The Horse’s Mouth (1958) : Ronald Neame ♥♥♥♥
Sir Alec Guinness นักแสดงชาวอังกฤษชื่อดัง รับบทเป็นศิลปิน Expressionist ไส้แห้งที่พร้อมทำทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ขโมยของ, รีดไถคนรวย เพื่อนำเงินที่ได้ไปวาดภาพในจินตนาการของตน กำกับโดย Ronald Neame ว่ากันว่านี่เป็นหนัง British เกี่ยวกับการวาดรูปที่ดีที่สุด
หนังเกี่ยวกับจิตรกรงานศิลปะ กับชื่อหนัง The Horse’s Mouth เชื่อว่าคงมีคนคิดว่า ศิลปินจะวาดภาพปากของม้า ก็จินตนาการไปไกลว่าจะวาดปากยังไงให้สวย … ผมก็หลงคิดไปไกลอย่างนั้น … แต่ไม่ใช่เลยนะครับ! ในหนังมีคำพูดประโยคหนึ่ง Straight from the horse’s mouth. สำนวนนี้แปลว่า คำพูดจากปากผู้เชี่ยวชาญ เป็นประโยคที่ตัวละครของ Sir Alec Guinness พูดออกมา เพื่ออ้างว่าตัวเองเป็นผู้มีความรู้ความสามารถจริง ไม่ได้เกี่ยวกับการวาดปากของม้าแต่อย่างใด … ในฉากที่ว่านี้ฟังดูแล้วเหมือนเขากำลังพูดโกหก หลอกลวงมากกว่านะครับ ก็จริงอยู่ว่าเขามีความสามารถจริงๆ ได้รับการยอมรับด้วย แต่เพราะนิสัยของตัวละครนี้มันโคตรปลิ้นปล้อน พูดอย่างหนึ่งทำอีกอย่างหนึ่ง ไว้เนื้อเชื่อใจอะไรไม่ค่อยได้ อ้างแบบนี้มีจุดประสงค์เพื่อเยินยอ ต้มตุ๋นให้ผู้ฟังเห็นคล้อยและยอมทำตามข้อเสนอ
หนังเรื่องนี้ถือว่าเซอร์ไพรส์ผมมากๆ ดีกว่าที่คิดไว้เยอะเลย ขนาดมีนักวิจารณ์ให้คำนิยามหนังว่า “one of the best films ever about a painter” หนังได้เข้าชิง Oscar 1 สาขา ดัดแปลงบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ได้รางวัล New Cinema Award และ Volpi Cup – Best Actor : Alec Guinness จากเทศกาลหนังเมือง Venice ความยอดเยี่ยมการันตีได้ แต่หนังเรื่องนี้กลับไม่ติดชาร์ทอะไรเลยสักชาร์ท คุณภาพระดับนี้เป็นไปได้ยังไง! นี่แสดงว่าหนังถูกมองข้ามมากๆ ทำไมเป็นแบบนั้น?
ผู้กำกับ Ronald Neame สัญชาติอังกฤษ เขาเป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ ช่างภาพ นักเขียนบท เป็นได้แทบทุกอย่างในกองถ่าย เคยได้เข้าชิง Oscar หลายครั้งแต่ไม่เคยได้ หนังเรื่องที่ได้ไปฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes หรือเมือง Venice ก็มีหลายเรื่อง นักแสดง, ภาพยนตร์เคยได้รางวัลมาหมดแล้ว แต่เจ้าตัวกลับไม่เคยได้รับอะไรเลย เป็นผู้กำกับที่อาภัพรางวัลมากๆ หนังในเครดิตของเขาอาทิ ร่วมเขียนบท Brief Encounter (1945), Great Expectations (1946) และ Oliver Twist (1948) ทั้งสามเรื่องกับ David Lean, ในฐานะผู้กำกับ I Could Go On Singing (1963) หนังเรื่องสุดท้ายของ Judy Garland, The Prime of Miss Jean Brodie (1969) และ The Poseidon Adventure (1972)
ดัดแปลงมาจากนิยายของ Joyce Cary เห็นว่าแรงบันดาลใจของตัวละครจิตรกรสติแตกมาจากเพื่อนสนิทนักเขียน Dylan Thomas (กวี บทละคร เรื่องสั้นที่เขาแต่งปัจจุบันยังได้รับการดัดแปลงมาเป็นสื่อต่างๆ ภาพยนตร์ ละครเวที อย่างต่อเนื่อง) ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Alec Guinness ตอนแรกคนที่ให้ความสนใจนิยายเล่มนี้ก่อนคือ Claude Rains ที่ตั้งใจจะรับบทนำด้วย แต่เพราะตอนนั้น Ronald Neame ยังอ่านนิยายไม่จบจึงไม่ได้รับความสนใจ ผ่านไปหลายปี Alec Guinness เอาโปรเจคนี้มาเสนอ และ Neame ตกลงกำกับ, ปกติจะไม่ค่อยมีนะครับ คนที่ควบเขียนบทและแสดงนำ ถ้ามีก็มักจะควบเขียนบท กำกับ แสดงนำ และโปรดิวเซอร์ด้วย ไม่มีควบแค่เขียนบทและแสดงนำ, บทของ Guinness ดัดแปลงเคารพต้นฉบับอย่างมาก แต่เขาก็ตัดอะไรออกหลายๆอย่าง โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับสังคม การเมือง เพราะเขาต้องการจำกัดมุมมองให้เหลือแค่ต่อตัวละครเท่านั้น และตอนจบเปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่งเลย ในนิยายตัวเอกจะกลายเป็นอัมพาต ไม่สามารถวาดรูปได้อีก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในนิยายจบแบบนี้คงเศร้าไปเสียหน่อย ดัดแปลงมาเป็นหนัง เลยทำให้มันเป็นปลายเปิด ไม่บอกคนดูว่าชะตากรรมของตัวเอกเป็นอย่างไร แบบนี้น่าสนใจมากๆเลย
ต้องชมเลยว่าบทหนังเรื่องนี้ดัดแปลงมายอดเยี่ยมมากๆ โดยเฉพาะการสร้างตัวละครนำที่ถือว่าโดดเด่นมีเอกลักษณ์ ยิ่งผ่านการแสดงของ Alec Guinness ซึ่งเขาสามารถถ่ายทอดออกมาได้สมจริงมากๆ มีการกดเสียงให้แหลมต่ำ เพื่อสะท้อนตัวตน นิสัยของ Gulley Jimson ออกมา, ถึงหลับตาฟังแค่เสียง ก็สามารถรู้ได้เลยว่าตัวละครนี้นิสัยเป็นยังไง
ศิลปินต้องเป็นอาชีพที่ต้องเห็นแก่ตัว เพราะผลงานของพวกเขาหากินได้กับคนรวยเท่านั้น ไม่ใช่คนจนชื่นชมกับงานศิลปะไม่ได้นะครับ แต่พวกเขาไม่สามารถจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้ศิลปินสามารถทุ่มเทแรงกายและแรงใจสร้างสรรค์ผลงานที่ทรงคุณค่าได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จะมองว่างานศิลปะเป็นเหมือนการโยนเศษเงินของเศรษฐีให้กับศิลปิน เพื่อแลกกับผลงานที่ควรค่าต่อฐานะของพวกเขา, กับแนวคิดเช่นนี้ ก่อให้เกิดตัวละคร Gulley Jimson เขาเป็นศิลปินไส้แห้งที่ฉวยโอกาสหากินกับจากคนรวย ด้วยความที่งานศิลปะของเขามีความโดดเด่นและสวยงาม ในหนังจะเห็นชัดเลยเรื่องรสนิยมระหว่างคนจนกับคนรวย รวมกับพวกเขาอยู่กันคนละโลก, ด้วยความที่เป็นคนไม่ประณีประณอม ไม่แคร์ใคร อยากทำอะไรต้องได้ทำ หนังอธิบายสาเหตุที่ Gulley Jimson กลายเป็นแบบนี้ เพราะระหว่างครอบครัว ความสัมพันธ์ และการวาดรูป เขาตัดสินใจเลือกหลังสุด มองการวาดรูปเปรียบเหมือนศาสนา (ไม่มีพระเจ้าข้าอยู่ได้ แต่ถ้าไม่ได้วาดรูปจะเหมือนตายทั้งเป็น) เคยมีแฟนก็ทิ้งไป เลยเป็นคนดีก็กลายเป็นคนชั่ว ตัดขาดความสัมพันธ์ทุกสิ่งอย่าง หลงเหลือแต่ความต้องการในการสร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น
Kay Walsh รับบทเป็น Miss D. Coker ตัวละครนี้แรกๆก็ไม่พยายามอยากทำความเข้าใจ Jimson นะครับ แต่ภายหลังเธอก็เข้าใจความคิดของเขา ว่าทำไมถึงกลายมาเป็นคนแบบนี้, ฉากที่เธออธิษฐานถึงกพระเจ้า การสนทนาของทั้งสองโดนใจผมมากๆ
Jimson: What are you doing?
Coker: I’m saying my prayers; I forgot them.
Jimson: I thought you hated God.
Coker: Maybe I do.
Jimson: Why do you pray then?
Coker: Well, he’s our Father, isn’t he?
Renée Houston รับบท Sara Monday แฟนเก่าของ Jimson สำหรับภาพวาดที่เธอเก็บเอาไว้ ไม่ยอมขายให้ใคร เป็นภาพเปลือยของเธอบนเตียง (สังเกตดีๆจะเห็นอยู่แวบๆ) เหตุที่เธอไม่ยอมมอบภาพนี้ให้ใคร ไม่ใช่เพราะความอายนะครับ (รูปเปลือยอยู่ในอ่างอาบน้ำ ก็รูปเธอนี่แหละ) แต่เพราะมันเป็นภาพวาดที่ทำให้เธอหวนระลึกถึงตัวเองในตอนสาวๆ ภาพวาดนี้แสดงออกซึ่งตัวตน จิตวิญญาณของเธอ มันสมจริง สวยงามและสัมผัสได้, ตอนที่ยื้อแย่งกันแล้วเธอลื่นล้ม ในนิยายบอกว่าถึงขั้นโคม่า แต่ไม่รู้ว่าเสียชีวิตหรือเปล่า จบค้างแค่นั้นนะครับ
Mike Morgan หรือ Nosey เขาเสียชีวิตก่อนหนังปิดกล้อง 10 วัน ทำให้ post-production ต้องใช้นักแสดงอื่นพากย์เสียงแทน เราจะเห็นว่ามีบางฉากที่ปากขยับไม่ตรงกับเสียงพูด นี่ก็มากที่สุดเท่าที่ผู้กำกับจะทำให้ชายหนุ่มผู้อาภัพคนนี้ได้ การแสดงของเขาก็ใช้ได้เลย อนาคตไกล น่าเสียดายจริงๆ
ถ่ายภาพโดย Arthur Ibbetson ไม่แน่ใจนี่เป็นหนัง debut ของเขาหรือเปล่า โดยรวมถือว่าพอใช้ หนังใช้ mid-shot ค่อนข้างเยอะ และมี long-shot บ้างสำหรับถ่ายภายนอก การเคลื่อนไหวกล้องก็ดูมีจังหวะ มีมิติ (อย่าลืมว่าสมัยนั้นกล้องถ่ายภาพหนักมากนะครับ ถือเดิน ถือวิ่งนี่ถ้าไม่แข็งแรงจริงๆทำไม่ได้แน่ๆ) ตอนแรกผมไม่รู้สัญชาติของหนังนะครับ แต่พอเห็นสะพาน สถาปัตยกรรมในหนัง แทบจะรู้ได้เลยว่าคือ London ชัวร์เลยว่าเป็นหนังสัญชาติอังกฤษ, ตัดต่อโดย Anne V. Coates เธอได้ Oscar จากการตัดต่อหนังเรื่อง Lawrence of Arabia (1962) หนังเรื่องนี้กระชับมาก ต้องชื่นชมการตัดต่อเลย ด้วยความยาวเพียง 97 นาที (ขณะที่หนังแนว Painter & Artist ส่วนมากจะยาวเกิน 2 ชั่วโมงเท่านั้น) พอหนังกระชับ ทำให้หนังมีแต่แก่น ไม่มีช่วงเสียเวลาเลย นี่คงเพราะบทของ Alec Guinness ด้วยนะครับ ที่เลือกจำกัดมุมมองการเล่าเรื่องไม่ให้หลุดออกนอกกรอบจากที่วางไว้
ใจจริงผมอยากให้หนังยาวกว่านี้อีกนิดนะครับ เพิ่มในส่วน ศิลปินกำลังสร้างสรรค์ผลงานเข้าไป รู้สึกช่วงนี้มีน้อยไปนิด ทำให้ไม่เห็นว่า ศิลปินใช้เทคนิคอะไรบ้าง หนังเน้นไปแรงบันดาลใจการสร้างภาพและจบลงที่ผลลัพท์เลย นี่ทำให้หนังขาดอรรถรสบางอย่าง เมื่อเทียบกับ La Belle Noiseuse, Lust for Life หรือ The Agony and the Ecstasy ที่ให้เวลาขณะการสร้างสรรค์ผลงาน อย่าง La Belle Noiseuse อาจจะต้องยกไว้ เพราะนั่นแสดงการสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับ Lust for Life ยังมีช่วงเวลาที่ให้เราเห็นว่าผลงานสร้างขึ้นยังไง เรียนรู้เทคนิคบางอย่าง และ The Agony and the Ecstasy เราจะเห็น Michelangelo เหนื่อยสายตัวแทบขาดกว่าจะวาดเสร็จ, เราอาจมองว่า การสร้างสรรค์ผลงาน อาจไม่ใช่จุดสำคัญของหนังนะครับ เพราะมีช่วงหนึ่งที่หนังสอนวิธีการดูภาพวาด ให้เอาอารมณ์สัมผัสความรู้สึกของภาพ ใช้ใจมอง ไม่ใช่ตามอง นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้กำกับมองข้ามกระบวนการสร้างภาพไป
ตัวตนของ Gulley Jimson หนังอธิบายทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมเขาถึงวาดภาพสไตล์นี้ออกมา ทำไมภาพถึงมีลักษณะเป็นแบบนั้น แต่หนังลืมอธิบายไปว่า ภาพเหล่านั้นทำไมถึงต้องมีองค์ประกอบเป็นแบบนี้ ทำไมต้องเป็นสิงโต? ทำไมต้องเป็นเท้า, ยีราฟ ปลาวาฬ ฯ นี่อาจเป็นจุดที่ผู้กำกับต้องการปล่อยให้คนดูคิดต่อเอง ถ้าบอกหมดจะไปมีอรรถรสอะไร
ขา คือของต่ำ เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องใช้เพื่อเดิน แบกรับน้ำหนักร่างกาย ทำให้เดินไปข้างหน้า ก้าวถอยหลัง ขณะเดียวกันก็สามารถเหยียบย่ำ
สิงโต คือสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ จองหอง มีพลังอำนาจ เป็นผู้นำ
ยีราฟ คือการที่มองกาลไกล คอสูงเปรียบกับคนชั้นสูง มีนิสัยเย่อหยิ่ง (ในมุมหนึ่งมองเห็นเป็นพระเจ้า)
ปลาวาฬ คือสัตว์ที่ฉลาด อายุยืน(เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อายุยืนยาวที่สุดในโลก) อาศัยอยู่อย่างสงบในน้ำลึก แต่กินอาหารต่อวันเยอะมาก
ลองไปมองหาความสัมพันธ์ของสัญลักษณ์เหล่านี้ต่อเรื่องราวในหนังดูเองนะครับ จะพบว่ามันก็สอดคล้องกันเลยละ
เผื่อใครสังเกตไม่ออก ภาพวาดของ Jimson เป็นแนว Expressionist นะครับ วาดโดย John Bratby ศิลปินชาวอังกฤษสไตล์ Kitchen Sink School (ไม่ใช่ชื่อโรงเรียนสอนวาดภาพนะครับ เป็นชื่อหนึ่งของสไตล์/ลิทธิ คล้ายๆกับ social realism), ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ แน่นอนว่างานศิลปะต้องแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกของศิลปิน ต่อสิ่งที่เขาเห็น ถ่ายออกมา (คล้ายๆกับ Edvard Munch), The Raising of Lazarus เป็นภาพแสดงปาฏิหารย์ของพระเยซู ที่ทำให้ Lazarus of Bethany กลับมามีชีวิตหลังจากถูกฝังไว้ 4 วัน, The Last Judgement การพิพากษาครั้งสุดท้าย ได้ยินชื่อนี้ผมนึกถึงภาพของ Michealangelo ในโบสถ์น้อยซิสตินทันที, 2 ภาพนี้เมื่อถูก Gulley Jimson วาดออกมาแล้ว มันดูคนละเรื่องกับความเข้าใจเลยนะครับ ผมขอไม่วิเคราะห์แล้วกันเพราะไม่ค่อยเข้าใจว่าเขาวาดอะไร
เพลงประกอบ ดัดแปลงมาจาก Lieutenant Kijé Suite ของ Sergei Prokofiev ที่ใช้ประกอบหนัง russian เรื่อง Lieutenant Kijé (1934) ผมไม่รู้เหตุผลว่าทำไมผู้กำกับถึงเลือกดัดแปลงจาก Orchrestra ที่เคยมีอยู่แล้ว แทนที่จะจ้างคอมโพเซอร์ให้ประพันธ์เพลงประกอบขึ้นใหม่ (สงสัยประหยัดงบ) ใจความของ Suite นี้ Lieutenant Kijé เป็นคนที่ไม่มีตัวตนจริงๆ แต่ขณะนั้น Tsar ผู้ปกครอง Russia ได้ถูกขโมยสำคัญของอะไรสักอย่าง แล้วมีชื่อผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นขโมยคือ Lieutenant Kijé เรื่องราวที่แสนวุ่นวายจึงเกิดขึ้น ไว้ผมได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วจะมาเล่าให้ฟังนะครับ
หนังเรื่องนี้ดูไม่ยากเลยนะครับ แต่การจะหาดูอาจยากสักหน่อย ผมดูของ Criterion Collection คุณภาพอย่างดี (ส่วนใหญ่หนังของ Criterion มักจะสูญหาย ได้รับการค้นพบ และถูก Restore ปรับปรุงคุณภาพอย่างดี) บอกเลยว่า ผมไม่อยากให้หนังเรื่องนี้ถูกลืม นี่เป็นหนังที่สนุก เข้าใจง่าย แฝงข้อคิด สอนวิธีทำความเข้าใจภาพวาด และความหมายที่แท้จริงของงานศิลปะ กับคนที่ไม่เคยเข้าใจงานศิลปะมาก่อน นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่ผมจะแนะนำให้คุณดูเลย
ความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้ ผมขอจัดไว้ใน “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ในความเห็นแก่ตัวของ Gulley Jimson มีสิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบ เมื่อคนเราตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เราก็ควรไปให้ถึงที่สุดถ้าไปได้ ซึ่งระหว่างทางมันอาจต้องแลกกับอะไรบางอย่าง คุณจะกลายเป็นแบบ Jimson ที่ทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่อไปให้ถึงจุดสูงสุดนั้นหรือเปล่า หนังสะท้อนความบ้าคลั่งของการกระทำ ด้วยความ Jimson เป็นคนไม่แคร์ใคร แต่เขาไม่ได้ทำเพราะต้องการเอาเปรียบผู้อื่น แต่เพื่อให้ตัวเองได้ทำในสิ่งที่คิดว่ามีความสำคัญที่สุด, มันคุ้มกันแล้วเหรอ ที่ต้องแลกทุกสิ่งทุกอย่าง ผมเห็นสภาพของตัวละครนี้แล้วรู้ได้เลยว่า ‘ไม่คุ้ม’ นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนเห็นนะครับ อาจจะคิดไม่ได้แบบผมก็ไม่เป็นไร แต่ให้รู้สึกถึงตัวตนของ Jimson โตขึ้นฉันจะไม่เป็นแบบนี้หรอก ถ้าคิดได้แบบนี้ หนังเรื่องนี้มีคุณค่าแน่นอน
ในบรรดาหนังเกี่ยวกับ Painter & Artist ที่ผมดูผ่านมาหลายๆเรื่อง หนังเรื่องนี้สะท้อนตัวตนของศิลปิน กลุ่มเป้าหมายและความหมายของงานศิลปะ ออกมาได้ตรง เสียดสีได้เจ็บแสบที่สุด ‘มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่เลือกเป็นศิลปิน’ ใช่เลยครับ
แนะนำหนังเรื่องนี้กับทุกคน ไม่เฉพาะกับแค่ศิลปินหรือเด็กสายศิลป์ หนังภาพสี ตัดต่อเร็ว กระชับ นักดูหนังสมัยใหม่หรือไม่เคยดูหนังมาก่อนก็สามารถดูเข้าใจได้ จัดเรต PG-13 สำหรับภาพศิลปะเปลือยและแนวคิดการกระทำที่แฝงความรุนแรง ผู้ปกครองควรระวังและให้คำแนะนำ
[…] The Horse’s Mouth (1958) : Ronald Neame ♥♥♥♥ Sir Alec Guinness นักแสดงชาวอังกฤษชื่อดัง รับบทเป็นจิตรกร Expressionist ไส้แห้งที่พร้อมทำทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ขโมยของ, รีดไถคนรวย เพื่อนำเงินที่ได้ไปวาดภาพในจินตนาการของตน, The Horse’s Mouth เป็นหนังที่สะท้อนตัวตนของศิลปิน และความหมายของงานศิลปะออกมาได้ตรง เสียดสีได้เจ็บแสบที่สุด ถ้ามีโอกาส “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” […]