The Lady Eve

The Lady Eve (1941) hollywood : Preston Sturges ♥♥♥

Screwball Comedy ที่ไม่ได้มีสาระอะไร แต่สะท้อนตัวตน/จิตวิญญาณของ Preston Sturges ในกองถ่ายทีมงานตัวประกอบมากมายหลักร้อย พี่แกสวมหมวกแฟนซีติดขนสัตว์ ผ้าพันคอไหมพรม เสื้อลายพิมพ์สีแจ๊ดๆ โดดเด่นเป็นสง่า เพื่อบ่งบอกให้ทุกคนรู้ว่าฉันคือผู้กำกับ!

“[Sturges] invariably paraded on [the] set with a colorful beret or a felt cap with a feather protruding, a white cashmere scarf blowing gaily round his neck and a print shirt in loud hues … the reason for the peculiar outfits, he told visitors, was that they facilitated crew members finding him amid the crowds of actors, technicians, and the public”.

– Donald Spoto เขียนไว้ในหนังสือชีวประวัติ Madcap: The Life of Preston Sturges

บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยชื่นชอบหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ พบเห็นเพียงความบันเทิง เสียงหัวเราะ ขาดสาระข้อคิดน่าสนใจ แต่หลังจากค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม กลับชื่นชอบประทับใจในตัวตนของผู้กำกับ Preston Sturges ถือว่าเป็นคนใจนักเลง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เซ็นเช็คไม่เคยแหล่มองตัวเลข ทุ่มเททำงานอย่างหนักแล้วสนุกสนานกับมันเต็มที่ จนได้รับการยกย่องนับถือจากแทบทุกคนในวงการ Hollywood รวมถึงต่างประเทศอีกด้วย

นอกจากเป็นผู้กำกับแล้ว Sturges ยังเปิดร้าน The Players คลับ บาร์ คาคลั่งไปด้วยบุคคลมีชื่อเสียง นักแสดงโด่งดัง นิตยสาร Photoplay ให้คำจำกัดความว่า ‘one of the smartest places in town’ ขาประจำก็อย่าง Humphrey Bogart, Ernst Lubitsch, Barbara Stanwyck, Orson Welles, Joel McCrea, Rudy Vallee, William Wyler, Billy Wilder, Howard Hughes, William Faulkner, Dorothy Parker, Robert Benchley, George S. Kaufman, Donald Ogden Stewart ฯลฯ ว่ากันว่าครั้งหนึ่ง Frank Sinatra เมื่อครั้นวัยเยาว์เดินเข้ามาในร้าน พบเห็นโดย Bogart-Bacall ต่างจดจำได้เข้าไปทักทาย

“They tell me you have a voice that makes girls faint. Make me faint”.

Sinatra เบือนหน้าหนีตอบว่า ‘I’m taking the week off’. พวกเขากลายเป็นเพื่อนสนิทสนม และหลังจาก The Player ปิดกิจการ (ทั้งๆลูกค้าแน่นขนัดเต็มร้าน แต่เห็นว่าไม่เคยทำกำไรได้) คือแรงบันดาลใจให้เกิด Rat Pack นำโดย Bogart-Bacall ต่อด้วยรุ่น Sinatra, Dean Martin, Sammy Davis Jr. ฯ

มาครุ่นคิดเหตุผลที่ผมดูหนังเรื่องนี้ไม่สนุกเท่าไหร่ เพราะรสนิยมส่วนตัวไม่ชอบการกลั่นแกล้ง ‘bully’ มุมมองบุคคลที่สามมันอาจคือเรื่องตลกขบขัน แต่เมื่อเอาใจเขามาใส่ใจเราถ้าฉันโดนระยำแบบนั้นบ้าง ไม่เห็นจะน่าหัวร่อออกตรงไหน!


Preston Sturges ชื่อเดิม Edmund Preston Biden (1898 – 1959) ผู้กำกับ/นักเขียน สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois, ตอนอายุได้สามขวบ แม่เลิกกับพ่อเพื่อเดินตามฝันเป็นนักร้องที่ Paris อาศัยอยู่ฝรั่งเศสเสมือนบ้านหลังที่สอง โตขึ้นหวนกลับมาอเมริกันเริ่มจากเป็นนักเล่นหุ้น สมัครทหารอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ตำแหน่งผู้หมวดแต่ไม่เคยมีโอกาสเข้าร่วมต่อสู้รบจริงๆ เวลาว่างเขียนบทความ ‘Three Hundred Words of Humor’ ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ของค่ายฝึก ปลดประจำการออกมาได้งานผู้จัดการ Desti Emporium, New York จับพลัดจับพลูแสดง Broadway เขียนบทละครเวทีเองเรื่องเรื่องแรก The Guinea Pig ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ตามต่อด้วย Strictly Dishonorable ใช้เวลาเพียง 6 วัน เปิดการแสดงต่อเนื่องยาวนานถึง 16 เดือน ถูกซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดย Paramount Picture เริ่มเห็นช่องทางใน Hollywood พัฒนาบทหนัง The Power and the Glory (1933) ขายให้สตูดิโอ Fox, ตามด้วย The Great McGinty (1940) แต่สนราคาเพียง $1 เหรียญ แลกกับการได้เป็นผู้กำกับครั้งแรก เข้าชิง Oscar สามสาขา คว้ารางวัล Best Writing, Original Screenplay,

ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Lady Eve (1941), Sullivan’s Travels (1941), The Palm Beach Story (1942), The Miracle of Morgan’s Creek (1943), Hail the Conquering Hero (1944) ฯ

“I happen to love pratfalls, but as almost everything I like, other people dislike, and vice versa”.

– Preston Sturges

แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น Two Bad Hats ความยาว 19 หน้า แต่งโดย Monckton Hoffe (1880 – 1951) นักเขียนสัญชาติไอริช สตูดิโอ Paramount มอบหมายให้ Sturges และ Albert Lewin พัฒนาบทภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1938 แต่ไม่นาน Lewin ขอถอนตัวออกไป เพราะคิดว่าสัญชาตญาณของ Sturges น่าจะสร้างสรรค์สิ่งน่าสนใจได้มากกว่าตนเอง

เรื่องราวของ Jean Harrington (รับบทโดย Barbara Stanwyck) นักตุ้มตุ๋นสาวสวย ระหว่างล่องเรือสำราญพบเห็นลูกชายมหาเศรษฐีสุดหล่อ Charles Poncefort Pike (รับบทโดย Henry Fonda) กำลังเดินทางกลับบ้านจาก Amazon ใช้มารยาเสน่ห์หยอกเย้ายวน ยั่วจนลุ่มหลงใหล แต่จากความตั้งใจต้มตุ๋นกลายเป็นตกหลุมรัก กระนั้นเมื่อความจริงได้ประจักษ์ กลับถุกเขาตีตนออกห่าง

แต่ความเกิดมาเป็นเนื้อคู่ ทั้งสองจึงจับพลัดพลูพบเจอกันอีก คราวนี้เธอปลอมตัวเป็น Lady Eve Sidwich อ้างว่าคือลูกสาวของ Sir Alfred McGlennan Keith บลา บลา บลา ทีแรกก็ไม่ใคร่อยากเชื่อถือ แต่ถูกตื้อด้วยมารยาเสน่ห์ หยอกเย้ายวน ยั่วจนหลุมหลงใหล ครานี้เลยเถิดจนได้แต่งงานจดทะเบียน ขณะอยู่บนรถไฟกำลังเดินทางไปฮันนี่มูน พูดเล่าเบื้องหลังโน่นนี่นั่นจนเขาตรอมใจขอหย่า

หวนกลับมาขึ้นเรือสำราญตั้งใจเดินทางกลับ Amazon บังเอิญพบพาน Jean Harrington คราวนี้ไม่รู้อะไรเข้าสิง ถาโถมเข้าใส่แสดงความรักใคร่ออกนอกหน้าราวกับพายุคลั่ง


Barbara Stanwyck ชื่อเดิมคือ Ruby Catherine Stevens (1907 – 1990) นักแสดงหญิง โมเดลลิ่ง และนักเต้นสัญชาติอเมริกัน จากเด็กหญิงกำพร้าอายุ 4 ขวบ อาศัยอยู่กับพ่อแม่อุปถัมภ์ ตอนอายุ 14 กลายเป็น Showgirl หาเงินเลี้ยงดูตัวเองได้ จาก Ziegfeld girl สู่วงการภาพยนตร์ยุคหนังพูด The Locked Door (1929), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Ladies of Leisure (1930), Baby Face (1933), Union Pacific (1939), The Lady Eve (1941), Ball of Fire (1941), The Gay Sisters (1942) ฯ ปี 1944 กลายเป็นนักแสดงหญิงค่าตัวสูงสุดใน Hollywood (และคือผู้หญิงรายได้สูงสุดในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย)

เกร็ด: Barbara Stanwyck คือนักแสดงหญิงยอดนิยมลำดับที่ 11 จากชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars

รับบท Jean Harrington/Lady Eve Sidwich นักต้มตุ๋นสาวสวย ผู้มีมารยาเสน่ห์ ท่วงท่า ลีลา และฝีปาก สามารถหยอกเย้า กล่อมเกลา ลวงล่อหลอกให้บุรุษหน้าใสตกหลุมรักใคร่ การได้พบเจอกับ Charles Poncefort Pike และงูของเขา (สัญลักษณ์ของลึงค์ อวัยวะเพศชาย) มันช่างน่าตกตะลึง ลุ่มหลงใหล แปรสภาพกลายเป็นรักใคร่ ต้องการเลิกราอาชีพเก่า แต่งงานครองคู่ และเป็นหนูตกถังข้าวสาร แต่อะไรๆมันก็ไม่ง่ายปานนั้น

นักแสดงที่อยู่ในความตั้งใจของ Paramount คือ Claudette Colbert แต่ความล่าช้าของโปรเจค เปลี่ยนมาเป็น Madeleine Carroll, Paulette Goddard จนสุดท้ายลงเอยที่ Barbara Stanwyck เพราะผู้กำกับ Sturges ประทับใจการแสดงของเธอเป็นพิเศษ

นี่คือบทบาท Comedy เรื่องแรกๆของ Stanwyck ที่ประสบความสำเร็จ ความสามารถพิเศษของเธอคือ พูดพร่ำ น้ำไหลไฟดับเร็วติดจรวด ขณะเดียวกันมือไม้ก็ยังสามารถขยับเคลื่อนไหว ม้วนผม เล่นหู จิกตา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าออกจากสันชาติญาณ หรือนั่นคือธรรมชาติของเธอจริงๆ

ชอบสุดในการแสดงของ Stanwyck คือตอนส่องกระจกแล้วพากย์มวย มันส์ได้ใจ! นั่นคงทำให้หลายคนเริ่มครุ่นคิดว่า เธอจะสร้างความน่าสนใจเช่นไรให้แตกต่างจากสาวๆพวกนี้ แล้วก็ … สะดุดหลุมรัก


Henry Jaynes Fonda (1905 – 1982) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Grand Island, Nebraska ในครอบครัว Christian Scientist วัยเด็กเป็นคนขี้อาย หวาดกลัวสาวๆ ชอบว่ายน้ำ เล่นสเก็ต และออกวิ่ง โตขึ้นวาดฝันเป็นนักข่าว เข้าเรียน University of Minnesota แต่ไม่จบ กลายมาเป็นนักแสดงที่ Omaha Community Playhouse ครั้งหนึ่งได้ร่วมงานกลายเป็นเพื่อนสนิทกับ James Stewart อาศัยอยู่ห้องพักเดียวเดียวกัน, หลังประสบความสำเร็จจากการแสดง Broadway เรื่อง The Farmer Takes a Wife (1934) กลับมารับบทเดิมในฉบับภาพยนตร์ปี 1935 ตามด้วย You Only Live Once (1937), Jezebel (1938), Young Mr. Lincoln (1939) ร่วมงานครั้งแรกกับผู้กำกับ Ford เรื่อง Jesse James (1939), ผลงานที่กลายเป็นตำนานเริ่มตั้งแต่ The Grapes of Wrath (1940), The Lady Eve (1941), The Ox-Bow Incident (1943), My Darling Clementine (1946), War and Peace (1956), 12 Angry Men (1957), How the West Was Won (1965) ฯ

เกร็ด: Henry Fonda คือนักแสดงชายยอดนิยมลำดับที่ 6 จากชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars

รับบท Charles Poncefort Pike ทายาทมหาเศรษฐี ประกอบธุรกิจค้าเบียร์ Ale แต่เจ้าตัวไม่ใช่สนใจกิจการมึนมอมเมาของครอบครัวสักเท่าไหร่ ลุ่มหลงใหลในงานสำรวจ เป็นนัก Ophidiologist เชี่ยวชาญเกี่ยวกับงู แต่มีความทึ่มทื่อ ซื่อบื้อ อ่อนเยาว์วัยต่อโลกกว้างและผู้หญิง, ระหว่างเดินทางกลับจาก Amazon สะดุดล้มในความงามของ Jean Harrington ตกหลุมรักแต่ก็ผิดหวังหลังจากทราบถึงตัวตนแท้จริง วันหนึ่งจับพลัดจับพลูพบเจอ Lady Eve Sidwich สะดุดโน่นนี่นั่นทั้งๆไม่น่าเป็นไปได้ สุดท้ายขอเธอแต่งงาน ระหว่างเดินททางไปฮันนีมูน กลับรับไม่ได้ถึงเบื้องหลังอันฉ้อฉล หวนระลึกนึกย้อนเข้าใส่ตน กลับไปหา Jean Harrington ยังดีกว่าคนนี้เป็นไหนๆ

นักแสดงที่อยู่ในความสนใจของสตูดิโอ อาทิ Brian Aherne, Joel McCrea, Ray Milland, Fred MacMurray ก่อนสุดท้ายมาลงเอ่ยที่ Henry Fonda ก็ไม่รู้ทำไมนะ

ผมว่า Fonda มีความเพลิดเพลินบันเทิงอารมณ์มากๆกับการแสดงมิติเดียว ไม่ต้องใช้ทักษะสามารถอะไรมาก ตีหน้าทึ่มทื่อ ซื่อบื้อ เอ๋อเหรอ กลับสร้างสีสัน รอยยิ้ม เรียกเสียงหัวเราะ เจ็บตัวเจ็บใจ แต่จิตวิญญาณกลับสุขสำราญ

เกร็ด: Fonda เคยให้สัมภาษณ์ว่า บรรดานักแสดงหญิงร่วมงานแล้วเกิดความประทับใจมากที่สุด คือ Barbara Stanwyck


ไดเรคชั่นของ Sturges นอกจากการแต่งตัวเพื่อให้เป็นจุดสังเกตของทีมงานแล้ว ระหว่างพักการถ่ายทำก็ชอบเข้าไปพูดคุยกับนักแสดง เล่าเรื่อง หยอกล้อเล่น ทำเอาทั้ง Fonda และ Stanwyck แทบไม่เคยกลับเข้าห้องพัก/ห้องแต่งตัว ยิ้มแย้มสนุกสนานผ่อนผ่อนคลาย บรรยากาศสบายๆเป็นกันเอง แทบไม่อยากให้วันๆจบสิ้นไปอย่างรวดเร็ว

แซว: ว่ากันว่าฉากที่ถ่ายทำในห้องนอน ผู้กำกับ Sturges เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ เปลี่ยนมาใส่ชุดอาบน้ำกำกับนักแสดง –“

ถ่ายภาพโดย Victor Milner ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน มีผลงานตั้งแต่ยุคหนังเงียบ คว้า Oscar: Best Cinematography เรื่อง Cleopatra (1934), ผลงานอื่นๆ อาทิ Trouble in Paradise (1932), The Buccaneer (1938), Union Pacific (1939), The Lady Eve (1941), Unfaithfully Yours (1948) ฯ

หนังแทบทั้งเรื่องสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอ Paramount ยกเว้นก็แต่ฉากป่า Amazon ตอนต้นเรื่องเดินทางไปยัง Lake Baldwin อยู่ที่ Los Angeles County Arboretum & Botanic Garden

ฉากได้รับการพูดถึงกล่าวขวัญมากสุด หลังจาก Charles Poncefort Pike ถูกลวงล่อหลอกไปที่ห้องของ Jean Harrington ใบหน้าของพวกเขาติดกันยังกะตังเม จากนั้นถูกยั่วเย้า ม้วนผม เล่นหู มันช่างเซ็กซี่โรแมนติก ร่าวพิศวาสและน่าขบขันเสียกระไร

 “If I were asked to name the single scene in all of romantic comedy that was sexiest and funniest at the same time, I would advise beginning at six seconds past the 20-minute mark in Preston Sturges’s The Lady Eve”.

– Roger Ebert

ชุดของ Stanwyck ออกแบบโดย Edith Head เจ้าแม่แห่งวงการแฟชั่นดีไซเนอร์ เห็นว่าชุดแต่งงานจากเรื่องนี้ได้รับความนิยมล้นหลามในหมู่เจ้าสาว ถึงขนาดมีชื่อเรียก “The Lady Eve dress”

จริงๆแล้ว Head ออกแบบตัดเย็นเสื้อผ้าให้กับวงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ โด่งดังมานมนานกาเล แต่ Oscar เพิ่งเริ่มจัดตั้งสาขา Best Costume Design ครั้งแรกปี 1949 จากนั้นเธอก็ได้เข้าชิง กวาดรางวัลมากมายจน Academy แทบไม่อยากมอบให้ (เข้าชิง 35 ครั้ง คว้ามา 8 รางวัล!)

ตัดต่อโดย Stuart Gilmore (1909 – 1971) สัญชาติอเมริกัน เคยเข้าชิง Oscar: Best Film Editing สามครั้งจาก The Alamo (1960), Airport (1970), The Andromeda Strain (1971) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Lady Eve (1941), The Palm Beach Story (1942), Hatari! (1962) ฯ

นอกจากฉากแรกอารัมบทของหนัง ที่เหลือดำเนินเรื่องในมุมมองสายตาของ Jean Harrington/Lady Eve Sidwich พยายามครุ่นคิดหาวิธีการครอบครองเป็นเจ้าของ แต่งงานกับ Charles Poncefort Pike ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องได้ด้วยกล

สำหรับเพลงประกอบไม่ขึ้นเครดิต เป็นการผสมผสานคลุกเคล้า Archive Music โดยมี Charles Bradshaw และ Leo Shuken เรียบเรียง Adaption Score ซึ่งก็ต้องชื่นชมเลยว่า ผลลัพท์ออกมากลมกล่อม ลื่นไหล ต่อเนื่อง คลอประกอบหนังทั้งเรื่อง สร้างบรรยากาศได้อย่างไพเราะลงตัว

บทเพลง Opening Credit ชื่อ With the Wind and the Rain in Your Hair (1930) แต่งโดย Jack Lawrence และ Clara Edwards เพิ่งเริ่มได้รับความนิยมอย่างสูงช่วงทศวรรษ 40s

The Lady Eve คือเรื่องราวของชายหนุ่มผู้มีความบริสุทธ์ใสซื่อ ไร้เดียงสา ถูกมารยาเสน่ห์ของหญิงสาว ลวงล่อหลอกจนตกหลุมรักใคร่ แต่เบื้องหลังของเธอกลับมีลับลมคมใน สร้างความรวดร้าวฉานจนจิตใจมิอาจยินยอมรับความจริงได้ ต่อมาค่อยๆเริ่มเรียนรู้ ไม่มีใครในโลกนี้ที่ปราศจากอดีต กระนั้นให้เลือกระหว่างหญิงสาว ขอย้อนกลับไปหาบุคคลแรกที่ทำให้ตนรู้จักคำว่ารัก

ป่าอเมซอน งู แอปเปิ้ล หญิงสาวชื่อ EVE, ดูแล้วคงเป็นการเปรียบเทียบ อุปมาอุปไมย เรื่องราวของ Adam กับ Eve มนุษย์คู่แรกที่พระเจ้าสร้างขึ้นตามความเชื่อของศาสนาคริสต์
– ป่าอเมซอน คงเปรียบได้กับสวนอีเดน
– ตัวตนของ Adam/Charles Poncefort Pike เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ใสซ์่อ ไร้เดียงสาต่อโลก
– ถูกล่อลวงโดยซาตานปลอมตัวเป็นอสรพิษ
– รับประทานผลแอปเปิ้ลเลยถูกขับออกจากสรวงสวรรค์
ฯลฯ

ว่ากันว่าผู้กำกับ Preston Sturges แท้จริงแล้วพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นจากเรื่องราวชีวิตของตนเอง เมื่อครั้นแต่งงานกับภรรยาคนที่สอง Eleanor Post (1909 – 2006) ไฮโซสาว ทายาทมหาเศรษฐี ปู่ของเธอเป็นผู้ก่อตั้ง Postum Cereal Company ปัจจุบันคือ General Foods Corporation

ความรักดั่งพายุเฮริเคน ทั้งสองพบเจอ ตกหลุมรัก จดทะเบียนสมรสแต่งงานเมื่อปี 1930 โดยไม่บอกกล่าวใคร ซึ่งครอบครัวของ Post ครุ่นคิดว่าการกระทำเช่นนี้ ต้องเป็นพวกตุ้มตุ๋น หลอกลวง คาดหวังเงินมรดกก้อนโต บีบบังคับให้เซ็นใบหย่า (ภายหลังใบทะเบียนสมรสถูกยกเลิกเอง เพราะ Sturges ยังไม่เซ็นใบหย่ากับภรรยาคนแรก) แต่เจ้าตัวหาได้ใคร่สนใจอะไรแบบนั้น ยื่นข้อเสนอถ้าต้องการเลิกรา ขอแค่พบเจอหน้าเธอแล้วพูดบอกออกมาตรงๆ (แบบเหตุการณ์ในหนังไม่มีผิดเพี้ยน)

เหตุการณ์นี้คงสร้างความรังเกียจเดียดฉันท์ให้กับ Sturges อย่างยิ่งยวด! บ้าบอคอแตกอะไรนักหนากับเงินๆทองๆ โลภละโมบ เห็นแก่ตัว แบ่งแยกกีดกัด ตายไปก็เอาติดตัวไม่ได้สักแดงเดียว ด้วยเหตุนี้ทุกบาททุกสตางค์ที่เขาหาได้จากกำไรทำหนัง เข้าสู่ร้าน The Player ปรนเปรอพรรคพวกเพื่อน กลายเป็นดั่งสรวงสวรรค์อีเดน ใครมาขอก็แบ่งบัน เซ็นเช็คจ่ายไม่เคยชายตามองตัวเลข ก็แน่ละมีขึ้นก็ต้องมีลง เงินหมดทำหนังขาดทุนก็ปิดกิจการ

“Between flops, it is true, I have come up with an occasional hit, but compared to a good boxer’s record, for instance, my percentage has been lamentable. I fought a draw in my first fight, stupified everyone by winning the championship in my second, got a couple of wins with picture rights, then was knocked out three times in a row. Dragging my weary carcass to Hollywood, I was immediately knocked out again, won a big fight some six months later, then marked time for six years as an ordinary ham-and-beaner, picking up what I could. Suddenly I saw a chance and offered to fight for the world championship for a dollar. To everyone’s astonishment, I won that championship and defended it successfully for a number of years, winning nine times by knockout, fighting three draws, losing twice and getting one no-decision in Europe. I have just come over to America for a fight, but it was called off at the last moment, one of the promoters having gone nuts and having to have been locked up”.

– Preston Sturges พูดสรุปชีวิตตนเอง เปรียบเทียบกับสถิติชกของนักมวย

ด้วยทุนสร้าง $660,000 เหรียญ ไม่มีรายงานรายรับ แต่ได้ยินว่าประสบความสำเร็จ ทำเงินติดหนึ่งในสิบสูงสุดแห่งปี และยังได้เข้าชิง Oscar: Best Writing, Original Story พ่ายให้กับ Here Comes Mr. Jordan (1941)

มีหลายๆองค์ประกอบที่ผมชื่นชอบนะ การแสดงของ Barbara Stanwyck น่ารักได้ใจ, Henry Fonda ทึ่มทื่อกระบือไกล, บทสนทนาคมคาย, เลือกสรรค์เพลงประกอบไพเราะเพราะพริ้ง, แต่ลักษณะของ Screwball Comedy ประเภทกลั่นแกล้ง ละลานผู้อื่น มันน่าหงุดหงิดรำคาญใจสิ้นดี

แนะนำคอหนัง Screwball Comedy รักๆหลอกๆ หยอกให้หลงใหล, แฟนๆผู้กำกับ Preston Sturges และนักแสดงนำ Barbara Stanwyck, Henry Fonda ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับการกลั่นแกล้งที่มากเกินพอดี

คำโปรย | The Lady Eve ความบันเทิงที่สะท้อนตัวตนของผู้กำกับ Preston Sturges ชอบไม่ชอบอยู่ที่รสนิยมส่วนตัว
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ไม่ชอบเท่าไหร่

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: