The Jazz Singer (1927) : Alan Crosland ♥♥♡
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า The Jazz Singer คือหนังพูด (Talkie) เรื่องแรกของโลก จริงๆแล้วไม่ใช่นะครับ, นี่ไม่ใช่หนังที่มีเสียงเรื่องแรกของโลก, ไม่ใช่หนังที่มีการบันทึกเสียงพูดให้ตรงกับปากเรื่องแรกของโลก, แต่คือหนัง Hollywood ขนาดยาว (Feature-Length) ที่มีการบันทึกบทสนทนาให้ตรงกับปาก เรื่องแรกของโลก
“Wait a minute, wait a minute, you ain’t heard nothin’ yet!”
Al Jolson
เมื่อตอน The Jazz Singer ออกฉายวันที่ 6 ตุลาคม 1927 ถือเป็นหลักไมล์สำคัญ “จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดยุคสมัย และรุ่งอรุณของวันใหม่”, แต่ในความรู้สึกแล้ว The Jazz Singer ยังหาใช่หนัง Talkie ที่แท้จริงไหม มันเหมือนหนังเงียบดัดจริต ที่มีเสียงพูดดังออกมาแค่ไม่กี่ประโยคเท่านั้น
กับคนที่ดูหนังแล้วอาจจะแย้งว่า “Wait a minute, wait a minute, you ain’t heard nothin’ yet!” นี่ไม่ใช่เสียงพูดแรกที่ได้ยินเสียหน่อย มันควรเป็นเสียงร้องเพลง “They called her frivolous Sal…” ไม่ใช่หรือ?, ทีแรกผมก็คิดแบบนี้นะ แต่คนส่วนใหญ่เขาไม่นับกัน เพราะนั่นเป็นเสียงร้องประกอบ Soundtrack ไม่ได้เกิดจากการบันทึกขณะถ่ายทำจริงๆ ซึ่งประโยคแรกที่มีการอัดเสียงแล้วพูดขึ้นในหนังก็คือ “Wait a minute, wait a minute, you ain’t heard nothin’ yet!” ประโยคนี้แหละ
แต่กว่าที่เราจะได้ยินประโยคนี้ ก็กินเวลาไปกว่า 20 นาที นี่อาจทำให้หลายคนสงสัย ว่ามันหนังเงียบหรือหนังพูดกันแน่ แถมมี Title Card คำบรรยายขึ้นข้อความมาด้วย?, มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายในการทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งให้กลายเป็นหนังพูดทั้งเรื่องในสมัยนั้นนะครับ โดยเฉพาะในยุคแห่งการทดลอง ทุนที่ใช้สร้างอาจจะปริมาณสูงอยู่ จึงเป็นการดีกว่าที่จะให้หนังมีแค่บางส่วนเป็นเสียงพูด (ซึ่งสามารถสะท้อนกับเนื้อเรื่องราวของหนังได้ด้วย) มีคนประมาณการว่า เสียงพูดในหนังเรื่องนี้มีประมาณ 20-25% เท่านั้น (ผมว่าอาจจะน้อยกว่านี้อีกนะ)
เกร็ด: สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวที่ถือว่าเป็น All-Talkie เรื่องแรกที่แท้จริง คือ Lights of New York (1928) สร้างโดย Warner Bros. กำกับโดย Bryan Foy ความยาว 57 นาที ทุนสร้าง $23,000 เหรียญ ทำเงิน $1.2 ล้านเหรียญ
จุดเริ่มต้นของการบันทึกเสียงครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 1860 Édouard-Léon Scott de Martinville ชายชาวฝรั่งเศสผู้ประดิษฐ์เครื่อง The Phonautograph Recording (หน้าตาเป็นแบบรูปในคลิป) ขับร้องเพลง Au Clair de la Lune, เสียงจากคลิปที่ผมนำมานี้ มีการนำเสนอเสียงที่ผ่านการ Restoration จนช่วง 10 วินาทีสุดท้าย ได้ยินชัดถ้อยชัดคำมากๆ “Au clair de la lune, mon ami Pierrot, prête-m—” (เป็นเสียงผู้ชายนะครับ) ลองฟังดูนะครับ
สำหรับการบันทึกเสียงพร้อมกับถ่ายภาพ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1894 เป็นการทดลองของ Thomas Edison บันทึกเสียงโดยใช้เครื่อง Kinetophone ถ่ายที่ Black Maria studio แสดงไวโอลินโดย W.K.L. Dickson เล่นเพลง The Chimes at Midnight
นับจากนั้นก็มีการทดลองบันทึกเสียงกับภาพยนตร์ขนาดสั้นมากมาย ซึ่งครั้งแรกกับภาพยนตร์ขนาดยาว มาจากบิดาแห่งวงการภาพยนตร์ D. W. Griffith ได้ทดลองสร้างหนังสั้นเรื่อง Dream Street (1921) บันทึกเสียงร้องของศิลปินพร้อมๆเสียงของผู้ชม โดยใช้เทคนิค Sound-on-Disc ระบบ Photokinema น่าเสียดายที่ตอนนั้นยังได้แค่ไม่กี่วินาที และ Griffith ต้องตกระกำลำบากกับคำวิจารณ์ ที่ได้ยกย่องว่าเป็น ‘หนังห่วยที่สุด’ ของเขาเลย ทำให้ไม่มีใครจดจำหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ (หาหนังดูได้ใน Youtube นะครับ)
เมื่อปี 1925 ขณะที่นาย Sam Warner หนึ่งในพี่น้องตระกูล Warner ได้มีโอกาสเห็นสาธิตการทดลองของ Western Electric ในระบบ Sound-on-Disc ที่มีการบันทึกเสียงสดและสามารถเล่นซ้ำได้ทันที จึงไปโน้มนาวพี่น้องของตน ให้ร่วมทุนเซ็นสัญญา กว่าครึ่งล้านเหรียญเพื่อได้ใบอนุญาติพิเศษ พัฒนาระบบเสียงที่ชื่อว่า Vitaphone ใช้ในโรงภาพยนตร์, โดยหนังเรื่องแรกที่มีการบันทึกเสียงเพลงประกอบ (ยังไม่มีเสียงพูด) คือ Don Juan (1926) ของผู้กำกับ Alan Crosland นำแสดงโดย John Barrymore (หนังที่มีฉาก kiss 127 ครั้ง มากครั้งที่สุดเป็นสถิติโลก) ด้วยทุนสร้าง $789,963 ทำรายได้ $1,258,000
ในปีนั้น ยังมีหนังเงียบอีกหลายเรื่องที่ Warner ลงทุนโดยใช้การบันทึกเสียงเพลงประกอบ ซึ่งรวมๆแล้วสามารถทำกำไรได้มากกว่า $3.5 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จล้นหลาม จนทำให้ Warner Bros. จากสตูดิโอเล็กๆกลายน้องใหม่ไฟแรงขึ้นมาทันที นี่ทำให้ 5 สตูดิโอหลักของ Hollywood ขณะนั้นถึงขั้นหนาวๆร้อนๆ (ประกอบด้วย First National, Paramount, MGM, Universal และ Producers Distributing) พวกเขาเริ่มให้ความสนใจกับเทคโนโลยีใหม่นี้ขึ้นมาโดยทันที
ปล. เนื่องจากหนังพูดแทบทุกเรื่องในทศวรรษ 20s ทำเงินได้ มีหรือที่ยุคภาพยนตร์จะไม่เปลี่ยนไป
หลังจากความสำเร็จที่ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นของภาพยนตร์เสียงในฟีล์ม เป้าหมายถัดมาคือการบันทึกเสียงพูดให้ตรงกับปากนักแสดง, Darryl F. Zanuck ก้าวเข้ามารับหน้าที่โปรดิวเซอร์ มอบหมายให้ Alan Crosland ผู้เคยมีประสบการณ์กับการใส่เสียงเพลงประกอบใน Don Juan มาแล้ว, ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น The Day of Atonement เขียนโดย Samson Raphaelson เมื่อปี 1921 เคยได้รับการดัดแปลงเป็นละคร Broadway ในปี 1926 และพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์โดย Alfred A. Cohn.
เรื่องราวของ Jakie Rabinowitz หรือ Jack Robin (ตอนโตรับบทโดย Al Jolson) ชายหนุ่มหัวขบถชาว Jewish มีความต้องการเป็นนักร้องแจ๊ส (Jazz Singer) แทนที่จะเป็น Cantor (บาทหลวง/คนร้องเพลงนำในโบสถ์ของชาว Jews), ไคลน์แม็กซ์ตอนท้าย Jakie จะต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง เป็นนักร้องนักแสดง Broadway ได้ทำตามความฝันดั่งคนรุ่นใหม่ หรือหวนกลับไปร้องเพลงให้กับโบสถ์ ยึดมั่นใน Tradition แบบคนยุคเก่า
กับงานศิลปะ/ภาพยนตร์เรื่องสำคัญ ที่เป็นจุดเริ่มต้น/จุดเปลี่ยนของอะไรใหม่ๆ มักจะมีความตั้งใจสอดแทรกแฝงแนวคิด เรื่องราวที่มีการเปรียบเทียบ เก่า/ใหม่ อยู่ชัดเจนมากๆ สำหรับ The Jazz Singer พูดถึงการร้องเพลงในโบสถ์/การแสดง Broadway แทนภาพยนตร์ยุคเก่า/ใหม่ หนังเงียบ/หนังพูด ไคลน์แม็กซ์ก็คือ การเลือกฝั่งของพระเอก เขาจะตัดสินใจร้องในโบสถ์ด้วยศรัทธา ความเชื่อ ในเชื้อชาติของตน หรือ Broadway ที่คือความฝัน อนาคต ความยิ่งใหญ่, ผมไม่มีอคติอะไรในการนำเสนอเรื่องราว ใจความแฝงลักษณะนี้นะครับ แต่กับคนที่ดูหนังมาเยอะๆ เห็นแบบนี้มันตรงไปตรงมา ชัดเจนเกินไป จนทำให้รู้สึกขาดความน่าสนใจอย่างยิ่ง (แทบจะเดาได้ตั้งแต่ประมาณ 10 นาทีแรกว่าต้องเกิดอะไรขึ้น)
กระนั้นหนังยังมีความน่าสนใจอื่น อาทิ Al Jolson นักแสดงนำของเรื่อง, ต้องบอกว่า Jolson คือหนึ่งในซุปเปอร์สตาร์ของอเมริกา เป็นนักร้อง นักแสดงและตลก (ส่วนใหญ่จะเน้นตลก) ได้รับฉายาว่า “The World’s Greatest Entertainer” บางสำนักยกให้เป็น Elvis Presley แห่งยุค 20s ผมเพิ่งเคยเห็นเขาจากหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ยังรู้สึกได้ว่าชายคนนี้ยอดฝีมือจริงๆ สีหน้า คำพูด ลีลา ท่าทาง มีสเน่ห์ มีสไตล์ น่าสนเท่ห์ และดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ทั้งหมด, Al Jolson ถือว่าเป็นนักแสดงค่าตัวสูงสุดในช่วง 1911-1928 ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดง โชว์ตัว ลงทัวร์ และ Broadway ซึ่งพอมาเล่น The Jazz Singer งานแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ก็ยิ่งทำให้ชื่อเสียงระบือลือไกล ขจรขจายไปยิ่งกว่าเดิม เพราะคำพูดที่เป็นประโยคแรกของโลกภาพยนตร์ คอรักหนังควรจะจดจำประโยคนี้ไว้เลยนะครับ
หนังเรื่องนี้มีสิ่งหนึ่งที่เป็นของต้องห้าม (ที่สมัยนั้นอาจยังไม่ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม) นั่นคือประเด็น Racism, อาจจะโดยความตั้งใจ/ไม่ตั้งใจของ Jolson ในการแต่งหน้าดำเลียนแบบคนผิวสี นี่เป็นเรื่องที่ได้รับการถกเถียงอย่างรุนแรง เพราะฝั่งหนึ่งรับไม่ได้กับ hollywood ยุคนี้ ที่ไม่ยอมจ้างคนผิวดำมาเล่นหนัง แล้วให้คนผิวขาวโบะหน้าดำเล่นแทน นี่เป็นการกระทำที่ดูถูกหมิ่นชาติพันธุ์ เสมือนว่าคนผิวสีต่ำต้อยกว่า ไม่ควรทำตัวเสมอตนกับคนผิวขาว, ส่วนอีกฝั่งมองว่า การแสดงของ Jolson เป็นภาพที่สะท้อนแนวคิด มากกว่าการเสียดสีหรือดูถูก
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/51/Al_Jolson_Jazz_Singer.JPG
ส่วนตัวมองว่าการที่ Jolson แต่งหน้าดำในฉากนั้น เพื่อเป็นกระจกสะท้อนรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไปของยุคสมัย ที่เหมือนการปลอมแปลง ตัวปลอม ไม่ใช่ของจริง มนุษย์เราภายนอกสามารถเปลี่ยนแปลงไปยังไงก็ได้ (สมัยก่อนแค่โบะหน้าดำ สมัยนี้ศัลยกรรม หน้าเปลี่ยนไปเลย) แต่ภายในต่างหากที่เป็นสิ่งชี้วัดธาตุแท้ตัวตน, แม่และลุงที่เห็นรูปลักษณ์ของ Jolson เปลี่ยนไป เอ่ยปากว่า ลูกของตนเปลี่ยนไปเป็นอะไรก็ไม่รู้ นั่นเพราะพวกเขาไม่ได้มองตัวตนที่ข้างใน มองเห็นแต่ภายนอก นี่เป็นอคติที่หน้าเศร้ามาก แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไม (คนหัวโบราณก็แบบนี้ ยึดในความเชื่ออะไรเก่าๆ), ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของ Jolson บ่งบอกชี้ได้ชัดเจนว่า ตัวเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยนะครับ
ถ้ามองลักษณะเช่นนี้ การแต่งหน้าดำของ Jolson ก็หาได้มีความ Racism แม้แต่น้อยเลยนะครับ เป็นเสมือนหน้ากาก ที่เดี๋ยวก็ถอดออก แต่กับคนผิวสี เขาเห็นแค่คนขาวโบะดำ ร้อยทั้งร้อยก็มองว่าเป็นการเหยียดสีผิวแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องลงไปพิจารณาบริบทของหนังหรอก (คิดแบบนี้ไม่ Racism กว่าหรอกหรือ?)
ถ่ายภาพโดย Hal Mohr ลักษณะการถ่ายภาพ ถือว่าคงธรรมเนียมหนังเงียบไว้ครบถ้วน ตั้งกล้องถ่ายภาพแช่ไว้เฉยๆ ให้นักแสดงเดินเข้าออกในกรอบที่ขีดไว้ ไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงเท่าไหร่, ตัดต่อโดย Harold McCord ผมเรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็น Semi-Silent กึ่งภาพยนตร์เงียบ คือมี Title Card ตัวอักษรคำบรรยายเยอะๆ ตัดขึ้นมาแสดงเรื่อยๆ บางครั้งดูไม่จำเท่าไหร่ ไม่ถือว่ามีอะไรโดดเด่นเช่นกัน
สำหรับเพลงประกอบ มีที่ Al Jolson ร้องทั้งหมด 6 เพลง เน้นเนื้อหาที่มีใจความสะท้อนเรื่องราวในแต่ละช่วง คนที่ดัดแปลงและจัดการบรรเลงเพลงประกอบคือ Louis Silvers ที่เคยทำเพลงประกอบให้ D. W. Griffith เรื่อง Dream Street (1921), Silvers ได้เข้าชิง Oscar: Best Score 4 ครั้ง ได้มา 1 รางวัลจาก One Night of Love (1934)
เพลงประกอบ ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยเพราะเท่าไหร่ คงเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้สไตล์การร้องแบบนี้ ฟังแล้วไม่ค่อยติดหู สมัยก่อนอาจจะเคยมีความคลาสสิกแต่ปัจจุบันล้าสมัยไปเรียบร้อยแล้ว, เพลงประกอบที่ได้ยินว่าติดหูคนสมัยนั้นคือ Toot, Toot, Tootsie (Goo’ Bye) แต่งเนื้อร้องทำนองโดย Gus Kahn, Ernie Erdman และ Dan Russo ซึ่งเพลงนี้อยู่ต่อถัดจากประโยคพูดคำแรกของ Al Jolson ด้วย เลยเอามาให้ฟังกันนะครับ
มีสิ่งหนึ่งที่ถือว่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง Sam Warner ได้เสียชีวิตไปก่อนวันที่ The Jazz Singer จะฉายเพียงวันเดียวเท่านั้น (เสียชีวิต 5 ตุลาคม หนังฉาย 6 ตุลาคม 1927) ขณะอายุเพียง 40 ปีจากโรคไซนัส (เพราะโหมงานหนักเกินไป) คนที่ก้าวขึ้นมาสานต่อภารกิจนี้คือ Jack L. Warners คนที่ทำให้ Warner Bros. โด่งดังยิ่งใหญ่จนถึงปัจจุบัน
ด้วยทุนสร้าง $422,000 เหรียญ หนังทำเงินในอเมริกา $3.9 ล้านเหรียญ และทั่วโลกได้เพิ่มอีก $2.6 ล้าน, ในปีแรกของการจัด Oscar สาเหตุที่ยังไม่มีหนังพูดได้รางวัล เพราะโปรดิวเซอร์จัดงานรู้สึกไม่แฟร์ที่จะให้ หนังเงียบแข่งกับหนังพูด กระนั้นหนังยังได้เข้าชิง 2 สาขา และได้รางวัลพิเศษอีก 1
– Best Writing Adaptation แพ้ให้กับ 7th Heaven (หนังเรื่องนี้กวาด Oscar ไปอีก 2 รางวัลคือ Best Director, Best Actress หาดูได้ใน Youtube นะครับ)
– Best Engineering Effects แพ้ให้กับ Wings
– Honorary Award มอบให้กับ Warner Bros. โดย Darryl F. Zanuck เป็นผู้รับรางวัล, สำหรับการสร้าง The Jazz Singer ที่ได้บุกเบิก ปฏิวัติวงการภาพยนตร์
มีการ remake สร้าง Tha Jazz Singer ใหม่สองครั้ง
– The Jazz Singer (1952) โดยผู้กำกับ Michael Cutriz นำแสดงโดย Danny Thomas และ Peggy Lee
– The Jazz Singer (1980) โดยผู้กำกับ Richard Fleischer นำแสดงโดย Neil Diamond และ Laurence Olivier
ส่วนตัวเฉยๆกับหนังเรื่องนี้ ออกไปทางไม่ค่อยชอบเสียเท่าไหร่ เพราะเรื่องราวมันคาดเดาอะไรได้ง่ายเกินไป สิ่งที่พยายามนำเสนอเปรียบเทียบก็เด่นชัดตรงไปตรงมา และไม่ชอบรุนแรงที่สุดคือทัศนะแฝงการเหยียด (ถึงผมจะวิเคราะห์ไปแล้วว่ามันอาจไม่ใช่ แต่การสามารถมองได้สองแง่สองง่ามแบบนี้ ส่วนตัวไม่ชอบเสียเท่าไหร่) รวมๆเลยรู้สึกค่อนข้างผิดหวัง
ถ้าคุณต้องการเห็นหนังที่ Hollywood ประเคนศักดินา ยกให้ว่าคือหนังพูดเรื่องแรกของโลก อยากรู้ว่าเป็นยังไง ก็ลองหามารับชมดูนะครับ
แนะนำสำหรับคนสนใจหนังเรื่องนี้ ขณะรับชมก็อย่าไปคิดอะไรมาก ดูจบแล้วไปศึกษาเบื้องหลังงานสร้าง กว่าที่เทคโนโลยีจะพัฒนากลายเป็นภาพยนตร์พูดเรื่องนี้ได้ เขาทำอะไรยังไง ยากลำบากแสนเข็นขนาดไหน แล้วคุณจะทึ่งไปกับก้าวแรกของความสำเร็จในยุคเปลี่ยนผ่าน ที่เปลี่ยนวิถีของวงการภาพยนตร์ไปโดยสิ้นเชิง
จัดเรต 13+, หนังที่อาจแฝงประเด็นความ racism ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก
Leave a Reply