The Italian Job

The Italian Job (1969) British : Peter Collinson ♥♥♥♡

นี่คือภาพยนตร์โฆษณาขายรถ Minis สัญชาติอังกฤษ นำแสดงโดย Michael Caine และผองพวกโจรกระจอก เดินทางขึ้นเรือเพื่อไปปล้นรถขนส่งทองที่เมือง Turin, Italy ขับมินิหลบตำรวจ หนีมาเฟีย โชว์สมรรถภาพวิ่งบนฟุตบาท ลงบันได ไต่ขึ้นตึก กระโดดสะพานขาด ลอดอุโมงค์ส่งน้ำ สุดท้าย Cliffhanger ค้างติ่งริมหน้าผา กลายเป็นตำนาน Cult Classic โดยปริยาย

ภาพยนตร์แนวโจรกรรม (Heist Film) ของประเทศอังกฤษ มักมีองค์ประกอบบางอย่างที่ดูเพี้ยนๆ กิ๊กก๊องแก๊ง บ้าๆบอๆ ก็ดูอย่าง The Ladykillers (1955) กลุ่มโจรกระจอกของ Alec Guinness ใช้คุณยายวัย 75 กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดขนส่งเงินถึงมือ ฯ ทั้งนี้ทั้งนั้นคงเพื่อลดข้อพิพาททางจริยธรรมต่อกองเซนเซอร์ ความคร่ำครึหัวโบราณของชาวอังกฤษ เลยมุ่งเน้นความบันเทิงมากกว่าสร้างให้สมจริงหรือสอนใจผู้ชม

ปกติแล้วหัวขโมยทั่วๆไป มักไม่ค่อยออกปล้นไกลกว่าประเทศบ้านเกิดตนเองสักเท่าไหร่ แต่สำหรับ The Italian Job ถือว่ามาแปลก ตัวละครสัญชาติอังกฤษลงทุนข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อไปปล้นรถขนส่งเงินไกลถึงอิตาลี กลายเป็นอาชญากรข้ามชาติ เป้าหมายเหมือนเพื่อเป็นการบ่อนทำลายฐานเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ไม่ให้บริษัทรถยนต์คู่แข่ง Fiat มีทุนไปสร้างโรงงานผลิตที่ประเทศจีน

ก็นั่นละทำให้ผมมองหนังเรื่องนี้คือ โฆษณาขายรถ Minis สัญชาติอังกฤษ ซึ่งคันอื่นๆที่ปรากฎอย่าง Lamborghini Miura, Jaguar XKEs, Aston Martin DB4 ต่างถูกบดทำลายย่อยยับเยิน เห็นภาพช็อตนี้แล้วมัน … ใครยังไม่เคยรับชม น่าจะสามารถจินตนาการออกนะ

ถึงกระนั้น BMC (British Motor Corporation) ก็แสดงออกถึงความเป็นสัญชาติอังกฤษโดยแท้ ตอนที่ผู้สร้างติดต่อเพื่อขอความร่วมมือ กลับได้รับการปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย สนใจแค่จะขายรถเพียงอย่างเดียว ตรงกันข้ามกับ Fiat Motors ยินดีสนับสนุนมอบทุกสิ่งอย่างให้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแทนที่รถ Minis กระนั้นผู้กำกับยืนกรานว่าต้องเป็นรถเล็กสัญชาติอังกฤษเท่านั้น แต่ Fiat ก็ยังใจสป็อต มอบรถให้ใช้หลายคัน พร้อมสถานที่ถ่ายทำแถวๆโรงงานของบริษัท รวมถึงช่วยขออนุญาตปิดถนน ติดต่อมาเฟียจริงๆ(ของอิตาลี)ให้ร่วมมือด้วย ฯ

“I think the continued existence of Fiat and the demise of BMC tells its own story about their behaviour”.

– Peter Collinson พูดถึงความตกต่ำของ BMC จนต้องถูกควบปิดกิจการ ตรงกันข้ามกับ Fiat ที่จนถึงปัจจุบันยังคงรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ

จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดจาก Troy Kennedy Martin (1932 – 2009) สัญชาติ Scottish ช่วงต้นทศวรรษ 60s เป็นนักเขียนซีรีย์ฉายโทรทัศน์เรื่อง Z-Cars (1962 – 1978) เกี่ยวกับตำรวจไล่ล่าจับผู้ร้าย ครั้งหนึ่งครุ่นคิดถึงรถที่เหมาะสมหรับการหลบหนีของโจร พลันนึกถึงรถมินิคันเล็ก แต่จะสร้างเป็นชั่วโมงเดียวของซีรีย์คงไม่หนำใจ จึงได้กลายมาเป็นพล็อตหนังเรื่องนี้โดยทันที

“I immediately thought that the cars used should be Minis. Minis were classless, very fast and sort of cheeky. They represented the new Britain which was kind of laddish, cheerful, self-confident and didn’t take itself too seriously”.

เมื่อ Michael Caine มีโอกาสรับฟังเรื่องย่อๆคร่าวๆจาก Martin เกิดความใคร่สนใจอย่างมาก กลายเป็นผู้ผลักดันโปรเจคนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการพูดคุยกับ Charlie Bludhorn เจ้าของสตูดิโอคนใหม่ของ Paramount Picture ที่เพิ่งเข้าซื้อกิจการ พบเจอกันในงานเลี้ยงหลังฉาย Alfie (1966) เทศกาลหนังเมือง Cannes นั่งอยู่ข้างๆกันเลยหันมาสอบถาม

“Do you have any scripts you want to make?”

Peter Collinson (1936 – 1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Cleethorpes, Lincolnshire พ่อเป็นนักดนตรี แม่เป็นนักแสดง แต่หย่าร้างตอนเขาอายุ 2 ขวบ อาศัยอยู่กับปู่ย่าต่อด้วย Actor’s Orphanage ทำให้มีโอกาสเขียนบทนำแสดงละครหลายเรื่อง เข้าตา Noël Coward ประธานสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าขณะนั้น กลายเป็นพ่อทูนหัว ช่วยหางานเมื่อโตใหญ่เข้าสู่วงการ เริ่มจากละครวิทยุ, รับใช้ชาติสองปีประจำอยู่มาเลเซีย (ตอนนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร), กลับมาทำงานให้ BBC กำกับซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Penthouse (1967), ผลงานโด่งดังสุดคงคือ The Italian Job (1969), หลังจากนั้นก็เข้าสู่ขาลง อพยพย้ายสู่อเมริกากลางทศวรรษ 70s ไม่พบเจอความสำเร็จใดๆ ก่อนเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด สิริอายุเพียง 44 ปีเท่านั้น

เรื่องราวของ Charlie Croker (รับบทโดย Michael Caine) หลังได้รับการปล่อยตัว รู้การเสียชีวิตของเพื่อนสนิทถูกฆ่าโดยมาเฟียอิตาเลี่ยน ส่งต่อแผนการโจรกรรมทองมูลค่า $4 ล้านเหรียญจากรถขนเงินที่เมือง Turin, Italy ทำการโน้มน้าว Mr. Bridger (รับบทโดย Noël Coward) ผู้นำอาณาจักรอาชญากร ที่ขณะนั้นจองจำอยู่ในคุก เพื่อให้เป็นผู้ออกทุนเตรียมการล่วงหน้าให้ ตอนแรกปฏิเสธไม่ใคร่สนใจ แต่พอได้ยินว่าบริษัท Fiat วางแผนสร้างโรงงานผลิตรถใหม่ที่ประเทศจีน ไม่ต้องการให้ทำสำเร็จเลยอนุมัติไม่อั้นกับโปรเจคนี้

Sir Michael Caine ชื่อจริง Maurice Joseph Micklewhite Jr. (เกิดปี 1933) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Rotherhithe, London อายุ 20 เข้าสู่วงการแสดงละครเวทีที่ Carfax Electric Theatre ต่อมาเป็น Understudy ของ Peter O’Toole, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก A Hill in Korea (1956), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Zulu (1964), The Ipcress File (1965), Alfie (1966) ** เข้าชิง Oscar: Best Actor เป็นครั้งแรก

รับบท Charlie Croker (แผงมาจาก Crooks ที่แปลว่าโจร อย่างแน่นอน) ผู้นำกลุ่มโจรกรรมสุดหล่อมาดเท่ห์ เจ้าชู้เล็กๆ พูดจาภาษาคมคาย สำเนียงฟังดูเรื่อยเปื่อยแต่เต็มเปี่ยมด้วยความมั่นใจ ชอบคิดทำอะไรแผลงๆไปโผล่ในห้องน้ำ ขี้หงุดหงิดขึ้นเสียงง่ายเมื่อลูกน้องทำอะไรไม่ค่อยน่าพึงพอใจ

“You’re only supposed to blow the bloody doors off!”

บอกตามตรงผมเพิ่งเคยมีโอกาสรับชมพบเห็น Caine วัยหนุ่มครั้งแรกก็จากหนังเรื่องนี้ สร้างความอึ้งทึ่งประทับใจในความโคตรเท่ห์หล่อเหลาของปู่แก โดยเฉพาะสำเนียง Cockney Accent อันเป็นเอกลักษณ์ลายเซ็นต์ และการแสดงเป็นหัวโจ๊กผู้นำการโจรกรรม มีความเข้มงวดกวดขันคล้ายๆโค้ชนักฟุตบอล, ครูประจำชั้นกับลูกศิษย์ ฯ คาดหวังให้พวกเขาได้ดี แต่กลับไม่มีใครเอาถ่านสักคน

เกร็ด: Michael Caine ขณะนั้นขับรถไม่เป็น แทบทั้งหมดเขาจะเป็นเพียงผู้โดยสาร แต่มีที่ตัวละครต้องขับเอง แต่นั่นจะใช้ลูกเล่นการตัดต่อหลอกผู้ชมเอา

Sir Noël Peirce Coward (1899 – 1973) นักแสดง ผู้กำกับ แต่งเพลง/ละครเวที/ภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Teddington, Middlesex เริ่มต้นเป็นนักแสดงอาชีพตั้งแต่อายุ 11 ขวบ โด่งดังระดับตำนานกับละครเวทีมากมาย ได้รับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นับครั้งไม่ถ้วน ตอนสงครามโลกครั้งที่สองสร้างหนังชวนเชื่อ In Which We Serve (1942) รับมอบรางวัลเกียรติยศ Honorary Award

รับบท Mr. Bridger แม้จะถูกจับต้องโทษ แต่ได้ทำการเหมาซื้อตำรวจ/ผู้คุม น่าจะยกคุกเลยละ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง อยากทำอะไรก็ได้ประสงค์ดังใจ สะดวกสบายปลอดภัยยิ่งกว่าอยู่นอกคุก … หรือเปล่านะ?

แม้จะปรากฎตัวไม่มาก แต่ Coward ถือว่าแย่งซีนความโดดเด่นไปเต็มๆ หลังรับรู้ข่าวคราวความสำเร็จของการโจรกรรมครั้งนี้ เดินออกจากห้องขังอย่างสง่างาม โบกสะบัดมือแห่งชัยชนะ เสียงปรบมือเกรี้ยวกร้าวเจียวจาว ช่างยิ่งใหญ่ทรงพลังเสียเหลือเกิน

ทีมสตั๊นแมนของหนังนำโดย Remy Julienne (เกิดปี 1930) สัญชาติฝรั่งเศส ได้รับคำชมเรื่องความกล้าหาญอย่างมาก น่าจะถือว่าเป็นครั้งแรกของวงการภาพยนตร์ที่มีการขับรถไล่ล่าเข้าไปในเขตช็อปปิ้ง ข้ามฝายเก็บน้ำ และใต้ท่อระบายน้ำ

“It was a dream opportunity to be able to express all my fantasies and dreams and ideas”.

ไฮไลท์ย่อมคือการกระโดดข้ามหลังคาสูง 60 ฟุต ต้องซิ่งรถด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเหตุให้เบรคแตก โช้กพัง โชคดีไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ เมื่อถ่ายทำเสร็จผู้กำกับ Collinson รีบวิ่งเข้ามาแสดงความยินดี พร้อมแชมเปญฉลองกันยกใหญ่ (สมัยนั้นที่หนัง Action ยังไม่เกลื่อนตลาด ฉากนี้ถือว่า Breathtaking เลยนะ)

ถ่ายภาพโดย Douglas Slocombe (1913 – 2016) สัญชาติอังกฤษ ประจำอยู่ Ealing Studios ในช่วงรุ่งเรือง เหมาไตรภาค Indiana Jones เข้าชิง Oscar: Best Cinematography สามครั้งไม่เคยได้รางวัล Travels with My Aunt (1972), Julia (1977), Raiders of the Lost Ark (1981)

แทบทั้งหมดของหนังถ่ายทำยังสถานที่จริง
– Great St. Bernard Pass ติดพื้นหลัง Italian Alps
– ท้องถนนเมือง Turin, Italy
– ฉากภายในคุกคือ Kilmainham Gaol ตั้งอยู่กรุง Dublin ประเทศ Ireland, แต่ภายนอกเป็น HM Prison Wormwood Scrubs, London
– Minis ในอุโมงค์ ถ่ายทำที่ Sowe Valley Sewer ที่ Stoke Aldermoor เขต Coventry ประเทศอังกฤษ
– บริเวณที่ Minis กระโดดข้ามสะพาน ขับขึ้นไปบนหลังคา นั่นถนนทดลองวิ่งของบริษัท Fiat อาคาร Lingotto, Via Nizza เมือง Turin
ฯลฯ

เกินครึ่งของหนังจะถ่ายทำด้วยมุมกล้องเงยขึ้นเห็นเพดาน ท้องฟ้า หรือเทือกเขา Italian Alps สร้างสัมผัสถึงการกระทำทั้งหมดของตัวละครคือความชั่วร้ายอันตราย ผู้ชมไม่ควรลอกเลียนแบบตาม

ตัวละครของ Michael Caine ไม่ได้พูดเล่นๆว่ารถคันนี้เป็นของท่านทูตปากีสถาน เพราะคือรถของท่านทูตจริงๆ

ร้านตัดชุดของ Charlie Croker กระจกห้าบานสะท้อนตัวตนที่ต่างออกไป นี่คงรับแรงบันดาลใจเต็มๆจาก Blow-Up (1966) ของผู้กำกับ Michelangelo Antonioni อย่างแน่แท้

ฉากที่แฟนสาวจับได้คาหนังคาเขากับความเจ้าชู้ของ Charlie Croker มันจะมีเสียงเหมือนบีบตุ๊กตายาง (ถูกบีบให้จนมุม) จะบอกว่าผมไม่ได้สดับฟังเนื้อหาที่ทั้งสองโต้เถียงอะไรกันเลยนะ ขำกระจายกับ Sound Effect อะไรก็ไม่รู้ของซีนนี้ แสดงถึงความ ‘Gibberish’ ไร้สาระสนทนาครั้งนี้

พบเห็นการใช้ Deep-Focus อยู่หลายครั้งทีเดียวในหนัง ภาพสองระยะมีความคมชัดเท่ากันเปี๊ยบ แต่ตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างพวกเขาจะมีความเบลอๆเล็กน้อย (รอยต่อระหว่างเลนส์โฟกัสระยะใกล้กันไกล) จุดมุ่งหมายของช็อตลักษณะนี้คือนำเสนอความสนใจของทั้งสองตัวละคร ในระยะใกล้คือตั้งใจฟัง แต่หลังจากนั้นคือเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา หาได้สนใจใคร่ตอบเสียที่ไหน

อพาร์ทเม้นต์หลังนี้คือ Alembic House หรือ Peninsula Heights ตั้งอยู่ Albert Embankment หลังจากเรื่องนี้ได้รับความนิยมบ่อยครั้งทีเดียว อาทิ Theatre of Blood (1973), A Touch of Class (1973), Sweeney! (1977) ปัจจุบันเป็นบ้านของนักเขียนนิยาย Jeffrey Archer

เพราะความที่เจ้าของบริษัท Fiat ขณะนั้น Gianni Agnelli มีโรงงานประจำอยู่ Turin เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวเมืองและตำรวจอย่างยิ่ง ได้ให้ความช่วยเหลือประสานงานเจ้าหน้าที่ให้เกิดการรถติดขึ้นจริงๆ ซึ่งบริเวณไหนไม่ยินยอมก็เรียกมาเฟียอิตาเลี่ยนเข้ามาปิดถนนทั้งบริเวณนั้น! เสียงบีบแตรตะโกนโหวกเหวกที่ได้ยิน ก็จากบันทึกสดๆจากสถานที่จริง ด้วยความเกรี้ยวกราดของคนรีบเร่งไปทำงาน

ในบรรดาฉากไล่ล่า มีหนึ่ง Deleted Scene ถูกตัดออกไป ตั้งชื่อว่า Blue Danube (เพราะใช้บทเพลงประกอบของ Johann Strauss: The Blue Danube) ถ่ายทำที่ Porta Palazzo Exhibition Hall ออกแบบโดย Pier Luigi Nervi ก่อสร้างเสร็จปี 1949 เคยใช้เป็นสถานที่แข่งขัน Hockey เมื่อ 2006 Winter Olympic Games

สำหรับฉากจบของหนัง เห็นว่ามีทั้งหมด 4 แบบ ไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้สร้างสักอย่าง เลยตัดสินใจจบแบบ Cliffhanger ทั้งรูปธรรม/นามธรรม เปิดทางกว้างสำหรับความเป็นไปได้ภาคต่อ น่าเสียดายไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเพราะหนังไม่ทำเงินในอเมริกา Paramount Pictures เลยไม่อนุมัติสร้างภาคต่อ

ก่อนหน้าที่รถบัสจะอยู่ในตำแหน่งนี้ สภาพการเฮฮาปาร์ตี้ชวนให้ผมนึกถึงโคตรหนังเรื่อง The Wages of Fear (1953) ของผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot หลังจากทำภารกิจท้าความตายเสร็จสิ้น ด้วยความประมาทชะล่าใจ โอ้ลัลล้าขับรถโยกไปมาสุดท้าย…

ผู้เขียนบท Martin ชื่นชมตอนจบนี้อย่างมาก ตัวเขาไม่ใช่เจ้าของไอเดีย แต่ก็รู้ตัวว่าถ้าคิดขึ้นมาได้มันคงได้ถูกโยนลงถังขยะแน่นอน

“I thought it was a superb ending, the cliff-hanger, but if a writer had come up with an idea like that, they’d have laughed at it, torn it up and thrown it in the bin!”

ความเป็นไปได้ของตอนจบ เล่าโดย Michael Caine สิ่งที่เกิดขึ้นถัดมาคือสตาร์ทเครื่องยนต์ปล่อยให้กินน้ำมันไปเรื่อยๆจนหมด น้ำหนักด้านหลังจะเบาขึ้น แล้วทุกคนสามารถกระโดดลงจากรถบัสได้ แต่ก็ต้องยอมสูญเสียทองที่อุตส่าห์ปล้นมา กระนั้นมาเฟียอิตาเลี่ยนมาพร้อมเฮลิคอปเตอร์มาถึงที่เกิดเหตุ เก็บกู้ยึดทองคืน ทำให้พวกเขาทั้งหมดต้องวางแผนการปล้นครั้งใหม่ กลายเป็นภาคต่อมี Working Title ว่า The Brazilian Job

ตัดต่อโดย John Trumper ขาประจำของผู้กำกับ Collinson, หนังไม่ได้ใช้มุมมองเล่าเรื่องของตัวละครใดเป็นพิเศษ ร้อยเรียงเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นของ Charlie Croker, Mr. Bridger และมาเฟียอิตาเลี่ยน

Sequence การหนีโดย Minis เป็นการโชว์สมรรถภาพรถและพาทัวร์ Italy ไปพร้อมๆกัน ซึ่งแต่ละช่วงขณะจะต้องมีรถตำรวจติดตามเสมอ พอจับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็ตัดเปลี่ยนมุมมองไปยัง Mr. Bridger ขณะเดินออกจากห้องขังลงมาทานอาหารกลางวัน ด้วยลีลาท่าทางกระหยิ่มยิ้มสิงห์ผยอง สักพักก็ตัดกลับไปยังการไล่ล่าอันสุดเมามันส์ต่อ

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องถือว่าเพราะได้บทเพลงประกอบของ Quincy Jones (เกิดปี 1933) ตำนานนักแต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน ร่วมด้วยช่วยเสริมจังหวะความตื่นเต้นเร้าใจ

บทเพลง Opening Song ชื่อ On Days Like These แต่งคำร้องโดย Don Black ขับร้องโดย Matt Monro

หลังจากปล้นสำเร็จ และ Ending Theme บทเพลง Get A Bloomin’ Move On แต่งคำร้องโดย Don Black ขับร้องโดยทีมปล้น The Italian Job ตั้งใจฟังดีๆจะได้ยินเสียง Michael Caine ด้วยนะครับ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม อังกฤษได้รับการยกย่องเป็นถึงมหาอำนาจ Big Four (เคียงคู่ อเมริกา, สหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐจีน) แต่ความยิ่งใหญ่ของสหราชอาณาจักรกำลังค่อยๆตกต่ำลง การเงินอยู่ในสภาวะตกต่ำเกือบล้มละลาย [ต้องกู้ยืมเงินจากอเมริกาเมื่อปี 1946 กว่า $4.33 พันล้านเหรียญ] การเคลื่อนไหว Anti-Colonial ประเทศอาณานิคมต่างเรียกร้องแสวงหาเอกราช จำต้องเริ่มปลดปล่อยหลายๆประเทศ อาทิ Jordan (1946), New Zealand (1947), India+Pakistan (1947), Myanmar-Sri Lanka (1948), Libya (1951), Sudan (1956), Malaya (1957) ฯ และการมาถึงของสงครามเย็น ขณะที่ชาติอื่นมุ่งพัฒนาไปข้างหน้า อังกฤษกลับเดินถอยหลังลงคู่คลองแบบให้อภัยไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ในช่วงทศวรรษ 60s วัยรุ่นยุคใหม่ของอังกฤษ เลยเลิกสนใจปัญหาความวุ่นวายขัดแย้งของโลกภายนอก หันมาใช้ชีวิตอย่างหลงระเริงสนุกสนานสำราญใจ เต็มที่สุดเหวี่ยงกับชีวิต จนได้ชื่อ Swinging Sixties หรือ Swinging London ตรงข้ามสุดขั้วกับสภาวะของประเทศชาติและมวลมนุษย์โลกขณะนั้น

The Italian Job (1969) คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่สนองไลฟ์สไตล์วัยรุ่นยุค Swinging Sixties สร้างกระแสรถนิยม Mini Cooper ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ ตัวแทนของชาวอังกฤษ เพราะความเล็กกระจิดริด จัดจ้าน ทำอะไรบ้าๆบอๆได้หลากหลาย (แต่พอหมดยุคก็เสื่อมกระแสความนิยม จนขายไม่ออกล้มละลายในทศวรรษถัดมา)

ความเล็กกระทัดรัดของรถ Minis ถึงดูมีประโยชน์มากโข แต่ในเชิงสัญลักษณ์สามารถสื่อถึงความเห็นแก่ตัว คับแคบ จองหอง ผยองของผู้ขับขี่ เพราะสามารถแทรกตัว แซงตัดหน้า เข้าช่องแคบ แบบไม่ต้องแคร์อะไรใครอื่นก็ยังได้

ขณะที่ใจความของหนังคือการพยายามสร้างกระแส ขายวัฒนธรรมนิยมของชาวอังกฤษ ทำการขโมยจิตวิญญาณ (ทอง) ของชาวยุโรป ให้หันมารู้จักใคร่สนใจติดตามการมีตัวตนประเทศเราบ้าง

กระนั้นก็มีนักวิจารณ์มองว่า นี่คือหนังแนว Euroskeptic film (อคตินิยมเกี่ยวกับสหภาพยุโรป) เพราะเป้าหมายของการโจรกรรม คือความต้องการทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (ปล้นทองคำ เพื่อมิให้บริษัทผลิตรถขยายฐานการผลิตในต่างแดน) แถมมีการยกย่องความสำเร็จดั่งการได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ล้นหลาม นี่มันเป็นการชวนเชื่ออนุรักษ์ชาตินิยมโดยแท้

การจบแบบ Cliffhanger ราวกับปลุกชาวอังกฤษให้ตื่นขึ้นจากฝัน ชีวิตจริงใช่จะเกิดอะไรแบบนั้นเสียที่ไหน หันมามองสถานภาพของตนเองบ้างเถอะ มิได้ต่างอะไรกับความก่ำกึ่งในการเอาตัวรอด/ตกเหว 50-50 ตัดสินใจอะไรผิดพลาดก็ได้ล่มจมกันทั้งประเทศ

การเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU (European Union) ของอังกฤษเมื่อปี 1973 ถือเป็นการตัดสินใจ/ทางออกที่เข้าท่าและสามารถรักษาเสถียรภาพเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจขึ้นมาโดยทันที แต่กาลเวลาก็ทำให้เหล่าอนุรักษ์นิยมหวนกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง Brexit เมื่อปี 2017 คงต้องดูกันยาวๆจะทำให้ประเทศสามารถก้าวยืนเอาตัวรอดด้วยตนเองได้หรือเปล่า … แต่ถ้าดูตามประวัติศาสตร์มักเกิดซ้ำรอยแล้วละก็ เชื่อว่าคงได้ลื่นไถลถอยหลังลงคูคลองอย่างแน่แท้

ด้วยทุนสร้าง $3 ล้านเหรียญ ในยุโรปฮิตถล่มทลายทำเงินประมาณเกือบๆ $10 ล้านเหรียญ แต่พอออกฉายยังอเมริกากลับไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ก็แน่ละ! หนังเรื่องนี้ถือว่ามีความเป็นอังกฤษจ๋าขนาดนั้น จะเข้าถึงอเมริกันชนได้เช่นไร

“After 30 years of thought, I have come to the conclusion that the reason why the film did not click in the USA is because it had nothing to do with USA. Nothing at all”.

– โปรดิวเซอร์ Michael Deeley เขียนในคำนำหนังสือ The Making of The Italian Job

คุ้นๆว่าผมเคยดูฉบับสร้างใหม่ The Italian Job (2003) นำแสดงโดย Mark Wahlberg สมทบด้วยดาราคับคั่งอย่าง Charlize Theron, Edward Norton, Jason Statham, Donald Sutherland แต่คุณภาพเทียบชั้นความคลาสสิกกันไม่ได้เลย แนะนำให้หาต้นฉบับนี้มาดูดีกว่านะครับ

ส่วนตัวค่อนข้างชอบโฆษณารถ Minis อย่างยิ่งเลยนะ คันเล็กกระทัดรัด เหาะเหินดำเนินสะดวก รู้สึกอยากได้มาใช้งานจริงสักคัน และประทับใจในการแสดงของ Michael Caine เก๋าเกมมาดแมนแบบสุดๆ

แนะนำกับคอหนังโจรกรรมสไตล์อังกฤษ ชื่นชอบการขับรถไล่ล่าสุดมันส์ หลงใหล Minis คันเล็กเท่ห์ชะมัด แฟนๆนักแสดง Michael Caine, Noël Coward และเพลงเพราะๆของ Quincy Jones ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับมาเฟีย การโจรกรรม และเสียดายรถหลายคัน

TAGLINE | “The Italian Job โฆษณาขายรถ Minis โดยพรีเซนเตอร์ Michael Caine สมรรถภาพเยี่ยม แต่วิ่งได้ไม่ไกลเท่าไหร่”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: