The Last Command

The Last Command (1928) hollywood : Josef von Sternberg ♥♥♥♥♡

เลิกเถียงได้เลยว่าใครคือนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคหนังเงียบ ชื่อของ Emil Jannings กับผลงานคว้า Oscar: Best Actor จะทำให้คุณขนลุกเนื้อเต้นกับวินาทีที่เขาลุกขึ้นมาโบกสะบัดธงชาติ ตะโกนออกคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายในชีวิต

เมื่อพูดถึงโคตรนักแสดงในยุคหนังเงียบ เฉพาะผู้ชายที่ดังๆ อาทิ Charlie Chaplin, Buster Keaton, Harold Lloyd, Douglas Fairbanks, Lon Chaney, Conrad Veidt, Werner Krauss, Erich von Stroheim แต่ละคนจะมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง เช่นกันกับ Emil Jannings แต่สิ่งที่ทำให้เขาคนนี้แตกต่างยิ่งใหญ่กว่าคนอื่นคือ Charisma ของความเป็นผู้นำ ด้วยร่างกายบึกบึนกำยำ อุดมสมบูรณ์ ใบหน้าคมเข้ม ภาพลักษณ์เหมาะรับบทตัวละครกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ จอมทัพ นายพล บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เท่าที่เห็นในเครดิต อาทิ Louis XV of France, Henry VIII of England, Peter the Great, Czar Paul I, Frederick William I of Prussia ฯ น่าจะเป็นนักแสดงรับบทผู้นำในประวัติศาสตร์เยอะสุดแล้วกระมังเนี่ย

ก็ด้วยเหตุนี้เมื่อพูดถึงความยิ่งใหญ่ Emil Jannings คือนักแสดงผู้มีพลังเหลือล้น Charisma ผู้นำอันน่าเกรงขาม ที่สามารถทำให้ใครๆยินยอมก้มหัวทำตามคำสั่ง เกิดความฮึกเหิมเมื่อต้องเดินเข้าสู่สนามรบแห่งความตาย (ใกล้เคียงสุดกับนักแสดงที่เห็นรับบทสำคัญๆในประวัติศาสตร์บ่อยๆคือ Charlton Heston แต่พวกเขาถือเป็น Rameses-Moses คนละขั้วตรงข้ามกันมากกว่า)

สำหรับ The Last Command นอกจากการแสดงของ Emil Jannings ยังมีอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นตำนาน นั่นคือผู้กำกับหน้าใหม่ Josef von Sternberg ด้วยวิสัยทัศน์สุดล้ำได้รับการจับตามองตั้งแต่ผลงานแรก The Salvation Hunters (1925) แต่กว่าจะได้กลายเป็นตำนาน ก็ครั้นเดินทางสู่เยอรมันสร้างหนังพูด The Blue Angel (1930) นำแสดงโดย Jannings และแจ้งเกิดดาวดาราดวงใหม่ Marlene Dietrich

Josef von Sternberg ชื่อเดิม Jonas Sternberg (1894 – 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian-American เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพสู่อเมริกาตอนอายุ 14 ปักหลักอยู่ New York City เข้าโรงเรียนพูดภาษาอังกฤษยังไม่ได้เลยออกมาเป็นเด็กส่งของ ทำความสะอาด ซ่อมแซมฟีล์มภาพยนตร์ ประมาณปี 1915 ทำงานกับ Word Film Company ได้รับความอนุเคราะห์จาก Emile Chautard ชี้แนะสั่งสอน ว่าจ้างเป็นผู้ช่วย The Mystery of the Yellow Room (1919), สมัครเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 สังกัดหน่วยสื่อสารถ่ายทำสารคดีข่าว เดินทางไปยุโรปเพื่อสะสมประสบการณ์ กำกับเรื่องแรก The Salvation Hunters (1925) ** บ้างถือว่าคือหนัง Indy เรื่องแรกของอเมริกา

“Our aim has been to photograph a Thought. It is not conditions, nor is it environment – our faith controls our lives!”

แม้จะรับอิทธิพลของ German Expressionism แต่ Sternberg ได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา (มีผลงานหนึ่ง ขุดนรกขึ้นมาในพระราชวังอันโอ่งโถง) ไม่ใช่แค่สะท้อนสภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ยังรวมถึงความคิดอ่าน เป้าหมายอุดมการณ์ แรงผลักดันอันเกิดจากเงื่อนไข โชคชะตาที่พลิกผันแปรเปลี่ยน

“I care nothing about the story, only how it is photographed and presented”.

ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับจอมเผด็จการ มีความละเอียดอ่อนในเรื่องเล็กๆน้อย ครั้งหนึ่งเดินตรวจแถวตัวประกอบเห็นคนหนึ่งกระดุมเสื้อหลุดหายไป หันมาโวยวายด่ากราดทุกคนในกองถ่ายเสียๆหายๆ ‘ผมยินยอมให้เรื่องเล็กๆแค่นี้เกิดขึ้นไม่ได้’ (หนังเรื่องนี้ก็จะมีฉากคล้ายๆกันแทรกอยู่ด้วยนะ)

สำหรับ The Last Command แม้จะมีหลายที่มาขัดแย้งกัน แต่เริ่มต้นน่าจะจากผู้กำกับ Ernst Lubitsch ครั้งหนึ่งเคยพบเจอนายพล Theodore A. Lodigensky ของ Imperial Russian Army ก่อนหน้าการปฏิวัติรัสเซียจะเริ่มต้นขึ้น และหลังจาก Lubitsch ย้ายมาปักหลักสร้างภาพยนตร์ที่ Hollywood มีโอกาสพบเจอกันอีกครั้งในกองถ่ายภาพยนตร์ ใช้ชื่อ Theodore Lodi ยังคงสวมชุดนายพล แต่รับบทเป็นตัวประกอบค่าแรง $7.50 ต่อวัน

เกร็ด: Lodigensky ใน Hollywood แทบจะมีผลงานล้นมือในช่วงปี 1929 – 35 มีชื่อในเครดิตเรื่อง Down to Earth (1932) รับบท Grand Duke Michael อดีตทหารรัสเซียทำงานเป็นคนเปิดประตูโรงแรม

Lubitsch เล่าเรื่องราวนี้ให้นักเขียน Lajos Bíró ซึ่งมาเล่าต่อให้ Sternberg เกิดความสนใจอย่างยิ่งยวด มอบหมายหน้าที่พัฒนาบทภาพยนตร์กับ John F. Goodrich และเล็ง Emil Jannings ที่ตอนนั้นเซ็นสัญญาสองปีกับสตูดิโอ Paramount Pictures เดินทางมุ่งสู่ Hollywood

เรื่องราวของ Grand Duke Sergius Alexander (รับบทโดย Emil Jannings) ลูกพี่ลูกน้อง Tsar Nicholas II ในช่วงระหว่างปฏิวัติรัสเซีย 1917 พบเจอตกหลุมรักกับ Natalie Dabrova (รับบทโดย Evelyn Brent) ที่เป็นฝ่ายกบฎ แม้ตอนแรกเธออยากเข่นฆ่าเขาให้ตาย แต่ภายหลังช่วยเหลือให้เอาตัวรอดหลังจากการโค่นล้ม Tsar ทำได้สำเร็จ

Sergius พาตัวเองหลบหนีออกนอกประเทศมุ่งสู่อเมริกา อาศัยทำงานตัวประกอบใน Hollywood วันหนึ่งไปเข้าตา Leo Andreyev (รับบท William Powell) อดีตสมาชิกกลุ่มปฏิวัติรัสเซียที่เคยพบเจอกันก่อนหน้า ปัจจุบันกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ กำลังสร้างหนังเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับปฏิวัติรัสเซีย จงให้ให้อดีตนายพลหวนกลับมารับบทบาทเดิม ต่างเพียงชีวิตจริงกับการแสดง แต่วินาทีนั้น…

นำแสดงโดย Emil Jannings ชื่อเดิม Theodor Friedrich Emil Janenz (1884 – 1950) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Rorschach, Switzerland ก่อนย้ายมาเติบโตยัง Leipzig, German Empire สมัยเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ หนีไปเที่ยวเล่นจนแม่ยอมให้เป็นนักแสดงในโรงละครประจำเมือง ครั้งหนึ่งออกทัวร์ทั่วประเทศจนเข้าตา Max Reinhardt เข้าร่วม Deutsches Theater, Berlin รู้จักสนิทสนมกับ Karl Vollmöller, Ernst Lubitsch (ขณะนั้นยังเป็นนักแสดง), Frieda Riess ฯ ต่อมาได้แสดงหนังสั้นที่กำกับโดยเพื่อนสนิท Lubitsch อาทิ Die Augen der Mumie Ma (1918), Madame DuBarry (1919), โด่งดังทั่วโลกจากร่วมงานกับ F. W. Murnau เรื่อง The Last Laugh (1924), Herr Tartüff (1925), Faust (1926) เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures คว้า Oscar: Best Actor จากเรื่อง The Way of All Flesh (1927) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] และ The Last Command (1928)

มีสองสิ่งที่น่าเสียดายยิ่งสำหรับ Jannings
– อย่างแรกคือสำเนียงของเขาหนามาก ทำให้ไม่สามารถปรับตัวสู่ยุคหนัง Talkie ของ Hollywood จึงต้องเดินทางกลับประเทศเล่นหนังพูดภาษาเยอรมันเท่านั้น
– สองคือความนิยม Nazi สนิทสนมกับ Joseph Goebbels รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาแถลงข่าวและโฆษณาชวนเชื่อ แสดงนำภาพยนตร์ Propaganda หลายเรื่อง แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นสุด ทำให้ติด Blacklist หมดสิ้นโอกาสรับงานแสดงอีกต่อไป

รับบท Grand Duke Sergius Alexander ในมาดนายพลมีความสง่างาม น่าเกรงขาม เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์เสียสละรักชาติ แม้จะมิได้ชื่นชอบความเห็นแก่ตัวของ Tsar Nicholas II แต่จะทำยังไงได้ หน้าที่ก็อย่าง ศักดิศรีก็อีกอย่าง, การได้ตกหลุมรัก Natalie Dabrova ทำให้เขามีโอกาสหลบหนีเอาตัวรอดชีวิตจากการปฏิวัติยึดอำนาจ แต่ต้องประสบอาการ Shell Shock ตัวสั่นๆควบคุมตนเองไม่ได้ ความทรงจำวันนั้นฝังรากลึกอยู่ในขั้วจิตใจ มุ่งสู่อเมริกา Hollywood รับงานเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เมื่อทุกสิ่งอย่างจัดเข้าที่ทาง ภาพความทรงจำอันเลือนลางถาโถมเข้ามา แสดงออกโดยสันชาติญาณครั้งสุดท้าย

ด้วยรูปร่างสันฐานใหญ่โตภูมิฐาน ไว้หนวดเครา (เหมือนคนรัสเซียอยู่นะ) ปากคาบบุหรี่พ่นควันฉุยๆ หลายครั้งดูรู้ว่าเป็นการแสดงออกปั้นแต่ง (แบบจงใจ) แต่กลับมีความเป็นธรรมชาติลื่นไหล สายตาบ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายใน ไม่ได้จำเป็นต้องมีช็อต Close-Up ก็สามารถสัมผัสได้ถึงพลังเอ่อล้นทะลักออกมา

สไตล์การแสดงของ Jannings มิได้แสวงหาความสมจริง (realism) แต่มุ่งเน้นนำเสนอภาพการแสดงอันทรงพลัง (visual impact) ที่ถ่ายทอดออกมาจากความรู้สึกภายใน มีการปั้นแต่งบิดเบือนท่าทางให้สอดคล้องกับสภาวะทางอารมณ์จิตใจ จึงดูค่อนข้างจะเป็นนามธรรมและมีความ Stylish เฉพาะตัวนักแสดง (แต่ก็สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะภาษากายแสดงออกมาได้ชัดเจนอยู่แล้ว)

เกร็ด: ภาพยนตร์ 7 เรื่องที่ Jannings แสดงในอเมริกา มีเพียง The Last Command (1928) หลงเหลือรอดเต็มเรื่องถึงปัจจุบัน

Evelyn Brent ชื่อเดิม Mary Elizabeth Riggs (1901 – 1975) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Tampa, Florida หลังแม่เสียชีวิตพ่อพามายัง New York City ด้วยความเป็นคนสวยหุ่นดีกลายเป็นโมเดลลิ่ง เข้าตา World Film Studio ว่าจ้างเป็นตัวประกอบค่าตัววันละ $3 เหรียญ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Shooting of Dan McGrew (1915), ต่อมาได้รับเลือกเป็น WAMPAS Baby Stars มุ่งสู่ Hollywood โด่งดังสูงสุดกับ The Last Command (1928) แม้จะมีผลงานอยู่เรื่อยๆแต่ก็บทสมทบเสียส่วนใหญ่ ไม่ประสบความสำเร็จไปมากกว่านี้

รับบท Natalie Dabrova หญิงสาวสมาชิกคณะปฏิวัติรัสเซีย ปลอมตัวเป็นนักแสดงคอยส่งข่าวให้กลุ่มกบฎ วันหนึ่งถูกจับได้แต่เพราะความงามของเธอ ทำให้ได้รับการปฏิบัติจาก Grand Duke เป็นอย่างดี วางแผนตั้งใจฆ่าแต่สุดท้ายทำไม่ลง ภายหลังเมื่อคณะปฏิวัติก่อการสำเร็จ เสแสร้งเล่นละครเพื่อหาทางช่วยเหลือให้เขาสามารถหลบหนีเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ตนเองกลับต้องพบเจอ…

เป็นนักแสดงที่สร้างสีสันให้กับเรื่องราวได้ไม่น้อย ความงามของ Brent ถูกขับเน้นด้วยไดเรคชั่นของ Sternberg (ขึ้นชื่อเรื่องนำเสนอภาพของผู้หญิงออกมาได้อย่างงดงามที่สุด) และตัวละครจากควรมีแค่ด้านเดียวคือเป็นฝ่ายกบฎ กลับมีความอ่อนไหวเมื่อพบเห็นอุดมการณ์ลูกผู้ชายของ Grand Duke นี่ทำให้เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนจบ ผู้ชมอาจเกิดอาการ Shell Shock เฉกเช่นเดียวกันเลยก็เป็นได้

William Horatio Powell (1892 – 1984) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Pittsburgh, Pennsylvania, หลังเรียนจบมัธยมมุ่งสู่ New York สมัครเข้าเรียน American Academy of Dramatic Arts จบออกมาเป็นนักแสดงละครเร่ ประสบความสำเร็จกับ Broadway ตามด้วยมุ่งสู่ Hollywood บทบาทแรก Sherlock Holmes (1922), โด่งดังกับ The Last Command (1928), แสดงนำ The Canary Murder Case (1929), ในชีวิตเข้าชิง Oscar: Best Actor สามครั้ง ประกอบด้วย The Thin Man (1934), My Man Godfrey (1936), Life with Father (1947)

รับบท Leo Andreyev ตอนเป็นสมาชิกของคณะปฏิวัติรัสเซีย ปลอมตัวทำงานเกี่ยวกับการแสดง (ไม่รู้เป็นนักแสดงหรือผู้กำกับ) ถูกจับโดย Grand Duke แต่ก็สามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้ หลังผ่านเหตุการณ์หลายปีมุ่งสู่ Hollywood บังเอิญพบเจอกันอีกครั้ง จงใจมอบเครื่องแบบเดิม จัดฉากสร้างสถานการณ์คล้ายๆกัน ทำให้มีโอกาสได้เห็นรับรู้ตัวตนแท้จริงของเขา

ใบหน้านิ่งๆของ Powell ช่างร้ายลึกยิ่งนัก ทีแรกนึกว่าจะล้างแค้นทวงคืนอดีตที่เคยถูกกระทำไว้ แต่ที่ไหนได้ … คำพูดตอนจบที่กลับยกย่องถึง Grand Duke นั่นเพราะเขาเป็นอีกคน (แบบเดียวกับ Natalie) ได้พบเห็นตัวตนแท้จริง คำพูดการแสดงออกถ้อยคำสุดท้ายของชีวิต มันกลั่นออกมาจากภายในด้วยสันชาตญาณโดยแท้

ถ่ายภาพโดย Bert Glennon ยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ขาประจำในยุคแรกๆของ John Ford และ Cecil B. DeMille ผลงานเด่นอาทิ Stagecoach (1939), Drums Along the Mohawk (1939), Dive Bomber (1941) ฯ

หนังทั้งเรื่องถ่ายทำในสตูดิโอ Paramount จำลองสร้างฉากขึ้นมา โดยมีสัมผัสของ German Expressionism แต่ด้วยสไตล์ของ Sternberg ท้องถนนเมืองแห่งหนึ่งของประเทศรัสเซีย ราวกับภาพในความทรงจำอันโหดร้ายของ Grand Duke Sergius Alexander เสียมากกว่า

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในสไตล์ของ Sternberg คือหุ่น/รูปปั้นประกอบฉาก ซึ่งก็จะมีการสื่อความหมายอะไรสักอย่าง ถ้าเป็นผลงานยุคหนังพูดจะเห็นเต็มพระราชวังเลยละ ขณะที่หนังเรื่องนี้ในบ้านของ Grand Duke พอจะมีหยุมหยิม มองไกลๆดูไม่ค่อยออกเท่าไหร่ แต่สร้างสัมผัสที่เหมือนมีบางสิ่งอย่าง(ชั่วร้าย)จับจ้องมองอยู่ตลอดเวลา

ในโลกแห่งความโหดร้ายนั้น ใบหน้าของ Natalie Dabrova อ่อนนุ่มละมุนด้วยสัมผัสของเลนส์ Soft Focus ราวกับนางฟ้าในขุมนรกที่ตกหลุมรักซาตานก็ไม่ปาน

ตอนที่ Natalie หยิบปืนขึ้นมาจะยิง Grand Duke เขามองเห็นเธอขณะยกปืนขึ้นเป็นภาพสะท้อนในกระจก นั่นคงเป็นสิ่งที่เขาเตรียมตัวเตรียมใจไว้พร้อมแล้ว แต่เพราะกระจกมักจะแค่สะท้อนภาพความต้องการภายในจิตใจของมนุษย์ ไม่ใช่การแสดงออกจริงๆ ฉากนี้เลยจบที่ตัดไปยังใบหน้าของหญิงสาว ทุกข์ทรมานบิดม้วนและทิ้งตัวลงล้มเลิกความตั้งใจ

Sequence ไคลน์แม็กซ์ที่ถือเป็น Masterpiece ของหนัง ประกอบด้วย 3 จังหวะที่มีการถ่ายภาพอันสวยงามทรงพลัง สื่อความหมายได้อย่างลึกล้ำลงตัว

ตอนที่ผู้กำกับเริ่มสั่ง Music (Russian Anthem) -> Wind Mechanic -> Lights -> Camera ภาพถ่ายมุมก้มจับจ้อง Grand Duke ที่ปัจจุบันตกต่ำเป็นแค่ตัวประกอบแสดงภาพยนตร์ แต่สีหน้าท่าทางสายตาลุกโพลง เต็มไปด้วยความแปลกประหลาดใจ บรรยากาศสถานที่แห่งนี้สะกิดต่อมความทรงจำจากอดีตให้หวนคืนกลับมา จากอาการมือไม้ร่างกายสั่นเทิ้มกลายเป็นสงบแน่นิ่ง

ภาพซ้อนที่พบเห็นได้เรื่อยๆในช่วงขณะนี้ สะท้อนถึงการแบ่งแยกความจริง-ความทรงจำ ออกจากกันไม่ได้ในความคิดของ Grand Duke เพราะเขาถูกมายากลของวงการภาพยนตร์ Hollywood สร้างความสับสนเข้าใจผิด

และวินาทีที่เขาครุ่นคิดว่าทุกสิ่งอย่างที่เห็นนั้นคือเรื่องจริง แย่งชิงธงชาติรัสเซียขึ้นมาโบกสะบัด มุมกล้องเงยขึ้นสูงแสดงถึงพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ จงก้าวไปข้างหน้า อย่ายอมพ่ายแพ้ต่อพวกกบฎทรยศ

“The command is forward – – to victory -“

ตัดต่อโดย William Shea สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Ernest Lubitsch อาทิ Partners in Crime (1928), One Hour with You (1932), Angel (1937), The Lady Has Plans (1942) ฯ

หนังเริ่มต้นด้วย Title Card สุดกวนๆ เป็นการเสียดสี ล้อเลียน ประชดประชัน Hollywood แบบเต็มๆ

“Hollywood – 1928. The magic empire of the Twentieth Century! The Mecca of the World!”

ซึ่งการลำดับเรื่องราว จะเริ่มต้นที่ปี 1928 จากตัวละครผู้กำกับ Leo Andreyev ค้นพบภาพถ่ายของอดีต Grand Duke Sergius Alexander จึงขอให้ผู้ช่วยเรียกตัวมาแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นตัวประกอบเข้าฉาก ซึ่งระหว่างกำลังสวมเครื่องแบบเก่าของตนเองนั้น อดีตนายพลผู้นี้จึงเริ่มหวนนึกถึงความทรงจำย้อนอดีต Flashback เมื่อปี 1917 ก่อนหน้าความสำเร็จของการลุกฮือขึ้นปฏิวัติรัสเซีย

หนังใช้การเล่าเรื่องผ่าน Flashback ลากยาวไปจนเกือบจบ เพื่ออธิบายทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นปัจจุบันของ Grand Duke ซึ่งเมื่อการย้อนอดีตจบสิ้น เรื่องราวก็จะดำเนินไปต่อ ในสตูดิโอของ Hollywood เมื่อทุกสิ่งอย่างถูกจัดเตรียมไว้พร้อมสรรพ จำลองเหตุการณ์ปฏิวัติรัสเซียขึ้นมาจริงๆ อันเป็นเหตุให้เขามิอาจแยกแยะความจริงกับความทรงจำออกจากกันได้

The Last Command เป็นการนำเสนอมุมมองทัศนะ นิยามความหมาย ‘ภาพยนตร์’ ในความเข้าใจของผู้กำกับ Josef von Sternberg หลังจากอาศัยทำงานมานานหลายปี กำกับหนังเรื่องนี้ก็ลำดับที่ 5 เข้าไปแล้ว

ภาพยนตร์ คือการบันทึกภาพ(และเสียง) ของเหตุการณ์ เรื่องราว สถานการณ์บางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นจริง หรือสมมติจำลองปั้นแต่งขึ้น รวบรวมร้อยเรียง แล้วสามารถนำออกฉายให้เห็นภาพที่บันทึกไว้ปรากฎขึ้นอีกครั้งหนึ่ง(และอีกหลายๆครั้งได้)

ซึ่งหน้าที่ของผู้กำกับ คือการเตรียมความพร้อมทุกสิ่งอย่างให้กับนักแสดง เสื้อผ้าหน้าผม จัดเตรียมฉากแสงสี ตัวประกอบ ฯ เมื่อทุกอย่างบรรยากาศพร้อมกล้องเริ่มเดิน ที่เหลือคือการเฝ้าสังเกตจับจ้องมอง กอบโกยบันทึกภาพในมุมมองวิสัยทัศน์ ‘สายตา’ ของตนเอง จากนั้นนำไปเข้าห้องตัดต่อ รวบรวมร้อยเรียงลำดับให้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง

ประโยคสุดท้ายของหนังที่ตัวละครผู้กำกับพูดออกมาว่า

“He was more than a great actor – he was a great man.”

นี่เช่นกันน่าจะคือทัศนคติของ Sternberg ที่มีต่อนักแสดง โดยเฉพาะต่อ Jannings ยกย่องถึงศักยภาพและพลังความยิ่งใหญ่ สามารถทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจหลงเชื่อว่าเขากลายเป็นบุคคลต่างๆเหล่านั้น แค่เพียงการได้สังเกตมจับจ้ององ บันทึกภาพแล้วนำมาร้อยเรียงกลายเป็นภาพยนตร์ ถือเป็นอภิสิทธิ์พิเศษของชีวิต ประจักษ์เห็นสิ่งนั้นอยู่เบื้องหลังระยะประชิดใกล้

ด้วยแนวคิดวิสัยทัศน์นี้ คงไม่ผิดอะไรจะกล่าวว่า Josef von Sternberg คือโคตรผู้กำกับระดับศิลปิน ‘autuer’ เต็มเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์และมุมมองความหมายของ ‘ภาพยนตร์’ ของตนเองอย่างถ่องแท้ และเลือกได้เรคชั่นนั้นโดยตลอดมาในการสรรค์สร้างผลงานอันทรงคุณค่า

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการประกาศรางวัล Oscar ครั้งที่ 1 ได้รับการค้นพบโดย Susan Orlean คะแนนโหวตของสาขา Best Actor อันดับหนึ่งแท้จริงแล้วคือ Rin Tin Tin สุนัข German Shepherd เพศผู้ โด่งดังมากๆในทศวรรษนั้น แต่ทาง Academy คิดว่า ถ้ามอบรางวัลนี้ให้น้องหมาจริงๆ คงเป็นการดูถูกมนุษย์มากเกินไป และความศักดิ์สิทธิ์จริงจังของการประกาศรางวัล คงได้ถูกหัวเราะเย้ยจากคนรุ่นถัดไปแน่ เลยเลือกผู้มีคะแนนผลโหวตลำดับสอง ก็คือ Emil Jannings

ด้วยความที่คือครั้งแรกของการประกาศรางวัล อะไรๆยังเต็มไปด้วยความทุลักทุเล แถมมีการเปิดเผยรายชื่อผู้ชนะก่อนงานล่วงหน้าถึง 3 เดือน ซึ่งพอ Jannings รับรู้ผลของตนเอง ก็รีบติดต่อขอรับรางวัลก่อนล่วงหน้า เพราะกำลังจะเดินทางกลับ Germany คณะกรรมการเลยจำยอมต้องมอบให้ก่อนใครเพื่อน

เกร็ด: รูปปั้น Oscar ที่ Jannings ได้รับ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ Berlin Film Museum

ผมเคยโคตรประทับใจกับการแสดงของ Emil Jennings เรื่อง The Last Laugh (1924) และ Faust (1926) ของผู้กำกัย F. W. Murnau แต่รู้สึกเทียบไม่ได้เลยกับผลงานชิ้นเอกเรื่องนี้ คงต้องถือว่าทรงพลังน่าจะที่สุดแล้วกระมังในยุคสมัยหนังเงียบ

ขณะที่วิสัยทัศน์ไดเรคชั่นของ Sternberg ก็ต้องถือว่ายิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ช่วยส่งเสริมผลักดันหนุนให้นักแสดงสามารถถ่ายทอดการแสดงออกมาได้อย่างทรงพลัง จิกกัด Hollywood (และตัวเอง) ได้อย่างเจ็บแสบ

แนะนำกับคอหนังเงียบ, ในช่วงเวลา Russian Revolution (1917), เรื่องราวมีการเสียดสีประชดประชัน Hollywood, แฟนๆผู้กำกับ Josef von Sternberg และนักแสดงนำ Emil Jannings ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะนักแสดงทั้งหลาย ผู้กำกับ หรือคนทำงานเบื้องหลังในวงการ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมอบคำชี้แนะ แนวคิด โลกทัศน์อะไรหลายๆอย่างให้คุณได้แน่

จัดเรต 13+ กับความรุนแรงของการปฏิวัติ และดูถูกเหยียดหยาม

TAGLINE | “The Last Command คือคำสั่งเสียสุดยิ่งใหญ่ของ Emil Jannings และจุดเริ่มต้นของตำนานผู้กำกับ Josef von Sternberg”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: