The Great Train Robbery

The Great Train Robbery (1903) hollywood : Edwin S. Porter ♠♠♠♠♠

(mini-Review) ด้วยทุนสร้างเพียง $150 เหรียญสมัยก่อน ภาพยนตร์ลำดับที่ 201 ของ Edison Studios ไม่มีใครรู้รายรับเป็นตัวเลขจริงๆเท่าไหร่ แต่ถือกันว่าเป็นภาพยนตร์ Western ที่เป็น Blockbuster เรื่องแรกของโลก

ในประเทศอเมริกาก่อนหน้านี้ ภาพยนตร์คือสื่อสิ่งบันเทิงที่มีลักษณะนำเสนอเหตุการณ์จริง ชีวิตประจำวันของผู้คน อาทิ กินข้าว, ทำงาน, รถไฟจอดเทียบชานชาลา, คนเดินไปเดินมา ฯ ไม่มีการเล่าเรื่องราวที่มีเนื้อเรื่องเป็นชิ้นเป็นอัน หรือที่เรียกว่า narrative film เกิดขึ้นมาก่อน, จริงๆมันอาจจะมี แต่หาหลักฐานไม่พบ และหนังเรื่องนี้ได้รับการยกย่องพูดถึงกล่าวขาน มีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ยุคถัดมามากที่สุดแล้ว

Edison Studios เป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์แรกๆของอเมริกา (ก่อนที่จะมี Hollywood เสียด้วยซ้ำ) ก่อตั้งโดย Thomas Alva Edison นักประดิษฐ์ผู้คิดค้นหลอดไฟที่ใครๆคงรู้จักกันดี เมื่อปี 1894 มีผลงานภาพยนตร์กว่า 1,200 เรื่อง แต่ก็ต้องปิดตัวลงเมื่อปี 1918 โดยคำสั่งศาล และช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ไม่มีใครมองหาสิ่งบันเทิงรับชมกันอีกแล้ว

ผลงานดังๆของสตูดิโอนี้ อาทิ
– Leonard-Cushing fight (1894) [ต่อยมวยครั้งแรกของภาพยนตร์]
– The Kiss (1896) [จูบแรกของภาพยนตร์]
– The Night Before Christmas (1905) [ดัดแปลงจากบทกวี A Visit from St. Nicholas]
– Alice’s Adventures in Wonderland (1910)
– Frankenstein (1910)
– What Happened to Mary (1912) [เรื่องแรกที่ดัดแปลงจากนิยาย และสร้างเป็นตอนๆ]
– The Land Beyond the Sunset (1912) [เรื่องแรกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Lyrical film]
ฯลฯ

Edwin S. Porter ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เคยทำงานเป็นตากล้องของ Thomas Edison ก่อนได้รับโอกาสให้กลายมาเป็นผู้กำกับ ริเริ่มแนวคิดโดยการนำแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง ว่ากันว่าเมื่อปี 1900 ที่มีการปล้นขบวนรถไฟโดย Butch Cassidy และพรรคพวก นำมาปรุงแต่งสร้างเรื่องราวจนกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้

เกร็ด: ส่วนใหญ่จะบอกว่า หนังได้แรงบันดาลใจมาจากละครเวทีของ Scott Marble ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 1896

ภาพยนตร์จำนวน 1 ม้วน (1 reel) ความยาว 10 นาที มีทั้งหมด 14 ฉาก ถ่ายทำเดือนพฤศจิกายน 1905 ที่ Essex Country Park, New Jersey (ใกล้กับสถานที่ตั้งของ Edison Studio) สถานีรถไฟ Lackawanna, ฟีล์มบางม้วนของหนังมีการลงสี Special Effect ใช้การระบายด้วยมือที่ละเฟรม เทคนิคนี้ได้แรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง A Daring Daylight Burglary (1903)

ลักษณะของงานภาพเป็น Long Shot ตั้งกล้องอยู่นิ่งๆ (แต่ก็มีฉากหนึ่งที่กล้องเคลื่อนไหวด้วยการแพน) บันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้นักแสดงทำการเคลื่อนไหว แสดงในกรอบที่ถูกกำหนดไว้

สมัยนั้นยังไม่มีนักแสดงที่มีชื่อเสียง ทุกคนคืออาสาสมัครไม่มีใครได้รับชื่อขึ้นเครดิต แต่เว้นไว้กับ Gilbert M. ‘Broncho Billy’ Anderson ผู้รับบทเป็นหัวหน้าโจร เป็นคนยิงผู้โดยสารที่ขัดขืน และถูกยิงที่เท้าบาดเจ็บ, Billy ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแสดง Western คนแรกของโลก ‘first star of the Western film genre’

อีกคนที่ต่อมามีชื่อเสียงไม่น้อยหน้า คือชายคนที่ยิงปืนเข้ากล้องฉากสุดท้าย Justus D. Barnes กับผู้ชมที่ไม่เคยเตรียมตัวมาก่อนสมัยนั้น จะตื่นตระหนกตกใจ เพราะคิดว่าตนกำลังจะถูกยิง บ้างกระโดดหลบ ก้มมุดลงใต้เก้าอี้ นี่คล้ายๆกับตอนรถไฟเข้าเทียบชานชาลา จากหนังเรื่อง Arrival of a Train at La Ciotat (1987) ที่สร้างโดยพี่น้อง Lumière

เกร็ด: หนังเรื่อง Goodfellas (1990) ของ Martin Scorsese ในฉากสุดท้ายของหนัง มีการเลียนแบบยกย่องคารวะฉากนี้ ด้วยการให้ตัวละครยิงปืนเข้าหากล้อง

เกร็ด: จะว่าไปหนัง James Bond กับช็อตเปิดตัว Gun Barrel Shot มีความเป็นไปได้ว่าจุดเริ่มต้น อาจได้แรงบันดาลใจ น่าจะมาจากหนังเรื่องนี้แหละ

The Great Train Robbery ได้รับการยกย่องว่าเป็นเสาหลักแรก (milestone) ของวงการภาพยนตร์ ด้วยการบุกเบิกเทคนิคการตัดต่อ ที่เรียกว่า Cross-Cutting (มีสองภาพซ้อนกันระหว่างการเปลี่ยนฉาก), นอกจากนี้ยังเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่ใช้การถ่ายทำยังสถานที่จริง, ใช้ dummy หุ่นประกอบฉาก และกล้องมีการเคลื่อนไหว(เล็กน้อย)

เอาจริงๆมันก็ไม่มีอะไรในหนังเรื่องนี้ให้พูดถึงมากนัก แต่ที่ต้องเขียนถึงเพราะเป็นหนึ่งในหนังได้รับการยกย่องกล่าวขวัญถึงมากที่สุด จะเห็นว่าผมไม่สปอยเนื้อเรื่องเลยนะครับ คิดว่าผู้ชมยุคสมัยไหนก็สามารถทำความเข้าใจใจความของหนังได้โดยไม่ต้องใช้คำอธิบายหรือมีการวิเคราะห์ใดๆ

การเกิดขึ้นของหนังเรื่องนี้ ทำให้มีสตูดิโออื่นสร้างเรื่องราวลักษณะเดียวกันเลียนแบบ แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนประสบความสำเร็จเทียบเท่า อาทิ
– The Bold Bank Robbery (1904)
– The Hold-Up Of The Rocky Mountain Express (1906)
– แม้แต่หนังเรื่องถัดๆมาของ Edwin S. Porter ก็มีเรื่องราวคล้ายๆกัน The Life of an American Cowboy (1906)
– ขณะเดียวกันก็มีหนัง parody (ตลกเลียนแบบ) เรื่องแรกของโลก The Little Train Robbery (1905) ที่เปลี่ยนจากผู้ใหญ่เป็นเด็กๆปล้นรถไฟ

ส่วนตัวไม่ได้ชอบอะไรหนังเรื่องนี้ คงเพราะเป็นหนังเก่าไม่มีอะไรให้ประทับใจพูดถึง จึงขาดความน่าสนใจไปโดยสิ้นเชิง แต่ผมค่อนข้างทึ่งในความสำเร็จของหนังยุคนั้น คงเพราะนี่เรื่องราวที่แม้สมัยปัจจุบันก็ยังดูสนุก อดีตตอนนั้นผู้ชมจะยิ่งคงอึ้งทึ่งประทับใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนจบ ต้องมีคนตกใจกระโดดหลบ คิดว่าตัวเองกำลังจะโดนยิงเป็นแน่

จัดเรตทั่วไป

TAGLINE | “The Great Train Robbery เป็นหนังสั้นที่คงไม่มีค่าอะไรกับคนสมัยนี้ แต่ในอดีตยิ่งใหญ่ระดับ Blockbuster รู้จักไว้เป็นดี”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: