The Great White Silence

The Great White Silence (1924) British : Herbert Ponting ♥♥♥

ภาพยนตร์สารคดีที่จะนำพาผู้ชมมุ่งสู่ขั้วโลกใต้ ครั้งแรกของการบันทึกภาพเคลื่อนไหว อึ้งทึ่ง ตราตรึง และเจ็บปวดรวดร้าวใจ เพราะการเดินทางครั้งนี้นั้น จบลงด้วยโศกนาฎกรรม

Heroic Age of Antarctic Exploration ชื่อเรียกยุคสมัยการสำรวจขั้วโลกใต้/ทวีปแอนตาร์กติกา เริ่มต้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงสิ้นสุดหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1918) เพราะการออกเดินทางในช่วงดังกล่าว ยังเต็มไปด้วยขีดจำกัดมากมาย เสี่ยงอันตราย นักบุกเบิกมีโอกาสครึ่งต่อครึ่งจะสูญเสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุ ขาดอาหาร หนาวตาย … ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการเรียกกว่าขาน ‘ยุคสมัยแห่งผู้กล้า’

มนุษย์ออกสำรวจขั้วโลกใต้ทำไม? เหตุผลเดียวกับการสำรวจอวกาศ หรือออกเดินทางสู่ดวงจันทร์ เพื่อที่จะเป็นผู้บุกเบิก ค้นหาดินแดนใหม่ ท้าทายขีดจำกัดร่างกาย เทคโนโลยี และเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆให้มวลมนุษยชาติ

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือการครอบครอง แสวงหาทรัพยากร หรือที่เรียกว่า ‘อาณานิคม’ เพราะยังไม่มีใครเป็นเจ้าของสิทธิ์ในผืนแผ่นดินว่างเปล่านั้น ด้วยเหตุนี้ถ้าเพียงสามารถนำ ‘ธงชาติ’ เข้าไปปักวาง ก็ถือว่าโลกใบใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

การออกสำรวจขั้วโลกใต้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์คือ Belgian Antarctic Expedition (1897-99) โดยกัปตัน Adrien de Gerlache (1866 – 1934) แห่ง Belgian Royal Navy ด้วยเรือชื่อ Belgica … จริงๆคือต้องการแค่แล่นสำรวจบริเวณโดยรอบ แต่เพราะติดกับดักธารน้ำแข็งไปไหนไม่รอด จำต้องขึ้นฝั่งพักอาศัยอยู่ยังขั้วโลกใต้ถึง 7 เดือน เพื่อรอให้ฤดูร้อนย่างเข้ามา ธารน้ำแข็งหลอมละลาย ถึงสามารถออกเดินทางกลับได้

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการสำรวจ British Antarctic Expedition 1910 (1910 – 13) หรือเรียกว่า Terra Nova Expedition นำโดยกัปตัน Robert Falcon Scott (1868 – 1912) ด้วยเรือ Terra Nova ได้รับมอบหมายจาก British Empire จุดประสงค์เพื่อปักธงชาติ (Union Jack) ตรงกึ่งกลางทวีปแอนตาร์กติกา

เกร็ด: Terra Nova Expedition คือความพยายามครั้งที่สองของกัปตัน Scott เพื่อออกเดินทางมุ่งสู่ขั้วโลกใต้ ถัดจาก Discovery Expedition (1901–04)

ซึ่งกับตัน Scott ก็ได้เลือกเอา Herbert Ponting ช่างภาพมืออาชีพออกเดินทางร่วมไปด้วย เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งไม่เพียงกล้องถ่ายภาพนิ่งเท่านั้น ยังกล้องฟีล์มบันทึกภาพเคลื่อนไหว

Herbert George Ponting (1870 – 1935) สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Salisbury, Wiltshire บิดาเป็นนายธนาคาร ถูกบีบบังคับให้ต้องเดินตามรอยเท้าพ่อ แต่หลังจากทำงานธนาคารที่ Liverpool นานถึงสี่ปี ตัดสินใจลาออกเพื่อเติมเต็มความฝัน เดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ทำงานเหมือง เก็บผลไม้ ได้แต่งงานสาว California วันว่างๆมีงานอดิเรกถ่ายภาพ ทวีความสนใจขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นอาชีพหลัก นักข่าวถ่ายทำ Russo-Japanese War (1904–05) เดินทางไปเก็บภาพทั่วเอเชีย เกาหลี, จีน, พม่า, อินเดีย ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ได้รับความนิยมล้นหลาม

คงเพราะจิตวิญญาณนักสำรวจ และชื่นชอบการเดินทาง ทำให้ Ponting ตกลงเซ็นสัญญาร่วมไปกับ Terra Nova Expedition ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในการจัดเก็บภาพจริงๆจากขั้วโลกใต้ ซึ่งก็ยังมีการล่าปลาวาฬ, เล่นกับเพนกวิ้น, แมวน้ำ, นกสกัว, Fauna ฯ

นับเป็นความโชคดี (หรือร้ายก็ไม่รู้นะ) ที่กัปตัน Scott ไม่ได้นำพา Ponting ร่วมออกเดินทางสู่ใจกลางแอนตาร์กติกา ทอดทิ้งเขาไว้เบื้องหลังเฝ้ารอคอยข่าวดี/ร้าย ซึ่งสิ่งที่บังเกิดขึ้นได้สร้างความหดหู่ สิ้นหวัง เรือ Terra Nova ออกเดินทางกลับโดยไม่มีกัปตัน แม้จะได้รับการยกย่องว่าคือวีรบุรุษ แต่ก็ทำให้ผู้คนมากมายครุ่นคิดตั้งคำถาม สำรวจแบบนี้ทำไปเพื่ออะไร? ได้รับผลตอบแทนใดๆกลับคืนมาหรือเปล่า?

เมื่อ Ponting เดินทางกลับสู่ประเทศอังกฤษ พยายามที่จะตัดต่อร้อยเรียงเป็นภาพยนตร์ แต่ติดขัดไม่มีเงินทุน ประกอบการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาสาสมัครช่างภาพกลับถูกบอกปัดปฏิเสธ (เพราะอายุเริ่มเยอะแล้ว) จนกระทั่งเขาตัดสินใจรวมเล่มตีพิมพ์หนังสือภาพนิ่ง The Great White South (1921) ปรากฎว่าขายดีเทน้ำเทท่า จึงนำเงินเหลือมาสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สำเร็จเสร็จสรรพ

หนังดำเนินเรื่องด้วยการตัดสลับภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายทำไว้ กับ Title Card ที่มีข้อความอธิบายยาวเหยียด! นั่นอาจไม่ใช่สิ่งน่าอภิรมณ์สักเท่าไหร่ แต่ควรต้องเข้าใจข้อจำกัดยุคสมัยนั้น นี่เป็นวิธีทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจง่ายที่สุดแล้ว

ฟุตเทจที่ใช้ยังมีภาพเบื้องหลัง เพื่อให้ผู้ชมพบเห็นความยุ่งยากลำบากในการถ่ายทำ (ถ่ายขณะเรือกำลังแล่นตัดน้ำแข็ง น่าหวาดเสียวอันตรายมากๆ) และช่วงท้ายการเดินทางของกัปตัน Scott เพราะไม่มีฟุตเทจใดๆ เลยใช้ภาพกราฟฟิกแผนที่ ตัดสลับขึ้นข้อความอย่างเร่งรี่ อ่านแล้วชวนให้ใจหายวาบ แม้ไม่เห็นภาพแต่ก็จินตนาการได้ถึงโศกนาฎกรรม

น่าเสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อออกฉาย ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ (ขึ้นข้อความ Title Card ยาวๆนี่ไม่เวิร์คเลยนะ) แถมมาทีหลัง Nanook of the North (1922) ที่สร้างหลังแต่ดันฉายก่อน แถมได้รับการยกย่อง ‘สารคดีเรื่องแรกของโลก’

การมาถึงของยุคหนังเงียบ ทำให้ Ponting ค้นพบโอกาสบางอย่าง เลยทำการตัดต่อใหม่ เพิ่มเติมฟุตเทจ ใส่เสียงบรรยายและเพลงประกอบ ตั้งชื่อว่า Ninety Degrees South (1933) คุณภาพน่าจะพอๆกัน แต่คงดูง่ายกว่ามาก! (เพราะไม่ต้องอ่านข้อความยาวๆ กลายเป็นเสียงบรรยายพร้อมเพลงประกอบลื่นหู)

สำหรับคนที่อยากรับชมหนังเงียบ The Great White Silence (1924) และหนังพูด Ninety Degrees South (1933) สามารถค้นหาได้บน Youtube ไม่ติดลิขสิทธิ์ใดๆ แต่ถ้าต้องการคุณภาพดีๆ บูรณะเสร็จสิ้นปี 2011 คงต้องหา DVD/Blu-Ray ของ British Film Institute พร้อมเพลงประกอบโดย Simon Fisher Turner

ส่วนตัวค่อนข้างชอบนะ เพราะผมไม่ได้ล่วงรับรู้สิ่งเกิดขึ้นตอนจบมาก่อน จิตใจเลยหล่นวูบ หายวาบ คาดคิดไม่ถึงว่าสุดท้ายจะลงเอยเช่นนั้น … ถ้ามีโอกาสอีกสักครั้งก็ว่าจะลองหาฉบับหนังพูดมารับชม น่าจะดูง่ายกว่าหนังเงียบพอสมควรเลยละ

จัดเรต PG กับการเดินทางเสี่ยงอันตราย สุดท้ายคือโศกนาฎกรรม

คำโปรย | The Great White Silence ถือเป็นการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ คุณภาพเป็นไปตามยุคสมัย
คุณภาพ | ใช้ได้
ส่วนตัว | พอไหว

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: