The Greatest Show on Earth (1952) : Cecil B. DeMille ♥♥♥
ภาพยนตร์เรื่องที่คว้า Oscar: Best Picture แต่ได้รับการโหวต ‘worst Oscar winners’ จากหลายๆสำนัก จะว่าไปตัวหนังก็ไม่ได้เลวร้ายเท่าไหร่นะ โปรดักชั่น ไดเรคชั่น ความบันเทิงจัดเต็ม แถมแจ้งเกิด Charlton Heston และ James Stewart หลบซ่อนตัวอยู่ภายใต้ใบหน้าตัวตลกได้อย่างแนบเนียน
ถือเป็นประเด็นการเมืองล้วนๆที่ The Greatest Show on Earth คว้ารางวัล Oscar สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี เพราะเต็งหนึ่งขณะนั้น High Noon (1952) จากนักเขียน Carl Foreman คือหนึ่งในผู้ประกาศตัวว่าสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ [อเมริกาขณะนั้นต่อต้านอย่างรุนแรง ถึงขั้นขึ้นบัญชี Hollywood Blacklist ห้ามมีเครดิตปรากฎชื่อขึ้น] และเนื่องจากเป็นปีแรกที่มีการถ่ายทอดสดประกาศรางวัลผ่านโทรทัศน์ เพื่อหวังสร้างกระแสเรตติ้งสูงๆ จึงมอบรางวัลใหญ่ให้ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนานของ Hollywood ที่ยังไม่เคยคว้ารางวัลใดๆจากสถาบันนี้เลย (แต่จริงๆ Academy เคยมอบ Honorary Award ให้กับ Cecil B. DeMille ไปแล้วเมื่อปี 1950)
Cecil Blount DeMille (1881 – 1959) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Ashfield, Massachusetts แม่มีเชื้อสาย Jews อพยพจาก German ส่วนพ่อเป็นนักแสดงและ Lay Reader (นักเทศน์ฝั่งฆราวาส) ที่ Episcopal Church เสียชีวิตตอนเขาอายุ 12 ทำให้ตัดสินใจเดินตามรอยเท้า เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadway พอเอาตัวไม่รอด ร่วมกับ Jesse Lasky, Sam Goldfish เดินทางสู่ Los Angeles (ตามรอย D. W. Griffith) บุกเบิก Hollywood ก่อตั้งสตูดิโอ Lasky Company สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Squaw Man (1914)
ความสนใจยุคแรกๆของ DeMille มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Sex สะท้อนเสียดสีสังคม มีลายเซ็นที่พบเจอบ่อยๆ อาทิ หญิงสาวอาบน้ำ, ฮาเร็ม, สิงโตกระโจนเข้าโจมตี ฯ ผลงานเด่นอาทิ Old Wives for New (1918), Don’t Change Your Husband (1919) ฯ ขณะที่ภาพยนตร์แนว Epic เริ่มต้นจาก Joan the Woman (1916) แม้จะไม่ทำกำไรเพราะทุนสูงเกิน แต่ก็ทำให้เรียนรู้จักเทคนิคการสร้างหนังสเกลขนาดใหญ่ ปรับมาใช้กับแนว Social ที่ถนัด กลายเป็น Male and Female (1919) ทำเงินล้านแรกของผู้กำกับ ตามด้วยไตรภาค Biblical Trilogy เริ่มจาก The Ten Commandments (1923), The King of Kings (1927), The Sign of the Cross (1932)
ในยุคหนังพูดเดินทางไปเรียนภาพยนตร์ถึงยุโรป รัสเซีย กลับมาสร้างหนัง Epic เรื่องแรกแห่งยุค The Sign of the Cross (1932) ตามด้วย Cleopatra (1934), The Crusades (1935), The Plainsman (1936), Union Pacific (1939), Samson and Delilah (1949), The Greatest Show on Earth (1952) และ The Ten Commandments (1956) ฯ แม้ DeMille จะไม่ใช่ผู้กำกับคนแรกที่ริเริ่มสร้างหนังแนว Epic แต่คือผู้นำเทรนด์และเป็นเสาหลัก Milestone แห่งยุคสมัยนี้
ด้วยความที่ทำหนังประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง Paramount Pictures ยินยอมตำน้ำพริกละลายแม่น้ำกับโปรเจคถัดๆไปของ DeMille ซึ่งภาพยนตร์เรื่องใหม่นี้เข้าไปพูดคุยกับ Ringling Bros. and Barnum & Bailey Circus คณะละครสัตว์สัญชาติอเมริกัน เจ้าของชื่อการแสดง The Greatest Show on Earth ก่อตั้งปี 1871 ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ชื่อหนัง ชุดการแสดง และออกตามทัวร์ Midwest เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อศึกษาเรียนรู้ เก็บตกรายละเอียด เกร็ดเล็กๆน้อยๆ เพื่อนำมาพัฒนาบทหนังให้มีความสมจริงที่สุด
เกร็ด: The Greatest Show on Earth เพิ่งยุติการออกทัวร์ เนื่องจากไม่ค่อยได้รับความนิยมอีกต่อไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2017 รวมระยะเวลาดำเนินการ 146 ปี
Brad Braden (รับบทโดย Charlton Heston) ผู้จัดการคณะละครสัตว์ เข้าต่อรองกับบอร์ดผู้บริหารที่ต้องการหั่นงบประมาณ งดออกทัวร์ต่างจังหวัดที่ทำกำไรไม่ได้เท่าไหร่ แต่เขาก็ได้นำพานักกายกรรมชื่อดัง The Great Sebastian (รับบทโดย Cornel Wilde) เข้ามาหลอกล่อเป็นจุดขาย แต่ชายคนนี้มีประเด็นหนึ่งคือเจ้าชู้ประตูดิน ซึ่งก็ได้หว่านโปรยเสน่ห์กับนักกายกรรมหญิง Holly (รับบทโดย Betty Hutton) ซึ่งเธอตกหลุมรักอยู่แล้วกับ Braden เรื่องราววุ่นๆสับสนอลม่านจึงบังเกิดขึ้น
บทหนังเรื่องนี้ว่ากันตามตรงแทบจะไม่มีอะไรเลยนะ ตื้นเขินเบาบางทั่วไปมากๆ แต่เป็นอีกสาขาที่คว้ารางวัล Oscar: Best Writing, Motion Picture Story (หรือ Best Original Screenplay)
Charlton Heston ชื่อเดิม John Charles Carter (1923 – 2008) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Wilmette, Illinois มีความชื่นชอบการแสดงตั้งแต่เด็ก และชอบเล่นกล้อง 16mm เข้าเรียน Winnetka Community Theatre โดดเด่นจนได้รับทุนเข้าศึกษาต่อที่ Northwestern University จบมาเล่นหนัง Hollywood รับบทนำเรื่องแรก Dark City (1950) ครั้งหนึ่งขณะกำลังขับรถใน Hollywood ผ่านหน้า Cecil B. DeMille คนที่เขาไม่เคยรู้จักพบเจอ แต่กลับโบกมือยิ้มแย้มทักทาย สร้างความประทับใจให้กับผู้กำกับโดยไม่รู้ตัว เลือกมาแสดงนำใน The Greatest Show on Earth ตามด้วย The Ten Commandments (1956) กลายเป็น Superstar ค้างฟ้าโดยทันที
รับบท Brad Braden ผู้จัดการที่มีความซีเรียส เด็ดขาด จริงจังอยู่ตลอดเวลา ในสมองเหมือนจะครุ่นคิดมีความสนใจแค่ทำอย่างไรให้การแสดงประสบความสำเร็จ แต่จิตใจของเขาก็เป็นห่วงเป็นใยในตัวลูกน้องทุกคน กล้าที่จะยุติการแสดงถ้าเห็นว่าเป็นอันตรายถึงชีวิต
Heston ในภาพลักษณ์ตัวละคร Anti-Hero ปากร้ายใจดี รักเพื่อนพวกพ้อง สีหน้าสายตาก็ดุดัน โอหัง แต่ไม่เก่งแสดงความรู้สึกออกมาสักเท่าไหร่
มีจดหมายฉบับหนึ่งส่งมาถึง DeMille เขียนชื่นชมหนัง และหลงคิดไปว่าคนรับบทผู้จัดการคณะละครสัตว์ คือผู้จัดการจริงๆ
“And I’m surprised how well the circus manager worked with the real actors.”
Heston บอกว่า นี่คือคำชมดีสุดในชีวิตที่เคยได้รับมา
Betty Hutton (1921 – 2007) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Battle Creek, Michigan เริ่มจากเป็นนักร้อง นักแสดง Broadway เซ็นสัญญากับ Paramount Picture ภาพยนตร์เรื่องแรก The Fleet’s In (1942) โด่งดังกับ The Miracle of Morgan’s Creek (1944), Annie Get Your Gun (1950) ฯ
รับบท Holly นักกายกรรมหญิงที่มีความเพ้อฝันทะเยอทะยาน ต้องการแสดงต่อหน้าผู้ชมในเวทีกลาง แต่เพราะการมาของ The Great Sebastian ทำให้เธอต้องย้ายไปอยู่เวทีหนึ่ง พยายามเลียนแบบเรียกร้องความสนใจ สิ่งที่คนอื่นทำได้ฉันก็ต้องทำได้เช่นกัน
ตอนแรก DeMille สนใจ Marlene Dietrich หรือ Hedy Lamarr ให้มารับบท แต่สุดท้ายกลับเลือก Hutton เพราะเธอส่งดอกไม้พับด้วยแบงค์ดอลลาร์พันใบ และรูปปั้นจำลองตัวเองกำลังโหนตัวเล่นกายกรรม คงเป็นความประทับใจอย่างบอกไม่ถูก กล้านักก็จัดให้ มีเงื่อนไขคือไปลดน้ำหนักมาก่อน และหัดโหนตัวกายกรรมเองให้ได้ด้วย!
ว่าไปก็ค่อนข้างแนบเนียนอยู่นะกับการห้อยโหนตัวกายกรรม แต่ฉากไกลๆ กระโดดโลดโผนคงใช้นักแสดงแทนอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการแสดงไม่ค่อยมีอะไรให้น่าพูดถึงสักเท่าไหร่ ค่อนข้างจะ Stereotype พอสมควร
Cornel Wilde (1912 – 1989) นักแสดงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Privigye, Hungary (ปัจจุบันคือ Prievidza, Slovakia) ครอบครัวเชื้อสาย Jews ตอนอายุ 7 ขวบติดตามครอบครัวอพยพสู่อเมริกา มีความสามารถพิเศษเลียนเสียงพูดผู้อื่น โตขึ้นเป็นนักกีฬาฟันดาบ ติดทีมชาติโอลิมปิค 1936 แต่ถอนตัวเพราะได้รับบทละครเวที Broadway สำหรับภาพยนตร์มีบทเล็กๆใน High Sierra (1941), มีชื่อเสียงจาก A Song to Remember (1945) ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor
รับบท The Great Sebastian นักกายกรรมหน้าหล่อ ติดสำเนียงเหน่อๆ มีเสน่ห์เย้ายวนใจสาวๆ เป็นคนชื่นชอบการแข่งขัน ความท้าทาย ตกหลุมรัก Holly เพราะเธอเหมือนม้าพยศสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนเขา แต่ไปๆมาๆกลับตกม้าเกือบตายเองเสียอย่างนั้น แขนพิการ เกือบจะยอมแพ้ แต่โชคดีทำให้ได้พบรักแท้
Wilde เป็นคนกลัวความสูง เมื่อถูก DeMille สั่งให้ไปเรียนเล่นกายกรรมห้อยโหนเข้าฉากด้วยตนเอง คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆสำหรับเขาแน่, การมาถึงของตัวละคร The Great Sebastian ราวกับพายุหมุนพัดนำพาความวุ่นวายมาให้ แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุพิการก็หงอยกินเหมือนลูกไก่ พบเจอกับความหวังดวงตาเต็มเปี่ยมด้วยประกาย แถมเป็นฮีโร่ช่วยชีวิตพระเอกไว้ ดูหล่อขึ้นกว่าช่วงปรากฎตัวแรกๆอย่างเยอะ
James Maitland Stewart (1908 – 1997) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Indiana, Pennsylvania พ่อเป็นเจ้าของร้าน Hardware Store คาดหวังให้เขาสืบต่อกิจการ ส่วนแม่เป็นนักเปียโน ทำให้ Jimmy เล่นดนตรีเก่งมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียน Princeton University โดดเด่นในวิชาสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการออกแบบเครื่องบินจนได้ทุนการศึกษา แต่กลับสนใจชมรมการแสดง สนิทสนามรู้จักกับ Henry Fonda, Margaret Sullavan กลายเป็นนักแสดง Broadways แม้จะไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ก็ได้มีแมวมองของ MGM จับเซ็นสัญญา รับบทนำครั้งแรก Speed (1936), เริ่มมีชื่อเสียงจาก You Can’t Take It with You (1938) ของผู้กำกับ Frank Capra, พลุแตกกับ Mr. Smith Goes to Washington (1939), The Shop Around the Corner (1940), คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง The Philadelphia Story (1940), หลังกลับจากสงครามโลก แม้จะล้มเหลวแต่กลายเป็นตำนานกับ It’s a Wonderful Life (1946)
รับบทตัวตลก Buttons the Clown ไม่เคยสักครั้งเห็นตอนไม่แต่งหน้า (แต่ก็ยังรับรู้ได้ว่านั่นคือ Jimmy Stewart) นั่นเพราะตัวเขากำลังหลบซ่อนตัวจากเหตุการณ์ฆาตกรรม อดีตเคยเป็นหมอที่ตรวจพบภรรยาป่วยหนักทุกข์ทรมานแสนสาหัส จึงช่วยเหลือให้เธอไปดี แต่กลับถูกกล่าวหาไล่ล่าจับกุม
ตอนเห็นชื่อ Jimmy ในเครดิตต้นเรื่องก็ค่อนข้างเอะใจ เพราะผมจดจำไม่ได้ว่าเคยเห็นเขาในหนังด้วยเหรอ พอสังเกตพบก็เลยชื่นชอบประทับใจอย่างมาก สงสัย DeMille ชักชวนมาเพราะประทับใจการแสดงในหนัง Screwball Comedy แน่ๆ เรียกรอยยิ้มกว้างได้มากกว่าเสียงหัวเราะอีกนะ
สำหรับตัวประกอบทั้งหลาย มีทั้งที่มารับเชิญ Cameo อาทิ Bob Hope, Bing Crosby, Dorothy Lamour, William Boyd, Danny Thomas, Van Heflin, Noel Neill ฯ เสียงบรรยายเป็นของ Edmond O’Brien และรวมถึงลูกจ้างของ Ringling Bros. and Barnum & Bailey’s Circus ประมาณ 1,400 คน สัตว์การแสดงกว่าร้อยตัว รถขนอุปกรณ์ เสื้อผ้า เต้นท์ ขบวนรถไฟ 60 โบกี้ ฯ
ถ่ายภาพโดย George Barnes (1892 – 1953) ตากล้องสัญชาติอเมริกา มีผลงานตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ขาประจำของ Fred Niblo, King Vidor ผลงานเด่นๆ อาทิ Rebecca (1940), Meet John Doe (1941), Spellbound (1945), Samson and Delilah (1949), The War of the World (1953) ฯ
แม้ส่วนใหญ่ของหนังจะถ่ายทำด้วย three-strip Technicolor ฟีล์มขนาด 35 mm แต่ Paramount ได้ทำการทดลองด้วยระบบ Widescreen ใหม่ที่กำลังพัฒนาคือ Vistavision ปัจจุบันฟุตเทจดังกล่าวยังคงหลงเหลือเก็บอยู่ใน Archive ของสตูดิโอ Paramount
หนังมีการเล่นมุมกล้องพอสมควร พยายามทำตัวเสมือนเป็นหนึ่งในผู้ชมที่เข้าไปดูการแสดงของคณะละครสัตว์ อย่างขบวนพาเรดก็มักถ่ายจากด้านข้างฝั่งผู้ชม หรือฉากโลดโผนกายกรรม ก็ใช้มุมเงยถ่ายจากพื้นมองขึ้นไป ฯ
ฉากรถไฟชนกันแม้จะเป็นโมเดลจำลอง แต่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และเก็บรายละเอียดได้เหมือนของจริงมากๆ เฉพาะตู้โบกี้มีความยาวประมาณ 6 ฟุต (=1.8 เมตร)
สำหรับฉากซากปรักรถไฟ สร้างขึ้นที่ Paramount Stage 16 ต้องใช้สัตว์น้อยใหญ่มากมายเข้าฉาก วุ่นวายสุดก็คือสิงโตกับเสือ ก็ไม่รู้ไปทำอีท่าไหนเข้าปล่อยหนีออกนอกโรงถ่าย โชคดีไปพบเจอที่ Hollywood Cemetery เกือบแล้วจะหลุดเข้าเมืองไป ไม่งั้นละวุ่นวายน่าดู
ตัดต่อโดย Anne Bauchens ขาประจำหนึ่งเดียวของ DeMille มาตลอด 40 ปี, ลักษณะการเล่าเรื่องถือว่าเป็น Docu-Drama มีส่วนผสมระหว่างสารคดี สลับกับเรื่องราวดราม่าที่เกิดขึ้น
เสียงบรรยายประกอบของ Edmond O’Brien มีความสำคัญต่อหนังอย่างมาก เสมือนพิธีกร โฆษก เป็นการให้ความรู้ และอธิบายประกอบภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มต้นกางเต้นท์ Big-Top แนะนำคณะ สมาชิก สัตว์ต่างๆ การแสดง ขบวนพาเรด เดินทางด้วยรถไฟ ฯ
ในส่วนของดราม่า เรื่องราวจะวนเวียนอยู่กับผู้จัดการ Brad Braden, สองนักกายกรรม (มักถือเป็นไฮไลท์ของคณะละครสัตว์) และตัวตลก (แน่นอน เด็กๆชอบ)
เทคนิค Montage ถูกนำมาใช้ในการตัดต่อเพื่อให้ผู้ชมภาพยนตร์ มีปฏิกิริยาเฉกเช่นเดียวกับผู้ชมการแสดงจริงๆ อาทิเช่น ช่วงขณะสองหนุ่มสาวแข่งกันแสดงกายกรรม นอกจากหนังจะตัดสลับไปมาระหว่างพวกเขาแล้ว ยังมีให้เห็นใบหน้าปฏิกิริยาของผู้ชม โยกหัวไปมาไม่รู้จะมองเวทีไหนดี ตื่นเต้นเร้าใจพอๆกันทั้งคู่
เพลงประกอบโดย Victor Young นี่คือผลงานเรื่องสุดท้ายที่ร่วมงานกับ DeMille (แต่ไม่ใช่เรื่องสุดท้ายของ Young นะครับ)
ส่วนใหญ่ของหนังเป็นบทเพลงมีชื่อ นำมารวบรวบเรียบเรียงใหม่ให้เหมาะสำหรับคณะละครสัตว์ เท่าที่ผมคุ้นหูจดจำได้ อาทิ Three Blind Mice, Yankee Doodle, Jingle Bells, Oh! Susanna ฯ
บทเพลงคลาสสิก อาทิ
– Johann Strauss: The Blue Danube
– Johann Strauss: Vienna Blood Waltz
– Gioachino Rossini: William Tell Overture
– Franz von Suppé: The Beautiful Galathea Overture
ผมว่าฉากพาเรดนี่เจ๋งมากๆเลยนะ บทเพลงมีความต่อเนื่องเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามเรื่องราวของขบวนที่เดินผ่านมา และมี Sound Effect เสียงหัวเราะปรบมือ กรี๊ดกร๊าด ผิวปากของผู้ชมดังขึ้นพร้อมๆกันด้วย ให้สัมผัสบรรยากาศราวกับว่า เรากำลังนั่งชมการแสดงอยู่ในคณะละครสัตว์นี้จริงๆ
Lovely Luawana Lady ขับร้องโดย Dorothy Lamour (มารับเชิญ Cameo เป็นคนร้องเพลงนี้ด้วยนะครับ)
บทเพลง Only a Rose (1925) แต่งทำนองโดย Rudolf Friml คำร้องโดย Brian Hooker, หาฉบับที่ Betty Hutton ขับร้องในหนังไม่ได้ เลยนำ Jan Peerce ขับร้องแบบโอเปร่า Tenor มาให้ฟังกัน
มีสองบทเพลงที่ Young แต่งขึ้นใหม่ ร่วมกับ Ned Washington เขียนคำร้อง
– Be a Jumping-Jack ขับร้องโดย Betty Hutton กับ James Stewart
– The Greatest Show on Earth ขับร้องโดย Betty Hutton
ใน Youtube มีเพียงบทเพลง Be a Jumping-Jack นำมาให้รับชมกัน
เรื่องราวของคณะละครสัตว์ ไม่ได้ต่างอะไรกับวงการภาพยนตร์สักเท่าไหร่ (แต่ก็ถือว่าใหญ่กว่ามากๆเลยนะ) ก่อนจะเริ่มออกทัวร์/สร้างหนังสักเรื่อง ต้องมีผู้กำกับ/ผู้จัดการ โปรดิวเซอร์สนับสนุนทุนอยู่เบื้องหลัง ดารานักแสดง ตัวประกอบสมทบ ชุดการแสดงต่างๆ พิธีกร ลำดับเรียงคิว เพลงประกอบ ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบก็น่าจะเห็นภาพชัดเจนอยู่ ซึ่งลักษณะของการเล่าเรื่องด้วยสารคดี จุดประสงค์ของผู้กำกับเพื่อให้ผู้ชมเกิดความตระหนักรู้เข้าใจ ชื่นชมหลงใหล เสียงหัวเราะที่อย่างไร้เดียงสาของผู้ชมนี้ เบื้องหลังมันไม่ได้เกิดขึ้นมาง่ายๆเลยนะ
ประเด็นที่หนังนำเสนอได้อย่างน่าประทับใจ คือการแข่งขันเพื่อจะก้าวขึ้นเป็นที่หนึ่งแห่งดาวดารา ก็เล่นปีนขึ้นไปโลดโผนกายกรรมกันเบื้องบนฟากฟ้า บางคราจำเป็นต้องเสี่ยงตายเพื่อไขว่คว้าโอกาสที่สูงกว่า แต่ถ้าพลาดพลั้งตกลงมาชีวิตก็อาจดับดิ้นจบสิ้นสูญได้เช่นกัน
ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสเจิดจรัสจ้า ดั่งดาวดาราบนฟากฟ้า มุมมืดก็ต้องมีเช่นกัน บุคคลที่คดโกงกินหลอกลวงขโมยเงินผู้อื่น เป็นหน้าที่ของหัวหน้า/ผู้จัดการ ที่เมื่อพบเจอแล้วก็จำเป็นต้องซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ใครๆในสังคมมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขสันติ
ความโลภเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทุกธุรกิจพังพินาจย่อยยับเยิน เมื่อใดมีคนคดโกงกิน หัวขโมย หรือคอรัปชั่น ย่อมกระทำการอะไรโง่ๆไม่รู้จักคิด ผิดพลาดก็พาลให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถหวนคืนย้อนไปแก้ไขทำอะไรได้ แต่เรายังสามารถเลือกประยุกต์ ปรับตัว ทำในสิ่งมีอยู่ให้กลับกลายเป็นประโยชน์ขึ้นมา ‘พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส’ นี่เรียกว่ามีความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรค์ทั้งปวง
สำหรับตัวตลก ด้วยใบหน้าที่ปกปิดด้วยเครื่องสำอางค์หนาเตอะ รอยยิ้มที่เหมือนเป็นมิตรไมตรีกับทุกคน แต่เบื้องลึกแท้จริงแล้วในจิตใจนั้น อาจมิได้บริสุทธิ์ผ่องใสดีงาม ตรงกันข้ามหดหู่เศร้าหมองอมทุกข์ แอบซ่อนความเลวชั่วร้ายบางอย่างไว้ก็ได้, การตัดสินใจกระทำช่วงท้ายของตัวตลก มองได้คือเผชิญหน้ากับตนเอง หมดแรงเบื่อแล้วที่จะวิ่งหนี ถ้าอดีตนั้นมีความบริสุทธิ์ใจ ก็ไม่มีใครในโลกสามารถทำอะไรเขาได้
หวนกลับมาที่ผู้จัดการคณะละครสัตว์นี้ ถึงเป็นคนปากร้าย บ้างานเข้ากระแสเลือด แต่แท้จริงแล้วเป็นคนจิตใจดี รักพวกพ้อง และเป็นห่วงเป็นใยในตัวลูกน้องทุกคน … นี่ผู้กำกับ DeMille พยายามเปรียบเปรยถึงตัวเองอยู่หรือเปล่านะเนี่ย
ด้วยทุนสร้าง $4 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ $36 ล้านเหรียญ สูงสุดแห่งปี, เข้าชิง Oscar 5 สาขา คว้ามา 2 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Motion Picture Story ** คว้ารางวัล
– Best Director
– Best Costume Design, Color
– Best Film Editing
นำคลิปเมื่อ Mary Pickford ประกาศรางวัล ผู้ชนะคือ Cecil B. DeMille นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ Oscar ที่มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์
ส่วนตัวมองว่า The Greatest Show on Earth ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์ Oscar ถ้าคุณเคยรับชมหนังอย่าง The Broadway Melody (1929), Cimarron (1931), Cavalcade (1933) หรือล่าสุดอย่าง Shakespeare in Love (1998), Crash (2005), The Artist (2011) ที่คุณภาพต่างก็น่าผิดหวังเมื่อเทียบกับตัวเต็งของปีนั้นๆ จะพบว่าหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ถึงขั้นเลวร้ายสักเท่าไหร่
สังเกตว่าภาพยนตร์เรื่องที่คว้า Oscar: Best Picture แล้วค่อยๆถูกหลงลืมตามกาลเวลา ปีนั้นมักไม่ได้ตัดสินด้วยคุณภาพของหนังสักเท่าไหร่ แต่ล้วนมาจากประเด็น ‘การเมือง’ ล้วนๆ อาทิ
– Shakespeare in Love คว้า Oscar เพราะบทละครดัดแปลงของ Shakespeare ยังไม่เคยคว้ารางวัลใหญ่มาก่อน
– Crash คว้า Oscar เพราะ Brokeback Mountain เป็นหนังเกย์ ยังยินยอมรับไม่ได้
– The Artist คว้า Oscar เพราะความหวนระลึกถึงยุคสมัยของหนังเงียบ
จริงๆถ้า The Greatest Show on Earth คือผลงานสุดท้ายของ DeMille กระแสความต่อต้านมันคงไม่รุนแรงเท่าไหร่ เพราะหนังเรื่องถัดไปของปู่แก The Ten Commandments (1956) โอ้แม่เจ้า! ยิ่งใหญ่มหากาฬระดับ Masterpiece แต่ปรากฎว่ากลับถูก Academy มองข้ามโดยสิ้นเชิง (แถม DeMille ไม่ได้เข้าชิง Best Director ด้วยนะ) นี่ทำให้ชัยชนะของหนังเรื่องนี้ที่เร็วไปหน่อย ดูเลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิมอีก
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ในความบันเทิงอลังการ หลงใหลช่วงขบวนพาเรด แข่งขันกายกรรม และขณะสารคดีแนะนำการทำงานของคณะละครสัตว์ แต่ส่วนที่ไม่ประทับใจเท่าไหร่คือดราม่าของหนัง โรแมนติกกิ๊กก๊อก มันช่างไม่มีอะไรในกอไผ่ให้น่าพูดถึงเสียเลย
ถึง Charlton Heston จะแจ้งเกิดกับหนังเรื่องนี้ แต่ผมมองว่า James Stewart กลับแย่งซีนความโดดเด่น ทั้งๆที่ก็ไม่ได้ขายความสามารถอะไร แต่ใบหน้าตัวตลกกับคนที่ไม่ค่อยตลก ผมว่ามันตลกนะ!
แนะนำกับคอหนัง Epic โปรดักชั่นจัดเต็ม, ชื่นชอบบรรยากาศ การแสดงของคณะละครสัตว์, แฟนๆผู้กำกับ Cecil B. DeMille และนักแสดง Charlton Heston, James Stewart ไม่ควรพลาด
จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศทุกวัย
ได้ดูตอนช่อง7เอามาฉายดึก ส่วนตัวดูแล้วเฉยๆค่ะ เหมือนดูโชว์การแสดง ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมได้Best Picค่ะ5555
ขอบคุณสำหรับเกร็ดความรู้นะคะ
ว่ากันว่าด้วย 2 เหตุผลนะครับ
1) เพราะ High Noon เต็งหนึ่งปีนั้น ถูกมองว่าเป็นหนังชวนเชื่อคอมมิวนิสต์ ที่อเมริกากำลังต่อต้านสุดกำลัง
2) ผู้กำกับ DeMille คือตำนานของ Hollywood ที่ยังไม่เคยคว้ารางวัลใดๆจาก Academy ด้วยเพราะอายุมากแล้วเลยต้องรีบๆให้ (แบบตอน Martin Scorsese ได้กับ The Departed ไม่ใช่หนังดีสุด แต่คือจังหวะโอกาสพอดีเลยต้องรีบให้ก่อนเสียชีวิต)
ใช่ค่ะ สงสัยมากเอาไปเม้ากับอีกหลายคนเลย พอคุณ@raremeatblogอธิบาย เข้าใจเลยค่ะ อย่างลีโอที่ได้ออสการ์เรื่องการแสดงก่อนหน้านี้ยังรู้สึกสมควรได้มากกว่า อันนี้ก็แทบจะเรียกได้ว่าการเมืองล้วนๆเลย ^^