The Last King of Scotland

The Last King of Scotland (2006) British : Kevin Macdonald ♥♥♡

หมอเกรียนชาวสก็อต (James McAvoy) เรียนจบต้องการพิสูจน์ตัวเอง เดินทางไปยูกันดาทำงานอาสา จับพลัดจับผลูได้กลายเป็นแพทย์ประจำตัวผู้นำเผด็จการ อีดี้ อามิน (Forest Whitaker) ที่เรียกตัวเองว่า The Last King of Scotland ได้เห็นความบ้าเลือด การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จึงถึงค่อยตระหนักได้ ว่าฉันมาทำบ้าอะไรอยู่ที่นี่, การันตีด้วยรางวัลการแสดง Oscar: Best Actor

หลังจากดูหนังประวัติศาสตร์มาหลายเรื่อง เห็นผู้นำเผด็จการมาก็มาก ผมเริ่มตระหนักได้ว่า ผู้นำประเทศก็มีเหมือนเหรียญสองด้าน, จิ๋นซีฮ่องเต้ ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความโหดเหี้ยม นำเชลยสงครามมาสร้างกำแพงเมืองจีน ว่ากันว่าอาจฆ่าประหารชีวิตคนมากยิ่งกว่า สมัยฮิตเลอร์, สตาลิน หรือ อีดี้ อามิน เสียอีก แต่กลับได้รับการยกย่องเทิดทูนยิ่งใหญ่ ฯ นี่ไม่ได้หมายความว่า ผู้นำเผด็จการก็มีที่ยืนบนโลกหรอกหรือ? และเหมือนว่าบางครั้ง (หลายครั้ง) โลกก็จำเป็นต้องการผู้นำทรราชย์ กษัตริย์ที่โหดเหี้ยม มากกว่าผู้นำผ่อนปรนแบบประชาธิปไตย

อีดี้ อามิน (Idi Amin) [เกิดช่วงปี 1923-28 เสียชีวิต 16 สิงหาคม 2003] เป็นผู้นำเผด็จการทหาร และประธานาธิบดีของประเทศยูกันดาตั้งแต่ปี 1971-1979 หลังจากทำการขับไล่อดีตประธานาธิบดีมิลตัน โอโบเต้ (Milton Obote) รั้งตำแหน่งนายพลและผู้บัญชาการกองทัพยูกันดา

ประเทศยูกันดาภายใต้การปกครองของอามินถือได้ว่าไร้ซึ่งสิทธิมนุษยชน มีนโยบายในการสังหารผู้คน เป็นพวกเผ่าพันธุ์นิยม มีการลงโทษนอกกระบวนการยุติธรรม เห็นแก่พวกพ้อง ฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ ข้อมูลจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนคาดว่ามีผู้เสียชีวิตในขณะที่อามินดำรงตำแหน่งประมาณ 300,000 คน

ใครอยากอ่านชีวประวัติของเผด็จการคนนี้อย่างเต็มๆ คลิกโลด (ภาษาไทย)
LINK: https://lonesomebabe.wordpress.com/2009/05/28/idi-amin/

ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Last King of Scotland แต่งโดย Giles Foden ตีพิมพ์ปี 1998 นำเสนอเรื่องราวการขึ้นมามีอำนาจของอีดี้ อามิน ที่หลังจากปฏิบัติล้มอำนาจ ได้กลายมาเป็นประธานาธิบดีประเทศยูกันดา เล่าเรื่องผ่านบันทึกความทรงจำของนายแพทย์ชาวสก็อตคนหนึ่ง (เป็นตัวละครที่แต่งขึ้นมา) ขณะทำงานอยู่ใกล้ชิดกับ อีดี้ อามิน, ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Jeremy Brock และ Peter Morgan (คนหลังขึ้นชื่อเรื่องการดัดแปลงตัวละครประวัติศาสตร์ชื่อดัง อาทิ The Queen,Frost/Nixon)

ผู้กำกับ Kevin Macdonald ชาวสก็อต มีผลงานดังก่อนหน้านั้นคือ One Day in September (2000) ที่สามารถคว้า Oscar: Best Documentary Feature มาครองได้ (เรื่องนี้ผมเคยเขียนรีวิวไปแล้วนะครับ ลองหาอ่านดูได้) ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องอันโฉบเฉี่ยว การตัดต่อที่ฉับไว Macdonald สร้างให้ The Last King of Scotland กลายเป็นหนังที่สะท้อนความฉาบฉวยของชาว British กว่าจะเข้าใจว่าตนเองทำอะไรพลาดไป ก็เมื่อสายเกินไปแล้ว (ในหนัง พระเอกรู้ตัวและยังโชคดีได้กลับประเทศ แต่ชาว British ยังอยู่ในยูกันดา ถอนตัวไม่ขึ้น!)

เกร็ด: Nicholas Garrigan เป็นตัวละครที่แต่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่า ได้แรงบันดาลใจมาจาก Bob Astles ชาวอังกฤษ และ Wilson Carswell หมอชาวสก็อต ทั้งคู่เคยทำงานใกล้ชิดกับอีดี้ อามินเป็นการส่วนตัว

นำแสดงโดย Forest Whitaker ใครทันช่วงปลายยุค 80s ชื่อของ Whitaker น้อยคนจะไม่รู้จัก รับบทสมทบใน The Color of Money (1986) ของ Martin Scorsese, Platoon (1986) ของ Oliver Stone, Good Morning, Vietnam (1987), ได้รางวัล Best Actor เทศกาลหนังเมือง Cannes จากหนังเรื่อง Bird (1988) ของ Clint Eastwood ฯ เรียกได้ว่า Whitaker คือหนึ่งในนักแสดงผิวสียอดฝีมือที่สุดคนหนึ่ง แต่ในยุค 90s ชื่อของเขาค่อยๆจืดจางลงไป (อาจเพราะเลือกรับงานและได้หนังไม่ค่อยดีเท่าไหร่) กลับมาเห็นหน้าเห็นตาอีกครั้ง ในบทสมทบ Panic Room (2002) และ Phone Booth (2002) ทำให้เขามีโอกาสได้เล่น The Last King of Scotland ที่ถือว่าเป็นจุดสูงสุดในอาชีพการแสดงเลยก็ว่าได้

รับบท อีดี้ อามิน ผู้นำเผด็จการที่อารมณ์เอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เหมือนตาข้างหนึ่งของ Whitaker ที่ห้อยตกลงมา (Ptosis = หนังตาตก) การรับบทนี้ Whitaker ต้องเพิ่มน้ำหนัก 50 ปอนด์, เรียนเล่น accordian, ใช้เวลาศึกษา อ่านหนังสือ ข่าว สารคดี ชีวประวัติ, อาศัยอยู่ที่ยูกันดา พบปะกับเพื่อน ญาติมิตร สหาย/ศัตรู ของอามิน, และเรียนพูดภาษา Swahili จนได้สำเนียงแอฟริกันตะวันออก (East African) [ตัวเองเกิดที่ Texas]

การแสดงของ Whitaker ทำให้เขาเป็นชายผิวสี African-American คนที่ 4 ถัดจาก Sidney Poitier, Denzel Washington, และ Jamie Foxx ที่คว้ารางวัลการแสดงสูงสุดนี้

สำหรับนายแพทย์ชาวสก็อต Nicholas Garrigan รับบทโดย James McAvoy ที่ใครๆคงจดจำเขาได้จากบท Professor X จาก X-Men: First Class (รุ่นเยาว์), McAvoy เป็นชาวสก๊อต มีชื่อเสียงจากการแสดงละครเวทีที่อังกฤษ ผลงานภาพยนตร์ที่ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงคือ The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005) รับบท Mr. Tumnus สัตว์เทพนิยาย Faun และเรื่องถัดมาก็คือ The Last King of Scotland นี่แหละ

ตัวละคร Garrigan คือไอ้เด็กเมื่อวานซืน เรียนจบหมอความรู้สูง แต่อีโก้ก็สูงด้วย ต้องการพิสูจน์ตนเองให้พ่อเห็น (คิดว่ามีปมเรื่องพ่อ ที่น่าจะเข้มงวดกวดขันอย่างมาก ทำให้ขาดความอบอุ่น รักแม่มากกว่า ด้วยเหตุนี้จึงชอบผู้หญิงสูงวัยที่แต่งงานแล้ว) ด้วยท่าทางคึกคัก ยิ้มร่าตลอดเวลา เหมือนคนเสพย์ยาบ้า ไม่กลัวเกรงใคร ไม่แคร์อะไรทั้งนั้น, ผมไม่เห็นอะไรดีในตัวละครนี้เลยนะครับ แต่ต้องบอกว่า McAvoy แสดงได้ดีมากๆ ถ้าไม่ติดภาพ Professor X มาละก็ จะเชื่อสนิทใจเลยว่า ตัวจริงคงเป็นแบบนั้น

ตอนที่ Garrigan กรรมสนองตอนท้าย ผมรู้สึกสะใจ สมน้ำหน้าตัวละครนี้อย่างมาก ทำตัวเอง เหมือนคนตาบอด แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่สนใจ ทำกร่างไปทั่ว แถมปากหมาใส่ผู้หวังดีคนอื่นอีก แต่เมื่อมีบางสิ่งกระทบกระแทกใจ ทำให้ตระหนักและค้นพบความจริง พอต้องการหนีออกไป ใครกันจะให้การช่วยเหลือ รังแต่จะถีบซ้ำย่ำเติมให้จมดิน, ผมไม่รู้สึกว่าตัวละครนี้ สมควรให้โอกาสเลยนะครับ น่าจะปล่อยให้ตายทรมานไปจริงๆ (แต่หนัง/นิยาย คงจบแบบนี้ไม่ได้สินะ ยังไงก็ต้องให้พระเอกรอด)

ผมเปรียบเทียบตัวละครนี้ เป็นตัวแทนของชาวเกาะอังกฤษ British/Scottish/Irish ฯ ที่มักมีความเย่อหยิ่งทะนงตน วางมาดทำตัวกร่าง คิดว่าข้ายิ่งใหญ่เกรียงไกร ยังคิดว่าตัวเองเป็นมหาอำนาจ เพราะแต่ก่อนสามารถยึดครองโลกได้มากที่สุด (Great Britain ถือว่าเป็นประเทศที่มีอาณานิคม กินพื้นที่ 1 ใน 4 ของโลกยุคนั้น เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์), การที่ Garrigan เลือกมา ยูกันดา (ด้วยการหมุนแผนที่โลกแล้วจิ้ม) ตอนแรกได้แคนาดาแต่ไม่ไป (คงเพราะแคนาดาสบายเกินไป) พอจิ้มครั้งที่สอง ประเทศอะไรก็ไม่รู้ นี่เป็นความบ้าบิ่น ของการท้าทายตัวเอง ว่าฉันสามารถไปที่ไหนแล้วจักกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ได้หรือเปล่า

สำหรับตัวประกอบอื่น ในเครดิตที่พอมีชื่อเสียง อาทิ Kerry Washington รับบท Kay ภรรยาคนที่ 3 ของ อามิน ที่ภายหลังกลายเป็นชู้รักของ Garrigan, David Oyelowo รับบท Dr. Junju คนที่ช่วยพระเอกไว้ตอนจบ, Gillian Anderson รับบท Sarah Merrit (นักแสดงดังจาก The X-Files Series) หญิงที่เกือบเป็นชู้กับ Grrigan คนแรก, Simon McBurney รับ Stone ชาว British ที่ชอบพูดจากวนๆ ชักจูง Garrigan ให้เข้าหา ฯ

เกร็ด: ชีวิตจริงและในหนังสือ Kay ท้องกับ Dr. Mbalu Mukasa เธอเสียชีวิตระหว่างทำแท้งโดย Mukasa เอง ซึ่งตัวเขาก็ฆ่าตัวตายตามเพื่อจะได้ไม่ถูกทรมาน

เกร็ด2: กับภาพศพของ Kay ในหนัง เป็นการประติดประต่อจากเรื่องจริง ที่ว่า Mukasa แยกร่างของเธอเป็นชิ้นๆ แล้วเก็บซ่อนไว้ไม่ให้ใครหาเจอ แต่ อีดี้ อามิน ก็สั่งทหารหาจนพบ แล้วให้เอาแขนขาประติดประต่อ เย็บกลับเข้าร่างเดิม

เกร็ด3: อามิน ไม่เคยมีลูกชายที่ชื่อ Campbell นะครับ

ถ่ายภาพโดย Anthony Dod Mantle งานภาพมีการเก็บรายละเอียดเล็กน้อยที่ยิบย่อยมาก เน้นภาพระยะใกล้ Mid Shot/Close-Up (บ้างถึงระดับ Extreme Close-Up เห็นยุงตัวเป็นๆ) มีการเคลื่อนกล้องโดยใช้มือถือ (Hand Held) ได้ภาพค่อนข้างสั้น วอกแวก หลายครั้งมีการเคลื่อนกล้องแปลกๆ ถ่ายใบหน้าอยู่แล้วเลื่อนไปที่มือ เห็นการวาดมือเป็นท่าทาง เสร็จแล้วเลื่อนกลับไปถ่ายหน้าใหม่ ราวกับว่า ภาพที่เห็นคือสายตาของ Garrigan

หนังมี 2 โทนสี, เหลือง/ดำ/แดง ตามสีธงชาติของยูกันดา เป็นสีอุ่น จะเห็นในครึ่งแรก ราวกับในความเพ้อฝันของ Garrigan นี่เป็นโลกที่เขาพึงพอใจอยากอาศัยอยู่, แต่พอเริ่มค้นพบความจริงอันโหดร้าย งานภาพจะเปลี่ยนเป็นโทนสีน้ำเงิน/ขาว ให้ความรู้สึกเย็นยะเยือก หดหู่

ตัดต่อโดย Justine Wright, ผมเรียกการตัดต่อที่รวดเร็วฉับไวแบบหนังเรื่องนี้ว่า ฉาบฉวย เพราะหลายครั้งเร็วเกินกว่าที่จะมองทันว่า ช็อตนั้นคืออะไร หรือสามารถเก็บรายละเอียดทั้งภาพได้ครบถ้วน, การตัดต่อแบบนี้ เหมือนกับจังหวะชีวิตของ Garrigan ที่มีความคึกคะนอง หัวใจเต้นเร็ว เล่าเรื่องตื่นเต้นๆ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่นาน

เพลงประกอบโดย Alex Heffes, มีส่วนผสมของดนตรีพื้นบ้านยูกันดาและเสียงร้องภาษาท้องถิ่น ให้กลิ่นอายแอฟริกันตะวันออก บางครั้งใช้เพลง Jazz, Rock, คลาสสิก สำหรับสร้างบรรยากาศให้กับหนัง บางเพลงมีจังหวะคึกคัก รู้สึกอยากลุกขึ้นเต้น, ผมเลือก Toko Momo เพลง Opening Title ของหนังมาให้ฟัง ขับร้องโดย Wandel

ใจความของหนังเรื่องนี้ คือการที่ คนนิสัยแย่ๆ ไปอยู่ในที่ห่วยๆ แล้วยังทำตัวบ๋วยๆ สุดท้ายก็เลยดวงซวย, เป็นมุมมองของคนที่จับพลัดจับผลูไปอยู่ใกล้ชิดกับผู้นำ ที่แรกๆดูก็น่านับถือยกย่อง แต่ไปๆมาๆ เมื่อธาตุแท้ นิสัยจริงเริ่มเปิดเผยออก ความโหดเหี้ยม ที่มากับการหลงอำนาจ หลงตัวเอง ได้ชักนำให้เกิดโศกนาฏกรรมที่เกินกว่ามนุษย์จะรับได้ เมื่อนั้นคนรอบข้างกว่าจะรู้สึกตัว ก็พบว่าตัวเองถลำลึกลงไปแล้ว ยากที่จะก้าวถอยออก ซึ่งบางทีถ้าทำอย่างนั้น ท่านผู้นำก็จะไม่ยอมและตอบโต้กับด้วยความรุนแรงระดับ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

“And I want to promise you, this will be a government of action, not of word!”
“ผมให้สัญญากับพวกคุณว่า นี่จะเป็นรัฐบาลที่ลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่พูด!”

Idi Amin

จากคำหาเสียงของอามิน เขาพูดจริงทำจริงนะครับ แต่แค่การกระทำของเขามัน ‘เกินจริง’ มากไปเสียหน่อย กว่าที่ใครๆ หรือนานาประเทศจะรับได้, ว่าไปนักการเมืองยุคสมัยไหนก็มักชอบพูดแบบนี้ เพื่อให้ประชาชนคล้อยตาม แต่มันก็แค่เกมการเมือง ใช้ขณะหาเสียงเท่านั้น เพราะถ้ามีผู้นำคนไหนปฏิบัติตามคำพูดจริงๆ ประเทศชาติคงพัฒนาเปลี่ยนไปอย่างมากโดยไม่ต้องสงสัย

ในช่วงแรกๆภายใต้การปกครองของ อีดี้ อามิน ประเทศยูกันดาก็ดูสงบสุขดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป (ไม่นาน) ธาตุแท้ ลายครามเสือออก ก็ไม่หลุดพ้นวังวนเดิมของความคอรัปชัน, ยูกันดาในยุคสมัยนี้ ถือว่านองเลือดมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แอฟริกา (อาจเป็นรอง Hotel Rwanda อยู่เยอะ) มีการเนรเทศชาวเอเชียประมาณ 75,000 คน ออกจากประเทศภายใน 90 วัน จากนั้นได้ยึดทรัพย์สินธุรกิจเอกชนมาเป็นของรัฐประมาณ 3,500 ธุรกิจ มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่ทำให้เศรษฐกิจที่เคยเป็นประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางของแอฟริกาตะวันออกเริ่มตกต่ำ ผลผลิตลดลงร้อยละ 16 และเกิดภาวะเงินเฟ้อไปทั่วประเทศ

เหตุการณ์ความไม่สงบ วุ่นวาย นองเลือดครั้งนี้น่าสนใจ เพราะอเมริกา สหประชาชาติ และประเทศอื่นๆ ต่างปิดหูปิดตา ทำเป็นมองไม่เห็น ไม่รับรู้ ไม่เคยคิดเข้าไปช่วยเหลือหยุดยั่ง? คำตอบก็คือ ยูกันดา เป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติหลงเหลือให้เหล่าประเทศมหาอำนาจเข้าไปแสวงหา ฉกฉวยประโยชน์โอกาสนั่นเอง! ผิดกับอิรัก อิหร่าน ฯ ที่มีแหล่งน้ำมันมากมาย ถ้าภายในประเทศเหล่านี้มีปัญหา ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศและโลก อเมริกา ยุโรป จึงต้องเข้าไปแทรกแซงให้ถึงขีดสุด

สำหรับเหตุการณ์ตอนจบ Operation Entebbe หรือ Jonathan Operation, Entebbe Raid, Operation Thunderbolt เป็นปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันโดยกองทัพอิสราเอล (Israel Defense Forces: IDF) ที่สนามบิน Entebbe ในประเทศยูกันดา กลางดึกวันที่ 3 กรกฎาคม และช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1976 สนใจรายละเอียดอยากอ่าน คลิกลิ้งค์เข้าไปอ่าน (ภาษาไทย)
LINK: https://lonesomebabe.wordpress.com/2009/05/28/operation-entebbe/

เกร็ด: มีการเปรียบเทียบว่า อีดี้ อามิน ตัวตนและในหนัง มีความคล้ายคลึงกับ Macbeth ของ Williams Shakespeare ที่พอได้อำนาจกลายเป็นผู้นำ ก็เกิดความหลงตัวเอง หลงอำนาจ และกลายเป็นจอมเผด็จการไป

ด้วยทุนสร้าง $6 ล้านเหรียญ ทำเงินทั่วโลก $48.4 ล้านเหรียญ, ในช่วงเทศกาลประกาศรางวัล Forest Whitaker ถือว่ากวาดเรียบ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในปีนั้น อันประกอบด้วย
– Oscar: Best Actor
– Golden Globe Award: Best Actor – Drama
– BAFTA Award: Best Actor (ยังได้อีกรางวัลคือ Best Adapted Screenplay)
– Screen Actors Guild Awards (SAG): Best Actor

ส่วนตัว ผมไม่ชอบหนังเรื่องนี้เอาเสียเลย มี 2 เหตุผล
1) ไม่ชอบที่ต้องมาทนนั่งดูชาว British/Scottish ทำตัวเกรียนๆ นิสัยแย่ๆ คิดว่าตัวเองเจ๋งที่สุดในโลก แล้วดันเอาตัวรอดตอนจบได้ (แต่ต้องชม James McAvoy ที่เล่นดีมากๆ จนผมเกลียดตัวละครนี้เข้าไส้ … ไม่ชอบขี้หน้ายิ่งกว่าอีดี้ อามิน เสียอีกนะ)
2) ไม่ชอบความรุนแรงที่บ้าคลั่งมากๆ, จริงๆนี่พอทนได้อยู่ เพราะรู้อยู่แล้วว่า อีดี้ อามิน คือผู้นำเผด็จการที่ยกย่อง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นไอดอลประจำใจ ถ้าไม่นำเสนอให้โหดเหี้ยม รุนแรงที่สุด ผู้ชมคงไม่สามารถรับรู้ความชั่วช้าของผู้นำคนนี้

ซึ่งชีวิตจริง อีดี้ อามิน หลังจากถูกโค่นล้มอำนาจ อพยพครอบครัวและทหารคนสนิท ลี้ภัยไปอยู่ลิเบีย (ตอนนั้นกัดดาฟี สหายรักร่วมอุดมการณ์ยังอยู่ในอำนาจ) ต่อจากนั้นย้ายไปอิรัก และซาอุดิอาระเบีย จนกระทั่งล้มป่วย เสียชีวิตลงในเดือนสิงหาคม 2003 โดยอาการความดันโลหิตสูงจนโคม่า กระอักเลือดออกมา สิ้นชีวิตอย่างทนทุกข์ทรมาน

นี่เป็นหนังที่เหมือนเหรียญ 2 ด้าน ผู้ชมที่มีจิตสำนึกดี คงไม่รู้สึกอภิรมย์กับอะไรหลายๆอย่าง แต่จะบอกว่า มันต้องมีคนที่ยกย่องเทิดทูนหนังเรื่องนี้เป็นแน่ เพราะการที่หนังไม่ใส่มุมมอง ทัศนะความเห็นของผู้กำกับ นี่สามารถทำให้ผู้ชมมองเห็นกลับตารปัตรได้, โดยทั่วไปแล้ว หนังลักษณะนี้มักได้รับการยกย่อง เพราะการวางตัวเป็นกลาง ไม่วิพากย์วิจารณ์อะไร แต่มันแสดงถึงความเพิกเฉย และการไม่รับผิดชอบสังคม, ถ้าสักวันหนึ่ง มีผู้นำเผด็จการระดับ อีดี้ อามินเกิดขึ้น แล้วให้สัมภาษณ์ว่า ชอบหนังเรื่องนี้มาก เป็นแรงบันดาลใจให้เขากลายเป็นผู้นำเผด็จการ เมื่อนั้น จะยังมีใครกล้าพูดอีกไหม การไม่แสดงความเห็นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ถ้าคุณอยากรู้จักเรื่องราว ความชั่วร้ายของเผด็จการ อีดี้ อามิน ไม่ใช่ดูเพื่อเอาเป็นแบบอย่าง มีจิตสำนึก จิตวิเคราะห์แยกแยะ สามารถเรียนรู้ศึกษาทำความเข้าใจ มองหาว่าเขาเดินทางผิดตรงไหน ไว้เป็นบทเรียนชีวิต

แนะนำอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังจะเดินทางไปยูกันดา ดูหนังเรื่องนี้กับ Hotel Rwanda (2004) ไว้ก่อนไปนะครับ จะมีประโยชน์มาก

จัดเรต R ห้ามให้เด็กดูเด็ดขาด! มีฉากโป๊เปลือย ความรุนแรง ฆ่ากันตาย

TAGLINE | “The Last King of Scotland มีสุดยอดการแสดงของ Forest Whitaker และ James McAvoy ก็หวังว่าคนดูคงไม่ยกย่อง เลียนแบบ ทำตามผู้นำเผด็จการสุดโฉดผู้นี้”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | WASTE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: