The Housemaid

The Housemaid (1960) Korean : Kim Ki-young ♥♥♥♥

(29/8/2020) ครอบครัวชนชั้นกลาง (Middle Class) ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสาว อาศัยอยู่อย่างสงบสันติสุขในบ้านสองชั้นเล็กๆ จนกระทั่งการมาถึงของหญิงรับใช้ที่สนใจเพียงเสพสวาทร่านราคะ เมื่อสมประสมอารมณ์หมายก็ได้เวลาทำลายทุกสิ่งอย่าง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

“I can safely say [The Housemaid] is quite unlike anything I have ever seen”.

Martin Scorsese

The Housemaid เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่ได้รับการบูรณะโดย World Cinema Project ของ Martin Scorsese ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2007 มีจุดประสงค์คืนสภาพฟีล์มหนังเก่าๆที่คุู่ควรค่าให้คงอยู่สืบไป (กลายเป็น DVD/Blu-ray โดย Criterion Collection)

แต่กระแสของ The Housemaid เพิ่งมาโด่งดังระดับนานาชาติอย่างแท้จริง (และเป็นที่รู้จักแพร่หลายในเมืองไทย) จากบทสัมภาษณ์ผู้กำกับ Bong Joon-ho ว่าคือหนึ่งในแรงบันดาลใจสรรค์สร้าง Parasite (2019) และเป็นหนังเรื่องโปรดของพี่แกด้วยนะ!

รับชม The Housemaid (1960) เมื่อหลายปีก่อนบอกเลยว่าผมไม่ชอบหนังอย่างรุนแรง เพราะเรื่องราวโคตรน้ำเน่า เหม็นฉาวโฉ่ แม้คุณภาพจะเอ่อล้น การแสดงสุดเข้มข้น ได้รับการยกย่องหนึ่งในภาพยนตร์สัญชาติเกาหลี(ใต้)ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุด ก็มิอาจปลงใจให้ลุ่มหลงใหลในความโฉดชั่วร้ายของตัวละคร

แต่หวนกลับมารับชมครานี้บอกเลยว่าเกิดความอึ่งทึ่ง ตกตะลึง คาดไม่ถึง อคติเคยมีเจือจางหายไปหมดสิ้น พบเห็นความงดงามทรงคุณค่าระดับ Masterpiece แถมยังแฝงข้อคิดคติสอนใจ (ทั้งชาย-หญิง) สมความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ คลาสสิกระดับตำนาน!


ก่อนอื่นคงต้องพูดถึงประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ช่วงปี ค.ศ. 1960 สักเล็กน้อย, ในปีนี้มีเหตุการณ์สำคัญคือ April Revolution การปฏิวัติโค่นล้มอำนาจ ปธน. Syngman Rhee ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 1948 (ตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากญี่ปุ่น และแบ่งแยกเกาหลีเหนือ-ใต้) มีการขุดคุ้ยพบเจอความคอรัปชั่นมากมาย ใช้ความรุนแรงกำจัดผู้คิดเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งชัยชนะเลือกตั้งครั้งที่สามก็เต็มไปด้วยข้อกังขา แถมเข้ามาแล้วพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญให้(ตนเอง)สามารถดำรงตำแหน่งมากกว่าข้อจำกัดสามสมัย ซึ่งเมื่อนักศึกษา/กรรมกรแรงงานเริ่มออกเดินประท้วงวันที่ 11 เมษายน ณ Masan มีผู้ถูกตำรวจทำร้ายร่างกายเสียชีวิต 186 คน จนกระทั่งวันที่ 26 เมษายน ปธน. Rhee ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้วอพยพลี้ภัยสู่สหรัฐอเมริกา ได้ผู้นำคนใหม่ ปธน. Yun Posun

เกร็ด: ปธน. Yun Posun ดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 ปี ก็ถูกรัฐประหารโดยกองทัพ นำโดยนายพล Park Chung-hee ยึดครองอำนาจเผด็จการทหารยาวนานถึง 17 ปี!

ช่วงระยะเวลาสั้นๆระหว่าง Second Republic of South Korea (1960-61) ถือเป็นอิสรภาพอย่างแท้จริงของศิลปิน/ผู้สร้างภาพยนตร์ เพราะรัฐบาลของ ปธน. Yun Posun ได้ผ่อนปรนความเข้มงวดกวดขัน ประชาชนสามารถวิพากย์วิจารณ์สังคม/การเมืองอย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งสำหรับวงการภาพยนตร์ได้ถือกำเนิดสองผลงานยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ระดับตำนานของเกาหลีใต้คือ The Housemaid (1960) และ Aimless Bullet (1961)

Kim Ki-young (1919 – 1998) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่กรุง Seoul แล้วไปเติบโตที่ Pyongyang ตั้งแต่เด็กมีความสามารถด้านการเขียน ดนตรี และวาดรูป เพ้อฝันอยากเป็นหมอฟันแต่สอบไม่ผ่าน เลยเดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่น (เพื่อเก็บเงินหาทางเรียนต่อ) ระหว่างนั้นใช้เวลาว่างรับชมภาพยนตร์ ละครเวที จนเกิดความลุ่มหลงใหล เมื่อกลับมาเกาหลีสามารถเข้าเรียนต่อ Seoul Medical School จบออกมาทำงานผู้ช่วยหมอ Seoul University Medical Clinic แต่ความสนใจกลับแปรเปลี่ยนสู่ภาพยนตร์อย่างเต็มตัว ได้งานเป็นนักเขียนข่าว Newsreel สรรค์สร้างสารคดีชวนเชื่อในช่วง Korean War (1950-53) กระทั่งกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Box of Death (1955) รับอิทธิพลจาก Italian Neorealism น่าเสียดายฟีล์มสูญหายไปแล้ว

ความสนใจของ Kim Ki-young เริ่มจาก Neorealism ก่อนผันแปรสู่ Melodrama ที่มีความเข้มข้นทางจิตวิทยา มักเกี่ยวกับสตรีเพศ (Femme Fatale) สำรวจความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ผลกระทบสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ใช้ภาษาภาพยนตร์สร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก (Thriller) จนหลายครั้งเกินเลยเถิดไปจนเกิดความหลอกหลอน (Horror)

สำหรับ Hanyeo หรือ The Housemaid ได้แรงบันดาลใจจากบทความในหนังสือพิมพ์ ‘Housemaid suicided because of her pregnancy by his master’ ซึ่งผู้กำกับ Kim Ki-young แทรกใส่ฉากตัวละครอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเป็นอารัมบท-ปัจฉิมบท นำเข้าสู่เรื่องราวและทิ้งท้ายด้วยข้อคิดเตือนสติผู้ชม

ครอบครัว Kim ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูกชาย และลูกสาว เพิ่งซื้อบ้านสองชั้นหลังเล็กๆ กำลังรอคอยจะย้ายเข้าไปอยู่อาศัย, พ่อ/สามี Kim Dong-sik (รับบทโดย Kim Jin-kyu) เป็นครูสอนดนตรียังโรงงานแห่งหนึ่ง มีโอกาสสอนเปียโนตัวต่อตัวกับพนักงานสาว Cho Kyung-hee (รับบทโดย Um Aing-ran) แต่เมื่อภรรยา Mrs. Kim (รับบทโดย Ju Jeung-ryu) ตั้งครรภ์บุตรคนที่สาม เรียกร้องหาสาวใช้มาช่วยทำงานบ้าน Kyung-hee เลยได้แนะนำ Myung-sook (รับบทโดย Lee Eun-shim) เพื่อนสาวโรงงานที่แม้ไม่ค่อยเฉลียวฉลาด แต่ก็สามารถทำตามคำสั่งได้ทุกสิ่งอย่าง

เหตุการณ์วุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อสาวใช้ Myung-sook สบโอกาสพบเห็นการกระทำบางอย่างของ Dong-sik เลยพยายาม Blackmail ด้วยข้อแลกเปลี่ยนร่วมรักหลับนอน ยินยอมด้วยอารมณ์ชั่ววูบทำให้เธอแพ้ท้องตั้งครรภ์ เขาเลยจำต้องพูดบอกความจริงต่อภรรยา แก้ปัญหาด้วยการร่ำร้องขอให้ Myung-sook ทำแท้งตกบันได สร้างความโกรธเกลียดเคียดแค้น ครุ่นคิดวางแผนเอาคืนอย่างสาสม


Kim Jin-kyu (1922 – 1998) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Seocheon, Chungcheongnam-do แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Piagol (1955), กลายเป็นตำนานกับ The Housemaid (1960), To the Last Day (1960), Aimless Bullet (1961), The Houseguest and My Mother (1961) ฯ

รับบทพ่อ/สามี Kim Dong-sik ครูสอนดนตรีที่มีความเผด็จการเล็กๆในครอบครัว รักภรรยามากๆไม่เคยคิดนอกใจ แต่ครั้งหนึ่งเมื่ออารมณ์ชั่ววูบมันพาไป ทำให้ชีวิตที่เหลือราวกับตกลงสู่ขุมนรก ไม่สามารถครุ่นคิดหาหนทางแก้ปัญหา จำต้องยินยอมเสียสละเรือนร่างกายไม่ใช่ของตนเองสืบต่อไป

ครูสอนดนตรี ถือเป็นอาชีพของชนชั้นกลางระดับสูง (Upper-Middle-class) ต้องใช้ทักษะความสามารถส่วนบุคคล ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นได้ และต้องมีเงินปริมาณหนึ่งถึงร่ำเรียนฝึกฝนจนพอมีประสบการณ์ และสามารถให้คำแนะนำคำสอนผู้อื่น

แต่ครอบครัว Kim เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางระดับล่าง (อาศัยหลับนอนอยู่ชั้นล่าง) ต้องการไต่เต้าสู่ชนชั้นกลางระดับสูง (ห้องดนตรีอยู่ชั้นบน) ซึ่งความแตกต่างของสองระดับชั้น คือปริมาณเงินทอง สิ่งอำนวยความสุขสบายในชีวิต ซึ่งขณะนั้นตัวละครแม้ไม่ถึงกับอดอยากปากแห้งแต่ก็ใช่ว่าร่ำรวยฟู่ฟ่า กำลังค่อยๆเก็บสะสมเงินทอง ซื้อสิ่งข้าวของทีละชิ้น เลยยังต้องรับงานสอนดนตรีเพื่อแบ่งเบาภาระการเงิน

สีหน้าอารมณ์ของ Kim Jin-kyn แรกเริ่มต้นดูเบื่อหน่าย เฉื่อยชา อ่อนล้า ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา น้ำเสียงพูดกดทุ้มต่ำ เหมือนคนไม่ค่อยยี่หร่าอะไรสักเท่าไหร่ เพียงเฉพาะขณะอยู่เคียงชิดใกล้ภรรยาถึงพบเห็นรอยยิ้ม ความอิ่มอุ่น ร่านราคะ, ด้วยวัยกลางคนยังถือว่ามีความคึกคะนอง มิอาจอดรนทนต่อเรือนร่างกาย/ความยั่วยวนของหญิงสาวนงเยาว์ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้จิตใจจมปลักอยู่กับความเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน แสดงอาการแข็งค้างเมื่อถูกอสรพิษลูบไล้ หมดสิ้นมาดลูกผู้ชาย ภายในเต็มไปด้วยความรังเกียจขยะแขยง สีหน้าของ Jin-kyn ทั้งน่าสงสารเห็นใจและน่าสมเพศเวทนา

ผมเพิ่งมีโอกาสรับชมอีกผลงานของ Jin-kyn เรื่อง Aimless Bullet (1961) รับบทพี่ชายผู้แบกทั้งครอบครัวไว้บนบ่า ทั้งเรื่องแสดงสีหน้าเหน็ดเหนื่อยหน่าย ท้อแท้หมดสิ้นหวัง ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงบทบาทใน The Housemaid (1960) ซึ่งดูแล้วมีแนวโน้มสูงมากๆที่พี่แกจะกลายเป็น ‘typecast’ ตัวละครสะท้อนสภาพชนชาวเกาหลียุคสมัยนั้น กำลังทนทุกข์ทรมานจากสถานการณ์การเมืองไม่มั่นคง


Ju Jeung-ryu (1926 – 1980) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Yonghung, Hamkyongnam-do (ปัจจุบันคือประเทศเกาหลีเหนือ) ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบด้านการแสดง พออายุ 18 หลบหนีออกจากบ้านเข้าร่วมคณะ Gohyeop และพออายุ 23 เปลี่ยนมาสู่วงการภาพยนตร์ มีผลงานกว่า 400 เรื่อง อาทิ A Romantic Papa (1960), The Housemaid (1960), Full Ship (1967), Flames in the Valley (1967) ฯ

รับบทแม่/ภรรยา Mrs. Kim ตกหลุมรักสามีตั้งแต่สมัยยังร่ำเรียนหนังสือ พอแต่งงานก็ตั้งใจอุทิศชีวิตทุกสิ่งอย่างให้ แถมไม่พยายามเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียว ต้องการช่วยเหลือหาเงินทำงานตัดเย็บเสื้อผ้า พอร่างกายเริ่มอ่อนล้าระหว่างตั้งครรภ์บุตรคนที่สาม เรียกร้องขอสามีให้หาสาวรับใช้มาช่วยงาน แต่นั่นเป็นการชักศึกเข้าบ้าน นำมาซึ่งหายนะโดยไม่รับรู้ตัว

ตัวละคร Mrs. Kim เป็นคนเดียวในหนังที่พบเห็นสวมใส่ชุดประจำชาติฮันบก (Hanbok) สื่อถึงการเป็นคนคร่ำครึ หัวโบราณ ยึดถือมั่นในรูปแบบวิถี ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม กล่าวคือ ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้าน ช้างเท้าหลัง คอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนสามี เลี้ยงดูแลลูกๆ และปรนเปรอปรนิบัติบนเตียงตามความสมควร

แต่ตัวจริงของ Mrs. Kim กลับมีความต้องการมากมาย อยากได้โน่นนั่นไม่รู้จักเพียงพอดี ทำให้เมื่อสามีสารภาพปัญหา เธอจึงหาญกล้าลุกขึ้นมาแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้สถานะครอบครัวยังสามรถธำรงอยู่ แต่เมื่อทุกสิ่งอย่างล่วงเกินเลยเถิดไปไกล ความเพ้อฝันล่มสลาย จิตใจค่อยๆเตลิดเปิดเปิง ลุกขึ้นมาตัดเย็บเสื้อผ้า มัวทำบ้าอะไรอยู่ก็ไม่รู้เหมือนกัน (ประมาณว่าเสียสติแตกไปแล้ว)

การแสดงของ Jeung-ryu พยายามแสดงออกอย่างเข้มแข็ง ขัดย้อนแย้งกับร่างกายที่มีความอ่อนแอ ส่วนหนึ่งอาจเพราะทารกน้อยในครรภ์ ขณะเดียวกันคือความเหน็ดเหนื่อยจากการทุ่มเททำงานหักโหมเกินไป ไม่รู้จักเพียงพอดี เพื่อให้ได้เงินทองมาตอบสนองความสุขทางกาย แต่ถ้าสุดท้ายต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่าง บ้านทั้งหลังสร้างมาจะคุณค่าอะไร


Lee Eun-shim (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี 1959 ก่อนหน้า The Housemaid มีผลงานมาแล้ว 2 เรื่อง เข้าตาผู้กำกับ Kim Ki-young เคยพยายามคัดเลือกมาแสดง First Snow (1958) แต่เจ้าตัวครุ่นคิดว่ายังไม่พร้อมเท่าไหร่ กระทั่งภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถแจ้งเกิดโด่งดัง แต่กลับไม่ใครอยากเลือกเธอมาแสดงหนังอีก ออกจากวงการปี 1963 แต่งงานผู้กำกับ Lee Seong Gu แล้วอพยพย้ายไปอยู่ประเทศ Brazil

รับบทสาวใช้ Myung-sook ใบหน้ากลมๆดูเหมือนใสซื่อ แต่กลับเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมคมใน จิตใจโฉดชั่วดั่งอสรพิษร้าย สนเพียงความสุขทางกาย สนองตัณหาราคะ พึงพอใจส่วนตน ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ Kim Dong-sik ใช้มารยานงเยาว์ ลวงล่อ Blackmail ซึ่งหลังจากท้องแล้วแท้งสามารถถือไพ่เหนือกว่า วางแผนบ่อนทำลายล้างครอบครัว Kim จนหมดสูญสิ้นเกือบไม่หลงเหลืออะไร

Kim Dong-sik พยายามออกคำสั่งไม่ให้ Myung-sook จับสัมผัสเล่นเปียโน นั่นคือพฤติกรรมดูถูกเหยียดหยาม (Racism) พยายามแบ่งแยกชนชั้นฐานะ (กลาง-ล่าง) แต่เธอหาใคร่สนใจเสียทีไหน เมื่อสบโอกาสทุบกระแทกมันเข้าไป สร้างเสียงแห่งนรกเพรียกเรียกหา อกสั่นขวัญผวาทุกคราที่ได้ยิน

ผู้กำกับ Bong Joon-hoo ให้นิยามตัวละครนี้ว่า ‘สัตว์ประหลาด’ กระทำสิ่งต่างๆด้วยสันชาติญาณ ความต้องการ ตัณหาราคะ ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ไม่ถูกต้อนให้จนมุม (แต่สามารถต้อนผู้อื่นให้อับจนปัญญา) เก่งในการปั้นสีหน้า เล่นละครตบตา วินาทีหนึ่งร่ำร้องไห้ หันกลับมากระหยิ่มยิ้มเยาะอย่างภาคภูมิใจ ช่างไม่ต่างกับอสรพิษร้าย ฉกกัดได้แม้ผู้มีพระคุณ เคยมีผู้ชมตะโกนขึ้นในโรงหนัง ‘Kill the bitch!’ นั่นทำให้ Lee Eun-shim ไม่สามารถแสดงบทบาทอื่นได้อีกต่อไป

ตัวละครนี้ทำให้ผมหวนระลึกถึง Norman Bates (แสดงโดย Anthony Perkins) จาก Psycho (1960) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock ซึ่งมีความละม้ายคล้ายคลึงกันหลายๆอย่าง คดีฆาตกรรมอำพราง บ้านสองชั้น ผู้ร้ายมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจ แถมโชคชะตานักแสดงทั้งสองก็แทบหมดอนาคตต่อวงการภาพยนตร์เหมือนกัน


Um Aing-ran (เกิดปี 1936) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Seoul เมื่อเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี 1959 ได้รับฉายา ‘a cheerful female college student’ มีผลงานกว่า 190 เรื่อง อาทิ The Housemaid (1960), The Beautiful Eyes (1965) ฯ

รับบท Cho Kyung-hee สาวโรงงานผู้ตกหลุมรัก Kim Dong-sik แรกเริ่มวางแผนให้เพื่อนสนิทเขียนจดหมายส่งแทน แต่กลับถูกตีตอกกลับแบบไร้เยื่อใย พอเขาเปิดสอนเปียโน ใช้โอกาสดังกล่าวตีสนิทชิดใกล้ และเป็นผู้แนะนำสาวใช้ Myung-sook ให้มาทำงานบ้านครอบครัว Kim

ความสนใจของ Kyung-hee ไม่ต่างอะไรจาก Myung-sook ตกหลุมรัก/ต้องการครอบครองเรือนร่างกาย Kim Dong-sik ครุ่นคิดวางแผน พยายามใช้เล่ห์มารยาเสน่ห์ แต่จิตใจยังมีความเมตตาอยู่บ้าง (ทุกครั้งมาที่บ้านจะมีขนมมาซื้อใจเด็กๆ) นั่นทำให้เธอเป็นเพียงตัวแทนบุคคลนอก ไม่สามารถสร้างความแตกแยกให้ครอบครัว Kim และถูกทรยศหักหลังโดย Myung-sook ถูกทิ่มแทงจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

นี่เป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจผิด ‘misdirection’ เพราะเธอคือหญิงสาวคนแรกที่ได้รับการแนะนำตั้งแต่แรก แต่กลับไม่ใช่ตัวร้ายหรือบุคคลสำคัญใดๆ เมื่อเกิดความขัดแย้งกับ Dong-sik ก็สูญหายตัวไปเกือบครึ่งเรื่อง หวนกลับมาอีกครั้งกลายเป็นคนนอก หมดเสียสิ้นโอกาสไปแล้ว

โดยปกติแล้ว Un Aing-ran มักรับบทนางเอก ผู้มีรอยยิ้มร่าเริง เบิกบาน โลกสวยสดใส แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้รับบทเกือบๆตัวร้าย เห็นว่าครั้งแรกครั้งเดียวในชีวิตเลยนะ! แต่ถึงตัวละครจะวางแผนครุ่นคิดการร้ายๆ แต่อย่างที่บอกไปจิตใจยังพอมีความเมตตาอยู่บ้าง ผู้ชมเลยอาจรู้สึกสงสารเห็นใจ ไม่รู้เธอจะเป็นอย่างไรหลังจากถูกทิ่มแทงทำร้ายร่างกาย


Ahn Sung-ki (เกิดปี 1952) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่กรุง Seoul เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1957 กระทั่งแจ้งเกิดโด่งดังกับ The Housemaid (1960) เลยตัดสินใจเอาดีด้านการแสดง จนถึงปัจจุบันมีผลงานกว่า 130 เรื่อง

รับบทบุตรชาย Kim Chang-soon เป็นเด็กเกเร นิสัยเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ ชอบกลั่นแกล้งล้อเลียนพี่สาว แม้ยังต้องก้มหัวทำตามคำสั่งพ่อ แต่หน้าไหว้หลังหลอก กลับกลอกปอกลอก หาความจริงใจไม่ได้สักนิก

ตัวละครเด็กมักใช้เป็นสัญลักษณ์คนรุ่นใหม่(ของประเทศเกาหลี) ซึ่งพฤติกรรมการแสดงออกของ Chang-soon สะท้อนผลกระทบทางจิตใจจากสภาพแวดล้อม สังคม ระบอบการปกครอง ซึ่งพ่อผู้มีความเผด็จการ สามารถเทียบแทนด้วย ปธน. Syngman Rhee ผู้มีความคอรัปชั่นซ่อนเร้นอยู่ภายใน

การเสียชีวิตของ Chang-soon สะท้อนถึงจุดจบ อนาคตคนรุ่นใหม่ ที่จักถูกลวงล่อหลอกแล้วพลัดตกบันไดลงมาสิ้นใจตาย เป็นหายนะที่แม้เกิดจากตนเอง แต่ล้วนเป็นผลกระทบจากผู้คนรอบข้อง สังคม และประเทศชาติ

การแสดงของ Sung-ki มีความน่าหมั่นไส้ ยียวนกวนประสาทได้ใจ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นคำแนะนำของผู้กำกับ หาใช่ตัวตนแท้จริง หรือถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกจากภายในออกมา เพราะเด็กวัยประมาณนี้ น่าจะยังไม่รับรู้ตัวด้วยซ้ำว่าทำอะไรไป


Lee Yoo-ri รับบทบุตรสาว Kim Ae-soon เป็นคนมีร่างกายอ่อนแอ (เหมือนแม่) นิสัยหวาดระแวง เวลาเดินต้องใช้ไม้เท้าค้ำยัน เลยมักถูกกลั่นแกล้งโดยน้องชาย พยายามแสดงออกความเข้มแข็ง ลอกเลียนแบบพฤติกรรมแม่ ลักขโมย วางยา ครุ่นคิดแผนเข่นฆาตกรรม Myung-sook แต่ก็ประสบความล้มเหลวจนถูกยัดเยียดอาหารเข้าปาก ไม่สามารถอะไรสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันได้สักอย่าง

เช่นกันกับตัวละคร Chang-soon เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่(ของประเทศเกาหลี) สะท้อนผลกระทบทางกาย จากการใช้ความรุนแรงต่อผู้ครุ่นคิดเห็นต่างทางการเมืองของ ปธน. Syngman Rhee ทำให้มีผู้บาดเจ็บ พิกลพิการ ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก

เพราะร่างกายไม่สมประกอบ จึงมิอาจให้การช่วยเหลือแบ่งเบาภาระครอบครัว จะขึ้นๆลงๆบันไดยังยากลำบาก แต่เธอก็ยังใช้ความพยายามของตนเองอย่างสุดความสามารถ … นี่เป็นตัวละครเดียวที่แทบไม่เคยทำอะไรชั่วร้าย (เคยจะทำแต่ไม่สำเร็จ) แถมยังถูกกลั่นแกล้งสารพัดเพ ช่างมีความน่าสงสารเห็นใจอย่างที่สุด

น่าเสียดายที่ Lee Yoo-ri หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ห่างหายออกจากวงการไปเลย ไม่มีรายละเอียดข่าวคราวใดๆ เป็นตายร้ายดีไม่มีใคทราบได้


ถ่ายภาพโดย Kim Deok-jin, โดดเด่นด้านการเคลื่อนเลื่อนกล้อง มุมก้ม-เงย ระยะใกล้-ไกล ที่ล้วนสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตวิทยาตัวละคร แต่ให้ข้อสังเกตส่วนใหญ่จะพบเห็นแค่แนวนอน (X) และแนวลึก (Z) ไม่ค่อยมีแนวตั้ง (Y) ขึ้น-ลงระหว่างชั้นหนึ่ง-สอง

หนังก่อสร้างฉากเกือบทั้งหมดในสตูดิโอ เกินกว่า 95% ถ่ายทำภายในบ้านหลังเล็กๆสองชั้นสไตล์ยุโรป (ถ้าเป็นสไตล์เกาหลีจะแค่ชั้นเดียว) ซึ่งสามารถเปรียบเทียบเชิงมหภาคได้กับประเทศเกาหลีใต้ยุคสมัยนั้น

เกมเล่นเชือก หรือเล่นพันด้าย ระหว่างพี่สาวกับน้องชาย วิธีการคือสลับผลัดกันหาตำแหน่งที่สามารถคงรูปเชือกโยงใยไว้ได้ นัยยะสื่อถึงการตอบโต้ของหญิง-ชาย ชนชั้นกลาง-ล่าง Kim Dong-sik และสาวใช้ Myung-sook ทำการหักเหลี่ยมเฉือนคม สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตน รุกร่ำอธิปไตยของอีกฝั่งฝ่าย

โรงงานถักทอเสื้อผ้า สังเกตว่าเชือก/ด้าย เป็นสิ่งสัญลักษณ์ที่ต่อเนื่องจากการละเล่นของเด็กๆ แปรสภาพกลายมาเป็นกลเกมของผู้ใหญ่ สาวๆเหล่านี้พยายามถักทอ จักรสานความรู้สึกให้เป็นรูปร่าง แล้วนำไปสวมใส่ร่างกายของบุคคลที่ตนโหยหา ต้องการ ตกหลุมรักใคร่

ผมมีความพิศวงกับการออกแบบห้องสอนดนตรีนี้อย่างมาก โดยเฉพาะลักษณะผนังกำแพงและบานกระจก มีความเป็นนามธรรม (Abstract) เส้นตรงๆ รูปทรงเหลี่ยม ไร้รูปร่างที่สามารถจับต้องได้ ซึ่งน่าจะแฝงนัยยะถึงความตรงไปตรงมา (ของครูสอนดนตรี) พยายามธำรงอยู่ในกฎระเบียบแบบแผน (ปฏิเสธจดหมายรัก) แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย (ลวดลายกระจกดูสับสนปนเป)

บ้านหลังใหม่ของครอบครัว Kim แรกเริ่มต้นยังไม่เสร็จเลยเต็มไปด้วยความรกรุงรัง สามารถสะท้อนช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของประเทศเกาหลีใต้ Syngman Rhee ลาออกจากตำแหน่ง Yun Posun นำพาประเทศเข้าสู่ Second Republic of South Korea

ความเห็นแก่ตัวแรกของเด็กชาย Chang-soon เมื่อได้ขนมจาก Cho Kyung-hee แอบมากินคนเดียวตรงบันได (แบบนี้เรียกกินไม่แบ่ง แสดงถึงความเห็นแก่ตัว สนเพียงกอบโหยผลประโยชน์ส่วน) เมื่อพี่สาว Seon-young เข้ามาแก่งแย่ง เลยถูกกลั่นแกล้งให้ต้องเดินขึ้นบันไดอย่างยากลำบาก

Chang-soon เลยถูกบิดาลงโทษให้ยืนยกมือ (ท่าสดุดี Adolf Hitler) แต่ก็ยังสามารถเอ่ยปากพูดลวงหลอกพี่สาวให้ตื่นตกใจ พลัดตกบันได โชคยังดีไม่เป็นอะไร … คำพูด/การกระทำดังกล่าวของเด็กชาย ชักนำพาให้เขาพบเจอจุดจบในลักษณะเดียวกัน (กล่าวคือ ถูกคำพูดลวงหลอกของ Myung-sook เกิดอาการตื่นตกใจ แล้วพลัดตกบันได)

เชื่อว่าหลายคนน่าจะไม่ทันสังเกตแน่ นี่เป็นฉากปรากฎตัวครั้งแรกของ Myung-sook แต่พบเห็นเพียงด้านหลัง กำลังถูกพื้นโรงงาน เดินสวนทางกับ Kim Dong-sik

บ้านของครอบครัว Kim มีทั้งหมดสองชั้น ผนังกำแพงตกแต่งด้วยลวดลายที่แลดูคล้ายเส้นเลือด/เส้นประสาท คงต้องการสื่อนัยยะของสถานที่แห่งนี้ เทียบแทนด้วยภายในจิตใจของมนุษย์

  • ชั้นแรกประกอบด้วยห้องนอน, ห้องนั่งเล่น (มีโทรทัศน์ และเครื่องจักรเย็บผ้า) และห้องครัว โดยกึ่งกลางบ้านมีประตูทางเข้าและบันได
  • ชั้นสองมีห้องเปียโน (หรูสุดในบ้าน), ห้องนอนคนรับใช้ และระเบียงนอกบ้านที่เชื่อมต่อระหว่างทั้งสองห้อง

หนูในตู้เก็บของ เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย (ภายในจิตใจ) มีความน่ารังเกียจขยะแขยง จำต้องถูกกำจัด วางยาเข่นฆาตกรรมให้ตายจากไป … ซึ่งหนูในหนังมีทั้งหมด 3 ตัว

  • สองตัวแรกน่าจะตัวผู้-เมีย หนึ่งถูกทุบตาย อีกตัวถูกวางยาในอาหาร สามารถเทียบแทนด้วยสองการตายของ
    • ทารกในครรภ์(ของ Myung-sook) กับเด็กชาย Chang-soon
    • และการฆ่าตัวตายคู่ของ Myung-sook กับ Dong-sik
  • อีกตัวคือกระรอก (Squirrel) ที่พ่อซื้อมาเป็นของขวัญให้ Ae-soon เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้เธอมีความเข้มแข็งแรง สามารถก้าวเดินด้วยลำแข้งของตนเอง แต่วินาทีแรกที่เด็กหญิงพบเห็นกลับเข้าใจผิดคิดว่าเป็นหนู แถมน่าจะถูกวางยาฆ่าตายด้วยฝีมือของ Myung-sook อีกเช่นกัน (กระรอก ถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์แทนด้วย Ae-soon ซึ่งความตายของมันสามารถสะท้อนสภาวะทางจิตใจของเด็กหญิง ทำให้หมดสิ้นเรี่ยวแรงกำลังจะลุกขึ้นเดินอีกต่อไป)

เท่าที่สังเกตเห็น ผมคิดว่าน่าจะใช้หนูจริงๆในการเข้าฉาก แต่มีการวางยาฆ่าหนูหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดจินตนาการ ซึ่งฉากชักกระตุกนั้น มันชวนสะดุ้งน่าดู แค่เสี้ยววินาทีครุ่นคิดว่าตายจริง ก็สร้างความหลอกหลอนสั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจได้แล้ว!

ฉากพบเห็นหน้าคาดตาครั้งแรกของ Myung-sook หลบซ่อนตัวอยู่ภายในตู้เสื้อผ้า ณ ห้องของ Cho Kyung-hee กำลังสูบบุหรี่ควันฉุย (แปลกที่ไม่ถูกรมควัน) นัยยะของการช่วยเหลือตนเอง

นัยยะ ‘ตู้เสื้อผ้า’ ในบริบทของหนังเรื่องนี้ มีความแตกต่างจากที่ใครๆหลายคนเคยครุ่นคิดเข้าใจ (บริบททั่วไปคือการปกปิดตัวตน ความเป็นเกย์ LGBT) เพราะก่อนหน้านี้มีฉากหนูในตู้เก็บของ ซึ่งเราสามารถสร้างนิยามเฉพาะว่า หญิงสาว=หนู ต่างเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย มีความน่ารังเกียจขยะแขยง สมควรเข่นฆาตกรรมให้ตกตาย

อีกหนึ่งความคอรัปชั่นของเด็กชาย แอบหยิบกินอาหารในจานแม่, ฉากนี้อาจดูน่ารักน่าชัง ใสซื่อบริสุทธิ์ คนเป็นพ่อ-แม่ ย่อมไม่คิดกล่าวโทษความผิดใดๆ แต่เราสามารถมองเปรียบเทียบระดับมหภาค สะท้อนถึงค่านายหน้า คอมมิชชั่น (โกง)กินส่วนแบ่ง นี่เป็นสิ่งที่ใครๆสมัยนี้ยินยอมรับได้กันหรือเปล่า??

บนชั้นสองของบ้าน พบเห็นบ่อยครั้งกับการที่ Myung-sook แอบเดินย่องไปหา Dong-sik ยังห้องดนตรี ซึ่งกล้องจะถ่ายจากด้านนอก เคลื่อนเลื่อนติดตามแนวนอน (แกน X) แสดงให้เห็นถึงความ ‘เสือก’ สนใจในเรื่องชาวบ้านของคนชนชั้นล่าง เมื่อสามารถเข้ามาอยู่อาศัยในระดับชนชั้นเดียวกัน กลับแสดงออกอย่างไร้สามัญสำนึก ไม่ใคร่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรม-มโนธรรม พร้อมกระทำทุกสิ่งอย่างที่สนองความต้องการ พึงพอใจส่วนตนเท่านั้น

เราสามารถตีความการเล่นเปียโน คือสุนทรียะในการมี Sex นั่นเพราะชาย-หญิง อยู่ด้วยกันสองต่อสอง มือสัมผัส กดแผ่วเบา แล้วบังเกิดเสียง (จินตนาการกันออกหรือเปล่า) แต่เพราะนี่คือครั้งแรกๆของ Kyung-hee เลยยังไม่เป็นตอบสนอง พึงพอใจต่อ Dong-sik สักเท่าไหร่ แอบมาสูบบุหรี่ ช่วยตนเอง พึงพอใจส่วนตนหลบอยู่ด้านหลัง

นิสัยขี้ฟ้องของเด็กชาย มองมุมหนึ่งเพื่อเรียกร้องความสนใจ ขณะเดียวกันก็สะท้อนความเห็นแก่ตัว ครุ่นคิดเห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งไม่ดีงาม พยายามป่าวประจานให้ใครๆได้รับรู้ แต่กลับถูกพ่อตบหัว บอกมันเรื่องส่วนตัวจะไป’เสือก’ทำไม! หลังจากนั้นเด็กชายยกมือขึ้นมาจับจมูก แสดงความไม่ยินยอมรับ รู้สึกว่ามันเหม็นฉาวโฉ่

Kim Dong-sik จุดบุหรี่ให้ Myung-sook เป็นสัญลักษณ์ของการมี Sex มอบความสุข/พึงพอใจให้อีกฝ่าย สังเกตปฏิกิริยาสีหน้าอารมณ์ของหญิงสาว พยายามเบือนหน้าหลบหลีกหนี มันราวกับว่า Dong-sik เป็นฝ่ายพยายามรุกเร้าจู่โจมเข้าหาเธอก่อน

ความร่านรักของคู่สามี-ภรรยา หนังพยายามทำให้ผู้ชมบังเกิดความอิจฉาริษยา เมื่อพวกเขาสบโอกาสก็จะทำการกอดจูบลูบไล้ เป็นลมหกล้มก็มีนวดขาบ่าไหล่ ซึ่งนัยยะของการหันหลังใหล ก็แล้วแต่ผู้ชมจะจินตนาการเพ้อเจ้อไปว่าด็อกกี้หรือประตูหลัง

ถึงผมจะบอกว่าหนังไม่มีการเคลื่อนเลื่อนกล้องในทิศทางแนวตั้ง (แกน Y) แต่จริงๆพบเห็นได้อยู่ 2 ครั้ง ขณะอยู่นอกบ้านช็อตนี้ไล่มาตรงๆจากบนลงล่าง ซึ่งเป็นขณะที่ตัวละครได้ประสบเหตุการณ์อันเลวร้ายบางอย่าง ทำให้ชีวิตราวกับตกจากสรวงสวรรค์สู่ขุมนรก

  • การเสียชีวิตของสาวโรงงาน (ที่เขียนจดหมายรัก) หลังกลับจากงานศพ สภาพจิตใจของ Kim Dong-sik รู้สึกเศร้าสลดหดหู่
  • หลังจาก Kim Dong-sik ร่วมรักหลับนอนกลับ Myung-sook เช้าวันถัดมาเธอเรียกเขาว่าที่รัก นั่นทำให้ตระหนักถึงความผิดพลาด เพราะได้พลั้งเผลอเล่นกับไฟ หลังจากนี้อะไรๆคงจะค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆ

ไม่รู้เหมือนกันว่า ผู้กำกับ Kim Ki-young ได้แรงบันดาลใจจากผลงานของ Ingmar Bergman, Carl Theodor Dreyer ฯ มากน้อยเพียงใด เพราะ Sequence ต่อไปนี้ถือว่ามีการขยับเคลื่อนไหว เล่นทิศทาง มุมกล้อง ตำแหน่งตัวละคร ได้อย่างงดงาม สื่อนัยยะความหมายได้ลงตัวมากๆ

ขอเริ่มจากช็อตนี้ที่ Kim Dong-sik และ Cho Kyung-hee เพิ่งเดินทางกลับจากงานศพเพื่อนสาวโรงงาน ทั้งคู่ตกอยู่ในสภาพระทมทุกข์ทรมาน ไร้ซึ่งคำพูดความรู้สึกแสดงออกมา ซึ่ง Kyong-hee บังเกิดความคิดดีๆให้ Dong-sik ร่วมเล่นเปียโนกับตนจะได้ผ่อนคลายอารมณ์ตึงเครียด แต่พบเห็นภาพสะท้อนช็อตนี้ ชัดเจนว่าขณะนี้พวกเขาหาได้มีกระจิตกระใจในความสุนทรียะนี้สักหน่อย

เมื่ออดรนทนต่อไปไม่ได้ Kyung-hee เลยตัดสินใจถาโถมเข้าใส่ Dong-sik หันเผชิญหน้า พูดสารภาพความจริง ว่าเป็นตนเองที่ขอให้เพื่อนคนนั้นเขียนจดหมายรัก สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้เขา ดวงตาลุกโพลง คาดไม่ถึงกับสิ่งบังเกิดขึ้นอย่างรุนแรง

Dong-sik ลุกขึ้นจากเก้าอี้ หันหลังให้กับ Kyung-hee โดยทันที! ไม่ยินยอมรับ/ปฏิเสธการกระทำของเธอ

เมื่อ Kyung-hee เริ่มรับรู้ว่ากำลังเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เลยพยายามพูด Blackmail สรรหาข้ออ้างเพื่อทำให้ชื่อเสียงของเขาเสียหาย วินาทีนี้ถือว่าเริ่มชิงความได้เปรียบ ก้าวเดินออกมาจากด้านหลังของ Dong-sik ตรงไปถึงประตูห้องแล้วหันกลับมาเผชิญหน้ากับเขา

เมื่อ Dong-sik อดรนทนไม่ได้ต่อคำพูดของนางแพศยา จึงใช้มือตบหน้ากลิ้งล้มลงพื้น มุมก้มช็อตนี้ยังพบเห็นเท้าของ Myung-sook แอบซ่อนอยู่ตรงระเบียง รับล่วงรู้ได้ยินทุกสิ่งอย่างที่พวกเขาสนทนากัน

เหตุการณ์ยังไม่จบเท่านั้น Kyung-hee ลุกขึ้นมาใช้มารยาหญิงฉีกเสื้อ กระโปรง สร้างหลักฐานให้เหมือนว่าตนเองถูกกระทำชำเรา เผชิญหน้าเขาอีกครั้งแต่ก็ยังถูกตบ แค่ครานี้ไม่รุนแรงเท่าเลยไม่กลิ้งตกลงพื้น หายใจลึกๆสองครั้งแล้วตัดสินใจวิ่งหลบหนีออกนอกห้อง

คาดว่าคงถึงขีดสุดความอดรนทนของ Kyung-hee เธอเลยตัดสินใจวิ่งออกจากห้อง กล้องเคลื่อนผ่านตรงระเบียง สุดหลอกหลอนตรงที่ตัดหน้าของ Myung-sook ที่ยืนหลบตรงมุมพอดิบพอดี

หลักจากฉุดกระชากโต้เถียงสักพักใหญ่ๆ ก็มาถึงจุดไคลน์แม็กซ์/ได้ข้อสรุปความขัดแย้ง Dong-sik ยังคงยืนอยู่ตำแหน่งชั้นบนสุดของบันได กล่าวคือสามารถรักษาหน้าตา/ภาพลักษณ์ทางสังคมไว้สำเร็จ (Upper-Middle-class) แต่เป็น Kyung-hee ที่ทรุดล้มและเดินลงบันได หันกลับมามองอย่างโหยหาอาลัย หวนกลับไปสู่สถานที่/ชนชั้นแท้จริงของตนเอง (Lower-Middle-class)

แต่เหตุการณ์ค่ำคืนนี้ยังไม่จบเพียงเท่านี้ Myung-sook ปรากฎตัวเข้ามา สองมือจับหน้าอก แสดงถึงการกุมความลับจากบทสนทนา/การโต้เถียงดังกล่าว เสแสร้งเข้ามาหยิบกล่องบุหรี่แล้วเร่งรี่เดินกลับห้องไป

นั่นทำให้ Dong-sik ต้องรีบออกติดตามพานผ่านระเบียงหน้าห้องขณะฝนตกพรำ เพื่อค้นหาจุดประสงค์แท้จริงของ Myung-sook ครุ่นคิดวางแผน ต้องการทำอะไรกันแน่?

เมื่อบุรุษและสตรีเดินเข้าห้องนอนสองต่อสอง คนยุคสมัยก่อนคงไม่มีใครครุ่นคิดว่า ฝ่ายหญิงจะ(สามารถ)ข่มขืนฝ่ายชาย แต่การแสดงออกของ Myung-sook ใช้ความยั่วยวน เสื้อผ้าเปียกปอนบอบบาง แสร้งทำกล่องบุหรี่ตก แล้วไปยืนขวางตรงประตู ถอดเสื้อผ้าออก เพียงเท่านี้ก็สามารถปลุกตื่นความเป็นชาย สองมือโอบกอดค่อยๆเดินถอยหลัง ถือว่ามีความอาร์ทอย่างสุดๆไปเลย

และวินาทีที่ Kim Dong-sik ร่วมรักหลับนอน/ลักลอบเป็นชู้ Myung-sook นอกใจภรรยา ราวกับถูกสวรรค์ลงทัณฑ์ ตัดมาภาพฟ้าฝ่าโดนต้นไม้ เปลวเพลิงมอดไหม้ ควันขาวโพยพุ่ง (ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิต บ้านของสรรพสิ่ง ความมั่นคงในครอบครัว)

เช้าวันถัดมา Myung-sook เอาแต่เรียกตนเองว่า ‘ที่รัก’ นั่นทำให้ Dong-sik เริ่มรับรู้สึกผิดในการกระทำ จับจ้องมองกระจก ยกมือขึ้นปกปิดหน้าตนเอง แต่หญิงสาวก็เข้ามาปลอบประโลม บอกให้เขายินยอมรับความจริง แต่ทั้งหมดนี้เป็นการเล่นละครตบตา เสแสร้งมดเท็จทั้งเพ

เมื่อไม่สามารถครุ่นคิดหาหนทางออกอื่น Dong-sik เลยตัดสินใจสารภาพความจริงต่อภรรยา เริ่มต้นช็อตนี้พวกเขานั่งบนเก้าอี้ แม้ตำแหน่งตั้งฉากแต่กลับหันหน้าเข้าหากล้อง ซึ่ง Mrs.. Kim เย็บผ้าระหว่างรับฟังไปด้วยเหมือนไม่ค่อยสนใจอะไร เพราะครุ่นคิดว่าคงไม่น่าใช่เรื่องร้ายแรง

แต่เมื่อรับรู้ว่าสามีลักลอบเป็นชู้นอกใจ เธอแสดงออกแบบเดียวกับเขาก่อนหน้านี้เปะๆ (เมื่อตอน Dong-sik ฟังคำสารภาพจาก Kyung-hee) คือลุกขึ้นยืนแล้วหันหลังให้ แต่ตำแหน่งกล้องถือว่าแตกต่าง เพราะฉากนั้นตัวละครจะหันข้าง ช็อตนี้ทั้งสองต่างหันหน้าหากล้อง เพราะถือว่าเรื่องราวมีผลกระทบต่อครอบครัว/บ้านหลังนี้ เลวร้ายยิ่งกว่า!

Mrs. Kim พูดกล่าวโทษการกระทำของสามี พร้อมๆกับมองออกไปนอกหน้าต่าง ชัดเจนเลยว่าต้องการเลิกร้างรา โหยหาอิสรภาพโดยทันที เพราะทีแรกไม่ครุ่นคิดว่าจะมีหนทางออกอื่น

แต่เมื่อรับรู้ว่าหญิงสาวที่สามีพลาดพลั้งทำให้ตั้งครรภ์คือ Myung-sook ทำให้เธอเกิดความหาญกล้าครุ่นคิดกระทำสิ่งบางอย่าง เดินขึ้นบันไดเพื่อมาร่ำร้องขอ กระซิบกระซาบ วินาทีนี้จงใจเงียบเสียง ไม่นำเสนอว่าตัวละครพูดคุยอะไร ซึ่งน่าจะเป็นบอกให้ทำแท้งด้วยการเดินตกบันได … คำพูดดังกล่าวมันอาจฟังแล้วชั่วร้ายเลวทรามเกินไป เลยปล่อยให้ผู้ชมครุ่นคิดจินตนาการเอาเอง อาร์ทกว่าเยอะ!

การสูญเสียทารกในครรภ์ของ Myung-sook สะท้อนกับการตกบันไดเสียชีวิตของเด็กชาย Chang-soon (แต่หญิงสาวนอนคว่ำ – เด็กชายนอนหงาย) ซี่งต่างมีสาเหตุจากการพูดโน้มน้าม โกหกหลอกลวง เรียกว่ากรรมใดใครก่อโดยแท้!

นั่นคือผลแอปเปิ้ลใช่ไหมนิ ผลไม้ต้องห้ามในสวนอีเดน เมื่อใครได้ลิ้มลองรสชาตอันหวานฉ่ำของมันแล้ว จักถูกขับไล่ออกจากสรวงสวรรค์ ซึ่งสะท้อนการกระทำของสามี-ภรรยา Kim ที่มีต่อ Myung-sook แล้วยังแสร้งทำเป็นเสวยสุข พานผ่านอุปสรรค์ปัญหา ความทุกข์ดังกล่าวไปได้ เมื่อหญิงสาวเดินลงมาพบเห็น บังเกิดความโกรธเกลียดเคียดแค้น ครุ่นคิดวางแผนโต้ตอบเอาคืนโดยทันที

นี่เป็นช็อตที่มีกลิ่นอาย Hitchcockian เพื่อสร้างความลุ้นระทึกให้ผู้ชม บังเกิดความฉงนสงสัย บางคนอาจเข้าใจว่าแก้วน้ำนี้ใส่ยาเบื่อหนูเอาไว้ Myung-sook ถือแก้วเดินบันได ส่งมอบให้เด็กชาย Chang-soon จะดื่มไม่ดื่มก็วัดดวงกัน หักมุมหลายตลบแบบมิอาจคาดเดาได้!

ความตายของเด็กชาย Chang-soon สร้างความเจ็บปวดรวดร้าว ระทมทุกข์ทรมานให้แม่ใจจะขาด มุมกล้องช็อตนี้ก้มลงมาจากระดับสายตาของ Myung-sook แสดงถึงชัยชนะ การได้สิทธิ์แห่งอำนาจ สามารถครอบงำออกคำสั่ง ทุกคนยินยอมศิโรราบให้กับตนเอง

พบเห็นภาพตัวละครเลียแข้งเลียขาทีไร ทำให้ผมหวนระลึกนึกถึง L’Age d’Or (1930) ของผู้กำกับ Luis Buñuel ขึ้นมาทุกที! ซึ่งว่าไปหลากหลายแนวความคิดของหนัง สะท้อนก้นเบื้องแห่งความชั่วร้าย นำเสนอภาพชวนช็อก รบกวนจิตใจ ล้วนมีความละม้ายคล้ายคลึง น่าจะได้รับอิทธิพล/แรงบันดาลใจมามากๆเลยละ

การกระทำนี้ของ Myung-sook แสดงถึงความต้องการครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่างในเรือนร่างกาย Dong-sik นั่นสร้างความขยะแขยง รังเกียจเดียดชัง แสดงสีหน้าแข็งแกร็ง สั่นสะท้าน แทบไม่ต่างอะไรจากผีตายซาก

ลูกสาว Ae-soon อยากที่จะให้ความช่วยเหลือพ่อ-แม่ แต่ขาของเธอไม่ได้แข็งแรงเลยถูกจับได้ พยายามอดอาหารประท้วงเพราะความหวาดกลัวเกรง แต่ก็ถูก Myung-sook ยัดข้าวใส่ปาก ก็ไม่ได้มียาพิษ แต่การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการยัดเยียด บีบบังคับ เทียบได้กับการที่รัฐบาลพยายามริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน กำหนดกฎกรอบที่สอดคล้องผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น

การหวนกลับมาแบบไม่รู้เดียงของ Kyung-hee แม้เธอจะสามารถเล่นเปียโนได้ดีขึ้นมาก แต่กลับถูกข่มขู่ด้วยความอิจฉาริษยาโดย Myung-sook ใช้มีดครับทิ่มแทงเข้าไปตำแหน่งใกล้หน้าอก เป็นความพยายามทำลายจิตใจ ให้เธอล้มเลิกความตั้งใจในการเดินทางมาครั้งนี้

เห็นมีดลักษณะแบบนี้ ย่อมชวนให้ใครๆหวนระลึกถึงภาพยนตร์ Psycho (1960) ใช้เพียงภาพมีสัมผัสเสื้อผ้า ยุคสมัยนั้นพบเห็นแค่นี้ก็สร้างความอกสั่นขวัญหาย หวาดกลัวจนเตลิดเปิดเปิงไปไกลแล้วนะครับ

เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่ามีความร้ายแรงเป็นอย่างมาก ทำให้ Dong-sik ครุ่นคิดจะฆาตกรรมบีบคอ Myung-sook แต่แล้วภาพเบลอๆของรูปปั้นติดผนัง ทำให้เขาเกิดความหวาดกลัวอะไรบางอย่าง เลยตัดสินใจผ่อนคลายมือออก

ไคลน์แม็กซ์ของหนังคือการที่ Dong-sik และ Myung-sook ตัดสินใจดื่มยาเบื่อหนูฆ่าตัวตายคู่ แต่ดูแล้วหญิงสาวไม่ได้อยากตายจริงๆ เลยลองใจให้เขาดื่มยาพิษไปก่อน แล้วเมื่อพบเห็นเช่นนั้นก็เลยเอาไงเอากัน จะเป็นจะตายก็ช่างมัน

ฉากนี้เพียงไม่กี่วินาทีต่อจากนั้น Myung-sook หยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบอัดควันโดยไม่สนใจอะไรใคร มองมุมหนึ่งคงเพื่อให้มันผ่อนคลายความเจ็บปวดจากยาพิษ ขณะเดียวกันก็สะท้อนอย่างที่บอกไป เธอไม่ได้อยากฆ่าตัวตาย แต่เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้ก็ได้แต่ทำใจ

นั่นเองทำให้ Myung-sook รู้สึกสาแก่ใจว่าได้ครอบครอง Dong-sik เพียงแค่เรือนร่างกาย จิตใจของเขายังคงรักภรรยาเหนือกว่าสิ่งอื่นใด พยายามฉุดเหนี่ยวรั้งแต่ถูกลากพาลงบันได หมดสิ้นลมหายใจอยู่ตำแหน่งกึ่งกลาง สื่อถึงการเป็นคนไม่มีตำแหน่งใดๆในหัวใจของใครๆ

ขณะที่ Dong-sik ใช้เรี่ยวแรงกำลังเฮือกสุดท้าย ลากพาตนเองมาพบเจอภรรยาครั้งสุดท้าย ฉากเป็นการแทนตัวละครราวกับสัตว์เลื้อยคลาน สะท้อนถึงผลกรรมจากการกระทำที่ผ่านมา มันช่างเลวทรามต่ำช้า และทำให้ครอบครัวกลับสู่สถานะชนชั้นกลางระดับล่าง (Middle-Lower-class)

เกร็ด: ลักษณะการตายของสาวใช้ น่าจะได้แรงบันดาลใจจากหนังเงียบ Variety (1925) ของผู้กำกับ E. A. Dupont ซึ่งจะว่าไปก็มีเนื้อเรื่องราวรักสามเส้า นอกใจคนรัก เมโลดราม่าไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่

สะท้อนกับภาพที่ Myung-sook เลียแข้งเลียขา Dong-sik แต่ในบริบทนี้คือความพยายามตะเกียกตะกายเพื่อเข้ามาขอโทษขอขมาภรรยา แสดงความรักและอาลัยครั้งสุดท้าย

ขณะหมดสิ้นลมหายใจ Dong-sik ทิ้งตัวนอนหงาย ซึ่งช็อตนี้พบเห็นบุตรสาว Ae-soon กำลังหลับนอนบนเตียงด้านหลัง ซึ่งการนำเสนอภาพลักษณะนี้มักสื่อนัยยะคู่ขนาน กล่าวคือ

  • พ่อ Dong-sik หมดสิ้นลมหายใจ ร่างกายไร้จิตวิญญาณ
  • บุตรสาว Ae-soon แม้ยังมีลมหายใจ แต่คงหมดเรี่ยวแรงอาลัย ไร้กำลังใจในการลุกขึ้นเดินด้วยลำแข้งของตนเองอีกต่อไป

หนังจบช็อตสุดท้ายด้วยเสียงร้องไห้ของทารก (เสียใจจากโศกนาฎกรรม/ความตายของพ่อ) กล้องค่อยๆเคลื่อนออกจากบันได (Myung-sook นอนตายอยู่ตรงกึ่งกลาง) เลื่อนมาถึงตรงหน้าต่างแล้วตัดมารถไฟกำลังวิ่งแล่นฝ่าฝน แสดงถึงชีวิตยังคงดำเนินต่อไป

ตัดต่อโดย Kim Ki-young, ดำเนินเรื่องโดยมีบ้านสองชั้นหลังนี้คือจุดศูนย์กลาง สามารถแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 องก์ (ไม่นับอารัมบท-ปัจฉิมบท)

  • บ้านกำลังปรับปรุงใกล้เสร็จ, แนะนำตัวละคร อาชีพการงาน ลับลมคมใน กระทั่งการมาถึงของสาวรับใช้
  • อารมณ์ชั่ววูบ, ความตายของสาวโรงงาน ส่งผลให้ Kim Dong-sik กระทำสิ่งผิดพลาดพลั้ง ร่วมรักสาวใช้ตั้งครรภ์ จิตใจจมปลักอยู่กับความทุกข์ทรมาน พูดบอกสารภาพต่อภรรยา และเธอหาญกล้าเรียกร้องให้เข่นฆ่าลูกในไส้
  • ความล่มสลายของครอบครัว Kim, เริ่มจากการตกบันไดตายของบุตรชาย แม่-ลูกต้องการวางยาวสาวใช้ สามีสูญเสียสิทธิ์ในเรือนร่างกาย (แม่สูญเสียจิตใจ) สุดท้ายดื่มยาพิษหมดสิ้นลมหายใจ

สำหรับอารัมบท-ปัจฉิมบท นำเข้าสู่เรื่องราวและทิ้งท้ายด้วยข้อคิดเตือนสติผู้ชม (ราวกับว่าทุกสิ่งอย่างบังเกิดขึ้นในความเพ้อฝันตัวละคร) ถ้าสังเกตดีๆจะค้นพบความต่อเนื่องกันอยู่ ตอนต้นพ่ออ่านหนังสือพิมพ์ ตอนท้ายแม่อ่านหนังสือพิมพ์ ขณะที่เด็กๆยังคงนั่งเล่นเชือก/เกมพันด้าย ไม่รู้จักจบสิ้น

เนื่องจากหนังไม่มี Establishing shot ทำให้เรื่องราวมีการดำเนินไปอย่างกระชับ รวบรัด ตรงไปตรงมา ไม่ประณีประณอมผู้ชมแม้แต่น้อย ซึ่งทุกการเปลี่ยน Sequence จะมีใช้เทคนิค Cross-Cutting เพื่อสร้างความแตกต่าง เท่านั้นเอง!


เพลงประกอบโดย Han Sang-gi, ใช้เสียงเครื่องเป่าลากยาวสุดลมหายใจ สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดระแวง เต็มไปด้วยลับลมคมใน ทำให้ผู้ชมค่อยๆรู้สึกอกสั่นขวัญหาย และหลายๆฉากพร้อมเสียง Sound Effect ฝนตก ฟ้าร้อง ขบวนรถไฟแล่นผ่าน บังเกิดความหลอกหลอน ขนหัวลุก สะท้านถึงขั้วจิตวิญญาณ (บางครั้งใจหายวาบตกลงสู่ตาตุ่ม)

ผมรู้สึกว่าอิทธิพลเพลงประกอบ (ใช้เครื่องลมเป็นหลัก) มาจากฝั่งเอเชีย/หนังญี่ปุ่น เพราะถ้าเป็นผลงานของ Bernard Herrmann ในหนังหลายๆเรื่องของ Alfred Hitchcock มักเน้นกรีดกรายสายไวโอลินมากกว่า

นอกจาก Soundtrack อันหลอกหลอน ยังมี Diegetic Music ขณะร้อง-เล่นเปียโน ซึ่งถ้าสังเกตตัวละคร Kyung-hee Cho จะพบว่าฝีมือการเล่นพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ ช่วงท้ายเมื่อหวนกลับมาอีกครั้ง มีความไพเราะ ระรื่นหูขึ้นเยอะ ตรงกันข้ามกับสาวใช้ Myung-sook ทุบเปียโนทีไร หัวใจยิ่งตกต่ำลงเรื่อยๆ

Beyond the autumn sky
A star is shining

บทเพลงบรรเลงเปียโนที่ผมก็ไม่รู้ว่าชื่ออะไร แต่จดคำร้องมาได้เพียงสองท่อนเท่านั้น ดูแล้วคงต้องการสื่อถึงช่วงเวลา/เหตุการณ์ร้ายๆ (ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้) อีกไม่นานประเดี๋ยวด๋าวก็พานผ่านไป อุปสรรคปัญหา/ความขัดแย้งย่อมต้องได้รับการแก้ไข อย่ารีบย่นย่อท้อยอมแพ้เสียก่อนเล่า ฟ้าสว่าง ดวงดาวสดใสย่อมอยู่ไม่ห่างไกล


The Housemaid คือเรื่องราว Melodrama เกี่ยวกับครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง (Lower-Middle-class) ที่ต้องการไต่เต้า (ขึ้นบันได) ยกฐานะขึ้นสู่ชนชั้นกลางระดับสูง (Upper-Middle-class) แต่กลับถูกกีดกั้นขวางโดยสาวรับใช้ (Low-class) ผู้ต้องการบ่อนทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง

ปัญหาภายในที่บังเกิดขึ้นในครอบครัว Kim มีสาเหตุจากการไม่สามารถควบคุมความต้องการ (ทั้งทางร่างกายและจิตใจ) ไม่รู้จักเพียงพอใจในสิ่งที่มี นั่นทำให้เมื่อบังเกิดอารมณ์ชั่ววูบ หน้ามืดตาลายแค่เพียงครั้งเดียว กลับสามารถทำให้บ้านทั้งหลังพังทลาย สมาชิกในครอบครัวราวกับตกขุมนรก ตายทั้งเป็น!

สะท้อนเรื่องราวของหนังกับสภาพสังคมประเทศเกาหลีใต้ยุคสมัยนั้น ในช่วงเวลาแห่งอิสรภาพ Second Republic of South Korea ก็ราวกับครอบครัวได้ขึ้นบ้านใหม่ ถึงเวลาเร่งรีบร้อนทำงานหาเงิน ปรนเปรอบำเรอความสุขสบาย ไต่เต่าจากชนชั้นล่างสู่กลาง ระดับต่ำขึ้นสูง เอาจริงๆก็ไม่ได้มีความจำเป็นอะไร คือกลไกระบอบทุนนิยมที่ทำให้ผู้คนรับรู้สึกถึงความก้าวหน้าในชีวิต จักได้ลุ่มหลงใหลยึดติดในสิ่งข้าวของ เงินตรา ความสุขสบายทางกาย เกิดความต้องการอยากได้ไม่รู้จักสิ้นสุด!

ปัญหาของความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ นั่นคือจิตใจไม่ได้รับการพัฒนาให้สูงค่าด้านคุณธรรม/มโนธรรมติดตามไปด้วย ยกตัวอย่างเมื่อพบเห็นผู้อื่นมีความสุขสบายจากสิ่งข้าวของชิ้นหนึ่ง ตนเองย่อมบังเกิดความละโมบโลภอยากได้ พร้อมกระทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว เพื่อให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของสาสมใจ

มันไม่ผิดอะไรหรอกนะครับที่มนุษย์จะเกิดความละโมบโลภ อยากได้โน่นนี่นั่น แก่งแย่งฉกชิงจากผู้อื่น แต่พฤติกรรมดังกล่าวล้วนสะท้อนความตกต่ำทางศีลธรรม/มโนธรรม เมื่อกระทำสิ่งชั่วช้าเลวทราม ย่อมทำให้จิตใจอยู่ในความทุกข์ยากลำบาก สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ลุกลามไปถึงญาติมิตรสหาย ครอบครัว ลูกหลาน ได้รับผลกรรมติดตามทัน (ทั้งๆอาจไม่ได้เคยกระทำอะไรผิดด้วยซ้ำไป)

ความตายของลูกชาย เชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึกสาสมน้ำหน้า เพราะพฤติกรรมเด็กคนนี้ช่างเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ชอบกลั่นแกล้งพี่สาว พูดจาว่าแง่ร้าย ไร้สามัญสำนึกผิดชอบชั่วดี นั่นต้องโทษเท้าความไปถึงบิดาไม่เคยเสี้ยมสอนเอาแต่ออกคำสั่ง ถ้าเติบโตขึ้นย่อมต้องเสียคนอย่างแน่นอน! … แต่นั่นไม่ใช่ความรู้สึกถูกต้องเหมาะสมเลยนะครับ เพราะความตายคือโศกนาฎกรรม อุบัติเหตุแม้เกิดจาก ‘misdirection’ (โดยหลอกว่าถูกวางยาพิษแต่จริงๆแล้วไม่ใช่ พลัดตกบันได้ลงมาเองไม่มีใครทำอะไร) ก็ยังคือความสูญเสียที่มิอาจหวนคืน ถ้าพวกเขาเลือกดำเนินชีวิตในทิศทางถูกต้อง ย่อมไม่บังเกิดความหวาดระแวง ขี้ขลาดกลัว ตกลงมาตายแบบนี้

ใครๆมักมอง Myung-sook ว่าเป็นสัตว์ประหลาด/ปีศาจชั้วร้าย แต่พฤติกรรมของเธอสะท้อนผลกระทบจากสภาพแวดล้อมรอบตัว เติบโตขึ้นมาในสังคมอุดมคอรัปชั่น (ปธน. Syngman Rhee ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 12 ปี) การแสดงออกจึงไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรม-มโนธรรม แค่สนองตัณหาอารมณ์ ความต้องการส่วนตน ไม่รู้จักพอเท่านั้นเอง

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความเป็นกึ่งๆอัตชีวประวัติผู้กำกับ Kim Ki-young อยู่พอสมควรเลยละ ตัวละครหาเงินจากการสอนดนตรีสามารถเทียบแทนด้วยการสรรค์สร้างภาพยนตร์, ภรรยาของเขาให้ความส่งเสริมสนับสนุนสามีทุกสิ่งอย่าง (ขนาดว่าเงินทุกสร้างหนัง ส่วนหนึ่งก็ได้จากเธอนี่แหละ), บุตรชายคนโตนิสัยค่อนข้างเอาแต่ใจ, บุตรสาวขาไม่ค่อยแข็งแรง และเพิ่งคลอดทารกชายอีกคนเมื่อปี 1958

ส่วนเรื่องคนรับใช้นี่ไม่มีรายละเอียดเล่าไว้ คาดว่าน่าจะมีจริงตอนภรรยาตั้งครรภ์ลูกคนที่สาม แต่คงไม่เกินเลยเถิดความสัมพันธ์แบบในหนังกระมัง (เพราะเรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากบทความในหนังสือพิมพ์) ซึ่งปัจฉิมบทของหนัง ตัวละคร Kim Dong-sik จับจ้องมองกล้อง ‘breaking the fourth wall’ ซึ่งก็คือผู้กำกับ Kim Ki-young ต้องการให้ข้อคิดเตือนสติสอนใจผู้ชมนั่นเอง


หนังไม่มีรายงานทุนสร้างและรายรับ แต่กระแสตอบกลับเมื่อตอนออกฉายยอดเยี่ยมมากๆ ยอดขายตั๋วกว่า 250,000 ใบในระยะเวลา 40 วัน สมัยนั้นถือว่าปริมาณมหาศาลเลยละ (และอาจเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ยอดขายตั๋วสูงสุดตลอดกาลขณะนั้นอีกด้วย)

ช่วงการมาถึงของ Home Video หลายๆผลงานของผู้กำกับ Kim Ki-young ได้รับการแปลงเป็น VHS ยกเว้นเพียง The Housemaid เพราะฟีล์มสองม้วนแรกได้เสื่อมสภาพจนใช้การมิได้ กระทั่งเมื่อต้นทศวรรษ 90s ถึงมีการค้นพบส่วนขาดหายดังกล่าวเก็บอยู่ยัง Korean Film Commission เป็นฉบับนำออกฉายเทศกาลหนังต่างประเทศที่ได้ตอกซับภาษาอังกฤษไว้(บนฟีล์ม)

การบูรณะเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อปี 2007 โดย World Cinema Project ร่วมกับ Korean Film Archive แต่เนื่องจากคุณภาพฟีล์มย่ำแย่สุดๆ จึงลองว่าจ้างนักวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก Seoul National University, นักเทคนิค Korea Creative Content Agency และ HFR-Digital Film Laboratory ร่วมมือกันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถลบซับภาษาอังกฤษ ซ่อมแซมส่วนชำรุดทรุดโทรม ได้ผลลัพท์ค่อนข้างใช้ได้ แล้วเสร็จออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes Classics เมื่อปี 2008

สิ่งที่โดยส่วนตัวรู้สึกสั่นสะท้านต่อ The Housemaid คือพลังในการนำเสนอด้วยภาษาภาพยนตร์ ค่อยๆทวีความซับซ้อน รุนแรง ขัดแย้ง เกินเลยเถิดขึ้นเรื่อยๆจนมิอาจควบคุมได้ แสดงให้เห็นถึงการขาดสามัญสำนึกของตัวละคร ขี้ขลาดในสิ่งโง่เขลา ไร้หลักการพึ่งพักพิงเมื่อชีวิตประสบปัญหา เหล่านี้สามารถเป็นบทเรียนสอนใจผู้ชมให้รู้จักมีสติ สามารถครุ่นคิดหาหนทางออกที่ดีกว่า

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ภาพยนตร์เรื่องนี้แม้เป็น Melodrama ที่มีความน้ำเน่า เหม็นฉาวโฉ่ แต่แฝงข้อคิดเตือนสติสอนใจทั้งชายหญิง ให้รับรู้จักควบคุมตัณหาราคะ เพราะความผิดพลาดพลั้งด้วยอารมณ์ชั่ววูบเพียงแค่ครั้งเดียว อาจทำให้ทุกสิ่งอย่างสร้างมาล่มสลายโดยพลัน … และโอกาสสองแก้ไขยังทันถ้าเราสามารถยินยอมรับความผิดพลาด กล้าเผชิญหน้าความจริง ไม่ใช่ปล่อยปัญหาบานปลายจนกลายเป็นหายนะ

จัดเาต 18+ ความหลอกหลอนในพฤติกรรมผิดมนุษย์มนา

คำโปรย | The Housemaid ของผู้กำกับ Kim Ki-young สามารถปัดกวาด ชำระ ล้างผลาญทุกสิ่งชั่วร้ายภายในจิตใจผู้ชม
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | สั่นสะท้าน


The Housemaid

The Housemaid (1960) : Korea – Kim Ki-young

(9/3/2016) ผมไปเจอหนังเรื่องนี้ในชาร์ท Asian Cinema 100 Ranking จากเทศกาลหนังเมือง Busan ครั้งล่าสุด (2015) หนังเรื่องนี้ติดอันดับ 10 สูงสุดในบรรดาหนังจากประเทศ Korea สูงกว่า Old Boy ที่ติดอันดับ 14 มันต้องมีอะไรที่ไม่ธรรมดาแน่ๆ เพราะมันหมายถึงนี่คือหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเกาหลี และพบว่าจริงครับ นี่เป็นหนังระดับโคตร melodrama ในระดับที่ละครหลังข่าวเมืองไทยเทียบไม่ติดเลย

นี่เป็นหนังเรื่องแรกในการรีวิว ที่ผมจัดคุณภาพระดับ LEGENDARY แต่ความชอบระดับ WASTE คือ ไม่ชอบหนังเรื่องนี้รุนแรงมากๆ ผมเป็นคนไม่ชอบหนังแนว melodrama แรงๆ เพราะรู้สึกมันไร้สาระ บีบหัวใจเกินกว่าเหตุ และมันทำให้เกิดความขยะแขยงบางอย่าง นี่เป็นหนังที่ทำให้ผมรู้สึกอย่างนั้นเต็มๆเลยครับ ตอนดูหนังเรื่องนี้มันเหมือนผมกำลังเผชิญกับพายุลูกใหญ่ซัดกระน่ำมาอย่างไม่ยั้ง ความรุนแรงระดับที่พัดเอาบ้านทั้งหลังไปด้วย ไม่เหลือแม้แต่ซาก ที่ทนดูจนจบเพราะอยากรู้ว่าสุดท้ายจะเป็นยังไง จบแล้วรู้สึกโล่ง เหมือนพายุสงบ หวังว่าชีวิตนี้คงไม่เจออะไรแบบนี้อีก

เดี๋ยวก่อนนะครับ อย่าเพิ่งถอดใจเมื่อเห็นผมบรรยายสรรพคุณหนังขนาดนั้นแล้วฉันจะดูไหนเหรอ มันไม่ใช่ว่าทุกคนดูแล้วจะรู้สึกเหมือนผมนะ นั่นเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมเล่าให้ฟัง เพื่อบอกว่านี่เป็นหนังที่ผมไม่ชอบ แต่เชื่อว่าคนที่ชอบดูละครหลังข่าว คุณน่าจะต้องชอบหนังเรื่องนี้แน่ๆ มันมีองค์ประกอบของหญิงร้าย ชายชั่ว คบชู้ อิจฉาริษยา แย่งผัว ตบเมีย ฆ่าลูก ที่กระชากอารมณ์คนดูไปถึงที่สุดเท่าที่เรื่องราวจะพาไปได้

ผมไม่คิดว่าจะมีใครในโลกที่หมกมุ่นเรื่องพวกนี้เท่ากับผู้กำกับ Kim Ki-young อีกแล้ว ในรายชื่อหนังที่พี่แกทำ ก็จะมีแต่แนวๆนี้ เน้นสำรวจพฤติกรรม จิตวิทยาเชิงลึกของผู้หญิง แค่ชื่อหนังก็ก็พอบอกได้ถึงสิ่งที่ผู้กำกับสนใจได้เป็นอย่างดี Insect Woman (1972), Beasts of Prey (1985) และมีหนัง 3 เรื่องที่ถือเป็น Housemaid Trilogy ประกอบด้วย The Housemaid (1960), Woman of Fire (1971) และ Woman of Fire ’82 (1982) สามเรื่องนี้เห็นว่ามีเนื้อหาหลักคล้ายๆกัน เพียงแต่เปลี่ยนสถานการณ์ วิธีการเล่าเรื่อง และมุมมองบางอย่างเท่านั้น มองสไตล์ของผู้กำกับในแง่ดี คือเขาพยายามนำเสนอพฤติกรรมบางอย่างของเพศหญิง ที่ถือเป็นภัยสังคม ชีวิตจริงมันอาจมีอะไรแบบในหนังเกิดขึ้นได้ เป็นการเตือนภัย สอนหญิงและสอนชาย ให้ระวังตัวอย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบในหนัง คิดแบบนี้ มุมมองของหนังจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย

มันทำให้ผมนึกถึง Park Chan-wook ผู้กำกับ Old Boy ที่มักจะทำหนังคล้ายๆกัน มีใจความหลักเหมือนเดิมแค่เปลี่ยนบริบทรอบข้าง (ของพี่ Park ตีมหลักพี่แกคือ ล้างแค้น หนังทุกเรื่องของพี่แกก็เกี่ยวกับการล้างแค้น) นี่เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการภาพยนตร์ของเกาหลี ทำไมผู้กำกับถึงมีแนวทางที่ชัดเจนสุดโต่งในเชิงหมกมุ่นขนาดนี้ รวมถึงภาพความรุนแรง ทั้ง The Housemaid และ Old Boy เป็นหนังที่มีความรุนแรงสูงมากๆ เพราะอะไรกัน ใครรู้ช่วยแนะนำกันได้นะครับ

นำแสดงโดย Kim Jin-kyu ครูสอนดนตรีและเป็นสามี เขาดูเหมือนเป็นคนดี แต่ใครมันจะทนได้เมื่อเจอผู้หญิงแก้ผ้ายืนอยู่ตรงหน้า ผมเรียก ปากว่าตาขยิบ แต่เขาก็ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ คือเมื่อรู้ว่าตัวเองทำผิดแล้วก็พยายามหาทางแก้ไข แต่เขาไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องได้ ภายหลังเขาเลยตกเป็นทาสของการกระทำตัวเอง

Ju Jeung-ryu เล่นเป็นแม่และภรรยา เธอเป็นผู้หญิงที่รักครอบครัว อ่อนต่อโลก ดูเหมือนเธอมองโลกในแง่ดี กระนั้นเธอก็มีความต้องการโน่นนี่นั่นมากมาย เมื่อสามีสารภาพว่าเขานอกใจเธอ แทนที่จะโกรธกลับให้อภัย เพราะคิดว่าตัวเองสามารถควบคุมทุกอย่างได้ ผมถือว่าตอนนั้นเธอกลายเป็นคนดีแตก เพราะเธอมีทุกอย่าง จึงกลัวที่จะสูญเสียทุกอย่าง เธอจึงทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ตัวเองสูญเสียอะไร ถึงขนาดคิดฆ่าชู้ ฆ่าลูกชู้ แต่เมื่อสิ่งที่เธอทำไม่ประสบผล และกำลังสูญเสียทุกอย่าง เธอจึงมีสภาพเหมือนร่างที่ไร้วิญญาณ นั่นตัวตนที่แท้จริง ที่ไม่มีอะไรเลย

Lee Eun-shim เล่นเป็นคนใช้ (Housemaid) และชู้ ว่ะ! เจ๊แกแสดงตัวละครออกมาได้ยังไงนิ! นี่เป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา มัวเมา หลงผิด เธอทำได้ทุกอย่างโดยไม่สนใจอะไร ผมไม่ค่อยอยากทำความเข้าใจตัวละครนี้เท่าไหร่ เพราะมันเป็นตัวละครที่แสดงถึงธาตุแท้ของมนุษย์ ที่มีสัญชาติญาณในการใช้ชีวิตเท่านั้น อยากได้อะไรต้องได้ อยากทำอะไรต้องได้ทำ เหมือนเด็กที่ถูกตามใจจากผู้ใหญ่ โตขึ้นถูกแกล้งเพราะทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง เลยต้องการพิสูจน์เพื่ออวดคนอื่นว่าทำได้อย่างที่ฉันทำหรือเปล่า กระนั้นเธอยังมีคุณธรรมเล็กๆ ในฉากที่พูดว่าใส่ยาฆ่าหนูในน้ำดื่มแต่เธอไม่ได้ใส่จริงๆ นี่แสดงถึงเธอเข้าใจความรู้สึกของการสูญเสีย รู้ว่ามันเป็นอย่างไร เธอแค่อยากให้คนที่ทำกับเธอเข้าใจความรู้สึกนั้น แต่การตายของเด็กชายมันเป็นอุบัติเหตุมากกว่าความตั้งใจ เธอคงรู้สึผิดเล็กๆ แต่ก็ฉวยโอกาสนั้นย้ำเตือนต่อสิ่งที่เธอถูกกระทำมา

ถ่ายภาพโดย Kim Deok-jin นี่เป็นหนังที่ใช้เทคนิคการถ่ายทำได้ยอดเยี่ยมมากๆเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะการเล่นแสงสี บรรยากาศของหนังช่วงแรกกับช่วงหลังให้ความรู้สึกต่างกันมาก ช่วงแรกยังรู้สึกหนังดูมีชีวิตชีวาบ้าง มีฉากที่โรงงานเห็นผู้คนมากมาย แต่ครึ่งหลังจะภาพจะสีหม่นมากๆ มีแต่ฉากในบ้านล้วนๆ ผมจำไม่ได้ว่าครึ่งหลังมีฉากที่ถ่ายนอกบ้านแล้วฝนไม่ตกหรือเปล่า หนังทำให้เรารู้สึกเหมือนข้างนอกมันมืดตลอดเวลา ฉากสำคัญๆในหนัง ก็จะเห็นฝนตกฟ้าแลบ ได้ยินเสียงฟ้าร้องอยู่บ่อยครั้ง นี่เป็นความจงใจที่เห็นชัดมากๆ

ตอนเปิดเรื่อง ขณะเครดิตขึ้นก็ กล้องเคลื่อนไปจับที่เด็กสองคนกำลังเล่นพันด้ายกันอยู่ ความหมายฉากนี้ก็ตรงตัวเปะเลย เปรียบชีวิตคนเหมือนเส้นด้ายที่ถูกเปลี่ยนมือไปมา วิธีการเล่นคือ คนที่ไม่ได้ถือเส้นด้าย จะต้องพยายามหาทางเอาด้ายนั้นมาถือให้ได้ โดยไม่ทำให้ด้วยคลายตัว … มันคือเกมเล่นเชือก หรือเล่นพันด้ายที่คนทั่วโลกน่าจะรู้จักกัน (เห็นว่าเกมนี้มีมาตั้งแต่สมัยยุคหิน Stone Ages) ฉากนี้ตอนต้นเรื่องมันทำให้ผมเข้าใจเลยว่า หนังมันต้องมีเรื่องราวที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนแบบเกมนี้แน่ๆ ปรากฏว่า หนังมันเกินกว่าที่ผมคาดหวังไว้อีก

เพลงประกอบโดย Han Sang-gi เครื่องดนตรีหลักที่ใช้ คือเครื่องเป่า (ทรัมเป็ต, ทรัมโบน) จะได้ยินเน้นๆตอนเครดิตต้นเรื่อง และช่วงท้ายๆ ผมรู้สึกเพลงนี้ฟังแล้วมันหลอนๆ เหมือนบทเพลงแห่งความตาย การเลือกใช้เครื่องเป่า เสียงที่ออกมาไม่ถือว่าเพราะเท่าไหร่นะครับ เหมือนคนเป่าที่กำลังจะหมดลม ฉากตอนท้ายที่ตัวละครใกล้ตาย ฟังแล้วหัวใจเราจะหยุดเต้นตามตัวละครไปด้วย เพลงประกอบในหนังเรื่องนี้ถือว่าสำคัญมากๆ เพราะช่วยเค้นอารมณ์ของคนดูไปถึงจุดสูงสุดจริงๆ

มันเป็นช่วงเวลายากลำบากของคนมีครอบครัว เมื่อต้องทำงานหรือได้รู้จักกับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ที่บางทีพวกเขาก็ได้รับการปลูกว่า ฉันมีอิสระที่จะคิดหรือทำอะไรก็ได้ การได้พบเจอเหตุการณ์ในหนังถือว่า บรมโคตรซวย จริงๆ เด็กผู้หญิงที่ไม่สนว่า สิ่งที่ตัวเองต้องการจะส่งผลกระทบต่อคนมากน้อยแค่ไหน แต่กระนั่นใช่ว่าเด็กมันจะผิดสถานเดียว คนที่ไม่สามารถหักห้ามใจตัวเองได้ก็มีส่วนผิดไม่น้อยไปกว่ากัน เด็กมันจะคิดอะไรถ้าเห็นว่าผู้ใหญ่ยอมให้ตัวเองขนาดนี้ มันก็เหลิงสิครับ คิดว่ามีคนหนุนหลัง ได้มาครั้งหนึ่งแล้วทำไมจะไม่ได้อีก

เสนอแนะวิธีแก้ปัญหาไว้สักหน่อยแล้วกัน ในหนังที่สามีไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาได้ เพราะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น หญิงสาวคนหนึ่งส่งจดหมายรักให้เขา สิ่งที่ทำคือแจ้งกับหัวหน้าโรงงาน ทำให้หญิงสาวคนนั้นต้องออกจากงาน นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อยับยั้งสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต … โชคร้ายที่ภายหลังหญิงคนนี้ตรอมใจตาย พี่แกเลยทำตัวไม่ถูก โทษตัวเองว่าเพราะเขาทำให้เธอเสียชีวิต นี่เป็นจุดที่ผมมองว่า พี่แกคิดผิดนะครับ หญิงคนนั้นไม่ได้ตายเพราะเขา เธอตรอมใจตายด้วยตัวเอง เธอผิดเต็มๆที่ไปหลงรักชายที่แต่งงานแล้ว เราไม่ควรเห็นใจหรือตามใจเธอนะครับเพราะมันจะทำให้เหลิง มองไปเลยว่าเป็นตรอมใจตายเพราะหลงรักคนมีเจ้าของเป็นสิ่งโง่เง่าไร้สาระ … เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในหนัง ทำให้สามีไม่สามารถหาทางออกได้เมื่อเขากลายเป็นชู้กับคนใช้ (คนใช้มันก็ฉลาดที่ใช้ร่างกายชักนำในช่วงเวลาที่ผู้ชายขณะมีจิตใจอ่อนแอที่สุด) ในกรณี ถ้าเขาเพียงสามารถหักห้ามใจตัวเองได้ก็จบ แต่สมมติว่าเผลอทำไปแล้ว การเล่าให้ภรรยาฟังนี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เขาต้องยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ยอมรับผลของการกระทำ … กระนั้นการกระทำของภรรยาที่ใช้ความรุนแรงคือสิ่งที่ผิด หรือขับไล่ฝ่ายชายและชู้ออกจากบ้านก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีนัก แทนที่เธอจะทำความเข้าใจ ศึกษาเหตุผล เข้าใจเขาเข้าใจเรา ทำไมไม่พูดคุยกันดีๆ เปิดอกสนทนา คุยกับชู้ร่วมกันหาทางออก เด็กในท้องก็มองเสียเป็นลูกอีกคน ผู้หญิงถ้าลดความอิจฉาริษยาไปได้ จะน่ารักขึ้นอีกหลายร้อยเท่าเลย ผู้หญิงที่เป็นแบบนี้ ไม่มีชายคนไหนกล้านอกใจแน่ๆครับ

ผมพอแล้วนะครับ จะไม่พยายามคิดหนังเรื่องนี้ต่อให้ปวดหัวเสียเวลานะครับ แนะนำกับคนที่ชอบแนว melodrama แรงๆ เนื้อเรื่องจัดจ้าน คนชอบหนังเกาหลีก็จัดไปครับ ให้เรต R 18+ กับเนื้อเรื่องและความรุนแรง เห็นว่ามีเวอร์ชั่น remake เมื่อปี 2010 กำกับโดย Im Sang-soo ถ้าหาเวอร์ชั่น 1960 ดูไม่ได้แต่อยากเสพเนื้อเรื่อง ให้ดูเวอร์ชั่น remake ก็น่าจะได้อรรถรสไม่แพ้กัน

คำโปรย : “The Housemaid หนังเกาหลีที่ว่ากันว่าดีที่สุด ใครชอบแนว melodrama แรงๆ ชายชู้ หญิงชั่ว คุณภาพจัดเต็มห้ามพลาด”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบWASTE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: