The King and the Mockingbird (1980) : Paul Grimault ♥♥♥♥♡
(25/1/2024) เรื่องราวของ King Charles V + III = VIII + VIII = XVI ผู้นำเผด็จการแห่งอาณาจักร Takicardia มีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย จนกลายเป็นที่รังเกียจของประชาราษฎร์ แต่กลับตกหลุมรักหญิงเลี้ยงแกะในภาพวาด พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อกีดกันไอ้หนุ่มกวาดปล่องไฟ จนทุกสิ่งอย่างพังทลาย ราบเรียบเป็นหน้ากลอง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
หนึ่งในภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ได้รับการกล่าวขวัญ ถึงระยะเวลาการสร้างเยิ่นยาวนานถึง 32 ปี! เริ่มต้นโปรดักชั่นตั้งแต่ ค.ศ. 1948 คาดหวังจะให้เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาว (Feature Length) วาดด้วยมือ (Traditional Animation) เรื่องแรกของฝรั่งเศส! แต่ความขัดแย้งระหว่างผกก. Grimault กับโปรดิวเซอร์ André Sarrut ทั้งๆยังสร้างไม่เสร็จกลับนำออกฉายในชื่อ The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) [หรืออีกชื่อ The Curious Adventures of Mr. Wonderbird (1952)] เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ถึงขนาดประกาศตัดขาด ไม่ยินยอมรับผลงาน ทั้งๆไปคว้ารางวัล Grand Jury Prize (ที่สอง) จากเทศกาลหนังเมือง Venice
เกร็ด: ภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาว ‘Traditional Animation’ เรื่องแรกของฝรั่งเศส เลยตกเป็นของ Jeannot l’intrépide (1950) ชื่ออังกฤษ Johnny the Giant Killer กำกับโดย Jean Image สร้างทีหลังแต่ออกฉายก่อน
เมื่อปี ค.ศ. 1967, ผกก. Grimault ได้ลิขสิทธิ์อนิเมชั่นเรื่องนี้กลับคืนมา เลยพยายามมองหางบประมาณเพิ่มเติม เพื่อสานต่อโปรเจคให้สำเร็จ แต่กว่าจะได้เริ่มต้นโปรดักชั่นอีกครั้งก็เมื่อ ค.ศ. 1977 ทำการปรับปรุง ต่อยอด เพิ่มเติมตรงโน้นนิด ตัดออกตรงนี้หน่อย สร้างเสร็จปรับเปลี่ยนชื่อเป็น The King and the Mockingbird (1980) … รวมระยะเวลาทำงานจริงๆแค่ 5 ปี แต่ถ้านับตั้งแต่เริ่มต้นสรรค์สร้างจนเสร็จสิ้นตามวิสัยทัศน์ผู้สร้างคือ 32 ปี!
เกร็ด: ระยะเวลาโปรดักชั่น 32 ปีว่าเนิ่นนาน แต่ยังมีภาพยนตร์อนิเมชั่นอีกเรื่องหนึ่งที่เยิ่นยาวยิ่งกว่า The Overcoat ของผกก. Yuri Norstein เริ่มต้นโปรดักชั่นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 2024) เกินกว่า 40 ปี! ก็ยังสร้างไม่เสร็จเสียที คาดว่าน่าจะใกล้แล้วละ
ในรายการภาพยนตร์เรื่องโปรดของผู้กำกับ Hayao Miyazaki มีผลงานของผกก. Grimault ประกอบด้วย The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) และ The King and the Mockingbird (1980) ทีแรกผมไม่ได้เอะใจอะไร เคยเขียนเรื่องหลังไปแล้วเลยมองหารับชมเรื่องแรก ผ่านไปสองสามนาทีเกิดอาการมึนตึบ เพิ่งตระหนักว่ามันคือเรื่องเดียวกัน(ที่ยังสร้างไม่เสร็จ) แต่เอะ? แล้วทำไมถึงปรากฎชื่ออนิเมชั่นทั้งสองเรื่องเลยละ?
ผกก. Miyazaki (และรวมถึง Isao Takahata) มีโอกาสรับชม The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 50s แล้วเกิดความชื่นชอบหลงใหล กลายเป็นอิทธิพล แรงบันดาลใจ ได้เรียนรู้อะไรๆมากมาย พบเห็นได้ชัดเจนจาก The Castle of Cagliostro (1979), Laputa: Castle in the Sky (1986) ฯ
We were formed by the films and filmmakers of the 1950s. At that time I started watching a lot of films. One filmmaker who really influenced me was the French animator Paul Grimault. It was through watching La Bergère et le Ramoneur (1952) by Paul Grimault that I understood how it was necessary to use space in a vertical manner.
Hayao Miyazaki
My admiration towards Paul Grimault and La Bergère et le Ramoneur (1952) has always been the same, probably because he achieved better than anyone else a union between literature and animation.
What’s certain is that the influence of this film was decisive for me. I can affirm that, without its discovery, I would never have taken the path of animated film. That’s how intense the shock was for me.
Isao Takahata
ผมบังเอิญไปพบเจอบทสัมภาษณ์ของผกก. Takahata กล่าวเปรียบเทียบ The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) และ The King and the Mockingbird (1980) เลยทำให้เข้าใจมุมมองผกก. Miyazaki ทำไมถึงเลือกใส่ทั้งสองเรื่องเข้ามาในรายการภาพยนตร์โปรด
The unity of the work, the art of poetic and other expressions, as well as the general animation skills, are clearly superior in The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952). I hail The King and the Mockingbird (1980) as a great film, but The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) is poetic and supremely charming.
Isao Takahata
นั่นเองทำให้ผมตัดสินใจรับชมทั้งสองเรื่องติดต่อกัน เพื่อมองหาความแตกต่าง ฉบับไหนจะยอดเยี่ยมยิ่งกว่า?
- The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) ดูไม่ค่อยสนุกสักเท่าไหร่ มีหลายสิ่งอย่างขาดๆเกินๆ ให้อิสระผู้ชมในการขบครุ่นคิดมากเกินไป แต่นั่นคือลักษณะกวีภาพยนตร์ งดงามวิจิตรศิลป์
- เพราะผกก. Grimault ปฏิเสธผลงานเรื่องนี้จึงเก็บเข้ากรุ คุณภาพหารับชมในปัจจุบันจึงตามมีตามเกิด หลงเหลือเพียง DVD พากย์อังกฤษ และกลายเป็นสมบัติสาธารณะ (Public Domain) ไปเรียบร้อย
- The King and the Mockingbird (1980) สามารถจัดการกับสิ่งเคยขาดๆเกินๆให้มีความลงตัว กลมกล่อม ดูสนุกขึ้นเยอะ แทรกใส่รายละเอียด คำอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจอะไรๆง่ายขึ้น
- มีการบูรณะ High Definition เมื่อปี ค.ศ. 2013 คุณภาพใสกิ๊ก
ในมุมของผมเอง The King and the Mockingbird (1980) เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ดูสนุกกว่า ลงตัวกว่า สมบูรณ์แบบกว่า นั่นอาจเพราะกาลเวลา/ประสบการณ์พานผ่าน 30+ กว่าปี ช่วยทำให้ผกก. Grimault มองเห็นข้อบกพร่อง รับรู้วิธีจัดการกับสิ่งขาดๆเกินๆ เพิ่มเติมลูกล่อลูกชน รวมถึงมุมมองยุคสมัยที่ปรับเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
แต่ผมก็พอคาดเดาเหตุผลที่ทั้ง Miyazaki และ Takahata ต่างชื่นชอบหลงใหล The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) เพราะความแรกประทับใจ ‘first impression’ เป็นสิ่งที่ใครกันจะลืมเลือนได้ลง!
Paul Grimault (1905-94) ผู้กำกับอนิเมชั่น สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Neuilly-sur-Seine, Hauts-de-Seine การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-19) ครอบครัวส่งไปลี้ภัยอยู่ Normandy ภายหลังย้ายกลับสู่ Paris เข้าโรงเรียนสอนวาดรูป L’école de dessin Germain-Pilon (ปัจจุบันคือ École nationale supérieure des arts appliqués et des métiers d’art, ENSAAMA) จากนั้นฝึกงานยังเวิร์คช็อปของ Bon Marché, ติดตามด้วยออกแบบเฟอร์นิเจอร์ Faubourg Saint-Antoine, ระหว่างทำงานบริษัทโฆษณา Damour Agency ได้รับรู้จัก Jean Aurenche, Jean Anouilh, Jacques Prévert เข้าร่วมกลุ่มภาพยนตร์ Groupe Octobre และเคยมีบทบาทสมทบ L’Atlante (1934)
เมื่อปี ค.ศ. 1936, Grimault ร่วมกับเพื่อนสนิท/โปรดิวเซอร์ André Sarrut ก่อตั้งสตูดิโออนิเมชั่น Les Gémeaux สำหรับสรรค์สร้างโฆษณา อนิเมชั่นขนาดสั้น โดยผลงานชิ้นสำคัญคือ Le petit Soldat (1947) ดัดแปลงจากเทพนิยาย The Steadfast Tin Soldier (1838) แต่งโดย Hans Christian Andersen (1805-75), ดัดแปลงบทโดย Jacques Prévert, สามารถคว้ารางวัล International Prize จากเทศกาลวัฒนธรรม Venice Biennial (คือเทศกาลแม่ของ Venice Film Festival)
Le petit Soldat (1947): https://www.bilibili.com/video/BV1eG4y1q7gs/
Jacques Prévert (1900-77) นักกวี นักเขียนบทภาพยนตร์ ผู้บุกเบิกกลุ่มเคลื่อนไหว ‘Poetic Realism’ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Neuilly-sur-Seine แล้วมาเติบโตยังกรุง Paris, แม้เป็นคนไม่ชอบเรียนหนังสือ ตัดสินใจออกจากโรงเรียนกลางคัน แต่หลังจากได้เข้าร่วมกลุ่มเคลื่อนไหว Surrealist ต่อด้วย Groupe Octobre (Left-Wing Cinema) จึงค้นพบความสนใจด้านนี้จริงจัง ขาประจำ Marcel Carné และ Jean Grémillon พัฒนาบทภาพยนตร์ Port of Shadows (1938), Le Jour se lève (1939), Remorques (1941), Summer Light (1943), Children of Paradise (1945) ฯ
ผกก. Grimault รับรู้จัก สนิทสนมกับ Prévert มาหลายสิบปี แต่เพิ่งมีโอกาสร่วมงานดัดแปลงเทพนิยาย The Steadfast Tin Soldier (1838) กลายเป็นอนิเมชั่นขนาดสั้น Le petit Soldat (1947) ซึ่งพวกเขาก็ยังพูดคุยกันต่อถึงความเป็นไปได้ในการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาว ‘Feature Length’ เชื่อมั่นในศักยภาพสตูดิโอ Les Gémeaux ว่าเพรียบพร้อมทั้งงบประมาณ เทคโนโลยี และนักอนิเมอร์มากประสบการณ์
ในตอนแรกลังเลใจว่าจะเลือกดัดแปลงอะไรดี The Wild Swans (1838), The Snow Queen (1844), ก่อนตัดสินใจ The Shepherdess and the Chimney Sweep (1845) เพราะมองว่าน่าจะเป็นเทพนิยายมีความใกล้ตัวใกล้หัวใจผู้แต่ง Hans Christian Andersen มากที่สุดแล้ว!
เรื่องราวของ The Shepherdess and the Chimney Sweep ดั้งเดิมคือตุ๊กตากระเบื้องในตู้ วันหนึ่งหญิงเลี้ยงแกะถูกบิดาตุ๊กตาจีนเฒ่า เรียกร้องขอให้แต่งงานกับตุ๊กตาไม้มะฮอกกานีผู้ร่ำรวยชื่อว่า Major general-field-sergeant-commander Billy-goat’s-legs แต่เธอไม่ยินยอมพร้อมใจ จึงชักชวนชายกวาดปล่องไฟที่ตกหลุมรักให้พากันหลบหนี ผลักไสบิดาจนตกแตก พอทั้งสองปีนป่ายขึ้นไปข้างบนสุดของปล่องไฟ พบเห็นโลกกว้างใหญ่ ท้องฟ้าไกลสุดลูกหูลูกตา เกิดอาการขลาด หวาดกลัว จึงร้อขอให้เขาพากลับไปที่ตู้ พบเห็นตุ๊กตาเฒ่าจีนกำลังซ่อมแซม เชื่อมส่วนที่แตกหัก และครั้นตุ๊กตาไม้ฮอกกานีเดินทางมาสอบถามว่ายังไม่เปลี่ยนใจยกบุตรสาวให้ใช่ไหม? ตาเฒ่าขณะนั้นพูดไม่ได้ พยักหน้าไม่ได้ เพียงนิ่งเฉยจนอีกฝ่ายครุ่นคิดว่าคือคำตอบปฏิเสธ ทำให้หญิงเลี้ยงแกะไม่ต้องแต่งงาน และได้ครองรักกับชายกวาดปล่องไฟ
ด้วยความที่ Prévert (และผกก. Grimault) ต่างมาจาก Groupe Octobre ซึ่งฝักใฝ่ฝั่ง Left-Wing Cinema จึงทำการต่อยอดเรื่องราว ปรับเปลี่ยนตุ๊กตากระเบื้องมาเป็นภาพวาด (เพื่อสะท้อนเข้ากับอนิเมชั่นวาดด้วยมือ Traditional Animation), เลือนลางระหว่างตัวละครกับภาพวาด (พระราชาตกหลุมรักหญิงเลี้ยงแกะในภาพวาด), ปรับเปลี่ยนสถานะตุ๊กตาไม้มะฮอกกานีผู้ร่ำรวย มาเป็นพระราชาจอมเผด็จการ (กลายเป็นหนังการเมืองโดยพลัน) และเพิ่มเติมเจ้านกขี้บ่น เพื่อสร้างสีสันให้กับเรื่องราว (เหนือพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ ยังมีนกที่ทำรังอยู่บนหลังคาปราสาท)
เรื่องราวของ King Charles V + III = VIII + VIII = XVI ปกครองอาณาจักร Takicardia ก่อสร้างปราสาทหรูหรา ทันสมัย หลังใหญ่โตเฉียดฟ้า แต่ปฏิบัติต่อคนรอบข้างอย่างกดขี่ข่มเหง เพียงขี้ข้าทาสรับใช้ ทำอะไรไม่พึงพอใจก็กดปุ่ม หล่นตุ๊บ สูญหายไปจากโลกใบนี้ เลยกลายเป็นที่รังเกียจของประชาชนและสรรพสัตว์ โดยเฉพาะเจ้านก Mockingbird สูญเสียภรรยาจากกระสุนลูกหลง แถมลูกน้อยยังโดนลักพาตัวไปเป็นเป้าบินอยู่บ่อยครั้ง
ในอพาร์ทเม้นท์ลับชั้นบนสุด King Charles มีความลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักหญิงเลี้ยงแกะในภาพวาด ยามค่ำคืนระหว่างนอนหลับฝัน โดยไม่รู้ตัวเธอคนนั้นสามารถขยับเคลื่อนไหว ราวกับมีชีวิตขึ้นมา เฉกเช่นเดียวกับ King Charles ในภาพวาด พยายามพร่ำพรอดรัก สู่ขอแต่งงาน แต่เธอกลับชักชวนชายกวาดปล่องไฟ (ภาพวาดข้างๆ) หลบหนีปีนป่ายบันได(ทางปล่องไฟ)ขึ้นไปบนหลังคา
เรื่องวุ่นๆวายๆบังเกิดขึ้นเมื่อ King Charles ในภาพวาด กดปุ่มเพชรฆาตทำให้ King Charles ตัวจริงหล่นตุ๊บ ล่องจุ๊น สูญหายตัวไปจากโลกใบนี้ จากนั้นสวมรอยกลายเป็นพระราชา สั่งให้ลูกน้องออกติดหาหญิงเลี้ยงแกะ ไล่ล่าชายกวาดปล่องไฟ (และเจ้านก Mockingbird) ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนห่าเหวอะไร เพื่อให้ได้แต่งงาน ครองคู่รัก แม้อาณาจักรต้องล่มสลาย
ฉบับปี 1952 | ฉบับปี 1980 | |||
ต้นฉบับฝรั่งเศส | พากย์อังกฤษ | ต้นฉบับฝรั่งเศส | พากย์อังกฤษ | |
The Bird | Pierre Brasseur | Peter Ustinov | Jean Martin | Steve Gadler |
The King | Fernand Ledoux | Max Adrian | Pascal Mazzotti | Jerry Di Giacomo |
The Shepherdess | Anouk Aimée | Claire Bloom | Agnès Viala | Patricia Kessler |
The Chimney Sweep | Serge Reggiani | Denholm Elliott | Renaud Marx | (ไม่รู้ใคร) |
The Chief of Police | Yves Deniaud | Philip Stainton | Raymond Bussieres | Billy Kearns |
ด้วยความที่โปรดักชั่นของ The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) กับ The King and the Mockingbird (1980) ห่างกันถึงสามสิบกว่าปี จึงแทบเป็นไปไม่ได้จะติดต่อนักแสดง/นักพากย์ชุดเดิม บางคนก็ล้มหายตายจาก เลยจำต้องติดต่อหาทีมนักพากย์ชุดใหม่มาแทนที่ ยกเว้นเพียงบุคคลเดียวหวนกลับมาก็คือ Roger Blin ให้เสียงชายตาบอด
อนิเมชั่นฉบับดั้งเดิม ค.ศ. 1952 มีการบันทึกภาพแสดงสด (Live-Action) ให้นักแสดงทำท่าทางโน่นนี่นั่น สำหรับนักอนิเมเตอร์ใช้เป็นต้นแบบอย่าง อ้างอิงการขยับเคลื่อนไหว (ด้วยเครื่อง Rotoscoping) แต่ไม่ใช่สำหรับฉบับปี 1980 เพราะส่วนใหญ่นำฟุตเทจจากฉบับดั้งเดิม เลยไม่จำเป็นต้องให้นักพากย์ชุดใหม่มาเสียเวลาทำการแสดง ประหยัดงบประมาณได้มากทีเดียว
แต่ผมสังเกตฉบับปี 1980 การเคลื่อนไหวของตัวละคร (ทั้งมนุษย์และสัตว์) ดูไม่ค่อยลื่นไหล เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ ประเดี๋ยวช้า ประเดี๋ยวเร็ว จู่ๆหยุดค้างคา เหมือนลีลาโยกเต้น เริงระบำ ขยับเคลื่อนไหวไปตามจังหวะ (มันดูเป็นความจงใจผู้สร้าง มากกว่าข้อจำกัดอนิเมชั่น) ซึ่งสามารถสร้างสัมผัสกวีภาพยนตร์ได้ด้วยกระมัง
สำหรับภาพออกแบบตัวละคร King Charles V + III = VIII + VIII = XVI นอกจากหนวดกวนๆของ Dali’s Mustache และเคราแพะ (ล้อกับหนวดแปรงสีฟันของ Adolf Hitler) เห็นว่านำแรงบันดาลใจจากภาพวาด Portrait de Louis XIV en costume de sacre (1701) แปลว่า Portrait of Louis XIV in Coronation Robes ผลงานชิ้นเอกของจิตรกรชาวฝรั่งเศส Hyacinthe Rigaud (1659-1743) แห่งยุคสมัย Baroque เลื่องชื่อในรายละเอียดที่มีความสมจริงอย่างมากๆ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่พระราชวัง Versailles
เกร็ด: King Louis XIV (1638-1715, ครองราชย์ 1643-1715) คือกษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยระยะเวลา 72 ปี 110 วัน ได้รับฉายา Le Roi Soleil (Sun King) และยกย่องให้เป็นมหาราช Louis le Grand (Louis the Great)
ในขณะที่ความเผด็จการของตัวละคร มีต้นแบบจากผู้นำสมัยใหม่อย่าง Benito Mussolini, Adolf Hitler ฯ ใช้นัยยะชื่นชอบล่าสัตว์ (ติดขนนกบนหมวก เปรียบเสมือน ‘Trophy’ ของผู้ล่า) แทนการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ หรือก็คือสงครามโลกครั้งที่สอง เพียงเพราะต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ หมาอำนาจ เจ้าโลก ทั้งๆยิงปืนไม่เคยเข้าเป้า (สื่อถึงไร้ศักยภาพ ไม่มีความสามารถ ทำอะไรไม่เคยสนใจสิ่งใด)
ถึงผมฟังภาษาฝรั่งเศสไม่ออกสักเท่าไหร่ แต่ลีลาการให้เสียงพากย์ของ Pascal Mazzotti มอบสัมผัสชนชั้นสูง เหมือนผู้ดีมีสกุล เต็มไปด้วยความสำบัดสำนวน ละเล่นเสียงสูง-ต่ำ ลากคำสั้น-ยาว เว้นวรรคตอน (พร้อมท่วงท่าภาษากาย) ฟังแล้วสัมผัสถึงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง (Narcissism) ครุ่นคิดว่าฉันสามารถทำอะไรได้ทุกสิ่งอย่าง … แต่ขณะนี้กลับไม่มีอะไรได้ดั่งใจสักสิ่งอย่าง!
ท่าทางการขยับเคลื่อนไหวของตัวละครก็เฉกเช่นเดียวกัน ทุกอากัปกิริยาล้วนมีความเลิศเชิด เย่อหยิ่ง ประดิษฐ์ประดอยสร้างภาพ ทำออกให้ดูสง่างาม เว่อวังอลังการ เพื่อแสดงวิทยฐานะกษัตริย์ เอ่อล้นด้วยอำนาจ บารมี ความยิ่งใหญ่ ไม่หวาดกลัวเกรงผู้ใด
แซว: ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ! ดวงตาในภาพวาด The King สะท้อนสิ่งที่จิตรกรมองเห็น เป็นบุคคลจิตใจคับแคบ มองเห็นแต่ตนเอง แน่นอนว่าย่อมสร้างความไม่พึงพอใจ กดปุ่ม หล่นตุ๊บ ล่องจุ๊น ภายหลังปรับแก้ไขให้มีดวงตาอยู่ตรงกลาง ไม่ต่างจากบุคคลปกติทั่วไป
จริงๆแล้วชื่ออนิเมชั่นภาษาฝรั่งเศส Le Roi et l’Oiseau แปลตรงตัวว่า The King and the Bird โดยต้นแบบเจ้านกนั้นคือนกทูแคน (Toucan) ไม่ได้มีความข้องเกี่ยวแว้งอะไรกับนกกระเต็น (Mockingbird) เป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ชมอย่างมากๆ … ความตั้งใจดั้งเดิมของผู้ตั้งชื่ออาจจะเป็น The King and the Mocking Bird เขียนแยกคำเช่นนี้จะหมายถึงนกขี้บ่น ชอบพูดจาเยาะเย้ย เสียดสีล้อเลียน
แซว: Mockingbird โดยปกติแล้วคือสัตว์สัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์ (Innocence) ไร้พิษภัย เพราะมันไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร (จากนวนิยาย/ภาพยนตร์ To Kill a Mockingbird), แต่สำหรับคนเคยรับชมแฟนไชร์ The Hunger Games ยังสามารถตีความถึงพฤติกรรมต่อต้าน อารยะขัดขืน (Defiance) ไม่ยินยอมศิโรราบต่อเผด็จการ
ต้นแบบของเจ้านก ตามคำกล่าวอ้างของ Jacques Prévert นำแรงบันดาลใจจากสองบุคคล
- Jean Mollet (1888-1979) ข้าราชการ นักการทูต ผู้มีวาทะศิลป์เป็นเลิศ และยังคือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง European Union (ได้รับฉายา The Father of Europe)
- Pierre Brasseur (1905-72) นักแสดงภาพยนตร์ โด่งดังจาก Children of Paradise (1945) ในบทบาท Frédérick Lemaître มีท่าทางที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวละคร … และยินยอมตอบรับ พากย์เสียงให้ตัวละครนี้ด้วยนะ!
น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหารับชม/ได้ยินเสียงของ Brasseur เพราะไม่สามารถหาฉบับพากย์ฝรั่งเศสปี 1952 (ถูกเก็บเข้ากรุ ไม่มีในสารบบออนไลน์) แต่ฉบับภาษาอังกฤษของ Peter Ustinov (นึกใบหน้าอวบๆของ Ustinov ตามไปด้วย) มีความยียวนกวนประสาทไม่เบา!
ขณะที่ฉบับใหม่ 1980 ผมแทบไม่สามารถจดจำน้ำเสียงของ Jean Martin พยายามดัดให้แหลม พร้อมตะโกนจนแหบแห้ง แต่ลีลาสำบัดสำนวน ละเล่นเสียงสูง-ต่ำ ลากคำสั้น-ยาว เว้นวรรคตอน (พร้อมท่วงท่าภาษากาย ที่ก็สยายปีก บิดไปบิดมาอย่างเว่อวังอลังการ) ช่างละม้ายคล้าย The King แตกต่างที่ไร้ความเย่อหยิ่ง เต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้นฝังหุ่น … แต่ก็ทำได้เพียง ‘Mocking’ พูดจาเยาะเย้ย เสียดสีล้อเลียน ปากกล้าไปวันๆ
สำหรับหญิงเลี้ยงแกะและคนกวาดปล่องไฟ (The Shepherdess and the Chimney Sweep) แม้เป็นตัวละครหลักของเรื่องราว แต่กลับแทบไม่มีอะไรให้พูดกล่าวถึง! คู่รักหนุ่ม-สาว ชักชวนหนีตามกันไป แตกต่างจากต้นฉบับของ Hans Christian Andersen ที่ออกไปทางอนุรักษ์นิยม อนิเมชั่นเรื่องนี้ทำให้พวกเขาไม่หวาดกลัวต่ออิสรภาพ พร้อมต่อสู้ ผจญภัยสู่โลกกว้าง ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อโอกาสครองคู่อยู่ร่วม
แซว: จะว่าไปหญิงเลี้ยงแกะ (ตัวแทนสามัญชน คนชั้นภาคพื้นดิน) ตกหลุมรักชายกวาดปล่องไฟ (ทำงานอยู่เบื้องบนหลังคา) และถูกบอกรักโดยพระราชาผู้สูงส่ง (อาศัยอยู่ชั้นบนๆของปราสาท)
ผมมาครุ่นคิดดูการเปลี่ยนชื่ออนิเมชั่นจาก The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) เรื่องราวความรักหนุ่ม-สาว สามัญชน มาเป็น The King and the Mockingbird (1980) การเผชิญหน้าระหว่างพระราชาสูงส่ง กับนกขี้บ่นอาศัยอยู่สูงกว่า ถือเป็นวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน สามัญชน vs. คนชั้นสูง
ตามแผนงานดั้งเดิมนั้น โปรดักชั่นของ The Shepherdess and the Chimney Sweep ควรเสร็จสิ้นในระยะเวลาปีกว่าๆ กันยายน ค.ศ. 1949 (จริงๆคือทำอนิเมชั่นเสร็จสิ้นแล้ว) แต่ด้วยความที่ผกก. Grimault ยังไม่พึงพอใจต่อผลลัพท์ จึงพยายามขอปรับแก้ไข ต้องการทำหลายสิ่งอย่างขึ้นใหม่ ไม่นานงบประมาณเตรียมไว้จึงหมดลง
It didn’t work out so well, because two or three years later, Grimault was playing Penelope. By that I mean that, after having had a team work for over a year on an animated character, he would arrive and ask to change everything. It was like that for everything. His best friend [André Sarrut], who was financing the film at the time, had had enough and stopped giving him money.
Pierre Nicolas หนึ่งในทีมออกแบบ Production Design
เพราะกลัวว่าจะผลาญเงินจนสตูดิโอล้มละลาย โปรดิวเซอร์ André Sarrut จึงตัดสินใจขับไล่ผกก. Grimault ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยว พัวพันกับโปรเจคนี้อีก นั่นทำให้เกิดการแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่งฝ่าย #ทีม Sarrut vs. #ทีม Grimault
ในขณะที่ #ทีม Grimault ต้องระหกระเหินออกจากสตูดิโอ ประกาศตัดขาด ไม่ขอร่วมสังฆกรรมใดๆ, #ทีม Sarrut นำเอาฟุตเทจแล้วเสร็จมาตัดต่อใหม่ ใส่เสียง เพลงประกอบโดย Joseph Kosma แล้วนำออกฉายเทศกาลหนังเมือง Venice … กล่าวคือ The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) เป็นโปรเจคที่ถือว่าเสร็จสมบูรณ์ แต่ถูก ‘disown’ โดยผกก. Grimault เพราะยังไม่เติมเต็มวิสัยทัศน์ของตนเอง
แม้ว่า The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) จะได้เสียงตอบรับดียอดเยี่ยม คว้ารางวัล Grand Jury Prize (ที่สอง) แต่ด้วยทุนสร้างสูงลิบลิ่ว จึงไม่สามารถทำให้สตูดิโอ Les Gémeaux รอดพ้นการล้มละลาย จำต้องปิดกิจการในปีเดียวกันนั้น ค.ศ. 1952
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผกก. Grimault ตัดสินใจทอดทิ้งวงการอนิเมชั่นไปสักพักใหญ่ ตอบตกลง Henri Langloir เข้าร่วม Cinémathèque française เก็บหอมรอมริดก่อตั้งสตูดิโอโปรดักชั่น Les Film Paul Grimault สำหรับกำกับโฆษณา หนังสั้น
จนกระทั่ง ค.ศ. 1967 สิบห้าปีหลังการล้มละลายของสตูดิโอ Les Gémeaux ทำให้ลิขสิทธิ์ฟีล์มหนัง/อนิเมชั่นหมดสูญสิ้นไป ผกก. Grimault สามารถประมูลได้ฟีล์มเนกาทีฟต้นฉบับ ทีแรกครุ่นคิดจะเก็บเข้ากรุ แต่พอนำมาตรวจสภาพพบเห็นฟุตเทจบางส่วนสูญเสียหาย เต็มไปด้วยริ้วรอยขีดๆข่วนๆ จึงบังเกิดแนวคิดปรับปรุง สร้างใหม่ แก้ไขให้ตรงตามวิสัยทัศน์ดั้งเดิม
No one knew what had become of the animation drawings, the cels, the three hundred and some sets, the shots deleted during editing, the scraps of images and sound which would have allowed me to restore the original version of the movie. If I wanted to show The Shepherdess and the Chimney Sweep, it was the Sarrut version or nothing… The idea came to us to make a new film which would be closer to the spirit of the original scenario but which would be a different film, as two canvases of the same landscape painted by the artist can be different. same painter, one in gray weather and the other in good weather.
Paul Grimault
แต่ปัญหาใหญ่สุดๆในวิสัยทัศน์ของผกก. Grimault ก็คือเรื่องทุนสร้าง! เพราะใครๆต่างเคยรู้จัก รับชมอนิเมชั่นเรื่องนี้ สร้างเรื่องใหม่ไม่ดีกว่าหรือ?? ถึงอย่างนั้นเจ้าตัวยังพยายามติดต่อของบประมาณจากสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต รวมถึงประเทศญี่ปุ่น ต่างเรียกร้องให้เขาทอดทิ้งบ้านเกิด เดินทางมาใช้ทีมงาน ทำงานยังประเทศของตนเอง
มันไม่ใช่สำนึกรักบ้านเกิดหรืออย่างไร แต่เพราะผกก. Grimault ต้องการทีมงานชุดเดิม ที่แม้แยกย้ายออกไปทำงานยังองค์กรต่างๆ บางคนกลับมาได้ บางคนล้มหายตายจาก อย่างน้อยสามารถพูดคุยสื่อสาร เข้าใจวิสัยทัศน์ และรับรู้ความเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้นในระยะเวลาเกือบๆสามสิบปี!
เกือบๆสิบปีให้หลัง ค.ศ. 1976 ในที่สุดก็สามารถยื่นของบประมาณจาก CNC (Centre national du cinéma et de l’image animée) การันตีด้วยโปรดิวเซอร์มากประสบการณ์ Robert Dorfmann จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อนนักเขียน Jacques Prévert ณ บ้านพักตากอากาศ Omonville-la-Petite ขณะนั้นร่างกายเจ็บปวดอิดๆออดๆ พักรักษาตัวจากโรคมะเร็งปอด แต่ก็ยินยอมพูดคุย ช่วยปรับแก้ไขรายละเอียด และยังเสนอแนะตอนจบแบบใหม่ … Prévert เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1977 แม้ไม่มีโอกาสรับชมภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ แต่ก็ได้ช่วยปรับปรุงบทจนแล้วเสร็จ
Even at the end, knowing he was very ill, this work was in some way survival for him. He knew he wouldn’t see the film, but it was revenge he was taking.
สำหรับเครดิตถ่ายภาพ ไม่มีระบุใน The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) แต่สำหรับ The King and the Mockingbird (1980) ปรากฎชื่อ Gérard Soirant โดยปกติทำงานเป็น Digital Supervisor ในแผนก Visual Effect รับหน้าที่ Scaning & Recording ไม่รู้เหมือนกันว่าทำอะไร
โปรดักชั่นของ The King and the Mockingbird เริ่มต้นเมื่อ ค.ศ. 1977-79 โดยมีการนำเอาฟุตเทจเดิมจาก The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) ประมาณ 42 นาที (จาก 62 นาที) มาผสมผสานเข้ากับอนิเมชั่นสร้างใหม่ เรื่องราวใหม่ๆ แทรกตรงโน้นนิด ตรงนี้หน่อย จนได้ความยาว 87 นาที
ด้วยความที่ผู้ชมส่วนใหญ่(คาดว่า)น่าจะเคยรับชม The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) ผกก. Grimault จึงพยายามเริ่มต้นอารัมบทด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไป
- The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) เริ่มต้นพื้นหลัง Opening Credit คือภาพประตู-หน้าต่าง ทางเข้าปราสาทที่ปิดอยู่ จากนั้นเจ้านกเดินออกมาหน้าเวที เป็นพิธีกรพูดเกริ่นนำ ก่อนเปิดผ้าม่านให้พบเห็นปราสาทเบื้องหลัง
- The King and the Mockingbird (1980) เริ่มต้นพื้นหลัง Opening Credit คือภาพแผ่นดินรกร้าง เศษซากปรักหักพัง จากนั้นเจ้านกเดินออกมาพูดเกริ่นนำ แล้วทำการย้อนเวลา ปรากฎภาพปราสาทตั้งตระหง่านเบื้องหลัง
แม้ทั้งสองฉบับจะไม่ใช่ภาคต่อ แต่ผมแอบรู้สึกเหมือนจุดเริ่มต้นของ The King and the Mockingbird (1980) ที่เป็นภาพแผ่นดินรกร้าง เศษซากปรักหักพัง สามารถสื่อถึงจุดจบ พยายามจะกลบฝัง The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) ต่อจากนี้จะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวทั้งหมดใหม่อีกครั้ง
คนที่รับชมทั้งสองฉบับน่าจะสามารถสังเกต แยกแยะความแตกต่าง ยกตัวอย่างกิจกรรมยิงนกของ The King มีการเพิ่มเติมฉากซ้อมยิงไม่ถูกเป้า แต่ขณะปล่อยลูกนกออกจากกรงแล้วยิงไม่โดน นั่นเป็นฟุตเทจเก่า … ใครช่างสังเกตก็อาจพบเห็นสีสันที่ดูซีดๆ เต็มไปด้วยเม็ด(Grain)ของฟีล์มเก่า ทำให้ภาพออกมาดูหยาบกระด้างกว่าฟุตเทจใหม่
เหนือฟ้ายังมีฟ้า พระราชาอาศัยอยู่ชั้นบนสุดของปราสาทสูงใหญ่ แต่ก็ยังมีนกสร้างรังอยู่บนหลังคา! ช่างสอดคล้องเข้ากับภาพนี้ที่เจ้านกเกาะบนศีรษะรูปปั้น The King เสียดสีล้อเลียนความเย่อหยิ่ง หลงตัวเองของมนุษย์ ครุ่นคิดว่าฉันมีอำนาจยิ่งใหญ่ สูงส่งเหนือกว่าใคร แต่สุดท้ายก็ยังอยู่ภายใต้ท้องฟ้ากว้างใหญ่ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ว่ายเวียนวนอยู่ในวัฎฎะสังสาร
Kingdom of Takicardia (เป็นการเล่นคำกับ Tachycardia หมายถึงอัตราการเต้นหัวใจที่เกินกว่า 100 BPM) ผมนำภาพจากทั้งสองฉบับมาเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ขณะที่รายละเอียดภายในไม่ได้ปรับเปลี่ยนแปลงจากเดิมสักเท่าไหร่ แต่ภาพมุมกว้างสังเกตว่าฉบับปี 1952 เหมือนยังวาดไม่เสร็จ หรือไม่เกิดจากรู้ข้อจำกัดยุคสมัย จึงไม่สามารถใส่รายละเอียดได้มากมายเท่าไหร่
Prévert เปรียบเปรยปราสาทหลังนี้ดั่ง Tower of Babel หอคอยตั้งตระหง่าน สูงเฉียดฟ้า ท้าทายพระเจ้า เต็มไปด้วยความหรูหรา สถาปัตยกรรมสลับซับซ้อน สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง มีความล้ำยุคสมัย ภายในสะสมงานศิลปะชั้นเลิศไว้มากมาย แต่จุดประสงค์กลับเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของพระราชาแต่เพียงผู้เดียว!
an unbelievable Tower of Babel, in an abominably disparate, splashily luxurious style: the style that might be called neo-Sacré-Cœur Building-Kiosque à musique-Cathédrale de Chartres-Sainte-Sophie-Dufayel-Grand Palais-Galerie des Machines-Tour de Pise – and Trocadéro combined.
Jacques Prévert
แรงบันดาลใจปราสาทหลังนี้ (แปลจากคำอธิบายของ Prévert) มีส่วนผสมของ …
- มหาวิหารพระหฤทัยแห่งมงมาทร์ (Basilique du Sacré-Cœur de Montmartre)
- กระโจมแตรส (Music Bandstand, ภาษาฝรั่งเศส Kiosque à musique) เวทีแสดงดนตรีเป็นโครงสร้างวงกลม ครึ่งวงกลม หรือหลายเหลี่ยมที่ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ ออกแบบเพื่อรองรับการแสดงคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ
- มหาวิหารโนเทรอดามแห่งชาร์ตร์ (Cathédrale Notre-Dame de Chartres)
- Sainte-Sophie-Dufayel หาข้อมูลได้แค่ มัสยิดใหญ่อายาโซฟยาอันศักดิ์สิทธิ์ Hagia Sophia ตั้งอยู่ Istanbul, Turkey ก็ไม่รู้เกี่ยวอะไรกันหรือเปล่า??
- กร็องปาแล (Le Grand Palais des Champs-Élysées)
- Galerie des machines สถานที่จัดนิทรรศการ 1889 Exposition Universelle ณ กรุง Paris
- หอเอนเมืองปิซา (Tour de Pise)
- พระราชวังทรอกาเดโร (Palais du Trocadéro)
แซว: แวบแรกผมนึกว่า Cinderella Castle พระราชวังในโลโก้ของ Walt Disney, และถ้าใครเคยรับชม The Castle of Cagliostro (1979), Laputa: Castle in the Sky (1986) และ Howl’s Moving Castle (2004) ก็น่าจะสัมผัสถึงอิทธิพลของพระราชวังแห่งนี้ต่อผกก. Hayao Miyazaki
ภายในปราสาทหรูหรา เทคโนโลยีล้ำอนาคต (ลิฟท์หน้าตาเหมือนจรวด พุ่งทะยานขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ) ดูราวกับพิพิธภัณฑ์สะสมงานศิลปะ (ผมนึกถึงภาพยนตร์ Russian’s Ark (2003) เปรียบเปรยเหมือนเรือโนอาร์ Noah’s Ark ของงานศิลปะ) ทั้งการออกแบบ สิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม (มีสวนสัตว์ด้วยนะ) เต็มไปด้วยลวดลาย สีสัน หลาหลายสไตล์ Renaissance, Baroque, Neoclassical, Impressionism, Expressionism, Surrealism ฯ เรียกว่าเต็มไปด้วยสิ่งสำหรับชนชั้นสูง (High Art)
ปล. จะมีช่วงระหว่างไล่ล่าติดตามหาหญิงเลี้ยงแกะ พบเห็นการล่องเรือในคูคลอง (มีเรือ Gondola ด้วยนะ) นั่นน่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Venice (เมืองแห่งสายน้ำ)
บรรดางานศิลปะทั้งหลายที่พบเห็นในภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ ล้วนอ้างอิง เลียนแบบจากโลกความจริง แต่จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับรสนิยมของ The King หนึ่งในนั้นที่ผมอยากกล่าวถึงก็คือ La Cruche Cassée (1771-72) แปลว่า The Broken Pitcher หรือ The Broken Jug ผลงานของจิตรกรชาวฝรั่งเศส Jean-Baptiste Greuze (1725-1805) มันอาจไม่ได้ละม้ายคล้ายกันเปะๆ แต่นัยยะแฝงของโถน้ำแตก สามารถสื่อถึงการสูญเสียความบริสุทธิ์ … อืม
อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า ต้นฉบับดั้งเดิมของเทพนิยาย The Shepherdess and the Chimney Sweep ตัวละครหญิงเลี้ยงแกะและคนกวาดปล่องไฟต่างคือตุ๊กตากระเบื้อง แต่การที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปภาพวาดศิลปะ ก็เพื่อสะท้อนแนวคิดของอนิเมชั่น (ที่สามารถทำให้ภาพวาดขยับเคลื่อนไหวได้เช่นกัน)
บางคนอาจจะตีความการมีชีวิตของภาพวาด/รูปแกะสลัก เปรียบเทียบถึง Pygmalion บุคคลระดับตำนานของ Cyprus ได้รับการกล่าวถึงใน Metamorphoses ของนักกวีชาวโรมัน Ovid (43 BC – 17/18 AD) เล่าเรื่องชายผู้มีความลุ่มหลงใหลผลงานมาสเตอร์พีซของตนเอง แล้วจู่ๆวันหนึ่งรูปแกะสลักนั้นสามารถมีชีวิตขึ้นมา … จริงๆถ้าใช้คำอธิบายนี้ เฉพาะผลงานมาสเตอร์พีซถึงสามารถมีชีวิต ก็จะตัดทิ้งข้อคำถามที่ว่า ทำไมภาพวาด/รูปแกะสลักอื่นถึงไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว (เพราะมันไม่ใช่ผลงานมาสเตอร์พีซ)
แซว: จะว่าไปแฟนไชร์ Toy Story ของเล่นมีชีวิต = ภาพยนตร์อนิเมชั่นสามมิติสามารถขยับเคลื่อนไหว เป็นแนวคิดไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่
หลายคน(รวมถึงผมเอง)คงเต็มไปด้วยความฉงนสงสัยว่า The King ตัวจริง หลังถูกกดปุ่ม หล่นตุ๊บ สูญหายตัวไปไหน? ทำไมไม่หวนกลับมา? ปล่อยให้ภาพวาดสวมบทบาทกลายเป็น The King เสียเอง? ผมเองก็ไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้ เพียงคาดเดาว่าอาจจะแฝงนัยยะถึง ‘ตนเองทรยศหักหลังตนเอง’ คล้ายๆสำนวนปลาหมอตายเพราะปาก บุคคลผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ลุ่มหลงตนเอง สุดท้ายแล้วก็จะจบสิ้นลงก็ด้วยเงื้อมมือของตนเอง
ก่อนหน้านี้อนิเมชั่นมักมีลักษณะภาพวาดสองมิติ ขยับเคลื่อนไหวแนวระนาบ แกน X-Y มากสุดก็คือมิติตื้น-ลึก ด้วยการซ้อนทับภาพวาดหลายๆชั้น (ด้วยเครื่อง Multiplane Camera)
The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) ถือเป็นอนิเมชั่นเรื่องแรกๆของโลก ที่พยายามสร้างภาพสามมิติจากภาพวาดสองมิติ ตัวละครขยับเคลื่อนไหวได้ทั้งแกน X-Y-Z ไม่จำกัดแค่มุมมอง Oblique แต่ยัง Isometric, Dimetric, Trimetric รวมถึง Perspective นำเสนอทุกความเป็นไปได้ในการสร้างมิติให้กับภาพวาดและอนิเมชั่น
ภายใต้ปราสาท บรรยากาศช่างวังเวง ไร้เฉดสีสัน อาคารบ้านช่องดูบิดๆเบี้ยวๆ (ชวนให้นึกถึงสถาปัตยกรรม German Expressionism) ปกคลุมด้วยความมืดมิด … นี่ชวนให้นึกถึงโคตรหนังเงียบ Metropolis (1927) ของผกก. Fritz Lang อยู่ไม่น้อยเลยละ!
สถานที่แห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงาน (Working Class) มีความยากจนข้นแค้น วันๆก้มหน้าก้มตาทำงาน (ลักษณะของเครื่องจักรโรงงานชวนให้นึกถึง Modern Times (1936) ของ Charlie Chaplin) ไม่เคยเห็นเดือนเห็นตะวัน ถูกควบคุมขัง มีสภาพไม่แตกต่างจาก(สวน)สัตว์เลี้ยงในกรง เพียงถูกผู้มีอำนาจเบื้องบน/หุ่นยนต์ยักษ์เหยียบย่ำยี
หุ่นยนต์ยักษ์ (สัญลักษณ์การใช้อำนาจของเผด็จการ กดขี่ข่มเหงประชาชน/คนตัวเล็ก) มองผิวเผินทั้งสองฉบับดูไม่แตกต่างสักเท่าไหร่ แต่ฉบับปี 1980 ทำการวาดภาพขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยพยายามคงรูปร่างหน้าตาคล้ายแบบเดิม แตกต่างตรงสัดส่วนจะยืดยาว ทำให้ขนาดสูงใหญ่ น่าเกรงขามขึ้นกว่าเก่า (มั้งนะ) และถ้าใครช่างสังเกตจะแทบไม่เคยเห็นยืนเต็มตัว มักมีการตัดภาพลำตัวส่วนบน vs. ขาส่วนล่าง เพื่อสื่อถึงสถานะทางสังคม (พระราชานั่งอยู่เบื้องบน ย่ำเหยียบประชาชนเบื้องล่าง)
ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่า The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) คือภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกของโลกเลยหรือเปล่าที่นำเสนอหุ่นยนต์ยักษ์ (Giant Robot) [หุ่นยนต์ขนาดเท่ามนุษย์มีมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบ แต่ไม่ใช่กับหุ่นยนต์ยักษ์] แต่สามารถพบเห็นอิทธิพลต่อ Mecha Anime อย่างมากล้นทีเดียว!
ชายตาบอดกับหีบเพลง ตัวแทนของศิลปินบรรเลงบทเพลง/สรรค์สร้างผลงานที่สะท้อนความรู้สึกผู้คน โดยไม่รู้ตัวก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจแก่ The King เลยจับมาห้อยต่อยแต่งบนกิ่งไม้ เกือบจะกลายเป็นเหยื่ออันโอชาของบรรดาเสือสิงห์ในกรงขัง … นี่ก็สะท้อนการใช้อำนาจของเผด็จการ ต่อบุคคลครุ่นคิดเห็นต่าง ถูกจับกุม คุมขัง เฝ้ารอตัดสินโทษประหารชีวิต (ไม่ก็ลงโทษใช้แรงงานหนัก)
คำกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับเรื่องเล่าของเจ้านก ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย (จะมองว่าเป็นตัวแทนมนุษย์ก็ได้กระมัง) บังเกิดความตื้นตัน มิอาจอดกลั้นความรู้สึก เลยลุกฮือขึ้นมาเดินขบวน ก้าวออกจากกรงขัง ตรงไปยังปราสาทของ The King (จากจุดต่ำสุดสู่สูงสุด) แสดงอารยะขัดขืน ประชาชนโค่นล้มเผด็จการ ต่อต้านการใช้อำนาจในทางมิชอบ
อนิเมชั่นฉบับปี 1952 จะไม่ค่อยมีฉากทำลายล้าง ตึกรามบ้านช่องพังทลายมากนัก (เพราะงบประมาณหมด) แต่เมื่อได้รับการปรับปรุงแก้ไข ฉบับปี 1980 จึงมีหลากหลายซีนที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจ หนึ่งในไฮไลท์คือการทุบหน้าอก เห็นว่าเจ้าหุ่นยนต์ยักษ์ตัวนี้ถูกตั้งชื่อว่า King Kong ก็ด้วยเหตุผลนี้กระมัง
อาการคลุ้มคลั่ง (Berserk) ของหุ่นยนต์ยักษ์ แฝงนัยยะถึงพลังอำนาจที่มียิ่งใหญ่ล้นฟ้า สุดท้ายก็หวนย้อนกลับมาทำลายตนเอง สูงสุดหวนกลับสู่สามัญ
จุดจบของ The King คือถูกสายลมพ่นจากปากหุ่นยนต์ยักษ์ พลัดปลิดปลิว กระเด็นกระดอน สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย นี่ก็เคลือบแฝงนัยยะเดียวกับที่เพิ่งอธิบายไป พลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ล้นฟ้า สุดท้ายก็หวนย้อนกลับมาทำลายตนเอง เพิ่มเติมคือสายลมแห่งกาลเวลา เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถต่อต้านทาน สักวันหนึ่งเผด็จการก็ต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่าง
ปัจฉิมบทฉบับปี 1952 จบลงอย่าง Happy Ending หุ่นยนต์ยักษ์นั่งหมดเรี่ยวแรงท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง จากนั้นกล้องค่อยๆเคลื่อนย้ายมายังชุมชนแห่งใหม่ ยังกางเต้นท์พักอาศัย แต่มีต้นไม้ ภูเขา ติดท้องทะเล และภาพถ่ายหมู่โดยเจ้านก พบเห็นหญิงเลี้ยงแกะและชายกวาดปล่องไฟ โอบกอด ครองรักกันชั่วนิรันดร์ … ตอนจบเช่นนี้ให้ความรู้สึก ‘ฟ้าหลังฝน’ หลังสามารถต่อสู้เอาชนะเผด็จการ จากนี้คือการเริ่มต้นชีวิตใหม่
ปัจฉิมบทฉบับปี 1980 แก้ไขใหม่โดย Jacques Prévert เจ้าหุ่นยนต์ยักษ์นั่งในท่าครุ่นคิด (Le Penseur แปลว่า The Thinker ประติมากรรมสำริด แกะสลักโดย Auguste Rodin เมื่อปี ค.ศ. 1902) บังเกิดความขัดแย้งภายใน ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป นี่เป็นการสะท้อนบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ …
- ช่วงต้นทศวรรษ 50s เพิ่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองมาไม่นาน ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ผู้คนเชื่อกันว่าชีวิตหลังจากนี้คง Happy Ending
- แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมาถึงทศวรรษ 70s ปรากฎว่า Happy Ending ที่เคยคาดหวังกันไว้นั้นกลับไม่มีอยู่จริง โลกหลังสงครามมันฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะยิ่งกว่าเก่า เลยไม่รู้จะครุ่นคิดทำอะไรยังไง บังเกิดความขัดแย้งภายใน
ตอนจบใหม่จึงนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนอุดมการณ์ประชาธิบไตย หรือคือใจความของอนิเมชั่นเรื่องนี้, หุ่นยนต์ยักษ์เปิดกรงให้ลูกนกโบยบินสู่อิสรภาพ และทุบทำลายกรงขัง ไม่ยินยอมก้มหัวศิโรราบ ใช้ชีวิตภายใต้การควบคุมครอบงำของเผด็จการ
ฉบับปี 1952 ตัดต่อโดย Gilbert Natot (Eyes Without a Face), ส่วนฉบับปี 1980 อยู๋ในมือของผกก. Paul Grimault ต่างดำเนินเรื่องโดยใช้การเล่าเรื่องของเจ้านก พูดเกริ่นนำอารัมบท (พร้อมเสียงบรรยายบางครั้งครา) เปิดผ้าม่าน/ย้อนเวลากลับสู่อดีต นำเสนอเหตุการณ์ล่มสลายของ King Charles V + III = VIII + VIII = XVI และราชอาณาจักร Takicardia
- อารัมบท
- (1952) เจ้านกพูดเกริ่นนำ เปิดผ้าม่าน
- (1980) เจ้านกพูดเกริ่นนำ ย้อนเวลากลับสู่อดีต
- แนะนำตัวละคร The King และ The Bird
- The King เสด็จลงมายิงลูกนก แต่ต้องอดทนรับฟังคำพูดเสียดสีถากถางของพ่อนก
- The King เสด็จกลับขึ้นอพาร์ทเม้นท์ลับ แสดงความลุ่มหลงใหลภาพวาดหญิงเลี้ยงแกะ รังเกียจชายกวาดปล่องไฟ และเชยชมภาพวาดมาสเตอร์พีซของตนเอง
- ค่ำคืนดึกดื่น ภาพวาดสามารถขยับเคลื่อนไหวราวกับมีชีวิต
- หญิงเลี้ยงแกะในภาพวาด พรอดรัก ชักชวนชายกวาดปล่องไฟให้หลบหนีไปด้วยกัน
- The King ในภาพวาด กดปุ่ม หล่นตุ๊บ ทำให้ The King ตัวจริงสูญหายตัวไปอย่างลึกลับ
- การไล่ล่าหญิงเลี้ยงแกะ จากบนหลังคาสู่ใต้ปราสาท
- The King ออกคำสั่งให้ติดตามหาหญิงเลี้ยงแกะและชายกวาดปล่องไฟ
- ทั้งสองลงจากบนหลังคา ล่องธารา มาหลบซ่อนตัวใต้ปราสาท
- The King ใช้หุ่นยนต์ยักษ์ในการไล่ล่า จนสามารถจับกุมตัวหญิงเลี้ยงแกะและชายกวาดปล่องไฟ
- การหลบหนี ปลดแอก อิสรภาพของชายกวาดปล่องไฟ
- เจ้านกและชายกวาดป่องไฟ ถูกส่งไปใช้แรงงานหนัก
- หลังจากทำลายสินค้าในโรงงาน ทั้งสองถูกส่งไปควบคุมขังยังเรือนจำสัตว์
- เจ้านกกล่าวสุนทรพจน์ ชักชวนสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ลุกฮือขึ้นต่อต้าน The King
- ต่อสู้เผด็จการ
- สรรพสัตว์ทั้งหลาย เดินขบวนไปทำลายงานแต่งงานของ The King กับหญิงเลี้ยงแกะ
- The King หลบหนีขึ้นบนหุ่นยนต์ยักษ์กับหญิงเลี้ยงแกะ แต่กลับถูกไล่ล่าติดตามโดยชายกวาดป่องไฟ
- หุ่นยนต์ยักษ์แสดงอาการคลุ้มคลั่ง (Berserk) ทำลายล้างปราสาทจนพังทลาย
- ท้ายที่สุด The King ก็ถูกหุ่นยนต์ยักษ์เป่าลม ปลิดปลิว กระเด็นกระดอน สูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
- ปัจฉิมบท
- (1952) ชุมชนแห่งใหม่ เริ่มต้นชีวิตใหม่ และรูปถ่ายเก็บบันทึกความทรงจำ
- (1980) หุ่นยนต์ยักษ์นั่งครุ่นคิด ปลดปล่อยลูกนก ทุบทำลายกรงขัง
เนื้อเรื่องราวและโครงสร้างของอนิเมชั่นทั้งสองฉบับ แทบไม่ได้มีความแตกต่างกันสักเท่าไหร่ แต่ระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นกว่า 20 นาที เกิดจากรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ผกก. Grimault แทรกใส่เข้ามาเพื่อเติมเต็มส่วนขาดๆหายๆ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างฉาก สร้างความกลมกล่อม การดำเนินเรื่องลื่นไหล และเพิ่มสัมผัส ‘กวีภาพยนตร์’
หลายคนมักมองว่าฉบับปี 1952 มีความเป็น ‘กวีภาพยนตร์’ เพราะหลายสิ่งอย่างค้างๆคาๆ ให้อิสรภาพผู้ชมในการขบครุ่นคิดตีความมากกว่า, แต่ผมมองว่าฉบับปี 1980 คลุกเคล้าเรื่องราวได้กลมกล่อม ดำเนินเรื่องลื่นไหล และเต็มไปด้วยสัมผัส ‘กวีภาพยนตร์’ ไม่แพ้กัน!
เพลงประกอบโดย József Kozma (1905-69) สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest สามารถเล่นเปียโนตั้งแต่ 5 ขวบ เขียนอุปรากรเรื่องแรกตอนอายุ 11 ปี, โตขึ้นเข้าศึกษาต่อ Royal National Hungarian Academy of Music (ปัจจุบันคือ Liszt Ferenc Academy of Music) จบสาขาวาทยากร และประพันธ์เพลง จากนั้นเดินทางไปเรียนต่อกรุง Berlin สนิทสนมกับ Bertolt Brecht และ Helene Weigel, อพยพย้ายสู่ Paris ตั้งแต่ปี 1933 รับรู้จัก Jacques Prévert แนะนำผู้กำกับ Jean Renoir ร่วมงานภาพยนตร์ Grand Illusion (1937), La Bête Humaine (1938), The Rules of the Game (1939) ฯ
แรกเริ่มนั้น Kozma มีส่วนร่วมกับ The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) เพียงแค่สามบทเพลง โดยทั้งหมดเขียนคำร้องโดย Jacques Prévert
- เปิดโดย The King ดังจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง Chanson du mois de mai N°12: Boîte À Musique แปลว่า Song of the month May No. 12: Music Box
- พ่อนกกล่อมลูกน้องเข้านอน Berceuse Paternelle แปลว่า Father Lullaby
- ลูกนกขับร้องประสานเสียง Chanson du mois de mai N°38: La Leçon Des Oiseaux แปลว่า Song of the month May No. 38: The Birds’ Lesson
เมื่อตอนที่ผกก. Grimault ถูกขับไล่ออกจากสตูดิโอ Les Gémeaux ในตอนแรก Kozma ก็ไม่ได้ต้องการมีส่วนร่วมใดๆกับโปรเจคนี้อีก แต่ไม่รู้โปรดิวเซอร์ André Sarrut ใช้คำพูดโน้มน้าวอะไรใดๆ จึงทำให้เขาหวนกลับมาทำเพลงประกอบทั้งหมด … เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Kozma แตกหักกับ Grimault และ Prévert มองหน้าไม่ติดอีกต่อไป
Kosma’s behavior had surprised and scandalized Prévert and Grimault: instead of showing solidarity with them, he delivered his music to Gémeaux and felt he had no involvement in the La Bergère affair. In a letter to Prévert dated December 22, 1952, he admitted that he hadn’t taken the affair seriously enough. Clearly, this was serious, perhaps even unforgivable, but rather foolish than wicked. These late regrets will not change anything, the breakup is complete.
ข้อสังเกตจากนักวิจารณ์ Jean-Pierre Pagliano
ผมค่อนข้างมีปัญหาในการรับฟังเพลงประกอบของ The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) เพราะคุณภาพเสียงไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่รับรู้สึกว่าทำออกมาค่อนข้างดี มีความหลายหลาก เน้นสร้างบรรยากาศ คลอประกอบพื้นหลัง ผันแปรเปลี่ยนไปตามเรื่องราว และสามารถหยอกล้อเล่นกับเหตุการณ์นั้นๆ
ผมนำบทเพลง Chanson du mois de mai N°12: Boîte À Musique ดังจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง ขับร้องโดย Fabien Loris มาให้รับฟังกัน
ต้นฉบับฝรั่งเศส | คำแปลอังกฤษ |
---|---|
L’âne, le roi et moi, Nous serons mort demain. L’âne de faim, Le roi d’ennui, Et moi d’amour. L’âne, le roi et moi, Nous serons mort demain. L’âne de faim, Le roi d’ennui, Et moi d’amour. Au mois de mai, Le vie est une cerise, La mort est un noyau, L’amour un cerisier. | The donkey, the king and me, We’ll be dead tomorrow. The donkey of hunger, The king of boredom, And I from love. The donkey, the king and I, We’ll be dead tomorrow. The donkey of hunger, The king of boredom, And I from love. In the month of may, Life is a cherry, Death is a stone, Love a cherry tree. |
ผกก. Grimault มองการกระทำของ Kozma คือทรยศหักหลังพวกพ้อง แม้อีกฝ่ายลาจากโลกไปก่อนเริ่มต้นโปรดักชั่น The King and the Mockingbird (1980) เลยครุ่นคิดอยากทำเพลงประกอบใหม่ทั้งหมด (เพราะคุณภาพฟีล์มและเสียงจากต้นฉบับ ก็ได้เสื่อมถดถอยตามกาลเวลา)
ในตอนแรกพยายามติดต่อ Maurice Jarre แต่อีกฝ่ายได้โกอินเตอร์ ไปไกลเกินเอื้อมไขว่คว้า, จากนั้นพูดคุยกับนักแต่งเพลงอีกหลายคน ล้วนบอกปัดปฏิเสธเพราะมองว่างานเพลงของ Kozma ยอดเยี่ยมดีเพียงพออยู่แล้ว, จนกระทั่งนัดพบเจอ Wojciech Kilar ประทับใจจากผลงาน The Promised Land (1976)
Wojciech Kilar (1932-2013) คีตกวีสัญชาติ Polish เกิดที่ Lwów, บิดาทำงานนรีแพทย์ ส่วนมารดาเป็นนักแสดงละคอนเวที ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบด้านดนตรี เข้าศึกษาต่อเปียโน และประพันธ์เพลง State College of Music (ปัจจุบันคือ Karol Szymanowski Academy of Music) มีความสนใจใน Polish Avant-Garde (หรือ New Polish School) รังสรรค์ผลงาน Orchestral, Choral, Chamber, ประกอบภาพยนตร์ อาทิ The Promised Land (1976), Camouflage (1977), A Year of the Quiet Sun (1984), Bram Stoker’s Dracula (1992), The Pianist (2002) ฯ
Kilar เป็นอีกคนที่ชื่นชอบประทับใจงานเพลงของ Kozma ทีแรกก็ไม่ได้อยากจับต้อง ข้องเกี่ยว แต่เมื่อผกก. Grimault ยินยอมมอบอิสรภาพในการทำเพลง ไม่ให้คำชี้แนะนำใดๆ นั่นเลยทำให้เขาตัดสินใจผสมผสานเก่าและใหม่ (คงบทเพลงของ Kozma และเสริมเติมแต่งของตนเองเข้าไป)
Paradoxically, Paul and I never talked about music. I never submitted a single demo to him… At no point did he say to me: I want this type of music, this type of orchestration… He simply let me feel the film from the inside… Which was the best solution, because, whatever happened, the images in The King and the Bird called for a certain climate, a certain form of music.
Wojciech Kilar
ด้วยความที่โน๊ตเพลงของ Kozma ไม่รู้สูญหายไปไหน Kilar จึงทำการแกะบทเพลงขึ้นใหม่ ซึ่งนั่นใช้เวลานานกว่า 6 เดือน และยังต้องรอคอยงานสร้างโปรดักชั่นเสร็จสิ้น ถึงเข้าห้องบันทึกเสียงในระยะเวลาเพียง 3 วัน! โดยวงออร์เคสตรา Grand Polish Radio Symphony Orchestra ภายใต้วาทยากร Stanislaw Wislocki (บันทึกเสียงที่ Poland) ให้คำนิยาม Main Theme บทเพลง Générique (แปลว่า General) ไว้ว่า “very romantic, very Polish” ได้ยินเพียงครั้งแรกก็สามารถสร้างความประทับใจได้โดยทันที!
บทเพลง Générique เริ่มต้นการบรรเลงเปียโน ท่วงทำนองเศร้าๆ เหงาๆ คลอประกอบออร์เคสตราเบาๆ ก่อนดังกระหึ่มขึ้นกลางเพลง ช่วยสร้างประกายแห่งความหวัง อนาคตไม่ได้สิ้นหวังขนาดนั้น … นี่เป็นบทเพลงสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ชม อารัมบทนำเข้าเรื่องราวหญิงเลี้ยงแกะกับชายกวาดปล่องไฟ ทั้งๆที่ใครๆมองว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ถูกไล่ล่าโดยบุคคลบ้าอำนาจ พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ แต่ตราบยังไม่ยินยอมรับความพ่ายแพ้ สักวันย่อมสามารถรวมพล โค่นล้มเผด็จการ และครอบครองรักกับเธอ
งานเพลงของ Kozma อาจฟังดูความน่าสนใจ แต่เมื่อได้รับการแต่งแต้ม เติมเต็ม ปรับปรุงแก้ไขโดย Kilar (แบบเดียวกับงานสร้างอนิเมชั่น นำฟุตเทจบางส่วนจากฉบับปี 1952 มาผสมผสานคลุกเคล้าเข้ากับของใหม่) ผลลัพท์คือมหัศจรรย์ใจ อย่างบทเพลง La chasse à l’oiseau แปลว่า Bird Hunting ซึ่งก็ได้ยินใน The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) แต่เมื่อเรียบเรียงใหม่โดยใช้วงออร์เคสตรา มอบสัมผัสที่แตกต่าง ยิ่งใหญ่อลังการงาน และลูกเล่นท่วงทำนองบิดๆเบี้ยวๆ เข้ากับความ(จูนิ)เบียวๆของ The King ได้เป็นอย่างดี
สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชม Kilar คือเลือกใช้ท่วงทำนองคล้ายๆเดิม แต่ผันแปรเปลี่ยนคอร์ด เครื่องดนตรี โน๊ตเสียงสูง-ต่ำ ทำให้สร้างสัมผัสในแต่ละซีเควนซ์แตกต่างออกไป โดยมี Générique คือศูนย์กลางบทเพลง! ให้ลองสังเกต La bergère et le ramoneur (แปลว่า The Shepherdess and the Chimney Sweep) เทียบกับ Main Theme บทเพลง Générique ก็น่าจะพอเข้าใจได้กระมัง
อีกบทเพลงกับ La révolte des fauves (แปลว่า The revolt of the wild beasts) ท่วงทำนองคุ้นๆหูจาก Main Theme แต่ปรับเปลี่ยนจังหวะมาเป็นทำนองเพลง Walt แต่นี่ไม่ใช่ระหว่างงานเลี้ยงเต้นรำ คือการก้าวออกจากกรงขัง สรรพสัตว์รวมกลุ่มเดินขบวนไปเผชิญหน้า ท้าทายอำนาจ โค่นล้มเผด็จการลงจากบัลลังก์
Kilar คือหนึ่งในผู้บุกเบิก Polish Avant-Garde มันคงแปลกประหลาดถ้าไม่มีสักบทเพลงที่ทำการท้าทายขนบกฎกรอบ เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง สับสนอลม่าน, La fin du grand automate (แปลว่า The end of the great automaton) การพังทลายของหุ่นยนต์ยักษ์ มันช่างคลุ้มคลั่ง (Berserk) บ้าระห่ำ … ไซโลโฟน (Xylophone) มอบสัมผัสก๊องแก๊ง กระป๋องกระแป๋ง (ของเครื่องจักรกล) ส่วนเสียงเครื่องเป่าก็ราวกับลมหายใจหุ่นยนต์ยักษ์
แซว: ผมแอบรู้สึกว่าบทเพลงนี้รับอิทธิพลจาก Ballet Mécanique (1924) ไม่น้อยเลยละ!
Epilogue ก็คือ Main Theme ที่ตัดทิ้งความเศร้าสร้อย เหงาหงอย เหลือเพียงแสงสว่าง ประกายความหวัง อนาคตสดใส (กระมังนะ) นกน้อยได้รับการปลดปล่อย โบยบินสู่อิสรภาพ หุ่นยนต์ยักษ์ทุบทำลายกรงขัง ชีวิตต่อจากนี้ไร้ซึ่งพันธนาการเหนี่ยวรั้งอีกต่อไป
We were coming out of the war and hopes in all areas were high.
Paul Grimault กล่าวถึง The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952)
The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) สร้างขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองได้ไม่นาน ผู้ชมสมัยนั้นย่อมสามารถเปรียบเทียบตนเองดั่งหญิงเลี้ยงแกะและชายกวาดปล่องไฟ พยายามหาหนทางหลบหนีจากพระราชาชั่วร้าย/ผู้นำเผด็จการอย่าง Adolf Hitler, Benito Mussolini ฯ ที่สนเพียงยึดครอบครอง เป็นหมาอำนาจ จ้าวโลก พังทลายทุกสิ่งอย่างราบเรียบเป็นหน้ากลอง
เกือบๆสามสิบปีหลังจากนั้น ยุคสมัยเคลื่อนพานผ่าน ความทรงจำเริ่มเลือนลาง The King and the Mockingbird (1980) เลยไม่จำเป็นต้องสื่อถึงหายนะจากสงครามอีกต่อไป แต่สามารถสะท้อนโลกยุคสมัยใหม่ (Post-War) สังคม การเมือง ชนชั้นผู้นำ-ประชาชน คนรวย-จน มีความแบ่งแยก ขัดแย้ง เหินห่างราวกับสวรรค์-นรก อนาคตจักนำไปสู่จุดจบไม่แตกต่างกัน
Jacques Prévert และผกก. Grimault ต่างเป็นผู้ฝักใฝ่ฝั่งซ้าย (Leftist) เสรีนิยม (Liberalism) คนหัวก้าวหน้า ต่อต้านเผด็จการ (Anti-Totalitarianism) สรรค์สร้างเรื่องราว The Shepherdess and the Chimney Sweep และ The King and the Mockingbird ด้วยจุดประสงค์ต้องการปลูกฝังค่านิยมให้กับประชาชน มนุษย์ทุกคนล้วนมีสิทธิ เสรีภาพ ภารดรภาพ (คำขวัญประเทศฝรั่งเศส) รวมถึงอิสรภาพในการครุ่นคิด พูดบอก แสดงออก รวมกลุ่มชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มผู้นำ/สังคมที่ใช้อำนาจในทางไม่ถูกต้อง
ตอนจบของ The King and the Mockingbird (1980) ยังมีอีกนัยยะหนึ่งของ Prévert ที่ขณะนั้น ค.ศ. 1977 ร่างกายเจ็บปวดอิดๆออดๆ ล้มป่วยมะเร็งปอด รับรู้ตนเองว่าคงมีชีวิตอีกไม่นาน การปลดปล่อยลูกนกจากกรงขัง สามารถเปรียบเทียบถึงความตาย จิตวิญญาณล่องลอยสู่อิสรภาพ (ร่างกายเปรียบเสมือนกรงขังจิตวิญญาณ) ไม่ต้องอดรนทนทุกข์ทรมาน หลุดพ้นจากพันธนาการโลกใบนี้
เกร็ด: ระหว่างรอบฉายปฐมทัศน์ ผกก. Grimault ทำการเว้นที่ว่างเบาะข้างๆ อุทิศไว้ให้กับเพื่อนรักผู้ล่วงรับ Jacques Prévert ที่จากไปก่อนเสร็จสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้
จะว่าไปความล้มเหลวในโปรดักชั่น The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) แม้เหตุผลสำคัญมาจากความเรื่องมาก เอาแต่ใจของผกก. Grimault แต่การกระทำของโปรดิวเซอร์ก็เกินกว่าจะให้อภัย ซึ่งการสร้างใหม่ The King and the Mockingbird (1980) สามารถสะท้อนเรื่องราวการต่อสู้ เผชิญหน้าเผด็จการ เปรียบเทียบพระราชาผู้ชั่วร้าย = โปรดิวเซอร์ André Sarrut, หญิงเลี้ยงแกะถูกลักพาตัว = โปรดิวเซอร์ Sarrut พลัดพรากอนิเมชั่นเรื่องนี้ไปจากผกก. Grimault … มันช่างเหมือนเปี๊ยบจนน่าขนหัวลุก!
The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice เสียงตอบรับถือว่าดีเยี่ยม แม้พลาดรางวัลใหญ่ให้กับ Forbidden Games (1952) แต่ยังสามารถคว้ามาสองรางวัล และเมื่อเข้าฉายในฝรั่งเศส มียอดจำหน่ายตั๋ว 1,363,935 ถือว่าค่อนข้างสูงทีเดียว ถึงอย่างนั้นกลับยังไม่เพียงพอกลบหนี้สิน จนสตูดิโอ Les Gémeaux ต้องประกาศล้มละลาย
- Special Jury Prize ปัจจุบันคือ Grand Jury Prize (ที่สอง) เคียงข้างกับ Mandy (1952)
- FIPRESCI Prize – Honorable Mention
ขณะที่ The King and the Mockingbird (1980) เห็นว่ายังไม่ทันจะเข้าฉาย ก็สามารถคว้ารางวัล Prix Louis Delluc (เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ด้วยนะ) เสียงตอบรับดีล้นหลามไม่แพ้กัน ยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสระหว่างการฉายรอบแรก 1,840,428 ใบ เป็นตัวเลขถือว่าน่าประทับใจ
ด้วยความที่ผกก. Grimault เคยประกาศตัดขาด (disown) ไม่เอาผลงาน The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) จึงเก็บเข้ากรุ ปฏิเสธยุ่งเกี่ยว ไม่เคยครุ่นคิดทำอะไรกับมัน แต่ยังสามารถหา DVD ฉบับพากย์อังกฤษ หรือรับชมทางเว็บ Archive.org เป็นสมบัติสาธารณะเรียบร้อยแล้ว
สำหรับ The King and the Mockingbird (1980) มีการบูรณะ High Definition (HD) เมื่อปี ค.ศ. 2013 สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Studio Canal รวบรวมสารคดีเบื้องหลัง และผลงานสุดท้าย La Table Tournante (1988) ร่วมกำกับ Jacques Demy
ผมมาครุ่นคิดดูว่า ถ้าตนเองได้รับชม The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) ก่อนหน้า The King and the Mockingbird (1980) ก็น่าจะมีแนวโน้มชื่นชอบหลงใหล บังเกิดความแรกประทับใจมากกว่า แบบเดียวกับ Miyazaki และ Takahata
แต่เพราะเคยได้รับชม The King and the Mockingbird (1980) เลยพบเห็นความขาดๆเกินๆของ The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) มันจึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนความชื่นชอบหลงใหล แต่ก็ประทับใจในวิวัฒนาการ พบเห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าอึ่งทึ่ง กาลเวลา ประสบการณ์ชีวิต ทำให้ผลงานมีมิติ ลุ่มลึก … จะว่าไปบทความของ raremeat.blog ก็มีวิวัฒนาการเฉกเช่นเดียวกันนะ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” จะเลือกรับชมฉบับไหนก็ได้ ต่างมีสาระข้อคิดเดียวกันถึงความลุ่มหลงระเริง เย่อหยิ่งทะนงตน การใช้อำนาจในทางมิชอบ ไร้ทศพิธราชธรรม สุดท้ายแล้วทุกสิ่งสร้างมา ย่อมหลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง … ไม่ได้จะพาดพิงถึงประเทศสารขัณฑ์แต่อย่างใด
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
คำโปรย | The King and the Mockingbird ชัยชนะของชนชั้นรากหญ้า และผู้กำกับ Paul Grimault มันช่างเลิศล้ำค่า มาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | ลุ่มหลงใหล
The King and the Mockingbird (1980) : Paul Grimault ♥♥♥♥♡
(16/11/2016) Le Roi et l’oiseau อนิเมชั่น Masterpiece จากฝรั่งเศสของ Paul Grimault -ผู้กำกับที่เป็นแรงบันดาลใจให้ Hayao Miyazaki และ Isao Takahata ก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli- ร่วมกับนักเขียนบทชื่อดัง Jacques Prévert ดัดแปลงมาจาก The Shepherdess and the Chimney Sweep (หญิงเลี้ยงแกะกับชายกวาดปล่องไฟ) ของ Hans Christian Andersen, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
นี่เป็นอนิเมชั่นผมได้รับชมแล้วรู้สึกทึ่งมากๆ มีความแปลกประหลาดพิลึกพิลั่น เทียบกับอนิเมะดูยากๆของญี่ปุ่นอย่าง FLCL (2000), Cat Soup (2001), Mind Game (2004), Paprika (2006) ฯ กลายเป็นเด็กน้อยไปเลยเมื่อเทียบกับเรื่องนี้ ความซับซ้อนที่ล้ำลึก แต่… เด็กๆดูได้และเข้าใจด้วย *-*
มันมีเยอะกับอนิเมชั่น ที่กลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เด็กๆดูได้รับความบันเทิง ส่วนผู้ใหญ่เมื่อได้เห็นจะรับรู้อะไรที่แตกต่าง, แต่สำหรับ The King and the Mockingbird มีความประหลาดคือ เด็กๆดูแล้วก็เข้าใจได้ แต่ผู้ใหญ่คิดมากจะดูไม่รู้เรื่อง นี่เป็นเหตุการณ์ประหลาด ที่ก็ไม่รู้เป็นเช่นนั้นไปได้ยังไง? หลังจากผมดูอนิเมะเรื่องนี้จบ เกาหัวส่ายหน้า เรื่องราวมันอะไรกันเนี่ย! ถึงเข้าใจสาเหตุที่ใครต่อใครยกย่องว่ายิ่งใหญ่ แต่กลับไม่สามารถสรุปใจความ หาสาระของมันได้ … ผมใช้เวลาครุ่นคิดทบทวนอยู่หลายวัน ก็คิดไม่ออก จนกระทั่งวันหนึ่งพอแล้วเลิก! เมื่อนั้นความเข้าใจบางอย่างได้เกิดขึ้น อย่างอัศจรรย์ … สรุปแล้วนี่มันอนิเมะบ้าอะไรเนี่ย ที่สามารถตบหัวลูบหลังได้เจ็บแสบขนาดนี้
Paul Grimault (1905 – 1994) ผู้กำกับอนิเมชั่นสัญชาติฝรั่งเศส มีผลงานกำกับอนิเมะขนาดยาวแค่เรื่องเดียวเท่านั้นในชีวิต และถือเป็น Masterpiece, เริ่มมีผลงานเข้าวงการตั้งแต่ปลายยุค 30s ส่วนใหญ่เป็นอนิเมชั่นขนาดสั้น ที่ดังๆ Le petit Soldat (1947) หรือ The Little Solder ได้รางวัล International Prize จากเทศกาลหนังเมือง Venice (Venice Biennale) ปี 1948
เกร็ด: มีผู้กำกับอีกคนที่ทั้งชีวิตกำกับหนังเรื่องเดียวแล้วได้รับการยกย่องว่าคือ Masterpiece คือ Charles Laughton กำกับ The Night of the Hunter (1955)
Jacques Prévert (1900 – 1977) กวีและนักเขียนบทชาวฝรั่งเศส ผมเคยพูดถึงเขาแล้วครั้งหนึ่งใน Children of Paradise (1945) ภาพยนตร์ระดับ Masterpiece ของผู้กำกับ Marcel Carné หรือที่รู้จักในฉายา Gone With the Wind ของฝรั่งเศส, ก่อนหน้านี้ Prévert ได้เคยร่วมงานกับ Grimault ในอนิเมะสั้นเรื่อง Le petit Soldat (1947) ที่ทำให้ Grimault ได้รางวัลความสำเร็จมากมาย การร่วมงานครั้งใหม่นี้ เป็นการทำตามเสียงเรียกร้องของแฟนๆ เพราะวิสัยทัศน์ของทั้งคู่ถือว่าน่าจับตามองอย่างมาก ถ้าได้พัฒนาโปรเจคเป็นอนิเมชั่นขนาดยาว คงมีความต้องโดดเด่น ยิ่งใหญ่ ไม่เหมือนใครแน่
เริ่มต้นพัฒนาโปรดักชั่นในปี 1948 นำแรงบันดาลใจมาจาก The Shepherdess and the Chimney Sweep หญิงเลี้ยงแกะกับชายกวาดปล่องไฟ วรรณกรรมเทพนิยาย เขึยนโดย Hans Christian Andersen (1805–1875) นักเขียนชาว Danish, เรื่องราวความรักระหว่างหุ่นรูปปั้นหญิงเลี้ยงแกะ (shepherdess) กับหุ่นรูปปั้นชายกวาดปล่องไฟ (chimney sweep) ที่ถูกข่มขู่โดยเทพารักษ์แกะสลักไม้ฮอกกานี ผู้ต้องการแต่งงานกับหญิงเลี้ยงแกะ จึงพยายามทำทุกวิถีทางไม่ให้ทั้งสองได้ครองคู่กัน, หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือน เมษายนปี 1845
ในหญิงเลี้ยงแกะกับชายกวาดปล่องไฟ มีช่วงหนึ่งที่หญิงเลี้ยงและและชายกวาดปล่องไฟ ปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคา (ดังรูป) กำลังเหม่อมอง รำพัน ใคร่ครวญถึงความฝัน ความรักของทั้งคู่จะลงเอย เเป็นจริงได้หรือเปล่า (เราจะเห็นฉากนี้ในอนิเมะด้วยนะครับ)
การดัดแปลงบทอนิเมชั่นของ Prévert ใช้การ loose base คือนำโครงสร้าง มาดัดแปลงเขียนเรื่องราวขึ้นใหม่ ซึ่งถ้าจะให้หญิงเลี้ยงแกะกับชายกวาดปล่องไฟเป็นตัวเอก อนิเมะเรื่องนี้คงจะกลายรักโรแมนติกหวานเจี้ยบ ไม่ได้แฝงข้อคิดอะไร, Prévert ได้ลดฐานะของทั้งคู่กลายเป็นตัวประกอบ แล้วสร้างพระราชากับนกม็อกกิ้ง (The King and the Mockingbird) เพื่อเป็นคู่สะท้อนนิสัย แนวคิดมีความตรงข้ามกับสองหญิงเลี้ยงแกะกับชายกวาดปล่องไฟ และยังเปลี่ยนให้พระราชามีความสนใจ ต้องการแต่งงานกับหญิงเลี้ยงแกะ ตัดเทพารักษ์แกะสลักไม้ฮอกกานีทิ้งไปเลย
ระหว่างที่ La Bergère et le Ramoneur (The Shepherdess and the Chimneysweep) [ชื่อ Working Title] กำลังไปได้สวย ปี 1950 สตูดิโอที่ออกทุนสร้าง Les Gémeaux เกิดล้มละลาย และโปรดิวเซอร์ André Sarrut ได้นำอนิเมะออกฉายในปี 1952 ทั้งๆที่ยังไม่เสร็จ ขัดกับความประสงค์ของ Grimault และ Prévert ทำให้ทั้งเกิดควาวมคู่ไม่พอใจอย่างมาก จึงเดินออกจากโปรเจค ทำให้ทุกสิ่งอย่างค้างคาไว้เช่นนั้น ยังไม่เสร็จสำเร็จ
แต่ Grimault ก็ตัดใจทิ้งโปรเจคนี้ไม่ลง พยายามยื้อแย่งลิขสิทธิ์กับโปรดิวเซอร์และสตูดิโออยู่หลายปี จนกระทั่ง 1977 เขาถึงได้ครอบครองลิขสิทธิ์หนัง และสรรหาทุนเพิ่มนำมาพัฒนาอนิเมะเรื่องนี้ต่อได้ (แต่ตอนนั้น Prévert ได้เสียชีวิตไปแล้ว) ใช้เวลาสร้างต่ออีก 2 ปี เปลี่ยนชื่อเป็น Le Roi et l’Oiseau (The King and the Bird) ได้ออกฉายในปี 1980
ตัวละคร King Charles V + III = VIII + VIII = XVI (นั่นชื่อเต็มๆเขานะครับ) กษัตริย์ผู้มีความเย่อหยิ่งทะนงตน เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่สนใจคนอื่น, ปราสาทของพระราชาแสดงถึง Ego ได้ชัดเจน มีความสูงเสียดฟ้า และตนเองอาศัยอยู่ชั้นบนสุด (ต้องเหนือกว่าคนอื่น), เวลาไม่พอใจใคร ก็จะกดปุ่มเปิดพื้นมหัศจรรย์ ที่ไม่ว่าใครยืนอยู่ตรงไหนต้องตกลงไป (ถูกกำจัด)
ปกติแล้ว ภาพวาดเสมือน มักแทนด้วยจิตใจ ตัวตนของคนที่เป็นแบบ ศิลปินเก่งๆ จะสามารถวาดภาพที่อยู่ข้างในของคนที่แบบออกมาได้ นี่กระมังคือเหตุผลทำให้ภาพวาดเปรียบเสมือนว่ามีชีวิตได้ (เพราะบรรจุจิตวิญญาณของคนที่เป็นแบบ), การที่ภาพวาดสามารถกำจัดตัวจริงของ King Charles ได้ นี่เป็นความหมายเชิงนามธรรม ในลักษณะที่ว่าจิตอันชั่วร้ายสามารถกลืนกินครอบงำมนุษย์ (จิตใจฝั่งเลวเอาชนะจิตใจฝั่งดี)
*** ฉากนี้เริ่มต้นตอนกลางคืน ถ้าเด็กๆดูคงจะเข้าใจว่า นี่คือความฝันแฟนตาซี คนในรูปภาพจึงมีชีวิตได้
สำหรับ Mockingbird ถ้าใครเคยดู To Kill a Mockingbird (1962) จะจดจำคำพูดหนึ่งได้ว่า ‘อย่าทำร้ายนกม็อกกิ้ง เพราะมันไม่เคยทำความเดือดร้อนให้ใคร’ การฆ่านกม็อกกิ้งเปรียบเสมือนการใส่ร้ายป้ายสี ฆ่าผู้บริสุทธิ์ (King Charles ยิงนกม็อกกิ้งเล่น แสดงถึงจิตใจอันชั่วร้ายของเขา) การพูดได้ของนกม็อกกิ้ง ถือเป็นการล้อเลียน (Satire) ตัวแทนปากเสียงของคนทั่วไป ที่ปกติมักจะไม่ค่อยพูดอะไร ก้มหน้าก้มตา ยอมรับชะตากรรมของชีวิต, เราจะเห็นว่าคำพูดของนกตัวนี้ มันเสียดสี เสียดแทงใจดำ ชอบพูดตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ชอบคือชอบ ด่าคือด่า นี่ทำให้ King Charles ไม่ชอบขี้หน้านกตัวนี้อย่างยิ่ง (เพราะพูดความจริงในสิ่งตนไม่อยากได้ยิน)
ความสัมพันธ์ระหว่าง King กับ Mockingbird ถึงจะอยู่จุดสูงสุดของปราสาทเหมือนกัน แต่นิสัย ทัศนคติ ความต้องการตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง และสะท้อนกับ ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงเลี้ยงแกะกับชายกวาดปล่องไฟ, คู่แรกเกลียดกันเข้ากระดูกดำ คู่หลังรักกันปานจะกลืนกิน, ความต้องการของ King Charles คือครอบครอง แต่งงานกับหญิงเลี้ยงแกะ ส่วน Mockingbird ต้องการตอบแทนหญิงเลี้ยงแกะ ที่ได้เคยช่วยชีวิตลูกของตนเอาไว้ ฯ
สิ่งเดียวที่หญิงเลี้ยงแกะและชายกวาดปล่องไฟจะทำได้ คือหนีไปให้ไกลจากอาณาเขตของ King Charles แต่ปราสาทแห่งนี้มันใหญ่โตเหลือเกิน จากชั้นบนสุดกว่าจะลงไปถึงชั้นล่าง มีความสลับซับซ้อน ยุ่งยากวุ่นวาย สับสนอลม่าน นั่นทำให้พวกเขาได้ค้นพบกับความจริง ภายใต้ความยิ่งใหญ่ ยังมีบางสิ่งบางอย่างแอบซ่อนอยู่ (แบบเดียวกับหนัง Metropolis-1927) คือ มีคนรวยก็ต้องมีคนจน, มีคนสะดวกสบายต้องมีคนทุกข์ยาก ฯ ซึ่งเมื่อทั้ง 2 และนกม็อกกิ้งได้หลงเข้าไปในจุดต่ำสุดของปราสาท King Charles จึงได้แสดงธาตุแท้ พลังอำนาจ (Ego) ที่ใหญ่ที่สุดของตนออกมา หุ่นยนต์ยักษ์ที่จักทำลายทุกสิ่งอย่างที่ขวางหน้า ไม่มีใครสามารถหลบหนีได้พ้น, King Charles จับชายกวาดปล่องไฟเป็นตัวประกัน ทำให้หญิงเลี้ยงแกะต้องยอมตกลงใจแต่งงานกันเขา
แต่ ณ สถานที่มืดมิด ต่ำเตี้ยเรี่ยดินที่สุดนี้ ยังคงมีประกายความหวัง นักเล่นหีบเพลงตาบอด สามารถขับกล่อมราชสีห์ทั้งหลายให้เชื่องเชื่อฟัง (ราชสีห์ แสดงถึงผู้มีพลังอำนาจ น่าเกรงกลัว เกรงขาม ถูกจับขังให้หิว ก็เหมือนอยู่ในกรงขัดต่อสัญชาติญาณแท้จริงของตน) พวกเขาร่วมกันต่อสู้เพื่อเอาชนะคนคอรัปชั่น โดยการสร้างความวุ่นวายระหว่างงานเลี้ยงแต่งงาน
ความพ่ายแพ้ของ King Charles คือการแพ้ภัยตัวเอง ด้วยหุ่นยักษ์ที่ตนเคยใช้เพื่อจัดการกับคนอื่น กลับเป็นเจ้าหุ่นนี้ที่ถูกนกม็อกกิ้งใช้ทำลายปราสาทอันยิ่งใหญ่ จนถล่มพังพับย่อยยับไม่เหลือซากอะไร (พระราชาสร้าง นกม็อกกิ้งทำลาย)
ฉบับที่ออกฉายปี 1952 ความยาว 62 นาที ยังถือว่าไม่สมบูรณ์นะครับ ผู้กำกับ Grimault นำฟุตเทจเก่ามาใช้ 42 นาที และวาดเพิ่มเรื่องราว ฉากใหม่ ปรับปรุง remaster ของเดิม เปลี่ยนแปลงเพลงประกอบและอะไรหลายๆอย่าง, ฉบับใหม่ที่ฉายปี 1980 มีความยาว 87 นาที, กับคนช่างสังเกต บางฉากจะมีความแตกต่างชัดเจนในงานภาพ ระหว่างการวาดภาพสไตล์เก่า/ใหม่ เช่น ฉากสิงโต จะเห็นความแตกต่างกันพอสมควร (ถ้าสังเกตดีๆ บางช็อตสิงโตจะวาดไม่เหมือนกัน)
การดำเนินเรื่อง ถือว่ามีความยากในการรับชมพอสมควร ไม่เน้นบทสนทนา แต่เน้นการกระทำ ภาพเคลื่อนไหว สีหน้า ดวงตาของตัวละคร ผู้ชมต้องสังเกตให้ดี เพราะไม่มีคำบรรยายใดๆแทรกไว้ นี่เรียกว่าภาษาภาพยนตร์ และอนิเมะเรื่องนี้ถือว่ามีความเป็น Poetic Film สูงมากๆ
เพลงประกอบโดย Wojciech Kilar คีตกวียอดฝีมือชาวโปแลนด์ ที่เคยทำเพลงให้ The Pianist (2002), เริ่มต้นจากฮาร์ปซิคอร์ด (Harpsichord) ฟังแล้วรู้สึกเหงาๆ แล้วเพิ่มเติมใส่เสียงฟลุต ไวโอลิน พิณ ประสานเสียงเพิ่มความอลังการด้วย Orchestra มีความไพเราะอย่างยิ่ง
การแปรเปลี่ยนเครื่องดนตรีจาก ฮาร์ปซิคอร์ด เป็นเปียโน จากเสียงแหลมกลายเป็นเสียงทุ้มหวาน มีนัยยะถึงการเปลี่ยนผ่าน จากตัวละครเป็นภาพวาดของอนิเมะด้วยนะครับ (เผื่อคนไม่รู้จัก Harpsichord ก็คล้ายๆเปียโน หน้าตาเหมือนกัน แต่เสียงต่างกัน)
การใช้เสียงเครื่องเป่าก็มีนัยยะแฝงเช่นกัน เพราะมันแสดงถึงพลังอำนาจ Ego ของตัวละครได้เด่นชัด แถมการเป่าได้เสียงเพี้ยน แสดงถึงความไม่สมประกอบของจิตใจ, หยิบเพลง La Marche nuptiale มาให้ลองฟัง หลายคนได้ยินแล้วอาจคุ้นๆ เพราะมันคือทำนอง The Wedding March ของ Felix Mendelssohn (แต่งไว้ตั้งแต่ปี 1842) ฟังแล้วรู้สึกถึงความประหลาด
ใจความของอนิเมะเรื่องนี้ คือการปลูกฝังแนวคิด (ให้กับเด็ก) และนำเสนอนิสัยของคนสองประเภท ที่อยู่สูงเหมือนกัน แต่พฤติกรรม การแสดงออกตรงข้ามโดยสิ้นเชิง, หนึ่งคือ King ผู้มีอำนาจ ลาภ ยศ บริวารเพียบพร้อม แต่กลับมีทัศนคติที่ผิดเพี้ยน แปลกประหลาด ชอบดูถูก ข่มเหง รังแก เหยียดหยามผู้อื่น ไม่เคยสนใจคนที่ต่ำต้อยกว่าตน, ตรงกันข้ามกับ Mockingbird ที่แทบไม่มีอะไรเลย (มีลูกอยู่ 4 ตัว หนึ่งก็ไร้เดียงสาชอบหลงกลถูกจับ) แต่มีจิตใจดีงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อารี รู้จักบุญคุณ ชอบช่วยเหลือคนอื่น (กระนั้นปากของนกม็อกกิ้งก็เลวร้ายนัก)
เด็กๆที่ได้ดูอนิเมะเรื่องนี้ คงจะจดจำบทเรียนที่ว่า คนนิสัยอย่าง King ไม่น่าคบ แบบ Mockingbird ปากร้ายแต่ใจดีนี่สิน่าคบกว่า, และยังเป็นการปลูกฝังการพูดแสดงความเห็นออกมาด้วย (แบบนกม็อกกิ้ง) ว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะพูดสิ่งที่อยู่ในใจตนออกมา
อนิเมชั่นเรื่องนี้ ถือว่ามีอิทธิพลต่อ Hayao Miyazaki และ Isao Takahata เป็นอย่างมาก, Miyazaki เคยให้สัมภาษณ์ว่า ‘เมื่อยุค 50s ตอนที่ผมเริ่มดูหนังเยอะๆ เก็บประสบการณ์เพื่อหาแรงบันดาลใจ ผลงานของ Paul Grimault ถือว่ามีอิทธิพลต่อผมอย่างมาก โดยเฉพาะ Le Roi et l’Oiseau ที่ทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้พื้นที่ภาพวาด (โดยเฉพาะความสูง) ให้คุ้มค่าที่สุด’
“We were formed by the films and filmmakers of the 1950s. At that time I started watching a lot of films. One filmmaker who really influenced me was the French animator Paul Grimault.It was through watching Le Roi et l’Oiseau by Paul Grimault that I understood how it was necessary to use space in a vertical manner.”
Hayao Miyazaki
ส่วน Takahata บอกว่า ‘ความชื่นชอบของผมต่อ Paul Grimault และ Le Roi et l’Oiseau คือผลงานของเขาสามารถผสมผสาน เข้าถึงความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมและอนิเมชั่นได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด’
“My admiration towards Paul Grimault and Le Roi et l’Oiseau has always been the same, probably because he achieved better than anyone else a union between literature and animation.”
Isao Takahata
กับคนที่เคยดู The Castle of Cagliostro (1979) จะเห็นว่าปราสาท Cagliostro มีความคล้ายคลึงกับ ปราสาทของ The King and the Mockingbird เป็นอย่างยิ่ง
ตอนแรกผมก็ไม่ได้ชอบอนิเมะเรื่องนี้เท่าไหร่นะครับ เวลาเราไม่เข้าใจอะไรคงไม่แปลกที่จะเกิดอคติไว้ก่อน แต่พอได้ครุ่นคิดทบทวนจนค้นพบคำตอบ ก็เริ่มชื่นชอบหลงใหล ปัจจุบันก็หลงรักเลย แม้นี่ไม่ได้กลายเป็นอนิเมะเรื่องโปรด แต่ถือว่ามีความสวยงามที่สุดลึกล้ำ อึ้งทึ่ง คิดไปได้ยังไง นิทานก่อนนอนของ Hans Christian Andersen คงน่าจะไม่ลึกซึ้งเท่านี้เป็นแน่
กับความสวยงามที่ผมเห็นตั้งแต่ครั้งแรก (แม้จะยังไม่เข้าใจเรื่องราวเท่าไหร่) ไม่ใช่งานภาพหรือเรื่องราวที่แปลกประหลาด แต่คือบรรยากาศของการเล่าเรื่อง ที่ให้ความรู้สึกกับผู้ชม เหมือนกำลังหายใจเข้าออก ทำสมาธิ คือมันมีจังหวะ ช่องว่าง ที่บางครั้งตัวละครไม่พูดอะไรเลยอยู่หลายนาที เรื่องราวดำเนินไป ภาพ ตัวละครเคลื่อนไหว แสดงออกทางการกระทำ สีหน้ากิริยาท่าทาง นี่คือสิ่งที่เรียกว่าภาษาหนัง เปรียบความงดงามนี้ได้ดังบทกลอน มีทำนองสัมผัส พรรณาถึงตัวตนของมนุษย์, ถ้าคุณสัมผัสบรรยากาศ ความรู้สึกพวกนี้ได้ ก็สามารถมองเห็นจิตวิญญาณที่เรียกว่าเป็น Masterpiece
แนะนำกับคอหนังฝรั่งเศส, คออนิเมะ, ผู้ชื่นชอบนิทานหลอกเด็กของ Hans Christian Andersen, รู้จักนักกวีชื่อดัง Jacques Prévert และอยากเห็นอนิเมะที่เป็นแรงบันดาลใจ (อาจเป็นหนึ่งในเรื่องโปรดของทั้ง) Hayao Miyazaki และ Isao Takahata
โดยเฉพาะเด็กๆ ความบันเทิงเรียบง่ายที่แฝงอยู่ในอนิเมะเรื่องนี้ ไม่ต้องอาศัยการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งก็สามารถชื่นชม เข้าใจ จดจำ เรียนรู้ใจความสำคัญของมันได้ นี่คือเหตุผลที่ผมจัดให้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ผมจัดความยากในการรับชมอยู่ที่ Professional แต่เด็กๆหรือคนไม่เคยมีประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ (Beginner) ก็สามารถดูได้นะครับ แต่จะมีความเข้าใจ มองเห็นอนิเมชั่นเรื่องนี้คนละอย่างกันเลย
จัดเรตทั่วไป มีความรุนแรงที่นุ่มนวลจนไม่รู้สึกถึงความรุนแรง
Leave a Reply