The King and I (1956) : Walter Lang ♥♥♡
ผมพยายามมองหนังเรื่องนี้ให้เป็นประเทศสารขัณฑ์ แล้วตัดอคติอะไรๆหลายอย่างออกไป แต่ก็ทำไม่ได้เท่าไหร่ ถึงหนังจะยอดเยี่ยมในแง่การสร้าง เข้าชิง Oscar 9 สาขา ได้มา 5 รางวัล แต่ถ้าคุณเป็นคนไทยดูหนังเรื่องนี้แล้วไม่แสดงความรังเกียจออกมา แปลว่าคุณอาจไม่มีใจรักชาติบ้านเกิดแม้แต่น้อย
เกร็ด: จุดกำเนิดของคำว่า ประเทศสารขัณฑ์ คือหนังเรื่อง The Ugly America (1958) นำแสดงโดย Marlon Brando และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช รับบทเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศสารขัณฑ์ ไว้วันหลังจะมาเล่าให้ฟังนะครับ
การที่ผมเลือกดูหนังเรื่องนี้ในช่วงเวลานี้ ไม่ได้ตั้งใจจะหลบหลู่หรือหมิ่นอะไรนะครับ แค่มีความสนใจอยากเข้าใจมุมมองต่างชาติต่อพระมหากษัตริย์ไทยว่าจะเป็นยังไง เลวร้ายดั่งที่ใครๆพูดกันไว้หรือเปล่า… ก็พบว่า มันเลวร้ายกว่าที่คิดไว้เยอะ ถ้าเป็นไปได้ผมอยากแนะนำให้คนไทยทั้งหลายได้รับชม เพราะเราน่าจะมองเห็นอยู่แล้วว่าหนังมันบิดเบือด ที่ดูไม่ใช่เพื่อให้เข้าใจอะไรผิดๆ แต่ให้เข้าใจทัศนะที่ชาวต่างชาติมองระบอบพระมหากษัตริย์ไทย แล้วคุณจะเข้าใจว่า ทำไมพวกเขาถึงไม่เข้าใจพวกเรา
จำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยดูหนังเรื่อง Anna and the King (1999) เพราะได้ยินกิตติศัพท์ว่า หนังถูกแบนห้ามฉาย อยากรู้หนักหนาว่าทำไม ถ่อไปพันธุ์ทิพย์หาซื้อแผ่นเถื่อนมาดู ก็นานเกิน 10 ปีแล้วนะครับ ที่ผมดูหนังเรื่องนี้ จดจำเรื่องราว ความรู้สึกอะไรจากการดูครั้งนั้นไม่ได้เลย แสดงว่ามันคงไม่มีอะไรน่าจดจำเสียเท่าไหร่, หลังจากดู The King and I (1956) ก็รู้สึกว่าดูครั้งเดียว ฉบับเดียวก็เกินพอแล้ว มันไม่ใช่ความรู้สึกที่น่าอภิรมย์นัก แม้หนังจะดูสนุก ขบขัน ย่อยง่าย แต่ผมก็สัมผัสได้ถึงความชั่วร้ายบางอย่าง ส่งตรงถึงคนไทยโดยเฉพาะ
มีหนังที่สร้างขึ้นจากนิยาย Anna and the King of Siam เขียนโดย Margaret Landon มาแล้ว 4 ครั้ง
1. Anna and the King of Siam (1946) กำกับโดย John Cromwell นำแสดงโดย Irene Dunne รับบท Anna และ Rex Harrison รับบท King Mongkut ***เป็นฉบับเดียวที่ได้ฉายในไทย
2. The King and I (1956) กำกับโดย Walter Lang นำแสดงโดย Deborah Kerr รับบท Anna และ Yul Brynner รับบท King Mongkut
3. The King and I (1999) เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Warner Bros. กำกับโดย Richard Rich
4. Anna and the King (1999) กำกับโดย Andy Tennant นำแสดงโดย Jodie Foster รับบท Anna และ Chow Yun-fat รับบท King Mongkut
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง The King and I จะต่างกว่าเรื่องอื่นพอสมควร เพราะดัดแปลงมาจากละครเพลง Broadways เรื่อง The King and I (1951) ประพันธ์เพลงโดย Richard Rodgers และกำกับการแสดงโดย Oscar Hammerstein II ซึ่งคว้ารางวัล Tony Award for Best Musical, Best Actor (Yul Brynner) และ Best Actress (Gertrude Lawrence) มาครองครองได้
ละครเพลงบรอดเวย์ The King and I ถือเป็นเรื่องที่ถือว่าประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยมอย่างสูงในอเมริกา นับตั้งแต่รอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 29 มีนาคมปี 1951 ที่โรงละคร St. James Theatre ก็เปิดการแสดงต่อเนื่องยาวนานเกือบ 3 ปี เล่นซ้ำถึง 1,246 รอบ (เป็นลำดับที่ 4 ละครบรอดเวย์ที่เปิดแสดงมากครั้งที่สุดในโลก) มีการจัดทัวร์ไปแสดงประเทศต่างๆ และมีการชุบชีวิต (Revival) นำกลับมาแสดงใหม่นับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งฉบับปี 1996 และ 2015 สามารถคว้ารางวัล Tony Award for Best Revival of a Musical เป็นละครเวทีเรื่องแรกที่สามารถคว้ารางวัล Revival ได้ถึง 2 ครั้ง
เกร็ด: ละครเพลงบรอดเวย์ The King and I (2015) ฉบับล่าสุดนำแสดงโดย Kelli O’hara รับบท Anna และ Ken Watanabe รับบท King Mongkut เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อนะครับ
แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม (Anna and the King of Siam) เป็นนวนิยายที่เขียนโดย Margaret Landon นักเขียนชาวอเมริกัน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1944 โดยดัดแปลงมาจากหนังสืออัตชีวประวัติของ Anna Leonowens 2 เล่ม คือ The English Governess at the Siamese Court และ The Romance of the Harem ที่จดบันทึกจากความทรงจำขณะทำงานเป็นครูสอนภาษาให้กับประเทศสยาม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (หรือที่ในหนังสือเรียกว่า King Mongkut)
ความตั้งใจของผู้กำกับ Walter Lang ต้องการนำทีมงานนักแสดงที่เคยเล่นในละครบรอดเวย์ มาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟีล์ม โดยคาดหวังให้ทั้ง Yul Brynner และ Gertrude Lawrence ที่เคยรับบทกลับมาสวมบทบาทนี้อีกครั้ง, แต่ Lawrence โชคไม่ดี เสียชีวิตไปก่อนจากโรคมะเร็ง (ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยตอนกำลังแสดงละครบรอดเวย์ และเสียชีวิตเพราะโหมงานหนักเกินไป) นักแสดงที่มาแสดงแทนเธอในละครบรอดเวย์ อาทิ Celeste Holm, Annamary Dickey, Patricia Morison ก็เคยได้รับการพิจารณา สุดท้ายเป็น Brynner ที่เสนอชื่อ Deborah Kerr ให้กับผู้กำกับ
บทภาพยนตร์เขียนโดย Ernest Lehman ที่มีผลงานดังๆอย่าง North by Northwest (1959), West Side Story (1961), The Sound of Music (1965) และ Who’s Afraid of Virginia Woolf? (1966), แหม่มแอนนา เดินทางมายังสยามประเทศ ตามคำเชิญของพระมหากษัตริย์เพื่อเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี และขนบธรรมเนียมอังกฤษ แก่พระราชโอรส ธิดา และเจ้าจอมมารดาที่ยังสาวอยู่ โดยพระราชทานเงินเดือนให้ 100 เหรียญสิงคโปร์ และบ้านพระราชทานด้วยอิฐแบบฝรั่ง อยู่นอกพระบรมหาราชวัง
ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า ผมไม่รู้ ไม่สนใจและไม่ขอชี้จุดจับผิดใดๆ หวังว่าวิจารณญาณของท่านจะสามารถสังเกตเห็นได้เอง นอกเสียจากบางจุดที่เป็นเกร็ดสาระ ผมจะเล่าให้ฟังนะครับ
นำแสดงโดย Yul Brynner (1920-1985) นักแสดงสัญชาติ Russian เริ่มต้นอาชีพจากเป็นนักแสดงละครบรอดเวย์ แล้วก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดงภาพยนตร์ ผลงานดังๆนอกจาก The King and I แล้ว ก็มักจะได้รับตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์โลก อาทิ The Ten Commandments (1956) ของ Cecil B. DeMille รับบท Ramesses ประกบ Charlton Heston ที่รับบท Moses, Anastasia (1956) รับบท General Sergei Pavlovich Bounine, The Magnificent Seven (1960) รับบท Chris Larabee Adams ฯ
เกร็ด: ในหนังสือการ์ตูน ว่ากันว่า Professor X ได้แรงบันดาลใจ (หัวล้าน) มาจาก Yul Brynner คนนี้แหละ
การแสดงของ Brynner ในหนังเรื่องนี้ ติดภาพมาจากละครบรอดเวย์ทั้งหมด การเคลื่อนไหว ท่าทาง คำพูด บทเพลง ซึ่งนักแสดงต้องสร้างสรรค์จังหวะการแสดงขึ้นเองทั้งหมด, ในหนัง King Mongkut เป็นกษัตริย์ที่เอาแต่ใจ เย่อหยิ่ง ขี้อิจฉา รู้น้อยแต่มีวิสัยทัศน์ ก็เข้ากับการแสดงของ Brynner นะครับ และคิ้วพี่แกแฝงความกวนๆไว้ด้วย ชอบยักขึ้นทำหน้าสนเท่ห์ แล้วมองด้วยสายตาเหยียดหยาม ดูถูก, กับคำพูด Et cetera, et cetera, et cetera. ที่ซ้ำไปซ้ำมา กับคนที่ไม่รู้ความหมาย ก็จะจดจำได้เลย แปลว่า ‘และอื่นๆ (ฯลฯ)’
เกร็ด: ในจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงเขียนจดหมายถึง Washington เสนอให้ส่งช้างไทยไปเลี้ยงดู เติบโต ผสมพันธุ์ในอเมริกา (ให้เป็นของขวัญ) แต่ไม่ใช่ในตอนสงครามกลางเมืองตอนเลิกทาสนะครับ เป็นสมัยของประธานาธิบดี James Buchanan แต่ท่านยังไม่ได้ตอบกลับก็หมดสมัยเสียก่อน เป็นประธานาธิบดี Abraham Lincoln ที่ตอบจดหมายกลับ ขอบคุณแต่ปฏิเสธ เพราะอเมริกาคงเป็นพื้นที่ไม่เหมาะกับเลี้ยงช้างเป็นแน่
Deborah Kerr รับบท Anna Leonowens แหม่มหม้ายลูกติด ที่ได้รับโอกาสให้มาเป็นครูสอนภาษาให้กับพระโอรส ราชธิดาของ King Mongkut, Anna เป็นหญิงที่มีทิฐิสูง แต่ก็โอนอ่อนผ่อนตามได้ง่าย แอบเอาแก่ใจ เห็นแก่ตัว และไม่เชื่อถือในขนบธรรมเนียบปฏิบัติ (เป็นคนหัวสมัยใหม่), Kerr มักได้รับบทผู้หญิงที่มีทิฐิสูงแบบนี้บ่อยๆ อาทิ Black Narcissus (1947), From Here to Eternity (1953) นี่อาจไม่ใช่การแสดงที่ดีที่สุดของ Kerr แต่ก็ทำให้เธอได้รางวัล Best Actress – Comedy or Musical จาก Golden Globe Award และเข้าชิง Oscar: Best Actress เป็นครั้งที่ 3 (ไม่ได้รางวัล)
เกร็ด: Deborah Kerr เป็นนักแสดงหญิงชาวอังกฤษที่เข้าชิง Oscar 6 ครั้ง ไม่เคยได้รางวัล จน Academy ต้องมอบ Honorary Award ให้เมื่อปี 1994
ถ่ายภาพโดย Leon Shamroy ตากล้องที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography มากที่สุด 18 ครั้ง ได้มา 4 รางวัล แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ต้องได้เข้าชิง, หนังเรื่องนี้ถ่ายทำโดยใช้ Cinemascope 55 mm ที่เพิ่มความเข้มคมชัดของสีและขนาดของภาพ แต่ด้วยโรงฉายสมัยนั้นมีน้อยที่จะฉายได้ จึงถูกลดขนาดฟีล์มเหลือแค่ภาพ 35mm
หนังใช้การจัดฉาก ถ่ายทำทั้งหมดในสตูดิโอ เราจึงเห็นหนังด้านเดียว (ลักษณะคล้ายๆ ชมการแสดงละครเวที) การเคลื่อนกล้องถือว่ามีลีลาที่ทำได้ไหลลื่น ลงตัว คงเพราะการถ่ายภายใน ทำให้สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของเครน การจัดแสงสีได้ง่ายและสะดวก
ออกแบบฉากโดย John DeCuir, Lyle R. Wheeler, Walter M. Scott, Paul S. Fox พระราชวัง Siam ในหนังออกแบบให้มีความโอ่โถงหรูหราอลังการ ใช้โทนสีทองอร่ามสำหรับตอนกลางวัน (สีอุ่น) และสีน้ำเงินในตอนกลางคืน (สีเย็น) แต่ถือว่ายังขาดความปราณีตวิจิตรและเข้าใจความหมายในสิ่งสัญลักษณ์ต่างๆที่แท้จริง
ผมค่อนข้างชอบการแพนกล้องและ Tracking Shot ขณะที่ Anna เดินจากท่าเรือเข้าไปในพระราชวัง เราจะได้เห็นวิถีชีวิตของชาว Siam ในมุมมองของฝรั่ง มีความวุ่นวาย อลม่าน ผู้คนเดินขวักไขว่ รวมถึงช้าง กระทิง ลิง ควาย นกแก้ว ฯ ดูอันตรายและน่ากลัว
กับฉากเลวร้ายที่สุด ต้องขอพูดให้ได้ ในฉากที่ King Mongkut กับท่าทางการไหว้อธิษฐานกับพระพุทธรูป ทำเหมือนเป็นของเล่นมากกว่าของศักดิ์สิทธิ์ ผมเห็นแล้วหงุดหงิดมาก หมิ่นสถาบันก็เลวร้ายระดับหนึ่งแล้ว แต่หมิ่นศาสนานี่ตกนรกนะครับ … ลืมไป พวกเขาไม่ได้นับถือพุทธนี่นะ
ออกแบบเสื้อผ้าโดย Irene Sharaff (คนเดียวกับที่ออกแบบเสื้อผ้าในละครบรอดเวย์) สีสันและลวดลายของเสื้อผ้า มีความสวยงามระยิบระยับเท่านั้น หรูหรา ราคาแพง, ผมไม่คิดว่าคนไทยสมัยนั้น ต่อให้เป็นราชวงศ์ชั้นสูง จะสวมใส่เสื้อผ้ากันหรูหราขนาดนี้หรอกนะครับ คงเพราะผู้ออกแบบเห็นแต่เวลากษัตริย์ไทยใส่ชุดเต็มยศออกงาน ไม่เคยเห็นชุดไปรเวทของท่าน ที่ก็คงไม่ต่างจากคนธรรมดาสามัญมากนัก
ตัดต่อโดย Robert L. Simpson, หนังใช้มุมมองของ Anna Leonowens เล่าเรื่องทั้งหมด แบบใช้การตัดข้ามเวลา (Time Skip) นำเสนอเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆที่น่าพูดถึง, ลีลาการตัดต่อไม่มีอะไรน่าพูดถึงเท่าไหร่
เพลงประกอบโดย Alfred Newman และ Ken Darby, ส่วนบทเพลงนำมาจากที่ใช้ในการแสดงบรอดเวย์ แต่งโดย Richard Rodgers ทั้งหมด, หนังไม่ได้มีกลิ่นอายความเป็น Siam เสียเท่าไหร่ แม้จะมีเครื่องดนตรีที่เหมือนเสียงฉิ่งฉาบ กรับ กลอง ระนาด ฆ้อง ฯ แต่ทำนองดนตรีมันไม่ได้ใกล้เคียงไทยคลาสสิกแม้แต่น้อย, ความรู้สึกของผม เพลงประกอบให้ความรู้สึกเหมือนดินแดนที่เต็มไปด้วยทองคำในป่าลึก ที่เพิ่งได้ถูกค้นพบ, ฝรั่งสมัยนั้นคงมองคนไทยลักษณะนี้ ดนตรีก็เลยออกมาแบบนี้ แถมได้รางวัล Oscar: Best Music, Original Score ด้วยนะครับ
กระนั้น อัลบัมเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ ติดอันดับ 1 UK Albums Chart 3 ปีซ้อน, เพลงที่ดังที่สุดในหนัง และติดอันดับ 54 ของ AFI’s 100 Years…100 Songs ชื่อ Shall We Dance? รัองโดย Yul Brynner และ Marni Nixon (ที่ร้องแทน Deborah Kerr) ผมแนบคลิปมาให้ดูนะครับ ท่าเต้นกระโดดหมุนๆวนไปมา นี่ทำให้นึกถึงเพลง Singin’ in the Rain
กับเพลงที่เลวร้ายสุด The Small House of Uncle Thomas เป็นความพยายามในการผสมผสานสไตล์การเต้นของยุโรปเข้ากับโขน รำไทย นาฏศิลป์ จะมองว่าเป็นการพยายามเลียนแบบท่ารำก็ได้ แต่เห็นแล้วอดขำไม่ได้ เพราะมันไม่ได้มีความชดช้อยสวยงามเลยสักนิด ผมเห็นเหมือนเป็นลิเกฝรั่ง ตัวตลกสวมหัวโขน กระโดดโลดเต้น ผงกหัวชี้นิ้วไปมา, เสียงร้องของผู้หญิงที่กรี๊ดกร๊าด เจี้ยวจ้าว เหมือนเสียงชะนีร้องหาผัว ฟังแล้วหลอนๆ เห็นแต่งหน้าขาวโบ๊ะ สวมชฎา ชวนให้นึกถึงละครผีเรื่อง นางชฎา, ผมหาคลิปให้ดูไม่ได้ มีแต่ที่ถ่ายจากละครบรอดเวย์ สงสัยจะมีคนรับไม่ได้เยอะ เลยไม่มีใครกล้าโพส อยากเห็นคงต้องไปหาดูในหนังเอาเอง
ใจความของหนังเรื่องนี้ นำเสนอมุมมอง ความเชื่อ ทัศนคติของชาวต่างชาติที่มีต่อสยามประเทศ และพระมหากษัตริย์ไทยในยุคสมัยก่อน ว่ามีลักษณะ… ก็ตามที่เห็นในหนัง อย่าให้ผมบรรยายเลยนะครับ
ว่าไปก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะนี่เป็นหนังที่ฝรั่งทำให้ฝรั่งด้วยกันเองดู จะมีผู้ชมในยุคนั้นสักกี่คนที่สามารถรับรู้ เข้าใจความจริงแท้ของสยามประเทศว่าเป็นเช่นไร นี่ย่อมกลายเป็นสิ่งจดจำติดตา ภาพลักษณะของประเทศแห่งนี้ ไปจนตายเลยละ
สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อแน่ ผู้สร้างหนังเรื่องนี้ คงไม่มีใครเคยมาเหยียบประเทศไทยด้วยซ้ำ ไม่เคยศึกษา รู้จักวัฒนธรรม เข้าใจพื้นฐาน ประเพณี วิถีชีวิตของคนไทย เพราะถ้าเข้าใจเราจริงๆ ทุกสิ่งที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ พวกเขาคงไม่มีวันนำเสนอออกมาแน่
มันคงจะดีกว่า ถ้าหนังใช้ชื่อว่าเป็นประเทศสารขัณฑ์ (ประเทศสมมติ) มันคงจะลดความเลวร้ายบางอย่างลงได้บ้าง แต่เพราะผู้สร้างยืนยันหนักแน่นที่จะใช้ชื่อ สยามประเทศ จึงไม่แปลกที่จะถูกแบนห้ามฉายในไทย ประเทศเดียวเท่านั้นในโลก
นี่เป็นหนังที่ดูหมิ่น เหยียดหยาม (racist) พระมหากษัตริย์และศาสนาชัดเจนมากนะครับ ผู้หญิงธรรมดาๆตัวคนเดียว เฉลียวฉลาด และสามารถมีอิทธิพลเหนือกว่ากษัตริย์ผู้ปกครองประเทศ นี่มีนัยยะบ่งบอกถึงว่า คนผิวขาว แม้กระทั่งผู้หญิงเพียงตัวคนเดียว ก็มีความสูงส่ง ยิ่งใหญ่ เฉลียวฉลาดเป็นผู้เป็นคนมากกว่าผู้นำของประเทศสารขัณฑ์เสียอีก แล้วเช่นนี้ประชาชน คนที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้เล่า ก็คงเป็นมนุษย์ชั้นต่ำ ไร้ค่า ป่าเถื่อน ไม่มีอะไรดี
ถ้าคุณเป็นคนประเทศสารขัณฑ์ รับรู้ว่ามีหนังใจความลักษณะนี้ จะยอมกันได้หรือเปล่าเอ่ย?
กับคนไทยส่วนใหญ่สมัยก่อนที่ยังขาดความรู้ วิจารณญาณ การคิดวิเคราะห์ในสมัยก่อน (และสมัยปัจจุบัน) การรับชมหนังเรื่องนี้ย่อมมีแนวโน้มสูงที่จะเชื่อตามว่า กษัตริย์ไทยสมัยก่อนเป็นเช่นนั้นจริงๆ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ประเทศชาติได้สั่นคลอนแน่ๆ
กับท่านๆ คนรุ่นใหม่ หัวทันสมัย อาจคิดเห็นต่างก็ไม่แปลกนะครับ ‘งานศิลปะที่ดี ไม่ควรที่จะต้องถูกจำกัดด้วยอะไรบางอย่าง’ ข้อความนี้ก็จริงอยู่ แต่ใช่ว่าจะสามารถใช้ได้กับทุกประเทศในโลก อย่างประเทศไทย เรามีสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ควรนำเสนอถ่ายทอดออกมา โดยเฉพาะเรื่องระบอบกษัตริย์และศาสนา นี่เป็นสิ่งที่ถ้าคุณเป็นคนไทย ก็ควรจะยอมรับและเข้าใจ ไม่ใช่ตามกฎหมายแต่คือตามมารยาทและความเหมาะสม ถ้าคุณอยากทำเรื่องราวลักษณะนี้ ก็ไปสร้างที่ประเทศอื่นเถอะครับ จะมาก้มหัวดิ้นรนอยู่ทำไม
ถ้ามีหนังที่หมิ่นสถาบัน หรือหมิ่นศาสนา ผมก็เห็นสมควรให้แบนห้ามฉายไปเลย มันใช่เรื่องอะไรที่จะให้คนไทยได้เห็นใจความชั่วร้ายที่แอบแฝงอยู่ในงานศิลปะ อันจะบ่อนทำลายความสงบสุขของชาติ, จะมีก็แต่พวกเราๆ นักวิจารณ์ และคนที่ดูหนังเป็นเท่านั้น ย่อมมีปัญญา ในการแสวงหาหนังลักษณะนี้ รับชมอย่างเข้าใจ มีวิจารณญาณ และอธิบายได้ว่า หนังมันมีคุณโทษ ประโยชน์ประการใด แล้วนำเสนอความเห็นว่า หนังมันสมควรไม่สมควรฉาย หมิ่นไม่หมิ่น เหมาะสมไม่เหมาะสม
คนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการแบน เพราะคุณเป็นคนรุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า คิดว่าคนไทยย่อมมีวิจารณญาณ สามารถเข้าใจได้ว่า อะไรจริง อะไรเท็จ แยกแยะความถูกต้องเหมาะสมออก, ผมไม่คิดเช่นนั้นนะครับ เพราะรู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังดูหนังไม่เป็น เราบริโภคความบันเทิง แต่ไม่สนองค์ความรู้ อย่างหนังเรื่องนี้ผมเชื่อว่า ต่อให้ฉายในสมัยนี้ อาจมีคนคิดว่า พระมหากษัตริย์ไทยจะเป็นแบบในหนังจริงๆ … “คนสมัยนี้ฉลาดนะครับ แต่ยังโง่ในเรื่องโง่ๆอยู่”
ด้วยทุนสร้าง $4.55 ล้านเหรียญ ทำเงินทั่วโลก $21.3 ล้านเหรียญ, ได้เข้าชิง Oscar 9 สาขา ได้มา 5 รางวัล
– Best Film
– Best Director
– Best Actor in a Leading Role (Yul Brynner) **ได้รางวัล
– Best Actress in a Leading Role (Deborah Kerr)
– Best Cinematography, Color
– Best Art Direction, Color **ได้รางวัล
– Best Costume Design, Color **ได้รางวัล
– Best Music, Scoring of a Musical Picture **ได้รางวัล
– Best Sound Recording **ได้รางวัล
ถ้าผมไม่ใช่คนไทย ก็มีแนวโน้มสูงมาก ที่ให้คะแนนคุณภาพหนังเรื่องนี้ระดับ RARE-GENDARY แต่เพราะชาตินี้เกิดเป็นคนไทย ได้รับรู้ เข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง ความจริงที่ไม่ได้ถูกนำเสนออก ก็จักไม่พบอะไรในหนังที่ทำให้เกิดความชื่นชอบได้เลย, อาทิ งานออกแบบ ถึงฉากในหนังจะสวยงามยิ่งใหญ่อลัง แต่เทียบไม่ได้กับความวิจิตรงดงามของพระบรมหาราชวังไทยแท้ หรือการแสดงโขน ร้องเล่นเต้น ที่ดูก็รู้ว่าพยายามลอกเลียนแบบ แต่เทียบความสวยงามอ่อนช้อยไม่ได้สักครึ่งค่อนของจริงเลย (ถึงผมพยายามดูหนังเรื่องนี้ให้เป็นประเทศสารขัณฑ์ แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ ยังไงก็เกิดการเปรียบเทียบ ซึ่งพอเป็นแบบนี้ ก็เลยไม่มีทางที่จะให้คะแนนหนังยอดเยี่ยมขนาดนั้นได้)
เอาเถอะครับ ผมไม่คิดว่าผู้สร้างหนัง/ละครเวที เรื่องนี้ จะมีความตั้งใจดูถูกดูหมิ่นระบอบกษัตริย์ของประเทศเราหรอก ถ้าจะสืบสาวหาตัวคนผิดที่แท้จริง ก็มีเพียงคนที่แต่งนิยายเรื่องนี้ Margaret Landon เท่านั้นแหละที่ชั่วร้าย เจ้าของบันทึก Anna Leonowens ตัวจริงอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามีการเอาเรื่องราวของตนไปสร้างเป็นนิยายลักษณะนี้, ผมไปเจอคำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมท ที่เขียนคำนำให้หนังสือแปล Anna and the King of Siam ฉบับตีพิมพ์ในไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่ง อบ ไชยวสุ เป็นผู้แปล และได้ขอให้ท่านช่วยเขียนคำนำให้, ผมขอคัดลอกบทสนทนา และคำนำหนังสือ มาให้อ่านกันนะครับ
…ข้าพเจ้าถามครูอบว่า
“ครูก็รู้แล้วมิใช่หรือว่า แหม่มแกโกหก?”
“ประทานโทษ ไม่ได้โกหก แต่ตอแหล”
“แล้วครูไปแปลของแกทำไม?”
ครูอบได้ให้เหตุผลว่า เพราะเห็นเป็นเรื่องราวสนุกสนาน อ่านเล่นพอเพลินๆม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงเขียนคำนำตอนหนึ่งไว้ว่า
“สาระแห่งหนังสือเรื่องนี้ก็คงเป็นที่รู้แล้ว เพราะหนังสือที่ครูอบแปลเป็นต้นฉบับเดิมของหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งมิสซิสมาร์กะเร็ต แลนดอน นำไปรวบรวมกับอีกเล่มหนึ่ง แล้วเขียนขึ้นใหม่ในชื่อว่า ‘แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม’ ซึ่งได้รับการโฆษณาครึกโครมในอเมริกา และได้ทำภาพยนตร์ขึ้น เคยเข้ามาฉายในเมืองไทยแล้วนั้น แต่ถ้าจะหาความจริงจากหนังสือเล่มนี้แล้วก็มีน้อยเต็มที เพราะแหม่ม่ลีโอโนเวนส์แต่งขึ้นเป็นเรื่องครึ่งจริงครึ่งนิยาย เป็นต้นว่า พระนางสุนาถวิสมิตรา นั้นไม่มีตัวจริงในประวัติศาสตร์ เจ้าจอมทับทิมและพระปลัดที่ถูกเผาทั้งเป็นก็ไม่มี แม้แต่พระเจดีย์ที่อ้างว่าสร้างเป็นอนุสรณ์คนทั้งสองนั้นก็ไม่เคยมี แต่คนจริงๆก็ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ไม่น้อย เป็นต้นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และคุณจอมมารดาเที่ยง คุณจอมมารดากลิ่น เมื่อหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือครึ่งจริงครึ่งหลอก หรือเป็นนวนิยายที่แต่งขึ้นโดยใช้ชื่อคนจริงๆ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงยากที่จะแยกออกได้ว่า ตรงไหนจริง ตรงไหนหลอก ถ้าจะอ่านก็ต้องถือว่า จริงทั้งเรื่อง หรือหลอกทั้งเรื่อง สุดแล้วแต่ใจ”
reference: http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000125999
ตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสยุโรป ขณะนั้นนักข่าวถูกขอให้ปิดปากไม่ให้พูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะกลัวว่าจะทำให้พระองค์ท่านจะทรงเสียพระทัย แต่วันหนึ่งพระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสขึ้นมาเอง
“Now! I would like to confide something-and this is between the King and you. It’s about The King and I.
ถึงแม้บริษัท Twenty Century Fox ได้ทำหนังเรื่องนี้ให้เป็นหนังที่สนุก น่าดู สวยงาม เพลงไพเราะ แต่ไม่ถูกพงศาวดารนัก ถ้าออกฉายในเมืองไทยอาจทำให้ผิดใจกันขึ้นระหว่างประเทศ เพราะคนไทยนับถือกษัตริย์ของเขามาก คงจะไม่ชอบที่จะเห็นกษัตริย์ของเขาพระองค์หนึ่งแสดงเป็นตัวตลกอยู่ในหนังเรื่องนี้”
มีอีกครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับ The King and I ตอนที่ให้นักข่าวเข้าเฝ้าที่ที่กรุงวอชิงตัน ทรงมีพระราชดำรัสกับนักข่าวว่า
“พระเจ้าแผ่นดินกับนักหนังสือพิมพ์มีหน้าที่เหมือนกัน คือนำคนที่อยู่คนละแห่งในโลกให้เข้ามาใกล้กัน และช่วยให้สถานการณ์ของโลกดีขึ้น…ไม่ใช่เลวลง…Et cetera, et cetera, et cetera.”
แนะนำกับ … คนไทย ผู้มีวิจารณญาณในการรับชม คิดวิเคราะห์เองเป็น และเข้าใจวิถีของประเทศไทย!, นักประวัติศาสตร์ ดูไปคงไม่มีประโยชน์อะไร แต่ควรรับชมไว้เป็นดี
ต่างชาติอาจจัดเรตทั่วไป/PG แต่ถ้าคุณเป็นคนไทยมีหนังเรื่องนี้ในครอบครอง ก็ไม่สมควรนำมาให้เด็กได้ดูนะครับ รอให้โตขึ้นมาสักหน่อย ให้เขามีวิจารณญาณ สามารถคิดเข้าใจเรื่องราวอะไรต่างๆเองได้ ถึงค่อยให้ดู แล้วจะเห็นเองว่าหนังเรื่องนี้เป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยแค่ไหน (ผมใส่เรต NC-17 ไว้นะครับ)
Leave a Reply