The House Is Black (1962) : Forugh Farrokhzad ♥♥♥♥
มาสเตอร์พีซเรื่องแรกแห่งวงการภาพยนตร์อิหร่าน! สร้างโดยผู้กำกับหญิง Forugh Farrokhzad บันทึกภาพนิคมโรคเรื้อน (Leaper Colony) พบเห็นความอัปลักษณ์ พิกลพิการ แต่พวกเขายังคงสู้ชีวิตไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป
Human beings are members of a whole
Saadi Shirazi (ค.ศ. 1210-91/92) โคตรนักกวีชาว Persian จากผลงาน Bani Adam (แปลว่า Sons of Adam)
In creation, of one essence and soul
If one member is inflicted with pain
Other members, uneasy will remain
If you have no sympathy for human pain
The name of human you cannot retain.
มันแปลกนะที่เราสามารถรับชมภาพยนตร์ที่มีการแต่งหน้าเอ็ฟเฟ็ก (Special Make-up Effects) หรือสัตว์ประหลาดหน้าตาอัปลักษณ์อย่าง Nosferatu (1922), Dracula (1931), The Thing (1982), The Fly (1986) ฯลฯ ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ แต่เมื่อไหร่พบเห็นภาพความผิดปกติของบุคคลจริงๆอย่าง Freaks (1932), The Tin Drum (1979), The Elephant Man (1980) ฯลฯ กลับเกิดความรังเกียจขยะแขยง อคติต่อต้าน ยินยอมรับไม่ได้ซะงั้น!
การพบเห็นภาพความอัปลักษณ์ พิกลพิการ แม้ทำให้ใครหลายคนหน้ามืดวิงเวียน ท้องไส้ปั่นป่วน มิอาจอดรนทน ยินยอมรับสภาพความจริง แต่ผมคิดว่าเราควรฝึกฝนตนเองให้สามารถเผชิญหน้าสิ่งเหล่านี้ไว้นะครับ เพราะถ้าสักวันมันหวนย้อนกลับหาตัวเรา หรือคนที่เรารัก ประสบอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ การแสดงออกอย่างไม่ตะขิดตะขวง ไม่รังเกียจเดียจฉันท์ จะสามารถกลายเป็นพลังให้อีกฝ่ายมีพละกำลังใจ พร้อมต่อสู้ชีวิต ไม่ย่นย่อท้อต่อการถูกต่อต้านจากสังคม
The House Is Black (1962) โคตรหนังสั้น ผลงานเรื่องแรกเรื่องเดียวของผู้กำกับหญิง Forugh Farrokhzad ถือเป็นเสาหลักไมล์ต้นแรกแห่งวงการภาพยนตร์อิหร่าน แม้จะเริ่มต้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 30s (ภาพยนตร์เรื่องแรกกำกับโดยผู้กำกับชาวอิหร่านคือ Abi and Rabi (1930)) แต่ช่วงสามทศวรรษมักเป็นการดัดแปลงวรรณกรรม ปรัมปรา (Persian mythology) เอาแต่เสี้ยมสอนศีลธรรมและความเป็นมนุษย์ จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยที่เรียกว่า Pre-revolutionary Iranian cinema (1950s–70s) [นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สู่การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองราชาธิปไตยสู่สาธารณรัฐอิสลาม ค.ศ. 1978-79] ถึงเป็นจุดเริ่มต้นแท้จริง คลื่นลูกใหม่ “Iranian New Wave”
ขณะที่นักวิจารณ์ตะวันตกมักเปรียบเทียบ The House Is Black (1962) กับอีกโคตรหนังสั้น Meshes of the Afternoon (1943) ของผู้กำกับ Maya Deren (คงเพราะสร้างโดยผู้หญิงเหมือนกัน) แต่ทั้งสองเรื่องมีความแตกต่างแทบจะขั้วตรงกันข้าม … ผมนึกถึงหนังไทยเรื่องหนึ่ง ! อัศเจรีย์ (พ.ศ. ๒๕๑๙) กำกับโดยสุรพงษ์ พินิจค้า ครุ่นคิดว่ามีความใกล้เคียงกันมากกว่า ด้วยลักษณะของ ‘Essay Film’ สะท้อนปัญหาสังคม (นิคมโรคเรื้อน vs. ปัญหาเด็กและเยาวชน) จัดจ้านด้านการตัดต่อ และงดงามราวกับบทกวี
Forugh Farrokhzad (1934-67), خانه سیاه است นักกวี ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Tehran มีโอกาสเรียนหนังสือแค่ชั้น ม.3 (เกรด 9) จากนั้นออกมาร่ำเรียนเย็บปักถักร้อย ฝึกฝนการวาดภาพ พออายุ 16 แต่งงานกับนักเขียน Parviz Shapour มีบุตรชายร่วมกันหนึ่งคน หลังหย่าร้างออกเดินทางสู่ยุโรป เปิดโลกกว้างต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม พอกลับมาอิหร่านระหว่างกำลังมองหางาน พบรักครั้งใหม่ผู้สร้างภาพยนตร์ Ebrahim Golestan สอนให้เธอรับรู้จักความเป็นตัวของตนเอง แสดงออกในสิ่งที่ต้องการ
Golestan ไม่ใช่แค่ชายคนรัก แต่ยังเปิดมุมมองโลกทัศน์ สร้างอิทธิพลมากมายให้กับ Farrokhzad เริ่มหัดเขียนบทกวี ตีพิมพ์หนังสือ The Wall, The Rebellion ฯ รวมทั้งช่วยงานถ่ายทำสารคดี จนกระทั่งได้รับการว่าจ้างจากนิคมโรคเรื้อน Bababaghi Hospice เขาเลยผลักดันให้เธอทดลองเป็นผู้กำกับ
เกร็ด: Bababaghi Hospice ตั้งอยู่หมู่บ้าน Esperan Rural District, Tabriz County จังหวัด East Azerbaijan ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ Iran
สำหรับ خانه سیاه است อ่านว่า Khaneh siah ast แปลตรงตัว The House is Black มีการนำเสนอในลักษณะความเรียง ‘Essay Film’ ไม่เพียงบันทึกภาพผู้ป่วยโรคเรื้อนที่แสดงอาการต่างๆ แต่ยังนำเสนอวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน แทบไม่แตกต่างจากคนปกติทั่วไป รวมถึงพยายามสอดแทรกเกร็ดสาระความรู้ ให้ผู้ชมเกิดความตระหนักว่าโรคนี้ไม่ได้อันตราย การแพทย์สมัยใหม่ถ้ามีการตรวจพบโดยเร็วย่อมสามารถรักษาหาย และมีโอกาสหวนกลับไปใช้ชีวิตภายนอกนิคมได้อีกครั้ง!
หนังสามารถแบ่งโครงสร้างออกเป็น 4 หัวข้อหลักๆ ซึ่งจะมีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างออกไป
- บททดสอบของพระเจ้า ต่อผู้ป่วยโรคเรื้อน
- ร้อยเรียงภาพผู้ป่วยโรคเรื้อนที่มีลักษณะอาการต่างๆ พร้อมคำอ่านบทสวดขอบคุณพระเจ้าที่ให้กำเนิดชีวิตจากคัมภีร์อัลกุรอาน
- แต่ผมกลับรู้สึกว่าวิธีการนำเสนอนี้ ภาพและเสียงช่างเต็มไปด้วยความขัดย้อนแย้ง ราวกับสะท้อนอคติต่อพระเจ้าของผกก. Farrokhzad ทำไมถึงสร้างให้มนุษย์มีความผิดแผกแตกต่าง ทั้งๆที่ทุกคนควรมีความเสมอภาคเท่าเทียมไม่ใช่หรือ?
- คำอธิบายของหมอ โรคเรื้อนสามารถรักษาหาย
- ร้อยเรียงภาพการตรวจ รักษาอาการ พร้อมเสียงบรรยายของหมอ(ผู้ชาย) อธิบายว่าโรคเรื้อนสามารถรักษาหาย
- นี่ถือเป็นส่วนสาระของหนัง เพื่อให้ผู้ชมเกิดความตระหนักรู้ว่าโรคเรื้อนไม่ได้อันตรายอย่างที่ใครๆเคยเข้าใจกัน
- กิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยโรคเรื้อน ที่แทบไม่แตกต่างจากคนปกติทั่วไป
- พบเห็นพิธีละมาด → รับประทานอาหาร → จากนั้นจะเป็นกิจกรรมยามว่าง อาทิ เย็บปักถักร้อย นั่งนอนเรื่อยเปื่อย เล่นหมากกระดาน สาวๆแต่งหน้าหวีผม เต้นระบำงานแต่ง เด็กๆโยนลูกบอลสนุกสนาน ฯลฯ
- เหล่านี้เพื่อนำเสนอว่าผู้ป่วยโรคเรื้อน ล้วนมีชีวิตไม่ได้แตกต่างจากคนปกติทั่วไป
- ส่วนเสียงบรรยาย คือคำอ่านบทกวีแต่งโดยผกก. Farrokhzad รำพรรณาถึงสิ่งต่างๆบังเกิดขึ้น ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับภาพพบเห็น และมักเปรียบเทียบความเป็นอยู่ของมนุษย์กับภาพธรรมชาติ/สรรพสัตว์นานาสายพันธุ์
- คาบเรียนสุดท้ายที่ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตอบคำถาม?
- ครูให้เด็กๆอ่านหนังสือ ตอบคำถาม และเขียนโยคขึ้นต้นด้วยคำว่าบ้าน The House Is Black
- ให้ลองสังเกตหลายๆคำถามของครู แม้ได้รับคำตอบชวนขบขันจากเด็กๆ แต่กลับท้าทายให้ผู้ชมขบครุ่นคิดได้อย่างทรงพลัง อาทิ
- Why should we thank God for having a father and mother?
- คำตอบ I don’t know, I have neither.
- You name a few beautiful things?
- คำตอบ The moon, the sun, flowers, playtime.
- And you, name a few ugly things?
- คำตอบ Hand, foot, head.
- Why should we thank God for having a father and mother?
ช็อตแรกของหนังถ่ายให้ภาพสะท้อนในกระจก มีหลายองค์ประกอบที่สามารถขบครุ่นคิดวิเคราะห์
- ดวงตาทั้งสองข้างของหญิงสาวป่วยโรคเรื้อน สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์
- แม้ใบหน้าหญิงสาวมีความอัปลักษณ์ แต่ภายในของเธออาจงดงามเหมือนดอกไม้ (ที่ติดอยู่บนกระจก)
- การสวมผ้าคลุมใบหน้าเพื่อปกปิดความอัปลักษณ์ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่หญิงสาวปกติทั่วไปสวมใส่ฮิญาบ มันมีความจำเป็นตรงไหน?
- กาน้ำ แม้ไม่มีควันโพยพุ่ง แต่สามารถสื่อถึงความลุ่มร้อนที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจหญิงสาว/ผู้ป่วยโรคเรื้อน
ในบรรดาผู้ป่วยโรคเรื้อน จะมีชายคนนี้ที่ก็ไม่รู้อาการผิดปกติอะไร พบเห็นเดินวนไปเวียนมา ซ้ำแล้วซ้ำอีก คาดว่าอาจจะมีปัญหาทางจิต ย้ำคิด-ย้ำทำ หรือคือสูญเสียความสามารถในการครุ่นคิดตัดสินใจ ไม่ต่างจากนกในกรงขัง
นี่สามารถสะท้อนโลกทัศน์ของบุคคลผู้อยู่ภายใต้กฎกรอบ ขนบประเพณี วิถีทางสังคม (เหมารวมได้ถึงชาวอิหร่าน) ต่างดำรงชีวิตไปตามครรลอง อย่างที่เคยถูกเสี้ยมสอนสั่ง ไม่สามารถกระทำสิ่งขัดย้อนแย้ง ครุ่นคิดนอกกรอบ ก้าวออกไปจากสถานที่คุมขังแห่งนี้ และได้รับอิสรภาพแห่งชีวิต
แม้ขณะนี้หมอกำลังรักษาอาการป่วย แต่ผมกลับรู้สึกว่าเคลือบแอบแฝงนัยยะการถูกกดทับของสตรี มือทั้งสองข้างไม่สามารถยืดขยาย ขยับเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง หรือคือไร้ซึ่งอิสรภาพในการครุ่นคิดตัดสินใจ
อีกการรักษาที่ผมรู้สึกว่ามีความน่าสนใจก็คือ ผู้ป่วยชายกำลังถีบปั่นจักรยาน สามารถสื่อถึงการย่ำเท้าอยู่กับที่ แต่ด้วยลักษณะหมุนวงกลม แฝงนัยยะเดียวกับผู้ป่วยที่เดินเวียนไปวนมา ไม่สามารถกระทำสิ่งขัดแย้งต่อกฎกรอบ ขนบประเพณี วิถีทางสังคม
ความงดงามดั่งบทกวีของหนัง ส่วนหนึ่งมาจากการสร้าง’สัมผัส’ ระหว่างเสียงอ่านบทกวีของผกก. Farrokhzad สอดคล้องกับภาพพบเห็น ซึ่งบางครั้งจะมีลักษณะประโยคละภาพอย่างทั้งสี่ช็อตที่ผมนำมานี้
สำหรับสรรพสัตว์นานาสายพันธุ์ในหนัง นอกจากแทรกเข้ามาเพื่อสร้างสัมผัสคล้องจองกับบทกวีที่อ่าน บางครั้งยังใช้การเปรียบเทียบตรงๆอย่างสองช็อตนี้ พบเห็นความละม้ายคล้ายคลึงกันไหมเอ่ย? มารดาให้นมบุตร <> สุนัขคาบลูก
แม้ใบหน้าตาอัปลักษณ์ แต่สตรีก็คือสตรี มีความต้องการแต่งหน้าหวีผม แต่งองค์ทรงเครื่องให้สวยๆดูดี แต่วิถีทางสังคมของชาวมุสลิม กลับพยายามปกปิดสิ่งความงดงามเหล่านี้ ด้วยข้ออ้างทำให้บุรุษเกิดความหมกมุ่นทางเพศ จำต้องสวมใส่ฮิญาบ “ผ้าคลุมที่แยกผู้ชายหรือโลกจากพระเจ้า”
แม้หนังนำเสนอเรื่องราวของผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในนิคมโรคเริ้อน (Leaper Colony) แต่เราสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง อาทิ สตรีในอิหร่าน, คนนับถือศาสนาอิสลาม, ประชาชนผู้ยากไร้, ประเทศชาติภายใต้ระบอบราชาธิปไตย หรือแม้แต่โลกปัจจุบันในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ชนชั้นผู้นำพยายามควบคุมครอบงำ ออกกฎระเบียบข้อบังคับโน่นนี่นั่น ล้วนทำให้มนุษย์สูญเสียอิสรภาพ ไม่สามารถก้าวออกไปไหน ต่างอะไรกับนกในกรงขัง
She saw the leper colony as an example or a model of a world imprisoned by its illnesses, difficulties, and poverty. Life in the leper colony is a metaphor for life in general.
Ebrahim Golestan อธิบายความตั้งใจของ Forugh Farrokhzad
เกร็ด: ตลอดระยะเวลา 12 วันที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ยัง Bababaghi Hospice ผกก. Farrokhzad มีความสนิทสนมกับเด็กชายคนหนึ่ง Hossein Mansouri (ตามภาพ) เลยตัดสินใจรับเป็นบุตรบุญธรรม และพามาอาศัยอยู่ที่บ้านของมารดา
เท่าที่อ่านจากชีวประวัติคร่าวๆของผกก. Farrokhzad ได้รับการเลี้ยงดูตามอย่างสตรีในอิหร่าน ถูกจับแต่งงานตอนอายุ 16 เห็นว่าพอหย่าร้างสามี ก็แทบไม่มีโอกาสพบเจอหน้าบุตร ถูกครอบครัวฝ่ายชายเสี้ยมสอนว่ามารดาเป็นผู้หญิงใฝ่ต่ำ สร้างความชอกช้ำระกำใจ เลยออกเดินทางมุ่งสู่ยุโรปพบเจอ ‘cultural shock’ ทำไมสตรีที่นั่นถึงเต็มไปด้วยอิสรภาพในการดำรงชีวิต
เมื่อหวนกลับมาอิหร่าน พบรักกับ Ebrahim Golestan ทำให้เรียนรู้ที่จะแสดงความรู้สึกผ่านบทกวี รวมถึงหนังสั้นเรื่องนี้ถือเป็นครั้งแรกแห่งวงการภาพยนตร์อิหร่าน ผู้สร้างได้ถ่ายทอดความเป็นศิลปิน ‘autuer’ นำเสนอคำอธิษฐาน เรียกร้องขอความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยโรคเรื้อน ยังรวมถึงสิทธิสตรี และอิสรภาพของประชาชนในประเทศแห่งนี้!
My wish is for the freedom of Iranian women and equal rights for them with men… I am fully aware of the sufferings that my sisters suffer in this country due to men’s injustice, and I use half of my art to visualize their pains and sufferings. My wish is to create a favorable environment for women’s scientific, artistic and social activities.
Forugh Farrokhzad
น่าเสียดายที่ Farrokhzad อายุสั้นไปสักหน่อย ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ว่ากันว่าขณะกำลังหักหลบรถโรงเรียนจนเสียหลัก ร่างของเธอกระเด็นออกมานอกรถ ศีรษะพุ่งชนขอบทางถนน เสียชีวิตในอ้อมอกของ Golestan ก่อนไปถึงโรงพยาบาล สิริอายุเพียง 32 ปี!
เพราะความเป็นผู้หญิง ทำให้หลายๆผลงานเขียนของ Farrokhzad ถูกแบนในอิหร่านภายหลัง Post-revolutionary (เริ่มนับตั้งแต่ทศวรรษ 80s) แต่ชื่อเสียงของเธอได้กลายเป็นตำนานลือเล่าขาน มารดาทูนหัวแห่งวงการภาพยนตร์อิหร่าน
The House Is Black (1963) เข้าฉายยังเทศกาลหนังสั้น International Short Film Festival Oberhausen (ในอดีตชื่อว่า West German Educational Film Festival คือเทศกาลหนังสั้นเก่าแก่ที่สุดในโลก!) สามารถคว้ารางวัล Grand Prize: Best Documentary Film ทำให้กลายเป็นภาพยนตร์สัญชาติอิหร่านเรื่องแรกๆที่ประสบความสำเร็จระดับนานาชาติ เลยได้รับการยกย่องคลื่นลูกใหม่ “Iranian New Wave”
แต่กว่าหนังจะเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ก็ช่วงปลายทศวรรษ 90s เมื่อมีการนำออกฉายใหม่ Re-Release ตามเทศกาลหนังหลายๆประเทศ ผลลัพท์ทำให้ได้รับการโหวตติดอันดับชาร์ทภาพยนตร์
- Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ 235 (ร่วม)
- เทศกาลหนังเมือง Busan: Asian Cinema 100 Ranking 2015 ติดอันดับ 52
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะแล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2019 คุณภาพ 4K เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนัง Venice Classics ไม่แน่ใจว่ามีจัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray แล้วหรือยัง แต่สามารถหารับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel
ระหว่างรับชมผมมีความประทับใจในลีลาตัดต่องดงามดั่งบทกวี ทั้งยังแฝงข้อคิดเกี่ยวกับการต่อสู้ชีวิต แค่นั้นละครับ … จนกระทั่งพอหาอ่านบทความวิจารณ์ต่างประเทศ พยายามสะท้อนเรื่องราวกับสิ่งต่างๆในปัจจุบัน รวมถึงยุคสมัยโรคระบาดโควิดที่เพิ่งพานผ่านมา เลยทำให้ตระหนักว่าเนื้อหาสาระของหนังมีความยิ่งใหญ่ มาสเตอร์พีซ เหนือกาลเวลา
นี่เป็นหนังที่เหมาะแก้การให้ความรู้ สำหรับนักเรียน/นักศึกษา แพทย์/พยาบาล เพื่อเปิดโลกทัศน์ถึงผู้ป่วยโรคเรื้อน ปัจจุบันไม่ใช่โรคอันตราย สามารถรักษาหาย โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อพวกเขาให้เหมือนมนุษย์คนหนึ่ง ฝึกเอาชนะความหวาดกลัว เอาใจเขามาใส่ใจ
จัดเรต 15+ กับภาพความอัปลักษณ์ พิกลพิการ นิคมโรคเรื้อน ไม่ใช่ทุกคนจะอดรนทนไหว
Leave a Reply