว่าทำไม Leslie ถึงสามารถเอาตัวรอดไม่โดยขว้างพายใส่ดูนะครับ คือมันจะมีจังหวะหลบทันทุกที แล้วคนเดินมาทีหลังพลอยโดนลูกหลง มันจะขำมากเวลาพายแปะโดนหน้า ซึ่งหนังก็จะตัดย้ำๆให้เห็นช่วงขณะนี้อยู่เรื่อยๆ และกอปรกับบทเพลงสุดเร้าใจ นี่คือเหตุผลให้ฉากนี้ได้รับการยกย่องว่า ‘The Greatest Pie Fight Ever.’

เพลงประกอบโดย Henry Mancini ขาประจำของ Edwards เช่นกัน คว้า Oscar 4 ครั้งจากหนัง 3 เรื่อง Breakfast at Tiffany’s (1961), Days of Wine and Roses (1962) และ Victor Victoria (1982)

นี่ถือเป็นส่วนไฮไลท์ของหนังก็ว่าได้ Mancini ใช้เวลา 6 สัปดาห์กับนักดนตรี 80 คน และนักแต่งคำร้อง Johnny Mercer จัดเต็มเปี่ยมด้วยความสนุกสนาน ครึกครื้น เฮฮา, บทเพลง Push The Button, Max เต็มไปด้วยลีลากวนโอ้ย ยั่วเย้า หยอกล้อเล่น โดยเฉพาะเสียงทรัมเป็ตเป่าได้น่าถีบมาก จับใจจริงๆ

(ถ้าคุณคุ้นเคยกับ The Pink Panther Theme ก็นี่แหละผู้แต่ง Henry Mancini คนเดียวกัน)

บทเพลง The Sweetheart Tree เริ่มต้นจาก Rag Time ตามด้วยเสียงคอรัส แต่งคำร้องโดย Johnny Mercer ทำนองซึ้งๆ ชวนให้ระลึกถึงสุขทุกข์เศร้า หวานอมขมกลืน, Leslie กับ Fate ถือเป็นคู่รักคู่แค้น ถึงภายนอกมีความอาฆาตแค้นหมายร้าย แต่จิตใจของพวกเขายิ่งกว่าเพื่อน เป็นสองขั้วที่เติมเต็มกันและกันได้อย่างลงตัว

แถมท้ายกับบทเพลง He Shouldn’t-A, Hadn’t-A, Oughtn’t-A Swang On Me! ขับร้องโดย Dorothy Provine ร่วมกับ Henry Mancini and His Orchestra เป็นแนว Country สำเนียง Texas เน่อเสียง -A เกือบจะเพราะแล้วนะครับ แต่มันยียวนกวนเกินห้ามใจน่าหมั่นไส้เสียจริง

ขาว-ดำ, ดี-ชั่ว, พระเอก-ตัวร้าย เป็นสองขั้วของมนุษย์ที่ตรงกันข้าม ไม่ถูกกันโดยสิ้นเชิง ต่างฝ่ายแข่งขันเพื่อนำชัยชนะมาสู่ความภาคภูมิใจของตน แต่มันก็หาได้มีค่าอะไรแม้แต่น้อย เพราะส่วนใหญ่ฝั่งขาว-ดี มักเป็นผู้ชนะอยู่แล้ว นั่นทำให้ต่างฝ่ายมีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน จองหอง อวดดี แต่การมาถึงของหญิงสาวที่แสวงหาความเท่าเทียม ไม่ใช่แค่กับชาย-หญิง แต่ยังคือตัวเชื่อมระหว่าง ขาว-ดำ, ดี-ชั่ว, และพระเอก-ตัวร้าย นั่นจะทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสีเทา และทางสายกลาง

แต่หนังไม่ได้แฝงสาระอะไรเลยนะครับ คนจะทำดีก็ทำไป ใครจะชั่วก็ชั่วไป ไม่มีทางเห็นผิดเป็นชอบ เห็นถูกเป็นผิด แม้กระทั่งตอนจบที่พระเอกยินยอมเป็นผู้พ่ายแพ้ในสายตาคนทั้งโลก แต่กลับเป็นผู้ชนะในสายตาเธอ มันอะไรว่ะ! เหมือนจะมีสาระแต่ผมกลับจับใจความไม่ได้แม้แต่น้อย

เอาเป็นว่า The Great Race เป็นเรื่องราวการแข่งขันของ ความดี-ความชั่ว ใครจะเข้าเส้นชัยถึงก่อนนั้นไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเราจะสามารถชนะใจตัวเองได้หรือเปล่า *-*

จากทุนสร้างเริ่มต้น $6 ล้านเหรียญ ค่อยๆใช้เกินไปเรื่อยๆจนสูงถึง $12 ล้านเหรียญ ทำให้นาย Jack L. Warner เกิดความเอือมละอา ตั้งใจจะไล่ผู้กำกับออกด้วย แต่สามารถทำได้ที่ไหนเลยจำใจสมยอมปล่อยไป กลายเป็นหนัง Comedy ทุนสร้างสูงสุดขณะนั้นโดยปริยาย (เยอะกว่า It’s a Mad Mad Mad Mad World เสียอีกนะ) หนังทำเงินได้ในอเมริกา $25.3 ล้านเหรียญ แค่เพียงคืนทุน แต่ในตลาดโลกเห็นว่าฮิตถล่มทลาย ที่ฝรั่งเศสออกฉายยาวนานต่อเนื่องถึง 106 สัปดาห์ ขณะนั้นเป็นรองเพียง Sound of Music เท่านั้น

เข้าชิง Oscar 5 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Cinematography, Color
– Best Sound
– Best Film Editing
– Best Music, Original Song
– Best Effects, Sound Effects ** คว้ารางวัล

ทั้งๆที่ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบผลงานของผู้กำกับ Blake Edwards หลายๆเรื่อง แต่กับ The Great Race สร้างความรู้สึกเสียเวลาให้อย่างมาก เป็นหนัง Comedy Slapstick ที่จืดชืดเชยสนิท หัวเราะน้อยมาก (หรือผมเส้นหนาก็ไม่รู้นะ) แถมยังทำให้ Jack Lemmon ที่ผมโคตรชื่นชอบกลายเป็นตลกไร้สาระไปอีก, แม้หนังจะมีบทเพลงเพราะๆ และการแสดงของ Natalie Wood ที่สร้างความประทับใจยิ่งยวด ก็คงให้คะแนนความชื่นชอบได้ไม่เกินพอใช้ SO-SO ภาพรวมผมไม่เห็นคุณค่าใดๆนอกจากความบันเทิงที่ได้รับจากหนังเรื่องนี้

แนะนำกับคอหนัง Comedy Slapstick ชื่นชอบการแข่งขัน รถแข่ง ผจญภัย, แฟนๆนักแสดง Jack Lemmon, Tony Curtis, Natalie Wood และผู้กำกับ Blake Edwards ไม่ควรพลาด

จัดเรต pg กับเสียงตะโกนโหวกแหวกและคำหยาบคาย

TAGLINE | “The Great Race เป็นหนังแนว Comedy Slapstick ที่ค่อนข้างจืดชืด หยาบคาย มีแต่ความบันเทิงและโปรดักชั่นไปวัดไปวาได้”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: