The Land (1970) : Youssef Chahine ♥♥♥♥
ทางการออกคำสั่งลดจำนวนวันจ่ายน้ำสู่ไร่นา ฟาร์มฝ้าย สร้างความไม่พึงพอใจให้กับชาวบ้าน พยายามหาหนทางเรียกร้อง ต่อรอง แต่กลับถูกเพิกเฉยจากพวกผู้มีอำนาจ แถมยังส่งตำรวจเข้ามาควบคุม คุกคาม หวังจะยึดครองผืนแผ่นดินมาแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน, ภาพยนตร์ที่แพรวพราวด้วยลูกเล่น ผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับ Youssef Chahine
เรื่องราวมีพื้นหลังทศวรรษ 30s ในช่วงระหว่าง Kingdom of Egypt ซึ่งแม้ได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 (ไม่ใช่ว่า Egypt เคยตกเป็นประเทศอาณานิคม แต่หลังจากแยกตัวจาก Ottoman Empire ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กลายเป็นรัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักร) แต่กลับมีสภาพไม่ต่างจากหุ่นเชิดของอังกฤษ ค่อยๆถูกกลืนกิน จนเกือบจะสูญสิ้นผืนแผ่นดิน
ความสนใจของผกก. Chahine ไม่ใช่แค่เรื่องราวในทศวรรษ 30s แต่ยังต้องการสะท้อนกับวิถีชีวิต ผู้คน สภาพสังคมยุคสมัยปัจจุบันนั้น United Arab Republic (1958-71) ภายใต้การปกครองของผู้นำ Gamal Abdel Nasser แม้ได้รับความนิยมอย่างมากๆ สามารถนำพา Egypt เข้าสู่โลกยุคสมัยใหม่ (Modern Era) แต่ก็เลื่องชื่อในการใช้อำนาจเด็ดขาด ไม่สนหลักสิทธิมนุษยชน ส่งทหารเข้าปราบปรามการจราจล จนสามารถเรียกได้ว่าผู้นำเผด็จการ
ในการจัดอันดับ Top 100 Egyptian Films โดยเทศกาลหนัง Cairo International Film Festival (1996) ภาพยนตร์เรื่อง The Land (1970) ติดอันดับ #2 สูงกว่า Cairo Station (1958) เสียอีก! ผมเลยอดไม่ได้จะต้องลองหามารับชม แล้วก็ค้นพบว่าอาจจะยอดเยี่ยมกว่าจริงๆ โดยเฉพาะลูกเล่น ลีลาการกำกับของผกก. Chahine ถือว่าไร้ความประณีประณอม สร้างความอึดอัดอั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง ก่อนตกอยู่ในความท้อแท้สิ้นหวัง
يوسف شاهين, Youssef Chahine (1926-2018) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Egyptian เกิดที่ Alexandria, Kingdom of Egypt ในครอบครัว Melkite Greek Catholic บิดาเป็นทนายความมาจาก Lebanon, ส่วนมารดาสืบเชื้อสายกรีก ทำงานรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า, ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลในสื่อภาพยนตร์
At the age of Eight, I discovered that 9.5mm films and projectors were being sold in stores. I saved from allowances enough to buy the projector and then became a regular for the Rabbani Bibi films.
Youssef Chahine
โตขึ้นบิดาโน้มน้าวให้เรียนวิศวะ แต่เจ้าตัวกลับออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา เข้าศึกษาการละคอนและโทรทัศน์ Pasadena Playhouse จากนั้นเข้าทำงานแผนกประชาสัมพันธ์สตูดิโอ 20th Century Fox พอเดินทางกลับ Egypt ได้รับความช่วยเหลือจากตากล้อง Alevise Orfanelli จนมีโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Father Amine (1950), แจ้งเกิดกับ Son of the Nile (1951), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Blazing Sun (1954), Cairo Station (1958), Saladin the Victorious (1963), The Land (1970), Alexandria… Why? (1979) ฯ
الأرض อ่านว่า El Ard แปลตรงตัว The Earth หรือ The Land ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ عبد الرحمن الشرقاوي, Abd al-Rahman al-Sharqawi (1921-87) เกิดที่หมู่บ้านชนบท Dalatoun, Monufia Governorate ทางตอนเหนือของ Cairo สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมาย กลายเป็นทนายอยู่สักพัก ก่อนออกมาดำเนินตามความฝัน ทำงานเขียน บรรณาธิการ นิตยสาร/หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ก่อนตีพิมพ์นวนิยายเล่มแรก The Land (1954)
เกร็ด: The Land (1954) ถือเป็นนวนิยายเล่มแรกๆของ Egypt ที่นำเสนอเรื่องราวสะท้อนสภาพเป็นจริง (Socialist Realism) วิถีชีวิตชาวชนบทที่ตกทุกข์ได้ยาก ถูกกดขี่ข่มเหง นำเสนอความคอรัปชั่นของพวกผู้อำนาจ
เท่าที่หาอ่านจากบทความวิจารณ์ เล่าถึงความแตกต่างระหว่างนวนิยาย vs. ภาพยนตร์, ต้นฉบับดำเนินเรื่องผ่านมุมมองเด็กชายนิรนาม เดินทางมาท่องเที่ยวชนบทในช่วงวันหยุด หลังเรียนจบการศึกษาพื้นฐาน ซึ่งสามารถเทียบแทนถึงผู้แต่ง al-Sharqawi น่าจะนำจากประสบการณ์ตรงเมื่อครั้นวัยเด็ก, แต่การดัดแปลงภาพยนตร์กลับพบเห็นเด็กคนนี้แค่ตอนต้นเรื่อง จากนั้นสูญหายตัวไปอย่างลึกลับ ไร้ร่องลอย ให้อิสระผู้ชมในการขบครุ่นคิดวิเคราะห์
ณ หมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1933, นายกเทศมนตรีได้รับคำสั่งจากเบื้องบน ให้ลดจำนวนวันจ่ายน้ำสู่ไร่นา ฟาร์มฝ้าย จากเดิม 10 วันที่แทบจะไม่พอใช้ เหลือเพียงแค่ 5 วัน สร้างความไม่พึงพอใจต่อชาวบ้านละแวกนั้น นำโดย Muhammad Abu Sweilem (รับบทโดย Mahmoud El-Meliguy) พยายามหาหนทางเรียกร้อง ต่อรอง มอบหมายให้ครูสอนหนังสือ Mohammad Effendi เดินทางไปยื่นเอกสารต่อนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่มีใครสนใจใยดี
เหตุผลของการลดจำนวนวันจ่ายน้ำ ก็เพื่อจะขุดลอกคลองชลประทาน สำหรับแบ่งปันน้ำเข้าสู่อีกไร่นา ฟาร์มเกษตร แต่พื้นที่บริเวณนั้นหาใช่ที่ดินทำกินของประชาชน กลับเป็นนายทุนที่ทำการกว้านซื้อที่ดินทำกิน แถมยังสร้างกำแพง กั้นรั้วลวดหนาม ไม่ให้ชาวบ้านละแวกนั้นบุกรุกรานเข้าสู่พื้นที่ส่วนบุคคล นั่นยิ่งสร้างความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ยามค่ำคืนจึงรวมกลุ่มกันทำลายแผงกั้น โยนทิ้งลงคูคลอง ทำให้รัฐบาลต้องส่งกองกำลังตำรวจเข้ามาควบคุม ปราบปราม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (Curfew) และอีกไม่นานผืนแผ่นดินบริเวณทั้งหมดจะถูกยึดครอง หมดสูญสิ้น ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง
محمود المليجي, Mahmoud el-Meliguy (1910-83) นักแสดงสัญชาติ Egyptian เกิดที่ Melieg, Monufia Governorate โตขึ้นเข้าร่วมคณะการแสดง Fatima Rushdi ในช่วงแรกๆมักได้รับบทสมทบ ตัวประกอบ ไปๆมาๆระหว่างละคอนเวทีและภาพยนตร์ จนกระทั่งแจ้งเกิดกับบทตัวร้าย I’m Not an Angel (1947), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Flirtation of Girls (1949), The Tough (1957), The Land (1970), Return of the Prodigal Son (1978) ฯ
รับบท Mohamed Abu Swelam ผู้นำหมู่บ้าน ในอดีตเคยเข้าร่วมคณะปฏิวัติกับ Sheikh Hassouna ต่อสู้สหราชอาณาจักรจนประเทศได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน กลับพบเห็นผู้นำรัฐบาล หน่วยงานรัฐ คนในชาติเดียวกันแท้ๆ ต่างทำตัวไม่ต่างจากพวกอังกฤษ กดขี่ข่มเหงประชาชน ออกคำสั่งลดจำนวนวันจ่ายน้ำสู่ไร่นา ฟาร์มฝ้าย พยายามลุกฮือขึ้นต่อต้าน ทำให้โดนจับกุม คุมขัง ทรมาน ทำลายศักดิ์ศรี (ด้วยการโกนหนวด) ภายหลังยังประกาศสภาวะฉุกเฉิน (เคอร์ฟิว) ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไปดี
แม้ภาพจำของ el-Meliguy ถึงขนาดได้รับฉายา “the wickedness of cinema” แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าเป็นมหาบุรุษ ด้วยวัยวุฒิ ประสบการณ์ บุคลิกภาพผู้นำ เลยได้รับนับหน้าถือตา ที่พึ่งพักพิงของบรรดาชาวบ้านละแวกนี้ ถึงอย่างนั้นตัวเขากลับไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไรใดๆ ไม่ว่าจะสันติวิธีหรือความรุนแรง สถานการณ์กลับยิ่งย่ำแย่เลวร้ายลงเรื่อยๆ สีหน้าท่าทางดูเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า เจ็บปวดทั้งร่างกาย-จิตใจ พยายามพูดระบายความรู้สึกอัดอั้นภายใน ถึงอย่างนั้นยังถูก Sheikh Hassouna ทรยศหักหลัง ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง หลงเหลือเพียงลมหายใจเฮือกสุดท้าย
نجوى إبراهيم, Nagra Ibrahim (เกิดปี 1946) สัญชาติ Egyptian หลังเรียนจบทำงานเป็นผู้ประกาศข่าว จัดรายการโทรทัศน์ยัง Arab Television ก่อนได้รับชักชวนจากผู้กำกับ Youssef Chahine แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Land (1970), แต่ความสนใจหลักๆของเธอคืองานโทรทัศน์ หลังจากนี้เลยไม่ได้จริงจังการแสดงมากนัก
รับบท Wassifa บุตรสาวผู้นำหมู่บ้าน Mohamed Abu Swelam มีความสวยสะคราญ เป็นที่หมายปองของใครๆ แต่เธอพยายามยื้อยั้ง เล่นตัว มองหาบุรุษที่สามารถมอบความสุขสบาย (ก็เลยพยายามอ่อยเหยื่อ ทำอะไรบางอย่างกับเด็กชายนิรนาม) กระทั่งพบเห็นบิดาถูกจับ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องการจะร่วมต่อสู้ กลับถูกกีดกั้น ขัดขวาง เพราะค่านิยมชาวอิยิปต์สมัยนั้น สตรีคือช้างเท้าหลัง ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียงแสดงออกใดๆ
ความสวยสาวราวกับนางงามของ Ibrahim ย่อมทำให้หนุ่มๆใคร่อยากหมายปอง (Madonna archetype) ถือเป็นตัวแทนความหวังของผู้คนในหมู่บ้าน ท่าทางของเธอไม่เชิงว่าเริดเชิดเย่อหยิ่ง เอาจริงๆค่อนข้างจะติดดิน แต่ค่อนข้างเรื่องมาก ดื้อรั้น เอาแต่ใจ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่หวาดกลัวเกรงอันตราย … ตัวละครเพศหญิงในภาพยนตร์ของผกก. Chahine มักมีลักษณะคล้ายๆกัน นิสัยรักอิสระ ชอบเล่นหูเล่นตา ระริกระรี้เรื่องเพศ แต่สิ่งเพิ่มเติมของตัวละคร Wassifa ต้องการจะร่วมต่อสู้กับบิดา ไม่หวาดกลัวเกรงอำนาจของรัฐ นักวิจารณ์เลยให้คำนิยามต้นแบบสตรีนิยม (Proto-Feminism)
แซว: ช่วงแรกๆผมเกิดความสับสนระหว่าง Wassifa และตัวละครหญิงอีกคน Khadra (รับบทโดย Fatma Omara) หญิงกำพร้า หาเลี้ยงชีพด้วยการขายตัว ทั้งสองต่างมีนิสัยรักอิสระ (Khadra ทางร่างกาย, Wassifa ทางจิตใจ) แต่ได้รับปฏิบัติจากคนรอบข้างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง!
ถ่ายภาพโดย Abdelhalim Nasr (1913-89) ตากล้องสัญชาติ Egyptian เกิดที่ Moharram Bey บิดาเป็นช่างภาพถ่าย พอโตขึ้นมีโอกาสรับรู้จักผู้กำกับ Togo Mizrahi ทำให้มีโอกาสถ่ายทำภาพยนตร์ Doctor Farhat (1935) จากนั้นมุ่งสู่ Cairo รังสรรค์ผลงาน อาทิ Sleepless (1957), Last Night (1964), The Second Wife (1967), The Land (1970) ฯ
แม้ว่าหนังคละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Neo-Realist ถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด แต่ทุกช็อตฉากล้วนมีการจัดวางองค์ประกอบ ทิศทางมุมกล้อง เต็มไปด้วยรายละเอียด แสงสีสัน ขยับเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา น่าเสียดายอย่างเดียวคือใช้การบันทึกเสียงหลังถ่ายทำ (post-Synchronization) ทำให้บางครั้งนักแสดงขยับปากไม่ตรงกับคำพูด สูญเสียสัมผัสธรรมชาติ ความสมจริง(Realist)ไปพอสมควร
หนังไม่มีการระบุหมู่บ้าน รวมถึงสถานที่ถ่ายทำ เพียงเหมารวมดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ (Nile Delta) จุดเริ่มจาก Cairo แตกแขนงออกเป็นแม่น้ำสายเล็กสายน้อยก่อนระบายลงสู่ทะเล Mediterranean ถือเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับเพาะปลูกเกษตรกรรม คลอบคลุมชายฝั่ง 240 กิโลเมตร และระยะทางแม่น้ำ 160 กิโลเมตร (บริเวณนอกเหนือจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ จักคือทะเลทรายอันแห้งแล้งโอบล้อมรอบทุกทิศทาง)
ช่วงระหว่าง Opening Credit สังเกตว่าตัวอักษร Egyptian Arabic จะมีสีแดง สื่อถึงเลือดเนื้อ ความตาย การเสียสละเพื่อผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน และแน่นอนว่าภาพพื้นหลังจะต้องถ่ายติดไร่นา ฟาร์มฝ้าย สถานที่ทำกินของชาวบ้านในละแวก Nile Delta
งานแต่งงานคือช่วงเวลาแห่งความสุข หนุ่ม-สาวกำลังจะได้กลายเป็นคู่ชีวิต แต่นอกจากร้องรำทำเพลง ยังพบเห็นหนุ่มๆทำการต่อสู้ดวลดาบ (ด้วยไม้) ที่รุนแรง จริงจัง จนเกือบจะเข่นฆ่ากันให้ตาย, ผมมองเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม ชาย vs. หญิง, สังคมเมือง vs. ชนบท, ชนชั้นผู้นำ/หน่วยงานรัฐ vs. ประชาชนรากหญ้า ฯ ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการรวมตัวเป็นหนึ่ง (เหมือนการแต่งงาน) แต่กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่าง จนเกิดการต่อสู้ ทำลายล้าง
ด้วยความที่หนังถ่ายทำยังชนบท ต่างจังหวัด จึงไม่สามารถควบคุมแสงธรรมชาติ และข้อจำกัดทางเทคโนโลยีสมัยนั้น การถ่ายทำตอนกลางคืนจึงยังเป็นไปไม่ได้ วิธีแก้ปัญหาคือใช้ฟีลเตอร์ ‘Day for Night’ แล้วปรับแต่งสีเพิ่มเติมภายหลังการถ่ายทำ ผลลัพท์ก็อย่างที่พบเห็น
แม้มีหนุ่มๆมากมายหมายปอง Wassifa แต่กลับมีเพียงเด็กชายนิรนามที่ได้รับความเอ็นดู เอาอกเอาใจ นั่นเพราะเป็นบุคคลมีการศึกษา มาจากครอบครัวมีฐานะ อนาคตย่อมต้องกินหรูอยู่สุขสบาย (แม้ยังเด็กเกินไปก็เถอะ) ค่ำคืนนี้จึงกระทำบางสิ่งอย่างเพื่อสร้างความประทับใจไม่รู้ลืม แต่ผมว่า Sex เป็นสิ่งเกินเลยเถิดไปนิด หลายๆคนน่าจะได้ข้อสรุปเดียวกันคือ BJ ซึ่งทำให้เด็กชายกลายเป็นบุรุษ เหม่อล่องลอย เพ้อฝันกลางวัน จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เฝ้ารอคอยเวลาจักได้พบเจอเธออีก
ผมมองเด็กชายนิรนาม ไม่ใช่แค่มุมมองดำเนินเรื่อง(ของผู้แต่งนวนิยาย al-Sharqawi) หรือว่าที่เจ้าบ่าวของ Wassifa แต่คือสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์ ละอ่อนวัย ไร้เดียงสา ซึ่งค่ำคืนนี้ถือได้ว่าเป็นการ ‘loss of innocence’ (ฉากก่อนหน้านี้คือพิธีแต่งงาน) เหตุการณ์หลังจากนี้ หายนะจะเริ่มคืบคลานเข้ามา
กล้องถ่ายมุมเงยพบเห็น Abdel Ati กำลังจกอาหารเข้ามา เสียงซุบซิบของชาวบ้านจึงยินยอมมอบเศษอาหารเหลือให้ Elwani กล้องเคลื่อนลง (Tilt Down) ถ่ายมุมก้ม นำใส่ปาก Khadra แต่แทนที่จะมอบให้เธอทั้งหมด เหลือเท่าไหร่กลับฉกฉวยเอาเข้าปากตนเอง … มุมกล้องเงย-ก้ม สะท้อนสถานะทางสังคม ชนชั้นสูง-ต่ำ ส่วนการกระทำของบุคคลกลาง Elwani คือการเอารัดเอาเปรียบ ฉกฉวยโอกาสจาก Khandra เป็นลมล้มพับเพราะไม่มีอันจะกิน
ตัวละคร Elwani เปรียบดั่งกระจกสะท้อน Khandra ทั้งสองต่างเป็นเด็กกำพร้า ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องคอยลักขโมย ฉกฉวยโอกาส สามารถเติมเต็มกันและกัน แต่ความแตกต่างระหว่างชาย-หญิง ในสังคม Egyptian มันช่างราวฟ้ากับเหว!
เมื่อตอนที่ครูสอนหนังสือ Mohammad Effendi เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ณ Cairo มุมกล้องถ่ายติดภาพสะท้อนในกระจก
- ทางฟากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ยินยอมรับเงินของ Effendi เพื่อส่งหนังสือร้องเรียนให้นายกรัฐมนตรี แต่ภาพสะท้อนในกระจกดูราวกับเงามายา หมอนี่ช่างดูจอมปลอม หลอกลวง พยายามอธิบายเหตุผลความเป็นไม่ได้ (ที่ยินยอมอธิบายคงเพราะรับเงินมาแล้ว ไม่ต้องการให้อีกฝ่ายรู้สึกล้มเหลว)
- แต่เมื่อ Effendi ตระหนักว่าหนังสือที่ยื่นคงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ภาพสะท้อนในกระจกสร้างความรู้สึกอัดอั้น ผิดหวัง ตกอยู่ในวังวน ไร้หนทางออก ไม่รู้จะไปพูดบอกกล่าวกับชาวบ้านเช่นไร
หนึ่งในสามซีเควนซ์ที่ได้รับการกล่าวขวัญของหนัง! เนื่องด้วยระยะเวลาจ่ายน้ำมีจำกัด ชาวบ้านจึงพยายามแก่งแย่ง ฉกชิง ไม่ต้องการรอคิว เพื่อให้ไร่นาตนเองได้น้ำใช้ก่อนใคร จึงเกิดการต่อสู้ ทะเลาะวิวาท แต่แล้วเมื่อใครหนึ่งตะโกนบอกว่าวัวตกหลุม ทุกคนต่างหยุดความขัดแย้ง พากันมาล้อมรอบบ่อน้ำ คู่พิพาททั้งสองต่างลงไปในบ่อ ช่วยกันฉุดกระชากลากดึง ช่วยเหลือเจ้าวัวประจำหมู่บ้านกลับขึ้นมาได้สำเร็จ
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผมนึกถึงคำนิยมของประเทศสารขัณฑ์ มีเวลามีศึกสงคราม ภัยคุกคามจากภายนอก เราต่างร่วมแรงร่วมใจกันอย่างสมัครสมานฉันท์ แต่พอบ้านเมืองยามสงบสุข คนในชาติมักเกิดความขัดแย้งกันเอง … ฉันท์ใดฉันท์นั้น ฟาร์มใครฟาร์มมัน ทุกคนต่างมีความเห็นแก่ตัว แต่เมื่อเป็นเรื่องของส่วนรวม วัวประจำหมู่บ้านตกหลุม พวกเขาสามารถทอดทิ้งความขัดแย้ง ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแข็งขัน บังเกิดความตระหนักถึงศัตรูแท้จริง คือหน่วยงานรัฐ พวกผู้มีอำนาจบาดใหญ่
บางคนอาจมองเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ได้มีความจำเป็นที่ทุกคนต้องช่วยกันฉุดกระชากลากดึงเจ้าวัวขึ้นมาจากหลุม กำลังคนเท่าที่มีอยู่ก็น่าจะเพียงพอแล้ว คนที่เหลือเลยช่วยกันสวดอธิษฐาน ขอพรพระเป็นเจ้า แต่ในมุมมองผู้ชมสมัยใหม่ มันมีความจำเป็นอันใด? ช่วยได้จริงๆนะหรือ? ลุ่มหลง งมงาย? จะว่าไปสำแดงธาตุแท้ผกก. Chahine ถือกำเนิดในครอบครัว Melkite Greek Catholic แม้เจ้าตัวอ้างว่าตนเองไม่นับถือศาสนาใดๆ แต่ทิศทางการนำเสนอชัดเจนมากๆว่า Anti-Islam, Anti-Muslim หรือจะเหมารวม Anti-God พระเจ้าไม่ช่วยอะไร!
หลังจากนี้มันมีอีกหลายฉากมากๆที่พบเห็นการสวดมนต์ อธิษฐานขอพร พระเจ้าช่วยด้วย! แต่มันก็ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น คนชั่วยังคงได้ดี ประชาชนตาดำๆเหล่านี้ยังคงต้องทนทุกข์ยากลำบาก
ระหว่างที่บิดา Mohamed Abu Swelam (และผองพวก)ถูกจับกุม คุมขัง Mohammad Effendi แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนที่บ้านของ Wassifa ภาพช็อตนี้มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะฝ่ายหญิงนั่งอยู่ในมุมมืด ตัวคนเดียว ส่วนฝ่ายชายมาถึงในช่วงเวลาไม่ค่อยเหมาะสมสักเท่าไหร่ (เพราะบิดาไม่อยู่บ้าน) ท่าทางลับๆล่อๆ เหมือนจะมีคมใน แม้แท้จริงๆไม่ได้ครุ่นคิดอะไร แต่กลับสร้างความหวาดวิตกกังวล หญิงสาวพยายามรักษาระยะห่าง สรรหาข้ออ้าง เพื่อให้ตนเองเอาตัวรอดจากสถานการณ์ประหลาดๆนี้
ระหว่างถูกควบคุมขัง จะมีการร้อยเรียงภาพทัณฑ์ทรมาน เสียงกรีดร้อง (พร้อมแสงไฟกวัดแกว่งไปมา) ย่ำเหยียบใบหน้า จับกดน้ำ แต่เลวร้ายที่สุดสำหรับ Mohamed Abu Swelam คือโดนจับโกนหนวด สำหรับชาว Egyptian ถือเป็นสัญลักษณ์แทนวุฒิภาวะ (Maturity) สติปัญญา (Wisdom) และสถานะทางสังคม (Social Status) มันจึงคือสิ่งสำคัญมากๆสำหรับผู้อาวุโส ทรงคุณวุฒิ แทนหน้าตา เกียรติยศ ศักดิ์ศรี เมื่อไม่มีหนวดก็เท่ากับสูญเสียทุกสิ่งอย่าง
เสียงร้องแหลมสูง (High-Pitched) ที่ฟังเหมือนการหอน มีคำเรียกว่า Ululation หรือ زغاريت, Zaghārīt คือส่วนหนึ่งทางวัฒนธรรมของทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง มักใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความยินดี ข่าวดี งานมงคล (โดยเฉพาะงานแต่งงาน) รวมถึงต้อนรับกลับบ้าน
หลังถูกโกนหนวด Mohamed Abu Swelam ตกอยู่ในสภาพหดหู่ สิ้นหวัง รู้สึกอับอาย สูญเสียเกียรติ จึงพยายามปกปิดบังใบหน้า ปฏิเสธจะพบเจอใครต่อใคร จนกระทั่งการแวะเวียนมาเยียมเยียนของเพื่อนเก่าแก่ Sheikh Hassouna ชักชวนพูดคุย กล่อมเกลา รื้อฟื้นความหลัง รายละเอียด ‘Mise-en-scène’ ของซีเควนซ์นี้ จากเคยหันหลัง สู่หันข้าง (ยินยอมเปิดใจรับฟัง) ก่อนท้ายสุดทุกคนจะหันหน้าทิศทางเดียวกัน แสดงถึงการปรับความเข้าใจ หัวเราะให้กับอดีตพานผ่านไป เรียกว่าก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายได้เสียที
ก่อนนำเข้าซีเควนซ์การถูกฆาตกรรม หลายๆช็อตจะมีการปรับความคมเข้ม ปกคลุมด้วยความมืดมิด (Low Key) สร้างสัมผัส Film Noir จุดประสงค์เพื่อใช้เป็นลางบอกเหตุร้าย ความตายของ Khadra พบเห็นภาพฆาตกรสะท้อนพื้นผิวน้ำ Sheikh Shaban ชายผู้คลั่งศาสนา วันๆเอาแต่ร่ำร้อง เอ่ยกล่าวอ้างพระนามอัลลอฮ์
ผมรู้สึกว่าวิธีการที่หนังนำเสนอฉากฆาตกรรม ทำออกมาคล้ายหนังแนว Slasher ฆาตกรมีอาการผิดปกติทางจิต ทำแล้วยังเชิดหน้าชูตา เพิกเฉยลอยชาย ภาคภูมิใจในตนเอง ครุ่นคิดว่าสิ่งที่ฉันทำนั้นถูกต้องเหมาะสม ตัดสินหญิงสาวผู้มีความสกปรก แปดเปื้อน กำจัดภัยสังคมให้พ้นภัยทาง
แต่สิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าฆาตกรโรคจิต นั่นคือปฏิกิริยาชาวบ้านที่พยายามปกปิด ไม่อนุญาตให้นำศพไปฝังยังสุสานบรรพบุรุษ ถือกำเนิดขึ้นโดยไม่มีพ่อ-แม่ ญาติพี่น้อง เพียงหญิงสาวกำพร้า ตายไปยังไม่มีใครให้การยินยอมรับ … เหตุการณ์ฆาตกรรม Khadra อารัมบทโชคชะตา”กรรม”ที่กำลังจะเกิดกับชาวบ้านละแวกนี้ เมื่อพวกเขาสูญเสียผืนแผ่นดินทำกิน ก็จักกลายเป็นคนไร้ญาติขาดมิตร อนาคตย่อมตกตายเหมือนหมูเหมือนหมา
Wassifa เป็นบุคคลเดียวที่แสดงปฏิกิริยาผิดหวังต่อบิดา บุรุษทั้งหลายในหมู่บ้าน เหมารวมสังคมชายเป็นใหญ่ (ยังมองได้ถึงการต่อต้านศาสนาอิสลาม) หญิงสาวไร้สิทธิ์เสียงใดๆ มีสถานะไม่ต่างจากแม่วัวตัวนี้ (น่าจะตัวเดียวกับที่ตกลงในหลุม) มีหน้าที่เพียงให้กำเนิดบุตร รีดนมวัว
หนึ่งในสามซีเควนซ์ที่ได้รับการกล่าวขวัญของหนัง! Mohamed Abu Swelam เกิดความเบื่อหน่ายถึงการเอาแต่พูดคุย ต่อรอง หาหนทางออกด้วยสันติวิธี จู่ๆลุกขึ้นมาพร่ำเพ้อถึงอดีต เมื่อครั้งร่วมสู้รบต่อต้านจักรวรรดินิยมกับ Sheikh Hassouna เพื่อจะสื่อว่ามันถึงเวลาที่ต้องยกระดับสถานการณ์ ครุ่นคิดหาวิธีการอันเด็ดขาด “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
แผนการที่ครุ่นคิดกันนั้น คือโยนทิ้งตาข่ายเหล็ก อุปกรณ์ก่อสร้างลงคูคลองชลประทาน ว่ากันตามตรงนี่เป็นวิธีการที่ไม่ก่อให้เป็นประโยชน์อันใด “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” เพียงการก่อสร้างล่าช้าลงเท่านั้น เพราะมันไม่มีทางจะหยุดยับยั้งความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคสมัยใหม่ ทั้งหมดที่ทำไปนี้เพียงสำแดงอารมณ์เกรี้ยวกราด และอีกไม่นานจักถูกโต้ตอบอย่างรุนแรง เด็ดขาด
ในขณะที่ Wassifa อธิษฐานขออัลลอฮ์ให้ช่วยปกป้องบิดาและผืนแผ่นดินบ้านเกิด, Abdel Hady เมื่อตอนถูกจับ คุมขังคุก เอาแต่ครุ่นคิดถึงหญิงสาวคนรัก สนเพียงอยากจะครอบครอง เป็นเจ้าของ พยายามโน้มน้าวกล่อมเกลา บิดา Mohamed Abu Swelam แต่จนแล้วจนรอดกลับไม่ได้รับความเห็นชอบใดๆ
แม้ตัวละคร Mohamed Abu Swelam จะดูเหมือนนักปฏิวัติ พร้อมต่อสู้ ร่วมติดคุก เผชิญหน้าความอยุติธรรม แต่ตัวตนแท้จริงนั้น สนเพียงครอบครองเป็นเจ้าของ ต้องการแต่งงานกับ Wassifa มันช่างไม่ต่างจากพวกผู้มีอำนาจ หน่วยงานรัฐ ลัทธิอาณานิคม … หลายคนอาจมองว่าตัวละครนี้คือพระเอก (เพราะหน้าตาหล่อเหลา และเอาแต่เกี้ยวพานางเอก) แต่เอาจริงๆเป็นพวกปากว่าตาขยิบ ภาพสะท้อนเมื่อตอนยังหนุ่มของ Sheikh Hassouna
ผมไม่ค่อยแน่ใจสถานที่แห่งนี้ว่าคือมัสยิดหรืออะไร แต่มุมกล้องถ่ายจากด้านใน พบเห็นทั้งสองยืนเกาะอยู่บริเวณหน้าต่างที่มีลักษณะคล้ายกรงขัง ถูกกีดกัน กั้นขวาง ไม่สามารถเข้าไปภายในดินแดนของพระเป็นเจ้า … คำอธิษฐานไม่เป็นประโยชน์อันใด
ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าตำรวจอูฐ (Camel Police) มีคำเรียกว่าอะไร? แต่ยามค่ำคืนระหว่างเคอร์ฟิวช็อตนี้ (ด้วยฟิลเตอร์ Day for Night) เริ่มต้นพบเห็นเงาของตำรวจอูฐ สร้างสัมผัสคล้ายๆ Nosferatu (1922) สิ่งชั่วร้ายกำลังคืบคลาน ย่างกรายเข้ามา
ในตอนแรกผมครุ่นคิดว่า Mohamed Abu Swelam จะทำการเสี้ยมสอน Abdel Hady ถึงแนวคิดรวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย (ไม้ท่อนเดียวหักง่าย ไม้หลายท่อนหักยาก) แต่ไปๆมาๆกลับเป็นการพิสูจน์กำลังวังชา คนหนุ่ม-แก่ ตราบยังมีเรี่ยวแรง ย่อมสามารถต่อสู้ เผชิญหน้าศัตรู ไม่มีคำว่าแก่เกินแกง
ในขณะที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในบ้านดินโทรมๆ เปลอเปลื้อนโคลนเลน มีเพียงสิ่งข้าวของเครื่องใช้ทั่วๆไป, Mahmud Bey กลับอาศัยอยู่บ้านพักหรูหรา สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง ใช้ชีวิตอย่างชนชั้นสูง อ้างว่าทำโน่นนี่นั่นเพื่ออนาคต แต่สิ่งต่างๆล้วนตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตน ไม่เคยสนใจชาวบ้านชาวช่อง ใครจะเป็นจะตายไม่ใช่เรื่องของฉัน
Sheikh Hassouna พยายามจะอธิบายความทุกข์ยากลำบากของชาวบ้านชาวช่อง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถเกลี้ยกล่อม เอาชนะวาทะศิลป์ของ Mahmud Bey แถมยังถูกซื้อใจ ด้วยการไม่บุกรุกพื้นที่ดินทำกิน กลายเป็นคนทรยศหักหลังพวกพ้อง หลบหนีหายตัวออกจากหมู่บ้าน ไม่กล้าเผชิญหน้าพวกพ้อง สูญสิ้นจิตวิญญาณนักปฏิวัติ
เมื่อคนงานจากภายนอก ทำการหยอกล้อ เกี้ยวพาราสี Wassifa สร้างความไม่พึงพอใจต่อ Abdel Hady จึงทำการตบหน้า โต้ตอบด้วยความรุนแรง ก่อนขับไล่ออกจากหมู่บ้าน ฉันท์ใดฉันท์นั้น เมื่อผืนแผ่นดิน/ประเทศชาติถูกรุกราน ประชาชนในชาติควรลุกขึ้นมาโต้ตอบ ขับไล่ศัตรูออกไปจากบ้านเกิดเมืองนอน
แต่นั่นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านละแวกนี้ไม่สามารถโต้ตอบ ทำอะไร เพราะบุคคลเข้ามายึดครองผืนแผ่นดินบ้านเกิด คือคนในชาติด้วยกันเอง หน่วยงานรัฐ ชนชั้นผู้นำ ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ข้ออ้างโน่นนี่นั่น สำหรับขับไล่ประชาชนตาดำๆ
ภาพแรกของหนัง Mohamed Abu Swelam ทำการปลูกต้นฝ้าย แต่ช็อตสุดท้ายเขาถูกตำรวจเมืองฉุดกระชากลาก ให้ออกไปจากผืนแผ่นดินของตนเอง, ผมมองสองภาพนี้ในลักษณะหวนกลับสู่สามัญ เริ่มต้น-สิ้นสุด ให้กำเนิด-สูญเสีย(จากไป) วังวนที่ประชาชนระดับรากหญ้าไม่มีทางดิ้นหลุดพ้น
ว่ากันว่าภาพสุดท้ายของหนัง เป็นหนึ่งในซีนได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดในวงการภาพยนตร์ Egyptian มีความทรงพลัง อัดอั้น สิ้นหวัง บังเกิดอารมณ์เกรี้ยวกราดต่อการใช้อำนาจบาดใหญ่ของหน่วยงานรัฐ พฤติกรรมคอรัปชั่นของพวกผู้มีอำนาจ (และรวมถึงจักรวรรดินิยมที่ยุคสมัยก่อนพยายามเชิดชัก ควบคุมครอบงำ Kingdom of Egypt) ที่เอาแต่กดขี่ข่มเหงประชาชนระดับรากหญ้า ถูกทำให้สูญเสียที่ดินทำกิน พลัดพรากจากผืนแผ่นดินบ้านเกิด
ตัดต่อโดย Rashida Abdel Salam ขาประจำผกก. Chahine ตั้งแต่ The Land (1970), The Choice (1971), Alexandria… Why? (1979), An Egyptian Story (1982) ฯ
ขณะที่ต้นฉบับนวนิยายดำเนินเรื่องผ่านมุมมองเด็กชายนิรนาม เดินทางมาท่องเที่ยวหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในช่วงวันหยุดปิดเทอม แต่หนังไม่ได้จำเพาะเจาะจงตัวละครหนึ่งใด ตัดสลับไปมาระหว่างสมาชิกหมู่บ้าน ประกอบด้วยผู้นำ Muhammad Abu Sweilem, เพื่อนสนิท Sheikh Hassouna, บุตรสาว Wassifa, แฟนหนุ่ม Abdel Hady, ครูสอนหนังสือ Mohammad Effendi ฯ
- อารัมบท, การมาถึงของเด็กชายนิรนาม
- Muhammad Abu Sweilem กำลังปลูกต้นฝ้าย
- การมาถึงของเด็กชายนิรนาม
- สนุกสนานเริงระบำกับงานแต่งงาน
- ยามค่ำคืนเด็กชายนิรนามแอบมาพบเจอ Wassifa
- ทางการออกคำสั่งลดจำนวนวันจ่ายน้ำ
- ข่าวคราวที่ทางการออกคำสั่งลดจำนวนวันจ่ายน้ำ แพร่กระจายไปทั่วหมู่บ้าน
- ยามเย็นมีการรวมกลุ่มพูดคุย หาหนทางต่อรอง แก้ปัญหา
- เขียนจดหมายส่งถึงนายกเทศมนตรี/นายกรัฐมนตรี
- ครูสอนหนังสือ Mohammad Effendi ออกเดินทางไปยื่นหนังสือกับนายกเทศมนตรียังกรุง Cairo แต่กลับประสบพบเจอเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ
- ชาวบ้านแก่งแย่งกันใช้น้ำ จนมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งชกต่อยตี พอดิบดีวัวตัวหนึ่งตกหล่ม จำต้องช่วยกันฉุดลากขึ้นมา
- ความพยายามที่ไม่เป็นผล
- ชาวบ้านปฏิเสธทำตามคำสั่งทางการเรื่องการห้ามใช้น้ำ เป็นเหตุให้ Muhammad Abu Sweilem และผองพวกถูกจับกุม คุมขังในเรือนจำที่ Cairo
- Muhammad Abu Sweilem และผองพวกถูกทัณฑ์ทรมาน โกนหนวดเครา เดินทางกลับบ้านด้วยความเศร้าโศก
- Sheikh Hassouna พยายามปลุกใจ Muhammad Abu Sweilem ให้ลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรม
- เหตุการณ์ฆาตกรรม Khadra
- Muhammad Abu Sweilem พูดระบายความอัดอั้นภายใน
- ยามค่ำคืน ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำลายรั้วลวดหนาม โยนลงคูคลองชลประทาน
- สถานการณ์ฉุกเฉิน
- เช้าวันถัดมาทางการส่งตำรวจเข้ามาควบคุมสถานการณ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
- Sheikh Hassouna พยายามเข้าไปพูดคุยกับพวกผู้มีอำนาจ แต่ก็ไม่สามารถต่อรองใดๆ
- ทางการเตรียมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เข้ายึดครองไร่นา ฟาร์มฝ้ายจากชาวบ้าน
- ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันเก็บเกี่ยวผลผลิต
- แต่ท้ายที่สุดตำรวจกลุ่มใหม่เดินทางมาถึง จับตัว Muhammad Abu Sweilem ผูกมัดเชือก ลากไปกับพื้นดิน
เมื่อตอน Cairo Station (1958) ผมรู้สึกว่าการตัดต่อ ลีลาดำเนินเรื่องมีความระห่ำสุดแล้วๆ แต่พอได้รับชม The Land (1970) ถึงพบเห็นความคลุ้มบ้าคลั่งขึ้นอีกระดับ เพราะทีมนักแสดงไม่รู้กี่คนต่อกี่คน สลับสับเปลี่ยนมุมมองไปเรื่อยๆอย่างลื่นไหล แถมยังสามารถไกล่เกลี่ยบทให้ทุกๆคนตามความสำคัญ แม้งทำไง โคตรๆน่าอัศจรรย์ใจ!
เพลงประกอบโดย علي إسماعيل, Ali Ismail (1922-74) นักดนตรี แต่งเพลงสัญชาติ Egyptian, บิดาเป็นครูสอนดนตรี ทำให้บุตรชายมีความสนใจด้านนี้ตั้งแต่เด็ก โตขึ้นร่ำเรียนบทเพลงตะวันตกจาก Higher Institute of Dramatic Arts ทำงานในกองทัพเรืออยู่หลายปี แต่งเพลงให้กับศิลปิน รายการวิทยุ ละคอนเวที ภาพยนตร์ อาทิ The Land (1970), The Choice (1971) ฯ
งานเพลงของ Ismail คละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Persian & Egyptian ทำการผสมผสานเครื่องดนตรี Eastern + Western บรรเลงด้วยวงออร์เคสตราขนาดใหญ่ สำหรับพรรณาความรู้สึก อารมณ์อึดอัดอั้นภายใน หลายครั้งยังใส่เนื้อคำร้องที่สอดคล้องเข้ากับเรื่องราวขณะนั้นๆ ถือเป็นชั้นเชิงการนำเสนอที่น่าประทับใจไม่น้อยเลยละ!
บทเพลง Opening Credit ชื่อว่า إل أرض إل عطشانا อ่านว่า El Ard El Atshana แปลว่า No Land, No Thirst แต่งคำร้องโดย Nabila Kandil, โดยนัยยะของ El Ard = The Land ไม่ได้หมายความถึงแค่ดินสำหรับเพาะปลูก เกษตรกรรม แต่ในเชิงนามธรรมยังเหมารวมถึงแผ่นดินบรรพบุรุษ ประเทศชาติบ้านเกิดเมืองนอน แม้ต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อ ความตาย ฉันจะไม่มีวันยอมสูญเสียมันไปอย่างเด็ดขาด!
If the land is thirsty
We shall water it with our blood
It’s a pledge and we’re dedicated
It shall be fruitful at the break of dawnO blessed land of our ancestors
You are the reason we exist
And we shall keep our promises
We will give you heart and soul
And never again will you be thirsty
ด้วยความที่พื้นหลังของ The Land (1970) เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930s ความตั้งใจของผู้แต่งนวนิยาย al-Sharqawi จึงพุ่งเป้าโจมตีไปยังสุลต่าน ข้าราชการ หน่วยงานรัฐบาล แม้ว่า Kingdom of Egypt ได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 ทว่ากลับมีสถานะเพียงหุ่นเชิดของอังกฤษ คอยควบคุมครอบงำ ชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง โดยไม่รู้ตัวกำลังทำให้ผืนแผ่นดินค่อยๆถูกกลืนกิน สักวันหนึ่งคงหมดสูญสิ้น ไม่หลงเหลือส่งต่อถึงลูกหลาน
เรื่องราวของ The Land นำเสนอผ่านมุมมองชาวบ้าน เกษตรกร สำแดงความทุกข์ยากลำบากจากนโยบายของรัฐ ไม่ได้รับความเป็นธรรม บุคคลผู้มีอำนาจไม่เคยเหลียวแลหลัง แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนคือการสื่อสารทิศทางเดียว! ปิดกั้นเหตุผลของหน่วยงานรัฐ ปฏิเสธความเจริญก้าวหน้า เอาจริงๆคลองชลประทานอาจสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านได้มากกว่า ไม่ใช่แค่ตอบสนองพวกผู้มีอำนาจฝ่ายเดียว … นี่แสดงถึงปัญหาการสื่อสารระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชน เสียมากกว่านะ!
ฉบับภาพยนตร์ของผกก. Chahine สร้างขึ้นในยุคสมัย United Arab Republic (1958-71) ผมอ่านเจอว่าประธานาธิบดี Gamal Abdel Nasser จงเกลียดจงชังพวกจักรวรรดินิยมเข้ากระดูกดำ! มองมุมหนึ่ง The Land (1970) คือภาพยนตร์แนวชวนเชื่อ Anti-Imperialism, Anti-Colonialism และเสี้ยมสอนให้ชาว Egyptian บังเกิดความจงรักผืนแผ่นดิน ชาติบ้านเกิด
แต่ผมครุ่นคิดว่าความตั้งใจจริงๆของผกก. Chahine ต้องการวิพากย์วิจารณ์สารพัดความเปลี่ยนแปลงสู่ยุคสมัยใหม่ของปธน. Nasser แม้บางเรื่องจะฟังดูดีอย่างระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ประชาชนมีทักษะ ความรู้ วิชาชีพ จะได้หางานทำง่ายขึ้น, ปฏิรูปที่ดิน ให้โอกาสชาวบ้านทั่วไปได้มีที่อยู่อาศัย แหล่งทำกินของตนเอง ฯ แต่ในแง่การปกครองที่ชอบใช้อำนาจเด็ดขาด ไม่สนหลักสิทธิมนุษยชน ส่งทหารเข้าปราบปรามจราจล รวมถึงการนำประเทศเข้าสู่สงคราม สู้รบกับ Israel เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนเกือบถึงจุดพังทลายในช่วงต้นทศวรรษ 70s
ผกก. Chahine ไม่ได้พยายามหาหนทางออกตอนจบ เพราะในสถานการณ์ลักษณะนี้ย่อมไม่มีใครสามารถครุ่นคิดทำอะไร เพียงความท้อแท้สิ้นหวัง หวนกลับสู่สามัญ เริ่มต้น-สิ้นสุด วังวนที่ประชาชนระดับรากหญ้าไม่มีทางดิ้นหลุดพ้น … มันไม่เชิงว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต่ก็มีหลายๆเหตุการณ์ในทศวรรษ 30s ที่หวนกลับมาเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 60s (โดยเฉพาะพฤติกรรมคอรัปชั่น การใช้อำนาจบาดใหญ่ของหน่วยงานรัฐ) ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถือเป็นบทเรียน สะท้อนปัญหาสังคม การเมือง ไม่ใช่แค่สำหรับชาว Egyptian ยังเหมารวมทวีปแอฟริกา และผู้ชมทั่วโลกก็อาจประสบพบเจอเหตุการณ์ที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน
เมื่อเข้าฉายใน Egypt ด้วยเสียงตอบรับที่ดียอดเยี่ยม จึงได้รับโอกาสเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้ไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา แต่ก็ได้รับคำชื่นชมล้นหลามเช่นเดียวกัน
The Land is not an event for Arab cinema alone but also for international cinema.
นักวิจารณ์ฝรั่งเศส Jean-Louis Bourme
The Land is a milestone in the history of Egyptian cinema. It deserves the admiration of the world like Hollywood, Rome and Paris.
นักวิจารณ์ Gerard Constable
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะโดย Association Youssef Chahine ร่วมกับ MISR International Films ไม่ได้มีการระบุคุณภาพ (คาดว่าน่าจะ 4K) เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019 ยังไม่มีจัดจำหน่าย Blu-Ray แต่เคยมีฉาย Netflix อยู่สักพักหนึ่ง จึงสามารถหาไฟล์ WEBRip ได้ไม่ยากเข็น
ส่วนตัวมีความอึ่งทึ่งในลีลาการกำกับของผกก. Chahine ไร้ความประณีประณอม สร้างความอึดอัดอั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง ก่อนตกอยู่ในความท้อแท้สิ้นหวัง ยิ่งใหญ่มหากาพย์ทรงพลัง น่าประทับใจยิ่งๆกว่า Cairo Station (1958) สมควรค่าระดับมาสเตอร์พีซ
ระหว่างรับชม The Land (1970) ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์อย่าง Earth (1930), Our Daily Bread (1934), The Grapes of Wrath (1940), Do Bigha Zamin (1953), Mother India (1957) ฯ
จัดเรต 15+ กับพฤติกรรมคอรัปชั่น ความรุนแรง ท้อแท้สิ้นหวัง
Leave a Reply