The Killer

The Killer (1989) Hong Kong : John Woo ♥♥♥♥♡

นักฆ่ากับตำรวจ ปกติแล้วถือเป็นศัตรูคู่อาฆาตสองฝั่งขั้วตรงข้าม มิอาจอยู่ร่วมชายคาผืนแผ่นดินเดียวกันได้ กระนั้นในโหดตัดโหด หลังจากพวกเขาเล่นเกมแมวจับหนูจนล่วงรู้จักตัวตนของอีกฝ่าย ก็ได้กลับกลายเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนตาย ร่วมต่อสู้เพื่อเป้าหมายอุดมการณ์เดียวกัน, แต่ในชีวิตจริงของ John Woo กับโปรดิวเซอร์ Tsui Hark (ฉีเคอะ) ภาพยนตร์เรื่องนี้คือจุดแตกหัก ขัดแย้งรุนแรงถึงขนาดมองหน้ากันไม่ติดอีกเลย

ฉีเคอะเป็นโปรดิวเซอร์/ผู้กำกับ ที่มีวิสัยทัศน์มากๆคนหนึ่งของฮ่องกง แต่ก็ใช่ว่าทุกครั้งจะถูกต้องเสมอไป โดยเฉพาะผู้กำกับ John Woo แม้การร่วมงานครั้งแรกๆจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่นับตั้งแต่ A Better Tomorrow II (1987) ฉีเคอะนำหนังไปตัดต่อใหม่จากต้นฉบับ 2 ชั่วโมง 40 เหลือเพียง 104 นาที สร้างความร้าวฉานเล็กๆให้บังเกิดขึ้น กระนั้นเพราะมิตรภาพและความรู้สำนึกในหนี้บุญคุณ Woo จึงยังอดทนร่วมงานอยู่ต่อกับ The Killer ซึ่งชนวนขัดแย้งรุนแรงพบเจอได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ‘nobody wants to see a film about a killer.’

เพราะความสำเร็จอันล้นหลามของ The Killer ในระดับนานาชาติ (แต่เฉพาะที่ฮ่องกงฉายผิดเวลาไปหน่อย ทำเงินไม่มากเท่าไหร่) ถือเป็นตบหน้าฉีเคอะอย่างรุนแรง จนมิอาจอดรนทนร่วมงานกับ Woo ต่อได้อีก แถมต่างเป็นคน Egoist สูงทั้งคู่ ทางใครทางมันนะแหละดีที่สุด

ผมเคยรับชม The Killer เมื่อครั้นนานมาแล้ว จดจำได้เลือนลางว่าคือผลงานชื่นชอบที่สุดของ John Woo หลงลืมรายละเอียดอื่นๆไปหมดแล้วโดยเฉพาะตอนจบ มันเลยกลายเป็นความตกตะลึงงัน คาดคิดไม่ถึงอย่างยิ่ง ทำเอาไคลน์แม็กซ์ของ A Better Tomorrow (1986) กลายเป็นเด็กน้อยไปเลยละ

มีคำเรียกหนึ่งที่นักวิจารณ์ต่างประเทศพูดถึงหนังสไตล์ Heroic Bloodshed ของผู้กำกับ John Woo ว่า “Bullet-Ballet” ผมรู้สึกว่าเป็นคำเรียกที่ไพเราะมากๆเลยนะ กระสุนปืนที่สาดกราดยิง มันช่างเหมือนการเต้นรำที่มีจังหวะลีลา ภาษาท่าทางของตนเอง ซึ่งนี่คือสิ่งที่ปฏิวัติวงการภาพยนตร์ Action ไปตลอดกาล

John Woo ชื่อจริง Wu Yu-seng (เกิดปี 1946) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติจีน เกิดที่ Guangzhou ความพ่ายแพ้ของเจียงไคเชกในช่วงสงครามกลางเมือง ทำให้ครอบครัวตัดสินใจอพยพมุ่งสู่ Hong Kong อาศัยอยู่ในสลัมเกาลูน ที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม ความรุนแรง เสียงปืนและคนตาย แม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก แต่ครอบครัวก็เลี้ยงดูให้ Woo เกิดศรัทธาในศาสนาคริสต์ วาดฝันโตขึ้นได้เป็น Christian Minister แต่โชคชะตานำพาเขาสู่โลกภาพยนตร์ หลงใหลหนังเพลงของ Fred Astaire, The Wizard of Oz, แนว Western อาทิ Butch Cassidy and the Sundance Kid และผลงานของ Jean-Pierre Melville, Martin Scorsese

“When I was 11, even though we were poor, my mother was a fan of movies from the west. She used to bring me to the theatre. At that time, a parent could bring a child to the theatre for free. I was fascinated by the musicals, I think they influenced me the most. Also a lot of Fred Astaire…I loved movies and I wanted to be a filmmaker some day.”

แม้จะไม่มีเงินเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่ Woo ก็หาทางเดินตามฝันสำเร็จ ได้ทำงาน Script Supervisor กับ Cathay Studios เลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ Shaw Bros. Studios ภาพยนตร์เรื่องแรก The Young Dragons (1974) ประสบความสำเร็จใช้ได้ เลยถูกดึงตัวสู่ไต้หวัน Golden Harvest Studio สร้างภาพยนตร์แนว Martial Arts อยู่หลายเรื่องจนรู้สึกเบื่อหน่าย ทิ้งท้ายผลงาน Heroes Shed No Tears (1983) เปลี่ยนแนวมาเป็นสงครามเวียดนาม เต็มไปด้วยความรุนแรงมาเกินจนสตูดิโอไม่ยอมนำออกฉาย หลังจากเดินทางกลับ Hong Kong ด้วยนึกว่าเส้นทางอาชีพนี้จะจบสิ้นลงแล้ว แต่บังเอิญพบเจอกับฉีเคอะ หลังจากพูดคุยแลกเปลี่ยนสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนคติความเห็นข้ามคืน ได้ข้อสรุปลงเอยที่จะหาทุนให้สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดไป A Better Tomorrow (1986) ตามด้วยภาคต่อ A Better Tomorrow II (1987) และร่วมงานครั้งสุดท้าย The Killer (1989)

ผลงานเด่นอื่นๆของ Woo อาทิ Bullet in the Head (1990), Once a Thief (1991), Hard Boiled (1992) ฯ โกอินเตอร์กับ Hard Target (1993), Face/Off (1997), Mission: Impossible 2 (2000), Paycheck (2003) ฯ

นับตั้งแต่ A Better Tomorrow II (1987) ฉีเคอะพยายามปฏิเสธหลายๆโปรเจคของ Woo ที่นำมาเสนอ จนกระทั่งพล็อตเรื่องหนึ่งไปเข้าหูโจวเหวินฟะ เลยเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือผลักดันจนได้รับอนุมัติทุนสร้างจาก Golden Princess Film

เรื่องราวของนักฆ่า Ah Jong/อาจง (รับบทโดย Chow Yun-fat) ครั้งหนึ่งรับงานขณะยิงเป้าหมาย กระสุนเฉียดผ่านหน้านักร้องสาวในไนท์คลับ Jennie (รับบทโดย Sally Yeh) ด้วยแรงกระแทกทำให้สายตาของเธอพร่ามัวมืดบอดเกือบมองไม่เห็น ด้วยความรู้ผิดจึงแอบเฝ้ามองจนมีโอกาสให้ความช่วยเหลือ ไปๆมาๆตกหลุมรักและได้รับความรู้สึกนั้นตอบ ตั้งใจจะรับงานอีกครั้งสุดท้ายเพื่อนำเงินเป็นค่าใช้จ่ายผ่าตัดรักษาตา แต่เรื่องวุ่นๆก็เกิดขึ้นเมื่อนายจ้างตั้งใจเบี้ยวเงินและพยายามทำทุกอย่างเพื่อฆ่าปิดปากอาจง

สายสืบ Li Ying/ลี่อิ่ง (รับบทโดย Danny Lee) เป็นตำรวจที่มีความเฉลียวฉลาด ชื่นชอบทำความเข้าใจตัวตนของอาชญากร เพื่อจะได้โต้ตอบสนองแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ครั้งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ติดตามตัวอาจง ที่ได้ลอบสังหารผู้มีอิทธิพลคนหนึ่ง ก็สามารถอ่านใจจนติดตามไปพบเจอ Jennie ต้องการจับให้ได้แต่ก็ไม่สำเร็จสักที จนกระทั่งโดนหัวหน้าปลด ลูกน้องถูกฆ่า ตกอยู่ในสถานการณ์ต้องร่วมมือต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด โดยไม่รู้ตัวมิตรภาพเล็กๆได้บังเกิดขึ้นกับพวกเขาทั้งสองแล้ว

Chow Yun-Fat, โจวเหวินฟะ (เกิดปี 1955) นักแสดงสัญชาติฮ่องกง ได้รับการเปรียบเทียบเท่า Cary Grant ที่หล่อบึกบึนจัดจ้านกว่า เกิดที่ Lamma Island นอกชายฝั่งเกาะฮ่องกง มีชีวิตเด็กที่ยากไร้ พ่อเคยติดการพนันจนหมดตัว (ถึงเคยรับบทเซียนพนัน แต่เกลียดเข้ากระดูกดำ) แต่โชคดีที่ได้เรียนจบวิทยาลัย มีโอกาสเป็นนักแสดงฝึกหัดยังสถานีโทรทัศน์ TVB โด่งดังกับละครโทรทัศน์ เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (1980) ขณะที่ภาพยนตร์ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก จนกระทั่งได้รับเลือกให้มาแสดงใน A Better Tomorrow (1986) โด่งดังชั่วข้ามคืน, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ An Autumn’s Tale (1987), The Killer (1989), God of Gamblers (1989), Hard Boiled (1992), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ โกอินเตอร์กับ Anna and the King (1999), Pirates of the Caribbean: At World’s End (2007) ฯ

รับบท Ah Jong/อาจง นักฆ่าผู้เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญของเขานัก (แต่ก็ไม่รู้รับงานก่อนหน้านี้ เอาเงินไปทำอะไรหมด) มีความอ่อนไหวกับผู้หญิงและเด็ก ปฏิภาณไหวพริบสันชาตญาณเป็นเลิศ สามารถเอาตัวรอดได้ในแทบทุกสถานการณ์คับขันยิ่งกว่าโชคช่วย และกับเพื่อนฝูงยอย่องในเกียรติศักดิ์ศรี มิตรภาพลูกผู้ชาย ฆ่าได้หยามไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นกับอาจงตอนจบ มองได้เป็นกรรมสนองกรรม เคยทำอะไรไว้เลยได้รับผลตอบสนอง แม้มันเป็นสิ่งสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวทรมานใจให้ผู้ชมอย่างยิ่ง แต่ก็สะท้อนถึงอนาคตอันมืดบอด คลำคลานหากันไม่พบเจอ หลงเหลือเพียงความอ้างว้างเดียวดาย

ไม่มีอะไรต้องบรรยายอะไรมากกับความเท่ห์ระเบิดของโจวเหวินฟะ เป็นภาพลักษณ์ที่ติดตาผู้ชมมาตั้งแต่ A Better Tomorrow ซึ่งเมื่อใส่เรื่องราวรักโรแมนติกเข้าไปในหนัง ผู้ชมจะสามารถสัมผัสจับต้องถึงอารมณ์ความรู้สึก จิตวิญญาณของตัวละครได้มากขึ้น สงสารเห็นใจเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน ลุ้นระทึกให้สามารถเอาตัวรอดผ่านเหตุการณ์นั้นๆไปได้

ฉากที่ผมชอบสุดของโจวเหวินฟะ ไม่ได้มาจากตอนบู๊แอ๊คชั่น หรือวางมาดนิ่งนั่งถือบุหรี่สุดเท่ห์ แต่คือขณะจ้องมองนางเอกตาไม่กระพริบที่ไนท์คลับ และอยู่ร่วมกันสองต่อสองในห้องนอน ดวงตาของเขาสะท้อนความโศกเศร้า รวดร้าวทุกข์ทรมานแทนเธอ ราวกับหญิงสาวคือภาพสะท้อนสิ่งที่อยู่ในจิตใจของตนเอง

Danny Lee Sau-yin (เกิดปี 1952) นักแสดงสัญชาติจีน เกิดที่ Shanghai ครอบครัวอพยพสู่ Hong Kong ตอนอายุได้ 2 ขวบ สมัยเด็กต้องลาออกจากโรงเรียนช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานหาเงิน โตขึ้นเห็นโฆษณาของ Shaw Brothers รับสมัครนักแสดง เข้าร่วมจนได้รับโอกาสจากผู้กำกับ Chang Cheh สมทบ The Water o Margin (1972), รับบทนำครั้งแรก River of Fury (1973), หลังหมดสัญญากับ Shaw Bros. ได้กลายเป็นโปรดิเซอร์ นักออกแบบฉากแอ๊คชั่น มักได้รับบทเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎ์ อาทิ Oh My Cop (1983), Law with Two Phases (1984), Law Enforcer (1986) ฯ จนติดภาพลักษณ์ตำรวจผู้ทุ่มเทเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อหน้าที่การงาน ผลงานอื่นๆ อาทิ The Killer (1989), Road Warriors (1990), Legend of the Dragon (1991)

รับบท Li Ying/ลี่อิ่ง ตำรวจหนุ่มที่มักตอบโต้ต่อสู้กับผู้ร้าย ตาต่อตาฟันต่อฟัน มีความเฉลียวฉลาด ช่างสังเกต ยิงปืนแม่น ชอบครุ่นคิดทำความเข้าใจอาชญากรเพื่อสามารถอ่านเกมไล่จับหนูได้สำเร็จ แต่เฉพาะกับอาจง คู่ปรับมาเหนือเมฆตลอด อดไม่ได้ต้องยอมรับนับถือ ต้องการจับตายกลับกลายเป็นสหาย เข้าใจกันสนิทสนมยิ่งกว่าเพื่อนร่วมงานเสียอีก

ภาพลักษณ์/การแสดงของ Lee เป็นสิ่งที่ชาวฮ่องกงคงคุ้นเคยจดจำได้ (มันก็คือ Typecast นะครับ) แต่สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่รู้จักมักคุ้นหน้า อาจมีหลายครั้งรู้สึกตัวละครนี้เหมือนผู้ร้ายมากกว่าตำรวจ ทำตัวไม่ค่อยมีกาละเทศะ สนอย่างเดียวคือจับผู้ร้าย ไม่ครุ่นคิดถึงอะไรบางอื่นบ้างเลยรึไง แต่เชื่อว่าไม่นานก็น่าจะเข้าใจวิธีการ อุดมการณ์ ตัวตนของชายคนนี้ ที่อาจดูแรงๆแต่ลึกๆแล้วอ่อนไหวยิ่งนัก

ฉากที่ผมประทับใจสุดของตัวละครนี้ คือขณะพูดบรรยายรูปลักษณะของอาจง จับจ้องมองภาพวาดและพรรณาออกมาราวกับบทกวี

“He’s very calm, quite intelligent. His eyes are very alert, full of compassion, full of passion.”

มันมีคนตีความคำพูดและความสัมพันธ์ของทั้งสอง สื่อถึง Homosexual แต่ผู้กำกับ Woo ยืนกรานว่าเขาไม่ได้มีเจตนานั้นแฝงอยู่แม้แต่น้อย

Sally Yeh (เกิดปี 1961) นักร้อง/นักแสดงหญิงสัญชาติ Taiwanese เกิดที่ Taipei ตามครอบครัวสู่ประเทศ Canada เมื่ออายุ 4 ขวบ อาศัยอยู่ที่ Victoria, British Columbia ด้วยความชื่นชอบสนใจด้านการร้องเพลง แต่ประเทศแคนาดาค่อนข้างปิดกั้นไม่ให้โอกาสนักร้องเชื้อสายเอเชียสักเท่าไหร่ โตขึ้นเลยเดินทางกลับแผ่นดินเกิด เริ่มจากเป็นนักแสดง โด่งดังกับการร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ A Chinese Ghost Story (1987) ได้ออกอัลบัมเดี่ยวจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ขณะแสดง The Killer (1989) ก็แทบจะหาคิวงานว่างแทบไม่ได้

รับบท Jennie นักร้องสาวทำงานไนท์คลับ โชคร้ายถูกลูกหลงจนทำให้ตาเกือบบอด ได้รับความช่วยเหลืออนุเคราะห์จากอาจง แม้ภายหลังรับรู้ตัวตนของเขาว่าคือผู้ทำให้ตาเธอมองไม่เห็น แต่ก็มิได้ปฏิเสธต่อต้าน อาจเพราะโชคชะตาครั้งนี้ทำให้พบเจอความรักแท้จริง

ตัวละครตาบอด มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความมืดมน อนาคตที่ไร้หนทางออก มองไม่เห็นหนทางไป, ในบริบทของหนังราวกับภาพสะท้อนของอาเฉิน อาชีพที่เขาทำคือฆ่าคน มันช่างไร้ซึ่งอนาคต มืดบอดเสียเหลือเกิน แถมปัจจุบันกำลังถูกติดตามล่าฆ่าปิดปาก มองไม่เห็นหนทางออกใดๆทั้งนั้น

เรื่องการแสดงไม่ได้มีอะไรให้พูดถึงเท่าไหร่ (หลังจากนี้เห็นว่า มุ่งเน้นด้านร้องเพลงมากกว่ารับงานการแสดงแล้ว) แค่หน้าตาน่ารักจิ้มลิ้ม เคมีเข้าได้กับโจวเหวินฟะ ก็เพียงพอเหลือเฟือแล้ว แต่ไฮไลท์คือน้ำเสียงอันนุ่มนวล อ่อนหวาน คลาสสิก ถึงฟังไม่รู้เรื่องความหมาย แต่สัมผัสได้ถึงความอิ่มเอมปรีดา น้ำตาปริ่มๆทุกครา สุขชื่นอุรายังไงชอบกล, บทเพลงนี้ชื่อว่า 淺醉一生 แปลว่า Drunk for Life

ถ่ายภาพโดย Wong Wing-Hang แต่เพราะโปรดักชั่นมีความล้าช้าไปมาก จนถึงคิวงานภาพยนตร์เรื่องอื่นที่ตกปากรับงานไว้แล้ว จึงได้ Peter Pau มาถือเครดิตร่วม

ปกติแล้วหนัง Hong Kong ในทศวรรษ 80s ใช้เวลาโปรดักชั่นถ่ายทำไม่เกินเดือน เต็มที่ก็ 40-50 วัน แต่หนังเรื่องนี้ลากยาวถึง 3 เดือน (90 วัน) สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้กำกับ Woo ไม่เคยมีการเตรียมแผนล่วงหน้าระหว่างถ่ายคิวบู๊ ให้ทุกวันนำทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ ครุ่นคิดอะไรได้ก็ถ่ายทำเลยไม่ต้องซักซ้อมเตรียมอะไรมาก เพราะแบบนี้เวลามันเลยยืดยาวนานกว่าหนังปกติทั่วไป (เห็นว่าเริ่มเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ A Better Tomorrow II)

อาวุธปืนที่เห็นในหนังคือของจริงทั้งหมด (ทางการ Hong Kong สมัยนั้นเข้มงวดมากเรื่องปืน อย่างยิ่ง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมี Serial Number ติดอยู่เท่านั้น ไม่เว้นแม้แต่ที่นำมาใช้ประกอบฉากถ่ายทำภาพยนตร์) ด้วยเหตุนี้เวลาออกกองตามชุมชนท้องถนน ต้องมีการเตรียมการไม่ให้ประชาชนชาวบ้านเกิดความตื่นตระหนกตกใจกลัวเพราะความสมจริง แต่ก็ไม่วายมีคนโทรแจ้งตำรวจ กว่าจะคุยกันเสร็จก็ต้องหยุดกองถ่ายล่าช้าไปเป็นวันๆ

ในฉากแอ๊คชั่นมักมีภาพสโลโมชั่นสลับไปมากับความเร็วปกติ (มีคำเรียกว่า Peckinpah-style) ท่าทางการยิงปืนก็มีลักษณะคล้ายท่าเต้นรำ มีความชดช้อย … เรียกว่าเท่ห์ดีกว่าไหม! ตอนต้นเรื่องมีขณะหนึ่งที่ตัวละครของโจวเหวินฟะถีบโต๊ะให้ปืนลอยขึ้นกลางอากาศ แล้วเขาก็หยิบคว้ายิงปัง ปัง มันช่างเป็นจังหวะที่เปะๆ ลื่นไหลเป็นธรรมชาติ สวยงามมากๆ

ฉากที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง อาจงกับลี่อิ่งถือปืนจ่อกันในห้องของ Jennie พวกเขาต้องหักเหลี่ยมเฉือนคม หาจังหวะลีลาดิ้นพร่านซุกซ่อนปืน โดยที่หญิงสาวผู้มีดวงตาพร่ามัวไม่มีโอกาสรับรู้ตัวความจริงใดๆ และที่เจ๋งสุดคือการตั้งชื่อเล่นของกันและกัน ซึ่งฉบับซับภาษาอังกฤษ เลือกคำแปลได้น่ารักมากเลย
– อาจง กลายเป็น Micky Mouse
– ลี่อิ่ง คือ Dumbo

ช็อตนี้อาจดูไม่มีอะไร อาจงและเพื่อนขับรถมาหยุดชมวิวเกาะ Hong Kong บนเนินเขาสูง แต่ภาพนี้มีนัยยะถ่ายให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปของยุคสมัย จากที่เคยเป็นหมู่เกาะประมงเล็กๆ กลายเป็นตึกสูงใหญ่ขึ้นพรึบเต็มไปหมด แทบไม่หลงเหลืออะไรเดิมๆต่อไปอีก เช่นนั้นแล้วคนรุ่นเก่าๆถ้าต้องการเอาตัวรอดวิธีเดียวจึงมีเพียงสองวิธี 1) ปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ 2) ดื้อรันหัวชนฝาต่อไปจนกว่าจะหมดเรี่ยวแรงหรือสูญเสียชีวิต

บ้านริมชายหาด มีฉากการต่อสู้ที่ระห่ำไม่แพ้ไคลน์แม็กซ์ ประมาณกระสุนปืนที่ใช้ไป 20,000 นัด ซึ่งถ้าสังเกตชุดของลูกกระจ๊อกฝั่งผู้ร้าย ต่างสวมใส่ชุดรักบี้สีขาว นี่คงเพื่อให้เวลาโดนยิงเห็นเลือดสีแดงไปเลยกันชัดๆ

สถานที่บ้านติดทะเล มักมีนัยยะแฝงถึง ความเป็น-ความตาย (พื้นดิน-ผืนน้ำ) หรือคือช่วงเวลาสำคัญของการตัดสินใจ นำมาเบิกร่องก่อนถึงไคลน์แม็กซ์ก็เพื่อให้อาจงกับลี่อิ่ง จากศัตรูคู่แค้นกลับกลายเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย

ฉากไคลน์แม็กซ์ จำลองสร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นนอกเมืองห่างไกลชุมชนเพื่อไม่ให้ส่งเสียงรบกวน ใช้เวลาถ่ายทำถึง 36 วัน หมดกระสุนไปประมาณ 40,000 นัด, ถ้าใครเคยรับชม Mean Streets (1973) ของผู้กำกับ Martin Scorsese น่าจะจดจำคำพูดประโยคนี้ได้

“You don’t make up for your sins in church. You do it in the streets. You do it at home. The rest is bullshit and you know it”.

นี่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Woo เลือกฉากไคลน์แม็กซ์ยังสถานที่แห่งความเชื่อนี้ ไม่ใช่เพราะนี่คือหนังศาสนา แต่มีนัยยะสะท้อนว่า การต่อสู้เข่นฆ่าความตาย มันเป็นเรื่องกิเลสกรรมของมนุษย์ พระผู้เป็นเจ้ามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นเป็นใจอะไรด้วยเลย ต่อให้สถานที่แห่งนั้นคือโบสถ์เต็มไปด้วยศรัทธาแรงกล้าก็ตามเถอะ

ช็อตที่รูปปั้นพระแม่มารีย์ถูกยิงแตกละเอียดเป็นจุน นั่นไม่ได้ลบหลู่ศาสนาเลยนะครับ แต่คือการพยากรณ์จุดสิ้นสุดศรัทธาความเชื่อของมนุษย์ ถ้าตราบใดยังคงทำสิ่งเลวชั่ว อาชญากรรม เข่นฆ่ากันตายไร้สาระแบบนี้ พอถึงวันสิ้นโลกก็จะไม่หลงเหลือพระเจ้าองค์ใดให้ช่วยเหลือพวกเขาเอาตัวรอดจากหายนะวิบัตินั้นได้

ครั้งแรกในภาพยนตร์ของ John Woo แทรกใส่นกพิราบสีขาวเข้าไปในหนัง แทนสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์ของจิตวิญญาณมนุษย์ ซึ่งพวกมันมักเกาะอยู่ตรงรูปปั้นพระคริสต์/เทวทูตองค์สีขาว มองได้ว่าเป็นสิ่งๆเดียวกัน

นอกจากนกพิราบแล้ว ยังมีสัตว์อื่นๆอีกหลายชนิดในหนัง อาทิ
– แมวในห้องของ Jennie โผล่มาครั้งแรกทำโคมไฟหล่น ครั้งที่สองทำเอาผู้ช่วยลี่อิ่งสะดุ้งไปเลย, ในความเชื่อของคนจีน แมวแปลกหน้าเข้ามาในบ้านถือเป็นเคราะห์ร้าย นำความยากจนและพังพินาศเข้ามา (ปรากฎครั้งแรกตอนเจนนี่พบเจออาจง สะท้อนเลยว่าชีวิตคู่ของพวกเขาคง …)
– เปรียบคนดั่งหมา สุนัขรับใช้ หรือข้าทาสบริวาร ในมุมของคนจีนคงเป็นสัตว์ชั้นต่ำ เป็นสิ่งยินยอมรับไม่ได้สักเท่าไหร่ (เหมือนเวลาคนไทยด่าใครโง่มักเรียกว่า ควาย)
– ขณะที่มังกร เป็นสัตว์สูงส่งในความเชื่อของคนจีน เคารพยำเกรงดุจเทพเจ้า นำมาซึ่งอายุยืนยาว ความเจริญรุ่งเรือง โชคลาภวาสนา (ฉากนั้นคงเป็นการล้อเลียนตัวละครหลังจากขณะแต้มตาให้มังกร เลยถูกส่องกบาลชะตาขาดโดยพลัน)

ฉากจบดั้งเดิมของหนัง Jennie กำลังรอคอยลี่อิ่ง อยู่ที่สนามบิน เพื่อออกเดินทางไปผ่าตัดสายตายังประเทศอเมริกา แต่เพราะคิวถ่ายทำของ Sally Yeh ไม่ว่า เลยถูกแทนที่ด้วยภาพของอาจง กำลังเป่าฮาร์โมนิก้า จ้องมองดูโบสถ์ (คนละหลังกับฉากไคลน์แม็กซ์) ด้วยทำนองหมดสิ้นหวัง

ตัดต่อโดย Fan Kung-Ming, เรื่องราวดำเนินไปผ่านมุมมองของ อาจงกับลี่อิ่ง มักตัดสลับกันไปมาเริ่มจากแนะนำฝั่งนักฆ่า ตามด้วยตำรวจ พวกเขาพบเจอกันครั้งแรกในงานแข่งเรือ หักเหลี่ยมเฉือนคมกันมาเรื่อยๆ ช่วงหลังจะขณะหนึ่งในมุมมองของ Fung Sei เพื่อนสนิทหนึ่งเดียวของอาจง ขณะทวงเงินจากหัวหน้าใหญ่ Hay Wong Hoi

นอกจากความเร็วในการตัดต่อที่มีความฉับไว จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของผู้กำกับ John Woo ลีลาในการเล่าเรื่องยังชอบตัดสลับไปมาระหว่าง 2-3 สิ่งอย่างที่ดำเนินไปพร้อมกัน มีนัยยะ/ความหมาย สะท้อนกันและกันอยู่ด้วย อาทิเช่น

เทศกาล Dragon Boat Festival ขณะที่อาจงขับเรือเพื่อหนีการจับกุมของลี่อิ่ง ตัดสลับกับการแข่งพายเรือสุดมันส์ นัยยะของฉากนี้คือการเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมา คือถ้าเห็นแค่ตำรวจ-ผู้ร้าย ไล่ล่ากันธรรมดามันคงไม่สนุกตื่นเต้นเท่าไหร่กระมัง แบบนี้เพิ่มความตื่นเต้นลุ้นระทึกได้มาก, กระนั้นตอนจบของ Sequence นี้ค่อนข้าง Anti-Climax อยู่ดีๆเรือของอาจงก็หายลับไป ดั้งเดิมเห็นว่าผู้กำกับต้องการให้เรือล่มแล้วดำน้ำขึ้นฝั่ง แต่เจ้าของเรือกลับไม่ยินยอม บอกจะนำความโชคร้ายมาให้ ก็เลย …

จังหวะการตัดต่อตอนก่อนยิงก็เจ๋งอยู่หนัง ตัดสลับระหว่างเป้าหมาย นักฆ่า และกลองที่กำลังจะรัวตี ผู้ชมคงเกิดความลุ้นระทึกและเข้าใจว่าคงกำลังรอจังหวะ กลองรัวขึ้นเมื่อไหร่เสียงปืนก็ดังขึ้นเมื่อนั้น ไม่เป็นการเรียกร้องความสนใจมากเกินไปด้วย

อีกครั้งหนึ่งที่การตัดต่อเจ๋งมากๆ ในอพาร์ทเม้นท์ของอาจง นั่งอยู่บนโซฟาถือบุหรี่ค้างคาไม่ยอมสูบรอคอยบางสิ่งอย่างเคร่งเครียด กล้องถ่ายจากด้านนอกเคลื่อนผ่านประตู/กระจกไปทางซ้าย, วันถัดมา ลี่อิ่งในอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ นั่งมุมเดียวกันท่าคล้าย กล้องถ่ายจากด้านนอกเคลื่อนไปทางซ้าย ทุกครั้งที่ผ่านเสาหรือมีอะไรมาคั่นบดบัง จะมีการสลับภาพไปมา เดี๋ยวอาจง เดี๋ยวลี่อิง ถือเป็น Sequence ที่เจ๋งมากๆเลยละ, ความหมายของฉากนี้ คือพยายามของสายสืบหนุ่มที่ต้องการครุ่นคิด ทำความเข้าใจอาชญากรคนนี้ เพื่อค้นหาหมากถัดไปที่จะเลือกก้าวเดิน

หนึ่งในความขัดแย้งของ John Woo กับฉีเคอะ คือการเลือกใช้เพลงประกอบ อย่างฉากแรกดั้งเดิมผู้กำกับต้องการให้นางเอกขับร้องบทเพลงสไตล์ Jazz และนักฆ่าเล่น Saxophone แต่โปรดิวเซอร์ไม่ยอมรับแนวคิดนี้ เพราะคิดว่าผู้ชมชาว Hong Kong หาได้รู้จักเข้าใจดนตรี Jazz แม้แต่น้อย เลยถูกเปลี่ยนกลายเป็น Sally Yeh ขับร้องเพลง Drunk for Life ในสไตล์ Cantopop ภาษา Cantonese แทน

แซว: เพราะความคับข้องแค้นนี้ ฉากเปิดเรื่องในหนังเรื่อง Hard Boiled (1992) ผู้กำกับ John Woo เลยจัดไป ไนท์คลับบทเพลง Jazz ให้โจวเหวินฟะเป่า Clarinet

สำหรับเพลงประกอบหลัก Main Theme ของหนังแต่งโดย Lowell Lo มีการนำเอา Vibraphone เสียงกริ้งๆสร้างสัมผัสหลอนๆไกลๆ ถ้าตั้งใจฟังสักหน่อยจะได้ยินเป็นพื้นหลังประกอบหลายฉากเลยทีเดียว

สำหรับเสียง Harmonica ที่จะได้ยินขึ้นหลายครั้งในหนัง รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจาก Once Upon a Time in America (1984) ของผู้กำกับ Sergio Leone เพลงประกอบโดย Ennio Morricone คือไม่ได้

บทเพลงวินาทีหลังจากรูปปั้นพระแม่มารีย์ถูกยิงแตกละเอียดเป็นจุน คือ Handel: Messiah HWV. 56 ‘Overtune’ เป็นบทเพลง Oratorio (บทร้องเป็นเรื่องราวขนาดยาวเกี่ยวกับศาสนาคริสต์) ประพันธ์ขึ้นปี 1741 ต้องถือว่าเป็นการเลือกที่ทรงพลังมากทีเดียว

The Killer คือเรื่องราวของเกียรติและมิตรภาพ สองสิ่งที่เอาเงินมาแลกก็ไร้ค่า หรือต่อให้คนสองเป็นศัตรูคู่อาฆาต นักฆ่า-ตำรวจ เมื่อได้ร่วมหัวจมท้าย เข้าใจตัวตน/จิตวิญญาณของกันและกัน ก็สามารถกลายเป็นเพื่อนแท้ เพื่อนตาย ไร้พรมแดนใดๆแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ออกจากัน

John Woo เคยให้สัมภาษณ์เล่าถึงแรงบันดาลใจของหนังว่า

“When I was young I was fascinated with the cartoon–I love it very much … the white bird and the black bird are always against each other, but deep in their heart, they are still friendly, and the idea came from that.”

นกขาว-นกดำ เปรียบได้กับความดี-ชั่ว ตำรวจ-ผู้ร้าย สองขั้วตรงข้ามที่มักเป็นศัตรูคู่อริไม่ชอบขี้หน้ากัน แต่มันก็น่าคิดในมุมของผู้กำกับ คนที่จงเกลียดกันมากๆ ลึกๆแล้วพวกเขาจงรักกันยิ่งๆไม่ใช่หรือ?

ลี่อิ่ง พยายามที่จะทำความเข้าใจตัวตนของอาจง ก็น่าจะลึกซึ้งถึงระดับจิตวิญญาณ สามารถคิดแทนคิดล่วงหน้าจนสามารถคาดการณ์อะไรหลายๆอย่างได้ กระนั้นเหตุผลที่กลับไม่เคยจับได้ไล่ทันเลยสักครั้ง คงเพราะอาจงก็คงความเข้าใจลี่อิ่งอย่างลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณเช่นกัน (จุดนี้หนังไม่ค่อยนำเสนอออกมาสักเท่าไหร่ แต่ก็สามารถทำความเข้าใจไปในทิศทางนั้นได้) ด้วยเหตุนี้นกขาว-นกดำ ถึงจะเป็นศัตรูคู่อาฆาต แต่ก็จงรักเข้าใจกัน เป็นมิตรภาพน่ารักๆที่ไม่มีอะไรในโลกสั่นคลอนพวกเขาลงได้

ในยุคสมัยที่ทุกสิ่งอย่างมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเจริญรุดหน้าไปเรื่อยๆ แต่สองสิ่งเล็กๆที่เรียกว่าเกียรติและมิตรภาพ กลับค่อยๆเลือนลางจางหาย ปัจจุบันลดเหลือน้อยจนแทบไม่พบเจออีกต่อไป นี่คงเป็นใจความที่หนังต้องการนำเสนอ เมื่อไหร่ใครได้พบเจอสิ่งดีๆเหล่านี้เข้ากับตัว จงเก็บรักษาไว้ให้ดีอย่างทิ้งขว้าง เพราะทั้งชีวิตคุณอาจไม่ได้พบเจอสิ่งล้ำค่าดั่งแก้วมณีมังกรเช่นนี้อีกแล้ว

จุดจบความสัมพันธ์ของผู้กำกับ John Woo และโปรดิวเซอร์ฉีเคอะ ถือเป็นโศกนาฎกรรมที่น่าเศร้าสลดใจยิ่งนัก ทั้งๆที่ต่างก็ได้พบเจอแก้วมณีมังกรล้ำค่าในชีวิต แต่กลับมิอาจทำนุบำรุงรักษาไว้ให้ดี ตกพื้นแตกละเอียดมิอาจประติดสานต่อได้ ปัจจุบันเลยกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตแค้น มองหน้ากันไม่เคยติด

กระนั้นแล้วเชื่อว่า Woo คงไม่มีวันหลงลืมหนี้บุญคุณที่ฉีเคาะได้ปลุกปั้นให้เขากลายเป็นผู้กำกับผู้ยิ่งใหญ่ ตำนานแห่งวงการภาพยนตร์ฮ่องกงอย่างแน่แท้ ก็ได้แต่หวังสักวันทั้งสองจะสามารถหวนกลับมามองหน้ากันติด กาลเวลาก็เคลื่อนผ่านผ่านมาเนิ่นนาน น่าจะถึงจุดที่ยกโทษให้อภัยกันได้แล้วกระมัง

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง ในฮ่องกงทำเงินได้ HK$18.2 ล้านเหรียญ (=$2.53 ล้านเหรียญ) ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จนักในประเทศ เพราะออกฉายหลังจากเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (กล่าวคือ ไม่มีใครอยากรับชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการเข่นฆ่า เลือดสาดในช่วงนั้น) กระนั้นเมื่อส่งออกฉายต่างประเทศ ได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลาม ประสบความสำเร็จทำเงินอย่างสูงในญี่ปุ่น เกาหลี ใต้หวัน รวมถึงไทย และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เกร็ด: การชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ระหว่างวันที่ 15 เมษายน – 4 มิถุนายน 1989 โดยนักศึกษาชาวจีน เป้าหมายเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ มีผู้เข้าร่วมถึงหลักแสน แต่ก็นำไปสู่เหตุการณ์การนองเลือด ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่ได้บันทึกไว้ โดยมีข่าวลือว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,500 คน บาดเจ็บ 7,000-10,000 คน สุดท้ายการประท้วงนี้ถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

สิ่งที่โดยส่วนตัวหลงใหลคลั่งไคล้สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือความเป็นมนุษย์ของพระเอก มันไม่ได้มีความจำเป็นใดๆต้องรับผิดชอบต่อหญิงสาวหรือเด็กหญิงที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ แต่เมื่อเลือกที่จะช่วยเหลือมันเลยสะท้อนถึงคุณค่าความดีของคน (แม้จะกระทำสิ่งชั่วๆมาเยอะก็เถอะ) และผลตอบแทนที่ได้รับ หลังจากนางเอกรับรู้แล้วว่าแท้จริงเขาคือใคร ก็ยังคงมีความรักมอบตอบให้ ว๊าว! นั่นเป็นสิ่งซาบซึ้งกินใจที่สุดเลยนะ

แนะนำกับคอหนัง Action Thriller, เกี่ยวกับนักฆ่า ตำรวจ-อาชญากร, ชื่นชอบความรุนแรง ฆ่ากันตายโหดๆ เลือดสาด, นักตัดต่อภาพยนตร์ หลงใหลในไดเรคชั่นของผู้กำกับ John Woo และแฟนๆนักแสดง Chow Yun-fat, Danny Lee และ Sally Yeh ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ ความตาย จ่อยิง เลือดนอง

TAGLINE | “The Killer ของผู้กำกับ John Woo ทำให้ไม่มีใครสามารถฆ่า Chow Yun-fat ให้ตายได้แน่”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: