The Hireling

The Hireling (1973) British : Alan Bridges ♥♥

หญิงสาวผู้ดีอังกฤษ Sarah Miles ล้มป่วยโรคซึมเศร้า (Depression) จากการสูญเสียสามี ว่าจ้างคนขับรถ Robert Shaw ชักชวนพูดคุยสนทนา ทำให้ค่อยๆสามารถปรับตัวเข้าหาผู้อื่น แต่ฝ่ายชายกลับเกิดความเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าเธอแอบชื่นชอบตกหลุมรัก, ภาพยนตร์รางวัล Palme d’Or ที่ไม่สมควรค่าสักเท่าไหร่!

รับชม The Hireling (1973) ทำให้ผมนึกถึง Driving Miss Daisy (1989) และ Green Book (2018) ต่างเป็นภาพยนตร์แนวลูกจ้างขับรถ-ลูกค้า ที่นำเสนอความแตกต่างทางชนชั้น สถานะทางสังคม สองเรื่องหลังถูกตั้งข้อครหาถึงความไม่สมควรค่าคว้ารางวัล Oscar: Best Picture เฉกเช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ได้ Palme d’Or ยังไงกัน?

ผมอุตส่าห์คาดหวังกับภาพยนตร์ดัดแปลงนวนิยายของ L.P. Hartley เพราะก่อนหน้านี้เพิ่งได้รับชม The Go-Between (1971) กำกับโดย Joseph Losey ที่สามารถคว้ารางวัล Palme d’Or คุณภาพเกือบๆจะมาสเตอร์พีซ แต่ก็ลืมไปว่ามันมีปัจจัยของผู้สร้าง ซึ่งแบ่งแยกระหว่างศิลปิน (Auteur) vs. ผู้กำกับหนังตลาดทั่วๆไป

อย่างไรเสียหนังก็ไม่ได้ย่ำแย่ไปเสียหมด ผมรู้สึกว่า Sarah Miles ตีบทแตกละเอียด! การแสดงของเธออาจดูปะแล่มๆในช่วงแรกๆ แต่นั่นคือสภาพของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จากนั้นจะค่อยๆเริ่มมีพัฒนาการ สามารถปรับตัวเข้ากับผู้คนรอบข้าง จนเกือบหายกลายเป็นปกติ ก่อนทุกสิ่งอย่างพังทลายลงอีกครั้ง … เป็นหนังที่ดูน่าสนใจเพราะนำเสนอแนะวิธีรักษาดูแล รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่ตอนจบแม้งดันวกกลับสู่จุดเริ่มต้น ทำลายทุกสิ่งอย่างอุตส่าห์สร้างมา!


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง L. P. Hartley ชื่อเต็ม Leslie Poles Hartley (1895-1972) นักเขียนนวนิยาย/เรื่องสั้น สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Whittlesey, Cambridgeshire บิดาเป็นเจ้าของโรงงานก่ออิฐ (ถือเป็น Lower-Middle Class) ตั้งแต่เด็กค้นพบความชื่นชอบผลงานของ Edgar Allen Poe เริ่มหัดแต่งเรื่องสั้นตั้งแต่อายุ 11 ขวบ, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอาสาสมัครทหาร เป็นเจ้าหน้าที่ประจำ Norfolk Regiment แต่ไม่ได้เข้าร่วมรบเพราะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจอ่อนแอ, หลังสงครามเรียนจบเกียรตินิยมอันดับสอง สาขาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ Balliol College, Oxford ทำงานเป็นนักเขียน ตีพิมพ์บทความ เรื่องสั้นลงนิตยสาร Oxford Poetry, โด่งดังกับนวนิยายไตรภาค Eustace and Hilda (1944–47), The Go-Between (1953) และ The Hireling (1954) [สองเรื่องหลังเมื่อได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์ สามารถคว้ารางวัล Palme d’Or]

สำหรับ The Hireling นำเสนอเรื่องราวความรักต่างชนชั้น ของสองบุคคลผู้มีความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ต่างฝ่ายต่างได้รับความเจ็บปวดทางจิตใจบางอย่าง เมื่อได้พบเจอ รับรู้จัก สามารถช่วยรักษาบาดแผลภายในของกันและกัน

I wanted to show the relationship between two people, both of whom were damaged in some way, and how they tried to heal each other. It’s a book about class, about loneliness, about how people try to find meaning in their lives. But at its heart, it’s a love story. I think it’s one of the best things I’ve written.

L. P. Hartley

เมื่อตอนนวนิยายจัดจำหน่าย ได้เสียงตอบรับอย่างดีจากนักวิจารณ์ แม้ไม่ถึงขั้นกลายเป็น Best-Selling แต่ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของ L. P. Hartley

The novel is a tour-de-force of observation and analysis, with a darkly romantic heart that beats beneath the surface of its social critique.

นักวิจารณ์จาก The New York Times

A novel of extraordinary power and subtlety… Hartley has caught, as few novelists have, the nuances of class and sexual conflict that mark the period.

นักวิจารณ์จาก The Observer

Alan Bridges (1927-2013) ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Liverpool โตขึ้นสามารถสอบเข้า Oxford University แต่เปลี่ยนความสนใจย้ายมาร่ำเรียนการแสดง Royal Academy of Dramatic Art (RADA) จบออกมาทำงานละครเวที ก่อนเปลี่ยนมากำกับซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Act of Murder (1964), ผลงานส่วนใหญ่มักดัดแปลงนวนิยายชื่อดัง อาทิ Great Expectations (1967), Les Miserables (1967), Brief Encounter (1974) ฯ

ความสำเร็จของ The Go-Between (1971) น่าจะคือแรงผลักดันให้ผกก. Bridge สนใจดัดแปลงนวนิยาย The Hireling ของ L. P. Hartley มอบหมายให้นักเขียน Wolf Mankowitz (1924-98) เคยพัฒนาบทภาพยนตร์อย่าง The Day the Earth Caught Fire (1961), Casino Royale (1967), The 25th Hour (1967) ฯ

บทภาพยนตร์มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขจากนวนิยายอยู่ไม่น้อย โดยรายละเอียดหลักๆประกอบด้วย

  • ฉบับภาพยนตร์ทำการตัดทิ้งเรื่องราวบุตรชายของ Lady Franklin ที่มีความสำคัญอย่างมากๆในนวนิยาย
  • ชื่อตัวละคร Parkin กลายมาเป็น Steven Ledbetter รวมพื้นหลังมีการระบุเพิ่มในภาพยนตร์ว่าเคยเป็นนักมวย และอดีตทหารผ่านศึกในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
  • ในนวนิยายไม่มีตัวละคร Captain Hugh Cantrip รวมถึงการแข่งขันชกมวยชิงแชมป์ The Sir Thomas Franklin Challenge Cup
  • ในนวนิยายเหมือนว่า Lady Franklin จะใช้เวลาค่ำคืนร่วมกับลูกจ้างขับรถ แต่ภาพยนตร์ตัดประเด็นนั้นออกไป
  • และตอนจบที่ทั้งสองตัดสินใจพรากจากกันโดยดี กลับกลายมาเป็นลูกจ้างขับรถแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด และใช้ความรุนแรงชกต่อย Captain Cantrip

เกร็ด: ในบทสัมภาษณ์ของผกก. Bridge บอกว่าผู้แต่งนวนิยาย L. P. Hartley ได้ร่วมงานดัดแปลงอย่างใกล้ชิดกับ Mankowitz แม้จะพลันด่วนเสียชีวิตก่อนรับชมภาพยนตร์ แต่ก็พึงพอใจในบทหนังอย่างมาก

Hartley was very happy with the script. He complimented us on it. I think he (would) liked the film very much.

Alan Bridges

เรื่องราวมีพื้นหลัง Bath, Somerset ภายหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-18), เรื่องราวของแม่หม้ายยังสาว Lady Franklin (รับบทโดย Sarah Miles) หลังจากสูญเสียสามีล้มป่วยโรคซึมเศร้า ระหว่างเดินทางกลับจากโรงพยาบาลจิตเวช ได้พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับลูกจ้างขับรถ Steven Ledbetter (รับบทโดย Robert Shaw) รู้สึกว่าสามารถช่วยผ่อนคลายอาการหวาดกังวลได้ไม่น้อย

ด้วยเหตุนี้หลายต่อหลายครั้งที่ Lady Franklin ออกเดินทางแห่งหนไหน ก็จักคอยติดต่อจ้างงานลูกจ้างขับรถ Ledbetter ไปรับ-ไปส่ง จนเกิดความสนิทสนมชิดเชื้อ แต่นั่นทำให้เขาเกิดความหลงผิด ครุ่นคิดว่าเธอมีใจ บังเกิดความอิจฉาริษยา Captain Hugh Cantrip (รับบทโดย Peter Egan) จึงต้องการเปิดโปงข้อเท็จจริง พูดบอกความในใจของตนเอง


Robert Archibald Shaw (1927-78) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Westhoughton, Lancashire โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Royal Academy of Dramatic Art จากนั้นมีผลงานละครเวที รับบทสมทบเล็กๆภาพยนตร์ The Lavender Hill Mob (1951), The Dam Busters (1955), เริ่มมีชื่อเสียงจากซีรีย์โทรทัศน์ The Buccaneers (1956–57), เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติจาก From Russia with Love (1963), A Man for All Seasons (1966), The Sting (1973), Jaws (1975) ฯลฯ

รับบท Steven Ledbetter อดีตทหารผ่านศึก ดูมีความเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย ใช้ชีวิตวันๆอย่างไร้เป้าหมาย จนกระทั่งมีโอกาสเป็นลูกจ้างขับรถของ Lady Franklin ในตอนแรกๆก็พยายามรักษาระยะห่างนาย-บ่าว แต่เมื่อเกิดความสนิทสนมชิดเชื้อ จึงเริ่มหลงครุ่นคิดว่าเธอมีใจ แสดงสีหน้าอิจฉาริษยาต่อ Captain Hugh Cantrip ที่ได้อยู่เคียงชิดใกล้ เลยตัดสินใจฝืนพูดบอกความในออกมา

ตอนแรก Shaw ไม่ค่อยอยากตอบรับบทบาทนี้สักเท่าไหร่ เพราะเพิ่งเสร็จสิ้นถ่ายทำ The Sting (1973) เลยยังรู้สึกเหนื่อยๆ ต้องการหยุดรับงานสักพัก แต่หลังจากอ่านบทค่อยเกิดความสนอกสนใจ อีกทั้งตัวละครฉีกจาก ‘stereotypes’ เดิมๆของตนเองไปพอสมควร

ช่วงแรกๆของ Ledbetter ก็ไม่ต่างจาก Shaw ขณะนั้น เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย ผลกระทบจากยุคสมัยหลังสงคราม (Great Depression) แต่ความสัมพันธ์ที่ค่อยๆสนิทสนมชิดเชื้อกับ Lady Franklin ปลุกตื่นความต้องการภายใน ครุ่นคิดว่าเธอคือคนที่ใช่ เต็มไปด้วยความกระตือลือร้น แต่ไม่นานก็รุกรี้รุกรน ไม่พึงพอใจต่อ Captain Cantrip จนแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด และใช้กำลังรุนแรง ชกต่อยกระทำร้ายร่างกาย … แม้สุดท้ายจะจบลงด้วยภาพจำ ‘tough guy’ แต่การแสดงของ Shaw เต็มไปด้วยความหลากหลาย พัฒนาการทางอารมณ์ ถือเป็นบทบาทน่าประทับใจไม่น้อยเลยละ!

Shaw is one of the few actors who can play a role like this and make it completely convincing. His acting is the key to the film’s success; if he were less than perfect, the whole structure would crumble.

นักวิจารณ์ Roger Ebert

แม้ว่าหนังพยายามแบ่งแยกความแตกต่างทางชนชั้น คือสิ่งกีดกันความสัมพันธ์ระหว่าง Lady Franklin กับ Ledbetter แต่ก่อนหน้านั้นเขาก็เคยบอกว่าตนเองแต่งงานมีบุตร พูดคุยหลายเรื่องของภรรยา นั่นถือเป็นเหตุผลหลักๆที่ทำให้เธอไม่ได้พัฒนาความรู้สึกใดๆ เพียงชายคนนี้ที่คิดเองเออเอง หลงเข้าใจอะไรผิดๆ แล้วแถมยังพยายามทำลายทุกสิ่งอย่าง แม้กระทั่งคนที่เขาตกหลุมรัก


Sarah Miles (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Ingatestone, Essex เมื่อตอนอายุ 15 สามารถเข้าเรียนการแสดง Royal Academy of Dramatic Art (RADA) จบออกมามีผลงานซีรีย์โทรทัศน์, ภาพยนตร์เรื่องแรก Term of Trial (1962) ได้เข้าชิง BAFTA Award: Best Newcomer, โด่งดังกับ The Servant (1963), Blowup (1966), Ryan’s Daughter (1970), The Hireling (1973), The Sailor Who Fell from Grace with the Sea (1976), Hope and Glory (1987) ฯ

รับบท Lady Franklin หลังสูญเสียสามี ล้มป่วยโรคซึมเศร้า เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวช การได้พบเจอ พูดคุยสนทนากับลูกจ้างขับรถ Steven Ledbetter ทำให้เธอค่อยๆสามารถปรับตัว เปิดหัวใจ พร้อมเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับ Captain Hugh Cantrip แต่หลังจากถูกคุกคามโดย Ledbetter ทุกสิ่งอย่างสร้างมาจึงล่มสลาย พังทลายโดยพลัน

ครึ่งแรกของหนังถือเป็นอีกไฮไลท์การแสดงของ Miles สีหน้าซีดเซียว ดวงตาลอยๆ น้ำเสียงสั่นๆ จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว นั่นคืออาการผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ภายในว่างเปล่า โดดเดี่ยวอ้างว้าง ต้องการอยู่เพียงลำพัง แต่วิธีรักษาคือต้องมองหาใครสักคนเคียงข้าง พูดคุยสนทนา คอยเป็นที่ปรึกษา อาการของ Lady Franklin จึงค่อยๆพัฒนาขึ้นหลังจากนั่งรถเล่นกับ Ledbetter

หลังจากพบเจอคบหากับ Captain Cantrip ก็ราวกับชีวิตกำลังได้เริ่มต้นใหม่ แต่แล้วการคุกคามของ Ledbetter กลับทำให้ทุกสิ่งอย่างพังทลาย วินาทีสุดท้ายสีหน้าของ Miles หวนกลับสู่จุดเริ่มต้น ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง แนวโน้มกำลังจะป่วยโรคซึมเศร้าอีกครั้ง

As the Lady Franklin, Miles is the very picture of sophistication and privilege, yet she manages to convey the deep loneliness and emptiness that lurks beneath her glamorous exterior.

นักวิจารณ์จาก The New York Times

ถ่ายภาพโดย Michael Reed (1929-2022) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Wandsworth, London ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองทำงานแผนกถ่ายภาพ Hammer Films เริ่มจากเป็นเด็กตอกสเลท, ปรับโฟกัส, ได้รับเครดิตถ่ายภาพยนตร์ The Ugly Duckling (1959), Dracula: Prince of Darkness (1965), ผลงานเด่นๆ อาทิ On Her Majesty’s Secret Service (1969), The Hireling (1973) ฯ

โทนสีของหนังจะดูซีดๆ หม่นๆ ฉากภายในคฤหาสถ์/บ้านพักมักปกคลุมด้วยความมืดมิด เพื่อสะท้อนสภาวะจิตใจตัวละครล้มป่วยโรคซึมเศร้า, ตรงกันข้ามกับทิวทัศน์ภายนอกระหว่างขับรถเล่น มักพบเห็นท้องทุ่ง ต้นไม้สีเขียว สร้างความสดชื่น ผ่อนคลาย สบายตากว่า

แม้พื้นหลังของหนังคือ Bath, Somerset แต่จะพบเห็นถ่ายทำยังสถานที่จริงเพียงบ้านของ Lady Franklin ตั้งอยู่ย่าน Lansdowne Crescent ส่วนสถานที่อื่นๆเท่าที่ผมพอหาข้อมูลได้ ประกอบด้วย

  • คฤหาสถ์หลังใหญ่ Sutton Place ตั้งอยู่ยัง Woking, Surrey (ขณะนั้นเป็นบ้านของนักแสดง Paul Getty)
  • เนินเขาม้าเห็นมีหลายสถานที่ในอังกฤษ แต่ผมครุ่นคิดว่าน่าจะถ่ายทำยัง Cherhill White Horse บนเนินเขา Cherhill Down ทางตะวันออกของ Calne, Wiltshire

ตัดต่อโดย Peter Weatherley (1930-2015) สัญชาติอังกฤษ เริ่มต้นจากทำงานแผนกตัดต่อ Hammer Film ผลงานเด่นๆ อาทิ Scrooge (1970), The Hireling (1973), Brief Encounter (1974), Alien (1979) ฯ

ครึ่งแรกของหนังนำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร Lady Franklin โดยเหตุการณ์ต่างๆจะดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า เต็มไปด้วยการสนทนายืดยาวนาน, แต่ครึ่งหลังสลับสับเปลี่ยนมา Steven Ledbetter ซึ่งมีการตัดต่อที่รวดเร็ว กระชับ ฉับไว เพื่อสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ตัวละคร หงุดหงิด ไม่พึงพอใจ เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด

  • การเริ่มต้นใหม่ของ Lady Franklin
    • Lady Franklin ได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาล
    • ระหว่างทางกลับบ้าน พูดคุยสนทนากับลูกจ้างขับรถ Ledbetter
    • แต่พอกลับถึงบ้าน รับประทานอาหารกับมารดา พยายามรื้อฟื้นอดีตที่ไม่อยากจดจำ
  • Lady Franklin กับลูกจ้างขับรถ Ledbetter
    • Lady Franklin ว่าจ้างลูกจ้างขับรถ Ledbetter พาไปส่งคฤหาสถ์ Sutton Place
    • วันถัดๆมาเดินทางไปปิคนิคยัง Cherhill White Horse
    • Lady Franklin รับประทานอาหารกับมารดาอีกครั้ง แม้ยังปฏิเสธออกงานสังคม แต่อาการของเธอก็ดีขึ้นมากๆ
  • การแข่งขันชกมวยชิงแชมป์ The Sir Thomas Franklin Challenge Cup
    • Ledbetter เล่าถึงอดีตที่เคยเป็นนักมวย ปัจจุบันก็เปิดค่ายมวย จากนั้นชักชวน Lady Franklin ให้ร่วมสนับสนุนการแข่งขันชกมวยชิงแชมป์
    • การแข่งขันชกมวยชิงแชมป์
    • หลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน Captain Cantrip ชักชวน Lady Franklin มาร่วมรับประทานอาหารเย็น
  • ความอิจฉาริษยาของ Ledbetter
    • Ledbetter เกิดความไม่พึงพอใจที่ Lady Franklin สานสัมพันธ์กับ Captain Cantrip จึงพยายามเล่นแง่
    • หาโอกาสค่ำคืนหนึ่งตัดสินใจใช้กำลังคุกคาม Lady Franklin แต่ก็ทำให้เขาตระหนักว่าอีกฝ่ายไม่ได้มีใจให้
    • หลังจากดื่มเหล้าเมามาย ขับรถไฟยังคฤหาสถ์ Sutton Place เผชิญหน้ากับ Lady Franklin และ Captain Cantrip

เพลงประกอบโดย Marc Wilkinson (1929-2002) นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Paris โตขึ้นร่ำเรียนการประพันธ์เพลงยัง Columbia and Princeton Universities จากนั้นทำงาน BBC Radiophonic Workshop แล้วกลายเป็น Musical Director ให้กับ Royal Shakespeare Company ต่อด้วย Royal National Theatre, มีผลงานละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ If…. (1968), The Hireling (1973) ฯ

งานเพลงของหนังคละคลุ้งด้วยบรรยากาศอึมครึม หมองหม่น เพื่อสะท้อนความโดดเดี่ยวอ้างว้าง อาการป่วยซึมเศร้าของตัวละคร ราวกับระเบิดเวลานับถอยหลัง เต็มไปด้วยสัมผัสอันตราย สำเนียงเสียงที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Lady Franklin กับ Ledbetter ยังเหมือนเป็นการละเล่นกับไฟ ผลลัพท์เมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย จึงมีแต่ความเจ็บปวด ทุกสิ่งอย่างสร้างมาพังทลาย

เรื่องราวของ The Hireling (1973) เริ่มต้นนำเสนอลักษณะอาการซึมเศร้า (Depression) นี่ไม่ใช่แค่ Lady Franklin ยังรวมถึง Steven Ledbetter และ Captain Cantrip ต่างเป็นทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งหนึ่ง ไม่ถึงขั้นแสดงอาการ Shell Shock/PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) แต่สามารถมองว่าคือผลกระทบจากยุคสมัย Great Drepression, ทั้งสามต่างมีวิธีการจัดการสภาวะทางอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป

  • Lady Franklin เพราะไม่สามารถควบคุมตนเอง เลยแสดงอาการหวาดกลัว ตัวสั่น คลุ้มคลั่ง จนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อทำการสงบจิตสงบใจ
  • Ledbetter ทำการเก็บกด สะสมอารมณ์เกรี้ยวกราดไว้ภายใน ระบายความอัดอั้นด้วยการต่อยมวย ใช้กำลัง ความรุนแรง ราวกับระเบิดเวลาที่พร้อมปะทุออกทุกวินาที
  • Captain Cantrip กลายเป็นเพลย์บอย คาสโนว่า เจ้าชู้ประตูดิน สานสัมพันธ์ผู้หญิงมากมาย

ซึ่งวิธีรักษาอาการซึมเศร้าของทั้งสาม ก็คือให้พวกเขาพบเจอกันและกัน พูดคุยสนทนา สานสัมพันธ์ชาย-หญิง นั่นเพราะความรักจักช่วยเติมเต็มช่องว่างขาดหาย สามารถเป็นที่พึ่งพักพิงของร่างกาย-จิตใจ ร่วมกันก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย

ยุคสมัยนั้นยังเป็นช่วงเวลาที่มีการแบ่งแยกชนชั้น สถานะทางสังคม Lady Franklin และ Captain Cantrip ต่างเป็นตัวแทนชนชั้นกลาง (Upper-Middle Class) ผิดกับ Ledbetter ในฐานะลูกจ้างขับรถคือชนชั้นทำงาน (Working Class) ไม่อาจเอื้อมเด็ดดอกฟ้า นอกเสียจากใช้กำลังข่มขืนใจ ก็มิอาจได้เธอมาครอบครอง

แต่แม้ความสัมพันธ์ระหว่างนาย-บ่าว Upper-Middle Class vs. Working Class ในยุคสมัยนั้นจะเป็นไปไม่ได้ แต่ความรู้สึก/การแสดงออกของ Ledbetter เป็นเครื่องยืนยันว่าความรัก ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น สถานะทางสังคม เพียงเรื่องของสองบุคคล เมื่อพบเจอสานสัมพันธ์ เกิดความสนิทสนม ย่อมสามารถพัฒนาสู่ความรัก ครองคู่แต่งงาน สามี-ภรรยา

ตอนจบของนวนิยาย L.P. Hartley ตระหนักถึงข้อจำกัดทางสังคมยุคสมัยนั้น จึงให้ Lady Franklin กับลูกจ้างขับรถแยกจากกันโดยดี จดจำช่วงเวลาสั้นๆที่พวกเขาได้ครอบครอบรัก และร่วมกันก้าวข้ามผ่านปมเลวร้ายจากอดีต ตราฝังเก็บไว้ในความทรงจำชั่วนิรันดร์ (ใครเคยอ่าน/รับชม The Go-Between ก็น่าจะมักคุ้นใจความสำคัญลักษณะคล้ายๆกันนี้)

แต่สำหรับฉบับภาพยนตร์ เหมือนผู้สร้างต้องการปลุกระดมผู้ชม ให้บังเกิดอคติ ต่อต้านระบอบชนชั้น ไม่ยินยอมรับความสัมพันธ์ระหว่าง Lady Franklin และ Captain Cantrip ด้วยการแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดแบบเดียวกับ Ledbetter ขับรถพุ่งชนกำแพง ซ้ำแล้วซ้ำอีก (กำแพงกีดกั้นแบ่งชนชั้น ในอดีตไม่มีใครสามารถก้าวข้ามผ่าน ทำได้เพียงขับรถพุ่งชนจนหมดสิ้นสภาพ)

ผมพยายามมองหาความสัมพันธ์ของหนังและผกก. Bridges แต่ก็ไม่พบเจออะไร ทำไมถึงสนใจดัดแปลงนวนิยายเรื่องนี้? ว่าไปอาจไม่ต่างจากลูกจ้างขับรถรับจ้าง ‘The Hireling’ แค่นั้นกระมัง … นี่คือความแตกต่างระหว่างศิลปิน (auteur) vs. ผู้กำกับหนังตลาดทั่วๆไป


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับถือว่าดีล้นหลาม โดยเฉพาะการแสดงของ Sarah Miles แม้ไม่ใช่ตัวเต็งคว้ารางวัล Palme d’Or (สมัยนั้นยังเรียกว่า Grand Prix) แต่คาดว่าคงถูกใจประธานกรรมการ Ingrid Bergman ผลลัพท์ถือว่าสร้างความประหลาดใจไม่น้อย

  • คว้ารางวัล Palme d’Or เคียงข้างกับ Scarecrow (1973)
  • Sarah Miles คว้ารางวัลพิเศษ Special Jury Prize

แซว: ผู้กำกับ Lindsay Anderson แสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงที่ผลงานตัวเต็งของตนเอง O Lucky Man! (1973) ไม่ได้คว้ารางวัลใดๆจากเทศกาลหนังเมือง Cannes

I thought ‘The Hireling,’ that won the prize over my film in Cannes, was sentimental muck. Do they think they’re being subtle because Sarah Miles never goes to bed with her chauffeur? …That is not sour grapes. …And I don’t think ‘The Hireling’ will be as successful as my film at the box-office. You can fool the critics but you can’t fool the public.’

Lindsay Anderson

ปล. ภาพยนตร์ที่เข้าฉายปีนั้น แล้วได้รับการจดจำเหนือกาลเวลา อาทิ Fantastic Planet (1973), La grande bouffe (1973), O Lucky Man! (1973), Love & Anarchy (1973), The Hourglass Sanatorium (1973), The Mother and the Whore (1973) ฯ

หนังไม่มีรายงานทุนสร้างและรายรับ แต่เห็นว่าประสบความสำเร็จพอสมควรในประเทศอังกฤษ และช่วงปลายปีสามารถคว้ารางวัล BAFTA Award มาได้ถึงสามสาขา ประกอบด้วย

  • Best Art Direction
  • Best Costume Design
  • Most Promising Newcomer to Leading Film Roles (Peter Egan)

ปัจจุบันหนังน่าจะยังไม่ได้รับการบูรณะ ฉบับที่ผมรับชมคือ DVD ของค่าย Sony Pictures Entertainment แต่พบเห็นจัดจำหน่าย Blu-Ray ของค่าย ESC Editions (ฝรั่งเศส) ทำการสแกนฟีล์มใหม่ คุณภาพน่าจะดีกว่าพอสมควร

นอกจากคุณภาพที่ไม่ได้สักครึ่งหนึ่งของ The Go-Between (1971) ไคลน์แม็กซ์ของหนังทำเอาผมหงุดหงิด หัวเสียอย่างรุนแรง เพราะดูเหมือนพยายามปลุกระดมผู้ชมสมัยนั้น ด้วยการใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง ตัวละครสูญเสียสิ้นสติสตางค์ (ขับรถพุ่งชนกำแพง) ไม่รู้หรือว่าความเกรี้ยวกราดไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร กลับยิ่งทำให้ทุกสิ่งอย่างอุตส่าห์สร้างมาพังทลายย่อยยับเยิน

จัดเรต pg กับภาวะซึมเศร้า, อาการหลงผิด, อารมณ์เกรี้ยวกราด, ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา

คำโปรย | The Hireling (1973) คือความเกรี้ยวกราดของ Alan Bridges ว่าจ้าง Robert Shaw และ Sarah Miles มาย่ำเหยียบให้อยู่ในสภาพย่อยยับเยิน
คุณภาพ | ย่อยยับเยิน
ส่วนตัว | อิหยังว่ะ?

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: