The Hidden Fortress (1958)
: Akira Kurosawa ♥♥♥♥♡
อีกหนึ่งสุดยอดหนัง The Hidden Fortress ของปรมาจารย์ผู้กำกับ Akira Kurosawa นำแสดงโดย Toshiro Mifune ที่วิธีการเล่าเรื่องกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ George Lucas สร้าง C-3PO และ R2-D2 ใน Star Wars (1977), หนังเรื่องนี้ ‘ต้องดูให้ได้ก่อนตาย’
มีคำกล่าวของ Francis Ford Coppola โดยทั่วไปปรมาจารย์ผู้กำกับที่ดังๆของโลก มักจะสร้างผลงาน Masterpiece ไค้แค่ 1-2 เรื่องเท่านั้น แต่ Akira Kurosawa มีผลงานที่เป็น masterpiece ถึง 8 เรื่อง (เรื่องอะไรบ้างลองไปนับเอาเองนะครับ)
เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก Star Wars แต่อาจมีไม่เยอะ ถ้าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ ที่จะได้ดูต้นฉบับไตรภาคของปี 1977 และคงมีน้อยยิ่งกว่าจะได้ดูหนังที่เป็นแรงบันดาลใจให้ George Lucas สร้างอภิมหาสงครามดวงดาวเรื่องนี้, ผมดู The Hidden Fortress ครั้งแรกพร้อมๆกับหนังเรื่องอื่นในคอลเลคชั่นของ Akira Kurosawa ว่าไปเขาเป็นผู้กำกับคนเดียวที่ผมมีความตั้งใจจะดูหนังของเขาให้ครบทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เพราะเป็นผู้กำกับคนโปรด แต่หนังของเขาเปลี่ยนชีวิตผมไปเลย ซึ่งนี่คงเป็นวิธีเดียวที่ผมจะสามารถให้เกียรติกับเขาได้สูงสุด, สำหรับหนังเรื่องนี้ ตอนดูครั้งนั้นประทับใจในวิธีการเล่าเรื่องมากๆ การจับพลัดจับผลูที่โคตรบังเอิญ ความวุ่นวายโคตรอลม่าน ดวงของคนที่โคตรทั้งโชคดีและโชคร้าย จบแบบไม่รู้จะเรียกว่าโคตรอะไร ดูครั้งนั้นระลึกได้แทบจะทันที 2 ตัวละครนั่นเหมือน C-3PO กับ R2-D2 เปะๆเลยนะเนี่ย (ตอนนั้นไม่รู้มาก่อนว่า Star Wars ได้แรงบันดาลใจมาจาก The Hidden Fortress)
หลังจาก Rashômon และ Seven Samurai หนังเรื่องถัดๆมาของ Kurosawa ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จด้านรายได้เท่าไหร่ โปรดิวเซอร์จึงขอให้เขาทำหนังที่น่าจะทำเงินสักเรื่อง เขาจึงสร้างหนังเรื่องนี้ด้วยความตั้งใจที่ว่า ‘100% เป็นหนังที่มีความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ’ (I want to make a 100% entertainment film, full of thrills and fun.)
เรื่องราวเริ่มต้นจากคนธรรมดาๆบ้านนอก 2 คน Tahei และ Matashichi ออกเดินทางมาแสวงโชคกับสงคราม แต่ถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนของศัตรู จึงถูกกวาดต้อน ใช้แรงงาน กลายเป็นเชลยสงคราม, หลังจากหลบหนีสำเร็จ ทั้งสองจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางได้จับพลัดจับผลูพบกับป้อมปราการลับ (Hidden Fotress) ซึ่งมีนายพลและองค์หญิงหลบซ่อนอยู่ เรื่องราววุ่นๆของพวกเขาทั้งหลายจึงได้เกิดขึ้น กับการเดินทางที่จะเผยให้เห็นธาตุแท้ของมนุษย์
The Hidden Fortress นั่นหมายถึงป้อมปราการลับ ที่ซ่อนตัวขององค์หญิงผู้นำของตระกูล ขณะเดียวกันก็มีความหมายถึงสถานที่หรือสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจของคน ใต้ภูเขาน้ำแข็งที่เป็นตัวแทนของจิตใต้สำนึกมนุษย์, ชื่อภาษาญี่ปุ่น Kakushi toride no san akunin? แปลว่า ผู้ร้ายสามคนในป้อมปราการลับ (The Three Villains of the Hidden Fortress) นี่เป็นชื่อที่พิศวงมาก ทำไมถึงต้อง 3 คน แล้ว 3 คนนั้นเป็นใคร จะเป็นนายพล, องค์หญิง และแม่นม 3 ตัวละครแรกที่หลบซ่อนอยู่ใน Hidden Fortress หรือ 3 คนของ Akizuki Clan ที่หลบหนีสำเร็จ (นายพล, องค์หญิง และคนใช้ที่ซื้อตัวมา), หรือ 3 คนที่เป็นผู้นำชุดใหม่ของ Akizuki Clan (นายพล, องค์หญิง และนายพล Hyoe คนที่ทรยศ Yamana clan)
ผมคิดต่อว่า 3 ผู้ร้าย อาจจะไม่ได้แทนด้วยมนุษย์ก็ได้ เป็นพฤติกรรม 3 อย่างอันเลวร้ายของมนุษย์
1. โลภะ คือ ความโลภ ความอยากได้ เห็นได้ชัดจาก Tahei และ Matashichi
2. โทสะ คือ ความโกรธ ความขัดเคือง ความไม่พอใจ, นายพล Hyoe หลังจากพ่ายแพ้การดลต่อ Makabe จึงรู้สึกเสียหน้า ถูกเจ้านายกรีดหน้า มีความโกรธแค้นต่อ Makabe ที่ไว้ชีวิตตัวเอง
3. โมหะ คือ ความหลง ความเขลา ความโง่
มันอาจจะไม่ใช่ 3 อย่างนี้นะครับ ผมมโนมันขึ้นมาแล้วหาเหตุผลประกอบให้ดูสมเหตุสมผลเท่านั้น มันอาจเป็น 3 อย่างอื่น หรือมากกว่า 3 อย่างก็ได้ นี่ถือว่าเป็นปริศนาปลายเปิดที่หนังไม่มีคำตอบให้ แต่ความหมายของมัน น่าจะคือความชั่วร้ายที่แอบฝังลึกอยู่ข้างในจิตใจของมนุษย์ ถึงสามารถถูกเรียกว่า Villians (ตัวร้าย)ได้
แนวหนังประเภทนี้เรียกว่า jidai-geki อธิบายง่ายๆก็คือ ยุคของซามูไร, โชกุน, สู้กันด้วยคาตานะ ฯ ว่ากันว่าคำ jidai คือที่มาของคำว่า jedi นะครับ และเหตุที่นักรบเจไดใช้ light-saber เพราะมันคล้ายกับการต่อสู้ของซามูไร
นำแสดงโดย Toshiro Mifune รับบทเป็นนายพล Rokurota Makabe ผู้มีความสามารถเป็นเลิศทั้งบุ๋นและบู๋ เป็นจอมพลผู้เกรียงไกร และเป็นอารักขาขององค์หญิง, การแสดงของ Mifune ยังคงสุดยอดเช่นเคย ไม่ใช่แค่หน้าตาที่คราวนี้ไว้หนวดยาวแหลมเหมือนนายจันหนวดเขี้ยว ดูน่าเกรงขาม ท่าทาง คำพูดที่ทรงพลัง มีความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่, ตัวละครนี้อาจดูเผด็จการไปเสียหน่อย และชอบวางตัวเหนือกว่าผู้อื่น คือเขาก็เหนือกว่าจริงๆแหละ ทั้งทางกายทางจิตใจทางฐานะ แต่ถ้าพบเจอคนระดับเดียวกัน (แบบ Hyoe) เขาก็ไม่ได้ถือตนว่าสูงกว่า นี่แสดงถึงทัศนคติเรื่องชนชั้นของคนญี่ปุ่น ซามูไรคือคนเก่ง คนฉลาด เป็นชนชั้นผู้นำ ผู้ปกครอง มีสิทธิ์ที่จะสั่งการ ทำอะไรก็ได้กับคนชนชั้นต่ำกว่า
Princess Yuki รับบทโดย Misa Uehara เหมือนว่าเธอจะเล่นหนังเรื่องนี้เรื่องเดียวแล้ว retire หายไปจากวงการเลย, บทองค์หญิงที่มีความแก่นแก้วเหมือนผู้ชาย ถ้าถูกขอให้ไปทางซ้ายจะไปทางขวา มีความคิดความตั้งใจเป็นของตัวเอง แรกๆอาจดูเหมือนเด็กเอาแต่ใจ ภายหลังเมื่อเริ่มเห็น ก็จึงเข้าใจจิตใจของมนุษย์ เธอจึง(น่าจะ)กลายเป็นผู้นำที่เฉลียวฉลาด และเข้าใจหัวอกของผู้อื่น, ตอนแต่งหน้าทดสอบหน้ากล้องครั้งแรก Kurosawa เอารูปของ Elizabeth Taylor มาให้ดูเป็นแบบอย่าง ว่าเจ้าหญิงควรมีลักษณะเช่นใด (อยากรู้จริงว่ารูปที่ถ่ายตอนไหน)
สำหรับ 2 หนุ่ม Tahei รับบทโดย Minoru Chiaki และ Matashichi รับบทโดย Kamatari Fujiwara คู่หูที่กลายเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนรัก เพื่อนตาย ไม่ว่าจะโกรธเกลียดกันมากแค่ไหน แต่ก็ไม่วายจากกันแล้วต้องได้เจอกันอีก สองคนนี้อยู่ด้วยกันมีแต่เรื่องซวยๆถามหา, สุดยอดการแสดงของทั้ง Chiaki และ Fujiwara ทั้งสองถือเป็นนักแสดงขาประจำของ Kurosawa ได้เห็นคู่กันบ่อยๆ, เหมือนทั้งสองจะแหกปากตะโกน ตะคอกใส่กันแทบทุกฉาก ผมละเจ็บคอแทนเลย ภาษาที่ใช้ก็มึงกู ด่ากันค่อนข้างหยาบ (ผมฟังญี่ปุ่นรู้เรื่อง แต่ตอนแปลมาใช้สำนวนสุภาพอยู่แล้ว), สองตัวละครนี้แหละที่เป็นแรงบันดาลใจให้ George Lucas สร้าง C-3PO กับ R2-D2 คู่หูที่จับพลัดจับผลู แม้จะแยกจากกันไกลแค่ไหน ก็ต้องวนกลับมาเจอกันเสมอ
สิ่งที่เป็นแรงขับดันให้กับ Tahei และ Matashichi คือสัญชาติญาณและความโลภ อาชีพของพวกเขาคือชาวนาจนๆ ออกจากบ้านก็เพื่อแสวงโชคหาเงินทองกลับบ้าน ทุกเหตุการณ์ของทั้งสอง ถ้าไม่เงินก็ความอยากเป็นพื้นฐานทั้งนั้น แทบจะไม่มีเหตุผลอื่นแฝงอยู่เลย นี่คือความบริสุทธิ์ใจของคนจน ที่คนส่วนมากจะมองพวกเขาว่าเป็นพวกเห็นแก่ได้ แต่ชีวิตพวกเขามีแค่นี้นะครับ ไม่ได้มีศักดิ์ศรี ชื่อเสียงอะไรให้เสียหาย ระหว่างท้องอิ่มกับหิวตาย คนหาเช้ากินค่ำ เขาไม่คิดอะไรไปมากกว่านี้
ในเรื่องชนชั้น ทั้ง Tahei และ Matashichi ถือว่าเป็นคนชนชั้นล่างของสังคม ไม่แปลกที่ย่อมต้องได้รับการดูถูกเหยียดหยาม แต่พวกเขาก็มีความคิดเป็นของตัวเอง ถึงขนาดพูดประกาศออกมาด้วย ไม่ชอบให้ใครมาจู้จี้สั่งการหรือควบคุม, ผมเห็นหนังของ Kurosawa หลายเรื่องที่นำเสนอภาพสะท้อนสังคมนี้นะครับ ตัวละครทั้งสองนี้ มองแทนได้ด้วยหมากในกระดานหมากรุก ที่ผู้เล่น(คนชั้นสูง) จับให้ไปวางตรงไหนก็ต้องไป จับให้เป็นอะไรก็ต้องเป็น จับพลัดจับผลู, ชีวิตพวกเขามักจะถูกควบคุมด้วยใครสักคนอยู่เสมอ
ถ่ายภาพโดย Kazuo Yamasaki นี่เป็นหนังของ Kurosawa เรื่องแรกที่ถ่ายภาพด้วย Anamorphic Widescreen (2.39:1) บันทึกเสียงระบบ Stereo แม้สีจะยังขาว-ดำ อยู่ แต่จะเห็นภาพกว้างมากๆ นี่ทำให้เราเห็นภาพภูเขาพื้นหลังสวยๆ ฉากต่อสู้ที่ตื่นตาตื่นใจ และที่เด่นที่สุดคือการต่อสู้บนหลังม้า (Horse Raid) เราจะเห็นตัวละครของ Mifune ควบม้าไล่จากฝั่งซ้ายของกล้อง แล้วกล้องหมุน(แพน)ตามไปจนสุดฝั่งขวา (จริงๆตรงนี้ถ้าทำเป็น long-shot ไปเลยจะเจ๋งมากๆ) นี่ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งดูแข่งม้า/รถแข่งบนอัฒจันทร์ แล้วม้า/รถแข่งวิ่งผ่านหน้าไป
เกร็ด: ฉากการต่อสู้บนหลังม้าถ่าย take เดียวผ่านนะครับ มันเสี่ยงอันตรายมากๆด้วยที่ให้ม้าวิ่งด้วยความเร็วสูงและ Mifune ก็ไม่ได้จับอานม้าไว้
เกร็ด: ใครที่เคยดู Rashômon จะรู้สึกคุ้นๆกับฉากในศาล ที่จะเห็นแต่ฝั่งผู้ให้การเท่านั้น หนังเรื่องนี้น่าจะใช้สถานที่เดียวกันถ่ายทำและจะได้เห็นอีกฝั่งที่เป็นปริศนามานาด้วยว่ามีลักษณะยังไง (ฝั่งผู้พิพากษา)
ตัดต่อโดย Kurosawa, ผมคิดว่าเขาคงยังไม่เคยชินกับภาพ Anamorphic เป็นแน่ จึงมีการตัดต่อแบบไม่จำเป็นอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะฉากการต่อสู้บนหลังม้า Kurosawa ใช้การตัดสลับให้เห็นระหว่างขาม้า(ด้านล่าง), ใบหน้าตัวละคร (ด้านบน) และเหมือนฉายภาพแบบเดิมซ้ำ 3 ครั้ง (Replay) นี่เป็นวิธีการเพื่อสร้างความระทึก เร้าใจ เห็นกล้ามเนื้อขาม้าที่ใช้สุดแรงกำลัง ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น แต่มันคงจะดีกว่าแน่ๆถ้าไม่ใช้การตัดต่อเลย เป็น long-shot ยาวๆ วิ่งจากซ้ายสุดไปขวาสุด
สิ่งที่เด่นที่สุดของหนังคือวิธีการเล่าเรื่อง เริ่มต้นจากมุมมองของคน 2 ตัวละคร ที่จับพลัดจับผลูกลายเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้น มุมมองของพวกเขาเป็นเหมือนการเกริ่น (intro) นี้ปูทางสู่เนื้อหาหลักของหนัง ที่จะค่อยๆถูกเปิดเผยออกมาทีละเล็ก และเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง มุมมองของหนังจะเปลี่ยนไปเล่าถึงเรื่องราวฝั่งพระเอกตัวจริงแทน แต่ไม่ใช่หนังจะทิ้ง 2 ตัวละครแรกไปเลยนะครับ เรื่องราวจะดำเนินไปพร้อมกัน (เพราะทั้งสองได้เข้ามาอยู่ร่วมเหตุการณ์กับพระเอกตัวจริงแล้ว), วิธีการเล่าเรื่องนี้แหละ ที่ถือเป็นอิทธิพลอย่างมากต่อหนังเรื่อง Star Wars (1977) ที่หนังเริ่มต้นจากการผจญภัยของตัวละคร 2 ตัว C-3PO และ R2-D2 ที่จับพลัดจับผลูตกอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ก่อนที่จะมาพบกับพระเอกตัวจริงคือ Luke Skywalker จากนั้นก็เปลี่ยนมุมมองไปเล่าเรื่องของ Luke แทน
เพลงประกอบโดย Masaru Sato ตอน Kurosawa ทำหนัง Seven Samurai เขาเป็น conductor ให้กับ Fumio Hayasaka, แต่หลังจาก Hayasaka เสียชีวิตเมื่อปี 1955 Sato ก็กลายมาเป็นคอมโพเซอร์คู่ใจคนใหม่ของ Kurosawa, ผลงานร่วมกันที่ดังๆอาทิ Throne of Blood (1957), Yojimbo (1961) และ Red Beard (1965), กับหนังเรื่องนี้ มีทำนองทั้งจังหวะสนุกสนาน ครึกครื้น กวนๆ ทีเล่นทีจริง และจังหวะที่ตื่นเต้นจริงจัง ฉากดวลหอกใช้กลองและขลุ่ยสร้างจังหวะที่ระทึก นุ่มลึก ค่อยๆบรรเลงอย่างใจเย็นและมีสติ ซึ่งพอพระเอกชนะแล้ว เขาขี่ม้าหนีไป ดนตรีดังขึ้นในท้วงทำนองแห่งชัยชนะ, ส่วนตัวผมไม่คิดว่า Sato จะมาแทนที่ Hayasaka ได้นะครับ แต่เขาก็มีสไตล์ของตนเองที่ สามารถหยอกล้อ สร้างมุมศิลปินของตนเองร่วมกับแนวทางหนังของ Kurosawa อย่างใช้ได้เลย
มนุษย์เราสมัยก่อน เลือกที่จะอาศัยซ่อนตัวอยู่ใน Hidden Fortress ป้อมปราการที่ตนสร้างขึ้นมา กีดกันไม่ให้ใครคนนอกเข้ามาเห็น คำพูดหนึ่งขององค์หญิง ‘ความสุขที่ได้พบเจอในวันเหล่านี้ ฉันคงไม่มีทางได้รู้ถ้าแค่อาศัยอยู่ในปราสาท’ (The Happiness of these days I would have never known living in the castle.) นี่เปรียบได้กับการเปิดใจรับสิ่งต่างๆในโลก รู้จักคนอื่น เรียนรู้ทำความเข้าใจเขา เข้าใจเรา ทั้งในด้านดีและด้านร้าย เปิดโลกทัศน์ของตัวเอง ไม่หลงเป็นกบในกะลาอยู่แต่ในโลกที่ตนสร้างขึ้น
การผจญภัยในหนัง คือการได้เปิดประตู้ป้อมปราการลับนี้ออก (นี่คือเหตุผลที่ Hidden Fortress ต้องถูกทำลาย เมื่อก้าวเดินไปข้างหน้าแล้วถอยหลังกลับไม่ได้อีก) ออกเดินทางพบปะกับสิ่งต่างๆ ผู้คน ค้นหา ค้นพบ ค้นเจอ จุดหมายปลายทาง คือการเข้าใจตนเองและเข้าใจมนุษย์โลก, นี่ถือเป็นรูปแบบของหนังแนว Road Movie นะครับ (Road Movie ไม่ใช่ว่าต้องมีรถเกิดขึ้นบนถนนเท่านั้นนะครับ หนังที่เกี่ยวกับการเดินทางทุกประเภท จัดเป็น Road Movie ได้หมด), มีคนวิเคราะห์ว่า Kurosawa อาจได้แรงบันดาลใจเรื่องการเดินทางมาจาก Stagecoach (1939) ของผู้กำกับ John Ford
เทศกาลเต้นไฟ (Fire Festival) มันสัญลักษณ์ของการปลดปล่อย สิ่งที่แอบซ่อนอยู่ข้างในจิตใจ มองได้อีกอย่างคือการเผาทำลายตัวตนเดิม การโยนความหวัง(กิ่งไม้ที่สอดไส้ทอง)สู่กองไฟ ให้มันม้วยมอด ไม่ใช่ให้มันสูญสิ้นแต่เป็นการเริ่มต้นใหม่จากเถ้าถ่าน (เหมือนการเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ของ Akizuki), บทเพลง The life of a man, Burn it with fire, The life of an insect, Throw it into fire. คุณจะเป็นเหมือนแมลงที่ปล่อยตัวรื่นเริ่งไปกับกิเลสจนตัวตาย หรือต่อสู้กับมัน เอาชนะเปลวเพลิงและการเป็นมนุษย์ที่ทรงเกียรติ, นี่คือเหตุผลที่ทำให้นายพล Hyoe เปลี่ยนข้างด้วยคำพูดว่า Forgive my betray! (Uragiri Gomen) ผมว่าถ้ามีคนจัดอันดับคำพูดในหนังยอดนิยมของญี่ปุ่น ประโยคนี้ติดแน่นอน
หนังฉายญี่ปุ่นช่วงสิ้นปี 1958, ฉายในเทศกาลหนังเมือง Berlin ปี 1959 ทำให้ Akira Kurosawa ได้รางวัล Silver Bear:Best Director และหนังได้รางวัล FIPRESCI Prize (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของนักวิจารณ์) น่าเสียดายไม่ได้ Golden Bear แพ้ให้กับ Les cousins ของ Claude Chabrol, ฉายออกในอเมริกาปี 1962
ตอนฉายในญี่ปุ่น หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของ Akira Kurosawa ก่อนการมาถึงของ Yojimbo (1961)
เรื่องความยอดเยี่ยมของหนังคงไม่ต้องพูดอะไรมาก สามารถนับได้ว่าเป็นหนึ่งใน Masterpiece ของ Kurosawa แม้อาจจะมีจุดเล็กๆน้อยๆ ที่ดูขัดหูขัดตาอยู่บ้าง แต่เพิ่มเติมคือความสนุกสนานที่ไม่ใช่แค่แฝงแนวคิดแต่ยังเพลิดเพลิน ดูได้ทั้งครอบครัว
ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะแนวคิดจากที่ผมเล่ามาทั้งหมด นี่เป็นหนังที่สอนให้คุณเปิดใจพร้อมรับทุกสิ่งในโลกกว้าง ทั้งดีเลว สุขทุกข์ ชีวิตคือการผจญภัย อุปสรรคมีไว้ให้ต่อสู้แก้ไข, มีหนังที่นำเสนอความโลภของคนอยู่หลายเรื่อง อาทิ เงิน เงิน เงิน, Greed (1924) หรือ The Treasure of the Sierra Madre (1948) แต่กับหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ความโลภเพียงอย่างเดียว แต่ยังเหมารวมถึงกิเลสความชั่วทุกสิ่งอย่างที่แอบซ่อนอยู่ข้างในจิตใจมนุษย์ หลายอย่างได้ถูกตีแผ่ และหนังได้นำเสนอวิธีการ แนวคิด การต่อสู้ ต่อรอง เอาชนะ อย่าดูหนังเรื่องนี้แค่เฉพาะเสพย์ความบันเทิงนะครับ คิดตามจะได้ประโยชน์อย่างคาดไม่ถึง
แนะนำอย่างยิ่งกับแฟนหนัง Star Wars ถ้าคุณยังไม่ได้ดู The Hidden Fortress จะเรียกตัวเองว่าแฟนพันธุ์แท้ไปได้ยังไง, แฟนหนัง Akira Kurosawa และ Toshiro Mifune ชอบหนังซามูไร พระเอกเก่งๆ แฝงแนวคิดดีๆ
จัดเรต 13+ น่าจะเป็นวัยโตพอจะสามารถทำความเข้าใจกิเลส ความโลภและสิ่งที่แฝงอยู่ในจิตใจของมนุษย์ได้
Leave a Reply