The Iron Giant (1999) : Brad Bird ♥♥♥♥
ดีชั่วอยู่ที่ตัวเราเองจะเลือกตัดสินใจ เฉกเช่นเดียวกับเจ้าหุ่นยักษ์จากนอกโลก แม้ทั้งร่างกายคืออาวุธ มีพลานุภาพทำลายล้างมหาศาล แต่ถ้านำไปใช้ในทางที่ดี ย่อมก่อให้เกิดคุณประโยชน์อนันต์, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
The Iron Giant คือภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ผมเคยหลงเข้าใจผิด คิดว่ามาจากฝั่งญี่ปุ่น เพราะตัวเอกหุ่นยักษ์ เห็นจากหน้าปกโปสเตอร์ก็คงประมาณ Gundam, Evangelion, Gurren Lagann ฯ (ดูจากรูปลักษณ์คล้าย The Big O มากกว่า) แต่ที่ไหนได้ โปรดักชั่นเรื่องนี้คือสตูดิโอ Warner Bros. ทางฝากฝั่งอเมริกัน ไม่ได้มีการอ้างอิงถึง หรือสร้างขึ้นเพื่อเคารพคารวะแนว Mecha ของญี่ปุ่นแม้แต่น้อย
จริงๆถ้าไม่เคยรับรู้อะไรมาก่อน ขณะเริ่มต้นรับชมก็น่าจะเกิดความเข้าใจได้ไม่ยาก พื้นหลังเมือง Rockwell, Maine การออกแบบศิลป์ อนิเมชั่น อะไรๆก็ดูอเมริกันสไตล์ไปเสียหมด และเรื่องราวพื้นหลังเอ่ยกล่าวถึงช่วงเวลาสงครามเย็น การแข่งขันแก่งแย่งชิงพื้นที่บนน่านฟ้าอวกาศ ระหว่างสหรัฐอเมริกันกับสหภาพโซเวียต ก็ไม่ได้มีความน่ารักโมเอะแบบญี่ปุ่นสักกะนิดเลย
ฟังดูอาจเป็นเรื่องราวที่หนักเกินเด็กไปเสียหน่อย แต่อนิเมะฝั่งอเมริกามักมีลักษณะประมาณนี้ นำเสนอเนื้อหาในเชิงวิพากย์จิกกัด สะท้อนเสียดสี ประชดประชัน และปลูกฝังแนวคิดทัศนคติบางอย่างต่อการใช้ชีวิต ซึ่งในมุมมองของเด็กๆ พวกเขาจะยังมองไม่เห็นสิ่งอื่นใดนอกจากความบันเทิง สนุกสนาน ข้อคิดสาระ แต่สำหรับผู้ใหญ่ มักทำให้เกิดอาการแสบๆคันๆ รวดร้าวทรมานใจทุกที เพราะมันช่างตรงกับประเด็นปัญหาสังคมนั้นๆอยู่ร่ำไป
จุดเริ่มต้นของอนิเมชั่นเรื่องนี้ มาจากนิยาย Sci-Fi เรื่อง The Iron Man: A Children’s Story in Five Nights (1968) แต่งโดย Ted Hughes (1930 – 1998) กวี นักเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็ก สัญชาติอังกฤษ เรื่องราวของหุ่นยักษ์จากต่างดาวตกลงมาสู่โลก แล้วกลายเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องจากศัตรูต่างดาว Space-Bat-Angel-Dragon ที่ต้องการมาจุดชนวนสงครามนิวเคลียร์ขึ้นบนโลก (ใจความ Anti-Wars)
เกร็ด: Hughes แต่งนิยายเรื่องนี้ เพื่อให้ลูกๆของเขาได้อ่าน และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตหลังจากแม่/ภรรยาสุดที่รัก Sylvia Plath ตัดสินใจฆ่าตัวตาย
เมื่อปี 1989 นักกีตาร์ Pete Townshend ร่วมกับวง Rock ของเขา The Who ทำการดัดแปลงนิยายเรื่องนี้ให้กลายเป็น Rock Opera ตั้งชื่อว่า The Iron Man: A Musical เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ (นิตยสาร Rolling Stone ให้คะแนน 1/5) แต่ยอดขายถือว่าใช้ได้ ไม่นานนักไปเข้าตาสองโปรดิวเซอร์ Allison Abbate และ Des McAnuff แห่งสตูดิโอ Warner Bros. เล็งเห็นว่าสามารถต่อยอดให้กลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นได้
ประมาณปี 1996 ระหว่างกำลังมองหาผู้กำกับอนิเมชั่นเรื่องนี้ สตูดิโอเล็งเห็นวิสัยทัศน์ของหนุ่มหน้าใหม่ไฟแรง Brad Bird ที่ขณะนั้นทำงานเป็นนักอนิเมเตอร์ให้สตูดิโอ Turner Feature Animation (ที่ WB เพิ่งเข้าควบกิจการ) เลยดึงตัวมายัง Warner Bros. Animation เพื่อให้กำกับอนิเมะขนาดยาวเรื่องแรก
Phillip Bradley Bird (เกิดปี 1957) ผู้กำกับ นักเขียน นักอนิเมเตอร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Kalispell, Montana, ตอนอายุ 11 มีโอกาสเดินทางมาทัศนศึกษายัง Walt Disney Studios เกิดความสนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งทำงานสายนี้ ใช้เวลาสองปีเต็มถัดจากนั้นหัดวาดภาพอนิเมะขนาดสั้นความยาว 15 นาที ส่งไปให้สตูดิโอ Disney ได้รับการเรียกตัวจาก Milt Kahl (หนึ่งในเก้า นักอนิเมเตอร์รุ่นแรกในตำนานของ Walt Disney) มาสั่งสอนกลายเป็นลูกศิษย์ โตขึ้นได้รับทุนการศึกษา (ก็จาก Disney นะแหละ) เข้าเรียน California Institute of the Arts รู้จักสนิทสนมกับ John Lasseter ภายหลังร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ PIXAR
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น Bird เรียนจบออกมา ได้ทำงานกับสตูดิโอ Disney เป็นนักอนิเมเตอร์เรื่อง The Fox and the Hound (1981) ก็ไม่รู้เกิดความขัดแย้งอะไรขึ้นหลังจากนั้น ลาออกไปเข้าร่วมสตูดิโอ Klasky Csupo ตามด้วย Turner Feature Animation กำกับ/เขียนบท/วาด อนิเมะฉายโทรทัศน์หลายเรื่อง อาทิ Family Dog, The Simpsons ฯ จนไปเข้าตาสตูดิโอ Warner Bros. จึงถูกซื้อควบกิจการ และดึงตัว Bird มุ่งสู่ Hollywood
หลังจาก Bird อ่านหนังสือต้นฉบับ The Iron Man เกิดความประทับใจอย่างยิ่งยวด ในตอนแรกต้องการดัดแปลงเขียนบทด้วยตนเอง วางพล็อตเรื่องคร่าวๆคือ อเมริกากับสหภาพโซเวียต ทำสงครามกำลังใกล้ถึงจุดแตกหักสิ้นสุด ซึ่งการมาถึงของหุ่นยักษ์ต่างดาวที่กำลังใกล้ตาย ได้ช่วยให้ความขัดแย้งรุนแรงนี้ยุติลง, แต่สตูดิโอ WB ตัดหน้าว่าจ้าง Tim McCanlies ไว้ก่อนแล้ว แม้ไม่เป็นที่พึงพอใจนักแต่เมื่อได้อ่านบทคร่าวๆดังกล่าว เกิดความรู้สึกพึงพอใจมากยิ่งกว่า แต่ก็ได้ต่อรองคงใจความสำคัญที่เจ้าตัวอยากนำเสนอคือ
“What if a gun had a soul?”
นี่ทำให้ความตั้งใจของ WB ที่จะสร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้จากฉบับ Rock Opera ก็ล่มสลายลงโดยพลัน
เกร็ด: หลังจากพัฒนาบทเสร็จสิ้น McCanlies ได้ส่งจดหมายแนบให้ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ Ted Hughes ที่ได้ตอบกลับด้วยความชื่นชอบประทับใจอย่างยิ่ง น่าเสียดายเจ้าตัวไม่ทันมีโอกาสได้รับชม เพราะเสียชีวิตลงก่อนสร้างอนิเมะเสร็จสิ้น
“I want to tell you how much I like what Brad Bird has done. He’s made something all of a piece, with terrific sinister gathering momentum and the ending came to me as a glorious piece of amazement. He’s made a terrific dramatic situation out of the way he’s developed The Iron Giant. I can’t stop thinking about it.”
ไม่นานนักหลังจากสหภาพโซเวียตทำการปล่อย Sputnik 1 ดาวเทียมอวกาศดวงแรกของโลกขึ้นสู่ฟากฟ้าเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 1957 (พ.ศ. ๒๕๐๐) มีวัตถุจากอวกาศตกลงหล่นสู่โลก บริเวณใกล้ๆเมือง Rockwell, Maine, เรื่องราวของเด็กชายวัย 9 ขวบ Hogarth Huges (พากย์เสียงโดย Eli Marienthal) ด้วยความใคร่สงสัยอยากรู้ เมื่อพบเห็นความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้น ออกเดิสำรวจจนพบความจริงเกี่ยวกับวัตถุนอกโลกนั้น แท้จริงคือหุ่นยนต์เหล็กยักษ์ Iron Giant (พากย์เสียงโดย Vin Diesel) ที่พยายามหาอาหารเศษเหล็กรับประทานเป็นพลังงานเลี้ยงชีพ ไปๆมาๆพวกเขากลายเป็นเพื่อนสนิท สามารถพูดคุยสื่อสารกันพอเข้าใจ แต่เมื่อเรื่องไปเข้าหูหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐ นำโดยเจ้าหน้าที่ Kent Mansley (พากย์เสียงโดย Christopher McDonald) หลังจากได้หลักฐานเป็นรูปถ่ายยืนยัน ติดต่อกองทัพเพื่อหาวิธีทำลายล้างหุ่นยนต์ตนนี้ เพราะคิดว่าถ้ามันไม่ใช่มิตรก็ต้องเป็นศัตรู
Hogarth Huges เป็นเด็กชายผู้โดดเดี่ยวอ้างว้าง ไร้เพื่อน (ด้วยเหตุนี้กระมัง เลยอยากได้สัตว์เลี้ยง) อาศัยอยู่กับแม่ที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักจนแทบไม่มีเวลาให้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความหัวขบถ ดื้อรั้น สั่งให้ทำอะไรก็ไม่ค่อยอยากจะเชื่อฟัง, การได้พบเจอ Iron Giant ราวกับรู้จักเพื่อนใหม่ เปิดโลกทัศน์ความคิดของตนเอง ค่อยๆเติบโตขึ้นทีละเล็กน้อย และจำเป็นต้องแสดงออกซึ่งตัวตนแท้จริง อยากเติบโตขึ้นเป็นคนดี ทำอะไรด้วยความเสียสละเพื่อผู้อื่น โดยไม่สนสิ่งตอบแทน
Iron Giant หุ่นยักษ์จากนอกโลก มีสติปัญญา ความสามารถในเรียนรู้ พูดคุยสื่อสารได้ (แต่ต้องเรียนรู้ทีละเล็กละน้อย) กินเหล็กเป็นอาหาร ซ่อมแซมตัวเองโดยอัตโนมัติ แต่ทุกครั้งเมื่อเห็นอาวุธปืน ก็จะเสียสติตาแดงกล่ำ แปลงร่างตอบโตด้วยความรุนแรง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
เกร็ด: ผู้กำกับ Brad Bird ต้องการนักพากย์ที่นุ่มลึก กึกก้อง (เหมือนเสียงก๊องแก๊งของโลหะ) นึกได้เพียงคนเดียวคือ Vin Diesel มีบทพูดทั้งหมด 53 คำ (ก็ยังมากกว่า I am Groot!)
Kent Mansley เจ้าหน้าที่หน่วย… อะไรสักอย่างของรัฐบาล เป็นคนขี้หวาดระแวง ขลาดเขลา กลัวเกรง ดีแค่พูดแต่พอเอาเข้าจริงก็เผ่นแนบหน้าตั้ง ไม่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจ พึ่งพาได้เลยสักอย่าง
Annie Hughes (พากย์เสียงโดย Jennifer Aniston) หม้ายยังสาวที่สูญเสียสามีที่เป็นนักบิน ทำให้อาศัยอยู่กับลูกชาย Hogarth ทำงานเป็นสาวเสิร์ฟหลายกะ ทั้งนี้เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูจุนเจือ ไม่ค่อยมีเวลาให้ความสนใจลูกนัก แต่ก็ยังรักเป็นห่วงใย แทบคลั่งตายเมื่อไม่พบเจอเขาที่ห้องนอน
Dean McCoppin (พากย์เสียงโดย Harry Connick, Jr.) เจ้าของสุสานขยะ เป็นตัวแทนของ Beatnik ในยุค Beat Generation มีความปลิ้นปล้อนกลับกลอก เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาจริงๆก็พึ่งพาไม่ได้สักเท่าไหร่ แต่เพราะได้รับการไหว้วานร้องขอจาก Hogarth ให้เฝ้าดูแล Iron Giant ทีแรกไม่เต็มใจ แต่ทีหลังกลับเป็นใจ สุดท้ายแล้วตอนจบเหมือนว่าได้ครองรักกับ Annie Hughes คิดว่าจะไปกันรอดหรือนี่!
เกร็ด: Beatnik คือกลุ่มเทรนด์ของวัยรุ่น ถือกำเนิดขึ้นก่อน Hippie ที่นิยมงานเขียนและบทกวีในช่วงปลายยุค 40s ถึงต้นยุค 60s มักเป็นกลุ่มวัยรุ่นใต้ดินที่ต่อต้านการทำทุกอย่างที่อยู่ในความ Mass แต่ทั้งนั้นส่วนใหญ่เป็นพวกหลอกลวง ดีแต่พูด สติปัญญาไม่สูงมาก ภาพลักษณ์เหมือนคนพี้ยา ล่องๆลอยๆ ปากอ้างค้นหาปรัชญาจิตวิญญาณ แต่ดูติ๊งต๊องบ๋องแบ๋งเกินรับไหว
ในส่วนโปรดักชั่นของหนัง เพราะความที่ WB เพิ่งล้มเหลวย่อยยับมากับโปรเจค Quest for Camelot (1998) จึงต้องการลดต้นทุนและระยะเวลาการทำงานของโปรเจคนี้ แม้มันจะสร้างความยากลำบากเล็กๆในการบริหารจัดการ แต่ผู้กำกับ Brad Bird ก็เห็นดีเห็นชอบด้วย เพราะทำให้เขาได้รับอิสรภาพเต็มที่ในส่วนของการสร้างสรรค์
เริ่มต้นเลยพวกเขาจัดทริปคณะทำงานกลุ่มเล็กๆ ออกเดินทางสู่เมือง Maine เพื่อถ่ายภาพ บันทึกวีดิโอ สนทนากับผู้คน เก็บรายละเอียดต่างๆไม่ใช่แค่เพื่อความสมจริง แต่ต้องการสะท้อนถึงจิตวิญญาณ วัฒนธรรม และผู้คนชาวเมือง ถ่ายทอดลงสู่อนิเมชั่น
กลับมาที่สตูดิโอ ปัญหาใหญ่ของการวาดภาพด้วยมือ (Tradition Animation) คือปริมาณงานที่มากล้นมหาศาล นอกจากจะเสียเวลา แรงงาน ยังทำให้งบประมาณบานปลายไปอีก ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาของผู้กำกับ เพราะช่วงปีนั้นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ก้าวมาถึงจุดที่สามารถสร้างภาพสามมิติด้วยโปรแกรมได้แล้ว จึงถือเป็นโอกาสอันดีผสมผสานภาพวาดสองมิติ รวบเข้ากับหุ่นยนต์ และ Special Effect สามมิติ
เกร็ด: เห็นว่าโปรแกรมแรกที่ทดลองใช้คือ Macromedia’s Director แต่เหมือนจะไม่ค่อยคล่องมือสักเท่าไหร่ (ของฟรีก็แบบนั้นแหละ) เลยเปลี่ยนมาเป็น Adobe After Effect (ของเสียเงินย่อมดีกว่า)
ตัวละคร Iron Giant ออกแบบโดย Joe Johnston (ก่อนหน้าจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง Jumanji, Jurassic Park III, Captain American: The First Avenger เคยเป็นนักออกแบบ Effects Artist/Art Direction ให้กับ Star Wars สามภาคแรก, แฟนไชร์ Riders of the Lost Ark ฯ) ก่อนนำเข้าสู่คอมพิวเตอร์ สร้างขึ้นด้วยโปรแกรม 3 มิติ ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่การเคลื่อนไหวอนิเมชั่นโดย Steve Markowski เพราะต้องการให้หุ่นยักษ์แสดงอารมณ์ออกทางสีหน้าได้ จึงใช้ใบหน้าของมนุษย์เป็นตัวเปรียบเทียบ
สำหรับตัวละครมนุษย์ ใบหน้าแต่ละครจะมีจุดเด่นที่สังเกตได้
– Hogarth เป็นเด็กดื้อที่ไม่ชอบฟังคำใคร แต่กลับมีใบหูค่อนข้างใหญ่ เป็นการสะท้อนถึงว่าควรจะรับฟังให้มากกว่าพูด และฟันคู่หน้าเหมือนกระต่าย (ว่าไปเหมือน Bug Bunny ชอบกล)
– Kent Mansley เป็นชายหน้ายาว คางแหลม (คงคล้ายๆ Pinocchio จมูกยาว) สะท้อนความกะล่อนปลิ้นปล้อนเชื่อถือไม่ได้ เวลาเดินจะโน้มตัวไปข้างหน้า คือพวกชอบเยินยอปอปั้นผู้อื่น
– Dean McCoppin ใบหน้าคางเหลี่ยม ไว้เคราจิ๋ม เหมือนจะมีความหนักแน่นมั่นคง แต่ภายในก็คดโกงคอรัปชั่น
ฯลฯ
มีสอง Sequence ที่ผมค่อนข้างชื่นชอบในไดเรคชั่นและความหมายมากๆ
– ตอน Iron Giant กระโดดลงทะเลสาบ มันมีความเว่อวังอลังการ เกิด Tsunami ขนาดย่อมๆ พัดพานำเก้าอี้ของ Dean McCoppin ล่องลอยหมุนติ้วไปวางลงบนกลางถนน, จริงๆชอบสุดฉากนี้คือรายละเอียดเล็กๆอย่างปลากำลังแหวกว่าย แต่กลับไหลทวนน้ำ (นัยยะถึงการทำบางสิ่งอย่าง ตรงกันข้ามกับที่ควรเป็น)
– อีกฉากหนึ่งตอบ Iron Giant บินอยู่ท่ามกลางเวหา เครื่องบินขับไล่คู่ขนาน แต่เขากลับชะงักแล้วย้อนกลับหลบสู่ก้อนเมฆ หายตัวไปจากรัศมีสายตาโดยพลัน, นัยยะฉากนี้ประมาณว่า รับรู้ตัวว่าเดินทางผิด ก็กลับตัวกลับใจแก้ไขเปลี่ยนทิศทางโดยพลัน ไม่ใช่เรื่องที่จะยื้อยักรอคอยให้ถูกทำลายแล้วค่อยระลึกได้สำนึกตัว
ลำดับภาพโดย Darren T. Holmes นักตัดต่อภาพยนตร์อนิเมชั่นชื่อดัง ผลงานเด่น อาทิ The Iron Giant (1999), Lilo & Stitch (2002), Ratatouille (2007), How to Train Your Dragon (2010) ฯ
เรื่องราวดำเนินไปในระยะเวลาประมาณ 5-6 วัน ใช้มุมมองส่วนใหญ่เป็นของเด็กชาย Hogarth
– เริ่มจากค่ำคืนดึกดื่นท่ามกลางทะเลคลื่นคลั่ง
– เช้าวันใหม่ของ Hogarth จบที่ค่ำคืนนั้นพบเจอช่วยเหลือ Iron Giant
– วันถัดมาย้อนกลับไปหา พบเจอ พาไปหลบซ่อน
– วันที่สี่มาโดน Kent Mansley ตามตื้อ แม้จะหนีเอาตัวรอดไปเที่ยวเล่นกับเพื่อใหม่ได้ แต่กลับมาบ้านก็พบเจอหลักฐานกล้องถ่ายรูปคาตา
– วันที่ห้า เมื่อกองทัพอเมริกาพบเจอ Iron Giant เกิดการต่อสู้โจมตี จบลงด้วยระเบิดนิวเคลียร์และการเสียสละ
– อีกกี่วันไม่รู้ถัดจากนั้น ของที่ระลึกชิ้นสุดท้าย ก่อนจบสิ้นด้วยความหวังใหม่
เพลงประกอบโดย Michael Kamen (1948 – 2003) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Brazil (1985), Lethal Weapon (1987), Die Hard (1988), Robin Hood: Prince of Thieves (1991), Don Juan DeMarco (1994), The Avengers (1998), X-Men (2000) ฯ
คำจำกัดความของผู้กำกับ Bird ต่อหนังเรื่องนี้คือ
“a collection of Bernard Herrmann cues from 50s and 60s sci-fi films,”
พอ Kamen ได้ยินคำร้องขอเช่นนั้นก็เกิดความหวาดหวั่นใจเล็กๆ แต่ก็จัดเต็มให้ด้วยสัมผัสของ Orchestra เต็มวง ไปบันทึกเสียงถึงยุโรปร่วมกับ Czech Philharmonic ผลลัพท์มีความยิ่งใหญ่อลังการทรงพลัง และมีกลิ่นอายตุๆของ Herrmann (แต่ผมว่าคล้าย E.T. มากกว่านะ)
บทเพลงแห่งความหวัง Souls don’t die ความตายไม่ใช่ทุกสิ่งอย่าง ถึงร่างกายจะจบสิ้นดับดิ้นหมดลมหายใจ แต่จิตวิญญาณและความทรงจำยังคงล่องลอยปรากฎอยู่ชั่วนิจนิรันดร์
บทเพลงสุดท้ายของหนัง อารมณ์แบบเดียวกับ E.T. ตอนกำลังได้กลับบ้าน “see you later..” ต่อให้ชิ้นส่วนของ Iron Giant กระจัดกระจายไปทั่วโลก แต่สักวันหนึ่งมันก็จักย้อนมารวมตัว กลับฟื้นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง
นี่เป็นตอนจบที่สามารถสร้างภาคต่อได้อีกมาก แต่ใกล้เคียงสุดที่เราคงได้รับชมคงคือ Ready Player One (2018) กระมัง
พื้นหลังของ The Iron Giant อยู่ในช่วงสงครามเย็น ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต บรรยากาศทั่วโลกขณะนั้น ประชาชน/รัฐบาล ต่างตกอยู่ในสภาวะกดดัน หวาดระแวงสะพรึงกลัว ต่อสิ่งที่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แค่ได้ยินการข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามด้วยกลยุทธ์แอบอ้าง ทดลอง ครอบครองระเบิดนิวเคลียร์ อาวุธทรงพลานุภาพที่สุดในโลกขณะนั้น และการแข่งขันยึดครองพื้นที่ว่างบนห้วงอวกาศนอกโลก (และดวงจันทร์) เป้าหมายสุดท้ายเพื่อประกาศศักดิ์ดาความเป็นมหาอำนาจ ผู้นำแห่งโลก
ในช่วงเวลานี้ ถ้ามีปรากฎสิ่งหนึ่งใดโดยไม่มีใครสามารถอธิบายให้คำตอบได้ วิธีการโต้เดียวของพวกเขา (ผู้นำรัฐบาล) คือใช้ความรุนแรงระดับตาต่อตาฟันต่อฟัน แบบค่อนข้างไร้สติสตางค์คล้ายอนิเมะเรื่องนี้เสียด้วยนะ
ถ้าเราเปรียบเด็กชาย Hogarth แทนด้วยมุมมองของประชาชนตาดำๆ ที่ไม่ได้มีความใคร่สนใจอยากรับรู้ในปัญหาความขัดแย้ง หรือบรรยากาศอันสุดแสนมาคุนี้ จะพบเห็นการกระทำของ Kent Mansley (และกองทัพทหารอเมริกัน) เต็มไปด้วยความบ้าคลั่งเสียสติแตก ไร้สมองเบาปัญญา (สั่งให้ยิงระเบิดนิวเคลียร์โดยไม่ได้สนใจตนเองว่าอยู่ในรัศมีอันตราย นี่มันโง่บัดซบเลยนะ) นี่นะหรือมหาอำนาจแห่งโลก!
ใจความเสียดสีประชดประชันลักษณะเช่นนี้ พบเจอได้บ่อยครั้งในภาพยนตร์ช่วงทศวรรษ 80s – 90s หลังสิ้นสุด Cold Wars และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต นักประวัติศาสตร์/การเมือง ได้ทำการวิเคราะห์ค้นหาข้อสรุป สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นและผลกระทบของสงครามจิตวิทยาระหว่างสองมหาอำนาจโลกนี้ พวกเขาต่างได้ข้อสรุปว่า แม้งก็ไม่มีห่าอะไรเลยนี่ว่า! แค่ Buff เหมือนไพ่โป๊กเกอร์กันไปมา ถือไพ่เต็มที่ก็คู่หรือตอง ไม่เห็น Full House กันสักมือ
การนำพื้นหลังยุคสมัยสงครามเย็นใส่ลงมาในอนิเมะเรื่องนี้ คงต้องการสะท้อนถึงบรรยากาศอันตึงเครียดขัดแย้งของชาวโลก แทนด้วยจิตใจของเด็กชาย Hogarth ที่มีความสับสนว้าวุ่นวายใจในชีวิต พ่อเสียชีวิตจากไป แม่ไม่ค่อยสนใจใยดี เพื่อนก็ไม่ค่อยมี แล้วตัวฉันนี้จะอยู่คนเดียวในโลกได้อย่างไร ใช้โทรทัศน์เป็นที่พึ่งนะเหรอ?
เพื่อนใหม่ตนนี้ของ Hogarth ราวกับความเพ้อฝันที่เป็นจริง มองได้คือการสะท้อนจิตวิญญาณ ความต้องการของตัวเขาเอง เป็นหุ่นยักษ์มีความแข็งแกร่งใหญ่โต เก่งกาจ ทนทาน ทรงพลานุภาพ สามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้คนได้มาก และสำคัญที่สุดคือสามารถทำสิ่งยิ่งใหญ่ได้เหมือนวีรบุรุษ ฮีโร่ซุปเปอร์แมน ต่อสู้เสียสละเพื่อมวลมนุษย์จักได้พบกับความสงบสุขสันติ (และช่วยให้แม่ได้พบเจอรักใหม่ จะได้มีเวลาเหลือให้กับเขามากขึ้นด้วย)
ความตั้งใจของผู้กำกับ Brad Bird ตั้งแต่ตอนครุ่นคิดเขียนบท เพราะพี่สาวแท้ๆ Susan Bird ถูกยิงเสียชีวิตขณะกำลังมีปากเสียทะเลาะกับสามี เขาจึงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อุทิศให้กับเธอ ด้วยใจความต่อต้านอาวุธปืน (Anti-Gun) และคำพูดที่เป็นข้อคิด มาจากคำสอนของพี่สุดที่รักยิ่ง
“You are who you choose to be.”
สิ่งที่ Iron Giant แสดงออกมาทั้งหมด ล้วนสะท้อนตัวตนความต้องการของเด็กชาย Hogarth เขาไม่ใช่แค่เพื่อน แต่เสมือนร่างอวตาร ตัวตนของกันและกัน (จะมองว่า หุ่นยักษ์ = กาย, เด็กชาย = ใจ ก็พอได้อยู่) เพราะสุดท้ายแล้ว ‘Souls don’t die’ นั่นหมายถึง Iron Giant เป็นสิ่งที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ไม่มีวันตาย
อาจมีหลายคนพยายามตีความ Iron Giant ว่าคือพระเจ้า (แบบ Superman), สัญลักษณ์ต่อต้านสงคราม/นิวเคลียร์/อาวุธปืน, หรืออาจแค่มนุษย์ต่างดาว Alien ที่บังเอิญผ่านมาแวะเวียนเยี่ยมเยือนโลก ฯ แต่ผมชื่นชอบการมองว่า คือตัวแทนจิตวิญญาณของเด็กชาย บางสิ่งอย่างที่เมื่อมนุษย์เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ถึงช่วงวัยกำลังต้องออกไปผจญโลกกว้าง ปรากฎพบเจอบางสิ่งอย่าง ที่จักเป็นสิ่งกำหนดอัตลักษณ์ เป้าหมายชีวิต และความเป็นตัวของตนเอง
ประมาณการทุนสร้าง $50 ล้านเหรียญ (เพิ่มอีก $30 ล้านเหรียญสำหรับค่าโฆษณา) จบโปรแกรมทำเงินได้ในอเมริกา $23.2 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $31.3 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับแม้ได้รับคำวิจารณ์ชื่นชมล้นหลาม แต่อนิเมะก็ได้กระแส Cult ตามมา ยอดขาย VHS/DVD ถล่มทลายเทน้ำเทท่า
ความล้มเหลวไม่ทำเงินของ The Iron Giant ได้รับการวิเคราะห์ว่าเกิดจากการตลาดที่ล้มเหลวของ Warner Bros. เพราะสตูดิโอไม่คาดคิดหวังว่าอนิเมะจะประสบความสำเร็จ เลยไม่อยากสิ้นเปลืองงบประมาณกับการวางแผนโปรโมทสักเท่าไหร่ แต่เมื่อเสียงตอบรับจากรอบทดลองฉายดีล้นหลาม แทนที่จะเลื่อนโปรแกรมออกไปสักหน่อยเพื่อเพิ่มเวลาโปรโมท กลับยังคงฉายกำหนดเดิมซึ่งกระชั้นชิดเกินไป มีเพียงโปสเตอร์หนึ่งใบ และตัวอย่างหนังฉายในโรง (ไม่มีสป็อตโฆษณา ไม่มี Tie-In กับบริษัทอื่น) นี่กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของ WB เลยละ
ส่วนตัวค่อนข้างชอบอนิเมะเรื่องนี้ ในใจความสะท้อนเสียดสีสังคม ค่านิยมอเมริกันชนได้อย่างเจ็บแสบ แต่สิ่งที่ผมไม่ชอบเสียเลย คือความเป็นอเมริกันสไตล์ โดยเฉพาะการออกแบบตัวละคร เด็กผู้ชายมักมีลักษณะ หัวขบถ ดื้อรั้น ก้าวร้าว ขาดความรับผิดชอบ ภาพลักษณ์กวนบาทา แต่ลึกๆแล้วเป็นคนดี จิตใจงาม พึ่งพิงพาได้เสมอ (คือมันเป็นทั้งการปลูกฝังให้เด็กๆหลงใหลเลียนแบบทำตาม ซึ่งมันก็สะท้อนตัวตนคนอเมริกันออกมาด้วย)
กระนั้นอนิเมะยังคงควรค่า “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะสิ่งสำคัญสุดในชีวิตคือ ‘การเป็นตัวของตนเอง’ เมื่อใดเติบโตขึ้นเป็นผู้มีสติรู้ สามารถแยกแยะดีชั่วออกจากกันได้ ก็อยู่ที่ตัวเราจะเลือกตัดสินใจกระทำเช่นไร
แนะนำคออนิเมชั่นฝั่ง Hollywood หลงใหลในหุ่นยนต์, ชื่นชอบเรื่องราวแฝงข้อคิดการใช้ชีวิตดีๆ สะท้อนเสียดสีสังคม พื้นหลังยุคสมัยสงครามเย็น, แฟนๆผู้กำกับ Brad Bird ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG ผู้ใหญ่ควรนั่งรับชมร่วมกับเด็กเล็ก ให้คำแนะนำต่อทัศนคติความรุนแรง
Leave a Reply