the illusionist

The Illusionist (2010) French : Sylvain Chomet ♥♥♥♡

อนิเมชั่นสัญชาติฝรั่งเศสเรื่องนี้ สร้างขึ้นเพื่อคารวะ Jacques Tati โดยใช้ภาพลักษณ์ของ Monsieur Hulot ดัดแปลงเรื่องราวจากบทภาพยนตร์ที่ผู้กำกับดังพัฒนาค้างไว้ไม่เสร็จ, สร้างโดย Sylvain Chomet ที่มีผลงานดังอย่าง Triplets of Belleville (2003) และหนังได้เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature Film

Jacques Tati ผู้กำกับชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศส เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1982 มีผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเพียง 6 เรื่อง ตัดหัวท้ายออก มี 4 เรื่องใช้ตัวละครที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน Iconic แห่งโลกภาพยนตร์ Monsieur Hulot (Alter-Ego ของผู้กำกับเอง) ประกอบด้วย Les Vacances de Monsieur Hulot (1953), Mon Oncle (1958), Playtime (1967) และ Trafic (1971), ในชีวิตมีสิ่งหนึ่งที่เป็นตราบาปจนวันตาย ตอนสมัยยังหนุ่มแน่น ตกหลุมรักหญิงสาวสัญชาติ Czech นักเต้นชื่อ Herta Schiel มีลูกสาวด้วยกันชื่อ Helga Marie-Jeanne Schiel แต่เพราะความไม่พร้อมและครอบครัวไม่ยอมรับ (โดยเฉพาะพี่สาว) ทำให้ Tati ตัดสินใจทิ้งลูกทิ้งแฟนสาว ไม่เคยกลับไปหาอีก

อนิเมชั่นเรื่องนี้หวานขมปนเศร้า ระหว่างรับชมผมเกิดอาการซึม จิตตก ด้วยบรรยากาศที่ค่อนข้างอึมครึมหดหู่ เรื่องราวสะท้อนความโหดร้าย ยากลำบากของสังคม และตอนจบอันรวดร้าวที่จะทำให้คุณจุกแน่นอก ใจผมแทบไม่อยู่กับเนื้อกับตัว สิ้นหวังหมดเรี่ยวแรง โอ้ละหนอ! นี่หรือคือสิ่งที่เรียกว่า’ชีวิต’

Sylvain Chomet นักเขียนการ์ตูน และผู้กำกับอนิเมชั่นสัญชาติฝรั่งเศส, เกิดที่ Maisons-Laffitte, Yvelines ชื่นชอบการวาดรูปตั้งแต่เด็ก เรียนจบย้ายไป London ทำงานเป็นอนิเมเตอร์ให้กับ Richard Purdum Studio และรับงาน freelance ทำโฆษณาให้กับบริษัทดังอย่าง Principality, Renault, Swinton, Swissair ฯ ปี 1991 เริ่มต้นคิดสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรก The Old Lady and the Pigeons (La Vieille Dame et les pigeons) กว่าจะเสร็จก็ปี 1997 ได้เข้าชิง Oscar: Best Animated Short Film แม้ไม่ได้รางวัล แต่ก็ทำให้เขาได้รับโอกาสสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรก ที่หลายคนอาจรู้จัก The Triplets of Belleville (2003)

ในระหว่างที่ Chomet สร้าง Les Triplettes de Belleville มีโอกาสพบกับ Sophie Tatischeff ลูกสาวคนรองของ Jacques Tati เพื่อขออนุญาตินำฟุตเทจจากหนังเรื่อง Jour de fête (1949) มาใช้ประกอบหนัง ซึ่งเธอก็ได้พูดเปรยๆถึงโปรเจคหนึ่งของพ่อ บทภาพยนตร์ที่ตกมาอยู่ในมือของเธอ ยื่นข้อเสนอแสดงความสนใจอยากให้สร้างเป็นภาพยนตร์ โดยให้ความเห็นเพียงแค่ว่า ‘ไม่อยากให้นักแสดงคนไหนมารับบทแทนพ่อของฉัน’ นี่ทำให้ Chomet เกิดความคิดเข้าใจว่าคงอยากให้เขาสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ขึ้นมา

แต่ Sophie Tatischeff ด่วนเสียชีวิตไปก่อนเมื่อเดือนตุลาคมปี 2001 ซึ่งหลังจาก Belleville Rendez-vous ได้ออกฉายในปี 2003 ผู้ดูแลสินทรัพย์สมบัติของ Jacques Tati ก็ได้ติดต่อเขา เพื่อให้สืบสานต่อความต้องการของเธอในการดัดแปลงสร้าง L’Illusionniste เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่น

เรื่องราวของ L’Illusionniste พัฒนาขึ้นน่าจะช่วงประมาณปลายทศวรรษ 50s หลังจากความสำเร็จหนังเรื่อง Mon Oncle (1958) ร่วมงานกับเพื่อนสนิทนักเขียนบท Henri Marquet วางแผนสร้างเป็น Live-Action เซ็นสัญญานักแสดงนำหญิงไว้แล้วด้วยคือ Sylvette David โมเดลลิ่งขาประจำของ Picasso, ด้วยความตั้งใจให้เป็นดั่ง ‘จดหมายรัก ถึงลูกสาว’ ของ Jacques Tati คำขอโทษต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จากความโง่เขลาดั่งกบในกะลาครอบของตนเอง เพื่อเป็นการยอมรับผิดต่อเธอและให้สาธารณะชนมองเห็น เข้าใจว่ามนุษย์ก็ต้องมีความผิดพลาด เพียงบางสิ่งอย่างถ้าได้รับการไขแจ้งให้กระจ่าง (illustrates) ก็จะไม่ทำให้เรื่องราวลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก

ซึ่งความเข้าใจของผู้กำกับต่อบทภาพยนตร์นี้ มองว่า Tati เขียนขึ้นเพื่อเป็นจดหมายรักส่งถึง Sophie Tatischeff ต่อความที่เขาต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ยุ่งวุ่นวาย แทบจะหาเวลาเลี้ยงดูแลเอาใจใส่ลูกสาวไม่ได้เลย ความต้องการคือ ให้เธอรับรู้ว่าโลกความจริงมันไม่ได้ง่าย สดใสสวยงาม เสกทุกสิ่งอย่างขึ้นได้ดั่งฝัน

กระนั้นเมื่อตอนอนิเมชั่นเรื่องนี้ออกฉาย ได้เกิดประเด็นถกเถียงถึงความตั้งใจแท้จริงของ Tati ว่าอาจไม่ใช่อย่างที่ Chomet เข้าใจ ซึ่งลูกสาวคนโต Helga Marie-Jeanne Schiel ขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่ ออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่ง (เพราะเธอไม่ได้รับเครดิตกล่าวถึงแม้แต่น้อย) และเหมือนมีใครสักคนในครอบครัวได้ออกมาชี้แจง เล่าถึงเนื้อหาความตั้งใจแท้จริงจากบทภาพยนตร์นั้น ว่าจริงๆแล้วเป็นจดหมายรักส่งถึง Helga Marie-Jeanne Schiel

เนื่องจากผมไม่เคยอ่านบทภาพยนตร์ที่ Jacques Tati เขียนขึ้นนี้ จึงไม่สามารถแสดงความเห็นถึงความตั้งใจแท้จริงของเขาได้ แต่ถ้าเป็นจริงดังคำอ้างนี้ แปลว่า Chomet สร้าง L’Illusionniste โดยไม่เข้าใจสาสน์สำคัญของบทภาพยนตร์แม้แต่น้อย และถ้าคิดในมุมของ Helga Marie-Jeanne Schiel ก็น่าเห็นใจอย่างยิ่งเลย เพราะนี่เป็นการไปลบหลู่ บิดเบือนศรัทธา ความเข้าใจ ถึงผลลัพท์จะออกมายอดเยี่ยมแค่ไหน แต่การไม่ไว้หน้าบุคคลผู้เป็นส่วนหนึ่งของบทประพันธ์ แบบนี้ใช่ว่าจะน่ายกย่องสรรเสริญแม้แต่น้อย

แต่หนังก็คือหนังนะครับ แม้หลายครั้งจะสร้างขึ้นจากเรื่องราว ความเจ็บปวดทุกข์ยากลำบากของใครสักคน แต่นั่นคือจิตสำนึกของผู้สร้างและผู้ชม ที่จะนำเสนอหรือแสดงความรู้สึกบางอย่างออกมา บางคนอาจรับเรื่องราวนี้ไม่ได้ บางคนไม่คิดถึงรู้เรื่องอะไรด้วยซ้ำ นี่ก็สุดแล้วแต่ใจของท่านจะตัดสิน

ก็น่าคิดนะครับถ้า Sophie Tatischeff ได้มีโอกาสรับรู้เห็นผลงานของ Chomet เรื่องนี้ จะแสดงความเห็นออกมาอย่างไร … ผมว่าเธอมีแนวโน้มจะเห็นด้วยกับผู้กำกับมากว่านะ คือคิดว่าบทภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่อตนเอง

การไปทำงานที่ London ทำให้ผู้กำกับ Chomet รู้จักผู้คนมากมาย ก่อตั้งสตูดิโอ Django Films ขึ้นที่ Edinburgh, Scottland สรรหาทุนสร้างได้จาก Pathé Pictures (ของฝรั่งเศส) เป็นจำนวนเงิน £10 ล้านปอนด์ แม้จะใช้เวลาในการสร้างค่อนข้างนาน (มีกำหนดฉายหนังตั้งแต่ปี 2008 แต่เลื่อนไปเรื่อยๆจนปี 2010) แต่หนังกลับสิ้นสุดงบที่ £8.5 ล้านปอนด์ (=$17 ล้านเหรียญ)

พื้นหลังเดิมของหนัง คือประเทศ Czechoslovakia (เป็นประเทศบ้านเกิดของแฟนสาว Herta Schiel) แต่ผู้กำกับย้ายไป Scotland ในถิ่นที่บริเวณเคยอาศัยอยู่รู้จัก (คงเพราะลูกทีมส่วนใหญ่เป็นชาว Scott การเปลี่ยนพื้นหลังจะทำให้พวกเขามีความกระตือรือร้นทำงานมากขึ้นกระมัง)

ปี 1959 ณ กรุง Paris นักมายากลวัยกลางคนได้พบกับการเปลี่ยนแปลง ค่านิยม ความชื่นชอบของผู้คนในโลกยุคสมัยใหม่ ทำให้ต้องตัดสินใจออกเดินทางแสวงโชคไปยัง Scotland แล้วได้พบกับเด็กหญิงสาวคนหนึ่ง ที่หลงใหลในเวทย์มนต์มายากลของเขา (คิดว่าเป็นพ่อมดจริงๆ) เธอแอบสะกดรอยตาม ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจนกระทั่งได้ค้นพบความจริง และเป้าหมายชีวิตตนเอง

อนิเมชั่นเรื่องนี้ถือว่ามีกลิ่นอายสไตล์หนังของ Jacques Tati อยู่พอสมควร คือเป็นกึ่งๆหนังเงียบ Slapstick ตัวละครแทบไม่มีบทพูด เว้น Sound Effect เสียงสนทนาที่เป็นพื้นหลัง, ระยะภาพมีเพียง Long Shot กับ Medium Shot จะไม่มี Close-Up สักฉากเดียว, ลักษณะของงานภาพเป็นให้สัมผัสความรู้สึกเก่า โบราณ คร่ำครึ การใช้สีเน้นโทนอ่อน ไม่ฉูดฉาด เว้นเพียงบางครั้งใช้สีแดง (หรือเขียว) ที่ก็เป็นเอกลักษณ์ในหนังของ Tati เช่นกัน

จะมี reference หลายอย่างที่มาจากหนังของ Tati มี 2 อย่างที่เด่นชัด คือ ตัวละครหลักมีความคล้าย Monsieur Hulot (มากกว่า Tati เสียอีก) และภาพยนตร์ที่หลงเข้าไปดู Mon Oncle (1958) มีฟุตเทจจากหนังด้วย

เพลงประกอบโดย Sylvain Chomet ในช่วงแรกที่เรื่องราวอยู่ใน Paris ดนตรีจะมีกลิ่นอายฝรั่งเศสผสมแจ๊ส แต่พอเดินทางถึง Edinburgh ก็จะมีกลิ่นอาย Scottish เน้นเสียงฟลุตและเปียโน มีความนุ่มนวลอ่อนหวาน แต่ลึกๆแล้วเต็มไปด้วยความระทมขมขื่น

แต่สิ่งหนึ่งที่หนังขาดหายไป คือจิตวิญญาณของ Monsieur Hulot โดยปกติแล้ว เขาจะไม่แสดงอาการเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าออกมามากขนาดนี้ (คือมักจะร่าเริงแจ่มใส น้ำใจงาม อารมณ์ดี) แต่คงเพราะนี่ไม่ใช่ Hulot แต่คือ Jacques Tati แม้ภาพลักษณ์จะคล้ายกันแต่ไม่ใช่คนเดียวกัน (เรียกว่า Alter Ego ถือว่าตรงเลยแบบตรงกันข้าม)

ตัวละคร Tati ในอนิเมชั่นเรื่องนี้ แทบจะไม่มีความหวังอะไรในชีวิตหลงเหลืออยู่เลย ถูกวิวัฒนาการความเจริญของโลกยุคใหม่แซงหน้า ทำให้คนรุ่นเก่ากำลังถูกถีบตรงกระป๋องหากไม่ปรับปรุงพัฒนา นั่นทำให้ตัวเขาต้องดิ้นรนออกแสวงหาเสาะโชคยังสถานที่ห่างไกล ก็พบว่ามันยังมีอยู่ ที่ซึ่งคนเก่าๆอย่างเขาได้รับการยกย่องนับถือ ตอบรับเป็นอย่างดี แต่มันก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย เมื่อขายการแสดงทุกอย่างหมดแล้ว ก็จำต้องออกเดินทางต่อไป

เด็กหญิงสาว ดั่งดอกไม้แรกแย้มที่ใสบริสุทธิ์ เห็นแล้วเกิดความกระชุ่มกระชวยสดใส เรียกได้ว่าเป็นประกายความหวังของชีวิต, การที่เธอเกาะติดตัวละคร Tati เพราะหลงใหลในความมหัศจรรย์ของชีวิต ต้องการที่จะเรียนรู้ พบเจอ เปิดโลกทัศน์ แสวงหาหนทางเดินของตนเองบ้าง, ในโลกกว้างใบนั้น มีอะไรหลายๆอย่างที่เธอยังไม่รู้จัก มันเป็นเรื่องง่ายในการชี้นิ้ว แต่กว่าจะได้ครอบครองต้องทำอะไรมากมาย

จะเห็นว่านับตั้งแต่ได้อาศัยอยู่กับเด็กหญิงสาว ตัวละคร Tati ดูมีความสุขสดชื่นขึ้น แม้จะต้องพยายามดิ้นรนหาทุกวิถีทาง มายากลขายไม่ได้แล้วก็หันไปทำอย่างอื่น ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่แต่ก็ยังเพียงพอเลี้ยงดูประทังชีพ กระนั้นเมื่อวันที่เด็กหญิงเติบโตเป็นสาว ค้นพบเจอกับสิ่งที่ตนแสวงหา ก็ถึงเวลาที่เขาต้องตื่นจากความฝันอันแสนหวาน

(มีตัวละครหนึ่งที่สิ้นหวังสุดๆ คิดฆ่าตัวตาย แต่พอได้ชิมซุบจากมือของหญิงสาว เขาก็เปลี่ยนใจโดยทันที … นี่มีนัยยะถึง ความงามแรกแย้มของเธอ ได้ทำให้โลกใบนี้มีสีสันสวยงามขึ้นทันตา)

สำหรับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ประคบประหงม เลี้ยงดูแลลูกจนเติบใหญ่ เห็นวิวัฒนาการตั้งแต่เด็กจนโต ล้วนทำใจยากเมื่อถึงเวลาต้องปล่อยเขา/เธอ ให้เป็นอิสระ โบยบินสู่สังคมโลกภายนอกด้วยปีกของตนเอง, วินาทีแห่งความสูญเสียมักจะมีหลากหลายอารมณ์เกิดขึ้น อาทิ โล่งใจที่ได้ปลดเปลื้องภาระหนักอก, ซึมเศร้าเสียใจที่ต้องพลัดพราก, เป็นห่วงหวงแหนอาลัยอาวรณ์ ฯ กับอนิเมชั่นเรื่องนี้ผู้ชมส่วนใหญ่คงรู้สึกหดหู่ เพราะรับรู้ว่าเหตุผลการจากไปของเด็กหญิงสาว มันช่างไม่น่าอภิรมย์เอาเสียเลย

มันไม่ใช่เรื่องของความดีไม่ดี ถูกผิด หรือกตัญญูกตเวที เพราะโลกใบนี้มีพบเจอก็ต้องมีพลัดพราก มีเกิดก็ต้องมีตายเป็นสัจธรรม การจากไปของลูกรักในไส้เป็นสิ่งที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วสักวัน ซึ่งเขามีสิทธิ์มีเสียง มีเหตุผลความเชื่ออุดมการณ์ ความต้องการของตนเอง พ่อแม่ไม่สามารถที่จะไปบังคับห้ามปราม ปฏิเสธไม่ยินยอมต่อสิ่งที่พวกเขาคิดทำอะไรได้เลย (การทำแบบนั้นมีแต่รังจะทำให้ ลูกๆของพวกท่าน’ตายทั้งเป็น’นะครับ) ผมถือว่าเป็นเรื่องปกติเสียอีก เพราะเหตุผลที่เด็กชายหนุ่ม/เด็กหญิงสาว สามารถออกจากอ้อมอกของพ่อแม่ได้เร็ว แทบทั้งนั้นแลก็ด้วยเหตุผลประการเช่นเดียวกับในหนัง

การทิ้งเธอไปของตัวละคร Tati ต่างหากที่น่าฉงน เขาเป็นผู้ปิดทองหลังพระกระไร? หรือรับไม่ได้ที่ถูกทิ้ง? ในบริบทของหนังเหมือนว่าเขา’ตื่น’ขึ้นสู่โลกความจริง คือรับรู้ถึงความสุขที่ได้มาในช่วงเวลาสั้นๆนั้นๆ เพียงพอแล้วที่ทำให้ชีวิตก้าวเดินต่ออย่างไม่สิ้นหวัง, การจากไปก็เพื่อเริ่มต้นอะไรๆใหม่ คราวนี้เขาไม่มีของเล่นมายากลชิ้นเดิมแล้ว ไม่มีภาระให้ต้องเลี้ยงดูแล คาดคิดว่าคงเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆได้ ไม่มีความขลาดเกรงกลัวกับโลกยุคสมัยใหม่อีกต่อไป

หนังเรื่อง Boyhood (2014) หลังผ่านไป 12 ปี เมื่อลูกชายเรียนจบออกจากบ้าน คำพูดสุดท้ายของแม่ที่ผมจดจำฝังใจคือ

“I just thought there would be more.”

ชีวิตมันก็มีแค่นี้แหละครับ เมื่อเป้าหมายแห่งโลกได้รับการพิชิตหมดสิ้นไปแล้ว หลังจากนั้นคงเหลือเพียงอีกสิ่งหนึ่ง เป้าหมายปลายทางของชีวิต คือ ‘ความตาย’

เมื่อภาระหนึ่งหมดสิ้นไป หลงเหลือรอคอยเพียงความตาย ถ้าไม่คิดทำอะไรคงได้ม่องเท่งสมใจแน่, ฉากสุดท้ายขณะตัวละคร Tati นั่งรถไฟเดินทาง เห็นเด็กหญิงคนหนึ่งกำลังง่วนหาดินสอที่ตกพื้น เขาเล่นมายากลเสกดินสอมาให้เธอ มันดูไม่ได้มีประโยชน์สาระอะไรเลย แต่นั่นเป็นการส่งมอบต่อความฝันของตนเองให้ผู้อื่น บอกว่าโชคชะตาเขียนได้ด้วยมือเรา ตราบใดที่การเดินทาง (โดยรถไฟ) ไม่สิ้นสุด ตราบนั้นชีวิตยังคงมีความหวัง เป้าหมายใหม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

หนังเข้าชิงสาขา Best Animated Feature Film แทบจะทุกสถาบันเลยนะครับ ส่วนใหญ่จะแพ้ให้ Toy Story 3 (2010)
– Academy Award
– Golden Globe Award
– Annie Awards
– BAFTA Awards, Scotland
– César Awards (เทียบได้กับ Oscar ของฝรั่งเศส) ** ได้รางวัล
– European Film Awards ** ได้รางวัล

ส่วนตัวแค่ชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้ ผมไม่ค่อยชอบหนังประเภทที่ทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ เพราะมันสะท้อนถึงผู้สร้าง ผู้แต่ง เจ้าของเรื่องราว ล้วนต้องพบเจอ เคยได้รับ สัมผัส ความรู้ลักษณะนี้มา ถึงได้นำเสนอถ่ายทอดออกมาได้สมจริงขนาดนี้ นี่ยิ่งทำให้ผมรันทด เศร้าใจแทนพวกเขา ชีวิตมันไม่ได้แย่ขนาดนั้นนะ แค่พวกคุณไม่ได้พบเจออะไรที่มันดีๆเท่านั้นเอง

แนะนำกับคออนิเมชั่น ชื่นชอบภาพวาดสไตล์แปลกๆ บรรยากาศหม่นๆ, คนที่มีชีวิตซึมเศร้า หดหู่ ดูหนังอาจได้กำลังใจขึ้น, นักมายากล ชื่นชอบการเล่นกลต่างๆ, รู้จัก Jacques Tati และอยากเห็น Monsieur Hulot โลดแล่นอีกครั้ง (อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย)

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศความหดหู่ และมีตัวละครหนึ่งพยายามฆ่าตัวตาย

TAGLINE | “The Illusionist ภาพลวงตาในชีวิตของ Jacques Tati สอนให้ผู้ชมไม่ต้องถูกหลอก แต่ผู้กำกับอนิเมชั่นเรื่องนี้ Sylvain Chomet เหมือนกำลังหลอกตัวเองอยู่”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

 

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: