The Innocents (1961)
: Jack Clayton ♥♥♥♥
ใครกันแน่ในหนังเรื่องนี้ที่ไร้เดียงสา เด็กชายหญิงในคฤหาสถ์ Gothic หลังใหญ่ หรือพี่เลี้ยงเด็กรับบทโดย Deborah Kerr เธอมองเห็นผีจริงๆหรือเป็นสิ่งที่จินตนาการขึ้นมา, จะบอกว่างานภาพขาว-ดำ CinemaScope ถ่ายทำโดย Freddie Francis มีความสวยงาม คมชัด เจิดจรัสมากเลยละ
คอหนัง Horror ยุคสมัยนี้คาดว่าคงไม่ถูกโฉลกกับ The Innocents เป็นแน่ เพราะไม่ได้มีเลือด ความรุนแรง หรือน่าสยดสยอง แต่เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศความลึกลับซับซ้อน พิศวงงงงวย หลอกหลอน เขย่าขวัญสั่นประสาท ครุ่นคิดค้นหาว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกันแน่ ซึ่งน้อยคนนักไม่มีใครคาดคิดถึง กับแค่เพียงความไร้เดียงสาของมนุษย์ มันจะสร้างความน่าสะพรึงกลัว ขนลุกขนพองให้ได้มากขนาดนี้
The Innocents เป็นภาพยนตร์ที่เปิดกว้างให้ผู้ชมสามารถครุ่นคิด ตีความ เข้าใจเร่ื่องราวได้ในมุมมองของคุณเอง ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเปิดเผยทิ้งไว้ให้ เราสามารถมองว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับวิญญาณที่ยังคงวนเวียนว่าย มาเข้าสิงร่างของเด็กน้อยไร้เดียงสาทั้งสอง หรือเรื่องราวของพี่เลี้ยงเด็กที่มีความหวาดกลัวหวั่นวิตกกังวล (Sexual Repression) ทำให้เกิดภาพหลอนคิดเพ้อมโนไปเอง, ซึ่งการได้ทำความเข้าใจมุมมองทั้งสองด้านที่ต่างออกไป จะทำให้คุณมีความชื่นชอบคลั้งไคล้ หลงรักหนังเรื่องนี้มากๆขึ้นเลยละ
Jack Clayton (1921 – 1995) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Brighton ได้เป็นนักแสดงเด็กในหนังเรื่อง Dark Red Roses (1929) เลยตัดสินใจเอาดีทางด้านนี้ ตามติด Alexander Korda ขณะก่อตั้งสตูดิโอ Denham Film Studios เมื่อปี 1935 จากเด็กชงชากลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ นักตัดต่อ, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วม Royal Air Force ถ่ายหนังเองเรื่องแรกสารคดี Naples is a Battlefield (1944) วนๆเวียนๆอยู่เบื้องหลัง ทำหนังสั้นคว้ารางวัล Oscar: Best Short Subject (Two-Reel) เรื่อง The Bespoke Overcoat (1956) จนปี 1959 ได้รับโอกาสสร้างภาพยนตร์ Feature-Length เรื่องแรก Room at the Top (1959) เข้าชิง Oscar 6 สาขาได้มา 2 รางวัล
หลังความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องแรก Clayton ได้รับข้อเสนอมากมายจากหลายสตูดิโอ แต่ทั้งหมดได้รับการบอกปัดปฏิเสธ, นักตัดต่อขาประจำ Jim Clark บอกว่า ‘Clayton’s inability to make a decision was legendary.’ คงต้องเป็นเรื่องราวที่ตนเองมีความสนใจจริงๆเท่านั้น ถึงจะยอมเสียเวลาเป็นปีๆสร้างสรรค์มันขึ้นมา
สำหรับภาพยนตร์เรื่องถัดมานี้ The Innocents ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Turn of the Screw (1898) ของนักเขียนสัญชาติอเมริกา Henry James (1843 – 1916) ซึ่ง Clayton มีโอกาสอ่านตั้งแต่ตอนอายุ 10 ขวบ และโดยความบังเอิญที่ 20th Century Fox กับนักแสดงหญิง Deborah Kerr มีความสนใจดัดแปลงสร้างภาพยนตร์จากนิยายเล่มนี้อยู่พอดี
เกร็ด: The Turn of the Screw ในปัจจุบันได้กลายเป็น ‘หนังสืออ่านนอกเวลา’ ของมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งในต่างประเทศ ใครกำลังเรียนวิชาวรรณคดีวิจารณ์ น่าจะลองหามาอ่านดูนะครับ
มอบหมายให้ William Archibald ที่เคยดัดแปลงนิยายเรื่องนี้สร้างเป็นละครเวที Broadway เรื่อง The Innocents (1950) กำกับโดย Peter Glenville เปิดการแสดงที่ Playhouse Theatre ทั้งหมด 141 รอบ คว้ารางวัล Tony Award: Best Scenic Design, แต่ผลลัพท์ยังไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้กำกับ เลยติดต่อให้ Truman Capote นักเขียนสัญชาติอเมริกา เข้ามาขัดเกลาบทพูดทั้งหมดของหนัง ว่ากันว่าเปลี่ยนไปกว่า 90% เลยทีเดียว
เรื่องราวมีพื้นหลังปี 1898, Miss Giddens (รับบทโดย Deborah Kerr) หญิงสาวสวยโสด ได้รับงานเป็นพี่เลี้ยง (Governess) ดูแลเด็กกำพร้าสองคน Miles กับ Flora ณ คฤหาสถ์หลังใหญ่ในชนบทประเทศอังกฤษ ผ่านไปไม่ถึงวันเธอเริ่มเห็นชาย-หญิง แปลกหน้าเข้ามาป้วนเปี้ยนแถวบ้าน สืบจนรู้ว่าคือผู้ดูแลคนก่อน Peter Quint กับ Miss Jessel ที่ต่างก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว ราวกับว่าวิญญาณของพวกเขายังคงวนเวียนว่ายอยู่แถวนั่น เป้าหมายเหมือนจะต้องการเข้าสิงสถิตร่างของเด็กชายหญิงทั้งสอง เธอจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางป้องกันเหตุร้ายมิให้เกิดขึ้น
Deborah Kerr (1921 – 2007) นักแสดงหญิงสัญชาติ Scottish เจ้าของสถิติเข้าชิง Oscar: Best Actress ถึง 6 ครั้งแต่กลับไม่เคยได้สักรางวัล จนรับมอบ Honorary Award เมื่อปี 1994, ผลงานดัง อาทิ Black Narcissus (1947), Quo Vadis (1951), From Here to Eternity (1953), The King and I (1956), An Affair to Remember (1957) ฯ
Miss Giddens อาจเป็นผู้มีสัมผัสพิเศษที่ 6 สามารถมองเห็นวิญญาณ รับรู้สิ่งเหนือธรรมชาติ หลังจากได้รับหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กๆ วัยกำลังเติบโตซุกซน ก็ได้พบบางสิ่งอย่างกำลังคืบคลานเข้ามา สืบรู้เป็นผู้ดูแลที่เสียชีวิตไปก่อนหน้า วิเคราะห์ถึงจุดประสงค์การยังวนเวียนว่าย คงต้องมาร้ายแน่ๆ สงสัยเพื่อเข้าสิงร่างเด็กๆทั้งสอง ทวงคืนสิ่งที่พวกเขาไม่ได้สมหวังขณะยังมีชีวิตอยู่
เพราะความสาวยังโสดของ Miss Giddens แต่กลับต้องมารับหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กๆ วัยกำลังเติบโตซุกซน ย่อมทำให้เกิดความเครียด โรคประสาทเก็บกด อารมณ์ทางเพศ (Sexual Repression) ยิ่งเมื่อได้รับรู้เรื่องราวของผู้ดูแลสองคนก่อนที่เป็นคู่รัก ร่วมรักกันอย่างประเจิดประเจ้อ เกิดความอิจฉาริษยา แปรสภาพเป็นภาพหลอนติดตา คิดมโนไปไกลว่าจะเข้ามาสิงสถิตย์ร่างของเด็กๆทั้งสอง
นี่คือสองมุมมองที่บอกไปกับตัวละครนี้ ต่างกันสุดขั้วแต่สามารถผนวกรวมได้ในการแสดงเดียวของ Deborah Kerr มันอาจมีความ Over-Acting เหมือนการแสดงละครเวที Theatre-style มากเกินไปสักนิด ราวกับคนเสียสติ แต่พล็อตเรื่องก็นำทางตัวละครไปในลักษณะเช่นนั้นจริงๆ, ส่วนตัวผมมองว่านี่เป็นการแสดงที่โดดเด่นมากๆ ทำให้ผมรู้สึกชื่นชอบ Kerr ขึ้นมาเลยละ
เกร็ด: Deborah Kerr เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า นี่คือบทบาทการแสดงชื่นชอบ ตั้งใจ เล่นดีเยี่ยมที่สุดของตัวเอง
Martin Stephens (เกิดปี 1949) นักแสดงเด็กสัญชาติอังกฤษ เล่นหนังเรื่องแรกตั้งแต่อายุ 5 ขวบ มีผลงานหลายเรื่อง แต่พอโตขึ้นเป็นหนุ่มก็ออกจากวงการภาพยนตร์หายตัวไปเลย
รับบทเด็กชาย Miles ความที่ไม่มีพ่อให้เป็นแบบอย่างทำให้มีนิสัยเก็บกด เรียนรู้อะไรๆจากผู้ดูแล Peter Quint เลียนแบบความก้าวร้าว หัวรุนแรง พยายามคิดเหมือนผู้ใหญ่โตเกินวัย และเหมือนว่าเด็กชายจะมีความสนใจ รักใคร่กับ Miss Giddens (แต่ผมไม่แน่ใจเรื่องความต้องการทางเพศเท่าไหร่ คือไม่รู้ว่าเด็กขนาดนี้จะสามารถมีอารมณ์ได้หรือยังนะ แต่จากการที่มีแบบอย่าง คงรับรู้เห็น Peter Quint ร่วมรักกับ Miss Jessel ตัวเองคงมีความต้องการอยากทำแบบนั้นบ้าง)
ผมค่อนข้างชอบการแสดงของ Stephens อย่างมาก ทั้งๆที่เจ้าตัวอาจยังไม่สามารถรับรู้เข้าใจเหตุผลของสิ่งที่ตนแสดงออกมา แต่มันสามารถมองตีความได้ดังที่ผมว่ามาจริงๆ, นี่ต้องชมผู้กำกับสามารถหาวิธีหลอกล่อชักจูง ทำให้เด็กชายพูดกระทำ มีปฏิกิริยาได้เหมือนจริงมากๆ
Pamela Franklin (เกิดปี 1950) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Yokohama ประเทศญี่ปุ่น มาเติบโตที่ Far East พ่อเป็น importer/exporter ทำให้ต้องออกเดินทางไปหลายๆประเทศ, ด้วยความสนใจด้านการแสดง The Innocents คือภาพยนตร์เรื่องแรกตอนอายุ 11 โตขึ้นยังรับงานละครโทรทัศน์ควบคู่ไปด้วย ผลงานประสบความสำเร็จสูงสุดของเธอคือ The Prime of Miss Jean Brodie (1969) แต่พอได้แต่งงานก็ออกจากวงการ เปิดร้านขายหนังสือเล็กๆอยู่แถวๆ West Hollywood
เด็กหญิงสาว Flora มีความใสซื่อบริสุทธิ์ไร้พิษภัย ขี้เล่นซุกซน เป็นมิตรเข้ากับคนอื่นได้ง่าย ชอบเรียกร้องความสนใจ มีความเห็นแก่ตัวเล็กๆ, สนิทสนมกับ Miss Jessel ที่สอนร้องเพลงเต้นรำ แม้อาจจะได้เคยเห็นพวกเขาร่วมรักกัน แต่น่าจะยังไม่เกิดความใคร่สนใจใดๆ ด้วยความที่ยังไม่ประสีประสารับรู้เรื่องนี้เสียเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้เกิดความคอรัปชั่นเล็กๆในใจ เวลาพบเจออะไรไม่พอใจก็แหกปากส่งเสียงกรีดร้อง โวยวายสามบ้านแปดบ้าน
การแสดงของ Franklin มีความน่ารักน่าชัง เป็นธรรมชาติของเด็กๆ ไม่โดดเด่นเท่ากับ Stephens แต่ความเอาแต่ใจเป็นที่หนึ่ง อยากได้อะไรก็ต้องได้ ไม่ชอบอะไรก็ผลักไสถึงขีดสุด โวยวายแหกปากส่งเสียงร้องดังสามบ้านแปดบ้าน, คำพูดประโยคเด็ดที่ออกมาจากปากของเธอ เป็นความไร้เดียงสาที่น่ากลัวมากๆ
“Oh, look, it’s a lovely spider and it’s eating a butterfly.”
เกร็ด: เหมือนว่าเพื่อนเล่นของเด็กหญิงที่เป็นเต่า จะเป็นสัญลักษณ์แทน Miss Jessel ตอนแรกรักเอ็นดู ทะนุถนอมมาก แต่พอขุ่นเคืองผิดใจ ตอนออกจากบ้านก็ทิ้งไว้แบบไม่สนใจนำไปด้วย
ถ่ายภาพโดย Freddie Francis ตากล้องสัญชาติอังกฤษ ที่ได้ร่วมงานกับ Clayton เรื่อง Room at the Top (1958), คว้า Oscar: Best Cinematographer สองครั้งจาก Sons and Lovers (1960), Glory (1989) ผลงานอื่นๆ อาทิ The Elephant Man (1980), Cape Fear (1991) ฯ
หนัง Horror กับภาพขาว-ดำ ยุคสมัยนั้นเป็นของคู่กันอยู่แล้ว แต่กับความกว้างขนาด CinemaScope หรือ Anamorphic Widescreen (2.35 : 1) นี่เป็นสิ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพราะสตูดิโอผู้ออกสร้างทุนคือ 20th Century Fox ที่เป็นผู้ออกแบบระบบภาพยนตร์นี้เลย, ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีการที่พวกเขาใช้ก็คือสร้าง filters ที่มีลักษณะค่อยๆเฟดภาพจากขอบเข้าหากึ่งกลาง แต่มันจะไม่เด่นชัดในระดับแยกออกทุกช็อต กับฉากที่ใช้ความมืดเป็นองค์ประกอบหลักจะเห็นได้ค่อนข้างชัด
ลองสังเกตขอบซ้าย-ขวา ของช็อตนี้ดูนะครับ มันจะขอบสีดำๆที่เฟดเข้ามา, ที่ต้องทำให้มีลักษณะนี้ เพื่อว่าผู้ชมจะได้จดจ่ออยู่กับใจกลางของภาพ ไม่ต้องสนใจรายละเอียดส่วนเกินที่มีมากของ Anamorphic Widescreen
การใช้แสงก็มีความโดดเด่น เพราะสมัยนั้น (เหตุการณ์ในหนัง) เหมือนจะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แหล่งกำเนิดแสงจึงมีแค่เชิงเทียน เห็นเป็นรัศมีทรงกลม บริเวณที่เหลือว่างก็จะมืดมิด
แต่ไฮไลท์ของหนังเรื่องนี้คือเทคนิคที่เรียกว่า Deep Focus เห็นทุกรายละเอียดระดับความลึกของภาพมีความคมชัด, แต่ไม่ใช่ทุกช็อตของหนังจะเป็นแบบนี้นะครับ มักใช้กับภาพถ่ายธรรมชาติ และการสนทนาที่ตัวละครจะยืนหน้า-หลัง คนละระดับกัน
นัยยะของการถ่ายทำ Deep-Focus แทนด้วยมุมมองของผู้ชมต่อเรื่องราว, กล่าวคือ เราสามารถมองอะไรตรงไหนของภาพก็เห็นได้คมชัดลึก เช่นกันกับมุมมองของเรื่องราว Miss Giddens เห็นผีจริงๆ หรือเป็นเพียงภาพหลอน หรือมันอาจมีกรณี 3-4-5 ก็แล้วแต่ว่าเราจะคิดมองมุมไหน
เริ่มจากภาพธรรมชาติก่อนแล้วกัน ต้องชมเลยว่าเป็นหนังที่ถ่ายทำได้สวยงามมากๆ สถานที่ถ่ายทำคือ Gothic Mansion ตั้งอยู่ที่ Sheffield Park, East Sussex
Deep Focus สำหรับถ่ายตัวละคร จะเห็นว่านักแสดงทั้งสองฝั่งจะยืนคนละระดับกัน แต่เราจะเห็นภาพของพวกเขาคมชัดทั้งคู่ทุกรายละเอียด ก็แล้วแต่สายตาของคุณเองจะจับจ้องมองไปที่ไหน ตัวละครที่อยู่ข้างหน้า/ตัวละครที่อยู่ข้างหลัง
แต่จะมีบางครั้งที่ลึกมากกว่าแค่ 2 ระดับ แต่ยังเห็นพื้นหลังไกลๆก็ยังมีความคมอยู่ชัดเช่นกัน
มีซีนหนึ่งที่ผมโคตรจะชอบเลย, ในฉากยามค่ำคืนขณะที่ Miss Giddens เดินถือเชิงเทียนขึ้นไปหาเด็กๆที่ห้อง จะมีเสียงเอ็ฟเฟ็กของ Peter Quint กับ Miss Jessel ดังกึกก้องขึ้น ขณะเดินมาถึงที่กระจกบานหนึ่งมีผ้าม่าน และลมแรงได้พัดให้ลูกปัดที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชาย กระแทกเข้ากับกระจกตรงพอดีจุดกึ่งกลาง (เหมือนอวัยวะเพศหญิง) ซึ่งเสียงที่ได้ยินก็จะเป็นจังหวะซีดซาด โอ๊กอ๊าก เหมือนคนกำลังมี Sex
ตัดต่อโดย Jim Clark สัญชาติอังกฤษ เจ้าของผลงานดังอย่าง Charade (1963), Marathon Man (1976), The Killing Fields (1984), The Mission (1986), The World Is Not Enough (1999) ฯ
ก่อนที่ 2001: A Space Odyssey (1968) จะกลายเป็นตำนานกับ 3 นาทีแรกที่มืดมิดมองอะไรไม่เห็น (ไม่ได้ยินเสียงอะไรด้วยนะ) หนังเรื่องนี้กับ 45 วินาทีแรก จะได้ยินแต่เสียงแต่ไร้ภาพ ย่อมทำให้ใครๆร้องเห้ย! ภาพเสียรึเปล่าว่ะ! -บังเอิญผมกำลังชงโอวัลตินอยู่เลยไม่ได้สนใจเท่าไหร่ หันกลับมาก็ปรากฎโลโก้ Fox ขึ้นแล้ว- เป็นความจงใจแบบกวนๆของผู้สร้าง คิดว่าไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไรเลยนะ
หนังใช้มุมมองของ Miss Giddens เล่าเรื่องผ่านสายตาเธอทั้งหมด ที่สามารถเห็นวิญญาณหรือภาพหลอนของ Peter Quint กับ Miss Jessel, เรื่องราวมีลักษณะดำเนินไปข้างหน้า ไม่มีการแทรกใส่ Flashback ย้อนอดีต แต่มีการซ้อนภาพหรือ Dissolve เพื่อแทนภาพจินตนาการเพ้อฝัน
เกร็ด: หนังมี ASL (Average Shot Length) ที่ 9.2 วินาที ถือว่าค่อนข้างนานทีเดียว
ระหว่างเปลี่ยนฉาก/เปลี่ยนภาพ มีการใช้เทคนิค Dissolves ในลักษณะ mini montage [จะมองว่ามันคือการซ้อนภาพก็ยังได้] กล่าวคือ โดยปกติแล้วการ Dissolves มักจะประมาณไม่เกิน 1 วินาที แต่หนังเรื่องนี้หลายครั้งจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วินาทีในการเป็นฉาก, การยืดความยาวลักษณะนี้ เพื่อให้ผู้ชมเกิดสัมผัสของความเหลื่อมล้ำระหว่างทั้ง 2 ภาพ และมีเวลาครุ่นคิดถึงนัยยะสำคัญที่แฝงอยู่ อาทิ
ขณะ Miss Giddens เหมือนกำลังนอนหลับเหมือนจะฝันร้าย แต่ภาพกลับค่อยๆ Dissolves สู่ทิวทัศน์อันสวยงามตอนเช้าวันใหม่, มีนัยยะถึงสิ่งที่เธอกำลังจะได้เจอต่อไป ฝันร้ายจากการมาอยู่สถานที่แห่งนี้
อีกครั้งขณะ Miss Giddens กำลังหลับฝัน ใช้การ Dissolves เห็นเป็นภาพซ้อนมากมาย สิ่งต่างๆที่ปรากฎขึ้นล้วนพบเจอเห็นมาก่อนแล้วทั้งนั้น อาทิ รูปภาพของ Peter Quint, การเต้นรำของ Flora กับ Miss Jessel, เด็กชายหญิงทั้งสองกระซิบกระซาบนินทา ฯ ทั้งหมดนี้เกิดจากการคิดมาก ครุ่นคิดไปเอง เห็นภาพหลอน วิตกจริง หรือเพราะ…
เพลงประกอบโดย Georges Auric นักแต่งเพลงสัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของ Jean Cocteau และ Erik Satie มีผลงานดังๆอย่าง Dead of Night (1945), Beauty and the Beast (1946), Orpheus (1950), Moulin Rouge (1952), The Wages of Fear (1953), Roman Holiday (1953) ฯ
Auric เป็นนักแต่งเพลงที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างบรรยากาศหลอนๆ ทะมึนๆ ช่วงแรกๆที่ผู้ชมยังไม่รู้ว่าหนังเป็นเกี่ยวกับอะไร เพลงประกอบก็มานุ่มๆเนิบๆ แต่พอมีคำพูดว่า He had the devil‘s own eye… หลุดออกมาจากปากสาวคนใช้ อยู่ดีๆก็มีเสียงเพลงชวนให้ขนหัวลุกดังขึ้นแวบหนึ่ง โดยสันชาติญาณของมนุษย์ คนส่วนใหญ่น่าจะเกิดความพิศวงสงสัย มันต้องมีอะไรบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
บทเพลงมีการผสมเสียงนกกระจอก (นัยยะของความบริสุทธิ์, innocents), กล่องเพลง (นัยยะของความทรงจำ), นาฬิกา, เสียงฮัม O Willow Waly, เสียงหัวเราะ ฯ เพื่อสร้างสัมผัสธรรมชาติ ความกลมกลืนให้กับหนัง ซึ่งก็จะมีการแต่งทำนองให้สอดคล้องรับ Sound Effect นั้นๆด้วย
สำหรับเจ้าเสียงวิ้งๆ นั้นมาจากเครื่องสังเคราะห์เสียง (Synthesized) สร้างโดย Daphne Oram นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ ที่เป็นผู้บุกเบิกสไตล์เพลง musique concrete, ให้สัมผัสที่หลอกหลอน หมุนๆมึนๆ เหมือนคนเมายาใกล้เสียสติ ถือว่ามีความเข้ากันกับหนังได้อย่างลงตัวทีเดียว
O Willow Waly แต่งคำร้องโดย Paul Dehn ขับร้องโดย Isla Cameron, นำเอาฉบับที่บันทึกลงแผ่นเสียง ร่วมกับวง The Raymonde Singers มาให้ฟังกัน รู้สึกจะไม่หลอกหลอนเท่าในหนัง แต่ก็ดีกว่าเปิดฟังฉบับนั้นตอนดึกๆนั่งทำงาน ชวนให้ขนหัวลุกโดยแท้
Title ของหนัง จบจากบทเพลง O Willow Waly เสียงนกกระจาบจะดังขึ้น เมื่อเครดิตปรากฎด้านซ้ายจะเป็นมือนักแสดง Deborah Kerr ที่ทำท่าทางต่างๆ ในตอนแรกพนมมือยกขึ้นมา จากนั้นแบออกราวกับว่าให้นกกระจาบทั้งหลายบินเข้ามาในอุ้ง จากนั้นทำการกำแล้วบดขยี้อย่างรุนแรง (เสียงฉาบจะรัวดังขึ้น) ภาพค่อยๆเคลื่อนมาให้เห็นหน้าเธอจุมพิตที่มือ จากนั้นเงยหน้าขึ้นอธิษฐาน
โดยปกติแล้ว ความ Horror มักเกิดขึ้นจากภาพบางสิ่งอย่างที่จดจำฝังติดตราตรึงในใจของผู้คน อาทิ สงคราม, ความรุนแรง, เลือด, ฆ่า, ข่มขืน, การสูญเสีย ฯ แต่กับหนังเรื่องนี้ สิ่งที่คือความ Horror กลับคือความใสซื่อบริสุทธิ์ Innocents ของทั้้งเด็กชาย, เด็กหญิง และหญิงสาวบริสุทธิ์ (Virgin) นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ามันจะหลอกหลอนได้ถึงขนาดนี้
Flora เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แบบไม่มีอะไรแอบแฝงในกอไผ่ เพราะเธอยังเด็กเกินไปที่จะสามารถรับรู้เรื่องราวอะไรได้ คือต่อให้เห็น Peter Quint กับ Miss Jessel มี Sex กันต่อหน้าก็ยังคงไม่รับรู้เข้าใจว่ามันคืออะไร ด้วยเหตุนี้คำพูดของเธอประโยคที่ว่า ‘Oh, look, it’s a lovely spider and it’s eating a butterfly.’ จึงมีความหลอนสะท้าน เพราะตัวเธอกลับไม่รู้ร้อนรู้หนาว รู้สึกถึงอะไรทั้งนั้น ซึ่งความทรงจำแรกที่จะฝังตราตรึงในจิตใจของเธอ คือขณะที่ Miss Giddens บีบบังคับให้เธอยินยอมรับว่าเห็นอะไรบางอย่าง ใบหน้าของความ Horror นั่นทำให้เธอกรีดร้องลั่นแสบแก้วหู ไม่ยินยอมรับกับสิ่งที่ตนได้พบเห็น
Miles เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา(เด็กๆ) แบบที่มีความต้องการอะไรบางอย่างฝังอยู่ในใจ, เด็กชายเริ่มรับรู้เรื่อง เข้าใจเรื่องลุงที่ไม่เห็นหัว พบเจอ Peter Quint ที่กลายเป็นพ่อตัวอย่าง เมื่อเห็นเขามีสัมพันธ์รักกับ Miss Jessel จึงเกิดความอยากได้ อยากลองเลียนแบบ ก็ไม่มีใครอื่นนอกจาก Miss Giddens กระทำทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจ ช่วงท้ายเมื่ออยู่ด้วยกันสองต่อสองกลับถูกบีบบังคับให้ต้องยอมรับบางสิ่งอย่าง แต่พอเด็กชายจ้องหน้าเธอ ก็เกิดอาการช็อคราวกับเห็นผี หมดสิ้นชีวีลงไปในบัดดล (ราวกับวินาทีนั้น Miles ได้เข้าใจว่า Miss Giddens คือคนบ้าเสียสติ เกิดความ Horror ทำให้ช็อคตกใจจนหัวใจหยุดเต้น)
Miss Giddens เป็นตัวแทนของร่างกายที่ยังบริสุทธิ์ ส่วนจิตใจ… ก็แล้วแต่จะมองนะครับ ว่ายังบริสุทธิ์แท้อยู่ หรือปนเปื้อนด้วยความคิดต่างๆนานา ซึ่งหญิงสาวมีจุดประสงค์เดียวในการกระทำนี้ นั่นคือปกป้อง Flora และ Miles ให้พ้นภยันตรายที่อาจย่างกรายเข้ามา มีไม่มีรึเปล่าไม่รู้ แต่ฉันจะขอทำงานตามหน้าที่โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ความดื้อด้านในตัวของตนเองคือความ Horror ที่ผู้ชมเห็นแล้วเจ็บปวดรวดร้าวใจ
สำหรับคุณลุงผู้ว่าจ้าง Miss Giddens ผู้ชายกลายเป็นตัวแทนของความไม่บริสุทธิ์ ไม่สนใจ ปิดกั้น ปฏิเสธทุกสิ่งอย่าง นี่เกิดจากความเห็นแก่ตัว ไม่ต้องการพบเจอกับความ Horror ทั้งหลายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเอง, เหตุผลที่เขาพยายามเลือกหญิงสาววัยเยาว์บริสุทธิ์เพื่อให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก คงเพราะจะได้มอบความสดใสบริสุทธิ์ จริงใจ ไม่มีเคลือบแคลงต่อหลานๆทั้งสองของเขาได้ แต่สิ่งที่คุณลุงลืมไปก็คือ สาวบริสุทธิ์ก็เหมือนโคถึก** ถ้าไม่ปราบพยศเสียก่อนก็อาจจะสร้างความเสียหายมากกว่าคุณประโยชน์
เกร็ด: จริงๆวลีนี้มาจากท่อน ความรักเหมือนโคถึกที่คึกพิโรธ บทเพลงบุพเพสันนิวาส – สุนทราภรณ์ (แม่ผมชอบเปิดฟังบ่อยๆเลยจดจำได้)
ผมเองก็คิดไม่ถึงเลยว่า ‘ความ Innocent’ มันจะน่ากลัวได้ขนาดนี้ กับเด็กๆมันยังไม่เท่าไหร่หรอก เพราะพวกเขามักยังถูกครอบงำด้วยอะไรบางอย่างได้ แต่กับผู้ใหญ่ที่ยังมีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา นี่คือความผิดปกติบางอย่างแน่ๆ แต่จะมีใครเข้าใจเขาได้ไหม เห็นผีหรือภาพหลอน นี่เป็นประเด็นที่ไม่มีใครสามารถตอบได้ แม้แต่เจ้าตัวเองก็เถอะ!
ด้วยทุนสร้าง £430,000 ปอนด์ หนังทำเงินได้เฉพาะในอเมริกาที่ $1.2 ล้านเหรียญ ไม่มีรายงานรายรับทั่วโลก แต่ดูแล้วน่าจะทำกำไรได้พอสมควร, เข้าชิง BAFTA Award 2 สาขา ไม่ได้รางวัล
– Best British Film
– Best Film from any Source
นักวิจารณ์สมัยนั้นมองไม่เห็นความสวยงามยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้เลยนะครับ โดยเฉพาะงานภาพเป็นสิ่งที่แทบทุกคนมองข้าม จนกระทั่งได้มีการศึกษาวิธีการรายละเอียดอย่างจริงจัง จึงค่อยๆได้รับกระแส Cult เพิ่มเข้ามา มันมีความสวยเนียนลงตัวในระดับ Masterpiece ของแนว Horror เลยละ
เกร็ด: ผู้กำกับ François Truffaut ครั้งหนึ่งได้พบเห็นผู้กำกับ Jack Clayton นั่งอยู่ในร้านอาหาร เขียนกระดาษใส่โน๊ตฝากไปส่งให้มีข้อความว่า
“The Innocents is the best British film since Alfred Hitchcock had left for America.”
มีหนังภาค Prequel เรื่องราวของ Peter Quint กับ Miss Jessel ก่อนถึงจุดเริ่มต้นหนังเรื่องนี้ชื่อ The Nightcomers (1972) กำกับโดย Michael Winner นำแสดงโดย Marlon Brando, ถือว่าค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว ใครเป็นแฟนๆนิยายเรื่องนี้ไม่ควรพลาด
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ติดใจในการสร้างบรรยากาศหลอนๆน่าสะพรึงกลัว ด้วยภาพถ่ายที่สวยงาม ตราตรึง เจิดจรัส และการแสดงของ Deborah Kerr กับเด็กชายที่รับบท Miles ผมไม่รู้มีคำเรียกสถานการณ์ลักษณะนี้ว่าอะไร ‘โคแก่กินหญ้าอ่อน’ ก็ไม่น่าใช่นะ
แนะนำกับคอหนัง Gothic Horror ชื่นชอบเรื่องราวเหนือธรรมชาติ บรรยากาศหลอนๆ เห็นผี, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา มองหนังในเชิงจิตวิเคราะห์ ค้นหาปัญหาของตัวละคร, ช่างภาพ ตากล้อง นักถ่ายรูปทั้งหลาย สังเกตการใช้เลนส์/ฟิลเลอร์, รู้จักผู้กำกับ Jack Clayton, แฟนๆ Deborah Kerr ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศความหลอนสะพรึง
Leave a Reply