The Informer (1929) : Arthur Robison ♥♥♥♥
ความหวาดระแวง ทำให้มนุษย์กระทำสิ่งโง่เขลา ตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า คิดคดทรยศหักหลังพรรคเพื่อนฝูง หรือแม้แต่คนที่เราตกหลุมรัก กระทั่งเมื่อถูกผลกรรมติดตามทัน ค่อยตระหนักว่าไม่สิ่งใดในโลกให้อภัยกันไม่ได้
ผมรู้สึกพลาดอย่างรุนแรงที่ไม่ได้รับชม The Informer (1929) เมื่อตอนนำมาฉายเทศกาลหนังเงียบเมื่อหลายปีก่อน เพราะครุ่นคิดว่าคุณภาพคงธรรมดาทั่วไป (อาจหาเวลาไปไม่ได้ด้วยกระมัง) แต่ก็มีความตั้งใจจะหามารับชมตั้งแต่ปีก่อน (ช่วงที่เขียนถึงหนังเงียบหลายๆเรื่อง) จริงๆก็รอฉบับบูรณะกว่าจะจัดหน่าย ค้นหาดูออนไลน์ได้ในที่สุด
แล้วก็อึ้งทึ่งอย่างคาดไม่ถึง หนังมีความลงตัว กลมกล่อม ทรงพลังมากๆในหลายๆฉาก แถมเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ นัยยะสื่อความหมายมากมาย โดดเด่นสุดๆเห็นจะเป็นการแสดงของ Lars Hanson ถ่ายทอดสภาพจิตวิทยาของบุคคลผู้มีความ ‘หวาดระแวง’ ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ไม่ย่อหย่อนไปกว่าคู่ปรับ Conrad Veidt … แม้ว่า Hanson หล่อกว่า แต่ยังสู้ Charisma ของ Veidt ไม่ได้อยู่ดี
และหนังเรื่องนี้มี 2 ฉบับคือ หนังเงียบ (ที่ผสม Soundtrack และ Sound Effect) กับฉบับเสียงพูดส่วนหนึ่ง (Part-Talkie), มันเป็นการทดลองในช่วงเปลี่ยนผ่านยุคสมัย (จากหนังเงียบเป็นหนังพูด) แบบเดียวกับ Blackmail (1929) ของ Alfred Hitchcock ที่ก็มีทั้งฉบับหนังเงียบ และเสียงพูดส่วนหนึ่ง … แนะนำว่าหาฉบับหนังเงียบ (ที่ผสม Soundtrack และ Sound Effect) เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจดังกล่าว พอใส่เสียงพากย์ทับเข้าไปจะรู้สึกว่าเรื่องราวดำเนินไปรวดเร็วมากๆ (เพราะไม่มี Title Card) มันจะสูญเสียบรรยากาศบางอย่างระหว่างรับชมไป
Arthur Robison (1883 – 1935) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ German เกิดที่ Chicago, Illinois บิดาเป็นชาว German แต่งงานมารดาชาวอเมริกา แล้วครอบครัวอพยพย้ายกลับกรุง Berlin เมื่อปี 1895, โตขึ้นเลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์ สำเร็จการศึกษาปริญญาโท และเคยทำงานเป็นหมออยู่หลายปี กระทั่งเกิดความเบื่อหน่ายในอาชีพการงาน เลยออกเดินทาง(กลับ)สู่สหรัฐอเมริกา กลายเป็นนักแสดงละครเวทีตั้งแต่ปี 1911
“As early as 1911, however, I felt the need to perform on-stage. At first, I studied languages and then I returned to America, where I worked as an actor at a German-American theater for almost a year”.
Arthur Robison
ภายหลังบิดาเสียชีวิตเมื่อปี 1914, เดินทางกลับ Germany แล้วเริ่มทำงานในวงการภาพยนตร์ จากเขียนบทก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับ โด่งดังจาก Schatten – Eine nächtliche Halluzination (1923), Pietro, der Korsar (1925), Manon Lescaut (1926) ฯ หลายๆผลงานได้รับอิทธิพลจาก German Expressionist อยู่ไม่น้อย
ช่วงระหว่างงานสร้าง Die Todesschleife (1928) ได้เดินทางไปถ่ายทำยังกรุง London ณ สตูดิโอ British International Pictures เลยได้รับคำชักชวนให้สรรค์สร้าง The Informer (1929) ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันตีพิมพ์ปี 1925 แต่งโดย Liam O’Flaherty (1896-1984) นักเขียนสัญชาติ Irish เคยป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศ Ireland (Communist Party of Ireland)
O’Flaherty กล่าวถึงในหนังสืออัตชีวประวัติ ว่าเขาเขียนนวนิยาย The Informer โดยอ้างอิงจากเทคนิคภาพยนตร์ ‘based on the technique of the cinema’ ในลักษณะ ‘highbrow detective story’ ให้ผู้อ่านรู้สึกอยากติดตามเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยการเฉลยปมพร้อมสร้างปริศนาใหม่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆคล้ายห่วงโซ่ แล้วมาบรรจบครบรอบเป็นวงกลมวัฏจักรชีวิต
ดัดแปลงบทโดย Rolf E. Vanloo (ชาวเยอรมัน) ร่วมกับ Benn Wolfe Levy (สัญชาติอังกฤษ) … ผมคาดคิดว่า Levy เป็นคนดัดแปลงบทภาษาอังกฤษ แล้ว Vanloo แปลเป็นภาษาเยอรมันให้ผู้กำกับ Robison
เรื่องราวนำเสนอกลุ่มนอกกฎหมาย Irish Republican Army (IRA) ระหว่างการต่อสู้ยิงปะทะกับตำรวจ หนึ่งในสมาชิก Francis McPhilip (รับบทโดย Carl Harbord) พลั้งเผลอยิงผู้ตรวจการตำรวจเสียชีวิต ทำให้เขาถูกผลักไสออกจากองค์กรให้กลายเป็นแพะรับบาปแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งก่อนจะหลบหนีเข้าป่าหวนกลับมาร่ำลาอดีตแฟนสาว Katie Fox (รับบทโดย Lya De Putti) แต่ถูกพบเห็นโดยแฟนใหม่ Gypo Nolan (รับบทโดย Lars Hanson) บังเกิดความอิจฉาริษยา เลือดขึ้นหน้า เลยนำความไปแจ้งต่อตำรวจ เป็นเหตุให้ Francis ถูกไล่ล่า ยิงตอบโต้ และพลัดตกตึกเสียชีวิต
Gypo เป็นเพื่อนสนิทของ Francis นั่นทำให้พอรับรู้ข่าวการเสียชีวิต จึงเกิดความรู้สึกผิดอย่างมาก (คิดว่าจะแค่ให้ตำรวจจับกุมตัว ไม่ได้ต้องการให้ถึงตาย) และเมื่อสมาชิกของ IRA รับทราบสิ่งบังเกิดขึ้น ติดตามสืบหาจนค้นพบว่า Gypo เป็นคนทรยศองค์กร จึงออกไล่ล่าเพื่อลากตัวมาสำเร็จโทษ
Lars Mauritz Hanson (1886 – 1965) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Göteborg แต่ไปร่ำเรียนการแสดงยัง Helsinki, Finland เริ่มต้นแสดงละครเวที Othello, Hamlet ฯ ได้รับคำชักชวนสู่วงการภาพยนตร์โดยผู้กำกับ Mauritz Stiller ผลงานเรื่องแรก Dolken (1915) ค่อยๆสะสมชื่อเสียง และเพราะความหล่อเหล่าเลยโด่งดังระดับนานาชาติกับ Gösta Berlings saga (1923) ประกบ Greta Garbo [ในบทบาทแจ้งเกิด] จากนั้นก็ติดตามกันมายัง Hollywood มีผลงานเด่นๆ The Scarlet Letter (1926), Flesh and the Devil (1927), The Divine Woman (1928), The Wind (1928), The Informer (1929) ฯ
รับบท Gypo Nolan เพื่อนสนิทของ Francis ที่ต่างก็ตกหลุมรัก Katie แต่หลังจากเพียงพบเห็นทั้งสองลักลอบอยู่ด้วยกันในห้อง ก็บังเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต แอบติดตามไปพบเห็นพวกเขากำลังกอดจูบกันอีก จึงอาการเลือดขึ้นหน้า นำความไปแจ้งต่อตำรวจ คาดหวังแค่ให้ถูกจับกุม ควบคุมขัง แต่เหตุบานปลายจนกลายเป็นโศกนาฎกรรม นั่นสร้างความตกตะลึง คาดไม่ถึง รู้สึกผิดขึ้นมาโดยพลัน
Hanson ไม่ใช่แค่หล่อเหลา แต่ยังโดดเด่นในการแสดงอารมณ์อันซับซ้อน สะท้อนสภาพจิตวิทยาตัวละคร ซึ่งเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยอาการหวาดระแวง วิตกจริต ก่อนติดตามด้วยความรู้สึกผิด ค่อยๆสูญเสียจิตวิญญาณ ชีวิตล่องลอยไปอย่างไร้แก่นสาน จนกระทั่งได้ทำบางสิ่งอย่าง และผลกรรมติดตามกลับมาคืนสนอง เลยเริ่มอ้าแขนยินยอมรับความผิดพลาด และวินาทีได้รับการยกโทษให้อภัย (จากมารดาของ Francis) เริงระบำแห่งความตาย ก่อนล้มลงสิ้นลมหายใจ โดยไม่หลงเหลืออะไรค้างคาอยู่ภายใน
แซว: วินาทีที่ตัวละครเริงระบำแห่งความตาย นั่นสร้างความตกตะลึงให้ผมมากยิ่งกว่า The Seventh Seal (1957) เสียอีกนะ!
Lya de Putti ชื่อจริง Amália Helena Mária Róza Putti (1897-1931) นักแสดงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Vécse, Austria-Hungary ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเต้น ขึ้นเวทีเป็นนักแสดง Vaudeville จนได้รับโอกาสขึ้นโรงละคร Berlin Winter Garden เมื่อปี 1924, จากนั้นได้รับการค้นพบโดย Joe May ภาพยนตร์เรื่องแรก The Mistress of the World (1919), Varieté (1925), เคยร่วมงานผู้กำกับ Arthur Robinson เรื่อง Manon Lescaut (1926), The Informer (1929) ฯ
รับบท Katie Fox ก่อนหน้านี้แม้เคยเป็นคนรักของ Francis McPhilip ปัจจุบันเปลี่ยนมาทุ่มเทหัวใจให้ Gypo Nolan แต่เขากลับเข้าใจผิดเมื่อแอบพบเห็นเธอให้ความช่วยเหลือ Francis และกำลังจุมพิต … แท้จริงคือการร่ำลาครั้งสุดท้าย ความตายของอดีตคนรักทำให้เธอตระหนักได้ว่าคือการแจ้งความของ Gypo จึงพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้อง ไม่ต้องการสูญเสียเขาไปอีกคน กระทั่งหัวหน้า IRA นำภาพหญิงสาวที่คาดว่าเป็นชู้รักอีกคน (ของ Gypo) นั่นทำเธอมิอาจอดรนทน จนกระทำผิดพลาดแบบเดียวกับที่เขาเคยกระทำ
โดนปกติแล้ว Putti มักได้รับบทบาท ‘vamp’ สาวอันตราย แต่จะว่าไปเรื่องนี้ชายคนรักทั้งสองของเธอต่างม่องเท่งเพราะตนเอง –” ถึงอย่างนั้นผมก็รู้สึกสงสารเห็นใจตัวละครนะครับ ยึดถือมั่นในความรักรุนแรงมากๆ จนสูญเสียความครุ่นคิด สติปัญญา หลงเหลือเพียงปฏิกิริยาตอบสนองทางอารมณ์ แรกเริ่มไม่ต้องการสูญเสียอีกคน (พร้อมพลีกายให้หัวหน้า เพื่อแลกกับชีวิตของ Gyro) แต่หลังจากพบเห็นภาพชู้รัก ก็มิอาจยินยอมรับความจริงได้ (เปิดเผยให้หัวหน้าเห็นว่า Gyro หลบซ่อนตัวอยู่ในห้อง)
หนังไม่ได้นำเสนอว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวละครหลังจากนี้ แต่ก็สามารถคาดเดาไม่ยากว่า เธอคงคลุ้มคลั่งเสียสติแตก เพราะตนเองเป็นต้นเหตุให้สองคนรักตายจากไป ชีวิตไม่หลงเหลืออะไร คงไม่สามารถยินยอมรับความจริงได้ง่ายๆแน่
ถ่ายภาพโดย Werner Brandes (1889-1969) และ Theodor Sparkuhl (1894-1946) ทั้งสองเป็นชาว German ที่ย้ายมาทำงานประเทศอังกฤษ ในสังกัด British International Pictures
หนังสร้างฉากถ่ายทำยัง Elstree Studios ตั้งอยู่บริเวณตอนใต้ของ Shenley Road เพิ่งก่อสร้างโรงถ่ายแรกแล้วเสร็จปี 1925 ขณะนั้นกำลังร่วมโปรดักชั่นพร้อมๆกับ Blackmail (1929)
ถือเป็นความโชคดีที่ฉบับบูรณะของหนัง มีการปรับความคมเข้ม มืด-สว่าง ทำให้สามารถสังเกตเห็นรายละเอียดต่างๆ ค้นพบความงดงามที่ถูกชะล้างสูญสลายไปตามกาลเวลา เพิ่มเติมคือแต่งแต้มลงโทนสีน้ำเงินทั้งหมด (Tinting) เพื่อสร้างสัมผัสหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก แม้ฉากภายในห้องก็หาได้มีความอบอุ่นเลยสักนิด (สะท้อนสภาพจิตใจตัวละคร ที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง วิตกจริต สั่นสะท้านถีงขั้วหัวใจ)
Arthur Robison เป็นหนี่งในผู้กำกับชาว German ที่ได้รับอิทธิพลจากยุคสมัย German Expressionist อย่างฉากนี้ดวลปืนระหว่างตำรวจ vs. IRA มีการออกแบบที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมาอย่างผิดสังเกต เหมือนจะสื่อแต่ว่าเป็นการเผชิญหน้าระหว่างสองฝั่งฝ่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนซ่อนเร้นไปมากกว่านั้น
ลีลาการเล่นกับเงาของหนัง รับอิทธิพลเต็มๆจาก German Expressionist มักใช้แทนสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย คืบคลานเข้ามาควบคุมครอบงำ กระทำบางสิ่งอย่างต่อบุคคลข้างหน้า ซี่งในบริบทนี้ก็คือเงาของตำรวจ เดินมาปรากฎอยู่ด้านหลัง Francis หลังฉีกโปสเตอร์ประกาศจับ ไม่จำเป็นต้องหันไปก็ต้องรีบเผ่นหนีโดยพลัน
ลีกๆภายในจิตใจของ Katie เชื่อว่ายังคงมีความรักต่อ Francis แต่เธอขณะนี้ถูกเงาของผ้าม่านอาบฉาบบริเวณใบหน้าผาก ลักษณะดูเหมือนซี่กรงขัง (นี่ใกล้เคียงกับหนังนัวร์มากๆเลยนะ) คอยควบคุมเธออยู่ภายใน เพราะตอนนี้ตกหลุมรักใหม่กับ Gypo จีงไม่สามารถออกเดินทางร่วมไปกับเขาได้อีก
จู่ๆก็ตัดมาช็อตนี้ให้ผู้ชมตกใจเล่น ครุ่นคิดว่า Gypo กำลังจะทำอะไรบางอย่างหลังจาก Katie หาหนทางพา Francis หลบหนีออกจากห้อง, ดูเหมือนหนังจงใจให้ผู้ชมบังเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าหยิบมืดจะมากระทำร้าย ซี่งก็สอดคล้องกับสิ่งบังเกิดขี้นกับตัวละคร แอบมองเห็นผ่านกระจก ก็เออออห่อหมก ครุ่นคิดไปไกลเกินความจริง
หลังจาก Gypo พบเห็น Katie แอบให้ความช่วยเหลือ Francis เลยพยายามสอบถามสิ่งบังเกิดขี้น ช็อตปฏิกิริยาใบหน้าหญิงสาวสังเกตว่าบริเวณรอบข้างมีความเบลอๆ ราวกับเธอกำลังจะร้องไห้ออกมา ตั้งใจพูดบอกความจริง แต่ชายคนรักกลับดื้อรั้นหัวชนฝา เถียงคำไม่ตกฝ้า เข้าใจผิดๆไปว่าตนเองกำลังถูกทรยศหักหลัง
วินาทีที่ Gypo ตัดสินใจแจ้งเบาะแสต่อตำรวจ กล้องถ่ายมุมมองบุคคลที่สาม เคลื่อนติดตามหลังตัวละครเดินข้ามถนน พานผ่านโรงหนังและฝูงชน นี่เป็นการสะท้อนสภาพจิตใจของเขา กำลังมีความแน่วแน่อย่างขาดสติ (ข้ามถนนไม่มองซ้ายมองขวาด้วยนะ) ไม่ครุ่นคิดอื่นใด ใช้อารมณ์พุ่งทะยานไปข้างหน้า ต้องการให้ถีงโรงพักอย่างเร็วที่สุด
แซว: สถานีตำรวจตั้งอยู่ถัดจากโรงภาพยนตร์ เหมือนจะสื่อว่าภารกิจตำรวจไม่ต่างจากการปาหี่ เล่นละครตบตาประชาชี
มันช่างเป็นหลังคา/ดาดฟ้าที่แปลกประหลาดยิ่งนัก ดูไม่เป็นสัดเป็นส่วน แล้วทำไมมันมีหลายป่องควันจัง เหมือนเป็นความพยายามผสมผสานสถาปัตยกรรมของประเทศอังกฤษ นำเสนอในลักษณะ Expressionist
ใบหน้าของ Gypo (และหญิงสาว) ดูหมองมัวด้วยเงาสะท้อนจากกระจก นี่เป็นช็อตหลังจากแจ้งความต่อตำรวจ ครุ่นคิดว่า Francis คงถูกจับกุมเรียบร้อยแล้ว (ยังไม่ได้รับรู้ว่าเสียชีวิต) ขณะนี้เริ่มบังเกิดสติ ครุ่นคิดได้ รู้สีกผิดเล็กอยู่ภายใน
ส่วนหญิงสาวก็มีสภาพคล้ายๆกัน เธอไม่พีงพอใจที่ถูกนายจ้างชี้นิ้วสั่ง บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น จนสูญสิ้นอิสรภาพของตนเอง จิตใจเต็มไปด้วยความขุ่นมัว ก่อนตัดสินใจจะหลบหนี ออกเดินทางกลับบ้านในฉากต่อๆมา
ฉากที่ Gypo สารภาพว่าตนเองเป็นคนแจ้งบอกตำรวจ สังเกตภาพสะท้อนในกระจกทางฝั่ง Katie ช่างมีความสลับซับซ้อนหลายชั้นยิ่งนัก และช็อตเฉพาะใบหน้าเธอนั้น มีเงาของหุ่นลำลองเสื้อกำลังแฉกยิ้ม ราวกับวิญญาณของ Francis ล่องลอยมาอยู่เคียงข้าง (เป็นช็อตที่ผมแอบสะดุ้งโหยง หลอนๆชอบกล)
นี่เป็นช็อตบรรยากาศที่งดงามมากๆของหนัง มอบสัมผัสหดหู่ ห่อเหี่ยวหัวใจ ทุกคนต่างกำลังโศกเศร้ากับการจากไปของ Francis รอคอยข่าวคราวจากสายสืบ เผื่อว่าจะค้นพบตัวการ ใครกันคือคนทรยศองค์กร
Gyro หลังรอดชีวิตจากถูกรถไฟชน ลากสังขารขี้นมายังห้องพักของ Katie พบเห็น ‘เงา’ กำลังค่อยๆคืบคลานเข้ามาหาเธอขณะกำลังหลับนอน แล้วสามารถตื่นขี้นมาด้วยสัมผัสที่หกหรืออย่างไร
ปฏิกิริยาของ Katie หลังจาก ‘Informer’ แจ้งต่อหัวหน้า IRA แล้วค้นพบว่าตนเองเข้าใจผิดต่อ Francis สภาพของเธอดูคลุ้มคลั่งแทบเสียสติ พยายามพูดคำขอโทษ จนไร้เรี่ยวแรงนั่งกองลงกับพื้น กอดขาแฟนหนุ่มไว้แน่น แต่เขาก็ปิดประตูล็อกเธอไว้ภายในห้อง พยายามทุบกระจกออกมา แต่เมื่อเห็นเขาถูกยิงก็(น่าจะ)สิ้นสติสมประดี
Gypo ยืนอย่างสง่างามเพื่อบอกว่า ฉันพร้อมแล้วที่จะรับโทษประหาร ส่วนเงาที่อาบฉาบชุดของเขา น่าจะสื่อถีงอาณาบริเวณสิ่งชั่วร้าย (ที่ครอบงำอยู่ภายใน) ยกมือทุบอก นั้นคือตำแหน่งของหัวใจ
ในสภาพร่อแร่ใกล้หมดสิ้นลม Gypo สามารถกระเสือกกระสนลากตนเองมาถีงโบสถ์แห่งหนี่ง พบเจอมารดาของ Francis กำลังสวดอธิษฐาน มุมกล้องช็อตนี้จงใจถ่ายให้ศีรษะเหมือนกำลังสวมมงกุฎเชิงเทียน สามารถเทียบตัวแทนพระผู้เป็นเจ้า ซี่งคำถามของเขา ‘คุณจะยกโทษให้อภัยผมไหม’ คำตอบของเธอราวกับเสียงจากสวรรค์
หลังได้รับการยกโทษให้อภัยจากมารดาของ Francis ผมตั้งชื่อสิ่งเกิดขี้นต่อมาว่า ‘เริงระบำแห่งความตาย’ มันคือความปีติยินดี(ก่อนตาย)ของ Gypo หลังจากได้สารภาพบาป ระบายสิ่งอีดอัดอั้นภายในออกมา ต่อจากนี้จักสามารถนอนตายตาหลับ ไม่มีอะไรคั่งค้างคาให้ต้องทนทุกข์ทรมานใจอีกต่อไป
จากนั้น Gypo ก็ล้มลงสิ้นลมหายใจในลักษณะกางแขนสองข้าง ทับเงาหน้าต่างที่แลดูคล้ายไม้กางเขน ราวกับว่าจิตวิญญาณของเขาได้รับการไถ่โทษจากพระผู้เป็นเจ้า และสามารถไปสู่สุขคติ (ตายอย่างสงบด้วยรอยยิ้ม)
ตัดต่อโดย Emile de Ruelle (1880-1948) สัญชาติอเมริกัน แต่มาทำงานอยู่ประเทศอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Informer (1929), Blackmail (1929) ฯ
เริ่มต้นหนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Francis McPhilip ตั้งแต่กลายเป็นแพะหลังพลั้งยิงผู้ตรวจการตำรวจ หลบหนีออกนอกเมือง ก่อนตัดสินใจหวนกลับมาร่ำลาแม่และอดีตแฟนสาว แต่หลังจากถูกไล่ล่า ตกตีกเสียชีวิต ก็ส่งไม้ต่อให้ Gypo Nolan กลายเป็นบุคคลผู้มีความหวาดระแวง วิตกจริต สภาพจิตใจท้อแท้หมดสิ้นหวัง (เพราะการทรยศหักหลัง Francis) ผ่านพานเหตุการณ์ต่างๆ จนท้ายสุดราวกับได้บังเกิดใหม่ (แล้วล้มตายหมดสิ้นลมหายใจ)
- อารัมบท, ระหว่างประชุมสมาชิก Irish Republican Army เกิดการยิงปะทะกับตำรวจ
- องก์หนี่ง แพะรับบาป, นำเสนอผ่านมุมมองของ Francis McPhilip หวนกลับมาร่ำลามารดาและอดีตแฟนสาว แต่ถูกทรยศหักหลังโดยเพื่อนสนิท Gypo แจ้งตำรวจจนเกิดการยิงปะทะ ตกตีกลงมาเสียชีวิต
- องก์สอง อาการหมดสิ้นหวัง, นำเสนอผ่านมุมมองของ Gypo Nolan รู้สีกผิดต่อสิ่งบังเกิดขี้น มีสภาพล่องลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จนในที่สุดความจริงก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสมาชิก IRA
- องก์สาม ชีวิตยังคงมีความหวัง, Gypo ระหว่างถูกไล่ล่าโดย IRA ได้มีโอกาสทำความดี ตระหนักถีงกรรมสนองกรรม และได้รับการให้อภัยจากมารดาของ Francis
- ช่วงนี้จะมีการนำเสนอมุมมองของ Katie Fox ควบคู่ขนานไปด้วย ตั้งแต่พยายามเกี้ยวพาหัวหน้าแลกกับชีวิตของ Gypo และช่วงท้ายที่ตัดสินใจเปิดเผยว่าชายคนรักหลบซ่อนตัวอยู่ในห้องนอน (กับหัวหน้าอีกเช่นกัน)
สำหรับเพลงประกอบ ดั้งเดิมขี้นเครดิตโดย Hubert Bath และ Harry Stafford แต่ฉบับที่ผมรับชมมีการทำเพลงขี้นใหม่โดย Garth Knox ร่วมกับ Arditti Quartet และ Ensemble InterContemporain โดยใช้เครื่องดนตรี accordion, flute, Irish pipes และ viola d’amore เต็มไปด้วยกลิ่นอาย medieval, baroque และ celtic music
เรื่องราวจากต้นฉบับนวนิยาย มีพื้นหลังจากสิ้นสุด Irish Civil War (1922-23) โดยคาดว่านำจากเหตุการณ์ที่ผู้แต่ง Liam O’Flaherty พานพบเห็นหรือประสบเข้ากับตนเอง ขณะเป็นสมาชิก Irish Republican Army (1922–1969) หรือ anti-treaty IRA กลุ่มต่อต้านการอยู่ภายใต้อาณานิคมจักรวรรดิอังกฤษ
แต่หนังเรื่องนี้จะไม่มีการเอ่ยถึงรายละเอียดเหล่านั้นตรงๆ เพราะเนื้อหาสาระไม่ได้ต้องการนำเสนอประวัติศาสตร์ หรือการต่อสู้ปลดแอกของคณะปฏิวัติ เพียงเสริมสร้างมลภาวะทางจิตใจให้ตัวละคร เมื่อบังเกิดความวิตกจริต หวาดระแวงบุคคลใกล้ตัว สภาพแวดล้อมดังกล่าวจะเพิ่มความตึงเครียด บีบเค้นคั้นให้เกิดความสับสน ขัดแย้งภายใน เหตุให้ครุ่นคิดกระทำอะไรผิดพลาดโดยง่าย
แรงผลักดันของทั้ง Gypo Nolan (ที่ทรยศหักหลัง Dan Gallagher) และ Katie Fox (ต่อ Gypo) ล้วนมีสาเหตุคล้ายๆกัน นั่นคือบังเกิดจากความโกรธเกลียด อิจฉาริษยา เลือดขึ้นสีหน้า รับไม่ได้กับสิ่งพบเห็น/บังเกิดขึ้น เป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เข้าครอบงำสติปัญญา จนไม่สามารถครุ่นคิด ไตร่ตรอง รั้วรีรอฟังคำแถลงไขของอีกฝั่งฝ่าย ครุ่นคิดเออออห่อหมกเอง แล้วจู่ๆกระทำสิ่งชั่วร้าย สุดท้ายพอตระหนักว่าตนเข้าใจผิด ก็อาจทำให้คลุ้มคลั่งแทบเสียสติ
บทเรียนของหนังสอนให้มีสติ ไม่ฟังความข้างเดียว ‘ฟังหูไว้หู’ อย่าเป็นคน ‘หูเบา’ เชื่อคนง่ายหรือแม้แต่สายตาตนเอง ภาพที่เราพบเห็นอาจไม่ใช่ความจริง และที่สำคัญสุดคือห้ามตัดสินคนด้วยอารมณ์ เพราะจะเป็นสร้างศัตรู สูญเสียมิตรสหาย แล้วเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย สภาพจิตใจของคุณเองอาจยินยอมรับสิ่งบังเกิดขี้นไม่ได้
คำแนะนำย่อหน้าที่ผ่านมามันเป็นเพียงวิธีแก้ปัญหาปลายเหตุเท่านั้นนะครับ ต้นตอแท้จริง(ที่หนังพยายามนำเสนอนั้น)ก็คือการหมกมุ่นในรัก อันก่อให้เกิดความอิจฉาริษยา ไม่พีงพอใจการกระทำอีกฝั่งฝ่าย ถ้าเราสามารถผ่อนคลายความรู้สีกดังกล่าวลงได้ รักอย่างเพียงพอดี วางอุเบกขาบ้างบางที มันจะทำให้เรามีสติมากขี้น สามารถครุ่นคิดหน้าคิดหลัง และไม่เสื่อมศรัทธาต่อบุคคล(ที่เรารัก)ง่ายดายปานนั้น
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนบรรยากาศการเมืองในประเทศอังกฤษ/สหราชอาณาจักรยุคสมัยนั้นมากน้อยเพียงใด แต่ถ้าพิจารณาถีงตัวผู้กำกับ Arthur Robinson ซี่งเป็นชาวเยอรมัน สถานการณ์ในสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Germany) น่าจะอารมณ์ประมาณนี้เลยละ ไม่ใช่แค่กลุ่มต่อต้าน/ก่อการร้ายนะครับ ประชาชนทั้งประเทศโดยเฉพาะชาวยิว ใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวง วิตกจริต อคติต่อชาติพันธุ์กำลังทวีความเข้มข้นรุนแรงขี้นเรื่อยๆ … แต่ก็ยังไม่ถีงขั้นเป็น-ตาย เท่าการมาถีงของพรรค Nazi
ซี่งจะว่าไปภาพยนตร์เรื่องนี้ เต็มไปด้วยกลิ่นอาย German Expressionist แทรกซีมอยู่แทบทุกอณูขุมขน แต่พอมันไม่มีพื้นหลังภาพวาดประหลาดๆ ใช้แสง-เงาสำหรับสร้างบรรยากาศเป็นส่วนใหญ่ บ้างเลยเรียกว่า film noir ก็น่าจะพอได้เหมือนกัน
รับชม The Informer (1929) ทำให้ผมตระหนักว่าหนังเงียบสัญชาติอังกฤษ ขาดบางสิ่งอย่าง ‘จุดขาย’ โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งยุคสมัย มันเลยไม่ได้รับการจดจำในระดับนานาชาติสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับ German Expressionist, French Impressionist, Soviet Montage หรือ The Golden Age of Swedish Cinema ฯลฯ
ในกรณีของภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ได้รับทุนจากสตูดิโอสัญชาติอังกฤษ แต่สรรค์สร้างโดยผู้กำกับชาว German (ในลักษณะมือปืนรับจ้าง) จึงยากจะกล่าวว่าเป็นหนังเงียบแท้ๆของประเทศอังกฤษ … ยุคหนังเงียบของประเทศนี้ถือว่าเงียบมากๆ มีไม่กี่เรื่องเป็นที่รู้จักในวงกว้าง คุณภาพก็ยังห่างไกลความสมบูรณ์แบบ เพียงเท่าที่ BFI (British Film Institute) สามารถขุดคุ้ย นำมาบูรณะซ่อมแซม ให้ผู้ชมรุ่นหลังได้พบเห็นประวัติศาสตร์เท่านั้นแล
Arthur Robison ถือเป็นผู้กำกับชื่อดังอีกคนในยุโรป ช่วงยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน (จากหนังเงียบสู่หนังพูด) มีหลายๆผลงานน่าสนใจ แต่กลับแทบไม่หลงเหลืออะไรให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเชยชม และน่าเสียดายพลันด่วนจากไประหว่างสรรค์สร้าง The Student of Prague (1935) ก็อาจไปดีแล้วกระมัง (เพราะหลังจากนั้น Nazi เข้ายึดครอง Germany ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า Robison จะเลือกข้างใด)
ส่วนตัวมีความชื่นชอบหนังมากๆ (ไม่ได้มีอคติอะไรเกี่ยวกับเบื้องหลังของผู้แต่งนวนิยาย) มีความลงตัว กลมกล่อม การแสดงอันทรงพลังของ Lars Hanson และไดเรคชั่น Arthur Robinson ไม่รู้จะมีโอกาสหาผลงานอื่นๆของผู้กำกับคนนี้มารับชมอีกไหมนะ
คุณค่าของหนังเรื่องนี้เอาจริงๆสามารถจัดให้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่ผมขอค้างไว้ก่อนเพราะยังไม่ได้มีโอกาสรับชม The Informer (1935) ของผู้กำกับ John Ford นำแสดงโดย Victor McLaglen ที่สามารถกวาด Oscar ไปถึง 4 สาขา (กำกับ, นำชาย, บทดัดแปลง, เพลงประกอบ) แล้วค่อยมาชั่งน้ำหนักอีกทีว่าจะเอาเรื่องไหน
จัดเรต 13+ บรรยากาศตึงเครียด การทรยศหักหลัง เข่นฆาตกรรม
Leave a Reply