The Killing (1956) hollywood : Stanley Kubrick ♥♥♥♥

การปล้นเงินพนันในสนามแข่งม้าครั้งนี้ ถูกวางแผนอย่างดีราวกับเกมหมากรุกของผู้กำกับ Stanley Kubrick แต่ละคนมีหน้าที่เฉพาะของตนเอง และต้องร่วมมือกันเท่านั้นปฏิบัติการนี้ถึงสำเร็จ

Stanley Kubrick เป็นคนชื่นชอบเล่นหมากรุกเป็นชีวิตจิตใจ ใครเคยอ่านเกร็ดหนังเรื่อง Dr. Strangelove (1964) พี่แกท้าดวลกับ George C. Scott ถ้าชนะเกมนี้นายต้องแสดงออกตามฉันสั่ง, ฉากหนึ่งในหนังที่พบเจอตัวละครยัง Chess Club เห็นว่าสร้างขึ้นเลียนแบบ 42nd Street Chess และ Checker Parlor, New York City สถานที่ขาประจำของ Kubrick เองนะแหละ

The Killing เป็นภาพยนตร์ที่ถ้าไม่เห็นเครดิต หลายคนอาจไม่เชื่อว่าคือผลงานของ Kubrick ช่างมีความแตกต่างจากเรื่องอื่นๆเสียเหลือเกิน? ก็แน่ละ เมื่อเทียบงบประมาณ ระยะเวลา(ในการถ่ายทำ) ประสบการณ์ทำงาน หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นตอนเขาอายุเพียง 28 ปี ยังไร้ชื่อเสียงเรียงนามความสำเร็จใดๆ ถึงกระนั้นเราสามารถมองเห็นเอกลักษณ์ลายเซ็นต์ ความเป็นศิลปินสอดแทรกปรากฎอยู่อย่างเด่นชัด เอาแค่แนวคิดเกมหมากรุกเปรียบเทียบเข้ากับวิธีการดำเนินเนินเรื่อง ก็น่าจะพอรับรู้ได้ว่ามีเพียงโคตรผู้กำกับคนนี้เท่านั้น สามารถสร้างสรรค์ความแตกต่างทางเทคนิคได้มากขนาดนี้

“Stanley Kubrick considered The Killing (1956) to be his first mature feature, after a couple of short warm-ups”.

– นักวิจารณ์ Roger Ebert

แม้จะไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำเสนอการเล่นหมากรุก [ครั้งแรกคือหนังสั้นความยาว 1 นาที เรื่อง A Chess Dispute (1903)] แต่น่าจะถือว่าคือครั้งแรกของการเปรียบเทียบ วางแผน สะท้อนกับเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิตจริง เป็นอิทธิพลให้ The Seventh Seal (1957), From Russia with Love (1963), The Chess Players (1977), Dangerous Moves (1984) ฯ

Stanley Kubrick (1928 – 1999) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York City ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เป็นเด็ก IQ สูง แต่ไม่ชอบเข้าห้องเรียนเลยเกรดต่ำ สนใจในวรรณกรรม กรีก-โรมัน เทพนิยาย Grimm Brothers, ตอนอายุ 12 พ่อสอนเล่นหมากรุกติดงอมแงม, อายุ 13 ได้กล้อง Graflex เป็นของขวัญ เกิดความหลงใหลคิดเอาจริงเอาจัง โตขึ้นขายรูปถ่ายให้นิตยสาร Look Magazine จนกลายเป็นพนักงานประจำ สักพักเริ่มหลงใหลในภาพเคลื่อนไหว สร้างหนังสั้น Day of the Fight (1951) ได้รับคำชมล้นหลาม ขายลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายให้ RKO-Pathé สูงถึง $4,000 เหรียญ (สูงมากๆสำหรับหนังสั้นทศวรรษนั้น) ลาออกจากงานเก่าเดินหน้าเป็นผู้กำกับเต็มตัว ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Fear and Desire (1953), Killer’s Kiss (1955)

วันว่างๆของ Kubrick มักออกสายเล่นหมากรุก ครั้งหนึ่งที่ Washington Square มีโอกาสพบเจอโปรดิวเซอร์ James B. Harris พูดคุยกันถูกคอ ถึงขนาดร่วมกันเปิดบริษัท Harris-Kubrick Pictures Corporation เมื่อปี 1995

“[Kubrick is] the most intelligent, most creative person I have ever come in contact with”.

– James B. Harris

Harris ชิงตัดหน้าหลายสตูดิโอด้วยเงินสูงถึง $10,000 เหรียญ ซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่อง Clean Break (1955) แต่งโดย Lionel White (1905 – 1985) นักข่าว/เขียนนิยายอาชญากรรมชื่อดัง มีหลายผลงานได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ อาทิ
– The Snatchers (1953) ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Night of the Following Day (1968) นำแสดงโดย Marlon Brando
– Obsession (1962) ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง Pierrot le fou (1965) [แบบไม่ให้เครดิต] กำกับโดย Jean-Luc Godard นำแสดงโดย Jean-Paul Belmondo, Anna Karina
– The Money Trap (1963) ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ The Money Trap (1965) นำแสดงโดย Glenn Ford, Rita Hayworth, Joseph Cotten

Kubrick พัฒนาบทหนังเรื่องนี้ขึ้นด้วยตนเอง แล้วว่าจ้าง Jim Thompson (1906 – 1977) นักเขียนนิยายประเภท Hard-Boiled Crime Fiction ให้มาช่วยขัดเกลาบทพูดสนทนา มีความลื่นไหลเป็นธรรมชาติขึ้น

เกร็ด: ความสัมพันธ์ของ Harris-Kubrick ยืนยาวเพียงหนัง 3 เรื่องเท่านั้น คือ The Killing (1956), Paths of Glory (1957) และ Spartacus (1960)

Johnny Clay (รับบทโดย Sterling Hayden) หัวขโมยมากประสบการณ์ เพิ่งพ้นโทษออกมาจากคุก ตั้งใจทำการโจรกรรมครั้งสุดท้ายเพื่อปักหลักสร้างฐาน แต่งงานกับแฟนสาวคนสวย Fay (รับบทโดย Coleen Gray) แผนการคือปล้นเงิน $2 ล้านเหรียญ (เทียบค่าเงินปี 2017 ประมาณ $18 ล้านเหรียญ) จากห้องนับเงินของสนามม้า รวมทีมได้ดังนี้
– George Peatty (รับบทโดย Elisha Cook Jr.) พนักงานรับพนัน/ขึ้นเงิน มีหน้าที่เปิดประตูให้ Clay เข้าไปปล้นที่ห้องนับเงิน
– Mike O’Reilly (รับบทโดย Joe Sawyer) บาร์เทนเดอร์ ผู้ยอมเสียสละเงินเก็บก้อนหนึ่งใช้เป็นทุนล่วงหน้า และมีหน้าที่นำปืนกลเข้าไปเก็บในตู้ล็อกเกอร์ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า
– Randy Kennan (รับบทโดย Ted de Corsia) ตำรวจแตงโม/คอรัปชั่น มีหน้าที่ขับรถส่งเงิน จากสนามม้า -> สถานที่นัดหมาย
– Nikki Arane (รับบทโดย Timothy Carey) นักแม่นปืน มีหน้าที่ยิงม้าตัวนำเพื่อสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนให้เกิดขึ้นทั่วสนามแข่ง
– Maurice Oboukhoff (รับบทโดย Kola Kwariani) อดีตนักมวยปล้ำ รับหน้าที่สร้างความวุ่นวาย เรียกร้องความสนใจเช่นกัน

เรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ George Peatty พลั้งพูดกับภรรยาสุดที่รัก Sherry (รับบทโดย Marie Windsor) แล้วเธอนำไปบอกต่อชู้รัก Val Cannon (รับบทโดย Vince Edwards) ร่วมมือกันซ้อนแผนตลบหลัง แต่ชีวิตมนุษย์มีอะไรที่เป็นไปตามแผนวางไว้บ้างละ!

นำแสดงโดย Sterling Walter Hayden (1916 – 1986) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Upper Montclair, New Jersey ออกจากโรงเรียนตอนอายุ 16 ขึ้นขับเรือหาปลา จนได้ Master Licence กะลาสีขึ้นเรือเดินทางท่องโลกจาก Massachusetts ถึง Tahiti, เข้าสู่วงการโดยแมวมองจับเซ็นสัญญากับ Paramount Pictures ด้วยความสูง 6’5″ (1.96 เมตร) ได้รับฉายาว่า The Most Beautiful Man in the Movies และ The Beautiful Blond Viking God ภาพยนตร์เรื่องแรก Virginia (1941), ผลงานส่วนใหญ่เป็นหนังแนว Western ไม่ก็ Film Noir อาทิ The Asphalt Jungle (1950), Johnny Guitar (1954), รับเล่น The Killing (1956) ด้วยค่าตัว $40,000 เหรียญ (เกือบๆ 1 ใน 4 ของทุนสร้างหนัง)

รับบท Johnny Clay หัวหน้ากลุ่มโจรนักวางแผน ผู้มีไหวพริบเฉลียวฉลาด สามารถอ่านเกมเข้าใจคนได้ง่าย มักแสดงออกด้วยความเยือกเย็นชาหน้านิ่ง เชื่อมั่นใจในตนเองสูง แต่เมื่อพบเจอความผิดพลาดคาดไม่ถึง ก็มีท่าทีลุ่มร้อนรนขาดความรอบคอบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ และเมื่อถึงคราจนมุมก็ยกธงขาวยอมแพ้ หมดสิ้นอาลัยตายอยาก

เห็นว่า Kubrick ประทับใจภาพลักษณ์/การแสดงของ Hayden จากหนังโจรกรรมเรื่อง The Asphalt Jungle (1950) ดูเป็นคนถึกๆ (Tough Guy) ชอบกดน้ำเสียงหนักๆทุ้มต่ำ ไม่ค่อยแสดงสีหน้าอารมณ์ความรู้สึก ‘nihilism’ ภายในค่อนข้างว่างเปล่าทีเดียว, วินาทีแรกที่ผมเห็น Hayden ก็นึกถึงบทบาทใน Dr. Stangelove ขึ้นมาทันทีเลย ปากคาบซิการ์ยังคงตราติดตรึงฝังใจ แทบไม่ต้องทำความเข้าใจอะไรตัวละครมาก รู้จักมักคุ้นเคยโดยทันที นี่มัน Type-Cast เลยนี่หว่า!

ผมประทับใจการแสดงของ Elisha Cook Jr. (1903 – 1995) เป็นพิเศษเลย จัดว่าเป็น Stock Actor ที่มักได้รับบทตัวร้ายผู้เต็มไปด้วยความขาดเขลา ซื่อบื้อ ไม่ก็เพี้ยนสติแตก ผลงานเด่นๆ อาทิ The Maltese Falcon (1941), The Big Sleep (1946), Shane (1953), House on Haunted Hill (1959), Rosemary’s Baby (1968) ฯ

รับบท George Peatty พนักงานรับพนัน/ขึ้นเงิน หน้าเคาน์เตอร์สนามแข่งม้า เป็นคนทึ่มๆซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา แต่งงานเพราะรักมากกับ Sherry โดยหารู้ไม่ว่านางคือปีศาจสองหัว มากด้วยเล่ห์เก่งด้วยกล ขณะนั้นวางแผนหนีไปอยู่กับชู้รัก แต่พอซักรู้เรื่องโจรกรรมก็คิดวางแผนชั่วร้าย โดยสามีไม่รู้ตัวสักนิดว่ากำลังถูกธนูปักเข่าแทงหลัง

สีหน้า ดวงตาลุกโพลงของ Cook สะท้อนความบริสุทธิ์ใสซื่อบื้อ ไร้เดียงสาเว่อ แสดงออกมาอย่างตรงไปตรงมา ผู้ชมสามารถจับต้องเข้าใจตัวละครได้โดยทันที น่าสงสารคนแบบนี้ ไม่น่าเอาตัวรอดในสังคม(อเมริกัน)ได้อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่ผมชอบมากๆคือการเอาคืนคนรักที่หักหลังเขา เดินอย่างล่องลอยไร้จิตวิญญาณ ราวกับยมทูตที่กำลังจะพาเธอไปอยู่ด้วยกันในขุมนรก

Marie Windsor (1919 – 2000) นักแสดงหญิงเจ้าของฉายา ‘The Queen of the Bs’ ปรากฎตัวในหนังเกรด B ซีรีย์และนัวร์มากมาย โด่งดังสุดก็คือ The Killing (1956)

รับบท Sherry ภรรยาผู้เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมกลของ George Peatty คงแต่งงานเพราะหวังเงินแต่ก็พบความผิดหวัง หมอนี่มันกลวงโบ๋ไม่มีอะไรเลยสักนิด Sex น่าจะล่มปากอ่าวอีกต่างหาก คบชู้แฟนหนุ่ม Val Cannon (ที่ดูแล้วคงแค่ต้องการหลอกเธออีกทีเช่นกัน) นำความเรื่องปล้นไปจำหน่าย แถมแอบติดตามสามีไปดักฟังการประชุมนัดพบเจอ แต่สุดท้ายแล้วต้องถือว่ากรรมคืนสนอง ทำอะไรไว้เลยได้รับผลตอบแทนเช่นนั้น

ลีลา สายตา และคำพูดอันเต็มไปด้วยเล่ห์คมคายของตัวละครนี้อย่างมาก ต้องชมการแสดงของ Windsor มีความจัดจ้าน กล้าร่าน เรียกว่าตราติดลงบนใบหน้าของเธอเลย คนส่วนใหญ่น่าจะรับรู้มองเห็นได้นะ (ใครไม่เห็นลองพิจารณาตัวเอง ว่ามีความซื่อบื้อระดับเดียวกับสามีของเธอหรือเปล่า)

เกร็ด: ผู้กำกับ Kubrick รู้จักกับอดีตนักมวยปล้ำ Kola Kwariani เป็นการส่วนตัว เพราะเขาคือหนึ่งในเพื่อนสนิทเล่นหมากรุกมาด้วยกัน ได้บทที่แม้จะสมทบ แต่มีประโยคโคตรเท่ห์

“I’ve often thought that the gangster and the artist are the same in the eyes of the masses. They are admired and hero-worshipped, but there is always present underlying wish to see them destroyed at the peak of their glory”.

ถ่ายภาพโดย Lucien Ballard ยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่น อาทิ The Lone Wolf in Paris (1938), The Lodger (1944), The Westerner (1960), The Caretakers (1963), True Grit (1969), The Wild Bunch (1969) ฯ

เห็นว่า Kubrick ต้องการเป็นตากล้องถ่ายภาพด้วยตนเอง แต่เพราะสมาพันธ์ A.S.C. มีกฎต้องว่าจ้างตากล้องอีกคน (หนังที่สร้างสตูดิโอใน Hollywood ผู้กำกับควบเป็นตากล้องไม่ได้) เลยจำใจเลือก Lucien Ballard ที่มากประสบการณ์หน่อย แต่ทั้งสองก็มีเรื่องทะเลาะขัดแย้งในกองถ่ายบ่อยครั้งในการใช้เลนส์ ซึ่งสุดท้าย Ballard ต้องยินยอมทำตามคำขอ ไม่เช่นนั้นจะถูกไล่ออก

ด้วยทุนสร้างไม่สูงมาก แทบทั้งหมดเลือกถ่ายทำยังสถานที่จริง อาทิ Bay Meadows Racetrack, Los Angeles International Airport, West Washington Boulevard ทั้งหมดอยู่ในรัศมีของ California

งานภาพติดกลิ่นอายหนังนัวร์ (แต่บางคนจะบอก ไม่ค่อยเข้าสูตรแท้ๆของหนังนัวร์สักเท่าไหร่) โดดเด่นเรื่องการจัดแสงเงา อย่างการประชุมล้อมวงในช็อตนี้ ไฟดวงเดียวกลางห้อง รอบข้างมืดมิดสนิท ไม่เห็นอะไรอื่นนอกจากบนโต๊ะกลมและใบหน้านักแสดง

ไดเรคชั่นของฉากสนทนาระหว่าง George Peatty กับ Sherry มักจะเลือกมุมที่หญิงสาวอยู่ใกล้กล้องมากกว่า (แสดงถึงความมีลับเล่ห์คมที่อยู่ภายในของตัวละคร) สายตาเหม่อลอยออกไปจับจ้องมองบางสิ่งอย่าง ไม่ค่อยเห็นหันหน้าสบตาสามี (คงเพราะหวาดกลัวเขาพบเห็นรับรู้ตัวตนแท้จริง/ความลับที่หลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจ) ซึ่งแทบทุกครั้ง George ต้องคอยเดินติดตามตูด อ้อนวอนร้องขอ Sherry ที่ชอบเล่นแง่งอน ไม่ยอมบอกก็เลิกกัน เหมือนว่าถือไพ่เหนือกว่าเสมอ

ตรงกันข้ามไดเรคชั่นระหว่าง Sherry กับชู้รัก Val Cannon เธอมักเป็นคนตามง้องอน ไล่ออดอ้อนกิ๊กหนุ่ม ที่ดูก็รู้หมอนี้มันคนเจ้าชู้ประตูดิน สนแต่ประโยชน์ความสำราญส่วนตัว หูผึ่งเมื่อได้ยินเรื่องเงิน ซึ่งคงไม่ต่างอะไรกับที่ Sherry คิดจะทำต่อ George เมื่อได้มาก็จะเชิดหนีหาย ปล่อยยัยโง่ถูกสวมเขาควายซมซานกลับไปหาสามีอย่างชอกช้ำ สนองกรรมร่านของตนเอง

นี่ถือว่าเป็นลายเซ็นต์หนึ่งของ Kubrick ก็ยังได้ ต้องแทรกใส่เรีื่องราวสะท้อนเสียดสีสังคมอเมริกัน หนึ่งในนั้นคือความ Racism กับรปภ. ที่เป็นหนุ่มผิวสี ทีแรกได้รับการปฏิบัติอย่างดีจาก Nikki Arane (นักแม่นปืน) เพราะรู้สำนึกในบุญคุณแวะมาเยี่ยมเยียนถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ จนแปรสภาพเป็นความรำคาญ เกือกม้าเจ้าปัญหาเลยทำให้รถยางแบนแตก สมน้ำหน้าตายคาที่

เกือกม้า ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์นำโชคโดยแท้ (ทั้งโชคดีและโชคร้าย) ก็เหมือนคนผิวสี ที่ชาวผิวขาวมักชอบดูถูกเหยียดหยามไม่เห็นคุณค่า สักวันเมื่อความเลวชั่วมันประจักษ์เปิดโปง เลยถูกกรรมสนองจากการเหยียบย่ำสิ่งต่ำกว่า

ฉากสวมหน้ากากตัวตลกปล้น ที่ว่ากันว่าเป็นแรงบันดาลใจฉากปล้นธนาคารของ The Dark Knight (2008),

หน้ากากตัวตลก เป็นการสะท้อนทัศนคติการปล้นในครั้งนี้ มันช่างง่ายดายจนน่าขำขันเสียเหลือเกิน แต่เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมากับพวกเขา คงไม่มีใครขำออกสักคนเดียว

เพราะหมาตัวเดียวแท้ๆ ทำให้เงินกว่า $2 ล้านเหรียญ ปลิวว่อนตามลมกลายเป็นผงฝุ่น นี่เป็นการสะท้อนผลกรรมของการลักขโมยของผู้อื่น ทุกสิ่งที่เคยวาดฝันไว้ก็เลยพัดสูญหายมลายไปเช่นกัน

มันก็น่าสงสัยนะว่าทำไม นักวางแผนโคตรรอบคอบอย่าง Johnny Clay พอต้องถือเงินก้อนใหญ่อยู่ในมือ กลับหน้ามืดตามัว คิดตัดสินใจทำอะไรผิดพลาดไปหมด ก็ตั้งแต่เลือกซื้อกระเป๋าเดินทาง ยังมีโอกาสอีกครั้งตอนสนามบินไม่ให้เช็คอิน กลับมัวเมาอยู่แต่ลาภ/ชัยชนะที่อยู่ตรงหน้า สุดท้ายพอทุกอย่างสูญสิ้นไป วิญญาณออกจากร่าง หมดเรี่ยวแรงราวกับคนตายทั้งเป็น

ตัดต่อโดย Betty Steinberg, ดำเนินเรื่องด้วยเสียงบรรยายที่ไม่จำเป็นเลยสักนิดของ Art Gilmore พูดบอกวัน-เวลา สถานที่ แนะนำตัวละคร เพิ่มเข้ามาตามคำขอของสตูดิโอ ขัดแย้งต่อความต้องการแท้จริงของ Kubrick โดยสิ้นเชิง

คงเพราะการเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับ (non-linear) มีความสลับซับซ้อน เข้าใจยากเกินไปสำหรับผู้ชมสมัยนั้น ซึ่งในรอบทดลองฉายก็ได้เสียงตอบรับค่อนข้างแย่ สตูดิโอ UA เลยมัดมือชก ยัดเยียดให้เพิ่มใส่เข้ามา (ทีแรกจะให้ตัดต่อใหม่เล่าเรื่องแบบปกติด้วยซ้ำ แต่เวลาไม่ทันเลยต้องออกฉายแบบเดิม) คือถ้าตัดเสียงบรรยายนี้ออกไปเลย ก็น่าจะยังพอดูรู้เรื่องอยู่ แถมท้าทายผู้ชมสมัยนี้มากกว่าด้วย

วิธีการเล่าเรื่องของหนัง ไม่ได้เรียงลำดับตามช่วงเวลาที่เกิดขึ้น แต่นำเสนอมุมมองการกระทำของตัวละครนั้นๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบสิ้น แล้วค่อยเปลี่ยนเหตุการณ์/คนถัดไป นี่จะทำให้หลายครั้งเกิดช่วงเวลาซ้อนทับ เล่นภาพซ้ำเดิมวนเวียนไปมาหลายรอบ

ผมคิดว่าไดเรคชั่นการเล่าเรื่องแบบนี้ ผู้กำกับ Kubrick น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Rashômon (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa ที่นำเสนอเหตุการณ์เดียวกันซ้ำ 3-4 ครั้ง แต่เปลี่ยนไปตามมุมมองของตัวละครที่เล่าเรื่อง

เกร็ด: ลักษณะการเล่าเรื่องของหนังนี้ คาดว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Quentin Tarantino เช่นกัน กลายมาเป็น Reservoir Dogs (1992) และ Pulp Fiction (1994)

เพลงประกอบโดย Gerald Fried สัญชาติอเมริกัน เคยร่วมงานกับ Kubrick มาตั้งแต่หนังสั้น Day of the Fight (1951) ไปจนถึง Paths of Glory (1957), ด้วยสัมผัสดนตรี Jazz คลอประกอบเบาๆตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งจะสะท้อนเข้ากับอารมณ์ของฉากนั้นได้อย่างลงตัว

ขณะที่ Main Theme ของหนังไม่ค่อยน่าจดสำเสียเท่าไหร่ (ราวกับ Stock Music ได้ยินบ่อยครั้งในหนังยุค 50s) แต่ไฮไลท์คือการเล่นกับเสียงบางอย่าง อาทิ
– ตอนที่ George คุยกับ Sherry ตอนเช้าวันปฏิบัติการ จะได้ยินเสียงนาฬิกา ติก-ติก-ติก ดังขึ้นตลอดเวลา นับถอยหลังสู่ช่วงเวลาสำคัญสุดในชีวิต
– ฉากปฏิบัติการของ Johnny Clay หลายครั้งได้ยินเสียงกลองแต๊กรัวเล่น เตรียมพร้อมเข้าสู่สนามรบ
– เมื่อ George ในสภาพใกล้ตาย กลับบ้านไปเจอ Sherry เสียงร้องของนกแก้วนกขุนทอง พูดพร่ำไม่มีสาระอะไร

ในเกมหมากรุก หมากแต่ละตัวจะมีหน้าที่เฉพาะของตนเอง คือสามารถเดินในทิศทางระยะก้าวแตกต่างกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของตัวละครต่างๆ สามารถปฏิบัติงาน/ภารกิจ ได้เฉพาะหน้าที่ของตนเองให้สำเร็จลุล่วง มิสามารถก่าวก่าย/รับรู้เรื่องราวของใครอื่น

ขณะที่สองตัวละครรับจ้างทั่วไป (มิได้มีส่วนแบ่งปันผลความสำเร็จ) นักมวยปล้ำ Maurice และนักแม่ปืน Nikki ถ้าเปรียบก็คือเบี้ยตาย มีหน้าที่หลอกล่อ สังเวย เรียกร้องความสนใจ เพื่อให้หมากอื่นได้มีโอกาสเข้ารุกทำหน้าที่ของตนเอง

เพียงบุคคลเดียวเท่านั้นที่รับรู้เข้าใจแผนการทั้งหมด นั่นคือหัวหน้ากลุ่ม/ขุน/พระราชา ซึ่งยังเป็นคนรุกไล่ต้อนศัตรูจนมุม ลักขโมยเงินกว่า $2 ล้านเหรียญสำเร็จ จริงๆถือว่าได้รับชัยชนะในหมากกระดานนี้แล้วละ แต่ถูกโชคชะตาพลิกล้มโต๊ะเทกระจาดสูญเสียหมดสิ้น

ความตั้งใจของผู้กำกับ Kubrick ต่อ The Killing เชื่อว่าคงไม่มีอะไรมากไปกว่าการลับคมสมอง ทดลองเทคนิค ค้นหาไดเรคชั่น และท้าทายตนเอง จะสามารถนำวิธีการคิดแบบเกมหมากรุก มาปรับใช้ในการสร้างภาพยนตร์ได้ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด

ซึ่งก็ต้องถือว่า Kubrick สามารถทำได้สำเร็จจริงๆ พร้อมยังสะท้อนอิทธิพลความสำคัญของผู้นำที่มีต่อการบริหารจัดการ
– ขุน/ผู้นำ ในทุกเกมสังคม ล้วนคือผู้ชี้ชักนำโชคชะตา ทิศทาง แพ้ชนะขึ้นอยู่กับสติปัญญา ความเฉลียวฉลาดรอบคอบ วิสัยทัศน์ และความโลภโกรธหลง กิเลสตัณหาในตนเอง
– แต่มนุษย์ทุกคนมีข้อจำกัด ก็เหมือนหมากต่างๆมีหน้าที่เฉพาะของตนเอง กระนั้นพวกเรามักโลภละโมบต้องการครอบครอบสิ่งมีคุณค่ามากกว่าปัญญาที่ตนสามารถหาได้ (คนจนต้องการร่ำรวย, ชายหนุ่มต้องการภรรยาสติปัญญาสูงกว่า ฯ) นั่นก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่พึงเพียงพอใจ จนเมื่อถึงจุดแตกหัก มันจักทำลายทุกสิ่งอย่างที่ขวางหน้า

The Killing สิ่งที่สามารถฆ่าคนทั้งหลายให้ตายได้ นั่นคือ ‘ความโลภ’ ไม่รู้จักพอ
– Johnny Clay เฉลียวฉลาดขนาดนี้ อาชีพอื่นดีๆเยอะแยะไม่คิดทำ ด้วยความมักง่ายหลงระเริงหลอกตัวเอง ถึงตัวเองไม่ตาย แต่ก็นำพาทุกคนรอบข้างสู่หายนะ
– George Peatty รักหลงภรรยามาก จนหน้ามืดตามัว มองไม่เห็นตัวตนแท้จริงของเธอ
– Sherry Peatty คงเพราะ Sex ไม่สมหวัง เลยต้องการใครอื่นตอบสนองตนเองได้มากกว่า คิดคดพร้อมทรยศหักหลักคนที่ตนสาบานถือสัจจะมั่นว่าจะจงรักภักดี
– ตำรวจคอรัปชั่น, นักมวยปล้ำอวดดี, มือปืนผู้ร้อนรน ฯลฯ

จนกว่ามนุษย์จะพบเจอความพ่ายแพ้สูญเสีย ใกล้แค่เอื้อมแต่มิอาจไขว่คว้ามาครอบครอง หรือเกิดความท้อแท้สิ้นหมดสิ้นหวังอาลัยตายอยาก เมื่อนั้นความโลภละโมบในจิตใจถึงค่อยๆลดเลือนลางจางลงไป … แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่างเสมอ

ด้วยทุนสร้าง $320,000 เหรียญ (ขอได้จาก United Artist $200,000 เหรียญ ที่เหลือโปรดิวเซอร์ Harris ควักเนื้อทั้งหมด) แม้เสียงวิจารณ์ตอบรับดีล้นหลาม ติด Top 10 แห่งปีของนักวิจารณ์หลายสำนัก แต่กลับไม่ทำเงินจนต้องวางเป็นโปรแกรมหนังควบกับ Bandido! (1956) ประมาณการณ์ขาดทุน $130,000 เหรียญ จนมีนักวิจารณ์ของนิตยสาร TIME เปรียบเทียบความเสียหายกับ Orson Welles (ที่ก็เป็น Boxoffice Poison ไม่ต่างกัน)

“[Kubrick] has shown more audacity with dialogue and camera than Hollywood has seen since the obstreperous Orson Welles went riding out of town on an exhibitors’ poll”.

ถึงภาพรวมของหนังจะคือหายนะ แต่ความยอดเยี่ยมของหนังไปเข้าตา Kirk Douglas ชักชวนให้มากำกับ Paths of Glory (1957) และ Spartacus (1960) กลายเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของ Kubrick ไปเลย

กาลเวลาได้ทำให้ The Killing กลายเป็นกระแส Cult Film ฮิตเงียบเมื่อการมาถึงของ VHS และปัจจุบันได้รับการบูรณะคุณภาพสมบูรณ์แบบ DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection

ในชีวิตของ Kubrick สร้างหนังนัวร์เกี่ยวกับอาชญกรรม/การปล้น นี่คือเรื่องสุดท้ายแล้ว ด้วยเหตุผลหลังจากได้รับชม Touchez Pas au Grisbi (1954) และ Bob le Flambeur (1956) ไม่สามารถคิดเทียบสองเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดนี้ได้

“I gave up doing ‘Crime Films’ because Jean-Pierre Melville did the greatest with Bob le Flambeur (1956) and Jacques Becker did the second best with Touchez Pas au Grisbi (1954)”.

ตอนแรกผมมองหนังในไดเรคชั่นของ Citizen Kane (1941) ด้วยการส่งไม้ผลัดต่อเรื่องราวไปเรื่อยๆ แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็เริ่มรู้ตัวว่าไม่ใช่แล้ว พอถึงกลางเรื่องเห็นเกมหมากรุกเลยนึกขึ้นมาได้ เกิดความชื่นชอบในเทคนิค วิธีคิด และการนำเสนอ คงมีแต่ Kubrick เท่านั้นแหละ สามารถสร้างสรรค์สิ่งลึกล้ำ เท่ห์ๆ กวนๆ แบบนี้ออกมาได้

แนะนำคอหนังแนวอาชญากรรม, วางแผนปล้น-ฆ่า, แข่งม้า, กลิ่นอาย film noir อ่อนๆ, ตัดต่อสุดแนว, ชอบเล่นหมากรุก, แฟนๆผู้กำกับ Stanley Kubrick และคุ้นหน้านักแสดงนำ Sterling Hayden ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับการโจรกรรม พนัน ชู้ ฆาตกรรม และการเหยียดยามผู้อื่น

TAGLINE | “The Killing ของผู้กำกับ Stanley Kubrick ได้รับชัยชนะครั้งสำคัญจากการต้อนขุนจนมุม และเข่นฆ่าหมากอื่นตายเรียบ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: