The Kid Brother

The Kid Brother (1927) hollywood : Ted Wilde ♥♥♥♥

หนุ่มแว่นลูกชายคนเล็กของครอบครัว ต้องพิสูจน์ตนเองต่อพ่อและพี่ชาย ให้ได้รับการยอมรับว่าเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว, ถึงนี่เป็นพล็อต ‘กระหายความสำเร็จ’ ที่ใครๆคงคุ้นเคยดีกับอัจฉริยะพรแสวง Harold Lloyd แต่ก็มีมุกตลกเหลือเฟือให้คุณหัวเราะจนท้องแข็ง เปลี่ยนจากปีนตึกในเมือง มาเป็นปีนต้นไม้ในชนบทแทน

ในบรรดาผลงานของ Harold Lloyd ที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดยังคงเป็น Girl Shy (1924) ตามด้วย Safety Last! (1923) และอันดับสามคือ The Kid Brother (1927) ต่างสามารถทำให้คนเส้นลึกๆอย่างผมหลุดหัวเราะจนท้องแข็งได้ ต้องถือว่าไม่ธรรมดาเลยละ

Harold Clayton Lloyd, Sr. (1893 – 1971) นักแสดงตลก ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นักเขียนบท และสตั๊นท์แมนชาวอเมริกัน เกิดที่ Burchard, Nebraska ปู่ทวดอพยพมาจาก Wales, ในยุค 1910s พ่อของ Lloyd เป็นคนที่ค่อนข้างล้มเหลวในชีวิต ทำธุรกิจมากมายแต่ส่วนใหญ่ล้มเหลว จนต้องหย่ากับแม่ แล้วพาลูกชายไปอยู่ที่ San Diego,

Lloyd สนใจการแสดงตั้งแต่เด็ก เป็นนักแสดงประจำโรงละครที่นั่น ในปี 1912 ได้มีโอกาสทำงานในบริษัท Thomas Edison Motion Picture เริ่มต้นจากบทเล็กๆ เป็นตัวประกอบครั้งแรกในหนังเรื่อง The Old Monk’s Tale (1913) [ไม่แน่ใจว่าฟีล์มสูญหายไปหรือเปล่า] ต่อมาย้ายไปอยู่ Los Angeles แสดงเป็นตัวประกอบให้สตูดิโอ Universal แล้วได้รู้จักกับ Hal Roach ร่วมกันตั้งสตูดิโอของตนเองในปี 1913 และสร้างตัวละคร ‘Lonesome Luke’ ที่เลียนแบบ The Tramp ของ Charlie Chaplin จนประสบความสำเร็จ

ในปี 1918,  Lloyd และ Roach เริ่มมีความคิดพัฒนาตัวละครขึ้นเอง (แทนที่จะไปเลียนแบบคนอื่น) จุดกำเนิดมาจาก Roach บอกว่า Lloyd หล่อเกินไปที่แสดงตลก จึงลองให้เขาแต่งหน้าปลอมตัวแล้วใส่แว่น ปรากฏว่าดูดีเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เกิดตัวละคร ‘หนุ่มแว่น’ ขึ้นมาครั้งแรก, Lloyd ให้สัมภาษณ์ว่า ‘เมื่อใส่แว่น มันเหมือนทำให้ผมเปลี่ยนไป กลายเป็นมนุษย์เดินดินธรรมดาทั่วไป เหมือนเด็กข้างบ้าน หรือผู้ใหญ่ที่อยู่บ้านตรงข้าม ที่อาจชอบทำอะไรบ้าๆ และคุณเชื่อว่าเขาทำได้โดยธรรมชาติ’

ช่วงทศวรรษ 20s เมื่อหนังเงียบขนาดยาว (Feature Length) ได้รับความนิยมอย่างสูง เฉลี่ยปีละเรื่องที่ Harold Lloyd มีผลงานออกมา เริ่มตั้งแต่ A Sailor-Made Man (1921), Grandma’s Boy (1922), Dr. Jack (1922) **ล้านแรก, Safety Last! (1923) **ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุด, Why Worry? (1923), Girl Shy (1924), Hot Water (1924), The Freshman (1925) **ทำเงินสูงสุด, For Heaven’s Sake (1926), The Kid Brother (1927) และ Speedy (1928) ** เข้าชิง Oscar: Best Director

ปกติแล้ว Lloyd มักร่วมงานกับผู้กำกับ/นักเขียน ที่รู้จักสนิทสนมคุ้นเคย แต่สำหรับ The Kid Brother คงด้วยความต้องการอยากทดลองอะไรใหม่ๆในมุมมองแตกต่าง จึงติดต่อว่าจ้าง Lewis Milestone (1895 – 1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Russian ที่ผลงานกำลังได้รับการจับตามอง ซึ่งเห็นว่า Milestone ก็ได้ถ่ายทำไปแล้วหลายฉากก่อนถูกสตูดิโอ Warner Bros. ดึงตัวกลับไปด้วยข้ออ้างผิดสัญญาอะไรสักอย่าง

เกร็ด: Lewis Milestone คือผู้กำกับคนแรกที่คว้า Oscar: Best Director แย่งไปจาก Ted Wilde กับเรื่อง Two Arabian Knights (1927) และเป็นคนแรกที่คว้าตัวที่สองจาก All Quiet on the Western Front (1930)

Lloyd จึงเลือก Ted Wilde (1889 – 1929) นักเขียนขาประจำที่สร้างหนังสั้นมาแล้วสองสามเรื่อง ให้ขึ้นมาเป็นผู้กำกับต่อ ถ่ายทำเสร็จไปเกินกว่าครึ่ง เกิดอาการป่วยหนักทำให้ไม่สามารถทำงานต่อได้ จำต้องถอนตัวออกไป

สองคนสุดท้ายที่ขึ้นมาในฐานะผู้กำกับแต่ไม่ขอรับเครดิตคือ J.A. Howe กับ Lex Neal สองนักเขียนบทเช่นกัน คงเพราะรู้สึกตัวเองเป็นเพียงหุ่นเชิดของ Lloyd มีหน้าที่แค่จัดหาอำนวยความสะดวก เตรียมความพร้อมในกองถ่ายเท่านั้น

ปกติแล้วหนังของ Lloyd ก็มักจะลักษณะนี้ คือถ้าดูกันตามหน้าที่ ตัวเขาจะคือผู้กำกับการแสดง ขณะที่ผู้ถือเครดิตกำกับ เทียบจริงๆคงคือโปรดิวเซอร์ หรือฝ่ายประสานจัดหามากกว่า กระนั้น Lloyd เลือกที่จะไม่รับเครดิตในฐานะผู้กำกับ เพื่อให้โอกาสกับคนอื่นๆในการทำงาน

เรื่องราวของหนังได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Tol’able David (1921) ของผู้กำกับ Henry King ที่ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Tol’able David (1917) เขียนโดย Joseph Hergesheimer, เคยถูกนำมา Remake แล้วครั้งหนึ่ง The White Sheep (1924) โดยผู้กำกับ Hal Roach ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักนัก และเหมือนว่าจะสูญหายไปแล้ว

นักเขียนที่ได้รับขึ้นชื่อเครดิต มีทั้งหมด 4 จาก 8 คน ประกอบด้วย John Grey, Ted Wilde, Thomas J. Crizer ในฐานะคิดเรื่องราว, John Grey, Lex Neal, Howard J. Green เขียน Scenario, และ Gag Writer ไม่ได้รับเครดิต J.A. Howe, Lex Neal

มีพื้นหลังในหมู่บ้านสมมติ Hickoryville ตั้งชื่อตามนามสกุลของนายอำเภอ Jim Hickory (รับบทโดย Walter James) ที่ได้รับการยกย่องนับถือเป็นวีรบุรุษของหมู่บ้าน มีลูกชาย 3 คน ประกอบด้วย Leo (รับบทโดย Leo Willis), Olin (รับบทโดย Olin Francis) มีร่างกายกำยำบึกบึนแข็งแรง ได้รับการเคารพนับถือจากพ่อและผู้อื่น ขณะที่ลูกคนเล็ก Harold (รับบทโดย Harold Lloyd) สวมแว่นไร้กล้าม ร่างกายอ่อนแอ ดูแล้วพึ่งพาไม่ค่อยได้เท่าไหร่

วันหนึ่งเมื่อพ่อ Jim ทำเงินทุนสะสมของชาวบ้าน รวบรวมเพื่อนำไปใช้ในการสร้างเขื่อนสูญหาย จึงถูกสังคมตราหน้าเตรียมรุมประชาทัณฑ์ ส่งลูกชายทั้งสามออกไปสืบค้นหา แต่ก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า คนที่จะสามารถช่วยเหลือเขาให้พ้นจากข้อกล่าวหานี้ จะคือ…

บทบาทของหนุ่มแว่น Harold Lloyd เริ่มต้นมายังคงไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ซึ่งครานี้มาจากพ่อและพี่ชายทั้งสอง ต้องพยายามทำหลายสิ่งอย่างเพื่อพิสูจน์ตนเอง แต่จนแล้วจนรอดโชคชะตานำพาเล่นตลกกับเขาเสียมากกว่า จะกระทั่งครั้งสุดท้าย เพราะนั่นคือเหตุการณ์สำคัญจริงๆแล้วดันทำสำเร็จ ถึงได้รับการยกย่องยอมรับจากผู้อื่น

แซว: หนังเรื่องนี้แสดงให้เราเห็นว่า หนุ่มแว่นใส่แว่นนอน

Jobyna Ralston (1899 – 1967) นักแสดงหญิงในยุคหนังเงียบ สัญชาติอเมริกา เกิดที่ South Pittsburg, Tennessee, เริ่มเป็นนักแสดงละครเวทีตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ตามด้วยนักร้องนักเต้น Broadways ได้รับการชักชวนมา Hollywood เล่นหนังเรื่องแรก Humor Risk (1921) ร่วมกับ Marx Brothers ฟีล์มสูญหายไปแล้ว ต่อมาถูก Hal Roach ดึงตัวมาเล่นหนังเรื่องแรกกับ Harold Loyd เรื่อง Why Worry? (1923)

รับบท Mary Powers หญิงสาวนักแสดงเร่ขายยา (Medicine Show) แม้จะถูกครอบครัวปฏิบัติต่อเธอแบบนกในกรง แต่เมื่อพบเจอกับหนุ่มแว่น ชื่นชอบในความเป็นสุภาพบุรุษ ตกหลุมรัก(ไม่รู้แรกพบหรือเปล่า) จึงคอยส่งเสริมสนับสนุน ชี้แนะนำให้รู้จักความกล้าตัดสินใจด้วยตนเอง

Ralston ร่วมงานกับ Lloyd ทั้งหมด 5 ครั้ง นี่เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะชิ่งไปเป็นหนึ่งในนักแสดงสมทบ Wings (1927) พอถึงยุคหนังพูดก็รู้ตัวเองว่าคงปรับตัวไม่ได้ เลยรีไทร์จากวงการ

ถ่ายภาพโดย Walter Lundin ขาประจำแทบจะคนเดียวในชีวิตของ Harold Lloyd ร่วมงานกันตั้งแต่ปี 1915 จนถึง The Cat’s Paw (1934)

ฉากที่หนุ่มแว่นไต่ปีนต้นไม้เพื่อโบกมือบ้ายบายหญิงสาว นี่คงเป็นรักแรกพบของเขาจึงไม่อยากที่จะให้เธอลับสายตา แต่เพราะยิ่งเดินจากไปไกลมันต้องมีอะไรบังตา ก็เลยปืนขึ้นสูงไปเรื่อยๆจนเกือบถึงยอด, ฉากนี้ลงทุนสร้างลิฟท์ขึ้นมาด้านเพื่อเคลื่อนติดตาม Lloyd ขณะปีนต้นไม้ มันคงไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่สำหรับเขา เพราะตึกสูงเรื่อง Safety Last! ก็ยังปีนสำเร็จมาแล้วเลย

มุกตลกของหนังที่สอดแทรกเข้ามาในแต่ละ Sequence จะมีลักษณะแบ่งเป็นตอนๆ นำเสนอด้วยวิธีการคล้ายๆกันราวกับสูตรสำเร็จ อาทิ ฉากที่หนุ่มแว่นขณะกำลังหลบหนีแอบซ่อนจากพี่ชายทั้งสอง อยู่ด้านหลังดอกทานตะวัน
– The Pledge: เริ่มต้น พี่ใหญ่กับพี่รองวิ่งผ่านหน้า หันมองซ้ายขวาไม่เห็นอะไร
– The Turn: หักมุม เฉลยว่าแท้จริงแล้วหนุ่มแว่นหลบซ่อนอยู่ตรงไหน ด้านหลังดอกทานตะวัน
– The Prestige: ตบมุก เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น น่าจะเป็นผึ้งเข้าไปในเสื้อ ทำให้หนุ่มแว่นสะดุ้งตกใจ เปิดเผยที่ซ่อนตนเองออก

ผมนำคำเรียกภาษาอังกฤษจากหนังเรื่อง The Prestige (2006) การแสดงมายากลแบ่งออกเป็น 3 Act สามารถเปรียบเทียบกับไดเรคชั่นมุกตลกของหนังได้เกือบๆจะทั้งหมดเลยนะ

ตัดต่อโดย Allen McNeil ร่วมงานกับ Lloy ตั้งแต่ Girl Shy, The Freshman, For Heaven’s Sake และ The Kid Brother คือเรื่องสุดท้าย

ช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของหนัง ด้วยวิธีการเดียวกับ Girl Shy ใช้การตัดต่อสลับไปมาระหว่างสองเหตุการณ์ เมื่อพ่อถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร กำลังถูกนำพาไปลงโทษรุมประชาทัณฑ์ ส่วนหนุ่มแว่นบังเอิญพบเจอหัวขโมยตัวจริง หาทางต่อสู้จับกุม แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขาเลย การตัดสลับไปมาเพื่อให้ผู้ชมมีจังหวะหายใจ ถ้าหนังมัน Non-Stop กับมุกตลกมากเกินไป คงได้ท้องแข็งเป็นลมจับก่อนหนังจบแน่

ว่าไปหนังเรื่องนี้ ผมคิดว่ามีความใกล้ตัว Lloyd มากๆ เพราะโดยปกติแล้วการพิสูจน์ตัวเองของเขา มักเป็นให้สังคมยอมรับ แฟนสาว ปู่ย่า น้อยครั้งนักที่จะเป็น ‘พ่อ’ บุคคลซึ่ง Lloyd นำมาเป็นแรงบันดาลใจในทุกๆผลงานของตนเอง, พ่อของ Lloyd เป็นนักธุรกิจที่ไม่เคยประสบความสำเร็จ ทำให้สูญเสียชื่อเสียงและหน้าตา ตรงกันข้ามกับหนังเรื่องนี้ที่เป็นนายอำเภอได้รับการยกย่องนับถือ ขณะที่กำลังจะถูกทำให้อับอายขายหน้า ได้รับการช่วยเหลือโดยตัวละครของเขาเอง นี่ถ้าในชีวิตจริงทำแบบนั้นได้ หนุ่มแว่นคงมีความภาคภูมิใจที่สุดเลย

ไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ทำเงินได้ $2.4 ล้านเหรียญ สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของ Harold Lloyd ในทศวรรษหนังเงียบ รองจาก The Freshman (1925) และ For Heaven’s Sake (1926)

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ หลุดขำแทบจะทุกมุกที่นำเสนอมา แต่เสียอย่างเดียวคือมันขาดความเป็นที่สุดไปหน่อย คือไม่มีมุกแบบจี๊ดจ๊าดโดนใจตบโต๊ะฉาดแบบ Shy Girl หรือ Safety Last! เลยพลาดโอกาสตกหลุมหลงรักไปอย่างน่าเสียดาย

แต่ในเรื่องความกลมกล่อมลงตัว เนื้อเรื่องลื่นไหลต่อเนื่อง มุกตลกขำขันแบบมีมารยาท ต้องชมเลยว่าครบเครื่องจัดเต็ม แถมมีซีนโรแมนติกกุ๊กกิ๊กน่ารัก ดราม่าแบบซาบซึ้งกินใจ เต็มอิ่มครบอรรถรสในสไตล์ของ Harold Lloyd แฟนๆของผู้กำกับ และคอหนังเงียบชื่นชอบ Slapstick Comedy ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับพฤติกรรมของพี่ๆที่ชอบกลั่นแกล้งน้อง

TAGLINE | “The Kid Brother ทำให้ Harold Lloyd ปีนขึ้นสู่ยอดไม้ได้สำเร็จอีกครั้ง”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: