The Insect Woman

The Insect Woman (1963) Japanese : Shohei Imamura ♥♥♥♡

เปรียบเทียบวงจรชีวิตของแมลง กับหญิงชาวญี่ปุ่นที่ต้องปรับตัวรอดตามยุคสมัยโลก จากเคยอาศัยชนบทบ้านนอกมุ่งสู่สังคมเมือง ตัวเองเป็นลูกไม่มีพ่อ->มีลูกนอกสมรส พ่อมันก็ไม่ยอมรับ->พอลูกสาวโตขึ้นท้องไม่เอาพ่ออีกเช่นกัน ถึงโลกจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเพียงไหน แต่อะไรๆมักวนเวียนกลับมาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

ชื่อภาษาญี่ปุ่นของหนังเรื่องนี้คือ にっぽん昆虫記 (Nippon Konchūki) แปลตรงตัวได้ว่า Entomological Chronicles of Japan, วงจรชีวิตแมลงที่คือพงศาวดารของประเทศญี่ปุ่น

เมื่อประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง-ชีวิตนางเอกถึงจุดตกต่ำที่สุด-แมลงตัวเต็มวัยใกล้สิ้นอายุไข จดจำเรียนรู้พัฒนาให้สามารถกลับเป็นผู้ชนะ-ไต่เต้าขึ้นถึงจุดสูงสุด-ออกไข่->ตัวอ่อน->หนอนดักแก้->ตัวเต็มวัย เวียนวนดั่งวงจรวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไปไม่รู้จักจบสิ้น

วิธีการจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เข้าใจถึงแก่นสาระ จำต้องมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น อดีตเคยเป็นประเทศเกษตรกรรมหาเช้ากินค่ำ เงินสิบเยนซื้อข้าวของเสื้อผ้าอะไรๆได้มากมายสะดวกสบาย แต่หลังความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาส่งกำลังทหารเข้ามาควบคุมจัดการบริหาร นำเอาแนวคิดระบอบทุนนิยมปลูกฝังเผยแพร่ ทุกสิ่งอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดด สังคมเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ค่าครองชีพพุ่งสูงหลักร้อยพันเยนยังแทบเอาตัวไม่รอด ‘เงิน’ กลายเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดในการดำรงชีพไปเรียบร้อยแล้ว

ถ้าคุณยังไม่เคยรับชมผลงานอื่นของ Shohei Imamura อย่างเพิ่งรีบร้อนหา The Insect Woman มาดูเป็นเรื่องแรกๆนะครับ (ควรเคยรับชมมาอย่างน้อย 1-2 เรื่องก่อนหน้า) เพราะอาจทำให้ไม่เข้าใจไดเรคชั่น สไตล์ลีลา วิธีคิด และตัวตนของผู้กำกับ เสียเวลาเปล่าๆถ้าดูรู้เรื่องแค่หน้าหนัง พยายามมองลึกเข้าไปให้เห็นถึงแก่นสาระ จะพบเห็นความโกลาหลที่สวยงาม ‘Beautiful Chaotic’

Shohei Imamura (1926 – 2006) ปรมาจารย์ผู้กำกับในตำนานของญี่ปุ่น เป็นคนเดียวของเอเชียที่คว้า Palme d’Or ถึงสองครั้งจาก The Ballad of Narayama (1983) และ The Eel (1997), เกิดที่ Tokyo ในครอบครัวระดับกลาง พ่อเป็นหมอ เอาตัวรอดผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างลำบากแสนเข็น ทำงานในตลาดมืดรู้จักเส้นสาย Chimpira, Yakuza เป็นอย่างดี, เข้าเรียน Waseda University สาขาประวัติศาสตร์ตะวันตก แต่เอาเวลาส่วนใหญ่สนใจการเมืองและดูหนัง หลงใหลใน Rashômon (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa คือแรงบันดาลใจให้กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์

หลังเรียนจบได้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yasujirō Ozu ที่สตูดิโอ Shochiku Studios อาทิ Early Summer (1951), The Flavor of Green Tea over Rice (1952), Tokyo Story (1953) แต่เพราะความไม่ประทับใจในแนวทางของ Ozu ต่อการนำเสนอภาพลักษณ์ของสังคมญี่ปุ่น ลาออกไปสตูดิโอ Nikkatsu เป็นผู้ช่วย Yuzo Kawashima สร้าง Sun in the Last Days of the Shogunate (1957) ต่อมาได้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Stolen Desire (1958) เรื่องราวของนักแสดงพเนจรที่ได้พบเจอเรื่องราวต่างๆ สะท้อนเข้ากับชีวิตของ Imamura ที่ได้พบเจออะไรต่างๆมากมาย

สไตล์ของ Imamura มีความสนใจอย่างมากเรื่องสังคมชนชั้นต่ำกว่าสะดือของประเทศญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนล่างของมนุษย์กับโครงสร้างของสังคม (ชนชั้นล่าง) สันชาติญาณความต้องการ โดยเฉพาะเรื่อง Sex ด้วยการตั้งคำถาม ‘มนุษย์คืออะไร? แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นอย่างไร?’ (หนังของ Imamura จะต้องมีภาพของสรรพสัตว์สอดแทรกใส่อยู่เสมอ)

“I like to make messy films, and I am interested in the relationship of the lower part of the human body and the lower part of the social structure… I ask myself what differentiates humans from other animals. What is a human being? I look for the answer by continuing to make films”.

หลังจากสร้างเอกลักษณ์สไตล์ให้ต้นเอง เริ่มต้นจาก Pigs and Battleships (1961) แต่กลับได้รับเสียงต่อต้านรุนแรงจากผู้ชมชาวญี่ปุ่น ทำให้สตูดิโอ Nikkatsu สั่งห้าม Imamura กำกับภาพยนตร์สองปี ซึ่งเจ้าตัวก็ยินยอมทำตามเพราะได้มีโอกาสหยุดพักผ่อน และใช้เวลาว่างเต็มที่ศึกษาหาข้อมูลเตรียมการ ร่วมงาน Keiji Hasebe พัฒนาบทหนังเรื่องใหม่จนมีความสมบูรณ์น่าพึงพอใจ เสร็จสิ้นก็สองปีเต็มพอดิบพอดี

เรื่องราวของ Tome (รับบทโดย Sachiko Hidari) ถือกำเนิดขึ้นปี 1918 ในครอบครัวชนชั้นต่ำไม่รู้ว่าใครคือพ่อ เติบโตขึ้นพบเห็นแม่ร่วมรักหลับนอนกับชู้ในโรงนา เก็บเป็นภาพฝังใจกลายเป็นลูกติดพ่อเลี้ยง โตขึ้นถูกบีบบังคับให้ไปแต่งงานกับลูกคนเล็กเจ้าของที่ดินแถวบ้าน แต่กลับถูกข่มขืนจนท้องซมซานกลับมา คลอดลูกสาวชื่อ Nobuko (รับบทโดย Jitsuko Yoshimura) แล้วเดินทางสู่ Tokyo หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จับพลัดจับพลูจากคนใช้กลายเป็นโสเภณี ไต่เต้าจนกลายเป็นแม่เล้าแล้วถูกจับติดคุก กลับออกมารับรู้ลูกสาวมีชู้กับผัวเก่าของตนเอง โอ้ละหนอชีวิต!

Sachiko Hidari ชื่อจริง Sachiko Nukamura (1930 – 2001) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Toyama หลังสงครามโลกครั้งที่สองทำงานเป็นครูสอนหนังสือ เข้าตาแมวมองเลยผันตัวมาเป็นนักแสดง เริ่มมีชื่อเสียงจาก An Inn at Osaka (1954), Ofukuro (1955) กลายเป็นตำนานกับ The Insect Woman (1963), She and He (1963), A Fugitive from the Past (1965), Under the Flag of the Rising Sun (1972), Mishima: A Life in Four Chapters (1985) ฯ

รับบท Tome หญิงสาวผู้กระทำทุกอย่างเพื่อครอบครัวและตนเอง พยายามไต่เต้าขึ้นที่สูงให้พ้นจากเนินความยากจน แรกๆยังคงยึดถือมั่นในศีลธรรมความถูกต้อง แต่เมื่อโชคชะตาถูกหลอกขายกลายเป็นโสเภณี เรียนรู้ว่าเงินยิ่งใหญ่สุดก็เริ่มไม่สนอะไรอย่างอื่นแล้ว ปีนถึงจุดสูงสุดด้วยวิธีการหน้าไม่อาย ด้วยเหตุนี้ผลกรรมจึงตามสนองเฉกเช่นเดียวกับที่เคยทำไว้ทุกสิ่งอย่าง ติดคุกว่าคือจุดตกต่ำสุดของชีวิต แต่ออกมากลับพบเจอความเลวร้ายยิ่งกว่า ไม่เป็นไรเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้งก็ยังได้

เพราะความที่สมัยเด็กพบเห็นแม่ในโรงนากับชู้ร่วมรัก ภาพความทรงจำตราฝังใจนี้กลายเป็นปม Electra รักพ่ออิจฉาแม่ (ตรงกันข้ามกับ Oedipus) พูดติดตลกว่าหลับนอนร่วมกันคือแต่งงาน แม้ไม่มียืนยันว่าพวกเขาล่วงเกินเลยกันหรือเปล่า แต่ฉากดูดนมจากเต้าเป็นอะไรที่น่าเศร้าสลดของตัวละครนี้ ทั้งชีวิตโหยหาความรักจากผู้ชาย ขณะเดียวกันก็ถูกครอบงำกดขี่เอารัดเอาเปรียบสารพัด (นี่สะท้อนสังคมญี่ปุ่น ผู้ชายเป็นใหญ่ในบ้าน) ได้เสี่ยรับเลี้ยงดูแลขอเรียกว่าป๊าป๋า แล้วก็อกหักนับครั้งไม่ถ้วนทีเดียว

ความร่านของตัวละคร สะท้อนออกมาผ่านสายตาของ Hidari ตั้งแต่ตอนยังเก็บกดไม่รู้ประสีเดียงสา จนกระทั่งหลังจากถูกหลอกขายตัวก็เริ่มปลดปล่อยระบายออกมา ถือเป็นวิวัฒนาการแสดงที่ทรงพลังขึ้นเรื่อยๆ แต่ไฮไลท์ไม่ได้อยู่ฉากเคลื่อนไหวใดๆ เป็นช็อตภาพนิ่งขณะกำลังไปให้การกับตำรวจแล้วเดินสวนอดีตสาวใช้ที่ขโมยเงินและคงทรยศหักหลังตนเอง ซึ่งเธอก็ได้แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธคลั่งแค้น อารมณ์ทะลักเอ่อล้นออกมาทีเดียว

Jitsuko Yoshimura (เกิดปี 1943) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น ได้รับการพบเจอโดยผู้กำกับ Imamura แจ้งเกิดกับ Pigs and Battleships (1961) ตามด้วย The Insect Woman (1963) กลายเป็นตำนานกับ Onibaba (1964)

รับบท Nobuko ลูกสาวนอกสมรสของ Tome เติบโตขึ้นที่บ้านชนบท หลังจากพบเห็นญาติๆร่วมรักหลับนอนในโรงนากลายเป็นแบบเดียวกับแม่เกิดปม Electra แต่เพราะพ่อไม่มีเลยกลายเป็นปู่ (ซึ่งก็คือพ่อของ Tome) โตขึ้นตกหลุมรักหนุ่มข้างบ้าน วาดฝันซื้อที่ดิน รถไถ ทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ เดินทางมาขอเงินแม่ที่ Tokyo แต่ขณะนั้นติดคุกอยู่เลยกลายเป็นเมียเก็บชู้แม่ ยอมเสียสละเรือนร่างแลกกับเงินก้อนโต ซึ่งเมื่อได้มาก็รีบหนีกลับโดยทันที ไม่หลงใหลยึดติดกับความสุขจอมปลอมดังกล่าว

ผมอดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงตัวละครนี้ ทั้งๆก็แค่สมทบบทไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ Yoshimura สามารถถ่ายทอดทั้งความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ร่านราคะบนเตียง และแฝงด้วยจุดประสงค์บางอย่างที่สูงส่งกว่า ผสมผสานแสดงออกมาได้อย่างลุ่มลึกล้ำลงตัว

คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า แต่ก็น่าฉงนอย่างยิ่งว่า ทำไม Nobuko ถึงสามารถเกิดความเพียงพอดีขึ้นมาในชีวิต แตกต่างตรงกันข้ามกับแม่ Tome ที่เอาแต่ปีนป่ายขึ้นสูงไม่ยอมหยุด ตกลงมาแล้วยังไม่รู้สึกเข็ดไต่กลับขึ้นไปอีก??? ผมคิดว่าอาจเพราะแฟนหนุ่มของ Nobuko คือบุคคลที่มอบความรักความอบอุ่นเสมอภาคให้เธอ ไม่ได้พบเจอชายอื่นเลวๆแบบแม่ ปม Electra หลังจากปู่ตายก็กลายเป็นชายคนนี้ ไม่ต้องการอะไรอื่นไปมากกว่า

สามผลงานที่กลายเป็นตำนานของ Yoshimura เรื่องนี้แม้บทน้อยนักแต่ถือว่าขโมยซีนไปเต็มๆ ส่วนตัวประทับใจมากกว่าบทนำใน Pigs and Battleships (1961) เสียอีกนะ แต่ชอบสุดก็คือ Onibaba (1964) สายตาแห่งความร่านสวาท ถึงจะแค่หน้าตาบ้านๆแต่ก็สามารถทำให้หนุ่มๆหัวใจแหลกสลาย … ผมก็คนหนึ่งละ

ถ่ายภาพโดย Shinsaku Himeda ขาประจำของ Imamura และยังเป็นตากล้องสัญชาติญี่ปุ่นคนแรกที่เข้าชิง Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง Tora! Tora! Tora! (1970)

Prologue นำเสนอภาพของแมลงตัวหนึ่งที่กำลังก้าวย่างเดินไปบนผืนทราย จะมีขณะที่มันไต่ขึ้นเนินแล้วปรากฎขึ้นชื่อหนัง นี่เป็นการสะท้อนถึงพฤติกรรมของมันที่คล้ายกับมนุษย์ ต่างพยายามไต่เต้าให้ถึงจุดสูงสุดของชีวิต

ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Imamura หลายๆอย่างรับอิทธิพลจากอาจารย์ Ozu อย่างช็อตนี้เป็นการเคารพคารวะตรงๆ ด้วยกล้องหยุดนิ่งนิ่ง มุมต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อย (Tatami Shot) การจัดวางตำแหน่ง/องค์ประกอบนักแสดง สังเกตว่าจะไม่มีใครอยู่ซ้อนทับกันเลย และกึ่งกลางภาพคือบุคคลผู้อยู่ในความสนใจสุดขณะนั้น พ่อ Chuji เดินทางมาแจ้งเกิด แต่เขาเพิ่งแต่งงานกับภรรยาได้ 2 เดือน มีแต่คนโง่เท่านั้นแหละไม่รู้ว่านั่นไม่ใช่ลูกแท้ๆของตนเอง

ช็อตนี้มีอีกสิ่งหนึ่งน่าสนใจมากๆคือควันไฟ เพราะฤดูกาลของหนังขณะนั้นคือหน้าหนาวไม่แปลกที่จะมีการจุดผิง (แก้หนาว) แต่ควันที่โพยพุ้งขึ้นบดบังใบหน้าของ Chuji ให้มีความมัวๆเลือนลาง สามารถสื่อได้ถึงความเจือจางของชายคนนี้ เพราะเขาไม่ใช่พ่อแท้ๆของ Tome ยังไงละ!

โรงนาแห่งความลับที่เด็กๆจับจ้องมองเข้ามา พบเห็นผู้ใหญ่ชาย-หญิง แม่กับใครไม่รู้ร่วมหลับนอน ก็แน่ละทำให้พวกเขาจดจำภาพนี้ตราตรึงกลายเป็นปมบางอย่างฝังใจ สำหรับผู้หญิงเรียกว่า Electra ผู้ชายก็ Oedipus Complex

มันอาจด้วยเหตุผลนี้กระมังถึงทำให้ Tome รังเกียจโรงนา อาชีพเกษตรกรรม โตขึ้นจึงเลือกทำงานโรงงาน มุ่งสู่เมืองใหญ่กลายเป็นคนใช้ ขายตัว แม่เล้า ทำความสะอาด ฯลฯ ไม่คิดหวนกลับมาย่ำโคลนเลนยังสถานที่แห่งนี้ ต้องการมุ่งไปข้างหน้าปีนป่ายขึ้นสูงสถานเดียวเท่านั้น

การที่ Tome ยอมให้พ่อดูดน้ำนมของตนเองป้อนลูก ไม่เพียงเป็นการสะท้อนปม Electra ของเธอ แต่ยังปมด้อยของพ่อที่ไม่ได้รับความรักอบอุ่นจากภรรยา คือมันก็งูกินหางกันอยู่อย่างนี้ ลูกขาดแม่เลยติดพ่อ พ่อขาดภรรยาเลยอยากดูดนมลูก *-*

นัยยะของการที่พ่อดูดนมจากเต้าของลูกสาว สื่อถึงคนรุ่นเก่าที่ไม่สามารถดูแล/ปรับตัวเองให้เข้ากับโลกยุคสมัยใหม่ได้ ด้วยเหตุนี้เลยทำได้แค่รอคอยความช่วยเหลือจากลูกๆ ก็เหมือนให้พวกเขาป้อมนมให้แบบนี้นะแหละ

หลายครั้งของหนังที่เป็นภาพนิ่ง/Freeze-frame Shot และมีเสียงบรรยายของ Tome อ่านจากบันทึกเหมือนกลอนไฮกุ เพื่อเป็นการสร้างจังหวะสิ้นสุดให้กับเรื่องราว

ขณะกำลังจดบันทึกไดอารี่ของ Tome เธอเลยนอนซุกอยู่ใต้โต๊ะ (และเหมือนจะช่วยตนเองอยู่ด้วยมั้งนะ!) ญาติคนหนึ่งกำลังปัดฝุ่นทำความสะอาดบ้าน แล้วก็มาหยุดวินาทีนี้พอดี ราวกับจะสื่อว่าขณะนั้น Tome คือขยะชิ้นหนึ่งที่สมควรต้องถูกปัดกวาดเก็บทิ้ง *-*

โรงงานทอผ้า เป็นตัวแทนของโรงงานอุตสากรรมที่กำลังเข้ามาถักทอ มีบทบาทในชีวิตชาวญี่ปุ่นมากขึ้นกว่าเกษตรกรรมดั้งเดิม ซึ่งการมาถึงของช็อตนี้เป็นช่วงขณะญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามเรียบร้อยแล้ว และเธอก็ได้ลักลอบเป็นชู้กับหัวหน้าแผนก

เพราะเสียงเครื่องจักรที่ดังเหลือเกิน ทำให้ไม่มีลูกจ้างคนไหนสนใจฟังคำประกาศจากหัวหน้าแผนก มัวแต่คุยเรื่อง… ด้วยเหตุนี้ Tome จึงเดินไปหยุดเครื่องให้ทุกคนรับฟัง แต่แฟนหนุ่มของเธอกลับต่อว่า เพราะกลัวจะเสียเวลางานแถมเดินกลับไปเปิดเดินเครื่องใหม่, เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงหลายสิ่งอย่างทีเดียว อาทิ
– สังคมญี่ปุ่น ผู้ชายยังคงถืออภิสิทธิ์ชนเหนือกว่าผู้หญิง
– ธุรกิจอุตสาหกรรม สนแต่ปริมาณมากกว่าให้เวลากับคุณภาพ
– คนทำงานรุ่นใหม่ไม่ได้สนที่เนื้องาน แต่คือความเงินทองและความพึงพอใจส่วนตน

แล้ว Tome ก็ถูกบอกเลิกในกอหญ้า จากแฟนหนุ่มหัวหน้าแผนกที่มองว่าเธอจริงจังกับชีวิตเกินไป, พงหญ้าเป็นตัวแทนของธรรมชาติ สันชาติญาณดิบของมนุษย์ นี่คงจะสื่อว่าความเห็นแก่ตัวของผู้ชายในสังคมญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องสามัญทั่วไป ไม่ยินยอมรับการที่ผู้หญิงจะมีตำแหน่งสูงเก่งกว่าตน

ก็ด้วยเหตุนี้ภาพช็อตถัดมา Tome เลยไปนั่งเศร้าโศกเสียใจร้องไห้ริมฝั่งแม่น้ำ ราวกับว่าน้ำตาเธอร่วงรินไหลเป็นสายธารา

ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจของ Tome ได้อยู่สักพักหนึ่ง ซึ่งก็มีการสารภาพบาป อธิบายกฎแห่งกรรม อะไรคือสาเหตุผลทำให้เธอกลายเป็นหญิงผู้เคราะห์ร้ายร่านราคะเฉกเช่นนี้ แม้จะได้คำตอบเป็นที่น่าพึงพอใจมีแนวโน้มกลับกลายเป็นคนดี แต่เพราะการที่ได้พบกับซาตานในคราบนักบุญ Madame เจ้าของซ่องโสเภณี เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเลยหมดสูญสิ้นศรัทธาความเชื่อมั่นในศาสนาไป

นี่ผมก็ไม่รู้พุทธศาสนานิกายอะไรนะ ดูแปลกๆที่มีเหมือนการสารภาพบาป แต่จริงๆกับก็มีที่พระสงฆ์เรียกว่าเรียกว่าประกาศอาบัติ ว่าทำผิดศีลต่อพระพี่เลี้ยง ถ้าเล็กๆน้อยๆ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต รู้สำนึกก็ยังพอยกโทษให้อภัยด้วยวาจาตกไปได้ ระดับสังฆาทิเสสละก็ต้องเข้าปริวาสกรรม แต่ถ้าปาราชิกก็จบกัน สึกออกจากความเป็นสงฆ์สถานเดียว

ปากอ้างศีลธรรมความถูกต้องโก้หรู แต่จิตใจความต้องการแท้จริงกลับกระหยิ่มยิ้มกริ่มที่ได้ค้นพบเจอเป้าหมายปลายค้นหามานานเสียที เงินทองแสนหายากแต่แค่ครั้งแรกเดียวนี้ก็แทบพอใช้หนี้ทุกสิ่งอย่าง แถมตัณหาราคะที่เก็บซ่อนสะสมยังได้ระบายความคับคลั่งออก นับเป็นโชคสองชั้นมีหรือจะยอมเลิกราง่ายๆ

แต่นี่แค่บันไดก้าวแรกของ Tome ความใฝ่ฝันของเธอคือขึ้นให้ถึงจุดสูงสุด ไม่สนจะต้องเหยียบย่ำศพใครตาย และเพราะการตัดสินใจโอบกอดรับด้านมืดครั้งนี้ ทำให้เธอทอดทิ้งหลักศีลธรรมศาสนา หมดสิ้นแล้วซึ่งความเชื่อศรัทธาในสิ่งดีงาม จะเลวก็ต้องให้ถึงที่สุดโดยเฉพาะ Madame เจ้าของซ่องโสเภณีแห่งนี้ วาดฝันว่าสักวันจะได้เข้ามาแทนที่

แม้จะทำงานเป็นโสเภณี แต่ Tome ก็ได้รับการติดต่อขอซื้อตัวไปเป็นชู้รัก พวกเขาร่วมรักกอดจูบกันที่ออนเซน ท่ามกลางแก่งโขดหินยามรัตติกาล, สถานที่นี้มีความมืดมิด Low Key เป็นอย่างมาก คงสื่อถึงการกระทำของพวกเขาคือสิ่งชั่วร้ายอันตรายตกต่ำที่สุด (ซื้อขายมนุษย์, ลักลอบเป็นชู้)

จุดเริ่มต้นของความเบื่อหน่าย ‘ยามเมื่อรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน ยามชังน้ำตาลยังว่าขม’ เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจร้องขอให้ Tome หลับนอนกับนายทุนของตนเอง นี่ก็ชัดเจนว่าจริงๆแล้วเสี่ยเลี้ยงคนนี้ไม่ได้สนอะไรอย่างอื่นนอกจากความสุขพึงพอใจของตนเอง ซึ่งไฮไลท์ช็อตนี้คือภาพครึ่งหนึ่งของใบหน้าที่สะท้อนเข้ากับกระจกด้านขวามือ น้อยคนอาจทันสังเกตแต่สื่อความได้ถึงว่า ‘ลายเสือเริ่มออก’

เสี่ยคนนี้ Karasawa น่าจะสื่อแทนได้ด้วยประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะความร่ำรวยมั่งมีมากด้วยอิทธิพล เมื่อพบเจอ Tome (ตัวแทนคนญี่ปุ่นรุ่นเก่า) ตกหลุมรักต้องการครอบครองเธอจนสำเร็จสมหวัง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปพอเริ่มแก่หง่อมก็หมดความน่าสนใจ เลยเปลี่ยนมามองลูกสาว Nobuko (ตัวแทนคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่) ได้ครอบครองเรือนร่างอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อผลประโยชน์ได้เสียหมดสิ้นก็เชิดหนีลาจากแบบไม่สนหัว ปล่อยตาแก่หงำเหงือกหลุดพร่ำเพ้อแต่มิอาจครอบครอง ส่ง Tome ให้ไปเกลี้ยกล่อมเกลา แต่เชื่อเถอะ Nobuko คงไม่สนใจอะไรทั้งนั้น

คำสุดท้ายของพ่อคือ ‘นม’ นั่นทำให้ Tome รับรู้ได้ทันทีว่าคืออะไร แต่นี่เป็นครั้งแรกของลูกสาว Nobuko ผมว่าเธอน่าจะรับไม่ได้เลยนะ ลุกขึ้นเดินหนีแล้วแอบหันหลังมามองด้วยสัมผัสประมาณว่าขยะแขยง

ว่าไปนี่อาจคือสาเหตุสำคัญที่ให้เธอเริ่มไม่อยากกลายเป็นเหมือนแม่ เมื่อตอนเดินทางสู่ Tokyo กลายเป็นชู้ผัวแม่ ถึงแสดงความร่านออกมาแค่ไหน แต่เมื่อได้เงินเพียงพอแล้วก็ไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านั้น

มองอีกมุมหนึ่งนี่เป็นการเอาคืนของ Nobuko ที่กลายเป็นชู้แย่งผัวแม่ ยินยอมให้ตบหน้าเพราะรู้ตัวว่าสมควรโดน แต่ความสดใสโลกสวยของเธอดูผิดแปลก เป้าหมายความต้องการชัดเจนคือเรื่องเงินไม่สนอย่างอื่น

ครุ่นคิดในมุมมองของ Tome จิตใจคงปั่นป่วนคลื่นไส้อย่างบอกไม่ถูก น่าจะเริ่มรับรู้ซึ้งถึงโชคชะตาเคราะห์กรรมที่เวียนวนหวนกลับมาเกิดขึ้นซ้ำซากกับตนเอง นี่ถือเป็นจุดตกต่ำสุดเสียยิ่งกว่าตอนติดคุกเสียอีก (คือถูกทรยศหักหลังจากลูกแท้ๆในไส้) แต่เพราะชีวิตลูกผู้หญิงมีความอดทนกลั้น มือถูกน้ำร้อนลวกยังทนได้ นับประสาอะไรกับทุกข์ทรมานใจแค่นี้ ก็แค่เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ทำอะไรต่อก็ไม่รู้ค้างคาไว้เป็น MacGuffin

Epilogue หวนกลับมาล้อกับ Prologue ตอนต้น เปลี่ยนจากแมลงเดินขึ้นเนินกองทราย กลายมาเป็น Tome กำลังเดินขึ้นเนินเขาเพื่อหวนกลับบ้านเกิด มันจะมีจังหวะที่เธอไถลลงโคลน รองเท้าขาด นั่นเปรียบได้กับอุปสรรคขวากหนามในชีวิต และจบด้วยช็อตนี้ขึ้นมายังตำแหน่งสูงสุดของเส้นทางเดิน

หลายคนอาจรู้สึกคั่งค้างคากับตอนจบนี้ มันน่าจะมีอะไรอีกไม่ใช่หรือ? เช่นว่า Tome พูดบอกความจริงกับแฟนหนุ่มของลูกสาวเธอ นั่นคือเหตุผลที่อุตส่าห์เดินทางกลับบ้านเลยนะ! … แต่ช่างมันเถอะครับประเด็นพวกนั้น ก็เหมือนชีวิตคนเราที่อนาคตข้างหน้าเป็นสิ่งไม่มีใครล่วงรับรู้ได้ ในบริบทการเปรียบเทียบของหนังถือว่าจบสิ้นลงแล้วพอดิบพอดี อะไรจะเกิดขึ้นต่อก็ไปเพ้อเจ้อเองแล้วกัน!

ตัดต่อโดย Mutsuo Tanji อีกหนึ่งขาประจำของ Imamura ร่วมงานตั้งแต่ Endless Desire (1958),

หนังเล่าเรื่องในมุมมองของ Tome แทบทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่เกิดปี 1918 จากนั้นกระโดดไปข้างหน้าเรื่อยๆ โดยจะมีขึ้นข้อความบอกเดือนปี และมักจบลงด้วยภาพ Freeze-Frame และอ่านคำกลอนไฮคุ เพื่อสรุปทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

ถ้าสังเกตให้ดีจะมีช่วงที่ฟีล์มมีความเบลอ พบเห็นเส้น หรือ Noise ปริมาณมากผิดปกติ นั่นน่าจะมาจาก Archive Footage อาทิ รถไฟตกราง, เดินขบวนชุมนุมเรียกร้อง ฯ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณจำกัดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างสัมผัสรู้ถึงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นอยู่ด้วย

หลายครั้งของหนังที่เล่าเรื่องด้วยการร้อยเรียงภาพนิ่ง อย่างฉากที่ Tome สวนทางกับอดีตคนใช้ที่ทรยศหักหลังตนเอง นี่ลดความรุนแรงบ้าคลั่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้มากทีเดียว รวมทั้งยังสามารถเร่งเวลาขึ้นได้อีกหน่อย 123 นาทีถือว่าแอบยาวเกินไปนิดนะ

เราสามารถแบ่งหนังออกเป็นสามองก์ ที่ครบวงรอบวงจรชีวิตของแมลงในตัวเอง
– Prologue
– Tome ณ ชนบท: ตั้งแต่เกิด เติบโต ทำงาน แต่งงาน มีลูก จบที่ออกเดินทางสู่ Tokyo
– Tome ณ Tokyo: ทำงานเป็นคนใช้ กลายเป็นโสเภณี ได้เสี่ยเลี้ยง แม่เล้า หวนกลับคืนบ้านร่วมงานศพพ่อ จบที่ถูกจับติดคุก
– Nobuko ณ Toyko: หลังจาก Tome ออกจากคุกรับรู้ความจริงเกี่ยวกับ Nobuko ก็ถึงเวลาเริ่มต้นใหม่
– Epilogue

เพลงประกอบโดย Toshiro Mayuzumi คีตกวีแนว Avant-Garde สัญชาติญี่ปุ่น ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Street of Shame (1956), Enjo (1958), Stolen Desire (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), Tokyo Olympiad (1965), The Bible… in the Beginning (1966) ฯ

ด้วยไดเรคชั่นเดียวกับ Pigs and Battleships (1961) เพลงประกอบมักดังขึ้นระหว่างฉาก ในขณะที่ไม่มีการพูดคุยสนทนา เว้นเสียแต่ถ้าเปิดจากจากวิทยุ หรืออยู่ในผับบาร์คลอเบาๆประกอบเท่านั้น

สไตล์เพลงของหนังถือว่ามีความ Avant-Garde อย่างเต็มตัว ผสมเสียงโน่นนี่นั่นเข้ามาอย่างไร้ทำนองติดหู รวมถึงเสียงร้องกล่อมเด็กของแม่ (ที่เต็มไปด้วยความโหยหวน หลอกหลอนสิ้นดี) เน้นสร้างบรรยากาศความอัปลักษณ์พิศดาร โลกที่ไร้ซึ่งศีลธรรมจรรยา มนุษย์เต็มไปด้วยความโลภละโมบ ร่านราคะ เห็นแก่ตัว ทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองประสบความสำเร็จมีชีวิตสุขสบาย แต่ไม่ใคร่คิดสนความรู้สึกหัวอกผู้อื่น

The Insect Woman คือภาพยนตร์ที่ทำการจารึกประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่น ช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างสองสงครามโลกและสิบกว่าปีให้หลัง ในมุมมองของหญิงสาวที่จำต้องปรับตัวรอดเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งผู้กำกับ Imamura ได้ทำการสร้างสัญลักษณ์เชิงเปรียบเทียบแบบตรงไปตรงมา พยายามอย่างยิ่งจะวางตัวเป็นกลางไม่แสดงทัศนะความเห็นใดๆ ขึ้นอยู่กับผู้ชมจะครุ่นคิดวิเคราะห์มีความคิดเห็นต่อยุคสมัยนั้นเป็นเช่นไร

การปรับตัวของ Tome เพื่อให้ตนเองก้าวหลุดพ้น ข้ามผ่านความทุกข์ยากจนสู่อนาคตอันสุขสบายสดใส แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเพื่อให้บรรลุความประสงค์นั้น กลับเลือกหนทางทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ไม่เพียงครอบครัว พ่อและลูกสาวที่บ้านนอกชนบท แต่ยังความเชื่อศรัทธาในคุณธรรมความดีงามจนกลายเป็นคนชั่วช้าเลวต่ำทราม เหยียบย่ำทุกคนทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ตนเองปีนป่ายขึ้นถึงสู่จุดสูงสุด

ประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะต้องการเป็นหนึ่งในผู้นำโลก พยายามทำทุกสิ่งอย่างอันไร้ซึ่งความถูกต้องชอบธรรม อยู่ดีๆก็ส่งเครื่องบินไปถล่ม Pearl Harbour ไม่บอกกล่าวเตือนล่วงหน้า ผลกรรมก็โดนเข้าไปสองเมือง Hiroshima, Nagasaki ตามทันเร็วมากในชาตินี้

การถูกจับติดคุกของ Tome เทียบได้ก็คือช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นจำต้องยอมก้มหัวแพ้สงคราม แล้วให้สหรัฐอเมริกาส่งทหารเข้ามาควบคุมบริหารจัดการประเทศ (นี่ไม่ต่างอะไรกับการติดคุกติดตารางเลยนะ) ซึ่งระหว่างนั้นเองคนรุ่นใหม่ก็มีทัศนคติแปลกๆเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งหมายถึงโลกดำเนินมาถึงจุดที่ ‘เงิน’ คือสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิตแล้ว

สิ่งที่หนังค้างคาไว้ถึงการงานใหม่ของ Tome หลังออกจากคุก ก็สื่อถึงปี 1960 เมื่อมีการเซ็นสัญญา US-Japan Security Treaty ทำให้สหรัฐอเมริกาถอนกำลังทหารส่วนใหญ่ออกจากประเทศญี่ปุ่น เพราะมันเพิ่งผ่านมาไม่กี่ปีเลยยังไม่มีใครมองออกว่าทิศทางของชาติบ้านเมืองจะไปทางไหน ให้ผู้ชมกำหนดตัดสินใจกันเองเลยดีกว่าอยากให้อนาคตกลายเป็นอย่างไร

สองผลงาน Pigs and Battleships (1961), The Insect Woman (1963) ของผู้กำกับ Shohei Imamura ต้องถือว่ามีแนวคิด/เป้าหมายของหนังคล้ายๆกัน คือการนำเสนอสภาพสังคม วิวัฒนาการของประเทศญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษฟ้าใหม่ เปลี่ยนผ่านการบริหารหวนกลับสู่ชาวญี่ปุ่นกันเองอีกครั้ง จารึกประวัติศาสตร์เก็บฝังใส่ Time Capsule ส่งต่อให้ลูกหลานเหลนรุ่นถัดๆไป ได้มีโอกาสรับรู้เข้าใจบรรยากาศ เรื่องราวแห่งช่วงเวลาดังกล่าว

การเปรียบเทียบชาวญี่ปุ่นกับแมลง นี่ไม่ใช่ดูถูกเหยียดหยามความต่ำต้อยนะครับ (เปรียบเป็นหมูใน Pigs and Battleships ผมว่ายังรุนแรงกว่ามาก) ตรงกันข้ามคือยกย่องชื่นชมเสียด้วยซ้ำว่ามีความสามารถเก่งกาจในการปรับตัวเองสู่สภาพแวดล้อมใหม่ แต่คงไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ที่จะทอดทิ้งศีลธรรมมโนธรรมข้อตกลงทางสังคม เพื่อชัยชนะต้องสามารถแลกด้วยทุกสิ่งอย่าง

ต่อให้อ้างว่ากระทำความชั่วเลวทรามนั้นเพื่อครอบครัว คนรัก หรือประเทศชาติก็ตามที แต่ลองครุ่นคิดว่าถ้าลูกของคุณล่วงรู้ว่าเงินมากมายที่แม่ส่งมาเกิดจากลักขโมย ค้าประเวณี สิ่งผิดกฎหมาย เขาจะสามารถยินยอมรับได้หรือเปล่า ศักดิ์ศรีจะยังมีค้ำคอหลงเหลืออยู่ไหม!

เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin ทำให้นักแสดงนำหญิง Sachiko Hidari คว้ารางวัล Silver Berlin Bear: Best Actress [ควบกับผลงานอีกเรื่องที่ฉายพร้อมกันในเทศกาล She and He (1963)]

เนื่องจากที่ญี่ปุ่นทศวรรษนั้นยังไม่มีการประกาศรางวัล Japan Academy Prize แต่ก็ได้เข้าชิงคว้าสี่รางวัลใหญ่ควบจาก Blue Ribbon Awards และ Kinema Junpo Awards ประกอบด้วย
– Best Film
– Best Director
– Best Actress (Sachiko Hidari)
– Best Screenplay

ในปีนั้นของญี่ปุ่น นอกจากเรื่องนี้เห็นจะมีอีกแค่ High and Low (1963) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa ที่ได้รับยกย่องกลายเป็นตำนานเหนือกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ คือการแสดงของ Jitsuko Yoshimura และใจความกฎแห่งกรรม เคยทำอะไรใครไว้ไม่ต้องรอชาติหน้าก็ได้จองเวรคืนสนองครบถ้วนสมบูรณ์, ซึ่งฉากที่ผมประทับใจสุดๆ คือตอน Yoshimura ร่านรักหลับนอนกับป๊ะป๋า มันช่างบดขยี้หัวใจรุนแรงมากๆ แต่เมื่อได้เงินมาแล้วหลบหนีหายตัวกลับบ้าน ผมละตบโต๊ะโคตรสะใจ อีหนูชนะเลิศเลย!

แนะนำคอหนัง Drama แนวสู้ชีวิต, สนใจประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่น อิทธิพลของยุคสมัยทุนนิยม, แฟนๆผู้กำกับ Shohei Imamura, นักแสดงนำ Sachiko Hidari, Jitsuko Yoshimura ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความรุนแรง โสเภณี ชู้นอกใจ Incest และทัศนคติเพี้ยนๆของการต่อสู้ดิ้นรนมีชีวิต

TAGLINE | “The Insect Woman ของผู้กำกับ Shohei Imamura คือการจารึกประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นด้วยวงจรชีวิตของแมลงชั้นต่ำ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: