The Knack …and How to Get It (1965) : Richard Lester ♥♥♥♡
The Knack แปลว่าฝีมือ พรสวรรค์ ความสามารถพิเศษ แต่ถ้าเป็นศัพท์แสลงจะหมายถึงกลเม็ด เคล็ดลับ วิธีการที่จะทำบางสิ่งอย่างเฉลียวฉลาด ซึ่งภาพยนตร์รางวัล Palme d’Or เรื่องนี้ต้องการเสี้ยมสอนวิธีเก็บแต้ม เทคนิคจีบสาวในยุคสมัย Swinging London
ถ้าแปลแบบตรงๆ The Knack ยังสามารถหมายถึง Act of Sex! เพศสัมพันธ์คือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชายหนุ่มในการจีบสาว เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของเรือนร่างกาย เติมเต็มตัณหาราคะ ตอบสนองอารมณ์ทางเพศ ส่วนเรื่องความรัก ความต้องการของจิตใจ ค่อยไปว่ากันอีกทีเอาภายหลัง
The Knack …and How to Get It (1965) ถือเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ยุคสมัย Swinging London แห่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ศิลปะ ดนตรี และแฟชั่น เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงกลางทศวรรษ 60s คนรุ่นใหม่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (post-Wars) พบเห็นครอบครัวพานผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก (Great Depression) พวกเขาจึงพยายามมองหาสิ่งที่มีความสดใส แสงสีสว่าง บทเพลงจังหวะมันส์ๆ สำหรับปลดปล่อยตนเอง เป็นอิสระจากบริบทกฎกรอบทางสังคม การเมือง และเสรีภาพทางเพศ
เอาจริงๆผมไม่ได้ตั้งใจจะเขียน Sex Comedy สองเรื่องติดๆจาก Tom Jones (1963) แล้วมา The Knack …and How to Get It (1965) แค่พยายามมองหาหนังรางวัลของประเทศอังกฤษ ช่วงทศวรรษ 60s เห็นเรื่องหนึ่งคว้า Oscar: Best Picture อีกเรื่องคว้า Palme d’Or ก็เลยเลือกทั้งสองเรื่องนี้มาเขียนต่อกัน
ทั้ง Tom Jones (1963) และ The Knack …and How to Get It (1965) ต่างแพรวแพราวด้วยลูกเล่น เทคนิคภาพยนตร์ สามารถสร้างเสียงหัวเราะ ด้วยวิธีการนำเสนอ(และบทสนทนา)อันเฉียบคมคาย แต่ขณะเดียวกันก็อาจสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับผู้ชม ทำไมฉันต้องมาทนดูหนังที่มีเรื่องราวความสัปดล หมกมุ่นมักมากในกามคุณ … Sex Comedy มันมีความเฉพาะกลุ่มจริงๆนะ!
ในขณะที่ The Knack …and How to Get It (1965) มีความจัดจ้านด้านเทคนิคภาพยนตร์ แปลกใหม่ ดูไม่ซ้ำแบบใคร, Tom Jones (1963) เน้นความสรวลเสเฮฮา สนุกสนานเพลิดเพลิน และ(น่าจะ)เข้าถึงผู้ชมในวงกว้างได้มากกว่า … แต่ก็แล้วแต่ผู้ชมจะชื่นชอบเรื่องไหนมากกว่านะครับ
Richard Lester Liebman (1932-) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania ครอบครัวเชื้อสาย Jews มีความเฉลียวฉลาดระดับอัจฉริยะ อายุ 15 เข้าเรียน University of Pennsylvania แต่กลับเลือกทำงานวงการโทรทัศน์ ไต่เต้าจากผู้ช่วย กลายเป็นผู้กำกับซีรีย์ Action in the Afternoon (1953-54), อพยพสู่กรุง London กลายเป็นนักเขียนบท ซีรีย์ หนังสั้น The Running Jumping & Standing Still Film (1959), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก It’s Trad, Dad! (1962), โด่งดังจากหนัง The Beatles เรื่อง A Hard Day’s Night (1964) และ Help! (1965) จนได้รับฉายา ‘Father of the Music Video’
สำหรับ The Knack …and How to Get It (1965) ได้แรงบันดาลใจ/ดัดแปลงหยาบๆจากละครเวที The Bed-Sitting Room (1962) แต่งโดย Spike Milligan และ John Antrobus ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ยัง Marquee Club ณ Soho, Westminster วันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1962
The Bed-Sitting Room (1962) เป็นแนวตลกล้อเลียน (Comedy Satire) พื้นหลังโลกยุคหลังหายนะ (Post-Apocalyptic) จากสงครามนิวเคลียร์ (Nuclear War) นำเสนอเรื่องราวกลุ่มผู้รอดชีวิตเล็กๆ กำลังมองหาสถานที่พักอาศัยในโลกใบใหม่ เนื้อหาหลักๆพยายามวิพากย์วิจารณ์สภาพสังคมยุคสมัย Cold Wars โดยชื่อบทละครสะท้อนความเป็นส่วนตัวของมนุษย์ หลงเหลือเพียงในห้องนอนขนาดเพียงที่นั่งหลับ แสดงให้ว่าทุกสิ่งอย่างมันช่างกลับตารปัตรจากทุกสิ่งที่เคยมีมา!
We were going to do ‘The Bed-Sitting Room,’ which we couldn’t do, and so we sort of improvised, creating a totally different thing but taking some of the elements of ‘The Bed-Sitting Room’ – this rather surreal way of looking at things.
Richard Lester ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian
We decided we couldn’t film ‘The Bed-Sitting Room’ because it was a piece of theatre and the means of expression was essentially a verbal one. But we did take some of the mood and feeling and apply it to ‘The Knack.’
Charles Wood ผู้พัฒนาบท The Knack …and How to Get It (1965)
เกร็ด: หลายปีถัดมา ผกก. Lester ก็มีโอกาสดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ The Bed Sitting Room (1969) แต่คุณภาพเทียบไม่ได้กับ The Knack …and How to Get It (1965)
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า The Knack …and How to Get It (1965) ดัดแปลงจากบทละครเวที The Knack (1962) ของ Ann Jellicoe แต่ในบทสัมภาษณ์ผกก. Lester บอกว่าแค่นำเอาชื่อมาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
We found this play called ‘The Knack’ and said, ‘That’s a good title.’ It had nothing to do with the film.
Richard Lester กล่าวถึงชื่อหนัง
ครูหนุ่มโสด Colin (รับบทโดย Michael Crawford) ทำงานอยู่ในกรุง London เกิดความอิจฉาริษยาเพื่อนร่วมอพาร์ทเม้นท์ Tolen (รับบทโดย Ray Brooks) มีหญิงสาวมากมายต่อแถวรอคอยคิวร่วมเพศสัมพันธ์ จึงเพ้อใฝ่ฝันอยากได้รับโอกาส ‘The Knack’ เลยตัดสินใจขอคำปรึกษา แนะนำวิธีการจีบสาว
จิตรกรหนุ่ม Tom (รับบทโดย Donal Donnelly) พบเห็นประกาศห้องเช่า บุกรุกเข้ามายึดครอง จากนั้นขนย้ายเฟอร์นิเจอร์/สิ่งข้าวของออกจากห้อง แล้วทาทุกสิ่งอย่างให้กลายเป็นสีขาว จากนั้นให้ความช่วยเหลือ Colin ในการหาซื้อเตียงอันใหม่
ขณะเดียวกันการมาถึงของสาวเนิร์ด Nancy Jones (รับบทโดย Rita Tushingham) ออกเดินทางติดตามหา YWCA (Young Women’s Christian Association) จับพลัดจับพลูพบเจอ Colin กับ Tom ระหว่างหาซื้อเตียงอันใหม่ ช่วยกันลากพากลับอพาร์ทเม้นท์ จากนั้นถูกการเกี้ยวพาราสีโดย Tolen พาไปยังสวนสาธารณะ แล้วเกิดอาการวิตกจริต ครุ่นคิดว่าตนเองโดนข่มขืน (Rape Fantasy) … เรื่องวุ่นๆวายๆจึงบังเกิดขึ้นอีกมากมาย
Michael Crawford ชื่อจริง Michael Patrick Smith (เกิดปี 1942) นักร้อง นักแสดง คอมเมอเดี้ยน สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Salisbury, Wiltshire ในครอบครัว Roman Chatholic ที่เคร่งครัด แต่ตัวเขากลับไม่ค่อยยึดถือปฏิบัติ เลยมักถูกลงโทษอยู่เป็นประจำ ค้นพบความชื่นชอบการแสดงตั้งแต่สมัยเรียน โตขึ้นได้เข้าร่วม English Opera Group แล้วมีผลงานละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ โด่งดังกับภาพยนตร์ The Knack …and How to Get It (1965), Hello Dolly! (1969) ฯ
รับบท Colin ครูสอนหนังสือที่มีความทึ่มทื่อ ใสซื่อ ไร้เดียงสา เหนียงอายกับผู้หญิง ขาดความเชื่อมั่นในใจตนเอง เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา Tolen เลยลองขอคำแนะนำ แต่เหมือนว่ามันจะไม่เป็นประโยชน์สักเท่าไหร่ หมกมุ่นอยู่กับการได้เตียงใหม่ (เชื่อว่าเตียงใหญ่จะทำให้สาวๆลุ่มหลงใหล) กำลังใจจาก Tom และโชคชะตากำหนดมาให้พบเจอ ตกหลุมรัก Nancy Jones ท้ายที่สุดเลยได้ครอบครอง ‘The Knack’ สมดั่งใจหวัง
เพราะไม่ได้ประสบการณ์ภาพยนตร์มากนัก ในตอนแรก Crawford ครุ่นคิดอยากบอกปัดปฏิเสธ แต่ผกก. Lester เหมือนจะพบเห็นอะไรบางอย่างในตัว จึงให้คำมั่นว่าเหมาะสมกับบทบาท
Michael Crawford had a wonderful sort of innocence about him, which I thought was right for the part. He was also very keen to do it, which is always a good thing.
Michael was perfect for the part because he had a sort of nervous energy that worked very well. He was very funny, but he could also be very touching and vulnerable.
Richard Lester
ภาพลักษณ์(ที่ดูผอมบาง) และบุคลิกภาพของ Crawford ดูเป็นหนุ่มเนิร์ดๆ ขี้เหนียงอาย เต็มไปด้วยความกลัวๆกล้าๆ แสดงออกผ่านทางสีหน้า ถ้อยคำพูด (สำเนียงอังกฤษ ทำให้ตัวละครดูเหมือนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง) รวมถึงภาษากาย ดูละอ่อนเยาว์วัย เหมือนลูกแมวน้อยไร้เดียงสา แต่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ต้องการ ‘The Knack’ สำหรับเติมเต็มสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ
[Crawford] perfectly conveys the confusion, insecurity and excruciating self-consciousness that afflict every young man who has ever tried to get a girl.
นักวิจารณ์จาก Time Out London
ตัวละครนี้สามารถใช้เป็นตัวแทนผู้ชม บุคคลธรรมดาทั่วไป วัยรุ่นหนุ่ม-สาวที่ยังละอ่อนเยาว์วัย ได้เปิดโลกทัศน์ เรียนรู้วิถียุคสมัยใหม่ ไม่จำเป็นที่เราต้องเลียนแบบ Tolen เพียงเป็นตัวของเราเอง แล้วสักวันหนึ่งก็อาจพบเจอขั้วตรงข้าม บุคคลสามารถเติมเต็มกันและกัน … เอาจริงๆการได้-ไม่ได้ ‘The Knack’ ไม่ได้ทำให้เราถึงกับลงแดงตาย
Raymond Michael Brooks (เกิดปี 1939) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Brighton, East Sussex เข้าสู่วงการจากซีรีย์โทรทัศน์ Taxi! (1963-64), พอมีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ The Knack …and How to Get It (1965), แต่หลังจากนี้ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มีผลงานโทรทัศน์ และภาพยนตร์เพียงประปราย
รับบท Tolen เทพบุตร หนุ่มหล่อ หน้าตาดี จนมีสาวๆต่อแถวเรียงคิวมาให้ร่วมเพศสัมพันธ์ เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น รับรู้ความต้องการของตนเอง รวมถึงเทคนิคที่จะทำให้หญิงสาวยินยอมศิโรราบ จนกระทั่งมาพบเจอกับ Nancy Jones ในตอนแรกก็สามารถควบคุมครอบงำ บงการอีกฝั่งฝ่าย แต่แล้วยัยนี่แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมา จนเกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต และเริ่มตระหนักได้ถึงบางสิ่งอย่าง
Ray was wonderful. I saw him on television doing Harold Pinter’s The Caretaker and I thought he was just what we needed. I didn’t want a star, I wanted someone who was fresh and new.
Richard Lester
ต้องยอมรับว่า Brooks หล่อจริงๆ ดูราวกับบุรุษในอุดมคติที่แม้แต่ผู้ชายด้วยกันยังรู้สึกอิจฉาริษยา ทั้งการแต่งกาย บุคลิกภาพสุดเนี๊ยบ และยังเป็นจอมบงการ ‘Alpha Male’ เก็บแต้มสาวๆไม่ซ้ำหน้า แต่ขณะเดียวกันสีหน้าท่าทางกลับดูเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย มันคงเกิดจากความมากเกินไป (ที่ได้ร่วมเพศสัมพันธ์กับหญิงสาว) จนเริ่มมองไม่เห็นคุณค่าพวกเธอ (ในสายตาของเขา หญิงสาวทุกคนเลยดูเหมือนกันไปหมด) รู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง ไม่มีใครสักคนสามารถเติมเต็มความต้องการของหัวใจ
I liked Tolen. He was such a cool character. He knew what he was doing. He had everything sussed out. He had the gift of the gab. He had the girls.
Ray Brooks
ตัวละคร Tolen ถือได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับ Colin แต่ถึงเขาจะได้ร่วมเพศสัมพันธ์หญิงสาวมากมาย (สะท้อนค่านิยมเสรีภาพทางเพศในยุคสมัย Swinging London) แต่กลับไม่ใครคนไหนสามารถเติมเต็มความต้องการของหัวใจ จนกระทั่งได้พบ Nancy Jones ถูกกระตุ้นเตือนด้วยคำพูด ‘Rape’ ทำให้เขาเกิดความตระหนักถึงสิ่งขาดหายไปของตนเอง … ไม่รู้เหมือนกันว่า หลังจากนี้เขาจักยังสามารถดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของตนเองได้หรือไม่
Rita Tushingham (เกิดปี 1942) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Garston, Liverpool บิดาเป็นเจ้าของร้านขายของชำ ตัวเธอในตอนแรกร่ำเรียนเลขานุการ แต่ต่อมาเปลี่ยนเกิดความสนใจอาชีพนักแสดง เคยทำงานผู้ช่วยผู้จัดการ Liverpool Playhouse ก่อมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด A Taste of Honey (1961) ** คว้ารางวัล Cannes: Best Actress, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Leather Boys (1964), The Knack …and How to Get It (1965), Doctor Zhivago (1965), Smashing Time (1967) ฯ
รับบท Nancy Jones หญิงสาวมีความทึ่มทื่อ ใสซื่อ ไร้เดียงสา เหนียงอายกับผู้ชาย ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เดินทางจากชนบทเข้าสู่เมืองหลวง พยายามติดตามหา YWCA (Young Women’s Christian Association) พบเจอเหตุการณ์ต่างๆที่สร้างความประหลาดใจ แปลกใหม่ ในช่วงแรกๆยังพอรับไหว แต่เมื่อถูกคุกคามทางเพศจาก Tolen เกิดอาการวิตกจริต ครุ่นคิดว่าตนเองโดนข่มขืน (Rape Fantasy) แล้วแสดงอาการระริกระรี้ บีบบังคับ Colin ต้องการร่วมเพศสัมพันธ์
ผกก. Lester มีความประทับใจ Tushingham ตั้งแต่ผลงานแจ้งเกิด A Taste of Honey (1961) เชื่อว่าสามารถรับบทบาทที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและเปราะบาง … Tushingham ถือเป็นนักแสดงประจำ (Muse) แห่งยุคสมัย British New Wave เลยก็ว่าได้
She was a brilliant actress, and had a kind of freshness and honesty that I really responded to. I knew she would be perfect for the part.
Richard Lester
ผมแอบรู้สึกว่าดวงตาของ Tushingham ดูกลมโต บ้องแบ้ว เหมือนลูกแมวน้อยไร้เดียงสา น่าเอ็นดูทะนุถนอม ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความเปราะบาง รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยระหว่างถูกเกี้ยวพา/คุกคามจาก Tolen และให้กำลังใจ Colin เพราะทั้งสองมีความละม้ายคล้าย ราวกับเกิดมาเคียงคู่กัน
แม้ผมจะไม่ค่อยชอบพัฒนาการตัวละครหลังจากถูกคุกคามทางเพศ หมกมุ่นอยู่กับคำว่าข่มขืน (Rape Fantasy) มันขำไม่ออกเลยสักนิด! แต่มันก็ปลุกตื่นทั้ง Tolen และ Colin ให้ตระหนักถึงความต้องการแท้จริงของตนเอง สตรีไม่ใช่วัตถุทางเพศ แต่คือบุคคลที่สามารถเติมเต็มและเคียงข้างบุรุษ
I was so lucky to have been part of that time. It was a real community, and there was such freedom. Everything seemed possible, and we felt we could change the world. And in a way, we did. We changed cinema, and we changed attitudes.
Rita Tushingham
Donal Donnelly (1931-2010) นักแสดงสัญชาติ Irish เกิดที่ Bradford, West Riding of Yorkshire บิดาเป็นหมอจาก Country Tyrone พาบุตรชายกลับไปเติบโตที่ Dublin โตขึ้นเข้าร่วมคณะการแสดงของ Anew McMaster จากนั้นมีโอกาสแสดงภาพยนตร์ The Knack …and How to Get It (1965), Twister (1989), The Godfather Part III (1990) ฯลฯ
รับบท Tom จิตรกรหนุ่มหล่อ หน้าตาดี มีความเฉลียวฉลาด เป็นตัวของตนเอง โหยหาชีวิตที่เรียบง่าย สงบสุข เข้าสังคมไม่ค่อยเก่ง ‘Introvert’ เห็นอกเห็นใจ ชอบให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ในช่วงแรกๆเต็มไปด้วยความเหนียงอายต่อหญิงสาว แต่ได้รับการผลักดันให้ออกไปผจญโลกกว้าง กล้าท้าเสี่ยง จนเกิดมิตรภาพผองเพื่อน สำคัญกว่าการได้ครอบครอบ ‘The Knack’
การแสดงของ Donnelly อาจไม่ได้รับการพูดถึง ชื่นชมอะไรมากนัก แต่บทบาท Tom ถือเป็นตัวละครขั้วตรงข้ามกับ Tolen คอยให้ความช่วยเหลือ Colin จนได้มีโอกาสสานสัมพันธ์กับ Nancy และยังช่วยตบมุก สร้างเสียงหัวเราะ เติมเต็มองค์ประกอบของหนังให้มีความลงตัว
Richard [Lester] was a very exciting director, very imaginative. He would sometimes do just one or two takes, but he would always be working on ideas.
Donal Donnelly
ถ่ายภาพโดย David Watkin (1925-2008) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ หนึ่งในผู้บุกเบิกการทดลองใช้แสงสะท้อนฉาก (Bounce Light), ฝึกฝนการถ่ายระหว่างทำงาน Sounthern Railway Film Unit ตำแหน่งผู้ช่วยตากล้อง จนมีโอกาสเริ่มต้นถ่ายทำ Title Sequence ภาพยนตร์ Goldfinger (1964), ผลงานเด่นๆอาทิ Help! (1965), The Knack …and How to Get It (1965), The Devils (1971), The Three Musketeers (1973), Chariots of Fire (1981), Out of Africa (1985)**คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography
ใครเคยรับชม A Hard Day’s Night (1964) หรือ Help! (1965) น่าจะมักคุ้นกับมุมกล้องแปลกๆ เคลื่อนภาพเร็วๆ ตัดต่อกระโดดไปมา หลากหลายเทคนิค ลูกเล่น ภาษาภาพยนตร์ จุดประสงค์เพื่อเป็นการสร้างพลัง รู้สึกกระตือร้น แทนความระริกระรี้ หัวขบถ ต่อต้านขนบ โหยหาอิสรภาพของวัยรุ่น (และผู้กำกับภาพยนตร์) สะท้อนยุคสมัย British New Wave รวมถึง Swinging London
หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด ออกตระเวนไปทั่วกรุง London โดยใช้ระยะเวลาโปรดักชั่นเพียง 6 สัปดาห์ (ระหว่างตุลาคม-ธันวาคม ค.ศ. 1964)
- อพาร์ทเม้นท์ The White Pad ตั้งอยู่ที่ 1 Melrose Terrace, ถนน Shepherd’s Bush Road, ย่าน Hammersmith ปัจจุบันยังคงตั้งอยู่ที่เดิม แต่เป็นบ้านส่วนตัว (Private House)
- โรงเรียน Holland Park School ตั้งอยู่ Campden Hill Road, Kensington
- สถานรถไฟ Victoria Coach Station, Westminster
- Buckingham Palace
- Royal Albert Hall, South Kensington
- Ewell Junkyard
- Shepherd’s Bush Market
- Notting Hill Gate, Notting Hill
- Victoria Embankment, Westminster
ความสไตล์ลิสต์ของหนังเริ่มต้นตั้งแต่ Title Credit ด้วยการใส่เส้นๆให้กับตัวอักษร สอดคล้องบานเกล็ด และยังลวดลายของผ้าคลุมเตียง เหล่านี้มีลักษณะ ‘ลายขวาง’ คล้ายๆสำนวนจระเข้ขวางคลอง สามารถสื่อถึงเรื่องราว/การกระทำที่ไม่เป็นไปตามครรลอง ขัดแย้งต่อขนบวิถี กฎกรอบทางสังคม
หญิงสาวต่อแถวรอคิวเพื่อที่จะร่วมเพศสัมพันธ์กับ Tolen นี่อาจดูเป็นสิ่งเพ้อเจ้อไร้สาระ (Absurd) แต่การที่พวกเธอสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องประดับ แต่งกายเหมือนกันยังกะแกะ สามารถสื่อถึงความเป็น ‘stereotype’ สะท้อนค่านิยมยุคสมัย เหมารวมคนส่วนใหญ่ล้วนแสดงออก/มีพฤติกรรมไม่ต่างจากนี้ หรืออาจจะตีความว่าพวกเธอคือวัตถุทางเพศ ‘sex object’ ที่แลดูเหมือนกันไปหมด ก็ได้เช่นกัน
สำหรับการกระทำของสาวๆเหล่านี้ น่าจะพอทำความเข้าใจนัยยะซ่อนเร้นกันได้กระมัง อาทิ สะสมแสตมป์, ลงนามพร้อมความเห็น, ยืดเส้นยืดสาย, รับประทานหอย, นวมต่อยมวย ฯลฯ
เรื่องราวของหนังเริ่มต้นด้วยการให้ตัวละคร Colin พูดคุยสนทนาหน้ากล้อง (Breaking the Fourth Wall) พูดอธิบายกับผู้ชมว่าเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรภายนอกห้อง มันอาจไม่ได้เว่อวังอลังการขนาดนั้น แต่สะท้อนความครุ่นคิดจินตนาการของตัวละคร รับรู้สึกถึงการที่เพื่อนร่วมอพาร์ทเม้นท์ Tolen ชอบมาพร้อมหญิงสาวไม่ซ้ำหน้า มันเป็นสิ่งสร้างความอิจฉาริษยา ขัดแย้งต่อสามัญสำนึกส่วนตน
เรื่องวุ่นๆของตู้ฝากกระเป๋า หยอดเงินที่ล็อกเกอร์หนึ่ง แต่อีกล็อกเกอร์หนึ่งกลับเปิดออก นี่สามารถสื่อถึงการไม่มีอะไรเป็นไปดั่งคาดหวัง ต้องการสิ่งหนึ่งแต่ได้รับอีกอย่างหนึ่ง หรือคือวิถีชาว London ผิดแผกแตกต่างจากเคยครุ่นคิดจินตนาการไว้ ไม่เห็นเหมือนที่ใครๆ(ผู้หลักผู้ใหญ่/คนสมัยก่อน)พูดบอกกล่าวเลยสักนิด
ไม่ใช่แค่เรื่องวุ่นๆ ณ ตู้ฝากกระเป๋า ยังมีอีกหลายครั้งที่เกิดการสลับรูปภาพถ่าย กระเป๋าเป็นขวดนม บอกทิศทางผิด ฯ ซึ่งล้วนสื่อนัยยะเดียวกันถึงการไม่มีอะไรเป็นไปเหมือนเก่าก่อน กาลเวลาได้ปรับเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง
หนึ่งในเทคนิคที่พบเห็นบ่อยครั้ง ก็คือการแทรกภาพชาวบ้านชาวช่อง ได้ยินเสียงซุบซิบนินทา (แถมมีการใช้ถ้อยคำที่สอดคล้องจอง ราวกับบทกวี) เพื่อให้ผู้ชมตระหนักถึงความคิดเห็น/ข้อครหาของบุคคลทั่วไป สังคมผู้ดีอังกฤษยุคสมัยนั้นยังไม่ให้การยินยอมรับพฤติกรรมนอกรีตนอกรอยเหล่านี้
หลายคนเห็นคำอธิบายคณิตศาสตร์แล้วก็ส่ายหัว แต่ถ้าผมจำไม่ผิดนี่น่าจะคือบทเรียนมัธยมต้นเองนะครับ (ดูจากวัยวุฒิของเด็กๆ) มุมตกกระทบเท่ากับมุมสะท้อน นี่ก็สามารถล้อกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมยุคสมัยนั้น ที่อะไรๆล้วนกลับตารปัตรจากอดีต ในลักษณะทิศทางขั้วตรงกันข้าม
ระหว่างกำลังสอนหนังสือ Colin สังเกตเห็นตัวตนเอง (Doppelgänger) ยืนจับจ้องมองสาวๆ เล่นบาสเกตบอลอยู่นอกรั้วโรงเรียน? ผมตีความว่านี่คือภาพสะท้อนของตัวละคร (มองออกไปนอกกระจกพอดิบดี) บุคคลที่มีความสนใจขั้วตรงข้าม (ล้อกับบทเรียนที่กำลังสอนอยู่เช่นกัน)
- ครูสอนหนังสือ Colin พยายามซุกซ่อนความรู้สึก ปกปิดบังความต้องการของตนเอง
- ตัวปลอม Colin จับจ้องมองสาวๆด้วยสายตามุ่งมั่น หื่นกระหาย ไร้ยางอาย
คำโฆษณาของพนักงานขายเสื้อผ้า นี่ก็ไม่ต่างจากสาวๆที่ต่อแถวรอคิวร่วมเพศสัมพันธ์กับ Tolen บุรุษยุคสมัยนั้น-นี้ใช้วิธีการสำเร็จรูป คำพูดเดิมๆซ้ำๆ สำหรับลวงล่อหลอก ซื้อใจหญิงสาว ให้หลงคารม คล้อยตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สูญเสียความเป็นตัวของตนเอง … ไม่ต่างจากหุ่นยนต์/วัตถุที่ไร้อารมณ์ ‘object of desire’
If I should see this girl, should I come across?
Colin
Colin เริ่มต้นขอคำแนะนำวิธีการจีบสาวจาก Tolen เริ่มต้นด้วยคำถาม Should I come across? ความหมายจริงๆของประโยคนี้คือ ฉันควรทำตัว/แสดงออกอย่างไร? (come across ไม่ได้มีความหมายแค่บังเอิญพบเจอ แต่ยังบุคลิภาพ/การแสดงออก) ซึ่งสำหรับคนภาษาอังกฤษอ่อนแอ อาจเข้าใจผิดครุ่นคิดว่ากำลังจะข้ามฟากอะไรสักอย่าง ซึ่งหนังก็ดันใช้ความเข้าใจมั่วๆดังกล่าว เลือกถ่ายทำฉากนี้บริเวณท่าเรือ
คำแนะนำแรกของ Colin คือให้รับประทานอาหารมีคุณค่าทางโภชนาการสูง … แม้งเกี่ยวอะไรฟร่ะ? เหตุผลของเขาก็คือ อาหารดีๆจะแปรสภาพเป็นพลังงาน เพื่อร่ายกายจักมีเรี่ยวแรงทำกิจกรรมทางเพศ
ระหว่างที่ Tolen ให้คำแนะนำ Colin จะมีการจดบันทึก แทรกภาพเด็กๆท่องจำ (นี่เป็นการล้อเลียน/เปรียบเทียบการกระทำ) และปรากฎข้อความพร้อมภาพสาวๆ “MAN MUST DOMINATE” โดยมีการเน้นยำ แช่ภาพ กระพริบข้อความ “DOMINATE” เพื่อตอกย้ำสิ่งสำคัญที่สุด (ในความครุ่นคิดของ Tolen) ว่าต้องควบคุมครอบงำ ทำตัวเองให้มีอิทธิพลเหนือกว่า
แต่วิธีการดังกล่าวของ Tolen ดูแล้วคงไม่ทำให้ Colin สามารถ ‘come across’ ครอบครองหญิงสาวได้สำเร็จ เพราะจู่ๆเขาก็ปล่อยมือจากเชือกเล่นสกี โชคยังดีแค่จมน้ำ ไปไม่ถึงอีกฟากฝั่งฝัน
คำแนะนำของ Tolen ไม่ได้ช่วยอะไรกับ Colin แถมยังทำให้อีกฝ่ายเกิดความวิตกจริต สูญเสียสติแตก (ซีเควนซ์นี้ถือว่าล้อกับ Rape Fantasy ของ Nancy ได้เป็นอย่างดี) เมื่อเดินเข้าไปในห้องน้ำพบเห็นฮาเร็มสาวๆ ก็เดินลงบันไดซ้ำแล้วซ้ำอีก ปิดประตูซ้ำแล้วซ้ำอีก กลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ แถมยังหาอุปกรณ์สารพัดช่าง เลื่อยไม้ ทากาว ตอกตะปู ต้องการปิดกั้นไม่ให้คนอื่นเข้า-ตัวเองออก กักขังตนเองอยู่ในอพาร์ทเม้นท์
การมาถึงของ Tom แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่มีใครรับรู้ตัว (จู่ๆก็เข้ามาพักอาศัย โดยไม่แจ้งอะไรใครทั้งนั้น) ขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ออกไปยังโถงทางเดิน จากนั้นทาทุกสิ่งอย่างให้กลายเป็นสีขาวโพลน สัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ว่างเปล่า และสะท้อนอุปนิสัยตัวละครที่มีความจำเพาะเจาะจง หมกมุ่นในความสะอาด เป็นระเบียบ เรียบง่าย (purity, simplicity and uncomplicated life) … ห้องแห่งนี้ได้กลายเป็น ‘Safe Zone’ ของตัวละคร อาศัยอยู่แล้วรู้สึกปลอดภัยสไตล์บุคคล ‘Introvert’
การมีเตียงขนาดใหญ่ ลวดลายแฟนซี มันไม่ได้เกี่ยวเลยว่าจะทำให้สามารถจีบสาวสำเร็จ! แต่ความหมกมุ่น(มักม่วน)ของ Colin สะท้อนถึงเป้าหมาย ความต้องการสูงสุด ‘The Knack’ คือสนแต่เรื่องบนเตียง ร่วมเพศสัมพันธ์กับหญิงสาว
สถานที่ที่เขาซื้อหาเตียงอันนี้ คือสุสานขยะ (Junkyard หรือ Scrapyard) เป็นของมือสอง ถูกทอดทิ้งขว้าง หมดอายุการใช้งาน สามารถสื่อถึงความไร้ค่า ไม่ได้มีความสลักสำคัญ ก็อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า มีเตียงขนาดใหญ่ ลวดลายแฟนซี ไม่ได้เกี่ยวเลยว่าจะทำให้สามารถจีบสาวสำเร็จ!
แรกพบเจอระหว่าง Tom กับ Nancy ยังสถานที่สุสานขยะ (ระหว่างกำลังเลือกหาเตียงแฟนซี) นั่นแสดงถึงความไร้ค่า(เหมือนขยะ)ของพวกเขา ต่างถูกสังคมทอดทิ้ง อยู่ในจุดตกต่ำของชีวิต (เพราะต่างยังหาแฟนไม่ได้) ด้วยเหตุนี้แค่เพียงสบตา ตัดสลับใบหน้าไปมาอย่างรวดเร็ว เพื่อแสดงให้เห็นถึงโชคชะตาฟ้าลิขิต กำหนดให้เราครองคู่รักกัน
การผจญภัยของเรื่องบนเตียง ผมตีความว่าน่าจะคือ Sexual Fantasy เปรียบเทียบเวลามีเพศสัมพันธ์ มันเหมือนว่าเรากำลังล่องลอยสู่สรวงสวรรค์ แต่หนังเปลี่ยนมาเป็นพานผ่านสถานที่ต่างๆในกรุง London อาทิ
- ทะลุภาพวาดกองทัพอังกฤษ (ดูไม่ออกว่านำทัพโดยกษัตริย์พระองค์ไหน) น่าจะสื่อนัยยะถึงการแปรสภาพจากรูปธรรม → นามธรรม
- แวะเข้าร้านล้างรถ (Car Wash) ทำความสะอาดเตียงที่ดูสกปรก ให้มีความใหม่เอี่ยมอ่อง (อาบน้ำก่อน-หลังเพศสัมพันธ์)
- ล่องลอยอยู่กลาง River Tame จะมีขณะที่ Colin พลัดตกแม่น้ำ แล้วเกิดการ Reverse Shot วนซ้ำไปซ้ำมา สามารถสื่อถึงการทำซ้ำ รอบสอง รอบสาม … นับครั้งไม่ถ้วน
- และอุ้มลงบันไดขณะพานผ่าน Royal Albert Hall สถานที่จัดงานคอนเสิร์ต (Concert Hall) สามารถเปรียบเทียบ Sex=Performance art มีผู้ชมมากมาย เป็นที่รู้จักโด่งดัง
ทุกซีนที่ Tom (เหมือน)พยายามเกี้ยวพาราสี Nancy สังเกตว่ามักถ่ายจากระยะไกล พบเห็นภาพมุมกว้าง หลายตัวละครอยู่ร่วมเฟรม พูดคุย-เล่นเกม ต่อล้อต่อเถียง ทำตัวเหมือนเด็ก (Child-like) เต็มไปด้วยความสนุกสนาน
แต่การเล่นสนุกสนานเพลิดเพลินโดยไม่รู้จักเวล่ำเวลานั้นเอง ทำให้ Colin พุ่งศีรษะชนผนังกำแพง (Colin พบเห็น Nancy เล่นสนุกสนานกับ Tom เขาเลยลอกเลียนแบบ สวมบทบาทเป็นสิงโตกันเขาบ้าง) นั่นแสดงถึงหนทางตัน ไม่ใช่วิธีการเหมาะสมสำหรับจีบสาว
ทุกซีนที่ Tolen พยายามเกี้ยวพาราสี Nancy สังเกตว่าจะมีลักษณะ Two-Shot (มุมกล้องที่ถ่ายสองตัวละคร) และฝ่ายชายมักอยู่ตำแหน่งที่สามารถคุกคาม ‘Dominate’ ควบคุมครอบงำ ใช้ถ้อยคำบีบบังคับ แม้แรกๆเธอแสดงอาการหวาดกลัว พยายามหลบลี้หนีหน้า แต่ก็ถูกต้อนจนมุม มิอาจดิ้นหลุดพ้น และโดยไม่รู้ตัวกลับยินยอมทำตามคำสั่งเขาแต่โดยดี
หลังจาก Colin พบเห็นการแสดงตัวอย่างของ Tolen เขาจึงทดลองทำเช่นนั้นกับ Nancy อยู่ร่วมเฟรม Two-Shot แต่กลับถูกฝ่ายหญิงบอกปัดปฏิเสธ ไม่ชอบพอพฤติกรรมที่แสดงออกมา … จากทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าว น่าจะเสี้ยมสอนผู้ชมได้ว่า การลอกเลียนแบบวิธีการผู้อื่น อาจไม่ได้ผลลัพท์เช่นเดียวกัน เราควรที่จะมองหาความเป็นตัวของตนเอง(ในการจีบสาว)ไม่ดีกว่าหรือ?
ระหว่างทางที่ Tolen นำพา Nancy ขับขี่มอเตอร์ไซด์ ออกท่องเที่ยวไปทั่วกรุง London, สองหนุ่ม Tom และ Colin ต่างออกวิ่งไล่ล่าติดตาม เพราะหวาดกลัวว่าเขาจะทำมิดีมิร้ายต่อเธอ พานผ่านสถานที่ …
- ถนนราดยางมะตอย ทำให้ Tom เกิดการลื่นไถล เกือบทรงตัวไม่อยู่ สูญเสียการควบคุม
- บานประตู(โดเรมอน)มากมาย เดี๋ยวเข้า-เดี๋ยวออก จนไม่รู้ทิศทางไหน เธออยู่แห่งหนใด
จะว่าไปมอเตอร์ไซด์ของ Tolen คือสัญลักษณ์ของความเชื่อมั่น ดื้อรั้น อิสรภาพชีวิต พฤติกรรมหัวขบถ กระทำสิ่งขัดต่อขนบทางสังคม และยังสามารถตีความถึง ‘ลึงค์’ อวัยวะเพศชาย เมื่อหญิงสาวขึ้นขับขี่ ก็ราวกับได้มีเพศสัมพันธ์ ล่องลอยอยู่บนสรวงสวรรค์/ท้องถนนกรุง London ปิดๆเปิดๆประตูหน้า-หลัง (สัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิง)
Tolen ชักนำพา Nancy มายังสวนสาธารณะ บริเวณลับตาคน รายล้อมรอบด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติ จากนั้นแสดงสันชาติญาณธาตุแท้ของบุรุษ เอื้อมมือสัมผัสลูบไล้ ค่อยๆเลื้อยไต่ขึ้นไป ตัดภาพสลับกับใบหน้าตัวละคร จนกระทั่งฝ่ายหญิงเกิดความหวาดวิตกจริต ลุกขึ้นยืน พูดคำปฏิเสธต่อต้าน พร้อมๆเชื้อเชิญในคราวเดียวกัน
Just you don’t better come near me. Just you, well, come near me…
นี่แสดงถึงขัดแย้งภายในจิตใจของหญิงสาว ใจหนึ่งต้องการปลดปล่อยทุกสิ่งอย่าง แต่อีกใจกลับพยายามกีดกัน เก็บกดดันความรู้สึกดังกล่าวเอาไว้ จนในที่สุดก็เป็นลมล้มพับ หมดสูญสิ้นสติสมประดี
ระหว่างที่ Nancy (เหมือนจะแสร้งว่า)เป็นลมล้มพับ Tolen และ Tom ต่างยืนหันหน้าออกคนละทิศละทาง มีเพียง Colin เดินวนไปวนมารอบหญิงสาว ทั้งเป็นห่วง ทั้งหวาดวิตกจริต แต่ไม่รู้จะครุ่นคิดทำอะไรยังไง … นี่แสดงให้เห็นถึงความห่วงใย ใส่ใจของบุรุษทั้งสามต่อสตรีเพศ
- Tolen เห็นพวกเธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศ เลยไม่สนใจอะไรพรรค์นี้อยู่แล้ว (สวมสูทดำ)
- Tom นั้นเป็น Introvert สนแต่เรื่องของตนเอง ไม่รู้จะอะไรยังไงกับเธออยู่แล้ว (สวมเสื้อขาว)
- Colin ถือว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างทั้งสอง (สวมสูทเทา) เต็มไปด้วยความห่วงใย แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป
‘ข่มขืน’ ถือเป็นคำต้องห้ามที่สร้างความหวาดหวั่น สั่นสะพรึงให้กับหนุ่มๆทั้งสาม เพราะมันผิดกฎหมาย อันตราย สังคมไม่ให้การยินยอมรับ! วิธีการนำเสนอซีนนี้ทำเหมือน Jump Cut ในตอนแรกทั้งสามยืนอยู่ต่อหน้ากล้อง พอได้ยิน Nancy กล่าวคำว่า Rape จะมีการตัดภาพเห็นพวกเขายืนห่างออกไป และอีกช็อตถอยไปข้างหลังสุด ก่อนวกวนกลับมาจุดเริ่มต้น สามารถสื่อถึงอาการตกตะลึง คาดไม่ถึง ไม่อยากรับรู้รับฟัง ร่วมรู้เห็นกับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น (ขนาดว่า Colin ยังยกมือขึ้นอุดหู)
ทำไมจู่ๆ Nancy ถึงครุ่นคิดว่าตนเองถูกข่มขืน Rape Fantasy?
- หนึ่งคืออาการเก็บกดทางเพศ ‘Sexual Repression’ ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าการแสดงออกทางเพศนั้นไม่ถูกต้องเหมาะสม แต่เมื่อเธอเดินทางเข้ามาในกรุง London ก็พบเห็นภาพบาดตาบาดใจมากมาย ล้วนผิดแผกแตกต่างจากสิ่งเคยครุ่นคิดจินตนาการไว้ เลยเกิดความต้องการปลดปล่อย สำรวจอิสรภาพทางเพศของตนเอง
- อีกสาเหตุสำคัญคือการถูกคุกคามโดย Tolen สร้างความหวาดหวั่น สั่นสะพรึง กลัวการสูญเสียความบริสุทธิ์ เลยสร้างกำแพงขึ้นมาปกป้องกันตนเอง ‘self-protection’ ครุ่นคิดว่าฉันโดนข่มขืน ทั้งๆไม่เคยเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
- หรือจะมองว่า Nancy ลอกเลียนแบบพฤติกรรมของ Tolen โดยใช้ข้ออ้างการถูกข่มขืน มาควบคุมครอบงำ ‘Dominate’ บุรุษทั้งหลายให้กระทำตามความต้องการของตนเอง … เรียกว่ากรรมตามสนองก็ได้กระมัง
แม้ว่า Tolen ยืนกรานว่าตนเองไม่ได้ข่มขืน Nancy ทั้งหมดเป็นเพียง Rape Fantasy (อย่างที่ภาพเด็กๆในห้องเรียนกล่าวคำว่า “This is all a fantasy”) แต่คำว่า ‘ข่มขืน’ มีความละเอียดอ่อนไหว ซึ่งหนังก็พยายามทำออกมาให้ดูตลกขบขัน ชาวบ้านช่องเปิดหน้าต่างออกมา (ด้วยความสอดรู้สอดเห็น) รวมถึงพูดแซวถึง Scotland Yard ทำเอาบุรุษทั้งสามแทบจะคลุ้มบ้าคลั่ง
การที่ Nancy เข้ายึดครองห้องของ Tolen สามารถสื่อถึงอิทธิพลของ ‘Rape’ เป็นการกล่าวหาที่ทำให้บุรุษสูญเสียความสามารถในการควบคุมครอบงำ (Dominate) เลยโดนยึดครอบครองทุกสิ่งอย่าง จำต้องศิโรราบอยู่แทบเท้า ราวกับผลกรรมคืนสนอง
แม้จะเป็นงานเลี้ยงร่วมรุ่นสาวๆของ Tolen (และเพื่อนสนิท) แต่พวกเธอกลับไม่ได้สนใจใยดี พยายามกีดกัน ผลักไส (เหมือนจะจดจำเขาไม่ได้ด้วยซ้ำ) และถูกย่ำเหยียบจมมิดดิน แสดงให้เห็นถึงผลกรรมของบุคคลไม่เคยยี่หร่าอะไรใคร หญิงสาวเหล่านี้ก็ไม่ได้สนใจเขาด้วยเช่นเดียวกัน
ภายหลังจากความหมกมุ่นใน Rape Fantasy ค่อยๆผ่อนคลายลง Colin กับ Nancy ก็ได้อยู่ในห้องนอนสองต่อสอง บนเตียงที่พวกเขาร่วมออกเดินทาง พูดคุยสนทนา เกี้ยวพาราสี ไม่ได้สนแค่จะปรี้ ต้องการรอยยิ้ม ที่สร้างความสุขให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ
ช็อตจบของหนังเดินเรียบแม่น้ำ River Tame (พบเห็นหอนาฬิกา Big Ben) ไม่เชิงว่าเหมือนเปะกับภาพในหนังสือตอนต้นเรื่องที่ Nancy เปิดอ่านในรถโดยสาร แต่ให้ความรู้สึกละม้ายคล้ายคลึง “A party is … for two” โลกใบนี้เป็นของเราสองคน ไม่ต้องสนเสียงซุบซิบนินทา หมูหมากาไก่จะเห่าหอนก็แค่ความอิจฉาริษยา
ตัดต่อโดย Antony Gibbs (1925-2016) สัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการในช่วงกลางทศวรรษ 50s จากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Ralph Kemplen และ Alan Osbiston จากนั้นร่วมงานขาประจำผู้กำกับรุ่น British New Wave ผลงานเด่นๆ อาทิ A Taste of Honey (1961), The Loneliness of the Long Distance Runner (1962), Tom Jones (1963), The Knack …and How to Get It (1965), Performance (1970), Walkabout (1971), Fiddler on the Roof (1971), Jesus Christ Superstar (1973), A Bridge Too Far (1977), Dune (1984) ฯลฯ
เรื่องราวของหนังนำเสนอผ่านมุมมอง Colin (และบางครั้ง Nancy) ตั้งแต่ไม่สามารถอดรนทนต่อพฤติกรรม Tolen ครุ่นคิดว่าหนทางแก้ปัญหาคือได้ครอบครอง ‘The Knack’ จึงขอคำปรึกษา ได้รับการชี้แนะนำ จนกระทั่งการมาถึงของ Nancy ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้จักวิธีการของความรัก
- แนะนำตัวละคร
- Tolen มีสาวๆมากมายต่อแถวรอคิวเข้าห้อง
- ครูสอนหนังสือ Colin เกิดความอิจฉาริษยา หงุดหงิดรำคาญใจต่อ Tolen
- การเดินทางของ Nancy มาถึงกรุง London
- แผนการของ Colin ต้องการได้ครอบครอง ‘The Knack’
- เริ่มต้นขอคำปรึกษาจาก Tolen แต่อีกฝ่ายเอาแต่พูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง
- การมาถึงของ Tom ทาสีห้องใหม่ เล่าที่มาที่ไป โดยไม่รู้ตัวให้คำแนะนำ Colin เช่นเดียวกัน
- การมาถึงของ Nancy
- Colin ต้องการเตียงใหม่ ขนาดใหญ่ ลวดลายแฟนซี ซึ่งระหว่างกำลังเลือกหากับ Tom บังเอิญพบเจอกับ Nancy
- การผจญภัยของ Colin, Nancy และ Tom เพื่อลากพาเตียงใหม่กลับมายังอพาร์ทเม้นท์
- ระหว่างกำลังขนย้ายเตียงขึ้นห้อง Tolen ก็เดินทางมาถึง แล้วพยายามเกี้ยวพาราสี Nancy
- Rape Fantasy
- Tolen ตัดสินใจพา Nancy ขึ้นรถมอเตอร์ไซด์ ทำให้ Colin และ Tom ต้องรีบวิ่งติดตามไปถึงยังสวนสาธารณะ
- Nancy พร่ำเพ้อว่าตนเองถูกข่มขืน จนทำให้หนุ่มๆทั้งสามเกิดความกระอักกระอ่วนใจ
- หวนกลับมาอพาร์ทเม้นท์ Nancy ก็ยังคงพร่ำเพ้อไม่หยุด และเรียกร้องให้ Colin ร่วมเพศสัมพันธ์กับตน
- แล้วเรื่องราวก็จบลงอย่าง Happy Ending
สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจมากๆ บ่อยครั้งมีการแทรกภาพชาวบ้านชาวช่อง ได้ยินเสียงซุบซิบนินทา (แถมมีการใช้ถ้อยคำที่สอดคล้องจอง ราวกับบทกวี) เพื่อให้ผู้ชมตระหนักถึงความคิดเห็น/ข้อครหาของบุคคลทั่วไป สังคมผู้ดีอังกฤษยุคสมัยนั้นยังไม่ให้การยินยอมรับพฤติกรรมนอกรีตนอกรอยเหล่านี้
เพลงประกอบโดย John Barry Prendergast (1933-2011) นักแต่งเพลงชาวอังกฤษ เกิดที่ York, North Yorkshire มารดาเป็นนักเปียโน ส่วนบิดาทำงานฉายหนังในยุคหนังเงียบ เลยมีความชื่นชอบดนตรีและภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก ฝึกฝนเครื่องดนตรี Organist และร่ำเรียนแต่งเพลงจาก Francis Jackson โตขึ้นอาสาสมัครทหารบก เป็นนักดนตรีทรัมเป็ต ค้นพบความหลงใหลสไตล์ Jazz ออกมาก่อตั้งวง John Barry Seven จนมีโอกาสคัฟเวอร์ Main Theme ภาพยนตร์ The Magnificent Seven (1960), จากนั้นจึงเริ่มทำเพลงประกอบหนัง Never Let Go (1960), โด่งดังจากแฟนไชร์ James Bond Theme, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Zulu (1964), The Ipcress File (1965), The Knack …and How to Get It (1965), Walkabout (1971), King Kong (1976), Somwhere in Time (1980), คว้ารางวัล Oscar จากเรื่อง Born Free (1966), The Lion in Winter (1968), Out of Africa (1985) และ Dances with Wolves (1990)
บทเพลงของ Barry คือสไตล์ Jazz (มีกลิ่นอาย James Bond Theme อยู่เล็กๆด้วยนะ) จดจำง่าย ด้วยจังหวะรุกเร้า สอดคล้องเข้ากับความรวดเร็วในการตัดต่อ ความระริกระรี้ของตัวละคร(ที่ต้องการร่วมเพศสัมพันธ์) รวมถึงยุคสมัย Swinging London สร้างความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง ชวนหัว นักวิจารณ์บางคนถึงขนาดยกย่อง “one of the great title tunes of British cinema”.
พัฒนาการดนตรี Jazz ในช่วงทศวรรษ 60s ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะลีลาการดั้นสด ‘improvised’ ของนักดนตรี ขัดต่อรูปแบบวิถีเคยมีมา และด้วยจังหวะที่เน้นความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ สอดคล้องเข้ากับจิตวิญญาณคนหนุ่ม-สาวยุคนั้น เอ่อล้นด้วยพลัง ความหัวขบถ โหยหาเสรีภาพ (รวมถึง Sexual Liberation)
แซว: ไม่รู้ทำไมผมรับฟัง Main Theme มีท่วงทำนองละม้ายคล้าย The Young Girls of Rochefort (1967) อยู่ไม่น้อยทีเดียว
การมาถึงของยุคสมัย Swinging London ทำให้ค่านิยม แนวคิดทางสังคม คำสอนของผู้หลักผู้ใหญ่ต่อวัยรุ่นหนุ่มสาว มีความเฉิ่มเฉยล้าหลังโดยทันที! เพราะพวกเขาไม่เข้าใจวิถีโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จึงยังคงปลูกฝังอะไรๆเดิมๆ ตามความเชื่อดั้งเดิมของตนเอง นั่นทำให้เด็กๆเหล่านั้นเมื่อเติบใหญ่ ก้าวออกสู่โลกกว้าง อาจเกิดอาการ ‘cultural shock’ พูดไม่ออกบอกไม่ถูก ไม่รู้จะครุ่นคิดเห็น รู้สึกอะไรยังไง มันช่างแตกต่างจากภาพจินตนาการเอาไว้
The Knack …and How to Get It (1965) นำเสนอการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมของประเทศอังกฤษ ในยุคสมัย Swinging London ช่วงกลางทศวรรษ 60s พานผ่านตัวละครที่มีพฤติกรรมแตกต่างขั้วตรงข้าม เพื่อให้ผู้ชมเกิดการเรียนรู้ เข้าใจวิถีที่เปลี่ยนแปลงไป และมองหาจุดยืน/ตำแหน่งเหมาะสมในการเลือกหนทางเดินชีวิต
- Colin (awkward, unsuccessful) เป็นคนเหนียงอาย ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง อาจเพราะได้รับการปลูกฝังค่านิยมคนสมัยก่อน เลยทำให้กลัวๆกล้าๆ ไม่รู้จักวิธีสานสัมพันธ์เพศตรงข้าม และเมื่อถูกคุกคาม เลยเกิดความหมกมุ่นในบางสิ่งอย่าง
- Tolen (aggressive, manipulative) ชายหนุ่มผู้หลงระเริงกับอิสรภาพทางเพศ สนเพียงจะครอบครอง ร่วมรักหลับนอน น้ำแตกแล้วแยกทางไป ‘Sex Predator’ จนไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร สานสัมพันธ์กับใคร มีความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ไร้บุคคลที่สามารถเติมเต็มความต้องการของหัวใจ
- Tom (sensitive, respectful) เป็นคนโดดเดี่ยว ชอบอยู่ตัวคนเดียว ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ‘Introvert’ โหยหาชีวิตที่เรียบง่าย สงบสุข ขาวสะอาด แต่ก็กำลังได้รับบทเรียนให้รู้จักความกล้าท้าเสี่ยง ก้าวออกมาจาก Safe Zone ของตนเอง
สำหรับ Nancy เดินทางเข้าเมืองด้วยด้วยความใสซื่อ บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ออกติดตามหาสมาคมคริสเตียน YWCA (ตัวแทนวิถีทางสังคมในอดีต) แต่แล้วค่อยๆสังเกตเห็นความผิดแผกแตกต่าง เกิดอาการ ‘cultural shock’ และเมื่อพบเจอบุรุษทั้งสาม เธอก็มีปฏิกิริยาแสดงออกที่ต่างกันไป
- Nancy สามารถพูดคุยกับ Tom ได้อย่างลื่นไหล เป็นธรรมชาติ ไม่มีอาการเหนียงอาย ล้อเล่นสนุกสนานกันเหมือนเด็กๆ
- Tolen เต็มไปด้วยอาการหวาดระแวง กลัวตัวสั่น จนไม่สามารถควบคุมตนเอง (ทำตามคำสั่งเขาโดยไม่รับรู้ตัว) และเมื่อตระหนักว่าถูกคุกคาม จึงสร้างโลกแฟนตาซีขึ้นมาปกป้องตนเอง
- สำหรับ Colin แม้ไม่ได้มีจุดเด่นเหมือน Tom หรือ Tolen แต่พยายามอยู่เคียงข้างเธอเสมอ คอยปกป้อง พร้อมให้การช่วยเหลือ บ้าๆบอๆไปด้วยกัน เลยสามารถตกหลุมรัก ร่วมเพศสัมพันธ์
เป้าหมายของ ‘The Knack’ คนส่วนใหญ่มักมองแค่ว่าคือการได้ครอบครองรักหญิงสาว ร่วมเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าเราสังเกตวิวัฒนาการตัวละคร Colin ยังสามารถสื่อถึงการสร้างความเชื่อมั่น ค้นพบ(ความต้องการของ)ตัวตนเอง และเรียนรู้จักการปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่ ที่มีค่านิยมทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป
สำหรับผู้กำกับ Lester เคยให้สัมภาษณ์บอกตรงๆเลยว่า หนังไม่ได้แฝงนัยยะซ่อนเร้นอะไร หรือตนเองมีความสัมพันธ์พิเศษใดๆกับหนัง เพียงครุ่นคิดเห็นว่าเรื่องราวสุดบ้าบอคอแตก (absurd) เหมาะสำหรับนำมาทดลองสร้างสรรค์ด้วยวิธีการ สไตล์ลายเซ็นต์ ท้าทายศักยภาพของตนเอง ก็เท่านั้น!
I wasn’t trying to make a statement with this film. I was just trying to have fun.
It’s not really about anything. It’s just a collection of rather silly things that happen to people. That’s all.
Richard Lester
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับถือว่าค่อนข้างดี แต่ไม่ใช่ตัวเต็งคว้ารางวัล Palme d’Or ผลลัพท์ถือว่าสร้างความประหลาดใจไม่น้อย (รวมถึงได้อีกรางวัล Technical Grand Prize – Special Mention) ตัดหน้าภาพยนตร์เด่นๆอย่าง Kwaidan (1965), The Collector (1965), The Ipcress File (1965), The Shop on Main Street (1965), Yoyo (1965) ฯลฯ
ด้วยทุนสร้าง $364,000 เหรียญ ไม่มีรายงานรายรับในอังกฤษ แต่ทำเงินในสหรัฐอเมริกาสูงถึง $2.5 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลกมีรายงาน $8 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม! และช่วงปลายปียังได้เข้าชิง Golden Globe และ BAFTA Award อีกหลายสาขา น่าเสียดายไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา
- Golden Globes Award
- Best English-Language Foreign Film พ่ายให้กับ Darling (1965)
- Best Actress – Comedy or Musical (Rita Tushingham)
- BAFTA Award
- Best Film from any Source พ่ายให้กับ My Fair Lady (1964)
- Best British Film พ่่ายให้กับ The Ipcress File (1965)
- Best British Actress (Rita Tushingham)
- Best British Cinematography, Black-and-White
- Best British Screenplay
- Most Promising Newcomer to Leading Film Roles (Michael Crawford)
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K ได้รับการอนุมัติโดยผู้กำกับ Richard Lester สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Kino Lorber หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง BFI Player
ผมไม่ค่อยชื่นชอบ Tom Jones (1963) เพราะมีแต่ความสัปดล จนดูเหมือนกามวิปริต ตัวละครแม้งไม่มีความสาสำนึกผิด หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองให้สมควรค่าแก่การจบลงอย่าง Happy Ending,
แม้เป้าหมายของ ‘The Knack’ คือการได้ครอบครอง มีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาว แต่ผู้ชมจะได้รับเนื้อหาสาระมากมาย บทเรียนที่สามารถเป็นข้อคิดในเกี่ยวกับชีวิต โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่าง Tolen vs. Tom แสดงให้เห็นถึงหนทางเลือก วิธีสานสัมพันธ์ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องกามคุณเท่านั้น ยังรวมถึงการพัฒนาตนเอง ปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่!
จัดเรต 18+ กับเรื่องป่วนๆทางเพศ หมกมุ่นมักมากในกามคุณ
Leave a Reply