The Leopard

Il Gattopardo (1963) Italian : Luchino Visconti ♥♥♥♥♥

(6/5/2019) ราชสีห์ยังไงก็เป็นราชสีห์ ไม่มีทางที่ไฮยีน่าหรือลูกแกะน้อยจะสามารถทดแทนความยิ่งใหญ่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นถ้าต้องการให้ทุกสิ่งอย่างยังคงเหมือนดังเดิม อะไรๆต้องปรับเปลี่ยนแปลงไป, ผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Luchino Visconti บทบาทดีสุดในชีวิตของ Burt Lancaster และคว้ารางวัล Palme d’Or งดงามทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา

กาลเวลา/ยุคสมัยเคลื่อนพานผ่าน ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมเกิดการปรับเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีสิ่งไหนหยุดอยู่นิ่งกับที่ หรือสามารถหวนย้อนกลับคืนสู่วันวาน

Il Gattopardo คือภาพยนตร์นำเสนอช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านยุคสมัย จากราชวงศ์/ขุนนาง/ชนชั้นสูง ระบอบกษัตริย์เคยมีอำนาจปกครองสูงสุด ปัจจุบันขณะนั้นประชาชนคนชั้นกลาง-ล่าง เริ่มที่จะเรียกร้องโหยหาสิทธิเสมอภาคเท่าเทียม แทรกตัวขึ้นมามีหน้ามีตาในสังคม ทำการปฏิวัติเพื่อก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตย

การดำเนินเรื่องผ่านมุมมองเจ้าชาย/เชื้อพระวงศ์/ชนชั้นสูงในสังคม อาจทำให้หลายคนเกิดอคติ ดูไม่น่าสงสารเห็นใจตรงไหน ชีวิตร่ำรวยสุขสบาย วันๆไม่เห็นต้องทำอะไรก็อยู่ได้ ลองนำพวกเขามาคลุกคลีนอนข้างถนนดูบ้างสิ จักได้รู้สำนึกถึงความยากลำบาก … นั่นไม่ใช่ประเด็นสาระของหนังเลยนะ! ถึงวิถีชีวิตเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้จะแตกต่างจากสามัญชน แต่พวกเขาก็คือมนุษย์คนๆหนึ่ง มีหัวอก จิตใจ สุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก หนุ่ม-แก่ เกิด-ตาย ไม่แตกต่างกัน

ผมเกิดแรงดึงดูดบางอย่าง ต้องการที่จะ Revisit โคตรภาพยนตร์เรื่องนี้มาสักพักใหญ่แล้ว บอกไม่ได้เหมือนกันว่าสาเหตุอะไร อาจเพราะความประทับตราตรึงจากการครั้งแรกรับชม คือดูไม่ค่อยเข้าใจ! เลยอยากหวนกลับมาเผชิญหน้า ท้าทายตนเอง มีศักยภาพมากเพียงพอหรือยังต่อ Il Gattopardo

กลายเป็นว่ารับชมรอบนี้ ทำให้ผมซึ้งซาบซ่านจนธารน้ำตาหลั่งไหลรินออกมา ตระหนักได้ถึงกาลเวลานั้นคือผู้ร้าย ทำให้ทุกสิ่งอย่างผันเปลี่ยนแปลงไป แต่ถึงกระนั้นถ้าสามารถหวนย้อนกลับสู่วันวานได้ เรื่องราวปัจจุบันของหนังคงไม่มีโอกาสบังเกิดขึ้น!

“Time itself is the protagonist of The Leopard: the cosmic scale of time, of centuries and epochs, on which the prince muses; Sicilian time, in which days and nights stretch to infinity; and aristocratic time, in which nothing is ever rushed and everything happens just as it should happen, as it has always happened”.

– Martin Scorsese


Luchino Visconti (1906 – 1976) ผู้กำกับสัญชาติอิตาเลียน เกิดในครอบครัวชั้นสูง ที่เมืองมิลาน มีพี่น้อง 7 คน บิดา Giuseppe Visconti di Modrone มีตำแหน่งเป็น Duke of Grazzano Visconti และ Count of Lonate Pozzolo ชื่อเต็มๆของเขาคือ Count don Luchino Visconti di Modrone เป็นทายาทตระกูล House of Visconti, ตั้งแต่เด็กได้ร่ำเรียนรู้จักงานศิลปะ เล่นเชลโล่ ละครเวที โตขึ้นตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มจากช่วยงานผู้กำกับ Jean Renoir เรื่อง Toni (1935), Partie de campagne (1936)

การพบเห็นความตกต่ำเน่าเฟะของชนชั้นสูงในอิตาลี ทำให้ความสนใจของ Visconti พุ่งเป้าไปที่กับคนในสังคมระดับล่าง นำเสนอวิถี ความยากลำบากในการต่อสู้ ดิ้นรน ใช้ชีวิต ก่อเกิดเป็นภาพยนตร์ Neorealism เรื่อง Ossessione (1943), La terra trema (1948), Senso (1954), Rocco and His Brothers (1960) ฯ

สำหรับ Il Gattopardo เกิดจากความสนใจในนวนิยายชื่อเดียวกัน แต่งโดย Giuseppe Tomasi di Lampedusa (1896 – 1957) อิสริยยศ Prince of Lampedusa เจ้าชายพระองค์สุดท้ายของ Sicillian

Giuseppe Tomasi di Lampedusa เริ่มต้นเขียน Il Gattopardo ภายหลังจากปราสาทที่ Lampedusa ถูกระเบิดทำลายเสียหายย่อยยับเยิน ขณะฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้น Sicily ค.ศ. 1943 ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, ตัวเขาตกอยู่ในสภาวะหดหู่หมดสิ้นหวัง นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการต่อสู้/ระบายความเจ็บปวดรวดร้าวภายในจิตใจ

เรื่องราวนำจากบันทึกความทรงจำของปู่ทวด Don Giulio Fabrizio Tomasi, Prince of Lampedusa เปลี่ยนชื่อเป็น Don Fabrizio Corbera, Prince of Salina ช่วงสงครามระหว่าง Francis II (1836 – 1894, ครองราชย์ 1859 – 1861) กษัตริย์แห่ง Kingdom of the Two Sicilies และกลุ่มเสื้อแดง Giuseppe Garibaldi ที่ได้นำพาคณะปฏิวัติ (Expedition of the Thousand) เข้ายึดครองกรุง Sicily

นวนิยาย Il Gattopardo เคยถูกบอกปัดจากสองสำนักพิมพ์ จนได้ตีพิมพ์หลังจากผู้แต่งเสียชีวิตปี 1958 ปรากฎว่าขายดีเทน้ำเทท่า กลายเป็น Best-Selling คว้ารางวัล Strega Prize (คล้ายๆ Pulitzer Prize) และได้รับการยกย่อง ‘หนึ่งในวรรณกรรมยุค Modern เรื่องสำคัญสุดของอิตาลี’

พื้นหลังกรุง Sicily ค.ศ. 1860, Don Fabrizio Corbera (รับบทโดย Burt Lancaster) เมื่อการมาถึงของสงครามระหว่าง Francis II of the Two Sicilies กับอาสาสมัครเสื้อแดงฝั่ง Giuseppe Garibaldi ตัดสินใจออกเดินทางจาก Palermo สู่ Donnafugata ให้การสนับสนุนฝั่ง Nationalist (เสื้อแดง) มองเห็นอนาคตที่ชนชั้นกลางกำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการบริหารปกครองประเทศ เพื่อความธำรงอยู่ของวงศ์ตระกูล เลยพยายามชี้ชักนำหลานชาย Tancredi Falconeri (รับบทโดย Alain Delon) ให้แต่งงานกับลูกสาวนายกเทศมนตรี Angelica Sedara (รับบทโดย Claudia Cardinale) แม้ทำให้บุตรสาวแท้ๆ Concetta (รับบทโดย Lucilla Morlacchi) ต้องอกหักรักคุดก็ตามที


Burt Lancaster (1913 – 1994) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน ชายผู้ขึ้นชื่อเรื่องรับบทตัวละคร ‘Tough Guys’ เกิดที่ Manhattan, New York สมัยเด็กมีความสนใจยิมนาสติกและบาสเกตบอล เข้าเรียน New York University ด้วยทุนกีฬาแต่ลาออกกลางคันมาเป็นนักแสดงละครสัตว์เล่นกระโดดผาดโพน สมัครเป็นทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปลดประจำการมาเป็นนักแสดง Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก Desert Fury (1947) แต่กลับออกฉายหลังภาพยนตร์เรื่องที่สอง The Killers (1946), โด่งดังกับ From Here to Ethernity (1953), Trapeze (1956) คว้า Silver Bear for Actor จากเทศกาลหนังเมือง Berlin, Elmer Gantry (1960) คว้า Oscar: Best Actor, Judgment at Nuremberg (1961), Birdman of Alcatraz (1962) คว้า Volpi Cup for Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Venice, Atlantic City (1980) ฯ

รับบท Don Fabrizio Corbera, Prince of Salina เจ้าชายผู้เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ชีวิตพานผ่านอะไรมามาก ทำให้เอ่อล้นด้วยวิสัยทัศน์ ครุ่นคิดถึงอนาคต มองการณ์ไกล เข้าใจวิถีของโลกที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลง หลายครั้งจึงสำแดงความเผด็จการ/เห็นแก่ตัวออกมา แต่ทั้งหมดล้วนเพื่อครอบครัว ทุกคนในสังกัด จักสามารถปรับเอาตัวรอด ไม่เดือดเนื้อทุกข์ร้อนยากลำบากใดๆ

เพราะเป็นโปรเจคทุนสูง โปรดิวเซอร์เลยขอให้ Visconti คัดเลือกนักแสดงนำที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ทีแรกเล็ง Nikolay Cherkasov ที่แจ้งเกิดโด่งดังกับ Alexander Nevsky (1938) และ Ivan the Terrible (1944) แต่เพราะอายุย่างเข้าเลขหก ไม่ไหวจะเดินทางไกลมายังอิตาลี ตัวเลือกถัดๆมาประกอบด้วย Laurence Olivier, Gregory Peck, Anthony Quinn, Spencer Tracy ก่อนลงเอยเซ็นสัญญากับ Burt Lancaster โดยที่ Visconti ไม่ทันเห็นชอบด้วย

“Oh, no! A cowboy!”

– Luchino Visconti

แต่หลังจากได้พบเจอ พูดคุย ก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลงความครุ่นคิด ติดใจการแสดงของ Lancaster จนกลายเป็นเพื่อนสนิทสนมกันตลอดชีวิต

แม้เป็นชาวอเมริกัน แต่ภาพลักษณ์ของ Lancaster เมื่อไว้หนวดเครา แซมผมขาว กลายร่างเป็นเจ้าชายอิตาเลี่ยนได้อย่างทรงเสน่ห์ แต่ความสง่างามเกิดจากท่วงท่าทางขยับเคลื่อนไหว มีความสงบสุขุม ใจเย็น หนักแน่นมั่นคง แสดงถึงประสบการณ์ชีวิตพานผ่านอะไรมากๆ และการแสดงออกทางสีหน้า เปี่ยมด้วยความอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อยหน่าย ผู้ชมสามารถสัมผัสรู้สึกได้โดยทันที

ในบรรดาผลงานการแสดงของตนเองทั้งหด Lancaster ชื่นชอบประทับใจ The Leopard (1963) มากที่สุด

“It was my best work! I bought 11 copies of The Leopard because I thought it was a great novel. I gave it to everyone. But when I was asked to play in it, I said, no, that part’s for a real Italian. But, lo, the wheels of fortune turned. And it turned out to be a wonderful marriage”.

– Burt Lancaster


Claudia Cardinale (เกิดปี 1938) นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ La Goulette, Tunis หลังจากชนะการประกวด ‘Most Beautiful Italian Girl in Tunisia’ เมื่อปี 1957 ได้รางวัลเป็นการเซ็นสัญญาสู่วงการภาพยนตร์อิตาเลี่ยน แจ้งเกิดโด่งดังกับ Rocco and His Brothers (1960), ตามด้วย Girl with a Suitcase (1961), The Leopard (1963), 8½ (1963), The Pink Panther (1963), Fitzcarraldo (1982) ฯ

รับบท Angelica Sedara บุตรสาวสุดสวยเซ็กซี่ของนายกเทศมนตรี Don Calogero Sedara แค่เดินเข้ามาในห้องโถงก็สร้างความตกตะลึงงันให้ทุกคน ภายในของเธอเต็มไปด้วยความเร่าร้อน ร่านอารมณ์ หัวเราะยิ้มกว้าง ไม่สนขนบวิถีธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติใดๆ แม้สุดท้ายจะได้ครองคู่แต่งงาน Tancredi Falconeri แต่สายตาส่งให้ Don Fabrizio Corbera รับรู้ถึงความต้องการของกันและกัน

Cardinale คือตัวเลือกแรกของ Visconti เพราะเคยร่วมงานกันเรื่อง Rocco and His Brothers (1960) ประทับใจในภาพลักษณ์ ใบหน้ามุ่ยๆดูเหมือนขมูขี แต่มีความเร่าร้อนเซ็กซี่ ขี้เล่นสายฮา ปกติแล้วเธอมักได้รับบทโสเภณี แสดงบทนี้ผู้ชมย่อมสัมผัสได้ถึงความยั่วสวาท ร่านราคะ เป็นที่โหยหาของใครต่อใคร

สายตาที่เธอส่งให้หนุ่มๆ ไม่ใช่แค่คู่หมั้น Tancredi Falconeri แต่ยังรวมไปถึง Don Fabrizio ขอการเต้นรำครั้งนั้น ให้ความรู้สึกมากกว่าแค่พ่อตา-ลูกสะใภ้ ถ้าเลือกได้คงอยากเกินเลยมากกว่านั้น แต่ก็สารู้แก่ใจว่าคงเป็นไปไม่ได้ (เลยไม่แปลกที่ Tancredi Falconeri จะเกิดสายตาอิจฉาริษยาขนาดนั้น)


Alain Fabien Maurice Marcel Delon (เกิดปี 1935) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Sceaux, Seine (ปัจจุบันคือ Hauts-de-Seine) เพราะพ่อ-แม่ หย่ากันตอนอายุ 4 ขวบ ทำให้ตัวเขาเก็บสะสมความรุนแรง โตขึ้นสมัครเป็นทหารเรือ ร่วมสู้รบยัง First Indochina War แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในคุกข้อหา ‘undisciplined’ ปลดประจำการออกมาทำงานเป็นบริการ เซลล์แมน หลังจากกลายเป็นเพื่อนของนักแสดง Brigitte Auber ไปเข้าตาผู้กำกับ Yves Allégret ภาพยนตร์เรื่องแรก Quand la femme s’en mêle (1957), แจ้งเกิดกับ Women are Weak (1959), โด่งดังระดับนานาชาติเรื่อง Purple Noon (1960), Rocco and His Brothers (1960), L’Eclisse (1962), Any Number Can Win (1963), The Leopard (1963), Le Samouraï (1967) ฯ

รับบท Tancredi Falconeri หลานของ Don Fabrizio เป็นคนร่าเริงสนุกสนาน ทะเยอทะยาน มากล้นด้วยอุดมการณ์ ด้วยเหตุนี้เลยอาสาสมัครเข้าร่วมเสื้อแดงฝั่ง Giuseppe Garibaldi ตอนแรกคบหาอยู่กับ Concetta แต่พอพบเจอ Angelica Sedara แสดงออกด้วยความลุ่มหลงใหล ชีวิตไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้

แบบเดียวกับ Cardinale ที่เคยร่วมงาน Visconti เรื่อง Rocco and His Brothers (1960) ภาพลักษณ์เทพบุตรสุดหล่อ เป็นที่หมายปองของสาวๆ สายตาแห่งความลุ่มหลงใหลไม่มีอะไรสามารถแปรเปลี่ยนความตั้งใจ ชั่วขณะเล็กๆอิจฉาริษยา Don Fabrizio ทั้งๆแค่การเต้นรำเพลงเดียว สะท้อนว่า ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ อาหลานเข้าใจกันและกันเป็นอย่างดี ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’

แต่ถึงอย่างนั้น อา-หลานเป็นตัวแทนที่อยู่คนละขั้วตรงข้าม
– Don Fabrizio Corbera เป็นตัวแทนของคนรุ่นเก่า อนุรักษ์นิยม (แม้สามารถยินยอมรับ ปรับเปลี่ยนตนเองได้ แต่ทีละเล็กละน้อยเท่านั้น)
– Tancredi Falconeri เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า โอบกอดรับความเปลี่ยนแปลงได้โดยทันที ไม่ต้องรั้งรีรอคอยอะไรทั้งนั้น


ถ่ายภาพโดย Giuseppe Rotunno สัญชาติอิตาเลี่ยน ผลงานเด่นๆ อาทิ Rocco and His Brothers (1960), The Leopard (1963), Fellini Satyricon (1969), Amarcord (1973), All That Jazz (1979) ฯ

หนังถ่ายทำยังสถานที่สำคัญๆของ Palermo, Sicily และบางส่วน Rome, Lazio อาทิ
– Palazzo Valguarnera Gangi, Palermo
– Piazza Croce dei Vespri, Palermo
– Palermo Town Hall, Palermo
– Villa Boscogrande, Palermo
– Odescalchi Castle, Rome
– Villa Giustiniani-Odescalchi, Lazio
ฯลฯ

ไม่รู้เพราะความสำเร็จล้นหลามของ Lawrence of Arabia (1962) ทำให้ Visconti เลือกถ่ายทำด้วย Super Technirama 70 แลปสี Technicolor ทำให้มีความงดงามอลังการ สวยสดใส ถ้ามีโอกาสเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ห้ามพลาดเป็นอันขาด! แต่น่าเสียดายที่หนังใช้การพากย์ทับ แนะนำให้หาฉบับภาษาอิตาเลี่ยนน่าจะโอเคกว่าอังกฤษ

ความงดงามของงานภาพ ทุกช็อตฉากล้วนมีการจัดวางองค์ประกอบ ให้ดูราวกับภาพวาดศิลปะ (กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Barry Lyndon) ใช้แสงจากธรรมชาติ/เชิงเทียนทั้งหมด ขณะเดียวกันพื้นฝาผนังภายในปราสาท/คฤหาสถ์ ก็มักประดับตกแต่งด้วยจิตรกรรม สถาปัตยกรรมสวยๆ เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าหน้าผมมีความไฮโซเลิศหรูหรา อลังการงานสร้างโดยแท้

ขณะที่ฉากภายนอกก็ต้องชื่นชมว่า เลือกมุมกล้องบันทึกทิวทัศนียภาพได้อย่างงดงามตา ทำให้ผู้ชมรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ ลุ่มหลงใหล โดยไม่รู้ตัวเกิดความสัมพันธ์กับสถานที่ ต้องการท่องเที่ยวหรือไปพักอาศัยยังผืนแผ่นดินแดนนี้

 

ผมเรียกฉากแรกของหนังนี้ว่า ‘ชีวิตที่สุขสงบ ถูกรบกวนจากความเปลี่ยนแปลงภายนอก’ สมาชิกในตระกูล Salina ขณะกำลังสวดภาวนาต่อพระเป็นเจ้า อยู่ดีๆก็มีเสียงดังรบกวนจากนอกห้อง สร้างความว้าวุ่นวายใจ ต้องการหาทางรับรู้ให้ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น! ซึ่งมีเพียงคนเดียวเท่านั้นไม่ไหวติงคือ Don Fabrizio Corbera ทำไมต้องเร่งรีบร้อน รับรู้แล้วก็ใช่ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนแปลงได้โดยทันที

สังเกตว่าตัวละครทั้งหลาย มีการจัดตำแหน่ง ทิศทางหันหน้า คุกเข่าสงบนิ่งอยู่เสี้ยววินาทีหนึ่ง มอบสัมผัสที่ดูเหมือนภาพวาดงานศิลปะ และกำลังมีชีวิตลมหายใจขึ้นมา

การมาถึงของหลาน Tancredi Falconeri ปรากฎพบเห็นภาพบนกระจกสะท้อนใบหน้าของ Don Fabrizio Corbera ขณะกำลังโกนหนวดเครา แต่งองค์ทรงเครื่อง … สื่อได้ถึงความสัมพันธ์ อา-หลาน ราวกับเป็นคนๆเดียวกัน แต่วัยวุฒิที่แตกต่าง ทำให้อะไรๆเลยกลับตารปัตรตรงกันข้าม

Visconti เป็นผู้กำกับที่มีรสนิยมในงานศิลปะสูงส่งมากๆ พบเห็นรูปภาพวาดติดผนังมากมายที่ล้วนสื่อนัยยะใจความบางอย่าง ผมไม่ได้รู้จักทั้งหมดแต่ก็เพลิดเพลินในการครุ่นคิดตามไม่น้อย อาทิ
– ภาพม้าพ่อ-ลูก สะท้อนความสัมพันธ์ อา-หลาน ต่างยังมีความคึกคะนองพร้อมลงสนามวิ่งแข่ง
– ภาพด้านล่าง รายล้อมไปด้วยผู้คน ญาติสนิทมิตรสหาร ภรรยาและลูกๆ
– นาฬิกา เวลาชีวิตที่กำลังนับถอยหลังหมดสิ้นลง
– ล่างขวา น่าจะเป็นสุนัข สื่อถึงคนรับใช้ในตระกูล

ทางฝั่ง Tancredi Falconeri พบเห็นภาพต้นไม้หรือคือชีวิตที่กำลังเจริญเติบโต พร้อมแล้วจะผลิดอกออกผล ปีกกล้าขาแข็ง ซึ่งนาฬิกาวางอยู่บนโต๊ะ (ใต้ภาพวาด) คงสื่อถือในอีกไม่ช้านาน

Tancredi Falconeri เดินทางมาร่ำลา Don Fabrizio Corbera เพื่อเป็นอาสาสมัครทหารเสื้อแดง ซึ่งการอำนวยอวยพรของอา น่าจะเป็นการมอบเงินให้ใช้ก้อนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนคณะปฏิวัติโดยอ้อม

ที่น่าสนใจของช็อตนี้คือคนรับใช้ที่กำลังรดน้ำต้นไม้ สื่อกลายๆถึงการกระทำดังกล่าว เพื่อบ่มฟักต้นไม้เล็กๆให้สามารถเติบใหญ่ ผลิดอกออกใบได้ด้วยตนเองต่อไปในอนาคต

ห้องทำงานของ Don Fabrizio Corbera น่าสนเท่ห์ทีเดียวที่เต็มไปด้วยกล้องส่องทางไกล อุปกรณ์ดูก้าวล้ำนำยุคสมัย สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ การมองการณ์ไกล สามารถครุ่นคิดเข้าใจถึงวิถีโลก และอนาคตต่อไปที่คนชนชั้นกลาง(ล่าง)จะขึ้นมามีบทบาทในการปกครองประเทศ

ฉากการสู้รบ/สงครามระหว่าง Francis II of the Two Sicilies vs. อาสาสมัครเสื้อแดงฝั่ง Giuseppe Garibaldi มีข้อสังเกตประการณ์หนึ่งคือ ความเป็นระเบียบ/เรียงแถวตรง vs. กระจัดกระจายจากทุกทิศทาง, นี่สะท้อนความขัดแย้งของสองฝั่งฝ่ายที่เป็นใจความหลักของหนัง ชนชั้นสูง-กลาง(ต่ำ) สูงวัย-อ่อนเยาว์ อนุรักษ์นิยม-หัวก้าวหน้า อดีต-อนาคต ฯ

อาสาสมัครเสื้อแดงผิดล้อมถนนไว้ไม่ให้ใครผ่าน แต่สุดท้ายแล้วความอภิสิทธิชนของเจ้าชาย ก็ไม่มีอะไรปิดกั้นขวางเขาไว้ได้ นั่นทำให้เมื่อคาราวานของ Don Fabrizio Corbera เคลื่อนผ่านไป ประชาชนทั้งหลายต่างกรูเข้ามาแสดงความไม่พึงพอใจ ทำไมฉันถึงผ่านไปไม่ได้!

ฉากเล็กๆนี้คงต้องการสะท้อนค่านิยมผิดๆเกี่ยวกับอภิสิทธิ์ชน เป็นสิ่งสร้างปมแตกแยก ไม่พึงพอใจให้คนทั่วไป (ที่ไม่ได้รับสิทธิ์นั้น) ก็มนุษย์เหมือนกันทำไมถึงแตกต่างปานนี้

โรงแรมแห่งนี้มีสองชั้น ชนชั้นบน: ที่พักอาศัยหลับนอนของ Don Fabrizio Corbera และชั้นล่าง: คอกม้า/บาร์ดื่มกินของคนรับใช้ แต่การแพนกล้องติดตามหญิงสาว (น่าจะเจ้าของโรงแรม) เธอแบกน้ำจากชั้นล่าง เคลื่อนจากซ้ายไปขวา ตัดขึ้นไปชั้นบน เคลื่อนกลับขวาไปซ้าย และระยะสายตาที่เสมอกันสะท้อนความเท่าเทียมของมนุษย์ แต่กลับถูกแบ่งแยกด้วยอะไรก็ไม่รู้

ระหว่างทางกับการปิกนิค ราวกับว่า Don Fabrizio Corbera นั่งอยู่ตำแหน่งพระราชา ขณะที่ผ้าขาวอุตส่าห์ปูไว้ กลับไม่มีใครขึ้นนั่งบนนั้น (คงจะเป็นที่วางอาหารเท่านั้นกระมัง)

การมาถึง Donnafugata ของเจ้าชาย ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ (เกินไปไหม) แต่พวกเขากลับมีสภาพมอมแมว เปลอะเปลื้อนด้วยฝุ่นเกรอะกรัง แถมยังวันอาทิตย์ตรงไปเข้าร่วมมิสซาที่โบสถ์อีก ถือได้ว่าโคตรจะอภิสิทธิ์ชนเลยละ!

แซว: มุมกล้องขณะมาถึงถ่ายจากชั้นบน ชัดเจนว่าต้องการสื่อชนชั้น ความสูงส่ง อภิสิทธิ์ชนของตระกูล Salina

ฉากเกย์เล็กๆนี้ เพราะความเร่งรีบร้อนอยากพบเจอ Don Fabrizio เลยขอให้บาทหลวงประจำตระกูลมาพบเจอขณะกำลังอาบน้ำ แถมต้องหยิบผ้า เช็ดตัว นั่งลงตำแหน่งนี้ เห็นอะไรข้างในกันถึงพยายามเบือนหน้าหลบหนี

ประเด็นคือหลวงพี่มาพูดคุยเพื่อบอกว่า Concetta กำลังตกหลุมรัก แต่คำตอบกลับสะท้อนวินาทีได้อย่างแสบกระสันต์ทีเดียว

“Yes, love, of course! Fire and flames for a year, ashes for thirty. I too know what love is”.

คำพูดดังกล่าวของ Don Fabrizio ยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างเขากับภรรยา ที่ได้กลายเป็นขี้เถ้าถ่านไปนานแล้ว แม้นอนเตียงเดียวกันแต่ตัวใครตัวมัน ไม่เช่นนั้นจะแอบไปหาโสเภณีบำเรอกามทำไมกัน

Don Calogero Sedara ได้รับเชิญมาทานอาหารที่คฤหาสถ์ของ Don Fabrizio Corbera ด้วยความไม่รู้ประสีประสา แต่งชุดผิดงานเลยถูกหัวเราะยิ้มเยาะพูดแซว แต่เจ้าชายก็พยายามไม่แสดงออกอย่างประเจิดประเจ้อ รักษาหน้าตาวงศ์ตระกูลไว้อย่างสง่างาม

ก่อนการมาถึงของช็อตนี้ จะพบเห็นความแตกต่างทางวิทยฐานะของพวกเขาอย่างเด่นชัดเจน
– Don Calogero Sedara เดินจากชั้นล่างกำลังขึ้นบันไดมา สะท้อนถึงการไต่เต้า ความทะเยอทะยานขึ้นสูง
– Don Fabrizio Corbera ยืนรอคอยต้อนรับอย่างเชิดหน้าชูตาตรงบันไดชั้นบนสุด

การมาถึงของ Angelica Sedara สังเกตว่าเธอเริ่มเดินจากขณะมีเงามืดอาบใบหน้า กระทั่งมาถึงแสงสว่างช็อตนี้ ทำเอาทุกคนตื่นตราตะลึง
– ตัดไปกล้องเคลื่อนเข้าหาใบหน้าของ Tancredi Falconeri แสดงความสนใจ เกิดอาการตกหลุมรักแรกพบโดยทันที
– ขณะที่ Don Fabrizio Corbera แม้แน่นิ่งเฉย แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในจิตใจเขา

ธรรมเนียมปฏิบัติบนโต๊ะอาหาร เป็นมารยาทสังคมที่คนชนชั้นสูงเคารพยกย่องยิ่ง แต่กลับกลายเป็น Tancredi Falconeri แหกกฎพูดคุยเรื่องลามกเรียกร้องความสนใจ Angelica Sedara ทำให้เธอหัวเราะดังลั่น สร้างความตื่นตระหนกตกใจ Don Fabrizio Corbera แสดงสีหน้าไม่พึงพอใจ ถึงขนาดต้องรีบร้อนรนลุกจากโต๊ะเพื่อไม่ให้เสียหน้า/เสียพิธีการ

สองช็อตนี้ นำเสนอความแตกต่างทางชนชั้นอย่างเด่นชัดเจนระหว่าง Don Fabrizio Corbera กับ Don Calogero Sedara/Angelica Sedara ซึ่งในมุมมองของเจ้าชาย การโหวตแบบนี้มันช่าง ตลกโปฮา ไร้สาระโดยสิ้นเชิง เพราะสุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ชีวิตยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรน เกิด-แก-เจ็บ-ตาย ไม่เห็นใครจะสามารถแก้ไขอะไรด้

เพื่อนล่าสัตว์ของ Don Fabrizio Corbera เป็นคนซื่อๆตรงไปตรงมา สังเกตการแสดงออกที่ดู Over-Acting เต็มไปด้วยความสุดเหวี่ยงทางอารมณ์ ตรงกันข้ามกับเจ้าชายผู้มีความสงบสุขุม เยือกเย็น หนักแน่นมั่นคง พูดคุยซักถามด้วยถ้อยความตรงไปตรงมา

แซว: ถ้าเปรียบ Don Fabrizio กับราชสีห์/Leopard การล่ากระต่ายครั้งนี้ ไม่ต่างอะไรกับออกหาเหยื่อ พูดคุยกับนายพราน (สุนัขรับใช้) เอาแต่เห่าหอนไปวันๆ ไม่ได้นำไปมีผลอะไรต่อการครุ่นคิดตัดสินใจ

เมื่อได้ตัดสินใจแน่วแน่ ปรากฎภาพช็อตนี้ที่เจ้าชาย(และเพื่อนล่าสัตว์) กำลังเดินลงจากเนินเขา สะท้อนถึงการยินยอมลดเกียรติ/ศักดิ์ศรี/วิทยฐานะตนเอง สู่ขอหญิงสาวจากชนชั้นกลาง(ล่าง)ให้ได้แต่งงานกับหลานชาย

Don Fabrizio Corbera ตัดสินใจเป็นพ่อสื่อ สู่ขอ Angelica Sedara ให้กับหลานชาย Tancredi Falconeri พูดคุยกับ Don Calogero Sedara ในห้องทำงานที่รายล้อมด้วยแผนที่เมือง Sicily สะท้อนถึงการมองการณ์ไกล อนาคตความหวังของวงศ์ตระกูล คือเป้าหมายสูงสุดของการหมั้นหมายแต่งงานนี้

หลังจากการสู่ขอเสร็จสิ้น Don Fabrizio Corbera เดินทางไปปลดปล่อยเพื่อนร่วมล่าสัตว์ที่กักขังไว้ในห้องมืด สังเกตว่าฉากนี้มอบสัมผัสอันทะมึน อึมครึม ราวกับขุมนรก สะท้อนสภาพจิตใจของเขาไม่ผิดเพี้ยน

สำหรับคู่รักหนุ่ม-สาว บ้านใหม่ของพวกเขาช่างเต็มไปด้วยความว่างเปล่า ห้องหับนับสิบร้อยราวกับเขาวงกต เล่นซุกซ่อนหายังไงก็ไม่พบเจอ แถม Tancredi Falconeri หลบซ่อนตัวในตู้เสื้อผ้า (จริงๆนี่มันสัญลักษณ์ของรสนิยมรักร่วมเพศ แต่ก็สะท้อนถึงความต้องการในห้วงลึกจิตใจได้เช่นกัน)

หลายๆห้องฮับที่ Angelica Sedara นำทางไป จะพานพบเห็นรูปภาพวาด ในสภาพเน่าๆแบบนี้ นั่นสะท้อนถึงความเก่าก่อน อดีตกำลังถูกละทอดทิ้ง หลงลืมเลือน และเป้าหมายของพวกเขายังห้องนอนชั้นบน อนาคต/ความหวังใหม่ สักวันจักก้าวเข้ามาถึง

การมาถึงของชายแปลกหน้าคนนี้ เขามาทำไม? นั่นสร้างความฉงนสงสัยให้ทุกคน Don Fabrizio Corbera เลยชักชวนเล่นเกมไพ่ มาคาดเดากันสิว่าในกำมือถือเลขดอกอะไร

คงจะหลังการเล่นไพ่ที่ Don Fabrizio Corbera ได้มีโอกาสพูดคุย รับทราบเนื้อหาสาระการมาถึงของชายแปลกหน้า ซึ่งสังเกตว่าแสงเถ้าถ่าน เปลวไฟเตาผิง สาดส่องใบหน้าพวกเขาอย่างสั่นระริกรัว นั่นสื่อถึงความลังเลใจ ไม่มั่นคง และสะท้อนการตัดสินใจ/คำตอบของเจ้าชาย ไม่ขอรับตำแหน่งตัวแทนวุฒิสภา เพราะว่านั่นไม่ใช่พื้นที่ของตนเอง

สำหรับ Don Fabrizio Corbera ช็อตนี้คือการปิดกั้น ไม่ยินยอมรับความเปลี่ยนแปลงไปของโลก เลือกทอดทิ้งโอกาสการเป็นสมาชิกวุฒิสภา นั่นมันเรื่องอนาคต คนรุ่นใหม่ ไม่ใช่พื้นที่อยู่ของตัวเขา(ที่เป็นตัวแทนคนรุ่นเก่าก่อน)

Masterpiece ของหนัง คือฉากงานเลี้ยงเต้นรำความยาว 45 นาที จัดเต็มด้วยความวิจิตรตระการตา เสื้อผ้าหน้าผม ฉากพื้นหลัง ทั้งยังใช้เพียงแสงเทียนให้ความสว่าง (ร้อนเป็นบ้า) กล้องเคลื่อนไหล ตัวประกอบเต็มไปด้วยชีวิตชีวา

ประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ ทำให้โดยอัตโนมัติผมครุ่นคิดถึง The Rules of the Game (1939), La Dolce Vita (1960), Playtime (1967), Fanny and Alexander (1982) ฯ ที่ต่างมีฉากไคลน์แม็กซ์งานเลี้ยงปาร์ตี้ เต็มไปด้วยความโกหาหล สับสนวุ่นวาย แต่กลับมีความอึ้งทึ่งตราตะลึง โดดเด่นด้านการกำกับ ต้องผู้กำกับระดับปรมาจารย์เท่านั้นถึงควบคุมงานสร้างลักษณะนี้ได้

ภาพวาด The Father’s Curse: The Son Punished (1777) ผลงานของ Jean-Baptiste Greuze (1725 – 1805) จิตรกรชาวฝรั่งเศส โดดเด่นกับภาพวาดประวัติศาสตร์ และแนวประเภท (Genre Scenes)

ความหมายจริงๆของภาพนี้ บิดาสาปแช่งด่าทอบุตรชายที่ทอดทิ้งครอบครัวไปอาสาสมัครทหาร เข้าร่วมสู้รบสงครามขณะตนเองเจ็บป่วยหนักใกล้ตาย เป็นเหตุให้เมื่อเขาหวนกลับมา พบเพียงเรือนร่างอันไร้ลมหายใจ ทุกสิ่งอย่างล้วนสายเกินแก้ไข

ในบริบทของหนัง ดูเป็นการรำพันถึงความตายของ Don Fabrizio Corbera (ตีความหมายภาพผิดเพี้ยนไปมากทีเดียว!) เขาไม่ได้สาปแช่งหลานชายที่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ Angelica Sedara แค่สูญเสียดายความเยาว์วัยตนเอง ปัจจุบันสูงวัยเริ่มโรยรา คงหลงเหลือลมหายใจอยู่ได้อีกไม่นมนาน

การเต้นรำระหว่าง Don Fabrizio Corbera กับ Angelica Sedara ไม่ใช่แค่พ่อตา-ลูกสะใภ้ แต่ยังแฝงนัยยะถึงความสัมพันธ์ชู้สาว ชาย-หญิง ประเด็นการเมืองซ้าย-ขวา ชนชั้นสูง-กลาง(ต่ำ) เป็นเหตุให้ถูกจับจ้องมอง ได้รับความสนใจจากทุกคนรอบข้าง กล้องถ่ายภาพผ่านดอกไม้และเชิงเทียน ระดับสายตาแพนติดตามไปมา สร้างความอิจฉาริษยาต่อใครๆพบเห็น

การเลือกของ Tancredi Falconeri มีหญิงสาวสองคนคือ
– Concetta ตัวแทนชนชั้นสูง ผู้มีลักษณะเหมือนรูปปั้นเทพีกรีก ยึดถือมั่นในหลักการ ความถูกต้อง ไม่ครุ่นคิดแปรเปลี่ยนความตั้งใจอื่น
– Angelica Sedara ตัวแทนชนชั้นกลาง(ล่าง) งดงามแบบสามัญ แต่เซ็กซี่เร้าใจ อยู่ร่วมแล้วเพลิดเพลินผ่อนคลาย สามารถเรียนรู้จักจับต้องตัวตนได้

คำตอบของการเลือก ทำให้ Tancredi Falconeri ทอดทิ้งกายเอนหลังลงนอน ศิโรราบต่ออนาคตฝั่งที่ตนเองเพ้อใฝ่ฝัน ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ … น่าเสียดายที่เขาเลือกได้แค่ฝั่งหนึ่งในเท่านั้นเอง

การเต้นที่ประสานจับมือ กระโดดโลดไปรอบๆงานเลี้ยง สะท้อนการมาถึงของยุคสมัยใหม่ ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียม ระดับเดียวกันทั้งหมด ไม่มีใครสูงส่งเหนือกว่าใคร นี่แหละคือสิ่งที่จะทำให้ทุกสิ่งอย่างดำเนิน/โครจร โลกหมุนรอบต่อไปได้

ช็อตสุดท้ายของหนัง Don Fabrizio Corbera หลังจากคุกเข่าแสดงความเคารพบาทหลวง ลุกขึ้นเดินหายลับเข้าไปในตรอกปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท สามารถตีความได้ถึงความตาย จุดจบสิ้นยุคสมัย เชื้อพระวงศ์/ขุนนาง/ชนชั้นสูง กำลังจะหมดสิ้นสูญพันธ์ุไปจากอนาคตชั่วนิรันดร์

หลายคนอาจครุ่นคิดว่า Don Fabrizio คงกำลังเดินทางไปหาโสเภณีที่เขาลุ่มหลงใหล (จากตอนต้นเรื่อง) มองแบบนั้นก็ได้เช่นกัน แสดงถึงการนำพาตัวตนเองสู่ความตกต่ำ หุบเหว ขุมนรก

ตัดต่อโดย Mario Serandrei (1907 – 1966) ชาวอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Visconti ตั้งแต่ Ossessione (1943) นี่คือเรื่องสุดท้ายก่อนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ฉบับแรกสุดของหนัง ตัดต่อได้ความยาว 205 นาที แต่ทั้งโปรดิวเซอร์และ Viscoti รับรู้สึกว่ายาวเกินไป ลดทอนลงได้ 195 นาที เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes และเล็มออกอีกนิดหน่อย 185 นาที สำหรับออกฉายทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นฉบับผู้กำกับมีความพึงพอใจสูงสุด … แต่ถึงกระนั้นในหลายๆประเทศที่รู้สึกว่าหนังยาวเกินไป เลยมีการหั่นออกอย่างเยอะ อาทิ
– สหรัฐอเมริกา 165 นาที
– อังกฤษ 161 นาที
– สเปน 151 นาที
ฯลฯ

ดำเนินเรื่องโดยมีจุดศูนย์กลางคือ Don Fabrizio Corbera พานพบเจอเรื่องราวต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นตอนๆประมาณนี้
– ชีวิตที่สุขสงบ ถูกรบกวนจากการปฏิวัติ/ความเปลี่ยนแปลงภายนอก
– Tancredi Falconeri อาสาสมัครเข้าร่วมสู้รบกับกลุ่มเสื้อแดง
– ออกเดินทางสู่ Donnafugata
– พานพบเจอ Angelica Sedara
– การหมั้นหมายระหว่าง Tancredi Falconeri กับ Angelica Sedara
– Don Fabrizio ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกวุฒิสภา
– ไคลน์แม็กซ์ งานเลี้ยงเต้นรำ
ฯลฯ

ไฮไลท์ฉากไคลน์แม็กซ์งานเลี้ยงเต้นรำ 45 นาทีสุดท้ายของหนัง กล้องจะไม่จับจ้องแค่ Don Fabrizio แต่รวมไปถึง Tancredi Falconeri นำเสนอสองมุมมองที่แตกต่างตรงกัน ร้อยเรียงข้ามสลับไปมาระหว่าง คนรุ่นเก่า-ใหม่ สูงวัย-หนุ่มสาว เหนื่อยอ่อนล้า-สนุกสนานร่าเริง สามารถเติมเต็มกันและกันบนโลกทั้งใบนี้


เพลงประกอบโดย Nino Rota (1911 – 1979) คีตกวีอัจฉริยะสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Federico Fellini กับ Luchino Visconti และกลายเป็นตำนาน The Godfather Trilogy

ก่อนหน้านี้ Rota ได้ประพันธ์ซิมโฟนีบทหนึ่งไว้ หลังเสร็จจาก 8½ (1963) จึงนำไปเสนอต่อ Visconti ฟังแล้วเกิดความชื่นชอบหลงใหล กลายมาเป็น Main Theme ที่มีความงดงามอลังการ ขณะเดียวกันแฝงซ่อนเร้นอารมณ์โหยหวน เศร้าสร้อย ทุกสิ่งอย่างในโลกล้วนปรับเปลี่ยนแปลงไป แต่จิตใจคนกลับยังคงเหมือนเดิมไม่แปรเปลี่ยน

นักตัดต่อ Mario Serandrei ได้มอบของขวัญล้ำค่าชิ้นหนึ่งให้ผู้กำกับ Visconti คือโน๊ตเพลง Waltz ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ของ Giuseppe Verdi ค้นพบเจอในตลาดขายของเก่า ส่งต่อให้ Rota เรียบร้อยเรียงจนกลายเป็น Valzer Brillante (หรือ Valzer Verdi)

เอาจริงๆผมว่าการค้นพบเจอโน๊ตเพลงในตลาดขายของเก่า การันตีไม่ได้หรอกนะว่าเป็นผลงานของใคร แต่คนที่รับฟังผลงานของ Giuseppe Verdi มามาก ย่อมเกิดความคุ้นเคย ตระหนักขึ้นได้แทบโดยทันที กลิ่นอาย สัมผัสแบบนี้แหละ ของจริงแท้อย่างแน่นอน!

การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งน่าหวาดสะพรึงกลัวเสมอ เอาจริงๆไม่ใช่แค่เฉพาะคนรุ่นเก่า/ผู้สูงวัยเท่านั้นหรอกนะ เด็กหนุ่มสาวแรกรุ่นก็เฉกเช่นกัน แค่ว่าพวกเขายังมีพื้นที่ว่างในสมอง/จิตใจอีกมาก จึงสามารถศึกษา รับเรียนรู้ ปรับตัวเอง ยินยอมรับอะไรใหม่ๆได้โดยง่ายกว่า

ประสบการณ์ชีวิตถือเป็นสิ่งทรงคุณค่ายิ่ง แต่ขณะเดียวกันก็สรรค์สร้างสิ่งที่เรียกว่าความเย่อหยิ่งทะนงตน อ้างอวดดี มักคุ้นเคย ด้วยเหตุนี้คนทั่วไปเลยมักไม่ค่อยยินยอมรับการเปลี่ยนแปลง แค่ค่อยเป็นค่อยไปก็ยากยิ่งสายตัวแทบขาด

Don Fabrizio Corbera เจ้าชายผู้พานผ่านเหตุการณ์ต่างๆมากมาย ทำให้เรียนรู้จักวิถีของโลกที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็เข้าใจวัยวุฒิตนเองว่าคงไม่สามารถยินยอมรับอะไรใหม่ๆได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้จึงจำต้องเสียสละบางสิ่งอย่าง ให้หลานชายแต่งงานหญิงสาวสามัญชน เพียงเท่านี้ครอบครัววงศ์ตระกูลก็สามารถธำรงคงอยู่ได้อีกสักพักใหญ่

ความตกต่ำของชนชั้นสูง ถือเป็นวงเวียนวัฎจักร สัจธรรมแห่งชีวิตประการหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกับการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย มนุษย์จึงจำต้องเรียนรู้จักการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกสิ่งอย่างล้วนดำเนินไปข้างหน้า (ไม่ว่าจะขึ้นฟ้าหรือลงเหว) เลือกยืนเฉยๆอยู่กับที่ย่อมถูกคลื่นลมพัด ฝูงชนถาโถมเข้าใส่ วิธีอยู่รอดคือล่องไหลตามน้ำ ปรับตัวเข้าหา แม้จะขัดต่ออุดมการณ์ ความเชื่อ ศรัทธา ก็ยังดีกว่าตายหยังเขียดเพราะถูกสังคมรุมประชาทัณฑ์

แต่การไหลตามน้ำนั้นก็เพียงแค่การแสดงออก ภาพภายนอกเท่านั้นนะครับ เพราะสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจคนเรานั้น ถ้าไร้ซึ่งความหนักแน่นมั่นคงในอุดมการณ์ ความเชื่อ ศรัทธา ย่อมหมายถึงนิสัยกะล้อนปลิ้นปล้อนหลอกลวง นกสองหัว/ลิ้นสองแฉก ขาดความสง่างามดั่งราชสีห์ ไม่ต่างอะไรกับแร้งกา ไฮยีน่า ดื่มกัดกินได้ทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด

นี่เองคือเหตุผลให้ผมคลุ้มคลั่งไคล้ในตัว Don Fabrizio ไม่ใช่แค่วัยวุฒิที่เสี้ยมสั่งสอนประสบการณ์ชีวิต แต่ยังคือการยึดถือมั่นในอุดมคติ หลักการ ปรัชญาชีวิต เลือกที่จะปรับเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ แต่ไม่ใช่ในเกียรติ ศักดิ์ศรี ความเป็นชนชั้นสูงของตนเอง

“We were the leopards, the lions, those who take our place will be jackals and sheep, and the whole lot of us – leopards, lions, jackals and sheep – will continue to think ourselves the salt of the earth”.

– Don Fabrizio Salina

คำพูดดังกล่าวสะท้อนความครุ่นคิดของผู้กำกับ Luchino Visconti ชาติเสือไว้ลาย ตนเองมีชาติตระกูลสูงส่ง พบเห็นความตกต่ำต้อยอันเป็นสัจธรรมชีวิต ไม่ได้หมกมุ่นครุ่นยึดติด แต่อดีตตัวตนย่อมไม่มีใครไหนสามารถปรับเปลี่ยนแปลงได้

ช่วงเวลาการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวอิตาเลี่ยนหมดความเชื่อศรัทธาในระบอบกษัตริย์ (และฟาสซิสต์) Vittorio Emanuele III ทรงสละราชบัลลังก์ ค.ศ. 1946 ทำให้พระราชโอรส Umberto II เสร็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ต้องเผชิญแรงกดดันจากความขัดแย้งที่อาจเป็นสงครามกลางเมือง จึงเกิดการเรียกร้องให้ลงประชามติ จะยังคงสถาบันกษัตริย์ไว้หรือเปลี่ยนผ่านสู่สาธารณรัฐ, วันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1946 ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐเป็นฝ่ายชนะการลงประชามติด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 54 ยังผลให้อิตาลีเปลี่ยนผ่านเป็นสาธารณรัฐอย่างเป็นทางการ เหตุนี้พระเจ้า Umberto II จึงทรงสละราชบังลังก์ อพยพหลบหนีสู่โปรตุเกสตราบจนสวรรคต

ผ่านมาเกือบๆสองทศวรรษหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในมุมมองของ Visconti ลึกๆคงรู้สึกผิดหวังต่อสาธารณรัฐ สูญเสียดายกับการหมดสิ้นสูญสถาบันกษัตริย์ สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อเป็นการหวนระลึกวันวาน ไม่ว่าชนชั้นไหนล้วนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ปรารถนาหวนย้อนกลับไปแก้ไขอะไร เพราะนี่แหละคือชีวิตและวิถีโลกที่ทุกสิ่งอย่างล้วนมีการปรับเปลี่ยนแปลง

แม้ชื่อหนังภาษาอังกฤษจะคือ The Leopard แต่ต้นฉบับอิตาเลี่ยน Il Gattopardo ตรงกับ Ocelot หรือ Serval สายพันธุ์แมวป่าที่ถูกล่าจนสิ้นสูญพันธุ์ไปในอิตาลีตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 สะท้อนเข้ากับตัวละคร Don Fabrizio และความเสื่อมโทรมของระบอบกษัตริย์/ขุนนาง/ชนชั้นสูงใน Sicily


เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Palme d’Or แบบแทบจะไร้คู่แข่ง นอกจากนี้ปลายปียังมีลุ้นรางวัล
– Academy Award: Best Costume Design, Color
– Golden Globe Award: Most Promising Newcomer – Male (Alain Delon)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ Remaster คุณภาพ 4K ควบคุมดูแลโดยตากล้อง Giuseppe Rotunno เลือกฉบับ 185 นาที (ที่ Visconti มีความพึงพอใจสูงสุด) ได้ออกฉาย Cannes Classic เมื่อปี 2010 กลายเป็น DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection

รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ผมเกิดความเข้าใจถึง ‘กาลเวลา’ คือศัตรูตัวฉกาจของมนุษย์ เมื่ออะไรๆเคลื่อนพานผ่าน ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดการปรับเปลี่ยนแปลง ทั้งร่างกาย-จิตใจ และโลกภายนอก ไม่มีใครไหนสามารถฝืนต้านทานธรรมชาติชีวิต ถือเป็นอีกหนึ่งสัจธรรมแห่งสากลจักรวาล

ความเข้าใจดังกล่าวทำให้ผมตกหลุมรักคลั่งไคล้ยิ่งกว่าเดิม กลายเป็นหนังเรื่องโปรดเพราะสาสน์สาระใจความ, การแสดงของ Burt Lancaster มองเห็นถึงสัจธรรมชีวิต, และไดเรคชั่นผู้กำกับ Luchino Visconti งดงามทั้งภาพ ภาษา วิจิตรดั่งงานศิลปะชั้นสูง กลายเป็นอมตะยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา

แนะนำคอหนังดราม่า นักประวัติศาสตร์ การเมือง คาบเกี่ยวยุคสมัย Italian Revolution, หลงใหลภาพวาดงานศิลปะ ถ่ายภาพสวยๆ เพลงประกอบโดย Nino Rota, แฟนๆผู้กำกับ Luchino Visconti และนักแสดงนำ Burt Lancaster, Claudia Cardinale, Alain Delon ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับฉากสู้รบ และการปฏิวัติทางความคิด

คำโปรย | ราชสีห์ยังไงก็เป็นราชสีห์ ไม่มีทางที่ไฮยีน่าหรือลูกแกะน้อยจะสามารถทดแทนได้ นั่นเองทำให้ Luchino Visconti และ Burt Lancaster ได้รับการจดจำไม่รู้ลืม
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | รื่


The Leopard

The Leopard (1963) : Italian – Luchino Visconti

(23/4/2016) หนังรางวัล Palme d’Or สัญชาติ Italian กำกับโดย Luchino Visconti (Death in Venice – 1971) เรื่องเกี่ยวกับองค์ชายและคนชนชั้นสูง (Noble) ในเมือง Sicily ในยุครวมประเทศอิตาลี ช่วง 1860-1861 ของ Giuseppe Garibaldi หนังเรื่องนี้ภาพสวยและเพลงเพราะมากๆ การันตีด้วยอันดับ 57 ของนิตยสาร Sight & Sound

ผมมีปัญหาหนึ่งขณะดูหนังเรื่องนี้ คือไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของอิตาลีว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วง 1850 – 1860 ไม่เคยเรียน ไม่เคยรู้ ต้องคนที่เคยเรียนหรือศึกษาประวัติศาสตร์อิตาลีมาบ้างจะสามารถเข้าใจประเด็นบางอย่างของหนังได้ทันที แต่กระนั้นไม่ใช่ว่าความไม่มีความรู้จะทำให้ดูหนังไม่ได้นะครับ ผมก็ดูไปทั้งๆไม่เข้าใจแบบนั้นนะแหละ มันก็พอจับประเด็นบางอย่างได้ ดูจบแล้วมาค้นหาข้อมูลประวัติศาสตร์อ่านเอา ทำให้เข้าใจประเด็นต่างๆมากขึ้น และพบว่าประเด็นสำคัญของหนังจริงๆ ไม่ใช่เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์นะครับ แต่เป็นแนวคิดของตัวละคร ต่อช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ และการคาดการณ์อนาคต ว่ามันอาจจะส่งผลอะไรต่อชีวิตของตัวละครบ้าง

ผมขอเริ่มจากประวัติศาสตร์อิตาลีโดยย่อก่อนแล้วกัน คงต้องเริ่มจากสิ้นสุดยุคภายใต้การปกครองของ Napoleon ในปี 1815 ทำให้อิตาลีแตกตัวออกเป็นหลายประเทศ Sicily ขณะนั้นได้รวมตัวกับ Naples ก่อตั้งเป็นประเทศชื่อ Kingdom of the Two Sicilies มีอาณาเขตอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลี ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ จนถึงในปี 1860 Giuseppe Garibaldi ได้รวบรวมอาสาสมัครจากเมืองต่างๆ 1,089 คน พวกเขาใส่เสื้อสีแดง (Red Shirt) เรียกตัวเองว่า Expedition of the Thousand มีเป้าหมายเพื่อล้มล้าง House of Bourbon ราชวงศ์ที่ปกครอง Kingdom of the Two Sicilies และมีเป้าหมายใหญ่คือ รวบรวมอิตาลีให้เป็นหนึ่งเดียว (Italian Unification) เกิดการประทะใหญ่กันขึ้นหลายครั้งจนในที่สุด Garibaldi ก็สามารถเข้ายึด Palermo เมืองหลวงของ Two Sicilies ได้ และต่อจากนั้นไม่นานอิตาลีก็สามารถรวมตัวเป็นหนึ่งประเทศได้

เหตุการณ์ในหนังเริ่มขึ้น ตอนที่ Giuseppe Garibaldi ได้นำพา Expedition of the Thousand เข้ามาใน Sicily, มีฉากการต่อสู้ระหว่าง Red Shirt vs ทหารของ Two Sicilies, พอสงครามจบอิตาลีรวมเป็นหนึ่งเดียวสำเร็จ และกำลังเริ่มต้นแนวทางการปกครองยุคใหม่

ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง Il Gattopardo เขียนโดย Giuseppe Tomasi di Lampedusa เขาเป็น Prince of Lampedusa (เจ้าชายองค์สุดท้าย) ได้แรงบันดาลใจจากความทรงจำ เรื่องเล่าที่ทวดเล่าให้ฟังตั้งแต่เด็ก เขียนเสร็จปี 1956 ส่งไปให้สำนักพิมพ์ แต่ถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ถึงสองแห่ง ต่อมา Tomasi เสียชีวิตจากโรงมะเร็งในเดือนกรกฎาคมปี 1957 นิยายถูกส่งต่อให้ Giorgio Bassani ที่อ่านแล้วชื่นชอบอย่างมาก จึงได้รับการตีพิมพ์ในอีก 1 ปีถัดมา ไม่นานนักนิยายเล่มนี้ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในวรรณกรรมอิตาเลียนที่ยอดเยี่ยมที่สุด

ผู้กำกับ Luchino Visconti di Modrone หรือ Count of Lonate Pozzolo เขาเป็นคนจากครอบครัวชนชั้นสูงจาก Milan (House of Visconti) เขาเริ่มเข้าวงการจากการเป็นผู้ช่วย Jean Renoir เป็นเพื่อนกับ Roberto Rossellini ได้กำกับหนังใหญ่เรื่องแรก Ossessione (1943) ที่ถือเป็น Italian neorealist เรื่องแรกของโลก ผลงานที่ดังที่สุดก็คือ Il gattopardo (The Leopard) และ Morte a Venezia (Death in Venice) หนังของ Vinsonti มักจะได้มีโอกาสได้ฉายระดับนานาชาติเสมอ ความสำเร็จสูงสุด คงเป็นได้รางวัล Palme d’Or จากหนังเรื่องนี้นะครับ

Don Fabrizio Corbera, Prince of Salina บทนี้โปรดิวเซอร์แจ้งว่าอยากได้นักแสดงที่มีชื่อเสียง เพื่อสามารถขายหนังในต่างประเทศได้ ตัวเลือกแรกของ Visconti คือ Nikolai Cherkasov นักแสดงชื่อดังชาวรัสเซีย แต่เขาติดสัญญาไม่สามารถเล่นได้ ค่ายหนังใน hollywood จึงส่งตัวเลือกอย่าง Gregory Peck, Anthony Quinn, Spencer Tracy และ Burt Lancaster ซึ่งโปรดิวเซอร์เลือก Burt Lancaster โดยไม่ปรึกษา Visconti ก่อน ทำให้ผู้กำกับไม่พอใจอย่างมาก กระนั้น Visconti และ Lancaster ก็ได้ร่วมงานกัน และกลายเป็นเพื่อนสนิทเลย

ถึงจะบอกว่าเป็นเจ้าชาย แต่ดูจากวัยวุฒิแล้วอายุคงไม่น่าต่ำกว่า 40-50 มีเมียมีลูกแล้วหลายคน ตัวละครนี้ผ่านช่วงเวลาสงครามทั้งภายในและภายนอกมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ Napoleon หมดอำนาจ อิตาลีก็มีแต่สงครามๆๆ ความเหนื่อย เบื่อ อ่อนล้า ถูกนำเสนอผ่านการแสดงของ Lancaster ได้ชัดเจนมากๆ แต่กระนั้นเขาก็มีเป้าหมายในใจที่ชัดเจน คือต้องการให้คนในครอบครัวของเขามีความสุข ไม่ต้องทนทุกข์ลำบาก มีคำพูดที่ผมชอบมากๆ ถ้าเราต้องการให้อะไรๆเป็นไปอย่างที่เคยเป็น บางสิ่งต้องเปลี่ยน “If we want things to stay as they are, things will have to change.” นี่เป็นคำพูดตอนที่ Fabrizio เลือกจับมือกับ Garibaldi เลือกข้างคณะปฏิวัติ ทอดทิ้ง Two Sicilies ผมถือว่านี่เป็นคำพูดของคนที่มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกลได้ถูกต้องเลย

Alain Delon เล่นเป็น Tancredi Falconeri, หลานของ Don Fabrizio ชายหนุ่มที่ไปเข้าร่วมกับ Expedition of the Thousand หลังจากสงครามจบ กลับมาก็ได้ตกหลุมรักกับ Angelica Sedara (นำแสดงโดย Claudia Cardinale เธอเป็นนักแสดงชาวฝรั่งเศสในหนัง dub เป็นภาษาอิตาเลี่ยนโดย Solvejg D’Assunta) ลูกสาวของ Don Calogero Sedara (นำแสดงโดย Paolo Stoppa) ที่โชคดีทำธุรกิจประสบความสำเร็จ ภายหลังได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีของเมือง Donnafugata

จะว่านี่เป็นหนังของ Lancaster ก็ได้ เรื่องราวจะวนเวียนอยู่รอบๆตัวเขา กระนั้นเขาก็เป็นตัวแทนของสิ่งเก่าๆ (traditional) ตรงกันข้ามกับ Don Calogero ที่เป็นตัวแทนของสิ่งใหม่ๆ (modern) ที่มีสองหนุ่มสาว Falconeri และ Angelica เป็น New Generation, มีอีกตัวละครหนึ่ง บาทหลวง Pirrone (แสดงโดย Romolo Valli) เป็นตัวแทนของ Spiritualism

ถ่ายภาพโดย Giuseppe Rotunno (ปกติเขาจะเป็นขาประจำของ Fellini) หนังเรื่องนี้ภาพสวยมากๆครับ ในระดับที่เรียกว่าเป็นตำนานได้เลย ถ่ายภายนอกเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม กว้างใหญ่ ฝีมือระดับ Freddie Young (Lawrance of Arabia) ส่วนถ่ายภายในมีการใช้แสงกับการเคลื่อนไหวกล้องได้ยอดเยี่ยม ฝีมือระดับ Sven Nykvist (Fanny and Alexander) ยิ่งฉากงาน Ballroom สุดท้าย ผสมผสานกับการออกแบบภายในที่งดงาม เสื้อผ้าตัวละครที่มีสีสันสวยสด Giuseppe Rotunno กับ The Leopard ถือว่าเป็นหนึ่งในหนังที่มีงานภาพสวยที่สุดในโลก!

ตัดต่อโดย Mario Serandrei ก่อนหน้านี้เคยตัดต่อหนังของ Visconti มาหลายเรื่อง คงรู้สไตล์กันเป็นอย่างดี เราสามารถแบ่งเหตุการณ์ในหนังออกได้เป็น 3 เหตุการณ์หลัก
1.ช่วงปฏิวัติอิตาลี เริ่มต้นจนสำเร็จ
2.ช่วงฟื้นฟูและพัฒนา
3.บทสรุปฉาก Ballroom งานเลี้ยงเต้นรำ

ช่วง 1 กับ 2 เราสามารถดูได้เรื่อยๆ แต่ช่วง 3. ฉาก Ballroom งานเลี้ยงเต้นรำที่ความยาวเกือบๆชั่วโมงนี้ มันคือไคลน์แม็กซ์ของหนังที่หลายคนคงกุมขมับแน่ๆ ว่ามันคืออะไร? ทำไมถึงทำแบบนี้? แล้วหนังจบยังไง? … ผมแนะนำให้ตัดเหตุการณ์ช่วงที่ 3 นี้ออกไปก่อนเลยนะครับ ถือว่าหนังจบลงตั้งแต่ช่วงที่ 2 พอตัดเข้าฉากงานเลี้ยงเต้นรำมองว่าเป็นหนังอีกเรื่องไปเลย, ฉาก Ballroom งานเลี้ยงเต้นรำ จริงๆแล้วเป็นการเอาเรื่องราว 2 ส่วนก่อนหน้า 2 ชั่วโมงที่ผ่านมา เอามาสรุป-ประมวลผลให้เราดูอีกรอบ โดยใช้เหตุการณ์ในงานเลี้ยงเปรียบเทียบกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะมองว่านี่เป็นการทดลองก็ได้นะครับ ในนิยายเห็นว่าก็จบที่งานเลี้ยงเต้นรำเหมือนกัน แต่จะมีการแบ่งเป็นตอนๆ เพื่อให้คนอ่านสามารถเปรียบเทียบเข้าใจได้ว่าเหตุการณ์ในงานเต้นรำ สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้วยังไง

เพลงประกอบโดย Nino Rota คนนี้ก็ขาประจำของ Fellini ผมสังเกตทีมผู้สร้างหนังเรื่องนี้ล้วนแต่เป็นขาประจำของ Fellini แทบทั้งนั้น แสดงว่า Visconti ต้องสนิทกับ Fellini พอสมควรนะครับ สำหรับงานเพลงในหนังเรื่องนี้ Nino Rota ยังคงสร้างสรรค์ออกมาได้ไพเราะ ลงตัวและมีความคลาสสิคอย่างมาก ในฉากการต่อสู้ระหว่าง Red Shirt vs ทหารของ Two Sicily แทนที่จะให้บรรยากาศระทึก ตื่นเต้น น่ากลัว แต่กลับเหมือนเสียงบรรยายภาพประกอบสงครามที่สุดแสนไพเราะ นี่เป็นความรู้สึกที่แปลก เหมือนว่างานเพลงจะบรรยายบรรยากาศของหนัง มากกว่าอารมณ์ของตัวละครที่อยู่ในฉาก นั่นทำให้ดนตรีกลมกลืนไปกับหนัง จนบางครั้งไม่รู้สึกเลยว่ามีเพลงบรรเลงอยู่ กระนั้นมันก็มีเพลงที่ดังมาจากเครื่องดนตรีที่ปรากฏในหนัง อย่างงานเต้น Ballroom Dance เราจะได้เห็นนักดนตรีเล่นเพลงประกอบเป็นฉากหลังเท่านั้น นี่คือใจความของเพลงที่ประกอบหนังเรื่องนี้

เพลง Waltz ในฉาก Ballroom Dance คือ Gran valzer brillante ของ Giuseppe Verdi นะครับ ลองไปฟังดู

หลังจากอิตาลีได้รวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ยังมีกษัตริย์เป็นผู้นำประเทศอยู่นะครับ แต่เพิ่มระบบวุฒิสภาและนายกรัฐมนตรีเข้ามา กระนั้นการปกครองนี้ก็อยู่ได้อีกไม่ถึง 100 ปี กษัตริย์อิตาลีองค์สุดท้ายถูกกดดันอย่างรุนแรงจากประชาชน จำต้องสถาปนาการปกครองระบอบสาธารณรัฐขึ้นแทนที่ระบอบราชาธิปไตย นี่แสดงถึงจุดสิ้นสุดของขุนนาง ชนชั้นสูงของอิตาลี ในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้ดำเนินเรื่องถึงช่วงเวลานั้น แต่คนที่มีวิสัยทัศน์ไกลๆย่อมสามารถมองเห็นอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ Don Fabrizio เขาอาจไม่ใช่คนชั้นสูงหรือเจ้าชายองค์สุดท้าย แต่หนังทำให้เรารู้สึกเหมือนแบบนั้น รูปแบบการปกครองที่เปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป โลกหมุนไป อะไรๆมันก็เกิดขึ้นได้ ถ้าเราไม่ปรับตัวก็ไม่มีทางที่จะเอาตัวรอดในสังคมได้

สิ่งหนึ่งที่ผมยอมรับในตัว Don Fabrizio คือเขาเป็นคนมีวิสัยทัศน์มากๆ เขามองหาหนทางที่เป็นไปและมีประโยชน์ต่อตัวเองที่สุด อย่างการเลือกเข้าข้างคณะปฏิวัติราวกับเขารู้แน่ว่ายังไง Sicily ต้องแพ้, การเลือกตั้งที่เขาสนับสนุนการรวมประเทศเป็นอย่างยิ่ง, เขารู้ได้ยังไง? … หนังไม่ได้บอกนะครับว่าเขารู้ได้ยังไง เราจะเห็นมีฉากทีเขาไปไล่ยิงกระต่าย และคุยกับ Don Francisco ที่เห็นแตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกอย่าง Fabrizio แค่รับฟังมา แต่เขาไม่เชื่อเลยสักอย่าง ทำทุกอย่างที่ขัดกับการระเบิดอารมณ์ของ Don Francisco ออกมา ฉากนี้ดูเหมือนจะไม่อธิบายอะไรเลย ผมขอยกอีกฉากหนึ่ง เมื่ออิตาลีใหม่ต้องการให้ Don Fabrizio เข้าร่วมเป็นสมาชิกรัฐสภา Fabrizio บอกปัด ไม่ใช่เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองแก่หรือยังไง แต่คิดว่าตัวเองไม่ใช่คนที่เหมาะสม “I am utterly without illusions. What would the Senate do with an inexperienced legislator who lacks the faculty of self-deception, essential requisite for those who wish to guide others?” จะมีนักการเมืองไทยคนไหนกล้าพูดแบบนี้ไหมเอ่ย “ผมไม่มีความรู้ความสามารถที่จะทำงานได้ จึงไม่ขอรับงานนี้” … ผมคิดว่านี่แสดงถึง “วิสัยทัศน์” ที่ของ Don Fabrizio ที่ถือว่าล้ำหน้ามากๆ เขาไม่ได้มองปัญหาแค่ที่ปัจจุบัน แต่มองถึงอนาคต การที่หนังไม่อธิบายว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น ย่อมหมายถึงหมอนี่มันอัจฉริยะแห่งยุคเลยนะครับ และ “คนที่รู้ตัวเองว่าไม่สามารถทำงานได้ หมอนี่แหละที่สมควรได้ทำงานที่สุด”

วิสัยทัศน์ของ Don Fabrizio ยังสะท้อนถึงการเลือกภรรยาให้กับหลาน แทนที่จะเป็นลูกสาวของเขาที่ตกหลุมรัก หรือคนที่มีศักดินา เป็นลูกคนชั้นสูง Don Fabrizio เลือกหญิงสาวที่มาจากครอบครัวธรรมดา แต่พ่อของเธอสามารถสร้างตัว สร้างฐานะขึ้นมา กลายเป็นคนร่ำรวยมีเงินมีทอง มันอาจมีปัจจัยเล็กๆที่ Fabrizio เลือกหญิงคนนี้เพราะพ่อรวย แต่วิสัยทัศน์ของพ่อคือผลประโยชน์ที่จะตกถึงลูกหลานคนอื่นๆในตระกูล ที่อนาคตต่อไปจะไม่ต้องทนทุกข์ลำบากมากนัก

นี่แสดงถึงเป้าหมายของ Don Fabrizio นะครับ เขาไม่ได้ต้องการเป็นคนใหญ่โต เป็นคนสำคัญ ต้องการแค่ “ครอบครัว” มีความสุข ไม่ต้องตกระกำลำบาก ไม่ต้องทุกข์ทรมานจากภัยสงคราม ฯ ครอบครัวคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของ Fabrizio เอง ใจความของหนังเอง ก็เป็นการส่งต่อจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากพ่อไปสู่ลูกหลาน จากการปกครองรูปแบบเก่าไปเป็นรูปแบบใหม่ ไม่ว่าความขัดแย้งจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน แต่โลกมันยังคงหมุนไป ชีวิตยังคงดำเนินอยู่ ระดับประเทศ ระดับสังคม และระดับครอบครัว มันก็คล้ายๆกันนี่แหละ

1 ชั่วโมงสุดท้ายกับฉาก Ballroom งานเลี้ยงเต้นรำ นี่คือตำนานเลย มันคือบทสรุปของเรื่องราว 2 ชั่วโมงก่อนหน้า ที่อธิบายว่าทำไม Don Fabrizio ถึงกลายเป็นแบบนั้น เริ่มต้นเข้ามาในงานเลี้ยง เจอผู้คนเยอะแยะ เจอคนรุ่นเก่า เจอทหารที่มีตำแหน่ง (คณะปฏิวัติ) เด็กสาว-ชายหนุ่มรุ่นใหม่ (แบบ Angelica และ Falconeri), Don Fabrizio รู้สึกเหนื่อยล้าจากได้พบเจอผู้คนมากมาย, อากาศที่อบอ้าว เขาจึงหลีกหนีไปอยู่คนเดียว แต่หลานและสะใภ้ก็ไปลากตัวกลับมาให้เต้นรำ การเต้นรำเปรียบเหมือนการต่อสู้-สงคราม-ปฏิวัติ ความสามารถในการเต้นของ Fabrizio กลายเป็นที่สนใจของผู้คน แต่เขาก็ไม่สนใจเสียงนกเสียงกา ไม่ว่าสังคมจะยกย่องชื่นชมเขายังไง มันไม่ได้ทำให้เขาพึงพอใจเลย, ตอนจบที่งานเลี้ยงกำลังเลิกรา เหมือนจุดสิ้นสุดของต่อสู้ ยุคสมัยที่กำลังจะเปลี่ยนไป มีจุดเริ่มต้นก็มีจุดสิ้นสุด Fabrizio เลือกเดินกลับเพราะเขาเป็นคนยุคเก่า ที่ใกล้จะสูญหายไปแล้ว, ตะวันขึ้นยามเช้า อะไรใหม่ๆกำลังเริ่มต้นขึ้น

ฉาก Ballroom นี้ เป็นการอธิบายจับใจความทั้งหมดของหนัง ที่ผมเปรียบไว้ว่าเราสามารถมองมันเป็นเหมือนหนังอีกเรื่องเลยก็ได้ เพราะมีเรื่องราวและใจความหลักที่ถ้าดูเฉพาะฉาก Ballroom ก็สามารถอธิบายหนังได้ทั้งเรื่อง นี่คือความสวยงามของหนังเรื่องนี้นะครับ เป็นไคลน์แม็กซ์ที่เป็นบทสรุปของหนัง (ถึงบทสรุปจะไม่มีคำตอบอะไรเลยก็เถอะ) เชื่อว่าคงมีหลายคนอ่านมาจนถึงตรงนี้ก็ยังไม่เข้าใจหนังอยู่ดี ผมแนะนำให้ไปหานิยายอ่านนะครับ ผมไม่เคยอ่าน แต่คิดว่าคนที่อ่านอาจจะเห็นภาพเข้าใจอะไรมากกว่านี้ เพราะนิยายมันมีคำบรรยายที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้ผู้อ่านด้วย

ทำไม Don Fabrizio ถึงยอมรับคำเชิญขอเต้นรำของ Angelica? … มีนักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตผ่านการแสดงของ Fabrizio เปรียบเทียบว่าเขาเป็น Alpha Male ชายผู้ที่หญิงสาวเห็นแล้วจะหลงไหลคลั่งไคล้ การแสดงออกทางใบหน้าและแววตา บ่งบอกว่าเขาอาจจะชอบ Angelica อยู่ ซึ่งตอนสู่ขอ Angelica จะให้เธอแต่งงานกับเขาก็ได้ แต่กลับขอให้ Falconeri หลานชาย ก็เพราะ เขาเข้าใจตัวเอง ความเหนื่อย เบื่อ อ่อนล้า และบริบทของหนังที่สื่อไปทางว่า การเข้าสู่ยุคสุดท้ายของผู้คนชั้นสูง ‘วิสัยทัศน์’ ที่ทำให้เขามองหาผลประโยชน์ให้กับครอบครัว มากกว่าความสุขของตน ซึ่งเหตุผลตอบรับคำเชิญขอเต้นรำของ Angelica ด้วยแนวคิดนี้ ก็เพื่อเป็นการหาความสุขสุดท้ายให้กับตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำแต่ไม่ได้ทำ (ทำไม่ได้) … อีกเหตุผลในบริบทที่ถ้าไม่คิดว่ามีประเด็นชู้แฝงอยู่ Fabrizio ตอบรับเพราะเขามองเธอเป็นเหมือนลูกสาวคนหนึ่ง (ถึงตอนนั้นจะยังไม่ได้แต่งงานกับหลานชายก็เถอะ) เป้าหมายของเขาต้องการให้ครอบครัวมีความสุข ต้องการให้ลูกๆ หลานๆของตนมีความสุข ต่างอะไรกับ Angelica เธอก็เหมือนลูกสาวของเขาแล้ว การเต้นรำจากที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ สงคราม แปรเปลี่ยนไปเป็น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี กระชับความสัมพันธ์ สร้างเหตุการณ์ความรู้สึกดีๆต่อกัน

ภาพของ Fabrizio ในฉาก Ballroom Dance เขาเคลื่อนไหวราวกับเงา สายตาที่ดูสิ้นหวัง กล้องเคลื่อนไหวไปเรื่อยตามจังหวะของตัวประกอบและเสียงเพลงไปในทิศทางเดียวกัน นักวิจารณ์ทุกคนจะชื่นชมการแสดงของ Lancaster อย่างมาก เพราะเขาแสดงความสิ้นหวัง จุดจบของตัวละครออกมาได้สมจริงมากๆ มันเหมือนว่าในใจเขาต้องการอะไรมากกว่านั้น นี่เป็นจุดที่ผมวิเคราะห์ต่างจากนักวิจารณ์อื่นๆนะครับ พวกเขาจะมองถึง passion ของ Fabrizio ที่ต่างออกไป ใจเขาอยากได้ทุกอย่าง สามารถทำทุกอย่างได้ แต่บางอย่างที่หยุดเขาไว้ อาจจะอายุ, ขนมธรรมเนียม (tradition), ความเบื่อหน่าย ฉาก Ballroom Dance คือภาพจำลองทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในจิตใจของเขา ผ่านคำพูด การเคลื่อนไหว การกรทำ เสื้อผ้า-หน้า-ผม ฉาก ผู้คน ฯ ที่ถึงจะอะไรสวยงามแค่ไหน แต่มันไม่ใช่ที่ของเขา มันเลยกลายเป็นจุดจบ เพราะเขาต้องทิ้งทุกอย่างไว้ที่นั่น ไม่สามารถเอาความต้องการใดๆกลับติดตัวไปได้อีก

เราสามารถเปรียบ Don Fabrizio ได้เป็น Leopard=เสือดาว (ตราสัญลักษณ์ของตระกูลก็คือ เสือ) ในห่วงโซ่อาหาร เสือ ถือว่าอยู่บนสุด (ไม่นับมนุษย์) เทียบได้กับคนมีตระกูล ชนชั้นสูงตรงๆเลย คำพูดของ Fabrizio เสือยังไงก็เป็นเสือ = คนชั้นสูงยังไงก็เป็นคนชั้นสูง สัตว์ที่จะมาแทนเสือได้ก็คือ ไฮยีน่า (หมาล่าเนื้อ) = นายทุนหน้าเลือด ชื่อหนังในภาษาอิตาเลี่ยน Il Gattopardo แท้จริงหมายถึง Ocelot (สัตว์จำพวกแมวชนิดหนึ่งคล้ายเสือดาว) หรือ Serval เป็นแมวป่าที่สูญพันธ์ไปแล้วในอิตาลีเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งเปรียบกับ Don Fabrizio ในอีกมุมหนึ่งได้ด้วย ว่าเป็นตัวแทนผู้คนชนชั้นสูงที่ใกล้ถึงจุดสิ้นสุด

ตอนหนังเอาไปฉายอเมริกา เห็นว่ามีการตัดต่อใหม่ (โดย Fox ค่ายหนังที่เอาหนังไปฉาย) และทำการพากย์เสียงอังกฤษทับ (ยกเว้นเสียง Lancaster ที่พูดเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว) สร้างความไม่พอใจให้ทีมงานและผู้กำกับอย่างมาก เพราะใจความสำคัญบางอย่างได้ถูกตัดออก จากหนังเวอร์ชั่นปกติ 205 นาที ฉายอเมริกาเหลือแค่ 161 นาที หายไปเยอะขนาดนี้เสียอรรถรสแน่นอน ใครดูหนังเรื่องนี้เวอร์ชั่นพากย์ภาษาอังกฤษ อาจจะโชคร้ายหน่อยนะครับ ไปหาต้นฉบับภาษาอิตาเลี่ยนมาดูจะโอเคสุด

ผมแนะนำหนังกับคนที่ชอบดูหนังยากๆ คิดเยอะๆ ชอบอิตาลี หรือเรียนประวัติศาสตร์ หนังภาพสวยๆ เพลงประกอบเพราะๆ นักแสดงเล่นได้สุดฝีมือ Burt Lancaster บอกเลยว่า นี่เป็นหนังที่เขาทุ่มเทตั้งใจที่สุด จัดเรต 13+ กับฉากสงครามที่ดูรุนแรงเกินไปสำหรับเด็ก

คำโปรย : “The Leopard โดยผู้กำกับ Luchino Visconti หนึ่งในหนังที่มีภาพสวย เพลงเพราะที่สุดในโลก”
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบLOVE

2
Leave a Reply

avatar
2 Comment threads
0 Thread replies
4 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…]  The Leopard (1963)  : Luchino Visconti ♥♥♥♥♡ […]

ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

พอดูหนังเรื่องนี้ อยากให้แอดเขียนถึง War and Peace เวอร์ชั่นรัสเซีย ปี 1966–1967 ของ Sergei Bondarchuk บ้าง
เป็น “สงครามและสันติภาพ” (และอาจรวมถึงหนังดัดแปลงจากงานเขียนของ Leo Tolstoy ด้วย) ที่ดัดแปลงได้ครบถ้วน เก็บตกรายละเอียด มีความ epic อลังการงานสร้าง รวมถึงความอาร์ต กับสุนทรียด้านภาพยนตร์ที่สุดแล้ว
ถูกยกเป็นหนึ่งในหนัง Top/Best Epic Movies of All Times เรื่องหนึ่งของโลก

%d bloggers like this: