The Hunchback of Notre Dame (1923) : Wallace Worsley ♥♥♥
Victor Hugo เขียนนิยายเรื่องนี้ในช่วงเวลาที่มหาวิหาร Notre-Dame กำลังถูกปล่อยปละละเลย ทิ้งขว้างไม่สนใจใยดี เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-1799) พรรณาให้ผู้อ่านเห็นคุณค่าความสำคัญของอาสนวิหารแห่งนี้ เปรียบเธอดั่งตัวละคร Esmeralda (Notre-Dame แปลว่า Our Lady) หญิงสาวที่ใครๆต่างตกหลุมรักคลั่งไคล้ แต่มีเพียงผู้เดียวที่บริสุทธิ์แท้จริงใจ คือชายอัปลักษณ์หลังค่อม Quasimodo รับบทโดย Lon Chaney ในบทบาทที่ทำให้เขาได้รับฉายา ‘ชายพันหน้า’
ผมค่อนข้างคิดหนักทีเดียวกับย่อหน้าแรกของบทความนี้ ตัดสินใจเปลี่ยนมาแนะนำเจ้าของนิยายพร้อมจุดประสงค์ความตั้งใจ เพราะรู้สึกว่าเกริ่นแบบนี้พบเห็นสาสน์สาระสำคัญ น่าดึงดูดกว่าสิ่งที่หนังนำเสนอออกมากลายเป็นเสียอีก ซึ่งผมยังเก็บย่อหน้าก่อนที่เขียนไว้ด้วย ลองเทียบกันดูแบบไหนมีความน่าสนใจมากกว่า
ปฐมบทแห่ง Universal Monster แม้เรื่องราวจะเป็นแนว Gothic Romantic-Drama ดำเนินเรื่อง ณ มหาวิหาร Notre-Dame กรุง Paris ปี 1482 แต่ด้วยภาพลักษณ์ของ Lon Chaney เจ้าของฉายา ‘ชายพันหน้า’ รับบทชายอัปลักษณ์หลังค่อม Quasimodo นี่สร้างความ Horror หลอนสะพรึง ตราติดตรึงใจผู้ชมไม่รู้เลือน
ขอกล่าวถึงผู้แต่งนิยายก่อนแล้วกัน Victor Marie Hugo (1802 – 1885) นักกวี แต่งนิยาย/บทละครสัญชาติฝรั่งเศส ในยุคสมัย Romantic/Gothic Era ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส ผลงานชิ้นเอกคือ Les Misérables (1862) และ Notre-Dame de Paris (1831) [หรือในชื่อภาษาอังกฤษ The Hunchback of Notre-Dame (1933)]
เกิดที่ Besançon, Doubs เป็นลูกของ Joseph Léopold Sigisbert Hugo หนึ่งในแม่ทัพ/นายพลของ Napoleon ที่ได้ขึ้นครองราชย์ เป็น Emperor of the French สองปีหลังเขาเกิด แต่พออายุ 13 เมื่อ Napoleon เสียชีวิต มีการเปลี่ยนสลับขั้วการเมือง ส่งผลกระทบรุนแรงต่อครอบครัว อันทำให้แนวคิดทัศนะทางการเมืองของ Hugo ยึดในความมั่นคงของอดีต กลายเป็นฝั่งอนุรักษ์นิยมขวาจัด (Republican)
สำหรับความสนใจในบทกวี นิยายเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก โตขึ้นถึงได้เริ่มตีพิมพ์หนังสือเล่มแรก Han d’Islande (1823) จากนั้นค่อยๆซึมซับยุคสมัย Romanticism เข้ามาในตัว ผสมผสานกับความสนใจด้านการเมือง สังคม ศาสนา ที่ตรงกันข้ามกับค่านิยมฝักใฝ่ Modernism หลังจากการปฏิวัติ French Revolution (1789-1799) ผลงานของ Hugo จึงมักสะท้อนวิถีชีวิตของคนชนชั้นล่างที่อาศัยอยู่อย่างลำบากยากเข็น และชนชั้นผู้นำที่จ้องแต่คอยเอารัดเอาเปรียบไม่สนใจ แสวงหาความสุขสบายส่วนตนเท่านั้น
สำหรับ Notre-Dame de Paris ประมาณการณ์ว่า Hugo เริ่มต้นเขียนตั้งแต่ปี 1829 ด้วยความตั้งใจปลุกกระแสเคลื่อนไหวให้ชาวฝรั่งเศสเกิดความตื่นตระหนัก สนใจในสถาปัตยกรรม Gothic ที่กำลังค่อยๆถูกลืมเลือน ทำลายสิ้นสูญไปตามยุคสมัย แทนที่ด้วยตึกรามบ้านช่องในสไตล์รูปแบบใหม่, โดยเฉพาะกับ Notre-Dame de Paris สิ่งก่อสร้างแรกที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบ Gothic กำลังค่อยๆถูกแปรสภาพกลืนกิน สูญเสียภาพลักษณ์ของตนเองไป
แต่เพราะความยุ่งส่วนตัวของ Hugo ทำให้เกิดความล่าช้าไปหลายปี กว่าจะเริ่มเขียนอย่างจริงจังก็เดือนกันยายน 1830 ใช้เวลา 6 เดือนเต็ม เสร็จสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 19831, ฉบับแปลภาษาอังกฤษโดย Frederic Shoberl ใช้ชื่อ The Hunchback of Notre Dame เพราะขณะนั้นนิยายแนว Gothic ได้รับความนิยมสูงกว่า Romantic การเพิ่มคำว่า Hunchback ให้สัมผัสถึงความมืดหม่นของเรื่องราว ตีพิมพ์ปี 1833
เรื่องราวของยิปซีสาว Esmeralda (รับบทโดย Patsy Ruth Miller) ในเทศกาลประจำปี (Festival of Fools) บริเวณหน้ามหาวิหาร Notre-Dame, Paris ปี 1482 ความงามของเธอตราตรึงชายหนุ่มทั้งหลาย ประกอบด้วย
– Phoebus de Chateaupers (รับบทโดย Norman Kerry) กัปตันหนุ่มสุดหล่อ เป็นพ่อมาลัยร้อยรักโปรยหว่านเสน่ห์ให้กับสาวๆ พลันตกหลุมแรกพบ Esmeralda แสดงความต้องการแต่งงานอยู่กินกับเธอทั้งๆที่ตัวเองมีคู่หมั้นอยู่แล้ว
> ฉบับนิยาย เหมือนว่า Phoebus จะสนแต่เรือนร่างของหญิงสาวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตอน Esmeralda ถูกปรับปรำตัดสินประหารแขวนคอ ก็ไม่เคยคิดจะไปแก้ต่างให้ สุดท้ายเลือกแต่งงานกับคู่หมั้น Fleur de Lys
> ฉบับภาพยนตร์ ก็ยังคงไม่แก้ต่างให้ Esmeralda แต่ได้เข้าช่วยเหลือ แสดงความรักมั่นคงต้องการแต่งงานกับเธอ ส่วนผลลัพท์เป็นอย่างไรต่อไป ดูแล้วคงไม่น่าสุขสมหวังแน่
– Claude Frollo (รับบทโดย Nigel De Brulier) มีตำแหน่ง Archdeacon ผู้ช่วยบาทหลวงแห่ง Notre-Dame
> ฉบับนิยายจะคือตัวร้ายที่คลั่งไคล้ในความงามของ Esmeralda ทำทุกอย่างโดยไม่สนถูกผิด และมีแผนการชั่วร้ายต้องการฮุบ Notre-Dam ให้เป็นของตนเอง
> ฉบับภาพยนตร์ Don Claude เปลี่ยนตรงกันข้ามให้เป็นคนดี ผู้ช่วยเหลือ Quasimodo ตั้งแต่เด็กให้กลายเป็นคนเขย่าระฆัง มีความปรารถนาหวังดีต่อทุกคน และยังให้การช่วยเหลือ Esmeralda ขณะหนีเข้ามหาวิหารของพระผู้เป็นเจ้า
– Jehan Frollo (รับบทโดย Brandon Hurst) น้องชายของ Claude Frollo
> ฉบับนิยาย เป็นคนสำมะเลเทเมา เสเพล แต่ไม่ได้มีความคิดชั่วร้ายแบบพี่ชาย
> ฉบับภาพยนตร์ คือบุคคลผู้มีความชั่วช้าร้ายกาจ เป็นเจ้านายของ Quasimodo ด้วยความคลั่งไคล้ในความงามของ Esmeralda ทำทุกสิ่งอย่างไม่สนถูกผิด วางแผนลักพาตัว, ป้ายสี Quasimodo, ลอบสังหาร Phoebus ฯ จนสุดท้ายกรรมตามทัน (นี่เอา Claude ฉบับนิยายมาแทนกันเลย)
– Clopin Trouillefou (รับบทโดย Ernest Torrence) ผู้เป็น King of Truands มีตำแหน่งสูงสุดใน Court of Miracles, มอง Esmeralda ด้วยสายตารักใคร่เอ็นดูเหมือนลูกรักแท้ๆ พยายามปกป้องเธอจาก Phoebus และตอนท้ายเป็นผู้รวมรวบสมัครพรรคพวกกระยาจก ก่อการจราจลเพื่อเข้าช่วยเหลือจากมหาวิหาร Notre-Dame
– Pierre Gringoire (รับบทโดย Raymond Hatton) นักกวีเร่ร่อน จับพลัดจับพลูหลงเข้าไปใน Court of Miracles ถูกตัดสินแขวนคอแต่ได้รับการช่วยเหลือโดย Esmeralda จึงมองเธอด้วยหนี้บุญคุณ
> ฉบับนิยาย Gringoire ต้องเลือกระหว่างถูกแขวนคอกับแต่งงานกับยิปซี ซึ่งก็ได้ Esmeralda ที่รับปากแต่งงานกับเขาใน 4 ปี แต่ใจบอกคงไม่มีวันรักเพราะมองว่าเป็นคนขี้ขลาดตาขาว (ตัวเองขณะนั้นตกหลุมรัก Phoebus อยู่ก่อนแล้ว)
– Quasimodo (รับบทโดย Lon Chaney) ชายหลังค่อมที่ปกติอาศัยอยู่แต่ในมหาวิหาร Notre-Dame ไม่เคยชื่นชอบใครเป็นพิเศษนอกจากเจ้านาย Claude กับ Jehan ครั้งหนึ่งพบกับความยากลำบาก ถูกใส่ร้ายป้ายสี เฆี่ยนตีกลางสาธารณะเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ด้วยความกระหายได้รับน้ำใจจาก Esmeralda ทำให้มองเธอราวกับพระแม่ผู้สูงส่ง จึงพยายามปกป้องเธอเมื่อเห็นว่ากำลังจะถูกตัดสินประหารชีวิต
จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ เกิดจากความสนใจของ Lon Chaney ที่ต้องการรับบท Quasimodo มาช้านาน พยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ชื่อเสียง หาเงินทุน รวมทั้งยังซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงจากนิยายไว้ในครอบครองแล้วด้วย แต่กลับหาสตูดิโอไหนให้ความสนใจไม่ได้ เพราะสเกลของหนังมีขนาดใหญ่มาก (ต้องจำลองสร้างมหาวิหาร Notre-Dame ขึ้นมาเลย) จนกระทั่งได้มาพบกับโปรดิวเซอร์ Irving Thalberg ที่แสดงความสนใจ นำโปรเจคนี้ไปพูดคุยเสนอกับ Carl Laemmle เจ้าของสตูดิโอ Universal จนได้รับทุนสร้างสูงถึง $1.25 ล้านเหรียญ (เป็นหนังทุนสร้างสูงสุดของ Chaney เลยละ)
สำหรับผู้กำกับ Chaney พยายามติดต่อ Frank Borzage, Erich von Stroheim, Allen Holubar, Chester Withey, Emile Chautard ก่อนมาลงเอย Wallace Worsley ที่เคยร่วมงานกันมาก่อน ฯ
Wallace A. Worsley, Sr. (1878 – 1944) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Wappingers Falls, New York ปู่ทวดอพยพมาจากอังกฤษ เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที ก่อนกลายมาเป็นนักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับ Chaney เรื่อง The Penalty (1920), A Blind Bargain (1922) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว]
Worsley ไม่ใช่ผู้กำกับที่มีความโดดเด่นในผลงานมากนัก แต่การที่สามารถควบคุมงานสร้างขนาดใหญ่ และปริมาณนักแสดงตัวประกอบได้เยอะเท่านี้ คงต้องถือว่ามีฝีไม้ลายมือระดับหนึ่งเลยละ
เกร็ด: เห็นว่านี่เป็นหนังเรื่องแรกของโลกที่มีการใช้วิทยุสื่อสาร (Radio Communication) และเครื่องขยายเสียง (Loudspeaker) เพื่อชี้แจงรายละเอียด พูดคุยสนทนากับนักแสดง/ผู้ช่วยกองถ่าย ระหว่างการถ่ายทำฉากใหญ่ๆ, จัดให้โดยบริษัท Western Electric
ใช้พื้นที่กว่า 9 เอเคอร์ ในการสร้างฉากมหาวิหาร Notre-Dame ขนาดเกือบเท่าของจริง ใช้คนงานกว่า 750 คนทั้งช่างไฟ ช่างไม้ ช่างทาสี ฯ รวมเวลาถึง 6 เดือนในการก่อสร้าง, ถ่ายทำเสร็จแล้วก็ไม่ได้รีบทุบทำลาย คงได้ใช้ประโยชน์อีกหลายครา จนกระทั้งถูกไฟไหม้มอดเป็นจุนเมื่อปี 1967
Leonidas Frank ‘Lon’ Chaney (1883 – 1930) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เจ้าของฉายา ‘The Man of a Thousand Faces’ เกิดที่ Colorado Springs ครอบครัวอพยพมาจากอังกฤษ พ่อ-แม่เป็นคนใบ้ทั้งคู่ (แต่ Chaney ไม่ได้เป็น) เลยเก่งภาษามือ เชี่ยวชาญละครใบ้ (Meme) เริ่มต้นทำงานเป็นนักแสดงละครเวที ค่อยๆมีชื่อเสียงประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ จนปี 1913 เคยพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกลืนสารปรอทแต่ไม่สำเร็จ ทำให้ถูกคนในวงการละครเวทีปฏิเสธ เลยผันตัวสู่วงการภาพยนตร์ ดิ้นรนอยู่หลายปี จนเริ่มมีชื่อเสียงจาก The Miracle Man (1919) รับบทเป็นกบ (The Frog) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่แต่งหน้าแต่งตาเองด้วย หลังจากนี้ก็มีแต่จะรุ่งขึ้นเรื่อยๆ ได้รับการจดจำจากภาพลักษณ์ที่ไม่เคยซ้ำเดิม Oliver Twist (1922), The Hunchback of Notre Dame (1923), He Who Gets Slapped (1924), The Phantom of the Opera (1925), The Unknown (1927), London After Midnight (1927) ฯ
น่าเสียดายที่ Chaney อายุสั้นไปเสียหน่อย น่าจะเพราะจากความพยายามฆ่าตัวตายครั้งนั้น ทำให้เขากลายเป็นมะเร็ง ตกเลือดในลำคอเสียชีวิต เพิ่งจะมีผลงานหนังพูดได้เพียงเรื่องเดียวคือ The Unholy Three (1930)
Quasimodo คือชายผู้มีความผิดปกติทางกาย หลังค่อม ตาพร่ามัว หูไม่ค่อยได้ยิน พูดไม่ได้ ทำให้ถูกสังคมรังเกียจต่อต้าน กลายเป็นคนกร้านโลก กักฬระ หัวรุนแรง ได้รับการช่วยเหลือจาก Don Claudio และ Jehan เรียกพวกเขาว่าเจ้านาย (Master) อาศัยอยู่แต่ภายในมหาวิหาร Notre-Dame ไม่ค่อยออกไปไหน รับหน้าที่เป็นคนเขย่าระฆังโบสถ์, การได้พบกับความมีน้ำใจของ Esmeralda ทำให้เขายกเธอเปรียบเสมือแม่พระ วาดหวังให้เป็นสุขสม สบาย ปลอดภัย ดูแล้วคงไม่ใช่ความรักแน่ๆ เพราะเจ้าตัวคงไม่เคยรู้จัก/ได้รับ จากใครมาก่อน
ในการเตรียมรับบทของ Lon Chaney ได้เดินทางไปศึกษาสัมภาษณ์บุคคลที่มีความผิดปกติลักษณะต่างๆ แล้วนำมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับการแต่งหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหวของตัวเอง, หลังค่อมของเขาพอกด้วยปูนปลาสเตอร์ (plaster hump) น้ำหนักรวมๆประมาณ 10-15 ปอนด์ ไม่ได้ทำให้ Chaney เกิดปัญหาเกี่ยวกับหลังตามมา
ค่าตัวของ Chaney คือ $2,500 เหรียญต่อสัปดาห์ เริ่มต้นถ่ายทำเดือนธันวาคม 1922 เสร็จสิ้นเดือนมิถุนายน 1923 รวมๆแล้วกว่า $60,000 เหรียญ นี่ยังไม่ได้รวมโบนัสจากกำไรของหนัง ถือว่าเป็นรายรับสูงสุดในชีวิตของเขาเลยละ
Patsy Ruth Miller (1904 – 1995) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ St. Louis, Missouri ได้รับการค้นพบโดย Alla Nazimova ในงานเลี้ยง Hollywood ครั้งหนึ่ง ได้รับบทเล็กๆในหนังแจ้งเกิดเรื่อง Camille (1921) ประกบ Rudolph Valentino จนได้รับเลือกให้เป็น WAMPAS Baby Star เมื่อปี 1922, ผลงานโด่งดังที่สุด The Hunchback of Notre Dame (1923)
เกร็ด: WAMPAS Baby Star คือรางวัลที่ผู้สื่อข่าว/นักข่าว มอบให้กับกลุ่มนักแสดงหญิงที่ดูแล้วมีแนวโน้มจะกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงใน Hollywood ช่วงระหว่างปี 1922 – 1934
รับบท Esmeralda ตอนทารกถูกชาวยิปซีลักพาตัว สลับเปลี่ยนกับ Quasimodo ทำให้กลายเป็นเด็กเร่ร่อน เติบโตขึ้นกลายเป็นสาวแรกรุ่น น่ารัก สดใส บริสุทธิ์ ทำให้กลายเป็นที่หมายปองรักของชายหนุ่มทั้งหลาย ต้องการครอบครอบทั้งกายและใจ ซึ่งตัวเธอเหมือนจะตกหลุมรักในความหล่อเหลาผู้ดีชั้นสูงของ Phoebus แต่โชคชะตาจะพาให้เธอได้ครองคู่สำเร็จดั่งหมายปองหรือเปล่าคงต้องลุ้นกัน
น่าเสียดายที่ Miller ตัดสินใจรีไทร์ออกจากวงการเมื่อปี 1931 คงเพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัยหนังพูดได้
ถ่ายภาพโดย Robert Newhard, Tony Kornman, Virgil Miller, Stephen S. Norton, Charles J. Stumar ที่มีเครดิตถึง 5 คน คงเพราะสเกลงานที่ใหญ่ จำต้องใช้ Operator ควบคุมหมุนอยู่หลังกล้องหลายคน ก็ไม่รู้ส่วนใหญ่ที่เห็นในหนังเป็นผลงานของใคร แต่ก็ไม่ค่อยมีอะไรน่าพูุดถึงเท่าไหร่ เน้นการจัดวางองค์ประกอบในเฟรมภาพ เป็นเทคนิคคลาสสิกในยุคหนังเงียบ
ที่จะโดดเด่นคงเป็นการใส่สี ให้สัมผัสทางอารมณ์ของหนัง อาทิ เหลืองอำพัน (amber)=ถ่ายภายใน, สีน้ำเงิน=ถ่ายกลางคืน, สีม่วง=เจ็บปวดทุกข์ทรมาน ฯ
ตัดต่อโดย Edward Curtiss, Maurice Pivar, Sydney Singerman หนังใช้มุมมองของมหาวิหาร Notre-Dame ในการเล่าเรื่อง ซึ่งก็คือมุมมองเดียวกับ Esmeralda ตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์แทน ตัดสลับเรื่องราวของตัวละครต่างๆ ที่วนเวียนอยู่รอบๆพวกเธอทั้งสอง
มีช็อตเล็กๆเชิงสัญลักษณ์ที่แทรกใส่เข้ามาสองสามครั้ง ความหมายค่อนข้างจะสากล อาทิ
– ตอนที่ Esmeralda ได้รับการช่วยเหลือจาก Phoebus ช็อตหนึ่งเป็นภาพเหยื่อติดใยแมงมุม (Esmeralda ติดกับตกหลุมรัก ยินยอมเป็นเหยื่อให้กับแมงมุม Phoebus)
– ตอน Phoebus ถูกแทง ตัดภาพไปที่ Quasimodo เป่าเทียนดับ, แสงสว่าง/ชีวิต กำลังถึงการดับสิ้น
– การเขย่าระฆังของ Quasimodo เสียงจากสวรรค์ บางครั้งมีความยินดีปรีดา, บางครั้งเป็นเสียงเพรียกแห่งความตาย ฯ
ใจความของหนังเรื่องนี้ ในวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ Worsley และ Chaney คงคือเรื่องราวของหญิงสาวพบเจอผู้ชายประเภทต่างๆในสังคม มีทั้งที่รักบริสุทธิ์ รักเรือนร่าง รักริษยา รักเทิดทูน ฯ จะมีใครคนไหนดีพอที่จะได้ตกหลุมรักอาศัยร่วมกันอยู่กิน Happy Ending กับเธออย่างเป็นสุข
แต่ความตั้งใจจริงของนักเขียน Victor Hugo เมื่อเราแทน Esmeralda ด้วยมหาวิหาร Notre-Dame เหล่าชายหนุ่มทั้งหลายจะคือตัวแทนของผู้คนที่มีปฏิกิริยา ทัศนคติ มุมมองแนวคิด ความรักความรู้สึก ต่อสถานที่แห่งนี้เป็นเช่นไร (ผมจะขอวิเคราะห์ตรงนี้ โดยอิงจากเนื้อเรื่องของนิยายนะครับ)
– Phoebus เป็นตัวแทนของกลุ่มปกครองประเทศ ผู้ดีมีตระกูลชั้นสูง นิสัยกะร่อนปลิ้นปล้อน ปากอ้างว่ารักแต่ลับหลังหาได้แยแสสนใจใยดี
– Claude Frollo เป็นตัวแทนของบาทหลวง/ผู้นำมหาวิหาร Notre-Dame แทนที่จะสนใจปกป้องดูแลธำรงรักษา กลับไม่แยแสสนใจ ครอบครองแล้วไง จะทำให้เปลี่ยนไปในแนวทางของฉันเอง
– Clopin Trouillefou ตัวแทนคนชนชั้นล่างที่หาได้รับรู้ เข้าใจ สนใจ คุณค่าแท้จริงของมหาวิหาร Notre-Dame ปากอ้างว่าเธอเป็นของพวกเรา แต่กลับสามารถทุบทำลาย ก่อการร้ายจราจล
– Pierre Gringoire หนุ่มน้อยนักกวีผู้ขลาดเขลา เราสามารถมองว่าตัวละครนี้คือตัวแทนของ Victor Hugo ได้เลยนะครับ เพราะความที่เป็นนักเขียน/นักกวีเหมือนกัน ที่ได้แต่แสดงความสนใจ เห็นใจ เอื้อเฟื้อต่อ Esmeralda/มหาวิหาร Notre-Dame แต่ไม่สามารถกระทำอะไรได้นอกจากเขียนถ้อยคำพรรณาชื่นชมหลงใหล
ส่วน Quasimodo ชายหลังค่อม พูดไม่ได้ ตามองไม่ค่อยเห็น มีความผิดปกติมากมาย ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ แต่คิดว่าผู้เขียนน่าจะให้เป็นตัวแทนของผู้คนทั่วๆไป หลังค่อมเพราะทำตัวเหมือนคนแก่ไม่ยอมสนใจอะไร, มองไม่ค่อยเห็นคือปิดตาไม่พยายามรับรู้, พูดไม่ได้คือการไม่ยอมแสดงความคิดเห็น ฯ ทำงานเขย่าระฆัง คือดีแต่ป่าวประกาศ ส่งเสียงกึกก้อง แต่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ทั้งนั้น
ในฉบับนิยายตอนจบ Esmeralda ถูกจับประหารเสียชีวิต มีนัยยะถึงจุดจบของมหาวิหาร Notre-Dame กำลังย่างกรายเข้ามาในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น Quasimodo เดินทางไปยัง Montfaucon สุสานที่เจ้าพนักงานโยนร่างของ Esmeralda ทิ้งไว้ ทรุดลงร้องไห้สิ้นลมข้างกายเธอ ประมาณ 18 เดือนถัดมา มีคนผ่านมา พยายามจะแยกกระดูกชิ้นส่วนของทั้งสองออกจากกัน แต่ปรากฎว่ามันสลายกลายเป็นผุยผง ไม่หลงเหลืออะไรทั้งนั้น
ว๊าว! นี่เป็นตอนจบของนิยายที่มีความทรงพลังขนลุกขนพองมาก ยิ่งใหญ่กว่าฉบับในหนังแบบเทียบกันไม่ติด แต่การเปรียบเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเสียเท่าไหร่, ก็เอาว่าในบริบทของหนัง เท่านี้ถือว่ายอดเยี่ยมพอใช้แล้ว โปรดักชั่นยิ่งใหญ่อลังกร ภาพลักษณ์การแสดงของ Lon Chaney ตราตรึงประทับจิตใจ แม้คุณภาพทุกสิ่งอย่างจะด้อยค่าลงไปตามกาลเวลา แต่ยังมีดีให้พูดถึงอยู่
ด้วยทุนสร้าง $1.25 ล้านเหรียญ ในปีแรกที่ฉายทำเงินได้ประมาณ $1 ล้านเหรียญ เป็นหนังทำเงินสูงสุดของ Universal ในปีนั้น, ยืนโรงฉายอยู่หลายปี รวมๆแล้วรายรับทั้งหมดประมาณ $3 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดในชีวิตของ Lon Chaney อีกด้วย
หลังจากได้รับรู้ความยิ่งใหญ่ของนิยายต้นฉบับ ทำให้ผมรู้สึกเฉยสนิทกับหนัง แม้ลึกๆจะชอบการแสดงของอีกหลายๆคน แต่นัยยะแฝงและความหมาย มันเทียบไม่ติดเลยสักนิด หลงเหลือเพียงความบันเทิงน้อยนิดที่แค่พอประทัง แบบนี้ค่อนข้างน่าผิดหวังเสียดายสุดๆ
แนะนำกับคอหนังเงียบ ชื่นชอบแนว Epic อลังการ, รู้จัก เคยอ่านนิยายของ Victor Hugo, ติดตามจักรวาลของ Universal Monster, และแฟนของ Lon Chaney ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความอัปลักษณ์พิศดาร และความชั่วร้ายในจิตใจ
Leave a Reply