The Killing Fields (1984) : Roland Joffé ♥♥♥♥
สร้างจากเหตุการณ์จริงของนักข่าว เจ้าของรางวัล Pulitzer Prize, Sydney Schanberg ที่อยู่ในกรุงพนมเปญขณะเขมรแดงเข้ายึดอำนาจ และ Dith Pran นักข่าวสัญชาติกัมพูชา ที่ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายกักกันนานถึง 4 ปี, การดูหนังเรื่องนี้ด้วยความตระหนักว่า ‘เกิดขึ้นจริง’ มันช่างเจ็บปวดรวดร้าว “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
หนังเรื่องนี้ และ Come and See (1985) เป็นสองเรื่องที่ผมไม่อยากส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นความจริงที่โหดร้ายจากการกระทำของมนุษย์ แต่ ‘ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย’ ผมแนะนำหนังเรื่องนี้ไว้ให้ ‘ต้องดูก่อนตาย’ เพื่อไม่ให้ ‘ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำรอย’
ผมเรียกสงครามเขมรแดงนี้ว่า ‘สงครามของคนโง่’ จุดเริ่มต้นเกิดจากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ปัญญาชนปารีส (Paris Student Group) นักศึกษาฝ่ายซ้ายชาวกัมพูชา ที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลกัมพูชาให้ไปศึกษาในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงทศวรรษที่ 50s นำโดยซาลอธ ซาร์ (Saloth Sar) ที่เปลี่ยนชื่อเป็นนายพล พต (Pol Pot) ร่วมกันจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ ลัทธิ Marxism–Leninism ของตนเองขึ้น มีอุดมการณ์เพื่อสร้างสังคมรูปแบบใหม่ ใช้การปฏิวัติแบบเบ็ดเสร็จโดยชนชั้นกรรมาชีพเป็นตัวขับเคลื่อน, หลังเดินทางกลับประเทศ ได้มีการรวบรวมประชาชนในชื่อ เขมรแดง (Khmer Rouge, Red Khmer), และได้ทำการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลลอน นอล (Lon Nol) ใน พ.ศ.2518 (1975) นำไปสู่การก่อตั้งระบอบกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) ในเวลาต่อมา
สิ่งแรกที่เขมรแดงกระทำหลังจากได้รับอำนาจ คือ การกวาดต้อนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดจากกรุงพนมเปญและเมืองสำคัญอื่นๆ มาบังคับให้ทำการเกษตรและใช้แรงงานร่วมกันในพื้นที่ชนบท นักศึกษาปัญญาชน แพทย์ วิศวกร นักปราชญ์ ศิลปิน ว่ากันว่าคนใส่แว่นสายตาที่ดูเหมือนมีความรู้ เป็นภัยต่อความมั่นคง ปกครองยาก จะถูกฆ่าอย่างไร้เหตุผล, การกระทำดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ประชาชนชาวกัมพูชาต้องเสียชีวิตจากการถูกสังหาร ถูกบังคับใช้แรงงาน และความอดอยาก เป็นจำนวนประมาณ 850,000 ถึง 3 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบอัตราส่วนของประชาชนที่เสียชีวิตต่อจำนวนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดในขณะนั้น (ประมาณ 7.5 ล้านคน ใน พ.ศ. 2518) ถือได้ว่าระบอบการปกครองของเขมรแดงเป็นหนึ่งในระบอบที่มีความรุนแรงที่สุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20
(ย่อหน้านี้ถ้ามีผิดพลาดประการใด แจ้งแก้ไขได้นะครับ) ไทยเราเห็นว่าช่วงรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชได้ให้การหนุนหลังเขมรแดง จัดส่งอาวุธที่ได้รับมาจากจีนหนุนหลังเขมรแดง (ทีทำแบบนี้เพื่อสานความสัมพันธ์กับจีน) เห็นว่ามีการให้ทหารไทยแต่งชุดเหมือนเขมรแดงเพื่อร่วมสู้รบกับรัฐบาลกัมพูชาด้วย ซึ่งพอเขมรแดงยึดพนมเปญสำเร็จ ท่านคึกฤทธิ์ก็ประกาศสนับสนุนนายพล พตให้เป็นผู้นำประเทศแทบจะทันที
เขมรแดงปกครองกัมพูชาเป็นระยะเวลา 4 ปี ใน พ.ศ. 2522 (ค.ศ.1979) ได้ถูกรุกรานจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (คอมมิวนิสต์) ทำให้ต้องถอยร่นข้ามเขตมาลี้ภัยอยู่เมืองไทย ว่ากันว่านายพล พต ก็ลี้ภัยไทยมาอยู่เมืองไทยช่วงนั้นด้วย ซึ่งทหารไทยและเขมรแดงก็ร่วมกันต้านทานคอมมิวนิสต์อย่างเต็มกำลัง แต่นี่คือจุดจบของเขมรแดงในกัมพูชา ที่ถูกยึดอำนาจคืนโดยเวียดนาม, การเคลื่อนไหวของเขมรแดงยังคงมีอยู่เรื่อยๆ ซึ่งดำเนินมาถึง พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) นายพล พต หัวหน้าขบวนการจึงยุติการทำงานของเขมรแดงลงอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ
นายพล พต ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) โดยที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาคดีสังหารหมู่ประชาชนในช่วงที่เขมรแดงยังมีอำนาจอยู่แต่อย่างใด ซึ่งกว่าจะเริ่มมีการตัดสินได้ ก็ลากยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) ศาลสูงของกัมพูชาได้ตัดสินว่าผู้นำเขมรแดงทั้ง 30 คนมีความผิด ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต
reference:
– https://th.wikipedia.org/wiki/เขมรแดง
Sydney Schanberg เป็นนักหนังสือพิมพ์ The New York Times ที่เข้าไปทำข่าวสงครามกลางเมืองในกัมพูชา มีผู้ช่วยคือ Dith Pran ชาวกัมพูชาที่เป็นนักข่าวและเป็นล่ามให้กับเขา ทั้งสองตัดสินใจอยู่ทำข่าวในพนมเปญ ขณะที่กองกำลังสหรัฐถอนตัวออกจากพนมเปญ และกองกำลังเขมรแดงบุกเข้ามาในเมืองหลวง, ซึ่งตอนแรกประชาชนแห่กันมาต้อนรับฉลองชัยชนะ เพราะรัฐบาลลอน นอลประกาศยอมแพ้ แต่กลายเป็นว่าพอเขมรแดงยึดครองพนมเปญสำเร็จ ได้ทำการกวาดต้อนผู้คนขับไล่ออกนอกเมือง, ชาวต่างชาติก็ไม่เว้น Schanberg และเพื่อนนักข่าวถูกเขมรแดงจับคุมตัว เกือบที่จะถูกฆ่าแล้ว แต่โชคยังดีได้รับการปล่อยตัว (เวอร์ชั่นที่ผมดูไม่แปลภาษาเขมรเลยนะครับ ทำให้ไม่รู้ว่า Pran พูดจูงใจอะไรกับเขมรแดง ถึงยอมปล่อยตัวพวกเขา) ชาวต่างชาติทั้งหลายต่างต้องหนีหัวซุกหัวซุน ไปพึ่งบารมีของสถานทูตฝรั่งเศส ซึ่งเขมรแดงยินยอมปล่อยให้พวกเขากลับประเทศของตนได้ แต่ Pran ซึ่งคนกัมพูชา นั่นทำให้เขาถูกคุมตัว กลายเป็นนักโทษในค่ายกักกันแรงงาน (Labour Camps)
หนังดัดแปลงมาจากหนังสือ The Death and Life of Dith Pran ของ Sydney Schanberg ที่น่าจะเริ่มเขียนตั้งแต่เขากลับอเมริกาในปี 1975, ปีถัดมา Schanberg ได้รับรางวัล Pulitzer Prize สาย International Reporting สำหรับบทความข่าวที่เขียนในกัมพูชาต่อความกล้าหาญในการเสี่ยงชีวิตเพื่อทำข่าวขณะการล่มสลายของพนมเปญ, Schanberg ได้เจอ Pran อีกครั้งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 1979 ที่สามารถหนีออกจากค่ายกักกันสำเร็จ, หนังสือตีพิมพ์เมื่อปี 1980 ได้รับการดัดแปลงเป็นหนังเมื่อฉายปี 1984
ครึ่งแรกของหนังมีการเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ Schanberg ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาเป็นคนธรรมดาที่จับพลัดจับผลูตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เราไม่ได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด แค่จากสิ่งที่ตัวละครได้พบเห็นและได้ยินเท่านั้น, ส่วนครึ่งหลังจะใช้มุมมองของ Pran ขณะที่เขากลายเป็นเชลยอยู่ในค่ายกักกัน เราจะได้เห็นแนวคิด วิธีการ การกระทำของเขมรแดงอย่างใกล้ชิด และการหนีเอาตัวรอดออกจากค่ายกักกัน
Sam Waterston รับบทเป็น Sydney Schanberg, การแสดงของ Waterson ถือว่าเข้มข้นมากๆ แม้เขาจะไม่ใช่นักแสดงที่มีชื่อเสียงนัก แต่ก็อยู่ในวงการทั้งภาพยนตร์และโทรทัศน์มาอย่างยาวนาน, ปู่แกยังมีชีวิตอยู่นะครับ (2016) เป็น Schanberg ตัวจริงที่เสียชีวิตไปก่อนเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2016
ผมชื่นชมในจิตวิญญาณการเป็นนักข่าวของ Schanberg มากนะครับ คงมีไม่กี่คนในโลกเท่านั้นที่กล้า บ้าพอจะเข้าไปเสี่ยงชีวิต เพื่อบันทึกภาพ ถ่ายทอดเรื่องราวในบริเวณที่มีความอ่อนไหวที่สุดของสงคราม, ไม่ใช่ Schanberg ไม่กลัวตายนะครับ มีหลายฉากที่เราเห็นว่าเขาถูกเอาปืนจ่อหัว ตัวสั่น ปากสั่น เหงื่อท่วม แต่สติเขายังอยู่ ควบคุมตัวเองได้ นี่ต้องชมการแสดงของ Waterston ที่ได้สร้างความรู้สึกร่วมที่สมจริง ลุ้นระทึก ทำเอาผู้ชมรู้สึกหนาวๆร้อนๆไปกับพี่แกด้วยเลย
สำหรับบท Dith Pran ผู้กำกับได้พบกับ Haing S. Ngor ที่เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันแรงงานของเขมรแดง, ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นหมออยู่ในพนมเปญ และถูกกวาดต้อนจากเมืองหลวง ให้ไปทำงานในชนบทใช้เวลา 4 ปีกว่าจะหลบหนีสำเร็จเข้ามาอยู่ในเมืองไทย, Ngor ไม่เคยผ่านการแสดงมาก่อน แต่ไปสะดุดตาผู้กำกับในงานเลี้ยงแต่งงานของชาวกัมพูชาคู่หนึ่งใน Los Angeles, การแสดงของ Ngor ไม่สิ เขาแทบจะไม่ได้แสดงเลย สีหน้า ท่าทาง การแสดงออก ทุกอย่างน่าจะเป็นความรู้สึกที่เขาเคยได้แสดงออกมาขณะเป็นเชลยสงคราม นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีความทรงพลังและสมจริงสุดๆ, Ngor ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร People เมื่อปี 1985 บอกว่า “ผมต้องการแสดงให้โลกเห็นถึงความกระหายอำนาจอันชั่วร้ายของผู้นำเผด็จการในกัมพูชา มีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หัวใจผมรู้สึกอิ่มเอิบที่ได้นำเสนอสิ่งนี้”
“I wanted to show the world how deep starvation is in Cambodia, how many people die under Communist regime. My heart is satisfied. I have done something perfect.”
Haing S. Ngor เป็นนักแสดงคนที่ 2 ของเอเชีย ที่สามารถคว้า Oscar สาขาการแสดง Best Supporting Actor (นักแสดงเอเชียคนแรกที่ได้ Oscar คือ Miyoshi Umeki สาขา Best Supporting Actress จากหนังเรื่อง Sayonara-1957) และยังเป็นนักแสดงสมัครเล่นคนที่ 2 (ไม่เคยมีผลงานการแสดงมาก่อน เล่นหนังเรื่องแรกก็ได้ Oscar) ถัดจาก Harold Russell ที่ได้ Best Supporting Actor จาก The Best Years of Our Lives (1946)
เกร็ด: นักแสดงสัญชาติเอเชียคนแรกที่ได้เข้าชิง Oscar คือ Merle Oberon เป็นลูกครึ่ง Anglo-Indian จากหนังเรื่อง The Dark Angel (1935)
หนังเรื่องนี้ถ่ายในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีลักษณะวัฒนธรรมและภูมิประเทศใกล้เคียงกับกัมพูชามากที่สุด เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น แม้จะสิ้นสุดยุคของเขมรแดงแล้ว แต่ประเทศกัมพูชาก็ยังคงเกิดสงครามกลางเมืองอย่างต่อเนื่อง การเข้าไปใช้สถานที่จริงถ่ายทำจึงไม่ปลอดภัย เริ่มถ่ายทำวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) สถานที่ถ่ายทำอาทิ ถนนท่าดินแดงในเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนครปฐม, จังหวัดภูเก็ต, อำเภอชะอำ, อำเภอหัวหิน, อำเภอพิมาย และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ถ่ายภาพโดย Chris Menges, คนนี้ไม่ธรรมดานะครับ ได้ Oscar สาขา Best Cinematography 2 ครั้ง (จากหนังเรื่องนี้และ The Mission-1986), กับหนังเรื่องนี้ฉากที่ผมคิดว่าทำให้เขาได้ Oscar น่าจะเป็นตอนถ่ายภาพทุ่งนาที่น่าจะเป็น The Killing Field เราจะเห็นโครงกระดูกของคนที่ถูกเขมรแดงฆ่า เน่าเปื่อยอยู่เต็มท้องทุ่งนา สุดลูกหูลูกตา, ฉากนี้ถ้าคุณไม่ขยะแขยง สะอิดสะเอียนจนอยากอ๊วกออกมานี่ แสดงว่าคุณอาจไม่ใช่มนุษย์แล้วนะครับ ผมหัวหนักอึ้งขนาดต้องเบือนหน้าหนี กลิ่นของความตายมันแผ่ออกมานอกจอ นี่เป็นฉากที่น่ากลัวมากๆ และหนังถ่ายมาให้เราเห็นแบบตรงไปตรงมา เตรียมตัวให้พร้อมก่อนถึงฉากนี้นะครับ อยู่ครึ่งหลังของหนัง
ตัดต่อโดย Jim Clark อีกหนึ่งที่ได้รับ Oscar สาขา Best Edited, มีผลงานตัดต่อดังๆอย่าง Charade (1963), The World Is Not Enough (1997) เรื่องสุดท้ายคือ Happy-Go-Lucky (2007) ปู่แกเพิ่งเสียชีวิตเมื่อกุมภาพันธ์ 2016 นี้เองนะครับ, สำหรับหนังเรื่องนี้มีการลำดับภาพความได้ต่อเนื่อง ลงตัวและทรงพลังมากๆ โดยเฉพาะขณะที่กลุ่มของพระเอกถูกเขมรแดงจับตัว และ Pran ก็พยายามพูดคุยต่อรอง ทำทุกอย่างให้เขมรแดงเพื่อไว้ชีวิตพวกเขา ถึงเราจะรู้ว่าพวกเขาต้องรอดแน่ๆ แต่มันก็ยังบีบหัวใจ, และในสถานทูต เช่นกันแต่ตรงกันข้าม Schanberg พยายามทำทุกอย่างเพื่อหาทางช่วยเหลือ Pran ให้หนีออกจากกัมพูชาได้ มันช่างเข้มข้น ตึงเครียด กดดัน ยื้อกันจนถึงวินาทีสุดท้าย
เพลงประกอบโดย Mike Oldfield, นี่น่าจะเป็นจุดด้อยที่สุดของหนังนะครับ ผมรู้สึกตัวเลือกเพลงคลาสสิคที่ใส่มา หลายเพลงไม่เข้ากับบรรยากาศของหนังเอาเสียเลย คงเพราะ Oldfield ไม่ได้เชี่ยวชาญการประพันธ์เพลง Orchestra เขาเลยไม่สามารถหาเพลงที่เข้ากับหนังใส่เข้าไปได้ แนวถนัดของ Oldfield ออกไปทางนักกีตาร์ สไตล์ Electronic คงเพราะชื่อเสียงของเขาที่เคยทำเพลงให้กับ The Exorcist (1973) จึงกลายมาเป็นตัวเลือกทำเพลงประกอบให้หนังเรื่องนี้เป็นแน่, จะมีก็แค่ตัวเลือกเพลงสุดท้ายตอนจบ ขณะที่ Pran กับ Schanberg ได้พบกันอีกครั้ง เลือกเพลง Imagine ของ John Lennon ที่จังหวะนี้ต้องเพลงนี้เท่านั้นแหละครับ สวยงามที่สุดแล้ว, ถ้าคุณไม่รู้จักเพลง Imagine หรือนักร้อง John Lennon (อดีตสมาชิก The Beatles) แสดงว่าคุณอยู่หลังเขามากๆ นี่เป็นเพลงโคตรคลาสสิค โคตรอมตะ ใครๆทั่วโลกที่ฟังเพลงเป็นทุกคนรู้จักกันหมด รีบกดฟังด่วนเลย
ในประเทศที่ประชาชนยังขาดการศึกษา ขาดความรู้ ผู้นำคือคนที่มีอิทธิพล สามารถชักนำ (จูงจมูก) พวกเขาไปในทิศทางไหนก็ได้, ถ้าประเทศได้ผู้นำที่ดีมีวิสัยทัศน์ ประชาชนย่อมอยู่ดีมีสุข แต่ถ้าได้ผู้นำแบบนายเขมรแดงก็เห็นๆกันอยู่ เป็นผู้มีความรู้ทรงปัญญาแท้ๆ แต่กับชักนำผู้คนได้เสียดายวิชาความรู้ที่เรียนไปจริงๆ, ผมไม่คิดว่าอุดมการณ์ของพวกเขาเป็นสิ่งที่ผิดนะครับ แต่เป็นวิสัยทัศน์ที่ล้าหลัง และวิธีการที่ผิดมนุษย์มนาไปเสียหน่อย นี่เป็นสิ่งที่ ‘ยอมรับไม่ได้’, ผมไม่ขอแสดงความเห็นกับผู้นำไทยสมัยนั้น ท่านคงมีเหตุผล อุดมการณ์ วิสัยทัศน์ที่ต่างออกไป ข้อมูลที่ผมรู้มาก็ยังไม่พอที่จะตัดสินใจได้ด้วย ทำไมไทยถึงสนับสนุนเขมรแดง มันน่าจะมีอะไรที่มากกว่าแค่พันธมิตรกับจีนแน่ๆ
มนุษย์คนที่คิดว่าตัวเองฉลาด ส่วนมากจะเอาตัวไม่รอด กับคนที่รอด ก็ไม่ใช่คนที่เอาแต่งอมืองอเท้ายอมรับกับชะตากรรม ถ้าเราคิดถูกทำในสิ่งที่ถูก คงต้องมีสักคนที่สามารถเข้าใจ มองเห็นและให้การช่วยเหลือ
กับสมัยนี้ ผู้นำไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างเหมือนสมัยก่อนแล้วนะครับ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ ‘มีความรู้’ ‘มีความคิดเป็นของตัวเอง’ นี่ถือเป็นโลกเกือบเป็นอุดมคติของประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนมีความเข้าใจ สามารถตัดสินใจเลือกตัวแทน ผู้นำที่มีศักยภาพเพื่อการบริหารประเทศได้ เพียงแต่สมัยนี้ยังมีอีกแนวคิดที่แทรกตัวเข้ามา ‘ทุนนิยม’ ที่มีแต่การแสวงหาผลประโยชน์ จากที่ผู้นำควรมีความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ กลับมีลับลมคมใน มีความเคลือบแคลง ทำให้เกิดคอรัปชั่นไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ไม่ใช่แค่จากตัวแทนที่ถูกรับเลือกเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ทำการเลือกเองด้วย
กับเหตุการณ์เขมรแดงที่จบสิ้นไปแล้ว แต่สงครามลักษณะนี้ยังไม่หมดสิ้นไปในโลกนะครับ จุดกำเนิดของสงครามอาจต่างออกไป แต่แนวคิดและวิธีการยังคงเป็นแบบเดิม อย่างในตะวันออกกลาง ผมมองสาเหตุของสงครามว่าเป็นผลกระทบจากระบบทุนนิยม ที่มีชาติหนึ่งได้ประโยชน์มหาศาลแต่อีกชาติหนึ่งเสียประโยชน์มหาศาล ซึ่งการตอบโต้ของทั้งสองฝ่ายเป็นแบบ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’, มีคนกล่าวไว้ว่า ‘สงครามไม่มีวันหมดไป เหมือนความขัดแย้งไม่มีวันจบลง จนกว่ามนุษย์จะหายไปจากโลก’ นี่น่าจะจริง!
หนังเข้าชิง 13 BAFTA Award ได้ไป 8 รวมถึง Best Film, Golden Globe Award เข้าชิง 6 สาขา ได้มา 1 รางวัลจาก Best Supporting Actor, ส่วน Oscar เข้าชิง 7 ได้มา 3 จาก Best Supporting Actor, Best Cinematography และ Best Film Editing ที่พลาดไปได้แก่ Best Picture, Best Director, Best Actor (Sam Waterston) และ Best Writing, Adapted Screenplay
แนะนำหนังกับคนที่กำลังศึกษาประวัติศาสตร์ของกัมพูชา ช่วงการปกครองของเขมรแดง และขณะเข้ายึดกรุงพนมเปญ, คนชอบหนังสงคราม หนังรางวัล ภาพสวย ตัดต่อเด่น การแสดงเยี่ยม, เตรียมใจรับความเจ็บปวด ทนทุกข์ทรมานให้พร้อม อย่ากินข้าวอิ่มๆแน่นท้องก่อนดูหนังเรื่องนี้ละ ดูจบคุณอาจได้กินข้าวใหม่อีกรอบแน่
จัดเรต 18+ ห้ามให้เด็กดูเด็ดขาด
Leave a Reply