The Immigrant (1917) : Charlie Chaplin ♥♥♥
(mini Review) The Tramp เดินทางอพยพสู่อเมริกา ขึ้นเรือเดินสมุทรข้ามน้ำข้ามทะเล Atlantic Ocean ไม่มีเงินติดตัวสักเซนต์เดียว จะสามารถขึ้นฝั่งเอาตัวรอดได้หรือไม่
วันก่อนผมได้มีโอกาสรับชม Au revoir les enfants (1987) ของผู้กำกับ Louis Malle ปรากฎพบฟุตเทจภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่หลายนาที เลยเกิดความใคร่สนใจเป็นอย่างยิ่ง หารับชมได้ไม่ยากใน Youtube ซึ่งต้องบอกเลยว่าไม่ผิดหวังแม้แต่น้อย บางมุกตลกตกเก้าอี้ ชวนให้ใคร่สงสัยว่านั่นคือประสบการณ์ตรงของผู้กำกับ Charlie Chaplin ขณะขึ้นเรือข้ามมหาสมุทร Atlantic สู่อเมริกาครั้งแรกในชีวิตหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ใช่ก็น่าจะใกล้เคียงมากๆละนะ
The Immigrant คือผลงานภาพยนตร์ลำดับที่ 61 ของผู้กำกับ Charlie Chaplin ถือเป็นเรื่องที่ 11 จาก 12 ที่สร้างให้ Mutual Film Corp โดยในตอนแรกคิดเรื่อง เริ่มต้นด้วยฉาก ณ คาเฟ่แห่งหนึ่ง ตัวละคร The Tramp คือชายผู้ซึ่งไม่เคยเข้าร้านอาหารมาก่อน ไม่รู้จักมารยาทบนโต๊ะอาหาร พาลให้ถูกกลั่นแกล้งโดยบริกรร่างใหญ่อันธพาล จนกระทั่งมีโอกาสพบเจอหญิงสาวผู้น่ารัก ที่ทำให้เขากลายเป็นผู้เป็นคนขึ้น
ขณะที่ฉากบนเรือข้ามสมุทร คิดขึ้นหลังจาก Chaplin ต้องการหาคำอธิบาย เหตุผลสนับสนุนเรื่องราวของฉากคาเฟ่นั้น เลยได้ข้อสรุปเป็น เพราะพวกเขาเพิ่งเดินทางมายังอเมริกาครั้งแรก ไม่มีเงินติดตัวสักแดงเดียว หิวโหยกระหาย ต้องดิ้นรนหาวิถีทางเอาตัวรอดเมื่อมาถึง
แม้ตัวหนังจะมีความยาวเพียง 2 Reel (22 นาที) แต่ด้วยความ perfectionist ของผู้กำกับ Chaplin เริ่มปรากฎออกเด่นชัดใน ซึ่งพอถ่ายทำเสร็จเห็นว่ามีฟุตเทจทั้งหมดความยาว 90,000 ฟุต (27,430 เมตร) เท่ากับฟีล์ม 90 Reel (เท่ากับหนังยาวประมาณ 9-10 เรื่องเลยนะ) ใช้เวลาตัดต่อสี่วันสี่คืนไม่ได้หลับนอน เพื่อให้ทันออกฉายสุดสัปดาห์นั้น
มีสองฉากที่โดยส่วนตัวประทับใจมากเป็นพิเศษ, ขณะเรือโคลงเคลงแล้วจานอาหารเคลื่อนไหลไปมา The Tramp และชายอีกคนหนึ่งต้องแข่งกันตักทีละคำ เปรียบเทียบได้ราวกับโอกาสที่เดี๋ยวมาเดี๋ยวไป ตักตวงได้เท่าไหร่ก็จงรีบตักเอา
อีกฉากหนึ่งคือตอนเหรียญของบริกรหล่นลงที่พื้น The Tramp พบเห็นแล้วพยายามหาข้ออ้าง ทำท่าทาง ลีลาเพื่อหยิบคว้ามาจ่ายเป็นค่าอาหาร, เปรียบเงินเหรียญนั้นได้กับโอกาส ต้องใช้เล่ห์และกลเพื่อให้ได้มาครอบครอง บางคนเหยียบเจ้าสิ่งนี้ไว้แต่กลับไม่รู้ตัว (ไม่รับรู้/สนใจโอกาส) กระนั้นได้มาแล้วอาจพบว่าเป็นเพียงของปลอมภาพลวงตาก็ยังได้
ในช่วงปลายทศวรรษ 40s เมื่อผู้กำกับ Chaplin ถูกตีตราหน้าว่าเป็นผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ทำให้เขาอพยพลี้ภัยกลับบ้านเกิดประเทศอังกฤษ ไม่หวนคืนอเมริกาอยู่หลายทศวรรษ มีฉากหนึ่งในหนังเรื่องนี้ ตอนที่ The Tramp กำลังรอผ่านด่านศุลกากรเข้าประเทศ เขายืนเหม่อลอยแล้วถูกเจ้าหน้าที่คนหนึ่งถีบส่ง มีนักวิจารณ์สมัยนั้นหลายคนตีความฉากนี้ว่าคือ ‘Anti-American’ แต่ผมว่า Chaplin ไม่ได้มีความตั้งใจอะไรไปมากกว่าทำให้มันดูตลกขบขันเลยนะ
ตราบใดยังมีชีวิตก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนฟันฝ่าอุปสรรค เหมือนดั่งคลื่นลมโคลงเคลงรุนแรง ถ้าไม่คิดสั้นเป็นขโมยกับโจร และมีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สักวันหนึ่งโอกาสย่อมถามถึง และฉากจบของหนัง เข้าจดทะเบียนสมรสร่วมหอลงโลง มีนัยยะสื่อถึงการไปสู่จุดแห่งความสำเร็จ
จัดเรตทั่วไป
Leave a Reply